การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 02.54 นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุมัติหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพระหว่างวันที่ 3 มกราคม - 12 เมษายน พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง หมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกสัปตปฎลเศวตฉัตรเหนือยอดพระเมรุในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และหมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ระหว่างวันที่ 14 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ซึ่งพระราชพิธีสองอย่างหลังจะมีขึ้น ณ พระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ | |
---|---|
ริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระโกศสู่พระเมรุ | |
การสิ้นพระชนม์ | |
พระนาม | สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ |
วันสิ้นพระชนม์ | 2 มกราคม พ.ศ. 2551 |
สถานที่สิ้นพระชนม์ | อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช |
ประดิษฐานพระศพ | พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง |
พระโกศ | พระโกศทองใหญ่ |
ฉัตร | คราวแรก : เบญจปฎลเศวตฉัตร ต่อมา : สัปตปฎลเศวตฉัตร |
พระเมรุ | พระเมรุ ท้องสนามหลวง |
วันพระราชทานเพลิงพระศพ | 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 |
ประดิษฐานพระอัฐิ | พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง |
ประดิษฐานพระสรีรางคาร | อนุสรณ์รังษีวัฒนา สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระสถูปเจดีย์ วัดปทุมวนาราม |
พระอาการประชวร
แก้สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประชวร ฉบับที่ 1 ความว่า
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระอาการผิดปกติเกี่ยวกับพระนาภี (ท้อง) คณะแพทย์ได้ถวาย การตรวจพระวรกาย และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบมะเร็ง จึงกราบทูลเชิญให้ประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยถวายการรักษาด้วยพระโอสถ พระอาการโดยรวมดีขึ้นบางระยะ ทรงและทรุดลงบางช่วงเวลา
เช้าวันนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระวรกายด้านขวาอ่อนแรง คณะแพทย์ได้ถวายตรวจพระสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่า มีเนื้อสมองด้านซ้ายตายเป็นวงกว้าง จากเส้นเลือด สมองอุดตัน จึงได้ถวายพระโอสถรักษา และเฝ้าติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิด
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
สำนักพระราชวัง
ต่อจากนั้น สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ความว่า
วันนี้ คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รายงานว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรู้พระองค์ พระวรกายด้านขวายังคงอ่อนแรง ทรงเคลื่อนไหวพระวรกายด้านซ้ายได้ตามพระประสงค์ คณะแพทย์ฯ จะถวายพระโอสถรักษาต่อเนื่อง และเฝ้าติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป
อนึ่ง สำนักพระราชวังขอแจ้งให้ทราบว่า คณะแพทย์ฯ ได้รายงานเพิ่มเติมว่า มะเร็งที่ตรวจพบในช่องพระนาภีเป็นชนิดเดียวกับมะเร็งพระถัน ที่ทรงเคยได้รับการถวายตรวจรักษาเมื่อ 10 ปีก่อน ระหว่างช่วงเวลาหลังการถวายรักษาดังกล่าวมีพระสุขภาพดี ในการถวายตรวจติดตามพระสุขภาพ ได้ตรวจพบมะเร็งเกิดขึ้นใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งคณะแพทย์ได้ถวายการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดมา
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
สำนักพระราชวัง
ต่อจากนั้น พระอาการของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ก็ดีขึ้นตามลำดับ ตามแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 20 ความว่า
วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รายงานว่า พระอาการปวดพระนาภีทุเลาลง พระอาการอื่นคงเดิม ประทับบนพระแท่น ทอดพระเนตรรายการโทรทัศน์ได้นานขึ้น คณะแพทย์ยังคงถวายพระโอสถรักษา ถวายการรักษาทางกายภาพ บำบัดและอาหารเสริมทางหลอดพระโลหิตต่อไป
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
สำนักพระราชวัง
หลังจากนั้น พระอาการเริ่มทรุดลงเรื่อยๆ และมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง รายงานพระอาการประชวรฉบับสุดท้าย คือ ฉบับที่ 38 ความว่า
วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รายงานว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีพระอาการโดยรวมทรุดลง ไม่รู้สึกพระองค์ หายพระทัยอ่อนลง พระวักกะ (ไต) ไม่ทำงาน คณะแพทย์ฯ ได้ถวายการรักษาตามพระอาการอย่างใกล้ชิด
จึงขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน
สำนักพระราชวัง
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระบรมวงศานุวงศ์ เฝ้าติดตามพระอาการประชวร
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ พระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทรงติดตามพระอาการประชวรอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด
ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงติดตามพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
และหลังจากที่สำนักพระราชวัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 38 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินถึงโรงพยาบาลศิริราชในเวลาประมาณ 18.00 น. วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551
ต่อมาเวลาประมาณ 18.30 น.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินถึงโรงพยาบาลศิริราช
หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระอิสริยยศในขณะนั้น) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมด้วย คุณสิริกิติยา เจนเซน เสด็จพระราชดำเนินถึงโรงพยาบาลศิริราชตามลำดับ
สิ้นพระชนม์
แก้สำนักพระราชวัง มีประกาศเรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ความว่า
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น
แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และได้สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 02.54 น. ของวันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 รวมพระชันษา 84 ปี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนัก ไว้ทุกข์ถวาย มีกำหนด 100 วัน นับแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป
อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพ หน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13.00-16.00 น. วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551
สำนักพระราชวัง
2 มกราคม พ.ศ. 2551
เคลื่อนพระศพสู่พระบรมมหาราชวัง
แก้เวลา 15.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงนำพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากโรงพยาบาลศิริราช สู่พระบรมมหาราชวัง
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
แก้สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศเรื่องการสิ้นพระชนม์ มีใจความสำคัญว่า รัฐบาลรับทราบการสิ้นพระชนม์ด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง ตลอดจนเห็นว่า มีพระกรุณาธิคุณใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา จึงให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงครึ่งเสา และให้ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน เริ่มนับแต่วันที่ 2 มกราคม เป็นต้นไป
ประชาชนถวายน้ำสรงพระศพ
แก้ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพ หน้าพระฉายาลักษณ์ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง มีพสกนิกรเดินทางมาร่วมถวายความอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายเป็นจำนวนมาก
ประชาชนถวายสักการะหน้าพระฉายาทิสลักษณ์
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์ และได้จัดสมุดลงนามถวายสักการะ ตั้งแต่วันที่ 3-9 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 09.00 น.-17.00 น. ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง มีพสกนิกรเดินทางมาร่วมถวายสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์ และร่วมลงนามถวายสักการะเป็นจำนวนมาก
ประชาชนถวายสักการะพระศพ
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเข้าถวายสักการะพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เวลา 09.00 น.-17.00 น. ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป และร่วมบริจาคเงินสมทบทุนได้ทุกวัน พสกนิกรเดินทางมาร่วมถวายสักการะพระศพและร่วมสมทบเงินทุนเป็นจำนวนมาก
พระราชพิธีสรงน้ำพระศพ
แก้วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เวลา 17.20 น. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง ยังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง เสด็จเข้าสู่ภายในพระฉาก ซึ่งพระศพบรรทมอยู่บนพระแท่น
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระศพ บูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระบนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยพระศพเป็นราชสักการะ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับขวดน้ำพระสุคนธ์จากเจ้าพนักงานถวายสรงที่พระศพ แล้วทรงคม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับหม้อน้ำพระสุคนธ์และโถน้ำขมิ้นจากเจ้าพนักงาน พระราชทานสรงที่ตรงพระอุระพระศพ ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงหวีพระเกศาพระศพขึ้นครั้งหนึ่ง แล้วทรงหวีลงอีกครั้งหนึ่ง เสร็จแล้ว หักพระสางนั้นวางไว้ในพาน ซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่ จากนั้น พระราชทานซองพระศรีบรรจุดอกบัว และธูปเทียน พระสุพรรณแผ่นจำหลักปริมณฑลฉลองพระพักตร์ พระชฎาทองคำวางข้างพระเศียรพระศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพลงสู่หีบ ประดิษฐานหลังพระแท่นแว่นฟ้าทอง ประกอบพระลองทองใหญ่ ภายใต้เศวตฉัตร 5 ชั้น แวดล้อมด้วยเครื่องสูงทองแผ่ลวด บังแทรก ชุมสาย ต้นไม้ทองเงิน ณ มุขตะวันตก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย
และเครื่องราชสักการะพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ ที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงทอดผ้าไตร ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ 84 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบพระพุทธรูปที่หน้าเครื่องนมัสการหน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปที่หน้าพระโกศพระศพ ทรงกราบ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชากระบะมุก ที่หน้าพระแท่นเตียงพระสวดพระอภิธรรม ณ มุขหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จากนั้น เสด็จลงทางมุกกระสันพระที่นั่งพิมานรัตยา ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล
พระราชทานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ดังนี้
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวาร (7 วัน) ในวันที่ 9 – 10 มกราคม 2551
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัณรสมวาร (15 วัน) ในวันที่ 16 – 17 มกราคม 2551
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวาร (50 วัน) ในวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2551
- พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร (100 วัน) ในวันที่ 10 – 11 เมษายน 2551
พิธีถวายเลี้ยงภัตตาหารเช้าแด่พระพิธีธรรม
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระศพฯ
ในการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระภิกษุสงฆ์ ระหว่างการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ครบทั้ง 100 วัน ระหว่างวันที่ 3 มกราคม - 12 เมษายน พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
การบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศลประจำวันพุธ
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้พระราชโอรส และพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และครอบครัว สมาชิกราชสกุลทุกมหาสาขา และราชินีกุล คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ข้าราชการตุลาการ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ร่วมในการบำเพ็ญพระราชกุศล บำเพ็ญพระกุศล และบำเพ็ญกุศล ถวายพระศพ ระหว่างวันที่ 23 มกราคม - 9 เมษายน พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
การประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลพิธีกงเต็ก
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้คณะบุคคล สมาคม หน่วยงาน องค์กร และบริษัทห้างร้านต่างๆ
ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญกุศลกงเต็กถวายพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังดังนี้
- วันศุกร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 คณะสงฆ์จีนนิกาย
- วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2551 มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง
- วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2551 สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยจีน และประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ (เยาวราช)
- วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม 2551 สมาคมชาวไทยเชื้อสายจีน
- วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2551 คณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย
- วันพฤหัสบดี ที่ 17 เมษายน 2551 - วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2551 สมาคมนักธุรกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
การร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลถวายพระศพฯ
แก้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุมัติ ให้ข้าราชการหน่วยงานภาครัฐและภาค เอกชนร่วมเป็นเจ้าภาพในพระพิธีสวดพระอภิธรรมพระศพฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ถึงสิ้นเดือน ตุลาคม 2551 รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้าถวายสักการะพระศพฯ ทุกวัน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
หีบพระศพ
แก้นายพรเทพ สุริยา เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวว่า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ในการจัดสร้างหีบพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยสร้างหีบพระศพทรงหลุยส์ผสมบุษบกจากแผ่นไม้สักทองอายุ 100 ปีขนาดใหญ่เพียงแผ่นเดียวไม่มีรอยต่อ ไม้ดังกล่าวนำมาจาก จ.เชียงใหม่ และใช้หมึกจีนพ่นสีโอ๊กม่วง ขนาดความกว้าง 26 นิ้ว ความยาว 2.29 เมตร น้ำหนักเกือบ 300 กิโลกรัม ทั้งนี้ใช้เวลาเตรียมการประมาณ 30 วัน อย่างไรก็ตาม สีที่พ่นเป็นสีโอ๊กม่วงนั้น นอกจากเป็นสีที่มีเข้มแข็ง น่าเชื่อถือ และเหมาะสมกับงาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์ ให้ทำหีบพระศพให้คล้ายคลึงกับหีบพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราพระบรมราชชนนี ซึ่งใช้หมึกจีนสีโอ๊กม่วงเช่นกัน
เจ้าของร้านสุริยาหีบศพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หีบพระศพดังกล่าวประกบด้วยปุ่มมะค่าทองรอบใบลวดลาย ของหีบพระศพเป็นลายกุหลาบ แสดงถึงความรัก ส่วนด้านขอบล่างเป็นลายหลุยส์ ส่วนฝาด้านบนเป็นบุษบก 3 ชั้น ภายในหีบพระศพ ใช้ผ้าไหม สีครีมทองประดับตกแต่งและดิ้นชายรอบ ซึ่งทางสุริยาเป็นผู้ออกแบบเองทั้งหมด ใช้ช่างแกะสลัก 3 คน ช่างประกอบหีบศพอีก 5 คน รวม 8 คน ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวังตลอดการผลิต 30 วัน
โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาตรวจงานด้วยพระองค์เอง พร้อมรับสั่งว่า สวยดี
การประโคมย่ำยาม
แก้การบรรเลงดนตรีไทยในงานพระราชพิธี ถือว่าเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นส่วนหนึ่งในของงานพระราชพิธีที่บรรเลงตามขั้นตอนของงานพระราชพิธี คู่กับวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง แต่เดิมการประโคมดนตรีที่เป็นลักษณะประโคมย่ำยาม มีเฉพาะของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง เท่านั้น ประกอบด้วยวงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ มีการประโคมย่ำยามทุก 3 ชั่วโมง คือ
- ยาม 1 เวลา 06.00 น.
- ยาม 2 เวลา 09.00 น.
- ยาม 3 เวลา 12.00 น.
- ยาม 4 เวลา 15.00 น.
- ยาม 5 เวลา 18.00 น.
- ยาม 6 เวลา 21.00 น.
- ยาม 7 เวลา 24.00 น.
ในการประโคมงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในการประโคมย่ำยามด้วย ดังนั้น จึงมี 2 หน่วยงานเข้าร่วมประโคม คือ
- วงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง (วงแตรสังข์และวงปี่ไฉนกลองชนะ)
- วงปี่พาทย์นางหงส์ ของกลุ่มดุริยางค์ไทย สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
การประโคมย่ำยาม มีขั้นตอนเรียงลำดับ ดังนี้
- วงประโคมลำดับที่ 1 คือ วงแตรสังข์ ประกอบด้วยเครื่องดนตรี สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง ประโคม “เพลงสำหรับบท” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 2 จึงเริ่มขึ้น
- วงประโคมลำดับที่ 2 คือ วงปี่ไฉนกลองชนะ (หรือเรียกว่า วงเปิงพรวด) ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ไฉน กลองชนะ เปิงมาง “ประโคมเพลงพญาโศกลอยลม” จบแล้ว วงประโคมวงที่ 3 จึงเริ่มขึ้น
- วงประโคมลำดับที่ 3 คือ วงปี่พาทย์นางหงส์ ประกอบด้วย ปี่ชวา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง “ประโคมเพลงชุดนางหงส์”
เมื่อประโคม ครบทั้ง 3 วงแล้ว ก็ถือว่าเสร็จการประโคมย่ำยาม 1 ครั้ง การที่กรมศิลปากร นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาประโคมย่ำยามนั้น
แต่โบราณดั้งเดิม ไม่ได้มี “วงปี่พาทย์” ร่วมประโคมย่ำยาม จะมีแต่เฉพาะ “วงแตรสังข์ และ วงปี่ไฉนกลองชนะ” ของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวังและวงกลองสี่ปี่หนึ่ง (ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว) ประโคมในงานพระบรมศพ พระศพ เท่านั้น
พิธีทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศล
แก้ได้มีการจัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 184 รูป เพือถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสสิ้นพระชนม์ครบ 50 วัน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 และในโอกาสครบวันสิ้นพระชนม์ 100 วัน ในวันที่ 11 เมษายน 2551 ที่ลานพระราชวังดุสิต โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และทุกจังหวัดจัดพิธีทำบุญตักบาตรพร้อมกันกับในส่วนกลาง
สถาปนาพระเกียรติยศ
แก้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดเศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นพระโกศ พระราชทานเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศ ในระหว่างการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน 7 วัน ถวายพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องจากทรงพระอนุสรณ์ถึงสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีที่ทรงเคารพนับถือ ในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง อีกทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองเป็นอเนกปริยาย เป็นที่ประจักษ์แก่ตาแก่ใจของมหาชนทั่วไป เมื่อเสด็จสิ้นพระชนม์ เป็นเหตุให้พระองค์และประชาชนทุกชนชั้นอาลัยระลึกถึงพระคุณเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์นั้นทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เชิดชูแห่งพระราชวงศ์ ควรได้รับพระเกียรติยศใหญ่ยิ่ง โดยอนุโลมตามโบราณราชประเพณี[1]
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
แก้พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รัฐบาลไทยจัดเพื่อแสดงความจงรักภักดีและอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลกำหนดวันพระราชพิธีระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 โดยกำหนดการพระราชพิธีสำคัญ ได้แก่ การบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 15 พฤศจิกายน พระราชพิธีเก็บพระอัฐิ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน การบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระอัฐิ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน การเชิญพระอัฐิประดิษฐานที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ 18 พฤศจิกายน และการเชิญพระผอบพระสรีรางคารไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันที่ 19 พฤศจิกายน
สำหรับการดำเนินการพระราชพิธีฯ นั้น คณะทำงานทุกฝ่ายได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุและอาคารประกอบ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม หอเปลื้อง ศาลาลูกขุน เป็นต้น นอกจากนี้ในการก่อสร้างพระเมรุยังมีการติดตั้งลิฟท์ที่ใช้เป็นที่ขึ้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเข้าสู่พระจิตกาธานภายในพระเมรุ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธีนั้น ได้มีการซ่อมแซมพระมหาพิชัยราชรถ พระยานมาศสามลำคาน ราชรถน้อย พระที่นั่งราเชนทรยาน และพระวอสีวิกากาญจน์ เพื่อพร้อมใช้ในพิธีจริง ซึ่งราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบเหล่านี้ได้ใช้ในการซ้อมย่อยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม และ 19 ตุลาคม รวมถึงการการซ้อมใหญ่ในวันที่ 2 พฤศจิกายน
วันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 07.00 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเชิญพระโกศออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง โดย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ พระอิสริยยศเดิม) ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระโกศออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ โดยพระราชาคณะ 30 รูป สดับปกรณ์ก่อนเชิญพระโกศลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โปรดเกล้าฯ ให้เปลื้องพระลองทองใหญ่ประกอบพระโกศออกเชิญพระโกศไปประดิษฐานที่พระยานมาศ สามลำคาน
หลังจากนั้น ริ้วขบวนที่ 1 จะอัญเชิญพระโกศ โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ไปยังพระมหาพิชัยราชรถที่ รออยู่ที่บริเวณหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เส้นทางจากประตูศรีสุนทร ประตูเทวาภิรมย์ ถนนมหาราช ถนนท้ายวังและถนนสนามไชย กำลังพล 622 นาย
จากนั้น ริ้วขบวนที่ 2 จะอัญเชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ไปยังพระเมรุ ท้องสนามหลวง เส้นทางจากหน้าวัดพระเชตุพนฯ ถนนสนามไชย ถนนราชดำเนิน เข้าถนนกลาง ท้องสนามหลวง กำลังพล 1,114 นาย
ต่อด้วย ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศโดยพระยานมาศสามลำคาน เวียนรอบพระเมรุโดยอุตราวัฎ (เวียนซ้าย) 3 รอบ แล้วอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุกำลังพล 367 นาย
เวลา 16.30 น. พระราชทานเพลิงพระศพฯ เวลา 22.00 น. พระราชทานเพลิงพระศพฯ(จริง)
สำหรับพระมหาพิชัยราชรถ สร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อการพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ใน พ.ศ. 2338 โดยโปรดให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณี ที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ มีขนาดสูง 1,120 เซนติเมตร ยาว 1,530 เซนติเมตร ต่อมาใน พ.ศ. 2342 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดีสิ้นพระชนม์ ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง นับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะ อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา
ของที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีพระศพ
แก้การจัดทำหนังสือ
แก้ในส่วนการจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ และหนังสือที่ระลึก เนื่องในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ คณะอนุกรรมการฯ ฝ่ายจัดทำหนังสือฯ มีมติให้จัดทำขึ้นจำนวน 9 รายการ คือ
- ดีวีดี พระประวัติ และพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
- หนังสือเรื่อง พระปิยโสทรเชษฐภคินี : ร้อยกรองน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกรมศิลปากร
- หนังสือเรื่อง พระประวัติ และพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกระทรวงวัฒนธรรม
- หนังสือเรื่อง จดหมายเหตุประชาชน รวบรวมข่าว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกรมศิลปากร
- หนังสือเรื่อง เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกรมศิลปากร
- หนังสือจดหมายเหตุ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของกรมศิลปากร
- หนังสือเรื่อง พระประวัติ และพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้านศิลปกรรม ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
- หนังสือเรื่อง พระประวัติ และพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของสำนักราชเลขาธิการ
- แผ่นพับ พระประวัติ และพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของสำนักราชเลขาธิการ
เข็มที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
แก้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการดำเนิน “โครงการจัดทำเข็มที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เพื่อให้ประชาชนร่วมกับรัฐบาลน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี รวมทั้งมีเข็มที่ระลึกเพื่อประดับและเก็บรักษาไว้เป็นที่ระลึกแห่งความทรงจำ ตลอดจนเพื่อนำรายได้ภายหลังหักค่าใช้จ่ายสมทบทุน “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”
โดยได้รับความกรุณาจาก ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นผู้ออกแบบเข็มที่ระลึก ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปวงรี ขนาดประมาณ 2.2 x 3 เซนติเมตร ด้านหน้าเป็นอักษรพระนาม “กว” ใต้จุลมงกุฎ บนพื้นสีขาว ประดับคริสตัลที่ตัวอักษร ส่วนด้านหลังมีข้อความจารึกไว้เป็นวันเดือนปีประสูติ (6.5.2466) และวันเดือนปีสิ้นพระชนม์ (2.1.2551) โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเลือกแบบเป็นพื้นสีขาว
เข็มที่ระลึกนี้บรรจุในกล่องสีฟ้า ที่มีความประณีต สวยงาม ฝากล่องด้านนอก มีลายเส้นอักษรพระนาม “กว” เป็นสีทอง และฝากล่องด้านในมีข้อความ “เข็มที่ระลึกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสีทองเช่นกัน[2]
เพลงที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ
แก้ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์
แก้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จัดทำ โครงการจัดทำเพลงที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนดังกล่าวข้างต้น จึงร่วมกันผลิตเพลง “ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์” ซึ่งประพันธ์คำร้องโดย นายนิติพงษ์ ห่อนาค ประพันธ์ทำนองโดย นายอภิไชย เย็นพูนสุข และขับร้องโดย นายธงไชย แมคอินไตย์ เพื่อเป็นเพลงที่ระลึก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในโอกาสการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ
สำหรับใช้เผยแพร่ ทางสื่อประเภทต่าง ๆ คือ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เสียงตามสายในแหล่งชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ และเนื้อเพลงฯ ทางสื่อสิ่งพิมพ์ ก่อนช่วงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ในราวปลายเดือนกันยายน–กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ เพื่อเป็นสื่อกลางให้พสกนิกรชาวไทย ได้ร่วมกับรัฐบาล ในการถวายพระเกียรติ และสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ตลอดจนถวายความอาลัยแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ประโคมเพลง ประเลงถวาย
แก้สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำอัลบัมเพลงคลาสสิกชุด ประโคมเพลง ประเลงถวาย เพื่อแสดงความสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีต่อวงการดนตรีคลาสสิก และทรงอุปถัมภ์วงดนตรีคลาสสิกต่างๆ โดยเฉพาะ "วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" โครงการนี้เป็นการเชิญศิลปิน นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงคลาสสิกชาวไทย 7 ท่าน เพื่อนำผลงานเพลงที่ประพันธ์ขึ้นภายหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ และผลงานที่ประพันธ์ขึ้นเพื่ออัลบัมชุดนี้โดยเฉพาะ มารวบรวมจัดทำเป็นชุดซีดีและหนังสือประกอบซีดี จำนวน 10,000 ชุด เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้ได้รับเชิญร่วมเฝ้าฯ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ และคณะกรรมการจัดงานฝ่ายต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเพลงทั้งหมดแจกจ่ายให้ประชาชนผ่านการดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ศิลปินที่ร่วมโครงการทั้ง 7 ท่าน ได้แก่ ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ทฤษฎี ณ พัทลุง ณัฐ ยนตรรักษ์ ณรงค์ ปรางเจริญ อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ ศรสันติ์ นิวาสานนท์ และ สมเถา สุจริตกุล ได้ประพันธ์บทเพลงเพื่อแสดงความอาลัยในรูปแบบและลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน เช่น เพลง "ถวายปฏิญญา" ของณรงค์ฤทธิ์นั้น จะเน้นความอลังการทางศิลปะที่ถ่ายทอดจากกวีนิพนธ์ เพลง "นิรันดร์" ของทฤษฎีมีทำนองและเครื่องดนตรีแบบไทยผสมผสาน เป็นต้น
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาพระเกียรติยศ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 4 ข วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551 หน้า 1
- ↑ ข้อมูลโดย: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี