ราชวงศ์โครยอ ก่อตั้งใน ค.ศ. 918 และรวบรวมสามแคว้นหลังได้ใน ค.ศ. 936 จนคาบสมุทรเกาหลีเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งหลังสมัยชิลลา จนถูกโค่นล้มโดยลีซองเกใน ค.ศ. 1392 สมัยโครยอเป็นสมัยที่ลัทธิขงจื้อเข้ามาในเกาหลีอย่างเต็มตัว เป็นสมัยที่ทหารปกครองบ้านเมือง และการยึดครองของมองโกลก็ทำให้วัฒนธรรมมองโกลหลั่งไหลเข้าสู่เกาหลี สมัยโครยอเป็นสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในเกาหลี มีการพิมพ์พระไตรปิฏกภาษาเกาหลีเป็นฉบับแรก คือ ไตรปิฏก โคเรียนะ เก็บไว้ที่วัดแฮอินซา

โครยอ

고려 (高麗)
ค.ศ. 918ค.ศ. 1392
ธงชาติโครยอ
ธงพระอิสริยยศ
ตราพระลัญจกร (ค.ศ. 1370–1392)ของโครยอ
ตราพระลัญจกร (ค.ศ. 1370–1392)
อาณาเขตของราชวงศ์โครยอในช่วง ค.ศ. 1374
อาณาเขตของราชวงศ์โครยอในช่วง ค.ศ. 1374
เมืองหลวงแคซ็อง
ภาษาทั่วไปภาษาเกาหลี
ศาสนา
พระพุทธศาสนานิกายมหายาน, ลัทธิขงจื๊อ, ลัทธิเต๋า, เชมัน
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (918–1392)
เผด็จการทหาร (1170–1270)
จักรพรรดิ 
• 918 - 946
พระเจ้าแทโจแห่งโครยอ
• 949 - 975
พระเจ้าควางจง
• 1359 - 1374
พระเจ้าคงมิน
• 1389 - 1392
พระเจ้าคงยาง
อัครมหาเสนาบดี 
• ค.ศ. 1170 - ค.ศ. 1179
จอง จุงบู
• ค.ศ. 1183 - ค.ศ. 1197
อี อึยมิน
• ค.ศ. 1197 - ค.ศ. 1219
ชเว ชุงฮอน
• ค.ศ. 1257 - ค.ศ. 1258
ชเว อี
ประวัติศาสตร์ 
• ก่อตั้ง
ค.ศ. 918
• ก่อตั้งราชวงศ์โครยอ
ค.ศ.918
• สงครามกับราชวงศ์เหลียว
ค.ศ.926
• การยึดอำนาจของฝ่ายทหาร
ค.ศ.1126
• การยึดครองของมองโกล
ค.ศ.1126
• สิ้นสุด
ค.ศ. 1392
ก่อนหน้า
ถัดไป
อาณาจักรรวมชิลลา
อาณาจักรแพ็กเจใหม่
อาณาจักรโคกูรยอใหม่
ราชวงศ์โชซ็อน
โครยอ
ฮันกึล
ฮันจา
อาร์อาร์Goryeo
เอ็มอาร์Koryŏ

คำว่า "โครยอ" มาจาก "โคกูรยอ" หนึ่งในสามอาณาจักรโบราณของคาบสมุทรเกาหลี และเป็นที่มาของคำว่า "โคเรีย" ในภาษาอังกฤษ (โดยเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "โกเร" ที่หมายถึงอาณาจักรแห่งนี้ในความหมายของชาวอาหรับ) และ "เกาหลี" ในภาษาจีนกลางและภาษาไทย[1]

ประวัติศาสตร์ แก้

ตั้งราชวงศ์ แก้

อาณาจักรชิลลาที่รวบรวมคาบสมุทรเกาหลีได้นั้นก็เสื่อมอำนาจลงทำให้เจ้าต่าง ๆ ตั้งตนเป็นใหญ่ใน ค.ศ. 892 และทำสงครามทะเลาะวิวาทกันจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง จนเหลือเจ้าที่มีอำนาจอยู่สองคน ทางใต้คือ คยอนฮวอน (견훤) ซึ่งตั้งอาณาจักรแพ็กเจใหม่ (후백제, 後百濟) ใน ค.ศ. 900 ทางเหนือคือคุงเย (궁예) ตั้งอาณาจักรโคกูรยอใหม่ (후고구려, 後高句麗)

วังกอน (왕건, 王建) อยู่ในตระกูลพ่อค้าในเมืองซ็องโด (송도, 松都 แคซ็อง 개성, 開城) ใน ค.ศ. 895 คุงเยนำทัพจากทางเหนือเข้าบุกชิลลา ยึดเมืองซ็องโดทำให้ชาวซ็องโดทั้งหลายรวมทั้งวังกอนจึงศิโรราบต่อคุงเย วังกอนได้เป็นแม่ทัพของโคกูรยอใหม่และนำทัพเรือเข้าสู้กับแพ็กเจใหม่ที่กำลังต่อสู้กับชิลลาอยู่จนได้ชัยชนะใน ค.ศ. 903 จนคุงเยเห็นถึงความสามารถ ใน ค.ศ. 913 จึงตั้งให้เป็นอัครเสนาบดีของโคกูรยอใหม่ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น แทบง (태봉, 泰封) ใน ค.ศ. 911

ใน ค.ศ. 918 ขุนนางระดับสูงในแทบงก็ล้มอำนาจคุงเยตั้งให้วังกอนเป็นพระจักรพรรดิแทโจ ทรงตั้งเมืองหลวงไปที่ซ็องโดบ้านเกิด และเปลี่ยนชื่อเป็นแคซ็อง ใน ค.ศ. 927 คยอนฮวอนยกทัพบุกคยอนวอนยกทัพบุกคย็องจู (เมืองหลวงชิลลา) สังหารพระเจ้าคยองแอ (경애왕, 景哀王) และตั้งพระเจ้าคยองซุน (경순왕, 敬順王) เป็นกษัตริย์หุ่นเชิด ทำให้วังกอนต้องยกทัพไปต้านอำนาจของแพ็กเจใหม่ที่เขาคงซาน (공산, 公山) แต่พ่ายแพ้ยับเยิน ใน ค.ศ. 935 พระเจ้าคยองซุนหลบหนีมาโครยอ และยกอาณาจักรชิลลาให้พระจักรพรรดิแทโจ และในปีเดียวกันชินกอม (신검) บุตรชายของคยอนฮวอน ยึดอำนาจจากบิดาและปกครองอาณาจักรแพ็กเจใหม่ ใน ค.ศ. 936 ชินกอมพ่ายแพ้จักรพรรดิแทโจ ทำให้พระเจ้าแทโจทรงเป็นจักรพรรดิเพียงหนึ่งเดียวในคาบสมุทรเกาหลี

สงครามกับราชวงศ์เหลียว แก้

ใน ค.ศ. 926 ราชวงศ์เหลียว (遼) ของเผ่าคิตันทำลายอาณาจักรบัลแฮ (발해, 渤海) ชาวเกาหลีจึงอพยพลงมาโครยอเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวโครยอเกลียดชังพวกคิตันว่าเป็นอนารยชนจากทางเหนือมาข่มเหงชาวเกาหลี ในสมัยจักรพรรดิเหลียวเซิ่งจง (遼聖宗) ราชวงศ์เหลียวเรืองอำนาจ จึงคิดจะรุกรานโครยอใน ค.ศ. 993 นำโดยเสี้ยวซุนหนิง (蕭遜寧) พระเจ้าซองจง (성종, 成宗) จึงทรงแม่ทัพซอฮี (서희) ไปต้านจนสำเร็จ เสี้ยวซุนหนิงจึงขอเจรจาสงบศึกแต่เรียกร้องให้คืนอาณาบริเวณของบัลแฮให้เหลียวและให้โครยอเป็นเมืองขึ้นเหลียว แม่ทัพซออีไม่ยอมจึงไปเจรจากับเซี่ยวซุนหนิง อ้างว่าโครยอเป็นการสืบต่อของโคกูรยอ (고구려, 高句麗) ดังนั้นบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลทางตอนเหนือจึงควรเป็นของโครยอเซื่ยวซุนหนิงหลงกลจึงยอมยกดินแดนจรดแม่น้ำยาลูให้โครยอ

สิ้นสงครามพระเจ้าซองจงทรงให้มีการสร้างป้อมปราการอย่างมโหฬารที่แม่น้ำยาลูเพื่อป้องกัน ภายหลังพระเจ้าซองจงสิ้นพระชนม์ เจ้าชายวังซงพระราชโอรสของพระเจ้าคยองจงแห่งโครยอขึ้นครองราชย์ พระราชมารดาของพระองค์ทรงขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเนื่องจากพระเจ้ามกจงยังทรงพระเยาว์ พระราชมารดาของพระเจ้ามกจงคือ พระนางฮอนแอพระมเหสีพระเจ้าคยองจงหรือพระนางชอนชู พระนางชอนชูเป็นกำลังหลักที่สำคัญของโครยอที่ต้านทัพเหลียวที่มาบุกโครยอหลายครั้ง พระนางชอนชูทรงนำทัพบุกขึ้นเหนือต้านทัพเหลียวหลายครั้งทำให้พระนางมีอำนาจเป็นอย่างมากในราชสำนัก ภายหลังพระนางสมรสใหม่กับคิมชียางและมีโอรสด้วยกันทำให้ขุนนางบางกลุ่มไม่พอใจ ใน ค.ศ. 1009 คังโจ (강조) ยึดอำนาจพระนางชอนชูและสังหารพระเจ้ามกจงแห่งโครยอ (목종, 穆宗) และตั้งเจ้าชายวังซุนขึ้นเป็นพระเจ้าฮย็อนจง (현종, 顯宗) เป็นกษัตริย์ จักรพรรดิเหลียวเสิ่งจงเห็นเป็นโอกาสจึงนำกองทัพมารุกรานนำด้วยพระองค์เอง คังโจนำทัพโครยอเข้าต่อสู้ แต่พ่ายแพ้และถูกสังหาร ข่าวการสิ้นชีวิตของคังโจทำให้ราชสำนักโครยอหวาดกลัวและหนีไปที่เมืองนาจูทางใต้ กองทัพเหลียวเกือบจะยึดเปียงยางได้ และรุกเข้ามาถึงเมืองแคซ็อง พระเจ้าฮย็อนจงจึงทรงยอมสงบศึก แต่จักรพรรดิเหลียวเสิ่งจงทรงเรียกร้องมากเกินไป จนพระเจ้าฮย็อนจงทรงไม่รับสัญญาสงบศึก เมื่อสงครามไม่ประสบผล จักรพรรดิเหลียวเสิ่งจงจึงยกทัพกลับ

แต่พวกคิตันไม่ได้กลับไปเปล่า แต่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำยาลูเพื่อบุกโครยอครั้งต่อมาใน ค.ศ. 1019 นำโดยเสี้ยวไป่หยา (蕭排押) แต่ทันทีที่ทัพคิตันย่างเท้ามาก็ถูกทัพโครยอซุ่มโจมตี เสี้ยวไป่หยาหนีลึกเข้าไปในโครยอก็ยิ่งถูกโจมตีหนักขึ้น พระเจ้าฮย็อนจงทรงร่วมมือกับพระนางชอนชูและคังกัมชาน(강감찬, 姜邯贊)ซึ่งเป็นขุนนางที่เคยรบมารับมือ ขณะที่กองทัพเหลียวกำลังข้ามลำธารแห่งหนึ่ง คังกัมชานและพระนางชอนชู สั่งให้เปิดเขื่อนน้ำท่วมทัพเหลียวจนหมด ทำให้เสี้ยวไป่หยายอมแพ้และหนีกลับไปทางเหนืออย่างยากลำบาก และในปี ค.ศ. 1029 พระนางชอนชูสิ้นพระชนม์

หลังจากรุกรานโครยอสามครั้ง ทั้งสองอาณาจักรจึงเจรจาสงบศึก และเป็นไมตรีต่อกัน ไม่ทำสงครามกันอีกเลย จนใน ค.ศ.1125 พวกนูร์เชน (Jurchen หรือแมนจู) ทำลายอาณาจักรเหลียวของคิตันและตั้งราชวงศ์จิน (金) ฝ่ายเกาหลีส่งแม่ทัพยุนควาน (윤관, 尹瓘) เข้าไปรุกรานพวกนูร์เชน และใน ค.ศ. 1127 พวกนูร์เชนก็ทำลายราชวงศ์ซ่งยึดอาณาบริเวณทางเหนือของจีนได้ ขับไล่ชาวจีนไปเป็นราชวงศ์ซ่งใต้ ทำให้ราชวงศ์จินเรืองอำนาจ

การยึดอำนาจของฝ่ายทหาร แก้

ตระกูลลีจากอินจู สะสมอำนาจจากการส่งมเหสีไปอภิเษกกับกษัตริย์โครยอหลายพระองค์ตั้งแต่พระเจ้ามุนจงเป็นต้นไป จนกระทั่งตระกูลลีมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์โครยอเสียอีก ในสมัยพระเจ้าอินจง (인종, 仁宗) ลีจากยอม (이자겸, 李資謙) เป็นขุนนางที่มีอำนาจมากในราชสำนัก ทำการยึดอำนาจจากพระเจ้าอินจงใน ค.ศ. 1126 แต่พระเจ้าอินจงก็ทรงสามารถยึดอำนาจกลับคืนมาได้ใน ค.ศ. 1127 ใน ค.ศ. 1135 พระภิกษุมโยชอง (묘청) ได้เสนอให้ย้ายเมืองหลวงไปซอกยอง (서경, 西京 เปียงยาง) เพื่อต้านทานการรุกรานของราชวงศ์จิน แต่ขุนนางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ภายใต้การนำของคิมบูชิก (김부식, 金富軾) ต่อต้าน มโยชองจึงก่อกบฏแต่ถูกจับและประหารชีวิตในปีเดียวกัน

ใน ค.ศ. 1170 กลุ่มขุนนางฝ่ายทหารจองจุงบู (정중부, 鄭中夫) และลีอีบัง (이의방, 李義方) โค่นอำนาจพระเจ้าอีจง (의종, 毅宗) และตั้งพระเจ้ามยองจง (명종, 明宗) เป็นกษัตริย์แทน เป็นการเริ่มต้นการปกครองของเผด็จการทหาร (무신정변, 武臣政變) เพราะนับตั้งแต่พระเจ้ามยองจงเป็นต้นไป กษัตริย์โครยอทรงเป็นเพียงแค่หุ่นเชิด ที่มีผู้นำเผด็จการทหารชักใยอยู่เบื้องหลัง ต่อมาจองจุงบูถูกโค่นอำนาจโดยขุนพลหนุ่มชื่อคยองแดซึง (경대승, 慶大升) และเข้าปกครองบ้านเมืองแทน คยองแดซึงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทหารที่ปกครองเพื่อให้โครยอสงบสุขจนประชาชนพากันสรรเสริญ แต่ก็ทำให้เป็นที่เกลียดชังของพระเจ้ามยองจงพระทรงอิจฉาในความนิยมของประชาชนที่มีต่อคยองแดซึง

แต่แล้วใน ค.ศ. 1183 คยองแดซึงเสียชีวิต ลีอีมิน (이의민, 李義旼) ผู้นำทหารอีกคนก็เข้ามายึดอำนาจ ซึ่งลีอึยมินต่างกับคยองแดซึงที่ปล่อยให้มีการทุจริตในการปกครองจนบ้านเมืองต้องเดือดร้อน ทำให้ชเวชุงฮอน (최충헌, 崔忠獻) ขุนพลอีกคนเช่นกันยึดอำนาจจากลีอีมิน บังคับให้พระเจ้ามยองจงสละบัลลังก์และเนรเทศออกไป และตั้งจพระเจ้าชินจง (신종, 神宗) พระอนุชาเป็นกษัตริย์แทน

นับตั้งแต่แชร์ชุงฮอนเป็นต้นไป ผู้นำทหารตระกูลแชร์จะปกครองโครยอไปสี่รุ่นเหมือนกับการปกครองระบบโชกุนของญี่ปุ่นที่โชกุนมีอำนาจมากกว่าราชสำนักและกษัตริย์ แต่ใน ค.ศ. 1204 พระเจ้าชินจงก็สละบัลลงก์ให้พระเจ้าฮีจงพระโอรส ซึ่งทรงขับเคี่ยวแก่งแย่งอำนาจกับชเวชุงฮอนมานาน พระเจ้าฮีจงทรงพยายามที่จะลอบสังหารแชร์ชุงฮอนใน ค.ศ. 1211 แต่ไม่สำเร็จและทรงถูกแชร์ชุงฮอนปลดจากบัลลังก์ และตั้งพระเจ้าคังจงพระโอรสเป็นกษัตริย์ จะเห็นได้ว่าอำนาจของผู้นำทหารโครยอมีมากจนสามารถปลดและตั้งกษัตริย์ได้ตามใจชอบ หลังจากชเวอีถูกยึดอำนาจ และถูกยึดอำนาจจากผู้ตรวจการ คิม จุน (ที่ปรึกษาคนสนิทของ*ชเวอู)

รายนามผู้นำเผด็จการทหารโครยอ

  • จองจุงบู (정중부, 鄭中夫 ค.ศ. 1170 - ค.ศ. 1179)
  • คยองแดซึง (경대승, 慶大升 ค.ศ. 1178 - ค.ศ. 1183)
  • อีมิน (이의민, 李義旼 ค.ศ. 1183 - ค.ศ. 1197)
  • ชเวชุงฮอน (최충헌, 崔忠獻 ค.ศ. 1197 - ค.ศ. 1219)
  • ชเวอู (최우, 崔瑀 ค.ศ. 1219 - ค.ศ. 1249)
  • ชเวฮัง (최항, 崔沆 ค.ศ. 1249 - ค.ศ. 1257)
  • ชเวอี (최의, 崔竩 ค.ศ. 1257 - ค.ศ. 1258)
  • คิมจุน([김준],金俊 ค.ศ.1258 - ค.ศ. 1268)

การยึดครองของมองโกล แก้

ใน ค.ศ. 1225 โอเกไตข่าน (Ögedei Khan) ส่งแม่ทัพซาร์ไต (Sartai) นำทัพมองโกลเข้าบุกโครยอ ราชสำนักย้ายหนีไปที่เกาะคังฮวา ผู้นำทหารชเวอู (최우, 崔瑀) พยายามจะสู้รบต้านทานพวกมองโกล ทัพมองโกลใช้เวลาประมาณ 30 ปี ในการปราบคาบสมุทรเกาหลี ใน ค.ศ. 1236 พระเจ้าโคจง (고종, 高宗) ทรงให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกเสียใหม่ เรียกว่า ไตรปิฎก โคเรียนะ (팔만대장경, 八萬大藏經, Tripitaka Koreana) เพราะฉบับเก่าถูกพวกมองโกลทำลายจนหมดสิ้น เก็บไว้ที่วัดแฮอินซา (해인사, 海印寺) จนถึงปัจจุบัน เมื่อ ค.ศ. 1254 แม่ทัพจาแลร์ไต (Jalairtai) นำทัพมองโกลบุกเกาหลีเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด ชาวโครยอล้มตายจำนวนมากในขณะที่ราชสำนักอยู่อย่างสุขสบายที่เกาะคังฮวา ใน ค.ศ. 1258 ผู้นำทหารชเวอูถูกลอบสังหาร ทำให้ฝ่ายทหารที่จะต้านพวกมองโกลอ่อนแอและฝ่ายพลเรือนที่สนับสนุนให้ดำเนินนโยบายสันติภาพกับมองโกลขึ้นมามีอำนาจ จนในรัชสมัยของพระเจ้าวอนจง (원종, 元宗) โครยอได้ยอมจำนนต่อพวกมองโกลอย่างเป็๋นทางการใน ค.ศ. 1270 และส่งบรรณาการให้ราชวงศ์หยวนจักรพรรดิกุบไลข่าน (Kublai Khan) ขณะที่ขุนนางฝ่ายทหารบางคนยังไม่ยอมแพ้ ก่อกบฏซัมบยอลโช (삼별초, 三別抄) อยู่ที่เกาะทัมนาเพื่อต้อต้านการยึดครองของมองโกลแต่ก็ถูกปราบในที่สุด

อาณาจักรโครยอกลายเป็นประเทศราชของราชวงศ์หยวน องค์ชายโครยอต้องเสด็จไปยังกรุงปักกิ่งแต่พระเยาว์เพื่อรับการสอนและการปลูกฝังแบบชาวมองโกล รวมทั้งรับพระนามภาษามองโกลและอภิเษกกับเจ้าหญิงมองโกลด้วย เนื่องจากพระจักรพรรดิราชวงศ์หยวนนั้นใช้พระนามที่พระสุสาน (묘호, 廟號) เป็นพระนามที่ใช้เรียกพระจักรพรรดิ เพื่อป้องกันความสับสนจึงได้ห้ามกษัตริย์โครยอไม่ให้มีพระนามที่พระสุสานอีก แต่พระราชทานพระนามให้ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ชุง" (충, 忠) แปลว่า จงรักภักดี กุบไลข่านได้ใช้โครยอเป็นฐานในการรุกรานญี่ปุ่นสองครั้งใน ค.ศ. 1274 และ ค.ศ. 1281 แต่ไม่สำเร็จ

ช่วงเวลาที่เกาหลีอยู่ภายใต้การยึดครองของมองโกลนั้นเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีมีการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศจีนซึ่งพระราชวงศ์และชนชั้นปกครองของโครยอล้วนแต่เดินทางไปเมืองปักกิ่งและนิยมชมชอบวัฒนธรรมมองโกล ชนชั้นสูงพูดภาษามองโกล มีชื่อเป็นภาษามองโกล และสวมใส่เสื้อผ้ามองโกลเป็นแฟชั่น ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเกาหลีต่อมาในสมัยราชวงศ์โจซอน ที่สำคัญที่สุดคือ การเข้ามาของลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ของจูจื่อ (朱熹) ปราชญ์สมัยราชวงศ์ซ้อง ซึ่งกำลังรุ่งเรืองอยู่ในประเทศจีนขณะนั้น ได้กลายเป็นที่นิยมของชนชั้นสูงของเกาหลีแทนที่พระพุทธศาสนา

จนกระทั่งเมื่อราชวงศ์หยวนอ่อนแอลง พระเจ้าคงมิน (공민왕, 恭愍王) ได้ทรงทำการกวาดล้างขุนนางเกาหลีที่ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์หยวนใน ค.ศ. 1356 ได้แก่คีชอล (기철, 奇轍) ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระจักรพรรดินีคี (奇皇后) พระจักรพรรดินีฉีจึงทรงส่งทัพมาบุกโครยอเพื่อแก้แค้นแทนพระเชษฐาแต่พระเจ้าคงมินก็ทรงสามารถเอาชนะทัพมองโกลได้ และหยุดการส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์หยวน ต่อมาใน ค.ศ. 1368 ราชวงศ์หยวนถูกล้มลงโดยราชวงศ์หมิง พระเจาคงมินจึงทรงหันไปสวามิภักดิ์ราชวงศ์ใหม่ของจีน

สิ้นสุดโครยอ แก้

พระเจ้าคงมินทรงถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. 1374 โดยกลุ่มขุนนางที่ได้รับการสนับสนุนจากมองโกล และยกเอาพระเจ้าอู (우왕, 禑王) ขึ้นเป็นกษัตริย์แทน ราชสำนักดำเนินนโยบายหันเข้าหาพวกมองโกลอีกครั้ง จนใน ค.ศ. 1388 ชเวยอง (최영, 崔瑩) และลีซองกเย (이성계, 李成桂)ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากกลุ่มขุนนาง ชเวยองเห็นว่าควรส่งกองทัพไปบุกจีนราชวงศ์หมิงเพื่อกำจัดอิทธิพลของราชวงศ์หมิงออกไปจากเกาหลี แต่ลีซองกเยกลับไม่เห็นด้วยเพราะราชวงศ์หมิงในขณะนั้นแข็งแกร่งมาก เมื่อนำทัพไปถึงแม่น้ำยาลูแล้ว ลีซองกเยก็เปลี่ยนใจหันหลังกลับมาบุกพระราชวังสังหารชเวยองและถอดพระเจ้าอูจากบัลลังก์

ลีซองกเยตั้งพระเจ้าชางพระโอรสของพระเจ้าอูขึ้นเป็นกษัตริย์แทน แต่ด้วยพระชาติกำเนิดที่ไม่แน่นอนของทั้งสองพระองค์ลีซองกเยจึงปลดพระเจ้าชาง (창왕, 昌王) และสำเร็จโทษสองกษัตริย์พ่อลูก แล้วตั้งพระเจ้าคงยาง (공양왕, 恭讓王) ขึ้นเป็นกษัตริย์ ใน ค.ศ. 1392 ลีซองกเยก็ได้ปลดพระเจ้าคงยาง ประกาศล้มราชวงศ์โครยอ ปราบดาภิเษกตนเองเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ คือ ราชวงศ์โจซอน (조선, 朝鮮)

ศิลปวัฒนธรรมสมัยโครยอ แก้

ในยุคอาณาจักรโครยอ เมืองหลวงคือ แคช็อง เป็นเมืองที่ทำการติดต่อทำการค้าขายกับนานาชาติทั้งจีน, ญี่ปุ่น ตลอดจนถึงภูมิภาคอาหรับ และแอฟริกา มีศาสนาพุทธแบบมหายานเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ผสมด้วยลัทธิความเชื่ออื่น ๆ เช่น ขงจื๊อ, เต๋า ตลอดจนประเพณีและความเชื่อพื้นบ้าน ถือเป็นอาณาจักรที่เปิดเสรี มีสิทธิความเท่าเทียมทางเพศค่อนข้างมาก ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้ มีการอาบน้ำรวมหมู่กันในที่สาธารณะ รวมถึงมีพิธีสมรสกันในหมู่เครือญาติกันด้วยแม้แต่ในเชื้อพระราชวงศ์[1]

พุทธศาสนา แก้

 
พระภิกษุชินุล (Jinul) ผู้ก่อตั้งสำนักโชกเยของนิกายซ็อน ซึ่งเป็นพุทธศาสนาสำนักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน

ในยุคโครยอพุทธศาสนานิกายมหายานของเกาหลีเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีความต่อเนื่องมาจากพุทธศาสนาของยุคชิลลารวม พระเจ้าแทโจทรงเชื่อว่าราชวงศ์โครยอสามารถประดิษฐานได้เป็นผลจากการยึดมั่นในพุทธศาสนา ราชสำนักโครยอจึงสนับสนุนและอุปถัมป์พุทธศาสนา

ในยุคโครยอพุทธศาสนานิกายซ็อน (선, 禪) หรือนิกายฌานตรงกับนิกายเซ็นซึ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติการฝึกจิตเรืองอำนาจขึ้นมาในยุคโครยอ พุทธศาสนานิกายซ็อนเข้ามาในเกาหลีตั้งแต่สมัยอาณาจักรชิลลารวม นำไปสู่การจัดตั้งระบบของวัดในนิกายซ็อนเก้าแห่งในเกาหลีเรียกว่า คูซัน (九山) หรือนวบรรพต อย่างไรก็ตามนิกายซ็อนต้องเผชิญกับการแข่งขันและการต่อต้านจากนิกายคันถธุระต่างๆที่เรียกรวมกันว่านิกายกโย (教) ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเกาหลีมาแต่เดิมเช่นนิกายโยคาจาร นิกายแดนบริสุทธิ์สุขาวดี และนิกายฮวาอ็อม (華嚴) ในช่วงต้นของยุคโครยอมีความพยายามที่จะประนีประนอมระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระหรือนิกายซ็อน พระภิกษุคยูนยอ (균여, 均如) ยกนิกายฮวาอ็อมหรือนิกายหัวเหยียน (จีน: 華嚴; พินอิน: Huáyán) ขึ้นมาเป็นทฤษฎีสำหรับผู้ปฏิบัตินิกายซ็อนได้ศึกษา ซึ่งนิกายฮวาอ็อมเน้นการศึกษาอวตังสกสูตร เป็นการร่วมมือกันระว่างนิกายฮวาอ็อมซึ่งเป็นคันถธุระและนิกายซ็อน ต่อมาพระภิกษุอีช็อน (의천, 義天) เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อนำนิกายเทียนไถมาสู่โครยอ นำไปสู่การจัดตั้งนิกายช็อนแท (천태, 天台) ซึ่งเป็นนิกายสายวิปัสสนาธุระขึ้นมาแข่งขันกับนิกายซ็อนเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายช็อนแทและนิกายซ็อนนำไปการจัดระเบียบพุทธศาสนาในโครยอเสียใหม่ เกิดการตั้งระบบ "คันถธุระห้าสำนักและวิปัสสนาธุระสองสำนัก" (Five doctrinal schools and Two meditational schools)

นิกายคันถธุระห้าสำนักประกอบด้วย:

  • นิกายฮวาอ็อม มาจากนิกายหัวเหยียนของจีน เน้นเรื่องการศึกษาอวตังสกสูตร
  • นิกายพ็อปซัง มาจากนิกายฝ่าเซี่ยง (จีน: 法相; พินอิน: Fǎxiàng) ของจีน แปลว่าจิตเท่านั้นที่เป็นจริง มาจากนิกายโยคาจาร (Yogācāra) หรือนิกายวิชญาณวาท
  • นิกายพ็อปซอง (法性) ยึดหลักคำสอนของพระภิกษุวอนฮโยในยุคชิลลารวม
  • นิกายกเยยุล (계율, 戒律) หรือนิกายวินัย เน้นเรื่องการศึกษาพระธรรมวินัย
  • นิกายยอลบัน (涅槃) หรือนิกายนิพพาน เน้นการศึกษามหายานมหาปรินิรวาณสูตร

นิกายวิปัสสนาธุระสองสำนักประกอบด้วย;

  • นิกายซ็อน
  • นิกายช็อนแท

ในช่วงกลางยุคโครยอพุทธศาสนานิกายซ็อนฝ่ายวิปัสสนาธุระรุ่งเรืองควบคู่กับนิกายฮวาอ็อมฝ่ายคันถธุระ พระภิกษุชินุล (지눌, 知訥 ค.ศ. 1158-1210) ซึ่งเป็นพระภิกษุนิกายซ็อนผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคโครยอ จัดตั้งสำนักโชกเย (조계, 曹溪) ขึ้นในค.ศ. 1190 ที่วัดซงกวังซา (송광사, 松廣寺) บนเขาโชกเย สำนักโชกเยส่งเสริมสังคมโครยอให้เป็น "สังคมแห่งสมาธิและปัญญา" สำนักโชกเยเป็นพุทธศาสนาสำนักที่มีจำนวนของวัดมากที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับเดิมของโครยอถูกทำลายไประหว่างการรุกรานของมองโกล ในค.ศ. 1236 พระเจ้าโคจงมีพระราชโองการให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับใหม่เรียกว่าไตรปิฎก โคเรียนะ (Tripitaka Koreana) โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำเผด็จการทหารชเวอูและชเวฮัง เก็บรักษาไว้ที่วัดแฮอินซามาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงปลายยุคโครยอเวลาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมองโกลราชวงศ์หยวน บรรดาขุนนางชนชั้นปกครองและนักปราชญ์ของโครยอได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ทำให้พุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักโครยอน้อยลงแต่ยังคงรุ่งเรืองและดำรงอยู่ พระภิกษุแทโกโบอู (太古普愚) เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อศึกษานิกายฌานสำนักหลินจี่ (จีน: 臨濟; พินอิน: Línjì) กลับมาเผยแพร่ในโครยอ

รายพระนามกษัตริย์ราชวงศ์โครยอ แก้

พระนามเดิม พระนามหลังสิ้นพระชนม์ ช่วงเวลาครองราชย์ ( ค.ศ.)
วัง กอน แทโจ 918 - 943
วัง มู ฮเยจง 943 - 945
วัง โย จองจง 945 - 949
วัง โซ ควางจง 949 - 975
วัง ยู คยองจง 975 - 981
วัง ชี ซองจง 981 - 997
วัง ซง มกจง 997 - 1009
วัง ซุน ฮย็อนจง 1009 - 1031
วัง ฮึม ทอกจง 1031 - 1034
วัง ฮย็อง จองจง 1034 - 1046
วัง ฮวี มุนจง 1046 - 1083
วัง ฮุน ซุนจง 1083
วัง อุน ซอนจง 1083 - 1094
วัง อุก ฮอนจง 1094 - 1095
วัง ฮึย ซุกจง 1095 - 1105
วัง อู เยจง 1105 - 1122
วัง แฮ อินจง 1122 - 1146
วัง ฮย็อน อีจง 1146 - 1170
วัง โฮ มยองจง 1170 - 1197
วัง ทัก ชินจง 1197 - 1204
วัง ยอง ฮึยจง 1204 - 1211
วัง โอ คังจง 1211 - 1213
วัง ชอล โคจง 1213 - 1259
วัง ชิก วอนจง 1259 - 1274
วัง กอ ชุงนยอล 1274 - 1308
วัง จัง ชุงซอน 1308 - 1313
วัง มัน ชุงซุก 1313 - 1330

และ 1332 - 1339

วัง จอง ชุงฮเย 1330 -1332

และ 1339 - 1344

วัง ฮึน ชุงมก 1344 - 1348
วัง จอ ชุงจอง 1348 - 1351
วัง จอน คงมิน 1351 - 1374
วัง อู - 1374 - 1388
วัง ชาง - 1388 - 1389
วัง โย คงยาง 1389 - 1392

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ข้ามมิติ ลิขิตสวรรค์ Special". ช่อง 3. 2017-01-18. สืบค้นเมื่อ 2017-01-21.