นิกายแทโก (ฮันกึล: 태고종, ฮันจา: 太古宗) เป็นหนึ่งใน 2 คณะนิกายพุทธศาสนาในเกาหลีใต้ จัดเป็นสายหนึ่งของนิกายฉาน หรือนิกายซอน (เซ็น) สืบเนื่องจากแต่เดิมนั้นเกาหลีมีเพียงคณะนิกายเดียว แต่หลังตกเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นแล้ว พุทธบริษัทญี่ปุ่นได้นำส่งเสริมแกมบังคับให้คณะสงฆ์เกาหลีแต่งงานมีครอบครัว ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคณะสงฆ์ญี่ปุ่น ในช่วงเวลา 30 ปีที่ตกเป็นอาณานิคม มีทั้งฝ่ายคล้อยตาม และฝ่ายต่อต้าน ทำให้ในทางปฏิบัติคณะสงฆ์เกาหลีแยกเป็น 2 คณะ คือคณะที่รักษาพรหมจรรย์ และคณะที่ไม่รักษาพรหมจรรย์

เมื่อเกาหลีใต้ได้เอกราชแล้ว ประธานาธิบดี อี ซึง-มัน จึงออกกฎหมายแยกคณะสงฆ์ชัดเจนในทางนิตินัย กลายเป็นนิกายโชเก และนิกายแทโก [1] คณะสงฆ์ทั้ง 2 ถือปราติโมกษ์ (หรือ "ปาฏิโมกข์" ในภาษาบาลี) ของนิกายธรรมคุปต์ ภิกษุมีสิกขาบท 250 ข้อ ถือศีลโพธิสัตว์ครุกาบัติ 10 ข้อ และลหุกาบัติ 48 ข้อ รวมเป็น 308 ข้อ เช่นเดียวกับภิกษุในจีนและเวียดนาม แต่คณะแทโกบางส่วนยังไม่ยอมสละธรรมเนียมญี่ปุ่น จึงบูชาปราติโมกษ์แต่มิได้ถือ หากไพล่ไปถือแต่ศีลโพธิสัตว์แทน จึงยังคงมีเหย้าเรือนเหมือนฆราวาส หากแต่โกนศีรษะและครองจีวรเหมือนบรรพชิต กระนั้นก็ตาม มีคณะแทโกสายเคร่งครัด ถือปราติโมกษ์เคร่งครัด รักษาพรหมจรรย์เหมือนคณะโชเก คิดเป็นสัดส่วน 40% อีก 60% ที่เหลือเป็นกึ่งฆราวาส กึ่งบรรพชิต

โดยคำสอนแล้วนิกายนี้เหมือนกับนิกายโชเก คือการสืบทอดการปฏิบัติแบบนิกายซอน นอกจากนี้ยังมีการสืบทอดพิธีกรรมแบบโบราณบางอย่างที่นิกายโชเกไม่มี เช่นพิธียองซานแจ (영산재) หรือการจำลองเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสัทธรรมปุณฑรีกสูตร มีการประกอบดนตรี และการร่ายรำแบบโบราณ สมัยราชวงศ์โครยอ ถือเป็นมรดกที่แตะต้องมิได้ของชาติเกาหลีใต้[2] [3]

ลักษณะพิเศษอีกประการของนิกายแทโก คือครองสังฆาฏิสีแดง อันเป็นสีดั้งเดิมของคณะสงฆ์เกาหลีแต่โบราณ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยท่านแทโก โพอู คณาจารย์นิกายซอนในสมัยราชวงศ์โครยอ ซึ่งนิกายแทโก ถือเป็นบูรพาจารย์ท่านสำคัญ[4]

อ้างอิง

แก้
  1. Chanju Mun. Purification Buddhist Movement, 1954-62: The Recovery of Traditional Monasticism from Japanized Buddhism in South Korea. ใน Hsi Lai Journal of Humanistic Buddhism. Vol 8 (2007) หน้า 263
  2. 나무와종이, 한국의전통공예. 국립민속박물관. 2004. p. 323. Retrieved 8 April 2013.
  3. "Yeongsanjae". Intangible Heritage List and Register. UNESCO. Retrieved 8 April 2013.
  4. Chanju Mun. Purification Buddhist Movement, 1954-62: The Recovery of Traditional Monasticism from Japanized Buddhism in South Korea. ใน Hsi Lai Journal of Humanistic Buddhism. Vol 8 (2007)

บรรณานุกรม

แก้