เอนยา พาทริเชีย นี วรีไนน์[1] (Eithne Patricia Ní Bhraonáin) หรือเอนยา (Enya) (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2504—ปัจจุบัน) เป็นนักร้อง นักดนตรี และคีตกวีชาวไอร์แลนด์ ผู้ได้รับรางวัลแกรมมี่สี่ครั้ง และเป็นศิลปินเดี่ยวที่มียอดจำหน่ายผลงานเป็นอันดับสูงสุดของไอร์แลนด์ ดนตรีของเอนยาได้รับอิทธิพลจากดนตรีเคลติก และมักจัดเป็นดนตรีนิวเอจ เอนยาร่วมงานกับ นิกกี และโรมา ไรอัน มาอย่างยาวนาน โดยเอนยาเป็นผู้ร้องและเล่นดนตรี นิกกีเป็นผู้อำนวยการผลิต และโรมาเป็นผู้ประพันธ์คำร้อง

เอนยา
ชื่อเกิดเอนยา พาทริเซีย นี วรีไนน์
เกิด17 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 (62 ปี)
ที่เกิดอำเภอกวีดอร์ เคาน์ตีโดเนกัล ประเทศไอร์แลนด์
แนวเพลงนิวเอจ เวิลด์มิวสิก เคลติก
อาชีพนักร้อง นักดนตรี คีตกวี โปรดิวเซอร์เพลง
เครื่องดนตรีเปียโน เครื่องสังเคราะห์เสียง
ช่วงปีพ.ศ. 2525—ปัจจุบัน
ค่ายเพลงวอร์เนอร์มิวสิก
เว็บไซต์Enya.com

คำว่า Enya เป็นการเขียนทับศัพท์ชื่อของเธอในภาษาแกลิก คือ Eithne ตามการออกเสียง โดยมีความหมายว่า แก่นไม้ กับทั้งยังเป็นชื่อนักบุญศาสนาคริสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 อีกด้วย

ประวัติ แก้

เอนยาเกิดที่ Gweedore, County Donegal ในเขตที่พูดภาษาแกลิกของประเทศไอร์แลนด์ เอนยาเป็นลูกคนที่ 5 จากทั้งหมด 9 คนในครอบครัวนักดนตรี พ่อของเธอเป็นหัวหน้าคณะเต้น ในขณะที่แม่เป็นครูสอนดนตรี เอนยาเข้าร่วมวงดนตรีพื้นบ้าน Clannad ซึ่งพี่น้องและญาติของเธอเป็นสมาชิกในปีพ.ศ. 2523 แต่ออกจากวงในอีกสองปีถัดมาเพื่อเริ่มต้นเป็นศิลปินเดี่ยว เอนยาไปเช่าห้องในบ้านของนิกกี ไรอัน อดีตผู้จัดการของ Clannad ซึ่งทำให้เอนยาได้ร่วมงานกับโรมา ไรอัน นักแต่งเนื้อเพลง ภรรยาของนิกกี อาชีพศิลปินเดี่ยวของเอนยาเริ่มต้นกับการประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง เดอะฟร็อกพรินซ์ (เจ้าชายกบ) ของเดวิด พุตแนมในปีพ.ศ. 2528 ผลงานต่อมาของเอนยาคือการประพันธ์ดนตรีประกอบซีรีส์ เดอะเคลต์ส ของบีบีซีในปีพ.ศ. 2530 ซึ่งดนตรีจากโครงการนี้ได้รับการวางจำหน่ายในอัลบั้ม Enya ในปีเดียวกันโดยแอตแลนติกเรคอร์ดส ผลงานนี้ทำให้เอนยาได้เซ็นสัญญาเป็นศิลปินของวอร์เนอร์มิวสิก สหราชอาณาจักร เอนยาประสบความสำเร็จสูงจากอัลบั้ม Watermark ในปีพ.ศ. 2531 โดยซิงเกิล The Orinoco Flow (ชื่อเพลงมาจากแม่น้ำโอรีโนโก ในเวเนซุเอลา) ขึ้นเป็นซิงเกิลอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักร[2]

ในปีพ.ศ. 2534 อัลบั้มถัดมาของเอนยาคือ Shepherd Moons อัลบั้มขึ้นอันดับ 1 ในอังกฤษตั้งแต่สัปดาห์แรกที่วางขาย และอัลบั้มนี้ชนะรางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มนิวเอจยอดเยี่ยมในปีพ.ศ. 2536 เพลงของเอนยาหลายเพลงจากสามอัลบั้มถูกนำไปประกอบภาพยนตร์ เช่น L.A. Story Toys Green Card และ Far and Away ในปีพ.ศ. 2535 อัลบั้ม Enya ถูกนำมาทำใหม่และวางจำหน่ายในชื่อ The Celts (อัลบั้ม เอนยาชนะรางวัลแกรมมี่สาขาเดิมอีกครั้งในปีพ.ศ. 2539 กับอัลบั้ม The Memory of Trees ปีพ.ศ. 2540 เอนยาออกอัลบั้มรวมผลงานยอดนิยมในชื่อ Paint the Sky with Stars ซึ่งมีเพลงใหม่อยู่ด้วยสองเพลง เอนยาปฏิเสธข้อเสนอที่จะประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่องไททานิกของเจมส์ คาเมรอน มีข้อสังเกตถึงความคล้ายคลึงของดนตรีประกอบภาพยนตร์ไททานิกกับเพลงของเอนยา โดยเฉพาะเพลง Book of Days ซึ่งใช้ประกอบภาพยนตร์ Far and Away[3]

อัลบั้มถัดมาของเอนยาใช้เวลาถึงห้าปีหลังจาก Shepherd Moons ในปีพ.ศ. 2543 อัลบั้ม A Day Without Rain ซึ่งชนะรางวัลแกรมมี่อีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์โจมตีวันที่ 11 กันยายน เพลง Only Time ของเอนยาถูกนำมาประกอบสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้จำนวนมาก อัลบั้ม Amarantine ชนะรางวัลแกรมมี่อีกครั้งในปีพ.ศ. 2549

เอนยาทำงานร่วมกับนิกกีและโรมา ไรอันมาอย่างยาวนาน นิกกีเป็นผู้ผลิต ผู้จัดการ และร่วมเรียบเรียงกับเอนยา โรมาเป็นผู้แต่งเนื้อเพลงของเอนยา เสียงในเพลงของเอนยามีลักษณะเฉพาะตัว โดยใช้การอัดเสียงทับเป็นชั้นๆ มีเสียงหลายชนิดเช่นเปียโน ซินธิไซเซอร์ ฮาร์ป ไวโอลิน รวมถึงเสียงของเอนยาเอง มีการใช้เสียงสะท้อน และบางเพลงมีเอฟเฟกต์ของเสียงเอนยานับร้อยเป็นคอรัสด้วย เนื้อเพลงที่เอนยาร้องมีหลายภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ แกลิก ละติน รวมถึงภาษาลอกเซียน (Loxian) ซึ่งประดิษฐ์โดยโรมา ไรอัน ใช้ในอัลบั้ม Amarantine

แม้ว่าจะมีผู้ชื่นชอบดนตรีของเธอจำนวนมาก แต่ก็มีการวิจารณ์ว่าดนตรีของเอนยานั้นน่าเบื่อหรือชวนให้ง่วง นอกจากนี้เธอยังถูกวิจารณ์ในช่วงหลังถึงความซ้ำซากจำเจ โดยเฉพาะในอัลบั้ม A Day Without Rain และ Amarantine ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าไม่มีความแปลกใหม่จากอัลบั้มแรกๆของเธอ[4][5]ทั้งที่ใช้เวลาถึงห้าปีในแต่ละอัลบั้ม

ผลงาน แก้

อัลบั้ม แก้

  1. Enya (พ.ศ. 2530)
  2. Watermark (พ.ศ. 2531)
  3. Shepherd Moons (พ.ศ. 2534)
  4. The Celts (พ.ศ. 2535)
  5. The Memory of Trees (พ.ศ. 2538)
  6. Paint the Sky with Stars (พ.ศ. 2540)
  7. A Day Without Rain (พ.ศ. 2543)
  8. Amarantine (พ.ศ. 2548; รุ่นเพิ่มเติม พ.ศ. 2549)
  9. Sounds of the Season (พ.ศ. 2550)
  10. And Winter Came (พ.ศ. 2551)
  11. The Very Best of Enya (พ.ศ. 2552)
  12. Dark Sky Island (พ.ศ. 2558)

รางวัล แก้

เอนยาได้รับรางวัลแกรมมี่สาขาอัลบั้มนิวเอจยอดเยี่ยมสี่ครั้ง

  1. รางวัลแกรมมี่ พ.ศ. 2537 สาขาอัลบั้มนิวเอจยอดเยี่ยม แก่ Shepherd Moons
  2. รางวัลแกรมมี่ พ.ศ. 2540 สาขาอัลบั้มนิวเอจยอดเยี่ยม แก่ The Memory of Trees
  3. รางวัลแกรมมี่ พ.ศ. 2545 สาขาอัลบั้มนิวเอจยอดเยี่ยม แก่ A Day Without Rain
  4. รางวัลแกรมมี่ พ.ศ. 2550 สาขาอัลบั้มนิวเอจยอดเยี่ยม แก่ Amarantine

อ้างอิง แก้

  • Alfonso, B. (2001), Enya, in L.A.DeReamer (ed.), Contemporary Musicians Vol.32, Farmington Hilss, MI: Gale Research, Inc, pp. 70-72 ISBN 0-7876-4643-1 (อังกฤษ)
  • Wenning, E. (1992), Enya, in M.L.LaBlanc (ed.), Contemporary Musicians Vol.6, Detroit, MI: Gale Research, Inc, pp. 58-59 ISBN 0-8103-2216-1 (อังกฤษ)
  • Erlewine, S.T. and Ruhlmann, W., Enya: Biography, Allmusic (อังกฤษ) เรียกข้อมูลวันที่ 27-4-2550
  • Dafydd Rees and Luke Crampton ,Q Rock Stars Encyclopedia (1999),Dorling Kindersley,page 341-342 (อังกฤษ)

เชิงอรรถ แก้

  1. Enya FAQ, Everything you wanted to know about Enya เก็บถาวร 2007-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ) เรียกข้อมูลวันที่ 27-4-2550
  2. Enya - Orinoco Flow (Sail Away) The Official UK Charts Company (อังกฤษ) เรียกข้อมูลวันที่ 27-4-2550
  3. Trivia for Titanic (1997) (อังกฤษ) เรียกข้อมูลวันที่ 27-4-2550
  4. Enya:A Day Without Rain เก็บถาวร 2007-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน metacritic.com (อังกฤษ)
  5. Enya:Amarantine เก็บถาวร 2007-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน metacritic.com (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้