เซลีน ดิออน

นักร้องชาวแคนาดา
(เปลี่ยนทางจาก Céline Dion)

เซลีน มารี โกลแด็ต ดียง (อักษรโรมัน: Céline Marie Claudette Dion) หรือ เซลีน ดียง (อักษรโรมัน: Céline Dion; IPA: เกี่ยวกับเสียงนี้ /seɪlɪn dɪɒn/ ) หรือ เซลีน ดิออน ตามสำเนียงภาษาอังกฤษ (สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งแคนาดา ชั้นจตุรถาภรณ์ (OC), สมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งควิเบก ชั้นจตุรถาภรณ์ (OQ) และสมาชิกเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงโดเนอร์แห่งฝรั่งเศส ชั้นเบญจมาภรณ์[1][2]) เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2511 เป็นนักร้อง นักประพันธ์ดนตรี และนักแสดงชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส[3][4] เซลีนเกิดในครอบครัวใหญ่ เริ่มต้นการเป็นนักร้องโดยใช้ภาษาฝรั่งเศส หลังจากที่เรอเน อองเชลีล ผู้จัดการส่วนตัวของเธอ (ต่อมาคือสามี) จำนองบ้านของเขาเพื่อเป็นทุนในการออกอัลบั้ม ลาวัวดูบองดีเยอ อัลบั้มภาษาฝรั่งเศสชุดแรก[5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 เซลีนได้ออกอัลบั้มภาษาอังกฤษอัลบั้มแรกในชื่อว่า ยูนิซัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเธอในวงการเพลงป๊อปสากลในสหรัฐอเมริกา และโลก[6]

เซลีน ดิออน
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดเซลีน มารี โกลแด็ต ดียง
(Céline Marie Claudette Dion)
เกิด30 มีนาคม พ.ศ. 2511 (55 ปี)
ที่เกิดควิเบก, แคนาดา
แนวเพลงป็อป, บัลลาด, ร็อก
อาชีพนักร้อง
ช่วงปีพ.ศ. 2524-ปัจจุบัน
ค่ายเพลงโคลัมเบีย โซนี่ บีเอ็มจี
เว็บไซต์celinedion.com

ดนตรีของเซลีนได้รับอิทธิพลในแนวดนตรีหลายแนว ตั้งแต่ป็อปปูลาร์, กอสเปล, บัลลาด, คลาสสิก, อาร์แอนด์บี, แจ๊ซ, ประสานเสียง และร็อก กับทั้งสหภาษาตั้งแต่ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาสเปน ภาษาอังกฤษ ภาษาแอฟริกาน และภาษาอิตาลี เซลีนได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ถึงความสามารถและพลังในการร้องเพลงของเธอ[7][8] ในปี พ.ศ. 2547 เซลีนมียอดขายรวมมากกว่า 175 ล้านชุดทั่วโลก และได้รับรางวัลเวิลด์ มิวสิก อวอร์ดส สำหรับการก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในศิลปินหญิงที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาล[9][10] นอกจากนี้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2550 โซนี่ บีเอ็มจีประกาศว่าเซลีน ดิออนมียอดขายกว่า 200 ล้านชุดทั่วโลก[11]

ประวัติ แก้

วัยเยาว์และก้าวแรกแห่งความสำเร็จ แก้

เซลีน ดิออน เกิดวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2511 ที่ชาร์เลอมาญ เขตชานเมืองทางตะวันออกของเมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา[12] เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 14 คน[13] ของนายอาดดีมา ดียง (Adhémar Dion) และนางเทเรส ตองกาย (Thérèse Tanguay) ซึ่งเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส ครอบครัวนี้มีความผูกพันกับเสียงดนตรีเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากการที่บิดาและมารดาตั้งชื่อเธอว่า "เซลีน" (ฝรั่งเศส: Celine) ตามบทเพลงชื่อ "เซลีน" อันเป็นผลงานการขับร้องโดย Hugues Aufray นักร้องชาวฝรั่งเศส[14] เมื่อครั้งวัยเยาว์เซลีนร่วมร้องเพลงกับพี่น้องของเธอใน Le Vieux Baril บาร์เปียโนอันเป็นกิจการของครอบครัวเธอ และฝันที่จะเป็นนักร้อง[7] โดยในปี พ.ศ. 2537 เซลีนให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร พีเพิล ว่า "ฉันคิดถึงครอบครัวและบ้านของฉัน แต่ฉันไม่เคยเสียใจที่ฉันเสียเวลาช่วงวัยรุ่นไป ฉันมีความฝันเดียว ฉันอยากเป็นนักร้อง"[15]

เมื่ออายุ 12 ปี แม่และพี่ชายของเธอประพันธ์เพลงให้แก่เซลีน ซึ่งเป็นเพลงแรกในชีวิตของเธอ ชื่อ "เซอเนเตเกิงแรฟว์" (ฝรั่งเศส: Ce n'était qu'un rêve, "มันเป็นเพียงแค่ฝัน")[12] ไมเคิล พี่ชายของเธอได้ส่งเพลงนี้ให้แก่เรอเน อองเชลีล[16] หลังจากเรอเนได้ฟังเพลงนี้แล้ว จึงตัดสินใจปั้นนักร้องคนใหม่ขึ้น[12] เขาจำนองบ้านของเขาเพื่อเป็นทุนในการออกอัลบั้มแรกให้แก่เซลีนในชื่อว่า ลาวัวดูบองดีเยอ (ฝรั่งเศส: La voix du bon Dieu) (มีการเล่นคำโดยอาจหมายถึง "เสียงของพระเจ้า" หรือ "วิถีทางแห่งพระเจ้า") ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งกลายเป็นเพลงอันดับ 1 ในท้องถิ่นในเวลานั้น ดนตรีของเธอได้รับความนิยมมากขึ้น เมื่อเธอเข้าร่วมการประกวดการขับร้องเพลงในเทศกาลการขับร้องสากล จัดโดยบริษัท ยามาฮ่า (อังกฤษ: Yamaha World Song Festival) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เธอได้รับรางวัล "ขวัญใจนักดนตรี" จากการลงคะแนนเสียงของคณะดนตรีในวันดังกล่าว (อังกฤษ: Coveted Musician's Award for Top Performer) และได้รับเหรียญทองรางวัล "เพลงยอดเยี่ยม" ในเพลง "แตลมองเชดามูร์ปูร์ตัว" (ฝรั่งเศส: Tellement j'ai d'amour pour toi, "ฉันมีรักมากมายเพื่อคุณ")[16]

ในปี พ.ศ. 2526 เซลีนเป็นนักร้องชาวแคนาดาคนแรกที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำของฝรั่งเศสในซิงเกิล "ดามูร์อูดามีตีเย" (ฝรั่งเศส: D'amour ou d'amitié, "รักหรือเพื่อน") เซลีนยังได้รับรางวัลเฟลิกซ์ในสาขา "นักร้องหญิงยอดเยี่ยม" (อังกฤษ: Best Female performer) และ "นักร้องหน้าใหม่แห่งปี" (อังกฤษ: Discovery of the Year)[17][16] นอกจากนี้เซลีนยังประสบความสำเร็จมากขึ้นทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย หลังจากเข้าร่วมประกวดร้องเพลงรายการยูโรวิชัน ในปี พ.ศ. 2531 โดยขับร้องเพลง "เนอปาร์เตปาซองมัว" (ฝรั่งเศส: Ne partez pas sans moi, "อย่าไปโดยไม่มีฉัน")[18] อย่างไรก็ตามเธอก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา เหตุผลส่วนหนึ่งคือ เธอร้องเพลงภาษาฝรั่งเศส[19] จนกระทั่งเมื่อเธออายุ 18 ปี เธอเห็นการแสดงของไมเคิล แจ็กสัน เธอบอกกับเรอเนว่าเธออยากเป็นนักร้องดั่งไมเคิล แจ็กสัน[20] เรอเนมั่นใจในความสามารถของเธอ จึงเริ่มเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเธอสู่ความเป็นสากลมากขึ้น[12] เช่น เข้ารับการผ่าตัดทางทันตกรรมเพื่อให้เธอดูดีขึ้น และเรียนภาษาอังกฤษกับ École Berlitz ในปี พ.ศ. 2532[6] ณ จุดนี้เองที่ได้ผันชีวิตของเธอสู่นักร้องระดับสากล

ในปี พ.ศ. 2532 ระหว่างการจัดคอนเสิร์ตทัวร์ แองกอยีโตทัวร์ เสียงของเซลีนได้รับบาดเจ็บ เธอได้ปรึกษา William Gould แพทย์เฉพาะทางโสตศอนาสิกวิทยา[21][22] เขายื่นคำขาดให้เธอเข้ารับการผ่าตัดเส้นเสียงหรือเลือกที่จะงดใช้เสียงตลอด 3 สัปดาห์[21] เซลีนเลือกอย่างหลังและผ่านการฝึกใช้เสียงกับ William Riley[21][22] ทั้ง Gould และ Riley ให้ความเห็นว่า "เธอไม่รู้วิธีการร้องและเธอได้ใช้เสียงเธออย่างเลวร้าย"[21][22]

2533-35 ยูนิซัน ดียงชองต์ปลามงดง และ เซลีนดิออน แก้

หลังจากการเรียนภาษาอังกฤษได้ประมาณ 2 ปี เซลีนได้ออกอัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษอัลบั้มแรกในชื่อว่า ยูนิซัน (อังกฤษ: Unison) ในปี พ.ศ. 2533[16] ร่วมกับ วิทโท ลุปราโน และเดวิด ฟอสเตอร์ โปรดิวเซอร์ชาวแคนาดา[7] อัลบั้มนี้ได้รับอิทธิพลดนตรีแนวซอฟต์ร็อกจากคริสต์ทศวรรษ 1980 คำวิพากษ์วิจารณ์อัลบั้ม ยูนิซัน มีมากมาย เช่น จิม เฟเบอร์จากนิตยสาร เอ็นเตอร์เทนเมนต์วีคลีย์ กล่าวว่าเสียงของเซลีนนั้น "ไม่ได้ตกแต่ง แต่มีรสนิยม"[23] สตีเฟน เออร์เลน จาก ออลมิวสิก กล่าวว่า "นักร้องชาวอเมริกาอันมีความสามารถได้เกิดขึ้นแล้ว"[24] ซิงเกิลจากอัลบั้มนี้ได้แก่เพลง "(อิฟแดร์วอส) เอนีอาเธอร์เวย์" "เดอะลาสโทไนว์" "ยูนิซัน" และ "แวร์ดัสมายฮาร์ตบีทนาว" อันเป็นเพลงแนวบัลลาดเทมโปซอฟต์ร็อก โดดเด่นด้วยเสียงกีตาร์อิเล็กทริกส์ เพลงนี้เป็นเพลงแรกของเธอที่ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดของสหรัฐอเมริกาโดยขึ้นชาร์ตสูงสุดในอันดับที่ 4[13] อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรกที่ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกา ยุโรปรวมทั้งในเอเชียด้วย

ในปี พ.ศ. 2534 เซลีนเป็นหนึ่งในนักร้องที่ร่วมร้องเพลง "วอยซ์แดทแคร์" (อังกฤษ: Voices That Care) อันเป็นบทเพลงที่มอบให้แก่กองทหารอเมริกันที่เข้าร่วมสงครามอ่าวเปอร์เซีย แท้จริงแล้ว เซลีนก้าวขึ้นสู่นักร้องระดับสากลอย่างแท้จริงหลังจากการร้องเพลง "บิวตีแอนด์เดอะบีสต์" คู่กับ พีโบ ไบรซัน อันเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์แอนนิเมชัน เรื่อง บิวตีแอนด์เดอะบีสท์ ของวอลท์ดิสนีย์[25] เพลงนี้เป็นแบบอย่างของแนวเพลงที่เซลีนร้องในเวลาต่อมา กล่าวคือ เป็นทำนองสบาย ๆ ในแนวบัลลาดคลาสสิก ซิงเกิลนี้เป็นซิงเกิลที่ 2 ของเธอที่ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ด 10 อันดับแรกในสหรัฐอเมริกา เพลงนี้ยังได้รับรางวัลออสการ์ สาขา "เพลงยอดเยี่ยม" (อังกฤษ: Best Song) และรางวัลแกรมมี สาขา "เพลงป๊อปร้องคู่หรือกลุ่มยอดเยี่ยม" (อังกฤษ: Best Pop Performance by a Duo or Group with Vocal)[26] "บิวตีแอนด์เดอะบีสต์" เป็นเพลงหนึ่งในอัลบั้ม เซลีนดิออน อัลบั้มที่ใช้ชื่อเดียวกับเธอเอง โดยเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จของเธอ ผลงานเพลงในอัลบั้มนี้เซลีนได้ร่วมงานกับเดวิด ฟอสเตอร์ และไดแอน วาเรน เพลงอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จในอัลบั้มนี้ได้แก่ "อิฟยูอาสก์มีทู" (อังกฤษ: If You Asked Me To) เพลงของแพตติ เลอเบลล์ (อังกฤษ: Patti LaBelle) จากภาพยนตร์เรื่อง Licence to Kill อันออกฉายในปี พ.ศ. 2532 เพลงนี้ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดสูงสุดในอันดับที่ 4 นอกจากนี้ยังมีเพลง "เลิฟแคนมูฟเมาเทนส์" (อังกฤษ: Love Can Move Mountains) และ "น็อตติงโบรกเคนบัตมายฮาร์ต" (อังกฤษ: Nothing Broken But My Heart) โดยก่อนหน้านี้เธอได้ออกอัลบั้ม ดียงชองต์ปลามงดง (ฝรั่งเศส: Dion chante Plamondon) ในปี พ.ศ. 2534 เป็นอัลบั้มเพลงภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงเก่านำมาร้องใหม่ โดยมีเพลงใหม่ 4 เพลงคือ "เดโมกีซอน" (ฝรั่งเศส: Des mots qui sonnent) "เชอด็องซ์ดองมาแต็ต" (ฝรั่งเศส: Je danse dans ma tête) "แกลเกิงเกอแชมแกลเกิงเกอแชม" (ฝรั่งเศส: Quelqu'un que j'aime, quelqu'un qui m'aime) และ "ลามูร์เอ็กซีสต์อ็องกอร์" (ฝรั่งเศส: L'amour existe encore) แต่เดิมออกจำหน่ายในแคนาดา และฝรั่งเศส ในช่วงปี พ.ศ. 2534 - 2535 เท่านั้น ต่อมาได้ออกจำหน่ายทั่วโลกในปี พ.ศ. 2537 มียอดขาย 1.5 ล้านชุดทั่วโลก และเป็นอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสอัลบั้มแรกของเธอที่ออกจำหน่ายทั่วโลก

ในช่วงปี พ.ศ. 2535 อัลบั้ม ยูนิซัน และ เซลีนดิออน รวมทั้งการปรากฏในสื่อต่าง ๆ ทำให้เซลีนเป็นที่รู้จักทั่วอเมริกาเหนือ เธอประสบความสำเร็จในตลาดเพลงภาษาอังกฤษ และมีชื่อเสียงมากขึ้น[19] แต่กระนั้น ขณะที่เธอประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา แฟนเพลงชาวฝรั่งเศสต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอเพิกเฉยต่อพวกเขา[27][26] ต่อมาในงานประกาศรางวัลเฟลิกซ์ เซลีนได้รับรางวัล "ศิลปินอังกฤษแห่งปี" เธอกล่าวปฏิเสธในการรับรางวัลนั้น เธอยืนยันว่าเธอเป็นศิลปินฝรั่งเศส ไม่ใช่ศิลปินอังกฤษ[6] ซึ่งทำให้เธอได้ฐานแฟนเพลงชาวฝรั่งเศสคืนมา นอกจากความสำเร็จด้านดนตรีแล้ว ในด้านชีวิตส่วนตัว เรอเน ผู้จัดการส่วนตัวของเธอ ซึ่งมีอายุมากกว่าเธอ 26 ปี ได้ผันมาเป็นคนรัก อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์นี้ยังคงเป็นความลับของทั้งคู่ ด้วยกลัวว่าสาธารณชนจะกล่าวว่าทั้งสองไม่เหมาะสมกัน[28]

2536-38 เดอะคัลเลอร์ออฟมายเลิฟ และ เดอ แก้

ในปี พ.ศ. 2536 เธอประกาศความรู้สึกของเธอกับผู้จัดการส่วนตัวของเธอผ่านคำว่า "เดอะคัลเลอร์ออฟ[เฮอร์]เลิฟ" (สีสันความรัก[ของเธอ]) ที่ออกมาในชื่อของอัลบั้ม เดอะคัลเลอร์ออฟมายเลิฟ (อังกฤษ: The Colour of My Love) อัลบั้มเพลงภาษาอังกฤษชุดที่ 3 ของเธอ เซลีนกังวลการวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ระหว่างเธอ และผู้จัดารส่วนตัว แต่แฟนเพลงของเธอกลับให้การตอบรับอย่างดี[7] ท้ายที่สุด เรอเนและเซลีนได้จัดพิธีสมรสอย่างยิ่งใหญ่ที่โบสถ์บาซิลิกา เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งออกอากาศทางโทรทัศน์ในแคนาดา

สืบเนื่องจากอัลบั้มนี้เซลีนตั้งใจมอบให้แก่ผู้จัดการส่วนตัวของเธอ ทำให้อัลบั้มนี้ประกอบด้วยเพลงแนวความรัก และโรแมนติก[29] อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเท่าที่ผ่านมา ด้วยยอดขายกว่า 6 ล้านชุดในสหรัฐอเมริกา, 2 ล้านชุดในแคนาดา และขึ้นชาร์ตอันดับที่ 1 ในหลายประเทศ นอกจากนี้เพลง "เดอะพาวเวอร์ออฟเลิฟ" (อังกฤษ: The Power of Love) ยังขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และออสเตรเลียเป็นเพลงแรก (เดิมเป็นเพลงของเจนนิเฟอร์ รัช ในปี พ.ศ. 2529) เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของเธอถึงช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990[19] ซิงเกิลถัดมาได้แก่ "เว็นไอฟอลอินเลิฟ" (อังกฤษ: When I Fall in Love) ร้องคู่กับคลิฟ กริฟฟิน และเพลง "มิสเล็ด" (อังกฤษ: Misled) ที่ประสบความสำเร็จในชาร์ตของแคนาดา อัลบั้ม เดอะคัลเลอร์ออฟมายเลิฟ เป็นอัลบั้มแรกของเธอที่ได้รับความนิยมในยุโรป โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรในเพลง "ธิงค์ทไวซ์" (อังกฤษ: Think Twice) ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ชาร์ตบริติชเป็นเวลากว่า 5 สัปดาห์ติดต่อกัน อยู่ที่อันดับ 1 รวมทั้งสิ้น 7 สัปดาห์ ซิงเกิลนี้เป็นซิงเกิลที่ 4 ที่ร้องโดยนักร้องหญิงที่มียอดขายเกิน 1 ล้านชุดในสหราชอาณาจักร[30] และอัลบั้มนี้ก็ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว 5 แผ่นซึ่งมียอดขายกว่า 2 ล้านชุด

ถึงแม้เซลีนจะประสบความสำเร็จในอัลบั้มภาษาอังกฤษ แต่เธอก็ยังออกอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสไปพร้อม ๆ กับอัลบั้มภาษาอังกฤษด้วย[31] ซึ่งเพลงเหล่านี้ส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จมากกว่าเพลงภาษาอังกฤษของเธอ[27] เช่น อัลบั้ม อาโลแล็งปียา (ฝรั่งเศส: À l'Olympia) โดยบันทึกเสียงระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตของเธอที่โรงละครแล็งปียา ปารีส ประเทศฝรั่งเศส อัลบั้มนี้ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2537 และมีการออกซิงเกิลโปรโมตอัลบั้มนี้ คือเพลง "คอลลิงยู" (อังกฤษ: Calling You) ขึ้นชาร์ตฝรั่งเศสอันดับสูงสุดที่ 75

เดอ (ฝรั่งเศส: D'eux หรือ เดอะเฟรนช์อัลบั้ม (อังกฤษ: The French Album) ในสหรัฐอเมริกา ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2538 เป็นอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสที่ขายดีที่สุดตลอดกาล[31] เพลงในอัลบั้มนี้ส่วนใหญ่เป็นผลงานการประพันธ์ของชอง-ชาก โกลด์แมน เพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจากอัลบั้มนี้คือเพลง "ปูร์เกอตูแมมอองกอร์" (ฝรั่งเศส: Pour que tu m'aimes encore) ขึ้นชาร์ต 1 ใน 10 ของสหราชอาณาจักร (เป็นหนึ่งในเพลงภาษาฝรั่งเศสไม่กี่เพลงที่ประสบความสำเร็จในชาร์ตสหราชอาณาจักร) และเพลง "เชอเซปา" (ฝรั่งเศส: Je sais pas) ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในชาร์ตของฝรั่งเศส โดยเพลงเหล่านี้ได้นำมาร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า "อิฟแธตส์ว็อตอิตเทกส์" อังกฤษ: If That's What It Takes) " และ "ไอด็อนท์โนว์" (อังกฤษ: I Don't Know) ตามลำดับ โดยบรรจุลงในอัลบั้มภาษาอังกฤษชุดต่อมาที่มีชื่อว่า ฟอลลิงอินทูยู (อังกฤษ: Falling into You)

ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 เป็นช่วงของการเปลี่ยนแนวดนตรีของเซลีน จากอิทธิพลของร็อกสู่แนวเพลงป๊อป และโซล (แม้กีตาร์อิเล็กทริกส์ยังคงมีความโดดเด่นในดนตรีของเธอ) เพลงของเธอเริ่มมีความนุ่มนวล และใช้ทำนองที่เบาลง และแต่ละเพลงก็จะมีช่วงสำคัญคือการร้องเสียงสูงเท่าที่เสียงของเธอสามารถร้องได้[32] ดนตรีใหม่นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์หลายคน เช่น แอเรียน เบอร์เกอร์ จากนิตยสาร เอ็นเตอร์เทนเมนท์วีคลีย์ กล่าวว่า "เสียงของเธอผาดโผน" และเป็น "เพลงบัลลาดที่น่าชื่นชม" เป็นผลให้เธอมักถูกเปรียบเทียบกับศิลปินอื่น ๆ อย่างมารายห์ แครี และวิทนีย์ ฮูสตัน[33] นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความน่าเบื่อซ้ำซากในแนวดนตรีของเธอ เช่นในอัลบั้ม เดอะคัลเลอร์ออฟมายเลิฟ ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากงานดนตรีของเธอก่อนหน้านี้[34][29] แม้ว่าเสียงยกย่อง และการวิพากษ์วิจารณ์จะเบาบางลง เซลีนยังคงได้รับความนิยมในชาร์ตสากลทั่วโลก และในปี พ.ศ. 2539 เซลีนได้รับรางวัลเวิลด์ มิวสิก อวอร์ดส ในสาขา "นักร้องหญิงชาวแคนาดาที่มียอดขายทั่วโลกยอดเยี่ยมแห่งปี" (อังกฤษ: World’s Best-selling Canadian Female Recording Artist of the Year) เป็นครั้งที่ 3 และในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 เซลีนได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในนักร้องที่มียอดขายสูงสุดในโลก พร้อมกับนักร้องหญิงอย่าง มารายห์ แครี และวิทนีย์ ฮูสตัน[35]

2539-42 ฟอลลิงอินทูยู เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ และ ซีลซูฟฟีเซแดมเม แก้

อัลบั้ม ฟอลลิงอินทูยู (อังกฤษ: Falling into You) เป็นอัลบั้มภาษาอังกฤษลำดับที่ 4 ของเธอ ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2539 นับเป็นความสำเร็จของเธอในอีกระดับหนึ่ง อัลบั้มนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและยังแสดงถึงพัฒนาการทางดนตรีของเธออีกด้วย[28] อัลบั้มนี้มีองค์ประกอบหลายส่วน เพื่อให้เข้าถึงแฟนเพลงในกลุ่มที่กว้างขึ้น เช่น ส่วนของดนตรี มีการใช้วงออเคสตราร่วมบรรเลง, เสียงร้องเพลงแบบแอฟริกัน และเสียงแบบแปลก ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีอย่างไวโอลิน, กีตาร์สเปน, ทรอมโบน และแซ็กโซโฟน บรรเลงเพื่อสร้างดนตรีแบบใหม่[36] เพลงจากอัลบั้มนี้มีแนวเพลงหลากหลายแนว เช่น "ฟอลลิงอินทูยู" (อังกฤษ: Falling into You) และ "ริเวอร์ดีปเมาน์เทนไฮ" (เพลงเดิมของทิน่า เทอร์เนอร์) ที่มีเครื่องดนตรีบรรเลงอย่างโดดเด่น, "อิตส์ออลคัมมิงแบ็กทูมีนาว" (อังกฤษ: It's All Coming Back to Me Now) (เพลงเดิมของจิม สเตนแมน), และเพลงเดิมของอีริค คาร์แมน อย่าง "ออลบายมายเซลฟ์" (อังกฤษ: All by Myself) ที่ยังคงคงแบบดนตรีซอฟต์ร็อก แต่เพิ่มการผสมผสานในแนวคลาสสิกด้วยเสียงของเปียโน และซิงเกิลอันดับหนึ่ง "บีคอสยูเลิฟด์มี" (อังกฤษ: Because You Loved Me) ผมงานการประพันธ์ของไดแอน วาเรน เพลงแนวบัลลาดประกอบภาพยนตร์เรื่อง Up Close & Personal ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2539[35]

ฟอลลิงอินทูยู เป็นผลงานของเซลีนที่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในด้านดีอย่างมากมาย ในขณะที่แดน เลอรอย กล่าวว่าผลงานนี้ไม่ได้แตกต่างจากอัลบั้มอื่น ๆ ก่อนหน้านี้มากนัก[37] และสตีเฟน โฮลเดน จากนิตยสาร นิวยอร์กไทมส์ และนาคาลี นีโคลส์ จากนิตยสาร ลอสแอนเจลิสไทมส์ กล่าวว่าเพลงในอัลบั้มนี้เป็นเหมือนแบบเดิม ๆ[38][39] คำวิพากษ์วิจารณ์อื่น ๆ เช่น ชัค เอ็ดดี จากนิตยสาร เอ็นเตอร์เทนเม็นท์วีคลีย์, สตีเฟน โทมัส เออร์เลไวน์ จากนิตยสาร เอเอ็มจี และแดเนียล ดัชฮาลส์กล่าวว่าอัลบั้มนี้ "กระตุ้นความสนใจ", "เร่าร้อน", "ทันสมัย", "สง่างาม" และ "เป็นผลงานประณีตยอดเยี่ยม"[40][36] ฟอลลิงอินทูยู เป็นอัลบั้มที่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด และประสบความสำเร็จสูงสุดเท่าที่ผ่านมา อัลบั้มนี้ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในหลายประเทศและเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดตลอดกาล[41] นอกจากนี้ อัลบั้มนี้ยังได้รับรางวัลแกรมมี สาขา "อัลบั้มเพลงป๊อปยอดเยี่ยม" (อังกฤษ: Best Pop Album) และรางวัลเกียรติยศสูงสุดของแกรมมี "อัลบั้มแห่งปี"[42] เธอก็เป็นที่รู้จักของโลกมากขึ้น เมื่อเซลีนได้รับการทาบทามในการร้องเพลง "เดอะพาวเวอร์ออฟเดอะดรีม" ในงานพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 1996 ที่เมืองแอตแลนตา[43] นอกจากนี้ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2539 เซลีนเริ่มต้นการจัดคอนเสิร์ตทัวร์ฟอลลิงอินทูยู เพื่อสนับสนุนยอดขายของอัลบั้ม ฟอลลิงอินทูยู โดยไปเยือนเมืองสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก

อัลบั้มถัดมาของเซลีนคือ เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ (อังกฤษ: Let's Talk About Love) ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2540[32] บันทึกเสียงที่ลอนดอน, นครนิวยอร์ก, ลอสแอนเจลิส, ซึ่งมีแขกรับเชิญพิเศษมากมายที่มาร่วมร้องในอัลบั้มนี้ อันประกอบด้วย บาร์บรา สตรัยแซนด์ ในเพลง "เทลล์ฮิม" (อังกฤษ: Tell Him), วงบีจีส์ ในเพลง "อิมมอร์ทอลิตี" (อังกฤษ: Immortality), ลูชิอาโน ปาวารอตติ ในเพลง "ไอเฮตยูเด็นไอเลิฟยู" (อังกฤษ: I Hate You Then I Love You)[28][44] นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีคนอื่น ๆ ได้ร่วมในผลงานอัลบั้มชุดนี้เช่นกัน เช่น คาโรล์ คิง, เซอร์ จอร์จ มาร์ติน, เจไมกา นักร้องจากไดอาน่าคิงที่เข้ามาสร้างเสียงดนตรีแบบเรกเก้ในเพลง "ทรีตเฮอร์ไลค์อะเลดี" (อังกฤษ: Treat Her Like a Lady) "[45] แม้จะมีศิลปินมากมายร่วมงานในอัลบั้มชุดนี้ แต่อัลบั้มนี้จึงยังคงธีมในเรื่องของ "ความรัก" เหมือนอัลบั้มชุดก่อน ๆ โดยเฉพาะความรักแบบพี่น้อง ในเพลง "แวร์อิสเดอะเลิฟ" (อังกฤษ: Where Is the Love) และ "เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ" (อังกฤษ: Let's Talk About Love)[46] ซิงเกิลที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจากอัลบั้มนี้คือเพลง "มายฮาร์ตวิลโกออน" (อังกฤษ: My Heart Will Go On) ผลงานการประพันธ์ของเจมส์ ฮอร์เนอร์ และอำนวยการผลิตโดยเจมส์ และวอลเตอร์อะฟาแนซิฟ[42] เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง ไททานิก เพลงนี้ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ทั่วโลก และเป็นหนึ่งในเพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของเซลีน ดิออน[47] ซิงเกิล "มายฮาร์ตวิลโกออน" และ "ธิงค์ทไวซ์" ทำให้เซลีนเป็นนักร้องหญิงคนเดียวที่สามารถทำยอดขายซิงเกิลในสหราชอาณาจักรได้เกิน 1 ล้านชุด[48] ในการสนับสนุนยอดขายอัลบั้มนี้ เซลีนได้ทัวร์คอนเสิร์ต เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ ในระหว่างปี พ.ศ. 2541 - 2542[49]

เซลีนปิดท้ายในคริสต์ทศวรรษ 1990 กับอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จอีก 2 อัลบั้ม คือ ดีสอาร์สเปเชียลไทมส์ (อังกฤษ: These Are Special Times) ออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2541 เป็นเพลงเทศกาลคริสต์มาส และอัลบั้มเพลงฮิตอย่าง ออลเดอะเวย์... อะดิเคดออฟซอง (อังกฤษ: All the Way… A Decade of Song) ในปี พ.ศ. 2542[50] ในอัลบั้ม ดีสอาร์สเปเชียลไทมส์ เซลีนมีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลงในอัลบั้มมากขึ้น ในอัลบั้มนี้ประกอบไปด้วยดนตรีแนวคลาสสิกโดยมีวงออร์เคสตราร่วมบรรเลงในทุก ๆ เพลง[51] เพลง "แอมยัวร์แองเจิล" (อังกฤษ: I'm your angel) เป็นผลงานจากการร้องคู่กับอาร์. เคลลี ซึ่งเป็นซิงเกิลที่ 4 ในอัลบั้ม ดีสอาร์สเปเชียลไทมส์ และซิงเกิลสุดท้ายของเธอที่ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา ในส่วนของอัลบั้ม ออลเดอะเวย์... อะดิเคดออฟซอง เป็นอัลบั้มเพลงฮิตที่นำเพลงเก่ามารวมกับเพลงใหม่ 7 เพลง ซิงเกิลแรกเปิดตัวด้วยเพลง "แดทส์เดอะเวย์อิทอิส" (อังกฤษ: That's the Way It Is), เพลง "เดอะเฟิร์สไทม์เอเวอร์ไอซอยัวร์เฟซ" ซึ่งเดิมขับร้องโดยโรเบอร์ตา เฟลค และเพลง "ออลเดอะเวย์" ร้องคู่กับแฟรงค์ ซินาทรา[50] ในช่วงท้ายคริสต์ทศวรรษที่ 1990 เซลีนมียอดขายอัลบั้มกว่า 100 ล้านชุดทั่วโลก ทำให้เธอได้รับรางวัลจากอุตสาหกรรมดนตรีมากมาย[52] เธอกลายเป็นหนึ่งในดีว่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเพลงร่วมสมัย ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่เธอได้รับการเชื้อเชิญเข้าร่วมการแสดงของสถานีโทรทัศน์ดนตรีวีเอชวัน ในรายการพิเศษ ดีว่าส์ไลฟ์ ในปี พ.ศ. 2541 ร่วมกับ อารีธา แฟรงคลิน, กลอเรีย เอสเตฟาน, ชาเนีย ทเวน และ มารายห์ แครี ซึ่งนั่นทำให้เธอได้รับอิสริยาภรณ์จากบ้านเกิดของเธอ คือ ราชอิสริยาภรณ์แห่งแคนาดาชั้นจตุรถาภรณ์ (OC) และอิสริยาภรณ์แห่งควิเบกชั้นจตุรถาภรณ์ (OQ)[31] ในปีต่อมาเธอได้รับตำแหน่งในหอเกียรติยศการออกกากาศแห่งแคนาดา และได้รับเกียรติในทางเดินแห่งเกียรติยศของแคนาดา[53] นอกจากนี้เธอยังได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขานักร้องหญิงยอดเยี่ยม และรางวัลเพลงแห่งปี สำหรับเพลง "มายฮาร์ตวิลโกออน" (เพลงนี้ได้รับรางวัล 4 รางวัล โดย 2 รางวัลมอบให้แก่ผู้ประพันธ์เพลง)[54]

เมื่อเปรียบเทียบกับอัลบั้มในช่วงแรก ๆ ของเธอ ทั้งคุณภาพและดนตรีในเพลงของเธอได้เปลี่ยนไปอย่างมาก อิทธิพลจากดนตรีแนวซอฟต์ร็อกกลายมาเป็นเพลงในแนวโซล และมีสไตล์เป็นเพลงร่วมสมัยมากขึ้น อย่างไรก็ตามธีมของ "ความรัก" ก็ยังมีให้เห็นในทุก ๆ อัลบั้มของเธอ ซึ่งเป็นสาเหตุให้นักวิจารณ์กล่าวว่าผลงานของเธอซ้ำซาก[55] บทวิจารณ์อัลบั้ม เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ ของร็อบ โอคอนเนอร์กล่าวว่า

สิ่งที่ไม่เคยหยุดทำให้ฉันประหลาดใจก็คือ ความซ้ำซากอย่างที่สุด, ดนตรีที่ถูกครอบงำด้วยความจำเจมักจะได้รับการสรรเสริญจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทางดนตรีว่าไร้ที่ติ เรือที่จมทำให้ฉันนึกถึงทำนองเพลง ["มายฮาร์ตวิลโกออน"] ที่ไถไปเรื่อย ๆ เป็นเวลา 4 นาทีกว่า ๆ และอัลบั้มนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่าไม่มีที่สิ้นสุด มันไม่มีข้อสงสัยเลยหรือว่าทำไมฉันถึงกลัวเวลาไปหาหมอฟัน[56]

นอกจากนี้เซลีนยังได้รับคำวิจารณ์ในเพลง "เดอะเฟิร์สไทม์เอเวอร์ไอซอยัวร์เฟซ" และ "ออลเดอะเวย์" ซึ่งกล่าวไว้ในทางลบว่า "น่าขนลุก" ทั้งแอลลิสสัน สตีวาร์ดจาก เดอะชิกคาโกทรีบูน และเออร์ไวน์จาก ออลมิวสิก[57] แม้ว่าเธอยังคงได้รับการสรรเสริญจากความสามารถในการร้องเพลงของเธอ (เอลิซา การ์ดเนอร์ จาก แอล.เอ.ไทมส์ เรียกเสียงของเธอว่า "เทคนิคที่น่าพิศวง")[58] เสียงของเธอในช่วงแรก ๆ ทำให้ต้องหยุดฟัง และสตีฟ ดอลลาร์ ได้วิจารณ์อัลบั้ม ดีสอาร์สปเชียลไทมส์ ว่า "เสียงของเธอดุจดังมหาบรรพตโอลิมปัสอันไม่มีภูเขาใด หรือระดับใด ๆ สามารถเทียบวัดได้"[59]

2543-46 กำเนิดบุตรชาย, อะนิวเดย์แฮสคัม วันฮาร์ต และ อวีนฟีย์เอกาตร์ตีป แก้

ภายหลังการออกอัลบั้มกว่า 13 อัลบั้มในคริสต์ทศวรรษ 1990 เซลีนได้ประกาศระหว่างการออกอัลบั้ม ออลเดอะเวย์... อะดิเคดออฟซอง อัลบั้มล่าสุดของเธอในขณะนั้นว่า เธอต้องการพำนักที่ใดที่หนึ่งเป็นการถาวร และเริ่มต้นใช้ชีวิตครอบครัว[60][61] ซึ่งในขณะนั้นเรอเน สามีของเธอป่วยเป็นโรคมะเร็งที่คอหอย ทำให้เธอเสียกำลังใจอย่างมาก[62] ในขณะนั้น แม้เซลีนจะพักงานจากวงการดนตรี แต่เธอก็ไม่สามารถหนีความเป็นจุดสนใจในวงการได้ ในปี พ.ศ. 2543 เนชันแนลเอ็นไควเรอร์ ตีพิมพ์เรื่องราวเท็จเกี่ยวกับเธอ มีรูปเธอและเรอเน สามีของเธอพร้อมพาดหัวว่า "เซลีน - 'ฉันท้องลูกแฝด!'"[63] เซลีนฟ้องร้องสำนักพิมพ์นิตยสารนี้กว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[64] บรรณาธิการของ เอ็นไควเรอร์ ได้พิมพ์ข้อความขอโทษ และขอถอนคำพูดในนิตยสารฉบับต่อมา และบริจาคเงินแก่สมาคมผู้ป่วยโรคมะเร็งของอเมริกา (อังกฤษ: American Cancer Society) เพื่อเป็นเกียรติแก่เซลีน และสามีของเธอ ในปีต่อมาขณะที่สามีของเธอรักษาอยู่ เซลีนได้ให้กำเนิดบุตรชายในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2544 ที่ฟลอริดา และให้ชื่อว่าเรอเน-ชาลส์[65][66] ภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เซลีนได้กลับสู่วงการดนตรีอีกครั้ง และออกอากาศทางโทรทัศน์ในเพลง "ก็อดเบลสอเมริกา" ในคอนเสิร์ต อเมริกา: อุทิศแก่วีรบุรุษ ชัค เทย์เลอร์จากนิตยสาร บิลบอร์ด ได้กล่าวไว้ว่า "การแสดง...เข้าสู่จิตใจของฉันที่จะเฉลิมฉลองศิลปินของเรา ความสามารถที่ทำให้อารมณ์และจิตวิญญาณหวั่นไหว, ซาบซึ้ง, เต็มไปด้วยความหมาย เติมแต่งด้วยความสง่างาม นี่คือความรู้สึกตอบสนองทางดนตรีที่เธอแบ่งปันกับพวกเราทุกคน ที่ยังค้นหาหนทางแก้ปัญหาความยากลำบากเหล่านั้น"[67]

หลังจากการพักงานด้านดนตรีกว่า 3 ปี เซลีนได้กลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม อะนิวเดย์แฮสคัม (อังกฤษ: A New Day Has Come) ออกจำหน่ายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 อัลบั้มนี้เป็นตัวแทนถึงชีวิตส่วนตัวของเซลีนได้มากที่สุด และแสดงให้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งของเซลีนอย่างเพลง "อะนิวเดย์แฮสคัม", "แอมอะไลฟ์" และ "กู๊ดบาย (เดอะแซดเดสเวิร์ด)" เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แสดงถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้นของเธอในฐานะเป็น "แม่" ซึ่งเธอได้กล่าวไว้ว่า "การเป็นแม่ทำให้คุณเติบโตขึ้น"[68] เธอกล่าวว่า "วันใหม่ที่มาถึง (A New Day Has Come) สำหรับเรอเน และฉัน คือลูกของเรา มันคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำให้แก่ลูกของเรา... เพลง ["อะนิวเดย์แฮสคัม"] เป็นตัวแทนถึงความรู้สึกของฉันในตอนนี้ และเป็นตัวแทนของทั้งอัลบั้ม"[69] อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจอย่างสูง แต่กลับได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย โดยมีนักวิจารณ์ได้ให้ความเห็นไว้ว่าอัลบั้มนี้ "ลืมไปได้เลย" และเนื้อเพลงนั้นก็ "ไร้ความมีชีวิตชีวา"[70] ทั้งร็อบ เชฟฟิลด์ จากนิตยสาร โรลลิงสโตน และเคน ทักเกอร์ จากนิตยสาร เอ็นเตอร์เทนเมนท์วีคลีย์ ได้วิจารณ์เกี่ยวกับเพลงของเซลีนไว้ว่าไม่ได้พัฒนาขึ้นเลยจากการที่เธอได้พัก และจัดประเภทเพลงของเธอว่า ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไม่น่าสนใจ คุณภาพปานกลาง[71][72] ซาล ซินควิมานิ จากนิตยสาร สแลนท์ เรียกอัลบั้มเธอว่า "เป็นอัลบั้มที่ยืดยาด, เพลงป๊อปที่เหนอะหนะ"[73]

หลังจากการวาดจินตนาการจากประสบการณ์ส่วนตัว เซลีนได้ออกอัลบั้ม วันฮาร์ต (อังกฤษ: One Heart) ในปี พ.ศ. 2546 อันเป็นตัวแทนของความรู้สึกปิติในชีวิตของเธอ[74] อัลบั้มนี้เพลงส่วนใหญ่ประกอบด้วยเพลงเต้น เปลี่ยนแนวจากการร้องเสียงสูง ๆ สู่แนวเพลงบัลลาดที่น่าตื่นเต้นซึ่งเธอได้ผสมผสานมันด้วยตัวเอง อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จในระดับปานกลาง และสามารถบอกเป็นนัยได้ถึงความไม่สามารถที่จะเอาชนะกำแพงของความคิดใหม่ ๆ ของเธอ คำพูดอย่าง "คิดแล้วว่าเป็นแบบนี้" และ "พื้น ๆ ธรรมดา" สามารถพบได้ในบทวิจารณ์ทั่วไป[75][76] อัลบั้มนี้เปิดตัวด้วยซิงเกิล "ไอโดรฟออลไนต์" เพลงเดิมของรอย ออร์บิสัน เป็นเพลงธีมแคมเปญของไครส์เลอร์ (อังกฤษ: Chrysler)[77] ซึ่งเป็นเพลงที่ผสมผสานแนวแดนซ์-ป๊อป, ร็อกแอนด์โรลล์เข้าด้วยกัน ทำให้หวนนึกถึงผลงานเพลงของแชร์ ช่วงคริสต์ทศววรษ 1980 อย่างไรก็ตามเพลงนี้ได้ยกเลิกจากแคมเปญดังกล่าวไป ขณะที่เซลีนพยายามที่จะทำให้ผู้สนับสนุนพอใจ[78] กลางคริสต์ทศววรษ 2000 แนวดนตรีของเซลีนเปลี่ยนไปสู่ลักษณะความเป็นแม่ซึ่งพบได้ในอัลบั้ม มิราเคิล ในปี พ.ศ. 2547 มิราเคิล เป็นโครงการที่รวมรวมสื่อภาพ และเสียงผสมผสานกัน โดยได้ช่างภาพชื่อดังอย่างแอน เกดเดสมาร่วมงาน ในธีมที่จะผสานทารก และแม่ อัลบั้มนี้ซึมซาบแนวเพลงกล่อมเด็กอย่าง lullabies และเพลงแนวรัก, แรงบันดาลใจ โดยนำเพลง 2 เพลงที่เคยได้รับความนิยมมาร้องใหม่ เพลง "ว็อตอะวันเดอร์ฟูลเวิลด์" (อังกฤษ: What a Wonderful World) เพลงเดิมของหลุยส์ อาร์มสตรอง และเพลง "บิวตีฟูลบอย" ของจอห์น เลนนอน อัลบั้ม มิราเคิล ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากชาร์ลส์ เทย์เลอร์ จากนิตยสาร บิลบอร์ด ซึ่งกล่าวไว้ว่าซิงเกิล "บิวตี้ฟูลบอย" เป็น "อัญมณีที่ไม่เคยนึกถึง" และเรียกเซลีนว่า "ศิลปินอมตะ และมีความสามารถรอบตัว",[79] ชัค อาร์โนลด์ จากนิตยสาร พีเพิล กล่าวว่าอัลบั้มละเอียดอ่อนในด้านจิตใจมากเกินไป[80] ขณะที่แนนซี มิลเลอร์จากนิตยสาร เอ็นเตอร์เทนเมนท์วีคลีย์ แสดงความคิดเห็นไว้ว่า "การกระทำของแม่ทั้งหมดในโลกก็เป็นเพียงแค่การฉวยโอกาส"[81]

อัลบั้มภาษาฝรั่งเศส อวีนฟีย์เอกาตร์ตีป (ฝรั่งเศส: 1 fille & 4 types, 1 สาว 4 ชาย) ออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นผลงานชุดที่ 2 ตั้งแต่เธอกลับมาสู่วงการดนตรีอีกครั้ง อัลบั้มนี้แสดงถึงว่าเซลีนพยายามที่จะแสดงภาพลักษณ์ความเป็น "ดีว่า" อัลบั้มนี้มีผู้ร่วมงานมากมาย เช่น ชอง-ชาก โกลด์แมน, ชีลดา อาร์เซล, เอริก บองซี และชาก เวอเนอรูโซ ซึ่งเธอเคยร่วมงานมาแล้วในอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสที่เคยได้รับความนิยมของเธอ ซีลซูฟฟีเซแดมเม และเดอ อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแห่งความกดดันโดยตัวของเซลีนเอง ภาพปกอัลบั้มแสดงถึงความผ่อนคลาย และเรียบง่ายของเซลีน ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพปกที่ผ่านมาของเธอ อัลบั้มนี้ประสบความสำเร็จในด้านการวิพากษ์วิจารณ์: สตีเฟน เออร์ไวน์ จาก ออลมิวสิก กล่าว่าอัลบั้มนี้ "กลับไปสู่เพลงป๊อปที่เรียบง่ายที่ไม่ค่อยพบในช่วงเวลาหนึ่ง"[82]

แม้ว่าอัลบั้มของเธอค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นสัญญาณในด้านลบ ซึ่งเห็นได้จากคำวิพากษ์วิจารณ์แง่ลบต่าง ๆ ในอัลบั้ม เดอะคอลเลคเตอส์ซีรีส์ ชุดที่ 1 (อังกฤษ: The Collector's Series, Volume One) ออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2543 และอัลบั้ม วันฮาร์ต ออกจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2546 ด้วยเสน่ห์ของเซลีนในอัลบั้มหลัง ๆ ได้ลดลง เนื่องจากธีมที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เพลงของเธอได้รับการเปิดในวิทยุน้อยลง และความนิยมในเพลงแนวบัลลาดอย่างเซลีน, มารายห์ และวิทนีย์น้อยลง ปัจจุบันแนวเพลงฮิปฮอป, เทมโป ได้รับความนิยมมากขึ้น[83] อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2547 เซลีนมียอดจำหน่ายอัลบั้มของเธอรวมกว่า 175 ล้านชุด และได้รับรางวัลชอปาร์ดไดมอนด์ (อังกฤษ: Chopard Diamond Award) จากเวิลด์ มิวสิก อวอร์ดสสำหรับยอดขายของเธอ และเป็นศิลปินที่เป็นตัวแทนของ "ยอดขายมากกว่า 100 ล้านชุดในชีวิตดนตรี"[84]

2546-50 อะนิวเดย์... แก้

ช่วงต้นปี พ.ศ. 2545 เซลีนได้ประกาศลงนามในการแสดงที่มีชื่อว่า อะนิวเดย์... (อังกฤษ: A New Day...) โดยเปิดการแสดงที่โรงแรมซีซ่าร์พาเลซ ลาสเวกัส เป็นเวลา 3 ปี รวมจำนวนการแสดงกว่า 600 รอบ 5 วันต่อสัปดาห์[85] ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็น "หนึ่งในการตัดสินใจด้านธุรกิจที่ชาญฉลาดในรอบปีโดยศิลปินเพียงคนเดียว"[86] เซลีนได้รับแรงบันดาลการแสดงชุดนี้จากการไปชมการแสดงชุด โอ อันเป็นผลงานการสร้างสรรค์โดยฟรังโก ดรากอน (ฝรั่งเศส: Franco Dragone) ระหว่างการพักจากงานดนตรีของเธอ การแสดงเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2546 ในโรงละครโคลอสเซียม จำนวน 4, 000 ที่นั่งซึ่งออกแบบเพื่อการแสดงนี้โดยเฉพาะ[85] การแสดงนี้สร้างสรรค์โดยฟรังโก ดรากอน โดยผสมผสานระหว่างการเต้น, ดนตรี และแสงสี ในการแสดงเซลีนร้องเพลงยอดนิยมของเธอ พร้อมกับขบวนนักเต้นและอุปกรณ์พิเศษมากมาย ไมค์ เวเธอร์ฟอร์ด นักวิจารณ์รู้สึกว่าในตอนแรก เซลีนไม่ผ่อนคลายเท่าที่ควร ในตอนนั้นมันยากที่จะหานักร้องที่ร้องเพลงท่ามกลางเวทีที่ประดับสิ่งตกแต่งมากมาย พร้อมขบวนนักเต้น อย่างไรก็ตาม เขาได้ให้ความเห็นว่า การแสดงสามารถให้ความสุขได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากเซลีนพัฒนาการวางตัวบนเวที และเสื้อผ้าที่เรียบง่ายมากขึ้น[47]

การแสดงนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี แม้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงราคาบัตรเข้าชมที่แพงเกินไป แต่การแสดงขายบัตรหมดเกือบทุกรอบตั้งแต่เปิดการแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2546 การแสดงชุดนี้ออกแบบท่าเต้นโดยเมีย ไมเคิล นักออกแบบท่าเต้นที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากรายงานของ โพลสตาร์ เซลีนมียอดจำหน่ายบัตร 322, 000 ใบ ทำรายได้กว่า 43.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี พ.ศ. 2548 และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 บัตรเข้าชมขายหมด 315 รอบจาก 384 รอบ[87] นอกจากนี้ในช่วงท้ายปี พ.ศ. 2548 เซลีนทำรายได้มากกว่า 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดการแสดงที่ทำรายได้สูงสุดประจำปี 2005 ในอันดับที่ 6[88] อะนิวเดย์... เป็นคอนเสิร์ตทัวร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันดับที่ 6 ในสหรัฐอเมริกา[89] สืบเนื่องจากความสำเร็จของการแสดง เซลีนได้เซ็นสัญญาขยายระยะเวลาการแสดงถึงท้ายปี พ.ศ. 2550 จนเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2550 ได้ประกาศว่าการแสดงรอบสุดท้ายจะจัดขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยบัตรการแสดงช่วงหลังเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 ได้ขายหมดตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม[90] ในส่วนของสื่อบันทึกการแสดง ได้ออกจำหน่ายในชื่อว่า ไลฟ์อินลาสเวกัส - อะนิวเดย์... ในรูปแบบดีวีดี และบลูเรย์ ออกจำหน่ายในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ในยุโรป และวันรุ่งขึ้นในอเมริกาเหนือ[91] ส่วนในประเทศไทยได้ออกจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2551[92]

2550 - 2552 แดล เทกกิงแชนเซส และเทกกิงแชนเซสทัวร์ แก้

หลังจากที่เซลีนได้ออกอัลบั้มรวมเพลงฮิตภาษาฝรั่งเศส องเนอชองช์ปา (ฝรั่งเศส: On Ne Change Pas) เมื่อ พ.ศ. 2548 แล้ว เซลีนได้พักงานด้านการออกอัลบั้มในปี พ.ศ. 2549 จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 ได้ออกอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสชุดล่าสุดในชื่อว่า แดล (ฝรั่งเศส: D'elles, "พวกหล่อนเหล่านั้น") ขึ้นชาร์ตอัลบั้มแคนาดาอันดับ 1 ด้วยยอดจำหน่ายกว่า 72, 000 ชุดในสัปดาห์แรก นับเป็นอัลบั้มอันดับหนึ่งอัลบั้มที่ 10 ของเธอในยุคซาวด์สแกน และเป็นอัลบั้มที่ 8 ที่เปิดตัวในชาร์ตในอันดับที่หนึ่ง อัลบั้มนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว 2 แผ่นจากประเทศแคนาดา และมียอดการส่งออกอัลบั้มไปยังทั่วโลกกว่าอีก 5 แสนชุดในสัปดาห์แรก[93] แดล ยังขึ้นชาร์ตอันดับที่หนึ่งในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม พร้อมทั้งเพลง "เอซีลนองแรสเตกวีน (เชอเซอเรแซลเลอ-ลา)" ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มดังกล่าวเปิดตัวในอันดับที่หนึ่งในชาร์ตซิงเกิลประเทศฝรั่งเศส ในปีเดียวกัน เธอยังได้ออกจำหน่ายอัลบั้มภาษาอังกฤษชุด เทกกิงแชนเซส ออกจำหน่ายในยุโรปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน อเมริกาเหนือวันที่ 13 พฤศจิกายน[94] และในประเทศไทยวันที่ 15 พฤศจิกายน นับเป็นสตูดิโออัลบั้มภาษาอังกฤษแรกของเธอภายหลังอออัลบั้ม วันฮาร์ต ในปี พ.ศ. 2546 อัลบั้มดังกล่าวมีการผสมผสานแนวเพลงป๊อป อาร์แอนด์บี และร็อก[95] ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับจอห์น แชงค์ส, เบ็น มูดดี (อดีตสมาชิกวงอีวาเนสเซนซ์), คริสเตียน ลันดิน, เพียร์ อสตรอม, ลินดา เพอร์รี, เน-โย่ นอกจากนี้ยังขับร้องเพลง "อะเวิลด์ทูบีลีฟอิน" ร่วมกับยูนะ อิโตะ นักร้องชาวญี่ปุ่น[96][97] เซลีนกล่าวว่า "ฉันคิดว่าอัลบั้มนี้เป็นตัวแทนของพัฒนาการทางการร้องเพลงของฉัน... ฉันรู้สึกเข้มแข็งกว่าเดิมและอาจกล้าหาญขึ้นกว่าในอดีต ฉันแค่รู้สึกรักในดนตรีและชีวิตของฉันมากที่สุดในชีวิตของฉัน"[98] นอกจากนี้เธอยังจัดคอนเสิร์ตทัวร์เทกกิงแชนเซสเพื่อประชาสัมพันธ์อัลบั้มดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ในแอฟริกาใต้ โดยเปิดการแสดงทั่วโลกใน 5 ทวีปกว่า 132 รอบการแสดง[99]

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เซลีน ดิออนได้รับเบญจมาภรณ์เลชียงโดเนอร์อันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสจากนายนีโกลา ซาร์โกซี ประธานาธิบดี ณ พระราชวังเอลีเซ (ฝรั่งเศส: Palais de l’Élysée, /ปาเลเดอเลลีเซ/)[2], ในวันที่ 21 สิงหาคม ปีเดียวกันนั้น เซลีน ดิออน ได้รับการประสาทปริญญาสังคีตศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยลาวาล (ฝรั่งเศส: Université Laval)[100]

คอนเสิร์ตทัวร์เทกกิงแชนเซสประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา ขึ้นอันดับหนึ่งในบ็อกสกอร์ของนิตยสาร บิลบอร์ด โดยมียอดจำหน่ายตั๋วหมดทุกใบทุกรอบในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เซลีนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจูโน่ในปี พ.ศ. 2551 ประกอบไปด้วยรางวัลศิลปินแห่งปี, อัลบั้มป๊อปแห่งปี (เทกกิงแชนเซส), อัลบั้มภาษาฝรั่งเศสแห่งปี (แดล), อัลบั้มแห่งปี (แดล และ เทกกิงแชนเซส)[101] ในปีต่อมาเธอยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจูโน่อีก 3 รางวัลคือ รางวัลแฟนช็อยส์, รางวัลเพลงแห่งปี ("เทกกิงแชนเซส") และ มิวสิกดีวีดีแห่งปี (ไลฟ์อินลาสเวกัส - อะนิวเดย์...)[102]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 เซลีนได้แสดงคอนเสิร์ตสาธารณะเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีเมืองควิเบกซึ่งขับร้องเพลงภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด[103]แปลนออฟอับราฮัม ควิเบกซิตี้ ประเทศแคนาดา[104] โดยมีผู้ชมทั้ง ณ บริเวณการแสดงและผ่านทางโทรทัศน์ประมาณ 490, 000 คน โดยเรียกคอนเสิร์ตดังกล่าวว่า เซลีนซูร์เลแปลน โดยออกจำหน่ายดีวีดีและบลูเรย์คอนเสิร์ตดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤศจกายน พ.ศ. 2551ในแคนาดา และวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ในฝรั่งเศส[105] ปลายเดือนตุลาคมในปีเดียวกันเซลีนได้ออกจำหน่ายอัลบั้มรวมเพลงฮิต มายเลิฟ: เอสเซนเชียลคอลเลกชัน[106] ซึ่งออกจำหน่ายใน 2 รูปแบบคือซีดีแผ่นเดียวและสองแผ่น โดยในรูปแบบหลังได้ใช้ชื่อว่า มายเลิฟ: อัลติเมตเอสเซนเชียลคอลเลกชัน

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เซลีนได้รับการจัดอันดับเป็นศิลปินแห่งทศวรรษลำดับที่ 20 ของอเมริกา และเป็นศิลปินหญิงแห่งทศวรรษของอเมริกาในอันดับที่ 2 ด้วยยอดจำหน่ายอัลบั้มรวมทั้งทศวรรษกว่า 17.57 ล้านชุด[107] ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 นิสตยสารฟอร์บส รายงานว่าเซลีนทำรายได้ในช่วงปี พ.ศ. 2551 รวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นอับดับที่ 2 รองจาก มาดอนน่า นอกจากนี้เธอยังวางแผนกลับไปแสดง ณ ลาสเวกัสในปี พ.ศ. 2553[108] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 เซลีนแถลงการแท้งบุตรของเธอตั้งแต่ขั้นตอนการปฏิสนธิ[109][110]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 โพลล์สตาร์ประกาศว่าเซลีนเป็นศิลปินเดี่ยวที่มียอดจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตสูงสุดในทศวรรษและเป็นอันดับที่สองเมื่อนับศิลปินประเภทวง โดยเป็นรองเพียงวงเดฟแมทธิวส์แบนด์[111] เซลีนทำรายได้กว่า 522.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการแสดงชุด อะนิวเดย์... ที่ซีซาร์พาเลส[111]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552 โฆษกส่วนตัวของเซลีนได้ประกาศว่าเธอกำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่สอง[112][113] และยังกล่าวด้วยว่าจะคลอดบุตรในราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ดีในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ได้ประกาศว่าการตั้งครรภ์ของเธอประสบความล้มเหลว แต่เธอยังคงพยายามในการมีบุตรคนที่สองด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว[114][115] อย่างไรก็ดีภายหลังการทำเด็กหลอดแก้วถึง 6 ครั้ง จึงได้มีการประกาศในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ว่าเธอตั้งครรภ์บุตรแฝด[116] ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 มีการประกาศว่าเซลีนและเรอเนคาดว่าจะได้บุตรชายแฝด และคาดว่าจะให้กำเนิดในราวเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553[117][118] ต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ได้ประกาศว่าเซลีนเข้าตรวจ ณ ศูนย์การแพทย์เซนต์แมรี ใน หาดเวสต์ปาล์ม รัฐฟลอริดา ว่า[119][120] "เพื่อป้องกันบุตรของเธอคลอดก่อนกำหนดซึ่งเป็นมาตรฐานการดูแลทางคลินิกทั่วไปของผู้ที่มีบุตรแฝด"[121] ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เซลีนได้ให้กำเนิดบุตรชายแฝดด้วยวิธีการผ่าตัด ณ ศูนย์การแพทย์เซนต์แมรี[122]

ยูเอสเอทูเดย์ ประกาศว่าเซลีนจะออกฉายภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ คอนเสิร์ตทัวร์เทกกิงแชนเซส โดยใช้ชื่อว่า เซลีน: ธรูดิอายส์ออฟเดอะเวิลด์ และจะออกฉายในโรงภาพยนตร์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553[123] ภาพยนตร์สารคดีชุดนี้ประกอบด้วยเบื้องหลังการแสดงทั้งบนเวทีและนอกเวที พร้อมด้วยวิดีโอพิเศษเกี่ยวกับครอบครัวของเธอขณะที่ท่องเที่ยวไปกับเธอ[123] ออกจำหน่ายโดยโซนีพิกเจอร์สโดยเครือบริษัทย่อยฮอตทิกเก็ต[123]

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 เดอะลอสแองเจิลลิสไทมส์ ตีพิมพ์รายชื่อผู้ที่มีรายได้สูงสุดประจำปี และเปิดเผยว่าเซลีน ดิออนอยู่ในอันดับสูงสุดตลอดกว่าทศวรรษ ด้วยรายได้กว่า 747.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี พ.ศ. 2543 - 2552 (ค.ศ. 2000 - 2009)[124] ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ๋มาจากการจำหน่วยบัตรชมคอนเสิร์ตกว่า 522.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[125]


อนึ่ง ผลการสำรวจของ แฮร์ริสโพล ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปรากฏว่า เซลีนเป็นนักร้องซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ชนะ วงยูทู, เอลวิส เพรสลีย์ และ เดอะบีตเทิลส์ โดยมีองค์ประกอบเป็นปัจจัยทางเพศ, กลุ่มการเมือง, ภูมิศาสตร์ และรายได้ ของผู้แสดงความคิดเห็น[126] นอกจากนี้ นิตยสาร เดอะไฟแนนเชียล ยังเปิดเผยผลสำรวจว่า เซลีนเป็นนักร้องผู้ได้รับความนิยมมากที่สุดท่ามกลางหมู่ประชากรเพศหญิง, ผู้นิยมประชาธิปไตย และผู้พำนักในภาคตะวันออก และภาคใต้ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงผู้มีรายได้ระหว่าง US$35k and US$74.9k.[127][128]

หนังสือพิมพ์พื้นเมืองของมอนทรีออล Le Journal de Quebec ประกาศว่าเซลีนได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งทศวรรษ" ในจังหวัดบ้านเกิดของเธอในควิเบก เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552[129] โดยทำการสำรวจทางออนไลน์สอบถามไปยังผู้อ่านเพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้ที่พวกเขาคิดว่าสมควรได้รับรางวัลดังกล่าว[129]

ในงานประกาศผลรางวัลแกรมมีครั้งที่ 52 เซลีนได้ร่วมแสดงกับสโมกีย์ โรบินสัน, อัชเชอร์, เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน และแคร์รี อันเดอร์วูดเพื่อุทิศให้แก่ไมเคิล แจ็กสัน[130] โดยศิลปินทั้งห้าคนร่วมร้องเพลง "เอิร์ธซอง" ของไมเคิลหน้าจอยักษ์ 3 มิติ[131]

ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553 เซลีนจะออกจำหน่ายอัลบั้มบันทึกการแสดงสด เทกกิงแชนเซสเวิลด์ทัวร์: เดอะคอนเสิร์ต ในรูปแบบซีดีและดีวีดี และวีดิทัศน์ภาพยนตร์เรื่อง เซลีน: ธรูดิอายส์ออฟเดอะเวิลด์ ในรูปแบบดีวีดีและบลูเรย์ ทั้งสองยังประกอบด้วยฉบับดีลักซ์และบุกเล็ต 52 หน้าพร้อมโปสการ์ด[132][133]

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2553 เซลีนได้ออกซิงเกิล "โวเลอร์" (ฝรั่งเศส: Voler) ผลงานเพลงซึ่งขับร้องร่วมกับ Michel Sardou ซึ่งบรรจุในอัลบั้มเพลงของ Sardou[134] นอกจากนี้เธอยังประกาศในเดือนตุลาคมปีเดียวกันว่าเธอได้ประพันธ์เพลงใหม่ให้แก่มาร์ด กูเปร นักร้องชาวแคนาดา ชื่อว่า "Entre deux mondes"[135]

2554 ถึงปัจจุบัน เซลีน ซ็องซาต็องดร์ และ เลิฟด์มีแบ็กทูไลฟ์ แก้

จากบทสัมภาษณ์ใน นิตยสารพีเพิล ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เซลีนประกาศว่าเธอจะกลับไปแสดงยังซีซาร์สพาเลสในนครลาสเวกัสในการแสดงชุด เซลีน เป็นการแสดงทั้งสิ้น 3 ปี โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554[136] เธอกล่าวว่าการแสดงชุดนี้จะรวม "ทุกเพลงของฉันที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีที่ทุกคนอยากได้ยิน" รวมไปถึงเพลงที่คัดสรรจากภาพยนตร์คลาสสิกของฮอลลีวูด[137] เซลีนประกาศว่าเธอกำลังทำงานในสองอัลบั้มใหม่ทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษโดยร่วมกับเอ. อาร์. ราห์แมน ผู้ได้รับรางวัลอะคาเดมีสาขาดนตรี ซึ่งประพันธ์เพลงใหม่ให้เธอสองเพลง[138][139]

การเตรียมการในการกลับมาของเธอสู่ลาสเวกัส ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เซลีนได้ให้บทสัมภาษณ์พิเศษในรายการ เดอะโอปราห์วินฟรีย์โชว์ ขณะการแสดงในฤดูกาลสุดท้ายซึ่งเป็นครั้งที่ 27 ในการเยือนรายการดังกล่าว[140] และกล่าวถึงการแสดงที่ซีซาร์พาเลซของเธอรวมถึงครอบครัวของเธอ[141] นอกจากนี้เธอยังร่วมแสดงในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 81 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 โดยขับร้องเพลง "สไมล์" ในช่วงรำลึกศิลปินในอดีต[142] ในวันที่ 4 กันยายน เซลีนร่วมในงาน เอ็มดีเอเลเบอร์เทเลธอน 2011 (2011 MDA Labor Telethon) โดยเปิดคลิปที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ในเพลง "โอเพนอาร์มส" จากการแสดงที่ลาสเวกัสของเธอ[143] ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 OWN Network ได้ปฐมทัศน์สารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเซลีนตั้งแต่ก่อนการคลอดบุตรชายแฝดของเธอรวมไปถึงขั้นตอนการผลิตการแสดงที่ลาสเวกัสในชื่อ "Celine: 3 Boys and a New Show" หรือ "เซลีน: บุตรชาย 3 คนกับการแสดงชุดใหม่"[144] สารคดีดังกล่าวได้รับการจัดอันดับที่สองของ OWN ในแคนาดา ในเดือนตุลาคม FlightNetwork.com ได้จัดทำผลสำรวจสอบถามผู้ร่วมสัมภาษณ์ 780 คน ว่าผู้มีชื่อเสียงคนใดที่คุณอยากนั่งข้าง ๆ ตอนอยู่บนเครื่องบิน โดยเซลีนได้รับเลือกสูงสุดในร้อยละ 23.7[145] เช่นเดียวกับในเดือนกันยายน เซลีนได้ออกจำหน่ายน้ำหอมลำดับที่ 14 ชื่อ "ซิกเนเจอร์" (Signature)[146] ในวันที่ 15 กันยายน เซลีนปรากฏในคอนเสิร์ต คอนแชร์โต: วันไนต์อินเซ็นทรัลปาร์ค ของอานเดรอา โบเชลลี ณ เซ็นทรัลปาร์ค นิวยอร์ก[147] ในปี พ.ศ. 2555 เซลีนได้แสดงในงานเทศกาลแจ็สแอนด์บลูส์ประจำปี ค.ศ. 2012 ในจาไมกา[148]

ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 เซลีนเข้าบันทึกเสียงสำหรับอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษชุดใหม่ของเธอ[149] อัลบั้มภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า ซ็องซาต็องดร์ ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555[150] ส่วนอัลบั้มภาษาอังกฤษเลื่อนกำหนดการออกจำหน่ายเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556[151] ในชื่อ เลิฟด์มีแบ็กทูไลฟ์ ซึงเธอได้ร่วมงานกับนักประพันธ์เพลงและโปรดิวเซอร์ที่หลากหลาย และได้บันทึกเสียงร่วมกับเน-โยและสตีวี วันเดอร์[152] โดยออกซิงเกิลแรกเพลง "เลิฟด์มีแบ็กทูไลฟ์" เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556[153] จากความสำเร็จของอัลบั้ม ซ็องซาต็องดร์ เซลีนจึงได้จัดทัวร์คอนเสิร์ต ซ็องซาต็องดร์ทัวร์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ในประเทศเบลเยียมและฝรั่งเศส[154]

ชีวิตส่วนตัว แก้

เซลีนพบเรอเน อองเชลลีล สามีและผู้จัดการส่วนตัวของเธอครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 เมื่อเธออายุได้ 12 ปี และเรอเนอายุ 38 ปี ภายหลังที่เธอและมารดาส่งเดโมเทปในเพลงที่พวกเขาประพันธ์กันเอง ทั้งสองเริ่มต้นความสัมพันธ์ในปี พ.ศ. 2530 หมั้นในปี พ.ศ. 2534 จนกระทั่งเข้าพิธีสมรสในวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 2537 ณ โบสถ์นอร์ต-เดม บาซิลิกา ในเมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ทั้งสองจัดพิธีสมรสกันอีกครั้งในวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2543 ณ เมืองลาสเวกัส เซลีนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 เซลีนเข้ารับการผ่าตัด ณ คลินิกกำเนิดบุตรในนิวยอร์กเพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ ต่อมาเธอตัดสินใจใช้วิธีเด็กหลอดแก้วแทนจนกระทั่งให้กำเนิดบุตรคนแรกในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2544 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 เรอเนประกาศว่าเซลีนตั้งครรภ์แฝดคู่ได้ 14 สัปดาห์แล้ว ภายหลังการทดลองเด็กหลอดแก้วกว่า 6 ครั้ง ในวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เซลีนได้ให้กำเนิดบุตรแฝดชายของเธอในเวลา 11:11 น. และ 11:12 น. ตามลำดับ ณ ศูนย์การแพทย์เซนต์แมรี ณ เวสค์ปาล์มบีช รัฐฟลอริด้า[155] แฝดทั้งสองได้ชื่อว่า "เอ็ดดี" ตามเอ็ดดี มาร์เนย์ นักประพันธ์เพลงคนโปรดของเซลีน และ "เนลสัน "ตามเนลสัน เมดัลลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้[156] เซลีนปรากฏในภาพปกนิตยสาร พิเพิล ในฉบับวนที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 พร้อมบุตรแฝดทั้งสองของเธอ[157] เซลีนถ่ายแบบพร้อมบุตรชายแรกเกิดของเธอบนปกนิตยสาร เฮลโล! ของแคนาดาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553[158]

ภาพลักษณ์ แก้

 
ดาวเจ็ดแฉกแห่งแคนาดาส์วอล์กออฟเฟม (ซ้าย) และดาห้าแฉกแห่งฮอลลีวูดวอล์กออฟเฟม (ขวา) จารึกชื่อเซลีน ดิออน

ในวัยเยาว์ เซลีนเติบโตขึ้นด้วยเสียงเพลงจากศิลปินต่าง ๆ เช่น อารีธา แฟรงคลิน, ไมเคิล แจ็กสัน, คาโรล์ คิง, แอน มัวเรย์, บาร์บรา สตรัยแซนด์ และวงบีจีส์ ซึ่งในภายหลังได้ร่วมงานดนตรีกับเธอด้วย ระหว่างที่เธอเล่นที่บาร์เปียโนของพ่อแม่ร่วมกับพี่น้องของเธอ เธอได้ร้องเพลงหลายเพลงของ Ginette Reno และนักร้องชื่อดังชาวควิเบกอีกหลายคน เธอยังชื่นชอบผลงานของ เอดิต เพียฟ, เซอร์เอลตัน จอห์น และลูชิอาโน ปาวารอตติ นักร้องโอเปร่า และนักร้องแนวโซลอีกหลายคนในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960, 1970, 1980 รวมทั้งโรเบอร์ตา เฟลค, เอตตา เจมส์ และแพตตี ลาเบลล์ ซึ่งเธอได้นำเพลงของนักร้องเหล่านี้มาร้องใหม่ในภายหลัง ทักษะภาษาอังกฤษของเธอได้รับอิทธิพลหลากหลายแนวเพลง ทั้งป๊อป, ร็อก, กอสเปล, อาร์แอนด์บี และโซล เนื้อเพลงของเธอมุ่งประเด็นในเรื่องของความยากจน, ความอดอยากของโลก, ลักษณะของจิตวิญญาณ ด้วยความรักและโรแมนติก[29][46] ภายหลังที่เธอให้กำเนิบุตรชาย แนวเพลงของเธอได้เปลี่ยนไปเน้นความสัมพันธ์ และความรักแบบพี่น้อง เซลีนต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ที่กล่าวว่าเพลงของเธอนั้นมักจะเป็นแนวป๊อป และโซล ซึ่งอ่อนไหวมากเกินไป[6][55][56] เคธ แฮร์ริส จากนิตยสาร โรลล์ลิงสโตน ได้กล่าวไว้ว่า "อารมณ์เพลงของเซลีนนั้นมีลวดลาย และความท้าทายมากกว่าความสงบเสงี่ยมเรียบร้อย และสันโดษ... [เธอ]ยืนอยู่บนจุกสุดท้ายของโซ่แห่งการเปลี่ยนตำแหน่งระหว่างอาธีรา, วิทนีย์ และมารายห์... เซลีนยืนอยู่บนสัญลักษณ์ของความรู้สึกแนวเพลงป๊อป ยิ่งใหญ่ยิ่งดี มากเกินไปแต่ไม่เคยพอ ยิ่งแบ่งอารมณ์เพลงยิ่งทำให้รู้สึกถึงอารมณ์อันแท้จริง"[159] อัลบั้มภาษาฝรั่งเศสของเซลีนเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ดนตรีมีแนวโน้มที่ลึกขึ้น และหลากหลายมากกว่าเพลงในภาษาอังกฤษ ผลลัพธ์ก็คือความสำเร็จ และมีชื่อเสียงมากกว่าอัลบั้มภาษาอังกฤษ[160][27]

เซลีนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลในโลก[161][27][6] และจากบางแหล่งข้อมูล เธอมีความสามารถร้องเพลงได้ 5 อ็อกเตฟ[162] ในการนับถอยหลัง "22 เสียงสุดยอดทางดนตรี" โดยนิตยสาร เบล็นเดอร์ และ เอ็มทีวี เธอได้อันดับที่ 9 (อันดับที่ 6 ในผู้หญิง) และอยู่ในอันดับที่ 4 ในนิตยสาร โคฟ (อังกฤษ: Cove') ในรายชื่อ "100 ศิลปินป๊อปที่โดดเด่นที่สุด"[8][163][164] ในผลงานแรกของเธอ นักวิจารณ์หลายคนต้อนรับเธอด้วยการวิจารณ์เสียงของเธอ และยกย่องความเชี่ยวชาญ, ความเข้มของการร้องเพลง ชาร์ลส์ อเล็กซานเดอร์ จากนิตยสาร ไทม์ กล่าวว่า "เสียงของเธอผ่านไปอย่างราบเรียบอย่างง่ายดาย จากเสียงกระซิบลึก ๆ สู่เสียงสูง เสียงหวาน ๆ ของเธอประกอบด้วยพลังและความสง่างาม"[19] แม้ว่าเซลีนมีความก้าวหน้าทางดนตรี แต่การร้องของเธอมีความใกล้เคียงกับเพลงร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทนีย์ ฮูสตัน และมารายห์ แครี[165] และเธอได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องของการร้องเพลงที่เกินไป และขาดอารมณ์ร่วม ซึ่งพบได้ในผลงานช่วงแรก ๆ ของเธอ[59][39] นักวิจารณ์คนหนึ่งได้กล่าวว่าอารมณ์ของเธอ "เหมือนได้รับการฝึกมา โดยปราศจากความรักในเสียงของเธอ" และกล่าวว่าเธอ "ใช้เสียงมากกว่าหัวใจ"

นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่าเซลีนมีส่วนร่วมในงานด้านการสร้างเพลงของเธอน้อยมาก ซึ่งทำให้ผลงานของเธอมีมากเกินไป[162] และไม่เป็นตัวของเธอ[27] นอกจากนี้ ขณะที่เธอเติบโตมากับครอบครัวที่พี่น้องเป็นนักดนตรีทั้งหมด แต่เธอไม่เคยได้เรียนวิธีการเล่นเครื่องดนตรีอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เธอช่วยในการประพันธ์เพลงภาษาฝรั่งเศสในช่วงแรก ๆ ของเธอ และพยายามที่จะมีส่วนร่วมในงานด้านการผลิต และบันทึกเสียงในอัลบั้มของเธอ ในอัลบั้มภาษาอังกฤษอัลบั้มแรกของเธอ ซึ่งเธอบันทึกเสียงในช่วงที่เธอยังไม่แตกฉานทางภาษาอังกฤษมากนัก เป็นผลให้เธอไม่สามารถแสดงความสามารถของเธอออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเธอควรนำความสร้างสรรค์ใส่เข้าไปมากกว่านี้[27] ต่อมาเธอได้ออกอัลบั้มภาษาอังกฤษลำดับที่ 2 เซลีนดิออน เธอมีส่วนร่วมในงานการสร้างและบันทึกเสียงมากขึ้น ด้วยความหวังที่จะลบล้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เดิม ๆ ให้หมดไป เธอกล่าวว่า "ในอัลบั้มที่ 2 ฉันมีทางเลือกที่จะกลัวอีกครั้ง และไม่มีความสุข 100% หรือว่าเลิกหวาดกลัว และเป็นส่วนหนึ่งของอัลบั้ม นี่คืออัลบั้มของฉัน"[27] เธอร่วมงานด้านการสร้างและการบันทึกเสียงในอัลบั้มชุดต่อ ๆ มา ช่วยประพันธ์เพลงในบางเพลง เช่น ในเพลงของอัลบั้ม เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ และ ดีสอาร์สเปเชียลไทม์[166]

แม้เธอจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังคงเป็นประเด็นของสื่อมวลชนในการเขียนเรื่องล้อเลียน และเรื่องตลก เธอมักถูกเลียนแบบในรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ เช่น MADtv, แซทเทอร์เดย์ไนต์ไลฟ์ และ เซาท์ปาร์ค ในเรื่องของการออกเสียงของเธอ, ความอนุรักษนิยม และการเคลื่อนไหวของเธอบนเวที เธอยังถูกเลียนแบบในรายการ รอยัลคะเนเดียนแอร์ฟารส์ และ ดีสอาวร์แฮสทเวนตีทูมินิทส์ อย่างไรก็ตาม เซลีนได้กล่าวว่าเธอไม่ได้รู้สึกอะไรจากการล้อเลียนดังกล่าว และเธอรู้สึกยินดีที่มีคนเลียนแบบเธอ[68] เธอเชิญ Ana Gasteyer ผู้เขียนล้อเลียนเธอในเอสเอ็นแอลบนเวทีการแสดงของเธอครั้งหนึ่ง เซลีน ดิออน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนน้อยครั้งมาก อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2548 หลังจากเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนแคทรินาพัดถล่มสหรัฐอเมริกา เซลีนได้วิจารณ์รัฐบาลแห่งรัฐลุยเซียนาผ่านทางรายการแลร์รีคิงไลฟ์ (อังกฤษ: Larry King Live) ถึงความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุดังกล่าว เซลีนร้องไห้น้ำตานองใบหน้าและกล่าวว่า "เราต้องไปที่นั่นในทันใด เพื่อช่วยผู้คนที่เหลือรอดอยู่ คราวที่ส่งกองรบไปสังหารผู้คนในตะวันออกกลางนั้นกลับทำได้ในไม่กี่วินาที แต่เหตุใดคราวที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นการรีบด่วนภายในประเทศกลับทำได้ช้า"[167] ภายหลังเซลีนแถลงว่า "ตอนที่ฉันให้สัมภาษณ์ในรายการแลร์รีคิงไลฟ์ซึ่งเป็นรายการสำคัญขนาดนั้น ฉันรู้สึกตกเป็นเป้าสายตาซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนจะวางตัวลำบากนัก ฉันย่อมมีความคิดความเห็นเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ก็เป็นไปตามประสานักร้อง เพราะฉันไม่ใช่นักการเมือง"[168]

กิจกรรมการกุศลและงานอื่น ๆ แก้

งานอื่น ๆ แก้

นอกจากการร้องเพลงแล้ว เซลีนยังได้เปิดแฟรนไชส์ร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อว่า "Nickels Grill" ในปี พ.ศ. 2533 และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 สายการบินแห่งชาติแคนาดาได้เลือกเซลีน ดิออน เป็นพรีเซ็นเตอร์โปรโมตแคมเปญเที่ยวบินพิเศษ และเครื่องบินใหม่ของสายการบิน โดยเลือกเพลง "ยูแอนด์ไอ" (อังกฤษ: You and I) ซึ่งเป็นผลงานการขับร้องของเซลีน เป็นเพลงหลักในการโปรโมตครั้งนี้[169] นอกจากนี้เซลีนยังออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำหอมและแว่นตา โดยเซ็นสัญญากับบริษัทโคตี้ จำกัด ในด้านการดูแลการผลิต[170][171][172] และล่าสุดเซลีนได้ออกจำหน่ายน้ำหอมชื่อ "เซลีนดิออน" รุ่นเซนเซชันแนล (อังกฤษ: Sensational) และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เซลีนเตรียมออกจำหน่ายน้ำหอมรุ่นใหม่ลำดับที่ 6 ในชื่อว่า ชิก[173] น้ำหอมตราเซลีน ดิออน ได้รับรางวัลมากมาย เช่น รายวัล FiFi 2 รางวัล[174][175] โดยตั้งแต่เริ่มการจำหน่ายน้ำหอมของเธอตั้งแต่ พ.ศ. 2545 น้ำหอมของเธอทำรายได้กว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[176]

กิจกรรมการกุศล แก้

เซลีนได้ให้ความช่วยเหลือมูลนิธิ, องค์กรการกุศลทั่วโลก โดยเฉพาะกองทุนเพื่อผู้ป่วยโรคซิสติก ไฟโบรสิสของแคนาดา (อังกฤษ: Canadian Cystic Fibrosis Foundation (CCFF)) ตั้งแต่ พ.ศ. 2525[177] โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคาเรน หลานสาวของเธอที่เสียชีวิตด้วยโรคซิสติก ไฟโบรสิสตั้งแต่อายุ 16 ปี ในปี พ.ศ. 2546 เซลีนได้เข้าร่วมในโครงการจัดคอนเสิร์ตวันเด็กโลก (อังกฤษ: World Children's Day) ร่วมกับจอช โกรแบน และ Yolanda Adams มีผู้ร่วมสนับสนุนเช่น แม็คโดนัลด์ รายได้จากการจัดงานครั้งนี้ได้บริจาคแก่มูลนิธิเด็กกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรเกี่ยวกับสุขภาพของเด็ก นอกจากนี้เซลีนยังเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของมูลนิธิ T.J. Martell กองทุนของเจ้าหญิงไดอาน่าแห่งเวลส์ และกองทุนด้านสุขภาพและการศึกษาอีกมากมาย เซลีนร่วมบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา และยังเคยจัดรายการการกุศลหาทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ซึ่งมียอดบริจาครวมกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[178] และล่าสุดหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวนของจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 เซลีนบริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐแก่กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชนของจีน พร้อมสาสน์แสดงความเสียใจอีกด้วย[179]

ผลงาน แก้

ผลงานเพลง แก้

เซลีน ดิออน มีผลงานด้านดนตรีมากมาย ด้านล่างนี้เป็นผลงานของเซลีน ดิออน ในขณะที่สังกัดค่ายโซนีมิวสิกที่บันทึกในห้องบันทึกเสียง ผลงานของเซลีน ดิออนดูได้ที่ ผลงานอัลบั้มเพลงของเซลีน ดิออน และ ผลงานซิงเกิลของเซลีน ดิออน

ซิงเกิล แก้

ปี ซิงเกิล อันดับสูงสุด
แคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส
2533 "แวร์ดัสมายฮาร์ตบีตนาว" 6 4 72 20
2535 "อิฟยูอาสกต์มีทู" 3 4 57
"บิวตีแอนด์เดอะบีสต์ " 2 9 9
2536 "เดอะพาวเวอร์ออฟเลิฟ" 1 1 4 3
"เอิงการ์ซงปาก็อมเลโซตร์ (ซิกกี)" 1
2537 "ธิงทไวซ์" 13 95 1 --
2538 "ปูร์เกอตูแมมอองกอร์" -- -- 7 1
"เชอเซปา" 1
2539 "บีคอสยูเลิฟด์มี" 1 1 5 19
"อิตส์ออลคัมมิงแบ็กทูมีนาว" 2 2 3 13
2540 "ออลบายมายเซลฟ์" 4 6 5
"เทลล์ฮิม" 12 3 4
2541 "เดอะรีซัน" 11 1
"มายฮาร์ตวิลโกออน" 1 1 1 1
"อิมมอร์ทอลิตี" 5 15
"แอมยัวร์แองเจิล" (ร้องกับ R. Kelly) 37 1 3 97
"ซีลซูฟฟีเซแดมเม " 4
2543 "ไอว็อนต์ยูทูนีดมี" 1
2544 "ซูเลอวอง" (คู่กับ การู) 14 1
2545 "อะนิวเดย์แฮสคัม" 2 22 7 23
2546 "ไอโดรฟออลไนต์" 1 45 27 22
"ตูลอร์เดซอม" 2 3
2548 "เชอเนอวูอูบลีปา" 1 2
2550 "เอซีลนองแรสเตกวีน (เชอเซอเรแซล-ลา)" 1
ซิงเกิลอันดับ 1 8 5 4 8

คอนเสิร์ตทัวร์ แก้

ปี (พ.ศ.) ชื่อทัวร์ รูปแบบ/ชื่อสื่อบันทึกการแสดง
2526-2527 คอนเสิร์ตทัวร์เลเชอแมงเดอมาแมซง
Les chemins de ma maison tournée
ไม่มี
2528 คอนเสิร์ตทัวร์เซปูร์ตัว
C'est pour toi tournée
ไวนิล เซลีน ดิออน อองกงแซร์
2531 คอนเสิร์ตทัวร์แองกอญีโต
Incognito tournée
ไม่มี
2533-2534 คอนเสิร์ตทัวร์ยูนิซัน
Unison Tour
วิดีโอ ยูนิซัน
2535-2536 คอนเสิร์ตทัวร์เซลีนดิออน
Celine Dion Tour
ไม่มี
2537-2538 คอนเสิร์ตทัวร์เดอะคัลเลอร์ออฟมายเลิฟ
The Colour of My Love Tour
ดีวีดี, วีซีดี, วิดีโอ เดอะคัลเลอร์ออฟมายเลิฟคอนเสิร์ต; ซีดี อาโลแล็งปียา
2538 คอนเสิร์ตทัวร์เดอ
D'eux Tour
ดีวีดี, วิดีโอ ไลฟ์อาปารี; ซีดี ไลฟ์อาปารี
2539-2540 คอนเสิร์ตทัวร์ฟอลลิงอินทูยู
Falling into You Tour
ดีวีดี, วีซีดี, วิดีโอไลฟ์อินเมมฟิส
2541-2542 คอนเสิร์ตทัวร์เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ
Let's Talk About Love Tour
ดีวีดี, วีซีดี โอเกอร์ดูสตาด ; ซีดี โอเกอร์ดูสตาด
2546– 2550 อะนิวเดย์...
A New Day...
ดีวีดี, บลูเรย์ ไลฟ์อินลาสเวกัส - อะนิวเดย์...; ซีดี อะนิวเดย์... ไลฟ์อินลาสเวกัส
2551-2552 คอนเสิร์ตทัวร์เทกกิงแชนเซส
Taking Chances Tour
ดีวีดี, บลูเรย์ เซลีนซูร์เลแปลน; ดีวีดี, บลูเรย์ เซลีน: ธรูดิอายส์ออฟเดอะเวิลด์; ดีวีดี/ซีดี เทกกิงแชนเซสเวิลด์ทัวร์: เดอะคอนเสิร์ต
2554-2557 เซลีน
Celine
ไม่มี
2556 ซ็องซาต็องดร์ทัวร์
Sans attendre Tour
ดีวีดี, บลูเรย์, ซีดี เซลีน... อูว์นเซิลฟัว / ไลฟ์ 2013

ผลงานการแสดง แก้

ละครชุด แก้

อ้างอิง แก้

  1. Legion of Honour. (2008, 22 May). [Online]. Available: http://www.celinemaniacs.com/news_e.html. (22 May 2008).
  2. 2.0 2.1 CelineDion.com. (2008, 18 May). Celine To Receive the French Legion of Honor Medal. [Online]. Available: http://www.celinedion.com/celinedion/english/whatsgoinon_pr.cgi?id=41 เก็บถาวร 2010-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (22 May 2008).
  3. Celine Dion เก็บถาวร 2008-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Grammy.com. Retrieved July 23, 2008.
  4. Britannica.com. Céline Dion เรียกข้อมูลวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2549
  5. ประวัติเซลีน ดิออน "Canoe Jam!" สืบค้นวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 "The Canadian Encyclopedia". Céline Dion Biography. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-10. สืบค้นเมื่อ July 14, 2006.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Alexander, Charles P. (7 March 2004). "The Power of Celine Dion". Time. สืบค้นเมื่อ 25 September 2013.
  8. 8.0 8.1 "Cove Magazine". The 100 Outstanding Pop Vocalists. สืบค้นเมื่อ August 29, 2006.
  9. Dion, Lavigne score trophies at World Music Awards. CBC News.ca November 5, 2007 เรียกข้อมูลวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  10. Celine Dion, Patti LaBelle to be honored at World Music Awards in Monaco เก็บถาวร 2008-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน International Herald Tribune November 2007 เรียกข้อมูลวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
  11. แดล โซนี่ บีเอ็มจี เรียกข้อมูลวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
  12. 12.0 12.1 12.2 12.3 "Profiles of Celine Dion, Enrique Iglesias, Moby." Paula Zahn, Charles Molineaux, Gail O'Neill. People in the News. May 18, 2002. Transcript.
  13. 13.0 13.1 ข่าวซีลีน ดิออน ฮอลลีวู้ดสตาร์[ลิงก์เสีย]
  14. Germain, Georges-Herbert (1998). Céline: The Authorized Biography. translated by David Homel and Fred Reed. Dundurn Press. p. 16. ISBN 1-55002-318-7.)
  15. Céline Dion. Rock on the Net. สืบค้นเมื่อ 20 November 2005
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 ประวัติเซลีน ดิออน "Canoe Jam!" เรียกข้อมูลวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  17. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ autogenerated20
  18. O'Connor, John Kennedy (2007-04-02). The Eurovision Song Contest - The Official History. UK: Carlton Books. ISBN 978-1-84442-994-3.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 Alexander, Charles P. "The Arts & Media/Music: At Age Five She Belted Out French pop tunes standing atop tables." Time International. February 28, 1994. pg 44.
  20. เซลีน ดิออน เก็บถาวร 2010-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย VH1.com เรียกข้อมูลวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2548
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 Bombardier, Denise (2009). L'énigmatique Céline Dion (ภาษาฝรั่งเศส). Albin Michel, XO éditions. pp. 172–173. ISBN 978-2-84563-413-8.
  22. 22.0 22.1 22.2 Germain, Georges-Hébert (2010). René Angélil: Derrière le conte de fées. Michel Lafon. p. 279-280.
  23. Farber, Jim (25 January 1991). "Review—Céline Dion Unison". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 June 2009. สืบค้นเมื่อ 10 February 2012.
  24. "Allmusic". Review--Céline Dion Unison. สืบค้นเมื่อ November 18, 2005.
  25. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Bliss
  26. 26.0 26.1 Alexander, Charles P. 9171, 980285, 00.html The Power of Celine Dion[ลิงก์เสีย]". Time 7 มีนาคม พ.ศ. 2537 เรียกข้อมูลวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2551
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 "Celine Dion." Newsmakers 1995, Issue 4. Gale Research, 1995.
  28. 28.0 28.1 28.2 "Celine Dion." Contemporary Musicians, Volume 25. Gale Group, 1999.
  29. 29.0 29.1 29.2 Celine Dion, The Colour of My Love เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Plugged in สืบค้นวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  30. "Celinedion.com". The Journey so Far. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-06. สืบค้นเมื่อ August 16, 2005.
  31. 31.0 31.1 31.2 "Celine Dion." Compton's by Britannica. Encyclopedia Britannica. 2005.
  32. 32.0 32.1 All Music Guide. "Review- Let's Talk About Love." November 1998. เรียกข้อมูลวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
  33. "If Ella Fitzgerald is the queen of jazz, Billie Holiday first lady of the blues, and Aretha Franklin the queen of soul, then who is the queen of pop? In the 1990s, it would seem to be a three-way tie between Whitney Houston, Mariah Carey, and Celine Dion. Certainly all three have their devotees and detractors, but their presence has been inescapable." in Lister, Linda (2001). "Divafication: The Deification of Modern Female Pop Stars". Popular Music and Society. Vol. 25 no. 3/4. p. 1. ISSN 0300-7766.
  34. All Music Guide. "Review- The Colour of My Love" สืบค้นวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 (อังกฤษ)
  35. 35.0 35.1 Jerome, Jim. "The Dream That Drives Her. (Singer Celine Dion) (Interview)", Ladies Home Journal, 1 November 1997. 146(4).
  36. 36.0 36.1 "Entertainment Weekly". Review --Falling into You. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 January 2009. สืบค้นเมื่อ 14 July 2006.
  37. "Yahoo Music". Review --Falling into You. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-17. สืบค้นเมื่อ November 1, 2005.
  38. Stephen, Holden. Review: Falling into you. New York Times. (Late Edition (East Coast) ). New York, N.Y.: April 14, 1996. pp. 2.30, 2 pgs)
  39. 39.0 39.1 Nichols, Natalie. Pop music review: The Grammy Winner is Charming At the Universal Amphitheatre But Her Singing Still Lacks Emotional Connection. Los Angeles Times. Los Angeles: March 27, 1997. p. 47)
  40. "Allmusic". Review --Falling into You. สืบค้นเมื่อ November 1, 2005.
  41. "Angelfire.com". Céline Dion Discography. สืบค้นเมื่อ November 1, 2005.
  42. 42.0 42.1 "423645, 00.html Celine Dion[ลิงก์เสีย]." Artistdirect.com เรียกข้อมูลวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  43. Carwell, Nikea. "Over the Years." Variety. November 13, 2000. p. 66. Volume: 380; Number: 13. ISSN: 00422738.
  44. "Celine Dion, เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ เก็บถาวร 2008-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน พลักด์อิน เรียกข้อมูลวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  45. เซลีน ดิออน Junior Canadian Encyclopedia (2002) . Historica Foundation of Canada. 2002.
  46. 46.0 46.1 "เซลีน ดิออน เล็ตส์ทอล์กอะเบาต์เลิฟ เก็บถาวร 2008-08-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" พลักด์อิน เรียกข้อมูลวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  47. 47.0 47.1 Weatherford, Mike (2004). "Show review: As Dion feels more comfortable, her show improves". Reviewjournal.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-10-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-02.
  48. 2225054, 00.html The Guardian[ลิงก์เสีย]. 'People are jealous' . December 10, 2007. สืบค้นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  49. "Babs, Pavarotti, Others May Sing With Celine เก็บถาวร 2009-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Rolling Stone. August 6, 1998. สืบค้นวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  50. 50.0 50.1 Taylor, Chuck. "Epic/550's Dion offers Hits." Billboard. November 6, 1999. p. 1.
  51. Lewis, Randy. "Album Review / Pop; Celine Dion Aims to Be the Christmas Star; These Are Special Times. Los Angeles Times. October 1998. F-28.
  52. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Chuck
  53. "canadaswalkoffame.com". Canada's Walk of Fame. สืบค้นเมื่อ October 30, 2006.
  54. "That thing: Lauryn Hill sets Grammy record." CNN. February 24, 1999. เรียกข้อมูลัวนที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  55. 55.0 55.1 "findarticles.com". The unsinkable Céline Dion - French-Canadian singer - Interview. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ December 5, 2005.
  56. 56.0 56.1 "Yahoo Music". Let's Talk About Love:Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-13. สืบค้นเมื่อ November 30, 2005.
  57. Stewart, Allison. Review:All the Way...A decade of Song. Chicago Tribune. Chicago, Ill.: December 12, 1999. p. 10)
  58. Gardner, Elysa. "Review: Falling Into You". Los Angeles Times: 16 November 1997, p. 68
  59. 59.0 59.1 Dollar, Steve. Review: These Are Special Times. The Atlanta Constitution. Atlanta, Georgia: November 3, 1998. p. C.01)
  60. "The Ultimate Diva" ซีเอ็นเอ็น October 22, 2002. เรียกข้อมูลวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550
  61. "VH1". Céline Dion: Let's Talk About Success: The Singer Explains Her Career High-Points. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-30. สืบค้นเมื่อ December 19, 2005.
  62. King, Larry. Larry King Live. Personal Interview Interview With Celine Dion. CNN. March 26, 2002.
  63. ข่าวบีบีซี "Celine sues US tabloid for $20 m". February 29, 2000. เรียกข้อมูลวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
  64. Court TV Online เก็บถาวร 2008-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. " Celine Dion Sues National Enquirer Over Twin Pregnancy Story." February 29, 2000. เรียกข้อมูลวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
  65. CNN เก็บถาวร 2007-01-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "Celine Dion Gives Birth to Baby Boy." January 25, 2001. เรียกข้อมูลวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
  66. Pappas, Ben. "Celine fights for her marriage." Us. April 22, 2002. pg 30.
  67. Taylor, Chuck. Céline Dion: God Bless America. บิลบอร์ด magazine. New York: October 6, 2001. Vol.113, Iss. 40; pg. 22, 1 pgs.
  68. 68.0 68.1 "VH1". Céline Dion: Let's Talk About Success: The Singer Explains Her Career High-Points. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-03-30. สืบค้นเมื่อ December 19, 2005.
  69. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Trans
  70. Tyrangiel, Josh. "Heart, No Soul." Time; Canadian edition. April 8, 2002. pg. 61
  71. "Rolling Stone". Review--A New Day has come. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-15. สืบค้นเมื่อ November 1, 2005.
  72. 219376, 00.html Entertainment Weekly[ลิงก์เสีย]. "Album Review: A New Day Has Come." March 22, 2002. Retrieved May 17, 2007.
  73. "Slant Magazine". Review--A New Day Has Come. สืบค้นเมื่อ July 18, 2006.
  74. Flick, Larry. One Heart. Billboard magazine. New York: March 29, 2003. Vol.115, Iss. 13; pg. 30, 1 pgs
  75. "Allmusic". Review--One Heart. สืบค้นเมื่อ July 17, 2006.
  76. Durchholz, Daniel. One Heart:Céline's a Diva Who Still Goes On and On. St.Louis Post - Dispatch. St. Louis, Mo.: April 24, 2003. p. F.3
  77. Stein, Jason. "Celine Dion sings flat for Chrysler." Automotive News. November 24, 2003. Volume 78.
  78. Murray, Sonia. Céline Dion's latest takes easy, well-worn route. The Atlanta Journal–Constitution. Atlanta, Georgia: March 25, 2003. pg. C.1.
  79. Taylor, Chuck. Céline Dion: "Beautiful Boy". Billboard. New York: October 16, 2004. Vol.116, Iss. 42; pg. 33, 1 pgs
  80. Arnold, Chuck. "Review: Celine Dion, Miracle." People Magazine. November 22, 2004. pg, 48.
  81. "Entertainment Weekly". Review: Miracle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2007. สืบค้นเมื่อ 30 November 2005.
  82. "Allmusic". Review--1 Fille & 4 Types. สืบค้นเมื่อ November 20, 2005.
  83. Gardner, Elysa. Mariah Carey, 'standing again'. USA Today. November 28, 2002. สืบค้นวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  84. Diamond Award. World Music Awards. สืบค้นวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551 (อังกฤษ)
  85. 85.0 85.1 Helligar, Jeremy. "Celine Dion livin' la vida Vegas!." Us. March 31, 2003, p. 56.
  86. Di Nunzio, Miriam. 'A New Day': Vegas gamble pays off for Céline Dion". Chicago Sun-Times, March 20, 2005.
  87. "Dion extends long Las Vegas stint". BBC. September 19, 2004.
  88. "Billboard.com". U2 Tops Billboard's Money Makers Chart. สืบค้นเมื่อ January 25, 2006.
  89. "You Tube". Céline Dion. สืบค้นเมื่อ October 20, 2006.
  90. "BBC News". Céline Dion is leaving Las Vegas. สืบค้นเมื่อ January 5, 2007.
  91. "Celine Dion debuts new single, "Taking Chances"... new Album and Worldwide tour, to come!". Key Dates: December 11, 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-16. สืบค้นเมื่อ 2008-10-05.
  92. เว็บไซต์ของโซนี บีเอ็มจี ประเทศไทย เก็บถาวร 2008-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เซลีน ดิออน - ไลฟ์อินลาสเวกัส อะนิวเดย์... เรียกข้อมูลวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551
  93. "Celine Dion". International Superstar Celine Dion Dominates the Charts with a #1 Debut. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-16. สืบค้นเมื่อ June 1, 2007.
  94. "celinedion.com เก็บถาวร 2009-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. "What's Goin' On. Taking Chances - Celine's New English Album." August 24, 2007. Retrieved May 9, 2007.
  95. Eva Simpson; Caroline Hedley. "3AM: Celine Dion." Daily Mirror. July 30, 2007.pg 17.
  96. Johnson, Kevin C. "Ne-Yo Rides His R&B Vision to the Top." Saint Louis Post-Dispatch. June 21, 2007. p. 5.
  97. Taylor, Chuck. "Celine Ready To Take 'Chances' On New Album". Billboard. September 11, 2007. Retrieved September 13, 2007.
  98. "Coming attractions: Dion channels cool, fiesty 'Woman'". USA Today. September 13, 2007.
  99. "celinedion.com เก็บถาวร 2007-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". "Concert Dates." Retrieved November 7, 2007.
  100. Yahoo! Québec. (2008, 7 août). Céline Dion deviendra docteure en musique au Palais Montcalm le 21 août. [En ligne]. Disponible à: http://qc.news.yahoo.com/s/capress/080807/arts/celine_diplome (Accée: 8 août 2008)
  101. Juno Awards เก็บถาวร 2008-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. National Post. Retrieved April 3, 2008.
  102. Collins, Leah (2009-02-03) "Nickelback leads Juno nominations". Canada.com. Retrieved 2009-10-15
  103. Céline Dion à Québec : Près de 250 000 personnes sur les Plaines, LCN. (See the reportage เก็บถาวร 2009-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน). Consulted on August 23, 2008.
  104. Richer, Jocelyne, Céline Dion à Québec vendredi: le 400e promet un spectacle mémorable, La Presse Canadienne, August 19, 2008, consulted online on August 22, 2008 on Yahoo! news.
  105. Céline sur les Plaines : Un moment rempli d'émotions เก็บถาวร 2012-12-06 ที่ archive.today, LCN. Consulted on August 23, 2008.
  106. "New Greatest Hits Album : TeamCeline Exclusive Sneak Peek!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-27. สืบค้นเมื่อ August 27, 2008.
  107. — (2009-05-29) "Chart Watch Extra: The Top 20 Album Sellers Of The 2000s เก็บถาวร 2010-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". music.yahoo.com. Retrieved 2009-10-15
  108. Mikelbank, Peter and Stephen M. Silverman (2009-08-18) "Celine Dion is pregnant with second child เก็บถาวร 2009-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" CNN. Retrieved 2009-10-15
  109. Serpe, Gina (2009-11-11) "Céline Dion Tries for Another Baby After Pregnancy Loss." E!. Retrieved 2009-11-11
  110. Dam, Julie (2009-11-11) "20318988, 00.html?xid=rss-topheadlines Céline Dion Will Keep Trying for a Baby[ลิงก์เสีย]." People Magazine. Retrieved 2009-11-11
  111. 111.0 111.1 0, 3057461.story Dave Matthews Band rocks to the top in concert revenue[ลิงก์เสีย] Chicago Tribune Retrieved 2009-12-20
  112. Celine Dion pregnant with second child เก็บถาวร 2010-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Telegraph.co.uk'.' Retrieved 2010-1-20.
  113. Celine Dion pregnant again Reuters UK'.' Retrieved 2010-1-20.
  114. Céline Dion still trying for 2nd child เก็บถาวร 2009-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน CBC News'.' Retrieved 2010-1-20.
  115. Celine Dion not pregnant, despite early report Reuters'.' Retrieved 2010-1-20.
  116. 20390073, 00.html Céline Dion Is Pregnant – with Twins![ลิงก์เสีย] People Magazine'.' Retrieved 2010-05-30.
  117. Céline Dion expecting twin boys CBC News Retrieved 2010-07-09
  118. Celine Dion's Twins: They're No Divas Entertainment Weekly Retrieved 2010-07-09
  119. Céline Dion expecting twin boys CBC News Retrieved 2010-07-09
  120. Celine Dion's Twins: They're No Divas Entertainment Weekly Retrieved 2010-07-09
  121. Céline Dion hospitalized as precaution เก็บถาวร 2010-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Montreal Gazette Retrieved 2010-10-18
  122. Celine Dion gives birth to twin boys[ลิงก์เสีย] Associated Press Retrieved 2010-10-23
  123. 123.0 123.1 123.2 - (2009-12-03) "'Eyes of the World': Part Dion concert film, part family album เก็บถาวร 2009-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". www.usatoday.com Retrieved 2009-12-04
  124. Celine Dion reaches peak of the decade's Ultimate Top 10 Los Angeles Times Retrieved 2010-1-20
  125. Celine Dion reaches peak of the decade's Ultimate Top 10 Los Angeles Times Retrieved 2010-1-20
  126. Celine Dion Is Americans' Musical Fave เก็บถาวร 2010-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน AdWeek Retrieved 2010-12-07
  127. Celine Dion is America's Favorite Singer/Musician Followed by U2 NewsBlaze Retrieved 2010-07-12
  128. Harris Poll: Celine Dion is America's Favorite Singer/Musician Followed by U2 เก็บถาวร 2010-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Financial Retrieved 2010-12-07
  129. 129.0 129.1 Les artistes québécois de la décennie เก็บถาวร 2011-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Le Journal de Quebec Retrieved 2010-1-29
  130. Grammy rehearsals, day three: Bon Jovi (with Jennifer Nettles) and a tribute to Michael เก็บถาวร 2010-05-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Entertainment Weekly Retrieved 2010-1-31
  131. Reid, Shaheem (31 January 2010). "Michael Jackson 'Earth Song' Grammy Tribute Focuses On His Love Of The Planet". MTV. สืบค้นเมื่อ 29 October 2011.
  132. Celine: Through the Eyes of the World, an Expanded DVD Edition of the Acclaimed Documentary & Taking Chances World Tour: The Concert, a New Live DVD/CD, Available Tuesday, May 4. Retrieved March 22, 2010.
  133. Celine Dion store เก็บถาวร 2011-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved March 22, 2010.
  134. VOLER Michel Sardou en duo avec Céline Dion เก็บถาวร 2012-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Canoe.ca Retrieved 2010-09-26
  135. Marc Dupre: un nouvel extrait compose par Celine Dion เก็บถาวร 2012-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Branchez-vous! Retrieved 2010-10-10
  136. 20343176, 00.html Celine Dion Confirms Her Return to Vegas Stage[ลิงก์เสีย] People Magazine Retrieved 2010-2-10
  137. 20343176, 00.html Celine Dion Confirms Her Return to Vegas Stage[ลิงก์เสีย] People Magazine Retrieved 2010-2-10
  138. Celine Dion says new documentary a 'VIP' pass for fans; talks about being an 'open book' เก็บถาวร 2010-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Canadian Press Retrieved 2010-2-16
  139. Rahman to team up with Celine Dion เก็บถาวร 2010-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Hindustan Times Retrieved 2010-2-16
  140. "Celine Dion Retrospective - 1996". Oprah.com. 2011-02-21. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  141. Celine Dion discusses Las Vegas show, gives away tickets on ‘Oprah’ Las Vegas Sun Retrieved February 27, 2011
  142. We Know Céline Dion's Post-Baby Plans (Hint: Think Oscar!) E! Online. Retrieved February 15, 2011
  143. "Celine on MDA Labor Day Telethon Tonight | The Official Celine Dion Site". Celinedion.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-07. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  144. "'Celine: 3 Boys and a New Show' On OWN This Weekend! | The Official Celine Dion Site". Celinedion.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-02. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  145. "Who Is Your Dream Celebrity Seat-Mate? | The Official Celine Dion Site". Celinedion.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-18. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  146. "Signature – Celine's New Fragrance, Coming Soon To The Boutique | The Official Celine Dion Site". Celinedion.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-04. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  147. "Celine To Appear At Andrea Bocelli's Concert in Central Park | The Official Celine Dion Site". Celinedion.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-07. สืบค้นเมื่อ 2011-10-29.
  148. "VIDEOS: Celine Dion performing LIVE at 2012 Jamaica Jazz and Blues! | Jay Blessed Media". Jayblessed.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-03. สืบค้นเมื่อ 2012-04-09.
  149. "Celine's New Albums". celinedion.com. 7 June 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-04. สืบค้นเมื่อ 21 September 2012.
  150. "Sans attendre' – A Big Day For Germany, Switzerland and Belgium". celinedion.com. 2 November 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-04. สืบค้นเมื่อ 2 November 2012.
  151. "Release Dates For 'Loved Me Back To Life'". celinedion.com. 4 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-07. สืบค้นเมื่อ 4 September 2013.
  152. "Celine Dion: Loved Me Back to Life". celinedion.com. 4 September 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-08. สืบค้นเมื่อ 4 September 2013.
  153. "Celine Dion Talks 'Loved Me Back to Life' Single, Album (Exclusive)". Billboard. Nielsen Business Media, Inc. 29 August 2013. สืบค้นเมื่อ 29 August 2013.
  154. "Celine Dion Returns to Europe for 7 Exceptional shows". celinedion.com. 2013-04-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-26. สืบค้นเมื่อ 2013-04-23.
  155. Celine Gives Birth to Twins!! เก็บถาวร 2009-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 2010-10-25.
  156. Celine Dion's Twins Named Nelson and Eddy เก็บถาวร 2012-12-06 ที่ archive.today. Retrieved 2010-10-28.
  157. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-02. สืบค้นเมื่อ 2010-12-31.
  158. Home. "HELLO! – The place for daily celebrity news" เก็บถาวร 2013-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. hellomagazine.ca. Retrieved February 28, 2011.
  159. The New Rolling Stone Album Guide 2004.
  160. "The real Céline: Céline Dion’s new French album shows her personal side." CBC. May 29, 2007. Retrieved September 25, 2007.
  161. Andersson, Eric. "Who Inspired the Idols?" Us. March 12, 2007. p. 104
  162. 162.0 162.1 "The real Céline: Céline Dion’s new French album shows her personal side." CBC. May 29, 2007. Retrieved September 25, 2007.
  163. "MTV's 22 Greatest Voices in Music". mtv's 22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-26. สืบค้นเมื่อ November 15, 2007.
  164. (ooqu0o45hssi4szgpvg5lb55) ) /collection.aspx?collection=534 22 Greatest Voices in Music[ลิงก์เสีย]. Am I Annoying. Retrieved October 2, 2008.
  165. Mulholland, Garry. The Illustrated Encyclopedia of Music (2003). pg. 57. UK: Flame Tree Publishing. ISBN 1-904041-70-1.
  166. Among others, Dion helped to compose "Treat Her Like a Lady" from Let's Talk About love, and "Don't Save It All for Christmas Day" from These Are Special Times
  167. "Canadian Broadcasting Corporation". Céline Dion takes swipe at Iraq war; donates $1m to Katrina victims. Retrieved on July 14, 2006.
  168. Glatzer, Jenna (2005). Céline Dion: For Keeps. Andrews McMeel Publishing. ISBN 0-7407-5559-5.
  169. Alberts, Sheldon. "A Canadian liftoff; Dion 'flattered' her Air Canada ad chosen as Clinton's campaign song" National Post 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 หน้า A3
  170. Barron, Lee. "'Elizabeth Hurley Is More Than a Model': Stars and Career Diversification in Contemporary Media." Journal of Popular Culture. Vol. 39. Issue No. 4. ISSN: 00223840 (พ.ศ. 2549) : หน้า 523
  171. Fass, Allison. "Business Scents." Forbes Magazine 19 กันยายน พ.ศ. 2548 หน้า 064a
  172. Barnes, Rachel. "Coty set to add two fragrances to men's range." Marketing February 19, 2004 หน้า 4
  173. http://nymag.com/daily/fashion/2009/02/kate_moss_and_celine_dion_are.html
  174. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-19. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
  175. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
  176. เซลีน ดิออน เก็บถาวร 2010-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน celinedion.com เรียกข้อมูลวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2551
  177. McLellan, Stephanie Simpson. "Celebrating the Mother-Child Bond." Today's Parent, p. 32. 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
  178. Wray, James. "Celine Dion to Raise One Million for Tsunami Victims เก็บถาวร 2008-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". M&G Music. 12 มกราคม พ.ศ. 2548 เรียกข้อมูลวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2550
  179. "Her letter to China Children & Teenagers' Fund".

แหล่งข้อมูลอื่น แก้