วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

พระอารามหลวงสำคัญประจำจังหวัดลำพูน

วัดพระธาตุหริภุญชัย (ไทยถิ่นเหนือ: ) ในอดีตนิยมเรียก วัดเจดีย์หลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร[1] ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 28 ไร่ 3 งาน 26 ตารางวา[2]

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
พระบรมธาตุหริภุญชัย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระธาตุหริภุญชัย
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ประเภทพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
นิกายเถรวาท
ความพิเศษพระธาตุประจำปีเกิดปีระกา
เว็บไซต์www.hariphunchaitemple.org
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระธาตุหริภุญชัย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478[3]

ประวัติ แก้

 
พระบรมธาตุหริภุญชัยในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2491

ตำนานมูลศาสนาและตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย กล่าวว่า ครั้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตในหมู่บ้านของเหล่าเม็งคบุตร แล้วเสด็จเลียบลำน้ำแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) พวกเม็งตามเสด็จมาถึงที่สถานที่หนึ่งทางทิศตะวันตกของแม่น้ำ พระพุทธเจ้าปรารถจะนั่ง ก็มีแท่นหินก้อนหนึ่งผุดขึ้นมาจากพื้นดิน พระพุทธเจ้าจึงทรงวางบาตรและประทับเหนือแท่นหินนั้น ชมพูนาคราชและพญากาเผือกออกมาอุปัฏฐากพระองค์ ลัวะผู้หนึ่งได้ถวายหมากสมอ เมื่อพระพุทธเจ้าฉันเสร็จได้ซัดเมล็ดสมอลงเหนือพื้นดิน เมล็ดสมอหมุนเวียน 3 รอบ แล้วจึงได้ฝังพระเกศาแล้วเอาผลสมอทับไว้ มีพุทธพยากรณ์ว่า ในภายภาคหน้าเมื่อพระเจ้าอาทิตยราชเสวยราชย์ สถานที่นี้จะเป็นที่ตั้งของมหานครใหญ่ชื่อ "หริภุญชัย" เพราะพระพุทธเจ้าได้มาฉันหมากสมอที่นี้ ที่พระพุทธเจ้านั่งจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีธาตุกระดูกพระเศียร ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้ว และธาตุย่อย รวม 1 บาตรเต็ม ณ มหานครแห่งนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว พญากาเผือกเมื่อได้ยินพุทธพยากรณ์ก็จำได้สิ้น เมื่อบินกลับถึงป่าหิมพานต์จึงเรียกกาดำผู้เป็นหลานมาเล่าพุทธพยากรณ์ พร้อมให้กาดำอยู่เฝ้ารักษาสถานที่ เหล่าเทวดา อสูร ฤๅษี พากันมาบูชาแท่นหินนั้นเป็นนิตย์ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยว่าแท่นหินนั้นจมลงไปในดินตามเดิม ภายหลังพระยาศรีธรรมาโศกราชได้นำพระธาตุใส่ในกระบอกไม้รวก แล้วใส่ในโกศแก้วลูกใหญ่ 3 กำ บรรจุใต้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งฉันหมากสมอ

เมื่อพระเจ้าอาทิตยราชแห่งอาณาจักรหริภุญชัยเสวยราชสมบัติ (ตำนานแต่ละเล่มกล่าวไม่ตรงกัน ตำนานมูลศาสนาว่าตรงกับปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 1,008 ปี ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยว่า พ.ศ. 1420 จามเทวีวงศ์ว่า พ.ศ. 1586 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พ.ศ. 1590) พระเจ้าอาทิตยราชเป็นกษัตริย์ที่มีพระบรมเดชานุภาพ พระสติปัญญาเป็นเลิศ ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา บ้านเมืองรุ่งเรือง คราวหนึ่ง พระเจ้าอาทิตยราชโปรดฯ ให้สร้างพระราชเรือนหลวงเป็นที่ประทับ พร้อมสร้างหอจัณฑาคารที่ลงพระบังคน แต่บังเอิญหอนั้นไปสร้างตรงกับที่พระพุทธเจ้าเคยประทับและพยากรณ์ เมื่อพระองค์จะเสด็จไปสู่วลัญชนฐาน (ห้องน้ำ) คราวใด กาที่เฝ้ารักษาก็จะบินผ่านมาแล้วปล่อยอาจมให้ต้องพระองค์ทุกครั้ง พระองค์จึงเสด็จไปเข้าวลัญชนฐานแห่งอื่น แต่กาก็ยังคงบินร่อนข้างบนและโฉบลงเหนือเศียรพระองค์ เป็นเช่นนี้ 2-3 ครั้ง จนพระเจ้าอาทิตยราชกริ้วและสั่งให้พวกอำมาตย์ไล่จับกา เทวดาบันดาลให้กาติดบ่วง พระเจ้าอาทิตยราชจะให้ฆ่ากาเสีย อำมาตย์ได้ทูลทัดทานไว้และให้หาโหรมาทำนาย โหรทำนายว่าประโยชน์อันยิ่งใหญ่จะบังเกิดแก่พระเจ้าอาทิตยราช ตกกลางคืนเทวดาผู้รักษาพระบรมสารีริกธาตุก็มาทูลพระเจ้าอาทิตยราชในฝัน แนะให้นำกุมารเกิดได้ 7 วันมาอยู่กับกา 7 วัน สลับกับอยู่กับคน 7 วัน จนครบ 7 ปี กุมารจะสามารถผู้ภาษากาได้ พระองค์ก็จะแจ้งมูลเหตุแห่งการกระทำของกา พระเจ้าอาทิตยราชก็ทรงทำตาม พอครบ 7 ปี พระเจ้าอาทิตยราชให้พากุมารและกามาสอบถาม กาจึงเล่าเรื่องผ่านกุมารถึงพุทธพยากรณ์และอาสาไปตามพญากาเผือกมายืนยัน เมื่อพญากาเผือกพร้อมด้วยบริวารมาถึงก็ทูลเล่าเรื่องพุทธพยากรณ์อีกครั้ง

พระเจ้าอาทิตยราชจึงทรงเกิดปีติยินดียิ่งนัก สั่งให้เสนาอำมาตย์รื้อถอนวลัญชนฐาน แล้วกลบถมที่ให้ราบเสมอดีแล้ว นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตตมงคลภายในพระราชสำนัก ตกกลางคืนพระเกศาธาตุได้เปล่งฉัพพรรณรังสีเกิดแสงสว่างโชติช่วงทั่วทั้งเมือง โกศแก้วที่บรรจุในกระบอกไม้รวกได้ลอยขึ้นท่ามกลางนั้นจนปรากฏให้เห็นทั่วหน้าและลอยกลับมาที่เดิม พระองค์จึงสั่งให้รื้อถอนปราสาทราชมณเฑียรออกไปตั้งที่อื่น โปรดให้ทำราชวัติโดยรอบ ตกแต่งประดับประดาด้วยเงินทอง ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องหอมเป็นพุทธบูชา ประกาศให้ชาวหริภุญชัยมาสักการบูชาสรงน้ำพระบรมธาตุ จัดงานสมโภชพระบรมธาตุ 7 วัน 7 คืน พระเจ้าอาทิตยราชพร้อมพระราชเทวี นางสนม พราหมณ์ เสนาบดี และประชาชนหริภุญชัย ทรงนำการสรงน้ำโดยยกพระเต้าสุวรรณภิงคารขึ้นบนพระเศียน และสระสรงสถานที่ที่จะบังเกิดพระบรมสารีริกธาตุ ครั้นถวายดอกไม้เครื่องหอมนมัสการแล้ว ทรงอธิษฐานอาราธนาให้พระบรมสารีริกธาตุแสดงออกมาเป็นที่ประจักษ์ ผอบทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก็ลอยขึ้นมาเปล่งแสงสว่างเป็นแก้ว 7 ประการ ผอบรูปร่างเหมือนปลีกล้วย

ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยกล่าวว่า พระเจ้าอาทิตยราชสั่งให้ช่างทองทำโกศหนักสามพัน สูง 3 ศอก ประดับแก้ว 7 ชนิด สวมโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แต่ตำนานมูลศาสนาว่า พระเจ้าอาทิตยราชให้ทำโกศทองคำ โกศทองเหลือง โกศงา โกศไม้จันทน์ ให้ใหญ่กว่าเป็นลำดับ เอาโกศไม้จันทน์ไว้ภายนอก โกศงาไว้ภายในโกศไม้จันทน์ เอาโกศทองเหลืองซ้อนภายในโกศงา แล้วเอาโกศเงินไว้ภายในโกศทองเหลือง จากนั้นนำโกศทองคำที่บรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในสุด นำหินหนาประมาณ 1 ศอก กว้างยาวประมาณ 2 ศอกคืบ เมื่อก่อพระเจดีย์ พระเจ้าอาทิตยราชก็ทรงแบกหินนั้นมาก่อตรงกลาง เพื่อให้ก่อก่อนสำหรับเป็นที่รองโกศพระธาตุ แล้วให้ช่างก่อปราสาทหลังหนึ่ง มีเสา 4 ต้น สูง 12 ศอก ลักษณะเป็นเรือนธาตุโปร่งเปิดให้เห็นทั้ง 4 ด้าน มีประตูโค้ง 4 ด้าน ตกแต่งด้วยดิน อิฐ เงินทอง แก้ว 7 ชนิด เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โปรดฯ ให้ฉลองพระเจดีย์พร้อมทั้งถวายเครื่องสักการะ 7 วัน โปรดฯ ให้สร้างโบสถ์วิหาร ศาลาใหญ่น้อย ให้เป็นพระอารามหลักนครหริภุญชัย สร้างบำเพ็ญพระราชกุศลนานานัปการ (ปีที่สร้างพระเจดีย์นี้ พงศาวดารโยนกว่า พ.ศ. 1527 จามเทวีวงศ์ว่า พ.ศ. 1440 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า 1607)[4]

สมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (พระเจ้าสววาธิสิทธิ) พระราชนัดดาของพระเจ้าอาทิตยราช ขณะมีพระชนมายุได้ 19 ปี ทรงให้สร้างโกศทองคำสูง 4 ศอก หนัก 1,500 คำ ประดับแก้ว 7 ประการ ครอบโกศทองคำที่พระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้าง แล้วให้เอาหินมาก่อครอบปราสาทสูง 24 ศอก (พงศาวดารโยนกระบุว่าบูรณะเมื่อ พ.ศ. 1661 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พ.ศ. 1726)

ภายหลังอาณาจักรหริภุญชัยล่มสลายโดยพญามังราย (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่าสามารถยึดเมืองหริภุญชัยได้เมื่อ พ.ศ. 1824 ชินกาลมาลีปกรณ์ว่า พ.ศ. 1835)[5] ตำนานมูลศาสนากล่าวว่า มีพวกผ้าขาว (ชีปะขาว) นำทองคำพอกเสาปราสาทพระมหาธาตุ 800 คำ ปิดทองพระบรมธาตุ 800 แผ่น แล้วไปแจ้งให้พระเถระผู้รักษาพระมหาธาตุ 4 รูปให้ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อ พระมหาเถรเจ้าและพวกผ้าขาวจึงไปหาพญามังราย พญามังรายโปรดฯ ให้ขุนฟ้า (อ้ายฟ้า) ร่วมกับพระมหาเถรเจ้าทั้ง 4 เป็นแม่กองบูรณะเจดีย์ โดยมีรูปทรงที่ต่างไปจากเดิมคือจากมณฑปปราสาทสี่เหลี่ยมสมัยหริภุญชัยมาเป็นพระเจดีย์ทรงระฆังล้านนา และเสริมให้สูง 70 ศอก ให้มีข้าวัดรักษาพระธาตุ (ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยว่าบูรณะใน พ.ศ. 1818)

สมัยพญาแสนภู ได้ทรงสร้างพระพุทธรูปสององค์เพื่อถวายแด่พระนางจามเทวี สร้างธรรมสภาศาลาและบูรณะพอกยอดพระธาตุ ด้วยทองคำหนัก 1 แสน

สมัยพญาคำฟู ได้ให้บัณฑิตชื่อมณีวัง นำเงินและทองคำมาบูรณะพระเจดีย์ ถวายข้าคนไว้กวาดลานมหาเจดีย์และลานมหาโพธิ์ สร้างศาลาฟังธรรมหลังใหญ่หน้าพระมหาธาตุ

สมัยพญาแสนเมืองมา ประมาณ พ.ศ. 1951 โปรดฯ ให้บูรณะบุแผ่นทองจังโกพอกหุ้มมหาธาตุ[6]

สมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. 1990 โปรดฯ ให้บูรณะมหาธาตุครั้งใหญ่ โดยโปรดฯ ให้พระมหาเมธังกรเจ้า พระอุปัชฌาย์ของพระองค์เป็นประธาน ก่อให้สูงขึ้นไปอีก 8 วา รวมเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ฉัตร 9 ชั้น ยอดฉัตรประดับแก้วบุศยใหญ่เท่าดอกบัวน้ำหนัก 230 เฟื้องและแก้วมหานิลใส่ไว้ที่ยอด หุ้มทองจังโกตลอดทั้งองค์ ใช้หินศิลาแลง 473,020 ก้อน ทองจังโก 84,844 แผ่น เอาช้องมือนางจามเทวีใส่รองคอฉัตร ใส่จังโกคำเป็นแผ่นได้ 164 แผ่น ทรงสร้างพระทองคำองค์ใหญ่เหนือแท่นแก้วด้านใต้ หนัก 5,000 คำ ทรงสร้างระเบียงชั้นใน กว้างจากทิศใต้ไปเหนือ 43 วาศอก ยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 70 วา มีประตูโขง 3 แห่ง ด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศเหนือ ก่อปราการชั้นนอก กว้างจากทิศใต้ไปทิศเหนือ 124 วา ยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 183 วา มีประตูโขง 4 ด้าน และทรงกัลปนาที่นาให้ 33,300 นา พร้อมข้าทาสรักษาพระธาตุ และยังทรงสร้างอาคารเสนาสนะศาสนสถานภายในบริเวณวัดอีกมากมาย[7]

สมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ. 2046 โปรดฯ ให้สร้างสัตติบัญชร (ลำเวียงทอง,ระเบียงหอก) ที่เมืองเชียงแสน รวมทั้งหมด 585 แล้วนำมาล้อมรั้วพระธาตุ

พ.ศ. 2051 พระรัตนปัญญาเถระ ผู้แต่งชินกาลมาลีปกรณ์ พร้อมพระมหาสามีสีระวิสุทธเจ้า วัดต้นแก้ว ได้เรี่ยไรหล่อโคมปราสาทน้ำหนัก 58,000 เพื่อถวายแด่พระมหาธาตุ (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย)[8]

พ.ศ. 2053 พระเมืองแก้วพร้อมพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา สร้างหอธัมม์หลวง (หอพระไตรปิฎก)[9]

พ.ศ. 2055 ทรงบุทองจังโกและลงรักปิดทององค์พระธาตุ และให้สร้างวิหารหลวง

พ.ศ. 2060 พระเมืองแก้วเสด็จไปนมัสการพระธาตุพร้อมพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา ทำให้เกิดวรรณกรรมโคลงนิราศหริภุญชัย ที่พรรณาถึงการเดินทางและสภาพของวัดในสมัยพระเมืองแก้ว[10]

พ.ศ. 2078 ทรงมุงหลังคายกเครื่องบนวิหารหลวง วิหารหลวงกว้าง 10 วา 3 ศอก ยาว 24 วา 3 ศอก มีเสา 40 เล่ม เอาทองฉาบวิหารหลวง 190 แผ่น และโปรดให้สร้างบูรณะเสนาสนะต่างๆ ของวัด

สมัยพระเมืองเกษเกล้า พระมเหสีของพระองค์และโอรส 2 องค์ คือท้าวซายคำและเจ้าจอมเมือง ได้สร้างวิหารด้านใต้ (วิหารพระพุทธ) และนำทองคำมาใส่ที่พระธาตุเจ้า 40,000 คำ

สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระราชโมลีมหาพรหมและมหาสังฆราชารัตนอดุลยอุตตรราชอาราม ร่วมกันชักชวนชาวเมืองสร้างลำเวียงเหล็กล้อมพระธาตุทั้ง 4 ด้าน ชั้นนอกด้านตะวันตกถึงตะวันออกยาว 20 วา 1 ศอก ด้านเหนือถึงด้านใต้ยาว 20 วาถ้วน รวมเป็นรั้วเหล็ก 708 เล่ม[11]

 
พระธาตุหริภุญชัยราวปี พ.ศ. 2489

พ.ศ. 2271 เจ้าตนบุญยกฉัตรพระธาตุ[12]

พ.ศ. 2329 พระเจ้ากาวิละ มีพระราชศรัทธาตั้งฉัตรหลวง 4 มุม พร้อมยกฉัตรยอดทองคำขนาดเนื้อเจ็ด ฐานชั้นล่างกว้าง 1 เมตร น้ำหนักทองคำประมาณ 20 บาท และบูรณะแนวรั้วสัตติบัญชร

พ.ศ. 2334 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) เสนาอำมาตย์ สร้างหอยอ 4 ด้านของพระมหาธาตุ และสร้าง (บูรณะ?) พระเจ้าละโว้

สมัยพระเจ้าลำพูนไชย ฟ้าผ่าถูกฉัตรพระธาตุ จึงได้ทำการซ่อมฉัตร

สมัยเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ได้ทำการบูรณะพระวิหารหลวง พายุพัดฉัตรคด จึงได้ทำการซ่อมฉัตร

สมัยเจ้าอินทยงยศโชติ พายุพัดฉัตรคด จึงได้ทำการซ่อมฉัตร

1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เวลา 17.00 น. เกิดพายุพัดวิหารหลวงพังทลายลงมา แต่องค์พระธาตุไม่ได้รับความเสียหาย แต่ยอดฉัตรคดงอไป เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ได้ทำการซ่อมแซม สิ้นทองไป 131 บาท 3 สลึง ยกฉัตรเมื่อ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เวลา 10.00 น.มีมหรสพสมโภชวันที่ 29-30 มิถุนายน

พ.ศ. 2463 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานการบูรณะซ่อมแซมวิหารหลวง และได้บูรณะซ่อมแซมวิหารพระพุทธ วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพระละโว้

พ.ศ. 2472 เจ้าจักรคําขจรศักดิ์ได้อาราธนาครูบาธรรมชัย วัดประตูป่ามาปรับปรุงพระธาตุใหม่ โดยใช้ปูนซีเมนต์หุ้มเป็นรูปทรงปัจจุบัน แต่ยังไม่ได้หุ้มทองพระธาตุ สร้างสูง 1 เส้น 2 วา

พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 2 ล้านบาทเพื่อเฉลิมฉลองกึ่งพุทธกาล ปิดทองทั้งองค์ งบประมาณ 11 ล้านบาท บูรณะหุ้มทองที่ชำรุดและเสริมใหม่จนถึงปัจจุบัน[13]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม แก้

 
วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ในช่วงเทศกาลโคม

พระธาตุหริภุญชัย มีลักษณะสถาปัตยกรรมประกอบด้วย

ส่วนฐาน ฐานเขียง 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นมาอีก 2 ชั้นเป็นฐานเขียงในผังยกเก็จ ถัดมาเป็นฐานบัว 2 ฐานซ้อนกัน และย่อเก็จแบบล้านนา กว้างยาวด้านละ 16 วา 2 ศอก 1 คืบ มุมหนึ่งย่อเก็จ 7 แนว ส่วนยอดของแต่ละแนวประดับด้วยกระดึงทองคล้านรูปสำเภาสามเหลี่ยม

ส่วนกลาง ฐานหน้ากระดานทรงกลมเรียบ 3 ชั้น ตั้งบนฐานบัวย่อเก็จ ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วทรงกลม หรือมาลัยลูกแก้วซ้อนกัน 3 ชั้น แต่ละชั้นมีส่วนประกอบของฐานบัวคว่ำบัวหงาย และประดับท้องไม้ด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น จำนวนเท่ากัน แต่ขนาดเล็กลดหลั่นตามรูปทรงของพระเจดีย์ที่สอบขึ้นไปจนถึงฐานองค์ระฆัง ทำให้องค์พระธาตุมีรูปทรงที่ดูสูงเพรียวขึ้นไปมาก หน้ากระดานแต่ละชั้นประดับกระดึงใบเล็กเรียงรายโดยรอบ

องค์ระฆัง (ครรภธาตุ) ทำเป็นทรงกลม ประดับลวดลายดอกประจำยามโดยรอบแปดทิศ เรียกลายกระจังกลีบบัวบาน ระหว่างลายกลีบบัวบานมีการดุนนูนแผ่นทองจังโกเป็นภาพพระพุทธเจ้าแปดทิศรอบองค์ระฆัง เป็นพระลีลา 3 องค์ และประทับยืนปางถวายเนตร 5 องค์ พบจารึกอักษรฝักขามที่พระบาทของพระพุทธรูปองค์ที่ 1,2,6,7 ความว่า เจ้ามหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพญาทั้ง 2 พี่น้อง ผู้เป็นมหาอุบาสิกาแก่ฝูงสงฆ์ทั้งหลาย และพระสุเมธังกรได้สร้างพระพุทธรูปพระองค์นี้ ด้วยความปรารถนา คือ ขอให้มั่นในศีล 5 และ ศีล 8, ชนะแล้วด้วยเบญจสาธารณะ และได้ถึงซึ่งนิพพานอันเป็นเลิศ[14] นายสุรศักดิ์ ศรีสำอาง, นายเทิม มีเต็ม, ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ และดร.ฮันส์ เพนธ์ (Dr.Hans Penth) มีความเห็นว่า ผู้เป็นเจ้ามหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพญาทั้ง 2 พี่น้อง ควรเป็นพระนางจิตราเทวี มเหสีของพญาผายู ผู้เป็นพระราชมารดาของพญากือนาและท้าวมหาพรหม เพราะรูปอักษรเป็นสมัยล้านนาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20

ส่วนยอด ประกอบด้วยบัลลังก์ (แท่นแก้ว) ทำเป็นบัลลังก์เหลี่ยมย่อมุมไม้ 12 เหนือบัลลังก์มีก้านฉัตรทองฉลุลาย 1 ชั้น ห้อยกระดึงเป็นตุ้งติ้ง เรียกว่าฉัตรคอน้ำ เหนือชั้นระบายฉัตรเป็นปล้องไฉน ประกอบด้วยวงลูกแก้วเส้นกลมหรือบัวลูกแก้วซ้อนจากใหญ่ไปหาเล็ก ส่วนบนสุดคือปลียอก ทำเป็นรูปกรวยลำเพรียวแหลมขึ้นไป ประดับฉัตรทองฉลุลาย 9 ชั้น หนัก 433 บาท 1 สลึง เหนือฉัตร 9 ชั้นประดับลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้าง เป็นจุดยอดสูงสุดของฉัตร[15]

ในโคลงนิราศหริภุญชัย ได้กล่าวบรรยายถึงพระธาตุ ดังนี้

๏ มหาชินธาตุเจ้า เจดีย์
เหมือนแท่งทิพสิงคี คู่เพี้ยง
ฉัตรคำคาดมณี ควรค่า เมืองเอ่
เปียวเป่งดินฟ้าเสี้ยง สว่างเท้าอัมพเร
๏ เจดีย์พระชินธาตุเจ้า ศรีสถาน
โสภิตพะงาปาน เกศเกล้า
ทศมนมิมีปาน พอคู่ ครบเอ่
ฤาเลิศไตรทิพเท้า เท่าเว้นจุดาศรี
๏ มหาชินธาตุเจ้า จอมจักร
จอมจักรโลกทศลักษณ์ เลิศหล้า
เลิศหล้ามีใครทัก เทียมแทก ได้เอ่
เทียมแทกวางไว้ฟ้า ฟากด้าวดาวดึงส์
โคลงนิราศหริภุญชัย

คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ ได้เดินทางเข้ามาสำรวจดินแดนในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ. 2424-2425 มาเยี่ยมชมวัดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้บรรยายถึงพระธาตุหริภุญชัยในบันทึกการเดินทางว่า

ในลานวัดมีพระเจดีย์องค์หนึ่งสวยงามมาก และเป็นสถานที่น่าสนใจที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยเห็นมานับแต่ออกจากกรุงเทพฯ ทุกปีจะมีคนไปนมัสการกันนับพัน พระเจดีย์องค์นี้ก็เป็นรูปกรวยอย่างเคย สร้างเป็นรูปวงแหวนซ้อนกันเป็นชั้นๆ ให้ค่อยๆ เล็กลงทีละน้อยๆ ตรงปลายเป็นยอดแหลม ข้าพเจ้ากะว่าสูงประมาณ 80 ฟุต สร้างด้วยหินหุ้มทองเหลือง องค์พระเจดีย์ปิดทองหนาตั้งแต่ฐานจนถึงยอด และบนยอดก็มีฉัตรทองสำริด 5 อัน ปักซ้อนกันเป็นชั้น ขนาดค่อยๆ เล็กลงตามลำดับตั้งแต่อันล่างจนถึงอันบน (ผู้แต่งเข้าใจผิดว่าเป็นฉัตร 5 คัน ความจริงเป็นฉัตรอันเดียว แต่มี 5 ชั้น) ฉัตรนี้เป็นเครื่องแสดงว่าในพระเจดีย์องค์นี้บรรจุของที่ศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ รอบองค์พระเจดีย์ตอนบนแขวนระฆังเล็กๆ โดยใช้ลวดผูกทำให้มีเสียงกรุ๋งกริ๋งน่าฟังเมื่อลมพัด พระเจดีย์องค์นี้มีราวทองเหลือง 2 ชั้น ล้อมรอบ และตามมุมต่างแต่ละด้านมีศาลเล็กๆ ตั้งเทวรูปหินไว้ ข้างในเป็นรูปเทวดาซึ่งมีหน้าที่คอยเฝ้าดูแลรักษา และระหว่างศาลเล็กๆ นี้ยังมีกลดอันใหญ่ปิดทองและติดระบายตามขอบ

— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao

[16]

  • โกศทรงสถูปประจำมุมทั้ง 4 อยู่บริเวณฐานเขียงชั้นล่างสุดขององค์พระธาตุหริภุญชัยทั้ง 4 มุม หล่อด้วยสำริดปิดทอง มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะคล้ายกันคือ ฐาน 8 เหลี่ยม ชั้นล่างเจาะทะลุโปร่งเป็นช่องวงโค้งหยักหลายวงในกรอบรูปไข่คล้ายลายเมฆของจีน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวถลาและฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ที่ขยายสัดส่วนจนดูสูง ตัวโกศมีส่วนที่ใช้บรรจุผอบเปิดปิดได้ ประดับด้วยกลีบบัวคว่ำ-บัวหงายขนาดใหญ่ 8 กลีบ ปลายกลีบบัวกระดกแบบบัวงอน มีเกสรบัวประดับ ส่วนของฝาโกศตกแต่งเป็นรูประฆังคว่ำแบบเรียบง่ายคล้ายทรงกระบอก ยอดเป็นรูปหม้ออามลกะและปลียอดที่ใช้เป็นฝาจับทรงมัณฑ์ ส่วนโกศทางมุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทรงสูง ตั้งบนฐาน 4 เหลี่ยม ตกแต่งลวดลายเหมือนสถูปจำลองทรงกลมซ้อนกลายชั้น อาจทำขึ้นหังโกศทั้ง 3 เล็กน้อย แต่มีอายุอยู่ในสมัยล้านนา
  • โคมปราสาทประจำทิศทั้ง 8 สมัยพระเมืองแก้วภายหลังสร้างสัตติบัญชรแล้ว โปรดฯ ให้ประดับปราสาทที่มุมรั้วทั้ง 4 ด้าน ระหว่างปราสาทแต่ละด้านประดับด้วยโคมทองรูปดอกบัวบานตั้งบนเสาทอง ที่มุมทั้ง 4 และแต่ละด้านของลานระเบียง ประดิษฐานโคมปราสาท (โคมป่อง) หล่อด้วยวำริดขนาดเล็ก ตั้งบนฐานเสาสูงทั้งหมด 8 องค์ ทั้งหมดมีรูปทรงรายละเอียดต่างกัน แต่มีองค์ประกอบหลักคือมีฐานเขียง 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานท้องไม้ประดับตกแต่งด้วยรูปช้างค้ำ นกหัสดีลิงค์ สิงห์ รองรับบัวถลาและบัวคว่ำบัวหงาย ถัดขึ้นไปเป็นองค์เรือนธาตุ มีทั้ง 4 เหลี่ยมและ 6 เหลี่ยม แต่ละด้านมีซุ้มกระจังประดับลายเครือล้านนากรุติดอยู่ ซุ้มกระจังหลักของทุกโคมเปิดปิดได้ เพื่อใส่ไฟเป็นพุทธบูชา บางโคมฉลุพื้นหลังโปร่งทะลุด้วยลายพรรณพฤกษา ที่มุมเรือนธาตุตกแต่งประติมากรรมรูปเทพนม อารักษ์ถือกระบอง พระพักตร์มนกลม พระเนตรโต พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา ทรงมกุฎทรงเตี้ยเทริดยอดแหลม ฉลองพระองค์ด้วยพัสตราภรณ์หลายรูปแบบ แต่ไม่มีรายละเอียดมากนัก ถัดจากเรือนธาตุและชั้นหลังคาขึ้นไปเป็นส่วนยอดทำเป็นทรงปราสาทซ้อน 3 ชั้น ลดหลั่นขึ้นไปแบบบัวถลา ที่มุมตกแต่งด้วยนาค หงส์ ตัวเหงา ปลายยอดสุดเป็นดอกบัวตูม

โคมปราสาททางด้านทิศเหนือและใต้ทำเป็นรูปแบบพิเศษ คือตั้งอยู่บนสำเภาสำริด (สุวรรณเภตรา) มีฉัตรขนาดเล็ก 4 ก้านประดับ เรือสำเภาขนาดยาวประมาณ 1 เมตร มีส่วนหัวและท้ายเรือป้าน ที่กราบเรือและโดยรอบบริเวณผนังหัว-ท้านเรือตกแต่งประดับด้วยลวดลายรูปสัตว์ เช่น หงส์ ปลาหัวมังกร หยินหยาง มกร กุ้ง กินนร กินรีในท่าฟ้อนรำ สิงห์ มอม นาคขด กิเลน หน้าเรือสำเภาตกแต่งด้วยครุฑยุดนาคเกี้ยว เรือสำเภาตั้งอยู่บนฐานเหลี่ยมประดับลวดลายระลอกคลื่นสลับกอบัวและสัตว์น้ำพวกหอย ปลาหมึก ปลาหน้าวัว ปลาหัวช้าง เป็นสัญลักษณ์ของเรือสำเภาที่พระพุทธเจ้านำพาสัตว์โลกทั้งหลายข้ามโอฆสงสารไปสู่พระอมตะมหานิพพาน ศ. ดร.สันติ เล็กสุขุม ให้ความเห็นว่าเป็นศิลปกรรมที่ทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4-5 เนื่องจากการวางลวดลายในลักษณะแน่นเบียดแน่นเต็มพื้นที่เช่นนี้มักนิยมทำมากในยุคฟื้นฟูล้านนา ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เชื่อว่าลวดลายบนเรือสำเภาไม่ใช่อัตลักษณ์เฉพาะของศิลปกรรมล้านนา อาจเป็นการรับอิทธิพลจากพม่า สิบสองปันนา หรือจีน รศ. ม.ล. สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ให้ข้อสังเกตว่า งานช่างในลักษณะบุเงินบุทองด้วยเส้นนูนเช่นนี้เป็นความสันทัดของกลุ่มชาวไททางแถบเหนือขึ้นไปของล้านนา คือกลุ่มไทลื้อเมืองยองที่เข้ามามีบทบาทเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในลำพูน

ในบันทึกของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ เมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2424ได้กล่าวถึงโคมปราสาและเรือสำเภาสำริดนี้ว่า

รอบๆ รั้วด้านนอกมีตะเกียงทองเหลืองเล็กๆ ทำเป็นรูปโบสถ์จำลอง ตะเกียงลูกหนึ่งทำเป็นรูปเรือสำเภาจีน และมีอักษรจารึกไว้ว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 1,200 ปี พวกพระได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้ตรงบริเวณที่สร้างพระเจดีย์มีโบสถ์เป็นรูปสำเภาจีนทำด้วยทองคำล้วนๆ และตะเกียงรูปเรือสำเภาจีนที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงก็คือรูปจำลองของโบสถ์หลังนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้ฝังอยู่ใต้พระเจดีย์ จึงไม่น่าสงสัยเลยว่ามีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เพื่อให้รู้ว่าสมบัติอันมีค่านั้นฝังอยู่ที่ไหน และเท่าที่เห็นพระเจดีย์องค์นี้ยังได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ดี สมบัติชิ้นนั้นก็อาจจะยังคงฝังอยู่ข้างในพระเจดีย์

— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao

[17]

  • สัตติบัญชร (ระเบียงหอก, ลำเวียงทอง) มี 2 ชั้น พระเมืองแก้วโปรดฯ ให้หล่อขึ้นที่เมืองเชียงแสน รวมทั้งหมด 585 เล่ม แล้วนำมารายล้อมองค์พระธาตุหริภุญชัย สมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระราชโมลีมหาพรหมและมหาสังฆราชารัตนอดุลยอุตตรราชอาราม ร่วมกันชักชวนชาวเมืองสร้างลำเวียงเหล็กล้อมพระธาตุทั้ง 4 ด้าน ชั้นนอกด้านตะวันตกถึงตะวันออกยาว 20 วา 1 ศอก ด้านเหนือถึงด้านใต้ยาว 20 วาถ้วน รวมเป็นรั้วเหล็ก 708 เล่ม รั้วชั้นนอกนำเหล็กมาตีที่วัดขี้เหล็ก รั้วทั้งหมดวางอยู่บนฐานหินขัด
  • หอยอ (วิหารทิศ) สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เพราะมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย พ.ศ. 2334 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น)เสนาอำมาตย์ ได้สร้างหอยอ 4 ด้านของพระมหาธาตุขึ้นใหม่ และบูรณะพระเจ้าละโว้ หอยอมีลักษณะเป็นอาคารเครื่องไม้แบบวิหารโถงขนาดเล็ก ตั้งบนฐานปูนสูงครึ่งรั้ว หลังคาลดมุขหน้า 2 ชั้น ลดด้านข้าง 2 ตับ ตกแต่งด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หน้าบันตกแต่งแบบขื่อม้าตั่งไหม ยกเว้นหอยอด้านทิศตะวันออกที่ทำหลังคาลดมุข 3 ชั้น และตกแต่งหน้าบันเป็นรูปพญานาคเกี่ยวกระหวัด ภายในหอยอประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยล้านนา ประทับนั่งปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริด หอละ 3 องค์ ช่วงเทศกาสรงน้ำพระธาตุ พุทธศาสนิกชนนิยมเดินทักษิณาวัฏรอบองค์พระธาตุ และหยุดตามหอยอเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูปแทนองค์พระธาตุเพราะอยู่ไกลในรั้วระเบียงหอก
  • ฉัตรหลวง สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้ว พ.ศ. 2329 พระเจ้ากาวิละ มีพระราชศรัทธาตั้งฉัตรหลวง 4 มุมใหม่ ฉัตรทองจังโกขนาดใหญ่ ลวดลายทาสีแดงสลับเหลืองตั้งแต่ฐานตลอดด้ามฉัตรจนถึงยอด ระบายฉัตรเป็นแผ่นทองชั้นเดียวฉลุลายห้อยตุ้งติ้งฝีมือประณีต เป็นฉัตรทึบทั้ง 3 มุม มีเพียงมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้มุมเดียวที่เป็นฉัตรโปร่งไม่ทึบ

ในโคลงนิราศหริภุญชัย มีการกล่าวถึงสัตติบัญชร, หอยอและฉัตรหลวง ดังนี้

๏ ระวังเวียงแวดชั้น สมสอง สว่างเอ่
ทุกแจ่งเฉลิมฉัตรทอง แทบเอื้อม
พระหารสี่หลังยอง ยังเงื่อน งามเอ่
เทียมระวังซ้อนเซื้อม สี่ด้านเถิงตรู
โคลงนิราศหริภุญชัย

ปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญของวัด แก้

ประตูโขง แก้

 
ประตูโขง มุมมองจากวิหารหลวง

สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช แต่เนื่องจากได้รับการบูรณะซ่อมแซมบ่อยครั้งมาก จนแทบไม่เหลือร่องรอยของอิฐและปูนปั้นโบราณเดิม เหลือเพียงลวดลายจางๆ บางส่วนของวัสดุที่ก่อพอกทับใหม่เป็นปูนขาว หลักฐานเท่าที่เหลืออยู่มีจารึกติดไว้ว่าบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2499

ส่วนผนังอาคารเจาะช่องทางเดินเป็นรูปโค้งมน (Arch) เป็นรูปแบบที่รับอิทธิพลตะวันตกผ่านทางศิลปกรรมพุกามเข้าสู่ล้านนาราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เหนือช่องประตูโค้งประดับด้วยแผ่นหน้าบันขนาดใหญ่ ลายปูนปั้นหลุดหายไปเหลือแต่กรอบตัวเหงาที่มีปลายสองข้างเป็นหางวัน ส่วนโค้งด้านบนประดับฝกเพกา สองข้างประตูทางเข้ามีเสาประดับกรอบซุ้มย่อเก็จ 4 ชั้น ตกแต่งหัวเสาด้วยลายบัวคอเสื้อ ประจำยามอก กาบบัวเชิงล่าง ภายในกรอบกระจังกลีบบัวผูกเป็นลายช่อประดิษฐ์ มีดอกเบญจมาส ดอกโบตั๋นผูกรวมเป็นช่อ มีก้านใบแตกแขนงออกมา คล้ายกับลายใบไม้ที่พบในภาพเขียนสีบนภาชนะเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง

ส่วนยอดเป็นทรงปราสาทหลายชั้นซ้อนกัน ชั้นแรกเป็นบัวถาตกแต่งบัญชรวงโค้ง ที่มุมมีการย่อเก็จล้อกับผนังอาคารตอนล่าง ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุจำลองและชั้นเชิงบาตรซ้อนกัน ที่ซุ้มบันแถลงตกแต่งด้วยลายช่อ ลายเฟื่องอุบะ แต่ละชั้นที่มุมประดับด้วยสถูปจำลองทรงสี่เหลี่ยม ยอดบนสุดเป็นดอกบัวสี่เหลี่ยม เมื่อพิจารณาจะเห็นว่ารูปทรงของประตูโขงมีลักษณะรูปทรงเดียวกับโขงพระเจ้าภายในอุโบสถพระเจ้าทองทิพย์

ราชสีห์ แก้

อยู่หน้าประตูโขง 1 คู่ สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นสิงห์ทรงเครื่องขนาดใหญ่ ยืนอ้าปากกว้างแลบลิ้นยาว ก่ออิฐฉาบปูนระบายสีแดง บางส่วนปิดทองประดับกระจกสี เดิมเคยมีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวราชสีห์ไว้ พร้อมสร้างศาลามีหลังคาคลุม ภายหลัง พ.ศ. 2490 ครูบาอภิชัยขาวปีได้นำไม้จากศาลาไปสร้างเป็นตู้ยาสังเค็ดลายรดน้ำ มีหัวเสืออ้าปากตรงปุ่มเปิดปิด ถวายตามวัดต่างๆ ที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพครูบาศรีวิชัย (พบ 1 ตู้ที่วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา)

โคลงนิราศหริภุญชัยได้กล่าวถึงราชสีห์คู่นี้ว่า

๏ มิคราชเยี่ยมยื้อเหยียบ ยังยืน ก็ดี
ไขปากปานจักกืนลืน คาบเคี้ยว
คชสารชื่อจักลืน ลงลวด รักเอ่
เมียงม่ายสองเบื้องเบี้ยว เบ่นสู้สบายยวย
โคลงนิราศหริภุญชัย

จดหมายเหตุวัดสังฆารามประตูลี้กล่าวว่า พ.ศ. 2397 เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ เจ้าหลวงลำพูน ได้สร้าง (อาจหมายถึงบูรณะ) สิงห์คู่นี้ และสร้างโรงสิงห์ (ศาลา) คลุมไว้

ในบันทึกของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ เมื่อมาเยี่ยมชมวัดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้กล่าวถึงราชสีห์นี้ว่า

พอเข้าไปในลานวัดก็ได้เห็นราชสีห์ 2 ตัว ยืนอยู่ในท่าเดิม คืออ้าปากกว้าง แลบลิ้นออกมาข้างนอก รูปนี้ทำด้วยอิฐและปูนทาสีแดง บางส่วนปิดทองและประดับกระจกสี มีลวดถักเป็นตาข่ายรัดตัวราชสีห์นั้นไวเพื่อป้องกันไม่ให้ชำรุด แล้วเอาไปตั้งไว้ในศาลา

— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao

วิหารหลวง แก้

 
วิหารหลวงและพระบรมธาตุหริภุญชัย
 
พระพุทธสิทธิมณีศรีหริภุญไชย พระประธานภายในวิหารหลวง
 
ภายในพระวิหารหลวง

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2055 โดยพระเมืองแก้ว ต่อมาเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ได้ทำการบูรณะพระวิหาร จากหลักฐานภาพเก่า รูปทรงวิหารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เปิดผนังโล่งแบบอาคารโถง (วิหารเปื๋อย) มีแนวผนังระเบียงก่ออิฐฉาบปูนเตี้ยๆ รับกับแนวชายคาด้านนอกสุด โครงสร้างหลังคาเป็นขื่อม้าตั่งไหม หลังคามุงกระเบื้องดินขอ ลดชั้นซ้อนกัน 3 ชั้น ชายหลังคาอ่อนโค้งห่มคลุมลงมาค่อนข้างมาก หน้าบันแกะไม้ประดับลวดลายปูนปั้นในกรอบช่องลูกฟักแบบล้านนา ปลายป้านลมเป็นรูปตัวเหงา ตกแต่งด้วยการแกะสลักไม้ประดับกระจก ผนังวิหารด้านหลังพระประธานเป็นไม้ ปิดตั้งแต่หน้าจั่วลงมาถึงระดับแผงคอสอง รองรับด้วยเสาไม้กลมหรืออาจเป็นเสาก่ออิฐฉาบปูนเขียนลายรดน้ำปิดทองลวดลายพรรณพฤกษา บริเวณขื่อ แป กลอน อกไก่ โครงสร้างไม้หลังคาทั้งหมดภายในอาคารเปิดเปลือย เครื่องไม้ทั้งหมดประดับลายคำน้ำแต้ม ส่วนฐานชุกชีรองรับพระพุทธรูปประธานอยู่ในผังสี่เหลี่ยม ก่ออิฐฉาบปูน มีร่องรอยประดับลวดลายพรรณพฤกษาลงรักปิดทอง แต่ไม่ปรากพระประธาน มีเพียงพระอันดับ 2 องค์ มีแท่นบูชาในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก มีธรรมาสน์ปราสาทสำหรับแสดงธรรม พื้นวิหารฉาบปูน

ในบันทึกของคาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจชาวนอร์เวย์ เมื่อมาเยี่ยมชมวัดในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2424 ได้กล่าวถึงวิหารหลวงว่า

สถานที่ที่หันหน้าตรงกับทางเข้าคือโบสถ์ (ความจริงคือวิหาร) เป็นตึกสร้างใหม่ที่ยังสร้างไม่เสร็จ มีพระหลายรูปกำลังช่วยกันทาสี ทาน้ำมัน ปิดทองทั้งด้านนอกด้านใน และฝังกระจกสีตามลวดลายที่แกะสลักไว้ตรงหน้าจั่ว โบสถ์นี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลังเว้นแต่พื้นซึ่งเป็นหิน และมีเสาไม้สักต้นใหญ่รับน้ำหนักหลังคาอันสูงลิ่วไว้ บนแท่นบูชามีพระพุทธรูปสำริดปางต่างๆ ทางด้านซ้ายของโบสถ์มีตึกหลังเล็กใช้เป็นที่เก็บพระธรรม

— Temples and elephants : The Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao

วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เกิดพายุพัดวิหารหลวงพังทลาย เป็นพายุที่เรียกว่าลมหลวงลำปาง เนื่องจากพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้วิหารหลวงพังทลาย ท่ามกลางซากปรักหักพังของพระพุทธรูปปูนปั้นและหล่อโลหะหลายองค์

พ.ศ. 2463 เจ้าจักรคําขจรศักดิ์ได้นิมนต์ครูบาศรีวิชัยเป็นประธานการบูรณะซ่อมแซมวิหารหลวง ครูบาศรีวิชัยไม่ได้สร้างตามแบบเดิม แต่สร้างเป็นวิหารแบบปิดมีผนัง (วิหารมีป๋างเอก) สร้างบนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีการย่อเก็จ ผังพื้นขนาด 5 ห้อง มีการต่อพาไลออกมาจากผนังวิหารด้านนอก สามารถใช้เป็นลานประทักษิณได้ ซึ่งรับอิทธิพลมาจากแผนผังของอุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ และมีมุขระเบียงทางขึ้นทั้งทางด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ฐานล่างวิหารด้านนอกและพื้นทำด้วยหินขัด มีราวระเบียงลูกกรงเป็นทรายล้าง เสาวิหารด้านนอกเป็นเสาสี่เหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูนประดับด้วยปูนหล่อรูปเทพชุมนุม เปลี่ยนโครงสร้างอาคารจากเครื่องไม้มาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กในส่วนโครงสร้างหลักเพื่อความรวดเร็ว ได้ช่างฝีมือจากคุ้มหลวงเข้ามาร่วมทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างช่างพื้นบ้านกับช่างจากคุ้มหลวง คือยังใช้โครงสร้างแบบม้าต่างไหม แต่มีการเปลี่ยนในการลดชั้นหลังคาจากที่เคยชักชายปีกอ่อนช้อยลงต่ำให้แข็งตรงดูอ่อนโค้งน้อยลงเพื่อเน้นความมั่นคงแข็งแรง ฝ้าเพดานปิดทึบประดับลายฉลุปิดทองภาพเทพชุมนุม ผนังวิหารก่ออิฐฉาบปูนไปจนจรดขอบแป ผนังวิหารด้านในประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติ ด้านนอกเขียนภาพพุทธประวัติ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ตกแต่งหน้าบัน (หน้าแหนบ) เป็นแบบผนังหุ้มกลองแทนหน้าบันแบบขื่อม้าต่างไหม เนื่องจากรับอิทธิพลภาคกลาง ลวดลายในกรอบหน้าบันตกแต่งเต็มพื้นที่ ไม่มีการแบ่งช่องเป็นลูกฟัก มีลักษณะผสมผสานระหว่างลวดลายล้านนาเช่นลายสับปะรด ลายเครือเถา และลวดลายพรรณพฤกษา ผสมผสานกับลวดลายที่ได้อิทธิพลจากภาคกลาง เช่น ลายช้างไอยรา 3 เศียร ลายครุฑยุดนาค ลายเทพพนม ลายกระหนกช่อหางโต ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และมีการเพิ่มประดับลวดลายสัตว์ประจำปีเกิด คือเสือ (ขาล) ซึ่งเป็นสัตว์ประจำปีเกิดของครูบาศรีวิชัย วัสดุใช้กระจกแก้วจืนประดับ เสาภายในวิหารใช้เสาเหลี่ยมผสมเสากลม ประดับกระจกแก้วจืนเป็นลวดลายประดิษฐ์แบบภาคกลาง บริเวณเสา ซุ้มประตู หน้าต่าง หน้าบัน คันทวย มีพัฒนาการในเรื่องเทคนิค โดยใช้วิธีการหล่อแบบพิมพ์ปูนเพื่อความรวดเร็วจากนั้นระบายสีปิดทองและประดับกระจก และได้สร้างพระประธานองค์กลางขนาดใหญ่ภายในวิหาร[18]

พ.ศ. 2525 มีการบูรณะครั้งใหญ่คราวบูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัยในวโรกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ซ่อมส่วนใดของวิหารหลวงบ้าง ปรากฏจารึกการเขียนภาพจิตรกรรมประดับผนังด้านหลังพระประธานว่าทำขึ้นใน พ.ศ. 2527 น่าจะเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในปัจจุบัน

วิหารพระพุทธ แก้

 
พระพุทธ ภายในวิหารพระพุทธ

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขององค์พระธาตุ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัยกล่าวว่าสร้างโดยพระเมืองเกษเกล้า โดยโปรดฯ ให้สร้างวิหารประจำทางทิศใต้ของพระธาตุหริภุญชัย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ลงรักปิดทองสมัยล้านนา เรียกพระพุทธ จากหลักฐานภาพเก่า วิหารเดิมมีรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยล้านนา แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเป็นชั้นลดซ้อนกัน 2 ตับ มุงกระเบื้องดินขอ ด้านหน้าวิหารมีระเบียงเตี้ยๆ ฉาบปูน

ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะขึ้นใหม่เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า โครงสร้างหลังคาขื่อม้าต่างไหม กรุเพดานปิดทึบ ตกแต่งลวดลายบนหน้าบันรูปพรรณพฤกษา มีรูปเสือสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ปีกนก 2 ข้าง ระเบียงมุขด้านหน้าล้อมรอบด้วยลูกกรงหล่อปูนระบายสี เป็นแผ่นฉลุลายคล้ายล้อกระเบื้องกังไสของจีน เสาวิหารด้านหน้าเป็นเสากลมฉาบปูนประดับปูนปั้นรูปหน้ากาลในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก เสาวิหารเป็นเสากลมฉาบปูนประดับกระจก พื้นด้านในปูกระเบื้องลายดอกซึ่งได้รับพระราชทานมาจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ในภายหลัง ส่วนบนผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมสีน้ำพลาสติกเรื่องมโหสถชาดก ฝ้าเพดานปิดทองล่องชาด เขียนรูปนางมณีเมขลาและเทพชุมนุม ฐานชุกชี (แท่นแก้ว) ประดับกระจก ด้านหลังมีบันไดขนาดเล็ก 2 ข้าง วิหารพระพุทธได้รับการบูรณะอีกครั้งใน พ.ศ. 2501

วิหารพระเจ้าทันใจ แก้

ตั้งอยูทางทิศตะวันตกขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตร สร้างสมัยพระเจ้าติโลกราช เดิมมีพระเจ้าทันจิต เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อยู่คู่กันภายในวิหาร แต่ได้มีการเชิญไปประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 จากภาพเก่าเดิมมีสัญลักษณ์รูปเสือของครูบาศรีวิชัยอยู่ที่หน้าบัน ปัจจุบันยังมีรูปช้างเอราวัณ (เหลือเพียงเศียรเดียว) เนื่องจากมีการซ่อมแซมหลายครั้ง ฐานชุกชีกับกรอบซุ้มประดิษฐานพระเจ้าทันใจประดับด้วยกระจกสี ซุ้มประตูทางเข้าเป็นซุ้มนาคเกี้ยว 3 ชั้น ประดับปูนปั้นรูปดอกไม้

วิหารพระละโว้ แก้

 
พระบรมธาตุหริภุญชัยและวิหารพระละโว้

ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ ภายในประดิษฐานพระเจ้าละโว้ ซึ่งตำนานมุขปาฐะของวัดธงสัจจะเล่าว่าพระนางจามเทวีได้อัญเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรมาจากเมืองละโว้ 2 องค์ องค์เล็กประดิษฐานในวัดหลวง (คือวัดพระธาตุหริภุญชัย) แล้วอธิษฐานตุงให้กวัดแกว่งไปทั่วเมือง หากตุงไปติด ณ บริเวณใด จะโปรดฯ ให้สร้างวัดอีกแห่ง ณ บริเวณนั้น เมื่อเสี่ยงทายได้สถานที่แล้วจึงสร้างวัดตุงสัจจะ (วัดธงสัจจะ) พร้อมเชิญพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่ไปประดิษฐานในวิหารวัดธงสัจจะ

อย่างไรก็ตาม ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวว่า พ.ศ. 2334 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) เสนาอำมาตย์ สร้างหอยอ 4 ด้านของพระมหาธาตุ และสร้างพระเจ้าละโว้ ซึ่งคำว่าสร้างในที่นี้อาจหมายถึงบูรณะ เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าพระพุทธรูปทั้งสององค์เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาโดยเฉพาะส่วนพระพักตร์ แต่พระวรกายมีลักษณะอวบอ้วนมากเป็นพิเศษ พระหัตถ์-พระบาทอูมนูนคล้ายมือเท้านก การครองจีวรห่มคลุมปิดอังสาทั้ง 2 ข้าง ตกแต่งด้วยวงโค้งหลายวงที่ตั้งใจทำเป็นริ้วผ้าบริเวณรอบวงพระพาหา พระกรและจีบชายสบงเช่นนี้เป็นที่นิยมมากในศิลปกรรมจีนสมัยราชวงศ์ถัง หากเชื่อตามตำนาน อาจมีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหม่ครอบทับองค์เก่าข้างใน

พ.ศ. 2340 พระเจ้ากาวิละพร้อมเจ้าอุปราช (เจ้าธัมมลังกา) และเจ้ารัตนะหัวเมืองแก้ว (เจ้าคำฝั้น) ได้สร้างวิหารพระเจ้าละโว้ขึ้นใหม่

เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ พ.ศ. 2469 ได้ทรงกล่าวว่าพบพระเจ้าละโว้ในเมืองลำพูน ทรงตั้งข้อสังเกตว่าพระละโว้องค์ที่เห็นเป็นพระที่สร้างขึ้นในชั้นหลัง อาจพอกทับองค์ข้างในหลายชั้น[19]

ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะวิหารพระละโว้ โดยใช้โครงสร้างเพดานคอนกรีตสมัยใหม่ด้วยเสาแท่งใหญ่ ถอดแม่พิมพ์รูปพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก ค้ำยันหลังคาตกแต่งด้วยรูปหนุมาน

หอธัมม์หลวง (หอพระไตรปิฎก) แก้

 
หอธัมม์หลวง

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย จารึกหริปุญชปุรีกล่าวว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2053 โดยพระเมืองแก้วกับพระนางสิริยศวดีเทวี พระราชมารดา ทรงให้สร้างพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ พร้อมอรรถกถาฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้นเป็นคัมภีร์ 420 และพระพุทรูปทองคำ นำมาประดิษฐานในหอธัมม์ที่ทรงสร้างขึ้น ทรงให้เงินทุนเพื่อนำดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายซื้อหมากเหมี้ยงและข้าวบูชาพระธรรม ทรงให้ภาษีนาปีละ 2,000,000 เบี้ยเพื่อเป็นค่าตอบแทนแก่ผู้ดูแลหอธัมม์ ทรงถวายข้าคน 12 ครอบครัว เพื่อปฏิบัติรักษาหอธัมม์และพระไตรปิฎก ทรงห้ามใช้คนเหล่านี้ทำงานอื่น ตอนท้ายขอบุญกุศลให้พระองค์เจริญด้วยโภคสมบัติ มีความแตกฉานในอรรถธรรม ที่สุดให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง และอุทิศกุศลส่วนหนึ่งให้พระบิดา อัยกา อัยกี อินทร์ พรหม และเทวดาอารักษ์แห่งเมืองหริภุญชัยให้รักษาพระพุทธศาสนาในสถานที่นี้สืบไป[20]

หอธัมม์หลวงเป็นอาคารทรงสูงสองชั้น ครึ่งปูนครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารเครื่องไม้ ตั้งอยู่บนฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดสูง ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ 2 ชั้น มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ตลอดทั้งหลังแกะลวดลายฉลุไม้ปิดทองประดับกระจก หลังคาทำลดชั้นประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ บนสันหลังคาประดับด้วยบราลี (ปราสาทเฟื้อง) หลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะคล้ายแผ่นดีบุก หน้าบันแกะสลักลวดลายภายในช่องตารางหน้าจั่วแบบขื่อม้าต่างไหม ภายในแกะสลักเป็นรูปหน้ากาล บานทวารแกะสลักเป็นเทวดายืนแท่นถือพระขรรค์ ภายในช่องลูกฟักใต้บานหน้าต่างรายล้อมด้วยสัตว์หิมพานต์ ตกแต่งผนังอาคารด้วยลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บันไดแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจากพื้นดินสู่ฐานเขียง มีประตูทางเข้าทางเดียว จากนั้นไม่ปรากฏบันได บันไดช่วงที่ 2 ทำเป็นบันไดนาคเล็กๆ จากอาคารปูนสู่อาคารไม้ชั้นบน สันนิษฐานว่าหอธัมม์องค์ปัจจุบันน่าจะได้รับการบูรณะสมัยพระเจ้ากาวิละมาฟื้นฟูเมืองลำพูน และเป็นต้นแบบให้แก่หอธัมม์วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ มีการนำสิงโตจีนคาบแก้วด้วยหินอับเฉามาประดับที่หัวเสาบันไดชั้นล่าง ยุคครูบาศรีวิชัยมีการนำรูปตัวมอมมาประดับไว้ที่ผนังด้านข้างบันได

เขาพระสุเมรุจำลอง แก้

ไม่ทราบประวัติความเป็นมา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุหริภุญชัย เชื่อว่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัย จากร่องรอยของฐานศิลาแลงเตี้ยๆ ที่จมฝังในพื้นคอนกรีต อย่างน้อยสุด ก็มีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า

๏ พระเมรุนวยเนื้อครอบ เรียมทุกข์
เหมือนเมื่อทำกิตติยุค ชวดช้าย
เจ็ดเขาคันแลงลุก แดเดือด ตางเอ่
ถมออาสน์อินทร์คล่อมคล้าย คอบเข้าถูถนอม
โคลงนิราศหริภุญชัย

เขาพระสุเมรุจำลองตั้งอยู่บนพื้นดินไม่มีฐานรองรับ ส่วนล่างก่ออิฐถือปูนเป็นทรงกลมระบายสีชาดแดง ส่วนนี้คือเขาตรีกูฏ ด้านบนหล่อด้วยทองสำริดลดหลั่นขึ้นไปเป็นเขาวงกต 7 ชั้น ลักษณะของการหล่อเป็นการหล่อทีละชิ้นและนำมาประกอบกันภายหลัง ส่วนนี้คือเขาสัตตบริภัณฑ์ ระหว่างเขาแต่ละชั้นนั้นมีเกษียรสมุทรคั่นสลับ แกะสลักเป็นรูปป่าไม้ สัตว์ เทวดา และอสูร ส่วนยอดบนสุดเป็นปราสาทหล่อสำริดปิดทองขนาดเล็ก มีรูปทรงคล้ายโคมปราสาทสำริด แต่ละด้านมีซุ้มประตูโขงเปิดโล่งถึงกันหมด แทนไพชยนต์มหาปราสาทของพระอินทร์

รศ. ดร. วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่าลักษณะของเทวดาที่ประดับในกรอบสามเหลี่ยมตามขนดนาคเขาสัตตบริภัณธ์นั้น พระพักตร์ เครื่องประดับ และเครื่องทรงภูษาภรณ์มีรายละเอียดทางศิลปกรรมละม้ายศิลปะขอมโบราณก่อนสมัยนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ร่วมสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ขณะที่ ศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เห็นว่าลวดลายที่คล้ายขอมนั้นอาจเป็นการลอกเลียนแบบขึ้นมาใหม่ในยุคหลังประมาณต้นรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้ และมีข้อสังเกตว่าลวดลายศิลปกรรมของสัตตบริภัณฑ์มีฝีมือคล้ายคลึงกับลายประดับกราบเรือสำเภารูปสัตว์หิมพานต์ที่ประดับริมรั้วสัตติบัญชร อาจเป็นงานศิลปกรรมสกุลช่างเดียวกันก็ได้

หอกังสดาล แก้

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ เดิมเป็นที่ตั้งของหอพระแก้วขาว ซึ่งเป็นอาคารทรงมณฑป เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระเสตังคมณีก่อนถูกอัญเชิญไปยังเชียงใหม่ เมื่อชาวบ้านรื้อที่เก็บกังสดาลและหอพระแก้วขาว ได้พบพระพุทธรูปสำริดสมัยล้านนาหลายองค์ เมื่อนำมาขัดทำความสะอาดแล้วเหมือนนาก ชาวบ้านจึงเรียกหอพระว่าหอพระนาก (ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย) ส่วนกังสดาลเดิมแขวนอยู่ข้างหน้าหอพระแก้วขาว มีจารึกว่าสร้างหล่อเมื่อ พ.ศ. 2403 โดยครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถรกับพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ หล่อที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่ และนำมาถวายบูชาพระธาตุหริภุญชัย[21]

พ.ศ. 2481 พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ (ครูบาคำฟู เตโช) ได้รื้อหอพระแก้วขาวหรือหอพระนาก สร้างเป็นหอกังสดาลมีรูปแบบปัจจุบัน ใช้เงิน 180 รูปี เป็นอาคารโล่ง สูง 2 ชั้น มีทางขึ้นหันสู่ทิศตะวันตก ชั้นบนแขวนระฆังที่หล่อสมัยเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ชั้นล่างแขวนกังสดาล หอกังสดาลแห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของพระธาตุหริภุญชัย

วิหารพระบาท 4 รอย แก้

ตั้งอยู่หลังวิหารพระพุทธ สร้างโดยครูบาศรีวิชัย เป็นวิหารโถงขนาดย่อม หน้าบันแกะสลักไม้ระบายสีทองบนพื้นหลังกระจกจืน เป็นรูปเทพนมอยู่ตอนกลาง ท่านกลางลายพรรณพฤกษา ช่อกระหนกหางโต มีหนุมาน (หรมาร) 4 ตัว ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 4 รอย ที่จำลองมาจากพระพุทธบาทสี่รอย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

วิหารพระเจ้ากลักเกลือ (พระเจ้าบอกเกลือ, พระเจ้าแดง) แก้

สร้างตามตำนานที่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาฉันหมากสมอ ณ ที่นี้ โดยทิ้งกลักเกลือ ณ บริเวณที่ตั้งวิหารนี้ สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า

๏ มนดกเจ้าบ่ เกื้อกอย กว่าเอ่
สูงใหญ่หย้องเองพอย เพื่อนหน้า
เทียนทุงคู่คบสอย วอยแว่น เวนเอ่
ผลเผื่อเร็วอย่าช้า ชาตินี้เนอมุนี
โคลงนิราศหริภุญชัย

ในโคลงกล่าวว่าเป็นมณฑป แต่ปัจจุบันกลายเป็นวิหาร หลังคาวิหารมีการชักชายหลังคาห่มคลุมแบบปีกนกอันเป็นรูปแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ผิดแปลกจากวิหารล้านนาทั่วไป ภายในประดิษฐานพระเจ้ากลักเกลือหรือพระเจ้าบอกเกลือ ประทับนั่งปางมารวิชัย เนื่องจากองค์พระระบายสีชาดจึงนิยมเรียกว่าพระเจ้าแดง ผนังเขียนภาพจอมเจดีย์ทั้ง 8 แห่ง ขณะที่ทำการบูรณะพบเม็ดพระศกพระพุทรูปขนาดมหึมาร่วงหล่นหลายชิ้น

วิหารพระไสยาสน์ แก้

ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปางปรินิพพานในท่าตะแคงขวา พระหัตถ์ขวาวางแปไม่แนบพระพักตร์ ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า

๏ นบพระไสยาสน์เยื้อน ปฏิมา
วงแวดฝูงขีณา ใฝ่เฝ้า
พระพุทธเปลี่ยนอิริยา ขูโนส บารา
เทียนคู่เคนพระเจ้า จุ่งได้ปัจจุบัน
โคลงนิราศหริภุญชัย

ปัจจุบันเหลือเพียงพระพุทธไสยาสน์ ส่วนพระอรหันต์ล้อมเฝ้าอยู่เป็นวงตามที่กล่าวในโคลงได้หายไป

วิหารพระเจ้าพันตน แก้

ตั้งอยู่หลังวิหารพระละโว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก วิหารเป็นทรงอุดทึบแบบมหาอุตม์ มีประตูหน้าต่างเข้าด้านหน้าด้านเดียว เป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูปจำนวนมหาศาลที่ญาติโยมนำมาถวายสักการะพระธาตุ ในช่วงบูรณะเมื่อเปิดประตูมาก็พบพระพุทธรูปเบียดเสียดแน่นขนัด แทบไม่พอบรรจุ พบแม้กระทั่งบริเวณขื่อใต้ชั้นหลังคาทุกซอกทุกมุม สันนิษฐานมีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า

๏ ชินพิมเพาโพธเพี้ยง พอพัน
สองฝ่ายหนเหนือสัน ฝ่ายใต้
ลาชาแผ่ผายผัน ผลเผื่อ อวรเอ่
ผลเผื่อเถิงเจ้าได้ แด่เท้อะทิโพชา
โคลงนิราศหริภุญชัย

สุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์) แก้

 
สุวรรณเจดีย์

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือขององค์พระธาตุ ชินกาลมาลีปกรณ์และตำนานมูลศาสนากล่าวว่า พระนางปทุมวดี มเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นภายหลังจากพระเจ้าอาทิตยราชสร้างพระธาตุหริภุญชัยได้ 4 ปี ชาวลำพูนเรียก พระธาตุเหลี่ยม ธาตุเหลี่ยม กล่าวว่าเดิมมีฟ้อนสมโภชในเดือน 4 เหนือ เวลาหลังเก็บเกี่ยวทุกปี แต่ปัจจุบันพิธีนี้ได้สูญหายไป

สุวรณเจดีย์มีรูปทรงลอกแบบมาจากเจดีย์สุวรรณจังโกฏ (กู่กุด) ที่วัดจามเทวี แต่ทรวดทรงสูงเพรียวกว่า ฐานกว้างประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 14 เมตร สร้างด้วยอิฐและศิลาแลงในผังทรงสี่เหลี่ยมซ้อนเหลื่อมกัน 5 ชั้น มีสถูปจำลองที่มุมของเรือนธาตุแต่ละชั้น รายละเอียดหลุดหายไป เรือนธาตุแต่ละชั้นประดับซุ้มจระนำด้านละ 3 ซุ้ม ชั้นละ 12 ซุ้ม รวมทั้งสิ้น 60 ซุ้ม คูหาซุ้มก่อเป็นสันเหลื่อมตกแต่งเป็นซุ้มหยักคดโค้งสามวง มีบ่าสองข้างมองโดยรวมคล้ายวงโค้งห้าวง ปลายกรอบซุ้มม้วนออกคล้ายตัวเหงา ภายในซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ศิลปะหริภุญชัย ทำด้วยปูนปั้นมีแกนเป็นอิฐ พบร่องรอยการลงรักปิดทองและการบูรณะใหม่ด้วยการพอกปูนปั้นทับในยุคหลัง มีการพยายามแก้ไขพระพักตร์จากรูปสี่เหลี่ยมให้เป็นวงรูปไข่แบบล้านนา แต่ยังพบร่องรอยการทำพระขนงเป็นสันนูนต่อกัน พระเนตรโปนเหลือบต่ำ พระนาสิกแบบใหญ่ พระโอษฐ์หนากว้าง มีไรพระมัสสุ ไรพระศกเป็นแถบเล็กๆ เหนือพระนลาฏมีอูรณากลม เม็ดพระศกขมวดแหลมสูงขนาดเล็ก มีอุษณียะเป็นกรวยเรียบๆ ห่มจีวรคลุมบางเรียบแนบองค์เห็นสายรัดประคด ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบหริภุญชัย ปัจจุบันเหลือพระพุทธรูปปางประทานอภัยเพียงไม่กี่ซุ้ม ส่วนยอดของเจดีย์ทำเป็นกลีบบัวกลุ่มประดับเกสรบัวซ้อนชั้นกันขึ้นไปหลายชั้นสลับกับปล้องไฉนในรูปสี่เหลี่ยม บัวกลุ่มทำด้วยปูนปั้นหุ้มแผ่นทองจังโก ส่วนปลียอดปลายสุดทำเป็นกรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไปในผังสี่เหลี่ยมหุ้มทองจังโก

สุวรรณเจดีย์ถูกเปิดกรุถึงสามครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2474 พระครูบาธรรมวิชัยได้เปิดกรุอย่างเป็นทางการ พบพระเปิมหลายพันองค์ ทางวัดให้เช่าบูชาเพื่อนำเงินมาสมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุและศาลาบาตร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้เปิดกรุโดยขุดฐานพระเจดีย์ลึกเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางและลึกลงไปถึงรากฐานระดับ 1.5 เมตร จนพบโพรงอุโมงค์ที่ถูกอิฐเก่าทับซ้อนหลายชั้น ได้พระเปิมมา 3-4 ตะกร้า จำนวนหลายพันองค์ แจกจ่ายให้หน่วยทหารที่ประจำในจังหวัดลำพูนทั่วทุกคน ที่เหลือได้เอาไปฝังกรุไว้ตามเดิม ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2496 ถูกลักลอบขุดโดยมิจฉาชีพ เชื่อว่าการเปิดกรุทั้ง 3 ครั้งเป็นการนำมาซึ่งการทรุดตัวของพระเจดีย์และการลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปในซุ้มจระนำ

บริเวณเชิงฐานเขียงของสุวรณเจดีย์ มีพระพุทธรูปหินทราย 3 องค์ ที่ย้ายมาจากวัดดอนแก้ว แม้จะถูกพอกปูนทับแต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างทรวดทรงแล้วพบว่าเป็นฝีมือช่างหริภุญชัยที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยคุปตะ คือประทับนั่งขัดสมาธิเพชร มีชายผ้าทิพย์เป็นรูปครึ่งวงกลม ครองจีวรห่มคลุมบางเรียบแนบลำพระองค์แลเห็นปล้องพระศอ พระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยมแต่ค่อนข้างอูมมน ไม่ปรากฏไรพระศพเหนือพระนลาฏ เม็ดพระศกกลมโตไม่แหลมสูงแบบหริภุญชัยยุคหลัง บางองค์มีแผ่นหลังเป็นกรอบรูปสามเหลี่ยมปลายมน องค์ใหญ่และองค์กลางมีจารึกอักษรล้านนาว่า "เจ้าคุณพระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และเจ้าน้อยประพันธ์ กาญจนกามล เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 50 รูปมาบำเพ็ญปริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2474" ส่วนองค์ย่อมมีคำจารึกว่า "เจ้าคุณพระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 25 รูปบำเพ็ญปริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์สำเร็จและฉลองเมื่อ 29 ธันวาคม 2483"

เจดีย์เชียงยัน (เจดีย์แม่ครัว) แก้

ตั้งอยู่นอกเขตพุทธาวาส ทางทิศเหนือของพระธาตุหริภุญชัย บริเวณคณะเชียงยัน (วัดเชียงยัน) มีตำนานว่าสมัยหริภุญชัยบริเวณนี้เป็นเขตปฏิบัติธรรมของภิกษุณีและอุบาสิกา ที่มาช่วยทำครัวเลี้ยงคณะศรัทธาขณะก่อสร้างพระธาตุหริภุญชัยกับสุวรรณเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จพวกแม่ครัวจึงนำเศษอิฐและวัสดุที่เหลือมาสร้างเจดีย์เชียงยัน จึงมีอีกชื่อว่าเจดีย์แม่ครัว ยังมีสระล้างครัวอยู่หน้าอุโบสถและอุโบสถภิกษุณีเป็นหลักฐานยืนยัน

รูปแบบของเจดีย์เชียงยัน ถือว่าเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงปราสาท 5 ยอดที่แพร่ไปทั่วล้านนา ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงบนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 5 ชั้น รองรับด้วยฐานปัทม์คาดด้วยลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมย่อเก็จ ผนังย่อเก็จตกแต่งด้วยลายบัวคอเสื้อ ประจำยามอก กาบบัวเชิงล่าง ล้อมกรอบในเส้นลวด ซึ่งเป็นงานซ่อมสมัยพระเจ้าติโลกราช ตกแต่งด้วยจระนำซุ้มลดทั้ง 4 ด้าน ประดับลายมกรคายนาคที่กรอบซุ้มจระนำ เคยประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนแบบหุ้มแผลง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอย หลังคาเรือนธาตุเป็นฐานแปดเหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น แบบบัวถลารองรับบัวกลุ่มในตำแหน่งของบัวปากระฆัง เหนือขึ้นไปเป็นเจดีย์จำลองทรงสี่เหลี่ยมตรงมุมทั้งสี่และองค์ระฆังทรงกลม มีการทรงเครื่องด้วยลายประจำยามรัดอกทำด้วยปูนปั้น เป็นรูปลายดอกไม้ 4 กลีบในกรอบขนมเปียกปูน เป็นลักษณะที่นิยมทำมาในศิลปกรรมพุกาม ส่วนลายปูนปั้นประดับที่ฐานองค์ระฆังและเหนือองค์ระฆังขึ้นไปยอดทำเป็นลายบัวกลุ่มชนิดบัวจงกลแบบหริภุญชัยกับหม้ออามลกะ พบร่องรอบการบุทองจังโก ไม่มีการทำบัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอด

พ.ศ. 2548 กรมศิลปากรโดยสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่) ได้ทำการขุดค้นศึกษาชั้นดินใต้รากฐานเจดีย์เชียงยันด้านทิศตะวันตก ขุดลึกประมาณ 3 เมตร หลุมกว้างยาว 3 x 5 เมตร พบฐานชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลง มีเศษภาชนะดินเผาสมัยหริภุญชัยปะปนกับเศษกระดูกสัตว์ประเภทเปลือกหอยขม ก้างปลา กำหนดอายุจากชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาว่าเจดีย์เชียงยันน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญชัยตอนปลาย และบูรณะครั้งใหญ่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20

พ.ศ. 2550 กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์เชียงยัน ได้ขุดตรวจฐานรากโดยรอบ ด้านทิศเหนือลึกลงไปประมาณ 1 เมตร พบกลุ่มประติมากรรมสำริดหลายชิ้น อาทิ เทวดาประณมกร รูปฤๅษีถือหอยสังข์ พระพุทธรูปปางประสูติยืนยกมือชี้ฟ้าดิน (ปัจจุบันประดิษฐานภายในวิหารหลวง) รูปบุคคลไว้เคราสวมเสื้อคล้ายชาวจีนแต่นุ่งผ้าคล้ายเขมรถือตะเกียง ฯลฯ และพบใบหอกห่ออยู๋ในแผ่นจืนดิบ (ตะกั่ว) ประติมากรรมเหล่านี้กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงบูรณะเจดีย์เชียงยันในสมัยล้านนา

อุโบสถ แก้

ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก บริเวณคณะเชียงยัน (วัดเชียงยัน) เป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ มีมุขยื่นด้านหน้า หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น มีระเบียงพาไลด้านเหนือ-ใต้ หน้าบันแกะสลักไม้บนพื้นหลังกระจกจืน แกะเป็นรูปช้างเอราวัณใต้พระมหาพิชัยมงกุฎและลายพรรณพฤกษา ค้ำยันรูปหนุมาน (หรมาน) สู้กัน ซึ่งเป็นรูปแบบการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ภายในมีโขงพระเจ้าประดิษฐานพระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยสำริดลงรักปิดทอง สร้างราวสมัยพระเจ้าติโลกราช-พญายอดเชียงราย เดิมประดิษฐานอยู่วัดหนองหนาม ต. บ้านแป้น อ. เมือง จ. ลำพูน ซึ่งเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานในอุโบสถวัดพระธาตุหริภุญชัยจนถึงปัจจุบัน อุโบสถนี้ใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ในเขตตำบลในเมืองทั้งหมดช่วงเข้าพรรษาและออกพรรษา

วิหารพระมหากัจจายนะ (พระปุ๋มผญา) แก้

ตั้งอยู่นอกกำแพงวัด บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) หน้าบันแกะสลักไม้เป็นรูปลายสับปะรด อันเป็นผลงานการบูรณะของครูบาศรีวิชัย ประดิษฐานรูปพระมหากัจจายนะ (พระปุ๋มผญา) สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระเมืองแก้วแล้ว เนื่องจากมีการกล่าวถึงในโคลงนิราศหริภุญชัย ความว่า

๏ นาภีสมสวดสร้าง กระจาย
ปูอาสน์อิงเขนยหลาย ลูกซ้อน
เทียนทุงพี่ถือถวาย เคนคู่ องค์เอ่
ก็เท่าทิพเจ้าจ้อน เอกอ้างปณิธา
โคลงนิราศหริภุญชัย

อุโบสถภิกษุณี แก้

ตั้งอยู่นอกกำแพงวัด บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) ระหว่างวิหารพระมหากัจจายนะกับมณฑปพระอัฏฐารส ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะระหว่าง พ.ศ. 2473-2475 เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตกแต่งลวดลายบนหน้าบันรูปพรรณพฤกษา หน้ากาล นาคเกี่ยวกระหวัด มีรูปเสือสัญลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ปีกนก 2 ข้าง ระเบียงมุขด้านหน้าล้อมรอบด้วยลูกกรงหล่อปูนระบายสี เป็นแผ่นฉลุลายคล้ายล้อกระเบื้องกังไสของจีน เสาวิหารด้านหน้าเป็นเสากลมฉาบปูนประดับปูนปั้นรูปหน้ากาลในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ติดกระจก ซุ้มประตูแบบบันแถลงซ้อนกัน 2 ชั้น มีหน้ากาลที่ยอดซุ้มและเทพนมตอนกลาง บานประตูเขียนรูปเทวดารดน้ำปิดทอง สิ้นเงิน 6,389 รูเปีย 46 สตางค์

มณฑปพระอัฏฐารส แก้

ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณคณะอัฏฐารส (วัดอัฏฐารส) ก่อเป็นทรงมณฑป ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาสูงซ้อนกัน 3 ชั้น ผลงานการบูรณะของครูฐาศรีวิชัย ภายในประดิษฐานพระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน สูง 18 ศอก เดิมเป็นพระพุทธรูปประทับยืนสูง 18 ศอก หุ้มด้วยทองคำเปลวเปล่งปลั่ง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางวัดเกรงจะมีคนมาลักลอบขโมยทองจากพระอัฏฐารสจึงนำปูนหุ้มพอกทับองค์เดิมข้างใน เปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแทน[22]

วิหารสะดือเมือง แก้

ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณคณะสะดือเมือง (วัดสะดือเมือง) ภายในวิหารประดิษฐานเสาสะดือเมืองลำพูนแลพระพุทธรูปศิลปะล้านนาประทับนั่งปางมารวิชัย 3 องค์

วิหารพระไสยาสน์ แก้

ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณคณะหลวง (วัดหลวง) ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย แก้

ตั้งอยู่บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งและที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชนกูลวิบูลยภักดี (อวบ เปาโรหิตย์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เพื่อคุ้มครองรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติในมณฑลพายัพไม่ให้สูญหาย ครั้งแรกใช้สถานที่บริเวณศาลบาตรมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุและศาลาอีกหลังหนึ่งตรงมุมเดียวกัน เรียกว่า ลำพูนพิพิธภัณฑสถาน อยู่ในความดูแลของวัดพระธาตุหริภุญชัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ศาลากลางจังหวัด จนกระทั่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑสถานนี้และประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504

เมื่อกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ตรงข้ามกับวัดพระธาตุหริภุญชัยในปี พ.ศ. 2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่แล้วเสร็จใน พงศ. 2517 แล้วขนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาคและโบราณวัตถุที่ขนย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่งยังคงเก็บรักษาและจัดแสดงที่วัดพระธาตุหริภุญชัย คือ พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว และอาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

ภายในวิหารคต ทั้งหมดของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และ เล่มที่ 96 ตอนที่ 185 ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2522

รายนามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร แก้

ลำดับที่ รายนาม ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.)
1. พระมหาราชโมฬีสารีบุตร -
2. พระราชโมฬี -
3. พระคัมภีร์ คมฺภีโร -
4. พระวิมลญาณมุนี (สุดใจ) 2476 - 2486
5. พระครูจักษุธรรมประจิตร (ตา) 2486 - 2489
6. พระสุเมธมังคลาจารย์ (อมร อมรปญฺโญ) ป.ธ.7 2489 - 2533
7. พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ไพบูลย์ ภูริวิปุโล) 2533 - 2556
8. พระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ) ป.ธ.7 2556 - ปัจจุบัน

รายนามพระราชาคณะวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร (อดีต-ปัจจุบัน) แก้

  • พระสุเมธมังคลาจารย์ (อมร อมรปญฺโญ, ปธ.๗) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗
  • พระเทพญาณเวที (สุเธียร อคฺคปญฺโญ, ปธ.๔) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๗
  • พระเทพมหาเจติยาจารย์ (ไพบูลย์ ภูริวิปุโล) อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน
  • พระเทพรัตนนายก (จำรัส ทตฺตสิริ, ปธ.๗) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ,เจ้าคณะจังหวัดลำพูน
  • พระศรีธรรมโสภณ (บุญโชติ ปุญฺญโชติ, ปธ.๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง, รองเจ้าคณะจังหวัดลำพูน

คณะ แก้

  • คณะหลวง ทิศตะวันออกเฉียงใต้
  • คณะเชียงยัน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • คณะอัฏฐารส ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • คณะสะดือเมือง ทิศตะวันตกเฉียงใต้

อาณาเขตติดต่อ แก้

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง ยกวัดราษฎรเป็นพระอารามหลวง, เล่ม 55, ตอน 0 ง, 8 สิงหาคม 2481, หน้า 1476
  2. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒, หน้า 246
  3. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ
  4. พระโพธิรังสี . จามเทวีวงษ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย . พิมพ์แจกในการพระกุศลสมโภชพระอัฐิพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ 24 มิถุนายน 2473
  5. ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม.(2538).ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่.
  6. พระพุทธกามและพระพุทธญาณ. ตำนานมูลศาสนา. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ 17 ธันวาคม 2518.
  7. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นายกี นิมมาเหมินทร์) 2510.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-13. สืบค้นเมื่อ 2021-07-13.
  9. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2074
  10. https://www.matichonweekly.com/column/article_73951
  11. สิงฆะ วรรณสัย แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับเดิมที่แต่งไว้เป็นภาษาล้านนาปี พ.ศ. 2109. ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย. ลำพูน : เอกสารโรเนียวแจก, 2515.
  12. สรัสวดี อ๋องสกุล. พินิจหลักฐานประวัติศาสตร์ล้านนา. เชียงใหม่ : ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2559.
  13. กรมศิลปากร. พระธาตุหริภุญไชย. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, 2553. ISBN 978-974-417-255-6
  14. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2027
  15. กรมศิลปากร. พระธาตุหริภุญไชย. กรุงเทพฯ : ถาวรกิจการพิมพ์, 2553. ISBN 978-974-417-255-6
  16. เสถียร พันธรังสี และ อัมพร ทีขะระ แปล. ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (เรียบเรียงจาก Temples and elephants ของ Carl Bock). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562
  17. เสถียร พันธรังสี และ อัมพร ทีขะระ แปล. ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (เรียบเรียงจาก Temples and elephants ของ Carl Bock). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562
  18. สมาคมชาวลำพูน. ครูบาเจ้าศรีวิชัย เล่ม ๒ : ตามรอยการปฏิสังขรณ์ก่อสร้างปูชนียสถานโบราณวัตถุ จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : พี.พี.เค.การพิมพ์, 2561. ISBN 978-616-93082-0-1
  19. ดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธเจดีย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
  20. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2074
  21. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2023
  22. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-15. สืบค้นเมื่อ 2021-07-15.
บรรณานุกรม
  • กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548. 622 หน้า. หน้า 313-314.