การสอบขุนนาง

(เปลี่ยนทางจาก สอบขุนนาง)

การสอบขุนนาง (จีน: 科舉; พินอิน: Kējǔ; เวด-ไจลส์: K'o1-chü3; อังกฤษ: imperial examination) เป็นระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการพลเรือนในประเทศจีนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อสอบบรรจุข้าราชการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับระบบราชการของรัฐ ในการสอบใช้ข้อสอบแบบวัตถุวิสัย (objective) เพื่อประเมินการได้รับความรู้และคุณธรรมของผู้เข้าสอบ ผู้สอบได้จะได้รับวุฒิ จิ้นชื่อ (จีน: 進士; พินอิน: Jìnshì) แปลว่า "บัณฑิตชั้นสูง" (advanced scholar) (ซึ่งอาจเทียบได้กับปริญญา ดุษฎีบัณฑิต หรือปริญญาเอกในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุด) รวมถึงปริญญาชั้นอื่น ๆ แล้วจะได้รับการประเมินเพื่อบรรจุเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ได้รับวุฒิจิ้นซี่อในการสอบขุนนางนั้นจะได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการระดับสูงแห่งราชสำนัก ตำแหน่งที่ได้รับจะเรียงตามลำดับผลคะแนนที่สอบได้ ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงกว่าจะได้รับตำแหน่งที่ดีกว่า นอกจากนั้นองค์จักรพรรดิหรือจักรพรรดินีจะทรงให้ความสนใจเป็นพิเศษกับผู้เข้าสอบที่ได้คะแนนสูงสุด

การสอบขุนนาง
ผู้เข้าสอบรวมตัวรอบกำแพงที่เขียนผลการสอบ (ป. ค.ศ. 1540 โดยQiu Ying)
การสอบขุนนาง
"การสอบขุนนาง" ในอักษรจีนตัวเต็ม (บน) และตัวย่อ (ล่าง)
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม科舉
อักษรจีนตัวย่อ科举
ฮั่นยฺหวี่พินอินkējǔ
ชื่อภาษาเวียดนาม
จื๋อโกว๊กหงือkhoa bảng
khoa cử
จื๋อฮ้าน科榜
科舉
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
과거
ฮันจา
科擧
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
ชินจิไต科挙
คีวจิไต科擧
ฮิรางานะかきょ
การถอดเสียง
โรมาจิkakyo
ชื่อภาษาแมนจู
อักษรแมนจู ᡤᡳᡡ ᡰ᠊ᡳᠨ
ᠰᡳᠮᠨᡝᡵᡝ
เมิลเลินดอร์ฟgiū žin simnere

ด้วยพื้นฐานจากปรัชญาลัทธิขงจื๊อ การสอบขุนนางนี้โดยทฤษฎีแล้วมุ่งทดสอบและคัดเลือกบุคคลด้วยคุณธรรม จึงมีอิทธิพลต่อประเทศจีนทั้งในด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีส่วนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการคานอำนาจในช่วงราชวงศ์ถัง ราชวงศ์โจวของพระนางบูเช็กเทียน (Wu Zetian) และราชวงศ์ซ่ง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลเป็นการหลอมรวมโครงสร้างทางสังคมไว้เป็นเวลานาน อนึ่ง มีหลายครั้งที่การสอบทำให้อภิชนบางกลุ่มถูกแทนที่ด้วยบุคคลจากชั้นรากหญ้า

หลายดินแดนในทวีปเอเชีย เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศเกาหลี ประเทศญี่ปุ่น และหมู่เกาะรีวกีว รับระบบการสอบนี้มาใช้เพื่อคัดเลือกบุคคลระดับหัวกะทิ เพื่อรักษาเป้าหมายทางอุดมคติและทรัพยากร กับทั้งเพื่อส่งเสริมวรรณกรรมและการเล่าเรียน

เนื่องจากการจัดการสอบเป็นส่วนหนึ่งของระบบทะเบียนหลวง วันที่ได้รับการประสาทวุฒิจิ้นชื่อ จึงมักเป็นข้อมูลที่ชัดเจนส่วนหนึ่งที่ระบุไว้ในชีวประวัติบุคคลสำคัญสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ต่อ ๆ มา ในประวัติศาสตร์จีน

ประวัติศาสตร์

แก้

อาจกล่าวได้ว่าการสอบขุนนางมีแนวคิดเริ่มต้นขึ้นย้อนกลับไปอย่างน้อยในช่วงราชวงศ์โจว (หรือในตำนาน อาจย้อนไปได้ถึงช่วงราชวงศ์เหยา)[1] เช่น การสอบแข่งขันแสดงความสามารถในการยิงธนูเพื่อปรับเลื่อนตำแหน่งขุนนาง เป็นต้น การสอบขุนนางเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนและได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากเมื่อ ค.ศ. 605 ในสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถังมีการจัดสอบขึ้นในวงแคบอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงต้นราชวงศ์ จนได้รับการขยายวงกว้างขึ้นเป็นอย่างมากในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน และผลจากการขยายการสอบนี้ได้เป็นหัวข้อที่นักวิชาการนิยมใช้ถกเถียงกันมาจนปัจจุบัน ครั้นถึงราชวงศ์ซ่ง สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชดำริให้เพิ่มทั้งในเรื่องขอบเขตการสอบและจำนวนโรงเรียนหลวง เพื่อให้ได้ข้าราชการพลเรือนมาคานอภิชนฝ่ายทหารซึ่งมีอิทธิพลมากในยุคนั้น เป็นเหตุให้มีบัณฑิตมากกว่าในราชวงศ์ถังราวสี่ถึงห้าเท่า ฉะนั้น การสอบขุนนางจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดราชบัณฑิตหลายคนที่จะกุมสังคมในเวลาต่อมา ลุสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการปรับปรุงการสอบหลายครั้ง จนล้มเลิกไปใน ค.ศ. 1905

จึงกล่าวได้ว่าระบบการสอบคัดเลือกขุนางนี้มีอายุถึงหนึ่งพันสามร้อยปี (แม้สะดุดหยุดลงในบางช่วง เช่น ต้นราชวงศ์หยวน) และระบบการสอบคัดเลือกข้าราชการพลเรือนในปัจจุบันก็วิวัฒนาการมาจากการสอบขุนนางนี้โดยอ้อมด้วย[2]

ประวัติการสอบขุนนางในแต่ละช่วงราชวงศ์

แก้
 
Chinese Examination Cells at the South River School (Nanjiangxue) Nanjing (China). Shown without curtains or other furnishings.

ย้อนภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศจีน การสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการเป็นขุนนางมีปรากฏอยู่ในหลายช่วงราชวงศ์ แม้ว่ารูปแบบการสอบในแต่ละราชวงศ์จะแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีการหยุดการสอบในบางยุคสมัยด้วย ในอดีตมีการคัดเลือกข้าราชการจากการทดสอบ แข่งขัน และการสัมภาษณ์มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (1046-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ส่วนการสอบคัดเลือกขุนนางที่ใช้ระบบข้อสอบมาตรฐานเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์สุย ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น  (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) ในช่วงของสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นอู่ (Hanwudi) มีการริเริ่มและพัฒนาระบบการสอบคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้ารับราชการในราชสำนักในรูปแบบของการใช้พื้นฐานปรัชญาลัทธิขงจื๊อ (Confucian) ที่เป็นที่รู้จักและใช้กันต่อมาในยุคหลัง

การสอบคัดเลือกขุนนางตั้งอยู่บนหลักการ "สมัครใจในการเข้าสอบ จัดสอบแข่งขันอย่างเปิดเผย และบริสุทธิ์ยุติธรรม เพื่อให้ได้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามารับใช้ประเทศชาติบ้านเมือง" จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกระดับชั้นเข้าร่วมการสอบแข่งขัน ประชันความรู้ความสามารถ และมีสิทธิ์เข้ารับราชการได้อย่างเท่าเทียมกัน[3]

ราชวงศ์ฮั่น

แก้

สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช - ค.ศ. 220) ในช่วงก่อนที่จะมีการจัดสอบขุนนางขึ้นอย่างเป็นระบบ การแต่งตั้งข้าราชการในราชสำนักนั้นมักมาจากการแนะนำโดยชนชั้นสูง (aristocrats) และข้าราชการท้องถิ่น ซึ่งบุคคลที่ถูกแนะนำส่วนมากจะเป็นผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูง สมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นอู่ (อังกฤษ: emperor Wu; จีน: 漢武帝; พินอิน: Han Wu di) (141 - 87 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ได้ทรงริเริ่มการสอบคัดเลือกข้าราชการท้องถิ่นจากการสอบปรัชญาขงจื๊อ (Confucian classics) เพื่อให้ได้ผู้มีจิตกตัญญูและมีความซื่อสัตย์เข้ามาทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นโดยมากมักเลือกโดยการแนะนำโดยบุคคลที่อยู่ฝ่ายเดียวกันหรือเป็นพรรคพวกเดียวกัน ทำให้การสอบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมที่มีอิทธิพลของการแบ่งพรรคแบ่งพวก และการใช้ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลหรือเส้นสายในการสอบลดความสำคัญลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในการคัดเลือกข้าราชการระดับสูงในราชสำนัก คุณภาพของขุนนางจึงดีขึ้น ส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก

ยุคสามก๊กจนถึงราชวงศ์สุย

แก้

ในช่วงเริ่มต้นของยุคสามก๊ก (Three Kingdoms period) (ด้วยระบบ nine-rank system ในสมัยวุยก๊ก) เจ้าหน้าที่ราชสำนักจะเป็นผู้รับผิดชอบในการประเมิณคุณภาพของบุคคลที่มีความสามารถที่มักมาจากการแนะนำของชนชั้นสูงในท้องถิ่น ระบบนี้ใช้กันต่อเนื่องมาจนถึงยุคของจักรพรรดิสุยหยางแห่งราชวงศ์สุย (อังกฤษ: Emperor Sui Yangdi; จีน: 楊廣) (ค.ศ. 569-618) ซึ่งมีการจัดระบบการสอบที่เรียกว่า จิ้นซื่อ (จีน: 进士科; พินอืน: Jìnshì kē) ขึนในปี ค.ศ. 605 เป็นครั้งแรก โดยมีมาตรฐานการสอบอย่างชัดเจนเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับราชการ แต่ระบบนี้ก็มีอายุอยู่ได้ไม่นานนัก ทำให้ยังไม่มีการพัฒนาให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ และถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา

ราชวงศ์ถังและราชวงศ์โจว

แก้

ยุคราชวงศ์ถัง ระบบการสอบขุนนางได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น และยังเป็นระบบและกระบวนการสอบที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าในยุคเริ่มแรกของการสอบช่วงราชวงศ์สุยที่ผ่านมา เช่น มีคำถามเกี่ยวกับด้านนโยบาย หรือมีการสอบสัมภาษณ์ด้วย เป็นต้น[4] อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ซึ่งควรจะช่วยคัดกรองผู้สอบให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ในทางปฏิบัติกลับเป็นการเปิดช่องว่างให้มีการคัดเลือกอย่างไม่โปร่งใสโดยกับเฉพาะผู้เข้าสอบที่มาจากกลุ่มชนชั้นสูงได้ไม่ยากนัก[5][6]

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์การสอบขุนนางนั้นเกิดขึ้นในสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (อังกฤษ: Empress Wu, Wu Zetian; จีนตัวย่อ: 武则天; พินอิน: Wǔ Zétiān) พร้อม ๆ กับการขึ้นสู่อำนาจของพระองค์ โดยทรงเป็นสตรีพระองค์แรกและพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีน[7]

สมัยองค์จักรพรรดินีบูเช็กเที่ยน ในปี ค.ศ. 655 นั้น พระองค์มีราชบัณฑิตผู้สอบได้วุฒิจิ้นซี่อ หรือปริญญาชั้นสูงเพียง 44 คน แต่ในช่วงต่อมามีผู้สอบคัดเลือกได้วุฒิจิ้นซื่อมากถึง 58 คนต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วง 7 ปีหลังจากนั้น เนื่องจากพระองค์เปิดโอกาสและเพิ่มสิทธิพิเศษให้แก่ผู้สอบได้วุฒิจิ้นซื่อในการเข้ารับราชการในราชสำนักมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งพระองค์ใช้บัณฑิตรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นฐานสร้างอำนาจของพระองค์เอง และยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาศัยอยู่ทางแถบจีนตะวันออกเฉียงใต้ร่วมเข้าสอบได้ด้วย[7] ทั้งนี้เนื่องจากผู้สนับสนุนของจักรพรรดิในตระกูลหลี่แห่งราชวงศ์ถังเป็นกลุ่มที่อยู่ทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในบริเวณโดยรอบเมืองหลวงฉางอาน องค์จักรพรรดินีบูเช็กเที่ยนจึงค่อย ๆ สะสมอำนาจการเมืองผ่านระบบการสอบขุนนาง โดยได้รับการสนับสนุนจากบัณฑิตเหล่านี้ที่เดิมถูกกีดกัน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสอบขุนนางเพื่อเป็นบัณฑิตเหมือนชนเผ่าทางเหนือ รวมทั้งมีปัญญาชนจากชนบทห่างไกลที่พยายามศึกษาเล่าเรียนเพื่อเข้าสอบ และเมื่อสอบผ่านเข้ารับราชการ จึงเป็นประโยชน์แก่ราชสำนักในการปกครองเมืองห่างไกลเหล่านี้โดยทางอ้อมด้วยนั่นเอง[8]

ปี ค.ศ. 681 เริ่มมีการสอบข้อเขียนความรู้ทางด้านปรัชญาขงจื๊อขึ้น โดยผู้เข้าสอบต้องสามารถจดจำความรู้เกี่ยวกับผลงานของขงจื๊อได้และเขียนลงบนกระดาษข้อสอบ[9]

มาจนถึงปี ค.ศ. 690 สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนทรงเริ่มให้มีการจัดอันดับผลการสอบขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเรียกผู้ที่สอบได้อันดับที่ 1 เรียกว่า จ้วงโถว (Zhuang Tou, 状头) หรือ จ้วงเยฺหวียน (จอหงวน) อันดับที่ 2 เรียกว่า ป่างเหยียน (Bang Yan, 榜眼) และผู้ที่สอบได้อันดับที่ 3 เรียกว่า ถ้านฮัว (Tan Hua, 探花)  และเรียกทั้งสามอันดับนี้รวมกันว่า ซานติ่งเจี้ย (San Ding Jia, 三鼎甲)

ปี ค.ศ. 693 ราชสำนักภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินีบูเช็กเทียนได้ขยายการสอบขุนนางให้กว้างขวางมากขึ้นเพื่อครอบคลุมถึงการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนด้วย[10] โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะขยายอำนาจและรวบรวมอิทธิพลเพื่อก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ของพระนางเองขึ้นเป็น "ราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty) " ข้าราชการที่ผ่านการสอบคัดเลือกด้วยระบบใหม่ที่พระนางคัดเลือกมานั้น ได้แก่ จางเยว่ (Zhang Yue) ลี่เจียว (Li Jiao) และเฉินชวนชี่ (Shen Quanqi) เป็นต้น พระนางบูเช็กเทียนยังได้เปิดโอกาสให้บุคคลต่าง ๆ มีสิทธิ์ในการสอบขุนนางได้มากขึ้น เช่น สามัญชนซึ่งเดิมทีไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าสอบ สามารถเข้าสอบได้ด้วย นับเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบการสอบขุนนางแบบเดิมในสมัยราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก บุคคลเหล่านี้เมือสอบผ่านจึงเป็นเสมือนฐานอิทธิพลในราชสำนักให้แก่พระนางได้เป็นอย่างดี[11]

ในระหว่างปี ค.ศ. 730 และ 740 ในช่วงการฟื้นคืนของราชวงศ์ถังยุคหลัง มีการทดสอบการเขียนกวีนิพนธ์เพิ่มขึ้น (รวมการเขียนบทกวีทั้งแบบ shi และ fu) โดยเฉพาะสำหรับการสอบวุฒิจิ้นซี่อ ซึ่งเป็นวุฒิขั้นสูงสุด ในการสอบระดับทั่วไปจะมีผู้สอบผ่านประมาณร้อยละ 10-20 แต่สำหรับการสอบจิ้นซี่อ ซึ่งมีผู้เข้าสอบราวพันกว่าคนทุกปี จะมีผู้สอบผ่านเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น โดยมีจำนวนผู้สอบผ่านจิ้นซี่อในสมัยราชวงศ์ถังทั้งสิ้น 6,504 คน (หรือโดยเฉลี่ยแล้ว มีผู้ได้รับวุฒิจิ้นซี่อ ราว 23 คนต่อปี)[9]

อย่างไรก็ตาม เมื่อราชวงศ์ถังล่มสลายและเปลี่ยนถ่ายแผ่นดินมาเป็น "ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร" การสอบขุนนางก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง มีการเล่นพรรคเล่นพวกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้โอกาสในการสอบผ่านเป็นขุนนางของคนธรรมดาสามัญกลับน้อยลงไปดังเดิมก่อนหน้านี้[8]

ราชวงศ์ซ่ง

แก้
 
The emperor receiving a candidate during the Palace Examination. Song Dynasty.

ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song dynasty, ค.ศ. 960 - 1279) มีการจัดสอบระดับสูงกว่าร้อยครั้ง ข้าราชการที่ผ่านการสอบคัดเลือกมานั้นมักจะเป็นผู้ที่มีความโดดเด่นในราชการ การสอบจึงเสมือนเป็นบันไดในการยกระดับฐานะของตนขึ้นสู่การเป็นข้าราชการระดับสูงของทั้งชายชาวจีนและผู้ที่อยู่ในดินแดนที่ถูกครอบครองทางตอนเหนือในสมัยนั้นด้วย[12] มีผู้ประสบความสำเร็จในการยกระดับฐานะของตนขึ้นจากสามัญชนหรือชนชั้นล่างมาเป็นข้าราชการระดับสูงผ่านการสอบขุนนางหลายราย อาทิ หวังอันฉือ (จีน: 王安石; พินอิน: Wáng Ānshí) อัครมหาเสนาบดีซึ่งตรงกับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ในปัจจุบัน และกวีสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ผู้ซึ่งเสนอให้มีการปฏิรูปการสอบโดยให้มีการสอบปฏิบัติมากขึ้น และ จู ซี (อังกฤษ: Zhu Xi หรือ Chu Hsi; จีน: 朱熹, October 18, 1130 – April 23, 1200) นักปรัชญาลัทธิขงจื๊อผู้ขยายความบทนิพนธ์ Four Classics (อังกฤษ: Four Classics หรือ Four Books; จีน: 四書; พินอิน: Sì Shū) จนกลายเป็นตำราขงจื๊อใหม่ (อังกฤษ: Neo-Confucianism; จีนตัวย่อ: 宋明理学; จีนตัวเต็ม: 宋明理學; พินอิน: Sòng-Míng Lǐxué) ที่มีบทบาทอย่างมากในราชวงศ์ต่อ ๆ มา แต่เนื่องจากกระบวนการเรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอสำหรับสอบได้สำเร็จนั้นต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายที่มาก จำนวนชนชั้นสามัญที่เข้าสอบจนสำเร็จจึงมีจำนวนไม่มากนัก[13]

หลังปี ค.ศ. 937 จักรพรรดิซ่งไท่จู่ (Taizu Emperor of Song) มีพระประสงค์ให้องค์จักรพรรดิเป็นผู้ดูแลและควบคุมการสอบในราชสำนักด้วยพระองค์เอง และเพื่อให้การสอบมีความโปร่งใสในการคัดเลือกขุนนางมากขึ้น ในปี ค.ศ. 992 จึงมีการริเริ่มการตรวจข้อสอบโดยไม่ระบุชื่อผู้สอบในกระดาษคำตอบสำหรับการสอบระดับราชสำนัก (palace examination) และขยายวิธีการนี้ไปสู่การสอบระดับภูมิภาค (departmental examinations) ในปี ค.ศ. 1007 และระดับจังหวัด (prefectural level) ในปี ค.ศ. 1032

ในเวลาต่อมายังมีการเพิ่มระบบการคัดสำเนากระดาษคำตอบ เพื่อไม่ให้ผู้ตรวจข้อสอบใช้วิธีการจดจำลายมือเขียนของผู้เข้าสอบในการทุจริตคัดเลือกบุคคลที่ต้องการ โดยระบบนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1105 สำหรับการสอบคัดเลือกระดับเมืองหลวงและระดับภูมิภาค และเริ่มในปี ค.ศ. 1037 สำหรับการสอบคัดเลือกระดับจังหวัด[14]

จากสถิติ มีผู้สอบผ่านได้รับวุฒิบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ซ่งจำนวนมากกว่าบัณฑิตในสมัยราชวงศ์ถังถึงกว่าสองเท่า โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้สอบผ่านในแต่ละปีมากกว่า 200 คน และในบางปีมีมากถึง 240 คน[8]

ราชวงศ์หยวน

แก้

ในช่วงปี ค.ศ. 1279 ถึง ค.ศ. 1315 ไม่มีการสอบคัดเลือกขุนนาง เนื่องจากระบบการสอบในสมัยราชวงศ์ซ่งได้สิ้นสุดไปพร้อมกับการสิ้นสุดราชวงศ์ จากความพ่ายแพ้แก่จักรวรรดิมองโกลในปี ค.ศ. 1279 นั้นเอง เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิกุบไล ข่าน (อังกฤษ: Kublai Khan; จีน: 忽必烈) สามารถเอาชนะราชวงศ์ซ่งของจีนได้ ทรงสถาปนาตนขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หยวนแห่งประเทศจีน (หรือ หยวนมองโกเลีย (Yuan Mongolia)) โดยครอบครองดินแดนมองโกเลีย แมนจูเรีย (Manchuria) เกาหลี และดินแดนตอนเหนือของจีน รวมทั้งดินแดนทางใต้ของประเทศจีนที่อยู่ภายใต้ขอบเขตการปกครองของราชวงศ์ซ่งด้วย

หลังจากได้มีการสืบทอดราชวงศ์หยวนต่อมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1315 ระบบการสอบขุนนางก็ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ในช่วงของสมเด็จพระจักรพรรดิหยวนเหรินจง (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อายูบาร์ดา ข่าน (Ayurbarwada Buyantu Khan)) พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้วย โดยปรับระบบการสอบไปเป็นลักษณะใกล้เคียงกับระบบมองโกล และผู้สอบชาวมองโกลจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ อีกทั้งมีระบบที่จำกัดจำนวนหรือโควต้า (ทั้งจำนวนผู้เข้าสอบและผู้ได้รับวุฒิ) จากกลุ่มผู้เข้าสอบตามเชื้อชาติ หรือวรรณะทางสังคม และ/หรือ Ethnic group (ethnicities) โดยแบ่งเป็นสี่กลุ่ม คือกลุ่มชาวมองโกล (Mongols) กลุ่มชนชาติที่ไม่ใช่ชาวฮั่น (non-Han allies หรือ Semu-ren) กลุ่มชาวจีนเหนือ (Northern Chinese) และกลุ่มชาวจีนใต้ (Southern Chinese)[15] ภายใต้การฟื้นฟูและปรับปรุงระบบการสอบขุนนางแบบใหม่นี้ ทำให้มีจำนวนผู้สอบผ่านได้คุณวุฒิเพียง 21 คนต่อปีเท่านั้น[15]

ในารแบ่งปันสัดส่วนจำนวนผู้สอบผ่านในแต่ละชนกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ มองโกล Semu-ren จีนเหนือ และจีนใต้ ให้มีจำนวนเท่า ๆ กัน โดยไม่ได้กำหนดจำนวนผู้สอบผ่านตามสัดส่วนจำนวนประชากรหรือจำนวนผู้เข้าสอบของแต่ละกลุ่ม เป็นการเอื้อให้แก่กลุ่มชาวมองโกล Semu-ren และจีนเหนือ มากกว่ากลุ่มชาวจีนใต้ซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่ากลุ่มอื่นมาก จากการสำรวจประชากรในปี ค.ศ. 1290 ชาวจีนใต้มีประชากรประมาณ 12,000,000 ครอบครัว (หรือประมาณ 48% ของประชากรทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์หยวน) เทียบกับ 2,000,000 ครอบครัวของชาวจีนเหนือ ในขณะที่ชาวมองโกลและ Semu-ren มีประชากรน้อยกว่านี้มาก[15]

ราชวงศ์หมิง

แก้
 
A 15th-century portrait of the Ming official Jiang Shunfu, now in the Nanjing Museum. The decoration of two cranes on his chest is a "rank badge" that indicate he was a civil official of the first rank.

ราชวงศ์หมิงได้แข้ามาแทนที่ราชวงศ์หยวนในปี ค.ศ. 1368 ในช่วงราชวงศ์นี้ระบบการสอบขุนนางไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างไรมากนัก โดยในช่วงแรกระบบมองโกลยังได้รับอนุญาตให้คงไว้เหมือนเดิม

ราชวงศ์ชิง

แก้

ในยุคอาณาจักรไท่ผิง (Taiping Heavenly Kingdom; 太平天国) ที่มีความพยายามจะยึดครองอำนาจจากราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) และในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ในยุคนี้มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เข้าสอบเป็นจอหงวนได้เป็นครั้งแรก  แต่ถูกยกเลิกไปในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อพ่ายแพ้ทางการทหารในช่วงทศวรรษ 1890 จึงถูกกดดันในมีการปฏิรูประบบการศึกษาขึ้น โดยมีนักปฏิรูป อาทิ คัง โหย่วเหวย (อังกฤษ: Kang Youwei,  จีนตัวเต็ม: 康有为,  จีนตัวย่อ: 康有為,  พินอิน: Kāng Yǒuwéi) และ เหลียง ฉี่เชา (อังกฤษ: Liang Qichao, จีนตัวเต็ม: 梁啟, 超,  จีนตัวย่อ: 梁启超,  พินอิน: Liáng Qǐchāo) ได้ริเริ่มการปฏิรูปร้อยวัน (Hundred Days' Reform) ขึ้นในปี ค.ศ. 1898 โดยเสนอให้มีการปฏิรูปหลายภาคส่วนให้มีความทันสมัยมากขึ้น และต่อมาหลังจากเกิดกบฏนักมวย (Boxer Uprising)  วันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1905 ได้มีการออกประกาศให้ยกเลิกการสอบขุนนางในทุกระดับทั้งหมดในปีถัดไป  ถือเป็นการสิ้นสุดระบบการสอบขุนนางในประเทศจีน

สำหรับระบบการศึกษายุคใหม่นั้นมีการเทียบเคียงวุฒิกับระบบการสอบขุนนางแบบเก่าไว้ด้วย โดยวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีจะเที่ยบเท่ากับวุฒิเซิงเหยวียน หรือ เซิงหยวน (Shengyuan) หรือ ซิ่วไฉ่ (xiu cai) ซึ่งระบบใหม่นี้ใช้ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงสิ้นสุดราชวงศ์หรือระบอบราชาธิปไตยในปี ค.ศ. 1911[16]

การสอบ

แก้
 
"Cribbing Garment" worn as underwear into the examination.

 วิธีสอบ

แก้

สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงมีการแบ่งการสอบออกเป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับต้น (entry-level examinations) เรียกว่า ถงชื่อ (อังกฤษ: tongshi, จีน: 童試, พินอิน: Tóng shì, แปลตามตัวอักษรว่า "child exam") ซึ่งจัดสอบเป็นประจำทุกปี รับสมัครผู้เข้าสอบตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น โดยเป็นการสอบในท้องถิ่น และมีการแบ่งระดับชั้นของถงชื่อ เป็นสามระดับตามลำดับคือ เซี่ยนชื่อ (อังกฤษ: xianshi, จีน: 縣試, พินอิน: Xiàn shì, แปลตามตัวอักษรว่า "county exam"), ฝู่ชื่อ (อังกฤษ: fushi, จีน: 府試, พินอิน: Fǔ shì, แปลตามตัวอักษรว่า "prefecture exam") และ ย่วนชื่อ (อังกฤษ: yuanshi, จีน: 院試, พินอิน: Yuàn shì, แปลตามตัวอักษรว่า "college exam") ซึ่งการสอบย่วนชื่อ นี้จะจัดโดยขุนนางที่ราชสำนักมอบหมายหน้าที่มาโดยตรง[17]
  • ระดับมณฑล หรือระดับภูมิภาค (provincial exams) หรือเรียกว่า เซียงชื่อ (อังกฤษ: xiangshi, จีน: 鄉試, พินอิน: Xiāng shì, แปลตามตัวอักษรว่า "การสอบระดับเมือง (township exam) ") มีจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ณ เมืองหลวงของแต่ละมณฑล เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชิวซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม่ร่วง[17]
  • ระดับเมืองหลวง หรือระดับประเทศ (metropolitan exams หรือ national exams) หรือเรียกว่า ฮุ้ยชื่อ (อังกฤษ: huishi, จีน: 會試, พินอิน: Huì shì, แปลตามตัวอักษรว่า "การสอบประชุมใหญ่ (conference exam) ") มีการสอบทุก ๆ 3 ปี โดยจัดสอบในเมืองหลวง และมีขุนนางฝ่ายพิธีกรรมเป็นผู้คุมสอบ เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชุนซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม้ผลิ[17]
  • ระดับราชสำนักหรือราชวัง หรือการสอบหน้าพระที่นั่ง (palace exams หรือ court exams) หรือเรียกว่า เตี้ยนชื่อ (อังกฤษ: dianshi, จีน: 殿試, พินอิน: Diàn shì, แปลตามตัวอักษรว่า "การสอบราชสำนัก (court exam) ") เป็นการสอบระดับสูงสุด มีการจัดสอบทุก ๆ 3 ปี ณ พระราชวังหลวง (Imperial palace) ซึ่งโดยมากสมเด็จพระจักรพรรดิจะเป็นผู้ดูแลและคุมการสอบด้วยพระองค์เอง

ในแต่ละระดับขั้น มีการกำหนดจำนวนผู้สอบผ่านไว้ เช่น ในการสอบระดับเมืองหลวงกำหนดให้มีผู้ผ่านการคัดเลือกได้ 300 คน ทำให้ผู้เข้าสอบบางคนต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะสอบผ่าน ส่วนการสอบระดับราชสำนักนั้นมีความสำคัญแก่ผู้เข้าสอบเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการสอบต่อหน้าพระพักตร์ขององค์จักรพรรดิ นอกจากนั้น หากสอบผ่านยังได้รับลาภยศสรรเสริญมากมาย รวมถึงชื่อเสียงที่จะขจรขจายไปทั่วราชอาณาจักรอีกด้วย

ตั้งแต่เริ่มแรกจนถึง ค.ศ. 1370 การสอบกินเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงถึงเจ็ดสิบสองชั่วโมง ผู้เข้าสอบต้องอยู่ลำพังในห้องเล็ก ๆ หรือในคอกที่สนามสอบ ในห้องหรือคอกนี้มีไม้กระดานสองแผ่นซึ่งจะใช้เป็นที่นอนก็ได้ เป็นโต๊ะหรือเป็นเก้าอี้ก็ได้

เมื่อเข้ามาในสนามสอบ ผู้เข้าสอบจะนำสิ่งของเครื่องใช้ติดตัวไว้ได้เพียงเหยือกน้ำ หม้อ อาหาร เครื่องนอน แท่นหมึก หมึก และพู่กันเท่านั้น ผู้คุมสอบจะตรวจสอบผู้เข้าสอบ (student's identity) และตรวจค้นตัวอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้มีการทุจริตในการสอบ สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงการสอบจะใช้เวลานาน 3 วัน 2 คืน โดยกำหนดให้เขียนบทเรียงความ "eight-legged essays" — ความหมายตามตัวอักษร คือการแต่งเรียงความที่ประกอบด้วย 8 ส่วนที่แตกต่างกัน — อยู่ในห้องเล็ก ๆ ของตนเอง โดยห้ามมีการรบกวนหรือการหยุดพักในระหว่างการสอบ รวมทั้งห้ามมิให้มีการพูดคุยกันในระหว่างการสอบด้วย บางครั้งเมื่อมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการสอบ ผู้คุมสอบจะนำเสื่อมาห่อศพและโยนข้ามกำแพงสูงที่ล้อมรอบบริเวณสนามสอบไป[18]

ความกดดันที่สูงเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการสอบทำให้มีการทุจริตและโกงในการสอบมาก ส่วนหนึ่งในการป้องกันการทุจริตเหล่านั้นเพื่อให้การตรวจข้อสอบมุ่งเน้นไปที่คำตอบอย่างแท้จริงโดยไม่มีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้เข้าสอบคนใด จึงไม่ให้มีการออกนามผู้เข้าสอบ แต่ให้เรียกขานด้วยหมายเลขแทน ทั้งยังให้บุคคลภายนอกคัดลอกคำตอบไว้อีกทอดหนึ่งเพื่อไม่ให้ผู้ตรวจจดจำลายมือผู้เข้าสอบได้ นอกจากนั้นในการเขียนคำตอบจะต้องเป็นคำตอบที่ตรงตามตำราโบราณทุกตัวอักษรไม่มีผิดเพี้ยน มิฉะนั้นจะถือว่าสอบตก ผู้เข้าสอบจำนวนมากจึงพยายามซ่อนกระดาษข้อความหรือแม้กระทั่งแอบเขียนคำตอบไว้ในชุดชั้นในของตนเป็นต้น[19]

รายละเอียดการสอบ

แก้

หลักสูตร

แก้

ในปี ค.ศ. 115 มีการคิดค้นหลักสูตรวิชาสำหรับผู้เข้าสอบเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้มีการทดสอบความสามารถใน "ศิลปะหกแขนง (Six Arts) " คือ

  • วิชาศิลป์ (Scholastic arts) 4 วิชา ได้แก่ ดนตรี (music) คณิตศาสตร์ (arithmetic) การคัดลายมือ (writing) และความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมทั้งพิธีในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว
  • วิชาทหาร (Militaristic) 2 วิชา ได้แก่ การขี่ม้า (horsemanship) และยิงธนู (archery)

จำนวนวิชาที่สอบในแต่ละสมัยอาจมีความแตกต่างกันไป เช่นในเวลาต่อมามีการขยายหลักสูตรเพื่อให้ครอบคลุม "คัมภีร์ทั้งห้า (Five Studies) " ได้แก่ ยุทธศาสตร์ทางทหาร (military strategy) กฎหมายแพ่ง (civil law) รายได้และภาษีอากร (revenue and taxation) เกษตรศาสตร์ (agriculture) ภูมิศาสตร์ (geography) และปรัชญาขงจื๊อ (Confucian classics)

ในราชวงศ์สุย (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6) อันเป็นรัชสมัยที่มีการเริ่มใช้ระบบการคัดเลือกบุคลากรเข้ามารับราชการ โดยนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นการริเริ่มนำเอาระบบคุณธรรม (merit system) มาใช้เป็นมาตรฐานการสอบอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก

คุณวุฒิ

แก้
 
Stone flagpole planted at the examiner's abode indicating the jinshi imperial examination status

การสอบผ่านได้รับคุณวุฒิระดับต่าง ๆ นั้น เป็นเสมือนการสร้าง "บันไดสู่ความสำเร็จ" โดยการสอบสำเร็จได้เป็นจิ้นชื่อ (อังกฤษ: jinshi, จีน: 進士, พินอิน: Jìnshì, แปลตามตัวอักษรว่า "บัณฑิตขั้นสูง (advanced scholar) ") ซึ่งถือได้ว่ามีระดับเทียบเท่าปริญญาเอกในปัจจุบัน เป็นคุณวุฒิที่ปัญญาชนจำนวนมากในสมัยนั้นมักแสวงหาและใฝ่ฝัน ถ้าสอบได้เป็นจิ้นซื่อ จะมีโอกาสได้รับตำแหน่งขุนนางระดับสูง ดังนั้นการสอบระดับจิ้นซื่อจึงยากที่สุด มีคนจำนวนมากที่เข้าสอบชั่วชีวิตก็ไม่อาจประสบความสำเร็จ  หรือมีบ้างที่สอบได้ก็ต่อเมื่ออายุกว่า 50 ปี ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดายิ่งในเวลานั้น

ระดับคุณวุฒิต่าง ๆ ในการสอบขุนนาง ได้แก่

  • ถงเชิง (อังกฤษ: tongsheng, จีน: 童生, พินอิน: Tóngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาเด็ก" (child student) ") คือผู้ที่สอบผ่านระดับต้น หรือระดับท้องถิ่นในขั้น เซี่ยนชื่อ (county exam) และ ฝู่ชื่อ (prefecture exam) โดยไม่ว่าผู้สอบผ่านนั้นจะมีอายุเท่าใดก็ตามก็จะถูกเรียกด้วยคำนี้ เป็นการสอบที่เทียบได้กับการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในปัจจุบัน[17]
  • เชิงหยวน (อังกฤษ: shengyuan, จีน: 生員, พินอิน: Shēngyuán, แปลตามตัวอักษรว่า "สมาชิกนักศึกษา (student member) ") หรืออีกชื่อหนึ่งที่นิยมใช้เรียกมากกว่า คือ ชิ่วไฉ (อังกฤษ: xiucai, จีน: 秀才, พินอิน: Xiùcái, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้มีพรสวรรค์ (distinguished talent) ") คือผู้ที่สอบผ่านระดับต้น หรือระดับท้องถิ่นในขั้น ย่วนชื่อ (college exam) ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษทางสังคม เช่น ได้รับการยกเว้นจากการถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน (statute labour) ได้รับสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และจำกัดการลงโทษทางกาย มีการแบ่งระดับต่อไปอีก 3 ระดับ ตามผลการสอบ คือ
    • หลิ่นเชิง (อังกฤษ: linsheng, จีน: 廩生, พินอิน: Lǐnshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษายุ้งฉาง (granary student) ") เป็นระดับสูงสุดของเชิงหยวน คือผู้ที่มีความสามารถสอบได้คะแนนในระดับดีที่สุดของการสอบย่วนชื่อ (college exam) ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้จะได้รับรางวัลจากราชการในการสำเร็จการสอบด้วย โดยสามารถเข้าศึกษาต่อในบัณฑิตยสถานของราชสำนัก (Imperial Academy)  ได้ในฐานะเป็น ก้งเชิง (อังกฤษ: gongsheng, จีน: 貢生, พินอิน: Gòngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาบรรณาการ (tribute student) ") และยังเป็นผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบในระดับมณฑลหรือ เซียงชื่อ ได้ และอาจมีบางคนสามารถข้ามระดับไปสอบในระดับเมืองหลวงได้ด้วย
      • อั้นโฉ่ว (อังกฤษ: anshou, จีน: 案首, พินอิน: Ànshǒu, แปลตามตัวอักษรว่า "ที่หนึ่งในโต๊ะเรียน (first on the desk) ") คือผู้ที่สอบได้อันดับที่หนึ่งหรือสูงสุดในบรรดานักศึกษาหลิ่นเชิง และในบรรดานักศึกษาเชิงหยวน ด้วยเช่นกัน
    • เซิงเชิง (อังกฤษ: zengsheng, จีน: 增生, พินอิน: Zēngshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาขยาย (expanded student) ") คือผู้ที่สอบได้ในระดับที่สอบหรือระดับรองลงมาในกลุ่มนักศึกษาเชิงหยวน และนักศึกษาหลิ่นเชิง
    • ฟู่เชิง (อังกฤษ: fusheng, จีน: 附生, พินอิน: Fùshēng, แปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาเพิ่มเติม (attached student) ") คือผู้ที่สอบได้ในระดับที่สามของกลุ่มนักศึกษาเชิงหยวน และเป็นกลุ่มสำรองในการคัดเลือกเข้ารับราชการ เมื่อมีตำแหน่งว่างก็จะได้เข้ารับราชการ ถือว่าเป็นผู้สอบผ่านแต่ยังคงต้องการการปรับปรุงพัฒนาอีก
  • จู่เหริน (อังกฤษ: juren, จีน: 舉人, พินอิน: Jǔrén, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้ได้รับการแนะนำ (recommended man) ") คือผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกในระดับมณฑล (provincial exam) ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี
    • เจี้ยหยวน (อังกฤษ: jieyuan, จีน: 解元, พินอิน: Jièyuán, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้เข้าสอบระดับบน (top escorted examinee) ") คือจู่เหริน ที่สอบได้เป็นอันดับที่หนึ่ง หรืออันดับสูงสุดในการสอบระดับมณฑล
  • ก้งชื่อ (อังกฤษ: gongshi, จีน: 貢士, พินอิน: Gòngshì, แปลตามตัวอักษรว่า "บัณฑิตบรรณาการ (tribute scholar) ") คือผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสอบระดับเมืองหลวง (หรืออาจเรียกว่าระดับประเทศก็ได้) ที่มีการจัดสอบเป็นประจำทุก ๆ 3 ปี หากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็น "ก้งชื่อ" จะมีสิทธิได้รับคัดเลือกจากกษัตริย์ให้เป็นผู้ถวายการรับใช้ ดังนั้นการสอบได้เป็นก้งชื่อ จึงถือว่าได้เป็นการก้าวสู่เส้นทางการเป็นขุนนางอย่างหนึ่ง[17]
    • ฮุ้ยหยวน (อังกฤษ: huiyuan, จีน: 會元, พินอิน: Huì yuán, แปลตามตัวอักษรว่า "ผู้เข้าสอบการประชุมระดับบน (top conference examinee) ") คือบัณฑิตก้งชื่อ ทีสอบได้อันดับสูงสุดของการสอบระดับเมืองหลวง (หรือระดับประเทศ, national exam)
  • จิ้นชื่อ (อังกฤษ: jinshi, จีน: 進士, พินอิน: Jìnshì, แปลตามตัวอักษรว่า "บัณฑิตขั้นสูง (advanced scholar) ") คือผู้ที่สอบผ่านการสอบระดับราชสำนัก หรือระดับราชวัง ที่จัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี หากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็นจิ้นซื่อ ก็เท่ากับมีโอกาสได้เป็นขุนนางในราชสำนักค่อนข้างแน่นอนแล้ว
    • จิ้นชื่อ จี๋ตี้ (อังกฤษ: jinshi jidi, จีน: 進士及第, พินอิน: Jìnshì jí dì, แปลตามตัวอักษรว่า "จิ้นชื่อผู้โดดเด่น (distinguished jinshi) ") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้คะแนนระดับสูงสุดในการสอบราชสำนัก ซึ่งมักหมายถึงผู้ที่สอบได้ 3 แรก
      • จอหงวน (อังกฤษ:, จีน: 狀元, พินอิน: Zhuàngyuán, แปลตามตัวอักษรว่า "top thesis author") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้อันดับที่หนึ่งของประเทศ จอหงวนเป็นวิทยฐานะที่มีเกียรติสูงและมีสิทธิหลายอย่างที่บุคคลอื่นไม่อาจจะมี เช่นอาจได้เป็นอัครมหาเสนาบดีเป็นต้น
      • ปั้งเหยี่ยน/ป๋างั่ง (อังกฤษ: bangyan, จีน: 榜眼, พินอิน: Bǎngyǎn, แปลตามตัวอักษรว่า "eyes positioned alongside") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้อันดับที่สอง หรือเป็นรองแค่บัณฑิตจอหงวน เท่านั้น
      • ทั่นฮวา/ท่ำฮวย(อังกฤษ: tanhua, จีน: 探花, พินอิน: Tànhuā, , แปลตามตัวอักษรว่า "flower snatcher") คือบัณฑิตจิ้นชื่อ ที่สอบได้อันดับที่สาม
    • จิ้นชื่อ ชูเซิน (อังกฤษ: jinshi chushen, จีน: 進士出身, พินอิน: Jìnshì chūshēn, lit. "jinshi background") คือกลุ่มบัณฑิตที่สอบได้ระดับรองลงมาจากทั่นฮวา
    • ถงจิ้นชื่อ ชูเซิน (อังกฤษ: tong jinshi chushen, จีน: 同進士出身, พินอิน: Tóng jìnshì chūshēn, แปลตามตัวอักษรว่า "along with jinshi background") คือกลุ่มบัณฑิตที่สอบได้ระดับรองลงมาเป็นระดับที่สามในการสอบราช่สำนัก คือรองจากระดับจิ้นชื่อ ชูเซิน ลงมา

การสอบเลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง

แก้

นอกจากการสอบปกติแล้ว ยังมีการจัดสอบเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ โดยเฉพาะเป็นครั้งคราว โดยมากมักเป็นการสอบเพื่อคัดเลือกบุคลากรที่มีพรสวรรค์และความสามารถโดดเด่นเพื่อปรับเลื่อนขั้นหรือตำแหน่ง หรือเพื่อเฟ้นหาบุคคลที่มีความสามารถเฉพาะทางสำหรับการปฏิบิติภารกิจเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นต้น ในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิซ่งเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่ง ปี ค.ศ. 1061 มีพระบัญชาให้จัดการสอบเพื่อค้นหาผู้ที่มีความสามารถด้าน "zhiyan jijian (direct speech and full remonstrance) " โดยกำหนดให้ผู้เข้าสอบส่งบทเรียงความที่มีการเขียนเตรียมไว้แล้ว 50 เรื่อง โดยครึ่งหนึ่ง (คือ 25 เรื่อง) เป็นเรียงความเกี่ยวกับ 25 ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของยุคนั้น และอีกครึ่งหนึ่ง (อีก 25 เรื่อง) เป็นบทเรียงความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั่วไป และเมื่ออยู่ในห้องสอบ ผู้เข้าสอบจะต้องเขียนบทเรียงความตามหัวข้อที่ผู้คุมสอบกำหนดไว้จำนวน 6 เรื่อง และในลำดับสุดท้ายจะต้องเขียนเรียงความความยาว 3,000 ตัวอักษรตามหัวข้อที่สมเด็จพระจักรพรรดิเหรินจงเป็นผู้กำหนด ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับหลักการและนโยบายด้านการเมืองการปกครองประเทศ ในบรรดาผู้เข้าสอบที่สำเร็จผ่านการสอบครั้งนี้ มีสองพี่น้องตระกูลซู คือ ซูชื่อ (Su Shi) และซูเจ้อ (Su Zhe) ผู้ซึ่งสอบผ่านเป็นจิ้นชื่อ สำเร็จแล้วในปี ค.ศ. 1057 โดยซูชื่อนั้นมีผลคะแนนการสอบที่ดีมากจนมีการคัดสำเนาบทเรียงความเขาที่เขาสอบเผยแพร่อย่างกว้างขวาง[20]

การสอบทางการทหาร

แก้

การสอบทางการทหารจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกบุคลากรเข้ารับราชการทหารหรือกองทัพ[21] ผู้สอบผ่านจะได้รับรางวัลและคุณวุฒิเทียบได้กับระดับจิ้นชื่อ และจู่เหริน ในการสอบขุนนางทั่วไป ในส่วนของระบบการสอบก็มีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น มีการจัดสอบเป็นระดับภูมิภาค (provincial exams) ระดับเมืองหลวง (metropolitan exams) และการสอบในราชสำนัก (palace exams) เช่นกัน นอกจากนั้นผู้เข้าสอบยังต้องมีความรู้ด้านปรัชญาขงจื๊อเช่นเดียวกับการสอบขุนนางปกติ อีกทั้งมีทักษะด้านการยิงธนูและการขี่บังคับม้า รวมถึงความรู้ทฤษฏีการออกศึก เช่น ตำราพิชัยสงครามของซุนวู เป็นต้น[22]

กระบวนการสอบ

แก้
 
Examination hall with 7500 cells, มณฑลกวางตุ้ง, 1873.

ในสมัยโบราณถึงปี ค.ศ. 1370 การสอบขุนนางใช้เวลาในการสอบยาวนานตั้งแต่ 24 ถึง 72 ชั่วโมง ผู้สอบแต่ละคนจะถูกจัดให้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ หรือในคอก แยกสำหรับแต่ละคน เพื่อให้กินอยู่หลับนอนในช่วงเวลาที่สอบนั้นได้ ภายในห้องหรือคอกนี้มีไม้กระดานสองแผ่นซึ่งจะใช้เป็นที่นอน หรือใช้เป็นโต๊ะและเก้าอี้ในขณะทำข้อสอบก็ได้

สนามสอบระดับฮุ้ยชื่อที่สำคัญในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงตั้งอยู่ที่เมืองปักกิ่ง เป็นสนามสอบที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ. 1403-1424) แห่งราชวงศ์หมิง เรียกว่าสนามสอบ "ก้งเยวี่ยน" การก่อสร้างดั้งเดิมเป็นกระท่อมที่สร้างจากไม้

เมื่อผู้เข้าสอบเข้าห้องสอบของแต่ละคนแล้ว จะต้องล็อกประตูด้านนอก ภายในห้องมีภาชนะใส่ถ่านไว้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น และมีตะเกียงสำหรับให้แสงสว่าง ในการสอบยุคโบราณมักมีการเกิดเพลิงไหม้สนามสอบอยู่บ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งเกิดเพลิงไหม้ใหญ่จนเป็นเหตุให้มีผู้เข้าสอบเสียชีวิตกว่า 90 คน จนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากกระท่อมไม้มาเป็นการก่ออิฐแทน หลังจากมีการประกาศเลิกใช้ระบบการสอบขุนนางในปี ค.ศ. 1905 สนามสอบก้งเยวี่ยนนี้จึงถูกดัดแปลงเพื่อประโยชน์ใช้สอบอื่นแทน คงหลงเหลือเพียงชื่อสถานที่ "ถนนก้งเยวี่ยน" ไว้[3]

สมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง มีการประดิษฐานประติมากรรมสองชิ้นไว้ในท้องพระโรง ชิ้นหนึ่งเป็นรูปมังกร อีกชิ้นเป็นรูปเต่ามังกร (Ao; 鳌) ซึ่งเชื่อกันว่าขาถูกตัดมาเป็นเสาค้ำฟ้า ประติมากรรมทั้งสองนี้ตั้งไว้กลางบันไดซึ่งผู้สอบผ่านจะพากันมาเข้าแถวรอเรียกขานตามบัญชีที่เรียก "ทะเบียนทอง" (จีน: 金榜; พินอิน: jīnbǎng; "gold list") ผู้สอบได้อันดับหนึ่งเรียกว่าเป็น "จ้วงเยฺหวียน" หรือ "จอหงวน" ตามสำเนียงอื่น (จีน: 狀元; พินอิน: zhuàngyuán) และให้ยืนเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่หน้ารูปเต่ามังกรดังกล่าว ก่อให้เกิดสำนวนว่า "ยืนหัวเต่า" (จีน: 占鳌头; พินอิน: zhàn áo tóu; แปลตามตัวอักษรว่า "to have stood alone at Ao's head (独占鳌头; Dú zhàn ào tóu) ") ซึ่งสื่อถึงคุณลักษณะของจ้วงเยฺหวียน รวมถึงบุคคลซึ่งเป็นหัวกะทิในสาขาวิชาหนึ่ง ๆ[23]

ข้อกำหนดการสอบ

แก้

ชาวจีนในสมัยโบราณมีการแบ่งกลุ่มชนชั้นออกเป็นกลุ่มชนชั้นสูง ข้าราชการ และประชาชนสามัญทั่วไป โดยกลุ่มประชาชนยังแบ่งย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม ตามสาขาอาชีพ โดยเรียงตามลำดับความสำคัญและสิทธิที่ได้รับ ดังนี้ กลุ่มบัณฑิต ชาวนาชาวสวน ช่างฝีมือ และพ่อค้า[24] สถานะที่ต่ำกว่ากลุ่มเหล่านี้เรียกว่า "คนต่ำต้อย" (mean people) หรือในบางท้องถิ่นอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น คนเรือ (boat-people) ขอทาน (beggars) โสเภณี (sex-workers) นักบันเทิง (entertainers) ทาส (slaves) และข้ารับใช้ชั้นต่ำ (low-level government employees) เป็นต้น ซึ่งในบางยุคสมัย กลุ่มคนเหล่านี้อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ารับราชการรวมทั้งเข้าสอบคัดเลือกเป็นขุนนาง[25][26]

ในบางสมัยมีการห้ามไม่ให้คนกลุ่มอื่นบางกลุ่มเข้าสอบเช่นกัน เช่นกรณีของเมืองหนิงป่อ (จีน: 宁波; พินอิน: Níngbō; Ningbo dialect:  Nyin-poh/Nyin-pou  (วิธีใช้·ข้อมูล) ) ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นจัณฑาลมากกว่า 3,000 คน โดยเชื่อกันว่ามีบางคนในกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของราชวงศ์จิน (Jin Dynasty, ค.ศ. 1115-1234) ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบขุนนางรวมถึงถูกจำกัดสิทธิด้านอื่น ๆ ด้วย[27] ผู้หญิงก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ (มีเพียงบางยุคเท่านั้นที่อนุญาตให้ผู้หญิงร่วมสอบได้ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาอันสั้น) ในบางสมัย คนฆ่าสัตว์ (butchers) และคนทรงเจ้า (sorcerers, shaman) ก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าสอบด้วยเช่นกัน[28] ในส่วนพ่อค้าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสอบขุนนางจนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์หมิง (Ming dynasty, ค.ศ. 1368–1644) และราชวงศ์ชิง (Qing dynasty, ค.ศ. 1644–1912) จึงมีสิทธิเข้าสอบได้[29] ในสมัยราชวงศ์สุย (Sui dynasty, ค.ศ. 581–618) และราชวงศ์ถัง (Tang dynasty, ค.ศ. 618–907) ช่างฝีมือถูกจำกัดสิทธิไม่ให้เข้ารับราชการ และสมัยราชวงศ์ซ่ง ทั้งช่างฝีมือและพ่อค้าก็ถูกจำกัดไม่ให้ร่วมเข้าสอบจิ้นชื่อได้ หรือในสมัยราชวงศ์เหลียว (Liao dynasty, ค.ศ. 907–1125) มีคนกลุ่มพ่อค้า นักฆ่าสัตว์ แพทย์ (physicians) และโหร (diviners) ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบขุนนางด้วย[30]

และในหลาย ๆ ครั้ง ระบบจำกัดจำนวนผู้เข้าสอบหรือผู้สอบผ่านก็ถูกนำมาใช้ในการจำกัดสิทธิของคนบางกลุ่ม เช่น คนที่พำนักอาศัยในบางพื้นที่ หรือคนตามข้อกำหนดอื่น ๆ เป็นต้น

อิทธิพลสู่ประเทศอื่น ๆ

แก้

ประเทศทางตะวันออก

แก้

การสอบคัดเลือกขุนนางของจีนถือเป็นต้นแบบของการสอบคัดเลือกต่าง ๆ ในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลนำไปประยุกต์ใช้ เช่น ทั้งราชวงศ์โครยอ (Goryeo Dynasty) และราชวงศ์โชซ็อน (Joseon Dynasty) ในประเทศเกาหลี (see Gwageo) และยกเลิกไปเมื่อถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น (annexation by Japan) ในประเทศเวียดนาม ระบบการสอบขุนนางของจีนก็เป็นต้นแบบในการทดสอบความรู้ปรัชญาขงจื๊อในเวียดนาม (Confucian examination system in Vietnam) ในสมัยราชวงศ์ Lý Dynasty โดยจักรพรรดิ Lý Nhân Tông (ค.ศ. 1075) จนกระทั่งถึงสมัยราชวงศ์เหงียน สมเด็จพระจักรพรรดิขาย ดิ่ญ (ค.ศ. 1919) ด้วยเช่นกัน

ในประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากการสอบขุนนางมาเป็นต้นแบบในยุคเฮอัง (Heian period) แต่มีผลเพียงกับชนชั้นสูงจำนวนไม่มากนัก ต่อมาจึงถูกแทนที่โดยการสืบทอดเชื้อสายในยุคซะมุไร (Samurai era)[31]

ประเทศทางตะวันตก

แก้

ประเทศในแถบตะวันตกให้ความสนใจและได้รับแรงบันดาลใจจากกาสอบขุนนางในจีนเช่นกัน โดยมีสถาบันการศึกษาของจีนเป็นหนึ่งในหน่วยงานแห่งแรก ๆ ที่ใด้รับความสนใจ[32] ตัวอย่างหนึ่งในนั้นได้แก่การได้รับอิทธิพลอย่างมากปรากฏอยู่ในรายงาน Northcote-Trevelyan Report ซึ่งเป็นต้นกำเนิดการปฏิรูปของข้าราชการพลเรือนในบริติชอินเดีย (Indian Civil Service, Civil Service in British India) และในสหราชอาณาจักร (Her Majesty's Civil Service, United Kingdom) ในเวลาต่อมาด้วย[33] หลังจากการดำเนินงานปฏิรูปของสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 19 ประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศอินเดียด้วยการจัดสอบอย่างเป็นระบบและแข่งขันอย่างเปิดเผย จึงได้มีการดำเนินการในประเทศตะวันตกอื่น ๆ ตามมา[34]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. Wu, 413-419
  2. Patricia Buckley Ebrey, The Cambridge Illustrated History of China (Cambridge: Cambridge University Press, 2nd, 2010), 145-147, 198-200
  3. 3.0 3.1 หนังสือพลิกม่านไม้ไผ่ โดย ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม, บก.
  4. Yu, 55
  5. 任立达,薛希洪,"中国古代官吏考选制度史" (A History of the Examination Systems for the Chinese Imperial Mandarinate) (青岛出版社, 2003)
  6. Keay, John (2009). China - A History. Harper Collins. ISBN 978-0-00-722178-3. p. 228
  7. 7.0 7.1 Kracke, 253
  8. 8.0 8.1 8.2 Kracke, 254
  9. 9.0 9.1 Yu, 58
  10. Paludan, Ann (1998). Chronicle of the Chinese Emperors: The Reign-by-Reign Record of the Rulers of Imperial China. Thames and Hudson. ISBN 0-500-05090-2. p. 97
  11. Fairbank, 82
  12. Kracke, 257 (Table 2, which shows 26 doctoral degrees awarded in 1184 to individuals from Occupied North China, and 1 in 1256)
  13. Gernet, Jacques. (1962) Daily Life in China on the Eve of the Mongol Invasion, 1250-1276. Translated by H.M. Wright (Stanford: Stanford University Press. ISBN 0-8047-0720-0, p. 65).
  14. Elman, Benjamin A. A Cultural History of Civil Examinations in Late Imperial China, 2000:14.
  15. 15.0 15.1 15.2 Kracke, 263
  16. Wolfgang Franke, The Reform and Abolition of the Traditional China Examination System (Cambridge, Massachusetts: East Asian Research Center, 1968) : 70-71.
  17. 17.0 17.1 17.2 17.3 17.4 http://thai.cri.cn/learnchinese/lesson11/6.html
  18. Ichisada Miyazaki. China's Examination Hell: The Civil Service Examinations of Imperial China. (New York: Weatherhill, 1976. ISBN 0834801043), pp. 18-25.
  19. Andrew H. Plaks, "Cribbing Garment" Gest Library
  20. Murck, 2000: page 31
  21. Etienne Zi. Pratique Des Examens Militaires En Chine. (Shanghai, Varietes Sinologiques. No. 9, 1896). American Libraries Internet Archive Google Book (Searchable).
  22. Nicola Di Cosmo (2009). Military culture in imperial China. Harvard University Press. p. 245. ISBN 0-674-03109-1. สืบค้นเมื่อ 2010-06-28.
  23. Hucker, Charles O. (1985), A dictionary of official titles in Imperial China / 中国古代官名辞典, Stanford University Press, pp. 106–107, 536, ISBN 0-8047-1193-3
  24. Ch'u, 246
  25. Ch'u, 249
  26. Susan Naquin, Evelyn Sakakida Rawski (1989). +musicians, +actors, +and+some+yamen+employees+ (gate+keepers&hl=en&ei=LEi4TvXkM8rL0QHX18XSBw&sa=X&oi=book_result&ct=result&resnum=1&ved=0CC0Q6AEwAA#v=onepage&q=The%20latter%20category%20included%20remnants%20of%20aboriginal%20groups%20who%20had%20survived%20Chinese%20expansion%20and%20settlement%20and%20practitioners%20of%20occupations%20that%20included%20prostitutes%2C%20musicians%2C%20actors%2C%20and%20some%20yamen%20employees%20 (gate%20keepers&f=false Chinese Society in the Eighteenth Century (reprint, ed.). Yale University Press. p. 117. ISBN 0-300-04602-2. สืบค้นเมื่อ 2011-10-31. {{cite book}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  27. Samuel Wells Williams (1883). The Middle kingdom: a survey of the ... Chinese empire and its inhabitants ... (revised ed.). New York: Wiley & Putnam. pp. 321, 412. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  28. Ch'u, 247
  29. Ch'u, 248
  30. Ch'u, 386 note 70, citing Liao-shih.
  31. Liu, Haifeng, Influence of China’s Imperial Examinations on Japan, Korea and Vietnam -Frontiers of History in China, October 2007, Volume 2, Issue 4, pp 493-512
  32. Kracke, 251
  33. Ssu-yu Teng, "Chinese Influence on the Western Examination System", Harvard Journal of Asiatic Studies 7 (1942-1943) : 267-312.
  34. Wu, 417

References and further reading

แก้
  • Christie, Anthony (1968). Chinese Mythology. Feltham: Hamlyn Publishing. ISBN 0600006379.
  • Ch'ü, T'ung-tsu. (1967 [1957]). "Chinese Class Structure and its Ideology", in Chinese Thoughts & Institutions, John K. Fairbank, editor. Chicago and London: University of Chicago Press.
  • Elman, Benjamin. (2002) A Cultural History of Civil Examinations in Late Imperial China. London: Univ. of California Pr.ISBN 0-520-21509-5
  • Fairbank, John King (1992), China: A New History. Cambridge, Massachusetts: Belknap Press/Harvard University Press. ISBN 0-674-11670-4
  • Hinton, David (2008). Classical Chinese Poetry: An Anthology. New York: Farrar, Straus, and Giroux. ISBN 0374105367 / ISBN 9780374105365
  • P.T. Ho, The Ladder of Success in Imperial China Aspects of Social Mobility, 1368-1911. (New York: Columbia University Press, 1962.)
  • Kracke, E. A., Jr. (1967 [1957]). "Region, Family, and Individual in the Chinese Examination System", in Chinese Thoughts & Institutions, John K. Fairbank, editor. Chicago and London: University of Chicago Press.
  • Ichisada Miyazaki, China's Examination Hell: The Civil Service Examinations of Imperial China Conrad Schirokauer, tr. (New York: Weatherhill, 1976). ISBN 0-8348-0104-3, reprint 1981 ISBN 0-300-02639-0
  • John Chafee, The Thorny Gates of Learning in Sung [Song] China (Albany: State University of New York Press, 1995).
  • Thomas H.C. Lee, Government Education and Examinations in Sung [Song] China (Hong Kong: Chinese University Press, ; New York: St. Martin's Press, 1985).
  • Mayers, William Frederick, and G.M.H. Playfair. The Chinese Government: A Manual of Chinese Titles, Categorically Arranged and Explained, with an Appendix. 3 ed. Shanghai: Kelly & Walsh Limited, 1897.
  • Murck, Alfreda (2000). Poetry and Painting in Song China: The Subtle Art of Dissent. Cambridge (Massachusetts) and London: Harvard University Asia Center for the Harvard-Yenching Institute. ISBN 0-674-00782-4.
  • Man-Cheong, Iona (2004). The Class of 1761: Examinations, the State and Elites in Eighteenth-Century China. Stanford: Stanford University Press.
  • Paludan, Ann (1998). Chronicle of the Chinese Emperors: The Reign-by-Reign Record of the Rulers of Imperial China. New York, New York: Thames and Hudson. ISBN 0-500-05090-2
  • Wu, K. C. (1982). The Chinese Heritage. New York: Crown Publishers. ISBN 0-517-54475X.
  • Yang, C. K. [Yang Ch'ing-k'un]. Religion in Chinese Society : A Study of Contemporary Social Functions of Religion and Some of Their Historical Factors (1967 [1961]). Berkeley and Los Angeles: University of California Press.
  • Yu, Pauline (2002). "Chinese Poetry and Its Institutions", in Hsiang Lectures on Chinese Poetry, Volume 2, Grace S. Fong, editor. (Montreal: Center for East Asian Research, McGill University).
  • Étienne Zi. Pratique Des Examens Militaires En Chine. (Shanghai, Varietes Sinologiques. No. 9, 1896). University of Oregon Libraries (not searchable) เก็บถาวร 2014-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, American Libraries Internet Archive Google Book (Searchable).