สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี

รัฐสังคมนิยมในทวีปยุโรป (ค.ศ. 1919)

สหพันธ์สาธารณรัฐสภาสังคมนิยมฮังการี (ฮังการี: Magyarországi Szocialista Szövetséges Tanácsköztársaság)[note 2] หรือ สาธารณรัฐสภาฮังการี (ฮังการี: Magyarországi Tanácsköztársaság) เป็นสาธารณรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีอาณาเขตครอบคลุมดินแดนประมาณ 23% ของดินแดนฮังการีในอดีต ดำรงอยู่ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม 1919 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 1919 รวมระยะเวลาทั้งหมดเป็น 133 วัน สาธารณรัฐก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการเสื่อมถอยของสาธารณรัฐฮังการีที่หนึ่งในช่วงต้นปี 1919[2] สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีมีสถานะเป็นรัฐตกค้างสังคมนิยมขนาดเล็ก[3] มีหัวหน้ารัฐบาลคือซานโดร์ กอร์บอยี แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเบ-ลอ กุน กลับมีอำนาจและอิทธิพลในสาธารณรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีมากกว่า การที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับไตรภาคี ซึ่งยังคงปิดล้อมทางเศรษฐกิจในฮังการี อีกทั้งความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านดินแดน และความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมอย่างถึงแก่น ทำให้สาธารณรัฐโซเวียตล้มเหลวในเป้าหมายที่วางไว้ และถูกล้มล้างในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ก่อตั้ง บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในสาธารณรัฐโซเวียตคือ ผู้นำคอมมิวนิสต์เบ-ลอ กุน[2] ถึงแม้ว่าในช่วงแรกโครงสร้างรัฐบาลใหม่ส่วนใหญ่จะมาจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมก็ตาม[4] ระบอบใหม่นี้รวบรวมอำนาจอย่างมีประสิทธิผลในสภาปกครอง ซึ่งใช้อำนาจนี้ในนามของชนชั้นกรรมาชีพ[5][note 3]

สหพันธ์สาธารณรัฐสภาสังคมนิยมฮังการี

Magyarországi Szocialista Szövetséges Tanácsköztársaság  (ฮังการี)
เดือนมีนาคม - เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919
แผนที่แสดงอาณาเขตของราชอาณาจักรฮังการี ในเดือนพฤษภาคม - เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919
  อาณาเขตที่ควบคุมโดยโรมาเนียในเดือนเมษายน 1919
  อาณาเขตที่ควบคุมโดยโซเวียตฮังการี
  อาณาเขตของสาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก ที่จัดตั้งขึ้นหลังจากโซเวียตฮังการีครอบครอง
  อาณาเขตที่ควบคุมโดยยูโกสลาเวียและกองทัพฝรั่งเศส
                     พรมแดนของฮังการีในปี 1918                      พรมแดนของฮังการีในปี 1920
เมืองหลวงบูดาเปสต์
47°29′00″N 19°02′00″E / 47.4833°N 19.0333°E / 47.4833; 19.0333
ภาษาทั่วไปฮังการี
เดมะนิมชาวฮังการี
การปกครองสาธารณรัฐสังคมนิยม
ผู้นำโดยพฤตินัย 
• 1919
เบ-ลอ กุน[note 1]
ประธานสภาปกครองกลาง 
• 1919
ซานโดร์ กอร์บอยี
สภานิติบัญญัติสมัชชาแห่งชาติโซเวียต
ยุคประวัติศาสตร์สมัยระหว่างสงคราม
• ก่อตั้ง
21 มีนาคม 1919
9 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 1919
• สิ้นสุด
1 สิงหาคม 1919
สกุลเงินโกโรนอฮังการี
ก่อนหน้า
ถัดไป
สาธารณรัฐประชาชนฮังการี
สาธารณรัฐประชาชนฮังการี
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ฮังการี
 ออสเตรีย
 สโลวาเกีย
 โครเอเชีย
 สโลวีเนีย

ระบอบการปกครองใหม่ล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงกับไตรภาคี นำไปสู่การถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจ การปรับปรุงพรมแดนใหม่ และการยอมรับรัฐบาลใหม่โดยมหาอำนาจที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[6] สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีมีกองกำลังอาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากกรรมกรโรงงานในกรุงบูดาเปสต์ มีความพยายามฟื้นฟูดินแดนที่เคยสูญเสียไปให้แก่บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นแรงสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากทุกชนชั้นทางสังคมในฮังการี ไม่เพียงเฉพาะกลุ่มที่เอื้อประโยชน์จากระบอบนี้เท่านั้น[7] ในขั้นต้นสาธารณรัฐได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักอนุรักษนิยมที่มีแนวคิดชาตินิยม กองกำลังนิยมสาธารณรัฐได้รุกเข้าเชโกสโลวาเกียในพื้นที่สโลวาเกีย[8] แต่หลังจากความพ่ายแพ้ทางฝั่งตะวันออกต่อกองทัพโรมาเนียในปลายเดือนเมษายน ทำให้กองทัพต้องล่าถอยออกจากแม่น้ำทิสซอ[9] ต่อมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายน ได้มีการประกาศจัดตั้ง “สาธารณรัฐโซเวียตสโลวัก” โดยดำรงอยู่เพียงสองสัปดาห์ จนกระทั่งฮังการีถอนกำลังออกจากสโลวาเกียตามคำร้องขอจากไตรภาคี[8] เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม สาธารณรัฐโซเวียตเริ่มเปิดการโจมตีแนวรบของโรมาเนีย[10] แต่หลังจากนั้นโรมาเนียสามารถต้านทานการโจมตีของฮังการีได้[11] และสามารถฝ่าแนวรบของกองทัพฮังการีจนถึงบูดาเปสต์ ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม[12]

การที่รัฐบาลโซเวียตฮังการีประกาศใช้มาตรการทั้งในส่วนของนโยบายต่างประเทศและภายในประเทศ ทำให้สาธารณรัฐสูญเสียความนิยมจากประชาชนไปอย่างรวดเร็ว[13] ความพยายามของฝ่ายบริหารชุดใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยมของประชาชนอย่างลึกซึ้งได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง[14] ความพยายามที่จะเปลี่ยนฮังการีซึ่งยังคงสืบเนื่องมรดกจากสมัยราชาธิปไตยเข้าสู่สังคมแบบสังคมนิยมไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากองค์ประกอบหลายประการ กล่าวคือ สาธารณรัฐขาดเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่มีประสบการณ์ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนการวางแผนกลยุทธ์ในการบริหาร[14] ความพยายามที่จะโน้มน้าวใจชาวนากลับพบแต่ความว่างเปล่า เนื่องจากการส่งเสริมการผลิตทางการเกษตรและการบริหารเมืองในเวลาเดียวกันนั้นไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น[15] หลังจากการถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย รัฐบาลได้บังคับใช้มาตรการเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนของประชาชนอีกครั้งแต่ก็พบกับความล้มเหลวเช่นเคย[16] โดยเฉพาะมาตรการอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การส่งมอบที่ดินบางส่วนให้แก่ชาวนาโดยไม่มีการวางแผนและที่ดิน และความพยายามที่จะปรับปรุงสถานการณ์ทางการเงินและการจัดหาเสบียงอาหาร[16] ทำให้สาธารณรัฐโซเวียตฮังการีสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ไประหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม ส่งผลให้เกิดความพินาศของสาธารณรัฐพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการทหาร[16] ความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศ ทั้งสถานการณ์การเมืองและการถูกโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจจากไตรภาคี ความล้มเหลวทางการทหารในการเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และความเป็นไปไม่ได้ในการเข้าร่วมกองกำลังกับหน่วยกองทัพแดง มีส่วนทำให้สาธารณรัฐโซเวียตล่มสลาย[17] รัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยม–คอมมิวนิสต์ได้รับการสืบต่อโดยฝ่ายสังคมนิยมสายกลางเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม[4] กลุ่มคอมมิวนิสต์ลี้ภัยออกจากบูดาเปสต์หรือเดินทางออกนอกประเทศ[11]

ประวัติ แก้

การสิ้นสุดของราชาธิปไตยและการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชน แก้

 
กรุงบูดาเปสต์ระหว่างการปฏิวัติเบญจมาศ ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนฮังการีในปี 1918

ภายหลังความปราชัยของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขบวนการปฏิวัติของมวลชนซึ่งประกอบไปด้วยกรรมกร ทหาร และชาวนา ได้เริ่มแพร่กระจายเข้าไปในสังคมฮังการี ถึงขนาดที่มีตำรวจหรือหน่วยทหารบางหน่วยเข้าให้การสนับสนุน[18] จากชัยชนะของการปฏิวัติเบญจมาศ ส่งผลให้มีการแต่งตั้งมิฮาย กาโรยี เป็นนายกรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาแห่งชาติ[19] ซึ่งก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม (MSDP), พรรคหัวรุนแรงแห่งชาติ, และพรรคของกาโรยี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม[20][21] ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อาร์ชดยุกโจเซฟ เอากุสท์ ได้พยายามกดดันพระเจ้าคาร์ลที่ 4 อย่างหนัก จนในที่สุดพระองค์จึงทรงประกาศรับรองการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนตามที่สภาแห่งชาติเรียกร้อง[20] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ได้ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ ทั้งเกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการขาดแคลนอาหารภายในเมืองต่าง ๆ[22] การปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรมที่ชาวฮังการีรอคอยมานานก็ยังไม่ได้รับการดำเนินการเช่นกัน[22] แม้ว่าจะมีการประกาศยุบสภาเก่าเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงอย่างทั่วถึง แต่ก็ยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่[21]

 
การเดินทางกลับจากแนวรบหน้าของกองทัพฮังการี สาธารณรัฐประชาชนฮังการีถูกบีบบังคับให้ถอนกำลังทหารหลายแสนคนท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1918 สาธารณรัฐประชาชนฮังการีได้ประกาศจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีกาโรยีดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว[20][21] แต่ด้วยการบริหารแบบเก่าที่ไม่เป็นระเบียบ ประกอบกับเกิดความยุ่งเหยิงภายในกองทัพ ทางคณะรัฐมนตรีจึงจำต้องพึ่งพาสหภาพแรงงานในการป้องกันการแพร่ขยายของความโกลาหลภายในประเทศ[23] ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลกาโรยียังต้องจัดการกับขบวนการหรือคณะต่าง ๆ ที่ก่อตัวขึ้นทั้งจากกรรมกร ทหาร และชาวนา[23] เมื่อประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้บางส่วน เนื่องจากได้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเกษตรกรรมตามที่ให้สัญญาไว้ ซึ่งทำให้พื้นที่แถบชนบทสงบลง และมีการปลดประจำการทหารออกจากกองทัพมากกว่าหนึ่งล้านนาย แม้จะพอมีกำลังทหารในหน่วยทหารรักษาการณ์เพื่อปราบปรามความรุนแรงภายในเมืองต่าง ๆ อยู่บ้าง แต่ทหารเหล่านี้แทบไม่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่เลย[23] ฮังการียังเผชิญกับปัญหาร้ายแรงและข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่ไม่อาจสนองได้ในวิกฤติหลังสงคราม คณะรัฐมนตรีต่างต้องรับมือกับการประท้วงที่เพิ่มมากขึ้น โดยได้รับแรงสนับสนุนจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้ประณามการดำรงไว้ซึ่งความไม่เท่าเทียมของชนชั้นในฮังการี และผลักดันให้ขบวนการชาวนาและกรรมกรจำนวนมากเข้ายึดอำนาจ[21]

การก่อตั้งและการเติบโตของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี แก้

 
การแสดงสุนทรพจน์ของกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินการในช่วงระยะเวลาของการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐประชาชน การที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังสงครามได้ นำไปสู่การก่อตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1918[note 4] เบ-ลอ กุน นักสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ร่วมกันกับสมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยมและนักสังคมนิยมสายปฏิวัติในการก่อตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการี" (KMP) ขึ้น โดยมีอุดมการณ์ที่โน้มเอียงไปทางลัทธิมากซ์–เลนิน[24][25] ซึ่งต่อต้านรัฐบาลผสมสังคมนิยม-เสรีนิยม[25][26][27] พรรคคอมมิวนิสต์ไม่พึงพอใจกับผลลัพธ์ของการปฏิวัติครั้งแรก โดยพรรคพยายามที่จะระดมชนชั้นกรรมาชีพฮังการีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติครั้งที่สองโดยระบอบสังคมนิยม[24] หนังสือพิมพ์ Vörös Ujság (หนังสือพิมพ์แดง) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หลักของพรรค ได้ก่อตั้งขึ้นประมาณต้นเดือนธันวาคม โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิวัติสังคมนิยม[28] และมุ่งโจมตีเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมของรัฐบาลกาโรยี[29] ในขณะเดียวกัน พรรคได้พยายามดึงดูดการสนับสนุนจากหน่วยทหารใหม่ที่รัฐบาลกาโรยีจัดตั้งแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากยังมีชาวนาหรือกรรมกรบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ โดยเห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะให้เสี่ยงอันตรายไปจับอาวุธอีกครั้ง[24] ด้วยความกลัวว่ากองกำลังแดง (Red Guard) จะถูกควบคุมโดยสภาทหารแห่งชาติในบูดาเปสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จึงตัดสินใจติดอาวุธให้แก่ผู้สนับสนุนโดยตรง ด้วยการจัดซื้ออาวุธจากกองทัพเยอรมันที่ถอนกำลังภายใต้การสงบศึกเบลเกรดอย่างลับ ๆ[30][note 5] ความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์ในความพยายามชักจูงทหาร ทำให้การยึดอำนาจในเดือนมีนาคม 1919 แทบไม่มีการนองเลือดเลย และหน่วยงานรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วย[24] ความปั่นป่วนภายในพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เกิดขึ้นอยู่แค่ทหารเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากกรรมกร ชาวนา ชนกลุ่มน้อย และกองทหารของไตรภาคี[31]

ในช่วงปลายปี 1918 และช่วงต้นปี 1919 ความฟุ้งซ่านในการปฏิวัติและอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ[27] ภายในประเทศเริ่มมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย[32] ในช่วงปลายเดือนธันวาคม นักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เริ่มถกเถียงกันในเรื่องการครอบงำของสหภาพแรงงาน[29] กลุ่มคนว่างงาน, ทหารปลดประจำการ, นายทหารชั้นประทวน และการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสหภาพแรงงาน เป็นสิ่งที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับความนิยมอย่างสูงในฮังการี[31] ในเดือนธันวาคม รัฐบาลกาโรยีพยายามอย่างไร้ผลที่จะแย่งชิงการควบคุมหน่วยทหารจากสภาทหารในเมืองหลวง ซึ่งถูกควบคุมโดยนักสังคมนิยมโยแฌ็ฟ โปกาญ[33] เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม การประท้วงของนายทหารติดอาวุธจำนวนแปดพันนายประสบความสำเร็จ ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามถูกปลดจากตำแหน่ง[34]

การเสื่อมลงของสาธารณรัฐประชาชน แก้

 
การประท้วงในกรุงบูดาเปสต์เมื่อปลายปี 1918 การประท้วงได้ปะทุขึ้นในเมืองหลวง ซึ่งได้รับแรงหนุนโดยพรรคคอมมิวนิสต์

จากสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากไตรภาคี ทำให้กาโรยีประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมกราคม 1919 และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐ[35] สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของกาโรยีและพรรคหัวรุนแรงต่างพากันออกจากคณะรัฐมนตรี[36] ภายหลังวิกฤตการณ์ร้ายแรงของรัฐบาลในช่วงกลางเดือนมกราคม ได้มีนักสังคมนิยมสายกลางบางส่วนตัดสินใจลาออกจากรัฐบาลเพราะคำวิพากษ์วิจารณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชนชั้นนายทุนปฏิเสธที่จะปกครองเพียงลำพัง คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ถูกจัดตั้งโดยมีรัฐมนตรีที่เป็นสังคมนิยมมากขึ้น[37] รัฐบาลใหม่ของฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยมที่นำโดย เดแน็ช เบริงคีย์[35][38] ได้ให้สัญญาว่าจะทำการปฏิรูป การกระทำนี้ได้สร้างความไม่พอใจต่อสภาโซเวียต เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม สภาแรงงานในเมืองหลวงได้หารือเกี่ยวกับการปฏิรูปไร่นา แต่รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องนี้จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ และการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า[34] ในช่วงต้นเดือนมกราคม ด้วยความหวาดกลัวต่ออิทธิพลของคอมมิวนิสต์ กองบัญชาการพันธมิตรในบูดาเปสต์ได้เสนอให้จับกุมเหล่าผู้แทนสภากาชาดรัสเซีย ซึ่งเป็นกำลังสนับสนุนทางการเงินที่สำคัญของพรรค[39] ท่ามกลางความอ่อนแอของรัฐบาลและนักสังคมนิยมสายกลาง ขบวนการแรงงานได้พากันเข้าควบคุมโรงงานบางแห่งไว้ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้เรียกร้อง[40] ณ ทางตอนเหนือของฮังการี รัฐบาลได้ปราบปรามการจราจลอย่างรุนแรงโดยคนงานเหมืองในช็อลโกตอร์ยาน ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมและทางรถไฟ มีผู้เสียชีวิตนับร้อยจากการจราจลครั้งนี้[40] ในช่วงปลายเดือนมกราคม พวกนักสังคมนิยมได้ตัดสินใจขับไล่กลุ่มคอมมิวนิสต์ออกจากสภาแรงงานในเมืองหลวงและสหภาพแรงงาน[41] อย่างไรก็ตามก็ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[38]

มีการคาดการณ์ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์มีจำนวนสมาชิกประมาณสามหมื่นถึงห้าหมื่นคน[30] กิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์ในสภามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก แม้ว่าอิทธิพลของพรรคในสภาแรงงานเมืองหลวงจะมีน้อยมากก็ตาม เนื่องจากการครอบงำพรรคโดยพวกประชาธิปไตยสังคมนิยม[30] ในขณะที่พวกสังคมนิยมพยายามสร้างอิทธิพลของตนเอง เพื่อยับยั้งการเติบโตของอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในหมู่ทหาร[34] อิทธิพลของพวกสังคมนิยมเริ่มลดลงในสหภาพแรงงาน[36] ในการประชุมใหญ่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พวกสังคมนิยมได้อนุมัติมาตรการที่ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง[27] เช่น การกำหนดให้รัฐควบคุมการผลิตทั้งหมด การเก็บภาษีสำหรับชนชั้นสูงและอภิสิทธิ์ชน และการปราบปรามฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ เป็นต้น[42]

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หลังการประท้วงที่หน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยสังคมนิยม Népszava ที่จบลงด้วยการมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกหลายสิบคน[43][note 6] รัฐบาลได้จับกุมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์[43] จากความพยายามในการระงับข้อขัดแย้งระหว่างไตรภาคี[44][35][21][41] ทำให้รัฐบาลเริ่มอ่อนแอลงและไม่สามารถควบคุมกิจกรรมของพรรคอมมิวนิสต์ได้[35] พรรคได้วางแผนการจราจลเพื่อยึดอำนาจตามแบบฉบับของการก่อการกำเริบสปาตาคิสท์ในเยอรมนี โดยเพิกเฉยต่อคำแนะนำจากรัสเซีย และแผนการนี้ก็ประสบกับความล้มเหลวเช่นเคย[45] อย่างไรก็ตาม การจับกุมและการปฏิบัติอย่างทารุณก่อให้เกิดความไม่สงบเพิ่มขึ้น[44][46] ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนคอมมิวนิสต์ยังคงเคลื่อนไหวในแบบลับต่อไป[47] ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ มีการประท้วงครั้งใหญ่เพื่อสนับสนุนพรรคสังคมนิยมที่หน้ารัฐสภา[43] แต่ทั้งรัฐสภาและรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้โอกาสครั้งนี้ในการฟื้นฟูความนิยมจากประชาชนที่หายไป[46] รัฐมนตรีสังคมนิยมไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจเรียกร้อง[46] เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้ฟื้นฟูกฎหมายปราบปรามผู้ที่เป็นศัตรูของรัฐตามที่รัฐมนตรีสังคมนิยมเรียกร้อง โดยเป็นกฎหมายที่เคยใช้ในช่วงสงคราม[48] ในขณะเดียวกัน ความคาดหวังของรัฐบาลในการได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจก็กลายเป็นเรื่องลวง[35]

สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป และการมาถึงของฤดูเพาะปลูกทำให้ในชนบทเกิดความโกลาหล พรรคคอมมิวนิสต์ประณามการขาดการเปลี่ยนแปลงและการบำรุงรักษาของเจ้าของที่ดิน และสนับสนุนให้ชาวนายึดที่ดิน[48] ทางรัฐบาลที่เวลานี้ไม่มีกองกำลังทหารก็ไม่สามารถยับยั้งการยึดครองที่ดินโดยชาวนาได้ และมาตรการในการปฏิรูปก็หละหลวม ส่งผลให้มีเจ้าของที่ดินจำนวน 2,700 ราย ได้รับผลกระทบ[48] ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ประเทศเพื่อนบ้านของฮังการีได้เข้ายึดครองอาณาเขตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อตกลงที่ไม่สามารถลงรอยกันได้ระหว่างไตรภาคี และการที่รัฐบาลไม่มีมาตรการทางสังคมใด ๆ ทำให้กระแสความสังคมนิยมหัวรุนแรงเพิ่มอิทธิพลมากขึ้น[49] เมื่อวันที่ 3 มีนาคม สภาแรงงานในเมืองหลวงได้ยอมรับพรรคคอมมิวนิสต์และให้เข้าร่วมสภาอีกครั้ง ถือเป็นสัญญาณแห่งความอ่อนแอของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม[49] คณะรัฐมนตรีต่างรู้ดีว่าไม่สามารถต้านทานอำนาจของสภาแรงงานได้ และสภาเองก็ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลที่พวกเขาไม่พึงพอใจเช่นกัน[49] เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หน่วยตำรวจในเมืองหลวง ซึ่งเป็นกำลังสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีได้ยอมรับอำนาจของสภาแรงงานเมืองหลวง[49] ด้วยการประท้วงอย่างต่อเนื่องของกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนว่างงาน ทหาร หญิงม่าย ฯลฯ รัฐบาลพยายามเสริมสร้างจุดยืนของตนโดยประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 13 เมษายน โดยวางใจในการรับรองมาตรการดังกล่าวของมวลชน[47]

การสถาปนาสาธารณรัฐโซเวียต แก้

การประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ แก้

 
การประกาศถ้อยคำแถลงจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตตามขั้นตอนของรัฐสภาฮังการี โดยเบ-ลอ กุน ซึ่งคือคนที่ใส่ชุดสูทผูกเน็กไทตรงกลาง

ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 1919 รัฐบาลกาโรยีได้สูญเสียกำลังสนับสนุนลงเรื่อย ๆ[35] เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ไตรภาคีได้เรียกร้องให้มีการยอมรับเขตแดนอย่างไม่เป็นธรรม[47][41] ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งตั้งแต่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปีก่อน เนื่องจากข้อตกลงของไตรภาคีต่อประเทศเพื่อนบ้านที่ทำขึ้นในช่วงสงคราม[50] โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่เป็นกลางระหว่างกองกำลังทหารโรมาเนียและฮังการี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแทรกแซงที่ล้มเหลวในสงครามกลางเมืองรัสเซีย[35] มีการกำหนดพรมแดนขึ้นใหม่ที่ยังคงใกล้เคียงกับข้อตกลงที่ให้ไว้แก่โรมาเนียในสนธิสัญญาบูคาเรสต์ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ลงนามหลังจากโรมาเนียเข้าร่วมสงครามโลก[51] หลังจากการมอบบันทึกวิกซ์แก่รัฐบาลกาโรยี[52] ซึ่งเรียกร้องให้มีการอพยพประชากรชาวฮังการีออกจากพรมแดนที่กำหนดขึ้นใหม่นี้และมอบดินแดนส่วนนี้ให้แก่โรมาเนีย[53] คณะรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้[47] และกาโรยีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง[51] พร้อมกับมอบอำนาจให้รัฐบาลใหม่ประชาธิปไตยสังคมนิยม[51][50] ซึ่งมีความเวทนาต่อชนชั้นกรรมาชีพสากลและยอมให้ประเทศเผชิญอยู่กับข้อเรียกร้องของไตรภาคี[54][55] กาโรยีได้ออกมายอมรับว่านโยบายการสร้างความสัมพันธ์ต่อไตรภาคีล้มเหลว[51] แผนการแรกของรัฐบาลใหม่คือการให้กาโรยีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรีประชาธิปไตยสังคมนิยมใหม่[55] อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล สภาทหารซึ่งนำโดยโยแฌ็ฟ โปกาญได้ตัดสินใจสนับสนุนคอมมิวนิสต์ มีการยึดรถยนต์ของรัฐมนตรี และในช่วงบ่ายของวันนั้นได้มีการส่งมอบการควบคุมกองทหารรักษาการณ์ในเมืองหลวงให้แก่คอมมิวนิสต์[56] ก่อนที่โปกาญจะเข้าควบคุมบูดาเปสต์และกองทหารรักษาการณ์ทั้งหมด โดยปราศจากการต่อต้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ[57] ซานโดร์ กอร์บอยี ได้ประกาศต่อสภาแรงงานในเมืองหลวงถึงการจัดตั้งรัฐบาลโซเวียต[51] ของพันธมิตรประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ในเย็นวันเดียวกัน ได้มีคำสั่งให้ปลดกาโรยีออกจากตำแหน่ง ซึ่งเขาก็ยอมรับโดยไม่ขัดขืนใด ๆ เพราะตระหนักว่าต้องหลีกทางให้แก่คณะรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายเพื่อต่อต้านไตรภาคี[56] พวกสังคมนิยมได้ส่งคณะผู้แทนไปที่เรือนจำเพื่อเจรจากับผู้นำคอมมิวนิสต์ ซึ่งสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลผสมประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์[58][59][51][47] เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงนี้ รัฐบาลจึงปล่อยตัวผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ถูกคุมขังตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์[60][57] ถึงแม้ว่ากลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยมจะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังยอมรับแผนการปฏิบัติงานของกลุ่มคอมมิวนิสต์[61] ซึ่งรวมไปถึงการจัดตั้งระบบสภา การยึดทรัพย์สินส่วนบุคคล และการประกาศระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพอีกด้วย[4]

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1919[62][60] สภาแรงงานซึ่งได้รับอำนาจนิติบัญญัติใหม่ได้ทราบข่าวถึงการควบรวมกันระหว่างพันธมิตร[51] ของพรรคคอมมิวนิสต์ (นำโดยเบ-ลอ กุน)[56] และพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม พร้อมกับการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีขึ้น[63] โดยไม่เกิดการนองเลือดเลยแม้แต่นิดเดียว[64][57] ในตอนแรกกาโรยีซึ่งไม่ได้รับทราบถึงการรวมกันระหว่างพันธมิตรนี้[60] ได้ปฏิเสธที่จะลาออก แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ลาออกจากตำแหน่ง[63]

โครงสร้างของรัฐบาลใหม่ แก้

 
โปสเตอร์แสดงสมาชิกของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กรรมการราษฎรเป็นประชาธิปไตยสังคมนิยม ส่วนรองกรรมการราษฎรเป็นคอมมิวนิสต์ บุคคลสำคัญในรัฐบาลคือเบ-ลอ กุน กรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศ

ในคืนเดียวกันนั้น กุนได้รับการปล่อยตัว และได้เดินทางไปที่อดีตสำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม เพื่อหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่[63][note 7] มีกรรมการราษฎรจากกลุ่มคอมมิวนิสต์สองคนในคณะรัฐมนตรี เพื่อดุลอำนาจส่วนใหญ่[50] ของกรรมการราษฎรจากกลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยม ส่วนสมาชิกกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เหลือเป็นรองกรรมการราษฎร[63][61] กุนได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศ[65][66] ขณะที่สมาชิกคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ได้ควบตำแหน่งในกระทรวงการเกษตร[65] ในบรรดาสมาชิกทั้งหมดสามสิบสามคนของสภาปกครองใหม่ มีสิบสี่คนเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสิบสองคนเป็นรองกรรมการราษฎร เนื่องจากกรรมการราษฎรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยม[67] รัฐบาลได้รวมรัฐมนตรีของรูทีเนียไว้ในคณะรัฐมนตรีด้วย อันเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความตั้งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนฮังการี[65] ผู้นำหลายคนมีภูมิหลังจากการมีส่วนร่วมในการปฏิวัติรัสเซียหรือไม่ก็เป็นคอมมิวนิสต์ในค่ายกักกันของรัสเซีย[7] แม้ว่ากอร์บอยีจะเป็นประธานสภาปกครองอย่างเป็นทางการ[66] แต่กุนถือเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในสาธารณรัฐโซเวียตใหม่นี้[68][50]

พันธมิตรประชาธิปไตยสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ แก้

พันธมิตรระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตยสังคมนิยมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากตัวของเลนินเอง[69] เขายังวิพากษ์วิจารณ์การเลียนแบบยุทธวิธีของรัสเซียโดยไม่ปรับให้เข้ากับบริบทของฮังการี[70] พรรคใหม่ซึ่งเดิมคือพรรคสังคมนิยมฮังการี[69] ได้เปลี่ยนใหม่เป็น "พรรคแรงงานสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ฮังการี" (อังกฤษ: Party of Socialist Communist Workers in Hungary)[71][72][50]

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคทั้งสองทำงานร่วมรัฐบาลเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย[73][74] จูลอ ไพเดิล ได้เรียกร้องให้มีการยกเลิกระบอบสาธารณรัฐโซเวียตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม[71] ในความเป็นจริงแล้ว มีเพียงฝ่ายซ้ายและฝ่ายกลางของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในรัฐบาลอย่างแข็งขัน[74] ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทั้งสองพรรคไม่ได้เกี่ยวกับเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย แต่เป็นวิธีการบริหารที่เหมาะสมที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายต่างหาก[75] หลังการล่มสลายของสาธารณรัฐในเดือนสิงหาคม ความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายก็ยิ่งแย่ลง[73][76]

ช่วงแรก แก้

 
ภาพประกอบที่ตีพิมพ์ในนิตยสารหัวรุนแรงอเมริกัน เดอะ ลิเบอเรเตอร์ ในเดือนพฤษภาคม 1919

แถลงการณ์ฉบับแรกของรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างลัทธิชาตินิยมที่สิ้นหวัง[77] กับลัทธิมากซ์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาลใหม่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยม[65] แต่เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกที่จะต้องยอมรับคำขาดจากบันทึกวิกซ์ ผู้คนส่วนใหญ่จึงตัดสินใจสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ เพื่อรักษาเอกภาพในดินแดนของประเทศ[65] ส่วนหนึ่งของความนิยมที่สนับสนุนระบอบใหม่นี้ มาจากการที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งมอสโกได้เข้ารุกรานยูเครนเพื่อต่อสู้กับศัตรูภายในซึ่งมีไตรภาคีเป็นกำลังสนับสนุน[13]

รัฐธรรมนูญ สภา และการปกครอง แก้

ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน สภาปกครองได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ โดยได้ยอมรับว่าอำนาจทางการเมืองและทางกฎหมายเป็นของสภาแห่งชาติชุดใหม่[note 8] รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิพลเมือง (การชุมนุม การแสดงออก) สิทธิทางสังคม (การศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) และสิทธิทางวัฒนธรรม (การรับรู้ทางวัฒนธรรมและภาษาของชนกลุ่มน้อย)[78] อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว รัฐบาลใหม่ได้ดำเนินการปกครองในลักษณะแบบเผด็จการ ในฐานะ "การปกครองแบบเผด็จการของชนกลุ่มน้อยที่แข็งขันในนามของชนชั้นกรรมาชีพที่เฉื่อยชา"[79] อำนาจของรัฐกระจุกตัวอยู่แต่เพียงสภาปกครองและสภาบางแห่งเท่านั้น[5] การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 เมษายน โดยปรากฏรายชื่อของผู้แทนเพียงคนเดียว และไม่มีฝ่ายค้าน แม้ว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ตาม[79] ไม่นานผู้แทนราษฎรก็ถูกถอดออกจากอำนาจท้องถิ่นโดยผู้แทนของรัฐบาล ซึ่งมีอำนาจที่แท้จริง[79]

แม้จะมีข้อจำกัดในการเลือกตั้งสภา แต่ในการประชุมสภาแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ได้ลงเอยด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสภาปกครอง ซึ่งจบลงด้วยการยุบสภาและได้มอบอำนาจให้แก่กรรมการราษฎรที่เห็นชอบ[5]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แก้

ความสัมพันธ์กับรัสเซียโซเวียต แก้

สาธารณรัฐได้รับการสนับสนุนทางการเงิน[26] และคำแนะนำจากรัฐบาลโซเวียตรัสเซีย แต่ทางรัสเซียมองว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการช่วยเหลือฮังการีไม่คุ้มค่าเท่ากับในเยอรมนี จึงไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่บอลเชวิคมายังฮังการี[80] แม้กุนจะร้องขอก็ตาม[81][82] มีการสื่อสารทางโทรเลขระหว่างบูดาเปสต์กับรัสเซีย[81][82] แต่กระนั้นคำแนะนำจากคอมมิวนิสต์รัสเซียก็มักถูกเมินเฉยโดยรัฐบาลฮังการี[67][82]

การเจรจากับไตรภาคี แก้

 
นายพลแห่งแอฟริกาใต้แจน สมัทส์ ตัวแทนอย่างเป็นทางการของไตรภาคีระหว่างการเจรจากับรัฐบาลฮังการีชุดใหม่

หลังการปฏิเสธการเจรจาที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลกาโรยี เมื่อมีการประกาศสาธารณรัฐโซเวียตขึ้น ไตรภาคีจึงส่งตัวแทนไปเจรจากับกุนโดยทันที[83][53] โดยกุนได้ส่งคำร้องขอถึงเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำยูโกสลาเวีย ที่กำลังพำนักอยู่ในบูดาเปสต์[84] เพื่อหารือเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันทางดินแดนตามหลักการกำหนดการปกครองด้วยตนเองกับตัวแทนของไตรภาคี นำไปสู่การส่งตัวนายพลแจน สมัทส์ แห่งแอฟริกาใต้ มาที่บูดาเปสต์ในช่วงต้นเดือนเมษายน แม้ว่าฝรั่งเศสจะไม่เห็นด้วยก็ตาม[85][86] ถึงจะมีการส่งตัวนายพลสมัทส์ไปที่ฮังการี แต่มหาอำนาจก็ยังคงไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาลโซเวียต[86]

นายพลสมัทส์เดินทางมาถึงบูดาเปสต์เมื่อวันที่ 4 เมษายน[87][86] และเชิญกรรมการราษฎรคนหนึ่งมาที่รถไฟของเขา[6] ซึ่งกรรมการราษฎรคนนั้นก็ไม่ได้ตอบรับคำเชิญแต่อย่างใด[83] ในระหว่างการเจรจา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐซานโดร์ กอร์บอยี, เบ-ลอ กุน, และนักสังคมนิยมซิกโมนด์ กุนฟี ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายฮังการี[6] เรียกร้องให้มีสันติภาพโดยปราศจากการผนวกดินแดนหรือการชดเชยค่าปฏิกรรมสงคราม และการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง[83] ในทางกลับกัน นายพลสมัทส์ได้เสนอโครงร่างพรมแดนใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวฮังการีมากกว่าเส้นพรมแดนที่ถูกกำหนดตามบันทึกวิกซ์ และการสร้างพื้นที่เป็นกลางขนาดใหญ่โดยมีกองกำลังไตรภาคีประจำการอยู่ที่นั่น[88][86] อีกทั้งข้อเสนอนี้ ยังทำให้เมืองสำคัญต่าง ๆ ทางตะวันออกกลับไปเป็นของฮังการีอีกด้วย[88] นายพลสมัทส์ยังกล่าวเสริมอีกว่าโครงร่างพรมแดนนี้จะไม่ถือเป็นพรมแดนที่ชัดเจน และสัญญาว่าจะยุติการปิดล้อมทางทหาร พร้อมทั้งมอบคำเชิญให้แก่รัฐบาลต่อการมีส่วนร่วมในการประชุมสันติภาพอีกด้วย[88][87][86] กุนไม่เห็นด้วยต่อการถอนกำลังของไตรภาคีทางตะวันออก โดยอ้างถึงการที่รัฐบาลขาดการควบคุมกองทหารในทรานซิลเวเนียและข้อเสนอเหล่านี้อาจไม่เป็นที่นิยมต่อประชาชน[6] นอกจากนี้ กุนยังได้เสนอข้อตกลงตามสนธิสัญญาสงบศึกเบลเกรด[86] ซึ่งนายพลสมัทส์เมินเฉยที่จะพิจารณา[89] ท่าทีของกุนระหว่างการเจรจานั้นถือว่า "รับไม่ได้" กับข้อเสนอครั้งนี้[90][69] นายพลสมัทส์เดินทางออกจากบูดาเปสต์ไปที่ปรากในวันต่อมา[88] โดยในวันเดียวกันนั้น รองกรรมการราษฎรฝ่ายกลาโหมติโบร์ ซอมูแอลี ออกคำสั่งให้โฆษณาชวนเชื่อต่อกองทหารเชโกสโลวาเกียและโรมาเนีย เพื่อไม่ให้เกิดการต่อต้านกองทัพแดงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย[9][87]

หลังเดินทางกลับจากบูดาเปสต์ นายพลสมัทส์ได้พบกับผู้นำออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย โดยแจ้งให้ทราบถึงความล้มเหลวของการเจรจา[6] ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเชโกสโลวาเกียจึงสั่งโจมตีฮังการีโดยทันทีเมื่อวันที่ 7 เมษายน แม้ว่านายพลแฟร์ดีน็อง ฟ็อช จะออกคำสั่งตอบรับในวันรุ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน ได้มีการออกคำสั่งต่อกองกำลังทหารภายใต้การบัญชาการของฝรั่งเศสทางตอนใต้ให้ตั้งรับและหยุดการรุกคืบขึ้นเหนือ[6] สำหรับรัฐบาลฮังการีในขณะนี้ กำลังประเมินถึงความเหมาะสมในการประกาศจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธใหม่หรือจ้างทหารตามความสมัครใจ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือทางทหารอย่างเป็นทางการจากรัสเซียโซเวียต[91]

การปะทะกับประเทศเพื่อนบ้านและการปรับโครงสร้างกองทัพ แก้

สภาพสังคมและกองทัพแดง แก้

กุนได้ประกาศยุบสภาทหาร ถึงแม้ว่าสภาทหารจะสนับสนุนให้เขาขึ้นสู่อำนาจก็ตาม และได้แต่งตั้งกรรมการราษฎรและศาลทหารปฏิวัติเพื่อพยายามนำความสงบเรียบร้อยมาสู่กองทัพอันไม่เป็นระเบียบ[9] กองพันคนงานและกองพลน้อยระหว่างประเทศถูกส่งไปยังแนวรบหน้าด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล[9] รัฐบาลได้ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิจนถึงช่วงต้นฤดูร้อน กองทัพสามารถกู้คืนดินแดนที่สูญเสียไปได้บางส่วน[7] จุดมุ่งหมายของการฟื้นฟูดินแดนนี้ได้รับความเห็นชอบจากสาธารณชนทั่วไปเกือบทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากมาตรการการเมืองภายใน[7] ปลายเดือนมีนาคม กำลังทหารของฮังการียังคงไม่เพียงพอ โดยบูดาเปสต์มีกำลังทหารเพียง 18,000 นาย ในขณะที่ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเชโกสโลวาเกียจำนวน 40,000 นาย กองกำลังโรมาเนีย 35,000 นาย และกองกำลังผสมเซอร์เบียฝรั่งเศส 72,000 นายทางตอนใต้[92]

 
กองกำลังติดอาวุธของสาธารณรัฐโซเวียต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนเป็นอาสาสมัครชาวนา

แม้ว่าชาวนาส่วนใหญ่จะเพิกเฉยต่อคำร้องขอของรัฐบาลใหม่ แต่ชาวนาผู้ลี้ภัยจากดินแดนที่ถูกยึดครองโดยประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาจากบานัตและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทิสซอ กลายเป็นกลุ่มชาวนาที่เข้าร่วมต่อสู้กับกองทัพแดง[93] โครงสร้างของกองทัพแดงส่วนใหญ่ประกอบด้วยชาวนา ในช่วงสัปดาห์แรกของสงคราม กองทัพแดงสามารถต่อสู้กับกองทัพประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี แต่ในเวลาต่อมากองทัพเริ่มขาดระเบียบวินัยมากขึ้น[94] แม้ว่ารัฐบาลต้องการให้การต่อสู้เป็นแบบสากลนิยม แต่ทหารและเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่กลับต่อสู้ด้วยเหตุผลของชาตินิยม[94]

อดีตนายทหารจากกองทัพออสเตรีย-ฮังการีและผู้ลี้ภัยชนชั้นกลางจำนวนมากก็ได้เข้าร่วมกองทัพใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะผู้คนเหล่านี้เห็นถึงโอกาสที่จะสามารถกู้คืนดินแดนที่สูญเสียไปกลับคืนมา ไม่ใช่เพราะความนิยมต่ออุดมการณ์ของระบอบใหม่[93][7][8] โดยแรงจูงใจในการเข้าร่วมกองทัพสามารถสรุปได้สามประการ ได้แก่ ประกาศแรกคือแนวคิดชาตินิยมในการปกป้องและฟื้นฟูประเทศบ้านเกิด ประการที่สองคือโอกาสที่ดีในการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วในกองทัพใหม่ ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเก่าถูกปลดประจำการระหว่างสองสาธารณรัฐ และประการที่สามคือความจำเป็นในการยังชีพในกรณีที่ไม่มีงานทำ[95] ผู้คนเหล่านี้มองว่าสาธารณรัฐโซเวียตใหม่พยายามต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ซึ่งต่างจากควาบสงบสุขของสาธารณรัฐประชาชนอย่างสิ้นเชิง[93] ชาวฮังการีต่างได้ร่วมต่อสู้อย่างดุเดือดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายน กระทั่งการถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย[8] ตามคำขาดของเกลม็องโซ ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่ไปเข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านปฏิวัติอื่น ๆ เช่น ฝ่ายกองทัพแห่งชาติ ซึ่งนำโดยมิกโลช โฮร์ตี หรือกองกำลังอื่น ๆ เพื่อพยายามหลบหนีการกวาดล้างจากรัฐบาลกุน[93]

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่ข้ออ้างหลักในการขยายอาณาเขต[77] ยูโกสลาเวียพึงพอใจกับการยึดครองบอรอญอ และหันไปขัดแย้งกับโรมาเนียเสียเอง เพื่อแย่งชิงและแบ่งแยกดินแดนบานัต ทำให้ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐไม่เกิดการต่อสู้กันแต่อย่างใด[77]

พัฒนาการของการต่อสู้ แก้

ความพ่ายแพ้ในทรานซิลเวเนียในเดือนเมษายน แก้

 
โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อแสดงถึงการรุกเข้าสู่สโลวาเกียในปี 1919

ปลายเดือนเมษายน กองกำลังทหารที่เล็กกว่าของกองทัพแดงฮังการีต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังทหารโรมาเนียเจ็ดกอง ซึ่งมีกำลังพลมากกว่ากันอยู่ห้าหมื่นนาย[9] ในเดือนกุมภาพันธ์ ณ ทรานซิลเวเนีย ทางโรมาเนียได้เกณฑ์กำลังทหารจำนวนสองกองพล ได้แก่ กองพลที่ 16 และกองพลที่ 19 โดยประกอบด้วยทหารท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรมาเนียและชาวแซกซัน (เป็นประชากรชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมันในภูมิภาค) และได้ทำการเสริมกำลังพลมากขึ้นหลังการประกาศสาธารณรัฐโซเวียตในบูดาเปสต์[96] ในเดือนเมษายน ได้มีการจัดตั้งหน่วยรบใหม่ขึ้น ได้แก่ กองพลที่ 20 และกองพลที่ 21[96] ในช่วงกลางเดือนเมษายน กองบัญชาการของโรมาเนียมีจำนวนกองพันทหารราบทั้งสิ้น 64 กอง กองร้อยทหารม้า 28 กอง กองทหารปืนใหญ่ 192 กอง มีรถไฟหุ้มเกราะและมีฝูงบิน 3 กอง อีกทั้งยังมีบริษัทด้านวิศวกรรม 2 แห่ง ซึ่งทำให้กองทัพโรมาเนียมีแสนยานุภาพเหนือกว่ากองทัพฮังการีที่มีจำนวนกองพันทหารราบเพียงแค่ 35 กอง กองทหารปืนใหญ่ 20 กอง มีฝูงบิน 2 กอง รถไฟหุ้มเกราะ 3–4 ขบวน และกองร้อยทหารม้าไม่กี่กอง[96] อย่างไรก็ตาม กองกำลังทั้งสองฝ่ายยังคงไม่ได้เผชิญหน้ากันอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากการปะทะกันที่เกิดขึ้นในทางใต้กับกองกำลังเซอร์เบีย[97]

การที่สาธารณรัฐขาดการสนับสนุนจากกองกำลังแนวรุกของโซเวียตรัสเซียในแม่น้ำนีสเตอร์ หลังจากการยึดครองออแดซาและการสร้างแนวป้องกันทางทิศตะวันออกของกองกำลังไตรภาคี ทำให้โรมาเนียสามารถโจมตีแนวรบของฮังการีทางด้านตะวันออกได้สะดวกยิ่งขึ้น[77] การเปลี่ยนตำแหน่งของหน่วยทหารโซเวียตบางหน่วยในยูเครนทำให้ไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารกันกับโรมาเนีย[8] รัฐบาลบูดาเปสต์ต้องประสบกับวิกฤตการณ์ขั้นรุนแรง เมื่อกองทัพโรมาเนียและกองทัพเชโกสโลวาเกียเข้ารุกชายแดนของฮังการีและเคลื่อนพลมุ่งสู่เขตเหมืองแร่ในช็อลโกตอร์ยาน[85][98]

หลังจากการรวมกำลังพลไว้ในแนวรบหน้า เมื่อวันที่ 16 เมษายน โรมาเนียจึงเริ่มเปิดการรุกรานทันที[89][97] ในวันที่ 20 เมษายน กองทัพโรมาเนียเคลื่อนทัพเข้าสู่น็อจวาร็อด[99] และในอีกสามวันต่อมาก็สามารถยึดครองแดแบร็ตแซ็นได้[9] ในวันที่ 21 เมษายน กองทัพโรมาเนียได้หยุดการเคลื่อนทัพเพื่อที่จะจัดระเบียบใหม่ ซึ่งนั่นทำให้ฮังการีเข้าใจผิดคิดว่าโรมาเนียจะไม่ข้ามพรมแดนตามที่ตกลงกันไว้ ในวันเดียวกันนั้น ฮังการีได้กำหนดระเบียบการบัญชาการของแนวรบหน้าใหม่ เพื่อพยายามหยุดการรุกรานของโรมาเนีย อีกทั้งเพื่อชดเชยขวัญกำลังใจของทหารที่กำลังตกต่ำและการขาดวินัยของทหารด้วย[100] กรรมการราษฎรในส่วนต่าง ๆ เริ่มสูญเสียการควบคุมทางทหาร และผู้บัญชาการทหารแนวหน้า เอาเรล ชโตร์มแฟล์ด ได้ร้องขอให้ทางการส่งกำลังทหารมาเพิ่มเติม[100] การรุกของโรมาเนียยังคงดำเนินต่อไปโดยขัดคำสั่งของฝรั่งเศส[89] ที่พยายามขัดขวางแผนการตอบโต้ของแนวรบฮังการี[99] ในวันที่ 30 เมษายน กองทัพโรมาเนียได้เคลื่อนพลมาถึงบริเวณแม่น้ำทิสซอ[98] และตั้งแนวรบหลักอยู่ที่นั่น[101] หลังการเสริมกำลังแนวหน้าด้วยกองทหารใหม่จากบูดาเปสต์และเมืองอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทำให้ฮังการีสามารถต้านทานการรุกของโรมาเนียได้ที่โซลโนก และหยุดการรุกคืบของโรมาเนียในแม่น้ำทิสซอ[9] ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลได้พิจารณาที่จะยอมจำนน โดยตระหนักว่าทางฮังการีไม่มีกองกำลังเพียงพอที่จะหยุดการโจมตีของกองทัพโรมาเนีย[102] ข่าวลือที่ว่าโรมาเนียจะไม่หยุดยั้งการรุกรานและกำลังรุกเข้าสู่เมืองหลวงได้แพร่กระจายไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ถึงแม้ว่าข่าวลือเหล่านี้จะไม่มีมูลความจริงใด ๆ[103] โรมาเนียยังคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจอื่นและกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างหนักจากรัสเซียในยูเครน กองทัพโรมาเนียได้หยุดการรุกรานระหว่างวันที่ 2 พฤษภาคม ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม[104] ในการรุกรานเมื่อเดือนเมษายน กองทัพโรมาเนียได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีนายทหารที่เสียชีวิตประมาณ 600 นาย และบาดเจ็บอีก 500 ราย[101] ทำให้กองกำลังบางส่วนถูกส่งไปยังแนวรบด้านตะวันออกโดยทันที[104] ในทางกลับกัน รัฐบาลฮังการียังคงคาดหวังความช่วยเหลือทางทหารจากรัสเซีย และหวังว่าจะมีการปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมนีและออสเตรีย[102]

ชัยชนะในสโลวาเกียและถอนกำลังในภายหลัง แก้

 
การกล่าวสุนทรพจน์ของเบ-ลอ กุน ในเมืองกอซซอเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน หลังจากการเข้ายึดครอง การถอนทหารออกจากสโลวาเกียตามคำร้องขอของไตรภาคี ถือเป็นความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงต่อขวัญกำลังใจของทหาร

ในเวลาเดียวกัน ทางตอนเหนือ การรุกของเชโกสโลวาเกียได้หยุดลง ซึ่งเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม กองทัพแดงได้เคลื่อนพลมาถึงมิชโกลส์[98] ในวันที่ 10 พฤษภาคม การตอบโต้ของฮังการีเริ่มต้นขึ้นซึ่งสามารถผลักดันกองกำลังศัตรูกลับไปที่แม่น้ำอีปอย[9] ในวันที่ 19 พฤษภาคม กองทัพแดงฮังการีได้เข้ายึดครองเปแตร์วาซารอ และยึดครองมิชโกลส์ในวันที่ 21 ส่งผลให้ขวัญกำลังใจของทหารในกองทัพเพิ่มขึ้น[105] เมื่อวันที่ 26 ผู้บัญชาการกองทัพเริ่มวางแผนระยะต่อไปของการโจมตี โดยมุ่งเป้าหมายไปที่ชายแดนสามแห่งระหว่างเชโกสโลวาเกียและโรมาเนีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์สองประการ ประการแรกคือเพื่อให้การพยายามติดต่อกับหน่วยงานในโซเวียตรัสเซียได้สะดวก และประการที่สองคือสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ เพื่อแผนการโจมตีกองทัพโรมาเนียในทรานซิลเวเนียต่อไป[105] ปฏิบัติการทางทหารของฮังการีเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ด้วยการโจมตีแนวรบหลัก[105] ทำให้ในเดือนมิถุนายน กองทัพเชโกสโลวาเกียต้องล่าถอยไปเนื่องจากการรุกของกองทัพแดงฮังการี[9] ในวันที่ 5 มิถุนายน กองกำลังฮังการีได้เข้ายึดครองกอซซอ[note 9][106] กองบัญชาการทหารฮังการีเริ่มเตรียมแผนการโจมตีทางตะวันออกโดยไม่ละทิ้งแนวรบด้านเหนือ เพราะถึงแม้ว่าจะได้รับชัยชนะ แต่กองทัพเชโกสโลวาเกียก็ยังไม่ได้พ่ายแพ้เสียทีเดียว อันเป็นผลมาจากแนวรุกที่ฮังการีเลือกไว้ มีความเสี่ยงอยู่หลายประการอย่างยิ่ง[106]

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 มิถุนายน นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ฌอร์ฌ เกลม็องโซ ได้ขอให้ยุติการโจมตีทางเหนือต่อเชโกสโลวาเกีย[106][107] ในวันที่ 10 กุนได้สัญญาว่าจะหยุดการรุกราน[108] ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียงหนึ่งวันก่อนการมาถึงของกองทัพฝรั่งเศสในบราติสลาวา[note 10][109][87] ในวันที่ 13 คำขาดของเกลม็องโซถึงรัฐบาลฮังการีว่าด้วยการกำหนดพรมแดนทางเหนือได้เรียกร้องให้กองทัพแดงฮังการีถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย และสัญญาว่ากองทัพโรมาเนียจะถอนกำลังออกจากทางตะวันออกเป็นการตอบแทน[110][8][111] ในวันที่ 19 รัฐบาลได้ตอบรับข้อเรียกร้องนี้[112] โดยกุนเลือกที่จะให้ยินยอมกับข้อเรียกร้องของทางการฝรั่งเศส[8] แม้ว่าผู้บัญชาการทหารส่วนใหญ่จะมีความปรารถนาที่จะดำเนินการรุกต่อไปทางตะวันตกเฉียงเหนือก็ตาม[106] ในวันที่ 24 มีการประกาศยุติการสู้รบ และในวันที่ 30 กองทัพแดงเริ่มถอนกำลังออกจากสโลวาเกีย[113] หลังจากยึดครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านได้ 2836 ตารางกิโลเมตร สภาปกครองได้สั่งให้ถอนกำลังไปยังแนวรบเดิมที่ตั้งมั่นไว้ในเดือนพฤษภาคม[110] การถอนกำลังออกจากสโลวาเกียทำให้เหล่าทหารส่วนใหญ่สูญเสียขวัญกำลังใจเป็นอย่างยิ่ง[110] เนื่องจากนายทหารและเจ้าหน้าที่ส่วนมากเข้าร่วมกองกำลังคอมมิวนิสต์ด้วยเหตุผลของชาตินิยม[114][8][115] การทัพในครั้งนี้ทำให้กองทัพฮังการีสูญเสียกำลังพลไปราว 4,500 คน ตามการประมาณการของฝรั่งเศส[113] ในความเป็นจริงแล้ว จากการรุกของฮังการีเองทำให้ในตอนนี้กองทัพแดงได้สูญเสียกำลังพล และคงเป็นการยากที่จะรักษาแนวรุกไว้ได้[116] การถอนกำลังออกจากสโลวาเกียนำไปสู่การลาออกของเจ้าหน้าที่ชั้นอาวุโสหลายคน รวมทั้งนายพลชโตร์มแฟล์ดด้วย ซึ่งปฏิเสธที่จะละทิ้งดินแดนสโลวาเกียอันมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮังการี[113]

เปิดฉากโจมตีทางตะวันออกและความพ่ายแพ้ครั้งสุดท้าย แก้

หลังจากที่ทางการโรมาเนียไม่มีการตอบสนองใด ๆ มาเป็นเวลาสองสัปดาห์ ในที่สุดจึงมีการตอบสนองต่อคำร้องขอของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส โดยเรียกร้องให้มีการถอนกำลังของกองทัพแดงฮังการี ก่อนที่กองทัพโรมาเนียจะถอนกำลังออกจากดินแดนที่ยึดได้ในเดือนเมษายน[111] เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม[117] การทัพครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น เพื่อต่อต้านกองกำลังโรมาเนียทางตะวันออก ซึ่งมีเสถียรภาพที่เหนือกว่าทั้งในด้านกำลังพล ระเบียบวินัย และอาวุธยุทโธปกรณ์[118][119] เมื่อวันที่ 11 รัฐบาลฮังการีเรียกร้องให้กองทัพโรมาเนียถอนกำลังพลตามคำสัญญาของฝรั่งเศส แต่ทางการฝรั่งเศสกลับปฏิเสธในวันที่ 14 ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในการสงบศึก[120] เกลม็องโซปฏิเสธที่จะให้โรมาเนียถอนกำลังตามที่ทางการบูดาเปสต์คาดหวังไว้ ดังนั้นรัฐบาลฮังการีจึงตัดสินใจใช้กำลังเพื่อเป็นการบังคับ[113] เมื่อวันที่ 12 มีการประกาศเกณฑ์ทหารภาคบังคับและกองทัพจากทางเหนือก็เริ่มถอนกำลังออกมาบ้างแล้ว ซึ่งขณะนี้ภายในกองทัพก็เริ่มเกิดความแตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเอง[121]

 
โปสเตอร์รับสมัครทหารของสาธารณรัฐ ความพยายามที่จะเสริมกำลังทหารของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีในปลายเดือนกรกฎาคม เพื่อหยุดการรุกรานของโรมาเนียนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ

ปฏิบัติการเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม[119][120] ซึ่งเป็นหนึ่งวันก่อนการเดินขบวนของสหภาพแรงงานในหลายประเทศยุโรปที่สนับสนุนรัฐบาลบูดาเปสต์[122] รัฐบาลต่อต้านการปฏิวัติแห่งแซแก็ดได้แจ้งแผนการโจมตีของกองทัพแดงฮังการีแก่ผู้บัญชาการทหารของโรมาเนีย[118] แม้ว่าจะมีการสื่อสารกันที่ผิดพลาด แต่กองทัพแดงฮังการีได้ข้ามแม่น้ำทิสซอและเคลื่อนทัพต่อไปจนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม[123] ทำให้กองทัพโรมาเนียได้เริ่มโจมตีกลับในวันต่อมา[118][119] กองทัพแดงเริ่มถอนกำลังพลในวันที่ 26 และในวันที่ 27 กองทัพแดงจึงเคลื่อนพลกลับไปที่พื้นที่เดิมก่อนการรุกราน[123] ในวันที่ 30 กองทหารของโรมาเนียเริ่มเคลื่อนพลข้ามแนวแม่น้ำทิสซอ และมุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงของฮังการีอย่างไม่ลดละ[118][124][119] รัฐบาลโซเวียตรัสเซียไม่สามารถหยุดยั้งการรุกรานของโรมาเนียได้เหมือนครั้งที่เคยทำเมื่อเดือนพฤษภาคม[118][98] ทางฮังการีซึ่งได้ยุบหน่วยทหารที่ไม่จำเป็นไปแล้วบางส่วน ต้องเผชิญกับความขัดแย้งภายในกองทัพและการขาดกำลังสำรอง[121] ขณะนี้กองทัพแดงฮังการีกำลังล่าถอยด้วยความระส่ำระสาย[118][124] ความหวังของรัฐบาลบูดาเปสต์ในการป้องกันการรุกรานแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการโจมตีของกองทัพโรมาเนียตลอดทั้งแนวรบ[118] บรรดาผู้นำของรัฐบาลได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะละทิ้งเมืองหลวงและก่อตั้งกลุ่มต่อต้านขึ้นมาแทน โดยหวังว่าจะสามารถหยุดการรุกรานของโรมาเนียได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในการพิจารณานี้ถูกปัดตก แต่มีคำสั่งให้สร้างแนวรับการรุกรานใหม่บริเวณแม่น้ำทิสซอโดยสภาปกครอง[125] ในคืนวันที่ 31 กรกฎาคม กองพลที่ 6 ของโรมาเนีย ได้ตั้งมั่นกองกำลังห่างจากโซลโนก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของแนวรบแม่น้ำทิสซอ เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น[118] ในขณะที่กองกำลังอื่น ๆ เข้ายึดโตกาย (Tokaj) และตอร์ซอล (Tarcal) ในทางเหนือ[126] รัฐบาลบูดาเปสต์ออกคำสั่งให้ตอบโต้ทันที แม้ว่าขวัญกำลังใจของทหารจะต่ำก็ตาม กองทัพแดงฮังการีได้เดิมพันต่อสู้เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อหยุดยั้งการรุกรานของกองทัพโรมาเนียอย่างไร้ผล[127] เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม กองกำลังทหารของฮังการีจำนวนมากได้ละทิ้งแนวแม่น้ำ แม้ว่าจะมีบางหน่วยที่ยังคงยืนหยัดต่อสู้ หน่วยทหารที่เหลืออยู่ของฮังการีสามารถยึดโซลโนกกลับคืนมาได้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดการรุกรานจากแนวรบอื่นที่เหลือ[128] โดยในวันนั้น กองทัพโรมาเนียสามารถรุกคืบเข้าไปได้อีกสามสิบกิโลเมตร ซึ่งระหว่างทางก็พบกับการปะทะกันเล็กน้อย[129]

แม้ว่ายูโกสลาเวียจะไม่เต็มใจเข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารกับฮังการี แต่ที่สุดแล้วรัฐบาลเบลเกรดก็ได้ตกลงเป็นพันธมิตร เนื่องด้วยแรงกดดันจากไตรภาคี[10] การปะทะกันอีกครั้งในแนวรบของโรมาเนียได้สร้างความพ่ายแพ้ให้แก่ฮังการีอย่างรวดเร็ว จากการนัดหยุดงานของแรงงานในยูโกสลาเวีย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อหยุดยั้งการเข้าแทรกแซงสงคราม และการมอบกรรมสิทธิ์ดินแดนบานัตส่วนหนึ่งให้แก่โรมาเนียโดยไตรภาคี ทำให้ยูโกสลาเวียไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐบาลบูดาเปสต์ครั้งนี้[10]

มาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมและวิกฤตภายใน แก้

แม้ว่าสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีจะทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลโซเวียตก็มุ่งมั่นที่จะนำอุดมการณ์แบบลัทธิสังคมนิยมมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมของฮังการีโดยทันที รัฐบาลเริ่มดำเนินการปฏิรูปและออกมาตรการต่อผู้ที่ถูกมองว่าเป็น "ศัตรูของชนชั้นแรงงาน" โดยยึดตามแบบอย่างของรัสเซียอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้สาธารณรัฐสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนอย่างรวดเร็ว[93] การใช้มาตรการที่ก้าวหน้าและการประยุกต์ใช้ระบอบเผด็จการของรัฐบาล ก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากในหมู่ประชากร[7] ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและค่านิยมของประชากรอย่างลึกซึ้งกลับกลายเป็นความล้มเหลว[14] ความพยายามที่จะเปลี่ยนฮังการีจากสังคมแบบศักดินาเป็นสังคมแบบมาร์กซิสต์ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐและความล้มเหลวของขบวนการคอมมิวนิสต์ ตลอดจนความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจ[14] รัฐบาลโซเวียตได้กำหนดวัตถุประสงค์ของตนไว้สองประการ ประการแรกคือการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นรูปแบบของมาร์กซิสต์ และประการที่สองคือการกำจัดความขัดแย้งทั้งหมด เพื่อประกันความอยู่รอดของระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ[14]

ในขณะที่นโยบายต่างประเทศถูกกำหนดโดยกุน นโยบายภายในประเทศส่วนใหญ่ได้ถูกกำหนดโดยสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมในสภาปกครอง[72][130]

การส่งเสริมวัฒนธรรมและการควบคุมสื่อ แก้

รัฐบาลโซเวียตมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะปรับปรุงวัฒนธรรมของประชากร โรงละครถือเป็นสถานที่ส่วนรวมและการจำหน่ายตั๋วถูกควบคุมโดยกรรมการราษฎรฝ่ายศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่จำหน่ายตั๋วการแสดงราคาถูกให้แก่คนงาน[131] โดยมาตรการนี้ได้ถูกนำมาใช้ในโรงภาพยนตร์และพิพิธภัณฑ์เช่นเดียวกัน[131] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลบริหารมาตรการผิดพลาด จึงตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากศิลปินที่มีแนวคิดชาตินิยม นักเขียน และนักธุรกิจศิลปะ[131] ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน มาตรการวัฒนธรรมอันทะเยอทะยานของรัฐบาลกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต โดยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแถบชนบทและตกอยู่ในความเสี่ยงเนื่องจากวิกฤตการณ์ทางการเงินของประเทศ[132]

รัฐบาลจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างเข้มงวด และสั่งระงับวารสารเป็นจำนวนมากด้วยเหตุผลทางการเมืองและปัญหาการขาดแคลนกระดาษในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ[133] ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสหภาพนักข่าวนำไปสู่การยุบสภาภายใต้คำสั่งของคณะรัฐมนตรีในเวลาต่อมา[134]

นโยบายเพื่อเยาวชน แก้

จากหลักฐานสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ระบุว่ามาตรการของรัฐบาลที่มีต่อเยาวชนได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น[131] รัฐบาลอนุมัติให้มีการตรวจสุขภาพเยาวชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและได้ส่งเสริมสุขอนามัยในโรงเรียน มีการจัดตั้งโครงการอาบน้ำสำหรับเด็กนักเรียนในห้องน้ำสาธารณะและกำหนดให้สถานบำรุงสุขภาพเป็นของส่วนรวม[132] โครงการอาศัยในชนบทถูกสร้างขึ้นสำหรับเด็กจากครอบครัวที่ยากจนในเมืองหลวง และสภาปกครองมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านสุขภาพแก่พวกเขา[135] มีการจัดตั้งโครงการสอนพิเศษเฉพาะทางสำหรับเยาวชนผู้พิการในโรงเรียนและจัดตั้งสถาบันที่ทันสมัยสำหรับการรักษาผู้มีปัญหาทางจิต[135] มีแผนการฟื้นฟูระยะยาวสำหรับเยาวชนที่ต่อต้านสังคม ซึ่งแผนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้จริงเนื่องจากระยะเวลาอันสั้นของสาธารณรัฐ[135]

การศึกษาและศาสนา แก้

สถานศึกษาต่าง ๆ ถูกกำหนดเป็นของส่วนรวมทั้งสิ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม และถูกรวมอำนาจการดูแลมาไว้ที่รัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงแผนการศึกษา[136] มีความพยายามปรับปรุงและกำหนดหลักสูตรการศึกษาใหม่ และปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่[136][137] มีการจัดพิมพ์หนังสือเรียนใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น[137] มีการวางแผนโครงการปลูกฝังลัทธิมากซ์ในสถานศึกษา ซึ่งโครงการยังไม่ทันได้จัดขึ้นเนื่องจากสาธารณรัฐโซเวียตล่มสลายเสียก่อน[138] แม้ว่ารัฐบาลจะมีห่วงใยแก่เหล่าอาจารย์ผู้สอน แต่สำหรับบรรดาคณาจารย์ส่วนใหญ่แล้วกลับไม่ได้นิยมชมชอบต่อระบอบการปกครองใหม่สักเท่าใดนัก[138] ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างครูอาจารย์อย่างรุนแรง[139] การสอนเพศศึกษาสมัยใหม่ได้ถูกนำมาใช้ในหลักสูตรของโรงเรียนโดยไม่มีการวางแผนอะไรมากนัก[139]

ศาสนาถือเป็นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาล[139] การโอนกรรมสิทธิ์สถานศึกษาเอกชนและโรงเรียนสอนศานาให้เป็นของรัฐ (ซึ่งคิดเป็น 70 % ของสถานศึกษาทั้งหมดในประเทศ) และการปราบปรามสัญลักษณ์และกิจกรรมทางศาสนาในโรงเรียน ทำให้ความขัดแย้งระหว่างคณาจารย์และรัฐบาลทวีความรุนแรงมากขึ้น[139] แม้ว่ารัฐบาลจะยังปกป้องสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่การโต้เถียงที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามสัญลักษณ์ทางศาสนาได้สร้างภาพลักษณ์อันเสื่อมเสียต่อรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง[133]

การปฏิรูปสังคมและสุขภาพ แก้

มาตรการทางสังคมของรัฐบาลมีลักษณะเฉพาะเหมือนกับมาตรการวัฒนธรรม: รัฐบาลมีความทะเยอทะยานอย่างยิ่งสำหรับจุดประสงค์ของการบริหาร โดยมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงปัญหาที่ฝังลึก แต่รัฐบาลขาดแคลนบุคลากรและวิธีดำเนินการที่เหมาะสม อีกทั้งมาตรการเหล่านี้ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากและมีความเกินจริงมากไป เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์วิกฤตหลังสงคราม[134]

บรรดาศักดิ์ขุนนางต่าง ๆ ถูกยกเลิก[140] มีการประกาศบังคับใช้แรงงานและมีการจัดระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้ว่างงาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของรัฐ[140] แม้รัฐบาลจะบังคับใช้มาตรการด้วยความกระตือรือร้น แต่ก็ประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อีกทั้งยังใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากเพื่อต่อสู้กับปัญหาร้ายแรงจากการว่างงาน[140]

 
โปสเตอร์สนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการบังคับใช้มาตรการ

รัฐบาลอนุมัติมาตรการปรับปรุงด้านมนุษยธรรมและสังคม[14] การบริหารงานของรัฐบาลได้รับการเผยแพร่จากสื่อ (ซึ่งถูกบังคับ) และในโปสเตอร์รณรงค์ที่สรรค์สร้างโดยศิลปินที่โดดเด่นในยุคนั้น[141] การจำหน่ายและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายถูกสั่งห้าม แต่แรงกดดันจากชนบททำให้ต้องผ่อนปรนลงในวันที่ 23 กรกฎาคม[131] มีความพยายามที่จะกำจัดการค้าประเวณี[140] การหย่าร้างได้รับการอำนวยความสะดวก และมีการประกาศความเท่าเทียมกันทางกฎหมายสำหรับผู้หญิงด้วย[140] ดังนั้นฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติจึงใช้ข้ออ้างนี้ในการโฆษณาชวนเชื่อ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะ "สร้างสังคมของผู้หญิง" ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในชนบท[140]

มีความทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวดสำหรับการดำเนินการปรับปรุงด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะแพทย์และติดพันโดยสภาปกครอง[140] โรงพยาบาลและอุตสาหกรรมทางเภสัชกรรมยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะแพทย์ต่าง ๆ แม้จะมีความพยายามที่จะส่งต่อการจัดการไปยังผู้แทนทางการเมือง แต่รัฐบาลปฏิเสธ[142] การรักษาที่แตกต่างกันตามชนชั้นทางสังคมในโรงพยาบาลถูกยกเลิกและหอผู้ป่วยส่วนตัวเริ่มให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่อาการหนักที่สุดเป็นสำคัญ[142] หรือแม้จะเสียชีวิตไปแล้ว หลุมฝังศพทุกหลุมก็ยังต้องมีขนาดเหมือนกันเพื่อความเสมอภาค[142]

มาตรการที่ได้รับการปฏิเสธจากประชาชนมากที่สุดและก่อให้เกิดการทุจริตมากที่สุด คือ มาตรการขัดเกลาทางสังคมด้านที่อยู่อาศัย[142] เมื่อประเทศเผชิญกับปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการละเว้นการสร้างที่อยู่อาศัยภายหลังสงคราม รัฐบาลจึงต้องใช้สิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับประชากร[142] มีการเรียกเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินที่ไม่จ้างงาน บ้านและเครื่องเรือนต่าง ๆ ถือเป็นของส่วนรวมทั้งสิ้น ไม่ใช่ของคนงาน[142] ด้วยกฎระเบียบอันสับสนเช่นนี้ ทำให้คณะกรรมการเคหะล้มเหลวในการปฏิรูปในช่วงต้นเดือนเมษายน[143] การใช้วิธีการที่รุนแรงของกรรมการราษฎรฝ่ายศึกษาธิการ ติโบร์ ซอมูแอลี ในการพยายามปฏิรูปคณะกรรมการ (รวมทั้งการบังคับขู่เข็ญหรือการขับไล่ประชากรประมาณ 200,000 คน ออกจากบูดาเปสต์) เพื่อยุติการละเมิดและทุจริตประสบความล้มเหลว[143] ในเดือนกรกฎาคม มาตรการได้ปรากฏอย่างชัดเจนแล้วว่าต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่แพงจนเกินไป อีกทั้งยังไม่สามารถยุติปัญหาที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงได้ด้วย[144]

นโยบายแรงงานและภาษี แก้

ทัศนคติของรัฐบาลที่มีต่อค่าจ้างของแรงงาน คือ ความจำเป็นในการปรับแปลงนโยบายแบบเก่าที่เดิมทีแล้วขึ้นอยู่กับความต้องการของสหภาพแรงงาน เปลี่ยนเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงของการผลิตที่น้อยลงและแรงงานที่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน[144] รัฐบาลยกเลิกการทำงานที่คิดค่าแรงเป็นรายชิ้น (piecework) กำหนดเวลาทำงานเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มค่าแรง เสนอการทำประกันสังคมภาคบังคับ และสัญญาจะรับประกันการจ้างงานสำหรับแรงงานทุกคน[144] อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีความพยายามในการปฏิรูปสังคม เช่น การอนุมัติเวลาทำงานเป็นแปดชั่วโมงต่อวัน ให้บริการทางแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดค่าเช่าที่ต่ำลงและเพิ่มค่าแรงที่สูงขึ้น เป็นต้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนพึงพอใจมากขึ้น[71][145] มาตรการเหล่านี้ที่แรงงานรอคอยอย่างยาวนานมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตที่ลดลง กล่าวคือการที่รัฐบาลรับประกันการจ้างงาน การเพิ่มค่าแรงที่ไม่สัมพันธ์กับการผลิต การเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองโดยชอบธรรมของแรงงานตามโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้คนงานฮังการีส่วนใหญ่หยุดทำงานอย่างถึงที่สุด[144] ในไม่ช้าอัตราเงินเฟ้อก็สูงขึ้น การเพิ่มค่าแรงในงานแต่ละส่วนจึงถูกยกเลิกและเกิดการขาดแคลนสินค้า รัฐบาลตอบโต้ด้วยการพยายามนำนโยบายเดิมที่คนงานไม่เห็นชอบกลับมาใช้ใหม่ เพื่อพยายามผลักดันการผลิตอีกครั้ง ซึ่งทำให้เกิดการจราจลขนาดย่อมขึ้น[146]

อัตราค่าแรงที่กำหนดไว้สำหรับแรงงานภาคเกษตรทำให้แรงงานเหล่านี้เสียเปรียบเมื่อเทียบกับแรงงานในเมือง เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนของสินค้าที่ผลิต แม้ว่าชาวนาจะมีรายได้สูงกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาบริโภคสินค้าได้มากขึ้น อีกทั้งยังน้อยลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ[147]

แม้จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขประกันสังคมของแรงงาน แต่การดำเนินการตามมาตรการของรัฐบาลก็ยุ่งเหยิงและบางครั้งก็ขัดแย้งกันตลอดสมัยสาธารณรัฐโซเวียต โดยมักมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา[148]

รัฐบาลยังควบคุมราคาสินค้าอีกด้วย โดยเรียกเก็บภาษีทางอ้อมจากราคาสินค้า[148] ความพยายามของรัฐบาลที่จะรักษามาตรฐานราคาให้ต่ำนั้นล้มเหลว[149] เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ การผลิตที่ลดลง การมีอยู่ของตลาดมืด และการปิดล้อมทางเศรษฐกิจโดยไตรภาคี ซึ่งได้จำกัดจำนวนทรัพยากรที่มีอยู่ไว้[148]

การโอนเป็นของรัฐและนโยบายเศรษฐกิจ แก้

รัฐบาลโซเวียตกำหนดให้ธนาคาร[145] โรงงานอุตสาหกรรม[145] เหมืองแร่ และบริษัทขนส่งที่มีแรงงานมากกว่า 20 คน เป็นของส่วนรวมทั้งสิ้น[149] โดยมีกรรมการราษฎรที่ได้รับเลือกจากรัฐบาลและสภาเป็นผู้บริหารจัดการ[149] (ซึ่งรวมถึงบริษัทข้ามชาติในประเทศ คอนโดมิเนียม[145] ห้างสรรพสินค้า และไร่นาที่มีขนาดใหญ่กว่า 57 เฮกตาร์) นำไปสู่ความโกลาหลทางเศรษฐกิจ[71] พื้นที่การค้าที่มีแรงงานมากกว่าสิบคนถูกกำหนดเป็นของส่วนรวมในอีกสองวันต่อมา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม[149] เช่นเดียวกับโรงแรม สถานบำรุงสุขภาพ (สปา) และบริษัทประกันภัย[149] หอพักทั้งหลายถูกทำให้เป็นแบบสังคมนิยมในวันที่ 26 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ธนาคารถูกเวนคืน[149] เงินฝากทองคำ เครื่องประดับที่มีมูลค่าเกินกำหนด และเงินตราระหว่างประเทศถูกยึด จำนวนเงินที่สามารถถอนได้จากบัญชีธนาคารก็ถูกจำกัด[149] ไม่นานบริษัทเอกชนส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของรัฐ[149]

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการราษฎรที่รับผิดชอบดูแลโรงงานส่วนรวมนั้นไม่มีประสบการณ์ อีกทั้งพวกเขาไม่สามารถป้องกันการผลิตที่ลดลงอย่างรวดเร็วได้[114] ในช่วงปลายเดือนเมษายน การบริการทางรถไฟถูกจำกัดลง เนื่องจากขาดแคลนถ่านหิน[114] รัฐบาลยังคงแบ่งปันทรัพยากรและปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง[71]

ถึงแม้มาตรการรวมสัญชาติจะสามารถนำรายได้จำนวนมากเข้าสู่รัฐบาลใหม่ แต่กลับล้มเหลวในการบริหารมาตรการ[150] ระบบราชการขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นของส่วนรวม แต่เนื่องจากระยะเวลาของการดำรงอยู่อันสั้น จึงไม่สามารถปรับปรุงการผลิตของประเทศได้[150] การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเมืองต่าง ๆ มีโอกาสลดลงระหว่าง 25 % ถึง 75 %[115] การทุจริตอย่างกว้างขวางของระบอบการปกครองที่อัมพาต ปัญหาการเงิน และความล้มเหลวของนโยบายที่ดินก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของสาธารณรัฐโซเวียตย่ำแย่เช่นกัน[150] การปิดล้อมทางเศรษฐกิจของไตรภาคีและการบริหารงานที่ผิดพลาดยิ่งมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงไปอีก[115]

นโยบายเกษตรกรรม แก้

รัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาที่ยากจะหลีกเลี่ยงเกี่ยวกับที่ดินเกษตรกรรม แม้ว่าการแบ่งที่ดินขนาดใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากชาวนาเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันก็นำไปสู่การลดลงของผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องจัดหาให้สำหรับเมืองต่าง ๆ ที่เป็นฐานการสนับสนุนของตน[151][152] หลังจากความไม่แน่นอนของรัฐบาล ในที่สุดจึงมีการตัดสินใจว่าจะไม่แจกจ่ายที่ดินเกษตรกรรม[124] แต่จะเปลี่ยนเป็นการตั้งสหกรณ์ส่วนรวมสำหรับชาวนาไร้ที่ดินแทน[153][109][151] ซึ่งการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นจากเหตุผลสองประการ ประการแรกคือรัฐบาลกังวลว่าชาวนาเจ้าของที่ดินรายย่อยต่าง ๆ อาจสร้างความเป็นศัตรูและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้[15] และประการที่สองมาจากความปรารถนาและความจำเป็นในการรักษาผลผลิตทางการเกษตร[154] การปฏิรูประบบราชการที่ล้มเหลวนี้ นำมาซึ่งการลดลงของการสนับสนุนจากชาวนา อีกทั้งยังลดการสนับสนุนระบอบการปกครองใหม่ในหมู่ประชากรชนบทลงอย่างมาก[153][124]

การดำรงไว้ซึ่งการถือครองที่ดินขนาดเล็กของภาคเอกชนและการจัดตั้งสหกรณ์ที่ดินขนาดใหญ่สร้างความไม่พอใจต่อเกษตรกรหลายภาคส่วน โดยภาคเอกชนผิดหวังกับการตัดสินใจของรัฐบาล จึงได้ซื้อที่ดินเป็นจำนวนมากด้วยเงินทุนสะสมในช่วงสงคราม และมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนเหล่านี้จะเก็บเงินทุนและผลผลิตสะสมไว้รอถึงคราวล่มสลายของรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการเสื่อมนิยมของระบอบการปกครองใหม่ในภาคการเกษตร ชาวนาไร้ที่ดินพบว่าตนเองกลายเป็นลูกจ้างของรัฐที่มีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับภาวะเงินเฟ้อและทุพภิกขภัยที่ยังคงดำเนินอยู่ ดังนั้นชาวนาเหล่านี้จึงหันไปใช้สกุลเงินเก่าสมัยจักรวรรดิแทนสกุลเงินใหม่ แม้ว่าสกุลเงินเก่าจะอ่อนค่ามากก็ตาม[154] ความพยายามของรัฐในการบรรเทาสถานการณ์โดยการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตได้กับสินค้าเกษตรเอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรที่ร่ำรวยมากกว่า ทำให้เกษตรกรยากจนไม่พึงพอใจต่อรัฐบาล[154]

การยกเลิกภาษีที่ดินแปลงเล็ก ซึ่งประกาศใช้เพื่อดึงดูดความนิยมจากเกษตรกรรายย่อยและส่งเสริมความร่วมมือในการจัดหาทรัพยากรสำหรับในเขตเมือง แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นเคย เพราะถูกมองว่าเป็นขั้นตอนก่อนการโอนกรรมสิทธิ์เป็นของส่วนรวม[15] อีกทั้งมาตรการดังกล่าวยังทำให้สภาชาวนาอ่อนแอลงและขาดรายได้ สภาชาวนาจึงหันไปพึ่งพารัฐบาลบูดาเปสต์เพื่อให้เงินทุนสำหรับดำเนินกิจกรรม[155] ความล้มเหลวโดยตรงอีกประการหนึ่งของรัฐบาล คือการคงไว้ซึ่งหัวหน้าคนงานและเจ้าของที่ดินเก่าสำหรับเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคของสหกรณ์ที่ตั้งขึ้นใหม่[155] สำหรับเกษตรกรแล้ว ระบอบการปกครองใหม่ยังคงทำให้พวกเขาต้องทำงานให้กับเจ้านายเก่า โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่[155] แม้จะมีการส่งบุคลากรจากกรรมการราษฎรฝ่ายเกษตรไปยังพื้นที่ชนบท แต่บุคลากรเหล่านี้มีจำนวนน้อย อีกทั้งไม่มีประสบการณ์หรือความรู้เรื่องชนบท และมักจะทุจริตกันอย่างเงียบ ๆ[155]

การทำลายศาสนสถานและการข่มเหงนักบวชตามท้องถิ่น และการเริ่มใช้สกุลเงินใหม่ที่เรียกว่า "กระดาษขาว" (the White paper)[note 11] นำไปสู่ความไม่พอใจและการกบฏในบางพื้นที่[156]

การใช้กำลังและความน่าสะพรึงกลัวในการปราบปรามกิจกรรมต่อต้านการปฏิวัติในชนบท สร้างความเกลียดชังของชาวนาต่อระบอบโซเวียตฮังการีอย่างถาวร[155] ในพื้นที่ชนบทมีการก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธเยาวชนที่เรียกว่า "เลนินบอย" (Lenin Boys) เพื่อรับประกันการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดหาทรัพยากร[124][156] เนื่องจากการขาดแคลนทรัพยากรและอาหารในเขตเมือง[115] อย่างไรก็ตาม การขาดการควบคุมจากรัฐ ทำให้กลุ่มเลนินบอยเริ่มสร้างความหวาดกลัวและความเป็นศัตรูในหมู่ชาวนา[157][156][124] ความพยายามของรัฐบาลที่จะยับยั้งการกระทำอันโหดร้ายของเลนินบอยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร[157]

ในภาพรวม นโยบายเกษตรกรรมประสบความล้มเหลวและส่งผลให้ชาวนาต่อต้านรัฐบาลโซเวียต อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจราจลในชนบทอย่างต่อเนื่อง[124][153] นอกจากนี้ อดีตชนชั้นสูงและคริสตจักรคาทอลิก ซึ่งมีอิทธิพลเหนือชาวนา ยังกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังต่อระบอบการปกครองแบบสากลใหม่ด้วย[157]

การทุจริต แก้

หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐ การทุจริตเริ่มแพร่หลายมากขึ้น ทำให้มาตรการและความพยายามปฏิรูปส่วนใหญ่ล้มเหลว[158] สำหรับรัฐบาลเองจำต้องยอมรับทั้งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของภาครัฐและเอกชน การขาดประสบการณ์ของผู้มีอำนาจ คตินิยมเห็นแก่ครอบครัว การเล่นพรรคเล่นพวก การใช้อำนาจโดยมิชอบ และการยักยอกทรัพย์สินจากรัฐบาล[158]

ประชากรและสังคม แก้

แรงงานภาคเกษตร แก้

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดินแดนฮังการีเป็นภูมิภาคเกษตรกรรมและด้อยพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ โดย 60 % ของประชากรเป็นแรงงานภาคเกษตร[159] ประมาณ 15 % เป็นประชากรมีที่ดินแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และอีก 20 % เป็นแรงงาน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานภาคบริการ รวมทั้งแรงงานภายในบ้านและกรรมกรรายวัน[159]

ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานภาคเกษตรกับสาธารณรัฐขึ้นอยู่กับปัญหาที่ดิน[160] ในกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 3 เมษายน ได้กำหนดให้ที่ดินขนาดใหญ่และกลางเป็นของส่วนรวม (ที่ดินขนาดเจ็ดสิบห้าเอเคอร์ขึ้นไป) โดยที่ดินเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นสหกรณ์หรือที่ดินของรัฐ และไม่ถูกแจกจ่ายให้กับชาวนา[160] ปฏิกิริยาต่อมาตรการนี้มีหลากหลาย โดยสำหรับเจ้าของที่ดินส่วนรวมซึ่งประกอบด้วยประชากรในชนบทประมาณ 2-3 % ต่อต้านมาตรการและระบอบการปกครองใหม่อย่างรุนแรง ส่วนเจ้าของที่ดินขนาดกลางและขนาดย่อม แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปนี้ แต่ก็กังวลว่ามาตรการในภายหลังจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเวนคืนที่ดินพวกเขา และมองว่าการต่อต้านลัทธิศาสนาของรัฐบาลเป็นการกระทำโดยมิชอบ (ทั้งการเปลี่ยนโรงเรียนสอนศาสนาเป็นสถานศึกษาฆราวาส การยกเลิกหลักคำสอน หรือการระงับการศึกษาทางศาสนาในโรงเรียน) จึงมีการเข้าร่วมองค์กรปฏิวัติท้องถิ่นเพื่อกลั่นกรองมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ สองในสามของชาวนาที่ยากจนหรือกรรมกรรายวัน (คิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรฮังการี) ซึ่งแบ่งเป็นชาวนาไร้ที่ดินสองในห้า คนงานในพื้นที่เกษตรกรรมหนึ่งในห้า และกรรมกรรายวันอีกสองในห้า[161] เป็นเพียงกลุ่มสังคมนิยมไม่กี่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างใกล้ชิดและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กรปฏิวัติท้องถิ่นและกองทัพ[161] ซึ่งรวมถึงชาวนาจากดินแดนทรานซิลเวเนียที่โรมาเนียยึดครองด้วย[161] อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะไม่แจกจ่ายที่ดิน ทำให้ผู้คนอีกหลายกลุ่มเสื่อมศรัทธาต่อระบอบการปกครองใหม่นี้[161]

ในเวลาต่อมา ความผิดหวังและความเกลียดชังเริ่มเพิ่มขึ้น จากการขาดแคลนสินค้าอุตสาหกรรม ตามด้วยวิกฤตสินค้าเกษตรในช่วงฤดูร้อน[162] ความจำเป็นในการจัดหาทรัพยากรแก่เขตเมืองและกองทหาร ทำให้รัฐบาลบีบบังคับการผลิตสินค้าและอาหาร ทำให้เกิดการต่อต้านจากชาวนา[162] การสนับสนุนการต่อต้านการปฏิวัติเพิ่มมากขึ้นในหมู่ชาวนาฐานะดี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาถูกขับออกจากหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในช่วงเดือนพฤษภาคม[162]

แรงงานในเขตเมือง แก้

 
บูดาเปสต์ระหว่างการเฉลิมฉลองวันแรงงานสากลในปี 1919

แรงงานในเขตเมืองเป็นฐานสนับสนุนหลักของสาธารณรัฐ[163] ความมุ่งมั่นของพวกเขาในการรวมกลุ่มกันตามเมืองหลักต่าง ๆ ทำให้พวกเขามีความแข็งแกร่งอย่างยิ่ง[163] จำนวนคนงานในสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 1918 เพราะขณะที่ฝ่ายสังคมนิยมส่วนใหญ่พยายามสร้างความนิยมกับแรงงานฝีมือเป็นหลัก กลุ่มคอมมิวนิสต์จึงสร้างความนิยมกับแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานส่วนอื่นแทน[163] การรวมกลุ่มกันของฝ่ายต่าง ๆ ทำให้ขบวนการแรงงานแข็งแกร่งขึ้นและระงับข้อพิพาทระหว่างสังคมนิยมกับคอมมิวนิสต์เป็นการชั่วคราว[163]

ชนชั้นกลาง แก้

แม้ว่าตามกฎหมายจะมีเพียงบริษัทที่มีแรงงานมากกว่า 20 คนเท่านั้น ที่ถูกกำหนดเป็นของส่วนรวม แต่ในหลายครั้งกฎหมายเหล่านี้มักถูกละเลยและบริษัทขนาดเล็กที่มีแรงงานน้อยคนก็ถูกเวนคืนโดยเจ้าหน้าที่รัฐด้วย[163] เช่นเดียวกับธนาคาร โรงงาน โรงแรม ร้านขายยา และโรงภาพยนตร์ที่ถูกกำหนดเป็นของรัฐ การควบคุมร้านค้าโดยรัฐ[163] และการยึดเครื่องประดับและที่พักของครอบครัวชนชั้นแรงงานในบ้านชนชั้นกลาง ถือเป็นการตอกย้ำความเกลียดชังจากชนชั้นกลางที่มีต่อระบอบใหม่[164]

ในทางตรงกันข้าม ในท้องที่ชนบทหรือภูมิภาคที่เคารพกฎหมายนี้ เจ้าของที่ดิน ช่างฝีมือ และพ่อค้ารายย่อยบางส่วนสนับสนุนสาธารณรัฐ[164] นอกจากนี้ ปัญญาชนหัวก้าวหน้า ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ ครูในชนบท และสมาชิกสหภาพแรงงานก็แสดงการสนับสนุนระบอบนี้อย่างเปิดเผยเช่นกัน[164]

ข้าราชการชั้นอาวุโส ตำรวจ ทหาร ตลอดจนนักบวชในศาสนาต่าง ๆ แสดงการสนับสนุนฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติตั้งแต่ต้น[164] เจ้าหน้าที่ทหารเป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดในฝ่ายต่อต้านระบอบการปกครอง และขณะเดียวกันก็มีบทบาทสำคัญในกองทัพแดงฮังการี ซึ่งมุ่งมั่นที่จะปกป้องพรมแดนฮังการีในอดีต ยังมีทหารอีกจำนวนมากที่รับใช้ต่อรัฐบาลโซเวียต แม้จะมีอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ตาม[164]

เจ้าของที่ดินและนายทุน แก้

ชนชั้นปกครองเก่าซึ่งประกอบด้วยเจ้าของที่ดินและนายทุนภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ต่อต้านสาธารณรัฐโซเวียตตั้งแต่ต้น[159] ชนชั้นนำกลุ่มหลักลี้ภัยออกนอกประเทศในช่วงแรก ๆ ของสาธารณรัฐ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านบอลเชวิคที่เรียกว่า "คณะกรรมาธิการแห่งชาติฮังการี" ในเวียนนา[159] ซึ่งภายในคณะได้รวบรวมตัวแทนจากพรรคการเมืองเก่า รวมทั้งมิฮาย กาโรยี ที่ลาออกจากตำแหน่งไปด้วย โดยสมาชิกกว่า 80 % เป็นพวกชนชั้นสูง[159] ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จูลอ กาโรยี ได้ก่อตั้งกลุ่มต่อต้านการปฏิวัติขึ้นในออร็อด ซึ่งต่อมาจึงย้ายไปที่แซแก็ด[159] กลุ่มต่อต้านการปฏิวัติเหล่านี้พยายามเข้าหากับมหาอำนาจไตรภาคีเพื่อรับการสนับสนุน[159]

การต่อต้านและการปราบปราม แก้

 
โยแฌ็ฟ แชร์นี และกลุ่มเลนินบอย ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธประมาณ 200 คน

เมื่อรัฐบาลพิจารณาว่าประชากรในฮังการีแทบทั้งหมดเป็นศัตรูทางชนชั้น รัฐบาลจึงริเริ่มมาตรการหลายอย่างเพื่อปราบปราม เช่น การจับตัวประกัน การจัดตั้งกองการสืบสวนทางการเมืองที่นำโดยโอ็ตโต โกร์วิน ซึ่งดำเนินการจับกุมผู้คนจำนวนมาก ทั้งยังเปิดโปงแผนการต่อต้านรัฐบาลบางส่วนและประหารชีวิตผู้สมรู้ร่วมคิดบางคนด้วย มีการเฝ้าระวังในที่สาธารณะตลอดเวลา หรือบางครั้งกองกำลังเหล่านี้ก็กระทำการที่เกินเลย เช่น กลุ่มของโยแฌ็ฟ แชร์นี ซึ่งประกอบด้วยอาชญากรและนักฉวยโอกาสทางการเมืองที่ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามโดยการขู่กรรโชกหรือฆาตกรรม[145] รัฐบาลได้ก่อตั้งกลุ่มติดอาวุธเพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่เริ่มแข็งขันขึ้น[71] แต่กระนั้น การบังคับใช้มาตรการรุนแรงไม่ได้ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐบาลแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ยังก่อความเกลียดชังต่อชนชั้นกลางหรือแม้แต่ชนชั้นกรรมาชีพเองด้วย[145] หลังการจัดตั้งสาธารณรัฐเพียงสามวัน มีการประกาศกฎอัยการศึกและโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ต่อต้านสภาปกครอง[165] มีการจัดตั้งศาลตุลาการปฏิวัติเพื่อตัดสินความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนัก[165] ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม มีการประกาศใช้กฎหมายที่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีอย่างรวบรัดในพื้นที่ขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้สามารถดำเนินการในท้องที่ชนบทได้ตามอำเภอใจ[166]

ฝ่ายศัตรูของสาธารณรัฐจำนวนมากลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังออสเตรียหรือพื้นที่ควบคุมของกองทหารฝรั่งเศสทางภาคใต้ หรือไม่ก็อาศัยอยู่ในเขตอิทธิพลของตน (สำหรับขุนนาง) และหลบซ่อน[145] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติไม่สามารถระดมพลได้เพียงพอสำหรับการเผชิญหน้ากับรัฐบาลกุน[167] คณะกรรมการต่อต้านบอลเชวิคในเวียนนาเรียกร้องให้มีการแทรกแซงทางทหารจากไตรภาคีในฮังการี แต่ไม่เป็นผล[98] ในวันที่ 5 พฤษภาคม รัฐบาลต่อต้านการปฏิวัติได้จัดตั้งขึ้นในออร็อด และต่อมาจึงย้ายไปที่แซแก็ด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารฝรั่งเศส[11][98]

การจราจลปะทุขึ้นในระหว่างเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเวลาช่วงเดียวกับการรุกรานจากโรมาเนียและการหยุดงานประท้วงโดยคนงานรถไฟที่เรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและจัดตั้งรัฐบาลสังคมนิยม[156] ในระหว่างกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน จำนวนการลุกฮือต่อต้านการปฏิวัติเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า[162] ในวันที่ 27 เมษายน ขณะที่รัฐบาลพยายามโจมตีแนวรบโรมาเนีย ได้เกิดการก่อการกำเริบโดยชาวนาในหมู่บ้านเจ็ดสิบแห่ง ซึ่งกลุ่มกบฏเหล่านี้พยายามยึดอำนาจและระงับการโอนกรรมสิทธิ์ของรัฐ[156]

 
กองทหารที่ภักดีต่อรัฐบาลเผชิญหน้ากับกลุ่มกบฏระหว่างความพยายามรัฐประหาร 24 มิถุนายน 1919

มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมรวบรัด (Court of Summary Justice) ภายใต้การควบคุมของติโบร์ ซอมูแอลี ในวันที่ 21 เมษายน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มติดอาวุธ กลุ่มติดอาวุธของเขาออกตระเวนทั่วประเทศเพื่อระงับการจราจล โดยส่วนใหญ่ไม่พบการต่อต้านจากชาวนา เว้นแต่เจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้จุดชนวนให้เกิดการจราจล[168] มีการคาดการณ์ว่าในช่วงยุคโซเวียตมีผู้ถูกสังหารหรือประหารชีวิตราวหกร้อยคนในฮังการี[note 12] โดย 73 % เป็นชาวนา, 9.9 % เป็นข้าราชการ, 8.2 % เป็นชนชั้นกลาง, และอีก 7.8 % เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมชนชั้นสูงอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อ[168]

ในวันที่ 5 มิถุนายน เกิดการเดินขบวนโดยชาวนาประมาณสี่พันคนในโชโปรน ซึ่งภายหลังกองทหารของเมืองก็สามารถยุติการประท้วงนี้ได้อย่างง่ายดาย[122] ในวันที่ 24 มิถุนายน เกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในบูดาเปสต์และต่างจังหวัดโดยนักเรียนนายร้อย[169] แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างรวดเร็ว[114][168][122] เพราะการลุกฮือนี้ไม่ได้รับความสนใจจากคนงานหรือชาวนาที่ยากจน[16] โดยในวันเดียวกันนั้นก็มีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลกุนจากภายในเช่นกัน[168] แต่กลับล้มเหลวเนื่องจากการวางแผนและการประสานงานที่ไม่ดี อีกทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนใด ๆ[168] ซึ่งในตอนแรก การรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยม กองทหารรักษาการณ์ในเมืองหลวง และฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่ต้องการล้มล้างรัฐบาลเพื่อจุดประสงค์ของการต่อต้านปฏิวัติโดยสมบูรณ์[168] แต่ในเวลาต่อมา นักสังคมนิยมและผู้สมรู้ร่วมคิดปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแผนการครั้งนี้[169] ทำให้กองทหารรักษาการณ์ที่ลุกขึ้นสู้ล้มเหลวในการโค่นล้มรัฐบาลและยอมจำนนในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง[169] สำหรับผลที่ตามมาภายหลังเหตุการณ์นี้ คือการลาออกของนักสังคมนิยมจำนวนมากในรัฐบาล ซึ่งเป็นกรรมการราษฎรจำนวน 11 คน จากทั้งหมด 36 คน[122]

ความปราชัยและการล่มสลาย แก้

ภายหลังจากความปราชัยทางทหารในภาคตะวันออก ประกอบกับรัฐบาลได้สูญเสียการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน[170] ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ซึ่งมีผู้นำสหภาพแรงงาน 46 คน ลงมติคัดค้านการรักษาระบอบสาธารณรัฐโซเวียตอย่างท่วมท้น โดยมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เห็นด้วย[171] ผลจากการลงมติครั้งนี้ได้ถูกส่งไปให้กุน[171] ซึ่งเมื่อวันก่อน ตัวเขาปฏิเสธที่จะลาออกและระบุว่ากองทัพสามารถยึดแนวหน้าได้[172] สภาปกครองจึงเรียกประชุมวิสามัญของขบวนการแรงงานและทหารในบูดาเปสต์ในวันรุ่งขึ้น[171]

 
กองทัพโรมาเนียได้เคลื่อนพลเข้าสู่กรุงบูดาเปสต์ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม โดยเป็นระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ระหว่างการประชุมสภาแรงงานกลาง คณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้กับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วยผู้นำสหภาพแรงงานสายกลาง[126][128][115][120][11] จูลอ ไพเดิล ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่[120] ไพเดิลปฏิเสธที่จะปรากฏตัวต่อสภา โดยเป็นการบ่งบอกว่าตัวเขาปฏิเสธระบอบโซเวียต ซึ่งเขาไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน[171] ภายหลังจากการลาออกของกุน ผู้นำหลักของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีบางคนก็ไปจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน[173] ในคืนเดียวกันนั้น กุนได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลออสเตรียยินดีที่จะให้ที่พักพิงแก่ตัวเขาและผู้ติดตามบางคน[126] กุนและอดีตกรรมการราษฎรบางส่วนจึงได้ลี้ภัยจากบูดาเปสต์[124][129][11] โดยรถไฟสองขบวนและมาถึงเวียนนาในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 2 สิงหาคม[115] พรรคพวกของเขาได้ถูกกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์บุกทำร้ายระหว่างทางไปสถานีรถไฟ[174]

รัฐบาลใหม่ที่นำโดยจูลอ ไพเดิล[115] ซึ่งอยู่ในความดูแลของฝ่ายประชาธิปไตยสังคมนิยม ได้มีกรรมการราษฎรจากคณะรัฐมนตรีของกุนบางคนเข้าร่วมกับคณะรัฐบาลไพเดิล[174][129][175] เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีการประกาศให้ยกเลิกสาธารณรัฐโซเวียต พร้อมกับการฟื้นฟูสาธารณรัฐประชาชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และได้ออกมาตรการรื้อถอนมรดกตกทอดของระบอบโซเวียต[176][175] ในขณะเดียวกัน กองทัพโรมาเนียได้เคลื่อนกำลังพลห่างจากเมืองหลวงเพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น[11] และในวันรุ่งขึ้น กองกำลังหน่วยแรกของโรมาเนียก็ได้เข้าสู่บูดาเปสต์[129] โดยมีกองทหารของฮังการีเพียงไม่กี่หน่วยเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดปกป้องเมืองหลวง แต่ก็ล้มเหลว รัฐบาลไม่สามารถป้องกันกองทัพโรมาเนียที่เคลื่อนพลเข้าสู่บูดาเปสต์ได้ ดังนั้นในวันที่ 4[129] จึงไม่มีการต่อต้านจากทางการฮังการี[177] โรมาเนียได้พยายามจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดในบูดาเปสต์หลังจากความพ่ายแพ้ของคอมมิวนิสต์ โดยมียูโกสลาเวียและเชโกสโลวาเกียเป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[178]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเบ-ลอ กุน คือกรรมการราษฎรฝ่ายกิจการต่างประเทศของฮังการี
  2. เนื่องจากการแปลที่ผิดพลาดในช่วงแรก จึงกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี ในแหล่งข้อมูลภาษาอังกฤษ (ฮังการี: Magyar Szovjet-köztársaság)
  3. เป็นการเลียนแบบอย่างจากบอลเชวิคในโซเวียตรัสเซีย แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาแรงงาน (โซเวียต) ซึ่งชื่อเหมือนกัน
  4. ตามหนังสือของ Völgyes ในหน้าที่ 161 ได้ระบุวันที่เป็นไปได้อยู่สองวัน คือวันที่ 22 และ 24 พฤศจิกายน ส่วนหนังสือของ Zsuppán ในหน้าที่ 317 ได้ระบุว่าเป็นวันที่ 20 และหนังสือของ Janos ในหน้าที่ 189 ได้ยืนยันว่า วันที่ 20 เป็นวันที่มีการพบปะกันระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ นักสังคมนิยมหัวรุนแรง และคนอื่น ๆ ที่มีส่วนร่วมการก่อตั้งพรรคใหม่
  5. ในเดือนมีนาคม คลังอาวุธลับของพรรคคอมมิวนิสต์มีจำนวนปืนไรเฟิลทั้งหมด 35,000 กระบอก[30]
  6. มีตำรวจเสียชีวิต 7 นาย และมีผู้บาดเจ็บประมาณ 80 คน ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รู้ดีว่ารัฐบาลจะต้องจับกุมพวกเขาอย่างแน่นอนหลังจากการประท้วง แต่ก็ตัดสินใจที่จะไม่หลบหนี ทำให้มีผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวนเจ็ดสิบหกคน Zsuppán, p. 329.
  7. กอร์บอยีได้อธิบายถึงความจำเป็นในการสร้างความใกล้ชิดกับคอมมิวนิสต์รัสเซียไว้ว่า[60]

    จากตะวันตก เราไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลยนอกเสียจากความสงบสุขซึ่งบีบบังคับให้เราละทิ้งการเลือกตั้งโดยเสรี ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยอมรับระบอบเผด็จการรูปแบบใหม่ ไตรภาคีได้นำเราไปสู่แนวทางใหม่ ที่ทางตะวันออกจะรับรองเรา ส่วนทางตะวันตกปฏิเสธ...

  8. รัฐธรรมนูญได้กีดกันพระสงฆ์ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อดีตผู้แสวงหาผลประโยชน์ และอาชญากร จากสิทธิในเลือกตั้ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ชายผู้หญิงอายุสิบแปดปีขึ้นไป Janos, p. 193.
  9. ปัจจุบันคือกอชิตเซ ประเทศสโลวาเกีย
  10. ในภาษาฮังการี เรียกว่า "โปโชญ" (Pozsony)
  11. สาเหตุที่เรียกเช่นนี้เนื่องจากเป็นธนบัตรที่พิมพ์เพียงด้านเดียว
  12. โดยระบุว่ามีผู้คนจำนวน 370 ถึง 587 รายที่ตกเป็นเหยื่อ Janos and Slottman p. 197.

อ้างอิง แก้

  1. Angyal, Pál (1927). _magyar_buntetojog_kezikonyve04.php "A magyar büntetőjog kézikönyve IV. rész". A magyar büntetőjog kézikönyve. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 March 2016.
  2. 2.0 2.1 Völgyes 1970, p. 58.
  3. John C. Swanson (2017). Tangible Belonging: Negotiating Germanness in Twentieth-Century Hungary. University of Pittsburgh Press. p. 80. ISBN 9780822981992.
  4. 4.0 4.1 4.2 Balogh 1976, p. 15.
  5. 5.0 5.1 5.2 Janos 1981, p. 195.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 Király & Pastor 1988, p. 34.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 Bodo 2010, p. 703.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 Király & Pastor 1988, p. 6.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 9.8 Szilassy 1971, p. 37.
  10. 10.0 10.1 10.2 Király & Pastor 1988, p. 226.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 Janos 1981, p. 201.
  12. Balogh 1975, p. 298; Király & Pastor 1988, p. 226.
  13. 13.0 13.1 Király & Pastor 1988, p. 4.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 Völgyes 1971, p. 61.
  15. 15.0 15.1 15.2 Völgyes 1971, p. 84.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Király & Pastor 1988, p. 166.
  17. Völgyes 1971, p. 88.
  18. Pastor 1976, p. 37.
  19. Zsuppán 1965, p. 314.
  20. 20.0 20.1 20.2 Szilassy 1969, p. 96.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 Janos 1981, p. 191.
  22. 22.0 22.1 Szilassy 1969, p. 97.
  23. 23.0 23.1 23.2 Zsuppán 1965, p. 315.
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 Király & Pastor 1988, p. 29.
  25. 25.0 25.1 Völgyes 1970, p. 62.
  26. 26.0 26.1 Völgyes 1971, p. 162.
  27. 27.0 27.1 27.2 Janos & Slottman 1971, p. 66.
  28. Janos 1981, p. 190.
  29. 29.0 29.1 Zsuppán 1965, p. 321.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 Zsuppán 1965, p. 320.
  31. 31.0 31.1 Zsuppán 1965, p. 317.
  32. Király & Pastor 1988, p. 127.
  33. Zsuppán 1965, p. 322.
  34. 34.0 34.1 34.2 Zsuppán 1965, p. 323.
  35. 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 35.6 Juhász 1979, p. 18.
  36. 36.0 36.1 Zsuppán 1965, p. 325.
  37. Zsuppán 1965, p. 326.
  38. 38.0 38.1 Zsuppán 1965, p. 327.
  39. Zsuppán 1965, p. 319.
  40. 40.0 40.1 Zsuppán 1965, p. 324.
  41. 41.0 41.1 41.2 Janos & Slottman 1971, p. 67.
  42. Zsuppán 1965, p. 328.
  43. 43.0 43.1 43.2 Zsuppán 1965, p. 329.
  44. 44.0 44.1 Király & Pastor 1988, p. 129.
  45. Völgyes 1971, p. 164.
  46. 46.0 46.1 46.2 Zsuppán 1965, p. 330.
  47. 47.0 47.1 47.2 47.3 47.4 Zsuppán 1965, p. 333.
  48. 48.0 48.1 48.2 Zsuppán 1965, p. 331.
  49. 49.0 49.1 49.2 49.3 Zsuppán 1965, p. 332.
  50. 50.0 50.1 50.2 50.3 50.4 Janos 1981, p. 192.
  51. 51.0 51.1 51.2 51.3 51.4 51.5 51.6 Juhász 1979, p. 19.
  52. Király & Pastor 1988, p. 92.
  53. 53.0 53.1 Szilassy 1969, p. 98.
  54. Szilassy 1971, p. 32.
  55. 55.0 55.1 Pastor 1976, p. 140.
  56. 56.0 56.1 56.2 Szilassy 1971, p. 33.
  57. 57.0 57.1 57.2 Zsuppán 1965, p. 334.
  58. Pastor 1976, p. 141.
  59. Völgyes 1970, p. 64.
  60. 60.0 60.1 60.2 60.3 Király & Pastor 1988, p. 259.
  61. 61.0 61.1 Janos & Slottman 1971, p. 68.
  62. Bodo 2010, p. 708.
  63. 63.0 63.1 63.2 63.3 Pastor 1976, p. 143.
  64. Király & Pastor 1988, p. 272.
  65. 65.0 65.1 65.2 65.3 65.4 Pastor 1976, p. 144.
  66. 66.0 66.1 Király & Pastor 1988, p. 245.
  67. 67.0 67.1 Völgyes 1970, p. 65.
  68. Király & Pastor 1988, p. 31.
  69. 69.0 69.1 69.2 Völgyes 1970, p. 66.
  70. Szilassy 1971, p. 39.
  71. 71.0 71.1 71.2 71.3 71.4 71.5 Szilassy 1971, p. 38.
  72. 72.0 72.1 Völgyes 1970, p. 68.
  73. 73.0 73.1 Balogh 1976, p. 16.
  74. 74.0 74.1 Janos & Slottman 1971, p. 61.
  75. Balogh 1976, p. 23.
  76. Janos & Slottman 1971, p. 64.
  77. 77.0 77.1 77.2 77.3 Király & Pastor 1988, p. 5.
  78. Janos 1981, p. 193.
  79. 79.0 79.1 79.2 Janos 1981, p. 194.
  80. Völgyes 1970, p. 61.
  81. 81.0 81.1 Völgyes 1970, p. 63.
  82. 82.0 82.1 82.2 Völgyes 1971, p. 163.
  83. 83.0 83.1 83.2 Szilassy 1971, p. 35.
  84. Juhász 1979, p. 20.
  85. 85.0 85.1 Király & Pastor 1988, p. 237.
  86. 86.0 86.1 86.2 86.3 86.4 86.5 Juhász 1979, p. 21.
  87. 87.0 87.1 87.2 87.3 Szilassy 1969, p. 99.
  88. 88.0 88.1 88.2 88.3 Szilassy 1971, p. 36.
  89. 89.0 89.1 89.2 Juhász 1979, p. 22.
  90. Völgyes 1971, p. 166.
  91. Király & Pastor 1988, p. 35.
  92. Völgyes 1970, p. 93.
  93. 93.0 93.1 93.2 93.3 93.4 Mocsy 1983, p. 98.
  94. 94.0 94.1 Király & Pastor 1988, p. 76.
  95. Király & Pastor 1988, p. 172.
  96. 96.0 96.1 96.2 Király & Pastor 1988, p. 36.
  97. 97.0 97.1 Király & Pastor 1988, p. 37.
  98. 98.0 98.1 98.2 98.3 98.4 98.5 Juhász 1979, p. 23.
  99. 99.0 99.1 Király & Pastor 1988, p. 43.
  100. 100.0 100.1 Király & Pastor 1988, p. 42.
  101. 101.0 101.1 Király & Pastor 1988, p. 49.
  102. 102.0 102.1 Király & Pastor 1988, p. 65.
  103. Király & Pastor 1988, p. 50.
  104. 104.0 104.1 Király & Pastor 1988, p. 309.
  105. 105.0 105.1 105.2 Király & Pastor 1988, p. 58.
  106. 106.0 106.1 106.2 106.3 Király & Pastor 1988, p. 59.
  107. Juhász 1979, p. 2.
  108. Juhász 1979, p. 24.
  109. 109.0 109.1 Szilassy 1971, p. 42.
  110. 110.0 110.1 110.2 Király & Pastor 1988, p. 69.
  111. 111.0 111.1 Juhász 1979, p. 25.
  112. Janos & Slottman 1971, p. 82.
  113. 113.0 113.1 113.2 113.3 Király & Pastor 1988, p. 81.
  114. 114.0 114.1 114.2 114.3 Szilassy 1971, p. 43.
  115. 115.0 115.1 115.2 115.3 115.4 115.5 115.6 Szilassy 1969, p. 100.
  116. Király & Pastor 1988, p. 7.
  117. Balogh 1976, p. 29.
  118. 118.0 118.1 118.2 118.3 118.4 118.5 118.6 118.7 Szilassy 1971, p. 45.
  119. 119.0 119.1 119.2 119.3 Király & Pastor 1988, p. 72.
  120. 120.0 120.1 120.2 120.3 Juhász 1979, p. 26.
  121. 121.0 121.1 Király & Pastor 1988, p. 71.
  122. 122.0 122.1 122.2 122.3 Király & Pastor 1988, p. 82.
  123. 123.0 123.1 Király & Pastor 1988, p. 83.
  124. 124.0 124.1 124.2 124.3 124.4 124.5 124.6 124.7 Bodo 2010, p. 704.
  125. Király & Pastor 1988, p. 73.
  126. 126.0 126.1 126.2 Szilassy 1971, p. 46.
  127. Szilassy 1971, p. 48.
  128. 128.0 128.1 Király & Pastor 1988, p. 74.
  129. 129.0 129.1 129.2 129.3 129.4 Király & Pastor 1988, p. 84.
  130. Völgyes 1971, p. 167.
  131. 131.0 131.1 131.2 131.3 131.4 Völgyes 1971, p. 63.
  132. 132.0 132.1 Völgyes 1971, p. 64.
  133. 133.0 133.1 Völgyes 1971, p. 70.
  134. 134.0 134.1 Völgyes 1971, p. 71.
  135. 135.0 135.1 135.2 Völgyes 1971, p. 65.
  136. 136.0 136.1 Völgyes 1971, p. 66.
  137. 137.0 137.1 Völgyes 1971, p. 67.
  138. 138.0 138.1 Völgyes 1971, p. 68.
  139. 139.0 139.1 139.2 139.3 Völgyes 1971, p. 69.
  140. 140.0 140.1 140.2 140.3 140.4 140.5 140.6 Völgyes 1971, p. 72.
  141. Völgyes 1971, p. 62.
  142. 142.0 142.1 142.2 142.3 142.4 142.5 Völgyes 1971, p. 73.
  143. 143.0 143.1 Völgyes 1971, p. 74.
  144. 144.0 144.1 144.2 144.3 Völgyes 1971, p. 75.
  145. 145.0 145.1 145.2 145.3 145.4 145.5 145.6 Mocsy 1983, p. 99.
  146. Völgyes 1971, p. 76.
  147. Völgyes 1971, p. 78.
  148. 148.0 148.1 148.2 Völgyes 1971, p. 79.
  149. 149.0 149.1 149.2 149.3 149.4 149.5 149.6 149.7 Völgyes 1971, p. 80.
  150. 150.0 150.1 150.2 Völgyes 1971, p. 81.
  151. 151.0 151.1 Völgyes 1971, p. 82.
  152. Janos & Slottman 1971, p. 79.
  153. 153.0 153.1 153.2 Völgyes 1970, p. 70.
  154. 154.0 154.1 154.2 Völgyes 1971, p. 83.
  155. 155.0 155.1 155.2 155.3 155.4 Völgyes 1971, p. 85.
  156. 156.0 156.1 156.2 156.3 156.4 Mocsy 1983, p. 101.
  157. 157.0 157.1 157.2 Völgyes 1971, p. 86.
  158. 158.0 158.1 Völgyes 1971, p. 87.
  159. 159.0 159.1 159.2 159.3 159.4 159.5 159.6 Király & Pastor 1988, p. 157.
  160. 160.0 160.1 Király & Pastor 1988, p. 160.
  161. 161.0 161.1 161.2 161.3 Király & Pastor 1988, p. 161.
  162. 162.0 162.1 162.2 162.3 Király & Pastor 1988, p. 164.
  163. 163.0 163.1 163.2 163.3 163.4 163.5 Király & Pastor 1988, p. 158.
  164. 164.0 164.1 164.2 164.3 164.4 Király & Pastor 1988, p. 159.
  165. 165.0 165.1 Janos 1981, p. 196.
  166. Janos 1981, p. 197.
  167. Mocsy 1983, p. 100.
  168. 168.0 168.1 168.2 168.3 168.4 168.5 Mocsy 1983, p. 102.
  169. 169.0 169.1 169.2 Mocsy 1983, p. 103.
  170. Balogh 1976, p. 26.
  171. 171.0 171.1 171.2 171.3 Balogh 1976, p. 34.
  172. Balogh 1976, p. 33.
  173. Szilassy 1971, p. 47.
  174. 174.0 174.1 Szilassy 1971, p. 49.
  175. 175.0 175.1 Szilassy 1969, p. 101.
  176. Szilassy 1971, p. 52.
  177. Király & Pastor 1988, p. 75.
  178. Balogh 1975, p. 298.

บรรณานุกรม แก้

หนังสืออ่านเพิ่มเติม แก้

  • György Borsányi, The life of a Communist revolutionary, Bela Kun translated by Mario Fenyo, Boulder, Colorado: Social Science Monographs, 1993.
  • Andrew C. Janos and William Slottman (editors), Revolution in Perspective: Essays on the Hungarian Soviet Republic of 1919. Berkeley, CA: University of California Press, 1971.
  • Bennet Kovrig, Communism in Hungary: From Kun to Kádár. Stanford University: Hoover Institution Press, 1979.
  • Bela Menczer, "Bela Kun and the Hungarian Revolution of 1919," History Today, vol. 19, no. 5 (May 1969), pp. 299–309.
  • Peter Pastor, Hungary between Wilson and Lenin: The Hungarian Revolution of 1918–1919 and the Big Three. Boulder, CO: East European Quarterly, 1976.
  • Thomas L. Sakmyster, A Communist Odyssey: The Life of József Pogány. Budapest: Central European University Press, 2012.
  • Rudolf Tokes, Béla Kun and the Hungarian Soviet Republic: The Origins and Role of the Communist Party of Hungary in the Revolutions of 1918–1919. New York: F.A. Praeger, 1967.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้