ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ย่อ: ป.พ.พ.) เป็นประมวลกฎหมายแพ่ง อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ (substantive law) แห่งประเทศไทย เริ่มร่างครั้งแรกใน ร.ศ. 127 ตรงกับ พ.ศ. 2451 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญาเมื่อปีเดียวกัน เพื่อริเริ่มขอยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำไว้กับต่างประเทศอันมีผลให้สยามต้องเสียเปรียบในด้านสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเอกราชทางการศาล[1]
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ | |
---|---|
พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42/หน้า 1/11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ผู้ตรา | • บรรพ 1 : สภานิติบัญญัติแห่งชาติ • บรรพ 2 : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว • บรรพ 3 และ 4 : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว • บรรพ 5 : รัฐสภาไทย • บรรพ 6 : สภาผู้แทนราษฎรไทย |
ผู้ลงนาม | • บรรพ 1 และ 5 : พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร • บรรพ 2 : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว • บรรพ 3 และ 4 : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว • บรรพ 6 : คณะผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (อนุวัตรจาตุรนต์, อาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช) |
วันลงนาม | • บรรพ 1 : 31 มีนาคม 2535 • บรรพ 2 : 11 พฤศจิกายน 2468 • บรรพ 3 : 1 มกราคม 2471 • บรรพ 4 : 16 มีนาคม 2473 • บรรพ 5 : 5 ตุลาคม 2519 • บรรพ 6 : 5 มิถุนายน 2478 |
ผู้ลงนามรับรอง | • บรรพ 1 : อานันท์ ปันยารชุน (นายกรัฐมนตรี) • บรรพ 2, 3 และ 4 : — (สมบูรณาญาสิทธิราชย์) • บรรพ 5 : เสนีย์ ปราโมช (นายกรัฐมนตรี) • บรรพ 6 : พระยาพหลพลพยุหเสนา (นายกรัฐมนตรี) |
วันประกาศ | • บรรพ 1 : 8 เมษายน 2535 • บรรพ 2 : 11 พฤศจิกายน 2468 • บรรพ 3 : 1 มกราคม 2471 • บรรพ 4 : 18 มีนาคม 2473 • บรรพ 5 : 15 ตุลาคม 2519 • บรรพ 6 : 7 มิถุนายน 2478 |
วันเริ่มใช้ | • บรรพ 1 : 7 มิถุนายน 2535 • บรรพ 2 : 1 มกราคม 2468 • บรรพ 3 : 1 เมษายน 2471 • บรรพ 4 : 1 เมษายน 2473 • บรรพ 5 : 16 ตุลาคม 2519 • บรรพ 6 : 1 ตุลาคม 2478 |
ท้องที่ใช้ | ทั่วประเทศไทย ยกเว้น ปัตตานี, นราธิวาส, ยะลา และ สตูล สำหรับ บรรพ 5 และ 6 โดยให้ใช้กฎหมายชาริอะห์แทน |
ผู้รักษาการ | • นายกรัฐมนตรี • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย |
ภาพรวม | |
กฎหมายสารบัญญัติ ประเภทกฎหมายเอกชน ว่าด้วย กฎหมายบุคคล (บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล), กฎหมายนิติกรรมและสัญญา, กฎหมายหนี้ (หนี้โดยนิติกรรม และ หนี้โดยนิติเหตุ เช่น ละเมิด, จัดการงานนอกสั่ง และ ลาภมิควรได้ ฯลฯ), กฎหมายทรัพย์สิน (ทรัพยสิทธิ และ กรรมสิทธิ์ ฯลฯ), กฎหมายครอบครัว (หมั้น, สมรส, บิดามารดากับบุตร ฯลฯ) และ กฎหมายมรดก | |
เว็บไซต์ | |
ดูรายการเว็บไซต์ |
การจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยนั้นมี ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (Bürgerliches Gesetzbuch) และประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น (民法) เป็นแม่แบบหลัก กับทั้งมีประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส (Code civil des Français) และประมวลกฎหมายแพ่งสวิส (Zivilgesetzbuch) เป็นแม่แบบรอง ประกอบกับกฎหมายเดิมของสยามเอง กับทั้งกฎหมายของชาติอื่น ๆ และกฎหมายระหว่างประเทศอีกประปราย[2] โดยงานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เฉพาะการร่างบรรพแรกจากที่วางโครงการไว้ทั้งหมดหกบรรพนั้น ก็กินเวลานานถึงสิบห้าปี ใช้งบประมาณมหาศาล และมีการเปลี่ยนคณะกรรมการร่างถึงสี่ชุด ทุกชุดมีชาวฝรั่งเศสเป็นสมาชิก โดยเฉพาะชุดแรกเป็นชาวฝรั่งเศสทั้งหมด หลังจากนั้นจึงเริ่มทยอยร่างและประกาศใช้บรรพอื่น ๆ จนครบ ทั้งหมดกินเวลากว่าสามสิบปี ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมาจนปัจจุบันตามสถานการณ์
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีโครงสร้างแบ่งเป็นหกบรรพ ประกอบด้วย บรรพ 1 หลักทั่วไป, บรรพ 2 หนี้, บรรพ 3 เอกเทศสัญญา, บรรพ 4 ทรัพย์สิน, บรรพ 5 ครอบครัว และบรรพ 6 มรดก ตามลำดับ โดยตั้งแต่เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรกใน พ.ศ. 2468 จวบจนถึงบัดนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว
ประวัติ
แก้มูลเหตุแห่งการจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมือง
แก้กลางพุทธศตวรรษที่ 24 ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศสยามต้องผจญอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม จนที่สุดหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน รวมถึงสยามเองก็จำต้องยอมรับนับถือเอาแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ของตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศตน โดยเฉพาะด้านการเมืองการปกครองของสยามนั้น ชาวตะวันตกต่างดูถูกดูแคลนว่าพระราชกำหนดบทพระอัยการกฎหมายตราสามดวงมีความล้าหลัง ป่าเถื่อน ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ยอมให้ใช้กฎหมายเหล่านั้นแก่ตนเป็นอันขาด เป็นเหตุให้สยามจำต้องทำสนธิสัญญาเสียเปรียบกับชาติตะวันตกหลายประเทศยอมยกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ชาวต่างชาติ[1]
ประเทศสยามจึงเริ่มรับหลักกฎหมายในระบบคอมมอนลอว์ของประเทศอังกฤษเข้ามาใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีในกรณีที่กฎหมายตราสามดวงไม่ครอบคลุมหรือไม่เหมาะสม กับทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายที่สอนกฎหมายระบบคอมมอนลอว์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งวิวัฒนามาเป็นคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ครั้งนั้นกฎหมายตรามสามดวงก็ยังคงเป็นระบิลเมืองอยู่[3]
และเพื่อให้มีกฎหมายที่ใหม่และทันสมัยสำหรับเป็นเงื่อนไขสำคัญให้สยามหลุดพ้นจากความเสียเปรียบในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้มีการจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองดุจชาติตะวันตกทั้งหลาย ดังพระราชปรารภว่า[4]
"...ในระหว่างตั้งแต่จุลศักราช 1217 ปีเถาะ สัปตศก รัตนโกสินทรศก 74 ประเทศไทยได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ และหนังสือสัญญาทั้งปวงนั้นได้ทำตามแบบหนังสือสัญญาที่ฝรั่งได้ทำกับประเทศทางตะวันออก คือ ประเทศเตอรกี ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น มีข้อความอย่างเดียวกันที่ยอมให้กงสุลมีอำนาจตั้งศาลพิจารณาและพิพากษาคดีตามกฎหมายของเขา ในเมื่อคนในบังคับของชาตินั้น ๆ ที่เข้ามาอยู่ในประเทศทางตะวันออกเป็นความกันขึ้นเองหรือเป็นจำเลยของคนในบังคับของบ้านเมือง ลักษณการอย่างนี้ แม้จะมีประโยชน์ที่บรรเทาความรับผิดชอบแห่งเจ้าของประเทศได้อยู่บ้างในสมัยเมื่อแรกทำหนังสือสัญญา เวลายังมีชาวต่างประเทศพึ่งเข้ามาค้าขาย แต่ต่อมาเมื่อการค้าขายคบหากับนานาประเทศเจริญแพร่หลาย มีชาวต่างประเทศมาตั้งประกอบการค้าขายในพระราชอาณาจักรมากขึ้น ความลำบากในเรื่องคดีที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับต่างประเทศก็ยิ่งปรากฏเกิดมีทวีมากขึ้นทุกที เพราะเหตุที่คนทั้งหลายอันประกอบการสมาคมค้าขายอยู่ในประเทศบ้านเมืองอันเดียวกันต้องอยู่ในอำนาจศาลและในอำนาจกฎหมายต่าง ๆ กันตามชาติของบุคคล กระทำให้เป็นความลำบากขัดข้องทั้งในการปกครองบ้านเมืองและกีดกันประโยชน์ของคนทั้งหลายตลอดจนชนชาติต่างประเทศนั้น ๆ เองอยู่เป็นอันมาก ความลำบากด้วยเรื่องอำนาจศาลกงสุลเช่นว่ามานี้ย่อมมีทุกประเทศที่ได้ทำสัญญาโดยแบบอย่างอันเดียวกัน และต่างมีความประสงค์อย่างเดียวกันที่จะหาอุบายเลิกล้างวิธีศาลกงสุลต่างประเทศ ให้คนทั้งหลายไม่ว่าชาติใด ๆ บรรดาอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้รับประโยชน์อยู่ในอำนาจกฎหมายและอำนาจศาลสำหรับบ้านเมืองแต่อย่างเดียวทั่วกัน..."
สมยศ เชื้อไทย รองศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลสยามตัดสินใจจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองในครั้งนั้นว่า เป็นการพลิกระบบกฎหมายที่ใช้อยู่ในครั้งนั้นจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบบคอมมอนลอว์ที่กฎหมายมาจากบรรทัดฐานที่ศาลกำหนด ไปเป็นระบบซีวิลลอว์ ที่กฎหมายมาจากกระบวนการนิติบัญญัติ โดยกล่าวว่า[5]
"...การตัดสินใจทำประมวลกฎหมายครั้งนี้นับว่ามีความหมายในทางประวัติศาสตร์กฎหมายของไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนระบบกฎหมายจากการรับกฎหมายอังกฤษเข้ามาใช้ ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ...มีความหมายว่าประเทศไทยหันเหจากการรับระบบคอมมอนลอว์ของอังกฤษมาใช้ เปลี่ยนไปรับระบบซีวิลลอว์ซึ่งเป็นระบบกฎหมายของภาคพื้นยุโรปที่มีนิติวิธีที่แตกต่างและตรงกันข้ามกับระบบคอมมอนลอว์ การที่ประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบกฎหมายหนึ่งไปอีกระบบหนึ่งทีเดียว..."
การเริ่มจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แก้หลังจากรัฐบาลสยามตัดสินใจจัดทำประมวลกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ใน ร.ศ. 127 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2451 ก็ได้กฎหมายลักษณะอาญาเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของประเทศและประกาศใช้ในปีนั้นเอง ครั้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้จัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป ดังปรากฏในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า[6]
"กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้อยู่ในเวลานี้ยังกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง สมควรจะนำมารวบรวมไว้แห่งเดียวกันและจัดเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สมแก่กาลสมัย ความเจริญ และพาณิชยกรรมแห่งบ้านเมือง และความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ส่วนหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งศาลยุติธรรมได้เคยยกขึ้นปรับสัตย์ตัดสินคดีเนือง ๆ มาโดยธรรมเนียมประเพณีอันควรแก่ยุติธรรมนั้น สมควรจะบัญญัติไว้ให้เป็นหลักฐานและกิจการบางอย่างในส่วนแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งไม่มีกฎหมายที่ใช้อยู่ในบัดนี้ ก็ควรจะบัญญัติขึ้นไว้ด้วย...ทางที่จะให้ถึงซึ่งผลอันนี้ ควรจะประมวลและบัญญัติบทกฎหมายที่กล่าวมาแล้วเข้าเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามแบบอย่างซึ่งประเทศอื่น ๆ ได้ทำมา..."
พระองค์โปรดให้ตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสล้วน ๆ ทั้งนี้ เหตุว่าอิทธิของฝรั่งเศสยังมีเหนือสยามอย่างมากในสมัยนั้น ไทยจึงจำต้องยอมตั้งชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ร่างกฎหมาย[7] โดยคณะกรรมการร่างกฎหมายประกอบด้วย[8]
ที่ | ชาติ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1. | ฝรั่งเศส | ชอร์ช ปาดู (Georges Padoux) | ประธานกรรมการ |
2. | ฝรั่งเศส | โมรีซ อองรี ลูอี เลอกงป์-มงชาร์วีย์ (Maurice Henri Louis Lecompte-Moncharville) | กรรมการ |
3. | ฝรั่งเศส | เรอเน กียง (René Guyon) | กรรมการ |
4. | ฝรั่งเศส | ลูอี รีวีแยร์ (Louis Rivière) | กรรมการ |
5. | ฝรั่งเศส | แซ็กนิตซ์ (Segnitz) | กรรมการ |
6. | ฝรั่งเศส | ลาฟอร์กาด (Laforcade) | กรรมการ |
7. | ฝรั่งเศส | ชาร์ล เลแว็ก (Charles L'Evêques) | กรรมการ |
คณะกรรมการชุดดังกล่าวเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. 2451 นั้นเอง โดยวางโครงสร้างทั่วไปของประมวลกฎหมาย ก่อนจะประชุมหารือกันว่าจะจัดทำเป็นประมวลกฎหมายสองฉบับ ประมวลฉบับแรกว่าด้วยเรื่องหนี้ อีกฉบับว่าด้วยเรื่องอื่น เช่นที่เป็นอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศตูนีเซีย และประเทศโมรอกโก หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าให้จัดทำเป็นประมวลกฎหมายฉบับเดียวที่ว่าด้วยเรื่องทางแพ่งและพาณิชย์ทั้งหมดจะเหมาะสมกว่า[9] แล้วจึงเริ่มลงมือร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้แก่ราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 ชอร์ช ปาดู เดินทางกลับไปยุโรปและได้แนะนำเดแลสเตร (Délestrée) แก่ทางการไทยให้รับหน้าที่แทนตน ปรากฏว่าเดแลสเตรผู้นี้ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะดำเนินการยกร่าง ซ้ำเขายังรื้อโครงการที่ชอร์ช ปาดู และคณะทำไว้ก่อนหน้า ทำให้ร่างประมวลกฎหมายเกิดความอลเวง และการดำเนินงานเป็นไปโดยเชื่องช้าอย่างถึงที่สุด เมื่อชอร์ช ปาดู เดินทางกลับมาใน พ.ศ. 2459 ถึงกับตกตะลึงที่รับทราบว่างานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยุ่งเหยิงถึงเพียงนั้น ทั้งที่ตนได้วางระเบียบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว เขาถึงเจรจราให้เดแลสเตรลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเสีย เพื่อเขาจะได้กลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้ง และแล้ว งานร่างประมวลกฎหมายก็ดำเนินต่อไป และใน พ.ศ. 2459 นั้นเอง จึงได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สองบรรพแรก คือ บรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 หนี้[10] ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลสยามต้องสูญเสียงบประมาณไปถึง 770,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินมหาศาลในกาลครั้งนั้น แต่กลับได้ร่างกฎหมายเพียงแค่สองบรรพ[11]
เนื่องจากร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะแปลเป็นภาษาไทย ร่างทั้งสองบรรพนั้นจึงได้รับการส่งต่อมาให้แก่คณะกรรมการตรวจภาษา ซึ่งประกอบด้วย[8]
ที่ | ชาติ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1. | สยาม | หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร | ประธานกรรมการ |
2. | สยาม | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ | กรรมการ |
3. | สยาม | หลวงสกลสัตยาทร (ทองบุ๋น บุญยมานพ) | กรรมการ |
4. | อังกฤษ | พระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) (Jens Iverson Westengard) | กรรมการ |
5. | อังกฤษ | สกินเนอร์ เทอร์เนอร์ (Skinner Turner) | กรรมการ |
6. | ญี่ปุ่น | พระยามหิธรมนูปกรณ์โกศลกุล (โทะกิชิ มะซะโอะ) (政尾藤吉, Tokichi Masao) | กรรมการ |
7. | ศรีลังกา | พระยาอรรถการประสิทธิ์ (วิลเลียม แอลเฟรด คุนะทีเลกี) (William Alfred Kunatelake) | กรรมการ |
โดยกรรมการตรวจภาษาซึ่งเป็นชาวสยามนั้น ทรงเป็นและเป็น "เปรียญเก้าประโยค" ทุกพระองค์และคน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สำหรับบัญญัติศัพท์กฎหมายใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมายไทยเป็นการเฉพาะ[12]
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมของคณะกรรมการชุดนี้มีความแตกแยกกันทางความคิดเห็นอย่างรุนแรง หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ทรงเกรงว่าหากดำเนินการประชุมต่อไปจะเกิดบาดหมางกันใหญ่โต จึงทรงสั่งเลิกประชุม และไม่มีการประชุมอีกเป็นระยะหนึ่ง[13] จนกระทั่งหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ. 2451 นั้น โดยสาเหตุคาดว่ามาจากความขัดแย้งดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ และรับหน้าที่ประธานคณะกรรมการชุดนี้ต่อไป[14]
คณะกรรมการร่างกฎหมายชุดที่สอง
แก้ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้คณะกรรมการร่างกฎหมายที่ประกอบด้วยชาวฝรั่งเศสทั้งหมดพ้นจากตำแหน่ง และทรงแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อจัดการกับร่างเดิมทั้งสองบรรพให้เรียบร้อย ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้[15] และมีการกำหนดอัตราเงินเดือนกรรมการยกร่างชุดนี้ไว้อย่างชัดเจนด้วย โดยกรรมการชาวต่างประเทศให้ได้รับเงินเดือนอย่างสูงเดือนละ 1,800 บาท หากได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการแล้วจะได้เดือนละ 2,000 บาท ขณะที่กรรมการฝ่ายสยามได้เดือนละ 400 บาทเฉพาะเดือนที่ปฏิบัติหน้าที่[16]
ที่ | ชาติ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1. | สยาม | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ | ประธานกรรมการ |
2. | สยาม | มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) | กรรมการ |
3. | สยาม | พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (จิตร ณ สงขลา) | กรรมการ |
4. | สยาม | พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) | กรรมการ |
5. | ฝรั่งเศส | เรอเน กียง (René Guyon) | กรรมการ |
6. | ฝรั่งเศส | ลาฟอร์กาด (Laforcade) | กรรมการ |
7. | ฝรั่งเศส | ชาร์ล เลแว็ก (Charles L'Evêques) | กรรมการ |
แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดใหม่ เรอเน กียง บันทึกว่า[17]
"จุดหมายของผู้ร่างนั้น ในสาระสำคัญก็คือ ร่างกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ผู้ร่างจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ตกหลุมพรางของการคัดลอกบทบัญญัติของกฎหมายต่างประเทศแล้วนำมาดัดแปลงเอาอย่างเพียงผิวเผิน ไม่ว่าบทกฎหมายต่างประเทศนั้น ๆ จะประเสริฐเลิศเลอเพียงใดก็ตาม สำหรับการร่างกฎหมายแต่ละลักษณะ ๆ นั้น ผู้ร่างจะเริ่มต้นด้วยการศึกษาเรื่องนั้น ๆ อย่างกว้าง ๆ ก่อนโดยดูจากตัวบทกฎหมายของสยามที่มีอยู่ (พระราชบัญญัติ หรือคำพิพากษา) และจากประมวลกฎหมายสำคัญ ๆ ของต่างประเทศ เช่น ในแง่ของความชัดเจนจะดูจากประมวลกฎหมายฝรั่งเศส หลักกฎหมายบางอย่างดูจากกฎหมายอังกฤษบางฉบับซึ่งนักกฎหมายสยามส่วนมากรู้จักเป็นอย่างดี ในแง่ของบทบัญญัติที่สะดวกในการใช้และทันสมัยจะดูจากประมวลกฎหมายของสวิสและญี่ปุ่น ในแง่ของความกระชับรัดกุมด้วยเทคนิคทางกฎหมายก็จะดูจากประมวลกฎหมายเยอรมัน นอกจากนั้นก็ยังได้นำเอาข้อเปลี่ยนแปลงแก้ไขที่ได้มีขึ้นในกฎหมายของอิตาลี เบลเยียม ฮอลันดา และบางรัฐ[18] ในอเมริกามาเป็นข้อพิจารณาด้วย ในกรณีที่มีทางที่จะบัญญัติเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปได้หลาย ๆ แนวทาง คณะกรรมการจะเลือกแนวทางที่มีผลในทางปฏิบัติมากที่สุดสอดคล้องกับความจำเป็นสมัยใหม่ที่สุด ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และภูมิปัญญาของประเทศที่ได้มีประมวลกฎหมายมาก่อน มากกว่าที่จะลอกเลียนตาม ๆ กันไปดังเป็นทาสทางปัญญา..."
แม้จะมีการวางแนวทางไว้เช่นนั้น ทว่า การดำเนินงานก็มิใช่ง่าย เนื่องจากในการหยิบยกบทกฎหมายของไทยแต่เดิมขึ้นมาพิจารณาประกอบนั้น ตัวบทกฎหมายทางวิธีพิจารณาความและทางอาญามีมากกว่าทางแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับใน พ.ศ. 2462 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ได้ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ได้รับตำแหน่งแทน[19] อนึ่ง ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหลายคณะจนเฝือ เช่น คณะกรรมการช่วยยกร่าง คณะกรรมการตรวจคำแปลให้ถูกต้องทั้งด้านกฎหมายและการใช้ภาษา[20] เป็นผลให้งานร่างกฎหมายเป็นไปอย่างติด ๆ ขัด ๆ และการติดต่อประสานงานกันระหว่างคณะกรรมการทั้งหลายเป็นไปอย่างล่าช้า มีความคืบหน้าน้อยมาก[21]
คณะกรรมการร่างกฎหมายชุดที่สาม
แก้เมื่อเห็นว่าการจัดทำประมวลกฎหมายในประเทศสยามไม่คืบหน้า ใน พ.ศ. 2465 รัฐบาลฝรั่งเศสจึงเรียกร้องให้ไทยเร่งปรับปรุงระบบกฎหมายภายในประเทศอย่างไม่ชักช้าด้วยการจัดตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้นทำหน้าที่เฉพาะโดยกำหนดให้เป็นเงื่อนไขที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามเพื่อขอเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในปีถัดมา (พ.ศ. 2466) พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ยกฐานะคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นเป็นกรมร่างกฎหมาย สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจหน้าที่ร่างกฎหมายแต่โดยลำพัง และให้มีคณะกรรมการร่างกฎหมายชุดใหม่ ประกอบด้วย[22]
ที่ | ชาติ | ชื่อ | ตำแหน่ง |
---|---|---|---|
1. | สยาม | เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) | ประธานกรรมการ |
2. | สยาม | มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) | กรรมการ |
3. | สยาม | พระยาจินดาภิรมย์ราชสภาบดี (จิตร ณ สงขลา) | กรรมการ |
4. | สยาม | พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) | กรรมการ |
5. | สยาม | พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) | กรรมการ |
6. | ฝรั่งเศส | เรอเน กียง (René Guyon) | กรรมการ |
7. | ฝรั่งเศส | อองรี เรมี เดอ ปล็องเตอโรส (Henri Rémy de Planterose) | กรรมการ |
8. | ฝรั่งเศส | เรอเน กาโซ (René Cazeau) | กรรมการ |
การประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพแรก และคณะกรรมการร่างกฎหมายชุดที่สี่
แก้การดำเนินงานโดยเอกัตภาพของกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การตรวจชำระร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 เสร็จสิ้นลงใน พ.ศ. 2466 ทว่า ร่างทั้งสองกลับมิใช่ร่างที่สมบูรณ์แบบ เพราะเดิมนั้นจัดทำเป็นภาษาอังกฤษก่อนจะแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็แปลมาตรงตัวเลยทีเดียว กรรมการร่างกฎหมายฝ่ายที่เป็นชาวสยามอ่านแล้วไม่เข้าใจ คณะกรรมการร่างกฎหมายจึงลงมติว่าควรจัดพิมพ์และแจกจ่ายร่างฉบับดังกล่าวให้บรรดาผู้พิพากษาสุภาตุลาการทนายความและนักกฎหมายทั้งหลายได้อ่านเสียก่อน เพื่อหยั่งฟังเสียงดูความเห็นของพวกเขา[23]
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 หลักทั่วไป และบรรพ 2 หนี้ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 แต่ให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม ปีถัดไป (พ.ศ. 2467) ปรากฏว่าประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะหมู่ผู้พิพากษาและทนายความวิพากษ์วิจารณ์ว่า "อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง"[24]
ใน พ.ศ. 2523 พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) หนึ่งในกรรมการร่างกฎหมาย ในวัย 90 ปี เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้การประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แค่บรรพแรก ๆ กินเวลาถึง 15 ปี ซ้ำยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ภายหลังอีก ว่า[25]
"...ตอนที่ทำโค๊ดแพ่ง ฝรั่งเขาขอเป็นผู้ร่างให้...เขาเสนอแบบ 3 บรรพอย่างโค๊ดฝรั่งเศส ร่างกันอยู่เป็นนานก็ยังไม่แล้วสักที จนกระทั่งผมกลับจากอังกฤษ ก็ยังไม่แล้ว...ผมได้อ่านร่างกฎหมายแล้วรู้สึกว่าไม่เข้าใจ เขียนกฎหมายไม่กินเกลียวกัน...เวลานั้นในหลวงทรงแต่งตั้งกรรมการที่เป็นเจ้านายมาเป็นกรรมการตรวจศัพท์ภาษา กรรมการท่านอ่านก็ไม่เข้าใจ แต่ไม่ได้ว่าอะไร ก็ในสมัยนั้นเรายังกลัวฝรั่งเศสอยู่เพราะมีอำนาจมาก เมื่ออ่านไม่เข้าใจ ในหลวงท่านก็ถามผมว่าจะเอาอย่างไร ที่สุดผมจึงทูลในหลวงว่า ชุดนี้เห็นจะไม่ได้การ เห็นสมควรให้มีการเปลี่ยนกรรมการร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งอันที่จริงแล้ว คนที่มาเขียนกฎหมายให้เรานั้นมือยังไม่ถึงขั้น เวลาเขียนไปมันเลยไม่กินเกลียวกัน ในที่สุด กรรมการร่างกฎหมายต้องออกเกือบหมด เพราะเหตุที่ร่างแล้วยุ่งกันไปหมด..."
และแล้ว ใน พ.ศ. 2466 นั้นเอง ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 โดยชุดนี้ประกอบด้วย มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) และเรอเน กียง (René Guyon) คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษากันเพื่อหาวิธีการให้งานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดำเนินไปโดยตลอดรอดฝั่ง ซึ่งครั้งนั้น พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) เสนอว่า จากเดิมที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสซึ่งมี 3 บรรพ เป็นแม่แบบ ควรเปลี่ยนมาใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันเป็นแม่แบบแทน ด้วยการลอกประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่นที่ยกร่างโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันเป็นแม่แบบก่อนแล้ว ประกอบกับการใช้ประมวลกฎหมายแพ่งสวิสเป็นแม่แบบอีกฉบับหนึ่ง แต่เพื่อไม่ให้เสียไมตรีกับทางฝรั่งเศส จึงนำเอาบทบัญญัติบางช่วงบางตอนจากประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสและจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับเดิมที่ประกาศใน พ.ศ. 2466 มาประกอบด้วย[2] ที่สุดก็ได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพแรก ๆ ที่สมบูรณ์ใน พ.ศ. 2468
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชกฤษฎีกาโดยพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ประกาศไว้แต่เดิมเสียสิ้น และให้ใช้ฉบับที่ได้ตรวจชำระใหม่แทน ตามที่ปรากฏในพระราชปรารภว่า[26]
"จำเดิมแต่ได้ออกประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 แต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2466 เป็นต้นมา ได้มีความเห็นแนะนำมากหลายเพื่อยังประมวลกฎหมายนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
และเมื่อได้พิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว เห็นเป็นการสมควรให้ตรวจชำระบทบัญญัติในบรรพ 1 และ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นใหม่
จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า บทบัญญัติเดิมในบรรพ 1 และ 2 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ประกาศไว้แต่ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2466 นั้น ให้ยกเลิกเสียสิ้น และใช้บทบัญญัติที่ได้ตรวจชำระใหม่ต่อท้ายพระราชกฤษฎีกานี้แทนสืบไป
อนึ่ง หยุด แสงอุทัย ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เหตุผลอีกประการหนึ่งของการยกเลิกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 เดิม ก่อนให้ใช้ที่ตรวจชำระใหม่นั้น ว่า[27]
"...เมื่อได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ถูกยกเลิกมาเปรียบเทียบกับกฎหมายปัจจุบัน ก็ปรากฏว่า กฎหมายเก่าได้ร่างขึ้นโดยเทียบเคียงจากกฎหมายฝรั่งเศสและสวิสซึ่งใช้หลัก 'สัญญา' เป็นหลักทั่วไป ซึ่งอาจถือได้ว่าล่วงพ้นสมัย ส่วนกฎหมายปัจจุบันนั้นใช้หลัก 'นิติกรรม' เป็นหลักทั่วไป โดยเทียบมาจากกฎหมายเยอรมันและญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายที่ทันสมัยกว่า เพราะได้บัญญัติขึ้นหลังกฎหมายฝรั่งเศสตั้งเกือบร้อยปี นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ามีข้อขาดตกบกพร่องในกฎหมายเก่าอีกมาก แต่ทั้งนี้ ไม่ควรจะถือว่าการทำประมวลกฎหมายฉบับที่ถูกยกเลิกไม่อำนวยประโยชน์เสียเลย เพราะได้ทำให้การทำประมวลกฎหมายแพ่ง บรรพ 1 และบรรพ 2 ฉบับปัจจุบัน สำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น"
สอดคล้องกับที่ สมยศ เชื้อไทย รองศาสตราจารย์คณะเดียวกัน แสดงความคิดเห็นว่า[28]
"การเปลี่ยนแปลงครั้งหลังนี้มีข้อสังเกตว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการตัดสินใจเปลี่ยนจากการใช้ประมวลกฎหมายตามอย่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ซึ่งระบบประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสและของเยอรมันแม้ต่างก็เป็นระบบซีวิลลอว์ด้วยกัน แต่ก็ยังมีนิติวิธีที่แตกต่างในข้อสำคัญหลายประการ ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันได้รับอิทธิพลจากสำนักประวัติศาสตร์ (Historical School) ซึ่งสำนักนี้ถือว่าส่วนสำคัญของกฎหมายนั้นมาจากขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันจึงเน้นความสำคัญของจารีตประเพณี ตรงกันข้ามกับฝรั่งเศส ซึ่งถือกฎหมายลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญและมีความคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อจารีตประเพณี จะใช้จารีตประเพณีมาชี้ขาดตัดสินได้ก็เฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะประมวลกฎหมายของฝรั่งเศสได้รับอิทธิพลมาจากสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School) และความคิดของกระบวนการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมือปี ค.ศ. 1789"
การจัดทำและประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพอื่น ๆ
แก้ภายหลังจากการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และบรรพ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พร้อมกับการประกาศใช้บรรพ 3 ในเวลาเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2468 กรมร่างกฎหมายซึ่งวิวัฒนามาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันก็รับหน้าที่ร่างประมวลกฎหมายสืบต่อมา โดยในการร่างบรรพอื่น ๆ นั้น แม้จะมีประมวลกฎหมายแพ่งของชาติอื่น ๆ ในระบบซีวิลลอว์เป็นแม่แบบ แต่หลักกฎหมายของระบบคอมมอนลอว์ที่เคยใช้อยู่แต่เดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ การรับกฎหมายของต่างชาติเข้าหาได้หยิบยกมาทั้งหมด ทว่า ได้ปรับให้เหมาะสมกับสังคมไทย[29] ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเป็นแนวทางไว้ในพระราชพิธีเปิดรัฐมนตรีสภา เมื่อวันที่ 24 มกราคม ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) ว่า[30]
"...บางทีก็มีอยู่เนือง ๆ ที่ท่านทั้งหลายจะต้องค้นหาเทียบเคียงกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเมืองต่างประเทศแลหัวเมืองของเมืองต่างประเทศทั้งหลายที่มีเฉพาะสำหรับกับบ้านเมืองเราอยู่นี้เป็นสำคัญเป็นนิตย์ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลงฤๅจะจัดการแก้ไขธรรมเนียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ให้ใหม่ไปหมดสิ้นทีเดียว แลไม่ควรที่จะหลับตาเอาอย่างทำตามธรรมเนียมที่มีในที่อื่น หากว่าเราจะต้องค่อย ๆ ทำการให้ดีขึ้นโดยลำดับในการที่เป็นสิ่งต้องการจะจัดให้ดีแล้ว แลเลิกถอนแต่สิ่งที่เห็นเป็นแน่แท้ว่าไม่ดีฤๅเป็นของใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น ทุกเมืองอื่น ๆ แลในเมืองนี้เป็นสำคัญทั้งสิ้นย่อมมีธรรมเนียมหลายอย่างซึ่งเป็นที่จะต้องนับถือกัน ไม่ใช่เพราะว่าเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่โบราณเสมอกับอายุของประเทศอย่างเดียว หากเพราะว่าเป็นธรรมเนียมที่สนิทแน่นแฟ้นแก่น้ำใจและความเชื่อมั่นของอาณาประชาชน แลเพราะว่าถ้าจะเลิกถอนธรรมเนียมเช่นนี้เสียแล้ว ก็จะไม่เป็นแต่เพียงที่จะเป็นภัยเกิดขึ้นแก่เมืองที่ตั้งอยู่ได้อย่างเดียว หากกระทำให้อาณาประชาราษฎร์ไม่เป็นผาสุกด้วย..."
ดังนั้น ในการจัดทำประมวลกฎหมายในครั้งนั้น คณะกรรมการร่างกฎหมายจึงคำนึงเสมอว่าบทบัญญัติแต่ละเรื่องเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยหรือไม่ โดยเฉพาะในการร่างบรรพ 4 ว่าด้วยครอบครัว และบรรพ 5 ว่าด้วยมรดก ต้องใคร่ครวญกันอย่างหนักทีเดียวเพราะครอบครัวตะวันตกและครอบครัวไทยนั้นต่างกันราวกับหน้ามือหลังมือ หลาย ๆ เรื่องจำต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยไปจากเดิมก็ได้พยายามให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด เช่น การรับหลักการเรื่องผัวเดียวเมียเดียว (monogamy) เข้ามา ก็เพียงกำหนดว่าการจดทะเบียนสมรสซ้อน (bigamy) เป็นโมฆะ แต่ไม่ถึงกับเป็นความผิดอาญาเช่นในหลาย ๆ ประเทศ[31] และหลาย ๆ เรื่องก็รับเอาคุณธรรมของมนุษย์มาจากกฎหมายตราสามดวงมาโดยตรงทีเดียว ซึ่งไม่ปรากฏในกฎหมายของชาติใดอีกแล้ว เป็นต้นว่า ในเรื่องคดีอุทลุม ที่เป็นหลักการของความกตัญญูต่อบุพการีและผู้มีพระคุณ โดยกฎหมายตราสามดวง พระไอยการลักษณะรับฟ้อง มาตรา 25 บัญญัติว่า[32]
"ผู้ใดเป็นคนอุทลุม มิได้รู้คุณบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ตา ยาย แลมันมาฟ้องร้องให้เรียกบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายมัน ท่านให้มีโทษทวนมันด้วยลวดหนังโดยฉกรรจ์ อย่าให้มันคนร้ายนั้นดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป แล้วอย่าให้บังคับบัญชาว่ากล่าวคดีของมันนั้นเลย"
ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รับมาบัญญัติใน บรรพ 5 ครอบครัว, ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร, หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร, มาตรา 1562 ว่า
"ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้"
ทั้งนี้ มาตรา 1562 ดังกล่าวยังใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2522 ให้นิยามของคำ "อุทลุม" ว่า "ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง, เช่น คดีอุทลุม คือคดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล, เรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาลว่า คนอุทลุม."[33]
เมื่อยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสร็จเป็นบรรพ ๆ แล้ว ก็ได้มีการประกาศใช้ทีละบรรพไปตามลำดับ โดยบรรพ 4 มีผลใช้บังคับครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ บรรพ 5 และบรรพ 6 จึงมีผลใช้บังคับครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478[34] จำเนียรกาลผ่านมานับศตวรรษ ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการตรวจชำระ ยกเลิก ประกาศใช้ใหม่ และแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หลายครั้งตามความเหมาะสมแห่งสถานการณ์ โดยตั้งแต่เริ่มมีผลใช้บังคับครั้งแรกใน พ.ศ. 2468 จวบจนถึงบัดนี้ ประมวลกฎหมายดังกล่าวมีอายุเกือบหนึ่งศตวรรษแล้ว
สถานการณ์ภายหลังการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สำเร็จ
แก้หลังจากที่สยามได้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครบทั้ง 6 บรรพเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 แล้ว รัฐบาลได้จัดให้มีการประมวลกฎหมายบ้านเมืองฉบับสำคัญ ๆ สืบต่อมาอีก ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กับทั้งได้พยายามใช้การมีกฎหมายอันทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศนี้เจรจาขอยกเลิกบรรดาสนธิสัญญาเสียเปรียบทั้งหลายเสมอมา ซึ่งการเจรจาก็มิใช่เรื่องง่ายเลย ต้องขอบคุณสหรัฐอเมริกาที่มีน้ำใจกว้างขวางช่วยเหลือสยามในการนี้ทุกเมื่อ และยังได้ส่ง เอดเวิร์ด เฮนรี สตรอเบิล (Edward Henry Strobel) นักการทูตและนักวิชาการด้านกฎหมายระหว่างประเทศ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญให้ไทย ทว่า ประเทศฝรั่งเศสนั้นได้พยายามใช้ชั้นเชิงทางการทูตบ่ายเบี่ยงเลี่ยงหลีกการยกเลิกสนธิสัญญากับสยาม ส่วนประเทศอังกฤษนั้นก็ไม่ใคร่จะให้มีการยกเลิกเช่นกัน แต่ใช้ชั้นเชิงที่แนบเนียนกว่าฝรั่งเศส ทำให้รัฐบาลสยามต้องสู้รบปรบมือทางด้านนโยบายกับสองประเทศนี้เป็นเวลานาน[35] ในที่สุด สยามก็ได้รับเอกราชทางการศาลคืนมาและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2481 ภายใต้รัฐบาลของ จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศแปลก พิบูลสงคราม[36]
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการจัดทำประมวลกฎหมายจะทำให้ประเทศสยามต้องเปลี่ยนระบบกฎหมายที่รับเข้ามาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากระบบคอมมอนลอว์ (Common Law System) อันกฎหมายเกิดจากบรรทัดฐานที่ศาลพิพากษากำหนดไว้ หรือที่สมัยนั้นเรียก "วิธีกฎหมายจารีตธรรม" เป็นระบบซีวิลลอว์ (Civil Law System) อันกฎหมายเกิดจากกระบวนการนิติบัญญัติ หรือที่ในสมัยนั้นเรียก "วิธีกฎหมายประมวลธรรม" (Code System) แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา นักกฎหมายไทยยังติดอยู่กับนิติวิธีทางระบบคอมมอนลอว์อยู่มาก ซึ่งบรรดาผู้ยกร่างประมวลกฎหมายเคยตระหนักถึงและแสดงความห่วงใยประเด็นนี้ไว้อยู่แล้ว ดังที่ ชอร์ช ปาดู (Georges Padoux) มีหนังสือถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ และพระองค์ก็ทรงเห็นด้วย กับทั้งได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2456 กราบบังทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า[37]
"ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานนำหนังสือความเห็นของมองสิเออปาดูซ์ว่าด้วยวิธีจัดการศึกษากฎหมายขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
แลเค้าความเห็นอันนี้ มองซิเออปาดูซ์ได้เขียนยื่นแก่เสนาบดียุติธรรมไว้แล้วแต่รัตนโกสินทรศก 129 แต่หามีผลสำเร็จประการใดไม่ ข้าพระพุทธเจ้าได้ความสันนิษฐานเข้าใจเอาเองว่าจะเป็นด้วยประชุมแห่งเหตุหลายประการ จะรับพระราชทานสาธกแต่เหตุสำคัญอันหนึ่งว่า จำเดิมแต่รัฐบาลได้ปรารภร่างประมวลอาญาจนถึงได้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีผู้ทรงตำแหน่งเสนาบดีในกาลนั้นไม่ทรงเห็นชอบด้วยวิธีกฎหมายประมวลธรรม (Code System) ซึ่งใช้อยู่ในคอนติเนนต์ยุโรป ฝ่ายเธอเป็นเนติบัณฑิตสำนักอังกฤษซึ่งใช้วิธีกฎหมายจารีตธรรม (Common Law System) ความปรากฏในครั้งนั้นอยู่บ้างว่า เธอเอาพระองค์ออกห่างจากการตรวจสอบแก้ไขประมวลอาญา แลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาคัดค้านต้นร่างนั้น ถึงแก่ขอให้เลิกกรรมการฝรั่งเศสซึ่งร่างประมวลกฎหมายนั้นเสีย แลอาสาว่าจะควบคุมตั้งกรรมการขึ้นใหม่เพื่อร่างประมวลกฎหมายแพ่งอาญาให้ลงกับทำนองวิธีจารีตธรรม (base on Common Law) ข้าพระพุทธเจ้ายอมรับอยู่ว่า การที่เธอทรงคัดค้านดังนี้นั้นเป็นความจริงใจด้วยมุ่งหมายความเจริญแก่พระนคร การอันนี้ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นอัศจรรย์มิใช่น้อย เพราะว่าการที่จะเอาจารีตธรรมอันเป็นพื้นประเพณีบ้านเมืองมาทำประมวลเป็นบทเป็นหมวดลงได้นั้นมิใช่ง่าย นิติบัณฑิตในสำนักอังกฤษและอเมริกาเองก็ยังแก่งแย่งกัน ยังมิอาจเห็นปรองดองลงกันได้ มิพักต้องกล่าวถึงว่าจะเป็นผลสำเร็จทันตาเห็น...
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ผู้ทรงพระปัญญาญาณหยั่งเห็นกาลใกล้ไกล ทรงพระราชดำริชั่งได้ชั่งเสียในวิธีกฎหมายทั้ง 2 นั้นแล้ว พระราชทานพระราชวินิจฉัยไว้เป็นเด็ดขาดว่า พระราชกำหนดกฎหมายแห่งประเทศเราอันโบราณกระษัตราธิราชเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้สืบ ๆ มา มีบทมาตราเป็นลักษณะหมวดหมู่เป็นทำนองเดียวกันกับวิธีกฎหมายประมวลธรรม (System of Codified Law) ซึ่งใช้อยู่ในคอนติเนนต์นั้น ถ้าจะคุมเข้ากันแลผ่อนผันแก้ไขก็จะลงกันได้โดยสะดวก...
ครั้นเมื่อข้าพระพุทธเจ้ากับกรรมการมีชื่อรับพระราชทานประชุมปรึกษาตรวจสอบแก้ร่างประมวลแพ่งจนจะสำเร็จลงในเดือนธันวาคมนั้น มองสิเออปาดูซ์จึงได้ร้องขอให้ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาพิเคราะห์ถึงวิธีศึกษาวิชากฎหมายว่า บัดนี้ถึงเวลาจำเป็นแล้วที่จะพึงดำริจัดการให้เข้าทำนองวิธีสั่งสอนฝ่ายคอนติเนนต์ คือ กฎหมายประมวลธรรม สำแดงเหตุว่าวิธีทั้ง 2 ผิดกันหลายประการ แลรัฐบาลจะออกประกาศให้ใช้กฎหมายวิธีประมวลธรรมนี้ แต่ผู้พิพากษาตุลาการจะไม่ชำนาญในวิธีนั้นจะบังคับอรรถคดีให้ถูกต้องโดยทำนองมิได้ ย่อมจะบังเกิดเป็นความลำบากใหญ่แก่ราชการศาลสถิตยุติธรรม ข้าพระพุทธเจ้าได้สนทนาปรึกษาด้วยมองสิเออปาดูซ์กับพระยาจักรปาณีเป็นต้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถึงกาลจำเป็นจะทิ้งรารอไว้ดังนี้มิได้ ควรจะตระเตรียมดัดแปลงการโรงเรียนให้ลงร่องลงรอยกลมกลืนกับทำนองนี้จึงจะทันท่วงที ข้าพระพุทธเจ้าจึงสั่งให้มองสิเออปาดูซ์รวบรวมความเห็นที่ได้เขียนไว้เดิม ตกเติมเพิ่มข้อความลงให้กระจ่างเป็นฉบับเดียวกันมายื่น เพื่อได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานเรียนพระราชปฏิบัติ..."
แม้บรรดากรรมการร่างกฎหมายจะแสดงความเป็นห่วงเพียงนั้น แต่อิทธิพลของระบบคอมมอนลอว์ยังส่งผลต่อประเทศไทยมาก ทำให้การใช้กฎหมายไทยเป็นสันเป็นดอนตลอดมา ดังที่ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า[38]
"...ตลอดเวลาที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังคงมีปัญหาในการทำความเข้าใจหลักกฎหมายที่ปรากฏอยู่เบื้องหลังตัวบท การนำหลักกฎหมายคอมมอนลอว์มาตีความประมวลกฎหมายยังปรากฏอยู่ในคำสอนทางตำราและในแนวคำพิพากษาของศาล ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลาย ๆ เรื่องส่งผลโดยตรงให้นักกฎหมายไทยส่วนหนึ่งใช้ประมวลกฎหมายอย่างขาดความเข้าใจที่แท้จริง
ในอีกมุมหนึ่ง การรับกฎหมายสมัยใหม่จากตะวันตกและละเลยคุณค่าที่มีอยู่ในกฎหมายไทยเดิม โดยเฉพาะความคิดที่ว่ากฎหมายคือธรรม แล้วหันมายึดถือความคิดแบบ legal positivism ที่ถือว่า กฎหมายคือคำสั่งของผู้ปกครองแผ่นดิน ยิ่งส่งผลโดยตรงให้นักกฎหมายกลายเป็นคนคับแคบ เดินตามผู้มีอำนาจ ตีความตามตัวอักษร คำตอบที่ออกมาในหลายเรื่องจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม หนักไปกว่านั้นก็คือ การแยกว่ากฎหมายกับความยุติธรรมเป็นคนละเรื่องกัน
โครงสร้าง
แก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบด้วยบทบัญญัติ 6 บรรพ ซึ่งเป็นการจัดหมวดหมู่อย่างประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันที่มี 5 บรรพ แต่ไทยได้แยกเอาเรื่องหนี้ลักษณะเฉพาะจากบรรพ 2 หนี้ มาไว้เป็นบรรพ 3 เอกเทศสัญญา อีกบรรพหนึ่ง[39] โดยบรรพทั้งหกของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีดังนี้
- บรรพ 1 หลักทั่วไป ประกอบด้วยบทบัญญัติ 6 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
- ลักษณะ 2 บุคคล
- ลักษณะ 3 ทรัพย์
- ลักษณะ 4 นิติกรรม
- ลักษณะ 5 ระยะเวลา
- ลักษณะ 6 อายุความ
- บรรพ 2 หนี้ ประกอบด้วยบทบัญญัติ 5 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
- ลักษณะ 2 สัญญา
- ลักษณะ 3 จัดการงานนอกสั่ง
- ลักษณะ 4 ลาภมิควรได้
- ลักษณะ 5 ละเมิด
- บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ประกอบด้วยบทบัญญัติ 23 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะ 1 ซื้อขาย
- ลักษณะ 2 แลกเปลี่ยน
- ลักษณะ 3 ให้
- ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์
- ลักษณะ 5 เช่าซื้อ
- ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน
- ลักษณะ 7 จ้างทำของ
- ลักษณะ 8 รับขน
- ลักษณะ 9 ยืม
- ลักษณะ 10 ฝากทรัพย์
- ลักษณะ 11 ค้ำประกัน
- ลักษณะ 12 จำนอง
- ลักษณะ 13 จำนำ
- ลักษณะ 14 เก็บของในคลังสินค้า
- ลักษณะ 15 ตัวแทน
- ลักษณะ 16 นายหน้า
- ลักษณะ 17 ประนีประนอมยอมความ
- ลักษณะ 18 การพนันและขันต่อ
- ลักษณะ 19 บัญชีเดินสะพัด
- ลักษณะ 20 ประกันภัย
- ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน
- ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
- ลักษณะ 23 สมาคม
- บรรพ 4 ทรัพย์สิน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 8 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
- ลักษณะ 2 กรรมสิทธิ์
- ลักษณะ 3 ครอบครอง
- ลักษณะ 4 ภาระจำยอม
- ลักษณะ 5 อาศัย
- ลักษณะ 6 สิทธิเหนือพื้นดิน
- ลักษณะ 7 สิทธิเก็บกิน
- ลักษณะ 8 ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
- บรรพ 5 ครอบครัว ประกอบด้วยบทบัญญัติ 3 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะ 1 การสมรส
- ลักษณะ 2 บิดามารดากับบุตร
- ลักษณะ 3 ค่าอุปการะเลี้ยงดู
- บรรพ 6 มรดก ประกอบด้วยบทบัญญัติ 6 ลักษณะ ดังนี้
- ลักษณะ 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
- ลักษณะ 2 สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
- ลักษณะ 3 พินัยกรรม
- ลักษณะ 4 วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก
- ลักษณะ 5 มรดกที่ไม่มีผู้รับ
- ลักษณะ 6 อายุความ
ลักษณะของตัวบท
แก้การให้เหตุผลในตัวบท
แก้กฎหมายไทยแต่โบร่ำโบราณ โดยเฉพาะกฎหมายตราสามดวงนั้น มักระบุเหตุผลที่ตราบทบัญญัตินั้น ๆ ไว้ในบทบัญญัติด้วย เช่น กฎหมายตราสามดวง กฎหมายลักษณะผัวเมีย มาตรา 67 ว่า "ภรรยาสามีมิชอบเนื้อพึงใจกัน จะหย่ากันไซร้ ตามน้ำใจเขา เหตุว่าเขาทั้งสองสิ้นบุญกันแล้ว จะจำใจให้อยู่ด้วยกันนั้นมิได้"[40] ซึ่งการให้เหตุผลในตัวบทกฎหมายด้วยเช่นนี้ยังเป็นที่นิยมมาถึงในสมัยร่างกฎหมายลักษณะอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย ขณะที่การบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันจะไม่พึงกระทำเช่นนั้นเด็ดขาด ดังที่ ชาร์ล-ลูอี เดอ เซอกงดา ผู้เป็นบารงแห่งแบรดและมงแตสกีเยอ (Charles-Louis de Secondat, baron de La Brède et de Montesquieu) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "มงแตสกีเยอ" (Montesquieu) นักคิดนักเขียนทางการเมืองชาวฝรั่งเศส ว่า[41] [42]
"กฎหมายนั้นไม่สมควรจะบัญญัติในเชิงอภิปราย การให้เหตุผลรายละเอียดแห่งการบัญญัติกฎหมายนั้น ๆ เป็นเรื่องเสี่ยงภัยโดยแท้ เพราะการให้เหตุผลดังกล่าวย่อมเปิดช่องให้เกิดการโต้แย้งขึ้นได้"
หยุด แสงอุทัย ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการให้เหตุผลในตัวบทกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่า[43]
"กฎหมายที่บัญญัติขึ้นในสมัยเก่า ๆ นั้น ในบางบทบางมาตราได้เขียนอธิบายเหตุผลของการที่บัญญัติข้อความเช่นนั้นไว้ในบทมาตรานั้นเอง แม้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เองก็เคยเขียนเหตุผลไว้ในบทมาตราเหมือนกัน แต่ผู้เขียนจำได้เพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 204 ซึ่งใช้คำว่า '...ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว' เป็นเหตุผลซึ่งไม่สมควรจะใส่ไว้ในกฎหมาย สำหรับบทกฎหมายนั้นความสำคัญอยู่ที่ว่าลูกหนี้ผิดนัดหรือไม่เท่านั้น ตามที่กล่าวมาแล้วหมายความว่า ไม่สมควรที่บทมาตราต่าง ๆ จะบัญญัติถึงเหตุผลของการที่มีบทบัญญัตินั้นขึ้น เพราะการให้เหตุผลของการที่ควรมีบทบัญญัติขึ้นนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ผู้เสนอกฎหมายที่จะอธิบายต่อองค์การที่จะอนุมัติให้บัญญัติกฎหมายมากกว่า เช่น เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนฯ ที่จะอธิบายเหตุผลการบัญญัติกฎหมายนั้นให้สภาผู้แทนฯ ทราบ เป็นต้น แต่การที่จะไปเขียนไว้ในบทมาตรานั้นย่อมจะเป็นการฟุ่มเฟือย บทมาตราต่าง ๆ ของกฎหมายควรจะมีข้อความสั้น ๆ กะทัดรัด อ่านง่าย เข้าใจง่าย เช่น จะต้องห้ามการอย่างไรก็เขียนห้ามไว้ ไม่จำเป็นต้องเขียนอธิบายว่า ทำไมจึงต้องมีบทบัญญัติห้ามการกระทำเช่นว่านั้น ข้อที่ควรระลึกมีว่า อย่าเอาเหตุผลในการบัญญัติกฎหมายไปปนกับเหตุผลของข้อความซึ่งอาจใส่เพื่อความชัดเจนได้ เช่น เมื่อพูดถึงวิกลจริต ก็อาจเขียนเหตุแห่งการวิกลจริตลงได้..."
ทั้งนี้ มาตรา 204 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่ หยุด แสงอุทัย อ้างถึงนั้น มีข้อความเต็ม ๆ ดังต่อไปนี้ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2468 ตราบทุกวันนี้
"ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัด เพราะเขาเตือนแล้ว
ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการชำระหนี้ซึ่งได้กำหนดเวลาลงไว้อาจคำนวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว"
ความเห็นในงานแปล
แก้เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ร่างเป็นภาษาอังกฤษก่อนแล้วแปลออกเป็นภาษาไทย โดยหน้าที่แปลนี้ตกเป็นของ "คณะกรรมการตรวจภาษา" ซึ่งประกอบด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้คุณวุฒิทางภาษาหลายคน บทบัญญัติดั้งเดิมของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเป็นภาษาอันสุนทร ถูกต้องตามไวยากรณ์ไทยที่ดี และสละสลวยมาก ถึงขนาดที่บางบทบัญญัติมีรับส่งสัมผัสนอกสัมผัสในอย่างร้อยกรองด้วย[44] เช่น มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ถึงปัจจุบัน ที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษว่า และแปลเป็นภาษาไทยว่า
"Personality begins with the full completion of birth as a living child and ends with death."
"สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย"
นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจภาษายังเป็นที่สรรเสริญในเรื่องบัญญัติศัพท์ทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากวิชาการสาขาอื่นที่มักทับศัพท์ไปโดด ๆ ในประการนี้ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 แห่งประเทศไทย และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ว่า[45]
"...วงการวิชาชีพกฎหมายของเรามีความรู้สึกในทางชาตินิยมอย่างแนบแน่นในทรวงอกและซาบซึ้งในดวงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศัพท์กฎหมายของเรา เราบัญญัติศัพท์ของเราขึ้นเอง แต่ละคำมักจะแสดงความเป็นไทยอยู่เสมอ ไม่มีสาขาวิชาชีพอื่นใดจะเทียบเทียมได้เลย...ในสาขานิติศาสตร์นั้น มีการใช้ศัพท์ต่างประเทศน้อยที่สุด เท่าที่ปรากฏแทบจะเรียกว่านับจำนวนศัพท์เหล่านี้ได้ ขณะนี้ก็มีคำว่า 'เช็ค' (cheque), 'คอมมิวนิสต์' (communist), 'ทรัสต์' (trust), 'เครดิตฟองซิเอร์' (Crédit Foncier) และ 'บิลออฟเลดดิง' (bill of lading)[46] เป็นอาทิ...
โดยปกติ ในกรณีใดก็ตามที่เราสามารถคิดคำไทยขึ้นใหม่ได้ เราก็มักจะจัดทำทันที คำที่เป็นศัพท์กฎหมายที่คิดค้นขึ้นใหม่เพื่อใช้กับหลักกฎหมายใหม่ ๆ มีเป็นจำนวนมาก เช่น 'จัดการงานนอกสั่ง' (management of affairs without mandate), 'ลาภมิควรได้' (unjust enrichment), 'ละเมิด' (tort) และ 'ลิขสิทธิ์' (copyright) เป็นต้น บางคำคิดค้นขึ้นแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ได้จัดการเปลี่ยนแปลงใหม่ อาทิ...คำว่า 'obligation' ในชั้นแรกแปลว่า 'พันธธรรม' ต่อมาแปลใหม่ว่า...'หนี้' ดังที่เห็นอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง...คำว่า 'public order' หรือ 'public policy' นั้น เดิม...ใช้คำว่า 'รัฐประศาสนโบายหรือความปลอดภัยแห่งบุคคลฤๅทรัพย์สิน'...[ก่อนจะเปลี่ยนเป็น] 'ความสงบราบคาบของประชาชน' [และ] ปัจจุบันใช้คำว่า 'ความสงบเรียบร้อยของประชาชน'
คำว่า 'เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์' ก็มีการโต้เถียงกันว่า ทรัพย์นั้นไม่มีเจ็บป่วย จึงไม่ควรใช้คำว่า 'รักษา' ในปัจจุบันจึงใช้คำว่า 'เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์' ซึ่งตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า 'official receiver' แทน
ในการคิดค้นศัพท์ใหม่ขึ้นใช้ มีข้อพิจารณาอยู่บางประการ กล่าวคือ...คำภาษาอังกฤษที่ว่า 'pattern of courtship' ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งแปลว่า 'กระสวนแห่งการเว้าวอน' เราต้องยอมรับกันว่า คำไทยใหม่นี้ไพเราะมาก แต่มีใครบ้างที่จะทราบความหมายของคำนี้ทันทีที่ได้อ่านได้ฟัง...ถ้าใช้คำว่า 'วิธีการเกี้ยว' ทุกคนต้องเข้าใจทันที...
ในทำนองเดียวกัน คำว่า 'sensory feeling' น่าจะแปลว่า 'ความรู้สึกทางสัมผัส' แทนที่จะแปลว่า 'เวทนารมณ์เชิงเพทนาการ' คำว่า 'centralisation' บางท่านแปลว่า 'สังเกนทร์'...คำว่า 'decentralisation' บางท่านแปลว่า 'วิเกนทร์' แทนที่จะใช้คำว่า 'การแยกอำนาจ' หรือ 'การกระจายอำนาจ'...
ถ้อยคำที่แปลมาอย่างวิจิตรพิสดาร แต่หมดความนิยมไปแล้ว และมีคำใหม่มาแทนที่ก็มี เช่น 'psychology' เดิมแปลว่า 'อัธยาตมวิทยา' ปัจจุบันแปลว่า 'จิตวิทยา', 'university' เดิมแปลว่า 'ปัจฉิมศึกษาสถาน' ปัจจุบันแปลว่า 'มหาวิทยาลัย' เป็นต้น"
แม้จะได้รับคำเชิดชูว่าบทบัญญัติหลายบทมีลักษณะทางภาษาที่ดีดังกล่าวข้างต้น ทว่า หลายบทบัญญัติที่ "คณะกรรมการตรวจภาษา" แปลผิดพลาด และยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เช่น มาตรา 443 วรรคหนึ่ง ที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษว่า และแปลเป็นภาษาไทยว่า
"In the case of causing death, compensation shall include funeral and other necessary expenses.
"ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 แห่งประเทศไทย และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา วิจารณ์เกี่ยวกับการแปลมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ข้างต้น ว่า[47]
"...ต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้คำว่า 'shall include' ถ้าหากจะแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้อง น่าจะแปลว่า 'รวมตลอดทั้ง' แทนที่จะแปลว่า 'ได้แก่' เมื่อแปลผิดเช่นนี้แล้ว ตามหลักของการตีความกฎหมายเราต้องถือฉบับภาษาไทยเป็นสำคัญ ผลที่ตามมา คือ การทำให้บุคคลอื่นตายนั้นต้องจ่ายค่าเสียหายน้อยกว่าการทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บเสียอีก เพราะในกรณีที่ตาย เรียกได้แต่เฉพาะค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นเท่านั้น ค่าทำขวัญเรียกไม่ได้ ค่าเสียหายอื่นก็เรียกไม่ได้...
อนึ่ง ยังมีมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่แปลผิดดุจกัน โดยต้นฉบับภาษาอังกฤษว่า และแปลเป็นภาษาไทยว่า
"When the performance becomes impossible in consequence of a circumstance for which the debtor is responsible, the debtor shall compensate the creditor for any demage arising from the non-performance..
"ถ้าการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ต้องรับผิดชอบไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้ เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น
โดยในทางกฎหมาย คำว่า "damage" หมายความว่า "ความเสียหาย" ขณะที่ "damages" หมายความว่า "ค่าเสียหาย" แต่คณะกรรมการตรวจภาษาแปล "damage" ผิดเป็น "ค่าเสียหาย" แทน ("...เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้") และธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 218 วรรคหนึ่ง นี้อีกว่า[48]
"ถ้าหากเปลี่ยนคำว่า 'ค่าเสียหาย' เนื้อความในตัวทบทภาษาไทยจะชัดเจนและสอดคล้องต้องกับความในตอนต้นและความที่ตามมาเป็นอย่างดี เรื่องนี้ พิจารณาอีกแง่หนึ่งก็น่าเห็นใจผู้แปลซึ่งอาจไม่ใช่นักกฎหมาย หรือเป็นนักกฎหมายแต่อาจไม่สันทัดในศัพท์กฎหมายของอังกฤษ เพราะคำสองคำนี้ใกล้เคียงกันมาก แต่เมื่อแปลผิด ย่อมทำให้ผู้อ่านงุนงง...
นอกจากนี้ มีบทบัญญัติหลายบทที่คณะกรรมการตรวจภาษาแปลมา อ่านแล้ว "ไม่รู้เรื่อง" และ "ไม่เข้าใจ" เช่น มาตรา 981 วรรคหนึ่ง ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งต้นฉบับภาษาอังกฤษว่า และแปลเป็นภาษาไทยว่า
"A party who has sent one duplicate for acceptance must indicate on the other duplicate the name of the person in whose hands this duplicate will be found. That person is bound to give it up to the lawful holder of another duplicate.
"คู่สัญญาซึ่งส่งคู่ฉีกฉบับหนึ่งไปให้เขารับรอง ต้องเขียนแถลงลงในคู่ฉีกฉบับอื่นว่า คู่ฉีกฉบับโน้นอยู่ในมือบุคคลชื่อไร ส่วนบุคคลคนนั้นก็จำต้องสละตั๋วให้แก่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายแห่งคู่ฉีกฉบับอื่นนั้น
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ให้ความเห็นว่า[48]
"...ขอรับสารภาพว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจทั้งฉบับภาษาไทยและต้นฉบับภาษาอังกฤษ ถ้อยคำที่มีส่วนทำให้ฉงนมากเห็นจะได้แก่คำว่า 'คู่ฉีกฉบับอื่น' และ 'คู่ฉีกฉบับโน้น' ทั้งถ้อยคำในตัวบทภาษาไทยบ่งแสดงว่าอาจมีคู่ฉีกถึงสามฉบับ แต่ในภาษาอังกฤษดูเสมือนมีเพียงสองฉบับเท่านั้น
เชิงอรรถ
แก้- ↑ 1.0 1.1 แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552: 204.
- ↑ 2.0 2.1 ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539 : 68.
- ↑ สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 11.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา; 2451, 1 มิถุนายน : ออนไลน์.
- ↑ สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 11-12.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 228-229.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 229.
- ↑ 8.0 8.1 แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 230.
- ↑ เรอเน่ กียอง, 2536 : 107.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 230-231.
- ↑ ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539 : 54-55.
- ↑ นิตยา กาญจนะวรรณ, 2553 : ออนไลน์.
- ↑ เอกสารกระทรวงยุติธรรม รัชกาลที่ 6 หมายเลข ย 121/2ฯ.
- ↑ ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539 : 52.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 231.
- ↑ ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539 : 56.
- ↑ เรอเน่ กียอง, 2536 : 105-106.
- ↑ คำแปลต้นฉบับใช้คำว่า "รัฐ" อย่างไรก็ดี คำนี้เลิกใช้แล้วตามประกาศของราชบัณฑิตยสถาน ดู รัฐในสหรัฐอเมริกา
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 232.
- ↑ ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539 : 57-58.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 233.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 233.
- ↑ ชาญชัย แสวงศักดิ์, 2539 : 60.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาส, 2552 : 235.
- ↑ ภาควิชานิติศึกษาทางสังคม ปรัชญา และประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์; 2523, 12 กันยายน : 2-4.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา; 2468, 11 พฤศจิกายน : ออนไลน์.
- ↑ หยุด แสงอุทัย; 2507, 6 กุมภาพันธ์ : 129.
- ↑ สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 12.
- ↑ สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 12-13.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 256.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 256-257. และดูเพิ่มเติมที่ สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ, 2558 : 138-162.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 257.
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
- ↑ สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 19-21.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 242.
- ↑ ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2517 : 6.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 243-244.
- ↑ แสวง บุญเฉลิมวิภาศ, 2552 : 244-245.
- ↑ สมยศ เชื้อไทย, 2551 : 13.
- ↑ ธานินทร์ กรัยวิเชียร และอภิชน จันทรเสน, 2550 : 197-198.
- ↑ Carleton Kemp Allen, 1964 : 482-483.
- ↑ ธานินทร์ กรัยวิเชียร และอภิชน จันทรเสน, 2550 : 198.
- ↑ หยุด แสงอุทัย, 2492 : 323-324.
- ↑ ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2543 : 43.
- ↑ ธานินท์ กรัยวิเชียร, 2543 : 47-50.
- ↑ "Bill of lading" กฎหมายไทยปัจจุบันว่า "ใบตราส่ง"
- ↑ ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2543 : 44-45.
- ↑ 48.0 48.1 ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2543 : 46.
อ้างอิง
แก้ภาษาไทย
แก้หนังสือ
แก้- ชาญชัย แสวงศักดิ์. (2539). อิทธิพลของฝรั่งเศสในการปฏิรูปกฎหมายไทย. กรุงเทพฯ : นิติธรรม. ISBN 9747761577.
- ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2543). ภาษากฎหมายไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9745718505.
- ธานินทร์ กรัยวิเชียร และอภิชน จันทรเสน. (2550). คำแนะนำนักศึกษากฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9789745719941.
- ราชบัณฑิตยสถาน.
- (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
- (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
- สมยศ เชื้อไทย. (2551). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับใช้เรียน. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886370.
- แสวง บุญเฉลิมวิภาส. (2552). ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886257.
หนังสือพิมพ์
แก้- ราชกิจจานุเบกษา.
- (2451, 1 มิถุนายน). กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2468, 11 พฤศจิกายน). พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 และ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2471, 1 มกราคม). พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ที่ได้ตรวจชำระใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2473, 18 มีนาคม). พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2478, 29 พฤษภาคม). พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2478, 7 มิถุนายน). พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2478, 28 กรกฎาคม). แก้คำผิด ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 13 วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2486, 19 มิถุนายน). พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 พุทธศักราช 2486. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2486, 19 มิถุนายน). พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 พุทธศักราช 2486. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2486, 14 กันยายน). พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 พุทธศักราช 2486 พุทธศักราช 2486. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2486, 14 กันยายน). พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 6 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 พุทธศักราช 2486 พุทธศักราช 2486. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2519, 26 สิงหาคม). ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ... . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2519, 27 กันยายน). ประกาศ วุฒิสภา เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ... . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2519, 15 ตุลาคม). พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2535, 21 มกราคม). ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา เรื่อง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
- (2535, 8 เมษายน). พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 6 พฤศจิกายน 2552).
บทความ
แก้- ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2517). "อิทธิพลของกฎหมายอังกฤษในระบบกฎหมายไทย". วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, (ปีที่ 11, ฉบับที่ 2).
- เรอเน่ กียอง. (2536). "การตรวจชำระและร่างประมวลกฎหมายในกรุงสยาม". (วิษณุ วรัญญู แปล). วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (ปีที่ 23, ฉบับที่ 1).
- หยุด แสงอุทัย.
- (2492). "การร่างกฎหมาย". นิติสาสน์, (ปีที่ 20, เล่ม 2).
- (2507, 6 กุมภาพันธ์). "การร่างกฎหมายในประเทศไทย". วารสารทนายความ, (ปีที่ 6).
แหล่งข้อมูลออนไลน์
แก้- นิตยา กาญจนะวรรณ. (2553). ภาษาไทยในปัจจุบัน : ปัญหาและแนวทางแก้ไข (2). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- ราชบัณฑิตยสถาน.
- (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-03-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กันยายน 2552).
เอกสารอื่น
แก้- ภาควิชานิติศึกษาทางสังคม ปรัชญา และประวัติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2523, 12 กันยายน). บันทึกคำสัมภาษณ์พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา). (เอกสารในห้องสมุดสัญญาธรรมศักดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร).
- สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. "กว่าจะเป็น 'ผัวเดียวเมียเดียว' : สังเขปประวัติความเป็นมาของกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ในประเทศไทย". ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2558 "ภัยคุกคาม" : ทางรอดของครอบครัวไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง, 11-12 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพฯ.
- เอกสารกระทรวงยุติธรรม รัชกาลที่ 6 หมายเลข ย11/2 หนังสือเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมกราบบังคมทูล เรื่อง ระเบียบวิธีการในการร่างกฎหมาย. (เอกสารรักษาไว้ที่กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร).
ภาษาต่างประเทศ
แก้- Carleton Kemp Allen. (1964). Law in the making. เก็บถาวร 2012-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน London : Oxford University Press.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ห้องสมุดกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เก็บถาวร 2011-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน