สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (The Thailand Research Fund) หรือเรียกโดยย่อว่า สกว. (อังกฤษ: TRF) เป็นองค์กรขนาดเล็กของรัฐภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มิได้ใช้ระบบราชการในการดำเนินงาน[2] ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบตราพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535[3] เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหาให้แก่สังคม[4]

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
The Thailand Research Fund
ภาพเครื่องหมายราชการของ สกว.
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง2 เมษายน พ.ศ. 2535[1] (ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา)
ยุบเลิก2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
หน่วยงานสืบทอด
สำนักงานใหญ่ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์ เลขที่ 979/17-21 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล, ผู้อำนวยการ
  • ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์, รองผู้อำนวยการ
  • รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เอกสารหลัก
เว็บไซต์www.trf.or.th
เชิงอรรถ
สกว. เป็นองค์กรประเภทองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ

ประวัติ แก้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นองค์กรขนาดเล็กของรัฐภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งโดยพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535 ในสมัยรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การวิจัยเชิงนโยบาย และการวิจัยประยุกต์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวิชาการของประเทศ

สกว. ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) เพื่อร่วมกันเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยของประเทศ นอกจากนี้ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยใช้จุดแข็งของระบบการสนับสนุนทุนที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ในการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งของระบบวิจัยในอาเซียน

สกว. ได้พัฒนาแนวคิดวิธีการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย เพื่อตอบสนองต่อปัญหาให้สอดคล้องกับโครงสร้างทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ตลอดจนการบูรณาการนักวิจัยและศาสตร์แขนงต่างๆ เข้ามาร่วมสร้างผลงานวิจัย

การก้าวเข้าสู่ปีที่ 25[5] ได้มีผลงานในการบริหารจัดการงานวิจัยจนเป็นที่ประจักษ์ จากการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักกำกับและพัฒนาระบบเงินนอกงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ส่งผลให้ สกว. ได้รับรางวัล ทุนหมุนเวียนดีเด่น ประเภทรางวัลผลการดำเนินงานดีเด่นกลุ่มทุนหมุนเวียนขนาดใหญ่ และรางวัลประสิทธิภาพด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนดีเด่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ติดต่อกันมาแล้วเป็นเวลา 6 ปี และได้รับอีก 2 รางวัล คือ รางวัลทุนหมุนเวียนเกียรติยศ และ รางวัลผู้บริหารทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2561[6]

กระทั่งวันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือ สกสว. ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยส่งผลให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยต้องถูกยุบเลิกไปในที่สุดพร้อมกับให้มีการโอนกิจการรวมถึงพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยให้มีผลบังคับในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 [7]

ภาพเครื่องหมายราชการ แก้

ภาพเครื่องหมายราชการของ สกว.[8] เป็นรูปลูกโลกสีทองพื้นสีขาวแสดงที่ตั้งของประเทศไทย ลูกโลกวางอยู่บนริ้วสีน้ำเงิน 3 ริ้ว ประกอบด้วย ริ้วบน หมายถึง กระแสโลกาภิวัตน์ ริ้วกลาง หมายถึง องค์ความรู้ ริ้วล่าง หมายถึง กระแสวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยรวมหมายถึง การใช้ความรู้สร้างสรรค์ปัญญาเพื่อพัฒนาประเทศ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ด้านล่างของภาพมีตัวอักษร สกว. และ TRF สีแดง ซึ่งเป็นอักษรย่อของหน่วยงาน

รายชื่อคณะกรรมการ แก้

สกว. ประกอบด้วยคณะกรรมการ 2 คณะ[9] ทำหน้าที่คอยกำกับดูแลการดำเนินงาน ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย และ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย

คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย แก้

ลำดับ ชื่อ-นามสกุล / ตำแหน่ง ตำแหน่งในคณะกรรมการ
1 ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการ
2 ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการ
3 ปลัดกระทรวงกลาโหม กรรมการ
4 ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
5 ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรรมการ
6 ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรรมการ
7 ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรรมการ
8 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ
9 เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรรมการ
10 เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กรรมการ
11 ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรรมการ
12 ศาสตราจารย์ ดร.กมล เลิศรัตน์ กรรมการ
13 ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล กรรมการ
14 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการ
15 รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการ
16 ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กรรมการ
17 ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กรรมการ
18 นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการ
19 ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย แก้

ลำดับ ชื่อ-นามสกุล / ตำแหน่ง ตำแหน่งในคณะกรรมการ
1 ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานกรรมการ
2 ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร กรรมการ
3 ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย กรรมการ
4 ผู้แทนสำนักงบประมาณ กรรมการ
5 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการ
6 ผู้แทนกรมบัญชีกลาง กรรมการ
7 ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
8 ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ
9 ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย กรรมการ
10 ศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ ยกส้าน กรรมการ
11 ดร.บุญชู ปโกฏิประภา กรรมการ
12 ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ กรรมการ
13 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กรรมการ
14 ดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ กรรมการ
15 ศาสตราจารย์ ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ กรรมการ
16 นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กรรมการ
17 รองศาสตราจารย์ ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ กรรมการ
18 ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กรรมการและเลขานุการ

เมธีวิจัยอาวุโส แก้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีทุนสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสให้สร้างนักวิจัยใหม่ที่มีความสามารถทางวิชาการสูง และเพื่อเป็นเกียรติแก่นักวิจัยในฐานะที่สร้างผลงานดีเด่น เรียกว่า เมธีวิจัยอาวุโส สกว. โดยเริ่มให้ทุนวิจัยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็น เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จะเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

การคัดเลือก แก้

ใช้วิธีการสรรหา และเสนอชื่อโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยพิจารณาจาก รายนามศาสตราจารย์ในประเทศ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์, นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยต่างๆ, คณาจารย์ที่มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และการเสนอชื่อจากคณบดีทุกมหาวิทยาลัย

คุณสมบัติเมธีวิจัยอาวุโส แก้

เป็นนักวิจัยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีจริยธรรม และพร้อมที่จะเป็นผู้นำในทีมวิจัย สามารถพัฒนางานวิจัยและนักวิจัยรุ่นใหม่ได้

รายนามเมธีวิจัยอาวุโส สกว. แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. ๒๕๓๕ เล่ม 109 ตอนที่ 33 ก วันที่ 2 เมษายน 2535
  2. องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ
  3. พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535
  4. ความเป็นมา สกว.[ลิงก์เสีย]
  5. "ขอเชิญร่วมงาน 25 ปี สกว. : สร้างคน สร้างความรู้ สร้างอนาคต วันที่ 25-26 สิงหาคม 2560 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 2 สยามพารากอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-09. สืบค้นเมื่อ 2018-09-18.
  6. สกว. คว้า 2 รางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่นปี 61 เน้นย้ำสร้างงานวิจัย “เข้าเป้า ตอบโจทย์ ใช้ประโยชน์ได้จริง”[ลิงก์เสีย]
  7. พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ (ฉบับที่ ๑๖๓) เล่ม 117 ตอนที่ 74 ง วันที่ 14 กันยายน 2543]
  9. "คณะกรรมการ สกว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-11. สืบค้นเมื่อ 2018-09-18.