หนังสือเดินทางไทย
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
หนังสือเดินทางไทย เป็นหนังสือเดินทางที่ออกให้เฉพาะประชาชนไทยเท่านั้น[1] โดยกองหนังสือเดินทางกระทรวงการต่างประเทศ อาจจะออกในประเทศไทยสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ หรือสถานกงสุลไทยทั้ง 86 แห่ง

ประวัติ
แก้ประวัติและวิวัฒนาการของหนังสือเดินทางประเทศไทย เริ่มมีหลักฐานและข้อมูลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มมีการออกเอกสารที่มีรูปแบบเพื่อใช้ในการเดินทางสำหรับคนไทยโดยออกเป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ มีการกำหนดตราประทับคือตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย หรือตราสุครีพซึ่งเป็นรูปแบบที่แน่นอนบนเอกสาร มีกำหนดอายุ 1 ปี ในระยะเริ่มแรกเอกสารเดินทางที่ทางราชการออกให้จะใช้ในข้ามเขต เมือง มณฑลภายในประเทศ ซึ่งยังไม่มีเอกสารที่ใช้สำหรับเดินทางไปต่างประเทศ
ในเวลาต่อมาซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเดินทางประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยทางราชการสยาม (ราชการไทยในปัจจุบัน) ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขต (ประเทศ) โดยกำหนดให้คนสยาม (พลเมืองไทย) ที่จะเดินทางไปเมืองต่างประเทศต้องมีจดหมายหรือหนังสือเดินทางสำหรับตัวทุกคนจากเจ้าเมือง หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้หนังสือเดินทางไปต่างประเทศในลักษณะเป็นหนังสือเดินทางที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า โดยหน้าแรกเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง ส่วนหน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือหนังสือเดินทาง ซึ่งประกอบด้วยรูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง และมีอายุการใช้งาน 1 ปี
ในสมัยนั้นหนังสือเดินทางเรียกกันว่าเอกสารเดินทางประเภทตราเดินทาง เพื่อใช้เป็นหนังสือแสดงตัวสำหรับเดินทางไปในหัวเมือง ตามคำร้องขอของสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศในไทย หรือเป็นการออกให้แก่คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการสลักท้องตราประทานหรือตราเดินทางลงในเอกสารเดินทาง ผู้มีอำนาจในการออกหนังสืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายระดับ ผู้ว่าราชการเมือง กรมการจังหวัด กระทรวงมหาดไทย หรือแม้แต่กำนัน ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดแน่นอน แต่ต้องได้รับคำสั่งจากเจ้าเมืองก่อน แต่ในสมัยนั้นชาวเมืองยังไม่ได้เห็นความสำคัญกับหนังสือเดินทางมากนัก เพราะยังไม่มีการตรวจลงตรา (visa) หรือละเลยที่จะตรวจลงตราทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาหนังสือเดินทางจึงเริ่มมีการพัฒนาโดยเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นตามลำดับดังนี้
- ในปีพ.ศ. 2460 รัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการออก "ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตร์ให้มีหนังสือเดินทาง" เมื่อวันที่ 17 กันยายน[2] เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการสำหรับผู้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อลดปัญหาผู้เดินทางมักจะไม่มีหนังสือเดินทาง หรือตราเดินทาง (visa) ทำให้ถูกกักกันไม่ให้เข้าประเทศ ถูกจับกุมกักขังหรือถูกส่งกลับประเทศอันเนื่องมาจากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการตรวจตราหนังสือเดินทางของคนต่างชาติอย่างเข้มงวด โดยมีการลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 23 กันยายน
- ในปีพ.ศ. 2463 ได้มีการเรียกร้องให้ใช้รูปแบบหนังสือเดินทางให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการประชุมขององค์การสันนิบาตชาติเกี่ยวกับหนังสือเดินทางที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้เข้าร่วมประชุมและลงนามรับรองข้อมติของที่ประชุมดังกล่าว
- ในปีพ.ศ. 2470 รัฐบาลไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับแรกของไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม อันเนื่องมาจากข้อตกลงในมติในที่ประชุมขององค์การสันนิบาติชาติเกี่ยวกับหนังสือเดินทางในปี พ.ศ. 2463 ทำให้เริ่มมีการปรับปรุงรูปแบบของหนังสือเดินทางใหม่ให้เป็นรูปเล่ม
- ในปี พ.ศ. 2482 มีการผลิตหนังสือเดินทางเป็นรูปเล่มปกแข็งมีขนาดใหญ่กว่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ภายในเล่มข้อมูลใช้ภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสควบคู่กัน มีการติดรูปถ่ายผู้ถือหนังสือเดินทางพร้อมลายมือชื่อ หนังสือเดินทางมีจำนวน 32 หน้าโดยในสมัยนั้นมีแผนกหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบดูแล แต่ไม่สามารถออกหนังสือเดินทางหรือต่ออายุนอกพระราชอาณาเขตสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ได้ หนังสือเดินทางมีอายุเพียง 2 ปี แม้กระนั้นเมื่อหมดอายุสามารถต่ออายุได้ 1-2 ปีแต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี โดยหนังสือเดินทางใช้ได้เฉพาะการเดินทางไปยังประเทศที่ระบุไว้ในหนังสือเดินทางเท่านั้นแต่สามารถสลักเพิ่มเติมได้ในภายหลัง ค่าธรรมเนียมฉบับละ 12 บาทสำหรับออกเล่มใหม่ ส่วนการต่ออายุปีละ 6 บาท หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยงแปลงเล็กน้อยในส่วนของสี ตราครุฑบนปกนอก และลักษณะการจัดวางข้อมูลภายใน
- ในปีพ.ศ. 2520 มีการเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลผู้ถือหนังสือเดินทางจากที่เคยใช้ภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส เปลี่ยนมาเป็นข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- ในปีพ.ศ. 2536 มีการพัฒนาในการพิมพ์รูปผู้ถือหนังสือเดินทางลงในหนังสือเดินทางด้วยระบบดิจิตอลแทนการติดรูปลงในหนังสือเดินทางโดยใช้ระบบ Digital Passport System (DPS) ทำให้อ่านได้ด้วยเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง (Machine Readable Passport)
- ในปีพ.ศ. 2538 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือเดินทางให้ข้อมูลอยู่ในหน้าเดียว
- ในปีพ.ศ. 2543 ระบบการทำหนังสือเดินทางเริ่มเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเพื่อเรียกใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎรผ่านทางคอมพิวเตอร์ทำให้ผู้ขอหนังสือเดินทางใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนยื่นขอหนังสือเดินทาง นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบการผลิตหนังสือเดินทางโดยนำเทคโนโลยีการถ่ายรูป การบันทึกข้อมูล และการพิมพ์ข้อมูลลงในเล่มโดยตรง ทั้งสองระบบนี้สามารถช่วยย่นเวลาการผลิตหนังสือเดินทางได้เป็นอย่างมากทำให้สามารถผลิตหนังสือเดินทางได้ภายในเวลา 3 วันทำการ
- ในปีพ.ศ. 2545 มีการปรับปรุงรูปแบบและเล่มหนังสือเดินทางให้ได้มาตรฐานมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบเดียวกับการพิมพ์ธนบัตร ทำให้มีคุณลักษณะป้องกันการปลอมแปลงที่เพิ่มขึ้น คุณลักษณะนี้อาจจะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจสอบ และคุณลักษณะบางอย่างที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็มีการแฝงไว้อย่างแนบเนียน นอกจากนี้ในขั้นตอนการผลิตเล่มหนังสือเดินทางจะผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีและสารเคมีที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไป ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง และมีความปลอดภัยสูง
- ในปีพ.ศ. 2548 เริ่มมีการนำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย[ต้องการอ้างอิง] โดยมีการบันทึกข้อมูลทางชีวภาพของผู้ถือหนังสือเดินทาง มีการฝังไมโครชิปที่เป็นมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มีการเพิ่มจำนวนหน้าเป็น 50 หน้า
- ในปี พ.ศ. 2561 มีการวางแผนเปลี่ยนอายุพาสปอร์ตจากเดิม 5 ปีเป็น 10 ปี รวมถึงลดระยะเวลาการรับคำร้องทำหนังสือจากเดิม 20 นาที เหลือเพียง 12 นาที และยกระดับการเก็บข้อมูลชีวมาตรให้มีการเก็บข้อมูลม่านตา จากเดิมที่ใช้เพียงใบหน้าและลายนิ้วมือเท่านั้น โดยเริ่มต้นใช้งานกลางปี พ.ศ. 2562[3][4]
หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์
แก้หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ พาสปอร์ต (e-passport) หรืออาจจะเรียกว่าหนังสือเดินทางที่บันทึกข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) เป็นหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทางกองหนังสือเดินทางเริ่มให้บริการได้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 แต่เปิดให้บริการเฉพาะผู้ทำหนังสือเดินทางประเภททูตและราชการเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เปิดให้บริการสำปรับประชาชนทั่วไปเพียงวันละ 100 เล่มเฉพาะที่กรมกงสุล และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เปิดให้บริการหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้เต็มรูปแบบทุกแห่งและทุกประเภทหนังสือเดินทาง[5] ในปัจจุบันหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้มีการใช้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอื่น ๆ
ความแตกต่างระหว่างหนังสือเดินทางรุ่นเดิมและหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่
ความแตกต่างของหนังสือเดินทางสองรุ่นนี้มี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
- มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (biometric data) ได้แก่ลายพิมพ์นิ้วมือทั้งสองข้าง (ทั่วไปจะเป็นนิ้วชี้ข้างซ้ายและขวา) โครงสร้างใบหน้าลงไว้ในไมโครชิพแบบ RFpID ที่ฝังอยู่ในหนังสือเดินทาง
- หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถอ่านข้อมูลที่มีการบันทึกข้อมูลทางชีวภาพของผู้ถือหนังสือเดินทางได้ด้วยเครื่องอ่าน (Machine Readable Passport) โดยมีการตรวจพิสูจน์โดยอัตโนมัติในการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างหนังสือเดินทางกับผู้ถือหนังสือเดินทาง
อีกทั้งยังมีข้อแตกต่างอื่น ๆ คือ
- หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่สามารถต่ออายุได้เหมือนหนังสือเดินทางรุ่นเดิมโดยจะเป็นการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่แทนเล่มเดิม
- หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่อนุญาตให้ลงบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อความใด ๆ เช่นการขอเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล ของผู้ถือหนังสือเดินทางลงในเล่มหนังสือเดินทาง เพื่อป้องกันข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างข้อมูลในหนังสือเดินทางกับข้อมูลที่บันทึกไว้แล้วในไมโครชิพซึ่งอาจะทำให้หนังสือเดินทางขาดความน่าเชื่อถือ
- หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทจะมีให้เลือกเพียงแบบเดียวคือแบบจำนวน 50 หน้าโดยไม่สามารถเพิ่มเติมหน้าได้ ต่างจากแบบเดิมที่มี 32 หน้าและสามารถเพิ่มหน้าได้ตอนหลัง
ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์
กองหนังสือเดินทางกล่าวไว้ว่าหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้มีประโยชน์มากขึ้นในหลายด้านเช่นด้านของการป้องกันการปลอมแปลงเนื่องจากต้องปลอมแปลงข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลทางชีวภาพของผู้ถือหนังสือเดินทางให้ตรงกันสองอย่างซึ่งมีความเป็นไปได้ยากทำให้สามารถสกัดกั้นขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ และปัญหาการลักลอบเข้าเมือง อีกทั้งยังทำให้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหนังสือเดินทางรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น สุดท้ายยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยทำให้หนังสือเดินทางประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
ชนิดของหนังสือเดินทางประเทศไทย
แก้หนังสือเดินทางประเทศไทยในปัจจุบันมี 4 ประเภท ดังนี้ [6]
- หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีน้ำตาล)
ออกให้สำหรับบุคคลสัญชาติไทย สำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะหนังสือเดินทางให้มีอายุไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 10 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้อีก สำหรับบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ให้มีอายุไม่เกิน 5 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้อีก
- หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม)
หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้อีก ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
- ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
- ข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ประจําอยู่ ณ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทย หรือในคณะทูตถาวรไทยประจําองค์การระหว่างประเทศในตําแหน่งอื่นที่มิใช่ตําแหน่งทางการทูต รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในความดูแลของบิดามารดาในประเทศที่ประจําอยู่ หรือทําการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
- บุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ไปราชการต่างประเทศ
- บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือในกรณีที่เห็นสมควรเป็นพิเศษ หรือเกี่ยวกับการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศ ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมอบหมาย มีอํานาจใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติให้ออกหนังสือเดินทางราชการได้
- หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด)
ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุได้อีก มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
- พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
- พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่อธิบดีกรมราชเลขานุการในพระองค์ขอไปเป็นกรณีพิเศษ
- ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
- นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
- ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
- ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
- ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
- อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
- ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ
- ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
- ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
- คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
- บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ หรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจําเป็น หรือเกี่ยวกับการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศ หรืออดีตเอกอัครราชทูต หรือในกรณีที่เห็นสมควร ให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมอบหมาย มีอํานาจใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติให้ออกหนังสือเดินทางทูตได้
- หนังสือเดินทางฉุกเฉิน (หน้าปกสีเขียว)
เดิมเรียกว่าหนังสือเดินทางชั่วคราว มีอายุไม่เกิน 1 ปี และไม่สามารถต่ออายุได้อีก จะออกให้ในกรณีที่ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยทำหนังสือเดินทางสูญหาย เสียหายจนใช้การไม่ได้หรือขาดอายุขณะอยู่ต่างประเทศ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทาง โดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทาง E-Passport ได้ อย่างไรก็ดี หนังสือเดินทางชั่วคราวมีข้อจำกัดคือ ไม่มี machine readable bar code ซึ่งหากนำไปขอวีซ่า บางประเทศอาจไม่ยอมรับ
นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ประเภทพิเศษ คือ
- หนังสือเดินทางพระ
ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม
- หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์
ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือเดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น
- เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง
เป็นเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง มีอายุไม่เกิน 6 เดือน สามารถใช้ได้ครั้งเดียว เมื่อเข้าประเทศไทยแล้วเป็นอันหมดอายุไม่สามารถต่ออายุได้อีก ให้แก่บุคคลในกรณี ดังต่อไปนี้
- เมื่อหนังสือเดินทางของบุคคลนั้นถูกยกเลิก
- เมื่อบุคคลนั้นไม่มีหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางสูญหาย หรือเสียหายจนใช้การไม่ได้ หรือหนังสือเดินทางขาดอายุ แต่มีหลักฐานอื่นเพียงพอที่จะทำให้ผู้ออกเอกสารเชื่อได้ว่าบุคคลผู้นั้นมีสัญชาติไทย และประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วนโดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้แทนได้
ลักษณะทางกายภาพ
แก้หนังสือเดินทางประเทศไทยสำหรับประชาชนทั่วไปรุ่นปัจจุบันจะมีสีน้ำตาลโดยมีตราครุฑอยู่ตรงกลางที่ปกด้านหน้า และคำว่า "หนังสือเดินทาง ประเทศไทย" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ด้านบนสุด ส่วนคำว่า "THAILAND PASSPORT" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ใต้ตราครุฑ ด้านล่างสุดจะเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) อักษรและสัญลักษณ์ที่หน้าปกเป็นสีทอง
ขนาด
แก้หนังสือเดินทางมีขนาดกว้าง 8.5 เซนติเมตร ยาว 12.5 เซนติเมตร มีจำนวนหน้าทั้งหมด 66 หน้า
ข้อมูลจำเพาะผู้ถือหนังสือเดินทาง
แก้หนังสือเดินทางประเทศไทยจะมีข้อมูล 2 ภาษา เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้
- รหัส (Type): 'P' อักษรย่อสำหรับคำว่า "Passport"
- ประเทศ (Country Code): "THA" สำหรับประเทศไทย
- หนังสือเดินทางเลขที่ (Passport No.): มีรูปแบบเป็น A123456 หรือ AA123456 หรือ AA1234567 (ตัวอักษรหนึ่งหรือสองตัวตามด้วยตัวเลขหกหรือเจ็ดหลัก)
- นามสกุล (Surname): เป็นภาษาอังกฤษ
- คำนำหน้าชื่อ ชื่อ (Title Name): เป็นภาษาอังกฤษ
- ชื่อภาษาไทย (Name in Thai): ประกอบด้วยคำนำหน้า ชื่อ และนามสกุลเป็นภาษาไทย
- สัญชาติ (Nationality): "THAI" สำหรับประชาชนไทย
- วันเกิด (Date of birth): ในรูปแบบ DD-MMM-YYYY (วัน เดือน ปี ค.ศ.) เช่น 20 NOV 2006
- เลขประจำตัวประชาชน (Personal No.)
- เพศ (Sex): "M" สำหรับบุรุษ หรือ "F" สำหรับสตรี
- ส่วนสูง (Height): หน่วยเป็นเมตร
- สถานที่เกิด (Place of birth): โดยทั่วไปจะเป็นจังหวัดที่เกิด
- วันที่ออก (Date of issue): ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด
- ออกให้โดย (Authority): โดยทั่วไปจะเป็น "MINISTRY OF FOREIGN AFFAIRS"
- วันที่หมดอายุ (Date of expiry): ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด โดยจะหมดอายุในอีก 5 ปีให้หลังจากวันที่ทำ
- ลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง (Signature of bearer)
หมายเหตุหนังสือเดินทาง
แก้หนังสือเดินทางส่วนใหญ่จะมีหมายเหตุจากประเทศที่เป็นผู้ออกหนังสือเดินทางให้โดยเป็นการชี้แจงว่าผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นพลเมืองของประเทศนั้นและขอความกรุณาให้พลเมืองของประเทศตนสามารถผ่านเข้าไปในประเทศได้และได้รับการปฏิบัติต่อผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของนานาชาติ หมายเหตุสำหรับหนังสือเดินทางประเทศไทยมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยมีข้อความว่า
- The Minister of Foreign Affairs of Thailand hereby requests all whom it may concern to permit the citizen/national of the Kingdom of Thailand named herein to pass freely without delay or hindrance and to give all lawful aid and protection.
- This passport is valid for all countries and area.
ความหมายภาษาไทย
แก้- กระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทยจักร้องขอ ณ โอกาสนี้ยังผู้เกี่ยวข้อง ได้ยินยอมให้ประชาชน/ราษฎรแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ปรากฏนาม ณ ที่นี้ ได้ผ่านไปโดยเสรี มิให้ล่าช้าฤๅกีดกั้น ทั้งโปรดอนุเคราะห์และปกป้องโดยนิติธรรม
- หนังสือเดินทางนี้มีผลแก่ทุกประเทศแลดินแดน
ภาษา
แก้ภายในหนังสือเดินทางประกอบด้วยรายการข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ค่าธรรมเนียม
แก้- หนังสือเดินทางอายุ 5 ปี เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท เล่มด่วนฉบับละ 3,000 บาท
- หนังสือเดินทางอายุ 10 ปี เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,500 บาท เล่มด่วนฉบับละ 3,500 บาท
- หนังสือเดินทางพระสงฆ์ หนังสือเดินทางราชการ เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท
- หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 500 บาท (หนังสือเดินทางอายุ 3 ปี)[7]
รายชื่อประเทศและดินแดนที่ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทย
แก้รายชื่อประเทศและดินแดนที่ทำความตกลงโดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำการตรวจลงตรา (visa) หรือการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa on arrival) ในการเข้าประเทศเหล่านี้สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย[8][9]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ. วิวัฒนาการของหนังสือเดินทางไทย เก็บถาวร 2013-01-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 6 พฤษภาคม 2556.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ระเบียบ กต. ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548. เล่ม 122, ตอนพิเศษ 39 ง, 25 พฤษภาคม 2548.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตให้มีหนังสือเดินทาง. เล่ม 34 ตอน 0ก. 23 กันยายน 2460.
- ↑ กงสุล ชงเพิ่มอายุพาสปอร์ตเป็น 10 ปี คาดเริ่มใช้ได้กลางปีหน้า
- ↑ นักเดินทางเฮ! กรมการกงสุลเตรียมขยายอายุพาสปอร์ตจาก 5 เป็น 10 ปี
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-09. สืบค้นเมื่อ 2006-11-20.
- ↑ หนังสือเดินทางประเทศไทยแต่ละประเภท
- ↑ อนุมัติแล้ว! พาสปอร์ต 10 ปี ค่าธรรมเนียม 1,500 บาท เริ่มแล้ววันนี้
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-12. สืบค้นเมื่อ 2006-11-22.
- ↑ "ประเทศกลุ่มเชงเก้น 26 ประเทศ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-21. สืบค้นเมื่อ 2014-04-20.