โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย

(เปลี่ยนทางจาก สามเสนวิทยาลัย)

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย (ย่อ: ส.ส., SS) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษประเภทสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา

โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย
ละติน: Samsenwittayalai School
ที่ตั้ง
แผนที่
132/11 ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
ข้อมูล
ประเภทมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คำขวัญสทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา
(ศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ยังประโยชน์ให้สำเร็จ)
สถาปนา15 เมษายน พ.ศ. 2498 (69 ปี 4 วัน)
เขตการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 1
ผู้อำนวยการสถานศึกษาประจวบ อินทรโชติ
สี   สีชมพู - เขียว
คำขวัญลูกสามเสนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีน้ำใจ
เพลงเพลงมาร์ชสามเสนวิทยาลัย
ต้นไม้ประจำโรงเรียนต้นนนทรีและบัวสาย
เว็บไซต์http://www.samsenwit.ac.th

ประวัติ แก้

 
พระพุทธรูปประจำโรงเรียน

ปีการศึกษา 2494 กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการสร้างโรงเรียนฝึกหัดครูอีกแห่งหนึ่ง ที่ตำบลพญาไท อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ต่อมาเนื่องจากสภาพความจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่เรียนของนักเรียนมัธยมมีไม่เพียงพอ กระทรวงศึกษาธิการ จึงโอนโรงเรียนที่กำลังสร้างนี้ให้เป็นโรงเรียนมัธยมของ กรมวิสามัญ (ในเวลานั้น) ใช้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “โรงเรียนรางน้ำ” แต่งตั้ง นายดัด จันทนะโพธิ ปฏิบัติหน้าที่ครูใหญ่และได้ย้ายนักเรียนชาย จำนวน 57 คนที่ฝากเรียนไว้ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาสมาเรียนที่นี่ ต่อมาปีการศึกษา 2495 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ได้ตั้งชื่อโรงเรียนอย่างเป็นทางการว่าโรงเรียนศรีอยุธยา มีนายพงษ์ แสงทอง เป็นครูใหญ่คนแรกและในปีเดียวกันนั้นเองได้มีนักเรียนหญิงจำนวนหนึ่งเข้าไปเรียน แต่ไม่ได้รวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน ฝ่ายโรงเรียนหญิงได้มอบหมายให้ น.ส.เศวต จึงเจริญ เป็นครูใหญ่

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 กรมวิสามัญศึกษาได้ส่งนักเรียนชายซึ่งไม่มีที่เรียนและคุรุสภารับไว้ ตั้งแต่ชั้น ม.1-ม.6 เข้าไปเรียนเพิ่มเติมจนสถานที่คับแคบ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้จัดหาซื้อที่ดินของเอกชนมรดกของพระยาเพชรปรานี จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา เพื่อแยกโรงเรียนและเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2497 และได้ย้ายนักเรียนชายจากโรงเรียนศรีอยุธยามาเข้าเรียนเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2498 ให้ชื่อโรงเรียนอย่างเป็นทางการว่า "โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย" และแต่งตั้ง นายทิม ผลภาค เป็นครูใหญ่คนแรกเพื่อที่จะให้ครู-อาจารย์ นักเรียนเก่า ตลอดจนผู้ปกครองนักเรียนของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้ระลึกและมองเห็นความสำคัญของโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนหลายท่านมีความเห็นว่า ควรที่จะจัดงานวันที่ระลึกโรงเรียนขึ้น หากจะกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายน (วันที่ 15 เมษายน 2498 เป็นวันที่โรงเรียนได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย") เป็นวันที่ระลึกของโรงเรียน ก็ไม่สะดวกในการจัดและการนัดหมายต่าง ๆ

ในสมัยที่ อาจารย์เจือ หมายเจริญ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้มีการปรึกษากันในเรื่องนี้อย่างจริงจังจากทุกฝ่าย ด้วยเหตุผลที่ถือว่านักเรียนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จึงถือกำหนดเอาวันก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าสามเสนวิทยาลัย วันที่ 28 มกราคม เป็นวันที่ระลึกของโรงเรียนและจัดงานนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2526 และจัดให้มีขึ้นสืบต่อมาทุกปีโดยตลอด เรียกวันสำคัญนี้ว่า "วันสามเสนวิทยาลัย" กิจกรรมสำคัญที่จัดให้มีคือ การทำบุญตักบาตรพระภิกษุ จำนวน 99 รูป ร่วมกันทั้งครู-อาจารย์ นักเรียน กรรมการสมาคมนักเรียนเก่าสามเสนวิทยาลัย สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย มูลนิธิโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และผู้ปกครองนักเรียน นอกจากนั้นยังมีพิธีมอบเครื่องหมายเกียรติคุณแก่ครู-อาจารย์ นักการภารโรง ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน มีผลงานดีเด่นในแต่ละปี โดยปฏิบัติงานด้วยความวิริยะ อุตสาหะ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียนอีกกิจกรรมหนึ่งด้วยทุกปี[1]

ในปี 2505 เริ่มเปิดชั้นเรียนเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 1 (ม.7) ในปีนี้ โรงเรียนโด่งดังในด้านกีฬ่า โดยเฉพาะฟุตบอลอย่างมาก จนที่เป็นกล่าวขวัญของบุคคลภายนอกและมีแฟนคลับทีมฟุตบอลของโรงเรียนเรื่อยมา

ต่อมาในปีการศึกษา 2510 กระทรวงศึกษาธิการได้คัดเลือกโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนแรกและโรงเรียนเดียว ซึ่งใช้หลักสูตรโครงการมัธยมศึกษาแบบประสม (คมส.) และได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนสหศึกษานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปีการศึกษา 2547 โรงเรียนได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน "โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์" หรือ Mathematic & Science Enrichment Program (MSEP) เป็นปีการศึกษาแรก

ในปีการศึกษา 2548 โรงเรียนได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน "โครงการจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เป็นภาษาอังกฤษ" หรือ English Program (EP) เป็นปีการศึกษาแรก

ในปีการศึกษา 2554 โรงเรียนได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน "โครงการจัดการเรียนการสอน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์เป็นภาษาอังกฤษโดยครูไทย" หรือ English for Integrated Study (EIS) เป็นปีการศึกษาแรก

ในปีการศึกษา 2557 โรงเรียนได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน "โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น" เป็นปีการศึกษาแรก

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย แก้

ลำดับ วาระการดำรงตำแหน่ง รายนามผู้บริหาร หมายเหตุ
1. พ.ศ. 2494 - 2495 นายดัด จันทนะโพธิ์ ครูใหญ่โรงเรียนรางน้ำ
2. พ.ศ. 2495 - 2497 นายพงษ์ แสงทอง ครูใหญ่โรงเรียนศรีอยุธยา
3. พ.ศ. 2497 - 2503 นายทิม ผลภาค
4. พ.ศ. 2503 - 2507 นายจำเนียร บุญกูล
5. พ.ศ. 2507 - 2509 นายมนตรี ชุติเนตร
6. พ.ศ. 2509 - 2519 คุณหญิงสุชาดา ถิระวัฒน์
7. พ.ศ. 2519 - 2521 ว่าที่ร้อยตรี ดร.จรัญ โสตถิพันธุ์
8. พ.ศ. 2521 - 2523 นางลออศรี ชุมวรชาต
9. พ.ศ. 2523 - 2532 นายเจือ หมายเจริญ
10. พ.ศ. 2532 - 2539 นายเสรี ลาชโรจน์
11. พ.ศ. 2539 - 2542 นางอุไรวรรณ สุพรรณ
12. พ.ศ. 2542 - 2544 นายอำนาจ ศรีชัย
13. พ.ศ. 2544 - 2546 นางสาวจงกล ทรัพย์สมบูรณ์
14. พ.ศ. 2546 - 2551 นายวิศรุต สนธิชัย
15. พ.ศ. 2551 - 2553 นางรัตนา เชาว์ปรีชา
16. พ.ศ. 2553 - 2557 นางฎาทกาญจน์ อุสตัส
17. พ.ศ. 2557 - 2558 นายสุพจน์ อภิศักดิ์มนตรี
18. พ.ศ. 2558 - 2559 นายพิชยนันท์ สารพานิช
19. พ.ศ. 2559 - 2560 นายวิโรฒ สำรวล
20. พ.ศ. 2561 - 2563 ดร. สหชัย สาสวน
21. พ.ศ. 2563 - 2565 ดร.บุณยพงศ์ โพธิวัฒน์ธนัต
22. พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน นายประจวบ อินทรโชติ

สิ่งปลูกสร้าง แก้

 
อาคาร 1
  • อาคาร 1 (ตึกหนึ่ง) สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 เป็นอาคารแรกและอาคารเดียวที่สร้างพร้อมกับการก่อตั้งโรงเรียน ปัจจุบันได้รับการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี อาคารนี้ประกอบด้วย ห้องเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (เกษตรกรรม) สำนักงานของกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (แนะแนว) ห้องรับรอง ห้องประชุม ห้องศูนย์วัฒนธรรม ที่ทำการของสมาคมนักเรียนเก่าสามเสนวิทยาลัย ห้องพยาบาล ห้องแนะแนว สำนักงานงานฝ่ายบริหารการเงินและสินทรัพย์ และสำนักงานฝ่ายกิจการนักเรียน
 
อาคาร 2 และสนามหญ้า
  • อาคาร 2 (ตึกวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) เดิมเป็นอาคารไม้ทั้งหลัง ต่อมาได้งบประมาณรื้อทิ้ง และสร้างใหม่เป็นอาคาร 4 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2512 ปัจจุบันอาคารนี้เป็นอาคารวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ห้องเรียนของนักเรียนมัธยมต้นและปลายในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และนาคณิตศาสตร์ สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และสำนักงานของฝ่ายบริหารวิชาการ และฝ่ายงานทะเบียน-วัดผล หน้าอาคารนี้มีเสาธงอยู่ด้วยซึ่งเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2560 โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยได้เพิ่มยอดเสาธงให้สูงขึ้นจากเดิม
  • อาคาร 3 (ตึกสาม) เดิมเป็นเรือนไม้แถวยาว สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2497 ต่อมาได้ถูกรื้อและสร้างใหม่ด้วยเงินสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นอาคารสูง 5 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2517 ปัจจุบันประกอบด้วยห้องเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย ห้องโสตทัศนศึกษา (ห้องทวีวิชา,ขจีรัตน์และอักษราวลี) ห้องปฏิบัติการทางภาษาต่างประเทศ (ห้อง ICUP) สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคม ศาสนา และวัฒนธรรม สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้การพัฒนาผู้เรียน ชั้นล่างมีสหกรณ์โรงเรียน ห้องสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และห้องของคณะกรรมการนักเรียน ต่อมา เมื่อปีพ.ศ. 2544 ในสมัยที่นายอำนาจ ศรีชัย เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ได้สร้างส่วนต่อเติมเป็นสำนักงานผู้อำนวยการ ห้องเรียนรวม ห้องรับรอง และห้องประชุม ให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น และหลังจากนั้น เมื่อปีพ.ศ. 2554 ได้มีการปรับปรุงเพื่อสร้างธนาคารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย (สนับสนุนโดยธนาคารออมสิน)
  • อาคาร 4 (ตึกศิลปะ) เดิมเป็นอาคารศิลปศึกษา สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2506 ต่อมาได้ถูกรื้อและสร้างใหม่เป็นอาคารสูง 5 ชั้นเมื่อปีพ.ศ. 2532 ปัจจุบันเป็นห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ห้องเรียนของนักเรียนมัธยมต้นและปลาย (วิชาศิลปศึกษาทั้งหมดเรียนที่ตึกนี้) สำนักงานกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา ห้องเรียนศิลปะ ห้องเรียนนาฏศิลป์ ห้องเรียนดนตรีสากล และห้องเรียนดนตรีไทย มีทางเดิมเชื่อมติดกับอาคาร 3 และอาคาร 9 และเมื่อปีพ.ศ. 2560 ได้มีการปรับปรุงห้อง4201และห้อง4202เป็นหอศิลป์สามเสนเพื่อใช้จัดแสดงผลงานศิลปะของนักเรียนและครูโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยรวมทั้งในปีเดียวกันนั้นได้มีการปรับปรุงห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษกอีกด้วย
  • อาคาร 5 (ตึกคหกรรม) เป็นอาคาร 2 ชั้น ปัจจุบันเป็นอาคารเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (คหกรรมศาสตร์) และยังใช้ห้องด้านล่างเป็นห้องรับรองแขก และใช้ในการทานอาหารกลางวันของแขกที่มาเยี่ยมชมหรือดูงานที่โรงเรียนอีกด้วย
  • อาคาร 6 (โรงยิมส์) เป็นโรงพลศึกษา ไว้สำหรับเรียนวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา และในปีพ.ศ. 2545 ได้ก่อสร้างสนามเทนนิสขนาดมาตรฐานขึ้นแทนสนามเดิม เพื่อรองรับการเรียนการสอนในวิชาพลศึกษา รวมถึงยังเป็นห้องพักครูหมวดวิชาพลศึกษาและสุขศึกษาอีกด้วย แต่ในปัจจุบันโรงยิมนี้ได้ถูกรื้อถอนพร้อมกับอาคาร 7 เพื่อที่จะสร้างตึกเรียนหรืออาคารอเนกประสงค์ 6 ชั้น แทนที่ตึกเดิม
  • อาคาร 7 (ตึกอุต) เดิมเป็นอาคาร 2 ชั้น สำหรับการเรียนการสอนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (อุตสาหกรรมศึกษา และ ธุรกิจศึกษา) ชั้นแรก เป็นห้องเรียนวิชา งานช่าง งานเหล็ก ส่วนชั้นที่ 2 เป็นห้องงานปั้น งานเขียนแบบ และห้องปฏิบัติการของวิชาธุรกิจศึกษา ปัจจุบันอาคารหลังนี้ถูกรื้อทิ้งและกำลังสร้างเป็นอาคารหลังใหม่ นั่นคือตึกเรียนหรืออาคารอเนกประสงค์ 6 ชั้น ตามแผนจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี โดยกำหนดแล้วเสร็จประมาณต้นปี พ.ศ. 2563
  • อาคาร 8 (ตึก ศน./ตึกEP) สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2507 เดิมเป็นอาคารของหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาโรงเรียนได้รับคืนจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปีพ.ศ. 2545 และโรงเรียนปรับปรุงภายนอกและภายในอาคารใหม่ทั้งหมด ปัจจุบันเป็นห้องเรียนของโครงการจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เป็นภาษาอังกฤษ (English Program) มีห้องเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (คอมพิวเตอร์) และห้องประชุมใหญ่โครงการ English Program รวมทั้งสำนักงานฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักงานฝ่ายวิชาการ และฝ่ายธุรการ ของโครงการ English Program
  • อาคาร 9 (ตึกเก้า) เป็นส่วนต่อเติมของอาคาร 4 เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนเน้นภาษาต่างประเทศที่สอง (ฝรั่งเศส,เยอรมัน,ญี่ปุ่น,เกาหลี และ จีน) ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นอาคารสูง 4 ชั้น ชั้นที่ 1 และ 2 เป็นส่วนขยายของห้องสมุด ส่วนชั้นที่ 3 และ 4 เป็นห้องเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายที่เน้นภาษาต่างประเทศที่สอง รวมทั้งห้องปฏิบัติการทางภาษา กลุ่มภาษาต่างประเทศที่สอง
  • อาคารอเนกประสงค์ (อาคารอเนกฯ) สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2520 ด้วยเงินงบประมาณ เพื่อเป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ (ชั้นบน) และโรงอาหาร (ชั้นล่าง) สำหรับรับประทานอาหาร
  • ศาลาสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (ห้องประชาสัมพันธ์/ศาลาประชาสัมพันธ์) สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2525 สำหรับเป็นห้องประชาสัมพันธ์
  • อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2539 เป็นส่วนต่อเติมของอาคาร 2 เป็นศูนย์วิทยบริหาร ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ และห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องเรียนโครงการพิเศษ เช่น ห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ (Math Center หรือ MC) อันทันสมัย และในปัจจุบันตึกส่วนนี้ได้ถูกรื้อถอนพร้อมกับอาคาร 7 และโรงยิมส์ เพื่อที่จะสร้างตึกเรียนหรืออาคารอเนกประสงค์ 6 ชั้น แทนที่ตึกเดิม
  • อาคาร 3 ส่วนต่อเติม (ตึกปีโป้,ตึกสำนักงานผู้อำนวยการ) เดิมเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างอาคาร 1 และอาคาร 3 เป็นห้องน้ำชาย ต่อมาได้มีการปรับปรุงให้เป็นสวนหย่อม สำหรับอ่านหนังสือในสมัย นางอุไรวรรณ สุพรรณ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ และต่อมาได้สร้างเป็นอาคาร 5ชั้นเชื่อมต่อกับอาคาร 3 และชั้น 2 สามารถเชื่อมกับอาคาร 1 เป็นที่ตั้งห้องผู้อำนวยการ และในชั้น 3 เป็นห้องประชุมของโรงเรียน ในชั้น 4 คือ ห้อง Hall of Fame สำหรับชั้น 5 ซึ่งเดิมเป็นห้องโสตทัศนศึกษา (ห้องสามเสนรวมใจ) ได้ดัดแปลงเป็นท้องฟ้าจำลอง

หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอน แก้

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แก้

  • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือ ESC (ห้อง 1)
  • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ MSEP (ห้อง 2)
  • ห้องเรียนหลักสูตรทั่วไป (ห้อง 3-6)
  • ห้องเรียน EIS หรือ English for Intergrated Study (ห้อง 7-8)
  • ห้องเรียน EP หรือ English Program (ห้อง 9-12)

ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แก้

  • ห้องเรียนเน้นวิทยาศาสตร์ (ห้อง1-4)
  • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิต เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม หรือ ESMTE (ห้อง 5)
  • ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์เพิ่มเติมคอมพิวเตอร์ หรือ IMP (ห้อง 6)
  • ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ MSEP (ห้อง 7-8)
  • ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ หรือ EIS (ห้อง 9)
  • ห้องเรียนเน้นคณิตศาสตร์ (ห้อง 10)
  • ห้องเรียนเน้นภาษาต่างประเทศที่สอง (ห้อง 11-12)
  • ห้องเรียน EP เน้นภาษา และคณิตศาสตร์ (ห้อง 13)
  • ห้องเรียน EP เน้นวิทยาศาสตร์ (ห้อง 14-16)
  • ห้องเรียน พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ) (ห้อง 17)

ศิษย์เก่าและศิษย์ผู้มีชื่อเสียง แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติโรงเรียน – โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย | Samsenwittayalai School".

แหล่งข้อมูลอื่น แก้