เมืองพัทยา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เมืองพัทยา (อังกฤษ: Pattaya City) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแห่งหนึ่งในจำนวนสองแห่งของประเทศไทย (อีกแห่งหนึ่งคือ กรุงเทพมหานคร) ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีระดับเทียบเท่าเทศบาลนคร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521[1] เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีหาดทรายและชายทะเลซึ่งมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 140 กิโลเมตรตั้งอยู่บนฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกของอ่าวไทยโดยแบ่งส่วนภายในของเมืองเป็น 4 ส่วนได้แก่ พัทยาเหนือ พัทยากลาง พัทยาใต้ และหาดจอมเทียน มีรหัสมาตรฐานไอเอสโอ 3166-2 คือ TH-S
เมืองพัทยา | |
---|---|
จากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา: พาโนรามาเมืองพัทยา, สวนนงนุช, พระอาทิตย์ตกดิน, หาดพัทยา, ปราสาทสัจธรรม, ถนนคนเดิน | |
| |
คำขวัญ: เมืองท่องเที่ยวทันสมัย หลากหลายอารยธรรม ชื่นฉ่ำเสียงดนตรี ประเพณีวันไหล มากมายการกีฬา | |
พิกัด: 12°55′39″N 100°52′31″E / 12.92750°N 100.87528°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี |
อำเภอ | บางละมุง |
การปกครอง | |
• ประเภท | องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ |
• นายก | ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ |
• ปลัด | ปราโมทย์ ทับทิม |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 53.4 ตร.กม. (20.6 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2562) | |
• ทั้งหมด | 119,532 คน |
• ความหนาแน่น | 2,238.42 คน/ตร.กม. (5,797.5 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 03200408 |
ที่อยู่ศาลาว่าการ | 171 หมู่ 6 ถนนพัทยาเหนือ ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150 |
เว็บไซต์ | pattaya |
ปัจจุบัน มีแผนการเสนอชื่อเมืองพัทยาต่อยูเนสโกให้เป็นเมืองภาพยนตร์เนื่องด้วยมีการถ่ายทำภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 300 เรื่องต่อปี และรายได้ร้อยละ 90 มาจากการท่องเที่ยว[2]ภายหลังการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา พ.ศ. 2565 ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเมืองพัทยา
ประวัติ
แก้เริ่มรู้จักกันจากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า เมื่อ พ.ศ. 2310 ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า 3 เดือนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีขณะนั้นยังเป็นพระยาวชิรปราการ (เจ้าเมืองกำแพงเพชร) ลงความเห็นว่า หากกรุงศรีอยุธยายังต่อสู้กับพม่าอย่างอ่อนแอเช่นนี้ ต่อไปจะต้องสูญเสียกรุงให้พม่าอย่างแน่นอน พระเจ้าตากจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกออกไปตั้งหลักใหม่ ให้มีกำลังทัพเข้มแข็งขึ้นค่อยกลับมากู้กรุงคืน พระยากำแพงเพชรได้เริ่มเคลื่อนทัพออกจากค่ายวัดพิชัยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สู้พลางร่นถอยหนีการตามล่า ของทหารพม่าไปพลาง จนกระทั่งเลยเข้าแขวงเมืองชลบุรี พระยากำแพงเพชรหยุดพักทัพที่บริเวณหน้าวัดใหญ่อินทารามในปัจจุบัน แล้วเดินทัพมุ่งตรงไปยังจันทบุรี ระหว่างทางได้พักที่บ้านหนองไผ่ ตำบลนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง ปัจจุบันอยู่ด้านหลังสถานีตำรวจภูธรพัทยา
ตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเล่ม 2 กล่าวเอาไว้ว่า ขณะที่ นายกลม เป็นนายชุมนุมคุมไพร่พลอยู่ที่นั่น ตั้งทัพคอยสกัดคิดจะต่อรองพระยากำแพงเพชรในตอนนั้นขึ้นช้างพลายถือปืนนกสับรางแดงพร้อม ด้วยพลทหารที่ร่วมเดินทางมาแห่ล้อมหน้าหลัง ตรงเข้าไปในระหว่างพวกพลนายกลมมาสกัดอยู่ ด้วยเดชะบารมีบันดาลให้นายกลมเกิดเกรงกลัวพระเดชานุภาพวางอาวุธสิ้น พาพรรคพวกพลเข้าร่วมกองทัพกับพระยากำแพงเพชร จากนั้นพระยากำแพงเพชรก็นำทัพไปหยุดประทับ ณ สถานที่ที่มีหนองน้ำ ครั้นรุ่งขึ้นหรือวันอังคาร แรม 6 ค่ำ เดือนยี่
นายกลมจึงนำไพร่พลหมี่นหนึ่งนำทัพไปถึง ณ ตำบลหนึ่ง และหยุดพักเสียหนึ่งคืน วันต่อมาจึงเดินทัพมาถึง นาจอมเทียนและทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ โดยหยุดพักแรมแห่งละคืน ต่อมาชาวบ้านก็เรียกตำบลนี้ว่า ทัพพระยา และเปลี่ยนมาเรียกใหม่ พัทธยา เนื่องจากเห็นว่าตรงบริเวณที่พระยาตากมาตั้งทัพนั้นทำเลดี และมีลมทะเลชื่อ ลมพัทธยา ซึ่งก็คือลมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือในต้นฤดูฝน จึงเรียกสถานที่ แห่งนี้ว่า หมู่บ้านพัทธยา ต่อมาปัจจุบันคำว่า พัทธยา ได้เขียนใหม่เป็น พัทยา[3]
อีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พัทยาเป็นที่รู้จักไปทั่ว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2502 เมื่อมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ของทหารอเมริกันประมาณ 4-5 คัน บรรทุกทหารเต็มคันรถ ประมาณคันละ 100 คน จากจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งที่นั่นมีฐานทัพของทหารอเมริกันอยู่ มุ่งมาสู่พัทยา และมาเช่าบ้านตากอากาศของพระยาสุนทร บริเวณตอนใต้ของหาด โดยผลัดกันมาพักผ่อนเป็นงวด งวดละสัปดาห์ จากพฤติกรรมของทหารอเมริกันเช่นนี้ จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวเมืองพัทยาตอนนี้เอง จากสภาพหมู่บ้านชายทะเลที่เงียบสงบ ก็พลันเปลี่ยนกลับกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตากอากาศ
ตราสัญลักษณ์ประจำเมืองพัทยา
แก้รูปทรงกลมสองวงซ้อนกัน หมายถึง ความเจริญรุดหน้าอย่างต่อเนื่องของเมืองพัทยา
ภาพทหารโบราณขี่ม้าอยู่บนหน้าผา หมายถึง ความเป็นเอกราช (เมื่อครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยแวะมาพักทัพที่พัทยา ก่อนที่จะเข้าตีเมืองจันทบุรีและกลับไปกอบกู้เอกราชของชาติ)
ภาพชายหาด ทะเล และ เกาะ ที่อยู่ด้านหลังคนขี่ม้านั้น หมายถึง สภาพทั่วไปของเมืองพัทยา[4]
ที่ตั้งและอาณาเขต
แก้โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลบางละมุงและเขตเทศบาลตำบลหนองปลาไหล
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลหนองปลาไหลและเขตเทศบาลเมืองหนองปรือ
- ทิศใต้ ติดต่อกับเขตเทศบาลตำบลห้วยใหญ่และเขตเทศบาลตำบลนาจอมเทียน (อำเภอสัตหีบ)
- ทิศตะวันตก จรดอ่าวไทย เกาะล้าน เกาะสาก เกาะครก
โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 208.10 ตารางกิโลเมตร (130,062.50 ไร่)
- พื้นดิน (รวมเกาะล้าน) 53.84 ตารางกิโลเมตร (33,400 ไร่)
- พื้นน้ำ 154.66 ตารางกิโลเมตร (96,662.50 ไร่)
- เกาะล้าน 4.07 ตารางกิโลเมตร (2,543.75 ไร่)
การเมืองการปกครอง
แก้การบริหารเมืองพัทยา ประกอบด้วย สภาเมืองพัทยา และนายกเมืองพัทยา
สภาเมืองพัทยา
แก้สภาเมืองพัทยา ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 24 คนโดยมีวาระดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองพัทยา 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา[5]หลังการเลือกตั้งสมาชิกเสร็จแล้วประกาศผล ก็จะทำการเปิดประชุมเพื่อเลือกสมาชิกเป็นประธานสภาเมืองพัทยา 1 คน และ รองประธาน 2 คน เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการประชุมและดำเนินกิจการอื่นตามข้อบัญญัติเมืองพัทยา[6]
นายกเมืองพัทยา
แก้นายกเมืองพัทยา 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเมืองพัทยา[7]ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
แต่ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 นายกเมืองพัทยามาจากการคัดเลือกและแต่งตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาที่ว่างลงตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 85/2557 โดยให้มีสมาชิกสภาเมืองพัทยาจำนวน 12 คน[8]
ท้องที่การปกครอง
แก้ท้องที่เมืองพัทยาครอบคลุมพื้นที่อำเภอบางละมุงบางส่วนจำนวน 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน (ตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่) ดังต่อไปนี้[9]
- ตำบลหนองปรือ ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 5, 6, 9 -13
- ตำบลห้วยใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 4
- ตำบลหนองปลาไหล ครอบคลุมพื้นที่เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 6 - 8
- ตำบลนาเกลือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล หมู่ที่ 1 - 7 (หมู่ที่ 7 ได้แก่ เกาะล้าน)
ชุมชนในเขตเมืองพัทยา
แก้รายชื่อชุมชน 42 ชุมชนของเมืองพัทยา
|
|
|
สภาพอากาศ
แก้- ฤดูหนาว (เดือน พฤศจิกายน ถึง เดือน กุมภาพันธ์) - มีฝนตกปรอย ๆ เป็นช่วงสั้น ๆ (เรียกว่า ฝนชะช่อมะม่วง) อากาศชื้นราว 50% อุณหภูมิประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส เป็นช่วงที่อากาศดี เหมาะแก่การท่องเที่ยว และแนะนำผู้มาเยือนให้มา ในช่วงฤดูกาลนี้
- ฤดูร้อน (เดือน มีนาคม ถึง เดือน พฤษภาคม) - มีฝนตกเป็นบางโอกาส อากาศชื้นประมาณ 75% อุณหภูมิประมาณ 30-40 องศาเซลเซียส ระวังพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากฝนฟ้าคะนองอย่างหนักและลมกระโชกแรง
- ฤดูฝน (เดือน มิถุนายน ถึง เดือน ตุลาคม) - เป็นฤดูที่มีฝนติดต่อกันยาวนาน ประมาณ 90 % อุณหภูมิประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส
ข้อมูลภูมิอากาศของเมืองพัทยา | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 30.4 (86.7) |
30.6 (87.1) |
31.5 (88.7) |
32.7 (90.9) |
32.1 (89.8) |
31.3 (88.3) |
31.1 (88) |
31.0 (87.8) |
30.9 (87.6) |
30.7 (87.3) |
30.4 (86.7) |
29.7 (85.5) |
31.0 (87.8) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 22.6 (72.7) |
24.5 (76.1) |
25.4 (77.7) |
26.4 (79.5) |
26.4 (79.5) |
26.5 (79.7) |
26.0 (78.8) |
26.1 (79) |
25.1 (77.2) |
24.3 (75.7) |
23.4 (74.1) |
21.6 (70.9) |
24.9 (76.8) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 19.1 (0.752) |
13.5 (0.531) |
52.3 (2.059) |
67.3 (2.65) |
176.6 (6.953) |
79.4 (3.126) |
76.8 (3.024) |
90.5 (3.563) |
201.8 (7.945) |
249.4 (9.819) |
133.6 (5.26) |
4.1 (0.161) |
1,164.4 (45.843) |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย | 1 | 3 | 4 | 6 | 12 | 11 | 11 | 12 | 17 | 18 | 10 | 1 | 106 |
แหล่งที่มา: Thai Meteorological Department |
สถานที่ท่องเที่ยว
แก้เมืองพัทยา เป็นพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน[11]
พัทยาเหนือ
แก้บริเวณพัทยาเหนือในอดีตเคยเป็นแหล่งชุมชนและอุตสาหกรรมมาก่อน อาชีพหลักของผู้คนแถบนี้คือ การทำประมง จึงทำให้มีบรรยากาศของความเก่าแก่หลงเหลืออยู่ บ้านเรือนโบราณ การเป็นอยู่แบบเรียบง่ายตลอดถนนสายนาเกลือ-พัทยา จนถึงบริเวณวงเวียนปลาโลมาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนเลียบชายหาดซึ่งยาวไปจนถึงพัทยาใต้ ในส่วนของพัทยาเหนือนี้แตกต่างจากบริเวณนาเกลือ โรงแรม บ้านพัก สถานบันเทิง ร้านอาหาร ถูกสร้างขึ้นมากมายริมถนนเลียบชายหาด อีกทั้งสามารถเดินเล่นไปตามทางเท้าริมถนนเลียบชายหาด ด้านติดถนนสุขุมวิทมีแหล่งท่องเที่ยวอย่างเมืองจำลองพัทยา และสถานพยาบาลขนาดใหญ่ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
พัทยาเหนือมีสถานที่น่าสนใจมากมาย เช่น ทิฟฟานี่โชว์ อัลคาร์ซ่าคาบาเร่ต์ พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหมี (Teddy Bear Museum Pattaya) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้ออาหารทะเลสด ๆ และแปลก ๆ สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดนาเกลือ และนอกจากนี้ย่านตลาดนาเกลือยังได้รับการจัดให้เป็นย่านชุมชนโบราณอีกด้วย
พัทยากลาง
แก้พัทยากลางนั้นโรงแรมส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่มากแต่จะได้พบกับบาร์เบียร์ ร้านขายเสื้อผ้า และบาร์อะโกโก้มากมาย บริเวณถนนเลียบชายหาดมีสถานีตำรวจพัทยาและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงห้างสรรพสินค้า
พัทยาใต้
แก้พัทยาใต้โค้งมากจากถนนเลียบชายหาด แถบนี้ถูกเรียกว่า ถนนคนเดินพัทยา เขตเดินเท้าบริเวณนี้มีร้านค้าเล็ก ๆ มากมาย ซึ่งบริการ ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายเครื่องกีฬา ร้านขายเครื่องประดับ และร้านขายของที่ระลึก ที่นี่ยังมีบาร์มากมาย และยังมีร้านอาหารทะเล ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างยื่นลงไปในทะเลเพื่อเพิ่มบรรยากาศในการรับประทานอาหาร พัทยาใต้นั้นดูวุ่นวายกว่าส่วนอื่น ๆ ของเมืองพัทยา ถนนอัฐจินดา สัญลักษณ์ของเขตแดนเมืองพัทยาใต้ เมื่อเดินไปตามซอยเล็ก ๆ ซึ่งจะนำทางสู่ถนนพระตำหนักซึ่งเป็นด้านหลังของพัทยาและนำไปสู่ ถนนพัทยาสายสอง
หาดจอมเทียน
แก้หาดจอมเทียน มีความยาว 6 กิโลเมตร โดยหาดจะถูกแบ่งจากส่วนอื่น ๆ ของเมืองพัทยาด้วยเนินเขาด้านหลังของพัทยาใต้ เมื่อขับรถผ่านเนินเขาและพระพุทธรูปใหญ่ก็จะลงมาสู่หาด ชายหาดนี้เป็นสถานที่ที่เป็นที่นิยมของกีฬาทางน้ำ เนื่องจากพื้นที่แถวนี้มีอากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งถูกพัดมาจากอ่าวไทย และทะเลที่หาดนี้ยังมีความคับคั่งของเรือน้อยกว่าที่อ่าวพัทยา นอกจากนี้หาดจอมเทียนยังเป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจโดยการอาบแดด นอกจากนี้หาดจอมเทียนยังมีทางเล็ก ๆ ซึ่งมีแหล่งจับจ่ายใช้สอย บาร์เบียร์ และยังมีโรงแรมที่มีหาดส่วนตัว บังกะโลคอมเพล็กซ์ คอนโดมิเนียม และร้านอาหาร
เกาะล้าน
แก้เกาะล้าน อยู่ห่างชายฝั่งพัทยา 7 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร มีชายหาดที่สวยงามหลายแห่ง ส่วนใหญ่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำ ดูปะการัง เล่นกีฬาทางน้ำ เช่น เรือลากร่มชูชีพ เรือสกี สกู๊ดเตอร์ โดยเฉพาะที่หาดตาแหวน หาดทองหลาง หาดนวล และหาดเทียน ส่วนหาดแสมบรรยากาศเงียบสงบกว่าหาดอื่น บริเวณเกาะล้าน และเกาะเล็ก ๆ ที่อยู่รอบ ๆ เช่น เกาะครก และเกาะสากเป็นแหล่งตกปลาดำน้ำดูปะการัง ทั้งแบบน้ำลึกและน้ำตื้น และเป็นสถานที่ฝึกหัดเรียนดำน้ำ[12]
เกาะครก
แก้เกาะครกเป็นเกาะเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลของพัทยา อยู่ห่างจากฝั่งพัทยาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 8 กิโลเมตร เกาะครกมีสถานพักตากอากาศของเอกชน สภาพโดยรอบเกาะเป็นโขดหิน มีหาดทรายอยู่เพียงหาดเดียว อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ คือ หาดเกาะครก ซึ่งมีความยาวของหาด 100 เมตรเศษ
เกาะสาก
แก้เกาะสากเป็นเกาะขนาดเล็ก ห่างจากเกาะล้านไปทางทิศเหนือประมาณ 600 เมตร รูปร่างโค้งเป็นรูปเกือกม้าหงาย มีหาดทราย 2 หาดทางทิศเหนือและใต้ของเกาะ และมีแนวปะการัง บนเกาะมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว[13]
หมู่เกาะไผ่
แก้หมู่เกาะไผ่จะประกอบด้วย เกาะเหลื่อม เกาะหูช้าง เกาะกลึงบาดาล เกาะมารวิชัย โดยเกาะเหล่าจะตั้งตัวเรียงกันเป็นหมู่เกาะของทะเลพัทยา โดยมีเกาะไผ่ใหญ่ที่สุด เกาะไผ่อยู่ห่างจากชายฝั่งของเมืองพัทยา ประมาณ 23 กิโลเมตร และมีระยะทางที่ห่างจากเกาะล้านประมาณ 9.5 กิโลเมตร หมู่เกาะไผ่ในปัจจุบันทางกองทัพเรือเป็นผู้ดูแลและพัฒนา และอนุญาตให้บุคคลหรือนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนได้ โดยจะต้องรักษากฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
สวนนงนุช
แก้สวนนงนุช เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,500 ไร่ ภายในมีสวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนดอกไม้ สวนไม้พุ่ม ไม้ดัด สวนหิน สวนสัตว์ สวนผีเสื้อ สวนอิตาเลียน สวนฝรั่งเศส และอื่น ๆ อีกมากมาย
สวนน้ำในเมืองพัทยา
แก้- สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค อเมโซน เป็นสวนน้ำธีมการ์ตูนเน็ตเวิร์คแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ ตรงข้ามกับสวนนงนุช ห่างจากพัทยาใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ในสวนน้ำมีเครื่องเล่นต่าง ๆ ทั้งสไลเดอร์ ทะเลจำลอง เครื่องเล่นเซิร์ฟจำลอง รวมกว่า 20 เครื่องเล่น จากการ์ตูนที่มีชื่อเสียงอย่าง เบ็นเท็น เดอะพาวเวอร์พัฟฟ์เกิร์ลส์ แอดเวนเจอร์ไทม์ จอห์นนี่ บราโว และอื่น ๆ มากมาย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สวนน้ำโคลัมเบียพิกเจอร์
- สวนน้ำรามายณะ มีขนาดใหญ่กว่า 80 เฮกเตอร์ (หรือ เท่ากับ 45 เอเคอร์ คิดเป็น 102 ไร่) เป็นสวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเปิดทำการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 การออกแบบสวนน้ำถูกออกแบบมาให้เป็นสวนน้ำสมัยใหม่ที่ก่อสร้างขึ้นในเมืองเอเชียโบราณ มีเครื่องเล่นสไลเดอร์ทั้งหมด 21 ชุด และยังมีโซนสำหรับเด็ก ๆ อีก 2 โซน สระน้ำวนที่มีความยาวถึง 600 เมตร และดับเบิ้ลเวฟพูลที่มีความยาวชายหาดมากถึง 150 เมตร สวนน้ำฯ ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทยามาทางใต้ 20 กิโลเมตร ใกล้กับพระพุทธรูปแกะสลักเขาชีจรรย์ และไร่องุ่นซิลเวอร์เลค รอบ ๆ สวนน้ำฯ มีทะเลสาบธรรมชาติ และเกาะกลางน้ำอยู่ภายในสวนน้ำ และสิ่งที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น ตลาดน้ำ ช้างแม่ลูกสุดน่ารัก และเขาวงกต
สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ
แก้- โรงละคร ไทยอลังการ พัทยา ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทสายหลัก จากพัทยาใต้ มุ่งสู่สัตหีบ อลังการอยู่ซ้ายมือก่อนถึงโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ จอมเทียน นำเสนอการแสดงความเป็นไทยรูปแบบใหม่ แสดงในโรงละครขนาดความจุ 2,000 ที่นั่ง
- พิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาหมี (Teddy Bear Museum Pattaya) ตั้งอยู่บนถนนเลียบชายหาด พัทยาเหนือ ต้นซอย 1 เทดดี้แบร์มิวเซียมมีอยู่เกือบทั่วโลก เช่น ในประเทศอเมริกา เยอรมัน เกาหลี จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ละที่ส่วนใหญ่จะโชว์ตุ๊กตาไว้ในตู้กระจก บนพื้นที่ ราว 2,500 ตรม. 2 ชั้นของอาคารจัดแบ่งออกเป็น 13 โซน
- ทิฟฟานี่โชว์
- อัลคาร์ซ่าคาบาเร่ต์
- Little Walk Pattaya ศูนย์การค้าก่อนเข้าพัทยากลาง ติดถนนสุขุมวิท ลงจากทางด่วนมอเตอร์เวย์เพียง 1 กิโลเมตร ไม่ต้องลงอุโมงค์พัทยากลาง
การเดินทาง
แก้- โดยรถยนต์ จากอำเภอเมืองชลบุรี ตรงมาตาม ถนนสุขุมวิท ผ่าน อำเภอศรีราชาและอำเภอบางละมุง ถนนเข้าสู่เมืองพัทยามีสามเส้นหลัก ๆ คือ ถนนพัทยาเหนือ อยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 144 ถนนพัทยากลาง อยู่ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 145-146 และ ถนนพัทยาใต้ หลักกิโลเมตรที่ 147 ทั้งสามเส้นจะไปพบกับถนเลียบชายหาดพัทยา
- โดยรถประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพทั้งสามแห่งที่ถนนบรมราชชนนี เอกมัย และจตุจักร ไปพัทยา
- โดยรถไฟจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีบริการเพียงวันละหนึ่งเที่ยว ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.55 น. ถึงสถานีพัทยาเวลา 10.45 น. เวลาเดินทาง 3 ชม. 40 นาที (มีทุกวัน) ส่วนขบวนรถพิเศษโดยสาร ที่ 997 จากกรุงเทพฯ มีบริการเพียงวันละหนึ่งเที่ยว ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 06.45 น. ถึงสถานีพัทยาเวลา 09.13 น. เวลาเดินทาง 2 ชม. 28 นาที (เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์)
- โดยเครื่องบิน มีท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และเที่ยวบินที่มีปัจจุบันเปิดบริการโดย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ (PG) เส้นทางอู่ตะเภา-เกาะสมุย และ อู่ตะเภา-ภูเก็ต,สายการบินไทยแอร์เอเชีย (FD) เส้นทางอู่ตะเภา สู่ หนานหนิง หนานชาง มาเก๊า สิงคโปร์ เชียงใหม่ อุดรธานี หาดใหญ่ อุบลราชธานี และ ภูเก็ต,สายการบินแอร์เอเชีย (AK) เส้นทางอู่ตะเภา-กัวลาลัมเปอร์ สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ เส้นทาง โดฮา สายการบิน อูซ แอร์ หลายเส้นทางจากประเทศรัสเซีย ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) รับผู้โดยสารจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ประเทศรัสเซีย ประเทศจีน ประเทศมาเลเซีย ประเทศกาตาร์ และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า
- โดยเรือข้ามฟาก โครงการเรือข้ามอ่าวไทย พัทยา-หัวหิน แต่ละเที่ยวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที[14]
งานและเทศกาล
แก้เทศกาลดนตรีพัทยาเป็นเทศกาลดนตรีประจำปีที่จัดขึ้นที่พัทยา โดยเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ลักษณะตัวงานจะจัดในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี มีการแสดงของกลุ่มนักร้อง นักดนตรี ทั้งไทยและต่างประเทศ
งานประเพณีวันไหลพัทยาหรือวันไหลพัทยา เป็นเทศกาลที่ได้รับความนิยมของชาวเมืองพัทยา ถือว่าเป็นเป็นประเพณีเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีสงกรานต์ เทศกาลวันไหลพัทยานั้นจะนิยมจัดขึ้นในช่วง วันที่ 19 เมษายน ของทุกปี จะเริ่มเล่นสาดน้ำกันประมาณวันที่ 16 หรือ 17-18-19 เมษายน
เทศกาลพลุนานาชาติเมืองพัทยา (Pattaya International Fireworks Festival) จัดประจำทุกปีช่วงเดือนพฤษจิกายน บริเวณชายหาดพัทยากลาง[15] มีการแสดงพลุจากนานาชาติที่จุดกลางอ่าวพัทยา
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พุทธศักราช 2521 เก็บถาวร 2011-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 95, ตอน 120 ก ฉบับพิเศษ, 30 ตุลาคม พ.ศ. 2521, หน้า 1.
- ↑ ดันพัทยาขึ้นบัญชีเมืองหนัง. เดลินิวส์. ฉบับที่ 22,797. วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555.ไก่ ISSN 16860004. หน้า 22
- ↑ พัทยา คอลัมน์ รู้ไปโม้ด
- ↑ "ประวัติ เมืองพัทยา". เมืองพัทยา. 2014-05-07.
- ↑ มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
- ↑ มาตรา 26 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
- ↑ มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารเมืองพัทยา พ.ศ. 2542
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/125/8.PDF
- ↑ เมืองพัทยา. เกี่ยวกับพัทยา. เก็บถาวร 2012-05-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "หาดพัทยา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)".
- ↑ ประกาศคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เรื่อง กำหนดแนวเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง
- ↑ "เกาะล้าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)".
- ↑ เอกสารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- ↑ "เรือเฟอร์รี่พัทยา-หัวหิน กับเรื่องน่ารู้ก่อนเดินทางโดยสาร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-15. สืบค้นเมื่อ 2017-02-16.
- ↑ "เทศกาลพลุนานาชาติเมืองพัทยา". thai.tourismthailand.org (ภาษาอังกฤษ).