นิกายโชเก หรือคณะโชเก (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ แทฮันพุลคโยโชกเยจง - 대한불교조계종, 大韓佛敎 曹溪宗) คือคณะสงฆ์เกาหลีใต้ฝ่ายมหายานที่รักษาพระปาติโมกข์ของนิกายธรรมคุปต์อย่างเคร่งครัด สืบทอดธรรมเนียมสำนักวิปัสสนา หรือสำนักซอน (เซ็น) และศึกษาพระสูตรของจนิกายโบราณต่างๆ เช่น อวตังสกสูตรของนิกายฮวาออม รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติของนิกายสุขาวดีดีสายเกาหลี [1] ชื่อนิกายนั้นมาจากชื่อของหมู่บ้านเดิมของพระฮุ่ยเหนิง สังฆปรินายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายฉาน หรือนิกายเซ็น หมู่บ้านนั้นชื่อเฉาซี (曹溪) ในภาษาจีนกลางยุคใหม่ ในภาษาจีนยุคกลางอ่านว่า โชไก [2] ปัจจุบันคณะโชเกมีศูนย์กลางการบริหารอยู่ที่วัดโชเกซา โซล ประเทศเกาหลีใต้

เกาหลีใต้ (รวมถึงเกาหลีเหนือ) แต่เดิมนั้นมีคณะสงฆ์เดียว รักษาพระธรรมและคำสอนจากบูรพาจารย์มาตั้งแต่ยุคโครยอ มีปฐมบูรพาจารย์ 2 ท่าน คือพระโพโจ จินุล และพระแทโก โพอู ในช่วงราชวงศ์โชซอน แม้คณะสงฆ์จะรวมเป็นคณะเดียว แต่ยังคงธรรมเนียมวิปัสสนากรรมฐานแบบสำนักซอน ซึ่งต่อมาเป็นรากฐานของคณะโชเก ในช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ได้มีการนำธรรมเนียมของศาสนจักรญี่ปุ่นมาใช้ โดยการบีบบังคับให้คณะสงฆ์เกาหลีมีเหย้าเรือน มีบุตรหลาน และสืบทอดวัดไปถึงทายาท [3] แต่ยังมีกลุ่มหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม ต่อสู้กับแรงกดดันมาตลอด หลังจากประเทศได้รับเอกราช พระภิกษุกล่มนี้ ริเริ่มขบวนการปฏิรูปพระศาสนา เชิดชูการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัยอย่างเคร่งครัด และส่งเสริมการปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษณ์ คณะนี้เรียกตัวเองว่า คณะโชเก ส่วนอีกคณะเรียกว่าแทโก หรือนิกายแทโกยังคงธรรมเนียมสมัยอาณานิคมญี่ปุ่น โดยคำสอนของท่านจินุลคือ การบรรลุธรรมอย่างฉับพลันด้วยการปฏิบัติความเพียรอย่างค่อยเป็นค่อยไป [4]

ความแตกต่างระหว่าง คณะโชเกและคณะแทโกก็คือ ฝ่ายแรก ถือวินัยครบถ้วน ถือพรหมจรรย์ไม่ย่อหย่อน ครองสังฆาฏิสีกรักหรือสีแก่นขนุน ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลจากคณะสงฆ์ไทย เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ 50 - 70 คณะโชเก ติดต่อมายังประเทศไทยเพื่อขอให้ช่วยฟื้นฟูพระศาสนาบ่อยครั้ง มีการบวชข้ามนิกายกันในบางกรณีแม้จะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก และสีของจีวรยังได้รับส่งมอบต่อกัน ด้วยเชื่อว่าพระสงฆ์ไทยยังรักษาพระวินัยเคร่งครัด นอกจากประเด็นเรื่องสีจีวรแล้ว ในคณะโชเกเองก็ยังเป็นปัญหา เนื่องจากส่วนหนึ่งยังนิยมครองสังฆาฏิแบบย่อ คือทำขนาดเท่ากับย่ามพระ อันเป็นธรรมเนียมที่ญี่ปุ่นนำเผยแพร่ ต้องใช้เวลานานพอควรที่จะส่งเสริมให้พระภิกษุหันกลับมาครองสังฆาฏิเต็มอีกครั้ง [5]

อ้างอิง แก้

  1. Carter J. Eckert (Author), Ki-Baik Lee, Young Ick Lew, Michael Robinson, Edward W. Wagner (1991). Korea Old And New: A History. Ilchokak Publishers. p. 94. ISBN 0962771309.
  2. Buswell, Robert E. (1993). "Chapter 1: Buddhism in Contemporary Korea". The Zen Monastic Experience. Princeton University Press. ISBN 069103477X.
  3. Sorensen, Henrik Hjort (1992). Ole Bruun, Arne Kalland, Henrik Hjort Sorensen, ed. Asian perceptions of nature. Nordic Institute of Asian Studies. ISBN 978-87-87062-12-1.
  4. Buswell, Robert E. (1993). "Chapter 1: Buddhism in Contemporary Korea". The Zen Monastic Experience. Princeton University Press. ISBN 069103477X.
  5. โรเบิร์ต อี บัสเวลส์ จูเนียร์, ประสบการณ์ชีวิตพระวัดเซน