ยงยุทธ ยุทธวงศ์

อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (เกิด 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2487) เป็นราชบัณฑิต นักวิจัย อาจารย์และนักการศึกษาชาวไทย[1] เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทในการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย

ยงยุทธ ยุทธวงศ์
รองนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
30 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558
นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถัดไปณรงค์ พิพัฒนาศัย
ประจิน จั่นตอง
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดำรงตำแหน่ง
9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์
ก่อนหน้าประวิช รัตนเพียร
ถัดไปวุฒิพงศ์ ฉายแสง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด4 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 (80 ปี)
จังหวัดลพบุรี ประเทศไทย
คู่สมรสอรชุมา ยุทธวงศ์

ประวัติ

แก้

ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หรือ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เกิดที่ตำบลชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 4 คน ของ พ.อ.สรรค์ และนางระเบียบ ยุทธวงศ์ เนื่องจาก พ.อ.สรรค์ ยุทธวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็ก ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เป็นลุง ได้ให้การสนับสนุนในด้านการศึกษามาโดยตลอด และมีบทบาทสำคัญต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ของท่านมากที่สุด

การศึกษา

แก้

ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนจบมัธยมปลาย (2503) และเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ในคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ จนจบเตรียมแพทยศาสตร์ ต่อมาได้รับการชักชวนจาก ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข คณบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ให้เห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ทำให้คิดตัดสินใจสอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ เคมีในเวลาต่อมา จึงสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาที่อังกฤษ ตามความต้องการของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี 2505 ได้รับปริญญาตรีเคมี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยลอนดอน (2509) และปริญญาเอก สาขาอินทรีย์เคมีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (2512)

ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2541) มหาวิทยาลัยมหิดล (2548) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (2552) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2554) และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (2561)

การทำงาน

แก้

ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (2512) จนได้รับโปรดเกล้าฯเป็นศาสตราจารย์ (2526)[2] และศาสตราจารย์ระดับ 11 (2532) ตามลำดับ ทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (2516-8) กับ ศาสตราจารย์พอล บอเยอร์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบล) ได้รับเชิญเป็นศาสตราจารย์เยี่ยม ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (2533) และ Distinguished Scholar-in-Residence ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (2551) งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานด้านการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดยเฉพาะกลุ่มของยาที่เรียกว่า แอนติโฟเลต และชีวเคมีพื้นฐานของมาลาเรีย

นอกจากนั้นแล้วยังเป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลงานที่สำคัญ คือการค้นพบกลไกของการดื้อยาแอนติโฟเลตของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเอ็นไซม์ในเชื้อที่เป็นเป้าหมายของยา ได้ค้นพบโครงสร้างของเอ็นไซม์นี้ ทำให้สามารถออกแบบและสังเคราะห์ยาใหม่ที่มีฤทธิ์ต่อเชื้อที่ดื้อยาเก่าได้ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 112 เรื่อง เขียนหนังสือและตำรา 11 เรื่อง สิทธิบัตร 3 เรื่อง เป็นผู้มีผลงานเด่นในเรื่องเกี่ยวกับมาลาเรียและนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ค้นพบโครงสร้าง 3 มิติของโปรตีนของเชื้อมาลาเรีย ที่มีความสำคัญโดยเป็นเป้าหมายของยาต้านมาลาเรีย[3] และค้นพบการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและคุณสมบัติหลายประการของเยื่อหุ้มเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อมาลาเรีย และความเกี่ยวโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กับอาการของโรคนี้ทางโลหิตวิทยา ค้นพบเอนไซม์ใหม่และวิถีปฏิกิริยาใหม่ของเชื้อมาลาเรีย โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์และใช้สารโฟเลต อันเป็นแนวทางในการพัฒนายาต้านมาลาเรียชนิดใหม่[4]

ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2528 ถึงปี พ.ศ. 2534 และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2535[5] ถึงปี พ.ศ. 2541 และภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในคณะรัฐมนตรีของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์[6] และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี[7] ในรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 กระทั่งพ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 และเคยเป็นที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ในระดับนานาชาติ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น Chairman, UNESCO International Bioethics Committee (2012-5) และเป็นกรรมการในคณะกรรมการนานาชาติหลายชุด (WHO, UNESCO, Bill and Melinda Gates Foundation, Roll Back Malaria ฯลฯ)

ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย[8]

เกียรติประวัติ

แก้
  • รางวัล "นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น" จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (2527) รางวัล ASEAN Science and Technology Meritorious Service Award จากองค์การอาเซียน (2541) รางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลดีเด่น (2545) รางวัลผลงานวิจัยเกียรติยศ สกว. จากการได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัยสูงสุด (2546) รางวัล Nikkei Asia Prize for Science, Technology and Innovation จากนิกเกอิ ญี่ปุ่น (2547) ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นของชาติโดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ (2547) และหนังสือพิมพ์ The Nation ได้จัดให้เป็นหนึ่งในสามสิบห้าคนผู้มีบทบาทสูงต่อประเทศไทยในช่วงสามสิบห้าปีที่ผ่านมา (2549)
  • ได้รับการยกย่องเป็น "นักวิทยาศาสตร์อาวุโส" จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2554)
  • ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาเคมี[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

ครอบครัว

แก้
  • สมรสกับ นางอรชุมา ยุทธวงศ์ มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ นางสาวณมน ยุทธวงศ์ และ นายรสา ยุทธวงศ์
  • พี่-น้อง 4 คน คือ พล.ร.ต.สุระ ยุทธวงศ์, พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์, ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ และ พญ.กิติมา ยุทธวงศ์

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม ๑๒๖ ตอนพิเศษ ๖๒ ง หน้า ๓๒, ๒๗ เมษายน ๒๕๕๒
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๖๔ ฉบับพิเศษ หน้า ๖, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๒๖
  3. "ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-15. สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2006-07-23.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่ง, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๘๘ หน้า ๓๔๗๘, ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี, เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๐๖ ง หน้า ๓, ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๖๔ ง หน้า ๑, ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย, เล่ม ๑๓๓ ตอนพิเศษ ๔๓ ง หน้า ๘, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๓, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๗
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๔, ๒๑ เมษายน ๒๕๖๖
ก่อนหน้า ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ถัดไป
พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก
สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
พงศ์เทพ เทพกาญจนา
ปลอดประสพ สุรัสวดี
ยุคล ลิ้มแหลมทอง
   
รองนายกรัฐมนตรี (ครม. 61)
(31 สิงหาคม พ.ศ. 2557 – 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558)
  พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ประวิช รัตนเพียร    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ครม. 56)
(9 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551)
  วุฒิพงศ์ ฉายแสง