ในทางกฎหมาย บุคคลธรรมดา หรือ บุคคล (อังกฤษ: natural person) หมายถึง สิ่งที่มีชีวิตสามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย คือมนุษย์ทั้งปวงจะเป็นหญิง ชาย เด็ก คนชรา หรือเป็นผู้บกพร่องในความสามารถหรือเป็นคนวิกลจริตอย่างใดก็ตามคนวิกลจริตอย่างใดก็ตามถือเป็นบุคคลธรรมดาทั้งสิ้น[1] ตามประมวลกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 ที่ว่าไว้ดังนี้ สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก

การเริ่มสภาพบุคคล แก้

จากบทกฎหมายข้างต้นได้วางหลักไว้ว่าสภาพบุคคลจะเริ่มขึ้นได้นั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ 1)การคลอด ในทางการแพทย์นั้นการคลอดจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อทารกออกมาทั้งตัว มีการตัดสายรกเรียบร้อยแล้วและมีการรอให้มดลูกหดตัวประมาณ 15 นาทีถึง 2 ชั่วโมงหลังเด็กคลอด แต่ในทางกฎหมายนี้จะถือว่าเป็นการคลอดได้ก็ต่อเมื่อทารกพ้นออกจากช่องคลอดทั้งตัวแล้วเท่านั้นพอ การตัดสายรกหรือไม่นั้นไม่ใช่สาระสำคัญ 2) อยู่รอดเป็นทารก พูดง่ายๆก็คือคลอดแล้วทารกมีชีวิตอยู่นั่นเอง ซึ่งต้องอาศัยการแพทย์ในการบอกว่าทารกนั้นมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยในทางกฎหมายจะถือว่าทารกที่คลอดออกมามีชีวิตนั้นต้องได้ความว่าเด็กมีการหายใจด้วย เช่นนี้ก็ถือว่ามีสภาพบุคคลเกิดขึ้นแล้ว ในทางกฎหมายเราจะไม่พิจารณาว่าจะต้องหายใจนานเท่าไหร่หรือหัวใจต้องเต้นกี่ครั้ง แม้มีการหายใจเพียงครั้งเดียวก็ถือว่าสภาพบุคคลเกิดแล้วถึงแม้ทารกนั้นอาจเสียชีวิตในไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นก็ตาม ซึ่งเมื่อมีสภาพบุคคลเกิดขึ้นก็มีผลทำให้ทารกนั้นมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายได้ เช่น มีสิทธิรับมรดกได้ มีสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดา และรวมไปถึงได้รับความคุ้มครองในด้านร่างกายหรือเสรีภาพ ฯลฯ ตามกฎหมายด้วย การจะเริ่มสภาพบุคคลนั้นจะต้องประกอบด้วยการคลอดและการอยู่รอดเป็นทารกด้วย ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปก็ถือว่าไม่ครบหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย สภาพบุคคลย่อมไม่เกิด เราลองมาดูตัวอย่างกันเพื่อศึกษาถึงผลทางกฎหมายระหว่างการมีสภาพบุคคลและไม่มีสภาพบุคคลกัน ตัวอย่าง นาย ก แต่งงานกับนาง ข เกิดบุตรในครรภ์ขึ้นหนึ่งคน วันเกิดเหตุนาย ก และนาง ข ขับรถไปเที่ยวทะเลด้วยกัน เกิดอุบัติเหตุระหว่างทางขึ้น นาย ก บาดเจ็บสาหัส ส่วนนาง ข บาดเจ็บเล็กน้อยแต่เกิดเจ็บท้องใกล้คลอดพอดี พลเมืองดีนำทั้งคู่ส่งโรงพยาบาล เมื่อไปถึงโรงพยาบาลนาง ข ก็คลอดออกมาพอดี ทารกมีชีวิตรอดแต่นาย ก เสียชีวิต เช่นนี้ทารกนั้นถือว่ามีสภาพบุคคลตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว มีสิทธิต่างๆตามกฎหมาย จึงมีสิทธิได้รับมรดกจากบิดาที่เสียชีวิตไป ในทางกลับกันถ้าอุบัติเหตุดังกล่าวมีผลทำให้ทารกในท้องเกิดเสียชีวิตลงหรือคลอดออกมาแล้วแต่ไม่มีการหายใจ(ไม่มีชีวิต)หรือก็คือนาง ข ได้แท้งลูกนั่นเอง เช่นนี้ก็ถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ทารกนั้นไม่มีสภาพบุคคลไม่มีสิทธิตามกฎหมาย จึงไม่อาจรับมรดกจากบิดาได้[2]


การสิ้นสภาพบุคคล แก้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 ได้วางหลักไว้ว่า "สภาพบุคคลนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อคลอดออกมาแล้วอยู่รอดเป็นทารกได้ และจะสิ้นสุดลงเมื่อบุคคลนั้นตาย" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดการตายไว้สองประเภทคือ

1) การตายตามธรรมชาติหรือการตายธรรมดา ซึ่งเป็นการตายโดยสาเหตุต่างๆทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตายตามอายุขัย ตายเพราะเจ็บป่วย ตายเพราะอุบัติเหตุ หรือการตายที่เกิดจากการฆาตกรรม ฯลฯ ในทางกฎหมายไม่ปรากฏว่าการตายต้องมีลักษณะอย่างไร จึงต้องอาศัยหลักวิชาการทางการแพทย์ ซึ่งในทางการแพทย์นั้นจะถือว่าบุคคลตายเมื่อ “แกนสมองตาย” แกนสมองเป็นส่วนของสมองที่ต่อเชื่อมไขสันหลังกับสมองใหญ่ ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของประสาทรับความรู้สึกต่างๆเข้าสู่สมองใหญ่ ดังนั้นหากก้านสมองตายจะทำให้บุคคลนั้นหมดความรู้สึกโดยสิ้นเชิง ระบบสำคัญต่างๆในร่างกายมนุษย์ก็จะเริ่มหยุดทำงาน แม้จะมีเครื่องช่วยหายใจก็ตาม แต่หัวใจก็จะทำงานต่อได้อีก​ 48-72 ชั่วโมงเท่านั้นก่อนจะหยุดทำงาน แต่กรณีที่เพียงส่วนที่เป็นเปลือกสมองตาย โดยอาจมีสาเหตุมาจาก การขาดอากาศชั่วคราว ได้รับบาดเจ็บจนเปลือกสมองได้รับความเสียหาย ฯลฯ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายยังทำงานต่อได้ เพียงแต่บุคคลนั้นอาจไม่รู้สึกตัว เป็นเจ้าชายนิทรา แต่อาจรับรู้ความเจ็บปวดได้ ฯลฯ เช่นนี้ทางการแพทย์ยังไม่ถือว่าสมองตาย บุคคลนั้นยังไม่ตายในทางการแพทย์รวมไปถึงในทางกฎหมายด้วย

2) การสาบสูญหรือการตายโดยผลของกฎหมาย ซึ่งกฎหมายได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ดังนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

  1. นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ใน การรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
  2. นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
  3. นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

หลักเกณฑ์ทั่วไปที่จะถือว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญนั้น เมื่อพิจารณาจากมาตรา 61 วรรคแรกแล้วพอจะสรุปได้ดังนี้

  • บุคคลธรรมดาไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
  • ไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือก็คือไม่มีใครทราบข่าวคราวหรือไม่มีผู้ใดพบเห็นบุคคลนั้น คำว่าไม่มีใครทราบข่าวคราวในที่นี้ หมายถึงคนในครอบครัว ผู้ที่รู้จัก หรือผู้ที่คอยติดตามข่าวคราวของบุคคลดังกล่าวนั้นอยู่ไม่มีใครได้รับข่าวคราวของบุคคลนั้นเลย
  • เป็นระยะเวลาถึง 5 ปี หมายถึงบุคคลนั้นไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครพบเห็นหรือทราบข่าวคราวอีกเลยเป็นระยะเวลาถึง 5 ปี
  • ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญจึงจะถือว่าบุคคลนั้นเป็นสาบสูญแล้ว ถ้าศาลยังไม่มีคำสั่งก็ยังไม่ถือว่าบุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ
  • การร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญนั้น ผู้มีสิทธิร้องขอคือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ ผู้มีส่วนได้เสียนั้นคือผู้ที่อาจได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ หรือได้รับสิทธิหรือเสียสิทธิอย่างใดๆในการที่ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นเป็นผู้สาบสูญ เช่น บิดามารดา ทายาท หรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลดังกล่าวที่ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งในเรื่องส่วนได้เสียนั้นเราอาจจะเห็นได้ชัดๆจากเรื่องมรดก หรือทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา ฯลฯ

อาชญากรรม แก้

ตามปกติบุคคลธรรมดาจะเป็นผู้ก่ออาชญากรรม แต่ก็อาจถูกฟ้องร้องได้ในฐานะนิติบุคคล สัตว์อื่นนอกจากมนุษย์ไม่ถือว่าเป็นบุคคลดังนั้นสัตว์จึงก่ออาชญากรรมไม่ได้ [3] แต่บุคคลที่เป็นเจ้าของสัตว์นั้นต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

อ้างอิง แก้

  1. บุคคล/บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล (๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑)
  2. บุคคลตามกฎหมาย
  3. People v. Frazier, 173 Cal. App. 4th 613 (2009). In this case, the California Court of Appeal explained: "Despite the physical ability to commit vicious and violent acts, dogs do not possess the legal ability to commit crimes."