วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Philharmonic Orchestra; TPO) เป็นวงออร์เคสตราที่ได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งวงซิมโฟนิคมืออาชีพขึ้นในประเทศไทย
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย | |
---|---|
วงออร์เคสตรา | |
ชื่อต้นฉบับ | Thailand Philharmonic Orchestra |
ชื่อเล่น | TPO |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2548 (อายุ 19 ปี) |
ที่ตั้ง | อำเภอพุทธมณฑล, จังหวัดนครปฐม |
ฮอลล์หลัก | มหิดลสิทธาคาร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล |
วาทยกรเอก | กุดนี่ อีเมลสัน |
ผู้อำนวยการ | สุกรี เจริญสุข |
เว็บไซต์ | www |
ประวัติ
แก้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้บรรเลงรับในงานศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและในกิจกรรมระดับนานาชาติ ตลอดจนสร้างคุณค่า รสนิยม พัฒนาศิลปวัฒนธรรม และรสนิยมของคนในชาติ ในด้านสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาฝีมือนักดนตรีของไทย คนในสังคมไทย สร้างความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และพัฒนาศักยภาพทางสมองของคนไทยโดยอาศัยดนตรี เพื่อถ่วงดุลการค้า ในการนำเข้านักดนตรี นักแสดง และวงดนตรีจากต่างประเทศ เปิดประเทศไทยเข้าสู่โลกใหม่ ในฐานะประเทศที่มีประชาคมได้รับการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจ และเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรม สามารถที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีภายในประเทศ
ในด้านศักยภาพของมนุษย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพความสามารถทางดนตรีของคนไทย ให้งอกงามสู่เป้าหมายสูงสุดของอาชีพ เพื่อใช้ศักยภาพ ผลงานภายในประเทศ และพัฒนาศักยภาพดนตรีส่งออกที่เหลือไว้ขายศักยภาพและความเป็นเลิศด้านดนตรีให้กับนานาชาติ เพราะศักยภาพและความเป็นเลิศด้านดนตรีเป็นทรัพยากรในตัวมนุษย์ ซึ่งหากยิ่งใช้ศักยภาพก็จะยิ่งมีขึ้น นอกจากนี้การจัดตั้งวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ก็เพื่อสร้างเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาดนตรีและอาชีพดนตรี เพื่อให้นักเรียนดนตรี คนรุ่นต่อไป และนักดนตรีอาชีพ ได้มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีหลักชัย และมีความภาคภูมิใจในอาชีพ
นักดนตรีของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้นักดนตรีที่มีความสามารถจากภายนอกเข้าร่วมด้วย วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย บริหารจัดการ ดูแลรับผิดชอบ และดำเนินงาน โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข เป็นผู้อำนวยการวงดนตรี ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณครึ่งหนึ่งจากรัฐบาล ส่วนงบประมาณอีกครึ่งหนึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยวิทยาลัย สถานที่ฝึกซ้อมหรือสถานที่แสดงของวงนั้น ทางวิทยาลัยได้สร้างหอแสดงดนตรีขึ้นโดยเฉพาะ ขนาด 353 ที่นั่ง มีเวทีกว้างสำหรับวงดนตรีขนาดใหญ่ มีระบบเสียงที่สมบูรณ์ มีเก้าอี้นั่งที่สบาย สามารถบันทึกเสียงระหว่างการฝึกซ้อมหรือบันทึกเสียงในการบรรเลงได้
เป้าหมาย
แก้เป้าหมายของวงคือ เพื่อให้เป็นวงดนตรีของชาติ มีผลงานในระดับนานาชาติ สามารถเดินทางไปแสดงในนานาประเทศได้ โดยมีผู้ควบคุมวงดนตรีรับเชิญและนักดนตรีรับเชิญ (นักเดี่ยว) ในระดับนานาชาติเดินทางมาร่วมแสดง เพื่อการพัฒนาวงให้มีศักยภาพระดับนานาชาติ
โอเปร่าเรื่องแรก
แก้ปี พ.ศ. 2550 นับเป็นปีสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวงการโอเปร่าโลก เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ 400 ปีแห่งการกำเนิดของ L'Orfeo โอเปร่าของ Monteverdi ในโอกาสนี้ ทางวง TPO ได้จัดการแสดงโอเปร่าเรื่องนี้ในวันที่ 11 และ 12 พฤษภาคม 2550 โดยมี Manuel Ludgenhorst มาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการแสดง มีศิลปินรับเชิญจากเยอรมนีมาร่วมในการแสดงโเปร่าครั้งแรกของTPO นี้เป็นจำนวนมาก
บันทึกเพลงเกียรติยศ
แก้เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย โดยมี Gudni Emilsson เป็นผู้อำนวยเพลงได้ทำการบันทึกเสียง ชุด "เพลงเกียรติยศ" โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน บทเพลงที่บันทึกเรียบเรียงเสียงประสานโดย ร้อยเอกประทีป สุพรรณโรจน์ ได้แก่ เพลงสำคัญของแผ่นดิน (เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงมหาฤกษ์ มหาชัย สดุดีมหาราชา ภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา) เพลงมาร์ช ได้แก่ ทหารของชาติ กราวกีฬา มาร์ชสี่เหล่า มาร์ชเยาวชน สยามานุสติ มาร์ชบริพัตร และ Gaudeamus Igitur (รวมพลัง) ที่พิเศษก็คือ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ให้เกียรติเป็นผู้ประพันธ์เนื้อเพลงมหาชัย ในการบันทึกเสียงครั้งนี้ มีการขับร้องประกอบการบรรเลงโดยคณะนักร้องประสานเสียง 60 คน ยกเว้นเพลงมหาฤกษ์กับเพลงมาร์ชบริพัตรที่บรรเลงโดยวงออเครสตราล้วน ๆ การบันทึกเสียงครั้งนี้มีคุณ Hrolfur Vagnsson เป็น Sound Engineer
ที่ตั้ง
แก้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย 25/25 วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพุทธมณฑลสาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170