ป๋วย อึ๊งภากรณ์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ศาสตราจารย์ พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ป.ช. ม.ว.ม. ท.จ.ว. MBE (9 มีนาคม พ.ศ. 2459 — 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวไทย ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย[3] ที่มีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัย 43 ปี 3 เดือน[4] และได้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด[5] และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนที่ 10
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ | |
---|---|
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 11 มิถุนายน พ.ศ. 2502 – 15 สิงหาคม พ.ศ. 2514 (12 ปี 65 วัน) | |
ก่อนหน้า | โชติ คุณะเกษม |
ถัดไป | พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ |
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
ดำรงตำแหน่ง 30 มกราคม พ.ศ. 2518 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (1 ปี 249 วัน) | |
ก่อนหน้า | ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ (รักษาการ) |
ถัดไป | ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี (รักษาการ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 (83 ปี) ลอนดอน ประเทศอังกฤษ |
คู่สมรส | มาร์เกรท สมิท |
บุตร | จอน อึ๊งภากรณ์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ใจ อึ๊งภากรณ์ |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยลอนดอน |
อาชีพ | นักเศรษฐศาสตร์, อาจารย์ |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | |
สังกัด | กองทัพบกสหราชอาณาจักร |
ประจำการ | 2485–2488 |
ยศ | พันตรี (ชั่วคราว)[1] |
หน่วย | กองกำลัง 136 ช้างเผือก[2] |
ผ่านศึก | ปฏิบัติการแอพพรีชีเอชั่น (2487) |
รางวัล | MBE ฝ่ายทหาร |
เขาเกิดและเติบโตจากครอบครัวชาวจีน สำเร็จการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยเข้าร่วมพันธมิตรกับญี่ปุ่น ป๋วยก็ได้ร่วมก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในประเทศอังกฤษ หนหนึ่งเขาเสี่ยงชีวิตลอบกระโดดร่มเข้าไทย ณ บ้านวังน้ำขาว จังหวัดชัยนาท จนได้ชื่อว่าเป็น “วีรบุรุษวังน้ำขาว”[6][7] เมื่อสงครามยุติลง ประเทศไทยจึงไม่ถือเป็นผู้แพ้สงคราม ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขาก็ได้รับหน้าที่เป็นทั้งผู้ว่าธนาคารแห่งชาติ รวมถึงยังได้รับตำแหน่งทั้งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ป๋วยได้แสดงความกล้าหาญ หลายครั้งโดยเฉพาะการส่งจดหมายในนาม "นายเข้ม เย็นยิ่ง" ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับสังคม จุดประกายให้กับขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยความที่เขาได้รับการชื่นชมมากมายจากสังคม[8] ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ป๋วยก็ถูกทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ออกมาโจมตีกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนในที่สุดก็ต้องออกเดินทางลี้ภัยไปต่างประเทศ และเสียชีวิตลงในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 ที่ประเทศอังกฤษ
สเตฟาน คอลินยองส์ (Stefan Collingnon) นักวิชาการร่วมสมัยชาวเยอรมัน[9] ได้กล่าวยกย่องป๋วยว่าเป็น "บิดาของเมืองไทยสมัยใหม่" (Founding Father of Modern Thailand) ในฐานะผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย[10] ป๋วยได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2508 และได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในปี พ.ศ. 2558[11][12]
ประวัติ
แก้ศ. พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ ศ. พันตรี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2459 ณ บ้านตรอกโรงสูบน้ำ ตลาดน้อย เป็นบุตรของซา แซ่อึ้ง กับเซาะเซ็ง อึ๊งภากรณ์ (สกุลเดิม: แซ่เตียว; ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยว่า ประสาทเสรี)[13] ชื่อ "ป๋วย" นั้น บิดาของป๋วยตั้งให้เป็นชื่อตัว ส่วนชื่อสกุลของป๋วย คือ "อึ้ง" ชื่อรุ่นคือ "เคียม" อ่านทั้งสามตัวตามลำดับประเพณีจีน สำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น "อึ้ง ป้วย เคียม" แต่ถ้าอ่านโดด ๆ วรรณยุกต์จะเปลี่ยนไป ชื่อสกุลเป็น "อึ๊ง" และชื่อตัวเป็น "ป๋วย" คำว่า "ป๋วย" แปลตรงตัวได้ว่า "พูนดินที่โคนต้นไม้" เพราะตัวประกอบในอักษรระบุไว้เช่นนั้น แต่มีความหมายกว้างออกไปอีกคือ "บำรุง" "หล่อเลี้ยง" "เพาะเลี้ยง" และ "เสริมกำลัง"
มารดาของป๋วย เป็นบุตรสาวคนแรกของเจ้าของร้านขายผ้าที่สำเพ็ง อยู่ใกล้ตรอกโรงโคม ส่วนบิดาเป็นคนจีน ทำงานช่วยพี่ชายที่แพปลา แถวปากคลองวัดปทุมคงคา โดยทั้งสองก็ไม่ค่อยมีรายได้มากนัก
การศึกษา
แก้พ่อแม่ของป๋วยตั้งใจส่งลูกชายเข้าเรียน ที่แผนกภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนแพง คือปีละ 70 บาทในสมัยนั้น เมื่อเด็กชายป๋วยอายุได้เก้าขวบ บิดาของป๋วยก็เสียชีวิต โดยไม่มีทรัพย์สินเงินทองทิ้งไว้ให้ ลุงเป็นคนรับอุปการะ ส่งเสียเงินให้เป็นรายเดือน แม้ว่าจะมีปัญหาด้านการเงิน มารดาของป๋วย ก็สนับสนุนให้เรียนหนังสือที่เดิม จนสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2476 ขณะอายุได้ 18 ปี ป๋วยได้มาเป็นมาสเตอร์ หรือครูที่นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญใช้เรียก ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สอนวิชาคำนวณ และภาษาฝรั่งเศส มีรายได้เดือนละ 40 บาท แบ่งให้แม่ 30 บาท
ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ป๋วยได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นนักศึกษารุ่นแรก ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีการบังคับให้เข้าชั้นเรียน ทางมหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์คำบรรยายออกจำหน่ายในราคาถูก วิชาละประมาณ 2 บาท เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่กำลังทำงานอยู่สามารถศึกษาเองได้ ป๋วยใช้เวลาในตอนค่ำและวันหยุดเรียนอยู่ 4 ปี ก็สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางกฎหมาย การเมืองและเศรษฐการ (หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต, ธ.บ.) ซึ่งจัดการศึกษาในลักษณะสหสาขาวิชา เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง และมีความรู้ในลักษณะเป็นองค์รวม โดยสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2480 หลังจากนั้น ก็ลาออกจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มาทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ให้แก่อาจารย์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2481 ป๋วยสอบชิงทุนรัฐบาลได้ไปเรียนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และการคลัง ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งหลังจากนั้นอีกเพียง 6 เดือน มารดาของป๋วยก็เสียชีวิตลง ป๋วยใช้เวลาสามปีก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ป๋วยเป็นนักเรียนดีเด่น ป๋วยเป็นคนไทยคนเดียว ในมหาวิทยาลัยนี้ที่สอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ในบรรดาเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยกันในปี พ.ศ. 2485 โดยได้เกรดเอแปดวิชา และเกรดบีหนึ่งวิชา
จากผลการเรียนอันดีเด่นของป๋วย ทำให้ได้รับทุนลีเวอร์ฮูล์ม สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาเอกได้ทันที แต่ในระหว่างนั้น เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ขึ้น ทำให้ป๋วยตัดสินใจทำงานเพื่อชาติ ทำให้ป๋วยจบปริญญาเอกภายหลังสงครามยุติในปี พ.ศ. 2491 ป๋วยก็ได้เรียนสำเร็จปริญญาเอก โดยใช้เวลาสามปีทำวิทยานิพนธ์ "เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการควบคุมดีบุก"
การทำงาน
แก้ช่วงแรก
แก้ภายหลังจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ในปี พ.ศ. 2476 ป๋วยได้เริ่มทำงานเป็นครู (หรือที่นักเรียนอัสสัมชัญเรียกว่า "มาสเตอร์") สอนวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศส ที่โรงเรียนเก่าของเขาเอง และจนเมื่อสำเร็จธรรมศาสตร์บัณฑิตในฐานะนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วในปี พ.ศ. 2480 ก็ทำงานเป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ที่มหาวิทยาลัย
งานการเมือง
แก้วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศสงครามเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และต่อมาก็ประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยเรียกตัวคนไทย ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ให้เดินทางกลับ โดยขู่ว่า ผู้ที่ไม่เดินทางกลับจะถูกถอดสัญชาติไทย ปรากฏว่าคนไทยจำนวนหนึ่ง ได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ในนามของขบวนการเสรีไทย ภายในประเทศมี นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการ เป็นหัวหน้า ส่วนในสหรัฐอเมริกามี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย เป็นหัวหน้า เสรีไทยปฏิเสธการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกา ประกาศรับรองฐานะของเสรีไทย
ส่วนทางด้านอังกฤษ ปรากฏว่าอัครราชทูตไทยยอมเดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ป๋วยและคนไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมกลับประเทศ และได้ร่วมกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในอังกฤษ เพื่อประกาศไม่ยอมอยู่ใต้อาณัติรัฐบาลไทยที่ยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เสรีไทยจำนวน 36 คน สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกอังกฤษ เสรีไทยกลุ่มนี้มีฉายาว่า "ช้างเผือก" (White Elephants) ในช่วงแรก ป๋วยได้รับยศเป็นร้อยเอกแห่งกองทัพบกอังกฤษ มีชื่อจัดตั้งว่า "นายเข้ม เย็นยิ่ง"
นายเข้ม เย็นยิ่ง ต่อมาได้รับคำสั่งให้ลงเรือบรรทุกทหารจากลิเวอร์พูล เล่นเรืออ้อมทวีปแอฟริกา มาขึ้นฝั่งที่ประเทศอินเดีย ได้มาฝึกหลักสูตรนักรบแบบกองโจรและการจารกรรม ที่เมืองปูนา มีการฝึกการใช้อาวุธ และวิธีการต่อสู้ต่าง ๆ เป็นเวลาครึ่งปี ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 นายเข้มเป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตรชุดแรก ที่ได้รับคำสั่งให้เข้ามาติดต่อกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ที่มี "รูธ" หรือ นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า เพื่อหาทางตั้งสถานี วิทยุติดต่อระหว่างกองทัพอังกฤษในอินเดียกับคณะเสรีไทย
พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ร้อยตรีเข้มได้เดินทางด้วยเรือดำน้ำของราชนาวีอังกฤษพร้อมสหายอีกสองคนจาก ลังกา โดยมีเป้าหมายจะขึ้นฝั่งที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เมื่อมาถึงที่หมายเรือดำน้ำจอดซุ่มรอนอกฝั่งหนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่มีคนมารับจึงยกเลิกภารกิจ จึงกลับสู่ศรีลังกา ต่อมาอีกหนึ่งสัปดาห์ร้อยตรีเข้มได้รับมอบภารกิจอีกครั้ง ให้ลักลอบเข้าแผ่นดินไทย โดยการกระโดดร่มพร้อมอุปกรณ์เครื่องรับส่งวิทยุ จึงได้เดินทางไปฝึกซ้อมกระโดดร่ม ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่แคว้นปัญจาบ พอวันที่ 6 มีนาคม ร.ต.เข้ม และเสรีไทยอีกสองคนคือ แดง (ประทาน) และ ดี (ศ.เกียรติคุณ นพ.เปรม บุรี)[14] มาขึ้นเครื่องบิน บี 24 ที่กัลกัตตา ประเทศอินเดีย มุ่งมาสู่แผ่นดินไทย เป็นการกระโดดร่มแบบสุ่ม ไม่มีคนมารับที่ภาคพื้นดิน แต่สภาพอากาศไม่อำนวย เครื่องบินจึงเดินทางกลับไปกัลกัตตา อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เสรีไทยทั้งสามคนคือ เข้ม แดง และดี ก็ขึ้นเครื่องบินอีก เพื่อปฏิบัติภารกิจเดิม โดยเข้ามาทางจังหวัดชัยนาท เสรีไทยทั้งสามคนกระโดดร่มลง แต่ ร.ต.เข้ม ถูกเจ้าหน้าที่ไทยและชาวบ้าน ช่วยกันล้อมจับกุมตัวไว้ได้ และถูกตั้งข้อหาว่า ทรยศต่อชาติและทำจารกรรม ถูกซ้อม และผลักเข้าสู่กอหนาม โดยมีเจ้าหน้าที่เอาปืนจ่อข้างหลัง และถูกนำมาขังล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ เป็นเวลาหลายวัน จึงถูกส่งตัวมาลงเรือยนต์ล่องลำน้ำเจ้าพระยา เข้ามาที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ
ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจที่เป็นเสรีไทย ร.ต.เข้ม จึงมีโอกาสเข้าพบกับ นายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ฝ่ายเสรีไทย เริ่มส่งวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดีย ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ทำให้หน่วยทหารจากอังกฤษและสหรัฐฯ สามารถเล็ดลอดเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยได้สะดวกขึ้น ในการทิ้งระเบิดของอังกฤษ นายป๋วยได้ประสานติดต่อกับอังกฤษ แจ้งพิกัดไม่ให้เครื่องบินมาทิ้งระเบิดพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวังต่าง ๆ ทางอังกฤษก็ได้ตอบรับ ทำให้สถานที่สำคัญเหล่านี้ สามารถอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้
ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดีส่งนายป๋วยกลับไปอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปเจรจาให้รัฐบาลอังกฤษ ยอมรับว่าขบวนการเสรีไทย เป็นรัฐบาลอันชอบธรรมของไทย ทำนองเดียวกับที่สหรัฐได้รับรองมาก่อนแล้ว และเจรจาให้อังกฤษ ยอมปล่อยเงินตราสำรอง ที่รัฐบาลไทยฝากไว้ที่ธนาคารกลางอังกฤษ
เมื่อสงครามโลกยุติ นายป๋วยได้รับยศพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ ได้เป็นหนึ่งในผู้แทนไทย เดินทางไปเจรจาทางการทหาร และการเมืองกับฝ่ายอังกฤษ ที่นครแคนดี ประเทศศรีลังกา ได้ร่วมกับเสรีไทยจากอเมริกาอารักขา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระอนุชาที่กัลกัตตา จากนั้น นายป๋วยก็คืนยศทหารแก่กองทัพอังกฤษ แล้วกลับไปแต่งงานกับ มาร์กาเร็ต สมิท ในปี พ.ศ. 2489 และเรียนต่อระดับปริญญาเอก ที่ มหาวิทยาลัยลอนดอน
งานด้านการเงิน การคลัง
แก้ในขณะที่ป๋วยกำลังศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ นายปรีดี พนมยงค์ ถูกทหารทำรัฐประหาร ทำให้สถานการณ์ไม่ปลอดภัย ทางญาติขอให้ป๋วยยังไม่ต้องรีบกลับมา
ปี พ.ศ. 2492 ดร.ป๋วย ก็เดินทางกลับประเทศไทย บริษัทห้างร้านต่างๆ จำนวนมากทั้งในและนอกประเทศ ต้องการตัวดร.ป๋วยไปทำงานโดยเสนอให้เงินเดือนสูงๆ แต่ในที่สุด ดร.ป๋วย ก็เลือกที่จะรับราชการ เนื่องจากถือว่า ตนเองนอกจากจะเกิดเมืองไทย กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนาชาวเมืองไทย ไปเมืองนอกแล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยด้วย
ดร.ป๋วย เข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเศรษฐกร กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้รับเงินเดือน ประมาณ 1,600 บาท สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังอยู่ในสภาพฟื้นตัว ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 ดร.ป๋วย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายวิชาการของปลัดกระทรวงการคลัง และกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2496 ดร.ป๋วย ก็ได้รับแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีส่วนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีปัญหามากในสมัยนั้น กลับมีเสถียรภาพมากขึ้น นักธุรกิจมั่นใจค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศ ทำให้ราคาสินค้าลดลง และเงินสำรองระหว่างประเทศก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2496 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้ ดร.ป๋วย พ้นจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปรับราชการเป็นผู้เชี่ยวชาญการคลัง กระทรวงการคลัง เนื่องจาก ดร.ป๋วย ปฏิเสธการที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพจำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังถูกปรับเป็นเงินหลายล้านบาท จอมพลสฤษดิ์ ขอให้ ดร.ป๋วย ยกเลิกการปรับ แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธ และยืนกรานให้คณะรัฐมนตรีปรับธนาคารแห่งนั้น ในที่สุดคณะรัฐมนตรี ก็ปฏิบัติตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย
ต่อมา พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็พยายาม เสนอให้บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตนเองมีผลประโยชน์อยู่ด้วย เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตรไทยแทน บริษัท โทมัส เดอลารู คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ดร.ป๋วยเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ ดร.ป๋วย ตรวจพบว่า บริษัทดังกล่าวฝีมือไม่ดี ปลอมง่าย และมีชื่อเสียงในการวิ่งเต้น จึงไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอให้เป็นผู้จัดพิมพ์ธนบัตร จึงทำรายงานเสนอ ให้ใช้ บริษัทโทมัส เดอลารูตามเดิม แต่ถ้าหากจะตัดสินใจให้บริษัทอเมริกันเป็นผู้พิมพ์ธนบัตร ก็จะออกจากราชการ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของ ดร.ป๋วย เหตุการณ์ครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้แก่ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นอย่างมาก ผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้น ต่างไม่พอใจ ดร.ป๋วย เพื่อความปลอดภัย พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ให้ ดร.ป๋วย ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2499 และยังได้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ มีผลทำให้ ไทยสามารถขายแร่ดีบุก เป็นสินค้าออกสำคัญของประเทศได้มากขึ้น
ปี พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง จอมพลสฤษดิ์ได้ให้ ดร.ป๋วย กลับเมืองไทยเข้ามาช่วยงาน ต่อมาเมื่อ นายโชติ คุณะเกษม ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จอมพลสฤษดิ์ได้โทรเลขไปถึง ดร.ป๋วย ซึ่งกำลังประชุมคณะรัฐมนตรีดีบุกโลกที่กรุงลอนดอน เสนอให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ ดร.ป๋วย ปฏิเสธไปว่า ไม่ขอรับตำแหน่งนี้ เพราะเมื่อตอนเข้าเป็นเสรีไทย ได้สาบานไว้ว่า จะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนกว่าจะเกษียณอายุราชการ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้หวังแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็นเสรีไทย เมื่อ ดร.ป๋วย กลับจากอังกฤษ จอมพลสฤษดิ์ก็แต่งตั้ง ให้ ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่ง ดร.ป๋วย จึง ควบคุมทั้งนโยบายด้านการเงิน การคลังและ งบประมาณของประเทศ ในขณะที่อายุได้ เพียง 43 ปี นอกจากนั้น ดร.ป๋วย ยังมีบทบาทสำคัญ ในการผลักดันให้มี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการสภาพัฒน์ เป็นกรรมการสภาการศึกษาแห่งชาติ
แม้ว่า ดร.ป๋วย จะมีตำแหน่งที่สูง แต่ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ชอบนุ่งกางเกงเวสต์ปอยต์มาทำงาน ไม่มีชุดดินเนอร์แจ็กเกตเป็นของตนเอง ชอบกินก๋วยเตี๋ยว ข้าวต้มกุ๊ย และเต้าฮวย
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 12 ปี นับเป็นผู้ว่าการที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุด ตลอดสมัยที่ ดร.ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นสมัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปลอดจากการเมืองมากที่สุด และเป็นยุคที่สามารถรักษาเสถียรภาพเงินตรา ไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง เงินบาท ได้รับได้รับความเชื่อมั่นจากทั้งในและนอกประเทศ ทำให้มีการค้าขายและการลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นเงินทุน สำรองระหว่างประเทศก็เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มขยายสาขาออกไปสู่ภูมิภาค สามารถจัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรได้สำเร็จ ไม่จำเป็นต้องไปพิมพ์ธนบัตรในต่างประเทศ มีการออกพระราชบัญญัติ ธนาคารพาณิชย์ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งถือเป็นแม่บทของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนนำเทคนิคนโยบายทางการเงินที่ สำคัญๆ เช่น อัตราเงินสดสำรองอัตราส่วนลดมาใช้ และชักจูงให้ธนาคารปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันจำเป็นต่อการ เสริมสร้างความมั่นคงในระบบการธนาคาร และอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขามากขึ้น และขยายไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้กิจการธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว
ปี พ.ศ. 2507 ดร.ป๋วย ได้กล่าวสุนทรพจน์ของสมาคมธนาคารไทย เพื่อเตือนสติผู้มีอำนาจ มีใจความว่า จอมพล ถนอม นายกรัฐมนตรีผู้มีคำขวัญประจำใจว่า "จงทำดี จงทำดี จงทำดี" มีนโยบายไม่เห็นด้วยที่รัฐมนตรีจะไปยุ่งเกี่ยว กับ "การค้า" แต่ทำไมจึงมีรัฐมนตรีบางคนไปเป็นกรรมการในธนาคารต่างๆ หรือเป็นเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่ "การค้า" ชนิดหนึ่ง สุนทรพจน์นี้เป็นที่กล่าวขานกันทั่ว ในยุคสมัยรัฐบาลทหาร ดร.ป๋วย เป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนเดียวที่กล้าวิจารณ์ นักการเมือง รัฐมนตรี และนายทหารชั้นสูง ที่มักเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานหรือกรรมการธนาคารต่างๆ เพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว เมื่อจอมพลถนอมทราบความ ก็ยินยอมลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่มีรัฐมนตรีคนใดลาออกตาม
งานด้านการศึกษา
แก้ปี พ.ศ. 2507 ดร. ป๋วย เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ถูกนายกรัฐมนตรียับยั้งไว้ ขณะนั้นคณะเศรษฐศาสตร์ มีอาจารย์ประจำเพียงสี่คน อาจารย์ป๋วยจึงเร่งผลิตอาจารย์ โดยประกาศรับสมัครคนรุ่นใหม่ แล้วหาทุนส่งไปเรียนต่างประเทศ ทำให้คณะเศรษฐศาสตร์เติบโตขึ้น ภายในเวลาเพียงสิบปี มีอาจารย์เพิ่มนับร้อยคน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก
สิงหาคม พ.ศ. 2508 ดร. ป๋วย ได้รับ รางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในคำประกาศเกียรติประวัติ มีข้อความตอนหนึ่งว่า "บุคคลสำคัญ ผู้แสดงบทบาทอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยมีเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไป นายธนาคารระหว่างประเทศ ยกย่องว่านายป๋วยเป็น ผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีความสามารถดีเด่นคนหนึ่งของโลก ... การกระทำของนายป๋วยยังเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับข้าราชการผู้ขยันขันแข็ง นายป๋วยผู้ถือได้ว่า ความเรียบง่าย คือความงาม และความชื่อสัตย์สุจริต คือคุณความดีสูงสุดของชีวิตข้าราชการ เป็นหลักประจำใจซึ่งยึดถือมาช้านาน และได้เผยแพร่กับเพื่อนร่วมงาน ด้วยว่า ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ผู้แสวงหาความจริง และผู้ใช้วิชาชีพ จะต้องไม่เป็นเพียงผู้ที่คอยเรียนรู้อยู่เสมอ และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น หากยังต้องมีความชื่อสัตย์สุจริต และต้องแสดงให้ปรากฏออกมาถึง ความชื่อสัตย์สุจริตนั้นอย่างเพียงพอ ที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นมีความชื่อสัตย์สุจริตด้วย"
ปี พ.ศ. 2510 ดร. ป๋วย ได้ร่วมกับเพื่อนนักธุรกิจ นักการเงิน นักการเมือง และเชื้อพระวงศ์ร่วมก่อตั้ง มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่า เป็นโครงการพัฒนาชนบทแห่งแรกขององค์กรพัฒนาเอกชน โดยได้แนวคิดจาก ดร. วาย เยน ที่มีแนวคิดว่า การพัฒนาชนบทและการพัฒนาคุณภาพของคน จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยการส่งเสริม การพึ่งตนเอง การร่วมมือกันของชาวบ้าน การศึกษา การอนามัย การอาชีพ แนวทางของมูลนิธิบูรณะชนบทฯ ในการทำงานกับชาวบ้านคือ "ไปหาชาวบ้าน อยู่กับเขา เรียนรู้จากเขา วางแผนกับเขา ทำงานกับเขา เริ่มจากสิ่งที่เขารู้ สร้างจากสิ่งที่เขามี สอนโดยชี้ให้เห็น เรียนจากการทำ..." โครงการของมูลนิธิบูรณะชนบท ดำเนินการอยู่ในเขตจังหวัดชัยนาทเป็นหลัก ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากชาวบ้านที่นั้น เคยช่วยชีวิต ดร. ป๋วย เมื่อครั้งเป็นเสรีไทย
ปี พ.ศ. 2513 อาจารย์ป๋วยได้ลาพัก ไปสอนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียนรู้เรื่องมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ให้ทันการณ์ โดยรับเงินเดือนจากธนาคารชาติดังเดิม แต่ขอให้มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันจ่ายเงินเดือนอันท่านพึงจะได้ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย นับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำไร
ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2514 ดร. ป๋วย ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมเวลาที่ ดำรงตำแหน่ง 12 ปี 2 เดือน 4 วัน จึงมารับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์อย่างเต็มตัว เพื่อต้องการทุ่มเทให้ กับการศึกษาอย่างจริงจัง และได้ลาไปสอนพิเศษและทำวิจัยอีกครั้งที่ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจตัวเอง อาจารย์ป๋วยได้เขียนจดหมายฉบับประวัติศาสตร์จากอังกฤษ โดยใช้ชื่อ นายเข้ม เย็นยิ่ง (ชื่อรหัสสมัยเป็นเสรีไทย) จดหมายฉบับนี้ เขียนถึงผู้ใหญ่บ้านชื่อ ทำนุ เกียรติก้อง ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม เรียกร้องให้จอมพลถนอมซึ่งยึดอำนาจการปกครอง คืนเสรีภาพประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ข้อความในจดหมายตอนหนึ่งว่า "ได้โปรดเร่งรัดให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 นี้หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็ว" จดหมายฉบับนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับผู้มีอำนาจเป็นอย่างยิ่ง อาจารย์ป๋วยถือว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนแรก ที่กล้าลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการทหารอย่างตรงไปตรงมา ทำให้อาจารย์ป๋วยต้องลาออกจากตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ในระหว่างที่สอนหนังสือที่เคมบริดจ์
ปี พ.ศ. 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังครบวาระ และยืนยันว่าจะไม่รับตำแหน่งต่อ อาจารย์และนักศึกษาได้มีประชามติ ให้อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดีคนต่อไป ในระหว่างวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ อาจารย์ป๋วยได้เดินทางกลับมาเมืองไทย ได้เข้าพบ จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร อาจารย์ป๋วยได้ถามผู้มีอำนาจทั้งสองว่า จะขัดข้องไหม ถ้าหากท่านจะเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ต้องการให้รับตำแหน่ง เพราะกลัวว่าอาจารย์ป๋วยจะใช้พลังนักศึกษา เป็นพลังต่อต้านรัฐบาล
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ภายหลังรัฐบาลทหารถูกขับไล่ออกไป อาจารย์ป๋วยได้รับแต่งตั้งให้ เป็นประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ในสมัยรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ มีการเรียกร้องให้อาจารย์ป๋วยเข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่อาจารย์ป๋วยไม่รับ เนื่องจากความ ปรารถนาของอาจารย์ป๋วยไม่ได้อยู่ที่การเมือง แต่เป็นเรื่องการศึกษา และการพัฒนาชนบท เมื่อมีการเสนอชื่อ อาจารย์ป๋วยให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านไม่ปฏิเสธ อาจารย์ป๋วยเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์คนแรก ที่ได้รับเลือกตั้งจากชาวธรรมศาสตร์ ให้เป็นอธิการบดีคนที่ 10 เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2518 อาจารย์ป๋วยได้ให้แนวทางแก่ธรรมศาสตร์ ในการขยายไปยังรังสิต ให้ขยายตัวไปในสาขาวิทยาศาสตร์เพื่อเกื้อหนุนกัน การรับนักเรียนเรียนดีจากชนบทเข้ามาศึกษา หรือ โครงการช้างเผือก การให้คณะต่างๆ จัดทำโครงการบริการสังคม
ในขณะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดทางสังคมนิยม กับฝ่ายขวาคือผู้สูญเสียอำนาจไป มีขบวนการขวาพิฆาตซ้ายออกอาละวาด ผู้นำนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ถูกลอบสังหารจำนวนมาก โดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยจับกุมฆาตกรได้ ธรรมศาสตร์กลายเป็นเวทีและศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม มีการชุมนุมการบ่อยครั้ง อาจารย์ป๋วย กลายเป็นหนังหน้าไฟ ถูกบีบอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ฝ่ายขวาก็กล่าวหาว่า อาจารย์ป๋วยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนักศึกษา เป็นคอมมิวนิสต์ที่คิดจะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานาธิบดี ในขณะที่ฝ่ายซ้าย ก็โจมตีว่าอาจารย์ป๋วยเป็นเผด็จการ ขัดขวางการทำงานของขบวนการนักศึกษา หลายครั้งอาจารย์ป๋วยก็ทะเลาะกับนักศึกษา ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะเห็นว่า บางครั้งนำไปสู่อันตราย...
จากเมืองไทย
แก้วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กลุ่มบุคคลในเครื่องแบบและกลุ่มกระทิงแดง ได้ทำการปิดล้อม และใช้อาวุธยิงถล่มเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่สนใจต่อคำขอร้องของผู้ชุมนุมภายใน ที่ต้องการเจรจาโดยสันติ มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก นักศึกษาบางคนถูกจับแขวนคอ บางคนถูกเผาทั้งเป็น และผู้หญิงบางคนถูกข่มขืน จนถึงแก่ความตาย เวลา 10.00 น. อาจารย์ป๋วยออกแถลงการณ์ลาออกในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่มีคนจำนวนมากบาดเจ็บ และล้มตายภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน สภามหาวิทยาลัยได้ให้อาจารย์ป๋วยเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากฝ่ายขวากำลังล่าตัวอาจารย์ป๋วย ในเวลาเย็นวันนั้น เกิดรัฐประหารขึ้นโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เวลา 20.00 น. อาจารย์ป๋วยได้เดินทางออกนอกประเทศไปยุโรป บันทึกความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
เมื่ออาจารย์ป๋วยอยู่นอกประเทศ ก็ได้เดินทางไปพบคนไทยในต่างประเทศ และบุคคลสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ เหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยเวลานั้น เพื่อเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย ในเมืองไทยอย่างสันติวิธี ปี พ.ศ. 2520 อาจารย์ป๋วยเดินทางไปให้การต่อ คณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสืบพยาน เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ 6 ตุลา
เดือนกันยายน พ.ศ. 2520 อาจารย์ป๋วยได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานนับสามเดือน อาการเส้นโลหิตในสมองแตก ได้ส่งผลกระเทือนสมองส่วนที่แปลความคิดเป็นคำพูด ทำให้อาจารย์ป๋วยไม่สามารถพูดได้อย่างคนปกติ ท่านพูดออกเสียงได้เล็กน้อยเท่านั้น นับเลขได้ 1-2-3 ถึง 10 แต่ต้องเริ่มต้นที่เลข 1 เสมอ ในช่วงบั้นปลายชีวิต อาจารย์ป๋วยใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ในบ้านเก่าแก่ที่ประเทศอังกฤษ สามารถเดินไปไหนได้ แม้ว่ามือขวาจะยังใช้การได้ไม่ค่อยดี พูดได้น้อย แต่ก็สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างให้เข้าใจได้
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2530 อาจารย์ป๋วยเดินทางกลับมาเมืองไทย หลังจากที่ต้องออกจากบ้านเกิดไป เมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นครั้งแรก พร้อมด้วยภรรยา ลูกชาย ลูกสะใภ้ และหลานอีกสองคน มีบรรดาเพื่อนๆ ลูกศิษย์ และคนรู้จักมากมายมาพบปะ เยี่ยมเยือนที่บ้านเก่าซอยอารีย์ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2530 ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย พนักงานประมาณ 2,000 คน มายืนต้อนรับการกลับมาของอาจารย์ป๋วย คนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบอย่างดีที่สุดของข้าราชการเมืองไทย ในตอนบ่าย ขณะรถอาจารย์ป๋วยกำลังจะแล่นออกไป หลายคนพยายามเข้าไปใกล้ชิดอาจารย์มากที่สุด จนอาจารย์ป๋วยไขกระจกรถลง แล้วยื่นมือออกมาให้พนักงานได้สัมผัส หลายคนร่ำไห้ออกมาอย่างไม่อายใคร ที่บุคคลซึ่งตนให้ความนับถือ และเคารพรัก กำลังจะจากไป
วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2530 อาจารย์ป๋วยได้มาร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ และเดินไปบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดทางมีนักศึกษายืนต้อนรับ มีนักศึกษายืนถือป้ายข้อความว่า " ปลื้มใจนักเตี่ยกลับบ้าน " "ลูกโดมมิลืมอาจารย์ป๋วย" "ยังข้นและยังเข้ม ดุจเกลือเค็มในแผ่นดิน ดีกว่าน้ำปลาริน อันปรุงรสละลายหอม" วันที่ 20 เมษายน เดินทางเยี่ยมมูลนิธิโกมลคีมทอง วันที่ 21 เมษายน เดินทางไปเยี่ยมคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเยี่ยมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) และ วันที่ 25 เมษายน อาจารย์ป๋วยก็เดินทางออกจากเมืองไทย จากนั้นก็ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิดอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2538 และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2540
อนิจกรรม
แก้วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก (aortic aneurysm) อายุได้ 83 ปี "ตายแล้ว เผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกิน และอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป" จากข้อเขียน "คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ทางครอบครัวได้ทำการเผาศพ และบรรจุอัฐินำกลับมาเมืองไทย วันที่ 16 สิงหาคม และ วันที่ 28 สิงหาคม บริเวณท่าเรือสัตหีบ เรือหลวงกระบุรี แห่งราชนาวีไทย ได้นำครอบครัวอึ้งภากรณ์ และแขกประมาณ 200 คน มุ่งหน้าสู่เกาะครามนำอังคารของอาจารย์ป๋วยไปลอยทะเล ส่วนอัฐินำไปบรรจุที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
ชีวิตส่วนตัว
แก้ป๋วย ได้แต่งงานกับมาร์เกรท สมิท สตรีชาวอังกฤษ โดยมีบุตร 3 คน ได้แก่ จอน อึ๊งภากรณ์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์ ใจ อึ๊งภากรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[15]
- พ.ศ. 2505 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[16]
- พ.ศ. 2507 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[17]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- สหราชอาณาจักร :
- พ.ศ. 2489 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรวรรดิบริติช ชั้นเบญจมาภรณ์ (ฝ่ายทหาร)
อ้างอิง
แก้- ↑ "No. 37704". The London Gazette (2nd supplement). 29 August 1946. p. 4341.
- ↑ "Prof. Dr. Puey Ungphakorn's Biography". Truth Grace and Righteousness: Prof. Dr. Puey Ungphakorn and the Bank of Thailand (PDF). Bangkok, Thailand: Bank of Thailand. 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-11-30. สืบค้นเมื่อ 29 November 2016.
- ↑ "ผู้ว่าการจากอดีตถึงปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-22.
- ↑ คลังมั่นใจ“วิรไท”มีฝีมือ "ประสาร" ฝากนโยบาย[ลิงก์เสีย], Moneychannel .สืบค้นเมื่อ 7 ก.ค. 2558
- ↑ สารป๋วย, ปีที่ 1 ฉบับที่ 8 ธันวาคม 2558, หน้า 9, กษิดิศ อนันทนาธร .สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2558
- ↑ สืบทอดปณิธานอาจารย์ป๋วย “พัฒนาชาติ ทุกคนกินดีอยู่ดี” และ“สังคมเสมอภาคและเป็นธรรม”[ลิงก์เสีย], สำนักงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ มธ. .สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2558
- ↑ ควรค่าต่อการจดจำ ! รำลึก ๑๐๐ ปี ชาตกาล อาจารย์ป๋วย “วีรบุรุษวังน้ำขาว” !!,Bangkok-today .สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2558
- ↑ สารป๋วย, ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ตุลาคม 2558, หน้า 16, เอนก เหล่าธรรมทัศน์ .สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2558
- ↑ Professor of Political Economy, Santa Anna School of Advanced Studied, University of California and Visiting Professor at the London School of Economics
- ↑ สารป๋วย, ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 ตุลาคม 2558, หน้า 3, ส.ศิวรักษ์ .สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2558
- ↑ อธิการฯ มธ.เผย 'ยูเนสโก' ลงมติยกย่อง 'ป๋วย อึ๊งภากรณ์' เป็นบุคคลสำคัญโลกแล้ว หลังครบรอบ 100 ปี ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ฟิลิปปินส์ -เวียดนาม .สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2558
- ↑ ยูเนสโกยก 2 คนไทย "ดร.ป๋วย-ม.ร.ว.เปีย"บุคคลสำคัญของโลก.... .สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2558
- ↑ ผู้หญิงในชีวิตของผม..แม่ - คัดลอกจากหนังสือ "ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว" โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง)
- ↑ บนเส้นทางชีวิตและการเรียนรู้ 90 ปี เปรม บุรี[ลิงก์เสีย].หนังสืออัตชีวประวัติ อ.เปรม บุรี 90 ปี: อาจริยบูชา. หน้า 20-21. หอสมุดหมายเหตุรามาธิบดี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙, ๔ มกราคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๔๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๗ พฤษภาคม ๒๕๐๗
- เนื้อหาเกือบทั้งหมดในบทความนี้คัดลอกมาจาก สามัญชน บนถนนประชาธิปไตย โดยได้รับอนุญาตจากผู้จัดทำแล้ว
- สดุดีและไว้อาลัย แด่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศิษย์เก่าและอดีตครูโรงเรียนอัสสัมชัญ 23 สิงหาคม 2542
- ชีวประวัติอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เก็บถาวร 2005-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- รวมผลงานหนังสือ วิดีโอ เสียง อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เก็บถาวร 2012-01-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ข้อเขียนของ ดร. ป๋วย
ก่อนหน้า | ป๋วย อึ๊งภากรณ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
โชติ คุณะเกษม | ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (11 มิถุนายน พ.ศ. 2502 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2514) |
พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ | ||
ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ (รักษาการ) | อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (30 มกราคม พ.ศ. 2518 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519) |
ศาสตราจารย์ คุณหญิง นงเยาว์ ชัยเสรี (รักษาการ) |