เจตนา นาควัชระ

นักวิชาการและผู้บริหารทางการศึกษาชาวไทย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เจตนา นาควัชระ (เกิด 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480)[1] เป็นนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวไทย ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาเยอรมัน มีผลงานสำคัญด้านภาษาและวรรณคดีเยอรมัน วรรณคดีเปรียบเทียบ การวิจารณ์ศิลปะ และการอุดมศึกษา เขาได้รับปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักด์จากมหาวิทยาลัยไทยรวม 5 แห่งและมหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี และยังได้รับรางวัลที่สำคัญได้แก่ เหรียญเกอเธ่ รางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์ ทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. และรางวัลนราธิป[2]

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ

เจตนา นาควัชระ
เกิด19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 (86 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม (ปัจจุบันคือ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย)
อาชีพนักวิชาการ
คู่สมรสศาสตราจารย์กิตติคุณทัศนีย์ นาควัชระ
บุตรบุตรสามคน ได้แก่ ทัศนา นาควัชระ กับธิดาอีกสองคน
รางวัล
  • เหรียญเกอเธ่ (2516)
  • ทุนฟูลไบรท์ (2527, 2532–2533, 2535)
  • รางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์ (2537)
  • เมธีวิจัยอาวุโส สกว. (2538)
  • รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย (2552)
  • รางวัลนราธิป (2560)
ภูมิหลังทางวิชาการ
การศึกษา
วิทยานิพนธ์August Wilhelm Schlegel in Frankreich. Sein Anteil an der französischen Literaturkritik 1807–1835 (2508)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกควร์ท ไวส์ [de]
มีอิทธิพลต่อกรกช อัตตวิริยะนุภาพ, ชมัยภร บางคมบาง, สดชื่น ชัยประสาธน์, กัญญา เจริญศุภกุล, ดวงมน จิตร์จำนงค์, ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์, คำรณ คุณะดิลก, สุนทรียา เหมือนพะวงศ์, ประดิษฐ ประสาททอง, รัศมี ชูทรงเดช, ศิราพร ณ ถลาง, สุกัญญา สมไพบูลย์
ผลงานทางวิชาการ
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยศิลปากร
ได้รับอิทธิพลจากเอเบอร์ฮาร์ท เล็มเมิร์ท [de], ชาร์ลส์ โบดแลร์ [en], แบร์ท็อลท์ เบร็ชท์ [en], อัลแบร์ กามูส์, เนวิลล์ คาร์ดัส [en], ไรน์โฮลด์ กริมม์, อเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมโบลท์, แฟรงก์ เรย์มอนด์ ลีวิส [en], เอกวิทย์ ณ ถลาง, โรนัลด์ พีค็อก, ซูโจโน จูเน็ด ปุซโปเนโกโร [id], ฟรีดริช ชิลเลอร์, อ็อสคาร์ วัลท์เซิล [de], เรเน เว็ลเล็ก [en] และ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล
ลายมือชื่อ

เจตนาเกิดในครอบครัวที่มีบิดามารดาเป็นครู เขาเป็นบุตรคนสุดท้องภูของครอบครัว เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาสอบได้อันดับหนึ่งในแผนกอักษรศาสตร์ของประเทศไทย ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาต่อในยุโรปตั้งแต่ปริญญาตรีจนสำเร็จปริญญาเอก เขามีโอกาสได้เป็นนักวิชาการแลกเปลี่ยนในสหรัฐอเมริกาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหลายครั้งด้วยทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ เจตนาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมโลกวิชาการตะวันตกเข้ากับประเทศไทย[3]

ในฐานะนักวิชาการ งานของเจตนาในระยะแรกประกอบด้วยวรรณคดีเปรียบเทียบและวรรณคดีเยอรมัน นอกจากนี้เจตนาเขียนหนังสือ บทความสำหรับผู้อ่านทั่วไป และผู้อ่านทางวิชาการโดยใช้ภาษาไทยอันเป็นภาษาแม่ รวมถึงภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส เขาได้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยในช่วงหลังผ่านงานเขียนและการบรรยายจากผลงานการวิจารณ์ศิลปะ รวมถึงการอาสาเป็นผู้นำทางความคิดในวิชาการด้านมนุษยศาสตร์[4][5]

ในทางบริหารเจตนาเคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของสำนักเลขาธิการซีมีโอ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร[6] รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการบริหารงานการอุดมศึกษาในประเทศไทยด้วยการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง กรรมการทบวงมหาวิทยาลัย และกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา[7][8]

ชีวิตและอาชีพทางวิชาการ แก้

ชีวิตช่วงแรกและการศึกษา แก้

เจตนาและพี่น้องผู้ชายทั้งหมดศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และสำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2497 หลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแปดปีตามหลักสูตรในสมัยนั้น เขากล่าวว่าประสบการณ์ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มีความสำคัญยิ่งต่อแนวคิดและความสำเร็จของเขาในเวลาต่อมา[9] เจตนาสอบได้เป็นที่หนึ่งของประเทศในแผนกอักษรศาสตร์[10] จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ โดยเจตนาใช้เวลาสามปีที่แมนเชสเตอร์ในการเตรียมตัวสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย ระหว่างนี้ได้เรียนภาษาต่างประเทศอีกสองภาษา คือ เยอรมันและละติน[11]

เจตนาสำเร็จปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาปัจจุบัน (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากนั้นย้ายไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีโดยมีศาสตราจารย์ควร์ท ไวส์ เป็นที่ปรึกษาหลักเมื่อ พ.ศ. 2504 ต่อมาได้สำเร็จปริญญาเอก ในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เกียรตินิยมดีมาก (magna cum laude) จากมหาวิทยาลัยทือบิงเงินเมื่อ พ.ศ. 2508[12][13]

นอกจากควร์ท ไวส์ ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเจตนา และเอเบอร์ฮาร์ท เล็มเมิร์ท [de] ที่ปรึกษาทางวิชาการอีกคนหนึ่งในเยอรมนีที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางวิชาการให้แก่เขาเสมอมา[14] การวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรมของเจตนาได้รับอิทธิพลจาก ชาร์ลส์ โบดแลร์ [en], แบร์ท็อลท์ เบร็ชท์ [en], อัลแบร์ กามูส์, เนวิลล์ คาร์ดัส [en], ไรน์โฮลด์ กริมม์, อเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ฮุมโบลท์, แฟรงก์ เรย์มอนด์ ลีวิส [en], เอกวิทย์ ณ ถลาง, โรนัลด์ พีค็อก, ซูโจโน จูเน็ด ปุซโปเนโกโร [id], ฟรีดริช ชิลเลอร์, อ็อสคาร์ วัลท์เซิล [de], และ เรเน เว็ลเล็ก [en][15][16] เขาและผู้ร่วมงานรุ่นหลังต่างเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างระบบอุดมศึกษาในอุดมคติที่ได้ริเริ่มไว้โดย หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรในการก่อตั้งวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์[15]

รับราชการในกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยศิลปากร แก้

เจตนากลับมารับราชการในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2509 สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ[17] จนถึง พ.ศ. 2511 จึงย้ายไปเป็นอาจารย์สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม และได้ริเริ่มหลักสูตรภาษาเยอรมันในฐานะอาจารย์รุ่นแรก[18] แล้วไปปฏิบัติงานในองค์การสำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Secretariat เรียกโดยย่อว่า SEAMEO หรือ ซีมีโอ) ระหว่างเวลาที่ปฏิบัติงานอยู่รวม 4 ปี เขาได้รับเหรียญเกอเธ่ เมื่อ พ.ศ. 2515 และได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการของสำนักเลขาธิการซีมีโอในช่วงสองปีสุดท้าย[11][19]

ต่อมาเจตนาได้กลับเข้ามาปฏิบัติราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2519 โดยเข้าดำรงตำแหน่งบริหาร ได้แก่ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (พ.ศ. 2519–2522)[8] และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา (พ.ศ. 2522–2524)[7] ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งได้สนับสนุนให้จัดตั้งภาควิชาสังคมศาสตร์ขี้นในคณะ[20]และรับผิดชอบโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยซึ่งต่อมาได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในรูปของสถาบันวิจัยและพัฒนา[21] ต่อมาเขาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อ พ.ศ. 2526[22]

ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิฟูลไบรท์ เจตนาเป็นนักวิชาการอาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์สองครั้งเมื่อ พ.ศ. 2528 และ 2535[23] และเป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปีการศึกษา 2532–2533[24] นอกจากนี้เจตนาได้กลับไปเยื่อนประเทศเยอรมนีเพื่อทำงานวิชาการอีกหลายครั้งด้วยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนี Deutscher Akademischer Austauschdienst [en] (DAAD)[25] และรางวัล Humboldt-Forschungspreis จากมูลนิธิฮุมโบลท์[26][6]

หลังเกษียณอายุราชการ แก้

เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2540 เจตนาเกษียณอายุราชการในตำแหน่งสุดท้าย คือ ศาสตราจารย์ระดับ 11 ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการพลเรือน[27] ในบทสัมภาษณ์ให้กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อ พ.ศ. 2541 ในคราวเกษียณอายุราชการ เขากล่าวว่าไม่ใช่ว่าเขาต้องการเป็นข้าราชการไปอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะด้วยความสำนึกในบุญคุณของรัฐบาลไทยที่ให้ทุนนับสนุนไปศึกษาต่อในยุโรป[5] เจตนามักจะบอกผู้รับทุนรัฐบาลไทยรุ่นหลังเสมอว่า "ทุนนั้นชดใช้หมด แต่บุญคุณใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมด"[28]

เจตนาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังพ้นจากการรับราชการเต็มเวลาอย่างเป็นทางการเจตนายังคงสนับสนุนงานวิชาการด้วยการทำหน้าที่ในคณะกรรมการต่าง ๆ ของรัฐ สภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง และริเริ่มโครงการวิจัยทางศิลปะซึ่งมีผู้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[5] มหาวิทยาลัยจัดให้มีห้องอนุสรณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ที่ชั้นสองของหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์เพื่อรวบรวมหนังสือที่เขาได้มอบไว้แก่หอสมุด[29] ในช่วงเวลานี้เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์และรางวัลอย่างต่อเนื่อง[4]

ชีวิตส่วนตัว แก้

เจตนา นาควัชระ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่หกและคนสุดท้องของครอบครัว ทั้งบิดาและมารดาประกอบอาชีพเป็นครู แต่หลังแต่งงานมารดาทำหน้าที่เป็นแม่บ้านและเป็นครูพิเศษให้ลูก ๆ[15] ถนอม นาควัชระ หรือขุนชำนิขบวนสาส์น บิดาของเขาเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวงดนตรีไทยของคุรุสภา[30] ในวัยเด็กเจตนาอาศัยอยู่บ้านซึ่งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและได้ขี่จักรยานไปตามถนนพญาไททุกวัน เจตนาชอบกีฬาและตนตรีซึ่งปลูกฝังให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคน[31] เจตนาเรียนดนตรีจากบิดา ภาษาอังกฤษจากมารดาเบื้องต้น และยังได้รับอิทธิพลการอบรมสั่งสอนวรรณกรรมมุขปาฐะจากยายอีกด้วย เขาเคยเข้าประกวดแข่งขันร้องเพลงในงานวัดขณะที่เป็นนักเรียนอยู่[9]

เจตนา สมรสกับทัศนีย์ นาควัชระ ศาสตราจารย์ภาษาฝรั่งเศส คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[32][33] พำนักอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 38 มีบุตรด้วยกันสามคน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา นาควัชระ (เกิด พ.ศ. 2512) เป็นนักไวโอลินและอาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร[34] กับธิดาอีกสองคน คนหนึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทรับทำวิจัยของสหรัฐอเมริกา และอีกคนหนึ่งทำร้านอาหารอยู่ประเทศเม็กซิโก[9]

ภาษาเยอรมันและวรรณคดีเยอรมัน และวรรณคดีเปรียบเทียบ แก้

เจตนามีผลงานที่สำคัญเกี่ยวกับนักประพันธ์ชาวเยอรมัน ประกอบไปด้วยงานค้นคว้าวิจัยตีพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศ งานแปลและคู่มือสำหรับการศึกษาเป็นภาษาไทยสำหรับคนไทย ผลงานเหล่านี้เกิดขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าวรรณกรรมในภาษายุโรปซึ่งเขามีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ รวมทั้งการผสานประสบการณ์จากต้นกำเนิดความเป็นไทยเข้ากับการตีความวรรณกรรมเหล่านั้นด้วย งานของเขาจึงมีองค์ประกอบของทั้งโลกตะวันออกและตะวันตกอยู่รวมกัน จากผลงานเหล่านี้ เจตนาได้รับเหรียญเกอเธ่ เมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่องค์การซีมีโอ ต่อมาเจตนาได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขามนุษยศาสตร์จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อ พ.ศ. 2538 ซึ่งเป็นปีแรกที่ สกว. จัดให้มีทุนดังกล่าวขึ้น ก่อนเขาจะเกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยศิลปากรสองปี โครงการวิจัยดังกล่าวมีชื่อว่า "กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย: ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส และเยอรมัน"[35][36] ผลงานในด้านภาษาและวรรณคดีของเจตนาเป็นจุดกำเนิดให้เกิดผลงานเกี่ยวกับศิลปกรรมไทยและโครงการวิจารณ์[37]

วิทยานิพนธ์ของเจตนาเมื่อ พ.ศ. 2508 เขียนเป็นภาษาเยอรมัน อธิบายบทบาทของ เอากุสท์ วิลเฮ็ล์ม ชเลเกล [en] ในการเป็นผู้นำการวิจารณ์วรรณกรรมในฝรั่งเศสระหว่างช่วง พ.ศ. 2350–2378 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2509 สำนักพิมพ์เยอรมัน มักส์ นีไมเออร์ [de] ในทือบิงเงินตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกนี้เป็นหนังสือเล่มแรกของเขา[38] ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นสื่อทางวรรณคดีระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีที่มีความเป็นกลางสูง[15][39] และรอเจอร์ พอลิน และได้นำไปใช้อ้างอิงในชีวประวัติของชเลเกล[40] หนังสือเล่มที่สองของเขามีชื่อว่า "เบรคชท์กับฝรั่งเศส (Brecht and France)" สำนักพิมพ์ ปีเตอร์ ลังก์ [en] ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ณ กรุงแบร์น เมื่อ พ.ศ. 2536 นอกจากชเลเกลกับแบร์ท็อลท์ เบร็ชท์ [en][25] เขายังเขียนเกี่ยวกับ เกอเธ่, โธมัส มันน์ และบทกวีร่วมสมัยภาษาเยอรมัน เป็นภาษาไทยอีกด้วย[41] ไม่เพียงงานที่เขียนด้วยตนเอง เจตนายังผลิตงานแปลมากกว่า 50 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นกวีนิพนธ์และเป็นการแปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย เช่น "Geschrieben" โดย แวร์เนอร์ ลุทซ์ [en], "Ein Tag für Impressionisten" โดย ไรเนอร์ มัลค็อฟสกี [de], และ "Der Aufruf" โดย ฟรีเดอรีเคอ ไมเริคเคอร์ [en] เป็นต้น[41]

เจตนาเขียนงานภาษาอังกฤษและเยอรมันจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมข้ามพรมแดนเชิงมนุษยศาสตร์ระหว่างไทยกับตะวันตก เช่น "Comparative Literature from a Thai Perspective. Collected articles 1978–1992", "Fervently Mediating: Criticism from a Thai Perspective, Collected Articles 1982-2004" และ "Bridging Cultural Divides: Collected Essays and Reviews 2006-2014" เป็นต้น[42][3][43] ผู้ปริทัศน์หนังสือให้ความเห็นว่างานของเขาอยู่บนพื้นฐานของมนุษยนิยมและการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม โดยมีทฤษฎีที่สำคัญที่เสนอบนอัตลักษณ์ของความเป็นไทยอันเป็นแผ่นดินแม่ ได้แก่ ทฤษฎีระนาดทุ้ม (ผู้นำที่แท้จริงเล่นระนาดทุ้มมิใช่ระนาดเอก)[42] ความสำคัญของมุขปาฐะและการด้น (ลำตัดและลิเกเป็นตัวอย่างของงานวรรณกรรมไทยที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นผ่านศิลปินโดยไม่มีการบันทึก และมีการด้นเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ระหว่างการแสดงและเป็นขบถต่อบทที่ตายตัว)[42][3]

ศิลปกรรมไทยและโครงการวิจารณ์ แก้

ในฐานะนักวิจัยและหัวหน้าโครงการ เจตนาเป็นผู้ริเริ่มและเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย "กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ฯ" (พ.ศ. 2538–2541) และ "การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย" (พ.ศ. 2542–2548) โครงการวิจัยการวิจารณ์ศิลปะไทยภายใต้การนำของเจตนาประกอบไปด้วยการวิจารณ์ศิลปะสี่แขนง ได้แก่ วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ และต่อมาได้ขยายไปสู่ภาพยนตร์ด้วย[44][45] เมื่อสื้นสุดโครงการทั้งสองที่ได้รับทุนจาก สกว. (พ.ศ. 2542–2544 และ พ.ศ. 2545–2548) จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย[46] โครงการต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปและขยายขอบเขตโดยสมาชิกในทีมวิจัยคนอื่น โดยที่เขายังคงมีส่วนร่วมในฐานะที่ปรึกษาอาวุโสจนถึงโครงการที่สนับสนุนโดย สกว. โครงการสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2563 และมีโครงการต่อมาซึ่งธนาคารกสิกรไทยให้การสนับสนุน พ.ศ. 2564–2565[47]

ตัวอย่างหัวข้อสำคัญในงานวิจารณ์ของเจตนา ได้แก่ ชาติ กอบจิตติ, อังคาร กัลยาณพงศ์, ศรีบูรพา, อัศศิริ ธรรมโชติ, วงดนตรีสุนทราภรณ์, วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ, วงดุริยางค์ฟิลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย, และวงออร์เคสตราและศิลปินเดี่ยวจากต่างประเทศที่มาเยี่ยมเยือนประเทศไทย นอกจากนี้ บทละครแปล เช่น Der gute Mensch von Sezuan (คนดีแห่งเสฉวน) โดย แบร์ท็อลท์ เบร็ชท์ และ Antigone (อันตราคนี) ของ ฌ็อง อานูย ก็รวมอยู่ในผลงานเหล่านี้ด้วย[48] งานบางส่วนของเจตนาในด้านนี้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ TRF Criticism[49]

แนวคิดสำคัญของเจตนาในด้านนี้ได้แก่ ศิลปะส่องทางให้แก่กัน (แนวคิดเดิมเป็นของวัลท์เซิลในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ เจตนาได้นำมาใช้กับบริบทของสังคมไทยและศิลปะหลากหลายแขนงว่ามีลักษณะเอื้อต่อกัน) บทบาทของผู้รักสมัครเล่นในการผลักดันงานศิลปะ (การมีส่วนร่วมของศิลปินสมัครเล่นและชุมชนของผู้รับชมหรือรับฟังงานศิลปะมีความสำคัญยิ่ง และเส้นแบ่งระหว่างศิลปินทั้งระดับอาชีพและสมัครเล่นรวมถึงผู้ฟังเป็นเพียงเส้นกั้นบาง ๆ ที่อาจก้าวข้ามกันได้) เทคโนโลยีและการผลิตจำหน่ายสินค้าบั่นทอนคุณค่าของศิลปะ (ค่าตัวที่แพงลิบของศิลปินที่เด่นเพียงคนเดียวทำให้วงดนตรีขนาดใหญ่ไม่อาจอยู่ต่อไปได้เนื่องจากเงื่อนไขทางการเงิน การบันทึกและปรับแต่งเสียงด้วยเทคโนโลยี Hi-Fi [en] ทำให้มีความถูกต้องเกินจริงกว่าที่ศิลปินทำได้ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประพันธ์เลือกสร้างผลงานไปในทางที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี)[50]

มนุษยศาสตร์และการอุดมศึกษา แก้

เจตนาได้เขียนงานเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์และอุดมศึกษาไทยไว้จำนวนมาก "ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ไทย" คือหนังสือเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์เล่มแรกที่เจตนาได้ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2532 ตามมาด้วย "วิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์" ใน พ.ศ. 2538 และ "จุดยืนของมนุษยศาสตร์" ใน พ.ศ. 2558[28] สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับอุดมศึกษาเขาตีพิมพ์บทความของตนเองในหนังสือชื่อว่า "Papers on Education" ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 และยังคงนำเสนอมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างต่อเนื่อง สถาบันคลังสมองแห่งชาตินำคำบรรยายของเจตนาในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ชื่อว่า "คณบดีเพื่อการเปลี่ยนแปลง" (Deans for Change) มาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า "จากวิทยาทานสู่การผลิตและจำหน่ายสินค้า: ความปั่นป่วนของอุดมศึกษา" เมื่อ พ.ศ. 2556 และ "วัฒนธรรมสำนึก: รากฐานของอุดมศึกษา" เมื่อ พ.ศ. 2559[51] สำหรับเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือรวมบทความของเจตนาและหนังสือผู้นำระนาดทุ้ม[9]

นอกเหนือจากบทบาทในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ คณบดีคณะอักษรศาสตร์และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนาของมหาวิทยาลัยศิลปากร เจตนายังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (พ.ศ. 2536–2546)[52] มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2551–2555)[53] มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2551–2559)[54] และคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยมากกว่าสิบปี (พ.ศ. 2530–2533 และ พ.ศ. 2535–2545)[55] ในขณะที่อุดมศึกษาของไทยปรับเปลี่ยนเข้าสู่มหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือ สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ เจตนาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (พ.ศ. 2548–2552)[56]

เจตนาเป็นประธานคณะทำงานกลุ่มสาขาวิชามนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรม ของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำคู่มือเสนอผลงานวิชาการ 22 รูปแบบ และวิธีการประเมินขอตำแหน่งวิชาการ สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรม[57] คู่มือนี้ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2554 ช่วยให้รายละเอียดและการตีความ "หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2549" ที่กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานกลางระดับประเทศเป็นครั้งแรก ให้ชัดเจนมากขึ้น[58]

อิทธิพลและการตอบรับในสังคม แก้

แนวคิดที่เป็นที่รู้จักในสังคม แก้

เจตนาเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า "วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์" ในหนังสือของเขาซึ่งใช้เป็นที่ใช้อ้างอิงกันสำหรับนักศึกษา ผู้สนใจ และนักวิชาการ[59] เขามีประสบการณ์กว้างขวางในวงการวิจารณ์ศิลปะและวรรณกรรมในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี เมื่อ พ.ศ. 2541 บางกอกโพสต์กล่าวถึงเจตนาว่าเขาเป็น "...นักวิจารณ์ที่เขียนด้วยปากกาคม ความคิดเห็นของเขาสามารถทำให้นักเขียนบทละครทบทวนงานของตนอีกรอบถึงแม้ว่าจะเป็นตอนที่กำลังแสดงอยู่และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และศิลปินทัศนศิลป์ก็ให้ความสนใจมากกับสิ่งที่เขาพูด...”[5] นอกจากนี้เจตนายังเป็นกรรมการชี้ทิศทางในโครงการหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ของ วิทยากร เชียงกูล[60]

การตอบรับจากวงการวิชาการและวงการศิลปะ แก้

ชีวิตและผลงานเจตนาเป็นหัวข้อของโครงการวิจัย "นักคิด-นักวิจัยไทย: เจตนา นาควัชระ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. เมื่อ พ.ศ. 2541 โดยมีผลสรุปการวิจัยว่าแนวคิดของเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานมนุษยนิยมแบบเสรี ผสานกับประชาธิปไตยแบบเสรี และมีจุดเด่นที่การผสานภูมิปัญญาตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน[30][15] หนังสือของเขาในภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิชาการนานาชาติ[42][3][43] แม้นักวิชาการในต่างสาขาก็ให้การยอมรับ เช่น ศ.วันชัย ดีเอกนามกูล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยมูลนิธิฮุมโบลท์เช่นเดียวกับเจตนากล่าวว่า "อาจารย์เจตนาเหมือนกับแม่ทัพของสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สามารถต่อกรกับกองทัพของสายวิทยาศาสตร์ได้อย่างมั่นคงและสมศักดิ์ศรี และแน่นอนที่สุด ในปัจจุบันผมได้ให้คุณค่าในศาสตร์ของท่านอาจารย์เจตนาในระดับที่สูงมาก"[61]

นักวิชาการและศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ได้รับอิทธิพลจากเจตนา ได้แก่ กรกช อัตตวิริยะนุภาพ, ชมัยภร บางคมบาง, สดชื่น ชัยประสาธน์, กัญญา เจริญศุภกุล, ดวงมน จิตร์จำนงค์, ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์, คำรณ คุณะดิลก, สุนทรียา เหมือนพะวงศ์, ประดิษฐ ประสาททอง, รัศมี ชูทรงเดช, ศิราพร ณ ถลาง, สุกัญญา สมไพบูลย์ เป็นต้น[61]

วรรณกรรมเยาวชน แก้

บทบาทของเจตนาในโครงการวิจารณ์ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว. เป็นแรงบันดาลใจให้ ชมัยภร บางคมบาง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณคดี ประจำปี พ.ศ. 2557) เขียนวรรณกรรมเยาวชนที่ได้รับรางวัล เรื่อง คุณปู่แว่นตาโต (พ.ศ. 2544)[62] ในนวนิยายดังกล่าว ตัวละครคุณปู่มีเจตนาเป็นต้นแบบ และตัวละครเด็ก ๆ ก็สื่อถึงสมาชิกของคณะผู้วิจัยในโครงการ[63] คุณปู่แว่นตาแตก (พ.ศ. 2555) ภาคต่อของนวนิยายดังกล่าวโดยนักเขียนคนเดียวกัน ยังมีเจตนา (คุณปู่) เป็นตัวละครหลักพร้อมกับนักเรียนระดับประถมศึกษากลุ่มใหม่ด้วย[64] ประเด็นหลักในหนังสือสองเล่ม คือ การผจญภัยของคุณปู่และเด็ก ๆ ผ่านการทัศนศึกษาที่วัดโพธิ์ หอศิลป์แห่งชาติ บางลำพู อัมพวา และถ้ำผีแมนที่ปางมะผ้า และการพยายามปลูกฝังความซาบซึ้งในศิลปะและรากเหง้าดั้งเดิม การกล่าวถึงพระสยามเทวาธิราชบ่อยครั้งของคุณปู่เพื่อแสดงความคับข้องใจ รวมถึงประเด็นความเชื่อมโยงของคุณปู่กับประเทศเยอรมนีที่ปรากฏในหนังสือทั้งสองเล่มเป็นแรงบันดาลใจจากบุคลิกภาพและความคิดหลักของเจตนา[63]

ข้อโต้แย้ง ข้อถกเถียง แก้

ผลงานของเจตนามิใช่จะปราศจากข้อโต้แย้งหรือข้อถกเถียงในสังคม เมื่อ พ.ศ. 2541 ในระหว่างการสัมมนาครั้งสุดท้ายของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. กลุ่มกวีไม่เห็นด้วยกับงานที่เขาเลือกมานำเสนอเป็น "ตัวแทนกวีนิพนธ์ไทย" ซึ่งมีส่วนหนึ่งเป็นเนื้อร้องเพลงไทยสากลอันรวมถึงเพลงป๊อปสมัยใหม่ของเสก โลโซ แต่กลับไม่มีผลงานอื่นที่กลุ่มกวียกย่อง เจตนาอธิบายระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ บางกอกโพสต์ ว่า "คำคัดค้านของเหล่ากวีในการสัมมนาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ โดยเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับหลักการของการประเมินคุณค่ากวีนิพนธ์"[5]

เกียรติยศและรางวัล แก้

ปริญญากิตติมศักดิ์ แก้

เจตนาได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์[4] จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ใน พ.ศ. 2541[7] มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒใน พ.ศ. 2544[65] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2547[66] มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงใน พ.ศ. 2548[67] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2549[68] และมหาวิทยาลัยทือบิงเงินใน พ.ศ. 2552[69][70] การมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้ซ้ำในสาขาเดิมที่สำเร็จการศึกษามาจากสถาบันเดียวกันให้แก่เขากลายเป็นกรณีต้นแบบสำหรับมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน เนื่องจากการมอบปริญญาให้แก่บุคคลเดียวกันในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน[16]

รางวัลและทุน แก้

  • พ.ศ. 2498–2508 ทุนรัฐบาลไทยเพื่อศึกษาระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกในยุโรป[9]
  • พ.ศ. 2516 เหรียญรางวัลเกอเธ่ [en][71]
  • พ.ศ. 2527 และ พ.ศ. 2535 Fulbright Visiting Scholar [en] ณ มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนอาร์เบอร์ (สองครั้ง)[23]
  • พ.ศ. 2532–2533 Fulbright Visiting Professor ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์[24]
  • พ.ศ. 2537 รางวัล Humboldt-Forschungspreis จาก มูลนิธิอเล็คซันเดอร์ฟ็อนฮุมโบลท์ [en][26]
  • พ.ศ. 2538 เมธีวิจัยอาวุโสรุ่นแรกของ สกว.[35]
  • พ.ศ. 2552 รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยจากกระทรวงวัฒนธรรม[72]
  • พ.ศ. 2553 รางวัลรัตโนบล (รางวัลที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเชิดชูเกียรติคุณของผู้ที่ประกอบคุณงามความดีแก่มหาวิทยาลัยและสังคมเป็นที่ประจักษ์)[73]
  • พ.ศ. 2560 รางวัลนราธิป[2]
  • พ.ศ. 2562 รางวัลทรงเกียรติแด่ผู้มีคุณูปการต่อวงการศิลปะการแสดง ประจำปี 2562 (IATC Lifetime Achievement Award 2019) จากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง[74]
  • พ.ศ. 2562 Outstanding Humboldtian Award[61]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เจตนา นาควัชระ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ แก้

สมาชิกสมาคมวิชาการ แก้

  • พ.ศ. 2525–2531 สมาชิกในคณะกรรมการทฤษฎีวรรณกรรมของ International Comparative Literature Association (ICLA)[4]
  • พ.ศ. 2542–2545 รองประธานของ The International Federation for Modern Languages and Literatures (FILLM)[78]
  • พ.ศ. 2547 สมาชิกกิตติมศักดิ์ของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์[79]

ผลงานทางวิชาการ แก้

หนังสือต่อไปนี้เป็นตัวอย่างผลงานหลักของเจตนาซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดสำคัญเป็นครั้งแรก หรือเป็นหนังสือที่รวบรวมแนวคิดจากบทความวิชาการหรือการบรรยายของเขา[41]

อ้างอิง แก้

  1. "นักเรียนเก่า ที่มีชื่อเสียง". debsirin.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2022-06-05.
  2. 2.0 2.1 "19 นักเขียน รับรางวัลนราธิป 2560 ยกเป็นแบบอย่างนักเขียนรุ่นหลัง เชื่อจะไม่มีวันที่คนเลิกอ่าน". matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Karl E. Weber (2021). "Native Roots and Distant Climes: Collected Essays and Reviews in English and German (2014-2020) by Chetana Nagavajara. Nakhon Pathom: Faculty of Arts, Silpakorn University, 2020". Journal of the Siam Society. 109: 219–222.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ไทย ศ. ดร.เจตนา นาควัชระ ปาฐากถาเกียรติยศศาสตราจารย์กษาน จาติกวนิช ครั้งที่ 5 วันที่ 2 มีนาคม 2552" (PDF). op.mahidol.ac.th. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "Not the retired type". Bangkok Post. October 17, 1998. outlook.
  6. 6.0 6.1 "Chetana Nagavajara". www.geisteswissenschaften.fu-berlin.de. March 20, 2017. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  7. 7.0 7.1 7.2 "ปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ ปีการศึกษา 2541 ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ" (PDF). archive.oas.psu.ac.th.
  8. 8.0 8.1 "ทำเนียบคณบดี". www.arts.su.ac.th. สืบค้นเมื่อ July 30, 2021.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 เจตนา นาควัชระ (2015). ผู้นำระนาดทุ้ม (PDF). กรุงเทพฯ: โครงการผู้นำแห่งแห่งอนาคต. ISBN 9786162796135. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-01. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  10. Praornpit Katchwattana (2021). "'ดร.เจตนา นาควัชระ' ผู้มีเจตจำนงแห่งการแสวงหาและเผยแพร่ความรู้". salika.co. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  11. 11.0 11.1 เมธี ครองแก้ว (2021). "84 ปี แห่ง ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ". จดหมายข่าว ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. 8 (32): 6–11. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  12. เจตนา นาควัชระ (2005). "ท่องเที่ยวไปในอาณาจักรวรรณคดีศึกษา". ตามใจฉัน-ตามใจท่าน: ว่าด้วยการวิจารณ์และการวิจัย. ISBN 9749395166.
  13. Chetana Nagavajara (2016). "Kurt Wais: A Centenary Appraisal" (PDF). Manusya: Journal of Humanities (Special Issue No.11): 1–34.
  14. On Culture and Criticism: Dialogue with Chetana Nagavajara With contributions from Reinhold Grimm, Eberhard Lämmert and Ekavidya Na Thalang. Nakorn Pathom: Institute of Research and Development Silpakorn University. 2002. (in Thai, English and German)
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 สดชื่น ชัยประสาธน์ และคณะ (1999). พลังปัญญาทางมนุษยศาสตร์: เจตนา นาควัชระ. กรุงเทพ: โครงการวิถีทรรศน์. ISBN 9742721335.
  16. 16.0 16.1 Korakoch Attaviriyanupap (2009). "The German Tradition of Awarding Honorary Doctorates: A case-Study from Tübingen University". วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. 31 (1): 24–49.
  17. "สัมภาษณ์ เจตนา นาควัชระ: "ปลูกสวนเล็ก ๆ ที่อยู่ในวัฒนธรรมแผ่นดินแม่" สู่แผ่นดินอื่น". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  18. "Silpakorn University". daad.or.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-05-27. สืบค้นเมื่อ June 18, 2021.
  19. "SEAMEO DIGEST January-March 1975 No 17". elibrary.seameo.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-13. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  20. "ประวัติภาควิชาสังคมศาสตร์". arts.su.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-27. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  21. "สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ". จุลสารการวิจัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. 1 (1). 1987. ISSN 0857-3931.{{cite journal}}: CS1 maint: ignored ISSN errors (ลิงก์)
  22. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 101 (108): 8. August 16, 1984.
  23. 23.0 23.1 "Chetana Nagavajara | Fulbright Scholar Program (1984-1985)". cies.org. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  24. 24.0 24.1 "Chetana Nagavajara | Fulbright Scholar Program (1989-1990)". cies.org. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  25. 25.0 25.1 25.2 เจตนา นาควัชระ (1983). วรรณกรรมละครของ แบร์ทอลท์ เบรคชท์ (PDF). มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 9740752268. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-31. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  26. 26.0 26.1 "Abfrage-Details Prof. Dr. Dr. h.c. Chetana Nagavajara". humboldt-foundation.de. Humboldt-Netzwerk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-28. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  27. "อักษรศาสตร์ดีเด่น". arts.chula.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-23. สืบค้นเมื่อ June 4, 2022.
  28. 28.0 28.1 28.2 นาควัชระ, เจตนา (2015). จุดยืนของมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: ชมนาด. ชมนาด. ISBN 9786167787206.
  29. คณะกรรมการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน. "รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน ประจำปีการศึกษา 2561 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร" (PDF). l.su.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.[ลิงก์เสีย]
  30. 30.0 30.1 ยุวดี มณีกุล (May 6, 1998). "เจตนา นาควัชระ: ผู้ใฝ่ใจ 'สุนทรียรัฐ'". กรุงเทพธุรกิจ. จุดประกาย.
  31. สกุล บุณยทัต (1997). "เจตนา นาควัชระ ศิลปะอยู่ไม่ได้ในโลกที่เงินเป็นใหญ่". นิตยสารไรเตอร์. 6 (8): 98–94.
  32. Vichan Panich (2012). "ชีวิตที่พอเพียง : 812. สนุกสนานในงานฉลอง 72 ปี ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ". www.gotoknow.org. GotoKnow. สืบค้นเมื่อ July 30, 2021.
  33. "ศาสตราจารย์ทัศนีย์ นาควัชระ อาจารย์สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาตะวันตก".
  34. นิติกร กรัยวิเชียร (2019). "ทัศนา นาควัชระ". storysiam.com. สตอรี่สยาม. สืบค้นเมื่อ July 30, 2021.
  35. 35.0 35.1 The Thailand Research Fund (1995). TRF Senior Research Scholar (Pamphlet). และ TRF Senior Research Scholar 1999. The Thailand Research Fund. 1999. ISBN 9748956601.
  36. "ABSTRACT: RTA3880003". elibrary.trf.or.th. E-library Thailand Research Fund.
  37. เจตนา นาควัชระ (2017). "ถอยหลังเข้าคลองเพื่อสนองความเป็นจริง". ประชาคมวิจัย. 90: 7.
  38. Chetana Nagavajara (2017). "Cross-Cultural Dialogue: Case Studies from an Intellectual Autobiography". Journal of Social Science and Humanities Research in Asia. 23 (1): 3–43.
  39. Hans-Joachim Lope (1968). "August Wilhelm Schlegel in Frankreich. Sein Anteil an der französischen Literaturkritik 1807–1835. (Forschungsprobleme der vergleichenden Literaturgeschichte Nr. 3) by Chetana Nagavajara, Kurt Wais". Romanische Forschungen. 80. Bd., H. 1: 184–186. JSTOR 27937441.
  40. Roger Paulin (2016). The Life of August Wilhelm Schlegel, Cosmopolitan of Art and Poetry. Cambridge: Open Book Publishers. ISBN 9781909254954.
  41. 41.0 41.1 41.2 41.3 เจตนา นาควัชระ (2020). มีวิจารณ์จึงมีวิจัย. คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ISBN 9786165727594.
  42. 42.0 42.1 42.2 42.3 Karl E. Weber (2015). "Auf der Suche nach einer grenzüberschreitenden Wissenschaftskultur. Gesammelte Aufsätze 2001-2013 by Chetana Nagavajara (Nakhon Pathom: Department of German, Silpakorn University, 2013)". Journal of the Siam Society. 103: 336–339. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  43. 43.0 43.1 Frédéric Maurel (2000). "Chetana Nagavajara: Comparative literature from a Thai perspective. Collected articles 1978–1992. 265 pp. Bangkok: Chulalongkorn University, 1996". Bulletin of the School of Oriental and African Studies. 63 (3): 461–462. doi:10.1017/S0041977X00008831.
  44. "Learning to criticise". Bangkok Post. June 2, 2004.
  45. "Criticise, please!". Bangkok Post. November 29, 2001.
  46. "ประวัติโครงการวิจัย การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต". www.thaicritic.com. TRF Criticism Project.
  47. "ขอเชิญร่วมฟังการบรรยายพิเศษทางไกล เรื่อง"ละครเวที่ตะวันตก ได้แค่นี้น่ะหรือ?". thaitheatre.org. 2021. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  48. Rachod Nusen and Kamron Gunatilaka. "Translated Plays as a Force for Social Justice". Manusya: Journal of Humanities. 20: 86–155. doi:10.1163/26659077-02301005.
  49. "Critique articles by Chetana Nagavajara". www.thaicritic.com. TRF Criticism Project. สืบค้นเมื่อ August 1, 2021.
  50. Chetana Nagavajara (2008), "MUSIC-MAKING VERSUS THE COMMODIFICATION OF MUSIC: A CALL TO ENLIGHTENED AMATEURS" (PDF), MANUSYA: Journal of Humanities, 11: 36–52
  51. 51.0 51.1 เจตนา นาควัชระ (February 15, 2016). จากวิทยาทานสู่การผลิตและจำหน่ายสินค้า: ความปั่นป่วนของอุดมศึกษา (PDF). สถาบันคลังสมองของชาติ. สืบค้นเมื่อ July 30, 2021.
  52. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี". ราชกิจจานุเบกษา. 110 (121). August 31, 1993., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี". ราชกิจจานุเบกษา. 113 (16ง). February 22, 1996., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี". ราชกิจจานุเบกษา. 115 (22ง). March 17, 1998., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี". ราชกิจจานุเบกษา. 115 (58ง). July 21, 1998., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี". ราชกิจจานุเบกษา. 117 (100ง). December 14, 2000.
  53. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์". ราชกิจจานุเบกษา. 125 (26ง). February 28, 2008., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์". ราชกิจจานุเบกษา. 127 (27ง). February 26, 2010.
  54. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยมหิดล". ราชกิจจานุเบกษา. 125 (102ง). June 18, 2008., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ของมหาวิทยาลัยมหิดล". ราชกิจจานุเบกษา. 129 (114ง). July 18, 2012.
  55. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 105 (4). January 6, 1988., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 109 (27). February 25, 1992., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 111 (72ง). September 8, 1994., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 113 (75ง). September 17, 1996., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 115 (84ง). October 20, 1998., "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย". ราชกิจจานุเบกษา. 117 (100ง). December 14, 2000.
  56. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ". ราชกิจจานุเบกษา. 122 (65ง). August 16, 2005.
  57. เจตนา นาควัชระ และคณะ (2011). คู่มือการเสนอผลงานวิชาการ 22 รูปแบบ และวิธีการประเมินขอตำแหน่งวิชาการ สาขามนษุยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรม (PDF). มหาวิทยาลัยมหิดล. ISBN 9789741116034.
  58. "ประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. ๒๕๔๙". ราชกิจจานุเบกษา. 123 (83ง). July 31, 2006.
  59. สมเกียรติ คู่ทวีกุล (2003). "แนวทางการการวินิจสารวรรณกรรมสำหรับนิสิตนักศึกษาผู้เริ่มเรียนวรรณคดีวิจารณ์". วารสารมนุษยศาสตร์ปริทรรศน์. 25 (1): 105–110.
  60. "หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน". rsc.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  61. 61.0 61.1 61.2 สดชื่น ชัยประสาธน์; สาวิตรี ทองอุไร; อรพินท์ คำสอน; กรรณิการ์ ถนอมปัญญารักษ์ (2022). เจตนา ๘๔ ปี: ด้นชีวีคลี่ชีวิต. คมบาง. ISBN 9786167787497.
  62. ชมัยภร แสงกระจ่าง (2001). คุณปู่แว่นตาโต. กรุงเทพฯ: คมบาง. ISBN 9789748785257.
  63. 63.0 63.1 กนกพร โชคจรัสกุล (August 4, 2021). "84 ปี 'เจตนา นาควัชระ' ครูของนักวิจารณ์ : การฟังคนอื่นคือ สิ่งที่ดีที่สุด". กรุงเทพธุรกิจ. จุดประกาย.
  64. ชมัยภร แสงกระจ่าง (2011). คุณปู่แว่นตาแตก คุณหลานกับคุณปู่ต่างเป็นครูให้แก่กัน. กรุงเทพฯ: คมบาง. ISBN 9786169011156.
  65. "ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พุทธศักราช 2544 คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ เจตนา นาควัชระ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา ปรัชญาและศาสนา" (PDF). ir.swu.ac.th. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  66. "คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ อักษรศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์" (PDF). chula.ac.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-09. สืบค้นเมื่อ 2022-04-16.
  67. "คำประกาศเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2548" (PDF). archives.mfu.ac.th. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  68. "ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2549-2550 ศ. ดร.เจตนา นาควัชระ ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาและวรรณกรรม". library.cmu.ac.th. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  69. "Internationaler Austausch über Wertesysteme Vorträge von Marlene Streeruwitz und Seyran Ates im Rahmen des Projekts "Wertewelten"" (PDF). uni-tuebingen.de. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  70. Laudatio zur Verleihung des Ehrendoktors der Neuphilologischen Fakultät der Universität Tübingen an Professor Dr. Chetana Nagavajara am 13. Juli 2009. von Eberhard Laemmert, in CN : Auf der suche nach einer grenzüberschreitenden Wissenschaftskultur. Nakorn Pathom: Department of German, Silpakorn University, 2013. pp. 443–451.
  71. "GOETHE-MEDAILLE DIE PREISTRÄGER 1955 – 2020" (PDF). www.goethe.de. Goethe Institut. สืบค้นเมื่อ May 29, 2021.
  72. "ชูป.อ. ปยุตฺโต- ชวนปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย". คมชัดลึก. July 23, 2009. สืบค้นเมื่อ August 4, 2021.
  73. "รางวัลรัตโนบล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี" (PDF). ubu.ac.th. สืบค้นเมื่อ 2024-02-17.
  74. "'เจตนา นาควัชระ'ได้รางวัล IATC Lifetime Achievement Award 2019". สำนักข่าวไทย. August 15, 2020. สืบค้นเมื่อ August 4, 2021.
  75. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 111 (21 ข). December 3, 1994.
  76. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 107 (240 ง). December 4, 1990.
  77. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (76 ง). June 10, 1992.
  78. "FILLM Former Officers". www.fillm.org. The International Federation for Modern Languages and Literatures.
  79. "Honorary Members - The Siam Society". thesiamsociety.org. The Siam Society. สืบค้นเมื่อ June 18, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้