เจ. เค. โรว์ลิง

นักการกุศลและนักประพันธ์ชาวอังกฤษ (เกิด: ค.ศ. 1965)
(เปลี่ยนทางจาก เจ. เค. โรว์ลิ่ง)

โจแอนน์ "โจ" โรว์ลิง (อังกฤษ: Joanne "Jo" Rowling, OBE FRSL[1]) หรือนามปากกา เจ. เค. โรว์ลิง[2] และโรเบิร์ต กัลเบรธ (เกิด 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1965)[3] เป็นนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ผู้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประพันธ์วรรณกรรมแฟนตาซีชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งได้รับความความสนใจจากทั่วโลก ได้รับรางวัลมากมาย และมียอดขายกว่า 500 ล้านเล่ม[4] และยังเป็นหนังสือชุดที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์[5] ด้านภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือก็เป็นภาพยนตร์ชุดที่ทำรายได้มากที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์[6] โรว์ลิงอนุมัติบทภาพยนตร์ทุกภาค[7] และตลอดจนควบคุมงานฝ่ายสร้างสรรค์ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายในฐานะผู้อำนวยการสร้าง[8]

เจ. เค. โรว์ลิง

โรว์ลิงที่ทำเนียบขาว ในปี ค.ศ. 2010
โรว์ลิงที่ทำเนียบขาว ในปี ค.ศ. 2010
เกิดโจแอนน์ โรว์ลิง
(1965-07-31) 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1965 (59 ปี)
เยตส์ กลอสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ
นามปากกา
  • เจ. เค. โรว์ลิง
  • โรเบิร์ต กัลเบรธ
อาชีพ
  • นักเขียน
  • ผู้ใจบุญ
จบจาก
ช่วงเวลาร่วมสมัย
แนวs
ช่วงปีที่ทำงานค.ศ. 1997–ปัจจุบัน
คู่สมรส
  • จอร์จ อารันเตส (สมรส 1992; หย่า 1995)
  • นีล เมอร์เรย์ (สมรส 2001)
บุตร3 คน

ลายมือชื่อ
เว็บไซต์
jkrowling.com

โรว์ลิงเกิดที่เมืองเยตส์ มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ เคยทำงานเป็นนักวิจัยและเลขานุการสองภาษาให้กับองค์การนิรโทษกรรมสากล ก่อนได้ความคิดสำหรับชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์บนขบวนรถไฟที่ล่าช้าจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอนเมื่อปี 1990[9] อีกเจ็ดปีถัดมา เธอเสียมารดา หย่าร้างกับสามีคนแรกและค่อนข้างยากจน จนโรว์ลิงเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เสร็จในปี 1997 มีภาคต่อหกเล่ม เล่มสุดท้ายคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ในปี 2007 จากนั้นโรว์ลิงเขียนหนังสือสำหรับผู้อ่านผู้ใหญ่สามเรื่อง ได้แก่ เก้าอี้ว่าง (2012) และนวนิยายสืบสวนสอบสวนชุดคอร์โมรัน สไตรก์ โดยใช้ชื่อปลอมในการเขียนว่า โรเบิร์ต กัลเบรธ[10] โดยในปี 2020 เธอยังได้เผยแพร่นิยายการเมืองสำหรับเด็กเรื่อง อิ๊กคาบ็อก ผ่านทางออนไลน์อีกด้วย[11]

ชีวิตของโรว์ลิงพลิกผันจากความยากจนไปสู่ความร่ำรวย จากเดิมที่เธอเคยต้องพึ่งเงินสงเคราะห์จากรัฐบาลเพื่ออยู่รอด เธอได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นมหาเศรษฐีในห้าปี โดย ซันเดย์ไทม์ริชลิสต์ ประจำปี 2008 ประเมินทรัพย์สินของโรว์ลิงไว้ 560 ล้านปอนด์ เป็นหญิงที่ร่ำรวยที่สุดอันดับที่สิบสองของสหราชอาณาจักร[12] ส่วนนิตยสารฟอบส์ได้จัดอันดับเมื่อปี 2007 ให้เธอเป็นคนดังที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอันดับที่สี่สิบแปดของโลก[13] ในปีเดียวกันนิตยสารไทม์ยกเธอให้เป็นรองบุคคลแห่งปี 2007 จากการให้แรงบันดาลใจแก่แฟนคลับไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม ศีลธรรม และการเมือง[14] และในเดือนตุลาคม 2010 โรว์ลิงยังได้เป็น "สตรียอดทรงอิทธิพลในบริเตน" จากการเสนอชื่อของบรรณาธิการนิตยสารชั้นนำต่าง ๆ[15] เธอยังให้การสนับสนุนองค์กรการกุศลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิครีลีฟ วันแพเรนต์แฟมิลีส์ สมาคมเพื่อผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งแห่งสหราชอาณาจักร และมูลนิธิลูมอส (ชื่อเดิมคือชิลเดรนส์ไฮเลเวลกรุ๊ป) ส่วนในทางการเมือง เธอสนับสนุนพรรคแรงงานและกลุ่มเบทเทอร์ทูเกเตอร์

ที่มาของชื่อ

แก้

แม้เธอจะเขียนหนังสือภายใต้นามปากกา “เจ. เค. โรว์ลิง”[16] แต่ชื่อของเธอก่อนที่จะแต่งงานใหม่นั้นคือ “โจแอนน์ โรว์ลิง” อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์ของเธอคาดว่าเด็กผู้ชายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายอาจจะไม่อยากอ่านหนังสือที่เขียนโดยผู้หญิง จึงขอให้เธอใช้ตัวย่อสองตัวแทนชื่อเต็ม และเนื่องด้วยเธอไม่มีชื่อกลางเธอจึงเลือกตัว K (ย่อมากจาก แคทรีน) ชื่อย่าของเธอมาเป็นตัวย่อที่สองของนามปากกา[17] เธอมักจะเรียกตัวเองว่า “โจ”[18] ภายหลังการแต่งงาน ในบางครั้งที่ต้องติดต่อธุรกิจส่วนตัวเธอก็จะใช้ชื่อ โจแอนน์ เมอร์เรย์ ซึ่งเป็นนามสกุลของสามีแทน[19][20]

ประวัติและชีวิตการทำงาน

แก้

ต้นกำเนิดและครอบครัว

แก้
 
พ่อแม่ของโรว์ลิงพบกันที่สถานีรถไฟคิงครอส ต่อมาเธอจึงได้ใช้สถานที่นี้เป็นช่องทางเข้าสู่โลกเวทมนตร์ และได้กลายมาเป็นสถานที่เที่ยวยอดนิยมไปในที่สุด

โรว์ลิงเกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1965[21][22] ที่เมืองเยตส์ มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ 10ไมล์จากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบริสตอล[23][24] ประเทศอังกฤษ เธอเป็นลูกสาวคนโตของปีเตอร์ โรว์ลิง วิศวกรการบินของบริษัทโรลส์-รอยซ์[25] และแอนน์ โรว์ลิง (นามสกุลเดิม โวแลนท์) นักเทคนิควิทยาศาสตร์[26] ทั้งคู่พบกันบนขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟคิงครอสไปเมืองอาร์บรอท เมื่อปี 1964[27] ก่อนจะแต่งงานกันในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1965[27] ตาทวดของเธอชื่อดูกัล แคมป์เบลล์ เป็นชาวสก็อต เกิดที่เมืองแลมแลช บนเกาะอาร์ราน ประเทศสก็อตแลนด์[28][29] ตาของแม่เธอชื่อหลุยส์ โวแลนท์ เป็นชาวฝรั่งเศสและเคยได้รับรางวัลเหรียญกล้าหาญครัวเดอะแกร์ จากวีรกรรมการป้องกันหมู่บ้านคอร์แซลล์ เลอ คองต์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากนี้โรว์ลิงยังเชื่อว่าเขาเคยได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ในช่วงสงคราม ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์เดียวกันกับที่เธอได้ในปี 2009 ภายหลังเธอก็ได้รับการยืนยันหลังจากมีส่วนร่วมในตอนหนึ่งของรายการสารคดีชุด Who Do You Think You Are?[30][31]

วัยเด็กและการศึกษา

แก้

โรว์ลิงมีน้องสาวหนึ่งคนชื่อว่าไดแอนน์[9] เกิดให้หลังเธอ 23 เดือน[24] เมื่อโรว์ลิงอายุสี่ขวบ ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่วินเทอร์บอร์น ซึ่งเป็นหมู่บ้านละแวกใกล้เคียง[32] เธอเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ไมเคิล ที่ก่อตั้งโดยวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ นักการเมืองผู้เรียกร้องให้เกิดการเลิกทาสในอังกฤษและฮันนาห์ มอร์ นักปฏิรูปการศึกษาของอังกฤษ[33][34] อัลเฟรด ดันท์ ครูใหญ่ที่โรงเรียนแห่งนี้ภายหลังได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างตัวละครอัลบัส ดัมเบิลดอร์ ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ขึ้น[35]

 
บ้านกระต๊อบที่โรว์ลิงเคยอยู่สมัยเด็ก

ในวัยเด็กโรว์ลิงมักจะเขียนเรื่องราวแฟนตาซี ซึ่งเธอมักจะอ่านให้น้องสาวฟังอยู่บ่อย ๆ[16] เมื่ออายุเก้าขวบ ครอบครัวเธอย้ายไปอยู่ที่บ้านกระต๊อบ ในหมูบ้านทัดชิล มณฑลกลอสเตอร์เชอร์ ใกล้กันกับเมืองเช็พสโตว์ ประเทศเวลส์[24] เธอเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไวย์ดีน ที่ที่แม่ของเธอทำงานอยู่ในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์[26] ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นโรว์ลิงได้รับหนังสือจากพี่สาวของปู่เป็นอัตชีวประวัติของเจสสิกา มิดฟอร์ด เรื่อง Hons and Rebels[36] โรว์ลิงอ่านหนังสือของเธอทุกเล่มและมิดฟอร์ดได้กลายเป็นวีรสตรีของโรว์ลิงไปในที่สุด[37]

โรว์ลิงเล่าถึงชีวิตในวัยรุ่นของเธอว่าไม่มีความสุข[25] เนื่องจากครอบครัวมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งอาการป่วยของแม่และความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างเธอกับพ่อ ซึ่งปัจจุบันทั้งสองก็ไม่ยอมพูดด้วยกัน[25] โรว์ลิงกล่าวในภายหลังว่าเธอสร้างตัวละครเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ขึ้นโดยอิงจากนิสัยของเธอตอนอายุ 11 ปี[38] ในขณะที่สตีฟ เอ็ดดี ครูสอนภาษาอังกฤษของโรว์ลิงจดจำเธอได้ว่า"เธอเป็นเด็กที่ไม่ถึงกับโดดเด่น แต่ก็เป็นหนึ่งในนักเรียนเรียนหญิงที่ฉลาดและเก่งภาษาอังกฤษเอามาก ๆ"[25] โรว์ลิงมีเพื่อนสนิทชื่อณอน แฮร์ริส เจ้าของรถฟอร์ดแองเกลียสีเทอร์ควอยซ์ ที่ต่อมาก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างรถฟอร์ดแองเกลียบินได้ของพวกวิสลีย์ที่ปรากฏอยู่ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ขึ้น[39] ในช่วงนั้นเธอชอบฟังเพลงของวงเดอะสมิธส์และเดอะแคลช[40] โรว์ลิงเลือกเรียนหลักสูตรเอเลเวลในวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน เธอได้เกรดเอสองตัวและบีหนึ่งตัวตามลำดับ นอกจากนี้เธอยังเป็นประธานนักเรียนหญิงอีกด้วย[25]

ในปี 1982 โรว์ลิงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดแต่ไม่ผ่านการคัดเลือก[25] เธอจึงเข้าศึกษาในคณะศิลปศาสตร์สาขาภาษาฝรั่งเศสและวรรณกรรมคลาสสิค ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์แทน[41] มาร์ติน ซอเรล อาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสที่มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์จดจำเธอได้ว่า "เธอเป็นเด็กที่มีความสามารถ ผมสีดำ ใส่แจ๊กเก็ตยีนส์ ในด้านการเรียนก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรทำ"[25] โรว์ลิงเล่าถึงช่วงนั้นว่าเธอทำงานพิเศษเล็กน้อย ชื่นชอบการฟังเพลงของวงเดอะสมิธส์ และอ่านงานเขียนของดิกคินส์และโทลคีน[25] หลังจากศึกษาที่ปารีสเป็นเวลาหนึ่งปี โรว์ลิงได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ในปี 1986[25] จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่ลอนดอน โดยทำงานเป็นนักวิจัยและเลขานุการสองภาษาให้กับองค์การนิรโทษกรรมสากล[42] ในปี 1988 โรว์ลิงได้เขียนบทความสั้นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เธอเรียนวิชาวรรณกรรมคลาสสิค ในบทความเรื่อง "What was the Name of that Nymph Again? or Greek and Roman Studies Recalled" ตีพิมพ์โดยนิตยสารเพกาซัส นิตยสารข่าวของมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์[43]

แรงดลใจและการสูญเสียแม่

แก้

โรว์ลิงตัดสินใจลาออกจากงานที่องค์การนิรโทษกรรมสากลที่ลอนดอน เธอและแฟนหนุ่มของเธอในขณะนั้นจึงได้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองแมนเชสเตอร์[24] เธอได้รับงานใหม่ที่หอการค้า[27] และในปี 1990 ระหว่างที่เธออยู่บนรถไฟขบวนจากแมนเชสเตอร์ไปลอนดอนซึ่งล่าช้าไปกว่า 4 ชั่วโมง ภาพของเด็กชายที่เข้าเรียนโรงเรียนพ่อมดก็ได้ “ประดัง” เข้ามาอยู่ในความคิดของเธอ[24][44][44]

เมื่อเดินทางกลับถึงแฟลตของเธอที่อยู่แถวสถานีรถไฟแคลปแฮมจังชั่น เธอจึงเริ่มลงมือเขียนในทันที[24][45] และในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน แอนน์ แม่ของเธอเสียชีวิตหลังจากทนทุกข์กับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมานานกว่า 10 ปี[24] โรว์ลิงไม่เคยบอกแม่ว่าในตอนนั้นเธอกำลังเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์อยู่[20] และการตายของแม่ก็ส่งผลกระทบต่องานเขียนของโรว์ลิงเป็นอย่างมาก เธอจึงสามารถเพิ่มเติมรายละเอียดเรื่องการสูญเสียพ่อแม่ของแฮร์รี่ได้มากกว่าเดิมเนื่องจากเธอรู้ดีว่ามันรู้สึกอย่างไร[46]

แต่งงาน หย่าร้าง และการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

แก้
 
โรว์ลิงย้ายไปสอนหนังสือที่ปอร์โต เธอพบว่าชีวิตคู่ของเธอล้มเหลว ในปี 1993 เธอจึงกลับมาอยู่ที่อังกฤษพร้อมกับลูกสาวเธอและสามบทแรกของ"แฮร์รี่ พอตเตอร์"

โรว์ลิงย้ายไปทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่เมืองปอร์โต ประเทศโปรตุเกส[9][37] หลังเห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน[27] เธอสอนในเวลากลางคืนและเริ่มงานเขียนในเวลากลางวันพร้อมกับฟังไวโอลินคอนแชร์โตของไชคอฟสกีไปด้วย[25] 18 เดือนหลังย้ายมาอยู่ที่ปอร์โต เธอได้พบกับยอร์จ อารังชีส นักข่าวโทรทัศน์ชาวโปรตุเกส ที่บาร์แห่งหนึ่ง ก่อนจะแลกเปลี่ยนความสนใจกันเกี่ยวกับเจน ออสเตน[27] ทั้งคู่แต่งงานกันในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1992 และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อเจสสิกา อิซาเบล โรว์ลิง อารังชีส (ตั้งชื่อตามเจสสิกา มิดฟอร์ด)[27] ซึ่งก่อนหน้านี้โรว์ลิงเคยแท้งบุตรมาแล้วหนึ่งครั้ง[27] ทั้งสองแยกทางกันในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993[27][47] แม้จะไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัดแต่ผู้เขียนชีวประวัติของเธอได้ระบุว่าโรว์ลิงต้องพบเจอกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวตลอดช่วงชีวิตคู่ของเธอกับอารังชีส[27][48] ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1993 โรว์ลิงและลูกสาว ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังเป็นทารก ได้ย้ายไปอยู่บ้านในละแวกใกล้กันกับบ้านของน้องสาวโรว์ลิงในเอดินบะระ ประเทศสก็อตแลนด์[24] พร้อมกับสามบทแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในกระเป๋าเดินทาง[25]

เจ็ดปีหลังจากจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โรว์ลิงมองดูตัวเองเป็นคนที่ประสบความล้มเหลวคนหนึ่ง[49] ชีวิตคู่ของเธอล้มเหลว เธอตกงานและมีลูกอีกหนึ่งคนที่ต้องดูแล แต่เธอได้อธิบายความล้มเหลวของเธอว่าเป็นการมอบอิสระและสามารถทำให้เธอมีเวลาจดจ่อกับการเขียนมากขึ้น[49] ในช่วงเวลานั้นโรว์ลิงได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย[50] อาการป่วยของเธอได้เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสร้างตัวละครผู้คุมวิญญาณ สิ่งมีชีวิตที่ดูดกินวิญญาณและความสุขซึ่งปรากฏตัวในเล่มที่สาม[51] และด้วยปัญหาทางการเงิน โรว์ลิงจึงได้ยื่นเรื่องเพื่อขอรับเงินสงเคราะห์ของรัฐบาล เธอได้อธิบายสถานภาพทางการเงินของเธอ ณ ตอนนั้นว่า “ไม่ได้ไร้บ้าน แต่ก็ยากจนเท่าที่มันจะเป็นได้ในประเทศอังกฤษสมัยปัจจุบัน”[25][49]

โรว์ลิงรู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยของตัวเองและลูกสาว หลังอารังชีสบินมาสก็อตแลนด์เพื่อตามหาเธอและลูก[27] ภายหลังเธอได้รับคำสั่งให้ได้รับการคุ้มครอง ทำให้อารังชีสต้องกลับโปรตุเกสไป จนกระทั่งเธอได้ยื่นฟ้องหย่าเขาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1994[27] หลังจากนั้นเธอเขียนนิยายเล่มแรกเสร็จโดยอาศัยเงินสงเคราะห์เพื่อยังชีพ[52] และในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1995 เธอเริ่มต้นเข้ารับการอบรมการสอนที่วิทยาลัยมอร์เรย์เฮ้าส์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ[53] เธอได้เขียนที่ร้านกาแฟหลายแห่งโดยเฉพาะร้านนิโคลสันส์คาเฟ่ (เจ้าของร้านเป็นน้องเขยของเธอเอง)[54][55] และร้านดิเอเลเฟ่นท์เฮ้าส์[56] ร้านกาแฟเป็นสถานที่ที่เธอสามารถทำให้เจสสิกายอมนอนได้[24][57] โรว์ลิงได้ให้การปฏิเสธข่าวลือในบทสัมภาษณ์ของบีบีซีเมื่อปี 2001 ที่ลือว่าเธอเขียนในร้านกาแฟละแวกบ้านเพื่อที่จะไม่ต้องอยู่ที่ห้องของเธอซึ่งอากาศในห้องไม่อบอุ่น เธอได้บอกว่าห้องของเธอนั้นมีฮีตเตอร์ โดยเหตุผลหนึ่งที่เธอเลือกเขียนในร้านกาแฟก็เป็นเพราะการพาลูกออกไปเดินเล่นข้างนอกเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะทำให้เจสสิกาหลับได้[57]

แฮร์รี่ พอตเตอร์

แก้
 
"ดิเอลิฟันต์เฮาส์" หนึ่งในร้านกาแฟในเอดินบะระที่โรว์ลิงเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรก[58]

ในปี 1995 โรว์ลิงเขียนต้นฉบับของ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เสร็จด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่า[59] เธอส่งต้นฉบับไปให้บริษัทตัวแทนคริสโตเฟอร์ ลิตเติ้ลในฟูแล่ม ภายหลังจากที่ได้อ่านสามบทแรกของต้นฉบับ ไบรโอนี่ อีแวนผู้พิจารณาต้นฉบับก็รู้สึกสนใจเป็นอย่างมาก ทางบริษัทจึงตกลงที่จะเป็นตัวแทนของโรว์ลิงในการหาผู้ตีพิมพ์ โดยส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์ 12 แห่งพิจารณา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทั้งหมด[27] ในที่สุดหนึ่งปีให้หลังเธอก็ได้รับการอนุมัติ (พร้อมเงินจ่ายล่วงหน้า 1,500 ปอนด์) จากแบร์รี คันนิงแฮม บรรณาธิการสำนักพิมพ์บลูมบิวส์รีในลอนดอน[27][60] การตัดสินใจตีพิมพ์หนังสือของโรว์ลิงถือเป็นหนี้บุญคุณของอลิซ นิวตัน ลูกสาววัยแปดขวบของประธานบริหารสำนักพิมพ์บลูมบิวส์รี ซึ่งได้ลองให้ลูกสาวอ่านบทแรกของหนังสือดูและปรากฏว่าเธอขออ่านบทต่อไปในทันทีที่อ่านบทแรกจบ[61] และแม้ว่าบลูมบิวส์รีจะตกลงที่จะตีพิมพ์หนังสือ แต่คันนิงแฮมแนะนำให้โรว์ลิงหางานช่วงกลางวันทำเนื่องจากเธอมีโอกาสน้อยมากที่จะทำเงินจากหนังสือเด็ก[62] ไม่นานหลังจากนั้น ในปี 1997 โรว์ลิงได้รับเงินจากสภาศิลปะสก็อตเป็นเงินจำนวน 8,000 ปอนด์เพื่อสนับสนุนเธอในงานเขียนครั้งต่อ ๆ ไป[63]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1997 บลูมบิวส์รีตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ โดยตีพิมพ์ครั้งแรกทั้งหมด 1,000 เล่ม หนังสือ 500 เล่มจากทั้งหมดได้ถูกแจกจ่ายให้กับห้องสมุดต่าง ๆ ในปัจจุบันหนังสือเหล่านี้มีมูลค่าอยู่ระหว่าง 16,000 ปอนด์ไปจนถึง 25,000 ปอนด์[64] ห้าเดือนให้หลัง ศิลาอาถรรพ์ ก็ได้รับรางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์ จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้รับรางวัลบริติชบุ๊คอวอร์ด สาขาหนังสือเด็กแห่งปีและตามด้วยรางวัลชิลเดรนส์บุ๊คอวอร์ด ต่อมาในช่วงต้นปี 1998 มีการจัดการประมูลขึ้นที่สหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นซื้อลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์นิยายและสำนักพิมพ์สกอแลสติกชนะการประมูลด้วยค่าลิขสิทธิ์ 105,000 ดอลล่าร์ โรว์ลิงกล่าวว่าเธอ “แทบคลั่ง” เมื่อทราบข่าวนี้[65] ในเดือนตุลาคม ปี 1998 สำนักพิมพ์สกอแลสติกได้ตีพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจากคำว่า Philosopher's Stone เป็น Harry Potter and the Sorcerer's Stone การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้โรว์ลิงได้บอกว่าเธอรู้สึกเสียดายและคงจะคัดค้านถ้าเธออยู่ในสถานะที่ดีกว่าที่เธอเป็น ณ ตอนนั้น[66] ภายหลังโรว์ลิงย้ายออกจากแฟลตของเธอมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 19 ถนนฮาร์เซลแบงก์ เทอร์เรซ ในเอดินบะระ ด้วยเงินที่ได้จากการขายลิขสิทธิ์ให้สกอแลสติก[54]

จากนั้นหนังสือภาคต่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ก็ได้รับการตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998และเป็นอีกครั้งที่โรว์ลิงได้รับรางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์[67] ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1999 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ก็ได้รับรางวัลดังกล่าวอีกครั้งและทำให้โรว์ลิงเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้สามครั้งติดต่อกัน[68] ภายหลังเธอถอนชื่อหนังสือเล่มที่สี่ของเธอออกจากการแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสและให้ความยุติธรรมแก่นักเขียนคนอื่น แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ยังได้รับรางวัลหนังสือวิตเบรดสาขาหนังสือเด็กแห่งปี แม้ว่าจะพลาดรางวัลสาขาหนังสือแห่งปีให้กับเบวูล์ฟฉบับแปลของเชมัส ฮีนีย์ก็ตาม[69]

หนังสือเล่มที่สี่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี วางจำหน่ายพร้อมกันทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 และทำลายสถิติยอดขายของทั้งสองประเทศ โดยสามารถขายได้ 372,775 เล่มในวันแรกที่อังกฤษ ซึ่งเกือบจะเท่ากับจำนวนยอดขายตลอดปีของ นักโทษแห่งอัซคาบัน[70] ส่วนที่อเมริกาก็สามารถขายได้กว่าสามล้านเล่มภายในเวลา 48 ชั่วโมงแรกและทำลายทุกสถิติ[70] โรว์ลิงกล่าวว่าเธอต้องเจอกับปัญหาใหญ่ระหว่างที่เขียนหนังสือเล่มนี้ และต้องเขียนบทนึงในหนังสือใหม่หลายครั้งเพื่อแก้ปัญหาของโครงเรื่อง[71] ในปีนั้นเองโรว์ลิงได้รับการระบุให้เป็นนักเขียนแห่งปี 2000 จากรางวัลบริติชบุ๊คอวอร์ด[72]

เป็นการรอคอยนานกว่าสามปีตั้งแต่การวางแผงของ ถ้วยอัคนี กับเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ระยะห่างนี้ได้นำไปสู่การคาดการณ์ของนักข่าวว่าเธอเจอเข้ากับภาวะเขียนต่อไม่ออก แต่เธอได้ออกมาปฏิเสธ[73] และกล่าวในภายหลังว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นงานที่น่าเบื่อ เนื่องจากมันควรที่จะสั้นกว่านี้ อีกทั้งเธอยังหมดทั้งแรงและเวลาทุกครั้งที่พยายามจะเขียนมันต่อให้จบ[74]

หนังสือเล่มที่หก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม วางจำหน่ายในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 และทำลายทุกสถิติการขายเช่นกัน สามารถขายได้ถึง 9 ล้านเล่มภายในเวลา 24 ชั่วโมงแรกของการวางขาย[75] ต่อมาในปี 2006 เจ้าชายเลือดผสม ได้รับรางวัลหนังสือแห่งปีจากบริติชบุ๊คอวอร์ด[67]

ชื่อของหนังสือเล่มที่เจ็ดซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของหนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการประกาศในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 2006 โดยใช้ชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต (Harry Potter and the Deathly Hallows)[76] และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 มีการประกาศว่าโรว์ลิงได้เขียนข้อความลงบนรูปปั้นครึ่งตัวในห้องพักของเธอที่โรงแรมบัลโมรัล เมืองเอดินบะระ ว่าเธอได้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่เจ็ดเสร็จในห้องนี้เมื่อวันที่ 11 มกราคม ปี 2007[77] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางจำหน่ายในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (เวลาเที่ยงคืนหนึ่งนาที)[78] และทำลายสถิติหนังสือที่ขายได้ไวที่สุดตลอดกาลที่ภาคก่อนเคยทำได้สำเร็จ[79] สามารถขายได้ถึง 11 ล้านเล่มในการวางขายวันแรกที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา[79] และบทสุดท้ายของหนังสือก็เป็นหนึ่งในบทที่เธอเขียนไว้ตั้งแต่ช่วงปี 1990 แล้ว[80]

ณ ตอนนี้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ถือเป็นชื่อสินค้าระดับโลกที่มูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[81] และหนังสือสี่เล่มสุดท้ายของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็สร้างสถิติเป็นหนังสือที่ขายได้ไวที่สุดติดต่อกัน[79][82] หนังสือทั้งเจ็ดเล่มมีจำนวนหน้าทั้งหมด 4,195 หน้า[83] และมีการนำไปแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 73 ภาษา[84][85]

หนังสือชุด แฮร์ พอตเตอร์ ยังได้รับการยอมรับว่าสามารถสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เยาวชนในยุคที่เด็ก ๆ ต่างออกห่างจากหนังสือไปหาคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์แทน[86] อย่างไรก็ตามก็ได้มีรายงานว่า ถึงแม้หนังสือชุดนี้จะสร้างความสนใจได้อย่างมหาศาล แต่จำนวนนักอ่านรุ่นเยาว์ก็ยังคงลดลงต่อไป[87]

ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์

แก้

ในเดือนตุลาคม ปี 1998 วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือสองภาคแรกจากโรว์ลิงด้วยเงินจำนวนเจ็ดหลัก[88] หลังจากนั้นภาพยนตร์ภาคแรก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้เข้าฉายในวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 และตามด้วยภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ฉายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002[89] ภาพยนตร์ทั้งสองภาคกำกับโดยคริส โคลัมบัส ต่อมาภาพยนตร์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน เข้าฉายในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2004 กำกับภาพยนตร์โดยอัลฟองโซ กัวรอง ส่วนภาพยนตร์ภาคที่สี่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี กำกับโดย ไมค์ นิวเวลล์และฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 จากนั้นภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ออกฉายในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 2007[89] มีเดวิด เยตส์เป็นผู้กำกับ และได้ไมเคิล โกลเดนเบิร์กมาเขียนบทภาพยนตร์แทนสตีฟ โคลฟที่เขียนบทสี่ภาคแรก หลังจากนั้นภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ก็ได้เข้าฉายเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2009[90] อีกทั้งยังได้เดวิด เยตส์มากำกับภาพยนตร์เช่นเดิมและสตีฟ โคลฟก็ได้กลับมาเขียนบทภาพยนตร์อีกครั้ง[91] วอร์เนอร์บราเธอร์สแบ่งภาพยนตร์ภาคสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ออกเป็นสองส่วน ภาคแรกเข้าฉายในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 และภาคสอง ฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 เดวิด เยตส์เป็นผู้กำกับทั้งสองภาค[92][93]

ในขณะที่ร่างสัญญาลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ วอร์เนอร์บราเธอร์สได้ยินยอมรับเงื่อนไขสำคัญล่วงหน้าตามความต้องการและความคิดของโรว์ลิง โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือ เธอต้องการให้ภาพยนตร์ถ่ายทำที่ประเทศอังกฤษและใช้นักแสดงอังกฤษทั้งหมด[94] ซึ่งวอร์เนอร์ก็ได้ปฏิบัติตามเป็นอย่างดี โรว์ลิงยังต้องการให้บริษัทโคคา-โคล่าที่ร่วมลงทุนผลิตในภาพยนตร์ชุดนี้ บริจาคเงินจำนวน 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่มูลนิธิรีดดิงอีสฟันดาเมนทอลรวมถึงโครงการการกุศลอื่น ๆ[95]

ภาพยนตร์สี่ภาคแรก ภาคหกและภาคเจ็ดได้รับการเขียนบทโดยสตีฟ โคลฟ ซึ่งโรว์ลิงได้ให้การช่วยเหลือเขาในขั้นตอนการเขียนบทภาพยนตร์ เพื่อให้แน่ใจว่าบทภาพยนตร์จะไม่ขัดแย้งกับเนื้อหาของหนังสือในอนาคต[96] เธอได้บอกความลับที่จำเป็นแก่อลัน ริคแมน (เซเวอรัส สเนป) และร็อบบี้ โคลทราน (รูเบอัส แฮกริด) เกี่ยวกับตัวละครของพวกเขาก่อนที่จะมีการเปิดเผยในหนังสือ[97] นอกจากนี้ผู้กำกับสตีเวน สปีลเบิร์ก ก็เกือบที่จะได้กำกับภาพยนตร์ภาคแรกแต่ก็ถอนตัวออกไป บรรดาสื่อมวลชนได้อ้างอยู่หลายครั้งว่าเป็นเพราะโรว์ลิงได้เข้าไปมีบทบาทต่อการถอนตัวของเขา แต่โรว์ลิงก็ได้กล่าวว่าเธอไม่เคยบอกว่าจะให้ใครมากำกับภาพยนตร์และจะไม่ขัดขวางสปีลเบิร์ก[98] โดยผู้กำกับที่เคยเป็นตัวเลือกแรกของโรว์ลิงคือเทอร์รี กิลเลียม อดีตสมาชิกคณะตลกมอนตี ไพทอน แต่ทางวอร์เนอร์ต้องการให้ภาพยนตร์ออกมาเป็นภาพยนตร์ที่เป็นมิตรกับครอบครัว จึงได้เลือกโคลัมบัสให้มากำกับแทน[99]

โรว์ลิงได้มีส่วนร่วมควบคุมงานฝ่ายสร้างสรรค์บางส่วนในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบบทภาพยนตร์ทุกภาค[100] และรวมไปถึงการเป็นผู้อำนวยการสร้างในภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ทั้งสองภาคอีกด้วย[101]

หลังจากนั้นในปี 2011 ที่งานประกาศรางวัลบาฟตา โรว์ลิงกับโปรดิวเซอร์เดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบรอน รวมทั้งผู้กำกับเดวิด เยตส์, ไมค์ นิวเวลล์ และอัลฟองโซ กัวรอง ได้รับรับรางวัลคุโณปการดีเด่นต่อวงการภาพยนตร์อังกฤษเพื่อเป็นเกียรติแก่ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์[102]

ภาพยนตร์ชุดสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่

แก้

วันที่ 12 กันยายน 2013 วอร์เนอร์บราเธอร์สประกาศว่า เจ.เค.โรว์ลิงตอบรับที่จะเขียนบทภาพยนตร์ซึ่งเป็นส่วนขยายของจักรวาลโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยใช้ชื่อหนังสือเรียนที่แฮร์รี่และเพื่อน ๆ ใช้ในฮอกวอตส์ชื่อว่า สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ โดยเป็นการต่อยอดไอเดียของ เจ.เค.โรว์ลิงซึ่งได้มีการพูดคุยกับวอร์เนอร์บราเธอร์สมาตั้งแต่ปี 2011 ในครั้งนี้จะทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ไตรภาค โดยมี เจ.เค.โรว์ลิงเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์เองโดยตรง โดยเธอยังได้ย้ำกับทุกคนว่า นี่ไม่ใช่ภาคต่อหรือภาคก่อนหน้าของแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่มันคืออีกเรื่องราวหนึ่งในจักรวาลเดียวกัน โดยพระเอกของเรื่อง (นิวท์ สคามันเดอร์) จะเริ่มต้นเรื่องราวการผจญภัยก่อนหน้าที่แฮร์รี่ พอตเตอร์จะถือกำเนิด 70 ปี

ในตอนแรกภาพยนตร์ถูกวางไว้ให้เป็นภาพยนตร์ไตรภาค ก่อนที่ในเดือนตุลาคม 2016 เจ.เค.โรว์ลิงได้ออกมายอมรับด้วยตนเองว่าภาพยนตร์ชุดนี้จะกลายเป็นหนังชุดยาว 5 ภาคด้วยกัน

ความสำเร็จทางด้านการเงิน

แก้

ในปี 2004 นิตยสารฟอบส์ ได้ระบุชื่อโรว์ลิงให้เป็นบุคคลแรกที่กลายเป็นเศรษฐีพันล้านจากการเขียนหนังสือ[103] โดยเป็นผู้หญิงในสื่อบันเทิงที่รวยเป็นอันดับที่สองและบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 1,062 ของโลก[104] โรว์ลิงได้ออกมาโต้แย้งต่อการประเมินในครั้งนี้และกล่าวว่าเธอไม่ใช่เศรษฐีพันล้านแม้เธอจะมีเงินมากก็จริง[105] ต่อมาในปี 2008 นิตยสารซันเดย์ไทม์ริชลิสต์ ได้ระบุชื่อเธอให้เป็นบุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 144 ของเกาะอังกฤษ[12] หลังจากนั้นในปี 2012 นิตยสารฟอบส์ได้ลบชื่อโรว์ลิงออกจากรายชื่อเศรษฐีพันล้าน อ้างว่าเธอได้บริจาคเงินจำนวน 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่การกุศลและเนื่องจากภาษีที่เรียกเก็บสูงของอังกฤษทำให้โรว์ลิงไม่ใช่เศรษฐีพันล้านอีกต่อไป[106] ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 เธอได้รับการประเมินจากคลื่นวิทยุวูแมนอาวของสถานีวิทยุบีบีซีเรดิโอออนโฟร์ให้เป็นผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลอันดับที่ 13 ของสหราชอาณาจักร[107]

ในปี 2001 โรว์ลิงได้ซื้อคฤหาสน์สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งแม่น้ำเทย์ เมืองแอปเบอร์เฟลดี มณฑลเพิร์ทและคินรอสส์[108] อีกทั้งยังเป็นเจ้าของบ้านแบบสถาปัตยกรรมจอร์เจียนราคากว่า 4.5 ล้านปอนด์ ที่เค็นซิงตันในลอนดอนตะวันตก[109] ตัวบ้านอยู่ติดกับถนนและมีการรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง[110]

แต่งงานใหม่และการมีครอบครัว

แก้

โรว์ลิงแต่งงานกับวิสัญญีแพทย์ นีล เมอร์เรย์ (เกิด 30 มิถุนายน ค.ศ. 1971) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 2001 ในพิธีแบบส่วนตัวที่คฤหาสน์ของเธอ ใกล้กันกับเมืองเมืองแอปเบอร์เฟลดี[111] หลังจากนั้นโรว์ลิงให้กำเนิดลูกชายชื่อเดวิด กอร์ดอน โรว์ลิง เมอร์เรย์ ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2003[112] หลังจากที่เริ่มต้นเขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ไม่นาน เธอได้หยุดการเขียนหนังสือไว้เพื่อมาดูแลเดวิดช่วงที่เขายังเป็นทารก[113]

นอกจากนี้โรว์ลิงยังเป็นเพื่อนกับซารา บราวน์ ภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ซึ่งพวกเขาพบกันในตอนที่ร่วมมือกันในโครงการการกุศล และเมื่อซารา บราว์นให้กำเนิดลูกชายเมื่อปี 2003 โรว์ลิงก็เป็นคนแรก ๆ ที่ไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล[114] ภายหลังโรว์ลิงให้กำเนิดลูกสาวคนสุดท้องชื่อแมคแคนซี จีน โรว์ลิง เมอร์เรย์ ในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2005 ซึ่งเธอก็ได้เขียนคำอุทิศในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม ให้แก่ลูกสาวเธออีกด้วย[115]

เดือนตุลาคม ปี 2012 บทความของนิตยสารนิวยอร์กได้ระบุว่าครอบครัวโรว์ลิงได้พักอาศัยอยู่บ้านสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในเอดินบะระ มีต้นสนสูงล้อมและปกปิดหน้าบ้านไว้ ก่อนหน้านั้นโรว์ลิงเคยอาศัยอยู่ใกล้กันกับเอียน แรนคิน นักเขียนชาวสก็อต โดยเขาได้กล่าวถึงเธอว่า เธอเป็นคนเงียบ ๆ ชอบเหม่อลอยและดูเหมือนเธอจะเป็นคนสำคัญของลูก ๆ[25][116] จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมิถุนายน ปี 2014 ได้ระบุว่าครอบครัวโรว์ลิงยังคงอาศัยอยู่ที่สก็อตแลนด์เช่นเดิม[117]

เก้าอี้ว่าง

แก้

โรว์ลิงได้แยกทางกับคริสโตเฟอร์ ลิตเติล ตัวแทนคนเก่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 และได้ย้ายไปอยู่กับบริษัทตัวแทนแห่งใหม่ซึ่งก่อตั้งโดยนีล แบลร์ อดีตพนักงานของลิตเติล[25][118] ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 บริษัทแบลร์พาร์ทเนอร์ชิพ บริษัทตัวแทนใหม่ของเธอ ได้ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ว่าโรว์ลิงกำลังจะมีผลงานหนังสือสำหรับผู้ใหญ่เล่มใหม่ และจากการรายงานของนักข่าว โรว์ลิงได้บอกว่าหนังสือเล่มใหม่ของเธอจะแตกต่างจากแฮร์รี่ พอตเตอร์เป็นอย่างมาก ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2012 สำนักพิมพ์ลิตเติ้ลบราวน์ได้ประกาศชื่อหนังสือโดยใช้ชื่อว่า เก้าอี้ว่าง (The Casual Vacancy) และจะวางแผงในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2012[119] โรว์ลิงได้ให้สัมภาษณ์และปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนหลายครั้งเพื่อโฆษณาหนังสือของเธอ ไม่ว่าจะเป็นย่านเซาท์แบงค์ เซ็นเตอร์,[120] เทศกาลหนังสือนิยายเชลต์นัม,[121] รายการเดอะชาร์ลี โรสโชว์[122] และเทศกาลหนังสือเล็นนอกซ์เลิฟ[123] หลังการวางแผงได้สามสัปดาห์ เก้าอี้ว่าง สามารถขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก

หลังจากนั้นได้มีการประกาศในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2012 ว่า เก้าอี้ว่าง จะได้รับการดัดแปลงเป็นละครซีรีส์โทรทัศน์ทางสถานีบีบีซีวัน ได้นีล แบลร์ ตัวแทนของโรว์ลิงมารับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้าง ผลิตโดยบริษัทผลิตสื่ออิสระของเขาร่วมกับริก ซีแนท ผู้อำนวยการสร้างพิเศษ กำกับซีรีส์โดยจอห์นี แคมป์เบลล์ เป็นมินิซีรีส์ความยาวทั้งหมด 3 ตอนจบและได้ออกอากาศในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015[124]

นวนิยายชุดคอร์โมรัน สไตรก์

แก้

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาโรว์ลิงได้พูดถึงการเขียนนวนิยายบันเทิงคดีอาชญากรรมอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งในงานเทศกาลหนังสือเอดินบะระปี 2007 เอียน แรนคินได้อ้างว่าภรรยาของเขาเห็นโรว์ลิงเขียนนวนิยายแนวนักสืบไว้อย่าง "ลวก ๆ" ที่ร้านกาแฟ[125] ภายหลังแรนคินได้ออกมาถอนคำพูดพร้อมกับบอกว่ามันเป็นเพียงแค่มุกตลกของเขาเท่านั้น[126] แต่ข่าวลือก็ยังคงมีอยู่ต่อไปหลังมีรายงานในปี 2012 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนได้ออกมาคาดการณ์ว่าหนังสือเล่มต่อไปของโรว์ลิงจะเป็นนวนิยายแนวบันเทิงคดีอาชญากรรม[127] และจากการให้สัมภาษณ์กับสตีเวน ไฟรเมื่อปี 2005 ที่โรว์ลิงได้บอกว่าเธออยากจะเขียนหนังสือเล่มต่อ ๆ ไปด้วยชื่อปลอม แต่เธอเองก็ได้ยอมรับกับเจเรมี แพ็กซ์แมนไว้ตั้งแต่ปี 2003 ว่าหากเธอเขียนด้วยชื่อปลอมนักข่าวอาจจะรู้ได้ในทันที[128]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2013 สำนักพิมพ์ลิตเติ้ล บราวน์ได้ตีพิมพ์หนังสือ เสียงเพรียกจากคักคู ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเปิดตัวของนักเขียนชื่อโรเบิร์ต กัลเบรธ โดยสำนักพิมพ์ได้กล่าวถึงประวัติของกัลเบรธว่าเป็น “อดีตตำรวจสอบสวนนอกเครื่องแบบของกรมตำรวจ เขาลาออกจากกรมเมื่อปี 2003 เพื่อเข้าทำงานในบริษัทคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”[129] หนังสือ เสียงเพรียกจากคักคู เป็นเรื่องราวของคอร์โมรัน สไตร์ก นักสืบเอกชนที่ได้รับการว่าจ้างให้ไขคดีการตายของนางแบบสาวซึ่งตำรวจสันนิษฐานว่าเธอฆ่าตัวตาย หนังสือขายไปได้เกือบ 500 เล่มในรูปแบบปกแข็งจากยอดพิมพ์ทั้งหมด 1,500 เล่ม[130] และได้รับคำชื่นชมจากทั้งนักวิจารณ์[131] และนักเขียนบันเทิงคดีอาชญากรรมอีกหลายคน[129] นิตยสารพับลิชเชอร์ส วีคลีย์ได้วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ว่าเป็น “การเปิดตัวที่เจิดจรัส”[132] ในขณะเดียวกันหมวดนิยายลึกลับของไลบรารี เจอร์เนิล ได้ยกย่องหนังสือเล่มนี้ให้เป็น “การเปิดตัวแห่งเดือน”[133]

อินเดีย ไนท์ นักเขียนนิยายและคอลัมนิสต์จากนิตยสารซันเดย์ ไทมส์ได้ออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่าเธอได้อ่าน เสียงเพรียกจากคักคู และคิดว่ามันเป็นนวนิยายที่ดีสำหรับการเปิดตัวครั้งแรก หลังจากนั้นได้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ชื่อจู๊ด คาลิคการี (Jude Callegari) ได้ตอบกลับเธอไปว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ “โรว์ลิง” ไนท์ได้ถามเกี่ยวกับรายละเอียดของเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ[134] ไนท์จึงได้แจ้งต่อไปยังริชาร์ด บรู๊ค บรรณาธิการฝ่ายศิลป์ของซันเดย์ ไทมส์ซึ่งก็ได้เริ่มหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้[134][135] หลังจากนั้นเขาพบว่าโรว์ลิงและกัลเบรธต่างมีทั้งตัวแทนและบรรณาธิการเป็นคนเดียวกัน จึงได้ส่งหนังสือไปให้นักภาษาศาสตร์ตรวจสอบ ซึ่งพบความเหมือนทางภาษาหลายอย่าง จากนั้นเขาได้ติดต่อตัวแทนของโรว์ลิงก่อนจะได้รับการยืนยันว่ากัลเบรธคือชื่อปลอมของโรว์ลิง[135] ไม่กี่วันหลังการเปิดเผยว่าว่าโรว์ลิงคือผู้เขียน ยอดขายหนังสือได้พุ่งขึ้นกว่า 4,000 เปอร์เซ็นต์[134] สำนักพิมพ์ลิตเติ้ล บราวน์จึงได้ตีพิมพ์หนังสือเพิ่มอีก 140,000 เล่มเพื่อตอบรับความต้องการของผู้อ่านที่เพิ่มขึ้น[136] ในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2013 หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นที่ได้ขายออกไปในราคา 4,453 ดอลลาร์สหรัฐ และมีการเสนอราคาไว้กว่า 6,188 ดอลลาร์สหรัฐสำหรับหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกพร้อมลายเซ็นซึ่งเหลือเป็นเล่มสุดท้าย[130]

โรว์ลิงได้กล่าวว่าเธอรู้สึกสนุกกับการเขียนหนังสือภายใต้ชื่อปลอม[137] โดยเธอได้อธิบายที่มาของชื่อนี้วไว้ในเว็บไซต์โรเบิร์ต กัลเบรธของเธอว่าชื่อมีที่มาจากโรเบิร์ต เคนเนดี ซึ่งเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของเธอและจากชื่อเอลล่า กัลเบรธ ชื่อที่เธอเคยอยากให้คนอื่นเรียกเธอเมื่อตอนยังเป็นเด็ก[138]

ไม่นานหลังการเปิดเผย บรู๊คคิดว่าจู๊ด คาลิคการีอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของโรว์ลิง เพื่อเรียกความสนใจของสาธารณชนต่องานเขียนของเธอ[134] โดยจูดี้ “จู๊ด” คาลิคการี เป็นเพื่อนสนิทกับภรรยาของคริส กอสเซจ ผู้ร่วมหุ้นของบริษัททนายความรัสเซลล์และตัวแทนด้านกฎหมายของโรว์ลิง[139][140] โรว์ลิงก็ได้ออกคำแถลงกล่าวว่าเธอรู้สึกโกรธและผิดหวัง[139] ภายหลังรัสเซลจึงได้ออกมาขอโทษเรื่องข่าวหลุดและยืนยันว่าไม่ใช่แผนการตลาด[136] และได้บริจาคเงินให้กับมูลนิธิทหารในนามของโรว์ลิงเพื่อเป็นค่าชดใช้ทางกฎหมายแก่โรว์ลิง[141] ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 สำนักงานควบคุมระเบียบทนายความ (SRA) ได้ออกมาตำหนิกอสเซจผ่านทางจดหมายและปรับเงินเขาอีก 1,000 ปอนด์ เนื่องจากการละเมิดกฎสิทธิส่วนบุคคลของลูกความ[142]

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2014 โรว์ลิงได้ประกาศว่าหนังสือเล่มที่สองของชุดนวนิยายคอร์โมรัน สไตรก์จะวางแผงในเดือนมิถุนายน ปี 2014 และจะใช้ชื่อเรื่องว่า หนอนไหม เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสืบหาการหายตัวไปของนักเขียนที่เป็นที่จงเกลียดจงชังของเพื่อน ๆ จากการที่เขาได้เย้ยหยันเพื่อน ๆ ลงไปในนิยายเล่มใหม่ของเขา[143] ในปี 2015 โรว์ลิงได้กล่าวผ่านเว็บไซต์โรเบิร์ต กัลเบรธว่าหนังสือเล่มที่สามของชุดนวนิยายคอร์โมรัน สไตรก์ ว่า "จะมีแผนการวิกลจริตจำนวนมาก มากที่สุดตั้งแต่ที่ฉันเคยเขียนหนังสือมา"[144] หลังจากนั้นในวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 2015 โรว์ลิงได้ประกาศว่าเธอเขียนจบแล้วและหนังสือจะวางแผงในช่วงปลายปี 2015 ใช้ชื่อเรื่องว่า Career of Evil[145] ก่อนที่หนังสือภาคต่ออย่าง Lethal White, Troubled Blood, The Ink Black Heart และ The Running Grave จะวางจำหน่ายในปี 2018, 2020, 2022 และ 2023 ตามลำดับ

งานสมทบของนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์

แก้

โรว์ลิงเคยพูดไว้ว่าคงเป็นไปได้ยากที่เธอจะเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่อีก[146] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 เธอได้บอกว่างานเขียนในอนาคตของเธอคงจะไม่ใช่แนวแฟนตาซี[147] และถึงแม้เธอจะเคยให้สัมภาษณ์กับโอปราห์ วินฟรีย์ในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2010 ว่ามีความเป็นไปได้ที่หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่จะเกิดขึ้น[148] แต่จากการสัมภาษณ์ล่าสุดกับรายการเดอะทูเดย์โชว์ เธอกล่าวว่าเธอไม่ได้กำลังเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มใหม่และคิดว่าหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่แปดคงจะไม่เกิดขึ้น[149]

ในปี 2007 โรว์ลิงกล่าวว่า เธอมีแผนที่จะเขียนหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งรวบรวมเนื้อหาสาระและข้อความสำคัญต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยได้ตีพิมพ์[150] โดยกำไรจากการขายทั้งหมดจะมอบให้แก่การกุศล[151] ในระหว่างงานแถลงข่าวที่โรงละครโกดักเธียเตอร์เมื่อปี 2007 โรว์ลิงได้ถูกถามถึงสารานุกรมของเธอว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้ว เธอได้ตอบกลับไปว่า “มันยังไม่ได้คืบหน้าไปถึงไหน และฉันก็ยังไม่เริ่มเขียน ฉันไม่เคยบอกว่ามันจะเป็นสิ่งต่อไปที่ฉันจะทำ”[152] ปลายปี 2007 โรว์ลิงได้บอกว่า สารานุกรมเล่มนี้อาจต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะเขียนเสร็จ[153]

ในเดือนมิถุนายน ปี 2011 โรว์ลิงได้ประกาศว่าโครงการในอนาคตของแฮร์รี่ พอตเตอร์และการดาวน์โหลดทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จะปรากฏอยู่บนเว็บไซต์พอตเตอร์มอร์เป็นหลัก[154] ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลของตัวละคร, สถานที่และสิ่งของในจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ไว้กว่า 18,000 คำ[155]

อิ๊กคาบ็อก

แก้

เมื่อปี 2006 โรว์ลิงประกาศว่าเธอกำลังเขียนหนังสือเทพนิยายการเมืองสำหรับเด็กเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับปีศาจ โดยกลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้อ่านที่อายุน้อยกว่าผู้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์[156] ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 เธอได้ระบุว่า “หนังสือสำหรับเด็กที่ตอนนี้เขียนเสร็จไปกว่าครึ่งก็อาจเป็นหนังสือเล่มต่อไปที่ฉันจะตีพิมพ์”[157] ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี 2008 โรว์ลิงกล่าวในบทสัมภาษณ์ว่าเธอได้กลับไปเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟในเอดินบะระอีกครั้ง[158] และตั้งใจจะเขียนนิยายสำหรับเด็กเรื่องใหม่ ซึ่งเธอยังยืนยันว่าเทพนิยายการเมืองสำหรับเด็กของเธอใกล้ที่จะสมบูรณ์แล้ว[159]

อย่างไรก็ตาม โรว์ลิงตัดสินใจเก็บร่างนิยายเรื่องดังกล่าวไว้ในห้องใต้หลังคาและไม่ได้นำมันออกมาตีพิมพ์จนกระทั่งเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงกลางปี 2020[11] เธอได้นำตัวร่างนิยายมาปรับปรุงและเผยแพร่ให้อ่านฟรีทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ภายใต้ชื่อเรื่อง อิ๊กคาบ็อก ก่อนที่นิยายเรื่องดังกล่าวจะได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ซึ่งภาพประกอบที่ถูกนำมาใช้ร่วมกับตัวบทนั้นยังเป็นภาพที่ผ่านการคัดเลือกจากการประกวดออนไลน์ทั้งหมดอีกด้วย[11]

งานด้านการกุศล

แก้

โรว์ลิงก่อตั้งมูลนิธิเดอะโวแลนท์ชาร์ลิตีทรัสขึ้น มีเงินในกองทุนกว่า 5.1 ล้านปอนด์เพื่อต่อต้านปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมในสังคม กองทุนนี้ยังมอบเงินให้แก่องค์กรที่ช่วยเหลือเด็ก ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งอีกด้วย[160][161]

หน่วยงานสงเคราะห์เด็กและต่อต้านความยากจน

แก้

โรว์ลิงซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ณ ตอนนี้เธอรับตำแหน่งเป็นประธานของมูลนิธิคอมมิครีลิฟ (ชื่อเดิมคือ วันแพเรนท์แฟมิลี) เธอได้เป็นผู้แทนของมูลนิธิคนแรกเมื่อปี 2000[162][163] โรว์ลิงร่วมมือกับซาร่า บราวน์ ในการเขียนหนังสือเด็กเพื่อให้ช่วยเหลือความช่วยเหลือแก่มูลนิธิวันแพเรท์แฟมิลีส์[164]

ในปี 2001 ณ งานระดมทุนต่อต้านความยากจนของมูลนิธิคอมมิครีรีฟได้เชิญสามนักเขียนหนังสือขายดีชาวอังกฤษ ได้แก่ ดีเลีย สมิธ นักเขียนหนังสือทำอาหาร, เฮเลน ฟีลดิง และโรว์ลิง เพื่อการนำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของพวกเขาแก่สาธารณะ[165] โรว์ลิงเขียนหนังสือเล่มเล็กสองเล่มคือ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และ ควิดดิชในยุคต่าง ๆ โดยออกแบบให้ดูเหมือนหนังสือในห้องสมุดฮอกวอตส์ นับตั้งแต่การวางขายในเดือนมีนาคม ปี 2001 หนังสือทั้งสองเล่มสร้างรายได้เข้ากองทุนกว่า 15.7 ล้านปอนด์และอีกกว่า 10.8 ล้านปอนด์จากการขายนอกสหราชอาณาจักร รายได้ได้นำไปมอบให้กับกองทุนนานาชาติเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ประสบภัยพิบัติ[166] ในปี 2002 โรว์ลิงได้เขียนคำนำให้หนังสือเรื่อง เมจิก หนังสือรวมบทประพันธ์ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมบิวส์ลีเพื่อมอบรายได้ให้แก่สภานานาชาติเพื่อพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว[167]

ในปี 2005 โรว์ลิงและสมาชิกสภายุโรป เอ็มมา นิโคลสัน ได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิชิลเดรนไฮเลเวลกรุ๊ป (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ลูมอส)[168] นอกจากนั้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 โรว์ลิงเดินทางไปที่บูคาเรสต์เพื่อเน้นย้ำถึงการใช้เตียงลูกกรงกับเด็กในโรงพยาบาลจิตเวช[169] และเพื่อเป็นการสนับสนุนแก่มูลนิธิชิวเดรนไฮเลเวลกรุ๊ป โรว์ลิงเปิดให้ประมูลหนึ่งในเจ็ดเล่มของหนังสือนิทานของบีเดิลยอดกวี ซึ่งเป็นผลงานรวมนิทานที่มีการกล่าวถึงในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยเธอได้เขียนและวาดภาพประกอบด้วยมือเธอเอง และถูกซื้อไปในราคา 1.95 ล้านปอนด์จากการซื้อผ่านเว็บไซต์อเมซอน.คอมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 2007 เป็นหนังสือที่มีราคาแพงที่สุดตลอดกาลจากการประมูล[170][170][171] โรว์ลิงมอบหนังสืออีกหกเล่มที่เหลือคนที่ใกล้ชิดกับหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์[170] จากนั้นในปี 2008 โรว์ลิงตกลงให้มีการตีพิมพ์หนังสือ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะมอบให้กับมูลนิธิลูมอส[116] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2013 โรว์ลิงส่งมอบรายได้ทั้งหมดจากการขายหนังสือนิทานของบีเดิลยอดกวีแก่มูลนิธิลูมอสเป็นจำนวนเงินกว่า 19 ล้านปอนด์[172]

การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

แก้

โรว์ลิงได้มอบเงินและให้การสนับสนุนแก่งานวิจัยและการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ซึ่งเป็นโรคที่แม่ของเธอป่วยก่อนที่จะเสียชีวิตลงในปี 1990 จากนั้นในปี 2006 โรว์ลิงบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อการสร้างศูนย์ปฏิรูปทางการแพทย์แห่งใหม่ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ภายหลังใช้ชื่อว่าคลินิคแอนน์ โรว์ลิงเพื่อการปฏิรูปประสาทวิทยา[173] ในปี 2010 เธอบริจาคเงินให้กับศูนย์เพิ่มอีก 10 ล้านปอนด์[174] นอกจากนี้ประเทศสก็อตแลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่โรว์ลิงให้การดูแลอยู่ยังมีอัตราผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมากที่สุดในโลกอย่างไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด ในปี 2003 โรว์ลิงได้เข้าร่วมการรณรงค์เพื่อสร้างมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการดูแลผู้ปวยโรคนี้[175] อย่างไรก็ตามในปี 2009 เธอประกาศขอถอนตัวออกจากการเป็นผู้อุปถัมภ์ของสมาคมผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งในสก็อตแลนด์หรือเอ็มเอสเอสเอส พร้อมระบุว่าเธอไม่สามารถแก้ไขปัญหาความบาดหมางกันระหว่างองค์กรทางเหนือกับสาขาทางใต้ที่มีอย่างไม่หยุดยั้งได้ เป็นการบั่นทอนกำลังใจและนำไปสู่การลาออกในที่สุด[175]

งานการกุศลด้านอื่น

แก้

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2008 ร้านหนังสือวอเทอร์สโตนส์ได้เสนอให้โรว์ลิงและนักเขียนอีกสิบสองคน (อาทิ ดอริส เลสซิง, นิก ฮอร์นบี, มาร์กาเร็ต แอทวูด เป็นต้น) เพื่อให้เขียนเรื่องสั้นของพวกเขาลงบนกระดาษการ์ดขนาด A5 ซึ่งจะมีการนำไปประมูลเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิดิสเล็กเซียแอคชันเพื่อผู้ป่วยภาวะเสียการอ่านเข้าใจและสมาคม PEN ของอังกฤษ งานเขียนของโรว์ลิงคือพรีเควลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ความยาว 800 คำ เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของเจมส์ พอตเตอร์กับซีเรียส แบล็ก พ่อและพ่อทูนหัวของแฮร์รี่ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นสามปีก่อนแฮร์รี่เกิด พรีเควลได้ถูกนำออกแสดงและขายเพื่อการกุศลในรูปแบบหนังสือเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008[176]

ในวันที่ 1 และ 2 สิงหาคม ค.ศ. 2006 เธอได้อ่านหนังสือร่วมกับสตีเฟน คิงและจอห์น เออร์วิงในงานที่เรดิโอซิตี้ มิวสิกฮอลล์ในนครนิวยอร์ก โดยกำไรจากงานได้นำไปบริจาคให้กับองค์การแพทย์ไร้พรมแดนและมูลนิธิเดอะเฮเว่น ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มุ่งช่วยเหลือศิลปินและนักแสดงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองหรือทำงานได้[177] ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2007 โรว์ลิงได้สัญญาที่จะบริจาคเงินมากกว่า 250,000 ปอนด์ (ตามรายงานของนิวส์ออฟเดอะเวิลด์) เพื่อเป็นเงินรางวัลตอบแทนหากแมเดลีน แม็คเคนน์ เด็กสาววัยสามขวบที่หายตัวไปที่ประเทศโปรตุเกสกลับมาได้อย่างปลอดภัย[178] โรว์ลิงยังได้ร่วมกับเนลสัน แมนเดลา, อัล กอร์ และอลัน กรีนสแปน ในการเขียนคำนำแก่บทรวมสุนทรพจน์ของกอร์ดอน บราวน์ เพื่อนำรายได้ไปมอบให้กับห้องปฏิบัติการวิจัยของเจนิเฟอร์ บราวน์[179] และหลังจากที่มีการเปิดเผยว่าเธอคือผู้เขียนหนังสือเสียงเพรียกจากคักคู ยอดขายหนังสือก็ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โรว์ลิงจึงได้ประกาศว่าเธอจะบริจาคเงินค่าลิขสิทธิ์ของเธอให้กับกองทุนการกุศลกองทัพ โดยบอกว่าเธอตั้งใจที่จะทำมาตลอดแต่ไม่เคยคิดว่าหนังสือจะขายดี[180]

โรว์ลิงยังให้การสนับสนุนมูลนิธิแชนนอนทรัสต์ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดำเนินโครงการโทลบายโทลรีดดิงและโครงการเดอะแชนนอนรีดดิงในคุกของเกาะอังกฤษ ให้การช่วยเหลือและให้ความรู้แก่นักโทษที่ไม่สามารถอ่านหนังสือออก[181]

แรงบันดาลใจ

แก้

โรว์ลิงได้ระบุชื่อเจสสิกา มิดฟอร์ด นักเขียนผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ให้เป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อเธอมากที่สุด เธอกล่าวว่า "เจสสิกา มิดฟอร์ดได้กลายเป็นวีรสตรีของฉันตั้งแต่ฉันอายุ 14 ปี ในตอนที่ฉันบังเอิญได้ยินพี่สาวของปู่ที่น่ายำเกรงของฉันเล่าว่ามิดฟอร์ดหนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 19 เพื่อร่วมต่อสู้กับสาธารณรัฐสเปนในสงครามกลางเมืองสเปนได้อย่างไร" และพร้อมกับเสริมว่าสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจต่อเธอมากที่สุดก็คือการที่มิดฟอร์ดเป็น "คนหัวขบถอย่างที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้และเป็นโดยกำเนิด กล้าหาญ ชอบผจญภัย ตลกและไม่เลื่อมใสต่อสิ่งใด เธอไม่ชอบอะไรมากไปกว่าการได้ต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนขี้อวดและหลอกลวง"[182] โรว์ลิงได้บอกว่าเจน ออสเตนคือนักเขียนคนโปรดของเธอ[183] เธอได้บอกกับนิตยสารโอแมกกาซีนว่า เอ็มมา คือหนังสือที่เธอชอบที่สุด[184] ส่วนในช่วงวัยเด็ก โรว์ลิงได้กล่าวว่าแรงบันดาลใจแรก ๆ ของเธอคือหนังสือเรื่อง ตู้พิศวง ของซี. เอส. ลิวอิส, ม้าน้อยสีขาว ​ของ​เอลิซา​เบ็ธ​ ​กูดจ์ และ หนูกระเบื้อง ของพอล กาลลิโก[185]

มุมมองของโรว์ลิง

แก้

ด้านการเมือง

แก้

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2008 หนึ่งวันก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคแรงงาน โรว์ลิงประกาศว่าเธอได้บริจาคเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่พรรคแรงงานและมอบเช็คเงินอย่างเปิดเผยให้กับกอร์ดอน บราวน์ หัวหน้าพรรคแรงงานในการลงชิงตำแหน่งกับเดวิด แคเมรอน ผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคอนุรักษ์นิยม เธอยังกล่าวชื่นชมนโยบายแก้ปัญหาความยากจนในเด็กของพรรคแรงงานอีกด้วย[186]

โรว์ลิงได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2008กับหนังสือพิมพ์เอล ปาอิสของสเปนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 โดยกล่าวว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประเทศอื่นทั่วโลกและยังกล่าวว่าบารัก โอบามาและฮิลลารี คลินตันจะกลายเป็นบุคคลที่ "ไม่ธรรมดา" ของทำเนียบขาว ในบทสัมภาษณ์เดียวกันโรว์ลิงยังได้ระบุว่าโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีคือวีรบุรุษของเธอ[187]

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2010 โรว์ลิงได้ตีพิมพ์บทความลงในนิตยสารไทม์ เธอได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเดวิด แคเมรอนที่สนับสนุนให้คู่สามีภรรยาที่แต่งงานแล้วอยู่ร่วมกันพร้อมเสนอเงินลดหย่อนภาษี 150 ปอนด์ต่อปี โรว์ลิงได้กล่าวว่า "ไม่มีคนที่เคยพบเจอกับความยากจนคนไหนจะพูดว่า 'มันไม่เกี่ยวกับเงิน แต่เกี่ยวกับประเด็นที่ส่งออกไป' เมื่อแฟลตของคุณโดนงัดแล้วคุณไม่มีเงินจ่ายให้ช่างทำกุญแจนั่นก็เกี่ยวกับเงิน หรือเมื่อคุณพบว่าคุณกำลังคิดจะขโมยผ้าอ้อมในร้านค้า นั่นก็เพราะเงิน ถ้าคุณแคเมรอนแค่แนะนำในภาคปฏิบัติให้ผู้หญิงที่อยู่อย่างยากจน เลี้ยงลูกลำพังให้ 'แต่งงานสิแล้วเราจะลดหย่อนให้คุณ 150 ปอนด์' เขาก็คงเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์ของพวกเขาอย่างแท้จริง"[188][189]

เนื่องจากเธออาศัยอยู่ในประเทศสก็อตแลนด์ โรว์ลิงจึงมีสิทธิ์ลงประชามติในการลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ ค.ศ. 2014และได้รณรงค์ให้ลงมติ "คัดค้าน"[190] เธอบริจาคเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ให้แก่กลุ่มเบทเทอร์ ทูเกเตอร์ที่ต่อต้านการแบ่งแยกประเทศ (ก่อตั้งโดยอลิสแตร์ ดาร์ลิง อดีตเพื่อนบ้านของเธอ)[117] ซึ่งเป็นเงินบริจาคที่มากที่สุด ณ ตอนนั้น โรว์ลิงยังได้เปรียบเทียบกลุ่มชาตินิยมสก็อตแลนด์กับผู้เสพความตาย กลุ่มตัวละครจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่รังเกียจผู้คนทุกคนที่ไม่ใช่สายเลือดบริสุทธ์[191]

ด้านศาสนา

แก้

เป็นเวลาหลายปีที่กลุ่มคนนับถือศาสนาโดยเฉพาะคริสต์ศาสนิกชน ได้ประณามหนังสือของโรว์ลิงว่าส่งเสริมเรื่องเวทมนตร์คาถาว่าเป็นเรื่องจริง โรว์ลิงระบุว่าเธอเป็นคริสต์ศาสนิกชน[192] และเข้าคริสตจักรแห่งสก็อตแลนด์ในระหว่างที่เธอเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจสสิกา ลูกสาวของเธอเข้ารับพิธีล้างบาป[192][193] เธอเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่า "ฉันเชื่อในพระเจ้า ไม่ใช่เวทมนตร์"[194] ในช่วงแรกเธอเคยรู้สึกว่า หากผู้อ่านทราบถึงความเชื่อในศาสนาคริสต์ของเธอก็อาจจะสามารถเดาเนื้อเรื่องของเธอออกได้[195]

ในปี 2007 โรว์ลิงเล่าว่าในวัยเด็กเธอเข้าคริสตจักรแห่งอังกฤษและเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ไปโบสถ์เป็นประจำ จนกระทั่งในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยเธอรู้สึกรำคาญความเชื่อส่วนบุคคลของคนที่นับถือศาสนาจึงเข้าโบสถ์น้อยครั้งลง แต่ภายหลังเธอก็หันกลับมาเข้าโบสถ์อีกครั้งที่โบสถ์นิกายโปรแตสแตนต์ในเอดินบะระ[196]

ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสารแท็ทเลอร์เมื่อปี 2006 โรว์ลิงระบุว่า "ฉันก็เหมือนกับเกรแฮม กรีน บางครั้งศรัทธาของฉันก็อยู่ที่ว่าถ้ามันจะกลับมามันก็ต้องสำคัญต่อฉัน"[20] เธอกล่าวว่าเธอได้ต่อสู้กับข้อสงสัยที่ว่าเธอเชื่อในชีวิตหลังความตาย[197] และความเชื่อส่วนตัวของเธอที่มีบทบาทในหนังสือ[198][199][200] ในบทสัมภาษณ์ทางวิทยุเมื่อปี 2012 เธอได้บอกว่าเธอเป็นสมาชิกของคริสตจักรสกอตติชอีปิสโคปัล ซึ่งเป็นคริสตจักรหนึ่งของแองกลิคันคอมมิวเนียน[201]

มุมมองต่อนักข่าว

แก้

โรว์ลิงมีความสัมพันธ์ที่ยากลำบากกับนักข่าวมาโดยตลอด เธอยอมรับว่าเธอเป็นคนประเภท "ขี้หงุดหงิด" และไม่ชอบความไม่แน่นอนของการรายงานข่าว โรว์ลิงได้ตอบโต้ความมีชื่อเสียงของเธอด้วยการเป็นคนรักสันโดษที่เกลียดการโดนสัมภาษณ์[202]

ในช่วงปี 2011 โรว์ลิงได้แสดงอาการต่อหน้านักข่าวกว่า 50 ครั้ง[203] ในปี 2001 คณะกรรมการการร้องทุกข์นักข่าวได้รับการร้องทุกข์ของโรว์ลิงเกี่ยวกับชุดภาพถ่ายที่ถ่ายโดยช่างภาพนิรนามซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารโอเค!แมกกาซีน เป็นภาพของเธอกับลูกสาวที่นั่งอยู่บนม้านั่งในประเทศมอริเชียส[204] ต่อมาในปี 2007 เดวิด ลูกชายของโรว์ลิงซึ่งโรว์ลิงและสามีของเธอให้การช่วยเหลือ โดยได้รับคำตัดสินของศาลให้แพ้คดีจากการฟ้องร้องเพื่อสั่งระงับสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์รูปถ่ายของเดวิด ซึ่งรูปถูกถ่ายด้วยกล้องเลนส์ยาวและต่อมาได้มีการตีพิมพ์ลงในนิตยสารซันเดย์เอกซ์เพรสส์ในบทความที่เขียนถึงชีวิตครอบครัวของโรว์ลิงและความเป็นแม่ของเธอ อย่างไรก็ตามในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ศาลได้กลับคำตัดสินให้เป็นความชอบธรรมของเดวิดในที่สุด[205]

โรว์ลิงเกลียดแท็บลอยด์ของอังกฤษโดยเฉพาะเดลิเมล์ จากการที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ของสามีเก่าของเธอ ทำให้นักข่าวคนหนึ่งได้กล่าวว่า "เวอร์นอน ลุงของแฮร์รี่ เป็นคนป่าเถื่อนอย่างพิดารและไร้สมองอย่างน่าประหลาด มันจึงไม่ยากเลยที่จะคาดเดาว่าโรว์ลิงเขียนให้เขาอ่านหนังสือพิมพ์เล่มไหน (ใน ถ้วยอัคนี)" นับจากเดือนมกราคม ค.ศ. 2014 โรว์ลิงพยายามเรียกร้องค่าเสียหายจากเดลิเมลล์ที่ได้เขียนโจมตีเธอผ่านบทความเกี่ยวกับช่วงที่เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และทำให้มีการคาดเดากันว่าความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาระหว่างโรว์ลิงกับนักข่าวเป็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังตัวละครริต้า สกีตเตอร์ นักข่าวซุบซิบคนดังที่ปรากฏตัวครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี แต่โรว์ลิงก็ได้ระบุในปี 2008 ว่าเธอสร้างตัวละครนี้ขึ้นก่อนที่เธอจะมีชื่อเสียง

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2011 โรว์ลิงได้รับการระบุชื่อโดยคณะกรรมการสอบสวนเลเวอสันเพื่อการปฏิรูปทางวัฒนธรรมและจริยธรรมของนักข่าวอังกฤษว่าเธอจัดเป็นหนึ่งในสิบสองคนดังที่อาจตกเป็นเหยื่อของการดักฟังทางโทรศัพท์[206] ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011 โรว์ลิงได้ให้หลักฐานก่อนการสอบสวนแม้เธอจะไม่สงสัยว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของการดักฟังทางโทรศัพท์ก็ตาม[207] โดยหลักฐานที่เธอให้การสอบปากคำอาทิเช่น กรณีที่นักข่าวได้ตั้งค่ายที่หน้าบ้านของเธอ[207], กรณีนักข่าวเขียนข้อความและใส่ลงในกระเป๋าของลูกสาวเธอและการที่เดอะซันพยายามจะแบล็กเมลล์เธอด้วยรูปถ่ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับต้นฉับงานเขียนที่โดนขโมยไป[208] เป็นต้น โรว์ลิงได้อ้างว่าเธอย้ายออกจากบ้านเดิมที่เมอชีสตันก็เพราะการโดนล่วงล้ำจากนักข่าว ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012 โรว์ลิงเขียนบทความลงในเดอะการ์เดียนเพื่อเป็นการตอบโต้การตัดสินใจของเดวิด แคเมรอนที่ไม่ให้คำแนะนำที่เต็มรูปแบบแก่คณะสอบสวนเลเวอสัน เธอยังกล่าวว่าเธอรู้สึก "โกรธและเหมือนโดนหลอก"[209]

ในปี 2014 โรว์ลิงได้ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนต่อแคมเปญ "แฮกออฟ" เพื่อการกำกับตัวเองของนักข่าว ด้วยการเซ็นคำแถลงการณ์ร่วมกับคนดังชาวอังกฤษคนอื่น ๆ ซึ่งคำแถลงการณ์มีจุดประสงค์เพื่อ "คุ้มครองนักข่าวจากการแทรกแซงทางการเมืองพร้อมกับให้การป้องกันที่จำเป็นต่อกลุ่มที่เสี่ยง"[210]

ทัศนคติต่อบุคคลข้ามเพศ

แก้

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 โรว์ลิงได้ทวีตข้อความสนับสนุนมายา ฟอร์สเตเทอร์ ลูกจ้างชาวอังกฤษผู้แพ้คดีที่เธอฟ้องร้ององค์กร Center for Global Development ที่ไม่ยอมต่อสัญญาจ้างงานให้แก่เธอหลังจากที่เธอได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลข้ามเพศ[211][212][213] ศาลได้ระบุว่าคำกล่าวที่ฟอร์สเตเทอร์อ้างถึงบุคคลข้ามเพศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการไม่ยอมปฏิบัติตัวกับกลุ่มคนข้ามเพศตามเพศวิถีที่บุคคลดังกล่าวเลือกนั้นเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการข่มขู่ ไม่เป็นมิตร ลดทอนคุณค่า เหยียดหยาม หรือรังเกียจ และเป็นความเชื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของพระราชบัญญัติความเท่าเทียมปี 2010[214][215] เป็นเหตุให้เธอยืนอุธรณ์ต่อศาลในเวลาต่อมา[216]

โรว์ลิงได้ทวีตข้อความวิจารณ์ถึงการใช้คำว่า “คนที่มีประจำเดือน” ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2020[217] และได้เสริมว่า “หากคุณมองว่าเพศคือเรื่องสมมติ"[218] เรื่องจริงที่ผู้หญิงทั่วโลกเผชิญในชีวิตก็จะถูกลบเลือนหายไปด้วย ฉันรู้จักและรักคนที่เป็นคนข้ามเพศ แต่การจะลบล้างแนวคิดเรื่องเพศนั้นมันทำให้คนจำนวนมากหมดโอกาสที่จะพูดถึงชีวิตของพวกเขาได้อย่างจริงจัง”[219] โดยคำว่า “คนที่มีประจำเดือน” นั้นเป็นคำที่ใช้เพื่อครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ชายข้ามเพศ รวมไปถึงกลุ่มนอน-ไบนารี่ที่มีประจำเดือนด้วย[220][221] ข้อความในทวิตเตอร์ของโรว์ลิงทำให้องค์กรแกลด (GLAAD) ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่เธอกล่าวนั้น “ชั่วร้าย” และ “เกลียดชังคนข้ามเพศ”[222][223] เช่นเดียวกันกับนักแสดงบางส่วนจากภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่าง แดเนียล แรดคลิฟฟ์, เอ็มมา วัตสัน, รูเพิร์ท กรินท์, บอนนี่ ไรท์ และเคธี เหลียง ที่ได้ออกมาตำหนิทัศนคติของโรว์ลิงหรือเลือกแสดงจุดยืนว่าตนสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศ รวมไปถึงนักแสดงนำจากภาพยนตร์ชุดสัตว์มหัศจรรย์อย่าง เอดดี เรดเมน และเว็บไซต์แฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์อย่าง MuggleNet และ The Leaky Cauldron อีกด้วย[224][225][226] ในขณะเดียวกัน โนมา ดูเมซเวนี ที่รับบทเป็นเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ในละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาปนั้นก็ได้ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนโรว์ลิงในช่วงแรก ก่อนจะเปลี่ยนใจหลังจากที่เห็นท่าทีตอบโต้ของโรว์ลิง[227]

ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2020 โรว์ลิงได้เผยแพร่เรียงความยาว 3,600 คำบนเว็บไซต์ส่วนตัวของเธอเพื่อตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว[228][229] เธอระบุว่าเธอคือผู้ที่เคยพบเจอกับความรุนแรงในครอบครัวและการคุกคามทางเพศ พร้อมทั้งเสริมว่า "เมื่อคุณเปิดประตูห้องน้ำและห้องลองเสื้อผ้าให้ผู้ชายทุกคนที่เชื่อหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงเข้าไปได้ ... ก็เท่ากับว่าคุณได้เปิดประตูให้กับชายทุกประเภทเข้าไปได้นั่นเอง" แต่เธอก็ได้กล่าวว่าบุคคลข้ามเพศนั้นเปราะบางและควรที่จะได้รับการปกป้อง เธอยังได้เขียนอีกว่าผู้หญิงหลายคนมองคำว่า “ผู้ที่มีประจำเดือน” เป็นคำที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิง[230] ซึ่งเรียงความนี้ก็ถูกวิจารณ์จากบุคคลหลายกลุ่ม รวมไปถึงองค์กรการกุศลเด็กอย่าง องค์กรเมอร์เมด ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนคนข้ามเพศและเด็กกับผู้ปกครองที่ปฏิเสธเพศกำเนิดของตน[231][232] มีหลายครั้งที่โรว์ลิงถูกมองว่าเป็นพวกผู้นิยมสิทธิสตรีหัวรุนแรงที่กีดกันบุคคลข้ามเพศ (เทิร์ฟ) แม้เธอจะปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว[233] อย่างไรก็ตาม เธอก็ได้รับการสนับสนุนจากนักแสดงอย่าง ร็อบบี้ โคลทราน[234] และไบรอัน ค็อกซ์[235] รวมไปถึงนักสิทธิสตรีบางคน อาทิ อยาอัน ฮีร์ซี อาลี[236] และจูลี บินเดล นักสิทธิสตรีถึงรากเหง้า[237]

ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2020 โรว์ลิงได้คืนรางวัลสิทธิมนุษยชนโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดีที่เธอได้รับให้แก่ เคอร์รี เคนเนดี ที่ได้ออกมากล่าวว่าเธอ “รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง” ต่อ “การกล่าวร้ายต่อสังคมคนข้ามเพศ” ของโรว์ลิง ซึ่งเคนเนดีได้เรียกสิ่งที่เธอทำว่าเป็น “การกระทำที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อและค่านิยมพื้นฐานของรางวัลสิทธิมนุษยชนโรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี และถือเป็นการปฏิเสธวิสัยทัศน์ของพ่อฉันด้วย”[238][239][240] โดยโรว์ลิงได้กล่าวว่าข้อความของเคนเนดีนั้นทำให้เธอรู้สึก “เสียใจอย่างถึงที่สุด” แต่เธอได้ยืนยันว่าไม่มีรางวัลใดที่จะทำให้เธอยอม “ละทิ้งสิทธิ์ในการเชื่อในสำนึกที่อยู่ภายในจิตใจของตัวเองได้”[238]

รางวัลและเกียรติยศ

แก้
 
โรว์ลิงหลังจากได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน

โรว์ลิงได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์, มหาวิทยาลัยเอดินบะระ, มหาวิทยาลัยเอดินเบอระเนเปียร์, มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์,[241] มหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน[242][243] และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเธอได้ขึ้นการสุนทรพจน์ในวันสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2008[244] ต่อมาในปี 2009 โรว์ลิงได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์จากนีกอลา ซาร์กอซี[30]

รางวัลอื่นที่ได้รับ ได้แก่:[67]

  • ค.ศ. 1997: Nestlé Smarties Book Prize, Gold Award สำหรับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
  • ค.ศ. 1998: Nestlé Smarties Book Prize, Gold Award สำหรับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ
  • ค.ศ. 1998: British Children's Book of the Year, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
  • ค.ศ. 1999: Nestlé Smarties Book Prize, Gold Award สำหรับ Harry Potter and the Prisoner of Azkaban
  • ค.ศ. 1999: National Book Awards Children's Book of the Year, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ
  • ค.ศ. 1999: Whitbread Children's Book of the Year, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน
  • ค.ศ. 2000: British Book Awards, Author of the Year[72]
  • ค.ศ. 2000: Order of the British Empire, Officer (for services to Children's literature)
  • ค.ศ. 2000: Locus Award, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน
  • ค.ศ. 2001: Hugo Award for Best Novel, winner แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี
  • ค.ศ. 2003: Premio Príncipe de Asturias, Concord
  • ค.ศ. 2003: Bram Stoker Award for Bram Stoker Award for Best Work for Young Readers|Best Work for Young Readers, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์
  • ค.ศ. 2006: British Book of the Year, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม
  • ค.ศ. 2007: Blue Peter Badge, Gold
  • ค.ศ. 2008: British Book Awards, Outstanding Achievement
  • ค.ศ. 2010: Hans Christian Andersen Literature Award, inaugural award winner
  • ค.ศ. 2011: British Academy Film Awards, รางวัลคุโณปการดีเด่นต่อวงการภาพยนตร์อังกฤษมอบภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ รับร่วมกับเดวิด เฮย์แมน นักแสดงและทีมงาน
  • ค.ศ. 2012: Freedom of the City of London
  • ค.ศ. 2017: Order of the Companions of Honour (for services to literature and philanthropy)
  • ค.ศ. 2018: รางวัลโทนี สาขาละครเวทียอดเยี่ยม, มอบแก่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป ซึ่งโรว์ลิงเป็นหนึ่งในทีมอำนวยการสร้างของละครเวทีเรื่องนี้

ผลงานตีพิมพ์

แก้

วรรณกรรมเยาวชน

แก้

นวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์

แก้
  1. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (26 มิถุนายน ค.ศ. 1997)
  2. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ (2 กรกฎาคม ค.ศ. 1998)
  3. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน (8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999)
  4. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี (8 กรกฎาคม ค.ศ. 2000)
  5. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ (21 มิถุนายน ค.ศ. 2003)
  6. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005)
  7. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต (21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007)

ผลงานสืบเนื่อง

แก้

เรื่องสั้น

แก้

หนังสือเด็ก

แก้
  • อิ๊กคาบ็อก (เผยแพร่ให้อ่านทางออนไลน์เป็นรายตอนตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมถึง 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 และตีพิมพ์เป็นแบบฉบับหนังสือในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020)

นวนิยายผู้ใหญ่

แก้

นวนิยายชุดนวนิยายชุดคอร์โมรัน สไตรก์ (เขียนในชื่อ โรเบิร์ต กัลเบรธ)

แก้
  • เสียงเพรียกจากคักคู (18 เมษายน ค.ศ. 2013)
  • หนอนไหม (19 มิถุนายน ค.ศ. 2014)
  • Career of Evil (20 ตุลาคม ค.ศ. 2015)
  • Lethal White (18 กันยายน ค.ศ. 2018)
  • Troubled Blood (15 กันยายน ค.ศ. 2020)
  • The Ink Black Heart (30 สิงหาคม ค.ศ. 2022)
  • The Running Grave (26 กันยายน ค.ศ. 2023)

อ้างอิง

แก้
  1. "Caine heads birthday honours list". BBC News. 17 June 2000. Retrieved 25 October 2000.
  2. "BBC's secret guide to avoid tripping over your tongue". Daily Telegraph. London. 19 October 2006. สืบค้นเมื่อ 17 November 2011.
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ whoswho
  4. Forbes on Harry Potter: "It and the six subsequent books have now sold 500 million copies worldwide." (22 May 2013)
  5. "Record for best-selling book series". Guinness World Records. สืบค้นเมื่อ 18 April 2012.
  6. "Movie Franchises and Brands Index". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 19 December 2012.
  7. "Warner Bros. Pictures Worldwide Satellite Trailer Debut: Harry Potter and the Deathly Hallows Part 1". Businesswire. 2010. สืบค้นเมื่อ 29 December 2010.
  8. "Exclusive Video Interview: 'Harry Potter' Producer David Heyman". firstshowing.net. 2010. สืบค้นเมื่อ 29 December 2010.
  9. 9.0 9.1 9.2 Shapiro, Marc (2000). J.K. Rowling: The Wizard Behind Harry Potter. New York: St. Martin's Press. ISBN 0-312-32586-X.
  10. "Writing – J.K. Rowling". JK Rowling. Archived from the original on 1 January 2020. สืบค้นเมื่อ 30 November 2020
  11. 11.0 11.1 11.2 "JK Rowling unveils The Ickabog, her first non-Harry Potter children's book". BBC News. Archived from the original on 30 May 2020. สืบค้นเมื่อ 30 November 2020.
  12. 12.0 12.1 "Joanne Rowling". The Sunday Times. 27 April 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2011. สืบค้นเมื่อ 6 January 2015.
  13. "#48 J.K. Rowling". Forbes magazine. 14 June 2007. Retrieved 20 October 2007.
  14. Gibbs, Nancy (19 December 2007). Person of the Year 2007: Runners-Up: J.K. Rowling เก็บถาวร 2007-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time magazine. Retrieved 23 December 2007.
  15. Pearse, Damien (11 October 2010). "Harry Potter creator J.K. Rowling named Most Influential Woman in the UK". The Guardian. UK. สืบค้นเมื่อ 11 October 2010.
  16. 16.0 16.1 Rowling, J.K. (16 February 2007). "The Not Especially Fascinating Life So Far of J.K. Rowling". Accio Quote (accio-quote.org). Retrieved 28 April 2008.
  17. J.K. Rowling,Author profile Goodreads.com. Retrieved 30 May 2015
  18. Shelagh, Rogers (23 October 2000). "Interview: J.K. Rowling". This Morning. Canadian Broadcasting Corporation.
    Reprint at Accio Quote! (accio-quote.org). 28 July 2007. Retrieved 24 December 2013.
  19. "Judge rules against J.K. Rowling in privacy case". Guardian Unlimited. 7 August 2007. Retrieved 21 August 2007.
  20. 20.0 20.1 20.2 Greig, Geordie (10 January 2006). "There would be so much to tell her ...". Daily Telegraph. Retrieved 8 August 2010.
  21. "Biography: J.K. Rowling" เก็บถาวร 2007-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Scholastic.com. Retrieved 20 October 2007.
  22. "Rowling, J.K.". World Book. Vol. 2006.
  23. Hutchinson, Lynne (6 September 2012). "Concerns raised about future of former Chipping Sodbury cottage hospital site". Gazette Series. Gloucestershire, UK. สืบค้นเมื่อ 1 October 2012.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 24.5 24.6 24.7 24.8 "Biography" เก็บถาวร 2012-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. JKRowling.com. Retrieved 17 March 2006.
  25. 25.00 25.01 25.02 25.03 25.04 25.05 25.06 25.07 25.08 25.09 25.10 25.11 25.12 25.13 Parker, Ian (1 October 2012). "Mugglemarch: J.K. Rowling writes a realist novel for adults". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ 23 September 2012.
  26. 26.0 26.1 Smith, Sean (2003), J.K. Rowling: A Biography (Michael O'Mara, London), p. 55.
  27. 27.00 27.01 27.02 27.03 27.04 27.05 27.06 27.07 27.08 27.09 27.10 27.11 27.12 McGinty, Stephen (16 June 2003). "The J.K. Rowling Story". The Scotsman. Retrieved 9 April 2006.
  28. "J.K. Rowling's ancestors on ScotlandsPeople". ScotlandsPeople. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-02. สืบค้นเมื่อ 27 September 2011.
  29. Powell, Kimberly. "J.K. Rowling Family Tree". About.com. สืบค้นเมื่อ 1 November 2014.
  30. 30.0 30.1 Keaten, Jamey (3 February 2009). "France honors Harry Potter author Rowling". USA Today. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 7 November 2010.
  31. The creator of Harry Potter unravels her French heritage. Who Do You Think You Are?. Retrieved 30 May 2015.
  32. Colleen A. Sexton (2008). J. K. Rowling. Brookfield, Conn: Twenty-First Century Books. p. 13. ISBN 0-8225-7949-9.
  33. "St Michaels Register 1966–70 1. Winterbourne. —Rowling listed as admission No. 305. Retrieved 14 August 2006.
  34. "Happy birthday J.K. Rowling – here are 10 magical facts about the 'Harry Potter' author [Updated]". Los Angeles Times. 31 July 2010. สืบค้นเมื่อ 8 August 2010.
  35. Kirk, Connie Ann (2003). J. K. Rowling: a biography. Westport, Conn: Greenwood Press. p. 28. ISBN 0-313-32205-8.
  36. Rowling, J.K. (26 November 2006). The first It Girl เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Daily Telegraph. Retrieved 20 October 2007.
  37. 37.0 37.1 Fraser, Lindsey (2 November 2002). "Harry Potter – Harry and me". The Scotsman. Interview with Rowling, edited excerpt from Conversations with J.K. Rowling.
    Reprint at Accio Quote! (accio-quote.org). 31 May 2003; last updated 12 February 2007. Retrieved 6 December 2014.
  38. Feldman, Roxanne (September 1999). "The Truth about Harry". School Library Journal.
    Reprint at Accio Quote! (accio-quote.org). Retrieved 2014-12-06.
  39. Fraser, Lindsey. Conversations with J.K. Rowling, pp. 19–20. Scholastic.
  40. Fraser, Lindsey. Conversations with J.K. Rowling, p. 29. Scholastic.
  41. Fraser, Lindsey. Conversations with J.K. Rowling, p. 34. Scholastic.
  42. Norman-Culp, Sheila (23 November 1998). "British author rides up the charts on a wizard's tale". Associated Press Newswires.
    Reprint at Accio Quote! (accio-quote.org). 24 February 2007. Retrieved 6 December 2007.
  43. Rowling, J.K. (1988). "What was the Name of that Nymph Again? or Greek and Roman Studies Recalled". Pegasus. Exeter: University of Exeter Department of Classics and Ancient History (41).
  44. 44.0 44.1 Loer, Stephanie (18 October 1999). "All about Harry Potter from quidditch to the future of the Sorting Hat". The Boston Globe.
    Reprint at Accio Quote! (accio-quote.org). No date. Retrieved 10 October 2007.
  45. "Harry Potter and Me". BBC Christmas Special. 2001. A&E Biography (American edition), 13 November 2002.
    Reprint (part 1 of 5) at Accio Quote! (accio-quote.org). Retrieved 25 February 2007.
  46. Transcript of Richard and Judy. Richard & Judy, Channel Four Corporation (UK). 26 June 2006. Retrieved 4 July 2006.
  47. Weeks, Linton. "Charmed, I'm Sure". The Washington Post. 20 October 1999. Retrieved 21 March 2006.
  48. Kirk, Connie Ann (2003). J.K. Rowling: A Biography. United States: Greenwood Press. p. 57. ISBN 0-313-32205-8. Soon, by many eyewitness accounts and even some versions of Jorge's own story, domestic violence became a painful reality in Jo's life.
  49. 49.0 49.1 49.2 JK Rowling (June 2008). "JK Rowling: The fringe benefits of failure". TED. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-30. สืบค้นเมื่อ 5 March 2011. Failure & imagination
  50. "Harry Potter author: I considered suicide". CNN. 23 March 2008. Retrieved 23 March 2008.
  51. Harry Potter's magician. BBC News. 18 February 2003. Retrieved 30 December 2007.
  52. Melissa Anelli (2008). Harry, A History: The True Story of a Boy Wizard, His Fans, and Life Inside the Harry Potter Phenomenon. New York: Pocket. p. 44. ISBN 1-4165-5495-5.
  53. "JK Rowling awarded honorary degree". Daily Telegraph. London. 8 July 2004. สืบค้นเมื่อ 9 August 2012.
  54. 54.0 54.1 Kirk, Connie Ann (2003). J.K. Rowling: A Biography. United States: Greenwood Press.
  55. Dunn, Elisabeth (30 June 2007). "From the dole to Hollywood". Daily Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 8 August 2010.
  56. "JK Rowling – Biography on Bio". Biographies.co.uk. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
  57. 57.0 57.1 "Harry Potter and Me". BBC Christmas Special. 28 December 2001. Transcribed by "Marvelous Marvolo" and Jimmi Thøgersen. Quick Quotes Quill.org. Retrieved 17 March 2006.
  58. Damien Henderson (2007). "How JK Rowling has us spellbound". The Herald. สืบค้นเมื่อ 6 July 2010.
  59. Riccio, Heather. Interview with JK Rowling, Author of Harry Potter เก็บถาวร 2009-01-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Hilary Magazine. Retrieved 26 October 2007.
  60. "Meet the Writers: J. K. Rowling" เก็บถาวร 2006-04-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Barnes & Noble. Retrieved 25 March 2006.
  61. Lawless, John (3 July 2005). "Revealed: The eight-year-old girl who saved Harry Potter". The New Zealand Herald. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 6 October 2011.
  62. Blais, Jacqueline. "Harry Potter has been very good to JK Rowling. USA Today 9 July 2005. Retrieved 26 May 2009.
  63. Scottish Arts Council Wants Payback. hpna.com. 30 November 2003. Retrieved 9 April 2006.
  64. Kleffel, Rick. Rare Harry Potter books. metroactive.com. 22 July 2005. Retrieved 9 April 2006.
  65. Reynolds, Nigel. "$100,000 Success Story for Penniless Mother". The Daily Telegraph. 7 July 1997. Retrieved 25 October 2007.
  66. "Red Nose Day" Online Chat Transcript, BBC Online, 12 March 2001, The Burrow. Retrieved 16 April 2008. Archived at Wayback Engine.
  67. 67.0 67.1 67.2 "Harry Potter awards". Bloomsbury Publishing House. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-22. สืบค้นเมื่อ 30 July 2013.
  68. Potter's award hat-trick. BBC News. 1 December 1999. Retrieved 25 October 2007.
  69. Gibbons, Fiachra. "Beowulf slays the wizard". Guardian Unlimited. 26 January 2000. Retrieved 19 March 2006.
  70. 70.0 70.1 "Potter sales record". Reuters/PRNewswire. 11 July 2000. Retrieved 25 October 2007.
  71. Johnstone, Anne. The hype surrounding the fourth Harry Potter book belies the fact that Joanne Rowling had some of her blackest moments writing it – and that the pressure was self-imposed; a kind of magic. The Herald. 8 July 2000. Retrieved 25 October 2007.
  72. 72.0 72.1 "JK Rowling Biography". Biography Channel. สืบค้นเมื่อ 26 August 2013. Rowling was named Author of The Year at the British Book Awards in 2000
  73. Rowling denies writer's block. BBC News. 8 August 2001. Retrieved 25 October 2007.
  74. Grossman, Lev. "J.K. Rowling Hogwarts And All". Time magazine. 17 July 2005. Retrieved 25 October 2007.
  75. New Potter book topples U.S. sales records. MSNBC. 18 July 2005. Retrieved 25 October 2007.
  76. Press Release. Harry Potter and the Deathly Hallows เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Bloomsbury. 21 December 2006. Retrieved 7 July 2007.
  77. Cornwell, Tim.Finish or bust – JK Rowling's unlikely message in an Edinburgh hotel room. The Scotsman. 3 February 2007. Retrieved 7 February 2007.
  78. Rowling, J. K. "J.K.Rowling Official Site". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-22. สืบค้นเมื่อ 15 August 2011.
  79. 79.0 79.1 79.2 Harry Potter finale sales hit 11 m. BBC News. 23 July 2007. Retrieved 27 July 2007.
  80. "Rowling to kill two in final book". London: BBC News. 27 June 2006. สืบค้นเมื่อ 24 March 2010.27 June 2006. Retrieved 25 July 2007.
  81. Fahey, Mark (October 13, 2016). "Harry Potter and the $25 billion franchise". CNBC. สืบค้นเมื่อ December 5, 2016.
  82. Pauli, Michelle. "June date for Harry Potter 5". The Guardian; "Potter 'is fastest-selling book ever". BBC News. Retrieved 4 August 2007.
  83. Sawyer, Jenny. Missing from 'Harry Potter' – a real moral struggle. The Christian Science Monitor. 25 July 2007. Retrieved 27 July 2007.
  84. TIME staff (31 July 2013). "Because It's His Birthday: Harry Potter, By the Numbers". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 August 2013.
  85. "The List". PotterGlot. สืบค้นเมื่อ 2017-05-29.
  86. New Study Finds That the Harry Potter Series Has a Positive Impact on Kids' Reading and Their School Work เก็บถาวร 2007-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Scholastic. 25 July 2006. Retrieved 10 February 2007.
  87. Mehegan, David. Mehegan, David (9 July 2007). "In end, Potter magic extends only so far". The Boston Globe. 9 July 2007. Retrieved 1 April 2008.
  88. Walker, Andrew. "Harry Potter is off to Hollywood – writer a Millionairess". The Scotsman. 9 October 1998. Retrieved 25 October 2007.
  89. 89.0 89.1 Harry Potter release dates. Box Office Mojo. Retrieved 25 October 2007.
  90. "Half-Blood Prince Filming News: Threat of Strike to Affect Harry Potter Six?". The Leaky Cauldron.19 September 2007. Retrieved 19 September 2007.
  91. Spelling, Ian. Yates Confirmed For Potter VI. Sci Fi Wire. 3 May 2007. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  92. Jeff Boucher (13 March 2008). "Final 'Harry Potter' book will be split into two movies". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 13 March 2008.
  93. "WB Sets Lots of New Release Dates!". Comingsoon.net. 24 February 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-26. สืบค้นเมื่อ 1 August 2010.
  94. Treneman, Ann. J.K. Rowling, the interview. The Times. 30 June 2000. Retrieved 26 July 2006.
  95. Coke backs Harry Potter literacy drive. BBC News. 9 October 2001. Retrieved 26 July 2006.
  96. Mzimba, Lizo, moderator. "Interview with Steve Kloves and J.K. Rowling". BBC Newsround. February 2003. Retrieved 21 March 2006.
  97. "J.K. Rowling: 'Fans will be happy'". CBBC Newsround. 2 November 2001. Retrieved 21 March 2006.
  98. Rowling denies vetoing Spielberg. J. K. Rowling's official site (now archived at Wayback Machine). Retrieved 3 April 2006.
  99. Wizard News: Terry Gilliam Bitter About "Potter". Wizard News. 29 August 2005. Retrieved 20 October 2007.
  100. Billington, Alex. Exclusive Video Interview: 'Harry Potter' Producer David Heyman. firstshowing.net. 9 December 2010. Retrieved on 29 September 2011.
  101. Warner Bros. Pictures mentions J. K. Rowling as producer. Business Wire. 22 September 2010. Retrieved on 29 September 2011.
  102. "Outstanding British Contribution to Cinema in 2011 – The Harry Potter Films". British Academy of Film and Television Arts. 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-06. สืบค้นเมื่อ 3 February 2011.
  103. Watson, Julie and Kellner, Tomas. "J.K. Rowling And The Billion-Dollar Empire". Forbes.com. 26 February 2004. Retrieved 19 March 2006.
  104. (JK) -Rowling_CRTT.html #1062 Joanne (JK) Rowling. Forbes.com. Retrieved 16 March 2008;Oprah is Richest Female Entertainer. Contact Music. Retrieved 20 January 2007.
  105. J.K. Rowling, the author with the magic touch. MSN. Retrieved 9 August 2007.
  106. "J.K. Rowling: Billionaire to millionaire". The New Zealand Herald. 12 March 2012. สืบค้นเมื่อ 16 January 2013.
  107. "BBC Radio 4, Woman's Hour Power list". BBC. สืบค้นเมื่อ 1 November 2014.
  108. Nichols, Michelle. Hogwarts hideaway for Potter author. The Scotsman. 22 November 2001. Retrieved 25 October 2007.
  109. Boshoff, Alison. What does JK Rowling do with her money. Daily Mail. 24 August 2006. Retrieved 20 October 2007.
  110. Collinson, Patrick. "Rub shoulders with Brucie for £4.3m, or Tony for £7,250". Guardian Unlimited. 26 April 2005. Retrieved 29 October 2007.
  111. Christmas wedding for Rowling. BBC News. 30 December 2001. Retrieved 25 October 2007.
  112. "Baby joy for JK Rowling". BBC News. London. 24 March 2003. สืบค้นเมื่อ 24 March 2010.
  113. J.K. Rowling's Official Site, "Progress on Book Six". 15 March 2004. Retrieved 22 March 2006. Archived at Wayback Machine.
  114. Morrison, Jenny (23 April 2004). "Chancellor's daughter remembered at christening service". The Scotsman. Edinburgh. สืบค้นเมื่อ 16 April 2010.
  115. J.K. Rowling's Official Site, "JKR gives Birth to Baby Girl". Retrieved 25 January 2005. Archived at Wayback Machine.
  116. 116.0 116.1 "Biography". J.K. Rowling.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-04. สืบค้นเมื่อ 8 June 2013.
  117. 117.0 117.1 Carrell, Severin (11 June 2014). "JK Rowling donates £1m to Scotland's anti-independence campaign". theguardian.com. Guardian News and Media. สืบค้นเมื่อ 11 June 2014.
  118. Charlotte Williams (2011). "Rowling leaves Christopher Little Agency". thebookseller.com. สืบค้นเมื่อ 4 July 2011.
  119. Little, Brown & Company (2012). "The Casual Vacancy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-13. สืบค้นเมื่อ 13 April 2012.
  120. "JK Rowling launches new novel at Southbank Centre". The Londonist. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
  121. "JK Rowling to appear at Cheltenham Literature Festival". BBC News. 1 August 2012. สืบค้นเมื่อ 2 August 2012.
  122. "An hour with J. K. Rowling". Charlie Rose LLC. 19 October 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-25. สืบค้นเมื่อ 26 October 2012.
  123. "J.K. Rowling | Lennoxlove Book Festival". Lennoxlove Book Festival. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-06. สืบค้นเมื่อ 29 December 2012.
  124. Munn, Patrick (28 January 2015). "BBC One Sets Premiere Date For 'The Casual Vacancy'". TV Wise. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-21. สืบค้นเมื่อ 28 January 2015.
  125. "J.K. Rowling writing crime novel, says report". CBC News. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  126. Lea, Richard (20 August 2007). "Rowling's 'crime novel' is a red herring". London: The Guardian. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  127. Flood, Alison (24 February 2012). "JK Rowling's new book: clues suggest a turn to crime fiction". London: The Guardian. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  128. "JK's OOTP interview". Newsnight. 2003. Retrieved 20 May 2008. * "Living with Harry Potter". BBC Radio 4. 2005. Retrieved 20 May 2008.
  129. 129.0 129.1 Richard Brooks (14 July 2013). "Whodunnit? J. K. Rowling's Secret Life As A Wizard Crime Writer Revealed". The Sunday Times. p. 1.
  130. 130.0 130.1 Beth Carswell (18 July 2013). "More on The Cuckoo's Calling – Signed First Sells for $4,453". AbeBooks.com. AbeBooks, Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-31. สืบค้นเมื่อ 20 July 2013.
  131. Osley, Richard (14 July 2013). "The Cuckoo's Calling, by 'Robert Galbraith': JK Rowling's secret bestseller". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ 14 July 2013.
  132. "The Cuckoo's Calling". Publishers Weekly. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  133. "Mystery Reviews". Library Journal. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  134. 134.0 134.1 134.2 134.3 Maxine Frith (16 July 2013). "Harry Plotter?". The Evening Standard. pp. 20–21.
  135. 135.0 135.1 Lyall, Sarah (14 July 2013). "This Detective Novel's Story Doesn't Add Up". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 14 July 2013.
  136. 136.0 136.1 James Meikle (18 July 2013). "JK Rowling directs anger at lawyers after secret identity revealed". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 19 July 2013.
  137. Watts, Robert (13 July 2013). "JK Rowling unmasked as author of detective novel writing under nom de-plume". London: The Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-25. สืบค้นเมื่อ 13 July 2013.
  138. Liz Bury (25 July 2013). "JK Rowling tells story of alter ego Robert Galbraith". Chennai, India: Guardian News Service. สืบค้นเมื่อ 25 July 2013.
  139. 139.0 139.1 Goldsmith, Belinda. "Real-life mystery of JK Rowling's 'secret' novel uncovered". Reuters. trust.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-12. สืบค้นเมื่อ 18 July 2013.
  140. Meikle, James (18 July 2013). "JK Rowling directs anger at lawyers after secret identity revealed". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 18 July 2013.
  141. "Rowling accepts compensation for identity revelation". The Hindu. Chennai, India. 31 July 2013. สืบค้นเมื่อ 31 July 2013.
  142. "JK Rowling lawyer fined over Robert Galbraith leak". BBC News. 2 January 2014.
  143. Charles Poladian (17 February 2014). "J.K. Rowling Returns As Robert Galbraith For New Cormoran Strike Novel, 'The Silkworm,' Plot Summary And Release Date". สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  144. Rowling, J,K. "About Robert Galbraith". Robert Galbraith. สืบค้นเมื่อ 15 March 2015.
  145. Levine, Daniel (24 April 2015). "J.K. Rowling finishes third Cormoran Strike crime novel, will be out this fall". Celebrity Cafe. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-18. สืบค้นเมื่อ 24 April 2015.
  146. Transcript of J. K. Rowling interview on Friday Night with Jonathan Ross. 6 July 2007. Retrieved 20 October 2007.
  147. Topel, Fred. "Harry Potter Author J.K. Rowling Enchants Readers on Her U.S. Book Tour". New York Post. 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-20. สืบค้นเมื่อ 2015-06-10. Retrieved 30 October 2007.
  148. "Oprah and Harry Potter phenom JK Rowling interview".
  149. 'Harry Potter' author J.K. Rowling on failure: It's 'inevitable'
  150. Brown, Jen. Stop your sobbing! More Potter to come เก็บถาวร 2007-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. MSNBC. 24 July 2007. Retrieved 25 July 2007.
  151. Harry Potter Encyclopedia in Progress. The Guardian. 16 April 2012. Retrieved 1 August 2013.
  152. David L. Ulin. "J.K. Rowling brings magic touch to U.S." Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-19. สืบค้นเมื่อ 2015-06-10. 16 October 2007. Retrieved 30 October 2007.
  153. Hastings, Chris. Tears as JK Rowling returns to where it began เก็บถาวร 2007-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Daily Telegraph. 24 December 2007. Retrieved 24 December 2007.
  154. Singh, Anita (16 June 2011). "JK Rowling launches Pottermore Website". The Daily Telegraph. London. สืบค้นเมื่อ 4 July 2011.
  155. Flood, Alison (23 June 2011). "Pottermore website launched by JK Rowling as 'give-back' to fans". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 4 July 2011.
  156. "J.K. Rowling on Finishing Harry Potter". in.rediff.com. 11 January 2006. Retrieved 19 March 2006.
  157. "Rowling completes post-Harry Potter book". Associated Press. 1 November 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 November 2007. สืบค้นเมื่อ 2 November 2007.
  158. Eden, Richard (2 March 2008). "New adventure is child's play for Jo". The Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-03. สืบค้นเมื่อ 3 March 2008.
  159. "JK Rowling in court over photo of son". The Scotsman. Edinburgh. 10 March 2008. 10 March 2008. Retrieved 18 March 2008.
  160. Memmott, Carol. A fond look back at Harry. USA Today. 25 July 2007. Retrieved 26 July 2007.
  161. "The Volant Charitable Trust (UK and overseas)". Merseyside Funding. Retrieved 19 January 2008.
  162. "One Parent Families Gingerbread". OneParentFamilies. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-07. สืบค้นเมื่อ 2015-06-11.. Retrieved 11 July 2007.
  163. J K Rowling becomes President of One Parent Families. 16 November 2004. Retrieved 20 October 2007. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-06. สืบค้นเมื่อ 2015-06-11.
  164. Gordon's Women. Guardian Unlimited. 13 May 2007. Retrieved 20 October 2007.
  165. Goodson, Rory and Chittenden, Maurice. "Rowling casts a spell that will give charities millions". The Sunday Times. 7 January 2001. Retrieved 25 October 2007.
  166. Comic Relief, The Money, "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 2015-06-11.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  167. Magic (foreword by JK Rowling). Bloomsbury Publishing, 2002 (ISBN: 0747557462)
  168. "About". Lumos. Retrieved 7 November 2010.
  169. Philanthropy Impact, Sophie Radice. JK Rowling OBE. "Women and Philanthropy".
  170. 170.0 170.1 170.2 Rare JK Rowling book fetches £2m. BBC News. 13 December 2007. Retrieved 13 December 2007.
  171. Majendie, Paul. Rowling says goodbye to Potter with fairy tales เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  172. "The Season of Giving – The Millionaire Donations that Defined 2013". Spear's. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-30. สืบค้นเมื่อ 30 December 2013.
  173. "J K Rowling marks start for clinic". University of Edinburgh. สืบค้นเมื่อ 15 December 2011.
  174. "J.K. Rowling donates £10m to multiple sclerosis clinic". AFP. 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-14. สืบค้นเมื่อ 30 August 2010.
  175. 175.0 175.1 Andy McSmith (10 April 2009). "Rowling quits multiple sclerosis charity over Anglo-Scottish feud". The Independent. UK. สืบค้นเมื่อ 20 April 2009.
  176. Williams, Rachel (29 May 2008). "Rowling pens Potter prequel for charities". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 5 May 2010.
  177. Harry, Carrie, Garp. Scholastic. 2006. Retrieved 25 October 2007.
  178. 'Potter' Author Adds to UK Reward Fund. USA Today. 13 May 2007. Retrieved 19 March 2012; Harry Potter Author Adds To Reward เก็บถาวร 2012-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Sky News. 13 May 2007. Retrieved 19 March 2012.
  179. Brown publishes greatest speeches. BBC News. 5 April 2006. Retrieved 20 October 2007.
  180. Madeleine Davies (2013). "J.K. Rowling to Donate All Royalties From Her Secret Novel to Charity". jezebel.com. สืบค้นเมื่อ 27 June 2014.
  181. "toe-by-toe.co.uk". toe-by-toe.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-06. สืบค้นเมื่อ 17 November 2011.
  182. J. K. Rowling (26 November 2006). "The first It Girl". The Telegraph. London.
  183. "Online chat transcript, Scholastic.com, 3 February 2000". Accio Quote!. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
  184. "J.K. Rowling's bookshelf". O magazine. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
  185. "Early influences". J.K. Rowling's official website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-30. สืบค้นเมื่อ 26 December 2012.
  186. Ben Leach (20 September 2008). "Harry Potter author JK Rowling gives £1 million to Labour". The Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-20. สืบค้นเมื่อ 20 September 2008.
  187. Cruz, Juan (8 February 2008). "Ser invisible... eso sería lo más". El País (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 8 February 2008.
  188. JK ROWLING ATTACKS CAMERON AND HIS ‘NEW TORIES’
  189. J. K. Rowling (14 April 2010). "The single mother's manifesto". The Times. UK. สืบค้นเมื่อ 15 April 2010.
  190. Aitkenhead, Decca (22 September 2012). "JK Rowling: 'The worst that can happen is that everyone says, That's shockingly bad'". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 22 September 2012.
  191. "JK Rowling donates £1m to Scottish independence 'No' campaign and calls some nationalists 'Death Eaters'". The Independent. London. 12 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-11. สืบค้นเมื่อ 12 June 2014.
  192. 192.0 192.1 Shawn Adler (2007). "Harry Potter Author J.K. Rowling Opens Up About Books' Christian Imagery". mtv. สืบค้นเมื่อ 18 October 2007.
  193. Linton Weeks (1999). "Charmed, I'm Sure". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 17 June 2007.
  194. Nelson, Michael. Fantasia: The Gospel According to C.S. Lewis เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The American Prospect. 25 February 2002. Retrieved 20 October 2007.
  195. Wyman, Max. "You can lead a fool to a book but you can't make them think". Vancouver Sun. 26 October 2000. Retrieved 29 October 2007.
  196. "New Interview with J.K. Rowling for Release of Dutch Edition of "Deathly Hallows"". The Leaky Cauldron. 2007. สืบค้นเมื่อ 15 November 2007.
  197. Hale, Mike (16 July 2009). "The Woman Behind the Boy Wizard". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 16 November 2010.
  198. "Rowling's Christian critics miss the mark". สืบค้นเมื่อ 16 November 2010.
  199. Cruz, Juan (8 February 2008). "Ser invisible... eso sería lo más". El País (ภาษาสเปน). Edinburgh. สืบค้นเมื่อ 9 February 2008.
  200. Vieira, Meredith."Harry Potter: The final chapter" เก็บถาวร 2007-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. MSNBC. Retrieved 30 July 2007.
  201. Presenter: Mark Lawson (27 September 2012). "J. K. Rowling". Front Row. เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ 17:45. BBC Radio 4. สืบค้นเมื่อ 27 September 2012.
  202. Treneman, Ann. "I'm not writing for the money: It's for me and out of loyalty to fans.". The Times. 20 June 2003. Retrieved 25 October 2007.
  203. Lisa O'Carroll and Josh Halliday (24 November 2011). "Leveson inquiry: JK Rowling and Sienna Miller give evidence". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 22 September 2012.
  204. Press Complaints Commission: JK Rowling เก็บถาวร 2007-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. pcc.org.uk. 2001. Retrieved 8 December 2007.
  205. "David Murray (by his litigation friends Neil Murray and Joanne Murray) v Big Pictures (UK) Limited". London. 7 May 2008. สืบค้นเมื่อ 14 June 2015.
  206. O'Carroll, Lisa (14 September 2011). "Leveson phone-hacking inquiry: JK Rowling among 'core participants'". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 24 September 2011.
  207. 207.0 207.1 "JK Rowling tells Leveson inquiry of press intrusion". BBC. 24 November 2011. สืบค้นเมื่อ 25 November 2011.
  208. Richard Allen Greene (2011). "J.K. Rowling chased from home by press, she says". cnn.com. สืบค้นเมื่อ 25 November 2011.
  209. Rowling, JK (30 November 2012). "I feel duped and angry at David Cameron's reaction to Leveson". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 3 December 2012.
  210. Szalai, Georg (18 March 2014). "Benedict Cumberbatch, Alfonso Cuaron, Maggie Smith Back U.K. Press Regulation". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ 19 March 2014.
  211. Lewis, Sophie (19 December 2019). "J.K. Rowling facing backlash after supporting researcher who lost her job over transphobic tweets". CBS News (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 December 2019. สืบค้นเมื่อ 20 December 2019.
  212. Stack, Liam (19 December 2019). "J.K. Rowling Criticized After Tweeting Support for Anti-Transgender Researcher". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  213. Gallagher, Sophie (19 December 2019). "JK Rowling defends woman who lost employment tribunal over transgender tweets". The Independent. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 June 2020. สืบค้นเมื่อ 3 June 2020.
  214. "Judge rules against researcher who lost job over transgender tweets". The Guardian. 18 Dec 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 May 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2020.
  215. "Test case rules against Maya Forstater, tax expert sacked over transgender tweet". The Daily Telegraph. 18 December 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 February 2020. สืบค้นเมื่อ 12 July 2020.
  216. "We can speak up and we can be heard: Maya Forstater". Women's Place UK. 1 Feb 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 April 2020. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.
  217. J.K. Rowling [@jk_rowling] (6 June 2020). "'People who menstruate.' I'm sure there used to be a word for those people. Someone help me out. Wumben? Wimpund? Woomud?" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  218. J.K. Rowling [@jk_rowling] (6 June 2020). "'People who menstruate.' I'm sure there used to be a word for those people. Someone help me out. Wumben? Wimpund? Woomud?" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  219. J.K. Rowling [@jk_rowling] (6 June 2020). "If sex isn't real, there's no same-sex attraction. If sex isn't real, the lived reality of women globally is erased. I know and love trans people, but erasing the concept of sex removes the ability of many to meaningfully discuss their lives. It isn't hate to speak the truth" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  220. "Here's What Was Wrong With J.K. Rowling's Transphobic Tweets". HuffPost Canada (ภาษาอังกฤษ). 8 June 2020. สืบค้นเมื่อ 19 September 2020.
  221. Hoffman, Jordan. "J.K. Rowling Faces Backlash After Transphobic Tweets". Vanity Fair (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 19 September 2020.
  222. GLAAD [@glaad] (6 June 2020). "JK Rowling continues to align herself with an ideology which willfully distorts facts about gender identity and people who are trans... We stand with trans youth, especially those Harry Potter fans hurt by her inaccurate and cruel tweets" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  223. Moreau, Jordan (6 June 2020). "J.K. Rowling Gets Backlash Over Anti-Trans Tweets". Variety. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  224. Bui, Hoai-Tran (11 June 2020). "The 'Harry Potter' Kids Are All Right: Emma Watson, Eddie Redmayne Condemn J.K. Rowling's Trangender Comments". SlashFilm.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  225. Evans, Mel (12 June 2020). "Rupert Grint 'stands with trans community' as he shares statement following JK Rowling backlash". Metro. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  226. "Harry Potter fan sites distance themselves from JK Rowling over transgender rights". The Guardian. 3 July 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 July 2020. สืบค้นเมื่อ 3 July 2020.
  227. Malvern, Jack (13 June 2020). "JK Rowling: flood of tweets reverses Noma Dumezweni's praise of author". The Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  228. "J.K. Rowling Writes about Her Reasons for Speaking out on Sex and Gender Issues". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2020. สืบค้นเมื่อ 10 June 2020.
  229. "J.K. Rowling Defends Trans Statements In Lengthy Essay, Reveals She's A Sexual Assault Survivor & Says "Trans People Need And Deserve Protection"". Deadline. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2020. สืบค้นเมื่อ 26 June 2020.
  230. Shirbon, Estelle (10 June 2020). "J.K. Rowling reveals past abuse and defends right to speak on trans issues". Reuters. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  231. "An open letter to J.K. Rowling". Mermaids. 12 June 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 June 2020. สืบค้นเมื่อ 13 June 2020.
  232. Moore, Matt (13 June 2020). "Mermaids writes open letter to JK Rowling following her anti-trans tweets". Gay Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 June 2020. สืบค้นเมื่อ 14 June 2020.
  233. López, Canela. "J.K. Rowling wrote a controversial statement about transgender people in response to being called a 'TERF.' Here's what that means". Insider. สืบค้นเมื่อ 5 July 2020.
  234. Ntim, Zac. "Hagrid actor Robbie Coltrane says people accusing JK Rowling of transphobia 'hang around waiting to be offended'". Insider. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
  235. Dosani, Rishma (24 September 2020). "Brian Cox defends JK Rowling over menstruating row as he blasts cancel culture". Metro. สืบค้นเมื่อ 28 September 2020.
  236. "J.K. Rowling's lonely fight for women's rights". Washington Examiner (ภาษาอังกฤษ). 26 June 2020. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 July 2020. สืบค้นเมื่อ 22 July 2020.
  237. Thorpe, Vanessa (14 June 2020). "JK Rowling: from magic to the heart of a Twitter storm". The Observer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 July 2020. สืบค้นเมื่อ 6 July 2020. Arrayed on Rowling’s side are some of the veteran voices of feminism, including the radical Julie Bindel, who spoke out in support this weekend:...
  238. 238.0 238.1 Flood, Alison (28 August 2020). "JK Rowling returns human rights award to group that denounces her trans views". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 28 August 2020.
  239. "A STATEMENT FROM KERRY KENNEDY". Robert F. Kennedy Human Rights website. 3 August 2020.
  240. "Statement from J.K. Rowling regarding the Robert F Kennedy Human Rights Ripple of Hope Award". สืบค้นเมื่อ 5 September 2020.
  241. Pook, Sally (15 July 2000). "J K Rowling given honorary degree at her alma mater". The Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 5 May 2010.
  242. David Cribb (2006). "JK Rowling receives honorary degree". digital spy. Retrieved 6 June 2008.
  243. "'Harry Potter' author JK Rowling receives Honorary Degree". University of Aberdeen. 2006. Retrieved 6 June 2008.
  244. Claire M. Guehenno and Laurence H. M. Holland (2008). "J. K. Rowling To Speak at Commencement". The Harvard Crimson. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-15. สืบค้นเมื่อ 2015-06-09. Retrieved 6 June 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน