เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์

(เปลี่ยนทางจาก The Lord of the Rings)

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (อังกฤษ: The Lord of the Rings) เป็นนิยายแฟนตาซีขนาดยาว ประพันธ์โดยศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เป็นนิยายที่ต่อเนื่องกับนิยายชุดก่อนหน้านี้ของโทลคีน คือ เรื่อง There and Back Again หรือที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า เดอะฮอบบิท แต่ได้ขยายโครงเรื่องซับซ้อนไปกว่า เดอะฮอบบิท มาก โทลคีนแต่งเรื่องนี้ขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2480 - 2492 (ค.ศ. 1937 - 1949) และได้วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2497-2499 (ค.ศ.1955-1957) โดยแบ่งตีพิมพ์ออกเป็น 3 ตอน เนื่องจากหนังสือมีความยาวมากจนสำนักพิมพ์เห็นว่าไม่สามารถตีพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกันได้ นิยายเรื่องนี้ได้แปลไปเป็นภาษาต่างๆ มากมายไม่น้อยกว่า 38 ภาษา และได้รับยกย่องให้เป็นนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 20[1]

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์  
ผู้ประพันธ์เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Lord of the Rings
ผู้แปลวัลลี ชื่นยง
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ชุดปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ
ประเภทนวนิยายแฟนตาซี
สำนักพิมพ์สหราชอาณาจักร สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน
ไทย สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
วันที่พิมพ์สหราชอาณาจักร 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2497
ไทย ตุลาคม พ.ศ. 2544
เรื่องก่อนหน้าเดอะฮอบบิท 

เรื่องราวใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เกิดขึ้นบนดินแดนในจินตนาการที่มีชื่อว่า มิดเดิลเอิร์ธ ตัวละครในเรื่องมีหลายเผ่าพันธุ์ เช่น มนุษย์ เอลฟ์ (หรือ พราย ในฉบับแปลภาษาไทย) ฮอบบิท คนแคระ พ่อมด และออร์ค หัวใจของเรื่องเกี่ยวข้องกับแหวนเอกธำมรงค์ ซึ่งสร้างโดยจอมมารเซารอน เหตุการณ์ในเรื่องเริ่มต้นจากดินแดนไชร์อันสุขสงบ ไปยังส่วนต่าง ๆ ของมิดเดิลเอิร์ธ จนถึงเหตุการณ์สงครามแหวน โดยผ่านมุมมองของตัวละครฮอบบิทคนหนึ่งที่ชื่อ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ ในตอนท้ายของเรื่องยังมีภาคผนวกอีก 12 ชุดที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของโลกในนิยาย รวมถึงภูมิหลังด้านภาษาศาสตร์ของวัฒนธรรมต่าง ๆ ในนิยายด้วย

เมื่อพิจารณางานเขียนชิ้นอื่น ๆ ของโทลคีนประกอบ จะเห็นว่า เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เป็นชิ้นงานที่ขยายผลมาจากโครงเรื่องต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ เป็นชิ้นงานที่มีความซับซ้อน และยังเป็นเหตุการณ์ในลำดับสุดท้ายของปกรณัมของโทลคีนที่ได้บรรจงสร้างมาเนิ่นนานตั้งแต่ พ.ศ. 2460 (ค.ศ. 1917) ผลงานเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และงานเขียนชิ้นอื่น ๆ ของเขาได้แสดงให้เห็นถึงความลุ่มลึกทางด้านภาษา ด้านโครงตำนาน ด้านแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม และด้านศาสนศาสตร์ จนส่งผลต่อวงการวรรณกรรมแฟนตาซียุคต่อมาเป็นอย่างมาก ผลกระทบจากงานของโทลคีนต่อสังคมทำให้คำว่า "แบบโทลคีน" ("Tolkienian" และ "Tolkienesque") ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด [2]

ความนิยมอย่างล้นหลามและยาวนานในหนังสือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ยังเป็นจุดกำเนิดของงานเทศกาล ประเพณี ชมรม และสมาคมต่าง ๆ มากมาย โดยบรรดาผู้ชื่นชอบผลงานของเขา [3] รวมทั้ง หนังสือในแง่มุมหลายหลากเกี่ยวกับตัวของโทลคีนหรืองานเขียนชิ้นต่าง ๆ ของเขา เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ได้สร้างให้เกิดแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่องต่องานศิลปะ ภาพวาด ดนตรี ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ เกม และวรรณกรรมชิ้นอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน มีการดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ไปเป็นบทละครวิทยุ ละครเวที รวมถึง ภาพยนตร์หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไตรภาคในระหว่างปี ค.ศ. 2001-2003 เป็นครั้งที่กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจในผลงานของโทลคีนขึ้นมาอย่างสูงมากอีกครั้งหนึ่ง

ภูมิหลังของเรื่อง แก้

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของเรื่องราวใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ มีการประพันธ์ขึ้นในระหว่างการเขียนหนังสือเรื่องนี้เอง ต่อมาจึงได้นำไปบรรจุในส่วนของภาคผนวก และในบทสุดท้ายของหนังสือ ซิลมาริลลิออน ซึ่งตีพิมพ์หลังจากโทลคีนเสียชีวิตไปแล้ว ความโดยย่อ คือ เรื่องเกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนเหตุการณ์ในนิยาย เมื่อจอมมารมืด เซารอน สร้างแหวนเอกธำมรงค์ขึ้นเพื่อควบคุมบงการแหวนแห่งอำนาจวงอื่น ๆ เซารอนเปิดฉากสงครามเพื่อชิงแหวนแห่งอำนาจ 16 วง แล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่เหล่าผู้นำชาวคนแคระและมนุษย์ มนุษย์ได้รับแหวนไป 9 วง และถูกอำนาจแหวนครอบงำไปจนกลายเป็นภูตแหวนซึ่งไร้ชีวิต เป็นสมุนตัวฉกาจของเซารอนในยุคต่อมา ทว่าแหวนแห่งอำนาจยังมีอีก 3 วงที่รอดพ้นเงื้อมมือของเซารอนไป นั่นคือแหวนแห่งเอลฟ์ ที่ไปอยู่ในความอารักขาของเอลฟ์ระดับราชนิกุลที่ทรงพลังอำนาจ ในการสงครามคราวนั้นฝ่ายมนุษย์แห่งนูเมนอร์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกเอลฟ์จนทำให้เซารอนต้องล่าถอย ภายหลังชาวนูเมนอร์ยังยกทัพมามิดเดิลเอิร์ธและจับตัวเซารอนกลับไปยังเกาะของตน อย่างไรก็ดีด้วยความเจ้าเล่ห์ของเซารอน เขาได้ยุแหย่จนกษัตริย์นูเมนอร์คิดท้าทายอำนาจแห่งวาลาร์ (เป็นเหมือน 'เทพ' ในปกรณัมของโทลคีน) จนยกทัพไปตีแผ่นดินอมตะ เกาะนูเมนอร์จึงพินาศล่มสลายลง ดวงจิตของเซารอนหนีกลับมามิดเดิลเอิร์ธได้ แต่ก็มีชาวนูเมนอร์จำนวนหนึ่งหนีรอดมาได้เช่นกัน นั่นคือเอเลนดิลกับบุตรทั้งสอง คืออิซิลดูร์และอนาริออน

เซารอนทำสงครามไม่หยุดหย่อนกับชาวนูเมนอร์ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นเวลายาวนานนับร้อยปี จนกระทั่ง เอเลนดิลร่วมมือกับกษัตริย์ กิลกาลัด ก่อตั้งกองทัพพันธมิตรครั้งสุดท้ายระหว่างเอลฟ์และมนุษย์ และยกทัพไปตีมอร์ดอร์ ทำลายกองทัพของเซารอนและหอคอยบารัด-ดูร์ลง หลังจากการรบติดพันยาวนานถึงเจ็ดปี เซารอนจึงออกมาต่อสู้ด้วย เขาสังหารกิลกาลัดและเอเลนดิลได้ แต่ก็สิ้นอำนาจไปเมื่ออิซิลดูร์ใช้เศษดาบนาร์ซิลตัดนิ้วที่สวมแหวนของเซารอนขาด เหตุนี้ดวงจิตของเซารอนจึงเตลิดหนีไป ส่วนอิซิลดูร์เก็บแหวนเอกไว้ เป็นที่ระลึกและเป็นการชดเชยกับการสูญเสียบิดากับน้องชายของตน

จากนั้น จึงเริ่มต้นยุคที่สามของอาร์ดา สองปีต่อมา อิซิลดูร์กับกองกำลังของเขาโดนพวกออร์คซุ่มโจมตีที่แถบทุ่งแกลดเดน ระหว่างการเดินทางไปริเวนเดลล์ อิซิลดูร์ต้องธนูอาบยาพิษสิ้นพระชนม์ ส่วนแหวนเอกก็เลื่อนหลุดจากนิ้วมือของเขาหายไปในแม่น้ำอันดูอิน และนอนแน่นิ่งอยู่ใต้แม่น้ำนั้นเป็นเวลานานกว่าสองสหัสวรรษ

แหวนเอกถูกค้นพบอีกครั้งโดยฮอบบิทชาวเรือชื่อ ดีเอโกล ซึ่งไปตกปลากับเพื่อนชื่อ สมีโกล แต่สมีโกลฆ่าดีเอโกลเพื่อชิงแหวน แล้วโดนขับออกจากหมู่บ้าน จึงหนีไปอาศัยอยู่ใต้เทือกเขามิสตี้ เขาลุ่มหลงมัวเมาตกอยู่ในอำนาจแหวน จนกลายเป็นสัตว์รูปร่างน่าเกลียด เรียกชื่อตัวเองว่า กอลลัม อีกหลายร้อยปีต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ดังในเรื่อง เดอะฮอบบิท เมื่อฮอบบิทชื่อ บิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ได้พบแหวนเอกในถ้ำของกอลลัมโดยบังเอิญ แล้วนำมันกลับมาบ้าน โดยไม่ได้ล่วงรู้เลยว่าแหวนนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากยิ่งกว่าเพียงแหวนวิเศษธรรมดา ๆ

โครงเรื่อง แก้

 
ภาพแผนที่ดินแดนตะวันตกของทวีปมิดเดิลเอิร์ธในช่วงยุคที่สาม

หนังสือทั้งสามตอน ภายในประกอบด้วย "เล่ม" ย่อยอีกตอนละสองเล่ม รวมทั้งสิ้นเป็นหกเล่ม [หมายเหตุ: สำหรับฉบับภาษาไทย ที่จัดพิมพ์เป็น 3 เล่มนั้น ภายในก็ยังแบ่งเป็นสองเล่มอยู่เช่นเดิม]

มหันตภัยแห่งแหวน แก้

เล่มที่หนึ่งเริ่มต้นเหตุการณ์ด้วยงานวันเกิดของบิลโบในแคว้นไชร์ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 60 ปีหลังจากเหตุการณ์ในเรื่อง เดอะฮอบบิท บิลโบตัดสินใจออกเดินทางผจญภัยอีกครั้ง ทิ้งมรดกทั้งปวงรวมถึง "แหวน" วงนั้น ให้แก่ญาติคนหนึ่งที่เขารับไว้เป็นทายาท ชื่อว่าโฟรโด แบ๊กกิ้นส์ หลังจากงานวันเกิดผ่านไป พ่อมดเทาแกนดัล์ฟ เพื่อนเก่าแก่ของครอบครัวก็ย้อนกลับมาที่ไชร์ และพิสูจน์ได้ว่าที่แท้แหวนของบิลโบวงนั้นคือ แหวนเอก ซึ่งเซารอนเจ้าแห่งความมืดติดตามหามาตลอดช่วงยุคที่สาม เวลาเดียวกันนั้น กอลลัมเดินทางเข้าไปที่มอร์ดอร์และโดนจับตัวได้ ทำให้เซารอนรู้ว่าแหวนตกไปอยู่ในความครอบครองของ "แบ๊กกิ้นส์"

เซารอนส่งภูตแหวนออกมาติดตามหาแหวน แต่แกนดัล์ฟได้สั่งให้โฟรโดเดินทางออกจากไชร์แล้ว พร้อมกับแซมไวส์ แกมจี (แซม) คนรับใช้และคนสวนของตระกูล นอกจากนี้ยังมีเพื่อนฮอบบิทอีกสองคนของโฟรโดติดตามมาด้วย คือเมอเรียด็อค แบรนดี้บั๊ก (เมอร์รี่) กับ เปเรกริน ตุ๊ก (ปิ๊ปปิ้น) ทั้งหมดเดินทางออกจากไชร์จากดินแดนบั๊กแลนด์เข้าสู่ป่าดึกดำบรรพ์ ได้พบกับทอม บอมบาดิล และไปถึงเมืองบรีได้พบกับมนุษย์ผู้หนึ่งชื่อว่า สไตรเดอร์ หรืออารากอร์น บุตรแห่งอาราธอร์น ผู้นำแห่งเหล่าดูเนไดน์แห่งดินแดนเหนือ ซึ่งเป็นทายาทบัลลังก์อาร์นอร์และกอนดอร์ อารากอร์นพาพวกฮอบบิทเดินทางไปจนถึงริเวนเดลล์ แต่ระหว่างทางพวกเขาถูกภูตแหวน (นาซกูล) โจมตี และโฟรโดได้รับบาดเจ็บสาหัส กลอร์ฟินเดล เอลฟ์สูงศักดิ์คนหนึ่งมาพบและช่วยเหลือพวกเขาไว้ได้ทัน

ในเล่มสอง โฟรโดได้รับการรักษาจากเอลรอนด์ เจ้าผู้ครองริเวนเดลล์ และได้พบกับบิลโบซึ่งออกเดินทางมาพักผ่อนอยู่ที่นี่ นอกจากนั้นยังมีผู้แทนจากเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ พากันเดินทางมาริเวนเดลล์ (ได้แก่เอลฟ์ คนแคระ และมนุษย์ จากอาณาจักรต่าง ๆ) จึงเกิดเป็นการประชุมเรียกว่า ที่ประชุมของเอลรอนด์ เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางในการต่อต้านเหล่าปีศาจ ที่ประชุมสรุปว่าหนทางเดียวที่จะต่อกรกับเจ้าแห่งความมืดได้ คือต้องทำลายแหวนเอกเสียเท่านั้น โดยต้องนำแหวนไปทิ้งลงในปล่องภูเขาไฟในเมาท์ดูม ซึ่งเป็นไฟที่ใช้สร้างมันขึ้นมา โฟรโดรับอาสาภารกิจนี้ เอลรอนด์จึงแต่งตั้ง "คณะพันธมิตรแห่งแหวน" เพื่อช่วยเหลือโฟรโดในระหว่างการเดินทาง

คณะพันธมิตรแห่งแหวนเดินทางผ่านทุ่งหญ้า เทือกเขา เข้าไปในเหมืองมอเรีย โดยมีกอลลัมแอบติดตามไปตลอดทาง เมื่อพวกเขาเข้าไปในเหมือง กลับถูกลอบโจมตีโดยพวกออร์คกับบัลร็อกที่เข้าไปยึดเหมืองนั้นไว้ก่อนแล้ว แกนดัล์ฟต่อสู้กับบัลร็อกเพื่อให้ชาวคณะหลบหนีไปได้ แต่ตัวเขาเองต้องตกลงไปในปล่องเหวอันมืดมิดใต้มอเรีย เมื่อคณะพันธมิตรหนีออกจากมอเรียได้ อารากอร์นจึงพาคนที่เหลือหนีไปยังลอธลอริเอน อาณาจักรของเลดี้กาลาเดรียลและลอร์ดเคเลบอร์น หลังจากนั้นจึงออกเดินทางต่อมาถึงน้ำตกใหญ่ในแม่น้ำอันดูอิน โฟรโดตัดสินใจจะเดินทางต่อเพียงลำพัง เนื่องจากโบโรเมียร์ถูกอำนาจแหวนล่อลวงจนคิดจะแย่งแหวนมาครองเอง แต่ขณะโฟรโดจะแอบหนีไป แซมตามมาทันและขอร่วมเดินทางไปด้วย

หอคอยคู่พิฆาต แก้

ในหนังสือภาคสอง เหตุการณ์ในเรื่องจะแยกออกเป็นสองส่วน โดยที่เล่มสามบรรยายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะพันธมิตรแห่งแหวนที่เหลืออยู่ คือซารูมานส่งอูรุกไฮมาชิงตัวผู้ถือแหวน แต่พวกมันเข้าใจผิดจึงจับตัวเมอร์รี่กับปิ๊ปปิ้นไป โบโรเมียร์ต่อสู้เพื่อป้องกันฮอบบิททั้งสองจนเสียชีวิต อารากอร์น เลโกลัส และกิมลี ตัดสินใจไปช่วยเหลือเมอร์รี่กับปิ๊ปปิ้น ทั้งสามได้พบกับแกนดัล์ฟซึ่งคืนชีพใหม่เป็น แกนดัล์ฟ พ่อมดขาว หลังจากต่อสู้เอาชนะบัลร็อกแล้วจึงถูกส่งกลับมามิดเดิลเอิร์ธอีกครั้งเพราะภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งสี่เดินทางไปยังอาณาจักรโรฮัน และช่วยโรฮันต่อสู้กับซารูมานในสมรภูมิป้อมฮอร์นเบิร์ก เวลาเดียวกันนั้นเมอร์รี่กับปิ๊ปปิ้นหนีพ้นจากพวกอูรุกไฮ และไปอยู่ในความดูแลของพวกเอนท์ ช่วยพวกเอนท์โจมตีไอเซนการ์ด ขังซารูมานไว้ในหอคอย จากนั้นทั้งสองกลุ่มได้มาพบกันอีกครั้งหลังสิ้นสุดสงคราม

เล่มสี่เล่าเหตุการณ์ทางด้านของโฟรโดและแซม ที่หาทางเข้าไปยังเมาท์ดูม ทั้งสองจับตัวกอลลัมได้และบังคับให้มันนำทางเข้าไปในมอร์ดอร์ แต่เมื่อไปถึงประตูดำก็พบกองทัพจำนวนมากจึงไม่อาจผ่านเข้าไปได้ กอลลัมเสนอหนทางลับเข้าไปในมอร์ดอร์ ผ่านทางหุบเขาอันน่าสยดสยองแห่งมินัสมอร์กูล ระหว่างทางพวกเขาโดนกองกำลังลาดตระเวนของกอนดอร์จับตัวได้ และได้พบฟาราเมียร์ น้องชายของโบโรเมียร์ โฟรโดอธิบายให้ฟาราเมียร์เข้าใจสถานการณ์และเห็นพ้องว่า การทำลายแหวนทิ้งเสียจะเป็นการดีกว่านำแหวนกลับไปใช้เป็นอาวุธ ในตอนท้ายเล่ม กอลลัมหักหลังโฟรโดโดยพาเขาไปติดกับอยู่ในถ้ำของนางแมงมุมชีล็อบ โฟรโดถูกพิษแมงมุมสิ้นสติไป แต่แซมเข้าสู้กับนางและไล่นางไปได้ พวกออร์คผ่านมาพอดีจึงจับตัวโฟรโดไป ฝ่ายแซมซึ่งคิดว่าเจ้านายของตนตายแล้วจึงได้เอาแหวนมาเก็บไว้ ทำให้แหวนรอดจากเงื้อมมือพวกออร์คโดยบังเอิญ เวลาเดียวกันนั้นเซารอนส่งกองทัพใหญ่ออกไปสู่สมรภูมิบนมิดเดิลเอิร์ธ เป็นการรบครั้งใหญ่ที่สุดในสงครามแหวน โดยมีวิชคิง หัวหน้าเหล่าภูตแหวน เป็นแม่ทัพเข้าโจมตีกอนดอร์

กษัตริย์คืนบัลลังก์ แก้

ในหนังสือภาคสาม เริ่มเหตุการณ์ในเล่มห้าที่แกนดัล์ฟกับปิ๊ปปิ้นเดินทางมาถึงมินัสทิริธ และเตือนให้เมืองหลวงแห่งกอนดอร์เตรียมพร้อมรับศึก เมอร์รี่เข้าร่วมกองทัพของโรฮันยกติดตามมา ระหว่างทาง อารากอร์นนำกำลังส่วนหนึ่งแยกไปตาม "เส้นทางมรณะ" (Paths of the Dead) เพื่อขอความช่วยเหลือจากกองทัพปีศาจผู้ตกอยู่ในคำสาปของบรรพกษัตริย์กอนดอร์ ให้ช่วยสกัดทัพเรือคอร์แซร์ที่ยกมาจากอุมบาร์ จากนั้นแกนดัล์ฟ อารากอร์น และคนทั้งหมดเข้าร่วมในการสงครามใหญ่ที่เซารอนหมายเข้ายึดมินัสทิริธ เรียกว่าสมรภูมิทุ่งเพเลนนอร์ ทัพโรฮันมาถึงทันเวลาและป้องกันเมืองมินัสทิริธไว้ได้ แต่เซารอนยังมีกองกำลังจำนวนมากเตรียมพร้อมยกหนุนมาอีก ฝ่ายกองทัพอิสระชนแห่งมิดเดิลเอิร์ธไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าโจมตีประตูดำแห่งมอร์ดอร์ แม้จะไม่มีหวังได้รับชัยชนะก็ตาม ทั้งนี้ก็ด้วยความหวังเพียงประการเดียวคือหันเหความสนใจของเซารอนมาที่พวกตน เพื่อซื้อเวลาให้โฟรโดสามารถเข้าไปทำลายแหวนได้

เล่มหก แซมตามไปช่วยโฟรโดออกมาได้ แล้วเดินทางข้ามที่ราบอันหฤโหดของมอร์ดอร์เข้าไปถึงเมาท์ดูม (โดยมีกอลลัมลอบตามไปตลอดทาง) แต่ในที่สุดแหวนมีอำนาจเหนือจิตใจของโฟรโดมากจนเขาไม่สามารถโยนมันทิ้งลงไปในภูเขาไฟ และประกาศตัวเป็นเจ้าของแหวน เมื่อนั้นบรรดานาซกูลจึงรู้ถึงตำแหน่งของแหวนและหันหน้ากลับไปยังโอโรดรูอิน แต่กอลลัมเมื่อเห็นโฟรโดประกาศครอบครองแหวน ก็เข้ายื้อแย่งและกัดนิ้วที่สวมแหวนของโฟรโดจนขาด มันตื่นเต้นดีใจจนขาดสติแล้วลื่นไถลตกลงไปในปล่องภูเขาไฟ ทำให้แหวนถูกทำลายไป เหล่าปีศาจและสิ่งก่อสร้างทั้งปวงที่สร้างขึ้นด้วยอำนาจดวงจิตของเซารอนจึงพังพินาศไปพร้อมกับแหวนด้วย และกองทัพของอิสระชนแห่งมิดเดิลเอิร์ธเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

อารากอร์นได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกอนดอร์ และอภิเษกกับอาร์เวน บุตรีของเอลรอนด์ แต่ผลกระทบจากสงครามยังไม่สิ้นสุด เพราะซารูมานที่หนีไปจากไอเซนการ์ดได้เดินทางไปถึงไชร์ และเข้ายึดแคว้นนั้นไว้ เมื่อโฟรโดกับเพื่อนเดินทางกลับไปถึง ก็หาทางแก้ไข ยึดแคว้นไชร์คืนกลับมาได้ ถึงกระนั้น ไชร์ก็ไม่ใช่ไชร์อย่างที่พวกเขาเคยรู้จักอีกต่อไป ในตอนท้ายเล่ม โฟรโดที่ยังคงเจ็บบาดแผลจากนาซกูลอยู่เสมอ และบิลโบก็ยังอ่อนแอเนื่องจากอายุและพลังของแหวน เหล่าเอลฟ์จึงตัดสินใจอนุญาตให้ โฟรโดเดินทางข้ามทะเลไปสู่แผ่นดินตะวันตกพร้อมกับบิลโบและเหล่าเอลฟ์ เพื่อไปใช้ชีวิตเป็นอมตะกับอมตะชนที่ยังเหลืออยู่

ภาคผนวก แก้

ภาคผนวกของหนังสือประกอบด้วย ลำดับเหตุการณ์ในปกรณัม ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์และภาษาต่างๆ บนมิดเดิลเอิร์ธ เช่นวงศ์กษัตริย์อาร์นอร์และกอนดอร์ อักขระเทงกวาร์ ปฏิทินของชาวฮอบบิท และเรื่องราวโดยละเอียดของตำนานอารากอร์นกับอาร์เวน เป็นต้น

เมื่อตรวจสอบกับตารางเวลาในปกรณัมของโทลคีน เหตุการณ์ในเรื่องเริ่มขึ้นในวันเกิดของบิลโบ คือวันที่ 22 กันยายน ปีที่ 3001 ยุคที่สาม สิ้นสุดลงเมื่อแซมไปส่งโฟรโดและกลับถึงแบ๊กเอนด์ ในวันที่ 6 ตุลาคม ปีที่ 3021 ยุคที่สาม แต่เหตุการณ์ส่วนใหญ่ของเรื่องเกิดขึ้นใน "ศักราชอันยิ่งใหญ่" คือปีที่ 3018 - 3019 ของยุคที่สาม นับจากโฟรโดเดินทางออกจากแบ๊กเอนด์ในวันที่ 23 กันยายน ปีที่ 3018 จนถึงวันที่ทำลายแหวนเอกในเมาท์ดูมอีกหกเดือนถัดมา คือวันที่ 25 มีนาคม ปีที่ 3019

เบื้องหลังการประพันธ์และการตีพิมพ์ แก้

โทลคีนแต่งเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เป็นตอนต่อจากเรื่อง เดอะฮอบบิท ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม[4] ทำให้สำนักพิมพ์เรียกร้องให้โทลคีนรีบส่งผลงานเกี่ยวกับ ฮอบบิท และ กอบลิน มาอีกโดยด่วน ในปีนั้นโทลคีนอายุ 45 ปี เขาจึงได้เริ่มวางโครงเรื่องนิยายตอนใหม่ ต่อมา กลายเป็น เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ โดยใช้เวลาประพันธ์ยาวนานถึง 12 ปี เขาเขียนเสร็จในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) แต่กว่าจะได้ตีพิมพ์ครบทั้งหมดก็ล่วงไปถึง ค.ศ. 1955 ซึ่งเขามีอายุได้ 63 ปี[5]

ที่จริงโทลคีนไม่ได้คิดจะเขียนตอนต่อของ เดอะฮอบบิท งานประพันธ์หลัก ๆ ของเขาส่วนใหญ่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโลกอาร์ดา เรื่องราวของซิลมาริล และชนชาติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นที่มาของเหตุการณ์ใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ผู้ที่ศึกษาชีวประวัติของโทลคีนจำนวนมากต่างลงความเห็นว่า งานที่เป็น "ผลงานแห่งดวงใจ" ของโทลคีนที่แท้แล้ว คือ ซิลมาริลลิออน[6] แต่เขาเขียนเรื่องนี้ยังไม่ทันเสร็จเรียบร้อยดี ก็เสียชีวิตไปเสียก่อน คริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชายของเขาเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียง แต่งเติมช่องว่างจนสมบูรณ์ และตีพิมพ์ ซิลมาริลลิออน ออกมาในที่สุดเมื่อ ค.ศ. 1977 อย่างไรก็ดี เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ก็เป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์อาร์ดาของโทลคีน เป็นเหตุการณ์ลำดับสุดท้ายของปกรณัมซึ่งโทลคีนเคยหวังว่าจะเป็นส่วนเติมเต็มที่สมบูรณ์สำหรับวงล้อประวัติศาสตร์ทั้งมวล[7]

ในที่สุด โทลคีนก็ตัดสินใจเขียนเรื่องการผจญภัยของ "ฮอบบิทคนใหม่" ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)[5] เขาลองผิดลองถูกอยู่หลายโครง จนความคิดเกี่ยวกับ "แหวนเอก" แวบเข้ามา เขาเปลี่ยนแนวเรื่องจากการเขียนตอนต่อของ เดอะฮอบบิท ไปเป็นตอนต่อจาก ซิลมาริลลิออน งานที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ของเขานั่นเอง ถึงกระนั้น กว่าแนวคิดเรื่องการปรากฏตัวและการหายตัวไปของบิลโบ นัยยะของแหวนเอก และรายละเอียดอื่น ๆ จะเข้าที่เข้าทางก็ล่วงไปถึงปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938)[5] แนวคิดเริ่มแรกเขาคิดจะเขียนให้บิลโบใช้สมบัติจนหมดและออกผจญภัยเพื่อค้นหาขุมทรัพย์ใหม่ ๆ แต่เมื่อแนวเรื่องเปลี่ยนมาเป็นเรื่องของ "แหวนเอก" บรรยากาศของเรื่องก็จริงจังมากขึ้นจนเกินกว่าจะใช้ตัวละครเอกเป็นฮอบบิทผู้ร่าเริงสนุกสนานอย่างบิลโบ โทลคีนนึกหาตัวละครอื่นที่เป็นญาติกับบิลโบมาแทน เริ่มแรกเขาคิดจะให้เป็นลูกชาย (ชื่อ บิงโก แบ๊กกิ้นส์) แต่มีคำถามอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ใครเป็นภรรยาของบิลโบ และทำไมบิลโบจึงยอมให้ลูกชายเดินทางเสี่ยงอันตรายอย่างนั้น ในที่สุด เรื่องจึงมาลงตัวที่ญาติห่าง ๆ คนหนึ่งของบิลโบที่รับมาเลี้ยงเป็นหลาน คือ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์[5]

ความที่โทลคีนเป็นคนประณีตละเอียดลออ งานเขียนจึงคืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า และมักโดนขัดจังหวะอยู่บ่อย ๆ ด้วยงานสอนกับงานด้านวิชาการของโทลคีนเอง โทลคีนเคยหยุดเขียนเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ไปในปี พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) แต่ด้วยแรงผลักดันจากคริสโตเฟอร์ ลูกชาย และ ซี. เอส. ลิวอิส เพื่อนรัก ซึ่งโทลคีนเขียนเรื่องเป็นตอน ๆ ส่งให้ทั้งสองคนอ่าน โทลคีนพยายามเขียนต่อจนจบและส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ได้ในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ทว่า โทลคีนยังคงปรับแก้รายละเอียดของเรื่องต่อไปอีกจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949)[5]

 
ปกหนังสือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ วาดโดย พอลลีน เบย์นส (พ.ศ. 2511)

การตีพิมพ์ แก้

ในเวลานั้นเองโทลคีนมีปัญหาขัดแย้งกับสำนักพิมพ์ของเขา คือ อัลเลนแอนด์อันวิน เนื่องจากโทลคีนต้องการให้ตีพิมพ์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ กับ ซิลมาริลลิออน พร้อม ๆ กันเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง เมื่ออัลเลนแอนด์อันวินไม่เห็นด้วย โทลคีนจึงส่งต้นฉบับไปให้เพื่อนคนหนึ่งของเขา คือ มิลตัน วอลด์แมน ที่สำนักพิมพ์คอลลินส์ ทว่า ทางคอลลินส์เห็นว่าลำพัง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เองนั้น ก็จำเป็นต้องถูกหั่นให้สั้นลง โทลคีนจึงหันกลับไปหาอัลเลนแอนด์อันวินอีกครั้ง

เวลานั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระดาษหายากฝืดเคือง และเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลง สำนักพิมพ์จึงแบ่งการพิมพ์เรื่องนี้ออกเป็นสามภาค คือ The Fellowship of the Ring (เล่ม 1 และ 2) The Two Towers (เล่ม 3 และ 4) และ The Return of the King (เล่ม 5, 6 และภาคผนวก) งานจัดทำภาคผนวก แผนที่ รวมทั้งดรรชนี ทำให้การตีพิมพ์ล่าช้ากว่ากำหนดออกไป หนังสือทั้งสามภาคออกวางจำหน่ายดังนี้ ภาคแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ภาคสองเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) และภาคสามเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) ชื่อหนังสือในภาคที่สาม โทลคีนไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะคิดว่าเป็นการบอกถึงเนื้อเรื่องมากเกินไป เขาเคยเสนอให้ใช้ชื่อ The War of the Ring แต่สำนักพิมพ์ไม่ตกลง[8]

โทลคีนรับผลตอบแทนจากสำนักพิมพ์ในระบบปันกำไร หมายความว่า เขาจะไม่ได้รับเงินล่วงหน้าหรือค่าส่วนแบ่งจากสำนักพิมพ์จนกว่าการพิมพ์ครั้งนั้นจะคุ้มทุนแล้ว หลังจากนั้น โทลคีนก็ได้รับส่วนแบ่งในผลกำไรเป็นจำนวนมาก หนังสือชุดนี้มักเรียกกันว่า "ไตรภาค" ซึ่งโทลคีนเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันโดยตลอด ไม่ได้แบ่งเป็นภาค นอกจากนี้ ยังเรียกว่า "นวนิยาย" ซึ่งโทลคีนก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเขาบอกว่าเรื่องนี้เป็น "มหากาพย์"[7]

เมื่อปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) มีการตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นหนังสือชุดเจ็ดเล่ม ประกอบด้วย เนื้อเรื่องหกเล่มตามบทประพันธ์ และภาคผนวกอีกหนึ่งเล่ม ชื่อย่อยของหนังสือแต่ละเล่มนำมาจากแนวคิดของโทลคีนที่เคยเอ่ยถึงเมื่อสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ ชื่อหนังสือจากเล่ม 1 ถึง เล่ม 6 ได้แก่ The Ring Sets Out (แหวนปรากฏตัว) The Ring Goes South (แหวนลงใต้) The Treason of Isengard (ไอเซนการ์ดทรยศ) The Ring Goes East (แหวนสู่บูรพา) The War of the Ring (สงครามแห่งแหวน) และ The End of the Third Age (การสิ้นสุดยุคที่สาม) ในจำนวนนี้ ชื่อหนังสือสามเล่มคือ The Treason of Isengard, The War of the Ring, และ The End of the Third Age ได้กลายมาเป็นชื่อเล่มในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์ (อยู่ในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ) ซึ่งเรียบเรียงโดยคริสโตเฟอร์ โทลคีน

ชื่อย่อของหนังสือมักเรียกกันว่า LotR หรือ LR (โทลคีนเองเรียกว่า L.R.) ส่วนชื่อภาคเรียกว่า FotR หรือ FR (สำหรับ The Fellowship of the Ring) , TTT หรือ TT (สำหรับ The Two Towers) , และ RotK หรือ RK (สำหรับ The Return of the King)

การแปลเป็นภาษาอื่น แก้

หนังสือชุดนี้ได้แปลไปเป็นภาษาอื่นอย่างน้อย 38 ภาษา[9] โทลคีนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ยังได้เป็นผู้ตรวจสอบการแปลด้วยตนเองหลายครั้ง เขาได้ทำหนังสือ "คู่มือเกี่ยวกับชื่อต่าง ๆ ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" เพื่อช่วยเหลือบรรดานักแปลทั้งหลาย เพราะหนังสือเรื่องนี้แต่งขึ้นบนฐานเรื่องที่ว่า มันแปลมาจาก 'หนังสือปกแดงแห่งเวสต์มาร์ช' ดังนั้น ชื่อต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษที่อาจมีหลายความหมาย จะต้องแปลไปเป็นภาษาปลายทางให้ได้ความหมายที่ถูกต้อง เช่น ฉบับแปลภาษาเยอรมัน ชื่อ "Baggins (แบ๊กกิ้นส์) " จะต้องกลายเป็น "Beutlin" (เพื่อให้ได้คำว่า Beutel ซึ่งหมายถึง Bag (ถุง)) หรือคำว่า "Elf (เอลฟ์) " จะกลายเป็น "Elb" (โดยที่คำว่า Elb ไม่ได้มีความหมายอื่นที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในฉบับภาษาอังกฤษ)

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2544 - 2545 โดยคุณวัลลี ชื่นยง พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน[10] แบ่งการตีพิมพ์ออกเป็นสามตอน แต่ละตอนมีเนื้อหา 2 เล่ม (ตามการจัดแบ่งเนื้อเรื่องของผู้เขียน) คือ

  1. มหันตภัยแห่งแหวน (The Fellowship of the Ring)
  2. หอคอยคู่พิฆาต (The Two Towers)
  3. กษัตริย์คืนบัลลังก์ (The Return of the King)

แนวคิดในการประพันธ์ แก้

โทลคีนแต่งเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ขึ้นจากพื้นฐานความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับภาษาศาสตร์ ศาสนา (โดยเฉพาะความเชื่อแบบโรมันคาทอลิก) และนิทานพื้นบ้านโดยเฉพาะตำนานนอร์ส นอกเหนือจากนั้น ประสบการณ์ของเขาในระหว่างการเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็มีส่วนอยู่ด้วยค่อนข้างมาก [11] รายละเอียดที่เขานำมาตกแต่งลงในโลกในจินตนาการของเขา (หรือเออา) เป็นฉากหลังของเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ก็มีส่วนมาจากประสบการณ์เหล่านี้[7]

ครั้งหนึ่งโทลคีนเคยบอกกับเพื่อนคนหนึ่งของเขา คือ คุณพ่อโรเบิร์ต เมอเรย์ เกี่ยวกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ว่า "เป็นงานที่มีพื้นฐานมาจากศาสนา แม้ตอนแรกจะไม่ได้เขียนขึ้นโดยตั้งใจ แต่ในระหว่างการแก้ไข ผมจงใจปรับให้เป็นอย่างนั้น"[7] เพราะแนวทางของเรื่องโดยพื้นฐานเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายอธรรม และการที่ความถ่อมตนสามารถเอาชนะความยโส ในมหากาพย์ยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องชีวิตหลังความตาย เรื่องของความเป็นอมตะ ความเมตตากรุณา การฟื้นคืนชีพ การกลับใจและสำนึกในบาป การเสียสละตนเอง ความมุ่งมั่นในจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม ความเป็นมิตร และการเยียวยารักษา นอกจากนี้ ในบทอธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า "โปรดนำทางพวกเราให้พ้นจากความมัวเมาและปีศาจร้าย" ก็เป็นประเด็นสำคัญยิ่งที่โทลคีนสื่อออกมาผ่านตัวละคร โฟรโด ในการที่เขาพยายามกระเสือกกระสนให้พ้นจากการครอบงำของแหวนเอก [7]

สำหรับความเชื่อในศาสนาอื่น ๆ นอกเหนือจากศาสนาคริสต์ ก็มีปรากฏในงานชุดมิดเดิลเอิร์ธนี้เช่นกัน เช่น ตัวละครไอนัวร์ - เหล่าวาลาร์และไมอาร์ ที่เป็นเสมือน "เทพ" ผู้คอยทำหน้าที่สร้างและปกปักรักษาโลก เป็นแนวคิดในลักษณะเดียวกับปวงเทพของตำนานกรีกและนอร์ส ถึงแม้ในเรื่องนี้ เหล่าไอนัวร์ก็ล้วนเป็นผลงานสร้างสรรค์จากเอรู อิลูวาทาร์ หรือ "พระผู้เป็นหนึ่ง" เช่นกัน ความเชื่อในตำนานอื่นนอกศาสนาคริสต์ยังปรากฏออกมาผ่านตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ทั้งหลาย เช่น คนแคระ เอลฟ์ ฮอบบิท และเอนท์ เป็นต้น

หากไม่นับศาสนาคริสต์แล้ว ตำนานปรัมปราของยุโรปเหนือนับว่าเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่องานของโทลคีนมากที่สุด เพราะเรื่องของ "เอลฟ์" และ "คนแคระ" เป็นเรื่องที่มาจากตำนานนอร์สกับตำนานเยอรมัน ชื่อหลายชื่อในเรื่องเช่น "แกนดัล์ฟ" "กิมลี" หรือแม้คำว่า "มิดเดิลเอิร์ธ" ก็มีที่มาจากตำนานนอร์ส "แกนดัล์ฟ" เป็นตัวละครที่สร้างจากเทพโอดินซึ่งกลับมาเกิดใหม่เป็น "ผู้พเนจร" เฒ่าผู้มีตาเดียว มีหนวดยาวสีขาว สวมหมวกยอดแหลมและถือไม้เท้า จดหมายฉบับหนึ่งของโทลคีนที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ระบุว่าเขาจินตนาการแกนดัล์ฟขึ้นมา "แบบโอดินเฒ่าพเนจร"[7]

วรรณกรรมอีกชิ้นหนึ่งในบรรดาตำนานยุโรปเหนือที่มีอิทธิพลต่องานของโทลคีน คือ บทกวีแองโกลแซกซอน เรื่อง เบวูล์ฟ[6] โทลคีนนำองค์ประกอบหลายส่วนมาจากมหากาพย์โวลซุงกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแหวนวิเศษที่ทำจากทองคำ และดาบหักที่ถูกตีขึ้นใหม่ ในมหากาพย์โวลซุงกา แหวนมีชื่อว่า Andvarinaut ส่วนดาบมีชื่อว่า Gram นั่นคือ แหวนเอกธำมรงค์ และดาบนาร์ซิล อย่างไม่ต้องสงสัย ยังมีตำนานปรัมปราของฟินแลนด์อีกเรื่องหนึ่งชื่อ คาเลวาลา ซึ่งตัวโทลคีนเองก็ยอมรับว่า เป็นแรงบันดาลใจให้แก่เขาในการสร้างโลก 'มิดเดิลเอิร์ธ' ขึ้น[12] เรื่อง คาเลวาลา ดำเนินไปเกี่ยวกับของวิเศษทรงอำนาจชิ้นหนึ่ง คือ ซัมโป ซึ่งนำพาอำนาจยิ่งใหญ่มาสู่ผู้ถือครอง แต่ไม่ทราบแน่ชัดถึงลักษณะธรรมชาติของตัวมันเอง ฝ่ายธรรมะและอธรรมในเรื่องต่างทำสงครามกันเพื่อแย่งชิง ซัมโป เช่นเดียวกับแหวนเอก ท้ายที่สุด มันก็ถูกทำลายสูญสิ้นไป นอกจากนี้ พ่อมดคนหนึ่งในเรื่องคาเลวาลา คือ ไวแนเมยเนน (Väinämöinen) ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับแกนดัล์ฟ ด้วยมีกำเนิดเป็นอมตะ เป็นผู้เฉลียวฉลาด และสุดท้ายหลังกระทำภารกิจสำเร็จได้ออกเดินทางล่องเรือไปเสียจากแผ่นดินของมรรตัยชน โทลคีนยังสร้างภาษาเควนยาของเขาขึ้นมาจากพื้นฐานภาษาฟินนิชอีกด้วย [13]

นอกเหนือจากปัจจัยภายนอก ฉากและตัวละครบางตัวก็มาจากประสบการณ์วัยเด็กของโทลคีนเองเมื่อสมัยที่อาศัยอยู่ Sarehole กับ เบอร์มิงแฮม[7] เช่น ภาพของแคว้นไชร์และแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์นั้นมาจากดินแดนชนบทรอบ ๆ วิทยาลัย Stonyhurst ที่แลงคาไชร์ ซึ่งโทลคีนมักไปเที่ยวบ่อย ๆ ในช่วงทศวรรษ 1940[14]

หลังจากที่ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตีพิมพ์เผยแพร่ มีการวิจารณ์กันมากว่า 'แหวนเอก' เป็นตัวแทนอุปมาถึงระเบิดนิวเคลียร์ เรื่องนี้โทลคีนยืนยันหนักแน่นว่างานเขียนของเขาไม่ใช่งานสัญลักษณ์แฝงคติ (Allegory) ในบทนำของหนังสือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เขาถึงกับเขียนไว้ว่า เขาไม่ชอบนิยายเปรียบเทียบแฝงคติ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่นิยายแบบนั้น[15] เขายังบอกว่าผู้กล่าวเช่นนั้นช่างไร้ความรับผิดชอบที่จะมาแก้ไขประเด็นเหล่านี้เสียให้ถูก เพราะโทลคีนเขียนเนื้อเรื่องส่วนใหญ่รวมถึงเนื้อหาตอนจบเสร็จก่อนที่ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกจะปรากฏขึ้นบนโลกในปี ค.ศ. 1945 เสียอีก

อย่างไรก็ดี แนวคิดหลักของเรื่องก็ช่างสอดคล้องกับเหตุการณ์ทันยุคทันสมัย นั่นคือ อารมณ์ของความสิ้นหวังเมื่อต้องต่อสู้กับอาวุธจักรยนต์ที่โทลคีนต้องเผชิญในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในชนบทอันร่มรื่นของเขาไปสู่เขตอุตสาหกรรม การแพร่พันธุ์ใหม่ ๆ ของพวกออร์คและการผลาญทำลายธรรมชาติเพื่อการแพร่พันธุ์นั้น ยังคงสื่อความหมายที่ทันสมัยอยู่เสมอ รวมถึงเรื่องของ "อำนาจ" ที่แหวนเอกมีต่อผู้ครอบครองประหนึ่งผู้เสพติดยา ทำให้วรรณกรรมชิ้นนี้เป็นงานที่มีความหมายอย่างมากชิ้นหนึ่งในประวัติบรรณพิภพ

กระแสตอบรับ และรางวัลที่ได้รับ แก้

ผลตอบรับต่องานของโทลคีนมีหลายระดับตั้งแต่ "แย่มาก" ไปจนถึง "ยอดเยี่ยม" แต่ส่วนใหญ่คำวิจารณ์จากสื่อต่าง ๆ จะเป็นไปในทางที่ดี บทวิจารณ์ในซันเดย์เทเลกราฟ (Sunday Telegraph) กล่าวว่า "นี่เป็นจินตนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในศตวรรษที่ยี่สิบ" นิตยสารซันเดย์ไทมส์ (Sunday Times) บอกว่า "ผู้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษในโลกแบ่งออกได้เป็นสองพวก คือ พวกที่อ่าน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ เดอะฮอบบิท แล้ว กับพวกที่กำลังจะอ่าน" และนิวยอร์กเฮอรัลด์ (New York Herald) ก็ลงความเห็นว่า "หนังสือจะเป็นที่นิยมอย่างมาก และจะอยู่ไปอีกนานยิ่งกว่าช่วงชีวิตของเรา"[16]

ส่วนคำวิจารณ์ในทางไม่ดีก็มีเหมือนกัน โดยจูดิธ ชูเลวิทซ์ (Judith Shulevitz) นักวิจารณ์จากนิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่า "โทลคีน ทำให้เกิดความเชื่อผิด ๆ ในการเขียนวรรณกรรมแบบอนุรักษ์ ซึ่งจะทำให้วงการวรรณกรรมไม่ก้าวหน้า" และ ริชาร์ด เจนคินส์ (Richard Jenkyns) นักวิจารณ์จาก นิวรีพับลิค บอกว่า "นิยายเรื่องนี้ไม่มีมิติทางด้านจิตวิทยาเลย ทั้งเนื้อเรื่องและตัวละครต่างฉาบฉวย ไม่มีเนื้อมีหนัง"[17]

แม้แต่เพื่อนในกลุ่มชมรมอิงคลิงส์ ของโทลคีนคนหนึ่ง คือ ฮิวโก ดีสัน (Hugo Dyson) ก็เคยบ่นเมื่อโทลคีนอ่านผลงานของตนให้สมาชิกกลุ่มฟังว่า "ให้ตายสิ! มีเอลฟ์บ้าโผล่มาอีกแล้ว"[18] แต่ ซี. เอส. ลิวอิส สมาชิกอีกคนหนึ่งกลับบอกว่า "งานชิ้นนี้ เป็นความงดงามที่เฉียบคมราวคมดาบ ลุกโพลงเหมือนเหล็กเยือกเย็น เป็นหนังสือที่จะละลายหัวใจของคุณ"[16] ถึงกระนั้น ภายใต้คำวิจารณ์มากมายเหล่านี้ หนังสือชุดปกอ่อนก็ขายหมดอย่างรวดเร็วทุกครั้งที่พิมพ์ในช่วงทศวรรษ 1960 แม้แต่ชุดปกแข็งก็ยังขายดีมาก

เมื่อปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) หนังสือชุด เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ได้รับรางวัลนิยายแฟนตาซียอดเยี่ยม จาก International Fantasy Award[19] การได้พิมพ์เผยแพร่กับสำนักพิมพ์ Ace Books และ Ballantine ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้หนังสือคงความนิยมอย่างสูงได้ตลอดช่วงทศวรรษ 1960 และติดอันดับหนังสือขายดีมาจนตลอดศตวรรษที่ 20[20] ในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) สถานีโทรทัศน์บีบีซี จัดสำรวจความนิยม "หนังสือในดวงใจ" ของประเทศอังกฤษ และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง[21] ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) ผลสำรวจในเยอรมนีและออสเตรเลียก็ปรากฏว่า เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ครองความนิยมอันดับหนึ่งที่ผู้คนชื่นชอบที่สุดเช่นกัน[22][23][24] นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) เว็บไซต์อเมซอนดอตคอม เว็บหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้จัดสำรวจความนิยมของผู้อ่าน และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ได้รับการโหวตให้เป็น "หนังสือยอดเยี่ยมแห่งสหัสวรรษ"[1][25]

การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น แก้

ละครวิทยุ แก้

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ มีการดัดแปลงเป็นละครวิทยุออกอากาศรวมทั้งสิ้นสี่ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 โดยสถานีวิทยุบีบีซี เป็นบทละครวิทยุ 12 ตอน ออกอากาศในปี พ.ศ. 2498 - 2499 (ค.ศ. 1955 - 1956) ผลจากการออกอากาศครั้งนี้ทำให้ชายผู้หนึ่งซึ่งมีชื่อว่า แซม แกมจี เขียนจดหมายไปหาโทลคีน
  • ครั้งที่ 2 โดยสถานีวิทยุ WBAI-FM นิวยอร์ก ได้แก้ไขให้เนื้อเรื่องสั้นลงและนำมาบรรยายประกอบดนตรี ระหว่างช่วงปีทศวรรษ 1960 โดยไม่ได้ขออนุญาตจากโทลคีนก่อน จึงถูกระงับการออกอากาศ
  • ครั้งที่ 3 โดยสถานี National Public Radio แห่งสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) บันทึกเสียงโดยผู้พากย์แต่ละคนไม่ได้เจอหน้ากัน แต่พากย์แยกกันแล้วนำมาประกอบทีหลัง ผลงานจึงไม่ดีนัก
  • ครั้งที่4 โดยสถานีวิทยุบีบีซี ในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) เป็นบทละครวิทยุที่มีขนาดยาวถึง 26 ตอน (ตอนละครึ่งชั่วโมง) ผู้รับบทเอกในการพากย์ โฟรโด แบ๊กกิ้นส์ คือ เอียน โฮล์ม ซึ่งต่อมาได้ร่วมแสดงใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับภาพยนตร์ (พ.ศ. 2544 - 2546) อีกครั้งในบทลุงของโฟรโด คือบิลโบ แบ๊กกิ้นส์

ละครเวที แก้

มีการดัดแปลง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เป็นละครเวทีหลายครั้ง ครั้งแรกเป็นการแสดงที่เมืองซินซินเนติ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) แต่เนื่องจากทุนน้อยจึงไม่ประสบความสำเร็จนัก จากนั้นมีการแสดงในซินซินเนติอีกหลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 มีการจัดแสดงครั้งใหญ่ เป็นละครเพลงความยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง ที่โรงละคร Pricess of Wales โทรอนโต แคนาดา ใช้เงินลงทุนถึง 26.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การแสดงเริ่มรอบกาลาพรีเมียร์เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) และต้องปิดตัวลงเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2549 หลังจากเปิดแสดงเพียง 5 เดือน เนื่องจากขาดทุนย่อยยับ[26] [27]

ทีมงานชุดโทรอนโต ได้มาจัดการแสดงอีกครั้งที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเปิดการแสดงที่ เธียเตอร์รอยัล เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ใช้เงินลงทุน 12.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับเป็นการแสดงที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุดที่มีการจัดแสดงละครเวทีในประเทศอังกฤษ[28] ผลตอบรับจากละครเวทีครั้งนี้มีทั้งในทางดีและไม่ดีปะปนกันไป

หนังสือเสียง แก้

ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ. 1990) สำนักพิมพ์ Recorded Books วางจำหน่ายหนังสือบันทึกเสียง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เต็มเรื่องโดยไม่ตัดทอน มีนักแสดงชาวอังกฤษ ร็อบ อิงกลิส (Rob Inglis) เป็นผู้ให้เสียงอ่าน โดยใช้เสียงพากย์ต่าง ๆ กันสำหรับแต่ละตัวละคร และเขายังเป็นผู้ร้องเพลงประกอบเรื่อง ซึ่งโทลคีนแต่งไว้มากมายตลอดเรื่องอีกด้วย หมายเลข ISBN ของหนังสือนี้ คือ 1402516274[29]

ภาพยนตร์ แก้

เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์สามครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) ใช้ชื่อเรื่องว่า J. R. R. Tolkien's The Lord of the Rings โดยนักสร้างภาพเคลื่อนไหว ชื่อ ราล์ฟ บัคชิ (Ralph Bakshi) [30] เขาสร้างเนื้อหาในภาคแรก 'มหันตภัยแห่งแหวน' และบางส่วนใน 'หอคอยคู่พิฆาต' ภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จนัก ครั้งที่สองสร้างโดยทีมงาน Rankin/Bass เป็นภาคต่อจากฉบับภาพยนตร์ คือ ส่วนที่เหลือของ 'หอคอยคู่พิฆาต' และ 'กษัตริย์คืนบัลลังก์' โดยสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายทางโทรทัศน์ในปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ใช้ชื่อว่า The Return of the King[31]

แต่ครั้งที่ประสบความสำเร็จ คือ ฉบับปี พ.ศ. 2544 - 2546 ของผู้กำกับปีเตอร์ แจ็กสัน อำนวยการสร้างโดย นิวไลน์ซีนีม่า ภาพยนตร์ทั้งสามภาคถ่ายทำในประเทศนิวซีแลนด์ทั้งเรื่อง และถ่ายทำในช่วงเวลาเดียวกัน แต่มีกำหนดออกฉายปีต่อปี เริ่มจากปี พ.ศ. 2544 - 2546

ภาพยนตร์ทั้ง 3 ตอนได้รับรางวัลเนบิวลาสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2545 - 2547 [32] ภาพยนตร์ตอนสุดท้าย (Return of the King) ทำสถิติรายได้มากกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเรื่องที่สองถัดจาก ไททานิก[33] และได้รับรางวัลออสการ์ไปถึง 11 สาขาในปี ค.ศ. 2004[34] ซึ่งรวมถึง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เมื่อรวมทั้งสามภาค ภาพยนตร์ได้รับรางวัลบาฟต้า 13 รางวัล[35] ลูกโลกทองคำ 4 รางวัล[36] และรางวัลออสการ์รวมถึง 17 รางวัล[37] ได้แก่

  1. The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring รวมทั้งสิ้น 4 รางวัล แต่งหน้ายอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, เทคนิคพิเศษทางภาพยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
  2. The Lord of the Rings: The Two Towers รวมทั้งสิ้น 2 รางวัล ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม, เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม
  3. The Lord of the Rings: The Return of the King รวมทั้งสิ้น 11 รางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม (ปีเตอร์ แจ๊กสัน) , บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยม (เพลง Into the West) , ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยม, เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม

ชื่อตอนของภาพยนตร์ในฉบับภาษาอังกฤษจะเหมือนชื่อหนังสือ แต่สำหรับในพากย์ไทยของภาพยนตร์ทั้งสามภาค มีชื่อดังนี้

  1. อภินิหารแหวนครองพิภพ
  2. ศึกหอคอยคู่กู้พิภพ
  3. มหาสงครามชิงพิภพ

อิทธิพลต่องานแขนงอื่น แก้

ดนตรี แก้

 
ปกอัลบัมเพลงของ โทลคีน เอนเซมเบิล ชุด 'At Dawn in Rivendell' ปี 2003

ผลงานของโทลคีนทั้งเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และงานเขียนอื่น ๆ ส่งอิทธิพลต่อบรรดานักดนตรีมากมาย วงดนตรีร็อกในยุคทศวรรษ 1970 พากันแต่งดนตรีและคำร้องของบทเพลงที่เกี่ยวกับนิยายแฟนตาซีชุดนี้ เช่น วงเล็ด เซ็พพลิน คาเมล รัช และ สติกซ์ เป็นต้น ในทศวรรษที่ 80 และ 90 วงดนตรีเมทัลในยุโรปหลายวงแต่งเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโทลคีน โดยเฉพาะในมุมมองทางด้านมืดเกี่ยวกับตัวละครฝ่ายอธรรมในโลกมิดเดิลเอิร์ธ เช่น วง Blind Guardian ของเยอรมนี วง Summoning ของออสเตรีย และวง Nightwish ของฟินแลนด์ วงดนตรีเมทัลบางวงยังตั้งชื่อวงด้วยชื่อของสถานที่ต่าง ๆ ในปกรณัมของโทลคีน เช่น วงกอร์โกรอธ, อะมอนอามาร์ธ, เอเฟลดูอัธ และ คิริธอุงโกล เป็นต้น ในประเทศไทยมีวงดนตรีชื่อ ฮอบบิท มีสมาชิกวง 4 คนซึ่งทั้งสี่เป็นคนร่างเล็ก นักดนตรีหลายคนก็ตั้งชื่อทางการแสดงด้วยชื่อตัวละครในเรื่อง เช่น เคาน์กริชนัค และ ชากรัธ เป็นต้น มือกีต้าร์คนหนึ่ง คือ สตีฟ ตุ๊ก (Steve Took) เลือกใช้นามแฝงตามชื่อฮอบบิทคนหนึ่งว่า เปเรกริน ตุ๊ก นอกจากนี้ ยังมีวงโพรเกรสซิฟร็อก ตั้งชื่อวงว่า อิลูวาทาร์ และ Isildur's Bane (ยมทูตของอิซิลดูร์) ตามชื่อตัวละครในปกรณัมด้วย

นอกจากวงดนตรีร็อกแล้ว นักดนตรีคลาสสิกและนิวเอจจำนวนหนึ่งก็ได้รับแรงบันดาลใจจากโทลคีนเช่นกัน เช่น ศิลปินนิวเอจ เอนยา (Enya) ได้ประพันธ์บทเพลง "ลอธลอริเอน" ในปี ค.ศ. 1991[38] เธอยังได้ประพันธ์บทเพลงสำหรับภาพยนตร์ไตรภาค เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ อีกสองเพลง คือ "May It Be" (ประพันธ์เนื้อร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเควนยา) และเพลง "Aniron" (ประพันธ์เนื้อร้องเป็นภาษาซินดาริน) ซึ่งเพลง "May It Be" ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอคาเดมี่ (ออสการ์) สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม ในปี พ.ศ. 2544[39] นักดนตรีชาวสวีเดน ชื่อ Bo Hansson สร้างงานเพลงในปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) ชื่ออัลบัมว่า "Music Inspired by Lord of the Rings" และวงดนตรีสายเลือดเดนมาร์ก โทลคีน เอนเซมเบิล ได้ออกอัลบัมหลายชุดที่ประพันธ์ขึ้นจากบทกวีและลำนำจากเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ทั้งหมด บางเพลงในอัลบัมเหล่านี้ยังได้ คริสโตเฟอร์ ลี มาร่วมขับลำนำด้วย[40]

ภาพวาด แก้

ผู้วาดภาพจากงานของโทลคีนที่ทรงเกียรติที่สุดได้แก่ สมเด็จพระบรมราชินีนาถมาเกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งทรงเป็นศิลปินนักวาดภาพผู้ช่ำชอง ภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2520 (ค.ศ. 1977) บน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับแปลภาษาเดนมาร์ก โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า Ingahild Grathmer[41]

สำหรับในยุคแรกของการตีพิมพ์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ภาพวาดประกอบเรื่องเกือบทั้งหมดเป็นผลงานของ สองพี่น้องฮิลเดบรันด์ (Tim และ Greg Hildebrandt) ซึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี[42]

แต่จิตรกรจากผลงานของโทลคีนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ จอห์น ฮาว (John Howe) อลัน ลี (Alan Lee) และ เท็ด แนสมิธ (Ted Nasmith) โดย จอห์น ฮาว เป็นผู้วาดภาพปกและภาพประกอบของหนังสือของโทลคีนหลายชุดหลายเวอร์ชัน อลัน ลี มักวาดภาพเกี่ยวกับเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ (เขาวาดภาพประกอบให้ ตำนานบุตรแห่งฮูริน ด้วย) ขณะที่ เท็ด แนสมิธ ชำนาญและมุ่งเน้นภาพจากเรื่อง ซิลมาริลลิออน มากที่สุด ศิลปินทั้งสามคนนี้ได้รับเชิญจากปีเตอร์ แจ็กสัน ให้เข้าร่วมงานออกแบบในภาพยนตร์ไตรภาคเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ซึ่ง ฮาว และ ลี ตอบรับ แต่แนสมิธต้องปฏิเสธไปด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) อลัน ลี ได้รับรางวัลอะแคเดมี (รางวัลออสการ์) ในสาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม สำหรับผลงานของเขาในภาพยนตร์ไตรภาคเรื่องนี้[34]

นอกจากนี้ ยังมีศิลปินคนอื่น ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโทลคีนในการสร้างผลงาน เช่น Catherine Karina Chmiel, Inger Edelfeldt, Anke Katrin Eißmann, Roger Garland, Michael Hague, Tove Jansson (ผู้วาดภาพประกอบ เดอะฮอบบิท ฉบับแปลภาษาฟินนิช), Angus McBride Kay Miner, และ Jenny Dolfen เป็นต้น

บทกวี แก้

กวีหลายคนมีแรงบันดาลใจในการแต่งบทกวีขึ้นในภาษาเควนยาหรือภาษาซินดาริน อันเป็นภาษาประดิษฐ์ของโทลคีนที่ได้เตรียมโครงสร้างภาษาไว้อย่างสมบูรณ์ที่สุด เช่น Helge Kåre Fauskanger ได้แปลสองบทแรกของพระธรรมปฐมกาล (Genesis) ไปเป็นภาษาเควนยา[43] และจุลสาร Tyalië Tyelelliéva (ISSN 1539-7238) เป็นจุลสารเกี่ยวกับผลงานกวีในภาษาเอลฟ์ เผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2537 - 2544

เกม แก้

เกมในแนว RPG ยุคทศวรรษ 1970 ชื่อ Dungeons & Dragons สร้างตัวละครในเกมขึ้นจากเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ จุดเด่นที่เห็นได้ชัด คือ ชาวฮาล์ฟลิง (ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของฮอบบิท) เอลฟ์ มนุษย์ครึ่งเอลฟ์ คนแคระ ออร์ค และมังกร เกมประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและเป็นต้นแบบแก่เกมแนว RPG อื่น ๆ ต่อมาในยุคหลัง อย่างไรก็ดี แกรี่ กายแกกซ์ หัวหน้าทีมออกแบบเกมนี้ยืนยันว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์น้อยมาก และว่าเขาเพิ่มตัวละครเหล่านั้นลงไปในเกมก็เพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น[44]

ในวงการวิดีโอเกมก็ปรากฏเกมจำนวนมากที่ได้รับแรงบันดาลใจจากปกรณัมของเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เช่น เกม RPG แฟนตาซี ชุด Ultima,Baldur's Gate, EverQuest, และ the Warcraft[45] ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเกมต่าง ๆ ที่อยู่ในชุด มิดเดิลเอิร์ธ เองอีกหลายชุด

วรรณกรรมและภาพยนตร์อื่น แก้

ผลจากความสำเร็จและความนิยมอันล้นหลามในงานปกรณัมของโทลคีน ทำให้เกิดกระแสความต้องการนิยายแฟนตาซีสูงขึ้นอย่างมาก ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นยุคทองของนิยายแฟนตาซี มีหนังสือและหนังสือชุดมากมายที่สร้างสรรค์ขึ้นในยุคนี้ เช่น ซีรีส์ เอิร์ธซี ของ เออร์ซูลา เค. เลอ กวิน, มหากาพย์ Riftwar ของ เรย์มอนด์ ฟีสต์, Belgariad ของเดวิด เอดดิงส์, The Sword of Shannara ของเทอร์รี่ บรู๊ค, และ The Wheel of Time หนังสือชุดของโรเบิร์ต จอร์แดน เป็นต้น

วรรณกรรมชิ้นนี้ยังได้ขยายผลไปยังกลุ่มวรรณกรรมข้างเคียง คือ นิยายวิทยาศาสตร์หรือไซไฟ มีการกล่าวอ้างถึงงานของโทลคีนในนิยายของนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง เช่น แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต และ อาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก[46] และส่งอิทธิพลอย่างมากต่อผู้สร้างภาพยนตร์ เช่น จอร์จ ลูคัส ซึ่งมักพูดบ่อย ๆ ว่า เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญมากในเรื่อง สตาร์ วอร์ส[47]

ดูเพิ่ม แก้

งานประพันธ์ของโทลคีนที่เกี่ยวข้องในชุดปกรณัมเดียวกันนี้ ได้แก่

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 O'Hehir, Andrew (June 4, 2001) The Book of the Century เก็บถาวร 2008-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, salon.com
  2. Gilliver, Peter (2006). The Ring of Words: Tolkien and the Oxford English Dictionary. Oxford University Press. ISBN 0-19-861069-6.
  3. ตัวอย่างงานเฉลิมฉลอง พรายสมาคม (มีนาคม 2007)
  4. Books by J.R.R.Tolkien - The Hobbit จาก Tolkienlibrary.com
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 เรียงความ เรื่อง The Lord of the Rings: Genesis เก็บถาวร 2007-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. 6.0 6.1 ทอม ชิปปีย์ (2000), J. R. R. Tolkien Author of the Century, สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์, ISBN 0-261-10401-2
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 จดหมายของ เจ.อาร์.อาร์.โทลคีน, สำนักพิมพ์ Houghton Mifflin, 1981
  8. เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน, The War of the Ring: The History of The Lord of the Rings, Part Three (หนังสือชุดประวัติศาสตร์ลอร์ดออฟเดอะริงส์ เล่ม 3), สำนักพิมพ์ Houghton Mifflin, ISBN 0-618-08359-6
  9. "FAQ บน Tolkien Site : จำนวนการแปลไปเป็นภาษาอื่น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-12. สืบค้นเมื่อ 2008-01-05.
  10. "Amarin Pocket Book เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-29. สืบค้นเมื่อ 2008-01-26.
  11. บทความเรื่อง "Influences of Lord of the Ring", เก็บข้อมูลเมื่อ 16 เมษายน 2006
  12. ไบรอัน ฮันเดิร์ค, "Lord of the Rings Inspired by an Ancient Epic", National Geographic News, National Geographic Society, 2004-03-01
  13. บทความเรื่อง "Cultural and Linguistic Conservation", เก็บข้อมูลเมื่อ 16 เมษายน 2006
  14. บทความเรื่อง "In the Valley of the Hobbits" เก็บถาวร 2008-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เก็บข้อมูลเมื่อ 5 ตุลาคม 2006
  15. เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1991), The Lord of the Rings, สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์, ISBN 0-261-10238-9
  16. 16.0 16.1 "รวมบทวิจารณ์หนังสือ จาก Barnes and Noble". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2021-10-08.
  17. Richard Jenkyns. "Bored of the Rings" The New Republic January 28 2002
  18. Tolkien was not a writer เก็บถาวร 2006-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก telegraph.co.uk
  19. "International Fantasy Award บนเว็บไซต์ The Locus Index to SF Awards". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-23. สืบค้นเมื่อ 2008-01-05.
  20. Tolkien as a writer for young adults เก็บถาวร 2008-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Tolkiensociety.org
  21. BBC - The Big Read จาก bbc.co.uk
  22. Jason Steger , Tolkien has us spellbound จาก theage.com.au
  23. Germany's favorite work of literature
  24. "Australia's Favourite Books The Top 50". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-28. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
  25. Lure of the Rings เก็บถาวร 2008-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Time Magazine
  26. Brantly, Ben (March 24, 2006). Tolkien's 'Lord of the Rings,' Staged by Matthew Warchus in Toronto, The New York Times.
  27. Mixed reviews for 'Lord of the Rings' musical (in Toronto) , CBC (March 25, 2006)
  28. Susannah Clapp, A hobbit that's easy to kick, Review of The Lord of the Rings - Theatre Royal Drury Lane, London
  29. The Lord of the Rings Trilogy Gift Set [UNABRIDGED (Audio CD)] by J.R.R. Tolkien (Author), Rob Inglis (Narrator)
  30. The Lord of the Rings (1978) by Ralph Bakshi
  31. The Return of the King (1980) (TV) by Rankin/Bass
  32. ผลรางวัลเนบิวลา ปี 2002 เก็บถาวร 2007-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปี 2003 เก็บถาวร 2008-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และ ปี 2004 เก็บถาวร 2008-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Science Fiction and Fantasy Writers of America, Inc. (sfwa.org)
  33. All Time Box Office จาก boxofficemojo.com
  34. 34.0 34.1 76th Academy Awards Nominees and Winners เก็บถาวร 2006-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก oscars.org
  35. ผลรางวัลบาฟต้า ปี 2002 ปี 2003 และ ปี 2004
  36. "The 61st Annual Golden Globe Awards (2004)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-01. สืบค้นเมื่อ 2008-01-21.
  37. ผลรางวัลอคาเดมี่ ปี 2002 เก็บถาวร 2008-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ปี 2003 เก็บถาวร 2008-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และ ปี 2004 เก็บถาวร 2006-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  38. Artist Biography - Enya เก็บถาวร 2007-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน onlineseats.com
  39. Enya imdb.com
  40. The Tolkien Ensemble เก็บถาวร 2008-05-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, CDs
  41. "สมเด็จพระบรมราชินีนาถมาเกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ใน Hello Magazine". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-14. สืบค้นเมื่อ 2007-12-28.
  42. The Brothers Hildebrandt
  43. พระธรรมปฐมกาล ฉบับแปลภาษาเควนยา บทที่หนึ่ง เก็บถาวร 2008-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน และ บทที่สอง เก็บถาวร 2008-01-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  44. บทสัมภาษณ์ Gary Gygax - Creator of Dungeons & Dragons
  45. เพอร์รี่ ดักลาส (17 พฤษภาคม 2006) , The Influence of Literature and Myth in Videogames, IGN.com
  46. "Do you remember [...] The Lord of the Rings? [...] Well, Io is Mordor [...] There's a passage about "rivers of molten rock that wound their way ... until they cooled and lay like dragon-shapes vomited from the tortured earth." That's a perfect description: how did Tolkien know, a quarter of a century before anyone saw a picture of Io? Talk about Nature imitating Art." (อาร์เทอร์ ซี. คลาร์ก, 2010: Odyssey Two, บทที่ 16 'Private Line')
  47. Star Wars Origins - The Lord of the Rings

แหล่งข้อมูลอื่น แก้