วัฒน์ วรรลยางกูร
วัฒน์ วรรลยางกูร (12 มกราคม พ.ศ. 2498 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2565) เป็นนักเขียนชาวไทย อดีตที่ปรึกษาสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย[1] และสมาชิกสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน
วัฒน์ วรรลยางกูร | |
---|---|
วัฒน์ วรรลยางกูร ขณะลี้ภัยในประเทศลาว ในภาพยนตร์ ไกลบ้าน (2019) | |
เกิด | 12 มกราคม พ.ศ. 2498 อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ประเทศไทย |
เสียชีวิต | 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 (67 ปี) ปารีส ประเทศฝรั่งเศส |
อาชีพ | นักเขียน, นักประพันธ์ |
สัญชาติ | ไทย |
ช่วงปีที่ทำงาน | พ.ศ. 2513 – 2565 |
คู่สมรส | อัศนา วรรลยางกูร |
บุตร | วนะ วรรลยางกูร วสุ วรรลยางกูร วจนา วรรลยางกูร |
บิดามารดา | วิรัตน์ วรรลยางกูร (บิดา) บุญส่ง วรรลยางกูร (มารดา) |
ประวัติและการทำงาน
แก้วัฒน์ วรรลยางกูร เกิดที่ตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรชายของ นายวิรัตน์ และนางบุญส่ง วรรลยางกูร
ในด้านการประพันธ์ เนื่องจากมีโอกาสอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เพราะใกล้ชิดคุณตาที่ชอบอ่านหนังสือมวยและมีนวนิยายอยู่มาก ส่วนบิดาอ่านนิตยสารคุณหญิงที่มีคอลัมน์ “แวดวงกวี” เมื่อเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 7 จึงเริ่มเขียนกลอนรักให้เพื่อนนักเรียนหญิง ต่อมาได้ออกหนังสือเพื่ออ่านกันในห้องเรียน เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือโดยเป็นผู้เขียนบทบรรณาธิการบริหาร อีกทั้งยังได้เขียนเรื่องสั้นไปลงในหนังสือโรเนียวของโรงเรียนที่ครูมีส่วนร่วมจัดทำขึ้น ใช้นามปากกา “วัฒนู บ้านทุ่ง” พร้อม ๆ กันนั้นได้ส่งผลงานทั้งกลอนและเรื่องสั้นไปยังนิตยสารชัยพฤกษ์, ฟ้าเมืองไทย ฯลฯ
แม้ระยะแรกไม่ได้ลงพิมพ์ แต่ก็ยังเขียนให้เพื่อน ๆ อ่าน จนในที่สุด เรื่องสั้นชื่อ “คนหากิน”ได้ลงพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือ ยานเกราะ เมื่อ พ.ศ. 2513 หลังจากส่งไปให้พิจารณาทั้งหมด 4 เรื่อง และแม้ว่าบรรณาธิการจะแก้ไขมากมาย แต่ก็ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้น จากนั้นไม่นาน ผลงานกลอนที่ส่งไปประกวดได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ชัยพฤกษ์ และเรื่องสั้นชื่อ “มุมหนึ่งของเมืองไทย”ได้ลงพิมพ์ใน “เขาเริ่มต้นที่นี่”ของนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ขณะนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2
หลังจากนั้น มีผลงานกลอนและเรื่องสั้นเผยแพร่ตามนิตยสารต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ในนาม “วัฒน์ วรรลยางกูร” (ชื่อเดิม “วีรวัฒน์” ต่อมาเมื่อนามปากกาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ประกอบกับมีปัญหาเรื่องการเบิกค่าเรื่องจึงแก้ไขชื่อในบัตรประชาชน) ระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีโอกาสคลุกคลีกับมิตรสหายในแผนกวรรณศิลป์ ได้รู้จักกับนักเขียนนักกิจกรรมหลายคน และได้รับคำแนะนำให้ไปทำหนังสือพิมพ์อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2517 จึงได้ฝึกฝนเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้นและนวนิยายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะได้เขียนคอลัมน์ประจำชื่อ “ช่อมะกอก” ใช้นามปากกา “ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นเรื่องชุดในชื่อ “ตำบลช่อมะกอก”และกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก”ในที่สุด รวมทั้งมีผลงานรวมเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์ต่อเนื่องมาอีก 2 เล่มคือ “นกพิราบสีขาว” (พ.ศ. 2518) และ “กลั่นจากสายเลือด” (พ.ศ. 2519) ทำให้ชื่อเสียงของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นที่รู้จักของคนหนุ่มสาวเดือนตุลา (14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519) อย่างกว้างขวาง
เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเหตุการณ์ 6 ตุลารุนแรงมาก นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยม วัฒน์ วรรลยางกูร ที่ร่วมชุมนุมด้วย จึงต้องหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่า ในช่วงนั้นได้มีโอกาสเขียนเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยายมากมาย และมีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่มคือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม คือ “ข้าวแค้น” (พ.ศ. 2522) กับ “น้ำผึ้งไพร” (พ.ศ. 2523) ส่วนเล่มที่ 3 เป็นนวนิยายชื่อ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (พ.ศ. 2524)
พ.ศ. 2524 หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง วัฒน์ได้กลับคืนสู่เหย้ามาใช้ชีวิตนักเขียน โดยเริ่มต้นที่การประจำทำงานหนังสือพิมพ์มาตุภูมิ ไฮคลาส และถนนหนังสือ หลังจากทำได้ประมาณ 1 ปีก็ลาออกมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว เขียนนวนิยายเรื่อง “คือรักและหวัง” และ “จิ้งหรีดกับดวงดาว” ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา รายปักษ์ เรื่อง“บนเส้นลวด” ตีพิมพ์ในนิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ตีพิมพ์ในบางกอก เรื่อง “เทวีกองขยะ” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ เป็นต้น หลังจากตีพิมพ์ในนิตยสารแล้ว เรื่องเหล่านั้นก็ยังได้รวมเล่มอีกหลายครั้งในโอกาสต่อมา นอกจากนี้ ยังมีผลงานเรื่องสั้น สารคดี และบทสัมภาษณ์ตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ อีกมาก
พ.ศ. 2525 เรื่องสั้นชื่อ ความฝันวันประหาร ได้รับการเลือกสรรจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี หลังจากใช้ชีวิตนักเขียนและช่วยงานนิตยสารหลายฉบับ ได้ไปทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างกับภรรยาที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่ระยะหนึ่ง และวนเวียนกลับไปทำงานนิตยสารอีกครั้งหนึ่ง เป็นคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Good Life เป็นต้น และเนื่องจากเคยแต่งเพลงให้คนอื่นร้องไว้หลายเพลง จึงทดลองแต่งและเป็นนักร้องออกเทปเพลงของตนเองไว้หลายชุด แต่ก็ยังคงยึดงานประพันธ์เรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี สารคดี ความเรียง และอื่น ๆ เป็นหลักเรื่อยมา
พ.ศ. 2550 กองทุนศรีบูรพามอบรางวัลนักเขียนรางวัลศรีบูรพาให้กับวัฒน์[2]
วัฒน์ปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ด้วยการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 5/2557[3] โดยลี้ภัยไปยังยุโรป[4] เนื่องจากถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112
วัฒน์ ป่วยด้วยโรคเนื้องอกในตับ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเบอซ็องซง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเวลาท้องถิ่น 21.30 น. ของวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 สิริอายุ 67 ปี[5]วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นประธานในพิธีฌาปนกิจศพที่กรุงปารีส
เขาสมรสกับ นางอัศนา วรรลยางกูร มีบุตร 3 คน คือ วนะ วรรลยางกูร, วสุ วรรลยางกูร และวจนา วรรลยางกูร
การศึกษา
แก้- พ.ศ. 2505 เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดาวเรือง ปทุมธานี
- พ.ศ. 2508 เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 5 ศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ ลพบุรี
- พ.ศ. 2514 เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี โดยไปเป็นเด็กวัดอยู่ในเมืองลพบุรี สอบตกชั้น ม.ศ.5 เพราะกำลังเริ่มสนใจการประพันธ์อย่างจริงจัง จนต้องเรียนซ้ำชั้น แต่สอบเทียบได้จึงเลิกเรียนและเข้ากรุงเทพฯ
- ต้นปี พ.ศ. 2517 สมัครเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่เรียนอยู่เพียง 2 เดือน ก็เลิกแล้วหันไปทำงานด้านหนังสือพิมพ์จริงจัง
- พ.ศ. 2546 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
ผลงาน
แก้รวมเรื่องสั้น
แก้- นกพิราบสีขาว (2518) เมื่อพิมพ์ครั้งที่สอง เปลี่ยนชื่อเป็น ความหวังเมื่อเก้านาฬิกา (2523)
- กลั่นจากสายเลือด (2519)
- ข้าวแค้น (2522)
- น้ำผึ้งไพร (2523)
- ใต้เงาปืน
- งูกินนา (2529)
- นครแห่งดวงดาว
- ฝุ่นรอฝน (2526)
- ลูกพ่อคนหนึ่ง (ถากไม้เหมือนหมาเลีย) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2530
- กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ (2528)
- เรื่องเล่าอันพร่าเลือน (2532)
- รถไฟสังกะสี ขบวนหนึ่ง ๒๕๑๓-๒๕๒๓ (2532)
- รถไฟสังกะสี ขบวนสอง ๒๕๒๔-๒๕๒๘ (2533)
- นิยายของยาย (รวมเรื่องสั้นชุดจบในตอน 2536)
- สู่เสรี (2539)
- ปลาหมอตายเพราะไม่หายใจ (2549)
นวนิยาย
แก้- ตำบลช่อมะกอก (2519) โครงการรู้จักเพื่อนบ้านของมูลนิธิโตโยต้า คัดเลือกไปแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น
- ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ (2524)
- คือรักและหวัง (2525) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2528
- บนเส้นลวด (2525)
- มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2524) และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2544 โดยผู้กำกับเป็นเอก รัตนเรือง
- จิ้งหรีดกับดวงดาว (2531)
- ปลายนาฟ้าเขียว (2532) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2534
- เทวีกองขยะ (2538)
- ฉากและชีวิต (2539) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2540
- สิงห์สาโท (2543) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2543
- The pickup ขับชีวิตสุดขอบฟ้า (2548)
บทกวี
แก้- ฝันให้ไกลไปให้ถึง (2523) (ใช้ชื่อ “รอยสัก” 2528)
- เงาไม้ลายรวง (2534) เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2534
- กระท่อมเสรีภาพ (2538)
- เสน่หาป่าเขา (2538)
เพลง
แก้- แรงบันดาลใจ (2537)
- ไม่ขาย (2539)
- ดินสอโดมธรรมศาสตร์เด่นสู้ศึก (2544)
สารคดี
แก้- คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน (2541)
- ไขแสง สุกใส ลูกผู้ชายหัวใจไม่ผูกเชือก (2543)
- ป่าเหนือเมื่อดอกไม้บาน (2543,2544)
- หอมดินเคล้ากลิ่นไอฝน (2544)
- นิราศ A 30 ท่องป่าเหนือสุดแดนลาวชมสาวหลวงพระบาง (2546)
- ภูมิปัญญาที่ดื่มได้ (2546)
- บุญเลิศ ช้างใหญ่ คนดีที่กล้าหาญ (2547)
- ทูล ทองใจ เทพบุตรเสียงกังสดาล (2551)
- ชีวิตเพื่อประชาธิปไตย คน 4 คุก ไข่มุกดำ (2551)
ความเรียง และสาระนิยาย
แก้- เสียงเต้นของหัวใจ (2537)
- แรมทางกลางฝุ่น:สาระนิยายชีวิตและความผูกพันหลังพวงมาลัย (2539)
- ไพร่กวี (2554)
อ้างอิง
แก้- ↑ สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
- ↑ "วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ ๑๙ ประจำปี ๒๕๕๐ – กองทุนศรีบูรพา" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ยังอยู่ดี นักเขียนดัง ผู้ปฏิเสธคำสั่งคสช. ไปเป็น "ผู้ลี้ภัยการเมือง"
- ↑ "วัฒน์ วรรลยางกูร กวีไกลบ้าน กับ 5 ปีที่พลัดถิ่น". BBC News ไทย. 2 กรกฎาคม 2019.
- ↑ "วัฒน์ วรรลยางกูร : มิตรสหายร่วมไว้อาลัยการจากไปของวัฒน์ในฝรั่งเศส". BBC News ไทย. 22 มีนาคม 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา คนที่ ๑๙ ประจำปี ๒๕๕๐ เก็บถาวร 1 พฤษภาคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2550
- วัฒน์ วรรลยางกูร กับ ′วันชาติ′ ′นี่เป็นยุคที่แสงสว่างจัดจ้ามาก′.
- ประวัติบนเว็บไซต์ประพันธ์สาส์น
- หนังสือไพบูลย์ บุตรขันของขวัญที่ถูกใจ "สว."