เกียวโต
เกียวโต (ญี่ปุ่น: 京都; โรมาจิ: Kyōto; ทับศัพท์: เคียวโตะ; [kʲoꜜːto] ( ฟังเสียง)) หรือทางการเรียกว่า นครเกียวโต (ญี่ปุ่น: 京都市; โรมาจิ: Kyōto-shi; ทับศัพท์: เคียวโตะ-ชิ; [kʲoːtoꜜɕi] ( ฟังเสียง)) เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเกียวโต ตั้งอยู่ในภูมิภาคคันไซซึ่งอยู่บนเกาะฮนชู เกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ณ ค.ศ. 2020 นครเกียวโตมีจำนวนประชากร 1.46 ล้านคน จัดว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 56.8) ของจังหวัดเกียวโตอาศัยอยู่ในนครเกียวโต นครเกียวโตเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของเขตมหานครเกียวโต ซึ่งเป็นเขตมหานครที่มีประชากรประมาณ 3.8 ล้านคนจากการสำรวจสำมะโนประชากร นอกจากนี้ นครเกียวโตยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตมหานครเคฮันชิงร่วมกับนครโอซากะและนครโคเบะ
เกียวโต 京都市 เคียวโตะ | |
---|---|
| |
ที่ตั้งของนครเกียวโต (เน้นสีม่วง) ในจังหวัดเกียวโต | |
พิกัด: 35°0′42″N 135°46′6″E / 35.01167°N 135.76833°E | |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภูมิภาค | คันไซ |
จังหวัด | เกียวโต |
ก่อตั้ง | ค.ศ. 794 |
การปกครอง | |
• ประเภท | เทศบาลนคร นายกเทศมนตรี–สภา |
• องค์กร | เทศบาลนครเกียวโต สภานครเกียวโต |
• นายกเทศมนตรี | โคจิ มัตสึอิ (松井 孝治) |
พื้นที่ | |
• นครใหญ่ที่รัฐกำหนด | 827.83 ตร.กม. (319.63 ตร.ไมล์) |
ความสูงจุดสูงสุด | 971 เมตร (3,186 ฟุต) |
ความสูงจุดต่ำสุด | 9 เมตร (30 ฟุต) |
ประชากร (1 ตุลาคม ค.ศ. 2020)[1] | |
• นครใหญ่ที่รัฐกำหนด | 1,463,723 คน |
• อันดับ | ที่ 9 ในประเทศญี่ปุ่น |
• ความหนาแน่น | 1,800 คน/ตร.กม. (4,600 คน/ตร.ไมล์) |
• รวมปริมณฑล[1][2] | 3,783,014 คน |
สัญลักษณ์ | |
• ต้นไม้ | หลิว, เมเปิล และคัตสึระ |
• ดอกไม้ | คามิเลียญี่ปุ่น, กุหลาบพันปี และซาโตซากูระ |
เขตเวลา | UTC+9 (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) |
รหัสท้องถิ่น | 26100-9 |
ที่อยู่ศาลาว่าการ | 488 คามิฮนโนจิมาเอะโจ แยกถนนเทรามาจิ-ถนนโออิเกะ เขตนากาเงียว นครเกียวโต จังหวัดเกียวโต 604-8571 |
เว็บไซต์ | city.kyoto.lg.jp |
เกียวโต | |||||||
"เกียวโต" เมื่อเขียนด้วยคันจิ | |||||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
คันจิ | 京都 | ||||||
ฮิรางานะ | きょうと | ||||||
คาตากานะ | キョウト | ||||||
|
เกียวโตเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เดิมมีชื่อว่าเฮอังเกียว โดยจักรพรรดิคัมมุทรงเลือกเมืองนี้ให้เป็นที่ประทับแห่งใหม่ของราชสำนักญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 794 เฮอังเกียวถูกจัดวางตามหลักฮวงจุ้ยของจีนโบราณตามแบบจำลองของเมืองหลวงจีนโบราณอย่างฉางอานและลั่วหยาง จักรพรรดิญี่ปุ่นประทับอยู่ที่เกียวโตเป็นเวลา 11 ศตวรรษจนถึง ค.ศ. 1869 เกียวโตเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ที่เป็นกุญแจสำคัญของยุคมูโรมาจิ ยุคเซ็งโงกุ และสงครามโบชิงหลายครั้งด้วยกัน เช่น สงครามโอนิง เหตุการณ์ที่ฮนโนจิ เหตุการณ์ที่ประตูคิมมง และยุทธการโทบะ–ฟูชิมิ เมืองหลวงถูกย้ายจากเกียวโตไปยังโตเกียวหลังการปฏิรูปเมจิ เกียวโตเริ่มมีการปกครองในรูปแบบเทศบาลนครเมื่อ ค.ศ. 1889 เมืองนี้รอดพ้นจากการทำลายล้างครั้งใหญ่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และด้วยเหตุนี้ มรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ก่อนสงครามส่วนใหญ่จึงได้รับการอนุรักษ์ไว้
เกียวโตถือเป็นเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นและเป็นจุดหมายปลายทางหลักด้านการท่องเที่ยว สำนักงานใหญ่ของหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของรัฐบาลญี่ปุ่นตั้งอยู่ในเมืองนี้ เกียวโตเป็นที่ตั้งของวัดพุทธ ศาลเจ้าชินโต พระราชวัง และอุทยานจำนวนมาก ซึ่งบางแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก สถานที่สำคัญ ได้แก่ พระราชวังหลวงเกียวโต คิโยมิซูเดระ คิงกากูจิ กิงกากูจิ และเกียวโตทาวเวอร์ บริษัทวิดีโอเกมที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างนินเท็นโดก็มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเกียวโต นอกจากนี้ เกียวโตยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับสูงของประเทศอีกด้วย โดยมีสถาบันต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่น
ที่มาของชื่อ
แก้แต่เดิม เมืองนี้มีชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า เคียว (京) และ มิยาโกะ (都) หรือบางครั้งก็เรียกรวมว่า เคียวโนะมิยาโกะ (京の都) ต่อมาในศตวรรษที่ 11 เปลี่ยนชื่อเป็น เกียวโต (มีความหมายว่า เมืองหลวง) ตามคำของภาษาจีนของเมืองหลวงที่อ่านว่า จุงตู (京都)[3] แต่หลังจากที่เมืองเอโดะเปลี่ยนชื่อเป็นโตเกียว (มีความหมายว่า "เมืองหลวงตะวันออก") ในปี ค.ศ. 1868 เมืองเกียวโตก็เปลี่ยนชื่อเป็น ไซเกียว (西京 มีความหมายว่า "เมืองหลวงตะวันตก") เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็น เกียวโต ในเวลาต่อมา
ประวัติศาสตร์
แก้จุดเริ่มต้น
แก้หลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากเสนอแนะว่ามนุษย์เริ่มเข้าตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เกี่ยวโตเร็วสุดเมื่อสมัยยุคหิน[4] แต่ก็แทบจะไม่พบหลักฐานกิจกรรมของมนุษย์ใด ๆ เลยในบริเวณนี้ จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงที่เชื่อว่ามีการสร้างศาลเจ้าชิโมงาโมะ
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 เมื่อพระสงฆ์พุทธที่มีอิทธิพลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการในราชสำนักของสมเด็จพระจักรพรรดิ จักรพรรดิคัมมุตัดสินพระทัยที่จะย้ายนครหลวงไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากอิทธิพลของศาสนาที่นาระ พระองค์ทรงเลือกชัยภูมิแห่งใหม่ที่หมู่บ้านอูดะ ในอำเภอคาโดโนะ แคว้นยามาชิโระ[5]
นครหลวงแห่งใหม่นี้ได้รับนามว่า เฮอังเกียว (ญี่ปุ่น: 平安京; โรมาจิ: Heian-kyō; "นครหลวงแห่งสันติและสงบสุข") ซึ่งได้แนวคิดมาจากนครหลวงฉางอานแห่งราชวงศ์ถัง[6] และต่อมาใน ค.ศ. 794 ก็ได้กลายเป็นนครที่ตั้งของราชสำนัก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอังในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แม้ว่ารัฐบาลทหารจะตั้งเมืองอื่น ๆ เป็นศูนย์กลางทางอำนาจการปกครองที่อยู่ในจังหวัดเกียวโต (รัฐบาลโชกุนมูโรมาจิ หรือในนครอื่น ๆ อย่างคามากูระ (โดยรัฐบาลโชกุนคามากูระ) หรือ เอโดะ (โดยรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ) เอโดะยังคงเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นจนกระทั่งการย้ายราชสำนักไปยังกรุงโตเกียวใน ค.ศ. 1869 ณ ช่วงการฟื้นฟูจักรวรรดิ
สมัยกลาง
แก้ในสมัยเซ็งโงกุ เกียวโตได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโอนินในช่วง ค.ศ. 1467-1477 และไม่ได้รับการบูรณะจนล่วงเข้าสู่กลางคริสต์ศตวรรษ 16[7]
ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิได้บูรณะเมืองขึ้นมาอีกครั้งโดยการสร้างถนนสายใหม่กลางกรุงเกียวโตจนมีถนนเชื่อมเมืองฝั่งเหนือกับฝั่งใต้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และมีผังเมืองแบบบล็อกสี่เหลี่ยมแทนที่ผังเมืองแบบโบราณ ฮิเดโยชิยังได้สร้างกำแพงดินขึ้นมาเรียกว่า โอโดอิ (ญี่ปุ่น: 御土居; โรมาจิ: odoi) รอบเมือง ถนนเทรามาจิในกลางกรุงเกียวโตจึงเป็นศูนย์กลางของวัดพุทธเมื่อฮิเดโยชิเริ่มรวบรวมวัดให้เป็นปึกแผ่น
-
รากูจู รากูไง ซุ ภาพวาดเกียวโตกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่รวมเทศกาลกิองลอย (กลาง) และคิโยมิซูเดระ (บนขวา)
สมัยใหม่ตอนต้น
แก้ในสมัยยุคเอโดะ เกียวโตก็เป็นหนึ่งในสามเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับนครเอโดะและนครโอซากะ ในช่วงสิ้นสุดยุคสมัย เมื่อมีกบฏฮามางูริใน ค.ศ. 1864 บ้านเรือน 28,000 หลังได้รับความเสียหาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของฝ่ายกบฏต่อรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ[8]
-
ฉากในและรอบเกียวโต (ป. ค.ศ. 1615)
-
แผนที่เฮอังเกียว, ค.ศ. 1696
สมัยใหม่
แก้เมื่อเริ่มต้นยุคเมจิ จักรพรรดิได้ย้ายจากเกียวโตไปยังโตเกียวใน ค.ศ. 1869 ทำให้เศรษฐกิจของเกียวโตอ่อนแอลง จากนั้นก็ได้มีการจัดตั้งเทศบาลนครเกียวโตขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1889 มีการขุดการสร้างคลองส่งน้ำจากทะเลสาบบิวะใน ค.ศ. 1890 ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเมือง จนกระทั่งนครเกียวโตมีจำนวนประชากรเกินหนึ่งล้านคนใน ค.ศ. 1932[9]
-
เกียวโตใน ค.ศ. 1891
-
ทิวทัศน์เกียวโตจากข้างวัดคิโยมิซูเดระ คริสต์ทศวรรษ 1870[10]
-
สะพานนันเซ็นจิ บนสะพานเป็นคลองส่งน้ำจากทะเลสาบบิวะ
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย
แก้สหรัฐเคยมีแผนจะทิ้งระเบิดปรมาณูที่เกียวโตในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ความสำคัญของนครมีมากพอจนการสูญเสียนครนี้อาจทำให้ญี่ปุ่นยอมจำนน[11] แต่ในท้ายที่สุด เฮนรี แอล. สติมสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงครามในยุคของประธานาธิบดีรูสเวลต์และทรูแมน ได้ถอดชื่อเกียวโตออกจากรายชื่อเมืองเป้าหมาย และเปลี่ยนเป็นเมืองนางาซากิแทน ตัวนครส่วนใหญ่รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดแบบทั่วไปเช่นกัน แม้ว่าการโจมตีทางอากาศขนาดเล็กจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก็ตาม[12] ในช่วงการยึดครอง กองทัพที่ 6 ของสหรัฐและกองพลน้อยที่ 1 ประจำการที่เกียวโต[13]
ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้เกียวโตเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองในญี่ปุ่นที่ยังมีสิ่งก่อสร้างในยุคก่อนสงครามหลงเหลืออยู่มากมาย เช่น บ้านโบราณที่รู้จักกันในชื่อ มาจิยะ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองก็กำลังทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของเกียวโตค่อย ๆ ถูกสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ กลืนหายไป
เกียวโตมีสถานะเป็นนครใหญ่ที่รัฐกำหนดเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1956 ใน ค.ศ. 1994 อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ 17 แห่งในเกียวโตได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก และใน ค.ศ. 1997 เกียวโตก็เป็นสถานที่จัดการประชุมครั้งสำคัญว่าด้วยเรื่องการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก จนมีข้อบังคับออกมาเป็นพิธีสารเกียวโต (กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)
ภูมิศาสตร์
แก้เกียวโต ตั้งอยู่กลางหุบเขาในลุ่มน้ำยามาชิโระ (หรือลุ่มน้ำเกียวโต) ทางฝั่งตะวันออกของที่ราบสูงทัมบะ ลุ่มน้ำยามาชิโระนี้ล้อมรอบด้วยภูเขาสามด้านคือ ฮิงาชิยามะ คิตายามะ และนิชิยามะ มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1,000 เมตร การที่มีภูมิประเทศอยู่ในแผ่นดินลักษณะนี้ทำให้เกียวโตมีฤดูร้อนที่อากาศร้อน และฤดูหนาวที่อากาศหนาว มีแม่น้ำสามสายไหลผ่านที่ราบลุ่มแห่งนี้คือ แม่น้ำอูจิ ทางทิศใต้ แม่น้ำคัตสึระ ทางทิศตะวันตก และแม่น้ำคาโมะ ทางทิศตะวันออก เมืองเคียวโตมีพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของพื้นที่ทั้งจังหวัดเกียวโตด้วยอาณาเขต 827.9 ตารางกิโลเมตร
เกียวโตเป็นเมืองที่สร้างตามจากหลักฮวงจุ้ยของจีน โดยได้รับอิทธิพลจากเมืองฉางอาน เมืองหลวงของราชวงศ์ถังของจีนในสมัยนั้น โดยมีพระราชวังหันหน้าไปทางทิศใต้ มีอูเกียว (ฝั่งขวาของพระนคร) อยู่ทางตะวันตก และมีซาเกียว (ฝั่งซ้ายของพระนคร) อยู่ทางตะวันออก
ทุกวันนี้ พื้นที่ธุรกิจส่วนใหญ่ของเกียวโตตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระราชวังเก่า แต่ได้รับความนิยมน้อยกว่าฝั่งเหนือของเมือง ทำให้ยังคงความชะอุ่มของสีเขียวจากธรรมชาติอยู่ สิ่งก่อสร้างที่อยู่รอบ ๆ พระราชวังไม่ได้ตั้งตามหลักฮวงจุ้ยแบบโบราณแล้ว แต่ตัวถนนของเกียวโตยังคงความเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้อยู่
ภูมิอากาศ
แก้นครเกียวโตมีสภาพอากาศแบบค่อนข้างร้อนอบอ้าว ในช่วงฤดูร้อนจะร้อนและชื้นและในฤดูหนาวมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นประกอบกับมีหิมะเป็นครั้งคราว ฤดูฝนของเกียวโตเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม
ข้อมูลภูมิอากาศของเกียวโต (ปกติ ค.ศ. 1991−2020, สูงสุด ค.ศ. 1880−ปัจจุบัน) | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) | 19.9 (67.8) |
22.9 (73.2) |
25.7 (78.3) |
30.7 (87.3) |
34.9 (94.8) |
36.8 (98.2) |
39.8 (103.6) |
39.8 (103.6) |
38.1 (100.6) |
33.6 (92.5) |
26.9 (80.4) |
22.8 (73) |
39.8 (103.6) |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 9.1 (48.4) |
10.0 (50) |
14.1 (57.4) |
20.1 (68.2) |
25.1 (77.2) |
28.1 (82.6) |
32.0 (89.6) |
33.7 (92.7) |
29.2 (84.6) |
23.4 (74.1) |
17.3 (63.1) |
11.6 (52.9) |
21.1 (70) |
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) | 4.8 (40.6) |
5.4 (41.7) |
8.8 (47.8) |
14.4 (57.9) |
19.5 (67.1) |
23.3 (73.9) |
27.3 (81.1) |
28.5 (83.3) |
24.4 (75.9) |
18.4 (65.1) |
12.5 (54.5) |
7.2 (45) |
16.2 (61.2) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 1.5 (34.7) |
1.6 (34.9) |
4.3 (39.7) |
9.2 (48.6) |
14.5 (58.1) |
19.2 (66.6) |
23.6 (74.5) |
24.7 (76.5) |
20.7 (69.3) |
14.4 (57.9) |
8.4 (47.1) |
3.5 (38.3) |
12.1 (53.8) |
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) | -11.9 (10.6) |
-11.6 (11.1) |
-8.2 (17.2) |
-4.4 (24.1) |
-0.3 (31.5) |
4.9 (40.8) |
10.6 (51.1) |
11.8 (53.2) |
7.8 (46) |
0.2 (32.4) |
-4.4 (24.1) |
-9.4 (15.1) |
−11.9 (10.6) |
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) | 53.3 (2.098) |
65.1 (2.563) |
106.2 (4.181) |
117.0 (4.606) |
151.4 (5.961) |
199.7 (7.862) |
223.6 (8.803) |
153.8 (6.055) |
178.5 (7.028) |
143.2 (5.638) |
73.9 (2.909) |
57.3 (2.256) |
1,522.9 (59.957) |
ปริมาณหิมะ ซม (นิ้ว) | 5 (2) |
7 (2.8) |
1 (0.4) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
2 (0.8) |
15 (5.9) |
ความชื้นร้อยละ | 67 | 65 | 61 | 59 | 60 | 66 | 69 | 66 | 67 | 68 | 68 | 68 | 65 |
วันที่มีหยาดน้ำฟ้าโดยเฉลี่ย (≥ 0.5 mm) | 8.1 | 8.9 | 11.2 | 10.6 | 10.8 | 13.2 | 12.6 | 9.3 | 11.1 | 9.4 | 7.4 | 8.2 | 120.8 |
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด | 123.5 | 122.2 | 155.4 | 177.3 | 182.4 | 133.1 | 142.7 | 182.7 | 142.7 | 156.0 | 140.7 | 134.4 | 1,793.1 |
แหล่งที่มา: สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น[14] |
เขตการปกครอง
แก้ในคริสต์ทศวรรษ 1870 พื้นที่ที่เป็นนครเกียวโตในปัจจุบัน เดิมประกอบด้วยเขตคามิเงียว (เขตกรุงตอนบน) และเขตชิโมเงียว (เขตกรุงตอนล่าง) โดยที่สองเขตนี้มีฐานะเป็นเขตการปกครองที่แยกเป็นอิสระต่อกันภายในจังหวัดเกียวโต จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งเทศบาลขึ้นด้วยการรวมทั้งสองเขตเข้าด้วยกันเป็นเทศบาลนครเกียวโตใน ค.ศ. 1889
ด้วยความที่นครเกียวโตได้มีการจัดตั้งเขตขึ้นมาใหม่ รวมถึงควบรวมเทศบาลจำนวนหลายเทศบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนครเกียวโต ซึ่งเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1920 ถึง 1970 จึงทำให้นครเกียวโตในปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เขต (ญี่ปุ่น: 区; โรมาจิ: ku) โดยบรรดาเขตที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำคาโมะจะมีขนาดพื้นที่ที่เล็กและมีประชากรหนาแน่น ศาลาว่าการนครจะตั้งอยู่ในเขตนากาเงียว ส่วนศาลากลางจังหวัดเกียวโตจะตั้งอยู่ในเขตคามิเงียวในปัจจุบัน
ชื่อเขต | ประชากร (คน)[15] |
พื้นที่ (ตร.กม.) |
ความหนาแน่น (คน/ตร.กม.) |
แผนที่เขตของนครเกียวโต | ||
---|---|---|---|---|---|---|
ทับศัพท์ไทย | อักษรญี่ปุ่น | โรมาจิ | ||||
เขตคามิเงียว | 上京区 | Kamigyō-ku | 83,832 | 7.03 | 11,900 | |
เขตคิตะ | 北区 | Kita-ku | 117,165 | 94.88 | 1,230 | |
เขตชิโมเงียว | 下京区 | Shimogyō-ku | 82,784 | 6.78 | 12,200 | |
เขตซาเกียว | 左京区 | Sakyō-ku | 166,039 | 246.77 | 670 | |
เขตนากาเงียว※ | 中京区 | Nakagyō-ku | 110,488 | 7.41 | 14,900 | |
เขตนิชิเกียว | 西京区 | Nishikyō-ku | 149,837 | 59.24 | 2,530 | |
เขตฟูชิมิ | 伏見区 | Fushimi-ku | 277,858 | 61.66 | 4,510 | |
เขตมินามิ | 南区 | Minami-ku | 101,970 | 15.81 | 6,450 | |
เขตยามาชินะ | 山科区 | Yamashina-ku | 135,101 | 28.70 | 4,710 | |
เขตอูเกียว | 右京区 | Ukyō-ku | 202,047 | 292.07 | 690 | |
เขตฮิงาชิยามะ | 東山区 | Higashiyama-ku | 36,602 | 7.48 | 4,890 | |
หมายเหตุ: ※ เขตนากาเงียวเป็นศูนย์กลางการบริหาร |
การเมืองการปกครอง
แก้นครเกียวโตมีการปกครองในรูปแบบนายกเทศมนตรี–สภา มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้บริหาร และสภาเทศบาลนครเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
สภานครเกียวโต
แก้สภานครเกียวโตเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของนครเกียวโต มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งจำนวน 67 คน และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ณ ค.ศ. 2024 เสียงข้างมากในสภานครเกียวโตเป็นของกลุ่มพันธมิตรระหว่างสมาชิกที่สังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP), พรรคโคเม และกลุ่มพลเมืองประชาธิปไตย (Democratic Civic Forum)
ชื่อกลุ่มการเมืองของสมาชิกสภา | จำนวนที่นั่ง (ณ วันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 2024)[16] |
---|---|
พรรคเสรีประชาธิปไตย | 18 |
พรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น/พรรคเกียวโต/พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน | 18 |
พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น | 14 |
พรรคโคเม | 11 |
กลุ่มพลเมืองประชาธิปไตย (Democratic Civic Forum) | 2 |
อิสระ | 4 |
รายชื่อนายกเทศมนตรี
แก้ในระยะแรกตั้งแต่การก่อตั้งเทศบาลนครเกียวโตจนถึง ค.ศ. 1898 ผู้ว่าราชการจังหวัดเกียวโตจะทำหน้าที่เป็นนายกเทศมนตรีนครเกียวโตควบคู่กันไปด้วย ต่อมาตั้งแต่ ค.ศ. 1898 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเริ่มมีตำแหน่งนายกเทศมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อโดยสภานครเกียวโตและได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของญี่ปุ่น
ตั้งแต่ ค.ศ. 1947 นายกเทศมนตรีนครเกียวโตได้รับเลือกโดยการเลือกตั้งโดยตรงให้ดำรงตำแหน่ง 4 ปี เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 2024 มีนายกเทศมนตรีจำนวน 10 คนที่ได้รับเลือกโดยการเลือกตั้ง แม้ว่านายกเทศมนตรีบางคนจะลาออกหรือเสียชีวิตระหว่างดำรงตำแหน่ง แต่ก็ไม่มีนายกเทศมนตรีคนใดแพ้การเลือกตั้งอีกครั้งในสมัยต่อมาในช่วงหลังสงคราม ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเกียวโต ค.ศ. 2024 ผู้สมัครอิสระ โคจิ มัตสึอิ ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีครั้งแรก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคโคเม พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ และพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน
ลำดับที่ | ชื่อ[17] | เข้ารับตำแหน่ง[17] | ออกจากตำแหน่ง[17] |
---|---|---|---|
1 | มาซาโอะ คัมเบะ (神戸正雄) | 7 เมษายน ค.ศ. 1947 | 6 มกราคม ค.ศ. 1950 |
2 | กิโซ ทากายามะ (高山義三) | 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 | 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1966 |
3 | เซอิจิ อิโนอูเอะ (井上清一) | 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1966 | 8 มกราคม ค.ศ. 1967 |
4 | คิโยชิ โทมิอิ (富井清) | 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 | 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971 |
5 | โมโตกิ ฟูนาฮาชิ (舩橋求己) | 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971 | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 |
6 | มาซาฮิโกะ อิมางาวะ (今川正彦) | 1 กันยายน ค.ศ. 1981 | 29 สิงหาคม ค.ศ. 1989 |
7 | โทโมยูกิ ทานาเบะ (田邊朋之) | 30 สิงหาคม ค.ศ. 1989 | 29 มกราคม ค.ศ. 1996 |
8 | โยริกาเนะ มาซูโมโนะ (桝本頼兼) | 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 |
9 | ไดซากุ คาโดกาวะ (門川大作) | 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 | 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 |
10 | โคจิ มัตสึอิ (松井孝治) | 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 | ปัจจุบัน |
ประชากร
แก้เกียวโตเคยเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในญี่ปุ่นจนกระทั่งโอซากะและเอโดะ (โตเกียว) แซงไปในช่วงท้ายศตวรรษที่ 16[18] ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกียวโตแข่งกันเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับสี่หรือห้ากับโคเบะและนาโงยะ เมื่อเป็นเมืองที่หลีกเลี่ยงความเสียหายจากช่วงสงครามส่วนใหญ่ ทำให้เกียวโตได้รับสถานะเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ใน ค.ศ. 1947 จากนั้นใน ค.ศ. 1960 ประชากรลดลงจนมาอยู่อันดับ 5 และหล่นมาอยู่อันดับ 7 ใน ค.ศ. 1990 ข้อมูลเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 เกียวโตเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 9 ของประเทศญี่ปุ่น และส่งผลให้ประเทศมีประชากรลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง[19] อย่างไรก็ตาม ประชากรในนครนี้เพิ่มขึ้นในชั่วโมงทำงาน และในด้านประชากรแฝงกลางวัน เกียวโตอยู่ในอับดับ 7 ของประเทศญี่ปุ่น[20]
ประชากรประมาณร้อยละ 55 ของประชากรทั้งหมดในจังหวัดเกียวโตอาศัยอยู่ในนครเกียวโต ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในบรรดาจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น
|
|
| ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
ที่มา: [9] |
วัฒนธรรม
แก้แม้เกียวโตจะถูกรบกวนด้วยสงคราม ไฟไหม้ และแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในช่วงที่เป็นเมืองหลวงตลอด 11 ศตวรรษที่ผ่านมา แต่เกียวโตก็รอดพ้นจากการโจมตีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งยังถูกถอดออกจากรายชื่อเมืองที่จะถูกทิ้งระเบิดปรมาณูจากกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายสงคราม และเปลี่ยนไปเป็นเมืองนางาซากิแทน ด้วยเหตุผลที่ว่า เฮนรี แอล. สติมสัน รัฐมนตรีสงครามของสหรัฐต้องการจะรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ และได้รู้จักเมืองเกียวโตนี้จากการไปเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและจากการไปฮันนีมูน[21][22]
เกียวโตมีสถานที่สำคัญทางศาสนากว่า 2,000 แห่ง เป็นวัดทางศาสนาพุทธ 1,600 แห่ง และทางลัทธิชินโต 400 แห่ง มีพระราชวัง สวน และสิ่งก่อสร้างที่ยังคงความดั้งเดิมไว้มาก มีวัดที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง อาทิ วัดคิโยมิซุที่สร้างโดยใช้เสาหลักปักตามเนินของภูเขา วัดคิงกากุ (วัดศาลาทอง), วัดกิงกากุ (วัดศาลาเงิน) และ วัดเรียวอังที่มีสวนหินที่โด่งดัง ศาลเจ้าเฮอังเป็นศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงในลัทธิชินโต สร้างขึ้นในปี 1895 เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์จักรพรรดิและให้ระลึกถึงราชวงศ์แรกและราชวงศ์สุดท้ายที่ประทับอยู่ที่เกียวโต
ราชวงศ์ของญี่ปุ่นมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่สามแห่งของเกียวโต ได้แก่ เขตเกียวเอ็งของเกียวโต อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังเกียวโต และพระราชวังเซ็นโตะ ที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นหลายร้อยปี เขตพระราชวังหลวงคัตสึระ อันเป็นสมบัติทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชาติ และเขตพระราชวังชูงากุ อันเป็นสวนที่สวยที่สุดแหงหนึ่งของญี่ปุ่น
บริเวณอื่น ๆ ของเกียวโต ก็มีความสำคัญทางวัฒนธรรมเช่นกัน เช่น อาราชิยามะ ย่านกิอง ย่านเกอิชา พนโตโจ ตลอดจนถนนสายนักปราชญ์ และคลองอีกหลาย ๆ แห่ง
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1994 ซึ่งประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ศาลเจ้าคาโมะ, วัดเคียวโอโกโกกุ (วัดโท), วัดคิโยมิซุ, วัดโดโงะ, วัดนินนะ, วัดไซโฮ, วัดเท็นรีว, วัดโรกูอง (วัดคิงกากุ), วัดจิโช (วัดกิงกากุ), วัดเรียวอัง, วัดฮงงัน, วัดโคซัง และปราสาทนิโจ ที่สร้างโดย โชกุนโทกูงาวะ อิเอยาซุ และมีอีกหลายแห่งที่อยู่นอกเมืองที่อยู่ในรายชื่อมรดกโลกด้วย
เกียวโตเป็นเมืองที่มีอาหารญี่ปุ่นรสชาติโอชะอยู่มากมาย การที่เกียวโตเป็นเมืองที่ห่างไกลจากทะเลและมีวัดพุทธอยู่มากมายทำให้มีนำผักมาเป็นส่วนหนึ่งของอาหาร จนผักของเกียวโตมีชื่อเสียงขึ้นมา ที่เรียกว่า เคียวยาไซ (京野菜)
เกียวโตยังมีสำเนียงภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ที่เรียกว่า เคียวโกโตบะ หรือ เกียวโตเบ็ง อันเป็นหนึ่งในรูปแบบของสำเนียงคันไซ เมื่อครั้งที่เกียวโตเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นนั้น สำเนียงเกียวโตถือเป็นภาษาราชการของญี่ปุ่นและมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเป็นสำเนียงโตเกียว อันเป็นภาษามาตรฐานสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ส่วนที่โดดเด่นของสำเนียงเกียวโตคือ การที่คำกริยาจะลงท้ายด้วย -ฮารุ เป็นต้น
เศรษฐกิจ
แก้เศรษฐกิจที่สำคัญในเกียวโตนั้นมาจากอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ นครเกียวโตนั้นยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทชั้นนำมากมาย อาทิ นินเทนโด, ออมรอน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การท่องเที่ยวยังเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของเกียวโต จากการที่เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมนั้น ทำให้ในแต่ละวัน มีนักเรียน-นักศึกษาจากทั่วประเทศรวมถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาทัศนศึกษาและท่องเที่ยวในเกียวโต และจากการสำรวจและจัดอันดับระดับภูมิภาคในปี 2007 นครเกียวโตได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่สองในเมืองที่น่าสนใจที่สุดของญี่ปุ่น รองจากนครซัปโปโระ[23]
นอกจากนี้ งานฝีมือแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นยังเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของเกียวโต ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยช่างฝีมือในโรงงานขนาดเล็ก กิโมโนของเกียวโตนั้นยังมีชื่อเสียงอย่างมาก จากการที่เกียวโตเป็นเมืองที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของการผลิตกิโมโนชั้นนำ อย่างไรก็ตามธุรกิจชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน จากการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลด้านช่างฝีมือที่มีคุณภาพ
มหาวิทยาลัย
แก้เกียวโตเป็นสถานที่ตั้งของสถาบันระดับอุดมศึกษา 37 แห่ง นับเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยมีมหาวิทยาลัยเกียวโตเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและของโลก และยังมีสถาบันเทคโนโลยีเกียวโตเป็นอีกหนึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น มีชื่อเสียงในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยโดชิชะและมหาวิทยาลัยริตสึเมกังก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงในแถบเคฮันชิงเช่นกัน
การคมนาคม
แก้การขนส่งทางราง
แก้สถานีเกียวโต เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของเมือง เป็นสถานีที่รวมเอาห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้าอิเซะตัน และสำนักงานราชการหลาย ๆ แห่งเอาไว้ในตึกสูง 15 ชั้น มีรถไฟชิงกันเซ็งสายโทไกโดวิ่งผ่านและเชื่อมต่อกับรถไฟของบริษัทเจอาร์เวสต์
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟเอกชนอย่าง รถไฟเคฮัง รถไฟฮันกีว รถไฟคินเต็ตสึ และสายอื่น ๆ ให้บริการรับส่งผู้โดยสารจากเกียวโตสู่พื้นที่อื่น ๆ ในแถบคันไซ โดยรถไฟเจอาร์เวสต์และรถไฟคินเตะสึจะเชื่อมต่อที่สถานีเกียวโต ขณะที่รถไฟฮันกีวจะเชื่อมต่อกับเกียวโตที่สถานีชิโจ คาวารามาจิ อันเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าและย่านบันเทิงของเกียวโตมาตั้งแต่สมัยโบราณ
รถไฟใต้ดิน
แก้สำนักงานขนส่งนครเกียวโต เป็นผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินนครเกียวโต ซึ่งมีอยู่สองสายหลักคือ
- สายคาราซูมะ: ทอดยาวตามแนวเหนือใต้
- สายโทไซ: ทอดยาวตามแนวตะวันออกและตะวันตก
รถไฟความเร็วสูง
แก้รถไฟชิงกันเซ็งสายโทไกโดเชื่อมต่อเมืองเกียวโตกับนาโงยะ โยโกฮามะ และโตเกียวในทิศตะวันออก ตลอดจนโอซากะ โคเบะ โอกายามะ ฮิโรชิมะ คิตากีวชู และฟูกูโอกะทางทิศตะวันตก
ท่าอากาศยาน
แก้ท่าอากาศยานที่ใกล้กับเกียวโตที่สุดคือ ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ และ ท่าอากาศยานนานาชาติโอซากะ ในจังหวัดโอซากะ โดยมีรถไฟเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานทั้งสอง ใช้เวลาจากสถานีเกียวโตถึงท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ 73 นาที
รถประจำทาง
แก้โครงข่ายรถประจำทางมหานครของเกียวโตและโครงข่ายเอกชนเป็นเครือข่ายที่ให้บริการค่อนข้างครอบคลุมตัวเมือง และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ทั้งรถโดยสารทั่วไปและรถโดยสารสำหรับนักท่องเที่ยว มีการประกาศเป็นภาษาอังกฤษและแสดงข้อความถึงจุดจอดเป็นอักษรละตินอีกด้วย
รถประจำทางในเมืองส่วนใหญ่จะมีราคาเดียว และยังมีบัตรโดยสารแบบวันเดียวและแบบขึ้นได้ไม่จำกัดรอบจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเยี่ยมชมสถานที่หลาย ๆ แห่งในเกียวโตภายในเวลาอันสั้น
จักรยาน
แก้การปั่นจักรยานก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเมืองเกียวโต เพราะสภาพภูมิประเภทศและขนาดของเมืองนับว่าเหมาะเป็นอย่างยิ่งกับการเที่ยวโดยจักรยาน นอกจากนี้ อัตราการขโมยจักรยานยังมีอัตราที่ต่ำ แต่การหาพื้นที่จอดจักรยานนับว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
การคมนาคมทางน้ำ
แก้เกียวโตมีแม่น้ำและคลองหลายสายไหลผ่าน ทั้งแม่น้ำเซตะและอูจิ (แม่น้ำโยโดะ) แม่น้ำคาโมะ และแม่น้ำคัตสึระ นอกจากนี้ คลองทะเลสาบบิวะก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเช่นกัน
การท่องเที่ยว
แก้มรดกโลกโดยยูเนสโก
แก้"สมบัติของชาติ" ราว 20% และ "สมบัติสำคัญทางวัฒนธรรม" ราว 14% ของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในเกียวโต ในปี ค.ศ. 1994 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ให้การรับรองกลุ่มมรดกโลกในนครเกียวโต ในนามของ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ (เมืองเกียวโต อูจิ และอตสึ) ซึ่งในเกียวโตมีทั้งหมด 17 สถานที่ด้วยกัน คือ
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "2020 Population Census". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 16, 2022. สืบค้นเมื่อ July 16, 2022.
- ↑ "京都都市圏の範囲及び取組" (ภาษาญี่ปุ่น). 京都都市圏自治体ネットワーク. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 24, 2017. สืบค้นเมื่อ July 16, 2022.
- ↑ Lowe, John. (2000). Old Kyoto: A short Social History, p. x.
- ↑ Nakagaawa, Kazuya (November 2006). 旧石器時代の京都 [Kyoto in Paleolithic period] (PDF). 京都府埋蔵文化財情報 (ภาษาญี่ปุ่น). 京都府埋蔵文化財調查研究センター. 101: 1. ISSN 0286-5424. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ February 25, 2021. สืบค้นเมื่อ November 27, 2013.
- ↑ Kyoto Exhibitors' Association (1910) Kyoto Kyoto Exhibitors' Association of the Japan-British exhibition, Kyoto, p. 3 OCLC 1244391
- ↑ Ebrey, Patricia; Walthall, Anne (2014). East Asia: A Cultural, Social, and Political History, Third Edition. Wadsworth, Cengage Learning. pp. 79, 148. ISBN 978-1-133-60647-5.
- ↑ Stephen, Morillo (1995). "Guns and Government: A Comparative Study of Europe and Japan*" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ September 13, 2013.
- ↑ Ponsonby-Fane, Richard (1931). Kyoto; its History and Vicissitudes Since its Foundation in 792 to 1868. p. 241.
- ↑ 9.0 9.1 人口・世帯の時系列データ (XLSX). City of Kyoto. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 17, 2017. สืบค้นเมื่อ April 15, 2018.
- ↑ Lyman, Benjamin Smith (2020-08-03). "FSA A1999.35 092: Kyoto: View from Kiyomizudera". Smithsonian (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-26. สืบค้นเมื่อ 2022-07-16.
- ↑ "The Atomic Bomb and the End of World War II: A Collection of Primary Sources". nsarchive2.gwu.edu. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 16, 2018. สืบค้นเมื่อ September 25, 2017.
- ↑ Oi, Mariko (August 8, 2015). "The man who saved Kyoto from the atomic bomb". BBC News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 13, 2021. สืบค้นเมื่อ October 28, 2020.
- ↑ "Reports of General MacArthur". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 31, 2021. สืบค้นเมื่อ July 31, 2021.
- ↑ 気象庁 / 平年値 (年・月ごとの値). Japan Meteorological Agency. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 21, 2021. สืบค้นเมื่อ May 19, 2021.
- ↑ 令和2(2020)年国勢調査. City of Kyoto. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 5, 2022. สืบค้นเมื่อ September 5, 2022.
- ↑ 議員名簿・京都市会. Kyoto City Assembly. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 21, 2022. สืบค้นเมื่อ February 25, 2024.
- ↑ 17.0 17.1 17.2 歴代市長、副市長・助役一覧. Kyoto City. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 19, 2022. สืบค้นเมื่อ February 25, 2024.
- ↑ Japanese Imperial Commission (1878). Le Japon à l'exposition universelle de 1878. Géographie et histoire du Japon (ภาษาฝรั่งเศส). p. 16.
- ↑ 京都市の人口減、2年連続全国最多 「9位転落」が迫る背景は?. Kyoto Shimbun. August 28, 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 1, 2022. สืบค้นเมื่อ September 2, 2022.
- ↑ 令和2年国勢調査 従業地・通学地による人口・就業状態等集計結果 (PDF). Japan Statistics Bureau. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ October 9, 2022. สืบค้นเมื่อ August 23, 2022.
- ↑ "The Manhattan Project, Department of Energy at mbe.doe.gov". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-28. สืบค้นเมื่อ 2013-09-25.
- ↑ HyperHistory.net Dec. 22, 2009. Retrieved August 7, 2010
- ↑ "Sapporo picked as "most attractive town" for 2nd consecutive year — J-Cast". En.j-cast.com. 2007-07-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-10. สืบค้นเมื่อ 2010-03-07.
ข้อมูลเพิ่มเติม
แก้- Kyoto City Official Website (in Japanese)
- Kyoto City Official Travel Guide, City of Kyoto and Kyoto City Tourism Association
- ดูข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ Kyoto ที่โอเพินสตรีตแมป