ขบวนการนักศึกษาในประเทศไทย

ขบวนการนักศึกษาในประเทศไทย เป็นพลังการเมืองอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย ค่อย ๆ มีบทบาททางการเมืองจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนเพิ่มขึ้นสูงสุดในเหตุการณ์ 14 ตุลา (2516) มีการขยายตัวเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายร่วมกับองค์การกรรมกรและเกษตรกร และร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา (2519) และการเสื่อมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้ขบวนการนักศึกษาเข้าสู่ยุคถดถอย มีบทบาทเป็นเพียงพันธมิตรของกลุ่มผลประโยชน์อื่น เช่น องค์การนอกภาครัฐ (NGO) หรือกลุ่มผลประโยชน์ของชาวบ้านในท้องถิ่น จนหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ขบวนการนักศึกษากลับมาเป็นพลังที่โดดเด่นในการต่อต้านเผด็จการทหาร

ประวัติ แก้

กำเนิด แก้

 
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม กล่าวต่อนักศึกษาในปี 2483

ตั้งแต่มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นักศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินกิจกรรมที่ไม่เป็นการเมือง และนักศึกษาส่วนน้อยที่ส่งเสริมประชาธิปไตยถูกรัฐปราบปรามอย่างรวดเร็ว[1]: 142  การประท้วงสำคัญครั้งแรกของนักศึกษาเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสในปี 2483[1]: 143  นักศึกษาประมาณ 100 คนเข้าร่วมฝึกกับขบวนการเสรีไทย และพลีชีพในภารกิจหลังแนวข้าศึก[2]: 73  ครั้งที่สองเป็นการชุมนุมของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2492 เพื่อเรียกร้องให้อิทธิพลของกองทัพออกจากมหาวิทยาลัย[1]: 143  สมาชิกฝ่ายซ้าย 200 คนรวมนักศึกษาถูกจับกุมฐานมีส่วนในกบฏสันติภาพ[2]: 73  ช่วงปี 2489–2500 นักศึกษามีการเคลื่อนไหวในระดับปัจเจก เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ แม้แต่นักศึกษาที่ประท้วงการเลือกตั้งสกปรกในปี 2500 ที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้เป็นข้ออ้างรัฐประหาร ก็ถูกจับกุมหลังจากนั้น[1]: 144  แม้ว่าขบวนการนักศึกษาจะเป็นช่วยก่อให้เกิดรัฐประหาร[2]: 74  กิจกรรมจึงกลับไปเป็นไม่เป็นการเมืองอีกครั้ง ยกเว้นกลุ่มนักศึกษาฝ่ายขวาที่รณรงค์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์[1]: 144–5  มีการออกวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในปี 2503 ซึ่งสะท้อนความคิดต่อต้านวัตถุนิยม และสังคมนิยมกับศาสนาพุทธผสมกัน[2]: 75 

บทบาทนำ แก้

ในพทุธทศวรรษ 2510 ช่วงนี้นับเป็นจุดสูงสุดของขบวนการนักศึกษาไทย[2]: 74  อุดมศึกษาขยายตัวอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดชนชั้นกลางใหม่ สุดท้ายประสบความสำเร็จในการโค่นล้มระบอบเผด็จการ ขบวนการนักศึกษาไทยเริ่มเป็นอิสระจากรัฐ และได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยม และขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนามทั่วโลก[1]: 145–6  นอกจากนี้การขจัดระบบรัฐสภาทำให้เปิดพื้นที่ให้กับขบวนการนักศึกษาแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการ[1]: 146  ต้นทศวรรษนั้น ขบวนการนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีพันธมิตรกว้างขวาง นักศึกษามีแนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยม สังคมนิยม ชาตินิยมและกษัตริย์นิยม[1]: 146–7  การเคลื่อนไหวของนักศึกษาค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจากปี 2511 จนสูงสุดในปี 2515[2]: 75  การเคลื่อนไหวที่สำคัญ เช่น การคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นนำโดยธีรยุทธ บุญมี แห่งศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผลทำให้รัฐบาลทหารคิดกำจัดประชากรนักศึกษาประมาณร้อยละ 2 ที่เห็นว่าเป็นนักปฏิวัติ[2]: 75 , การรณรงค์ต่อต้านการล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนของผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหาร ในเหตุการณ์ 14 ตุลา (2516) ขบวนการนักศึกษาสามารถระดมมวลชนได้ถึง 150,000 คน ซึ่งเป็นการชุมนุมใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์[1]: 147  เหตุการณ์นี้แสดงภาพลักษณ์ว่าผลประโยชน์ของนักศึกษาตรงกับผลประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์[2]: 76 

หลังจากนั้นนักศึกษามีบทบาทโดดเด่นมากขึ้น บางส่วนร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและนักสังคมนิยมเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งประเด็นร้อนอย่างการปิดฐานทัพสหรัฐในประเทศ[2]: 76  ในช่วงนี้นักสึกษาจำนวนมากมีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมากขึ้น ขบวนการนักศึกษามีเอกภาพมากขึ้น[1]: 148  ขบวนการนักศึกษามีทั้งขบวนการมูลวิวัติและผลประโยชน์เชิงสถาบันสายกลาง[2]: 76  กลางปี 2519 องค์การนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นฝ่ายซ้ายที่ได้รับอิทธิพลแนวคิดจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แบบลัทธิเหมา[2]: 76  ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง คือ การยกเลิกระบบอาวุโส และเปลี่ยนการจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมหาวิทยาลัยเป็นการจัดค่ายชนบทแทน[2]: 76  ขบวนการนักศึกษาดำเนินการใกล้ชิดกับองค์การแรงงาน และสร้างพันธมิตรระหว่างนักศึกษา กรรมกรและเกษตรกร[2]: 76–7  ฝ่ายขวามีปฏิกิริยาตอบโต้ความก้าวหน้าของกลุ่มฝ่ายซ้าย และถูกโจมตีจากธานินทร์ กรัยวิเชียร[2]: 77 

การถดถอย แก้

หลังการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา (2519) มีนักศึกษากว่า 3,000 คนหนีไปเข้าร่วมกับ พคท. จนกลายเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายใหญ่ที่สุดของไทยขบวนการหนึ่ง[1]: 148  บางส่วนยังเคลื่อนไหวในเขตเมืองเพื่อสนับสนุน พคท. ในช่วงนี้ยังพยายามเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้าง และเคลื่อนไหวในประเด็นอย่างสงครามอินโดจีน ปัญหาผู้อพยพ และปัญหาเศรษฐกิจ[1]: 148 

กิจกรรมของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลธานินทร์ต้องทำอย่างปิดลับ[3]: 147  ขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายในเมืองยังเป็นผู้นำองค์การนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่ได้ แต่ถึงแม้ยังมีบทบาทสูงในการชี้นำประเด็นสังคม แต่กลุ่มต่าง ๆ ขัดแย้งกัน และจากสถานการณ์การเมืองนอกประเทศ ทำให้เกิดความสับสนต่อแนวทางและอุดมการณ์ของ พคท. จนนำสู่สภาพซบเซาในปี 2524–25[3]: 148–9 

ในปี 2527 ขบวนการนักศึกษาปรับรูปแบบแบ่งการเคลื่อนไหวออกเป็น 4 แนวทาง คือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), กิจกรรมอาสาพัฒนาชนบทโดย "สหพันธค่ายอาสาพัฒนาชนบทแห่งประเทศไทย" (คอทส.), การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โดย "คณะกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมระหว่าง 16 สถาบัน" (สคท.) และแนวงานภายในโดย "เครือข่ายสภานักศึกษา"[1]: 158  คอทส. และเครือข่ายสภานักศึกษาแทบไม่มีบทบาททางสังคมและหายไปในที่สุด[3]: 166  สนนท. มีบทบาทรณรงค์ต่อต้านทุจริตในรัฐบาลชาติชาย รณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญปี 2534 ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การนำของนักศึกษาถูกยึดกุมโดยพลตรี จำลอง ศรีเมือง[1]: 159 

มีงานวิจัยตั้งสมมติฐานว่านักศึกษาขาดสำนักทางการเมืองจากแนวคิดปัจเจกนิยม การขยายตัวของทุนนิยมและบริโภคนิยม รวมทั้งระบบการศึกษาไทยที่ปิดกั้น และระบบธุรกิจและสื่อ และตัวแสดงอื่น ๆ ขึ้นมามีบทบาทแทนขบวนการนักศึกษา เช่น พรรคการเมือง องค์การภาคประชาชน ขบวนการสังคมใหม่ ปัญญาชน และสื่อมวลชน ได้ก้าวขึ้นมาแทนที่ขบวนการนักศึกษา[1]: 152, 155  บทบาทนักศึกษาส่วนใหญ่ในช่วงนี้เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในเหตุการณ์การเมืองอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (2535) หรือวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553[1]: 149  ส่วนปัจจัยภายในพบว่าขบวนการนักศึกษาเป็นขบวนการแบบปิด มีระยะเวลาน้อย และมีข้อจำกัดในการขยายฐานมวลชน[1]: 150  นอกจากนี้ยังขาดอุดมการณ์ชี้นำ โดยหันจากอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายมาเป็นอุดมการณ์ขององค์การนอกภาครัฐ (NGO) และนักวิชาการเป็นคน ๆ ไป, มรดกความคิดที่เน้นการเปลี่ยนแปลงจากชนบท และมรดกความคิดที่หวาดกลัวต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐ[1]: 150–1 

ในพุทธทศวรรษ 2540 บทบาทของ สนนท. เป็นการสนับสนุนในปัญหาเฉพาะ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การวางท่อส่งแก๊ส การรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับบทบาททางการเมือง เช่น การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา สิทธิเลือกตั้งของเยาวชน[1]: 160–1  นักศึกษาเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลทักษิณที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยมีปริมาณมากที่สุดนับแต่พฤษภาทมิฬ แต่การเข้าร่วมเป็นไปอย่างอิสระขาดการประสานงาน[1]: 161  สามกลุ่มที่มีบทบาท ได้แก่ สนนท., ศูนย์ประสานงานนักเรียนสินิตนักศึกษา และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง[1]: 162  พรรคสานแสงทองของมหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกมองว่าเป็นเครือข่ายเยาวชนของพรรคประชาธิปัตย์[1]: 162  ความแตกแยกของคณะกรรมการกับเลขาธิการ สนนท. เรื่องการเข้าร่วมกับกลุ่ม พธม. อย่างเด็มตัวทำให้องค์การนักศึกษาหลายแห่งถอนตัวออกไป[1]: 163–4  สนนท. พยายามปรับปรุงโครงสร้างใหม่โดยหันมาทำงานแบบคณะกรรมการตัดสิน และพยายามฟื้นฟูบทบาทด้วยการต่อต้านรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 โดยไม่ค่อยสำเร็จ[1]: 164 

นักศึกษาหลายกลุ่มเข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านรัฐประหาร 2549, ต่อต้านการปราบการชุมนุมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ขณะเดียวกันนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรามคำแหงสนับสนุนกลุ่มต่อต้านทักษิณ ในปี 2556 การชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สามารถระดมกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมที่เข้าถึงได้ง่าย และยังมีการกระจายตัวตามแนวรถไฟฟ้า[1]: 166 

หลังรัฐประหาร 2557 แก้

ขบวนการนักศึกษาหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 มี 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 1. นักศึกษาในกรุงเทพมหานครที่ต่อต้านรัฐประหาร เช่น กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีประชาธิปไตย กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 2. กลุ่มนักศึกษาต่างจังหวัดที่รณรงค์ปัญหาท้องถิ่น เช่น กลุ่มดาวดิน 3. กลุ่มนักเรียนมัธยมที่เน้นประเด็นระเบียบในโรงเรียน เช่น กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท การดำเนินกิจกรรมที่โดดเด่น เช่น การตรวจสอบการทุจริตในอุทยานราชภักดิ์ การรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560[1]: 166–8 

ปัจจัยที่นำไปสู่การฟื้นฟูบทบาทของขบวนการนักศึกษา ได้แก่ การหวนคืนสู่ระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างในอดีต และบทบาทของการแสดงออกของกลุ่มอื่น ๆ ถูกทำให้เงียบลง, การสนับสนุนของนักวิชาการ และสถานภาพเป็นอภิสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย[1]: 170–1  ในช่วงนี้แม้มีเสียงวิจารณ์ว่าขบวนการนักศึกษาเป็นฝันของเด็กไร้เดียงสา หรือปัจจุบันไม่เหมือนเดิม แต่ ผศ. อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ขบวนการการเมืองเก่าอย่าง พธม., แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กปปส. มาถึงทางตัน การใช้กฎหมายปราบปรามขบวนการนักศึกษามักมีเพดานบังคับใช้จำกัด,[4] ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ มองว่าขบวนการนักศึกษาปัจจุบันมีลักษณะเป็นกลุ่มอิสระคล่องตัว ต่างจากการตัดสินใจจากส่วนกลางแบบ ศนท.[4]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 1.23 1.24 1.25 1.26 เลิศชูสกุล, กนกรัตน์ (2561). "การเติบโต ความถดถอย และการฟื้นตัวของขบวนการนักศึกษาไทย". พัฒนศาสตร์. 1 (1).
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 Sripokangkul, Siwach (2019). "Understanding the Social Environment Determinants of Student Movements: A Consideration of Student Activism in Thailand And The Thai "Social Cage"". IJPAS. 15 (1).
  3. 3.0 3.1 3.2 ชมสินทรัพย์มั่น, ภาคิไนย์. "ขบวนการนักศึกษาไทย: วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยในเมืองช่วงระหว่าง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2531". การเมือง การบริหาร และกฎหมาย. 4 (2).
  4. 4.0 4.1 มองข้ามยุคสมัย ‘ขบวนการนักศึกษา’ ในความเงียบยังมีการเคลื่อนไหว