ไททานิค (ภาพยนตร์)

ภาพยนตร์อเมริกัน ค.ศ. 1997 โดยเจมส์ แคเมรอน
(เปลี่ยนทางจาก ไททานิก (ภาพยนตร์))

ไททานิค (อังกฤษ: Titanic) เป็นภาพยนตร์อเมริกันแนวโรแมนติก ภัยพิบัติ ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 1997 กำกับ, เขียนบท, ร่วมอำนวยการสร้างและร่วมตัดต่อโดย เจมส์ แคเมรอน สร้างจากเหตุการณ์การอับปางของเรือ อาร์เอ็มเอส ไททานิก เมื่อ ค.ศ. 1912 ผสมผสานทั้งด้านประวัติศาสตร์และด้านสมมติ แสดงนำโดย ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ และเคต วินสเล็ต เป็นคนในชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันซึ่งตกหลุมรักกันในระหว่างการเดินทางครั้งแรกของเรือ ร่วมกับ บิลลี เซน, เคธี เบตส์, ฟรานเซส ฟิชเชอร์, กลอเรีย สจ๊วต, เบอร์นาด ฮิลล์, โจนาธาน ไฮด์, แดนนี นุดชี, เดวิด วอร์เนอร์ และบิล แพกซ์ตัน เป็นบทบาทสมทบ

ไททานิค
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับเจมส์ แคเมรอน
เขียนบทเจมส์ แคเมรอน
อำนวยการสร้าง
นักแสดงนำ
กำกับภาพรัสเซลล์ คาร์เพนเตอร์
ตัดต่อคอนราด บัพพ์
เจมส์ แคเมรอน
ริชาร์ด เอ. แฮร์ริส
ดนตรีประกอบเจมส์ ฮอร์เนอร์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่าย
  • พาราเมาต์พิกเจอส์
    (สหรัฐและแคนาดา)
  • ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์
    (ทั่วโลก)
วันฉาย1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 (1997-11-01)(โตเกียว)
19 ธันวาคม ค.ศ. 1997 (1997-12-19)(สหรัฐ)
24 ธันวาคม ค.ศ. 1997 (1997-12-24)(ไทย)
ความยาว195 นาที[3]
ประเทศสหรัฐ
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4][5][6]
ทำเงิน2.257 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[Note 1][14]

แรงบันดาลใจสำหรับภาพยนตร์ของแคเมรอนมาจากความหลงใหลในซากเรือแตก เขารู้สึกว่าเรื่องราวความรักสลับกับการสูญเสียของมนุษย์จะเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายทอดผลกระทบทางอารมณ์ของภัยพิบัติ งานสร้างเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1995 ซึ่งแคเมรอนได้ลงไปถ่ายทำซากเรือ ไททานิก ส่วนฉากในยุคปัจจุบันถ่ายทำบนเรือวิจัย อคาเดมิก มิสติสลาฟ เคลดิช (Akademik Mstislav Keldysh) ซึ่งแคเมรอนใช้เป็นฐานในการถ่ายทำซากเรือ มีการสร้างแบบขนาดจำลอง, การใช้ภาพที่สร้างจากคอมพิวเตอร์และการก่อสร้าง ไททานิก ใหม่ที่ บาฮาสตูดิโอ เพื่อใช้ในการถ่ายทำฉากการจม ภาพยนตร์ได้รับทุนสร้างร่วมกันจาก พาราเมาต์พิกเจอส์ (เป็นผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐและแคนาดา) และ ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ (เป็นผู้จัดจำหน่ายทั่วโลก) เคยเป็นภาพยนตร์ที่มีทุนสร้างสูงที่สุดในช่วงเวลานั้น โดยมีทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ถ่ายทำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1996 ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1997

เมื่อฉายวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ไททานิค ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านคำวิจารณ์และรายได้ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง รางวัลออสการ์ จำนวน 14 สาขา และชนะเลิศ 11 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม เท่ากับ เบนเฮอร์ (1959) สำหรับภาพยนตร์เดี่ยวที่ได้รับรางวัลออสการ์มากที่สุด ภาพยนตร์ทำเงินจากการฉายครั้งแรกมากกว่า 1.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไททานิค เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำเงินมากกว่าพันล้านและกลายเป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในเวลานั้น จนกระทั่ง อวตาร ของแคเมรอนทำเงินแซงไปเมื่อปี ค.ศ. 2010 ไททานิค กลับมาฉายอีกหลายครั้ง ทำเงินเพิ่มเป็น 2.257 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก ไททานิค ได้รับเลือกให้เก็บรักษาไว้ในหอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติของสหรัฐเมื่อ ค.ศ. 2017

โครงเรื่อง แก้

ในปี ค.ศ. 1996 นักล่าสมบัติ บร็อค เลิฟเว็ตต์ และทีมงานของเขาขึ้นเรือวิจัยชื่อว่า อคาเดมิก มิสติสลาฟ เคลดิช เพื่อค้นหาซากเรือแตกของอาร์เอ็มเอส ไททานิก และ หัวใจมหาสมุทร สร้อยคอเพชรหายาก พวกเขากู้ตู้นิรภัยซึ่งมีภาพวาดของหญิงสาวใส่แค่สร้อยคอ ลงวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 วันที่เรือชนภูเขาน้ำแข็ง[Note 2] หลังจากดูข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการค้นพบนี้ โรส ดอว์สัน แคลเวิร์ต ผู้มีอายุร้อยปีได้ติดต่อเลิฟเว็ตต์ โดยระบุตัวเองว่าเป็นผู้หญิงในภาพวาด

ในปี ค.ศ. 1912 ที่เซาแทมป์ตัน โรส เดวิตต์ บูเคเตอร์ ผู้โดยสารชั้นหนึ่งอายุ 17 ปี มาพร้อมกับ คาเลดอน "แคล" ฮอคลีย์ คู่หมั้นของเธอ และ รูธ แม่ของเธอ ขึ้นเรือหรูหราชื่อว่า ไททานิก รูธเน้นย้ำกับโรสว่าการแต่งงานของโรสจะช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินของครอบครัวและช่วยรักษาสถานะชนชั้นสูงเอาไว้ โรสรู้สึกอึดอัดใจเรื่องการแต่งงาน เธอจึงปีนรั้วกั้นท้ายเรือและพยายามที่จะโดดออกจากท้ายเรือ แจ็ก ดอว์สัน ศิลปินผู้ยากจน ได้เข้ามาห้ามและพยายามเกลี่ยกล่อมเธอ หลังจากแจ็กช่วยโรสได้แล้ว เจ้าหน้าที่ของเรือพร้อมกับแคลและ สไปเซอร์ เลิฟจอย คนรับใช้ของแคล มาพบทั้งสองคน โรสบอกแคลว่าเธอกำลังมองลงไปแล้วแจ็กเข้ามาช่วยเธอไม่ให้ตกลงไป แคลจึงให้รางวัลแจ็กโดยเชิญเขาให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับพวกเขาในห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง แจ็กกับโรสเริ่มพัฒนาความสัมพันธ์ แม้ว่าเลิฟจอยและรูธจะระแวงเขา หลังจากอาหารเย็น โรสได้เข้าร่วมงานเลี้ยงของผู้โดยสารชั้นสามอย่างลับๆ กับแจ็ก

โรสตระหนักถึงความไม่พอใจของแคลและรูธ เธอจึงบอกปฏิเสธความรักของแจ็กที่มีให้กับเธอ แต่ต่อมาโรสรู้ตัวว่าเธอชอบเขามากกว่าแคล หลังจากนัดพบกันที่หัวเรือตอนดวงอาทิตย์ตก โรสพาแจ็กไปที่ห้องส่วนตัวของเธอ เธอขอให้แจ็กวาดภาพเธอเปลือยกายโดยใส่แค่สร้อยคอหัวใจมหาสมุทรซึ่งเป็นของหมั้นของแคล พวกเขาหลบหนีเลิฟจอยและมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกันภายในรถยนต์ในห้องเก็บของใต้ท้องเรือ บนดาดฟ้าด้านหน้า พวกเขาเห็นการปะทะกันของเรือกับภูเขาน้ำแข็งและได้ยินเจ้าหน้าที่และผู้สร้างเรือพูดคุยถึงความร้ายแรงของมัน แคลพบภาพวาดโรสของแจ็กกับบันทึกดูถูกจากเธอในตู้นิรภัยของเขาพร้อมกับสร้อยคอ เมื่อแจ็กกับโรสพยายามที่จะบอกแคลเรื่องเรือชนภูเขาน้ำแข็ง แคลตอบโต้ด้วยการให้เลิฟจอยแอบใส่สร้อยคอไว้ในกระเป๋าเสื้อของแจ็ก และกล่าวว่าเขาเป็นขโมย แจ็กถูกจับและถูกคุมขังในห้องของเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือ แคลใส่สร้อยคอไว้ในกระเป๋าเสื้อของเขาเอง

ขณะที่เรือกำลังจมลง โรสหนีแคลกับแม่ของเธอซึ่งได้ขึ้นเรือบด ไปช่วยปลดปล่อยแจ็ก บนดาดฟ้าเรือ แคลได้พบแจ็กกับโรสอีกครั้ง แคลและแจ็กสนับสนุนให้โรสขึ้นเรือบด แคลอ้างว่าได้ตกลงกับเจ้าหน้าที่ไว้แล้วว่าจะลงเรืออีกลำหนึ่งกับแจ็ก ซึ่งแท้จริงแล้วแจ็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ขณะที่เรือบดกำลังลดระดับลง โรสรู้ตัวว่าเธอไม่สามารถแยกห่างจากแจ็กได้ เธอจึงโดดกลับขึ้นเรือ แคลเอาปืนพกของเลิฟจอยแล้วไล่ตามยิงโรสกับแจ็กไปจนถึงในห้องรับประทานอาหารชั้นหนึ่ง หลังเขาใช้กระสุนหมดแล้วจึงลดละ และมานึกได้ว่าใส่สร้อยคอเพชรไว้ในกระเป๋าเสื้อคลุมที่เขาสวมให้กับโรส ต่อมาเขาได้ขึ้นเรือบดโดยอุ้มเด็กที่หลงกับแม่และอ้างตัวว่าเขาเป็นพ่อ เพื่อที่จะได้ลงเรือลำนั้น

หลังจากหนีแคลพ้นและเอาตัวรอดจากน้ำที่ทะลักมาตามเส้นทางห้องโดยสารในเรือ แจ็กกับโรสกลับมาที่ดาดฟ้าเรือ เรือบดได้ออกเดินทางไปหมดแล้ว เหตุการณ์เลวร้ายลง มีผู้โดยสารเสียชีวิตจากการพลัดตกเรือ หรือกระแทกกับของแข็งต่าง ๆ เมื่อเรือหักครึ่งทำให้ท้ายเรือจมลงมหาสมุทรอย่างรวดเร็ว แจ็กกับโรสปีนขึ้นไปอยู่ด้านบนของท้ายเรือเพื่อยื้อเวลาก่อน ที่เรือจะจมลงไปหมด เขาช่วยเธอให้ขึ้นไปบนซากประตูไม้ที่ลอยน้ำอยู่ แต่ว่าเพียงพอให้พ้นน้ำได้สำหรับคนเดียวเท่านั้น แจ็กให้กำลังใจและยืนยันกับโรสว่าเธอจะได้ตายในตอนชราบนเตียงอันอบอุ่นของเธอ สุดท้ายแจ็กก็เสียชีวิตด้วยภาวะตัวเย็นเกิน[15] และโรสได้รับการช่วยเหลือจากเรือบดที่พายกลับมา

ต่อมา อาร์เอ็มเอส คาร์เพเทีย ได้ช่วยเหลือเหล่าผู้รอดชีวิตขึ้นเรือ โรสหลบซ่อนแคลขณะที่เรือเดินทางไปนครนิวยอร์ก โรสได้เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น โรส ดอว์สัน โรสกล่าวว่าต่อมาเธอได้อ่านหนังสือพิมพ์พบว่า แคลนั้นฆ่าตัวตายเนื่องจากเหตุการณ์ตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทตก ค.ศ. 1929 กลับมาในปัจจุบัน เลิฟเว็ตต์ตัดสินใจยกเลิกการค้นหาของเขาหลังได้ยินเรื่องราวของโรส ที่ท้ายเรือของ เคลดิช โรสได้นำสร้อยเพชรหัวใจมหาสมุทร ซึ่งอยู่ในความครอบครองของเธอมาตลอด หย่อนมันลงไปในทะเลเหนือซากเรือ ภาพเหตุการณ์ตัดมาขณะที่เธอดูเหมือนกำลังหลับหรือเสียชีวิตบนเตียงของเธอ[16] โรสวัยสาวได้พบกับแจ็กอีกครั้งที่บันไดใหญ่ในเรือไททานิก และได้รับการปรบมือจากผู้ที่เสียชีวิตบนเรือ

นักแสดง แก้

ตัวละครสมมติ แก้

ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (บน, ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 2002) ผู้แสดงเป็น แจ็ก ดอว์สัน และ เคต วินสเล็ต (ล่าง, ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 2007) ผู้แสดงเป็น โรส เดวิตต์ บูเคเตอร์
  • ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ แสดงเป็น แจ็ก ดอว์สัน: แคเมรอนกล่าวว่า เขาต้องการให้นักแสดงรู้สึกราวกับว่าพวกเขาอยู่บนเรือ ไททานิก จริง ๆ เพื่อมีชีวิตชีวาอีกครั้งและ "เพื่อรับพลังงานนั้นและมอบให้แจ็ก... ศิลปินผู้ที่สามารถมีหัวใจที่ทะยาน"[17] แจ็กเป็นเด็กกำพร้ายากจนที่มาจากชิปปิวาฟอลส์, วิสคอนซิน โดยเขาท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในโลก รวมถึง ปารีส เขาชนะได้ตั๋วโดยสาร อาร์เอ็มเอส ไททานิก จากเกมโป๊กเกอร์และเดินทางเป็นผู้โดยสารชั้นสามพร้อมเพื่อนของเขา ฟาบริซิโอ เขาหลงใหลโรสตั้งแต่เห็นเธอครั้งแรกและได้พบเธอเมื่อเธอคิดจะโดดออกจากท้ายเรือ คู่หมั้นของโรสให้ รางวัล โดยเชิญชวนให้เขาไปรับประทานอาหารกับพวกเขาในเย็นวันถัดไป ทำให้แจ็กได้ไปอยู่ในท่ามกลางกลุ่มผู้โดยสารชั้นหนึ่งได้หนึ่งคืน การคัดเลือกนักแสดงนั้น มีนักแสดงที่เป็นที่รู้จักหลายคน ประกอบด้วย แมทธิว แม็คคอนาเฮย์, คริส โอดอนเนลล์, บิลลี ครูดัพและสตีเฟน ดอร์ฟ ได้รับการพิจารณา แต่แคเมรอนรู้สึกว่านักแสดงเหล่านั้น แก่เกินไปสำหรับบทตัวละครที่มีอายุ 20 ปี[18][19][20][21] ทอม ครูซ สนใจที่จะแสดงเป็นตัวละครนี้ แต่เขาเรียกค่าตัวแพงเกินไปจนสตูดิโอไม่รับพิจารณา[19] แคเมรอนตัดสินใจเลือก จาเรด เลโท ให้รับบทนี้ แต่เลโทปฏิเสธที่จะมาทดสอบการแสดง[22] เจเรมี ซิสโต ได้ทดสอบการแสดงและทดสอบหน้ากล้องกับวินสเล็ตและนักแสดงหญิงอีกสามคนซึ่งกำลังแข่งขันกันเพื่อบทของโรส[23] ดิแคพรีโอ ซึ่งอายุ 21 ปี ในเวลานั้น ได้รับความสนใจของแคเมรอน หลัง มาลี ฟินน์ ผู้กำกับการคัดเลือกนักแสดง ได้แนะนำตัวดิแคพรีโอ[18] ในตอนแรก เขาไม่อยากแสดงเป็นตัวละครนี้และปฏิเสธที่จะอ่านบทของฉากโรแมนติกครั้งแรกของเขา (ดูด้านล่าง) แคเมรอนกล่าวว่า "เขาอ่านมันครั้งเดียว จากนั้นก็เริ่มก่อกวนไปทั่ว และผมไม่สามารถทำให้เขากลับมามีสมาธิได้เลย แต่ในหนึ่งเสี้ยววินาที ลำแสงส่องลงมาจากสวรรค์และทำให้ป่านั้นสว่างไสว" แคเมรอนเชื่อมั่นในความสามารถในการแสดงของดิแคพรีโออย่างมากและบอกเขาว่า "ฟังนะ ผมไม่ต้องการทำให้ผู้ชายคนนี้เป็นคนเศร้าสร้อยและเป็นโรคประสาท ผมไม่ต้องการให้เขาทำหน้ากระตุกและเดินโขยกเขยกและทุกสิ่งที่คุณต้องการ" แคเมรอนมองเห็นตัวละครนั้นคล้ายกับ เจมส์ สจวร์ต[18] ถึงแม้ว่าตัวละครแจ็ก ดอว์สันเป็นตัวละครสมมติ ที่สุสานแฟร์วิวในแฮลิแฟกซ์, โนวาสโกเชีย ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของผู้เคราะห์ร้ายจำนวน 121 คน มีป้ายหลุมศพชื่อ "เจ. ดอว์สัน" โดยชื่อจริงของเขาคือ โจเซฟ ดอว์สัน เป็นคนเติมถ่านหินในท้องเรือ จอน แลนเดา ผู้อำนวยการสร้าง กล่าวในบทสัมภาษณ์ว่า "เราไม่รู้ว่ามีหลุมศพของ เจ. ดอว์สัน จนกระทั่งภาพยนตร์ฉายไปแล้ว"[24]
  • เคต วินสเล็ต แสดงเป็น โรส เดวิตต์ บูเคเตอร์: แคเมรอนกล่าวว่า วินสเล็ต "มีสิ่งที่คุณมองหา" และนั่นก็คือ "คุณภาพในใบหน้าของเธอ, ในสายตาของเธอ" ว่าเขา "เพิ่งรู้ว่าผู้คนจะพร้อมที่จะไปกับเธอ"[17] โรสเป็นเด็กสาวอายุ 17 ปี มีพื้นเพมาจากฟิลาเดลเฟีย ซึ่งถูกบังคับให้แต่งงานกับ แคล ฮ็อกลีย์ อายุ 30 ปี ทำให้เธอและรูธ แม่ของเธอรักษาสถานะทางสังคมชั้นสูง หลังพ่อของเธอเสียชีวิตทำให้ครอบครัวต้องมีหนี้สินจำนวนมาก โรสขึ้นเรือ อาร์เอ็มเอส ไททานิก กับแคลและรูธ ในฐานะผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้พบกับแจ็ก วินสเล็ตพูดถึงตัวละครของเธอว่า "เธอมีอะไรมากมายที่จะให้ และเธอเป็นคนที่ใจกว้างมาก และเธอต้องการสำรวจและผจญภัยในโลกนี้ แต่เธอ [รู้สึก] ว่ามันจะไม่เกิดขึ้น"[17] กวินเน็ธ พัลโทรว์, วิโนนา ไรเดอร์, แคลร์ เดนส์, แกเบรียล อันวาร์และรีส วิเธอร์สปูน ได้รับการพิจารณาสำหรับบทบาทของโรส[18][25][26][27] หลังพวกเขาปฏิเสธบทดังกล่าว วินสเล็ตอายุ 22 ปี ต่อสู้อย่างหนักเพื่อบทบาทนี้ เธอส่งบันทึกจากอังกฤษให้แคเมรอนทุกวัน ทำให้แคเมรอนเชิญเธอไปฮอลลีวูดเพื่อทดสอบการแสดง มาลี ฟินน์ ผู้กำกับการคัดเลือกนักแสดง ได้นำตัวเธอมาเพื่อให้ได้รับความสนใจจากแคเมรอน เช่นเดียวกับ ดิแคพรีโอ เมื่อแคเมรอนกำลังมองหาคนที่จะแสดงเป็นโรส เขาอธิบายตัวละครว่ามีลักษณะเหมือน "ออดรีย์ เฮปเบิร์น" และในตอนแรกก็ไม่มั่นใจเกี่ยวกับการคัดเลือกวินสเล็ตเป็นโรส แม้ว่าหลังจากการทดสอบหน้ากล้องของเธอทำให้เขาประทับใจ[18] หลังจากเธอทดสองหน้ากล้องกับดิแคพรีโอ วินสเล็ตรู้สึกประทับใจเขามาก เธอกระซิบกับแคเมรอนว่า "เขายอดเยี่ยมมาก แม้ว่าคุณจะไม่เลือกฉัน ก็เลือกเขาเถอะ" วินสเล็ตส่งดอกกุหลาบหนึ่งดอกพร้อมกับบัตรที่ลงนาม "จากโรสของคุณ" และพยายามเกลี้ยกล่อมเขาทางโทรศัพท์ วันหนึ่งเธออ้อนวอน ตอนที่เธอโทรไปหาเขาทางโทรศัพท์มือถือในฮัมวีของเขา "คุณไม่เข้าใจ!" "ฉันคือโรส! ฉันไม่รู้ว่าทำไมคุณถึงมองหาคนอื่น!" ความเพียรของเธอรวมถึงพรสวรรค์ของเธอ ในที่สุดก็ทำให้เขาก็เลือกเธอเป็นนักแสดงสำหรับบทบาทของโรส[18]
  • บิลลี เซน แสดงเป็น คาเลดอน "แคล" ฮ็อกลีย์: แคลเป็นคู่หมั้นของโรสที่หยิ่งยโสและหัวสูงอายุ 30 ปี ผู้เป็นทายาทเจ้าของกิจการผลิตเหล็กกล้าในพิตต์สเบิร์ก เขาเริ่มอับอาย หึง และโหดร้ายมากขึ้นเพราะความสัมพันธ์ของโรสกับแจ็ก บทนี้แต่เดิมนั้นถูกเสนอให้กับแมทธิว แม็คคอนาเฮย์[19]และร็อบ โลว์[28]
  • ฟรานเซส ฟิชเชอร์ แสดงเป็น รูธ เดวิตต์ บูเคเตอร์: แม่ของโรสซึ่งเป็นแม่ม่าย เป็นคนจัดให้ลูกสาวของเธอหมั้นกับแคลเพื่อรักษาสถานะทางสังคมชั้นสูงของครอบครัวเธอ เธอรักลูกสาวของเธอ แต่เชื่อว่าฐานะทางสังคมมีความสำคัญมากกว่าการมีความรักการแต่งงาน เธอไม่ชอบแจ็กอย่างยิ่งแม้ว่าเขาจะช่วยชีวิตลูกสาวของเธอ
  • กลอเรีย สจ๊วต แสดงเป็น โรส ดอว์สัน แคลเวิร์ต: โรสในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวในภาพยนตร์ แคเมรอนกล่าวว่า "เพื่อที่จะได้เห็นปัจจุบันและอดีต, ผมตัดสินใจที่จะสร้างผู้รอดชีวิตสมมติที่มีอายุ [เข้าใกล้] 101 ปีและเธอเชื่อมโยงพวกเราผ่านทางประวัติศาสตร์"[17] โรสอายุ 100 ปีให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "หัวใจมหาสมุทร" แก่เลิฟเวตต์ หลังจากที่เขาค้นพบภาพเปลือยของเธอในซากเรือ เธอเล่าเรื่องราวตอนที่อยู่บนเรือ และพูดถึงความสัมพันธ์ของเธอกับแจ็คเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การจม สจ๊วตอายุ 87 ปี ต้องได้รับการแต่งหน้าให้ดูสูงวัยสำหรับบทบาทนี้[19] ในการคัดเลือกนักแสดงสจ๊วต แคเมรอนกล่าวว่า "ผู้กำกับการคัดเลือกนักแสดงของฉันพบเธอ เธอถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจเพื่อค้นหานักแสดงที่เกษียณจากยุคทองของทศวรรษสามสิบและสี่สิบ"[29] แคเมรอนบอกว่าเขาไม่รู้ว่าสจ๊วตเป็นใคร และ เฟย์ เรย์ ก็ได้รับการพิจารณาให้รับบทนี้ด้วย "แต่ [สจ๊วต] ทุ่มเทกับมันมาก เฉียบแหลม และมีจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ และฉันเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิญญาณของเธอกับวิญญาณของ [วินสเล็ต]" แคเมรอนกล่าว "ผมเห็นความอิ่มเอมในชีวิตนี้ในทั้งคู่ ซึ่งผมคิดว่าผู้ชมจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกัน"[29]
  • บิล แพกซ์ตัน แสดงเป็น บร็อค เลิฟเว็ตต์: นักล่าสมบัติซึ่งกำลังตามหา "หัวใจมหาสมุทร" ใน ซากเรือของ ไททานิก ในปัจจุบัน เวลาและเงินทุนสำหรับการเดินทางของเขากำลังจะหมดลง ในตอนท้ายของภาพยนตร์ เขาก็ใคร่ครวญว่าแม้จะคิดถึง ไททานิก เป็นเวลาสามปีเขาก็ไม่เคยเข้าใจเลยจนกระทั่งเขาได้ยินเรื่องราวของโรส
  • ซูซี อมิส แสดงเป็น ลิซซี แคลเวิร์ต: หลานสาวของโรส ซึ่งมากับเธอด้วย เมื่อเธอพบเลิฟเว็ตต์บนเรือและได้เรียนรู้ตัวตนที่แท้จริงของย่าของเธอและเรื่องราวความรักในอดีตระหว่างโรสกับแจ็ก ดอว์สัน
  • แดนนี นุดชี แสดงเป็น ฟาบริซิโอ: เพื่อนสนิทชาวอิตาลีของแจ็ก ขึ้นเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก มาด้วยกัน หลังแจ็กชนะในเกมโป๊กเกอร์ได้ตั๋วมาสองใบ ฟาบริซิโอไม่ได้ขึ้นเรือชูชีพขณะที่ ไททานิก กำลังจม เขาเสียชีวิตจากการโดนหนึ่งในปล่องควันของเรือซึ่งพังแล้วหล่นทับใส่เขา
  • เดวิด วอร์เนอร์ แสดงเป็น สไปเซอร์ เลิฟจอย: อดีตตำรวจจากพินเคอร์ตัน เลิฟจอยเป็นคนรับใช้และผู้คุ้มกันชาวอังกฤษของแคล ซึ่งคอยจับตาดูโรสและสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์รอบตัวการช่วยชีวิตโรสของแจ็ก เขาเสียชีวิตขณะที่ ไททานิก หักครึ่ง ทำให้เขาตกลงไปในช่องว่างขนาดใหญ่ วอร์เนอร์เคยปรากฏตัวในมินิซีรีส์ทางโทรทัศน์ เอส.โอ.เอส. ไททานิก ออกอากาศเมื่อปี ค.ศ. 1979
  • เจสัน แบร์รี แสดงเป็น ทอมมี ไรอัน: ผู้โดยสารชั้นสามชาวไอริชได้เป็นเพื่อนกับแจ็กและฟาบริซิโอ ทอมมีเสียชีวิตเนื่องจากเขาถูกผลักไปข้างหน้าโดยอุบัติเหตุและถูกยิงโดยต้นหนเมอร์ดอกซึ่งกำลังเสียขวัญ

ตัวละครในประวัติศาสตร์ แก้

แม้ว่าภาพยนตร์ไม่ได้ตั้งใจแสดงเหตุการณ์ที่สมบูรณ์ถูกต้อง[30] แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการแสดงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์หลายคน:

 
มาร์กาเรต บราวน์ ตัวจริง (ขวา) กำลังมอบถ้วยรางวัลให้กับ อาร์เธอร์ เฮนรี รอสตรอน ที่ช่วยเหลือผู้โดยสารที่รอดชีวิตจาก ไททานิก
  • เคที เบตส์ แสดงเป็น มาร์กาเรต "มอลลี" บราวน์: บราวน์ได้รับการดูถูกจากผู้หญิงชั้นหนึ่งคนอื่น ๆ รวมถึง รูธ ว่าเป็น "คนสามัญ" และ "เศรษฐีใหม่" เธอเป็นมิตรกับแจ็กและให้เขายืมชุดสูท (ซึ่งซื้อมาให้ลูกชายของเธอ) ตอนที่เขาได้รับเชิญไปรับประทานอาหารเย็นที่ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง เธอถูกขนานนามว่า "มอลลี บราวน์ ผู้ไม่มีวันจม" โดยนักประวัติศาสตร์ เพราะเธอยึดเรือชูชีพ 6 จากพลาธิการ รอเบิร์ต ฮิเชนส์ ด้วยการสนับสนุนจากผู้หญิงคนอื่น ๆ[31] บางแง่มุมของการทะเลาะวิวาทนี้ปรากฏในภาพยนตร์ของแคเมรอน
  • วิกเตอร์ การ์เบอร์ แสดงเป็น โธมัส แอนดรูวส์: ผู้สร้างเรือ, แอนดรูวส์ ถูกแสดงให้เป็นผู้ชายใจดีและสุภาพเรียบร้อย ผู้เจียมเนื้อเจียมตัวเกี่ยวกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา หลังเรือชนกับภูเขาน้ำแข็ง เขาพยายามโน้มน้าวให้คนอื่น ๆ โดยเฉพาะอิสเมย์ว่าเป็น "ความแน่นอนทางคณิตศาสตร์" ที่เรือจะจม ระหว่างการจมของเรือเขายืนอยู่ข้างนาฬิกาในห้องสูบบุหรี่ชั้นหนึ่ง คร่ำครวญถึงความล้มเหลวในการสร้างเรือที่แข็งแรงและปลอดภัย แม้ว่านี่จะกลายเป็นหนึ่งในตำนานที่โด่งดังที่สุดของการจมของ ไททานิก แต่เรื่องราวนี้ถูกตีพิมพ์ลงหนังสือในปี ค.ศ. 1912 (โธมัส แอนดรูวส์: ชิปบิลเดอร์) และด้วยเหตุนี้จึงยังคงเล่าสืบต่อกันมา โดยมาจาก จอห์น สจ๊วร์ต ซึ่งเป็นสจ๊วตบนเรือได้สละเรือลงเรือชูชีพหมายเลข 15 เมื่อเวลาประมาณ 01.40 น.[32] มีประจักษ์พยานเกี่ยวกับการพบเห็นแอนดรูวส์หลังจากช่วงเวลานั้น[32] ดูเหมือนว่าแอนดรูวส์จะอยู่ในห้องสูบบุหรี่สักพักหนึ่งเพื่อรวบรวมความคิดของเขา จากนั้นเขาก็ดำเนินการช่วยเหลือการอพยพต่อไป[32] รายงานการพบเห็นอีกหนึ่งรายบอกว่า แอนดรูวส์โยนเก้าอี้พับลงทะเลอย่างกระวนกระวายเพื่อให้ผู้โดยสารใช้เป็นอุปกรณ์ลอยน้ำ มีผู้พบเห็นแอนดรูวส์สละเรือในวินาทีสุดท้าย
 
Crew of the Olympic, 1911. ซ้าย: ต้นหน วิลเลียม เมอร์ดอก ขวา: กัปตัน เอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ

รับเชิญ แก้

ลูกเรือหลายคนของ อคาเดมิก มิสติสลาฟ เคลดิช ปรากฏตัวในภาพยนตร์ รวมไปถึง อนาโตลี สากาเลวิช ผู้สร้างและคนขับของ เมียร์ ยานพาหนะดำน้ำลึกที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง[35] แอนเดอร์ส ฟอล์ก ผู้ถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับฉากของภาพยนตร์ให้กับสมาคมประวัติศาสตร์ ไททานิก ปรากฏตัวในภาพยนตร์เป็น ผู้อพยพชาวสวีเดนซึ่งพบกับแจ็ก ดอว์สันตอนที่เขาเข้ามาในห้องพักในเรือ เอ็ดเวิร์ด คามูดาและคาเรน คามูดา ประธานและรองประธานของสมาคมซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของภาพยนตร์ แสดงเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์[36][37]

ก่อนการถ่ายทำ แก้

การเขียนและแรงบันดาลใจ แก้

 
ผู้กำกับ, เขียนบทและอำนวยการสร้าง เจมส์ แคเมรอน (รูปถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 2000)
เรื่องราวคงไม่สามารถเขียนได้ดีกว่านี้...การเปรียบเทียบระหว่างคนรวยกับคนจน, บทบาททางเพศที่มีต่อความตาย (ผู้หญิงก่อน), ความอดทนและความสูงส่งของยุคสมัยที่ผ่านมา, ความงดงามของเรือขนาดใหญ่เทียบเท่ากับระดับความเขลาของผู้ชายที่ขับไล่เธอให้ตกนรกผ่านความมืด และบทเรียนที่เหนือสิ่งอื่นใด: ชีวิตนั้นไม่แน่นอน, อนาคตที่ไม่อาจเข้าใจได้...ความเป็นได้ที่คิดไม่ได้"

—เจมส์ แคเมรอน[38]

เจมส์ แคเมรอน หลงใหลในซากเรืออับปางมานานแล้ว สำหรับเขา อาร์เอ็มเอส ไททานิก คือ "ยอดเขาเอเวอเรสต์ของซากเรือแตก"[39][40][41] เขาเกือบจะผ่านจุดในชีวิตของเขาเมื่อเขารู้สึกว่าเขาควรตัดสินใจเดินทางใต้ท้องทะเล แต่กล่าวว่าเขายังคงมี "จิตใจกระสับกระส่าย" เพื่อใช้ชีวิตที่เขาหันหน้าหนีจากเมื่อตอนที่เขาเปลี่ยนสาขาจากวิทยาศาสตร์เป็นศิลปะในวิทยาลัย ดังนั้นเมื่อ ภาพยนตร์ไอแมกซ์ ถูกสร้างขึ้นจากการถ่ายทำของซากเรือ เขาจึงตัดสินใจหาเงินทุนจากฮอลลีวูดเพื่อ "จ่ายเงินสำหรับการเดินทางและทำสิ่งเดียวกัน" มัน "ไม่ใช่เพราะผมอยากจะสร้างแค่ภาพยนตร์เท่านั้น" แคเมรอนกล่าวว่า "ผมอยากดำน้ำไปที่ซากเรืออับปาง"[39]

แคเมรอนเขียนบทร่างของภาพยนตร์ ไททานิค[42] แล้วพบกับผู้บริหารของ ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์ รวมถึง ปีเตอร์ เชอร์นิน โดยเสนอว่าเป็น "โรเมโอและจูเลียต บนเรือ ไททานิก"[40][41] แคเมรอนกล่าวว่า "พวกเขาเหมือน, 'อืมมมมมม – มหากาพย์ความรักสามชั่วโมง? แน่นอน, นั่นคือสิ่งที่เราต้องการ แล้วมี ฅนเหล็ก อยู่ในนั้นบ้างไหม? มีแฮร์ริเออร์เจ็ตไหม?, ฉากยิงกัน?, หรือฉากไล่ล่าด้วยรถยนต์?' ผมพูดว่า 'ไม่, ไม่, ไม่ มันไม่ใช่แบบนั้นหรอก'"[18] สตูดิโอไม่แน่ใจเกี่ยวกับโอกาสทางการค้าของความคิดนี้ แต่หวังว่าจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวกับแคเมรอน พวกเขาจึงให้ไฟเขียวกับเขา[18][19][29]

แคเมรอนโน้มน้าวให้ฟอกซ์โฆษณาภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์มีการถ่ายทำจากซากเรือ ไททานิก จริง ๆ[42] และมีการจัดการดำน้ำลงไปหลายครั้งที่ซากเรือในระยะเวลามากกว่าสองปี[38] "ข้อเสนอเรื่องนั้นต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมเล็กน้อย," แคเมรอนกล่าว "ดังนั้นผมจึงพูดว่า, 'ฟังนะ, พวกเราต้องทำฉากเปิดเรื่องทั้งหมดซึ่งเป็นตอนที่พวกเขากำลังสำรวจ ไททานิก และพวกเขาพบเพชร, ดังนั้นพวกเราต้องมีภาพทั้งหมดของเรือ" แคเมรอนกล่าวว่า "ตอนนี้, พวกเราสามารถถ่ายทำโดยใช้โมเดลย่อส่วนและการถ่ายทำโดยใช้การควบคุมการเคลื่อนไหวและซีจีและทั้งหมดนั้น, ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน X – หรือพวกเราจะใช้เงิน X บวกอีก 30 เปอร์เซ็นแล้วไปถ่ายทำที่ซากของจริง"[40]

ทีมงานลงไปถ่ายทำซากเรือของจริงในมหาสมุทรแอตแลนติกจำนวนสิบสองครั้งในปี ค.ศ. 1995 ด้วยระดับความลึกที่มีแรงดันน้ำ 6,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว "ข้อบกพร่องเล็ก ๆ เพียงหนึ่งเดียวในโครงสร้างของเรือ จะหมายถึงความตายทันทีสำหรับทุกคนที่อยู่ในเรือ" ไม่เพียงแต่การดำน้ำที่มีความเสี่ยงสูง แต่เงื่อนไขที่ไม่พึงประสงค์ก็ทำให้แคเมรอนไม่ได้ภาพคุณภาพสูงที่เขาต้องการ[19] ในระหว่างการดำน้ำครั้งหนึ่ง หนึ่งในเรือดำน้ำชนกับลำเรือของ ไททานิก สร้างความเสียหายให้กับทั้งคู่ โดยชิ้นส่วนใบพัดของเรือดำน้ำกระจัดกระจายไปทั่วซากเรือและกำแพงกั้นภายนอกของห้องพักกัปตันสมิธทรุดตัวลงเผยให้เห็นภายใน บริเวณรอบ ๆ ทางเข้าไปสู่บันไดใหญ่ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน[43]

การดำน้ำลงไปสถานที่จริง ทำให้ทั้งแคเมรอนและทีมต้องการ "ที่จะรู้สึกถึงในระดับของความเป็นจริง ... แต่ก็มีอีกระดับของปฏิกิริยาออกมาจากซากเรือของจริง ซึ่งมันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องราว มันไม่ได้เป็นเพียงแค่ละคร" เขากล่าว "มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนจริง ๆ ที่เสียชีวิตจริง ๆ การทำงานบริเวณซากเรือเป็นเวลานานเกินไป คุณจะรู้สึกถึงความเศร้าและความอยุติธรรมที่ลึกซึ้งและความหมายจากมัน" แคเมรอนกล่าวว่า "คุณคิดว่า, 'คงไม่มีผู้สร้างภาพยนตร์คนไหนไปที่ ไททานิก อาจไม่มีเลย – อาจจะเป็นแค่นักสารคดี" ด้วยเหตุนี้เขาจึงรู้สึกว่า "เป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในการถ่ายทอดสารซึ่งกระเทือนอารมณ์จากมัน - เพื่อทำส่วนนั้นให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน"[29]

หลังการถ่ายทำฉากใต้น้ำ แคเมรอนเริ่มเขียนบทภาพยนตร์[42] เขาต้องการให้เกียรติผู้คนที่เสียชีวิตในระหว่างการอับปาง ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาหกเดือนในการศึกษาค้นคว้าลูกเรือและผู้โดยสารของ ไททานิก ทั้งหมด[38] "ผมอ่านทุกอย่างเท่าที่ผมทำได้ ผมสร้างเส้นเวลาที่มีรายละเอียดสุด ๆ ของช่วงไม่กี่วันของเรือและรายละเอียดของเส้นเวลาในคืนสุดท้ายของมัน" เขากล่าว[40] "และผมทำงานในส่วนนั้นเพื่อเขียนบท และผมได้ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์สิ่งที่ผมเขียน และแสดงความคิดเห็นและผมจะได้ปรับมัน"[40] เขาใส่ใจในรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน แม้กระทั่งมีฉากที่แสดงบทบาทของ คาลิฟอร์เนียน ที่มีต่อการอับปางของ ไททานิก แม้ว่าจะถูกตัดออกในภายหลัง (ดูด้านล่าง) ตั้งแต่เริ่มต้นการถ่ายทำ พวกเขามี ภาพที่ชัดเจนมาก ของสิ่งที่เกิดขึ้นบนเรือในคืนนั้น "ผมมีกำแพงด้านหนึ่งของห้องสมุดที่เต็มไปงานเขียนของผมที่เกี่ยวกับ ไททานิก เพราะผมต้องการทำให้มันถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรากำลังจะดำลงไปที่เรือ" เขากล่าว "นั่นทำให้มาตรฐานสูงขึ้นไปอีก - มันเป็นการยกระดับภาพยนตร์ในแง่หนึ่ง เราต้องการให้ภาพยนตร์เป็นภาพที่ชัดเจนของช่วงเวลานี้ในประวัติศาสตร์ ราวกับว่าคุณย้อนเวลากลับไปด้วยเครื่องย้อนเวลาแล้วถ่ายทำมัน"[40]

แคเมรอนได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์จากภาพยนตร์เรื่อง อะไนต์ทูรีเมมเบอร์ สร้างโดยบริษัทสัญชาติอังกฤษ ฉายเมื่อปี ค.ศ. 1958 ซึ่งเขาเคยดูเมื่อตอนเป็นเด็ก เขาคัดลอกบทสนทนาบางบทและฉากจากภาพยนตร์เรื่องนั้น รวมไปถึงฉากงานเลี้ยงของผู้โดยสารชั้นสาม[44] และฉากนักดนตรีบรรเลงเพลงบนดาดฟ้าขณะที่เรือกำลังจม[30]

แคเมรอนรู้สึกว่าการอับปางของ ไททานิก เป็น "เหมือนนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจริง" แต่เหตุการณ์ได้กลายเป็นเพียงแค่นิทานสอนเรื่องคุณธรรมเพียงอย่างเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้จะทำให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตในประวัติศาสตร์[38] นักล่าสมบัติ บร็อค เลิฟเว็ตต์ เป็นตัวแทนของผู้ที่ไม่เคยเข้าถึงองค์ประกอบมนุษย์ของโศกนาฏกรรม[35] ในขณะที่ความรักของแจ็คและโรสกำลังเบ่งบาน แคเมรอนเชื่อว่าจะเป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุดของเรื่องราว เมื่อความรักของพวกเขาถูกทำลาย ในที่สุดผู้ชมจะโศกเศร้ากับการสูญเสีย[38] เขากล่าว "ภาพยนตร์ทุกเรื่องของผมคือเรื่องราวของความรัก แต่ใน ไททานิค ในที่สุดผมทำให้มันสมดุล มันไม่ใช่ภาพยนตร์ภัยพิบัติ มันเป็นเรื่องราวความรักที่ทับซ้อนด้วยประวัติศาสตร์จริงอย่างพิถีพิถัน"[29]

แคเมรอนตีกรอบความรักของโรสตอนชราให้ในหลายปีที่ผ่านมานั้นเห็นได้ชัดและสะเทือนอารมณ์[38] ขณะที่วินสเลตและสจวตกล่าวถึงความเชื่อของพวกเขาว่า แทนที่จะนอนหลับอยู่บนเตียงของเธอ ตัวละครนั้นเสียชีวิตในตอนท้ายของภาพยนตร์[45][46] แคเมรอนกล่าวว่าเขาจะไม่เปิดเผยสิ่งที่เขาตั้งใจให้เป็นในตอนจบเพราะ "คำตอบจะต้องเป็นสิ่งที่คุณคิดด้วยตัวเอง คนเดียว"[16]

การสร้างแบบจำลอง แก้

ฮาร์แลนด์แอนด์วูล์ฟฟ์ บริษัทผู้สร้าง อาร์เอ็มเอส ไททานิก เปิดคลังเก็บเอกสารส่วนตัวให้กับทีมงานเพื่อแบ่งปันพิมพ์เขียวของเรือ ซึ่งพวกเขาคิดว่ามันหายสาบสูญไปแล้ว สำหรับการออกแบบภายในเรือ ทีมของปีเตอร์ มามอนต์ ผู้ออกแบบงานสร้าง ได้ทำการค้นหาสิ่งของที่มาจากยุคนั้น เพราะเรือนั้นยังใหม่ทำให้ของประกอบฉากทุกชิ้นต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด[47] ฟอกซ์ซื้อพื้นที่จำนวน 40 เอเคอร์ บริเวณริมฝั่งด้านทิศใต้ของหาดโรซาริโตในเม็กซิโกและเริ่มก่อสร้างสตูดิโอใหม่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1996 บ่อน้ำขนาดความจุ 17 ล้านแกลลอนถูกสร้างขึ้นสำหรับมุมมองภายนอกของเรือ ให้มุมมองของมหาสมุทร 270 องศา เรือถูกสร้างให้มีขนาดเท่ากับเรือต้นฉบับ แต่ลามอนต์ได้ตัดส่วนที่ซ้ำซ้อนของเรือออกไปและไม่ได้สร้างส่วนดาดฟ้าด้านหน้าของเรือ เพื่อให้เรือนั้นมีขนาดพอดีกับบ่อ โดยส่วนที่เหลือนั้นเติมด้วยใช้โมเดลดิจิทัล เรือชูชีพและปล่องควันถูกลดขนาดลงร้อยละสิบ ดาดฟ้าและชั้นเอของเรือสามารถใช้ถ่ายทำได้ แต่ส่วนเหลือของเรือนั้นเป็นแค่แผ่นเหล็ก ภายในนั้นมีแท่นยกห้าสิบฟุตเพื่อให้เรือเอียงในระหว่างฉากอับปาง มีเครนความสูง 49 เมตร บนรางความยาว 180 เมตร โดยเอาไว้ใช้ในการก่อสร้าง, ส่องแสงไฟและวางกล้องถ่ายทำ[35]

ฉากห้องพักภายในเรือของ ไททานิก ถูกสร้างใหม่ให้ตรงกับต้นฉบับ โดยใช้ภาพถ่ายและพิมพ์เขียวจากผู้สร้างเรือ ไททานิก บันไดใหญ่ ซึ่งเป็นฉากที่โดดเด่นในภาพยนตร์ ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยมาตรฐานที่สูงและมีความถูกต้องมากที่สุด ถึงแม้ว่ามันจะกว้างขึ้น 30% เมื่อเทียบกับแบบดั้งเดิมและเสริมด้วยคานเหล็ก ช่างฝีมือจากเม็กซิโกและสหราชอาณาจักรแกะสลักลายไม้ที่หรูหราและงานพลาสติกจากแบบดั้งเดิมของ ไททานิก[48] การปูพรม, การหุ้มเบาะ, เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น, การติดตั้งไฟ, เก้าอี้, ช้อนส้อมและถ้วยชามพร้อมตราสัญลักษณ์ ไวต์สตาร์ไลน์ ในแต่ละชิ้นล้วนเป็นวัตถุที่สร้างขึ้นตามแบบดั้งเดิม[49] แคเมรอนจ้างนักประวัติศาสตร์ ไททานิก สองคน ดอน ลินจ์และเคน มาร์สเชลล์ เพื่อตรวจสอบรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์[19]

การถ่ายทำ แก้

การถ่ายทำภาพยนตร์ ไททานิค เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1996 ที่ ดาร์ตเมาธ์, โนวาสโกเชีย แคนาดา ด้วยการถ่ายทำฉากในยุคปัจจุบันบนเรือ อคาเดมิก มิสติสลาฟ เคลดิช[35] ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1996 การถ่ายทำย้ายไปที่ฟอกซ์บาฮาสตูดิโอซึ่งสร้างใหม่ที่ โรซาริโต, เม็กซิโก ที่มีฉากของเรือ อาร์เอ็มเอส ไททานิก ขนาดใหญ่[35] ดาดฟ้าท้ายเรือถูกสร้างขึ้นบนบานพับที่สามารถทำให้เอียง 90 องศาได้ในเวลาไม่กี่วินาที ใช้ในฉากที่ท้ายเรือชี้ขึ้นฟ้าแล้วกำลังอับปาง[50] ของประกอบฉากหลายชิ้นเป็นโฟมยาง เพื่อความปลอดภัยของสตันแมน[51] ในวันที่ 15 พฤศจิกายน มีการถ่ายทำฉากขึ้นเรือ[50] แคเมรอนเลือกสร้างฝั่งกราบขวาเรือของ อาร์เอ็มเอส ไททานิก จากการศึกษาข้อมูลสภาพอากาศพบว่าที่นี่มีทิศทางลมเป็นเหนือจรดใต้ ทำให้ควันจากปล่องควันลอยไปด้านหลัง ก่อให้เกิดปัญหาสำหรับการถ่ายทำฉากการเดินทางจาก เซาแทมป์ตัน ซึ่งแต่เดิมนั้นเรือเทียบท่าฝั่งกราบซ้ายของเรือ ทำให้มีการแก้ไขทิศทางของบท เช่นเดียวกับ ของประกอบฉากและเครื่องแต่งกาย ซึ่งจำเป็นต้องพลิกกลับด้าน ตัวอย่างเช่น ถ้าคนไหนเดินไปทางขวาในบท คนนั้นต้องเดินไปทางซ้ายในระหว่างการถ่ายทำ ในช่วงหลังการถ่ายทำ ภาพยนตร์ได้พลิกกลับด้านเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้อง[52]

มีการว่าจ้างผู้ฝึกสอนเรื่องมารยาทเพื่อสอนนักแสดงให้เรียนรู้มารยาทของคนชั้นสูงในปี ค.ศ. 1912[19] อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้นักวิจารณ์หลายคนก็จับผิดการผิดยุคสมัยที่มีอยู่ในภาพยนตร์ มีไม่น้อยที่นักแสดงนำทั้งสองคนมีส่วนเกี่ยวข้อง[53][54]

แคเมรอนเป็นคนวาดภาพเปลือยของโรส[55] สำหรับฉากที่เขารู้สึกว่ามีฉากหลังของความอดกลั้น "คุณรู้ว่ามันมีความหมายสำหรับเธอ อิสรภาพที่เธอต้องการรู้สึก มันเป็นเรื่องที่น่าดีใจ" เขากล่าว[29] ฉากเปลือยนั้นเป็นฉากแรกที่ดิแคพรีโอกับวินสเล็ตแสดงด้วยกันครั้งแรก "มันไม่ได้มีการออกแบบใด ๆ ทั้งนั้น แม้ว่าผมจะไม่สามารถออกแบบให้ได้ดีกว่านี้ มีความกังวลใจและความกระตือรือร้นและความลังเลใจในตัวพวกเขา" แคเมรอนกล่าว "พวกเขาซ้อมด้วยกัน แต่พวกเขายังไม่เคยถ่ายทำอะไรด้วยกันเลย ถ้าผมมีทางเลือก ผมอาจจะต้องการลงรายละเอียดเข้าไปในฉากนี้ให้มากขึ้น" แคเมรอนกล่าวว่าเขากับทีมงานของเขา "พยายามหาอะไรมาถ่ายทำก่อน" เพราะฉากใหญ่นั้น "ยังไม่พร้อมในอีกหลายเดือน ดังนั้นเราจึงพยายามดิ้นรนเพื่อเติมเต็มทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อจะได้ถ่ายทำ" หลังแคเมรอนเห็นฉากนี้ในภาพยนตร์ เขารู้สึกว่ามันทำออกมาได้ดี[29]

บางครั้งการถ่ายทำก็ไม่ราบรื่นและเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบากที่ "สร้างชื่อเสียงที่น่าเกรงขามให้กับแคเมรอนว่าเป็น 'คนที่น่ากลัวที่สุดในฮอลลีวูด' เขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะคนที่มีความแน่วแน่, ผู้ยึดติดความสมบูรณ์แบบ" และ "คนที่ตะโกนด้วยความดัง 300 เดซิเบล เหมือนกับ กัปตันไบลห์ ยุคปัจจุบันที่มีโทรโข่งและเครื่องส่งรับวิทยุ บินโฉบหน้าของผู้คนบนรถเครนขนาด 162 ฟุต"[56] วินสเล็ตบิ่นกระดูกในข้อศอกของเธอระหว่างการถ่ายทำและกังวลว่าเธอจะจมน้ำในถังน้ำขนาด 17 ล้านแกลลอนที่มีฉากเรืออับปางอยู่ "มีหลายครั้งที่ฉันกลัวเขาจริง ๆ จิมมีอารมณ์ที่คุณน่าจะไม่เชื่อ" เธอกล่าว[56] "'ให้ตายเถอะ!' เขาจะตะโกนใส่ทีมงานที่น่าสงสารบางคน, 'นั่นคือสิ่งที่ฉันไม่ต้องการ!'"[56] นักแสดงร่วมของเธอ บิล แพกซ์ตัน คุ้นเคยกับวิธีการทำงานของแคเมรอนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา "มีผู้คนมากมายในฉากถ่ายทำ จิมไม่ได้เป็นหนึ่งในคนที่มีเวลาที่จะชนะใจและความคิด," เขากล่าว[56] ทีมงานรู้สึกว่าแคเมรอนมีตัวตนอีกด้านหนึ่งที่ชั่วร้าย จึงตั้งชื่อเล่นเขาว่า "Mij" (Jim สะกดย้อนกลับ)[56] แคเมรอนตอบกลับการวิจารณ์เหล่านี้ โดยเขากล่าวว่า "การสร้างภาพยนตร์คือสงคราม การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ระหว่างธุรกิจและสุนทรียภาพ"[56]

ระหว่างการถ่ายทำฉากบนเรือ อคาเดมิก มิสติสลาฟ เคลดิช ที่แคนาดา มีทีมงานคนหนึ่งใส่ ยาหลอนประสาท เฟนไซคลิดีน ลงไปในซุป ซึ่งแคเมรอนและคนอื่น ๆ ได้กินเข้าไป[18][57] ทำให้ต้องส่งโรงพยาบาลมากกว่า 50 คน รวมถึง แพกซ์ตัน[57] นักแสดง ลูอิส อะเบอร์นาที กล่าวว่า "มีแต่คนกลิ้งไปกลิ้งมาเต็มไปหมด บางคนบอกว่าพวกเขาเห็นเส้นลายตาและประสาทหลอน," [18] แคเมรอนพยายามอ้วกออกมาก่อนที่ยาจะออกฤทธิ์จนหมด อะเบอร์นาทีตกใจแววตาของแคเมรอน "ดวงตาข้างหนึ่งนั้นเป็นสีแดงสนิท, เหมือนตาของเทอร์มิเนเตอร์ มีแต่รูม่านตา, ไม่มีม่านตา, สีแดงล้วน ส่วนตาอีกข้างหนึ่งดูเหมือนเขาดมกาวตั้งแต่อายุสี่ขวบ"[18][56] คนที่อยู่เบื้องหลังการวางยาพิษนั้นจับไม่ได้เลยว่าเป็นใคร[45][58]

ตารางการถ่ายทำนั้นตั้งใจใช้เวลา 138 วัน แต่ก็เพิ่มขึ้นเป็น 160 วัน สมาชิกนักแสดงหลายคนเริ่มป่วยเป็นโรคหวัด, ไข้หวัดใหญ่หรือติดเชื้อในไตหลังใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในน้ำเย็น รวมถึง วินสเล็ต จนท้ายที่สุด เธอตัดสินในไม่ร่วมงานกับแคเมรอนอีก นอกเสียจากเธอจะได้รับ "เงินจำนวนมาก"[58] มีหลายคนออกจากการถ่ายทำและสตันแมนสามคนกระดูกหัก แต่ สมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ ตัดสินใจจากการสืบสวนว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับฉาก[58] นอกจากนี้ ดิแคพรีโอยังกล่าวอีกว่าไม่มีสถานที่ไหนที่เขารู้สึกว่าตกอยู่ในอันตรายระหว่างการถ่ายทำ[59] แคเมรอนเชื่อมั่นในจรรยาบรรณในการทำงานที่ทุ่มเทและไม่เคยขอโทษในวิธีการถ่ายทำของเขา แม้ว่าเขาจะยอมรับว่า:

ผมขอร้องและผมขอร้องกับทีมงานของผม ในแบบที่เหมือนกับทหาร ผมคิดว่ามีวิธีหนึ่งในการรับมือกับตัวประกอบเป็นพันคนและการขนส่งขนาดใหญ่และทำให้ผู้คนปลอดภัย ผมคิดว่าคุณต้องมีวิธีการที่เข้มงวดพอสมควรในการจัดการกับกลุ่มคนจำนวนมาก[58]

ทุนในการถ่ายทำ ไททานิค เริ่มสูงขึ้นจนในที่สุดก็ถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[4][5][6] ทำให้หนึ่งนาทีในภาพยนตร์มีค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย[60] ผู้บริหารของฟอกซ์ตื่นตระหนกและเสนอให้ตัดความยาวภาพยนตร์ออกหนึ่งชั่วโมงจากภาพยนตร์สามชั่วโมง พวกเขาโต้เถียงว่าภาพยนตร์ยิ่งยาว ยิ่งมีรอบฉายที่น้อยลง ทำให้ทำเงินได้น้อยกว่า แม้ว่าภาพยนตร์มหากาพย์ที่เรื่องยาว มีแนวโน้มที่จะช่วยให้ผู้กำกับชนะรางวัลออสการ์ แคเมรอนปฏิเสธแล้วบอกฟอกซ์ว่า "คุณอยากจะตัดหนังของผมเหรอ? คุณจะต้องไล่ผมออก! คุณอยากไล่ผมออก? คุณจะต้องฆ่าผม![18] เหล่าผู้บริหารไม่ต้องการเริ่มต้นใหม่เพราะนั่นจะหมายถึงการสูญเสียสิ่งที่พวกเขาลงทุนทั้งหมด ในช่วงแรกพวกเขาปฏิเสธข้อเสนอของแคเมรอนที่จะไม่รับส่วนแบ่งกำไร เนื่องจากพวกเขาคาดการณ์ภาพยนตร์ไม่น่าทำกำไร[18]

แคเมรอนอธิบายการที่เขาไม่รับส่วนแบ่งนั้นซับซ้อน "... ภาพยนตร์ที่สั้นกว่านั้นใช้ทุนสร้างตามสัดส่วนมากกว่า คนเหล็ก 2029 ภาค 2 และ คนเหล็ก ผ่านิวเคลียร์ เสียอีก ภาพยนตร์เหล่านั้นใช้ทุนสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละเจ็ดหรือแปดจากทุนสร้างเริ่มต้น ไททานิค เริ่มต้นด้วยทุนสร้างที่เยอะอยู่แล้ว แต่มันก็เพิ่มขึ้นเยอะมาก" เขากล่าว "ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับ ผมรับผิดชอบในส่วนของสตูดิโอที่เขียนเช็ค ดังนั้นผมทำให้พวกเขาเจ็บปวดน้อยลง ผมทำอย่างนั้นสองครั้งในสองโอกาสที่แตกต่างกัน พวกเขาไม่ได้บังคับให้ผมทำ พวกเขาดีใจที่ผมทำ"[29]

หลังการถ่ายทำ แก้

เอฟเฟกต์ แก้

แคเมรอนต้องการผลักดันขอบเขตของเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ของเขาและได้จ้าง ดิจิทัลโดเมนและแปซิฟิกดาตาอิมเมจิส เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลต่อ ซึ่งผู้กำกับเคยบุกเบิกเอาไว้ในขณะกำลังทำงานภาพยนตร์เรื่อง ดิ่งขั้วมฤตยู และ คนเหล็ก 2029 ภาค 2 ภาพยนตร์หลายเรื่องที่เกี่ยวกับ อาร์เอ็มเอส ไททานิก ก่อนหน้านี้ ได้ถ่ายทำฉากบนน้ำในลักษณะภาพเคลื่อนไหวช้า ทำให้ไม่ค่อยดูน่าเชื่อเท่าไหร่[61] แคเมรอนสนับสนุนให้ทีมงานของเขาถ่ายทำกับแบบจำลองความยาว 45 ฟุต (14 เมตร) ของเรือ เหมือนกับ "พวกเรากำลังโฆษณาให้กับไวต์สตาร์ไลน"[62] น้ำดิจิทัลและควันถูกใส่เพิ่มเข้าไปในภายหลัง เช่นเดียวกับการเพิ่มตัวประกอบโดยใช้การจับเคลื่อนไหวบนสเตจ หัวหน้างานวิชวลเอฟเฟกต์ รอบ เลกาโต สแกนใบหน้าของนักแสดงหลายคน รวมถึงตัวเขาและลูก ๆ ของเขา เพื่อให้เป็นตัวประกอบและสตันแมนดิจิทัล และยังมีแบบจำลองของท้ายเรือความยาว 65 ฟุต (20 เมตร) ซึ่งสามารถหักครึ่งได้หลายรอบ เป็นแบบจำลองเดียวที่ใช้บนน้ำ[61] สำหรับฉากห้องเครื่องของเรือ มีการใช้ภาพเครื่องยนต์ของเรือ เอสเอส เจอเรอไมยาห์ โอไบรอัน ร่วมกับแบบจำลองของเครื่องยนต์และนักแสดงถ่ายทำกับฉากเขียว[63] ฉากเลานจ์ของผู้โดยสารชั้นหนึ่งนั้นเป็นแบบจำลอง โดยนำมารวมกับนักแสดงซึ่งถ่ายทำกับฉากเขียว เพื่อเป็นการประหยัดเงิน[64] แบบจำลองของเลานจ์ต่อมาถูกบดขยี้เพื่อจำลองการทำลายของห้องและแบบจำลองทางเดินของผู้โดยสารชั้นหนึ่งถูกน้ำท่วมด้วยกระแสน้ำที่รุนแรงขณะที่กล้องกำลังแพนออก[65]

แทงค์น้ำปิดขนาด 5,000,000 แกลลอนสหรัฐ (19,000,000 ลิตร) ใช้สำหรับฉากการจมภายในเรือ โดยที่ฉากนั้นสามารถเอียงได้ในน้ำ ในการจมฉากบันไดใหญ่ น้ำขนาด 90,000 แกลลอนสหรัฐ (340,000 ลิตร) ถูกใส่ลงไป ซึ่งฉากบันไดใหญ่ที่อยู่ด้านล่างของแทงค์น้ำ น้ำที่ตกลงทำให้ฉีกบันไดออกมาจากฐานรากที่เสริมด้วยเหล็กอย่างไม่คาดคิด ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครบาดเจ็บ ฉากภายนอกของ อาร์เอ็มเอส ไททานิก ความยาว 744 ฟุต (227 เมตร) ส่วนครึ่งแรกของเรือนั้นอยู่ในแทงค์น้ำ แต่เนื่องจากมันส่วนที่หนักที่สุดของเรือ จึงทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกกับน้ำ เพื่อที่จะให้ฉากลงไปอยู่ในน้ำ แคเมรอนทำให้ฉากนั้นว่างเปล่าให้ได้มากที่สุดและแม้แต่ทุบหน้าต่างทางเดินบางส่วนด้วยตัวเขาเอง หลังการจมห้องรับประทานอาหาร พวกเขาใช้สามวันถ่ายทำ ยานพาหนะที่ควบคุมจากระยะไกลของโลเวตต์สำรวจซากในปัจจุบัน[35] ฉากหลังการอับปางในมหาสมุทรแอตแลนติกที่หนาวถึงจุดเยือกแข็งนั้นถ่ายทำในแทงค์น้ำขนาด 350,000 แกลลอนสหรัฐ (1,300,000 ลิตร)[66] ศพที่ถูกแช่แข็งนั้นสร้างโดยนำนักแสดงมาทาแป้งที่ตกผลึกเมื่อสัมผัสกับน้ำและนำขี้ผึ้งมาเคลือบผมและเสื้อผ้า[47]

ฉากในภาพยนตร์ที่เรือแตกออกเป็นสองท่อน ก่อนที่เรือทั้งลำจะจมลงไปสู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก มีการสร้างฉากขนาดเท่าของจริงซึ่งสามารถเอียงได้ มีนักแสดงประกอบ 150 คนและนักแสดงผาดโผน 100 คน แคเมรอนวิจารณ์ภาพยนตร์ ไททานิก ก่อนหน้านี้ว่าฉากการจมนั้นเหมือนกับการไถลลงไปในน้ำอย่างนุ่มนวล เขา "ต้องการจะแสดงให้เห็นภาพของเหตุการณ์ที่โกลาหลอย่างน่ากลัวเพราะว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ"[19] เมื่อขณะถ่ายทำฉากนี้ ผู้คนจำเป็นต้องร่วงลงจากดาดฟ้าที่เอียงมากขึ้น ร่วงลงไปหลายร้อยฟุตและชนกับราวกั้นและใบพัดกระเด็นออกไป มีความพยายามในการถ่ายทำฉากนี้กับนักแสดงผาดโผน ส่งผลให้มีการบาดเจ็บเล็กน้อย และแคเมรอนจึงให้หยุดการแสดงผาดโผนที่อันตรายกว่านี้ จนในที่สุดก็ลดความเสี่ยงด้วยการ "ใช้ผู้คนสร้างจากคอมพิวเตอร์สำหรับการร่วงที่อันตราย"[19]

การตัดต่อ แก้

มีหนึ่งฉากที่เป็น "ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ" ซึ่งแคเมรอนเลือกที่จะตัดออกจากภาพยนตร์ ฉากดังกล่าวคือ เอสเอส แคลิโฟร์เนียน นั้นใกล้กับ ไททานิก ในคืนที่เรืออับปาง แต่เรือ แคลิโฟร์เนียน ได้ปิดวิทยุในคืนนั้น ทำให้ไม่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือจาก ไททานิก และไม่ได้ตอบสนองกับพลุขอความช่วยเหลือเช่นกัน "ใช่, [เอสเอส] แคลิโฟร์เนียน มันไม่ใช่การประนีประนอมกับการสร้างภาพยนตร์กระแสหลัก มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ความสำคัญมากกว่า การสร้างความจริงทางอารมณ์ให้กับภาพยนตร์ แคเมรอนกล่าว เขาบอกว่ามีแง่มุมของการเล่าเรื่องการอับปางที่ดูเหมือนจะสำคัญในช่วงก่อนและหลังการถ่ายทำ แต่กลับกลายเป็นว่ามีความสำคัญน้อยลงเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้พัฒนาขึ้น "เรื่องราวของ แคลิโฟร์เนียน มันอยู่ในนั้น พวกเรายังถ่ายทำฉากที่พวกเขาปิดวิทยุมาร์โกนีเลย," แคเมรอนกล่าว "แต่ผมเอามันออก มันเป็นการตัดที่หมดจด เพราะมันเน้นให้คุณกลับไปที่โลกนั้น ถ้า ไททานิก นั้นแข็งแกร่งดั่งคำอุปมา เป็นโลกขนาดเล็ก สำหรับวันสิ้นโลกในความรู้สึก ดังนั้นโลกดังกล่าวจะต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง"[29]

ในช่วงการตัดต่อครั้งแรก แคเมรอนได้เปลี่ยนแปลงตอนจบที่วางแผนเอาไว้ ซึ่งเป็นการสรุปเรื่องราวของบร็อก เลิฟเวตต์ ในตอนจบแบบเดิม บร็อกและลิซซีเห็นโรสวัยชรากำลังปืนท้ายเรือและกลัวว่าเธอกำลังจะฆ่าตัวตาย จากนั้นโรสก็เปิดเผยว่าเธอนั้นมีสร้อยคอเพชร "หัวใจมหาสมุทร" อยู่ในการครอบครองมาโดยตลอด แต่เธอไม่เคยขายมันเพื่อที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเธอเองโดยไม่ต้องใช้เงินของแคล เธอให้บร็อกสัมผัสสร้อยคอแล้วบอกเขาว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ล้ำค่าแล้วโรสก็โยนสร้อยคอลงไปในมหาสมุทร บร็อกหัวเราะกับความโง่เขลาของเขา หลังยอมรับว่าสมบัตินั้นไร้ค่า โรสกลับไปที่ห้องเธอแล้วนอนหลับ จากนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงในลักษณะเดียวกับภาพยนตร์ฉบับสุดท้ายที่ฉายในโรงภาพยนตร์ ในห้องตัดต่อ แคเมรอนตัดสินใจว่า ณ จุดนี้ ผู้ชมคงจะไม่สนใจในตัว บร็อก เลิฟเวตต์ แล้วและตัดบทสรุปเรื่องราวของเขาออก ทำให้โรสนั้นอยู่คนเดียวขณะที่เธอหย่อนสร้อยคอ แคเมรอนไม่อยากจะทำลายความเศร้าโศกของผู้ชมหลังจากเรือ ไททานิก จม[67] แพกซ์ตันเห็นด้วยว่าฉากของเขากับบทสรุปและหัวเราะของบร็อกนั้นไม่จำเป็น เขากล่าวว่า "ผมว่าต้องฉีดเฮโรอีนเพื่อให้ฉากนี้ดีขึ้น ...คุณไม่ต้องการอะไรจากเราจริง ๆ งานของเราก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว ... ถ้าคุณฉลาดและกำจัดอัตตาและความหลงตัวเองออกไป คุณจะฟังภาพยนตร์และภาพยนตร์จะบอกคุณว่ามันต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร"[68]

ภาพยนตร์ที่ฉายในรอบทดสอบครั้งแรก มีฉากการต่อสู้ระหว่างแจ็กและเลิฟจอย ซึ่งเกิดขึ้นหลังแจ็กและโรสหนีเข้าไปยังห้องอาหารที่ถูกน้ำท่วม แต่ผู้ชมทดสอบไม่ชอบ[69] ฉากนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ภาพยนตร์มีความระทึกขวัญมากขึ้น โดยที่แคล (หลอก) ให้โอกาสเลิฟจอย ซึ่งเป็นคนรับใช้ของเขา ได้ "หัวใจมหาสมุทร" ไปครอบครองถ้าเขาจับแจ็กกับโรสได้ เลิฟจอยติดตามทั้งคู่ไปยังห้องอาหารชั้นหนึ่งซึ่งกำลังจม เลิฟจอยได้ยินเสียงโรสเอามือตบน้ำ โดยเธอหลบอยู่หลังโต๊ะ กำลังจับเก้าอี้แล้วมือของเธอก็ลื่น ขณะที่เลิฟจอยกำลังเดินไปหาโรส แจ็กเข้ามาจากข้างหลังเลิฟจอยแล้วผลักศีรษะของเขาไปชนกับกระจกหน้าต่าง แจ็กแก้แค้นเลิฟจอยที่กล่าวหาเขาว่าเป็นคน "ขโมย" สร้อยคอ ซึ่งเป็นการอธิบายว่าบาดแผลบนหัวของเลิฟจอยได้มาอย่างไร ที่เห็นก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์ การตอบรับของฉากนี้ ผู้ชมทดสอบกล่าวว่าจะไม่สมจริงที่จะเสี่ยงชีวิตเพื่อความมั่งคั่ง และแคเมรอนก็ตัดฉากนี้ออกด้วยเหตุผลดังกล่าว เช่นเดียวกันเหตุผลในเรื่องเวลาและจังหวะของภาพยนตร์ ฉากอื่น ๆ หลายฉากถูกตัดออกด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน[69]

หัวใจมหาสมุทร แก้

สำหรับการออกแบบหัวใจมหาสมุทร ช่างอัญมณีในลอนดอน แอสเพรย์แอนด์การ์ราร์ด ใช้คิวบิกเซอร์โคเนียในชุดทองคำขาว[70] เพื่อสร้างสร้อยคอสไตล์เอ็ดเวิร์ดเพื่อใช้เป็นของประกอบฉากในภาพยนตร์ แอสเพรย์แอนด์การ์ราร์ดผลิตและออกแบบสร้อยคอ: ผลที่ได้คือการออกแบบที่แตกต่างกันสามแบบและมีเอกลักษณ์ การออกแบบสองแบบของพวกเขาถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์ ในขณะที่อีกแบบไม่ได้ใช้จนกระทั่งหลังภาพยนตร์ฉาย สร้อยคอทั้งสามนี้รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นของประกอบฉากดั้งเดิม, สร้อยคอของ เจ. ปีเตอร์แมนและสร้อยคอแอสเพรย์ สร้อยคอทั้งสามมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่มีความแตกต่างที่เด่นชัด

การออกแบบที่สามและแบบสุดท้ายไม่ได้ใช้ในภาพยนตร์ หลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์ แอสเพรย์แอนด์การ์ราร์ดได้รับมอบหมายให้สร้างสร้อยคอหัวใจมหาสมุทรของแท้โดยใช้การออกแบบดั้งเดิม ผลลัพธ์ที่ได้คือไพลินซีลอนรูปหัวใจชุดแพลตตินัม 171 กะรัต (34.2 กรัม) ล้อมรอบด้วยเพชร 103 เม็ด[70] การออกแบบนี้มีไพลินซีลอนรูปลูกแพร์กลับหัวขนาดใหญ่กว่ามาก โดยมีรอยแยกเล็ก ๆ ที่ดูคล้ายหัวใจ โซ่สำหรับสร้อยคอนี้ยังมีเพชรสีขาวเจียระไนทรงกลม, ลูกแพร์และมาร์คีส์ ส่วนตะขอยังมีเพชรสีขาวเจียระไนรูปหัวใจพร้อมเพชรเจียระไนทรงกลมอีกเม็ดติดกับเพชรรูปลูกแพร์คว่ำซึ่งติดเข้ากับกรอบของเพชรหลัก สร้อยคอนี้บริจาคให้กับบริษัทประมูลของโซเทบีในเบเวอร์ลีฮิลส์ สำหรับการประมูลเพื่อประโยชน์ของ กองทุนอนุสรณ์เจ้าหญิงแห่งเวลส์, ไดอานา และความช่วยเหลือสำหรับโรคเอดส์ของแคลิฟอร์เนียตอนใต้ สร้อยคอถูกขายให้กับลูกค้าของแอสเพรย์ที่ไม่ปรากฏชื่อ[71] ในราคา 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้ข้อตกลงที่ เซลีน ดิออน จะสวมมันสองคืนต่อมาในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 70 เมื่อ ค.ศ. 1998 ตั้งแต่นั้นมา สร้อยคอนี้ไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไปชม

เพลงและดนตรีประกอบ แก้

แคเมรอนเขียนบทภาพยนตร์ ไททานิค ขณะฟังผลงานของ เอนยา นักดนตรีแนวนิวเอจชาวไอริช[72] เขาเสนอโอกาสให้เอนยาแต่งดนตรีประกอบสำหรับภาพยนตร์ แต่เธอปฏิเสธ[73] แคเมรอนเลือก เจมส์ ฮอร์เนอร์ เพื่อแต่งดนตรีประกอบภาพยนตร์แทน ทั้งสองคนแยกทางกันหลังจากประสบการณ์การทำงานอันวุ่นวายใน เอเลี่ยน 2 ฝูงมฤตยูนอกโลก,[74] แต่ ไททานิค ได้ประสานความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จซึ่งคงอยู่จนกระทั่งฮอร์เนอร์เสียชีวิต[75] สำหรับเสียงร้องที่ได้ยินตลอดทั้งเรื่อง ซึ่ง เอิร์ล ฮิตช์เนอร์ จาก เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล อธิบายในภายหลังว่า "ชวนให้นึกถึง" ฮอร์เนอร์เลือกนักร้องชาวนอร์เวย์ ซิสเซล คีร์เคโบ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "ซิสเซล" ฮอร์เนอร์รู้จักซิสเซลจากอัลบั้ม อินเนอร์ตอิสเชลิน และเขาชอบที่เธอร้องเพลง "เอกไวติฮิมเมริเกบอริก" ("ฉันรู้ในสวรรค์ว่ามีปราสาท") เป็นพิเศษ เขาทดลองนักร้องมายี่สิบห้าหรือสามสิบคนก่อนหน้านี้ ในที่สุดเขาก็เลือกซิสเซลเป็นเสียงร้องเพื่อสร้างอารมณ์เฉพาะในภาพยนตร์[76]

ฮอร์เนอร์ยังได้แต่งเพลง "มายฮาร์ตวิลโกออน" อย่างลับ ๆ กับ วิล เจนนิงส์ เพราะแคเมรอนไม่ต้องการเพลงใด ๆ ที่มีการร้องเพลงในภาพยนตร์[77] เซลีน ดิออน ตกลงที่จะบันทึกเดโมจากการโน้มน้าวของสามีของเธอ เรเน แองเจลิล ฮอร์เนอร์รอจนกระทั่งแคเมรอนอยู่ในอารมณ์ที่เหมาะสมก่อนจะนำเสนอเพลงแก่เขา หลังจากเล่นหลายครั้ง แคเมรอนก็ประกาศอนุมัติ แม้ว่าจะกังวลว่าเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า "เป็นการโฆษณาในตอนจบของภาพยนตร์"[77] แคเมรอนก็ต้องการเอาใจผู้บริหารสตูดิโอที่กังวลและ "เห็นว่าเพลงฮิตจากภาพยนตร์ของเขาอาจเป็นเพียงปัจจัยบวกในการรับประกันความสมบูรณ์แบบเท่านั้น"[19]

การฉาย แก้

รอบปฐมทัศน์ แก้

ทเวนตีท์เซนจูรีฟอกซ์และพาราเมาต์พิกเจอส์ ร่วมกันออกทุนสร้างภาพยนตร์ ไททานิค โดยพาราเมาต์ดูแลการจัดจำหน่ายในอเมริกาเหนือและฟอกซ์ดูแลการจัดจำหน่ายทั่วโลก พวกเขาคาดหวังว่าแคเมรอนจะสร้างภาพยนตร์ให้เสร็จ สำหรับการฉายในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 ภาพยนตร์จะเข้าฉายในวันดังกล่าว "เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากการขายตั๋วในช่วงฤดูร้อนซึ่งทำเงินมหาศาล เมื่อภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์มักจะทำได้ดีกว่า"[19] ในเดือนเมษายน แคเมรอนกล่าวว่าเทคนิคพิเศษของภาพยนตร์นั้นซับซ้อนมากและทำให้การฉายในช่วงฤดูร้อนนั้นคงเป็นไปไม่ได้[19] การสร้างที่ล่าช้า ทำให้พาราเมาต์เลื่อนวันฉายออกไปเป็นวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1997[78] "เรื่องนี้ทำให้เกิดการคาดเดาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะกลายเป็นหายนะ" มีการฉายรอบตัวอย่างในมินนีแอโพลิสเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม "ได้รับการตอบรับในแง่บวก" และ "การพูดคุยกันบนอินเทอร์เน็ตมีส่วนรับผิดชอบต่อการพูดปากต่อปากที่ดีเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้" ในที่สุดก็นำไปสู่การรายงานข่าวในทางที่ดีมากขึ้น[19]

ภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1997 ในงานเทศกาลภาพยนตร์โตเกียว[79] ซึ่งการตอบรับได้รับการอธิบายโดย เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่า "ไม่น่าสนใจ"[80] บทวิจารณ์ในแง่บวกเริ่มกลับมาปรากฏในสหรัฐ เมื่อมีการฉายรอบปฐมทัศน์ในฮอลลีวูดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ที่ "ดาราภาพยนตร์ชื่อดังมาร่วมงานเปิดตัวและต้องการเผยภาพยนตร์เรื่องนี้ไปยังสื่อทั่วโลกอย่างกระตือรือร้น"[19]

บ็อกซ์ออฟฟิศ แก้

ไททานิค ทำเงิน 668.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอเมริกาเหนือและ 1.556 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในต่างประเทศ รวมแล้วทำเงินทั่วโลก 2.224 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรวมเงินที่ได้จากการฉายใหม่เมื่อ ค.ศ. 2012, 2017 และ 2023 ด้วย[14] กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด ในปี ค.ศ. 1998 โดยทำเงินแซง จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ (1993)[81] ไททานิค ยังคงเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดเป็นเวลาสิบสองปี จนกระทั่ง อวตาร (2009) ซึ่งเขียนบทและกำกับโดยแคเมรอน ทำเงินแซงไปในปี ค.ศ. 2010[82] เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1998,[83] ไททานิค เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก[84] และในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 13–15 เมษายน ค.ศ. 2012 หนึ่งศตวรรษหลังการอับปางของเรือ ไททานิค กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองที่ทำเงินมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก โดยทำเงินจากการฉายใหม่ในรูปแบบสามมิติ[85] บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจ ประมาณการว่า ไททานิค เป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่ห้าในอเมริกาเหนือเมื่อปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว[86] และยังประมาณการว่าภาพยนตร์ได้ขายตั๋วไปมากกว่า 128 ล้านใบในสหรัฐในช่วงการฉายครั้งแรก[87]

ไททานิค เคยเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จในอินเดีย ซึ่งอ้างว่ามีผู้ชมภาพยนตร์มากที่สุดในโลก[88] รายงานของ ฮินดูสถานไทมส์ ระบุว่าความคล้ายคลึงของภาพยนตร์และแก่นเรื่องมีลักษณะคล้ายกับภาพยนตร์บอลลีวูดส่วนใหญ่[89]

การฉายครั้งแรก แก้

ไททานิค ได้รับการเข้าชมอย่างต่อเนื่องหลังจากเปิดตัวฉายในอเมริกาเหนือเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1997 โดยในวันอาทิตย์ โรงภาพยนตร์ก็เริ่มขายตั๋วหมด ภาพยนตร์ทำเงิน 8,658,814 ดอลลาร์สหรัฐในวันเปิดตัวและ 28,638,131 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงสุดสัปดาห์จากการฉายในโรงภาพยนตร์ 2,674 แห่ง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,710 ดอลลาร์สหรัฐต่อโรง และครองอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศ นำหน้า น.หนูฤทธิ์เดชป่วนโลก, หวีดสุดขีด 2 และ 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย ภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ เรื่องที่สิบแปด ภาพยนตร์ทำเงินแซงสถิติของ เดอะ ก็อดฟาเธอร์ ภาค 3 ที่ทำเงินสูงสุดในวันคริสต์มาส โดยทำเงิน 9.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพยนตร์ทำเงิน 35.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ที่สอง กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในวันหยุดสุดสัปดาห์ของเดือนธันวาคมแซง หวีดสุดขีด 2[90] ไททานิค ทำเงินมากกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันขึ้นปีใหม่ ภาพยนตร์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและโรงภาพยนตร์ยังคงขายตั๋วจนหมด ไททานิค กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในบ็อกซ์ออฟฟิศในประเทศได้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาเพียง 44 วัน แซงหน้าสถิติเดิมของ จูราสสิค พาร์ค กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์ ซึ่งใช้เวลา 67 วัน[91] ไททานิค รักษาสถิตินี้ไว้จนกระทั่งถูกทำลายสถิติในปี ค.ศ. 1999 โดย สตาร์ วอร์ส เอพพิโซด 1 ภัยซ่อนเร้น[92] ภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดในวันเดียวคือวันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 โดยทำเงิน 13,048,711 ดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าแปดสัปดาห์หลังจากเปิดตัวในอเมริกาเหนือ[93][94] ภาพยนตร์ติดอันดับหนึ่งเป็นเวลา 15 สัปดาห์ติดต่อกันในอเมริกาเหนือ มากกว่าภาพยนตร์เรื่องใด ๆ[95] จนกระทั่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1998 ภาพยนตร์ก็ตกลงมาอยู่อันดับสอง เมื่อ ทะลุโลกหลุดจักรวาล ทำเงินแซงไป[96] ภาพยนตร์ฉายในโรงภาพยนตร์ในอเมริกาเหนือเป็นเวลาเกือบ 10 เดือน ก่อนจะฉายวันสุดท้ายในวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1998 โดยทำเงินในประเทศรวม 600,788,188 ดอลลาร์สหรัฐ[97] เทียบเท่ากับ 1014.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021[98] ภาพยนตร์ทำเงินในต่างประเทศ 1,242,413,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าอเมริกาเหนือสองเท่า[99] และทำเงินรวมทั้งสิ้น 1,843,201,268 ดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกจากการฉายครั้งแรก[100]

การวิเคราะห์เชิงพาณิชย์ แก้

ก่อนการฉาย ไททานิค นักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายคนคาดการณ์ว่าภาพยนตร์จะสร้างความผิดหวังอย่างมากในบ็อกซ์ออฟฟิศ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่มีทุนสร้างสูงที่สุดในขณะนั้น[56][101][102][103] เมื่อภาพยนตร์ฉายต่อสื่อมวลชนในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1997 "มันมีลางสังหรณ์ใหญ่โต" เนื่องจาก "ผู้รับผิดชอบในการฉายเชื่อว่าพวกเขากำลังจะตกงาน เพราะภาพนกอัลบาทรอสตัวใหญ่นี้ ในที่สุด สตูดิโอสองแห่งต้องรวมกันเพื่อแบ่งปันภาระอันมหาศาลในการสร้างมัน"[102] แคเมรอนยังคิดว่าเขากำลัง "มุ่งหน้าสู่หายนะ" อยู่ช่วงหนึ่งระหว่างการถ่ายทำ "เราทำงานกันหกเดือนกับ ไททานิค โดยรู้แน่ชัดว่าสตูดิโอจะต้องเสียเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐแน่นอน" เขากล่าว[56] เมื่อภาพยนตร์ใกล้จะฉาย "พิษเฉพาะถูกพ่นออกมาใส่แคเมรอนสำหรับสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นความโอหังและความฟุ่มเฟือยอย่างยิ่งใหญ่ของเขา" นักวิจารณ์ภาพยนตร์จาก ลอสแอนเจลิสไทมส์ เขียนไว้ว่า "ความหยิ่งผยองของแคเมรอนใกล้จะทำให้โครงการนี้ล่มแล้ว" และภาพยนตร์เป็น "สำเนาของความรักฮอลลีวูดเก่า ๆ ที่ลอกเลียนแบบมาอย่างสมบูรณ์"[56]

การตอบรับ แก้

ช่วงฉายครั้งแรก แก้

ไททานิค ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวกอย่างมากจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์และได้รับคำชมในแง่บวกจากผู้ชมและนักวิชาการ ซึ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบทางวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์และการเมืองของภาพยนตร์[104][105][106] บนเว็บไซต์รวบรวมบทวิจารณ์ รอตเทนโทเมโทส์ ภาพยนตร์ได้รับคะแนนที่อนุมัติแล้ว 88% โดยมีคะแนนเฉลี่ย 8/10 จาก 244 บทวิจารณ์ ฉันทามติของเว็บไซต์ระบุว่า: "ชัยชนะที่ไร้เงื่อนไขโดยส่วนใหญ่สำหรับเจมส์ แคเมรอน ผู้นำเสนอการผสมผสานที่ชวนเวียนหัวของภาพที่งดงามและเมโลดรามาสมัยเก่า"[107] เมทาคริติก ให้คะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก 75 จาก 100 จาก 35 บทวิจารณ์ โดยรายงานว่าภาพยนตร์มี "บทวิจารณ์ที่ดีโดยทั่วไป"[108] แบบสำรวจผู้ชมโดย ซีนะมาสกอร์ ให้เกรดภาพยนตร์ "A+" โดยหนึ่งในภาพยนตร์น้อยกว่า 60 เรื่องในประวัติศาสตร์ของซีนะมาสกอร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1982 ถึง 2011 ที่ได้รับเกรดนี้[109]

รางวัล แก้

ไททานิค กวาดรางวัลโดยเริ่มจาก รางวัลลูกโลกทองคำ โดยชนะเลิศสี่สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดรามา, สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม[110] เคต วินสเล็ตและกลอเรีย สจ๊วต ก็ได้รับการเสนอชื่อเช่นกัน[111] ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อใน รางวัลออสการ์ สิบสี่สาขา เทียบเท่ากับสถิติของภาพยนตร์เรื่อง วิมานลวง ของ โจเซฟ แอล. มานคีวิกซ์ เมื่อ ค.ศ. 1950[112] โดย ไททานิค ชนะเลิศสิบเอ็ดสาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองที่เกี่ยวกับ ไททานิก ที่ได้รับรางวัล ต่อจาก ภาพยนตร์เรื่อง คาวาลเคด เมื่อ ค.ศ. 1933), สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, สาขากำกับภาพยอดเยี่ยม, สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม, สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม, สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, สาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยม (แกรี ไรด์สตรอม, ทอม จอห์นสัน, แกรี ซัมเมอส์, มาร์ก อูลาโน), สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม, สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม[113] เคต วินสเล็ต, กลอเรีย สจ๊วต และช่างแต่งหน้า เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ไม่ได้ชนะเลิศ โดยแพ้ให้กับ เฮเลน ฮันต์ ใน เพียงเธอ..รักนี้ดีสุดแล้ว, คิม เบซิงเงอร์ ใน ดับโหด แอล.เอ.เมืองคนโฉด และ เอ็มไอบี หน่วยจารชนพิทักษ์จักรวาล พร้อมกัน[114] บทภาพยนตร์ดั้งเดิมของเจมส์ แคเมรอนและลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ ไม่ได้รับการเสนอชื่อ[101] ไททานิค เป็นภาพยนตร์เรื่องที่สองที่ได้รับรางวัลออสการ์สิบเอ็ดสาขา ต่อจาก เบนเฮอร์ เมื่อ ค.ศ. 1959[115] และใน ค.ศ. 2004 ภาพยนตร์เรื่อง มหาสงครามชิงพิภพ ก็ได้รับรางวัลออสการ์เท่ากัน[116]

ไททานิค ชนะเลิศ รางวัลออสการ์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 70, เช่นเดียวกับ รางวัลแกรมมี สี่สาขา ได้แก่ สาขาบันทึกเสียงแห่งปี, สาขาเพลงแห่งปี, สาขาเพลงยอดเยี่ยมที่แต่งสำหรับภาพยนตร์หรือโทรทัศน์โดยเฉพาะ และสาขาการแสดงร้องเพลงป๊อปหญิงยอดเยี่ยม[117][118] เพลงประกอบของภาพยนตร์กลายเป็นเพลงประกอบที่มีวงออร์เคสตราเป็นหลักที่ขายดีที่สุดตลอดกาล และประสบความสำเร็จไปทั่วโลก โดยใช้เวลา 16 สัปดาห์ในการขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในสหรัฐ และได้รับการรับรองระดับไดมอนด์สำหรับยอดขายกว่า 11 ล้านชุดเฉพาะในสหรัฐเพียงแห่งเดียว[119] อัลบั้มเพลงประกอบยังกลายเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในสหรัฐในปี 1998[120] "มายฮาร์ตวิลโกออน" ชนะเลิศรางวัลแกรมมี สาขาเพลงยอดเยี่ยมที่แต่งสำหรับภาพยนตร์หรือโทรทัศน์โดยเฉพาะ

ภาพยนตร์ยังได้รับรางวัลต่าง ๆ นอกสหรัฐ รวมถึงรางวัลเจแปนอะแคเดมี สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแห่งปี[121] ไททานิค คว้ารางวัลเกือบเก้าสิบรางวัลและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอีกสี่สิบเจ็ดรางวัลจากองค์กรมอบรางวัลต่าง ๆ ทั่วโลก[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ หนังสือเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ก็ยังติดอันดับหนังสือขายดีของเดอะนิวยอร์กไทมส์เป็นเวลาหลายสัปดาห์ "เป็นครั้งแรกที่หนังสือพ่วงขายดังกล่าวได้รับตำแหน่งนี้"[19]

หมายเหตุ แก้

  1. ยอดทำเงินรวมของ ไททานิค ที่เว็บไซต์ บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจ และ เดอะนัมเบอส์ นั้นไม่ถูกต้องทั้งคู่ บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจประสบปัญหาข้อผิดพลาดสำหรับภาพยนตร์ที่นำออกฉายใหม่ นับตั้งแต่เว็บไซต์ดังกล่าวได้รับการยกเครื่องใหม่ในปี 2019 ซึ่งมักจะนับรวมรายได้เก่าเป็นสองเท่า เช่นเดียวกับกรณีของ ไททานิค ในปี 2019 บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจบันทึกอย่างถูกต้องว่า ไททานิค ทำเงิน 1.843 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการฉายครั้งแรก, 344 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการฉายใหม่ในรูปแบบ 3 มิติในปี 2012 และอีก 692,000 ดอลลาร์สหรัฐจากการฉายแบบจำกัดในปี 2017 รวม 2.187 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[7] หลังการฉายแบบจำกัดในปี 2020 บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจได้เพิ่มเงิน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับยอดทำเงินรวมจากการฉายครั้งแรกอย่างไม่ถูกต้อง[8] ปลายปี 2021 บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจได้แก้ไขยอดทำเงินรวมจากการฉายครั้งแรก แต่เพิ่มตัวเลข 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับยอดรวมจากการฉายใหม่ทั้งในปี 2012 และ 2017 ทำให้ยอดรวมเพิ่มอีก 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 2.202 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างไม่ถูกต้อง[9] ช่วงต้นปี 2023 บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจได้แก้ไขยอดรวมสำหรับการฉายใหม่ในปี 2017 ทำให้ยอดทำเงินรวมลดลงมาที่ 2.195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงมีข้อผิดพลาดในยอดเงินจากการฉายใหม่ในปี 2012[10] เดอะนัมเบอส์ยังมีตัวเลขที่ไม่ถูกต้องที่บันทึกไว้สำหรับยอดทำเงินรวม เดอะนัมเบอส์ไม่ได้บันทึกยอดทำเงินจากการฉายในแต่ละครั้ง แต่มียอดทำเงินรวมที่บันทึกเป็น 2.186 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2014 (ประมาณ 1.843 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการฉายครั้งแรกและ 343.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการฉายใหม่ในรูปแบบสามมิติ)[11] ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เดอะนัมเบอส์นับยอดทำเงินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.208 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไม่มีคำอธิบาย[12] ก่อนการฉายใหม่ในปี 2023 ยอดทำเงินรวมของทั้งสองเว็บไซต์นั้นสูงเกินกว่าตัวเลขที่แท้จริง เพื่อความกระจ่าง ไททานิค ทำเงินจากการฉายครั้งแรก 1.843 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, 344 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการฉายใหม่ในปี 2012, 691,642 ดอลลาร์สหรัฐจากการฉายใหม่ในปี 2017 และ 71,352 ดอลลาร์สหรัฐจากการฉายใหม่ในปี 2020 รวม 2,187,687,082 ดอลลาร์สหรัฐ จากการฉายสี่ครั้งแรก และเมื่อรวมกับเงินที่ทำได้จากการฉายใหม่ในปี 2023 อีก 70.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[13] รวมแล้ว ไททานิค ทำเงินที่ 2,257,844,554 ดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลเมื่อ 22 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 (2023 -05-22)
  2. ถึงแม้ว่า ไททานิก ชนภูเขาน้ำแข็งเมื่อวันที่ 14 เมษายน แต่เรือนั้นจมลงในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 เมษายน

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "Titanic (1997)". Film & TV Database. British Film Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-02. สืบค้นเมื่อ July 29, 2011.
  2. 2.0 2.1 "Titanic". AFI Catalog of Feature Films. American Film Institute. สืบค้นเมื่อ February 2, 2018.
  3. "TITANIC (12)". British Board of Film Classification. November 14, 1997. สืบค้นเมื่อ November 8, 2014.
  4. 4.0 4.1 Garrett, Diane (April 20, 2007). "Big-budget bang-ups". Variety. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 17, 2009. สืบค้นเมื่อ November 16, 2009.
  5. 5.0 5.1 Wyatt, Justin; Vlesmas, Katherine (1999). "The Drama of Recoupment: On the Mass Media Negotiation of Titanic": 29–45. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) In Sandler & Studlar (1999).
  6. 6.0 6.1 Welkos, Robert W. (February 11, 1998). "The $200-Million Lesson of 'Titanic'". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 15, 2012. สืบค้นเมื่อ December 12, 2009.
  7. "Titanic (1997)". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2019. สืบค้นเมื่อ October 27, 2019.
  8. "Titanic (1997)". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 30, 2020. สืบค้นเมื่อ October 30, 2020.
  9. "Titanic (1997)". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 26, 2021. สืบค้นเมื่อ October 26, 2021.
  10. "Titanic (1997)". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 5, 2023. สืบค้นเมื่อ February 28, 2023.
  11. "Titanic". The Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 2, 2014. สืบค้นเมื่อ September 2, 2014.
  12. "Titanic". The Numbers. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 13, 2014. สืบค้นเมื่อ September 13, 2014.
  13. "Titanic (25 Year Anniversary)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 21, 2023. สืบค้นเมื่อ March 21, 2023.
  14. 14.0 14.1 *Pre-2020 releases: "Titanic (1997)". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2019. Worldwide: $2,187,463,944; Original release: $1,843,221,532; 2012 3D Release: $343,550,770; 2017 Re-release: $691,642
    • 2020 Re-release: "Titanic (2020 Re-release)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 5, 2023. สืบค้นเมื่อ February 20, 2023. 2020 Re-release: $71,352
    • 2023 Re-release: "Titanic (25 Year Anniversary)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 27, 2023. สืบค้นเมื่อ February 20, 2023. 2023 Re-release: $70,157,472
  15. Carlson, Dusten (September 14, 2012). "James Cameron And MythBusters Prove That Jack Had To Die". Inquisitr. สืบค้นเมื่อ July 17, 2016.
  16. 16.0 16.1 James Cameron (2005). Audio Commentary (DVD). 20th Century Fox. The big ambiguity here is 'is she alive and dreaming' or 'is she dead and on her way to Titanic heaven?' I'll never tell. Of course, I know what we intended....The answer has to be something you supply personally; individually.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 "Heart of the Ocean: The Making of Titanic. THE BEST OF". 1997–1998.
  18. 18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09 18.10 18.11 18.12 "Titanic. Man overboard! After a production as lavish and pricey as the doomed ship itself, James Cameron finally unveils his epic film. But will it be unsinkable?". Entertainment Weekly. November 7, 1997. pp. 1–7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2010.
  19. 19.00 19.01 19.02 19.03 19.04 19.05 19.06 19.07 19.08 19.09 19.10 19.11 19.12 19.13 19.14 19.15 "James Cameron's Titanic". Media Awareness Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-09. สืบค้นเมื่อ January 24, 2010.
  20. "Billy Crudup: "Titanic" Would've Sunk My Life". Internet Movie Database. June 22, 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-19. สืบค้นเมื่อ June 14, 2007.
  21. "Actor Is Thankful He Didn't Get Titanic Role". Internet Movie Database. August 25, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 18, 2012. สืบค้นเมื่อ June 18, 2007.
  22. "Leonardo DiCaprio or Kate Winslet: Which 'Titanic' Star Has the Better Career?". The Daily Beast. The Newsweek Daily Beast Company. April 4, 2012. สืบค้นเมื่อ April 23, 2012.
  23. "'Clueless' Actor: I Was "Heartbroken" After Losing 'Titanic' Role to Leonardo DiCaprio". The Hollywood Reporter (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-06-17.
  24. "Titanic: Visiting The Grave Of The Real J. Dawson In Halifax". Huffington Post. April 4, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2012. สืบค้นเมื่อ May 12, 2015.
  25. "Star Misses. Nicole Kidman in "The Reader"? Gwyneth Paltrow aboard "Titanic"? How some of the biggest names in Hollywood lost out on some of its biggest roles". Forbes. February 25, 2009. สืบค้นเมื่อ January 22, 2010.
  26. "'Titanic' Casting: What Other Stars Were Considered For James Cameron's Masterpiece?". Huffington Post. June 22, 2012. สืบค้นเมื่อ March 21, 2016.
  27. Warrington, Ruby (November 29, 2009). "Claire Danes: the secretive starlet". The Times. London. สืบค้นเมื่อ January 22, 2010.
  28. "Why Rob Lowe Left Brothers & Sisters & The West Wing". E! Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2017-07-23.
  29. 29.0 29.1 29.2 29.3 29.4 29.5 29.6 29.7 29.8 Schultz, Rick. "James Cameron tells the astonishing story of Titanic, his breathtaking labor of love". industrycentral.net. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 6, 2010. สืบค้นเมื่อ January 23, 2010.
  30. 30.0 30.1 Waites, Rosie (April 5, 2012). "Five Titanic myths spread by films". BBC News. สืบค้นเมื่อ September 15, 2019.
  31. Barczewski, Stephanie L. (2004). Titanic: A Night Remembered. Continuum International Publishing Group. p. 30. ISBN 978-1-85285-434-8. สืบค้นเมื่อ March 31, 2009.
  32. 32.0 32.1 32.2 ON A SEA OF GLASS: THE LIFE & LOSS OF THE RMS TITANIC" by Tad Fitch, J. Kent Layton & Bill Wormstedt. Amberley Books, March 2012. pp 321–323
  33. Ballard, pp. 40–41
  34. "British Wreck Commissioner's Inquiry: Day 6". Titanic Inquiry Project. 1999. สืบค้นเมื่อ August 3, 2010.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 Ed W. Marsh (1998). James Cameron's Titanic. London: Boxtree. pp. 3–29.
  36. Marcus, Jon (2012-04-08). "A Titanic Obsession". Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2014-05-11.
  37. Anders Falk (2005). Titanic Ship's Tour (DVD). 20th Century Fox.
  38. 38.0 38.1 38.2 38.3 38.4 38.5 Marsh and Kirkland, pp. v–xiii
  39. 39.0 39.1 "James Cameron: Playboy Interview". Playboy. December 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 30, 2010. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  40. 40.0 40.1 40.2 40.3 40.4 40.5 Realf, Maria. "An audience with James Cameron. The filmmaker discusses his movies to date and reveals the motivations". Eyeforfilm.co.uk. สืบค้นเมื่อ January 21, 2010.
  41. 41.0 41.1 Bilmes, Alex (December 14, 2009). "James Cameron is a genial raconteur and self-effacing man, says Alex Bilmes". GQ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 26, 2010. สืบค้นเมื่อ May 9, 2014.
  42. 42.0 42.1 42.2 James Cameron (2005). Deep Dive Presentation (DVD). 20th Century Fox.
  43. Eaton, John P.; Haas, Charles A. (1999). Titanic: A Journey Through Time. Sparkford, Somerset: Patrick Stephens. p. 205. ISBN 978-1-85260-575-9.
  44. Cramer, Steve. "Neoliberal and Social Democratic Versions of History, Class and Ideology in James Cameron's Titanic and Roy Baker's A Night to Remember" (PDF). Sydney Studies. p. 117. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-19. สืบค้นเมื่อ September 15, 2019.
  45. 45.0 45.1 Jon Landau, Kate Winslet, Gloria Stuart, Victor Garber (2005). Audio Commentary (DVD). 20th Century Fox.
  46. Beverly Fortune (October 11, 1999). "Wheel of Fortune". Lexington Herald-Leader. That was one of the first questions pitched to 89-year-old actress Gloria Stuart at a book signing Wednesday night at Joseph-Beth Booksellers [...] 'Yes, Old Rose died.'
  47. 47.0 47.1 Marsh and Kirkland, pp. 36–38
  48. Ed W. Marsh (1997). James Cameron's Titanic. p. 21.
  49. Ed W. Marsh (1997). James Cameron's Titanic. p. 35.
  50. 50.0 50.1 Ed W. Marsh (2005). Construction Timelapse (DVD). 20th Century Fox.
  51. Marsh and Kirkland, pp. 130–142
  52. Marsh and Kirkland, pp. 52–54
  53. "Quite a bit of the dialogue is peppered by vulgarities and colloquialisms that seem inappropriate to the period and place, but again seem aimed directly to the sensibilities of young American viewers." McCarthy, Todd (November 3, 1997). ""Titanic" review by Todd McCarthy". Variety. สืบค้นเมื่อ February 21, 2009.
  54. "Titanic's very slow leak". The Washington Post. March 25, 1999. สืบค้นเมื่อ February 21, 2009.
  55. "Topless drawing of Kate Winslet in Titanic to sell for £10,000". The Telegraph. April 1, 2011. สืบค้นเมื่อ October 28, 2018.
  56. 56.00 56.01 56.02 56.03 56.04 56.05 56.06 56.07 56.08 56.09 Godwin, Christopher (พฤศจิกายน 8, 2008). "James Cameron: From Titanic to Avatar". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ กันยายน 16, 2011. สืบค้นเมื่อ มกราคม 9, 2010.
  57. 57.0 57.1 "PCP-laced chowder derails Titanic filming". Entertainment Weekly. September 13, 1996. สืบค้นเมื่อ December 3, 2015.
  58. 58.0 58.1 58.2 58.3 Andrew Gumbel (January 11, 2007). "Lights, cameras, blockbuster: The return of James Cameron". The Independent. London. สืบค้นเมื่อ February 5, 2008.
  59. "Leonardo DiCaprio Interviewed by Joe Leydon for "Titanic"". YouTube. June 11, 2008. สืบค้นเมื่อ August 3, 2010.
  60. Marshall, Sarah (2017-12-17). "The Insane True Story Of How "Titanic" Got Made". BuzzFeed. สืบค้นเมื่อ 2017-12-27.
  61. 61.0 61.1 Marsh and Kirkland, pp. 147–154
  62. Marsh and Kirkland, p. 65
  63. VFX Shot Breakdown (DVD). 20th Century Fox. 2005.
  64. VFX How To For First Class Lounge (DVD). 20th Century Fox. 2005.
  65. VFX How To Flood A First Class Corridor (DVD). 20th Century Fox. 2005.
  66. Marsh and Kirkland, pp. 161–168
  67. James Cameron (2005). Alternate Ending Commentary (DVD). 20th Century Fox.
  68. Lerner, Will (February 27, 2017). "Bill Paxton on the Alternate Ending of 'Titanic' That Audiences Didn't See in 1997". Yahoo! Entertainment. สืบค้นเมื่อ September 23, 2018.
  69. 69.0 69.1 James Cameron (2005). Deleted scene commentaries (DVD). 20th Century Fox.
  70. 70.0 70.1 Davidson, Terry (March 11, 1998). "Real 'Titanic' Necklace to Benefit Diana's Trust: Movie's Paste Necklace Recreated with Real Jewels" (Interview). สัมภาษณ์โดย Diane Sawyer. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 1, 2020. สืบค้นเมื่อ February 24, 2020.
  71. Van Der Voort, Jane (February 11, 2001). "Heart of the Matter". The Toronto Sun.[ต้องการเลขหน้า]
  72. "Soundtrack to 'Titanic' Rises to No. 1". Los Angeles Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 21, 2020. สืบค้นเมื่อ June 17, 2019.
  73. "Ireland's Enya on How Life by the Sea Influenced Her Music". The Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 18, 2020. สืบค้นเมื่อ June 17, 2019.
  74. "'He was a good friend, and he was very funny': Hollywood director James Cameron on working with Titanic, Avatar and Aliens composer James Horner". Royal Albert Hall (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 20, 2020. สืบค้นเมื่อ June 17, 2019.
  75. "James Cameron Remembers Working With James Horner". Vulture (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 20, 2020. สืบค้นเมื่อ June 17, 2019.
  76. Hitchner, Earle (March 12, 1998). "In Titanic's Wake: A Voice to Remember . . ". The Wall Street Journal. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2020. สืบค้นเมื่อ January 8, 2010.
  77. 77.0 77.1 Parisi, p. 195
  78. Weinraub, Bernard (April 21, 1997). "Hollywood Braces for Likely Delay Of 'Titanic'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 8 February 2014.
  79. "Big in Japan: 'Titanics premiere". Entertainment Weekly. November 14, 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-18. สืบค้นเมื่อ 11 February 2014.
  80. Strom, Stephanie (November 4, 1997). "Arts Abroad; Harrison Ford's Not in 'Titanic'? Well, No Matter!". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 11 February 2014.
  81. "It's a Titanic hit". The Tampa Tribune. February 25, 1998. p. 37. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 22, 2022. สืบค้นเมื่อ August 22, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  82. "Cameron does it again as 'Avatar' surpasses 'Titanic'". Newsday. February 3, 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 23, 2020. สืบค้นเมื่อ October 26, 2010.
  83. Paula Parisi (1998). Titanic and the Making of James Cameron. HarperCollins. ISBN 978-1557043641. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 25, 2021. สืบค้นเมื่อ October 29, 2020.
  84. "Titanic sinks competitors without a trace". BBC News. February 25, 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 11, 2021. สืบค้นเมื่อ February 19, 2007.
  85. "Titanic becomes second ever film to take $2 billion". The Daily Telegraph. London. April 16, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2012. สืบค้นเมื่อ April 16, 2012.
  86. "All Time Box Office Adjusted for Ticket Price Inflation". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2019. สืบค้นเมื่อ June 16, 2018.
  87. "Titanic (1997)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 29, 2019. สืบค้นเมื่อ May 31, 2016.
  88. Burns, John F. (April 28, 1998). "Why 'Titanic' Conquered the World; New Delhi". New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 21, 2018. สืบค้นเมื่อ May 20, 2018.
  89. Sharma, Sanjukta (December 24, 2017). "To Titanic, the most Bollywood Hollywood movie ever made". Hindustan Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2020. สืบค้นเมื่อ May 20, 2018.
  90. Wilson, Jeff (December 30, 1997). "'Scream 2' losing its voice at box office". Associated Press Writer. The Daily News. p. 8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 13, 2022. สืบค้นเมื่อ June 13, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  91. "Titanic passes $300 million". North Adams Transcript. February 2, 1998. p. 8. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 7, 2022. สืบค้นเมื่อ April 7, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  92. "'Phantom Menace' pulls another fast one". Quad-City Times. June 20, 1999. p. 33. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 28, 2022. สืบค้นเมื่อ March 28, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  93. "Titanic (1997) – Daily Box Office Results". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 24, 2020. สืบค้นเมื่อ April 17, 2012.
  94. "Titanic (1997) – Weekend Box Office Results". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 18, 2020. สืบค้นเมื่อ April 17, 2012.
  95. "BEST RANKING MOVIES by Weekend Rank, 1982–present". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 24, 2020. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  96. "'Titanic' had lost its space". The Philadelphia Inquirer. April 8, 1998. p. 44. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 19, 2022. สืบค้นเมื่อ August 19, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  97. "Titanic (1997) – Release Summary". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 7, 2019. สืบค้นเมื่อ April 17, 2012.
  98. 1634–1699: McCusker, J. J. (1997). How Much Is That in Real Money? A Historical Price Index for Use as a Deflator of Money Values in the Economy of the United States: Addenda et Corrigenda (PDF). American Antiquarian Society. 1700–1799: McCusker, J. J. (1992). How Much Is That in Real Money? A Historical Price Index for Use as a Deflator of Money Values in the Economy of the United States (PDF). American Antiquarian Society. 1800–present: Federal Reserve Bank of Minneapolis. "Consumer Price Index (estimate) 1800–". สืบค้นเมื่อ January 1, 2020.
  99. "Titanic (1997) – Overseas Total". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 18, 2020. สืบค้นเมื่อ April 17, 2012.
  100. "The Billion Dollar film club". The Daily Telegraph. London. August 1, 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2020. สืบค้นเมื่อ April 16, 2012.
  101. 101.0 101.1 Davis, Jason (March 24, 1998). "Love story that won the heart of the Academy: The love story that stole the world's hearts". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2020. สืบค้นเมื่อ September 11, 2007.
  102. 102.0 102.1 Thomson, David (December 10, 2007). "Titanic achievement at the box office". The Guardian. London. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2020. สืบค้นเมื่อ January 8, 2010.
  103. Willcock, Benjamin. "Benjamin Willcock takes a look at the long-awaited special edition of Titanic". dvdactive.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 10, 2008. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  104. Keller, Alexandra (2014). James Cameron. London, England: Routledge. pp. 73–76. ISBN 978-1-134-70021-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2015. สืบค้นเมื่อ October 25, 2014.
  105. Robert A. Rosenstone (2007). Lights, Camera, History: Portraying the Past in Film. Texas A&M University Press. pp. 115–117. ISBN 978-1-60344-503-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2015. สืบค้นเมื่อ October 25, 2014.
  106. David S. Kidder; Noah D. Oppenheim (2008). The Intellectual Devotional Modern Culture: Revive Your Mind, Complete Your Education, and Converse Confidently with the Culturati. Rodale, Inc. p. 361. ISBN 978-1-60529-793-4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 16, 2015. สืบค้นเมื่อ October 25, 2014.
  107. Giles, Jeff (December 16, 2009). "Total Recall: James Cameron Movies. We take a look at the career of the visionary director of Avatar". Rotten Tomatoes. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 24, 2009. สืบค้นเมื่อ January 19, 2010.
  108. "Titanic (1997)". Metacritic. Red Ventures. สืบค้นเมื่อ February 15, 2021.
  109. McClintock, Pamela (August 19, 2011). "Why CinemaScore Matters for Box Office". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 19, 2021. สืบค้นเมื่อ July 19, 2021.
  110. "Titanic sweeps Golden Globes". BBC News. January 19, 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 1, 2020. สืบค้นเมื่อ February 19, 2007.
  111. "Nominations for the 55th Golden Globe Awards". BBC. January 17, 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 9, 2020. สืบค้นเมื่อ February 19, 2007.
  112. "Can Anything Stop the Raising of Titanic on March 23?". The New York Observer. February 22, 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 25, 2008. สืบค้นเมื่อ December 1, 2010.
  113. "The 70th Academy Awards (1998) Nominees and Winners". Academy of Motion Picture Arts and Sciences. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 1, 2014. สืบค้นเมื่อ November 19, 2011.
  114. "'Titanic' ties Oscar record with 11". Daily Press. March 24, 1998. p. 2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 3, 2022. สืบค้นเมื่อ September 3, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  115. "'Titanic' vs. 'Ben-Hur'". The New York Times. March 27, 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 8, 2016. สืบค้นเมื่อ March 8, 2016.
  116. Germain, David (March 1, 2004). "'Rings' ties record with its 11 Oscars". The Associated Press. Corpus Christi Caller-Times. p. 2. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 3, 2022. สืบค้นเมื่อ September 3, 2022 – โดยทาง Newspapers.com.  
  117. "Past Winners Search – 1998 – 41st Annual Grammy Awards". The Recording Academy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 25, 2020. สืบค้นเมื่อ February 10, 2014.
  118. "41st Annual GRAMMY Awards". The Recording Academy. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 9, 2020. สืบค้นเมื่อ February 11, 2014.
  119. "Gold & Platinum – July 28, 2009". Recording Industry Association of America. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 26, 2007. สืบค้นเมื่อ July 28, 2009.
  120. "The Billboard 200: 1998". Billboard. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 8, 2008.
  121. "Awards of the Japanese Academy 1998". MUBI. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 11, 2021. สืบค้นเมื่อ April 10, 2021.

อ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้