กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์

(เปลี่ยนทางจาก สถานีวิทยุยานเกราะ)

กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์[4] (ม.พัน.4 รอ. พล.1 ร้อยเอก อรรถวุฒิ พรมคำ) เป็นหน่วยทหารในสังกัดหน่วยรบพิเศษสุครีพ มีที่ตั้งหน่วยริมถนนสามเสน ตรงข้ามอาคารรัฐสภา[5][6] ในพื้นที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์
ประเทศ ไทย
เหล่า กองทัพบกไทย
รูปแบบกองพันทหารม้ารักษาพระองค์
ขึ้นกับกองพลที่ 1 รักษาพระองค์
กองบัญชาการ1156 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร[1]
วันสถาปนาพ.ศ. 2474 (ระยะที่ 1)
1 เมษายน พ.ศ. 2495 (ระยะที่ 2)
ปฏิบัติการสำคัญ
ผู้บังคับบัญชา
ผู้บังคับการพันโท พิชเญนทร์ พรประสิทธิ์[2]
ผบ. สำคัญพลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
พลตรี มนูญกฤต รูปขจร[3]

ม.พัน.4 รอ. สถาปนาโดยการแปรสภาพกองพันทหารม้าที่จังหวัดสระบุรี ในปี พ.ศ. 2474 ผ่านการย้ายที่ตั้งหลายครั้ง จนชื่อของหน่วยได้สลายไประยะแรกในปี พ.ศ. 2495 ต่อมาหน่วยได้รับการจัดตั้งใหม่อีกครั้งในปีเดียวกัน โดยย้ายมายังกรุงเทพมหานคร และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์หลังจากนั้น

กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เป็นหนึ่งในหน่วยทหารที่มีความสำคัญในทางการเมือง เคยมีบทบาททั้งในเหตุก่อการกบฏและรัฐประหาร อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุยานเกราะ ซึ่งเคยถูกกลุ่มขวาจัดใช้เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังสถานีวิทยุดังกล่าวก็ได้ให้เอกชนเช่าคลื่นประกอบกิจการเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก มิใช่เพื่อการปลุกระดมเหมือนในอดีต

ประวัติ

แก้

กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) ถือกำเนิดขึ้นมา 2 ระยะคือ

  • ระยะที่ 1: กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ได้จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2474 จากการแปรสภาพกองพันทหารม้าที่ 2 ในกรมทหารม้าที่ 2 โดยจัดตั้งที่ตำบลปากเพรียว อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี มีพันตรี หลวงอาจณรงค์ (หม่อมหลวงต้อ พนมวัน) เป็นผู้บังคับกองพันคนแรก และใช้นามหน่วยย่อว่า ม.พัน.4 ซึ่งได้ใช้ชื่อนี้เรื่อยมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนที่ตั้งหลายครั้ง จากสระบุรีไปอยู่ จังหวัดจันทบุรี และกาญจนบุรีตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2488 ทางราชการได้ยุบ ม.พัน.4 ที่กาญจนบุรี แล้วแปรสภาพ ม.พัน.6 (หน่วยที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา) ที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็น ม.พัน.4 แทน และในปี พ.ศ. 2495 จึงได้แปรสภาพอีกครั้งหนึ่งจาก ม.พัน.4 เป็น ม.พัน.7 ชื่อของ ม.พัน.4 จึงได้สลายตัวไปในระยะแรก
  • ระยะที่ 2: ม.พัน.4 ได้จัดตั้งขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2495 ในฐานะกองพันรถถังของกรมทหารม้า (รถถัง) ที่ 2 ใช้รถถังแบบ เอ็ม24 ชาร์ฟฟี จากสหรัฐ ตั้งอยู่ที่ถนนบางกระบือ (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของถนนสามเสน) ตำบลถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร โดยมีพันตรี ประจวบ สุนทรางกูร (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้บังคับกองพันคนแรก และเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 หน่วยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้สถาปนาขึ้นเป็น "กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์"[7]

ภารกิจ

แก้

นอกจาก ม.พัน.4 รอ. จะมีหน้าที่หลักในฐานะหน่วยทหารรักษาพระองค์แล้ว ยังมีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชน เช่น ซ่อมผนังกั้นน้ำเมื่อเกิดอุทกภัยใหญ่ในปี พ.ศ. 2554[8], ร่วมมือกับตำรวจและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปส. ในการตรวจค้นชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด[9] และช่วยเหลือผู้สูงอายุ[10] เป็นต้น

บทบาทต่อการเมืองไทย

แก้

กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เคยมีบทบาทในกบฏทหารนอกราชการ โดยรถถังจาก ม.พัน.4 รอ. เข้าควบคุมสถานที่ราชการต่าง ๆ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งพันเอก มนูญ รูปขจร ผู้นำการก่อกบฏ ก็เคยเป็นผู้บังคับการหน่วยดังกล่าว[11] เหตุการณ์นี้ถูกอ้างถึงในเพลง "มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6)" จากอัลบั้ม "อเมริโกย" ของวงคาราบาว[12]

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ม.พัน.4 รอ. ยังมีบทบาทเชื่อมโยงกับการเมืองไทย เช่น ในปี พ.ศ. 2553 น.พ. เหวง โตจิราการ ได้นำมวลชน นปช. ไปปราศรัยที่หน้าหน่วย[13], พ.ศ. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ภาณุพงศ์ จาดนอก จัดกิจกรรมตอบโต้การดำเนินการของทหาร ที่หน้า ม.พัน.4 รอ.[14] และในปี พ.ศ. 2566 หลังการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตำรวจได้ใช้เส้นทางผ่านหน่วยดังกล่าวในการนำสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนออกจากอาคารรัฐสภา[15] เป็นต้น

อนึ่ง พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ยังเคยอาศัยที่บ้านพักใน ม.พัน.4 รอ. ด้วย[16][17] เขาเคยกล่าวว่ารัฐประหารทุกครั้งที่ตนมีส่วนร่วม จะมีรถถังจากหน่วยดังกล่าวเข้าควบคุมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร[18] ทั้งนี้ ในรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 หลังพลตรีขัตติยะเสียชีวิต คสช. ก็ยังใช้ยุทโธปกรณ์จากหน่วยดังกล่าวเข้าควบคุมสถานการณ์ แม้จะไม่มีการเคลื่อนรถถังมาด้วยเหมือนรัฐประหารครั้งก่อน ๆ ก็ตาม[19]

สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก ยานเกราะ ศูนย์การทหารม้า

แก้

ภายในพื้นที่กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เกียกกาย เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก ยานเกราะ ศูนย์การทหารม้า จำนวน 3 คลื่น ซึ่งเริ่มกระจายเสียงครั้งแรกพร้อมกันเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2499 ได้แก่ เอเอ็ม 540 กิโลเฮิรตซ์, เอฟเอ็ม 89.0 เมกะเฮิรตซ์ และเอฟเอ็ม 91.5 เมกะเฮิรตซ์[1] โดยคลื่น 89.0 เมกะเฮิรตซ์ บริษัท ทราฟฟิกคอรนเนอร์ จำกัด นำโดยวินิจ เลิศรัตนชัย เคยเช่าเพื่อดำเนินกิจการสถานีวิทยุ "ไพเรท ร็อค"[20] ส่วนคลื่น 91.5 เมกะเฮิรตซ์ นั้น บจก. เอไทม์ มีเดีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์) จำกัด (มหาชน) เคยเช่าเพื่อดำเนินกิจการสถานีวิทยุ "ฮอตเวฟ"[21]

นอกจากนี้ ในช่วงปี พ.ศ. 2500–2520 สถานีวิทยุยังได้จัดทำนิตยสารรายเดือน "ยานเกราะ" ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมนักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น วัฒน์ วรรลยางกูร, 'รงค์ วงษ์สวรรค์, ประมูล อุณหธูป, ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นต้น[22]

ในช่วงปี พ.ศ. 2517–2519 สถานีวิทยุยานเกราะเคยถูกใช้เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มขวาจัด โดยมี "ชมรมวิทยุเสรี" ซึ่ง พันโท อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, อาคม มกรานนท์ และอุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นโฆษกสำคัญ รวมถึงยังมี "ชมรมแม่บ้าน" ที่นำโดย วิมล เจียมเจริญ ซึ่งทั้งสองชมรมเป็นผู้จัดรายการที่มีลักษณะเผยแพร่ทัศนะโจมตีขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น และปลุกระดมให้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา[23][24]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก ยานเกราะ ศูนย์การทหารม้า". www.cavalrycenter.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  2. "เบื้องหลัง 'นายพลเล็ก'". ไทยโพสต์. 2023-10-28. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  3. "คณะทหารหนุ่ม (42) | จาก "กลุ่มนินทาเจ้านาย" กลายมาเป็นศูนย์อำนาจทางการเมือง". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  4. "โปรดเกล้าฯ พระราชทาน "เปลี่ยนนาม" หน่วยทหารรักษาพระองค์". สยามรัฐ. 2023-08-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  5. "ประสานงานติดตามงานรื้อถอนและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง: โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่". www.parliament.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-12. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  6. แผนที่เขตดุสิต เก็บถาวร 2023-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - กรุงเทพมหานคร
  7. "ภาพประวัติศาสตร์รถถังรถเกราะของไทยในแต่ละหน่วย". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-30. สืบค้นเมื่อ 2023-10-30.
  8. "กองทัพจัดเต็มกางแผนยุทธการรับศึก "น้ำท่วม" วางกำลังพลกระจายทุกพื้นที่ - ThaiPublica". thaipublica.org. 2011-11-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  9. "ปปส.กทม. ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นชุมชนที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งจำหน่ายยาเสพติด พื้นที่ กทม". www.oncb.go.th. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  10. "ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ ชุมชนวัดปุรณาวาส". กรุงเทพมหานคร (ภาษาอังกฤษ). 2023-10-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  11. "กบฏไม่มาตามนัด 9 ก.ย.2528 : รัฐประหารที่ไม่รู้ว่าใครเป็นหัวหน้า". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  12. ""ถึก" คนกับควาย". 2read.digital.[ลิงก์เสีย]
  13. "ม็อบแดงดาวกระจายค่ายทหาร ประกาศจุดยืนต้านปฏิวัติ-วอนรักษาปชต.เข้มแข็ง". ryt9.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  14. "จ่อหมายเรียกแกนนำม็อบบุก ม.พัน.4 รอท่าทีทหารแจ้งเอาผิดละเลงสีป้าย". mgronline.com. 2020-09-29. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  15. "ส.ว.กิตติศักดิ์เผ่นคนแรก หลังลงมติไม่เลือกพิธา ส.ว.ออกจากสภา ใช้เส้น ม.พัน 4 รอ. หลบผู้ชุมนุม(คลิป)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  16. "ม.พัน4รอ.ติดป้ายห้ามเสธ.แดงเข้าออก". www.sanook.com/news. 2010-01-27. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  17. "เสธแดง ค้นบ้านเสธแดง พบอาวุธอื้อ เสธ.แดง ซัด อนุพงษ์ แต๋วแตก-กลัวตาย". kapook.com. 2010-01-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  18. "เสธ.แดง" ขู่ใช้ระเบิดเพลิงสู้รถถังหากมีการทำรัฐประหาร
  19. "พลิกโฉม "ทหารม้า" ขี่รถถังจีน จากยุคปฏิวัติ-สู่สนามรบดิจิทัล". workpointTODAY. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-31. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  20. "ฉากจบ "เดอะ เรดิโอ" บทสรุปของดี ไม่มีที่ยืน?". mgronline.com. 2008-01-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  21. "ขาโจ๋-คนเคยวัยรุ่น ช็อค! ไม่มีแล้ว "ฮอต 91.5 FM" ปิดตำนาน กว่า 20 ปี คลื่นวิทยุขวัญใจโจ๋". มติชนออนไลน์. 2013-01-02. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2021-04-07.
  22. ศรีสุวรรณ, อาชญาสิทธิ์ (2022-11-01). ""เขาหาว่าแม่ฉันเป็นผู้หญิงหากิน" การแจ้งเกิดของวัฒน์ วรรลยางกูรในนิตยสารยานเกราะ". The 101 World (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  23. "3.3.3 ชมรมวิทยุเสรี | บันทึก 6 ตุลา". 2017-09-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-18. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.
  24. "ทมยันตี ชมรมแม่บ้าน และช่วงเวลาก่อนฟ้าสางวันสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-10-05. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-29. สืบค้นเมื่อ 2023-10-29.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้