เดอะฮอบบิท (ชื่อภาษาอังกฤษ "The Hobbit" หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "There and Back Again") เป็นนิยายแฟนตาซีสำหรับเด็ก ประพันธ์โดยเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ในลักษณะกึ่งเทพนิยาย โทลคีนเขียนเรื่องนี้ในราวช่วงปลายทศวรรษที่ 1920 โดยเริ่มแรกเขาเพียงใช้เล่าเป็นนิทานสนุกๆ ให้ลูกฟัง กับใช้เล่นคำในภาษาต่างๆ ที่เขาสนใจ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเก่า นิยายเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1937

เดอะฮอบบิท
ภาพปก เดอะฮอบบิท
ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1937
ผู้ประพันธ์เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
ชื่อเรื่องต้นฉบับThe Hobbit
ผู้แปลสุดจิต ภิญโญยิ่ง
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ชุดปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ
ประเภทนวนิยายแฟนตาซี
สำนักพิมพ์สหราชอาณาจักร สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน
ไทย สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน
วันที่พิมพ์สหราชอาณาจักร 21 กันยายน พ.ศ. 2480
ไทย พ.ศ. 2545
เรื่องถัดไปเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ 

เหตุการณ์ในเรื่อง เดอะฮอบบิท อยู่ในยุคก่อนเกิดเหตุการณ์ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ เนื้อหาเกี่ยวกับการผจญภัยของฮอบบิทที่ชื่อบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ไปยังดินแดนตะวันออกในมิดเดิลเอิร์ธกับเพื่อน ๆ คนแคระ และพ่อมดชื่อแกนดัล์ฟ ระหว่างทางเขาได้พบเรื่องแปลกประหลาดมากมาย จนในท้ายที่สุดได้ต่อสู้กับมังกรสม็อก และได้รับทรัพย์สมบัติจำนวนมากกลับมา

เดอะฮอบบิท ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนสำนักพิมพ์ต้องพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก และส่งจดหมายมาขอให้โทลคีนรีบส่งนิยายเกี่ยวกับ "ฮอบบิท" ไปให้พิจารณาอีกโดยด่วน อันเป็นต้นกำเนิดของงานเขียนชิ้นต่อมาของโทลคีนที่ประสบความสำเร็จยิ่งกว่า คือเรื่อง "เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" ปัจจุบัน เดอะฮอบบิท ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ แล้วมากกว่า 40 ภาษา และติดอันดับหนังสือขายดี โดยมียอดจำหน่ายทั่วโลกรวมแล้วกว่า 90 ล้านเล่ม[1]

โครงเรื่อง

แก้

พ่อมดแกนดัล์ฟ แกล้งหลอกบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ฮอบบิทคนหนึ่งให้จัดงานเลี้ยงต้อนรับธอริน กับผองเพื่อนคนแคระของเขา ที่กำลังตระเตรียมการเดินทางไปยังภูเขาโลนลี่เพื่อชิงอาณาจักรและทรัพย์สมบัติของเหล่าคนแคระคืนจากมังกรสม็อก ระหว่างงานเลี้ยง แกนดัล์ฟจึงเผยแผนที่เส้นทางลับในเทือกเขา และเกลี้ยกล่อมให้บิลโบเข้าร่วมการเดินทางไปด้วยในฐานะ "หัวขโมยผู้เก่งกาจ" พวกคนแคระเห็นพ้องด้วย ส่วนบิลโบตกกระไดพลอยโจนเข้าร่วมการเดินทางไปแบบงุนงง

ทั้งคณะเดินทางเข้าไปในป่า ได้พบกับพวกโทรลล์ ซึ่งแกนดัล์ฟมาช่วยไว้ได้ทัน แล้วจึงเดินทางเข้าไปในเทือกเขามิสตี้ พวกกอบลินจับตัวพวกเขาไว้ได้ แกนดัล์ฟตามมาช่วยอีกแต่ทั้งคณะก็แตกกระจายหากันไม่พบ บิลโบหลงจากกลุ่ม เขาเก็บแหวนวงหนึ่งได้ระหว่างทาง และได้พบกับกอลลัม สัตว์ประหลาดรูปร่างน่าเกลียดที่อาศัยอยู่ใต้เทือกเขา ซึ่งท้าให้เขาเล่นเกมทายปัญหามิฉะนั้นจะฆ่าเสีย บิลโบใช้แหวนวิเศษหลบหนีออกมาได้จนมาพบพวกคนแคระอีกครั้ง แล้วทั้งหมดจึงเดินทางต่อเข้าไปในป่าทึบแห่งเมิร์ควู้ดตามลำพังโดยไม่มีแกนดัล์ฟ บิลโบได้ช่วยเหลือพวกคนแคระจากแมงมุมยักษ์ และช่วยพวกเขาหลบหนีจากคุกของพวกเอลฟ์ป่าได้อีก ทำให้กลายเป็นที่นิยมนับถือมาก

เมื่อเดินทางไปใกล้ภูเขาโลนลี่ ทั้งหมดเข้าไปถึงอาณาจักรมนุษย์ใกล้เลคทาวน์ ซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากพวกคนแคระให้ปราบมังกรสม็อก เมื่อพวกเขาไปถึงได้พบประตูลับเข้าไปในภูเขา บิลโบลอบเข้าไปในรังมังกรและขโมยอาร์เคนสโตนออกมาแล้วแอบเก็บเอาไว้เอง พร้อมกับสืบรู้จุดอ่อนของมังกร ฝ่ายมังกรเมื่อรู้ตัวก็ไปเผาเมืองเลคทาวน์เพราะคิดว่าชาวเมืองให้ความช่วยเหลือผู้บุกรุก บิลโบให้ข้อมูลแก่บาร์ด นักธนู ทำให้เขาสังหารมังกรลงได้

คนแคระรีบไปยึดเมืองในเทือกเขาและหาอาร์เคนสโตน ฝ่ายเอลฟ์และมนุษย์ชาวเลคทาวน์เรียกร้องขอค่าชดเชยความเสียหายและส่วนแบ่งในความช่วยเหลือของพวกตนโดยยกทัพมาล้อม คนแคระปฏิเสธ และระดมพลพรรคของตนมาจากดินแดนทางเหนือ บิลโบวางแผนยุติสงครามแย่งชิงสมบัติ จึงนำเพชรอาร์เคนสโตนไปมอบให้มนุษย์และเอลฟ์ไว้ต่อรองกับคนแคระ ทำให้กษัตริย์เอลฟ์และบาร์ดชื่นชมเขามาก คนแคระธอรินรู้ก็โกรธบิลโบ แต่ก็บอกว่าจะยอมให้สมบัติแลกกับเพชร

แต่แล้วแกนดัล์ฟปรากฏตัวอีกครั้งพร้อมแจ้งข่าวว่า พวกกอบลินและวอร์กกำลังยกทัพมา ทำให้คนแคระ มนุษย์ และเอลฟ์จำต้อง รวมพลังกันเพื่อต่อสู้ จนเมื่อกองกำลังของอินทรี และกองกำลังของบียอร์นยกมาช่วยจึงสามารถเอาชนะได้ สงครามครั้งนี้เรียกว่า สงครามห้าทัพ ธอรินได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการรบ แต่เขาได้ปรับความเข้าใจกับบิลโบก่อนจะเสียชีวิต เพชรอาร์เคนสโตนถูกฝังพร้อมศพธอริน ทรัพย์สมบัติในขุนเขาได้จัดแบ่งอย่างยุติธรรม แต่บิลโบไม่ต้องการทรัพย์สมบัติมากมายเหล่านั้น จึงเดินทางกลับพร้อมของที่ระลึกเพียงเล็กน้อย แต่นั่นก็มากพอจะทำให้บิลโบกลายเป็นฮอบบิทผู้ร่ำรวยในไชร์

เบื้องหลังการประพันธ์และการตีพิมพ์

แก้

ประวัติ

แก้

คำว่า "ฮอบบิท" เป็นชื่อที่โทลคีนคิดขึ้นมาเฉยๆ เมื่อคราวหนึ่ง ระหว่างที่เขาสอนอยู่ที่วิทยาลัยเพมโบรค (ช่วงทศวรรษ 1920) ขณะกำลังตรวจข้อสอบของนักศึกษาอันเป็นงานที่แสนจะน่าเบื่อหน่าย โทลคีนก็เขียนข้อความลงบนกระดาษคำตอบอันว่างเปล่าของนักศึกษาคนหนึ่งว่า "In a hole in the ground there lived a hobbit." แต่ก็ไม่ได้นึกอะไรมากไปกว่านั้น หลายปีต่อมาเขาจึงค่อยเขียนแผนที่ของธรอร์ วางเค้าโครงแผนที่ภูมิศาสตร์ของโลกแห่งนั้น และเริ่มแต่งเรื่องต่อในช่วงต้นทศวรรษ 1930 นิยายได้รับการตีพิมพ์ด้วยความบังเอิญเมื่อศิษย์และสหายผู้หนึ่งของโทลคีน คือ เอไลน์ กริฟฟิธ (Elaine Griffiths) ได้อ่านต้นฉบับในปี ค.ศ. 1936 เธอแนะนำให้ ซูซาน ดักแนล (Susan Dagnall) เพื่อนผู้หนึ่งที่ทำงานในสำนักพิมพ์ จอร์จ อัลเลนแอนด์ อันวิน ไปขอต้นฉบับจากโทลคีน ซูซานทำตามคำแนะนำนั้น และพบว่าตนประทับใจมาก ซูซานนำต้นฉบับไปให้ สแตนลี่ย์ อันวิน หุ้นส่วนสำนักพิมพ์พิจารณา อันวินให้ลูกชายของเขา เรย์เนอร์ อันวิน อายุ 10 ปี เป็นผู้อ่านทดสอบ แลกกับเงินค่าจ้าง 1 ชิลลิง ผลจากรายงานสั้นๆ ของเรย์เนอร์ทำให้หนังสือได้ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา[2]

 
ปกคลุมชั้นนอกของ เดอะฮอบบิท ฉบับปกแข็ง ของสำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน ปี ค.ศ. 1937 นำมาจากภาพวาดประกอบภาพหนึ่งของโทลคีน

การตีพิมพ์

แก้

สำนักพิมพ์ จอร์จ อัลเลนแอนด์อันวิน ตีพิมพ์ เดอะฮอบบิท ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1937 พร้อมภาพวาดประกอบแบบขาวดำหลายภาพที่โทลคีนเป็นผู้วาดเอง การพิมพ์ครั้งแรกมีจำนวน 1500 เล่ม และขายหมดในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นพร้อมกับคำวิจารณ์ที่ตื่นเต้นและกระตือรือร้น[3] อัลเลนแอนด์อันวินตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่สองพร้อมภาพประกอบสีเพิ่มเติมในปลายปี 1937 ขณะเดียวกันสำนักพิมพ์ฮูตันมิฟฟลิน แห่งบอสตัน และ นิวยอร์ก ติดต่อขอตีพิมพ์ฉบับอเมริกันในช่วงต้นปี 1938 โดยมีภาพประกอบเป็นภาพสีสี่ภาพ หลังจากนั้นก็มีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งเมื่อโทลคีนเริ่มต้นเขียนนิยายเรื่องต่อของ เดอะฮอบบิท และพบว่าจำเป็นต้องแก้ไขรายละเอียดบางอย่างใน เดอะฮอบบิท เพื่อให้สอดคล้องกับนิยายเรื่องใหม่ของเขา โดยเฉพาะเรื่องของกอลลัม

ในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก กอลลัมเป็นผู้เสนอให้ใช้แหวนของตนเป็นเดิมพันในการเล่นเกมทายปัญหากับบิลโบ แต่เมื่อ "แหวน" วงนั้นกลายเป็น "แหวนเอก" แหวนจึงจำเป็นต้องมีอิทธิพลต่อกอลลัมมากกว่านั้น ในเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ จึงเล่าว่า การเล่นเกมทายปัญหาใน เดอะฮอบบิท เวอร์ชันแรกเป็นแค่เรื่องโกหกของบิลโบ[4] ส่วนเรื่องจริงคือเรื่องที่อยู่ใน เดอะฮอบบิท ฉบับปรับปรุงแก้ไข หรือฉบับเอดิชันที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1951 ทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในปี ค.ศ. 1965 สำนักพิมพ์เอซบุ๊คส์ ได้ตีพิมพ์ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ฉบับปกอ่อน โดยไม่ได้ขออนุญาต ทำให้สำนักพิมพ์ฮูตันมิฟฟลินและบัลเลนไทน์ เร่งให้โทลคีนมอบลิขสิทธิ์การตีพิมพ์ให้แก่พวกเขาเพื่อจะได้ควบคุมการพิมพ์จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้[5] เดอะฮอบบิท จึงได้พิมพ์เป็นเอดิชันที่สามในปี ค.ศ. 1966 ซึ่งโทลคีนถือโอกาสปรับแก้คำบรรยายบางตอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และแนวคิดในเรื่อง ซิลมาริลลิออน งานเขียนสุดรักของเขาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์[6] เช่น คำเรียก เอลฟ์ ที่ยังปรากฏเป็น โนม (Gnome) ซึ่งโทลคีนใช้เรียกชาวโนลดอร์ ในงานเขียนชุดแรกๆ ของเขา เป็นต้น

เดอะฮอบบิท ปรับแก้เป็นเอดิชันที่สี่เมื่อปี ค.ศ. 1978 และเอดิชันที่ห้าเมื่อปี ค.ศ. 1995 อย่างไรก็ดี เดอะฮอบบิท ฉบับพิมพ์ในปัจจุบัน ก็ยังมีความแตกต่างกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ อยู่อีกหลายส่วน เช่น การเรียก กอบลิน ในเดอะฮอบบิท ซึ่งหมายถึง ออร์ค ใน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเดิมทีโทลคีนแต่งเรื่อง เดอะฮอบบิท ด้วยตั้งใจให้เป็นนิทานเด็ก จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับปกรณัมของเขาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[2] และได้มีการปรับแก้เนื้อหาเดอะฮอบบิทให้สอดคล้องกับปกรณัมของเขามากขึ้นก็เมื่อเขาเริ่มเขียนภาคต่อของเดอะฮอบบิทนั่นเอง นอกจากนั้น ปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของเขาเองก็มีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเขา

แนวคิดในการประพันธ์

แก้

โทลคีนแต่งเรื่อง เดอะฮอบบิท ขึ้นโดยมีโครงเรื่องแบบการเดินทางผจญภัยเพื่อบรรลุจุดหมาย (Quest) โดยอาจใช้รูปแบบของ "The Icelandic Journals" ของวิลเลียม มอร์ริส นักประพันธ์ในดวงใจของโทลคีนเป็นต้นแบบก็ได้[7] ในเนื้อเรื่องจะมีบทเพลงง่ายๆ ประกอบ วิธีการเล่าเรื่องเป็นแบบนิทานเด็ก ซึ่งผู้เล่าเรื่องจะพูดกับผู้อ่านเป็นระยะๆ ตัวละครในเรื่องก็จะอยู่ในรูปแบบที่เด็กๆ สามารถรับทราบและทำความเข้าใจได้ง่าย รวมถึงลำดับการนำเสนอและการบรรยายถึงสถานที่ในเนื้อเรื่อง ซึ่งสามารถสื่อถึงความรู้สึก "ปลอดภัย" และ "อันตราย" ได้อย่างชัดเจน[8]

เมื่อแรกเริ่ม เดอะฮอบบิท มีความเกี่ยวข้องกับโครงร่างปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีนแต่เพียงหลวมๆ โดยโทลคีนตั้งใจให้การผจญภัยของบิลโบ คือการหลุดเข้าไปในดินแดนจินตนาการมิดเดิลเอิร์ธ โดยมีจุดเชื่อมต่อแรกที่ริเวนเดลล์ ฉากหลังในเรื่องนับแต่เทือกเขามิสตี้ ป่าเมิร์ควู้ด หรือเทือกเขาโลนลี่ จึงเป็นฉากหลังอันเดียวกันกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่พบประวัติความเป็นมาของ ฮอบบิท ในโครงร่างปกรณัมชุดใหญ่ของโทลคีนมาก่อน จนเมื่อโทลคีนเริ่มเขียนนิยายเรื่องต่อจากเดอะฮอบบิท คือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ความเกี่ยวพันระหว่างตัวละคร สิ่งของ และสถานที่ จึงค่อยๆ ถูกถักทอขึ้นจนเป็นโครงร่างอันแน่นแฟ้น เมื่อทิศทางของเรื่องเปลี่ยนไป โทลคีนจึงเกิดความต้องการจะเปลี่ยนแนวทางของเรื่องเดอะฮอบบิท ในฉบับปรับปรุงแก้ไข เขาตัดทอนคำพูดของผู้เล่าเรื่องออกไปหลายส่วน เพื่อให้รูปแบบของเรื่องมีความหนักแน่นมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง[2]

สำหรับแรงบันดาลใจของโทลคีน นอกจากงานของวิลเลียม มอร์ริส แล้ว เขาได้นำชื่อตัวละครมาจากตำนานยุโรปเก่า ประกอบกับความรู้ด้านภาษาศาสตร์ของเขาเอง ตัวอย่างเช่น ชื่อของพ่อมดแกนดัล์ฟและเหล่าคนแคระ นำมาจากบทกวีนอร์สโบราณเรื่อง "โวลุสปา" (Völuspá) จาก Elder Edda (รวมบทกวีนอร์สโบราณ) [9] ส่วนภาพวาดและอักขระต่างๆ มีต้นกำเนิดจากตัวอักขระของแองโกล-แซกซอน เป็นต้น

การแปลเป็นภาษาอื่น

แก้

เดอะฮอบบิท ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 40 ภาษา บางภาษามีการแปลหลายสำนวนและแปลจากต้นฉบับต่างเอดิชัน[6] (จากการแก้ไขเรื่องของโทลคีนเอง) สำหรับฉบับภาษาไทยแปลโดยสุดจิต ภิญโญยิ่ง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 2519-20 (หนังสือไม่ระบุปีที่พิมพ์) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ธนิต ธรรมสุคติ เป็นผู้จัดพิมพ์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โพสต์พับบลิชชิ่ง จำกัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน นำมาตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่งและมีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

กระแสตอบรับ

แก้

เมื่อ ซี. เอส. ลิวอิส ได้อ่านต้นฉบับเรื่องนี้ เขาได้เขียนบทวิจารณ์ชมเชยอย่างมากมายลงใน Times และ Times Literary Supplement[1] ทำให้เกิดกระแสตอบรับหนังสือในทางที่คึกคักอย่างยิ่ง จนหนังสือขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียงไม่ถึง 3 เดือน และได้พิมพ์ฉบับประกอบภาพสีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาทันที หนังสือพิมพ์นิวยอร์กเฮอรัลด์ทริบูน (New York Herald Tribune) แห่งสหรัฐอเมริกา มอบรางวัลหนังสือเยาวชนยอดเยี่ยมประจำฤดูใบไม้ผลิ (Children's Spring Book Festival Award) ให้แก่โทลคีนเมื่อต้นปี ค.ศ. 1938[10]

หนังสือ เดอะฮอบบิท ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกๆ กลายเป็นของมีค่าในวงการนักสะสม ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในประเทศอังกฤษมีราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐไม่ว่าหนังสือจะอยู่ในสภาพใด[11] หนังสือในสภาพดีและมีลายเซ็นของผู้ประพันธ์เคยประกาศโฆษณาในราคาสูงกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐทีเดียว[3] สถิติสูงสุดในการประมูลหนังสือ เดอะฮอบบิท ฉบับพิมพ์ครั้งแรกอยู่ที่ราคา 60,000 ปอนด์ (ประมาณ 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ) [12] นอกจากนี้ฉบับพิมพ์ครั้งอื่นๆ รวมถึงฉบับพิเศษวาระครบรอบปีต่างๆ ก็ยังเป็นที่นิยมเสาะหาในบรรดานักสะสมอยู่ตลอดมา[13]

สำหรับคำวิจารณ์จากสื่อต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ดี บทวิจารณ์จาก นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า "โทลคีนมีพรสวรรค์อย่างน่าอัศจรรย์ในการตั้งชื่อและการเล่าเรื่อง เมื่อเราอ่านหนังสือจบ ก็จะรู้เรื่องราวทั้งหมดของฮอบบิท เอลฟ์ คนแคระ ตลอดจนถิ่นที่อยู่ของพวกเขาเป็นอย่างดีเหมือนกับที่เรารู้เรื่องราวในวัยเด็กของเราเอง"[14] บทวิจารณ์จาก ซันเดย์ไทมส์ บอกว่า "ผู้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษในโลกแบ่งออกได้เป็นสองพวก คือ พวกที่อ่าน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ เดอะฮอบบิท แล้ว กับพวกที่กำลังจะอ่าน"[15] ขณะที่นิตยสารไทมส์ ลอนดอน บอกว่าหนังสือเล่มนี้ "ยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ"[16]

การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น

แก้

ละครเวที

แก้

เดือนมีนาคม ค.ศ. 1953 มีการนำเรื่อง เดอะฮอบบิท ไปแสดงเป็นละครเวทีที่โรงเรียนเซนต์มาร์กาเร็ต เมืองเอดินเบิร์ก นับเป็นการดัดแปลงหนังสือเรื่องนี้เป็นครั้งแรก[6]

ปี ค.ศ. 2001 มาร์โจ คูเซลา อำนวยการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Hobitti (เดอะฮอบบิท ในภาษาฟินนิช) โดยมีออลีส์ ซัลลิเนน เป็นผู้อำนวยเพลง จัดการแสดงที่โรงละครฟินนิชเนชันแนลโอเปรา[17]

ปี ค.ศ. 2004 เดอะฮอบบิท ดัดแปลงเป็นบทละครโอเปราและเปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ที่ประเทศแคนาดา หลังจากนั้นได้ตระเวนไปเปิดการแสดงในที่ต่างๆ ทั่วโลก และกำลังจะเปิดการแสดงที่ประเทศอเมริกาในฤดูใบไม้ผลิปี 2008 ที่โรงละครซาราโซตาโอเปรา ในเมืองซาราโซตา รัฐฟลอริดา คณะละครชุดนี้ได้รับรางวัล Wings Awards ซึ่งเป็นการประกวดการแสดงของละครเพลง ในปี 2004 รวม 3 รางวัลคือ นักแสดงยุวชนยอดเยี่ยม (ผู้แสดงเป็นกอลลัม), แต่งหน้ายอดเยี่ยม และเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม[18]

ละครวิทยุ

แก้

สถานีวิทยุบีบีซี โดย ไมเคิล คิลการ์ริฟ ดัดแปลง เดอะฮอบบิท เป็นบทละครวิทยุความยาว 8 ตอน (ตอนละครึ่งชั่วโมง) ออกอากาศตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1968 มีแอนโทนี แจ็กสัน เป็นผู้ให้เสียงบรรยาย พอล เดนแมน พากย์เป็น บิลโบ แบ๊กกิ้นส์ และ เฮรอน คาร์วิค เป็น แกนดัล์ฟ

หนังสือเสียง

แก้

นิโคล วิลเลียมสัน ตัดทอนเรื่องให้สั้นลงและบันทึกเสียงอ่านจำหน่ายเป็นแผ่น LP 4 แผ่น ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1974 โดย อาร์โกเร็คคอร์ด

The Mind's Eye บริษัทวิทยุสัญชาติอเมริกัน จัดทำ เดอะฮอบบิท เป็นหนังสือบันทึกเสียง ออกวางจำหน่ายเป็นเทปคาสเซ็ตต์ 6 ม้วน ม้วนละ 1 ชั่วโมง ในปี ค.ศ. 1979

โรเบิร์ต อิงกลิส นักแสดงชาวอังกฤษจัดการแสดงเดี่ยวเรื่อง เดอะฮอบบิท การแสดงคราวนั้นทำให้สำนักพิมพ์เรคคอร์ดเดดบุ๊คส์ ทาบทามให้เขาไปให้เสียงอ่านหนังสือเสียงเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในปี ค.ศ. 1990 หลังจากนั้นอีก 1 ปีเขาได้ให้เสียงอ่านหนังสือเสียง เดอะฮอบบิท อีกกับสำนักพิมพ์เดิม[19][20]

 
เดอะฮอบบิท ฉบับภาพยนตร์การ์ตูน

รายการโทรทัศน์

แก้

เดอะฮอบบิท ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์การ์ตูนโดย แรนคิน/บาส (Rankin/Bass) ออกฉายเป็นรายการโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1977 มีความยาวตลอดเรื่อง 78 นาที ปีเดียวกันนั้น บัวนาวิสต้าเร็คคอร์ด บริษัทในเครือของดิสนีย์ ยังได้นำเพลงประกอบภาพยนตร์มาจัดทำเป็นแผ่น LP ออกจำหน่ายด้วย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จค่อนข้างดี โดยได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลฮิวโก สาขา Best Dramatic Presentation ในปี ค.ศ. 1978[21] พร้อมกับเรื่อง สตาร์ วอร์ส แต่ไม่ได้รับรางวัล ต่อมาจึงชนะเลิศรางวัล Peabody Award ในปีเดียวกัน[22]

รายการเด็กในสถานีโทรทัศน์บีบีซี ชื่อ Jackanory ดัดแปลงเรื่อง เดอะฮอบบิท เป็นรายการโทรทัศน์เมื่อปี ค.ศ. 1979[23]

หนังสือภาพ

แก้

สำนักพิมพ์อิคลิพซ์คอมิกส์ ตีพิมพ์หนังสือภาพเรื่อง เดอะฮอบบิท เป็นหนังสือ 3 เล่มจบ ในปี ค.ศ. 1989 โดยมีชัค ดิกสัน และฌอน เดมมิง เป็นผู้เรียบเรียงและบรรยายเรื่องใหม่ วาดภาพประกอบโดยเดวิด เวนเซล ต่อมามีการพิมพ์ซ้ำโดยรวมเป็นเล่มเดียวโดยสำนักพิมพ์เดลเรย์บุ๊คส์ เมื่อปี ค.ศ. 2001

ภาพยนตร์

แก้

ภาพยนตร์ไตรภาค อำนวยการสร้างและกำกับโดย ปีเตอร์ แจ็กสัน ผลิตโดย เมโทร-โกลเวน-เมเยอร์ และนิวไลน์ ซีนีม่า[24][25] ได้แก่

อิทธิพลต่องานแขนงอื่น

แก้

ภาพวาด

แก้

ภาพวาดจากเรื่อง เดอะฮอบบิท ยุคแรกสุดเป็นผลงานของโทลคีนเอง เขาวาดไว้ทั้งภาพขาวดำและภาพสี ซึ่งสำนักพิมพ์ได้เลือกไปตีพิมพ์บางส่วน หลังจากนั้นมีนักวาดภาพคนอื่นๆ ที่วาดภาพปกและภาพประกอบให้ เดอะฮอบบิท เช่น สองพี่น้องฮิลเดบรันด์ (Tim และ Greg Hildebrandt) ซึ่งเป็นนักวาดภาพประกอบนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซี อลัน ลี ซึ่งวาดภาพประกอบให้ทั้ง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมถึง จอห์น ฮาว และ เท็ด แนสมิธ นอกจากนี้ยังมีศิลปินคนอื่นๆ อีก ได้แก่ Tove Jansson (ผู้วาดภาพประกอบ เดอะฮอบบิท ฉบับแปลภาษาฟินนิช), Peter Pracownik, RL Stine, Stephen Hickman, Roger Garland, Iain McCaig, David Wyatt และ Frank Frazetta เป็นต้น[26]

ดนตรี

แก้

เกลนน์ ยาร์โบรห์ นักดนตรีโฟล์คชาวอเมริกัน ออกอัลบัมชุด "inspired by the Hobbit" และได้ร่วมงานกับ แรนคิน/บาส ในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์การ์ตูน เดอะฮอบบิท ในปี ค.ศ. 1977[27] เขายังได้ร่วมงานกับแรนคิน/บาส ในการทำเพลงประกอบภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง The Return of the King ในปี ค.ศ. 1980 ด้วย

ปี ค.ศ. 1999 วงดนตรีร็อก ชื่อ "Hobbit" ออกอัลบัมเพลงเกี่ยวกับ เดอะฮอบบิท ชุด Two Feet Tall และในปี 2001 ออกชุด Rockin' The Shire รวมถึง All For The One ในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งสร้างจาก เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์[28]

เกม

แก้

ระหว่างปี 1976-1977 ทีเอสอาร์ อิงค์ วางจำหน่ายเกมสงครามในลักษณะเกมไพ่พร้อมแผนที่ ซึ่งสร้างขึ้นเลียนแบบ สงครามห้าทัพ หลังจากนั้น เดอะฮอบบิท ได้กลายเป็นเกมกระดานอีกหลายเกม เช่น "The Lonely Mountain" (ค.ศ. 1984), "The Battle of Five Armies" (ค.ศ. 1984), and "The Hobbit Adventure Boardgame" (ค.ศ. 1997) ผลิตโดย Iron Crown Enterprises และปี ค.ศ. 2005 บริษัทเกมชื่อเกมส์เวิร์คชอป วางจำหน่ายเกมสงครามประกอบทีวี ชื่อ "Battle of Five Armies"

แต่เกมจากหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับรางวัล คือเกม "The Hobbit" ของบีมซอฟต์แวร์ ในปี ค.ศ. 1982 ซึ่งได้รับรางวัล Golden Joystick Award for Strategy Game of the Year 1983[29] ผู้จัดจำหน่ายคือ Melbourne House ได้แถมหนังสือไปกับการจำหน่ายเกมด้วย

ปี ค.ศ. 2003 เซียร์ราเอ็นเตอร์เทนเมนท์ วางจำหน่ายเกมพีซีชื่อ The Hobbit สำหรับเล่นบนเครื่องวินโดวส์, เพลย์สเตชัน 2, Xbox และ นินเทนโด เป็นเกมที่คล้ายคลึงกับเวอร์ชันก่อนหน้านี้ซึ่งออกจำหน่ายเป็นเกมบอย[30]

การท่องเที่ยว

แก้

ชื่อ ฮอบบิท ถูกนำไปใช้เป็นชื่อโรงแรมที่พักในประเทศต่างๆ มากมายหลายแห่ง เนื่องจากสื่อถึงการพักผ่อนสะดวกสบายเหมือนอย่างชีวิตของชาวฮอบบิท ตัวอย่างเช่น The Hobbit Hotel Halifax [31] ใน Yorkshire ประเทศอังกฤษ The Hobbit Boutique Hotel [32] ที่ Bloemfontein ประเทศแอฟริกาใต้ (บ้านเกิดของโทลคีน) และ Hobbit Hotel [33] ในประเทศเบลเยี่ยม

ดูเพิ่ม

แก้

งานประพันธ์อื่นของโทลคีนที่อยู่ในชุดปกรณัมเดียวกันนี้ ได้แก่

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 The Hobbit celebrates its 69th anniversary จาก TolkienLibrary.com
  2. 2.0 2.1 2.2 ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์, J.R.R.Tolkien, A Biography, สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์ ISBN 0-00-713284-0
  3. 3.0 3.1 Books by J.R.R.Tolkien - The Hobbit จาก Tolkienlibrary.com
  4. เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1 เมษายน 1987), The Fellowship of the Ring, vol. 1, The Lord of the Rings, Boston: Houghton Mifflin, Prologue, ISBN 0-395-08254-4
  5. Rateliff, John D The History of the Hobbit. Part 2: Return to Bag-End
  6. 6.0 6.1 6.2 Anderson, Douglas A., ed.The Annotated Hobbit. Revised Edition. สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์, ลอนดอน, 2003. ISBN 0-00-713726-3.
  7. Amison, Anne An unexpected Guest. influence of William Morris on J. R. R. Tolkien's works
  8. Jaume Alberdo Poveda Narrative Models in Tolkien's Stories of Middle Earth,Journal of English Studies, vol. 4, 2003-2004
  9. Tolkien's Middle-earth: Lesson Plans, Unit Two เก็บถาวร 2013-10-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Houghton Mifflin
  10. New York Herald Tribune's Children's Spring Book Festival Award 1938
  11. Hobbit fetches £6,000 at auction จาก bbc.co.uk
  12. Tolkien's Hobbit fetches £60,000 จาก bbc.co.uk, 18 มีนาคม 2008
  13. The Hobbit Turns 70 เก็บถาวร 2008-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก Abebooks.com
  14. W. H. AUDEN, The Hero Is a Hobbit เก็บถาวร 2012-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New York Times, 31 ตุลาคม 1954
  15. "บทวิจารณ์ใน Barnes and Noble". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.
  16. "รวมบทวิจารณ์หนังสือ จาก Barnes and Noble". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-18. สืบค้นเมื่อ 2008-01-22.
  17. The Hobbit ('Hobitti'), Op.78, Aulis Sallinen. จาก ChesterNovello.com
  18. "2004 Wings Award Winners & Photos". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-23.
  19. บทสัมภาษณ์โรเบิร์ต อิงกลิส เก็บถาวร 2014-01-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก audiofilemagazine.com
  20. การแสดงเดี่ยวของโรเบิร์ต อิงกลิส เก็บถาวร 2008-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรื่องเดอะฮอบบิท และเรื่องอื่นๆ ที่โรงเรียนประถม Elanora Heights
  21. The Hugo Awards: 1978 Hugo Awards
  22. Awards for The Hobbit (1977)
  23. "The Hobbit" Jackanory Internet Movie Database: Jackanory, "The Hobbit" (1979)
  24. Coyle, Jake (18 December 2007). "Peter Jackson to produce The Hobbit". USA Today. สืบค้นเมื่อ 5 October 2009.
  25. "'The Hobbit' Gets Its Greenlight, With Jackson Directing". TheWrap.com. 16 October 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-24. สืบค้นเมื่อ 16 October 2010.
  26. "OTHER TOLKIEN ARTISTS". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-15. สืบค้นเมื่อ 2008-01-26.
  27. บทสัมภาษณ์ Glenn Yarbrough Looking back at the animated "Hobbit" and "R.O.T.K."
  28. รวมอัลบัมของวง Hobbit
  29. Crashonline news Playing the Game
  30. "Sierra Entertainment, Inc. Announces Development of J.R.R. Tolkien's The Hobbit Videogame". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-14. สืบค้นเมื่อ 2008-01-26.
  31. The Hobbit Hotel Halifax
  32. The Hobbit Boutique Hotel
  33. Hobbit Hotel

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้