วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร[1] ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ถนนทรงวาดติดต่อกับถนนสำเพ็ง แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ วัดสำเพ็ง ตามชื่อถนนหน้าวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดปทุมคงคา"
วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร | |
---|---|
ที่ตั้ง | เลขที่ 1620 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) |
เว็บไซต์ | http://www.watpathumkongka.org/home.php |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด บุณยรัตพันธุ์) กับพระวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปกะที่สร้างพระนครใหม่ ณ ฝั่งตะวันออก โปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชาเศรษฐี และพวกคนจีน ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สวน ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองวัดสำเพ็ง (วัดปทุมคงคา) และเห็นว่าเป็นวัดโบราณที่ทรุดโทรมมาก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ทั้งวัด เมื่อกรมพระราชวังบวรสุรมหาสิงหนาททรงปฏิสังขรณ์และสร้างเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดปทุมคงคา"
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดเริ่มทรุดโทรมอีกครั้ง พระยาสวัสดิวารีได้กราบทูลขอทำการบูรณปฏิสังขรณ์ แต่บูรณปฏิสังขรณ์ยังไม่ทันเสร็จ พระยาสวัสดิวารีก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน แต่ไม่มีผู้ใดรับบูรณปฏิสังขรณ์ต่อไปตลอดรัชกาลที่ 3 ครั้งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิศาลศุภผล ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อ และได้เพิ่มเติม โดยให้ช่างยกพระพุทธรูปในพระอุโบสถให้สูงขึ้น มีพระทรงเครื่องต้นอย่างกษัตริย์ ต่อชุกชีออกมา ทำเป็นรูปเทวราชถือพุ่มฉัตรดอกไม้ทอง ดอกไม้เงินด้วย 2 องค์ อยู่ติดกับโรงเรียนปทุมคงคา[2]
การสำเร็จโทษหม่อมไกรสรด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 (ตรงกับวันพุธ เดือนอ้าย แรม 3 ค่ำ ปีวอก สัมฤทธิศก จ.ศ. 1210) เป็นการสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้ครั้งสุดท้ายกับสมาชิกราชวงศ์[3]
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนและกำหนดให้เขตที่ดินวัดปทุมคงคาราชวรวิหารเป็นเขตที่ดินโบราณสถาน
ลำดับเจ้าอาวาส
แก้ลำดับ | นาม | ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.) |
---|---|---|
1. | พระวิเชียรมุนี (มาก) | |
2. | สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) | 2394 - 2437 |
3. | พระครูกัลยาณคุณ (กลิ้ง) | |
4. | พระครูธรรมสารโสภณ (โชติ) | |
5. | พระปรากรมมุณี (เปลี่ยน) | 2454 - 2465 |
6. | พระปรากรมมุณี (จีบ อุคฺคเตโช) | |
7. | พระเทพปริยัติบัณฑิต (ดำ อาภารํสี) | |
รักษาการ | พระวิสุทธิวงศาจารย์ (เสงี่ยม จนฺทสิริ) | 2514 |
8. | สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิธ เขมจารี) | 2514 - 2534 |
9. | พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) | 2536 - ปัจจุบัน |
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี เรื่อง จัดระเบียบพระอารามหลวง เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๙๐
- ↑ "ประวัติการสร้างวัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-25. สืบค้นเมื่อ 2009-04-25.
- ↑ "การประหารด้วยท่อนจันทน์ครั้งสุดท้าย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-16.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เก็บถาวร 2014-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน