พระนางสิริยศวดีเทวี

นางโป่งน้อย หรือ สิริยศวดีเทวี (ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์), อโนชาเทวี (ปรากฏในพับสาวัดสันป่าเลียง)[1], ศรีทิพ หรือ ทิพทอง (ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญชัย)[2][3][4], สมเด็จบพิตร พระมหาเทวีเจ้าอยู่หัว (ปรากฏในจารึกวัดอุทุมพรอาราม)[5][6] และ สมเด็จบพิตร พระมหาเทวีศรีรัตนจักรวรรดิ (จารึกวัดพระคำ)[7] เป็นเจ้านายฝ่ายในของอาณาจักรล้านนาที่มีบทบาททางการเมืองสูงและยาวนาน พระองค์เป็นหนึ่งในพระมเหสีในพญายอดเชียงราย เป็นมหาเทวีในพระเมืองแก้ว และเป็นมหาเทวีเจ้าตนย่าผู้ทรงอิทธิพลในรัชกาลของพระเมืองเกษเกล้า

สิริยศวดีเทวี
มหาเทวีแห่งล้านนา
สวรรคตประมาณ พ.ศ. 2077
พระราชสวามี
พระราชบุตร
ราชวงศ์มังราย
พระราชมารดายายพระเป็นเจ้า

พระราชประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

สิริยศวดีเทวี หรือ นางโป่งน้อย (ภาษาถิ่นพายัพออกเสียงว่า "ป่งน้อย")[8] เป็นธิดาของขุนนางผู้ใหญ่และเป็นเครือญาติของผู้ครองเขลางค์นคร[9] และมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในเมืองดังกล่าว ดังปรากฏใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ว่าประสูติที่เมืองกุสาวดี (เมืองมีหญ้าคา)[10] บุรพชนสืบเชื้อสายหรืออาจเป็นว่านเครือของพระราชชนนีในพระเจ้าติโลกราช[11] และพระราชชนนีของพระองค์ก็มิใช่สตรีสามัญธรรมดา หากแต่มีบทบาทสำคัญยิ่งในรัชสมัยพระเมืองแก้ว ปรากฏในชินกาลมาลีปกรณ์และจารึกวัดบ้านปานเรียกว่า "ยายพระเป็นเจ้า"[12][13] เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมีสันนิษฐานว่าพระราชชนนีนี้อาจสืบเชื้อสายมาจากวงศ์สุโขทัย[14]

ส่วน พงศาวดารโยนก พระยาประชากิจกรจักร์สันนิษฐานว่าพระนางมาจากเมืองจ้วด (จว้าด) แถบลุ่มน้ำสาละวินซึ่งเป็นเขตแดนของชาวไทใหญ่ และสุรศักดิ์ ศรีสำอาง อดีตผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถาน กรมศิลปากรกล่าวว่านางเป็นพระราชธิดาชาวไทใหญ่ ตามพงศาวดารโยนก[8]

สู่ราชวงศ์มังราย

แก้

นางโป่งน้อยเข้าเป็นพระชายาในพญายอดเชียงราย แล้วได้รับการเฉลิมพระนามเป็นอโนชาเทวี การอภิเษกสมรสเกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมืองโดยปราศจากความรักซึ่งกันและกัน[8] เพราะพระนางมีชายคนรักอยู่แล้วคือศิริยวาปีมหาอำมาตย์ ซึ่งรักใคร่ชอบพอกันตั้งแต่ประทับที่เขลางค์นคร เมื่อพระนางอภิเษกสมรสแล้ว ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ก็เข้ามาถวายการรับใช้ในราชสำนักเชียงใหม่เสียด้วย[8] พระนางสิริยศวดีเทวีมีพระราชโอรสกับพญายอดเชียงรายด้วยกันคือเจ้าแก้ว (ต่อมาคือพระเมืองแก้ว) แต่พบว่าพญายอดเชียงรายนั้นไม่รักพระราชโอรสแท้ ๆ ของพระองค์ กลับรักลูกเลี้ยงที่เป็นจีนยูนนานชื่อเพลาสลัง (ภาษาถิ่นพายัพออกเสียงว่า "เปาสะหล้าง") บางแห่งก็ว่าเพลาสลังนี้อาจเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระชายาชาวจีนยูนนาน[8] ดังปรากฏความใน พื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า[15]

"...เจ้าพญายอดมีลูกกับด้วยนางป่งน้อย เจ้าราชบุตรเกิดในปีเต่ายี สกราช ๘๔๔ ตัว ชื่อว่าเจ้ารัตนราชบุตร พญายอดตนพ่อบ่รักหลายเท่ารักลูกห้อผู้ ๑ ชื่อ เพลาสลัง เอามาเลี้ยงเป็นลูก แล้วหื้อไปกินเมืองพร้าวหั้นแล [...] เจ้าพญายอดเท่าเอาใจไปคบกับห้อ เสนาอามาจไหว้ว่ารือก็บ่ฟัง บ่ขับตามรีตท้าวคลองพญา บ่ชอบทัสสาธัมม์ เสนาอามาจบ่เพิงใจ จึงพร้อมกันเอาพญายอดไปไว้เสียเมืองซะมาศ แล้วพร้อมกันอุสสาภิเสกเจ้ารัตนราชบุตร อายุได้ ๑๔ ปี เป็นพญา..."

แต่หลังจากพระราชสวามีครองราชย์ได้ 8 ปี ก็ถูกเหล่าขุนนางผู้ใหญ่ที่ครองเขลางค์นคร ปลดออกจากราชบัลลังก์ให้ไปครองเมืองซะมาด (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)[16] พร้อมกับยกเจ้าแก้ว ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา 15 ปี[8] ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบมา[17] ด้วยความที่เครือญาติของพระนางมีฐานอำนาจที่เข้มแข็ง มีความเป็นไปได้สูงที่บิดาของพระนางมีส่วนร่วมในการแย่งชิงราชสมบัติจากพญายอดเชียงราย และสนับสนุนให้พระเมืองแก้วและนางโป่งน้อยเสวยราชย์[18] เมื่อขึ้นครองราชย์ก็พบว่านางโป่งน้อยมีอำนาจสูงมาก เนื่องจากมีบทบาทในการปกครองร่วมกับพระราชโอรส โดยในหลักฐานมีการเรียกมหาเทวีและกษัตริย์ว่า "พระเป็นเจ้าสองพระองค์" และ "พระเป็นเจ้าแม่ลูกทั้งสอง"[19][20][21][22] แล้วยังพบใน โคลงนิราศหริภุญชัย บทที่ 160 ความว่า[4]

ธิบาธิเบศร์แก้ว กัลยา ก็มา
ปกป่าวชุมวนิดา แห่ห้อม
คือจันทร์อำรุงดา- ราล่อง งามเอ่
สนมนาฏเลือนเลือนล้อม เนกหน้าเต็มพลาน

ส่วน โคลงนิราศหริภุญชัย บทที่ 180 บันทึกไว้ความว่า[4]

คราวครานเถิงถาบห้อง หริภุญช์
ริร่ำสองอาดูร นิราศร้าง
ปุนขะสดป่านแปงทูล ทิพอาช ญาเอ่
ถวายแด่นุชน้องอ้าง อ่านเหล้นหายฉงน

ซึ่งอรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวไว้ว่านี่เป็นการสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินครั้งแรกของล้านนาที่พระราชชนนีครองราชย์ร่วมกับพระราชโอรส[8] และอธิบาย นิราศหริภุญชัย ซึ่งแต่งโดยศิริยวาปีมหาอำมาตย์ มีการกล่าวถึงมหาเทวีนี้ว่า "ธิบาธิเบศแก้ว กัลยา" (แปลว่า กษัตริย์หญิง) และ "ทิพอาชญา" (แปลตรงตัวว่า นางทิพผู้ทรงอาชญา คือทิพผู้เป็นกษัตริย์)[3]

หลังเสวยราชย์ร่วมกับพระเมืองแก้ว พระราชโอรส พระองค์อภิเษกสมรสใหม่กับศิริยวาปีมหาอำมาตย์ ดังปรากฏใน ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่เรียกว่า "ศิริยวาปีมหาอำมาตย์ผู้เป็นสวามี"[3] และมีพระราชโอรสไม่ปรากฏนามหนึ่งคน ซึ่งไปดูแลเมืองแม่สรวยระยะหนึ่ง โดยเนื้อหาได้บันทึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับศิริยวาปีมหาอำมาตย์ความว่า[4]

"…ลำดับนั้นพระสิริยศวดีผู้เป็นราชมารดาจึ่งบริจาคทรัพย์เป็นอันมาก ยกเอาที่บ้านแห่งศิริยวาปีมหาอำมาตย์ผู้เป็นสามี นั้นสร้างเป็นสังฆารามแล้ว ก่อเจดีย์ลงในอารามนั้นเป็นที่สักการบูชา…"

มหาเทวีเจ้าตนย่า

แก้

หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระเมืองแก้ว ผู้เป็นพระราชโอรส เมื่อพระเมืองเกษเกล้าเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากพระนางด้วยมีศักดิ์เป็นมหาเทวีเจ้าตนย่า (สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า) ด้วยความที่พระนางสั่งสมอำนาจเป็นเวลายาวนาน และมีเครือข่ายที่กว้างขวางที่สามารถค้ำจุนพระราชนัดดาของพระองค์ได้[23] แต่หลังจากการสวรรคตของพระองค์ในช่วงปี พ.ศ. 2077 ก็เกิดกบฏหมื่นสามล้านในปี พ.ศ. 2078[23]

พระราชกรณียกิจ

แก้

พระองค์มีศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นพระมเหสีในพญายอดเชียงราย พระองค์สร้างวัดโป่งน้อย ตั้งอยู่ใกล้กับวัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ที่พระนางอะตะปาเทวี อัครมเหสีอีกองค์หนึ่งสร้างไว้[24][25]

อย่างไรก็ตามหลังจากที่พระนางและพระเมืองแก้ว พระราชโอรสยึดราชสมบัติจากพญายอดเชียงรายแล้ว พระองค์ได้ครองราชย์ร่วมกับพระราชโอรส โดยทรงดูแลกิจการภายในราชสำนักเชียงใหม่ทั้งหมด และทรงอยู่เหนือกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[8] ก็ทรงทำนุบำรุงพระศาสนาตลอด เช่นสร้างวัดบุพพาราม ในปี พ.ศ. 2039[26] และวัดศรีสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2043[27]

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. "จารึกล้านนา". สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-31. สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "โคลงนิราศหริภุญชัย". วชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 "โคลงนิราศหริภุญไชย แต่งให้ "พระนางสิริยศวดี" กษัตริย์หญิงล้านนาเมื่อ 500 ปีที่แล้ว". สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส. 18 กรกฎาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 เพ็ญสุภา สุขคตะ (1 กุมภาพันธ์ 2561). ""ล้านนาศึกษา" ใน "ไทศึกษา" ครั้งที่ 13 (16) 500 ปี โคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่า และความทรงจำ (จบ)". มติชนสุดสัปดาห์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-09. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "จารึกวัดอุทุมพรอาราม". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  6. "จารึกวัดอุทุมพรอาราม" (PDF). จารึกล้านนา. สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  7. "จารึกวัดพระคำ". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 เพ็ญสุภา สุขคตะ (30 พฤศจิกายน 2560). ""ล้านนาศึกษา" ใน "ไทยศึกษาครั้งที่ 13" (8) เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (3)". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 144

    "ในปีนี้ [พ.ศ. 2060] วันขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย พระนางสิริยสวดีราชมารดา โปรดให้ยกฉัตรยอดเจดีย์ที่วัดซึ่งพระนางสร้างไว้ ณ ตำบลบ้านอยู่ของมหาอำมาตย์ผู้เป็นใหญ่ในหนองขวาง และยกมหาวิหารขึ้นด้วย..."

  10. ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 135

    "ย่างเข้าปีที่ 4 เป็นปีระกา พระเจ้าพิลกปนัดดาธิราชทรงฉลองพระไตรปิฎกฉบับลงทองและหอมณเทียรธรรมที่พระองค์โปรดให้สร้างในวัดปุพพารามแล้ว และทรงฉลองวัดกุมาราราม ซึ่งพระนางสิริยสวดี พระราชชนนีของพระองค์สร้างไว้ในตำบลบ้านเกิดของพระนาง ในเมืองกุสาวดี (เมืองมีหญ้าคา)..."

  11. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ, หน้า 158
  12. ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 161
  13. "จารึกวัดบ้านปาน". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  14. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ, หน้า 163
  15. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, หน้า 107
  16. "พบหม้อใส่แหวนรัตนชาติใน "เมืองน้อย" ที่คุมขังโอรสพระเจ้าติโลกราชผู้ถูกใส่ร้ายจนโดนประหาร". มติชนออนไลน์. 29 มกราคม 2560. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  17. พื้นเมืองเชียงแสน, หน้า 157
  18. ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 168
  19. ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3, หน้า 195
  20. ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3, หน้า 198
  21. ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4, หน้า 112
  22. ประชุมศิลาจารึกเมืองพะเยา, หน้า 263
  23. 23.0 23.1 ประวัติศาสตร์ล้านนา, หน้า 175
  24. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ, หน้า 155
  25. "จารึกวัดตโปทาราม". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์มหาชน). สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  26. ชินกาลมาลีปกรณ์, หน้า 130
  27. "ภาษาและวรรณกรรม - ศิลาจารึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2011-04-21.
บรรณานุกรม
  • สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546
  • ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3. คณะกรรมการจัดการพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508
  • ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4. คณะกรรมการจัดการพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). ประชุมจารึกเมืองพะเยา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2538
  • สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. ISBN 978-974-8132-15-0
  • เฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี. ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองของล้านนาและสุโขทัย : ข้อคิดใหม่และข้อสังเกตบางประการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559
  • รัตนปัญญาเถระ, พระภิกษุ (เขียน) แสง มนวิทูร, ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. (แปล). ชินกาลมาลีปกรณ์. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร 20 เมษายน 2517
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และเดวิด เค วัยอาจ (ปริวรรต). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : ตรัสวิน, 2543