อะเลคซันดร์ คอลชัค
อะเลคซันดร์ วาซีเลียวิช คอลชัค (รัสเซีย: Александр Васильевич Колчак; 16 พฤศจิกายน [ตามปฏิทินเก่า 4 พฤศจิกายน] ค.ศ. 1874 – 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920) เป็นพลเรือเอกแห่งจักรวรรดิรัสเซียและนักสำรวจขั้วโลก เป็นนายทหารประจำกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียและได้ร่วมต่อสู้ในสงครามที่สำคัญสองครั้งคือ สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1904–1905 และสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[1] ต่อมาเขาเป็นผู้นำของขบวนการต่อต้านบอลเชวิคหรือที่รู้จักกันในชื่อ "ขบวนการขาว" ในระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ซึ่งได้ก่อตั้งรัฐบาลในไซบีเรียเพื่อต่อต้านรัฐบาลของเลนินตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920
อะเลคซันดร์ คอลชัค | |
---|---|
Александр Васильевич Колчак | |
ผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย[a] | |
ดำรงตำแหน่ง 18 พฤศจิกายน 1918 – 7 กุมภาพันธ์ 1920 | |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง (นีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ ในฐานะประธานแห่งรัฐบาลชั่วคราวแห่งรัสเซียทั้งปวง) |
ถัดไป | อันตอน เดนีกิน (โดยพฤตินัย) |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและการทหารเรือ แห่งรัฐบาลชั่วคราวแห่งรัสเซียทั้งปวง | |
ดำรงตำแหน่ง 5 – 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 | |
หัวหน้ารัฐบาล | |
ก่อนหน้า | อะเลคซันดร์ เวียร์ฮอฟสกี |
ถัดไป | ยกเลิกตำแหน่ง (มีฮาอิล สมีร์นอฟ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทหารเรือ) (นีโคไล สเตปานอฟ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874 เซนต์ปีเตอส์เบิร์ก จักรวรรดิรัสเซีย |
เสียชีวิต | 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 อีร์คุตสค์ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย | (45 ปี)
คู่สมรส | โซเฟีย เฟโดรอฟนา โอมีโรวา คอลชัค |
บุตร | รอสติสลาฟ คอลชัค |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ |
|
สังกัด | |
ประจำการ | ค.ศ. 1886–1920 |
ยศ | พลเรือโท พลเรือเอก (ตั้งแต่ ค.ศ. 1918) |
ผ่านศึก | สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามกลางเมืองรัสเซีย |
คอลชัคเริ่มต้นอาชีพแรกจากการเป็นนักสมุทรศาสตร์และนักอุทกวิทยาในกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย ต่อมาเขากลายเป็นผู้นำในการสำรวจขั้วโลกอยู่หลายครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์รัสเซีย[2] "เกาะคอลชัค" ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลคารา ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ในช่วงสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1904−1905) คอลชัคได้มีโอกาสร่วมต่อสู้ในสงครามและประสบความสำเร็จในยุทธนาวีที่พอร์ตอาเธอร์ เมื่อทุ่นระเบิดของเรือพิฆาตที่อยู่ภายใต้การบัญชาของเขาได้จมเรือลาดตระเวนทากาซาโกะของญี่ปุ่น ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง คอลชัคกลายเป็นหนึ่งในผู้ปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียใหม่หลังจากความเสียหายในระหว่างสงคราม และได้รับเลื่อนยศเป็นนายทหารเสนาธิการทั่วไปแห่งกองทัพเรือ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาสลับงานศึกษาวิทยาศาสตร์และการสำรวจกับงานในการปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียให้ทันสมัยในฐานะเสนาธิการกองทัพเรือ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุขึ้น เขาได้มีส่วนร่วมในการปกป้องพื้นที่แถบทะเลบอลติก ซึ่งกองเรือของเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเรือธง ใน ค.ศ. 1916 เนื่องจากความกล้าหาญและทักษะประสบการณ์ของเขา ทำให้คอลชัคได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือโทที่อายุน้อยที่สุดของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย และได้รับคำสั่งจากทัพเรือทะเลดำ ซึ่งทำให้เขาสามารถสร้างชื่อเสียงได้อีกครั้ง ด้วยการควบคุมพื้นที่ทะเลดำและอำนวยความปลอดภัยในการคมนาคมสำหรับกองทัพที่ต่อสู้ในคอเคซัส หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 เขาสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถส่งเสริมขวัญกำลังใจและดำเนินการทางทหารต่อไปจนสามารถเอาชนะฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้คอลชัคถูกเรียกกลับจากแนวรบเมื่อสิ้นสุดฤดูร้อน
จากเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคมและการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี เขาจึงตกลงรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามของรัฐบาลต่อต้านบอลเชวิคแห่งออมสค์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เป็นเหตุให้นักสังคมนิยมปฏิวัติทั้งหลายถูกขับไล่ออกจากรัฐบาล ต่อมาคอลชัคได้ทำการรัฐประหารและสถาปนาตนเป็น "ผู้ปกครองสูงสุดแห่งรัสเซีย"[3] แม้ว่าปฏิบัติการทางทหารของคอลชัคในช่วงแรกจะประสบความสำเร็จ แต่เพราะรัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเพียงน้อยนิด ประกอบกับการประสานงานที่ย่ำแย่ และบางครั้งการบัญชาการทางทหารก็ไม่เป็นผล ภายในรัฐบาลเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงและมีความเป็นพวกปฏิกิริยา รวมถึงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับหน่วยทหารเชโกสโลวักและผู้นำคอสแซ็ก คอลชัคจึงสูญเสียการสนับสนุนที่สำคัญจากประชากรท้องถิ่น ในระหว่างการล่าถอยในไซบีเรียเมื่อฤดูหนาว ค.ศ. 1919 เกิดการจราจลขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกองกำลังของเขาเสียเอง ในช่วงปลาย ค.ศ. 1919 กองกำลังทหารที่หลงเหลืออยู่และพลเรือนหลายแสนคนต่างพากันหลบหนีการรุกรานจากบอลเชวิคที่สามารถยึดออมสค์ได้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งต่อมาคอลชัคถูกกลุ่มกบฏที่ต่อต้านเขาจับกุมและส่งตัวไปยังอีร์คุตสค์ คอลชัคถูกเจ้าหน้าที่บอลเชวิคสอบสวนและตัดสินประหารชีวิตพร้อมกับ วิคตอร์ เปเปลยาเยฟ นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920
คอลชัคถูกมองว่าเป็นศัตรูของประชาชนและการสำรวจขั้วโลกของเขาได้รับการลดทอนคุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริงโดยนักประวัติศาสตร์และนักข่าวโซเวียต ชื่อเสียงของเขาได้รับการกู้ฐานะในยุคหลังรัสเซียโซเวียต[4] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 มีการติดตั้งป้ายระลึกที่บ้านในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งคอลชัคเคยอาศัยอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 จนถึง ค.ศ. 1912[5]
ปฐมวัยและการงาน
แก้เขาเกิดที่ชานเมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์กเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1874 [ตามปฎิทินเก่า: 4 พฤศจิกายน][6][b] ในครอบครัวชนชั้นกลาง[8] ที่มีคตินิยมแบบทหารและมีแนวคิดอนุรักษนิยมและรักชาติ[9][10] เป็นบุตรชายของนายทหารเรือตระกูลขุนนางยูเครน[8][7] วาซีลี อีวาโนวิช คอลชัค ทหารปืนใหญ่นาวิกโยธินชั้นพลตรีที่เกษียณแล้ว[11] ซึ่งอะเลคซันดร์ในวัยหนุ่มถูกเลี้ยงดูให้เจริญตามรอยพ่อของเขา[12] ส่วนแม่ของเขา ออลกา อีลีนิชนา โปโซโฮวา เป็นชาวออแดซาที่มีเชื้อสายจากตระกูลขุนนางในแคร์ซอน[7] เขาเข้าศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่เมืองหลวงของรัสเซีย (ในตอนนั้นคือเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก)[12] และสำเร็จการศึกษาในระดับสองที่โรงเรียนนายร้อยทหารเรือเซนต์ปีเตอส์เบิร์กใน ค.ศ. 1894[12][11][8] (ซึ่งคอลชัคใช้ระยะเวลาในการเข้าศึกษารวมหกปี) และได้เข้าร่วมกับกองพันทหารเรือที่ 7[13][14] ไม่กี่เดือนต่อมาเขาถูกย้ายไปประจำการที่เรือลาดตระเวนรูริค (Rurik) ในตะวันออกไกล[13][14] ในช่วงปลาย ค.ศ. 1896 เขาถูกย้ายไปประจำการที่เรือลาดตระเวนในวลาดีวอสตอค ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิกหลายครั้ง[14] คอลชัคอยู่ประจำการในวลาดีวอสตอคตั้งแต่ ค.ศ. 1895 จนถึง ค.ศ. 1899[13] โดยสำหรับเวลาว่างที่เหลือจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เขาทุ่มเทกับการศึกษาด้านสมุทรศาสตร์อย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้เขาได้รับความสนใจจากนักสำรวจต่าง ๆ รวมถึงพลเรือโทมาคารอฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักสมุทรศาสตร์ที่สำคัญของกองทัพ[11][14]
ในเวลาต่อมาเขาถูกย้ายไปยังฐานทัพเรือครอนสตัดต์[15] ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้ คอลชัคเกิดความสนใจในการสำรวจอาร์กติกมาอย่างต่อเนื่อง[15] ดังนั้นเขาจึงเข้าร่วมกับคณะสำรวจขั้วโลกของพลเรือโทมาคารอฟ[15] อย่างไรก็ตาม เขาถูกส่งไปประจำการที่เรือประจัญบานปิตราปัฟลัฟสค์ (Petropavlovsk) ต่อมาเป็นเรือรบหุ้มเกราะคเนียซโปจาร์สกี (Kniaz Pozharsky) ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1900 และกลับไปที่เรือปิตราปัฟลัฟสค์อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้เขาได้รับมอบหมายให้ไปประจำการที่กองเรือแปซิฟิก[15][14] แต่ในระหว่างที่เขาหยุดพักที่ไพรีอัสขณะกำลังเดินทางไปแปซิฟิกนั้น[15] คอลชัคได้ทราบข่าวว่าเขาถูกรับเลือกให้เข้าร่วมการสำรวจขั้วโลกของคณะสำรวจบารอนโทลล์ใน ค.ศ. 1900[13][16][11][8] ดังนั้นเขาจึงเดินทางกลับเซนต์ปีเตอส์เบิร์กทันที[14] ในเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก เขาอุทิศตนให้กับการศึกษาที่หอสังเกตการณ์ปัฟลัฟสค์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเดินทาง[16][14] จากนั้นเขาเดินทางไปที่ออสโล เพื่อเรียนรู้เทคนิคการสำรวจจากฟริตจ็อฟ นันเซิน[14] จนในที่สุดคณะสำรวจของโทลล์ก็พร้อมออกเดินทาง โดยเริ่มแล่นเรือจากคาบสมุทรไทมืยร์ไปยังหมู่เกาะอาร์กติกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1900[12][17] คอลชัคใช้ชีวิตเป็นเวลาสองปีในอาร์กติก[13][12] และเมื่อคณะสำรวจต้องเผชิญกับความเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทางต่อโดยเรือ โทลล์จึงตัดสินใจเดินทางต่อด้วยการเดินเท้ากับชายอีกสามคน ส่วนคนอื่น ๆ ที่เหลือนั้น โทลล์สั่งให้พวกเขาเดินทางกลับ[18] ภายหลังการเผชิญกับความลำบากยากแค้น คอลชัคเดินทางกลับไปที่เมืองหลวงในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1902[19] อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจคนอื่น ๆ รวมถึงโทลล์หายตัวไปในอาร์กติก[18][16] คอลชัคจึงเดินทางกลับไปอาร์กติกอีกครั้งพร้อมคณะช่วยเหลือ[16][8][20] ด้วยความซื่อตรงและความกล้าหาญของเขา[13] คอลชัคจึงใช้เวลาสิบแปดเดือนอยู่ในอาร์กติกเพื่อพยายามค้นหาสมาชิกของคณะสำรวจ และเดินทางด้วยเรือเป็นระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร[13] ซึ่งในที่สุดก็ค้นพบหลักฐานการเสียชีวิตของทั้งคณะในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1903[18][13][21]
เขาอยู่พำนักในยาคุตสค์เพื่อพักฟื้นร่างกายหลังการเดินทาง ซึ่งต่อมาไม่นานในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1904 สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นได้ปะทุขึ้น[22][16][23] เขาจึงได้รับอนุญาตจากราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์ในการเข้าร่วมกองทัพเรืออีกครั้ง[23] ในระหว่างเดินทางไปแปซิฟิก คอลชัคหยุดพักชั่วครู่เพื่อแต่งงานที่อีร์คุตสค์[22] กับคู่หมั้นของเขาในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา โซเฟีย เฟโดรอฟนา โอมีโรวา[24][23] คอลชัคอาสาร่วมต่อสู้[24] แม้จะสุขภาพไม่ดี[25] เขาถูกส่งตัวไปที่พอร์ตอาเธอร์[18] ซึ่งได้รับมอบหมายให้ประจำการบนเรือลาดตระเวนอัสคอล์ด (Askold) และต่อมาเป็นเรือพิฆาตอามูร์ (Amur)[23] ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกย้ายไปประจำการอยู่บนเรือพิฆาตเซียร์ดีตี (Serdity) โดยเป็นเรือลำแรกภายใต้การบัญชาของเขา[23] คอลชัคได้รับชื่อเสียงจากการป้องกันเรือประจัญบานเซวาสโตปอล และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเซนต์จอร์จ[25] จากการวางทุ่นระเบิดจมเรือลาดตระเวนทากาซาโกะของญี่ปุ่น[26][22] ขณะที่การปิดล้อมฐานทัพรัสเซียทวีความรุนแรงขึ้น เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารแบตเตอรี่ชายฝั่ง[27][23] ต่อมาเขาได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมเมื่อกองทัพเรือรัสเซียยอมจำนนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1904[26][28] เขายังคงรักษาตัวในโรงพยาบาลที่พอร์ตอาเธอร์จนกระทั่งย้ายไปโรงพยาบาลที่นางาซากิในเดือนเมษายน ค.ศ. 1905[27][23][28] ด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่ของเขา ประกอบกับโรคปอดบวมและโรคไขข้อ[28] ทำให้คอลชัคถูกส่งตัวไปรักษาที่ประเทศแคนาดาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1905[27][23]
หลังสงครามยุติลงได้สี่เดือน ในช่วงต้น ค.ศ. 1906 เขาใช้เวลากับการศึกษาเนื้อหาที่รวบรวมระหว่างการเดินทางไปยังอาร์กติกทั้งสองครั้งที่ราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์รัสเซีย[18][12][28][23] เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้ถึงความพยายามและการสำรวจของเขา ทางสมาคมภูมิศาสตร์รัสเซียได้มอบรางวัลเหรียญคอนสแตนตินให้แก่เขา[18][22][8][29] และยอมรับเขาเป็นหนึ่งในสมาชิก อีกทั้งยังตั้งชื่อเกาะในทะเลคาราเป็นชื่อของเขาด้วย[30] ในช่วงเวลาหนึ่ง คอลชัคได้รับสมญานามว่า "คอลชัคแห่งขั้วโลก" (รัสเซีย: Kolchak-Poliarnyi)[31]
คอลชัคดำรงตำแหน่งทหารเสนาธิการกองทัพเรือคนใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1906[26][27][32] จนถึง ค.ศ. 1909 คอลชัคเป็นหนึ่งในผู้ปรับปรุงกองทัพเรือรัสเซียให้ทันสมัย[26] ในฐานะกลุ่มนายทหารนักปฏิรูปรุ่นเยาว์ที่รู้จักกันในชื่อ "ทหารเรือกลมแห่งเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก"[27][32][25][29] อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าการปรับปรุงกองทัพของเขาเป็นไปอย่างไร้ประโยชน์สำหรับการทำสงครามกับเยอรมนีในอนาคต[32] ทำให้เขาลาออกจากการเป็นทหารเสนาธิการและกลับไปสำรวจเหมือนเดิม[32][33]
ในช่วง ค.ศ. 1908 ถึง ค.ศ. 1910 เขาได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรือตัดน้ำแข็งไวกัช (Vaigach)[34] ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือโลหะสองลำที่สร้างขึ้นสำหรับการเดินทางในอาร์กติกครั้งใหม่ เพื่อทดสอบถึงความเป็นไปได้ในการสำรวจอาร์กติกในช่วงฤดูร้อน[35][32][36] และเป็นผู้เตรียมการสำหรับการเดินทางไปอาร์ติกอีกครั้ง เนื่องจากประสบการณ์สำรวจครั้งก่อนของเขา[29] แต่ก่อนการเดินทางจะเริ่มขึ้น คอลชัคถูกเรียกตัวกลับเซนต์ปีเตอส์เบิร์กในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1910[34][36] เพื่อทำงานในกองทัพเรือต่อไป เนื่องจากโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับการทำสงครามกับเยอรมนี[35][32][36] คอลชัคกลับมารับตำแหน่งในกองทัพเรืออีกครั้งในฐานะทหารเสนาธิการตั้งแต่ ค.ศ. 1910 จนถึง ค.ศ. 1912[12][32][37] เขาเป็นผู้โน้มน้าวให้สภาดูมาเพิ่มงบประมาณสำหรับกองทัพเรือ[35] และมีความสัมพันธ์อันดีกับสภานิติบัญญัติ[27][32] งานหลักของคอลชัคในฐานะทหารเสนาธิการคือการปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัย[34] เพื่อเตรียมทำสงครามกับเยอรมนี[37]
หลังจากความเหน็ดเหนื่อยจากงานในฐานะทหารเสนาธิการ คอลชัคจึงลาออกเพื่อไปเข้าร่วมกับกองเรือบอลติก หลังได้รับข้อเสนอจากผู้บัญชาการใน ค.ศ. 1912[32] เขารับหน้าที่ดูแลเรือพิฆาตอุสซูรีซ (Ussuriets) ซึ่งเป็นเรือหลักสำหรับการวางทุ่นระเบิดของกองเรือ[12][38] หลังจากที่ประจำการอยู่ในลีบูอา เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ[32] ตามความสามารถของเขา[35] ใน ค.ศ. 1913 คอลชัคได้เป็นผู้บัญชาการเรือธงโปกรานิชนิค (Pogranichnik) และเป็นกัปตันของเรือลาดตระเวนรูริค[38] ใน ค.ศ. 1914 เขาออกจากการเป็นผู้บัญชาการเรือโปกรานิชนิคและแต่ยังคงประจำการบนเรือรูริคภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอกนีโคไล เอสเซน ต่อไป[32][39]
สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
แก้ในข่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คอลชัคเป็นนายทหารที่กระตือรือร้นคนหนึ่งในกองเรือบอลติก[27] เขาเป็นผู้ดูแลการวางทุ่นระเบิดตามชายฝั่ง[35] เพื่อปกป้องกองเรือรัสเซียจากการโจมตีของกองทัพเยอรมัน[40] เขามีส่วนร่วมในการวางทุ่นระเบิดตามฐานทัพเรือเยอรมันในคีลและดันท์ซิช[35][41][25] และเป็นผู้บัญชาการกองเรือในอ่าวรีกาด้วย[42][43] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นกัปตัน[44] เนื่องจากความสำเร็จในการปกป้องรีกาและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งเซนต์จอร์จ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทางทหารสูงสุดของรัสเซีย[27][44] ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือโท[42][43][12][45][8] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916[45][46][c] นั่นจึงทำให้เขากลายเป็นพลเรือโทที่อายุน้อยที่สุดของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย[42][8] และได้ไปประจำการที่กองเรือทะเลดำ[12][45][46][25] เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1916 [ตามปฎิทินเก่า: 16 กรกฎาคม] แทนที่พลเรือเอกอันเดรย์ เอเบียร์ฮรัดต์[47][42][43]
ภารกิจหลักของคอลชัคในทะเลดำคือการสนับสนุนนายพลยูเดนิชสำหรับปฏิบัติการต่อต้านจักรวรรดิออตโตมันในคอเคซัส (เนื่องจากไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ความช่วยเหลือระหว่างกองทัพของนายพลยูเดนิชและกองเรือทะเลดำทำให้สามารถยึดเมืองทรับซอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของออตโตมันได้) และพยายามทำความเสียหายให้แก่กองทัพเรือออตโตมัน[47] เขาประสบความสำเร็จในการตอบโต้เรือรบยาวุซสุลตันเซลิม (Yavuz Sultan Selim) ซึ่งเป็นเรือภายใต้ผู้บัญชาการชาวเยอรมันประจำกองเรือออตโตมัน และเรือมีดิลลี (Midilli) ทำให้กองเรือออตโตมันละทิ้งการโจมตีในทะเลดำและหันไปป้องกันการโจมตีช่องแคบบอสพอรัสแทน[48] นอกจากนี้ คอลชัคยังจัดการกับภัยคุกคามจากเรืออูของเยอรมนีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กองเรือจากฐานทัพเรือวาร์นาผ่อนคลายความรุนแรงลง[49] และด้วยเหตุนี้ ทำให้เส้นทางเดินเรือของรัสเซียสำหรับการจัดหาทรัพยากรให้แก่แนวรบคอเคซัสและแนวรบตะวันตกเฉียงใต้สะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น[48] เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนสำหรับการรุกรานเข้าช่องแคบบอสพอรัส[50] แต่แผนการนี้ก็ไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติจริง[42][43][49] กองเรือของคอลชัคประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการจมเรือบรรทุกถ่านหินของตุรกี และเนื่องจากไม่มีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างเหมืองถ่านหินตะวันออกของตุรกีกับกรุงคอนสแตนติโนเปิล จึงทำให้จักรวรรดิออตโตมันเผชิญกับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในสงคราม[42] กองเรือภายใต้การบัญชาการของคอลชัคได้รับชัยชนะเหนือศัตรูอย่างเด็ดขาด[43]
อุบัติเหตุทางเรือครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นภายใต้การบัญชาการของเขา คือ เหตุระเบิดเรือเดรดนอตอิมเพรัตริตซามารียา (Imperatritsa Mariya) ที่ท่าเรือเซวัสโตปอลในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916[51] แม้การสอบสวนเป็นไปอย่างรอบคอบ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุระเบิดในครั้งนี้เกิดจากอุบัติเหตุหรือการก่อวินาศกรรม[51]
สมัยแห่งการปฏิวัติ
แก้เมื่อเริ่มต้น ค.ศ. 1917 สถานการณ์ทางการเมืองภายในจักรวรรดิรัสเซียย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว และในช่วงที่คอลชัคเดินทางไปยังบาตูมเพื่อเข้าหารือกับเจ้าอุปราชแห่งคอเคซัส แกรนด์ดยุกนีโคไล นีโคลาเยวิช เกี่ยวกับการเตรียมพร้อมของท่าเรือคอเคซัสและทรับซอนสำหรับการจัดหาทรัพยากรให้แก่แนวรบรัสเซียในภูมิภาค[53] เขาได้รับโทรเลขพร้อมข่าวการปฏิวัติในเปโตรกราด ดังนั้นเขาจึงรีบเดินทางกลับเซวัสโตปอลทันที[54] เมื่อเขามาถึงได้ไม่นานนัก คอลชัคก็ได้รับข่าวการสละราชสมบัติของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 อันเป็นผลพวงจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917[55] แม้ว่าในช่วงเวลานี้ กองเรือทะเลดำจะตกอยู่ภายใต้ความโกลาหลทางการเมือง แต่ด้วยชื่อเสียงและความเคารพที่มีต่อเขา ทำให้คอลชัคสามารถรอดพ้นจากการถูกลอบสังหารเหมือนที่เกิดขึ้นกับผู้บัญชาการกองเรือบอลติก[43][25]
ในตอนแรก คอลชัคตระหนักดีว่ารัฐบาลซาร์องค์สุดท้ายนั้นไร้ความสามารถ และมีมุมมองต่อการปฏิวัติเป็นไปในทางที่ดี[56][57] เขาเชื่อว่าการหลีกทางให้คณะรัฐมนตรีเสรีนิยมเข้ามาบริหารประเทศจะสามารถนำพาไปสู่ชัยชนะทางทหารได้[58][59] คอลชัคเชื่อว่าสงครามคือตัวแทนแห่งการชำระล้างความชั่วร้าย เช่นเดียวกับลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหาร เขาถือว่านี่คือหนึ่งในคุณธรรมหลักของมวลมนุษย์ ในขณะที่เขาไม่เห็นด้วยกับลัทธิสันตินิยม สังคมนิยม และลัทธิอยู่ร่วมกันระหว่างประเทศของชนกรรมาชีพ ซึ่งเป็นแนวทางของลัทธิประชาธิปไตยตะวันตก โดยเชื่อว่าการปลูกฝังด้วยความสะดวกสบายเป็นไปไม่ได้ในรัสเซีย[57] อุดมการณ์ทางการเมืองของเขามีลักษณะโน้มเอียงไปทางราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ[57] ในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังการปฏิวัติ คอลชัคยังคงสามารถร่วมมือกับสภาทหารโซเวียตใหม่ได้อยู่[60] จนเมื่อเกิดความโกลาหลขึ้นในกองทัพ ทําให้เขาเชื่อว่าการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่สภาทหารบ่อนทําลายความพยายามในการทําสงคราม[58][25] ภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ คอลชัคได้รับคำเชิญจำนวนมากจากกลุ่มการเมืองเสรีนิยมและอนุรักษนิยม เพื่อให้เขาเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยชื่อเสียงด้านความรักชาติและความเป็นผู้นำของเขาในช่วงสงคราม[58]
ในเดือนเมษายน กองเรือทะเลดำเริ่มเข้าสู่ความโกลาหลอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความหัวรุนแรงของเหล่ากะลาสีโซเวียต[55] ในเดือนพฤษภาคม คอลชัคเดินทางไปยังเปโตรกราดชั่วครู่ เนื่องจากเขาได้รับคำสั่งจากกองเรือบอลติกให้พยายามจำกัดสถานการณ์การปฏิวัติที่ละเอียดอ่อนไว้ที่นั่น[60] ระหว่างที่อยู่ในเปโตรกราด คอลชัคแสดงความเห็นดีด้วยกับการใช้ทหารระงับจราจลตามข้อเสนอของผู้บัญชาการทหารเปโตรกราดลัฟร์ คอร์นีลอฟ ซึ่งในขณะนั้นได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรง[58] หลังจากเดินทางกลับทะเลดำ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 9 มิถุนายน] เขาถูกเรียกร้องให้ปลดอาวุธโดยสภาทหารโซเวียต[25] เนื่องจากทางนั้นเชื่อว่ามีผู้สมรู้ร่วมคิดต่อต้านการปฏิวัติในหมู่นายทหารเรือ[52][61] อย่างไรก็ตาม คอลชัลได้ปฏิเสธที่จะมอบดาบประจำตัวของเขาให้แก่สภาโซเวียต[61] แล้วจึงโยนดาบเล่มนี้ทิ้งลงทะเล[52][12][25] และเดินทางไปเปโตรกราดอีกครั้งเพื่อพยายามโน้มน้าวรัฐบาลให้เห็นถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูระเบียบวินัยภายในกองทัพ[62][d]
นายกรัฐมนตรีอะเลคซันดร์ เคเรนสกี เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้ค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับการที่จะนำคอลชัคขึ้นเป็นว่าที่เผด็จการคนใหม่[63] และเมื่อสหรัฐได้ร้องขอถึงคำแนะนำจากรัสเซียสำหรับปฏิบัติการที่เป็นไปได้กับการโจมตีคอนสแตนติโนเปิล เคเรนสกีจึงสั่งให้คอลชัคเดินทางออกนอกประเทศทันทีในฐานะที่ปรึกษาทางทหารของสหราชอาณาจักรและสหรัฐ[64] เขาเดินทางไปสหรัฐโดยผ่านบาร์เกิน ลอนดอน และแคนาดา การเดินทางของเขาในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการรับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐ แต่จากคณะผู้แทนกองเรืออเมริกันที่ไปเยือนรัสเซียในคราวก่อน[63] เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 28 สิงหาคม] เขาเดินทางมาถึงเมืองหลวงของสหรัฐ[63] ซึ่งทางรัฐบาลวอชิงตันที่ไม่ได้รับเชิญเขานั้น ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ในภารกิจของเขา[65] คอลชัคได้ตั้งข้อสันนิษฐานจากการหารือกับคณะผู้แทนกองทัพเรือสหรัฐในรัสเซียว่ารัฐบาลวอชิงตันวางแผนที่จะปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกเพื่อโจมตีช่องแคบออตโตมัน และน่าจะต้องการคำแนะนำจากรัสเซียเกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ แต่เมื่อมาถึงสหรัฐก็เป็นที่ชัดเจนว่าไม่ใช่เพราะเรื่องนี้[66] หลายสัปดาห์ต่อมา หลังจากการพาเยี่ยมชมศูนย์และให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่กองทัพเรือสหรัฐ เขาก็เตรียมที่จะเดินทางกลับรัสเซีย[67] แต่ด้วยทะเลบอลติกในขณะนี้ถูกฝ่ายมหาอำนาจกลางก่อกวน คอลชัคจึงตัดสินใจที่จะกลับรัสเซียโดยผ่านเอเชียในปลายเดือนถัดไป[67] ในวันที่ 26 ตุลาคม คณะผู้แทนรัสเซียเดินทางมาถึงซานฟรานซิสโก และในวันที่ 9 พฤศจิกายน เขาออกเดินทางกลับวลาดีวอสตอคด้วยเรือญี่ปุ่น[67]
สงครามกลางเมืองรัสเซีย
แก้การเคลื่อนไหวต่อต้านปฏิวัติครั้งแรก
แก้ในขณะที่คอลชัคอยู่ที่สหรัฐและกำลังเดินทางไปซานฟรานซิสโกเพื่อที่จะกลับรัสเซียโดยใช้เส้นทางผ่านญี่ปุ่น ได้เกิดการปฏิวัติบอลเชวิคขึ้นในรัสเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917[64][2] เขาประกาศว่าจะอุทิศตนอย่างถึงที่สุดเพื่อต่อสู้กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง และเสนอตัวให้กับทางราชนาวีอังกฤษเพื่อดำเนินการต่อสู้ต่อไป[64][68] แม้ว่าเขาจะทราบดีถึงความจำเป็นในการสถาปนาระบอบเผด็จการในรัสเซีย แต่คอลชัคก็ไม่เต็มใจที่จะเป็นผู้นำขบวนการขาวเพื่อตอบสนองต่อจุดประสงค์นี้ และเห็นชอบที่จะเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษเพื่อเข้าร่วมสงครามต่อไป[68] ซึ่งทางกองทัพอังกฤษได้ตอบรับข้อเสนอของเขาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1917[69] เขาคัดค้านสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์และมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเยอรมนีต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะทางทหาร[57]
ในตอนแรก ทางอังกฤษจะส่งเขาไปที่เมโสโปเตเมีย[64][69] แต่ท้ายที่สุด รัฐบาลอังกฤษก็พิจารณาว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่า หากเขาช่วยกวาดล้างพวกบอลเชวิคและนำรัสเซียกลับเข้าสู่สงคราม[64] ระหว่างทางกลับรัสเซีย ที่กรุงปักกิ่งเขาไม่สามารถดำเนินการรวบรวมหน่วยรัสเซียในแมนจูเรียเพื่อสนับสนุนการต่อต้านบอลเชวิคได้[70][69][2][71][72] เนื่องจากเผชิญกับการคัดค้านของญี่ปุ่น[73] เป็นเวลาเกือบสองเดือนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 ที่เขาพยายามรวบรวมกองกำลังจากรัสเซีย จีน และมองโกเลีย ซึ่งอยู่ในความควบคุมของรัสเซียตามเส้นทางรถไฟสายทรานส์แมนจูเรีย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ[74] ในช่วงเวลานี้ คอลชัคได้เข้าพบกับผู้นำต่อต้านปฏิวัติคนอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งผู้นำคอสแซคกริกอรี เซมิโอนอฟ และอีวาน คัลมือคอฟ ซึ่งต่อมาพวกเขาเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกันในภายหลัง[73]
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 คอลชัคเข้าเป็นนายทหารของรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายพลฮอร์วัตในฮาร์บิน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น[75] เขาพยายามอย่างสูญเปล่าที่จะโน้มน้าวเซมิโอนอฟ ซึ่งหลังจากการสนทนากับคอลชัค เขาก็ได้ประกาศตนเป็นผู้นำอิสระไม่ตรงต่อนายพลฮอร์วัต พร้อมทั้งแยกทางกับคอลชัคที่พยายามให้เขาละทิ้งความร่วมมือกับญี่ปุ่น[76] หลังจากการโต้เถียงกับเซมิโอนอฟ คอลชัคจึงถอนความเชื่อมั่นของเขาที่มีต่อญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ไป[72] เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับญี่ปุ่นแย่ลง ฮอร์วัตจึงปลดเขาเขาออกจากตำแหน่งในปลายเดือนพฤษภาคม โดยให้เขาไปเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับรองแทน[77] คอลชัคได้พยายามใช้หน่วยทหารนี้เคลื่อนกำลังไปยังวลาดีวอสตอค แต่ก็ถูกคัลมือคอฟขัดขวางไว้[77]
ล้มล้างคณะกรรมาธิการออมสค์และก้าวเป็นผู้ปกครองสูงสุด
แก้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน เขาตัดสินใจลาออกจากหน่วยทหารท่ามกลางการคัดค้านจากเหล่านายพล เนื่องจากอาการป่วยของเขาและเข้าพักฟื้นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงนี้เขาได้ติดต่อกับอังกฤษอีกครั้ง[73] ที่ญี่ปุ่นเขาได้สร้างมิตรภาพกับนายพลอัลเฟรด น็อกซ์ อดีตนายทหารอังกฤษประจำรัสเซียและเป็นหัวหน้าภารกิจทางทหารของกองทัพอังกฤษ[71] ซึ่งเขาผู้นี้กำลังมีแผนที่จะเดินทางไปไซบีเรีย โดยนายพลน็อกซ์นั้นนอกจากจะถูกมองว่าเป็นผู้สังเกตสถานการณ์ในรัสเซียได้อย่างเฉียบขาดแล้ว เขายังเป็นผู้มีแนวคิดเผด็จการและเกลียดชังขบวนการสังคมนิยมอีกด้วย[73] คอลชัคได้เดินทางพร้อมน็อกซ์กลับรัสเซีย[71] และไปถึงยังวลาดีวอสตอคเมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1918[78]
จากนั้นคอลชัคได้เดินทางต่อไปยังออมสค์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1918[78] โดยมีจุดมุ่งหมายการเดินทางที่ไครเมีย ซึ่งครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่นั่น และเขาวางแผนที่จะเข้าร่วมการต่อสู้กับรัฐบาลโซเวียต[70] ขณะที่อยู่ในเมืองนี้ คอลชัคได้รับข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการชุดใหม่ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม[79][78] ซึ่งเขาตอบตกลงในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[70][2] โดยได้รับความเห็นชอบจากน็อกซ์ด้วย[80] คณะกรรมาธิการชุดนี้เป็นการจัดตั้งขึ้นผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลชั่วคราวไซบีเรียและโคมุช ที่รวมตัวกันเป็นพันธมิตรอย่างหละหลวมในกลุ่มเสรีนิยม อนุรักษนิยม และแนวร่วมประชาธิปไตยสังคมนิยม (พรรคสังคมนิยมปฏิวัติและเมนเชวิค)[80] ซึ่งมีจุดประสงค์เพียงหนึ่งเดียวคือการต่อต้านบอลเชวิค[81] คอลชัคกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในคณะรัฐมนตรีสิบสี่คน โดยคณะกรรมาธิการหวังว่าจะใช้ประโยชน์จากความเคารพที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนายพลอัลเฟรด น็อกซ์ แห่งกองทัพอังกฤษ[82] ด้วยประสบการณ์การต่อสู้ ความรักชาติ และความอนุรักษนิยมของเขา ทำให้คอลชัคเป็นดังสัญลักษณ์แห่งความซื่อสัตย์ท่ามกลางความเสื่อมทรามและการทุจริต จากชื่อเสียงในฐานะนักสำรวจและหนึ่งในนายทหารที่ดีที่สุดในกองทัพเรือ ทำให้เขากลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนหลากหลายฝ่าย[2]
แม้จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในปลายเดือนตุลาคม แต่การสิ้นสุดลงของคณะกรรมาธิการก็ใกล้เข้ามาทุกที; กองกำลังสำคัญต่าง ๆ ได้สมคบคิดแผนการเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและประกาศระบอบเผด็จการโดยมีน็อกซ์ร่วมด้วย ตามบันทึกของผู้บัญชาการกองกำลังประจำคณะกรรมาธิการ นายพลบอลดือเรฟ ได้เพ่งเล็งไปที่คอลชัคในฐานะว่าที่เผด็จการ[2] ก่อนที่น็อกซ์จะเดินทางออกจากวลาดีวอสตอคไปออมสค์ เขาได้บอกกับผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองของอังกฤษว่าคอลชัคเป็น "ชาวรัสเซียที่ดีที่สุดสำหรับจุดประสงค์ของเราในตะวันออกไกล"[71]
ไม่กี่วันต่อมา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่คอสแซคอีวาน คราซิลนีคอฟ ได้จับกุมนีโคไล อัฟค์เซนเตียฟ วลาดีมีร์ เซนซีนอฟ และผู้นำกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติคนอื่น ๆ[83][84][85] การรัฐประหารนี้เป็นการสมรู้ร่วมคิดของน็อกซ์และกองทัพอังกฤษ[3] แม้ว่าการมีส่วนร่วมโดยตรงของพวกเขาจะเป็นที่ถกเถียงกันก็ตาม[86][87] ทางอังกฤษได้มอบหมายกองทหารของตนให้คุ้มกันตัวของคอลชัค (นับเป็นรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนี้) อีกทั้งยังปกป้องอาคารราชการและลาดตระเวนตามท้องถนนในเมืองหลังการรัฐประหาร เพื่อป้องกันการกระทำทางอาวุธที่เป็นไปได้ในการป้องกันทำเนียบโดยหน่วยทหารเชโกสโลวัก[88][80][89] โดยส่วนมากแล้ว ตัวแทนจากฝ่ายสัมพันธมิตรประจำรัสเซียสนับสนุนการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นเผด็จการทหาร[87]
ภายหลังการพิจารณาโทษและขับไล่ผู้บัญชาการกองกำลังของคณะกรรมาธิการ นายพลวาซีลี บอลดือเรฟ[83][82] บรรดาสมาชิกคณะรัฐมนตรีตัดสินใจมอบอำนาจเต็มให้แก่คอลชัค[90] ในฐานะผู้ปกครองสูงสุด (Verjovny Pravítel)[85] ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ[84][91] และผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพบกและกองทัพเรือ[3] แม้ว่าคอลชัคจะสนับสนุนการสถาปนาระบอบเผด็จการทหาร แต่เขาก็ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการรัฐประหารในครั้งนี้[83] และในเวลานั้นเขาจงใจไม่พำนักอยู่ในออมสค์[90] ต่อมาคอลชัคได้รับการเลื่อนยศเป็นพลเรือเอกโดยคณะรัฐมนตรี[89][92] หลังจากนั้นไม่นาน มีการเนรเทศผู้นำฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติจำนวนมากที่ถูกจับกุมระหว่างการรัฐประหาร[82] โดยมีเงื่อนไขว่าต้องละทิ้งกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด[93] สำหรับกำลังทหารที่เข้าร่วมในการรัฐประหารได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นจำนวนมาก[94][82][90][85]
ปฏิกิริยาต่อการรัฐประหารนั้นมีอย่างหลากหลาย[90] ทั้งจากฝ่ายตรงข้าม (ฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและเมนเชวิค) หน่วยทหารเชโกสโลวัก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไปจนถึงความกังขาของผู้สนับสนุนการปกครองตนเองในไซบีเรียอย่างเซมิโอนอฟและญี่ปุ่น อีกทั้งยังถูกเมินเฉยโดยชาวนาส่วนใหญ่ คาเดตส์และพรรคฝ่ายขวา บรรดาข้าราชการ วงการธุรกิจ หรือแม้แต่ตัวแทนฝ่ายพันธมิตรต่าง ๆ ในภูมิภาค[95]
ระบอบเผด็จการและผู้ปกครองสูงสุด
แก้ช่วงเริ่มแรก
แก้บรรดานักสังคมนิยมปฏิวัติทั้งหลายต่างถูกจับกุมและเนรเทศออกจากไซบีเรียระหว่างการรัฐประหาร พร้อมทั้งคอลชัคได้กล่าวแถลงการณ์โดยมีใจความดังนี้:[96]
รัฐบาลชั่วคราวรัสเซียได้สิ้นสุดลงแล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือได้มอบอำนาจนี้แก่ข้าพเจ้า พลเรือเอกอะเลคซันดร์ คอลชัค ข้าพเจ้าจะยอมรับความรับผิดชอบนี้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างยิ่งของสงครามกลางเมืองและความระส่ำระสายของประเทศ และบัดนี้ข้าพเจ้าได้แสดงให้รู้ว่าข้าพเจ้าจะไม่เดินตามเส้นทางปฏิกิริยาหรือเส้นทางมรณะของการต่อสู้แบบพลพรรค จุดประสงค์หลักของข้าพเจ้าคือการจัดตั้งกองกำลังต่อสู้ การโค่นล้มพวกบอลเชวิค และการจัดตั้งกฎหมายและความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนรัสเซียสามารถเลือกรูปแบบการปกครองตามความปรารถนาของพวกเขาได้ พร้อมทั้งบรรลุถึงอุดมคติอันสูงส่งแห่งเสรีภาพและอิสรภาพ ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านที่เป็นพลเมืองให้รวมกันและเสียสละทุกอย่างหากจำเป็น เพื่อต่อสู้กับพวกบอลเชวิค
หนึ่งในมาตรการที่ได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลชุดใหม่ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจสินค้าบางส่วน ที่ก่อนหน้านี้ถูกบอลเชวิคกำหนดให้เป็นของส่วนรวม เพื่อให้เป็นที่พอใจของสภาการค้าและอุตสาหกรรมไซบีเรีย ซึ่งทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไรและการขาดแคลนผลิตภัณฑ์[97] นักธุรกิจที่สนับสนุนการรัฐประหารยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อประเด็นเศรษฐกิจในยุคเผด็จการทั้งจากภายในและภายนอกรัฐบาล[97]
ฝ่ายสัมพันธมิตร
แก้เพื่อให้ได้รับความชื่นชอบจากฝ่ายสัมพันธมิตรและต่อความคิดเห็นสาธารณชนต่างประเทศ ระบอบเผด็จการยังคงโฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แม้ในภูมิภาคจะประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[98] นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแสดงท่วงท่าต่อฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลใหม่จึงสัญญาจะชำระหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลของรัสเซีย[99][100] ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลบอลเชวิคปฏิเสธ[98] ภารกิจทางทหารของกองทัพอังกฤษกลายมาเป็นหนึ่งในเสาหลักพื้นฐานของระบอบการปกครองใหม่ของคอลชัคในไซบีเรีย[101][100] เมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1919 นายพลน็อกซ์ได้รับมอบหมายให้ดูแลหน่วยรบแนวหลัง ส่วนนายพลฝรั่งเศสโมริส ฌาแน็ง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทหารต่างชาติในแนวรบหน้า[102][103][80] อังกฤษถือเป็นผู้จัดหายุทโธปกรณ์และเงินทุนสนับสนุนหลักให้แก่ระบอบคอลชัค[100][104] ภายหลังการถอนกำลังพลของหน่วยทหารเชโกสโลวักจากแนวหน้าเพื่อเฝ้าระวังทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียในช่วงต้น ค.ศ. 1919[102] ส่งผลให้คำสั่งและอิทธิพลของนายพลฌาแน็ง มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับน็อกซ์[80]
ทหารอเมริกันราวแปดพันนายที่ประจำการอยู่ในไซบีเรียได้รับคำสั่งให้เป็นกลางต่อ "กิจการภายในของรัสเซีย" อย่างเคร่งครัด โดยถูกจำกัดหน้าที่อยู่เพียงการดำเนินการรักษาทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียในตะวันออกไกลเท่านั้น[100] ผู้บัญชาการทหารสหรัฐวิลเลียม เอส. เกรฟส์ แสดงท่าทีไม่พอใจต่อรัฐบาลของคอลชัคที่มีลักษณะเป็นพวกปฏิกิริยาและอำนาจนิยม[100] ประธานาธิบดีสหรัฐวูดโรว์ วิลสัน ยังคงมีเจตคติที่จะช่วยเหลือรัฐบาลคอลชัคทั้งทางอาวุธและการรับรอง แม้จะมีความวิตกกังวลต่อระบอบเผด็จการรัสเซียก็ตาม ถึงอย่างนั้นรัฐบาลคอลชัคก็ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ[100]
เชโกสโลวาเกียเป็นปรปักษ์กับคอลชัคตั้งแต่แรก[105] เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ทางสภาแห่งชาติเช็กได้ออกมติประณามการทํารัฐประหารและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับระบอบการปกครองใหม่[105] ต่อมาไม่นานก็เกิดกบฏขึ้นในหมู่กองทหาร พร้อมทั้งราโดลา กัยดา ผู้บัญชาการหน่วยทหารเชโกสโลวัก ซึ่งถูกทางสภาแห่งชาติเช็กขัดขวางมิให้ลงโทษผู้ก่อการจราจล ได้ปลดตนเองจากหน่วยทหารและไปเข้าร่วมกับกองทัพในสังกัดคอลชัค[106] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1919 หน่วยทหารปฏิเสธที่จะประจำการในแนวรบหน้าและถอนกำลังกลับไปดูแลยังแนวหลัง โดยรับหน้าที่ลาดตระเวนทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียระหว่างเยคาเตรินบุร์ก เชเลียบินสค์ และอีร์คุตสค์[106][102]
ในช่วงเวลานั้น กองทัพสัมพันธมิตรประมาณหนึ่งแสนนายที่ประจำการอยู่ในไซบีเรียถูกส่งไปยังแนวหน้า ซึ่งตามคำสั่งอย่างเป็นทางการระบุว่าเพื่อช่วยเหลือหน่วยทหารเชโกสโลวักในการสร้างแนวรบด้านตะวันออกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลโซเวียต[107] หน่วยทหารเช็กและกองกำลังภารกิจทางทหารของอังกฤษ สหรัฐ อิตาลี และฝรั่งเศส ยังคงปกป้องแนวหลังของคอลชัคและเปิดเส้นทางเสบียงยาว 4,000 ไมล์ จากวลาดีวอสตอคไปยังออมสค์ ตามทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย[108][102] คอลชัคไม่เคยเห็นด้วยกับการแบ่งพื้นที่เฝ้าระวังของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่เขาก็ไม่ได้คัดค้านอะไรมากมายนัก เพราะมองว่าเป็นการเปิดเส้นทางส่งเสบียงที่จำเป็นสำหรับรัฐบาลของเขา อีกทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรก็รับประกันการดำเนินการเหล่านี้อีกด้วย[109]
ในช่วงปลาย ค.ศ. 1918 คอลชัคได้มอบหมายให้อดีตนายกรัฐมนตรีเสรีนิยมของรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย เจ้าชายเกออร์กี ลวอฟ เป็นตัวแทนของรัฐบาลเพื่อพยายามขอการรับรองในระดับสากลจากฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[108] อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยังสนับสนุนคอลชัคทั้งทางทหารและเสบียงต่อไป โดยในช่วงหกเดือนแรกของ ค.ศ. 1919 กองทัพขาวได้รับปืนไรเฟิลหนึ่งล้านกระบอก ปืนกลหนึ่งหมื่นห้าพันกระบอก ปืนใหญ่เจ็ดร้อยกระบอก ตลับกระสุนแปดร้อยล้านตลับ เสื้อผ้า และยุทโธปกรณ์ทางทหารสำหรับกำลังพลกว่าครึ่งล้านคน[108] แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะทราบว่าสัดส่วนของยุทโธปกรณ์เหล่านั้นไปถึงแนวหน้าเท่าใด[110] ปริมาณกระสุนที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งไปให้กองกำลังของคอลชัคในช่วงเวลานี้เทียบเท่าได้กับการผลิตของโซเวียตตลอดทั้งปี[108]
เผด็จการและประชาธิปไตย
แก้นอกจากรัฐธรรมนูญที่อยู่เพียงเบื้องหน้า ระบอบเผด็จการคอลชัคได้ละทิ้งความพยายามทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพ[98] มีการกีดกันไม่ให้คณะรัฐมนตรีเก่าจากคณะกรรมาธิการเข้าควบคุมงานของรัฐบาลและได้มอบอำนาจให้แก่กองทัพ ซึ่งส่งผลให้เกิดการทุจริตและความไร้ประสิทธิภาพภายในรัฐบาล โดยกองทัพได้ใช้อำนาจต่าง ๆ ในการฟื้นฟูศักดินาและดำเนินการแก้แค้นเป็นการส่วนตัวต่อผู้ที่ถูกพิจารณาว่ามีความผิดจากการสูญเสียสิทธิพิเศษในอดีต[111][107] เสนาธิการทหารคนใหม่ พันเอกดมีตรี เลเบเดฟ ได้ขยายอำนาจควบคุมกองทัพทีละน้อยผ่านดินแดนภายใต้การดูแลของคอลชัคและเริ่มแทรกซึมเข้าไปในฝ่ายบริหาร[112] เลเบเดฟที่ตอนนี้มีทหารในสังกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ว่าจ้างทหารหลายพันคนให้หลบเลี่ยงแนวหน้า[113] และมอบหมายงานที่ไร้ประโยชน์ในคณะกรรมการต่าง ๆ โดยไม่มีผลลัพธ์ใด ๆ[112] ฝ่ายของคอลชัคซึ่งก่อตัวขึ้นจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในสภาปกครองสูงสุด[95] ได้รับความสำคัญทางการเมืองเพิ่มขึ้นและทำให้คณะรัฐมนตรีจนตรอก[95] โดยคณะรัฐมนตรีค่อย ๆ สูญเสียอิทธิพลของตนไปในช่วงครึ่งแรกของ ค.ศ. 1919[114]
การนำประชาธิปไตยมาไว้ฉากหน้าจำเป็นอย่างมากต่อการได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสัมพันธมิตรและการได้รับการรับรองในฐานะรัฐบาลที่แท้จริงของรัสเซีย (ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่ได้รับการยอมรับ) เนื่องจากจะทำให้รัฐบาลได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น การมีส่วนร่วมในการประชุมสันติภาพปารีส, ได้รับอาวุธและเสบียงที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้กับรัฐบาลโซเวียต, ควบคุมการเคลื่อนไหวที่ไม่มั่นคงของญี่ปุ่นในตะวันออกไกล และบรรเทาความเป็นปรปักษ์ลงระหว่างหน่วยทหารเชโกสโลวัก[115] อย่างไรก็ตาม คอลชัคได้เก็บงำความเห็นอกเห็นใจเพียงเล็กน้อยที่มีต่อประชาธิปไตยและปฏิเสธที่จะพิจารณาให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตภายหลังสงครามหรือยอมรับการมีส่วนร่วมของฝ่ายสังคมนิยม[116][107]
บรรดาคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่แล้วมาจากพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ (คาเดตส์) ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับโครงการของรัฐบาลและอุดมการณ์ของระบอบการปกครอง[117] ซึ่งความใกล้ชิดระหว่างคอลชัคและคาเดตส์นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ทางการเมืองของเขาที่ขาดแคลนและเพื่อแบ่งปันความทุ่มเทต่ออุดมคติของรัฐรัสเซียอันยิ่งใหญ่[117] ด้วยความพ่ายแพ้ทางทหารในฤดูร้อน ค.ศ. 1919 จุดเด่นสามประการที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัดในรัฐบาลคอลชัค ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในอดีต ได้แก่ ลัทธิคลั่งชาติ ความเกลียดกลัวต่างชาติ และการต่อต้านยิว สิ่งทั้งหมดนี้มักถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนสำหรับความผิดพลาดของเขา[118][119]
เผด็จการและสภาพแวดล้อม
แก้แทนที่คอลชัคจะปกครองดินแดนผ่านอำนาจของคณะรัฐมนตรี เขากลับนิยมใช้อำนาจทางอ้อมในการบริหารมากกว่า กลุ่มของเขาจึงเต็มไปด้วยบุคคลใกล้ชิดและที่ปรึกษานอกราชการ[120] ตามหลักทางกฎหมายแล้ว อำนาจของเขาถูกคณะรัฐมนตรีควบคุม[117] แต่เขาได้ผ่าน "มาตรการพิเศษ" ที่ทำให้เขาสามารถหลบเลี่ยงการควบคุมอำนาจได้[121] นอกจากนี้ กองกำลังปฏิกิริยาส่วนใหญ่ก็เข้าร่วมกับรัฐบาลคอลชัคด้วย[122] ซึ่งบุคคลเหล่านี้กีดกันเขาให้ห่างออกจากคณะรัฐมนตรีมากขึ้นเรื่อย ๆ[121] และในไม่ช้าพวกคนประจบสอพลอและผู้แสวงหาผลประโยชน์จึงสามารถใช้อำนาจของคอลชัคได้ตามอำเภอใจ[121] เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1918 มีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการประทุษร้ายเผด็จการ โดยผู้ที่ต่อต้านเผด็จการมีโทษถึงประหารชีวิต ส่วนผู้ที่กล่าวหาว่าร้ายมีโทษจำคุกตลอดชีวิต[123] แม้จะมีการโฆษณาชวนเชื่อ แต่คอลชัคผู้รักชาติอย่างแรงกล้า มีบุคลิกที่แปลกประหลาด[117] และเป็นที่สนใจของฝ่ายสัมพันธมิตร[123] ก็ไม่ได้เปิดเผยตนเองว่าเป็นนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์[123] หรือผู้บัญชาการทหารแต่อย่างใด[124] เขาปราศจากความเฉลียวฉลาดทางการเมืองและความสามารถพิเศษที่จำเป็นในการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ภูมิหลังทางการศึกษาและการเป็นทหารไม่ได้เตรียมให้เขาพร้อมสำหรับงานที่ยากอย่างยิ่งในการเอาชนะรัฐบาลโซเวียตจากไซบีเรียที่ด้อยพัฒนา[124] โครงการทางการเมืองของคอลชัคสะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในทัศนคติส่วนตัวของเขามากกว่าเพื่อดึงดูดแรงสนับสนุนจากประชาชน[125] ความสามารถในการจัดการกับผู้ใต้บัญชาของเขาไม่มีเลย ซึ่งเขาคุ้นเคยกับการออกคำสั่งและวิธีไม่เจรจาเป็นปรกติวิสัย[125] ด้วยความทุ่มเทและทำงานหนัก ทำให้เขาแทบไม่รู้สึกถึงความซับซ้อนของการบริหารรัฐกิจเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ได้สร้างความประทับให้กับผู้ร่วมสมัยเดียวกับช่วงเผด็จการของเขาเช่นกัน[125]
คอลชัคให้ความสำคัญกับเรื่องการทหารมากกว่าการเมือง: โดยเขามุ่งเน้นสนใจเรื่องการทหารอย่างเข้มข้น แต่กลับปล่อยละเลยการเมืองและเข้าพบคณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งคราว[126] แม้ว่าเขาจะไม่ทราบถึงเรื่องการรบภาคพื้นดิน แต่คอลชัคก็พยายามควบคุมการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างมาก[126] ประมาณหนึ่งในสามของช่วงเวลาการปกครองของเขา คอลชัคมักจะออกตรวจตราแนวรบหน้าตลอดและไม่ชอบที่จะทำงานอยู่ในเมืองหลวง[127] อย่างไรก็ตาม การออกตรวจตราแนวรบหน้าก็ไม่ได้รับประกันว่าเขาจะสามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ผู้นำคอสแซ็กที่ทำตัวเหมือนเจ้าแผ่นดินเท่านั้น ยังรวมถึงกองทัพแนวหน้าที่บางครั้งก็ดื้อรั้นและไม่เชื่อฟังด้วย[117]
แม้ว่าเขาจะดำรงตำแหน่งผู้เผด็จการ แต่บุคลิกภาพของคอลชัคนั้นกลับไม่เหมาะสมกลับตำแหน่งดังกล่าว[127][117] ด้วยกฎเกณฑ์ทางการเมืองและการทหารเพียงเล็กน้อย เขาจึงได้รับอิทธิพลอย่างง่ายดายและได้กำหนดเป้าหมายของตนเพียงเล็กน้อย[127] เขาอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์อย่างมาก มักจะได้รับข้อมูลผิด ๆ และนิยมมอบหมายการตัดสินใจต่าง ๆ ให้กับผู้อื่น แม้เรื่องนั้นจะสำคัญที่สุดก็ตาม[117] โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ดำรงตำแหน่งในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1919 ได้กล่าวไว้ดังนี้:[128]
ไม่มีแผนการ ระบบ หรือเป้าหมายของตนเอง ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นเหมือนขี้ผึ้งอ่อนที่ที่ปรึกษาและผู้ติดตามของเขาหล่อหลอมขึ้นมาตามความประสงค์ เขาเป็นเหมือนของเล่นที่ทำอะไรไม่ถูกในมือของผู้ที่ได้รับความไว้วางใจและชนะใจเขา
ในภาพรวมแล้ว คอลชัคขาดความสามารถที่จำเป็นในการบริหาร เขาไม่มีแม้กระทั่งที่ปรึกษาหรือผู้บริหารร่วมกับเขา ตัวเขาอยู่ท่ามกลางนักฉวยโอกาสและผู้แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้รู้จุดอ่อนของคอลชัคเป็นอย่างดี เพียงแค่เสนอแผนการจอมปลอมโดยอ้างถึงความจำเป็นของประเทศหรือขบวนการขาวก็พอแล้วสำหรับการทุจริตต่าง ๆ[128] ส่วนหนึ่งของความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารของคอลชัค เกิดจากการเลือกบุคลากรของเขาเอง[110][117] แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุเดียว เพราะตามจริงแล้วรัฐบาลของเขาขาดแคลนนักการเมืองและผู้บริหารที่มีความสามารถในภูมิภาคนี้[129]
สุขภาพของคอลชัคก็ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งเผด็จการเช่นกัน: จากการเดินทางสำรวจอาร์กติก, การทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีในกองทัพเรือและแนวหน้า และสภาพจิตใจที่ตกต่ำอย่างหนักในช่วงการปฏิวัติได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเขาอย่างยิ่ง[129] คอลชัคเป็นโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งเกือบทำให้เขาเสียชีวิต คอลชัคกลับมาปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ท่าทางของเขาแสดงความรู้สึกผ่านความเหนื่อยล้าและอาการป่วยอยู่ตลอดเวลา[129]
สภาพสังคม
แก้จากชัยชนะทางทหารในฤดูหนาว ค.ศ. 1919 ทำให้การผ่านกฎหมายเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายทางสังคมที่ล่าช้าไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิ[130] เนื่องจากรัฐบาลมุ่งความสนใจไปที่กิจการทางทหารและไม่เต็มใจที่จะจัดการกับประเด็นขัดแย้งในขบวนการขาว[131] ซึ่งท้ายที่สุดกฎหมายฉบับที่ผ่านในฤดูใบไม้ผลิก็ไม่สมบูรณ์ มีความขัดกับฉบับอื่น และถูกกำหนดเป็นฉบับชั่วคราวเท่านั้น[131]
ในช่วงปลาย ค.ศ. 1919 เซอร์ชาลส์ เอเลียต ผู้แทนสหราชอาณาจักรในไซบีเรีย ได้อธิบายต่อรัฐบาลลอนดอนว่าระบอบคอลชัคนั้นไม่เป็นที่นิยม ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นผู้มั่งคั่ง กองทัพ และข้าราชการเท่านั้น ภายในกองทัพเต็มไปด้วยพวกปฏิกิริยา[132] ฝักใฝ่ราชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ และมีภาพลักษณ์เสรีนิยมน้อยกว่าการโฆษณาชวนเชื่อในหมู่ประชากรมาก[133] การโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลโซเวียตยังมีประสิทธิผลมากกว่าระบอบคอลชัคที่เน้นสร้างความประทับใจให้แก่พวกปฏิกิริยาและสนับสนุนการฟื้นฟูระบอบซาร์เก่า[132]
การที่ไม่สามารถกำหนดการควบคุมพื้นที่ชนบทจากรัฐบาลกลางได้ คอลชัคจึงตัดสินใจละทิ้งการจัดเลือกตั้งและขยายโครงสร้างขององค์กรเซมสตโว (Zemstvo) ในท้องที่ชนบท อีกทั้งยังถูกกวาดล้างโดยสมาชิกของกองทัพที่เป็นศัตรูกับรัฐบาล[134] องค์กรส่วนท้องถิ่นจำนวนมากเป็นอัมพาต เนื่องจากปราศจากอำนาจที่แท้จริง[134] การควบคุมด้านการบริหารยังคงอยู่ในมือของกระทรวงมหาดไทย[134]
แม้จะมีการจัดการเลือกตั้งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสภาดูมาท้องถิ่น แต่เนื่องด้วยการปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมืองของระบอบคอลชัค และความเสี่ยงที่ฝ่ายตรงข้ามจะโจมตีกลับ จึงมีการงดออกเสียงในจำนวนที่สูงอย่างยิ่ง[135]
ความสัมพันธ์ของชาวไร่ชาวนาที่มีต่อระบอบคอลชัคไม่ดีมากนัก เป็นเพราะฝ่ายบริหารไม่สามารถกำหนดถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ชัดเจน[136][137] ด้วยกลวิธีทางกฎหมายได้ระบุว่าเรื่องเหล่านี้ถือเป็นการตัดสินใจของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในอนาคต จากการคืนที่ดินบางส่วนให้กับเจ้าของที่ดิน และการเวนคืนพื้นที่ที่ชาวนาครอบครองโดยรัฐ ตลอดจนการตัดสินใจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้สร้างความหวาดระแวงต่อชาวนาอย่างมาก ซึ่งพวกเขามองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นเพียงกลอุบายที่ซ่อนไว้เพื่อที่จะกลับคืนสู่สถานการณ์ก่อนการปฏิวัติเท่านั้น[136][138] อีกทั้งการใช้ความรุนแรงของผู้นำคอสแซ็ก (ซึ่งในทางกฎหมายได้ยอมสวามิภักดิ์แก่คอลชัค แต่ในทางปฏิบัติแล้วอยู่นอกเหนือการควบคุมของเขา[100][105]) ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นปรปักษ์ของชาวนาที่มีต่อระบอบคอลชัค ซึ่งด้วยการกระทำที่เป็นการลงโทษอย่างป่าเถื่อนต่อเมืองที่ต่อต้าน และการเรียกเก็บหรือการชำระภาษี ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง[139][140][138]
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยในภูมิภาคก็ไม่ดีเช่นกัน เนื่องจากการสร้างลัทธิคลั่งชาติรัสเซียของคอลชัค ข้าราชการ และนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ ซึ่งต่อต้านลัทธิชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่แล้วมีอุดมการณ์ต่อต้านแนวคิดรัสเซียเดียว[141][142][143] แม้ว่าประเด็นนี้จะมีความสำคัญรองลงมาในภูมิภาคไซบีเรีย[141] แต่ก็ทำให้ขบวนการขาวขาดการสนับสนุนที่สำคัญไป และยังสร้างความขัดแย้งกับขบวนการชาตินิยมด้วย เช่น กรณีของรัฐบาลฟินแลนด์ในฤดูร้อน ค.ศ. 1919 ซึ่งยินดีที่จะเคลื่อนกำลังพลเข้าสู่เปโตกราดเพื่อแลกกับเงื่อนไขในการรับรองเอกราชของประเทศ แต่คอลชัคปฏิเสธข้อตกลงดังกล่าว[144][143]
อุตสาหกรรมภายในภูมิภาคเป็นไปอย่างจำกัด โดยในตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไซบีเรียมีจำนวนโรงงานเพียง 10.5 % ของโรงงานทั้งหมดในประเทศ มีจำนวนแรงงาน 4.3 % และการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็น 2.2 % เท่านั้น[145] โรงงานในไซบีเรียส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและเก่ากว่าโรงงานในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดยโรงงานเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบในภูมิภาคนี้ ขณะที่การผลิตเครื่องจักร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ หรืออาวุธแทบเป็นศูนย์[145] ในทรานส์ไซบีเรียต้องจ้างแรงงานราวหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมดในประเทศ และการบำรุงรักษาเกือบทั้งหมดขึ้นอยู่กับโรงงานที่อยู่ในมือของโซเวียต[145]
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสหภาพแรงงานก็ตึงเครียดเช่นกัน โดยกองทัพกระทำการปราบปรามสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง แม้ว่าการเรียกร้องโดยทั่วไปของสหภาพจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและไม่ใช่การเมือง[146] สิทธิในการนัดหยุดงานเป็นสิ่งต้องห้าม[147] ก่อนการยึดอำนาจของคอลชัค คนงานในไซบีเรียซึ่งเห็นด้วยกับการจลาจลต่อต้านโซเวียตนั้นเมินเฉยต่อรัฐบาลใหม่: ภายใต้การปกครองของคอลชัคสร้างความไม่พอใจ[130] และการประท้วงที่เพิ่มมากขึ้น[148] กระทรวงแรงงานที่อยู่ในการควบคุมของอดีตสมาชิกเมนเชวิค ไม่มีอำนาจที่จะบังคับมาตรการใด ๆ หรือหยุดการละเมิดโดยกองทัพได้เลย[147] กองทัพต้องการระงับสหภาพแรงงานเป็นที่สุด แต่ด้วยความสัมพันธ์กับพันธมิตรขัดขวางไม่ให้มีการยุบสหภาพแรงงาน แม้ว่าจะถูกปราบปรามอย่างรุนแรงก็ตาม[149]
ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลแสดงท่าทีให้เห็นอย่างชัดเจนว่านิยมบริษัทเอกชนมากกว่าสหกรณ์ที่แข็งแกร่งในภูมิภาค แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอุปทานและสงครามการผลิตได้[150] เมื่อเทียบกับสองร้อยล้านคนในสหกรณ์ที่สนับสนุนการทำสงครามของคอลชัค มีบริษัทเอกชนไม่ถึงสิบสองแห่งที่สนับสนุนรัฐบาล[151] ในแวดวงราชการบางส่วน โดยเฉพาะกองทัพ ถือว่าสหกรณ์มีความข้องเกี่ยวกับบอลเชวิค[152]
ส่วนหนึ่งของความไม่พอใจของประชาชนเกิดจากสาเหตุทางเศรษฐกิจ: สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่นำเข้ามาจากภูมิภาคอื่นหรือต่างประเทศก่อนสงครามกลางเมือง หรือแม้แต่สินค้าที่จำเป็นที่สุดก็มีราคาสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าโดยใช้เส้นทางรถไฟทรานส์ไซบีเรียได้ ซึ่งสงวนไว้ใช้เฉพาะทางการทหารเท่านั้น[153] ปัญหาการแจกจ่ายและขาดแคลนอาหารส่งผลกระทบต่อประชากรของเมือง ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้รากสาดใหญ่ ไข้ดำแดง หรือไข้หวัดใหญ่ ที่เริ่มหนักขึ้นตลอดช่วง ค.ศ. 1919[154] มาตรการของรัฐบาลในการปรับปรุงสถานการณ์แรงงานล่าช้าและไม่เต็มที่[155]
ปัญหาร้ายแรงอีกประการหนึ่งของรัฐบาลคือจำนวนผู้ลี้ภัยที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง ซึ่งรัฐบาลไม่พร้อมที่จะรับพวกเขา: ประชากรในออมสค์เปลี่ยนแปลงจาก 130,000 คน (ค.ศ. 1917) เป็นมากกว่าครึ่งล้านคนในสมัยรัฐบาลคอลชัค[155] สภาพความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยที่แม้จะมีฐานะมั่งคั่ง แต่บางส่วนยังอาศัยอยู่ในรถรางที่คับแคบ บ้างก็อยู่ในโรงแรมที่พลุกพล่านหรือกระท่อมแถบชานเมืองที่มีสภาพคล้ายกับที่พักแรงงาน[156] ประชากรเพิ่มสูงขึ้นจาก 15 ล้านคน ใน ค.ศ. 1917 เป็น 20 ล้านคน ใน ค.ศ. 1919 และตามการคำนวณของสหกรณ์ มีเพียงไซบีเรียตะวันตกเท่านั้นที่สามารถรองรับทรัพยากรสำหรับประชากรหกสิบล้านคนได้[157]
ทางรัฐบาลแม้จะทราบดีถึงความไม่พอใจของแรงงาน อันเป็นเหตุมาจากการที่ไม่สามารถจัดหาทรัพยากรอาหารและเชื้อเพลิงได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เหล่านี้ได้เนื่องจากปัจจัยหลายประการ: ทั้งด้วยความเมินเฉยของกองทัพต่อความต้องการของพลเรือน ความไม่พร้อมของฝ่ายบริหาร การนิยมบริษัทเอกชนมากกว่าสหกรณ์ท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และปัญหาการขนส่งภายใน[158]
การต่อสู้ครั้งแรก (พฤศจิกายน ค.ศ. 1918-มกราคม ค.ศ. 1919)
แก้จากการที่กองกำลังขาวของคอลชัคประสบความสำเร็จในการรบอย่างโดดเด่นในช่วงแรก[159] ทำให้ข่าวความโกลาหลและการทุจริตภายในกองทัพถูกกลบเกลื่อน[130] อย่างไรก็ตาม คอลชัคมิได้ชำนาญในการรบภาคพื้นดินเท่าใดนัก เขาจึงมอบหมายการวางแผนเชิงกลยุทธ์ส่วนใหญ่ให้กับพันเอกดมีตรี เลเบเดฟ แต่เขาผู้นี้กลับไม่มีประสบการณ์ในการบัญชาการกองทัพเลย[159]
กองทัพทางเหนือภายใต้การบัญชาการของราโดลา กัยดา[109] รุกคืบเข้าสู่เยคาเตรินบุร์กในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1918 กองทัพเข้ายึดเปียร์มเป็นผลสำเร็จและหยุดจัดระเบียบใหม่ชั่วคราว[160][161][109] ในหนึ่งเดือนของการต่อสู้ท่ามกลางอุณหภูมิที่ติดลบ 35 องศา[160][161] กองทัพแดงที่ 3 พ่ายแพ้และล่าถอยออกจากแนวหน้าไปราว 200 กิโลเมตร[109] ด้วยชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้ขบวนการขาวของคอลชัคได้รับทรัพยากรอันทรงคุณค่ามากมาย[109] ทั้งจำนวนพลจากนักโทษ อาวุธ และทรัพยากรในระบบคมนาคม รวมถึงยังได้ควบคุมโรงงานผลิตยุทโธปกรณ์ที่สำคัญอีกด้วย[160][161] และชัยชนะทางทหารได้เบี่ยงเบนความสนใจของมวลชนจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากการจราจลในออมสค์[160]
อย่างไรก็ตาม ความโกลาหลครั้งแรกเริ่มจุดประกายขึ้น เมื่อกองทัพโซเวียตเข้าพิชิตอูฟาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1919[162] หลังจากสูญเสียเมืองอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตอาวุธในอีเจฟสค์และวอตกินสค์ในเดือนพฤศจิกายน การยึดอูฟาทำให้กองทัพขาวไม่สามารถป้องกันการรุกข้ามเทือกเขายูรัลของกองทัพแดงได้[162] ในปลายเดือนมกราคม กองทัพแดงเข้ายึดอูรัลสค์และเมืองยุทธศาสตร์อย่างโอเรนบุร์ก ซึ่งเป็นการตัดการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างซามาราและทาชเคนต์ และสามารถเอาชนะผู้นำคอสแซ็กท้องถิ่นได้สำเร็จ[163]
การรุกฤดูใบไม้ผลิ
แก้เนื่องด้วยการรุกในฤดูหนาวประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด จึงมีการวางแผนการทัพใหม่ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1919[164] โดยตามแผนการนั้น จะแบ่งการรุกหน้าออกเป็นสามแนวรบตามที่ตั้งมั่นไว้ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ดังนี้:
- ราโดลา กัยดา (ผู้บัญชาการกองทัพไซบีเรียซึ่งประจำการอยู่ที่เปียร์ม)[165] นำกองทัพรุกหน้าเข้าสู่ยัตกา[166] ซึ่งกองกำลังของเขาจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในสามกอง และประกอบด้วยจำนวนทหารราว 60,000 คน[109]
- มีฮาอิล ฮันจิน (ผู้บัญชาการกองทัพตะวันตก)[165][109] นำกำลังเข้าพิชิตอูฟา โดยมีบทบาทเป็นกองกำลังหลักที่ประกอบด้วยทหารจากกองทัพประชาชนของโคมุช และคนงานราวหนึ่งหมื่นคนจากโรงงานผลิตอาวุธในอีเจฟสค์และวอตกินสค์ โดยคนงานเหล่านี้เป็นกลุ่มที่เคยก่อกบฏต่อต้านบอลเชวิคใน ค.ศ. 1918[166] ซึ่งรวมแล้วมีจำนวนทหารทั้งหมดสี่หมื่นนาย[167]
- ผู้นำคอสแซ็กอะเลคซันดร์ ดูตอฟ[109] และผู้นำคอสแซ็กแห่งยูรัล[166] อยู่ภายใต้บัญชาการของนายพลวลาดีมีร์ ทอลสตอฟ (กองทัพใต้)[165] นำกำลังปลดปล่อยโอเรนบุร์กและสร้างทางเชื่อมต่อกองทัพกับขบวนการขาวของนายพลเดนีกิน และแยกเส้นทางของหน่วยทหารโซเวียตในเตอร์กิสถาน[166]
คอลชัคสามารถรวบรวมทหารได้จำนวน 112,000 นายในสนามรบ[168] เพื่อต่อสู้กับกองทหารบอลเชวิค ประมาณ 100,000 นาย[167] การขาดแคลนระบบอุตสาหกรรมในไซบีเรีย ทำให้ขบวนการขาวของคอลชัคจำเป็นต้องพึ่งพาอาวุธ เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าจากฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร:[169] ด้วยการสงบศึกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919 รัฐบาลสหราชอาณาจักรทุ่มเงินจำนวน 69,285,000 ปอนด์สเตอร์ลิง ให้กับฝ่ายขาวตามรายงานของกระทรวงกลาโหม[170] แม้ว่ากองทัพคอลชัคจะมีกำลังอยู่มาก แต่ทหารที่ถูกเกณฑ์ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ไม่ได้รับการฝึกฝนทางทหารและมีอายุน้อย โดยเงื่อนไขเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการผ่านศึกในสงครามโลก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อบอลเชวิคอย่างมาก[171]
การรุกเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1919[172] กองทัพคอลชัคเคลื่อนกำลังพลไปตามเส้นทางรถไฟเปียร์ม-ยัตกาประมาณ 150 กิโลเมตร[172] กองทัพแดงที่ 2 ถูกขับไล่กลับไปทางเหนือและสูญเสียโอฮันสค์ (7 มีนาคม) พ่ายแพ้ในโอซา (8 มีนาคม) และซาราปุลเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1919[173]
ในการทัพส่วนกลาง กองทัพตะวันตกสามารถโต้กลับการรุกของกองทัพแดงที่ 5 และเข้ายึดบีร์สค์ (10 มีนาคม) และอูฟา (14 มีนาคม)[173] ต่อมาในต้นเดือนเมษายน สามารถพิชิตเบเลเบย์ (7 เมษายน) และบูกุลมา (10 เมษายน) และรุกหน้ามาถึงแม่น้ำอิค ซึ่งบรรลุเป้าหมายเกินกว่าที่วางไว้[173] มีการเปลี่ยนแปลงแผนการ อันเนื่องมาจากการรุกหน้าอย่างรวดเร็วโดยไม่คาดคิด คอลชัคออกคำสั่งให้ดำเนินการต่อไปในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1919[173] กองทัพตะวันตกยังคงรุกคืบต่อไปตามทางรถไฟสายอูฟา-ซามาราและสายอูฟา-ซิมบีร์สค์ ขณะเดียวกันกองกำลังอีกส่วนก็เคลื่อนพลตามแม่น้ำคามา โดยมีจุดหมายเข้ายึดชิสโตปอลในปลายเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นทางผ่านสู่คาซันต่อไป[174]
ในการทัพส่วนใต้ การถอนกำลังของกองทัพแดงที่ 5 บังคับให้กองทัพแดงที่ 1 ต้องล่าถอยเช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากปีกซ้ายของกองทัพและละทิ้งสเตียร์ลีตามัคในต้นเดือนเมษายน[174] กองกำลังของดูตอฟเข้าสู่อัคตูบินสค์เมื่อวันที่ 11 เมษายน ซึ่งได้ตัดทางรถไฟสายโอเรนบุร์ก-ทาชเคนต์และแยกกองกำลังโซเวียตออกจากเอเชียกลาง[174]
ในเวลาไม่ถึงสองเดือน ขบวนการขาวของคอลชัครุกกองกำลังไปประมาณสามร้อยกิโลเมตร ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องรองรับประชากรเพิ่มกว่าห้าล้านคน มีการจับเชลยศึกจากกองทัพแดงหลายพันคน และวางฐานกำลังห่างจากคาซัน ซามารา และซิมบีร์สค์ ไม่ถึงหนึ่งร้อยกิโลเมตร[174][161] กองทัพคอลชัคสามารถแยกกองกำลังโซเวียตตะวันออกได้เป็นสองส่วนหลังจากการยึดชิสโตปอล โดยทำให้กองทัพแดงที่ 2 และ 3 (ที่อยู่ทางเหนือ) ตัดขาดจากกองทัพแดงที่ 1, 4 และ 5 (ที่อยู่ทางใต้)[174][168] ส่วนในแนวรบทางตอนใต้ กองกำลังของคอลชัคเข้ายึดฐานกำลังที่หน่วยทหารเชโกสโลวักยึดได้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1918[175]
การจราจลต่อต้านบอลเชวิคในซิมบีร์สค์ คาซัน ยัตกา และซามารา ช่วยอำนวนความสะดวกต่อการรุกหน้าของคอลชัค[172][166] กองทัพแดงที่พึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่มีกำลังใจในการต่อสู้เพียงน้อยนิด และถอนกำลังพลโดยที่ปล่อยให้กองทัพขาวเคลื่อนกองกำลังไปสู่แนวที่ขยายจากกลาซอฟจนถึงอูรัลสค์ โดยผ่านโอเรนบุร์ก จากนั้นรัฐบาลคอลชัคก็เข้าครองอาณาเขตมากกว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอยู่ในการควบคุมเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดล้านคน ในเดือนเมษายน คณะกรรมาธิการบริหารส่วนกลางของบอลเชวิคเริ่มให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับคอลชัคเป็นลำดับแรก ซึ่งทำให้โซเวียตได้เปรียบทางจำนวนกำลังพล คิดเป็นประมาณสองหมื่นหรือสามหมื่นนายในแนวรบตะวันออกเมื่อเดือนมิถุนายน[176]
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้อธิบายถึงความสำเร็จในการรุกหน้าของคอลชัค: กลุ่มของกองทัพโซเวียตตะวันออกสูญเสียหน่วยที่ดีที่สุดจากการย้ายไปแนวรบอื่น การรุกของกองทัพแดงเป็นไปอย่างประมาท ทำให้กองกำลังกระจัดกระจาย ส่วนผู้บัญชาการทหารบกและทหารเรือนั้นก็ยังอายุน้อยและไม่มีประสบการณ์ การจัดการการโจมตีของคอลชัคนั้นคาดไม่ถึง และด้วยความเหนือกว่าเชิงจำนวนกำลังพลของเขาในตอนเริ่มต้นเป็นที่น่าทึ่งอย่างมาก[177]
อย่างไรก็ตาม เมื่อการสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิมาถึง สถานะของกองทัพคอลชัคก็แย่ลง: กองทัพของเขาใช้เสบียงเกินขีดจำกัดที่มีอยู่ และกองทัพแดงได้เพิ่มกำลังพลจำนวนมากในพื้นที่ โดยการเกณฑ์ทหารใหม่อย่างหนาแน่น[178] เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม กองทัพแดงกลุ่มตะวันออกมีกำลังพลเพิ่มขึ้นสามเท่าเป็น 341,424 นาย และอาวุธยุทโธปกรณ์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน[178] โดยมีฮาอิล ฟรุนเซ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพโซเวียตที่ 5[167]
การรุกตอบโต้ของโซเวียตในฤดูร้อน (พฤษภาคม-กรกฎาคม ค.ศ. 1919)
แก้เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1919 ฟรุนเซนำกำลังโจมตีปีกซ้ายของหน่วยของฮันจิน และเข้ายึดบูกูรูสลันหลังจากนั้นสองวันต่อมา พร้อมทั้งขู่ว่าจะล้อมแนวหน้าของกองทัพตะวันตก[178] อย่างไรก็ดี จากการละทิ้งการบัญชาการกองพันโซเวียตที่ 25 ทำให้หน่วยของฮันจินถอนกำลังออกไปตามหลังแม่น้ำอิกได้อย่างเป็นระเบียบในกลางเดือนพฤษภาคม[178] ไกลออกไปทางเหนือ ทหารราบโซเวียตพิชิตชิสโตปอลสำเร็จในวันที่ 4 พฤษภาคม และได้ปิดช่องเชื่อมต่อระหว่างหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพบกขาว[178]
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม กองทัพแดงตีเบเลเบย์แตก และในวันที่ 7 มิถุนายน กองพันที่ 26 ของกองทัพโซเวียตที่ 5 เคลื่อนกำลังข้ามแม่น้ำเบลายาตามติดกองทัพตะวันตกที่ตื่นตระหนก[167] ซึ่งพวกเขาได้ละทิ้งเมืองทรัพยากรอาวุธและอาหารที่สำคัญอย่างอูฟาในอีกสองวันต่อมา[178][179] กองพลคัดเลือกของนายพลคัปเปลพยายามป้องกันการยึดเมืองอย่างสิ้นหวัง ซึ่งพวกเขาเช้าจู่โจมหน่วยทหารโซเวียตของฟรุนเซด้วยดาบปลายปืน แต่ประสบความล้มเหลวและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นจำนวนมากกว่าสามพันคน[180]
อย่างไรก็ตาม ทางตอนเหนือกองทัพไซบีเรียของกัยดายังคงรุกรานอย่างต่อเนื่องและเข้ายึดกลาซอฟได้ในต้นเดือนมิถุนายน[109][181] แต่ไม่นานเมื่อทราบข่าวถึงการถอนกำลังของกองทัพตะวันตก กัยดาจึงตัดสินใจเริ่มถอนกำลังของตน[167] กองทัพขาวเคลื่อนพลออกจากกลาซอฟเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน[181] ทำให้ขบวนการขาวไม่สามารถเชื่อมต่อกับกองทัพอังกฤษที่อาร์ฮันเกลสค์ได้[109] กองทัพโซเวียตที่ 2 เข้ายึดซาราปุลในวันที่ 2 มิถุนายน[181] และในวันที่ 6 จึงสามารถพิชิตอีเจฟสค์ได้สำเร็จ ซึ่งฝ่ายโซเวียตใช้เมืองแห่งนี้ในการผลิตปืนเล็กยาวห้าร้อยกระบอกต่อวัน[180] ภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์ กองกำลังของกัยดาจึงถอยทัพกลับสู่เปียร์มเช่นเดิม[181]
ทางตอนใต้ แนวหน้ายังคงตั้งรับได้อย่างดีตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม หน่วยของคอสแซ็กสามารถเจาะแนวรบของกองทัพโซเวียตที่ 4 และรุกกำลังเข้าไปยังนีโคลาเยฟสค์ โดยเข้าใกล้หน่วยของนายพลปิออตร์ วรานเกล ซึ่งกำลังปิดล้อมซาริตซึนและอยู่ห่างจากซามาราเพียง 40 กิโลเมตร[181] ภายหลังการคุกคามกองกำลังฝ่ายหลังของกองทัพโซเวียตที่ 5 กองทัพขาวจึงถอนกำลังเพียงเล็กน้อยเพื่อรักษาแนวรบ[181]
ในเดือนพฤษภาคม หน่วยทหารบัชคีร์ (Bashkirs) แปรพักตร์เข้ากับกองทัพโซเวียตเป็นจำนวนมาก[113] โดยการแปรพักตร์ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีทหารบัชคีร์สองพันนายเข้าร่วมกับโซเวียต หลังจากโซเวียตรับประกันการจัดตั้งสาธารณรัฐปกครองตนเองใหม่และคอลชัคยืนยันที่จะยุบหน่วยทหารบัชคีร์ให้รวมเข้ากับกองทัพไซบีเรีย[182]
ปลายเดือนมิถุนายน กองกำลังของคอลชัคกลับไปอยู่ที่แนวรบเดิมที่การรุกฤดูใบไม้ผลิได้เริ่มขึ้น[181][113] คณะกรรมการส่วนกลางบอลเชวิคกังวลว่าคอลชัคจะเตรียมการรบไว้เป็นอย่างดี จึงตัดสินใจรุกกำลังข้ามเทือกเขายูรัลในระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากทรอตสกีและยูคุมส์ วาเซติสก็ตาม[181][183]
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ในระหว่างการเฉลิมฉลองครบรอบการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวไซบีเรีย กองทัพขาวต้องประสบกับการสูญเสียเปียร์มที่ถูกละทิ้งในวันเดียวกัน[183][184] ความปราชัยของแนวหน้าทำให้ความเหนื่อยล้าและความวิตกทางจิตใจของคอลชัคตกต่ำลง ซึ่งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม เขาแสดงความรู้สึกผ่านความประหม่า หมดกำลัง มีอารมณ์ฉุนเฉียวจากอาการโกรธ[184] ลักษณะภายนอกของเขาย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด[184]
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ทางการโซเวียตได้ช่วยเหลือกองทหารรักษาการณ์ในอูรัลสค์ที่ถูกปิดล้อมเป็นเวลานาน[185] ในแนวรบตอนกลาง กองทัพโซเวียตที่ 5 เข้ายึดซลาโตอุสต์[183] อันเป็นเมืองหน้าด่านหลักในเส้นทางข้ามเทือกเขายูรัลเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม[185][186] ภายในเมืองที่ถูกทิ้งร้างอย่างเร่งรีบยังคงหลงเหลืออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งตกไปอยู่ในมือของโซเวียต[185] ทางตอนเหนือหลังจากการพิชิตเปียร์มไม่นาน เยคาเตรินบุร์กจึงถูกยึดครองเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม[183][185][187] เมืองนี้ต้องเผชิญกับการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ โดยมีประชากรยิวจำนวนสองพันคนเสียชีวิตไม่นานก่อนที่โซเวียตจะยึดครอง ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ได้จุดประกายความกังวลใจที่เพิ่มขึ้นของผู้สนับสนุนคอลชัคและการค้นหาแพะรับบาปสําหรับความพ่ายแพ้ของพวกเขา[186][118]
ในเวลาเพียงสิบสัปดาห์ กองทัพแดงได้รุกหน้าไปประมาณ 500 กิโลเมตรในแนวรบด้านเหนือ และ 600 กิโลเมตรในแนวรบตอนกลาง ซึ่งทําให้ขบวนการของคอลชัคถูกตัดขาดเหมืองและโรงงานในเทือกเขายูรัล ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมเพียงแห่งเดียวของพวกเขา[185][186] ความพ่ายแพ้ทางทหารยังนำมาซึ่งผลกระทบทางการเมือง จากการยุติการพิจารณายอมรับรัฐบาลออมสค์ของฝ่ายสัมพันธมิตรอีกด้วย[185][183]
ข้อบกพร่องของฝ่ายบริหารและกลยุทธ์ของขบวนการขาว พร้อมทั้งความไร้ประสิทธิภาพของกองทัพซึ่งมีจุดอ่อนอย่างมากตั้งแต่ก่อนความพ่ายแพ้ครั้งแรก[110] เริ่มปรากฏเด่นชัดในระหว่างการรุกกลับของโซเวียต[188] การหนีทหารและการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากในหมู่ทหารที่ขาดประสบการณ์ได้ลดขนาดกองทัพของคอลชัคลงอย่างมหาศาล ซึ่งเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงที่มีกำลังพลสูงสุดหกหมื่นนายในเดือนมีนาคม[189] ความพยายามในการระดมพลและการทุ่มกำลังพลสำรองนั้นล้มเหลว[189] ทางอังกฤษไม่มีความพยายามใด ๆ ที่จะให้เชลยศึกโซเวียตเข้าเกี่ยวข้องกับภารกิจทางทหารของตน ซึ่งเชลยศึกเหล่านี้ล้วนแล้วเป็นทหารเกณฑ์ที่มีศักยภาพ[190] เจ้าหน้าที่ของคอลชัคชื่นชอบที่จะประหารชีวิตหรือกุมขังเชลยศึกไว้ในค่ายกักกัน ซึ่งผู้คนเหล่านี้มักเสียชีวิตลงจากโรคไข้หวัดหรือไข้รากสาดใหญ่[190] แม้กองทัพขาวจะมีภาพลักษณ์ของความกล้าหาญที่โดดเด่น แต่แท้จริงแล้ว ภายในกองทัพกลับขาดระเบียบวินัยและปฏิบัติตนตามอำเภอใจ ทำให้เป็นการยากต่อการปฏิบัติตามคำสั่ง[191]
ความพ่ายแพ้ในฤดูร้อนของขบวนการขาวยังรวมถึงความตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของคอลชัคด้วย โดยความเป็นไปได้ในการได้รับการรับรองจากฝ่ายสัมพันธมิตรในฐานะรัฐบาลรัสเซียอย่างเป็นทางการและความเชื่อถือจากรัฐบาลพันธมิตรนั้นสูญเสียไป[192] ภายใต้การปกครองของเขายังคงต้องพึ่งพาสหกรณ์อย่างมากสำหรับแหล่งเงินทุนเพียงแห่งเดียวในภูมิภาค[193][194] อย่างไรก็ตาม ด้วยความนิยมต่ออุดมการณ์แบบบริษัทเอกชน ทำให้รัฐบาลไม่ได้รักษาความสัมพันธ์อันดีกับระบบสหกรณ์มากเท่าที่ควร[152] แม้จะได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจและความชอบธรรมอย่างมหาศาล (เป็นจำนวนเงิน 200 ล้านรูเบิลจนถึงเดือนตุลาคม ค.ศ. 1919)[195] การล่าถอยของกองทัพส่งผลให้เกิดวิกฤตทางการเมืองในรัฐบาล ซึ่งผู้คนทั้งหลายเริ่มไม่แน่ใจในชัยชนะสุดท้ายของสงคราม[186]
การโต้กลับที่เชเลียบินสค์
แก้ระหว่างการล่าถอยของกองทัพจึงมีการพิจารณาจัดระเบียบใหม่[183] แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าหลายสัปดาห์ เนื่องจากการอภิปรายระหว่างผู้บัญชาการแนวหน้ากับเสนาธิการทหาร รวมถึงการลาออกของนายพลกัยดา[187] หลังจากความล้มเหลวในการเรียกร้องให้ปลดเลเบเดฟจากตำแหน่ง[159] และร้องขออำนาจบัญชาการกองทัพโดยรวมให้แก่ตน[196]
ในขณะที่การหารือเกี่ยวกับความเหมาะสมในการโจมตีโต้กลับยังไม่สิ้นสุด การถอยทัพยังคงดำเนินต่อไป การอพยพกำลังพลที่เยคาเตรินบุร์กเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เป็นไปอย่างไม่มีระเบียบ[197] แม้จะมีการคัดค้านจะนายพลบางส่วน แต่เลเบเดฟซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายพลคอนสตันติน ซาฮารอฟ และการอนุมัติจากคอลชัค จึงเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รอบเมืองเชเลียบินสค์[198] จุดประสงค์หลักของคอลชัคคือการสร้างความประทับใจให้กับผู้แทนสัมพันธมิตรด้วยชัยชนะทางทหาร ซึ่งผู้แทนชาติต่าง ๆ ยังคงพำนักอยู่ที่ออมสค์เพื่อพิจารณาถึงการสนับสนุนรัฐบาลของเขาต่อไป[198]
แผนการในครั้งนี้คือการปล่อยเชเลียบินสค์ให้กับกองทัพโซเวียต แล้วจึงล้อมเมืองไว้ด้วยการใช้ปฏิบัติการเคลื่อนทัพแบบก้ามปูจากกำลังพลทั้งทางด้านเหนือ (กองพันทหาราบ 6 กอง และกองพันทหารม้า 1 กอง ภายใต้การบัญชาของวอยเซฮอฟสกี) และด้านใต้ (กองพันทหารราบ 3 กอง และกองพลน้อยทหารม้า 1 กอง ภายใต้การบัญชาของคัปเปล)[198] ซึ่งการสู้รบควรจบลงโดยการพิชิตกองทัพโซเวียตที่ 5 ที่ถูกล้อมอยู่ในเมือง[198]
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม หน่วยทหารโซเวียตหน่วยแรกย่างเข้ามาสู่เชเลียบินสค์[187] ซึ่งถูกปล่อยร้างไว้ตามแผน[199] หน่วยของคัปเปลที่ไร้ความชำนาญเปิดการโจมตีแต่ล้มเหลว โดยถูกกองพันโซเวียตที่ 26 ขับไล่ไปอย่างง่ายดาย[199] ในทางเหนือ วอยเซฮอฟสกีสามารถตัดการเชื่อมต่อทางรถไฟเชเลียบินสค์-เยคาเตรินบุร์กได้อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะถูกหน่วยทหารของกองทัพโซเวียตที่ 3 ภายใต้การบัญชาของฟรุนเซโจมตีและบีบบังคับให้กองทัพขาวล่าถอยไปยังคูร์กันและแม่น้ำโตบอล (Tobol) ในวันที่ 2 สิงหาคม[199] คอลชัคสูญเสียทหารหลายพันคน รวมถึงทรัพยากรและเสบียงจำนวนมากจากปฏิบัติการในครั้งนี้[199] เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม กองทัพขาวสูญเสียทรอยซต์ ทำให้ยุติความหวังในการเชื่อมต่อกับกองทัพทางตอนใต้ ซึ่งเริ่มถอยทัพไปยังเตอร์กิสถานเช่นกัน[199]
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม กองทัพแดงเข้ายึดเชเลียบินสค์ อันเป็นศูนย์กลางเกษตรกรรมทางตะวันออกของเทือกเขายูรัลได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทหารโซเวียตจับเชลยศึกได้หลายพันคน ซึ่งจุดเปลี่ยนแห่งชัยชนะนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงความไร้ความสามารถของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของคอลชัคที่อยู่ภายใต้อำนาจของเลเบเดฟที่ไร้ประสบการณ์[196] ต้นเดือนสิงหาคม กองกำลังของคอลชัคประจำอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำโตบอล ห่างจากออมสค์เพียงไม่มากนักเมื่อเทียบจากระยะทางที่ห่างจากเทือกเขายูรัล[187]
หลังจากความล้มเหลวในการโต้กลับที่เชเลียบินสค์ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1919 ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงปฏิเสธแนวคิดที่ว่าคอลชัคและรัฐบาลของเขาเป็นศูนย์กลางหลักของขบวนการขาวและละทิ้งการรับรองรัฐบาลของเขาในฐานะรัฐบาลรัสเซียอย่างเป็นทางการ ถึงแม้จะมีการทบทวนอีกครั้ง เนื่องด้วยการรุกหน้าของกองทัพขาวภายใต้นายพลยูเดนิชและเดนีกินในฤดูใบไม้ร่วง[200] ฝ่ายสัมพันธมิตรจำกัดการช่วยเหลือไว้เพียงตามที่สัญญาและสนับสนุนระบอบการปกครองอย่างมีศีลธรรม ในขณะที่ได้โอนการสนับสนุนทางวัตถุจํานวนมากให้แก่เดนีกิน[200] มีความพยายามของบางภาคส่วนที่จะข่มขู่พันธมิตรด้วยกลอุบายในการสร้างสายสัมพันธ์กับเยอรมนี แต่ไม่ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายสำหรับการกู้คืนความช่วยเหลือในอดีต อีกทั้งการกระทำดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากคอลชัค ซึ่งเขาปฏิเสธที่จะพิจารณาความร่วมมือกับเยอรมนีและผู้สนับสนุนอื่น ๆ[201]
นอกเหนือจากความปราชัยที่เบื้องหน้าแล้ว สถานการณ์เบื้องหลังก็น่ากังวลอยู่เช่นกันในฤดูร้อน[202] กองทัพที่มากเกินไปในชนบทและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจของชาวนาและการปรากฏตัวของขบวนการพลพรรคที่เพิ่มมากขึ้น[203] ซึ่งสร้างความปั่นป่วนในทางเหนือและใต้ตลอดเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียและมีอำนาจควบคุมเหนือดินแดนขนาดใหญ่[202][204] แม้ว่าอาวุธส่วนใหญ่ของพลพรรคต่าง ๆ จะไม่มีประสิทธิภาพก็ตาม[205] จากความพ่ายแพ้ในแนวรบหน้าเน้นย้ำถึงการปราบปรามและการใช้กำลังเกินจำเป็นของทหาร ที่แม้จะมีคำสั่งจากกองบัญชาการให้ยุติการกระทำเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาหมู่บ้านเพื่อลงโทษ[202]
มีความพยายามของนักสังคมนิยมสายกลาง (ซึ่งส่วนใหญ่มีความเป็นพวกปฏิกิริยามากกว่ากลุ่มผู้สนับสนุนเคเรนสกีเพียงเล็กน้อย) ในการปฏิรูประบอบการปกครองและจัดตั้งหน่วยงานควบคุมของเผด็จการ แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงต้นฤดูร้อน แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวเช่นเคย โดยคอลชัคปฏิเสธที่จะศึกษาข้อเสนอการปฏิรูปของพวกเขาเมื่อสิ้นสุดฤดูร้อน[202]
การรุกตอบโต้อีชิม-โตบอล (กันยายน-ตุลาคม ค.ศ. 1919)
แก้หลังจากชัยชนะของยุทธการที่เชเลียบินสค์ในต้นเดือนสิงหาคม กองทัพแดงยังคงรุกหน้าต่อไปตลอดทั้งเดือน[206] กองทัพโซเวียตที่ 1 และ 4 ซึ่งรวมทัพกันที่แนวรบเตอร์กิสถานภายใต้การนำของฟรุนเซ ได้ผลักดันกองทัพขาวทางใต้ของผู้นำคอสแซ็กแห่งโอเรนบุร์กและยูรัลไปสู่เปอร์เซียและซินเจียง ในขณะที่กองทัพที่ 3 และ 5 รุกหน้าไปตามทางรถไฟสายเยคาเตรินบุร์ก-ตูย์เมน-อีชิม และสายเชเลียบินสค์-คูร์กัน-เปโตรปัฟลอฟสค์ ตามลำดับ[206] กลางเดือนสิงหาคม โซเวียตเข้ายึดตูย์เมนและคูร์กันถูกละทิ้งโดยปราศจากการต่อสู้จากกองทัพของคอลชัค[206] จนถึงสิ้นเดือน กองทัพแดงอยู่ห่างจากแม่น้ำอีชิมเพียง 70 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นปราการธรรมชาติสุดท้ายก่อนถึงออมสค์[206] เมื่อกองทัพขาวต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ในการอพยพเมืองหลวง จึงมีการพิจารณาทางเลือกทางทหาร โดยทางเลือกแรก คือพยายามต่อสู้กับศัตรูที่อีชิมและผลักดันให้โซเวียตกลับไปที่แม่น้ำโตบอล หรือทางเลือกที่สอง คือย้ายเมืองหลวงและสร้างแนวรบใหม่บริเวณริมแม่น้ำอ็อบหรือพื้นที่แถบไบคาล[206] ท้ายที่สุดจึงได้ตัดสินใจที่จะพยายามรักษาเมืองหลวงต่อไป เนื่องจากความกังวลว่ากองทัพจะล่มสลายในกรณีที่การรุกครั้งใหม่ล้มเหลว[206]
แผนการของนายพลมีฮาอิล ดีเตริคส์ คือการโจมตีจุดกลางของแนวรบ โดยจะเริ่มจากอีชิมในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1919 ประสานกับกองกำลังปีกขาวภายใต้กองทัพโซเวียตที่ 5 ที่เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถตัดการล่าถอยของกองทัพแดงไปยังแม่น้ำโตบอลได้[207] การวางแผนการโจมตีนั้นบกพร่อง[207] และถึงแม้จะมีการปรับโครงสร้างกองทัพในช่วงกลางเดือนสิงหาคม[183] แต่ยังคงมีหน่วยทหารและกองบัญชาการส่วนเกินสําหรับทหารเพียง 60,000 นาย[208] กองทัพขาวที่ 3 ซึ่งจัดตั้งขึ้นจากกำลังพลที่หลงเหลือของกองทัพตะวันตก มีกองบัญชาการสูงที่สามารถบริหารกองทัพหนึ่งล้านนายได้[208] กองทัพใหม่ทั้งสาม (กองทัพที่ 1 และ 2 ก่อตั้งขึ้นจากกองพันของกองทัพไซบีเรีย และกองทัพที่ 3 จากกองทัพตะวันตก) อยู่ในความดูแลของเสนาธิการทหารห้านาย ประกอบด้วยกองบัญชาการกองทัพบก 11 กอง กอง และกองพันและกองพลน้อย 35 กอง[208] ความพยายามที่จะระดมชนชั้นกระฎุมพีเพื่อเพิ่มขนาดของหน่วยทหารล้มเหลวอีกครั้ง และการเกณฑ์ทหารแทบจะไม่ถึง 25 % ของเป้าประสงค์ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างมากสำหรับการเตรียมการโจมตี[209] ปลายเดือนสิงหาคม ทหารที่ได้รับการเกณฑ์เข้ามามีจำนวนเพียงหนึ่งกองพันเท่านั้น ถึงแม้จะมีการจัดตั้งกองบัญชาการมาแล้วสิบเอ็ดกองก็ตาม[209] ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารในแนวรบหน้าขาดแคลน หน่วยบัญชาการประจำเมืองหลวงยังคงมีขนาดใหญ่และไม่สมสัดส่วน[209] มีนายทหารหนุ่มในเครื่องแบบที่เปล่งประกายมากมายที่สามารถพบเห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืนภายในเมืองหลวง แต่ไม่ใช่กับแนวรบหน้า[194]
ความพยายามในการรวบรวมกองกำลังคอสแซ็กสำหรับการโจมตีตามแผนของดีเตริคส์ก็ไม่เกิดผลเช่นกัน[210] คอสแซ็กส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมกองทัพ และไม่ต้องการที่จะเข้าไปพัวพันกับสงครามกลางเมือง[210] ณ วันที่การรุกตอบโต้เริ่มต้นขึ้น มีทหารคอสแซ็กเพียง 7,500 นายเท่านั้นที่สามารถรวบรวมได้ จากที่คาดการณ์อย่างน้อย 20,000 นาย[210] แม้ว่าหน่วยทหารจะไม่มีความพร้อม แต่ก็มีคำสั่งให้เริ่มการโจมตีตามแผนที่วางไว้[210]
ด้วยความประหลาดใจดังกล่าว หน่วยของคอลชัคจึงเริ่มการรุกตอบโต้และอาศัยประโยชน์จากการรุกของโซเวียตที่ห่างไกลจากศูนย์บัญชาการกองทัพมากเกินไป[211] กองกำลังของคอลชัคได้เปรียบเชิงกำลังพลเล็กน้อย เนื่องจากการโอนกำลังทหารของกองทัพแดงจากไซบีเรียไปยังแนวรบด้านใต้[211] กองทัพขาวที่ 2 ล้มเหลวในการขนาบข้างกองทัพโซเวียตที่ 2 ในทางกลับกัน กองกำลังคอสแซ็กได้รับชัยชนะเหนือสมรภูมิทางใต้ของเปโตรปัฟลอฟสค์ในช่วงเริ่มแรก และสามารถเอาชนะกองพันที่ 5 และ 35 สังกัดกองทัพโซเวียตที่ 5 ได้ตั้งแต่วันที่ 7 ถึงวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1919[211] การรุกยังคงดําเนินต่อไปอีกสองสัปดาห์[212] อย่างไรก็ตาม กองกำลังคอสแซ็กได้ชะลอการโจมตีคูร์กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้กองทัพแดงหยุดโอนกำลังทหารกลับมาได้อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งสิ่งนี้สร้างความสิ้นหวังต่อคอลชัคและกองบัญชาการทหาร[212] ดีเตริคส์ออกคำสั่งให้กองกำลังคอสแซ็กภายใต้การนำของนายพลปาเวล อีวานอฟ-รีนอฟ ดำเนินการโจมตีถึงหกครั้ง แต่อีวานอฟ-รีนอฟเพิกเฉยต่อคำสั่งนั้น เป็นเหตุให้เขาถูกขับออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารคอสแซ็กเป็นการชั่วคราว[212] เมื่อวันที่ 30 กันยายน แม้ว่าจะไม่มีการโจมตีของกองกำลังคอสแซ็กต่อกองกำลังฝ่ายหลังของโซเวียตตามที่คาดหวังไว้ แต่กองทัพที่ 1 ของคอลชัคสามารถข้ามแม่น้ำโตบอลและเข้ายึดโตบอลสค์ รวมทั้งยังได้กำลังพลและทรัพยากรจากเมืองนี้เป็นจำนวนมาก[213] ทว่าการพิชิตในครั้งนี้เป็นเพียงภาพลวงตา: ด้วยกองกําลังที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ กว่าสองหมื่นนาย โดยไม่มีกําลังเสริมสำคัญ อีกทั้งฝ่ายศัตรูมีการเสริมกําลังพลในบางครั้ง ทำให้ความน่าจะเป็นที่การรุกครั้งต่อไปจะสำเร็จเป็นศูนย์ และความเป็นไปได้ในการรักษาแนวแม่น้ำโตบอลจวบจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิยังคงมีความเคลือบแคลงใจ[214] จุดอ่อนของแนวรบทําให้กองทัพขาวอ่อนแอมากหาเผชิญกับการโจมตีโต้กลับของโซเวียต[214]
ความพยายามของดีเตริคส์ในการเปลี่ยนการรุกให้เป็นสงครามครูเสด เพื่อเพิ่มจำนวนทหารเกณฑ์และสามารถรักษาแนวรบหน้าได้นั้นไม่เป็นไปดังประสงค์ ทั้งด้านจำนวนและประสิทธิภาพของกำลังพลที่เรียกเกณฑ์[215] ในขณะเดียวกัน โซเวียตสามารถเสริมกำลังพลในหน่วยของตนได้เป็นจำนวนหลายหมื่นนายตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1919 และยังได้เปรียบทางด้านจำนวนเป็นสามต่อหนึ่งในช่วงกลางเดือนเดียวกัน[215] เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม กองทัพแดงได้รับคำสั่งให้โจมตีโต้กลับและสามารถข้ามแม่น้ำโตบอลได้สำเร็จในวันที่ 18[215] กองทัพคอลชัคจึงเริ่มล่าถอยอย่างไม่มีเงื่อนไขจนกว่าจะสิ้นสุดที่มหาสมุทรแปซิฟิก[215]
การล่าถอยและการสูญเสียเมืองหลวง
แก้วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1919 กองทัพขาวที่ 1 ละทิ้งโตบอลสค์ให้กับโซเวียต ในขณะที่กองทัพที่ 2 และ 3 ถอยทัพไปยังอีชิมและเปโตรปัฟลอฟสค์[215] แม้ว่าเปโตรปัฟลอฟสค์จะมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกทิ้งร้างเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม เช่นเดียวกับอีชิมที่มีการอพยพเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน โดยที่สะพานทั้งหมดภายในเมืองยังคงมีสภาพสมบูรณ์[216]
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1919 ดีเตริคส์สั่งการอพยพจากออมสค์ โดยมีแผนที่จะปฏิรูปแนวรบต่อไปทางตะวันออก[217] อย่างไรก็ตาม คอลชัคตัดสินใจปกป้องเมืองหลวงและทำให้เขาต้องสละคำสั่งนั้น แม้ว่าจะมีบางหน่วยที่ได้เดินทัพไปทางตะวันออกแล้วก็ตาม[217] คอลชัคระดมติดอาวุธให้ประชากรทั้งหมดเพื่อป้องกันเมือง[217]
จากการกีดกันคำสั่งของดีเตริคส์ ทำให้เขาลาออกและให้นายพลซาฮารอฟแทนที่ตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน[218] ซึ่งคําสั่งการของกองทัพต่าง ๆ ก็ถูกจัดระเบียบใหม่ด้วยเช่นกัน[218]
แม้ว่าซาฮารอฟจะกล่าวแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ในเชิงบวก แต่คณะผู้แทนทางการทูตสัมพันธมิตรได้ออกจากเมืองเมื่อวันที่ 7 และเช่นเดียวกันกับคณะรัฐมนตรีในอีกสามวันต่อมา[219] การตัดสินใจป้องกันเมืองหลวง นำไปสู่ความโกลาหลที่เกิดจากกองทัพเหมือนดังช่วงแรกของการปกครองแบบเผด็จการ[219] นักโทษการเมืองจากเรือนจำประมาณสี่ร้อยคนถูกสังหาร และยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งอยู่ภายนอก[220]
คอลชัคเป็นหนึ่งในคนสุดท้ายที่ออกจากเมืองในคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน โดยรถไฟ 5 ขบวน ซึ่งได้มีการนำทองคําสํารองสมัยจักรวรรดิที่หลงเหลือไปด้วย[220][221][222] ในช่วงเช้าตรู่ของวันถัดมา[223][224] หลังจากการบังคับเดินทัพเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตรภายในสองวัน กองทัพโซเวียตที่ 5 ภายใต้การนำของมีฮาอิล ตูฮาเชฟสกี จึงเข้าไปในเมืองเป็นหน่วยแรก[225] ณ ที่แห่งนั้น ตูคาเชฟสกีพบการต่อต้านเพียงเล็กน้อยจากกองทหารรักษาการณ์ในท้องถิ่น เขาสามารถควบคุมออมสค์ได้สมบูรณ์ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน[220] กองทัพแดงได้รับทรัพยากรจำนวนมากและนักโทษอีกหลายหมื่นคน[220][221]
การจลาจลและการสลายตัวของกองทัพ
แก้ระหว่างการเดินทางไปอีร์คุตสค์เพื่อพบรัฐมนตรีของเขา คอลชัคได้รับข่าวถึงการตัดสินของผู้บัญชาการหน่วยทหารเชโกสโลวักในการเริ่มต้นถอนกำลังพลและละทิ้งกิจกรรมสนับสนุนรัฐบาลเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919[226] ห้าวันต่อมา เขาได้ทราบข่าวถึงการจราจลของของกลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติในวลาดีวอสตอค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากราโดลา กัยดา ที่ถูกขับไล่[226][227] ฝ่ายค้านซึ่งสมคบคิดต่อต้านคอลชัคมาเป็นเวลานาน[228][227] ได้หลบหนีการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ของคอลชัคเพื่อคุ้มครองผู้แทนสัมพันธมิตร ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังในเมืองของกองทหารคอสแซ็กภายใต้นายพลคัลมือคอฟ[229]
ต้นเดือนพฤศจิกายน กัยดาแจ้งฝ่ายสัมพันธมิตรถึงการเตรียมการจราจลภายใต้ความร่วมมือของเขา เขาได้รับความเห็นใจจากผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรที่พำนักอยู่ในเมือง[230] การจราจลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919[231][232] ซึ่งในช่วงแรกได้รับการยอมรับจากบางภาคส่วน[230] อย่างไรก็ตาม ชะตากรรมของการจราจลถูกปิดผนึก เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทหารเชโกสโลวักแปดพันคนที่ประจำอยู่ในเมือง ซึ่งพวกเขาประกาศตัวเป็นกลางและแสดงความปรารถนาที่จะอพยพโดยเร็วที่สุด[233] กองกำลังทหารญี่ปุ่นใช้วลี "การจำกัดความเป็นศัตรู" (localizing of hostilities) เป็นข้ออ้างในการแยกกองกำลังกบฏและปิดล้อมสถานีรถไฟออกจากตัวเมือง[233][232] จากนั้นกองกำลังจึงถูกปิดล้อมโดยคัลมือคอฟและกองทัพเรือที่ภักดีต่อคอลชัค[233]
หลังจากการเจรจาเป็นเวลาสั้น ๆ กองกำลังปิดล้อมได้ทิ้งระเบิดลงสถานีรถไฟเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พร้อมทั้งบดขยี้กบฏจนกลายเป็นการสังหารหมู่[234] กัยดาถูกเนรเทศอย่างรวดเร็ว[235] และผู้นําฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติแนวหน้าแสวงหาการคุ้มครองจากกองกำลังสหรัฐในเมือง[234]
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและรัฐบาลได้เจรจาความตกลงร่วมมือกันในอีร์คุตสค์ท่ามกลางความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน[236] คอลชัคไม่สนับสนุนการเจรจาและยังคงถอนกำลังอย่างช้า ๆ ไปตามทางรถไฟ และมาถึงไตกาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1919[237] โดยที่นี่เขาได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งพยายามโน้มน้าวเขาถึงความจําเป็นในการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงแก่นและรวดเร็วในรัฐบาล แต่ไม่สําเร็จ[238] หลังจากคอลชัคเดินทางออกจากไตกา นายกรัฐมนตรีใช้กำลังบังคับให้นายพลซาฮารอฟให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่เขาเสนอ[238]
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1919 นายพลชาวเชโกสโลวัก ยัน ซีโรวี ได้แจ้งผู้บัญชาการของเขา นายพลชาวฝรั่งเศส มอริส ฌาแน็ง ถึงความจําเป็นในการเริ่มอพยพหน่วยทหารทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการกบฏ ซึ่งฌาแน็งอนุมัติและให้ความสําคัญกับกองทหารเชโกสโลวักมากกว่ากองทหารอื่น ๆ เช่น โปแลนด์ เซอร์เบีย โรมาเนีย หรืออิตาลี ซึ่งจะอพยพในภายหลัง[239] ไม่กี่วันหลังจากนั้น กองกำลังเชโกสโลวักเข้าควบคุมทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียแทนที่หัวหน้าสถานีเดิม และกําหนดคําสั่งอพยพให้กับกองทัพรัสเซีย ซึ่งหน่วยของคอลชัคจะออกจากประเทศเป็นหน่วยสุดท้าย หลังจากกองทหารต่างประเทศอื่น ๆ[239] หน่วยทหารเชโกสโลวักสั่งห้ามการถ่ายโอนขบวนรถไฟรัสเซียทางตะวันออกของโนโวนีโคลาเยฟสค์ ก่อนที่กองกำลังเชโกสโลวักจะถอนกำลังออกไปทั้งหมด เป็นเหตุให้การถอนกำลังของรัสเซียเป็นไปอย่างเชื่องช้า[225] และขบวนของคอลชัคได้หยุดรถที่ครัสโนยาสค์เป็นเวลาหลายวัน[239] แม้จะมีการประท้วงจากฝ่ายรัสเซียอย่างดุเดือด แต่เชโกสโลวาเกียปฏิเสธที่จะเปลี่ยนคําสั่ง ทําให้รถไฟผู้ลี้ภัยมากกว่า 120 ขบวนติดอยู่บนราง และถูกโซเวียตยึดในอัตราประมาณ 10-20 ขบวนต่อวัน[221][239] ในขณะเดียวกัน คอลชัคยังคงเดินหน้าไปยังอีร์คุตสค์อย่างช้า ๆ เมื่อใดก็ตามที่เชโกสโลวาเกียอนุญาต[240][221] เมื่อมาถึงครัสโนยาสค์ เขาถูกควบคุมตัวในระหว่างวันที่ 17 ถึง 21 ธันวาคม โดยฌาแน็งปฏิเสธที่จะให้ความสําคัญกับขบวนของเขา[240]
หลังจากการสนทนาที่ยาวนาน คอลชัคเดินทางออกจากเมืองก่อนที่ไม่นานจะตกอยู่ภายใต้กบฏฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติที่เรียกว่า "ศูนย์การเมือง" (รัสเซีย: Политцентр) ซึ่งกบฏเข้าควบคุมนิจเนอูดินสค์เมื่อคอลชัคเดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม และในเวลาเดียวกัน เขาได้รับการคุ้มครองและถูกควบคุมตัวโดยกองทหารเชโกสโลวักที่ควบคุมสถานี[240] ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1919 ศูนย์การเมืองได้เข้าควบคุมอีร์คุตสค์[235][241]
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1919 กองทัพแดงที่ 5 เข้ายึดโนโวนีโคลาเยฟสค์ ที่ซึ่งการจราจรทางรางติดขัด ทำให้กองทัพขาวที่ 2 และ 3 ถูกปิดกั้นอยู่ด้านหลังห่างจากขบวนรถไฟผู้ลี้ภัยที่ทอดยาวตั้งแต่ชูลิมถึงโนโวนีโคลาเยฟสค์เป็นระยะทาง 100 กิโลเมตร ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลต่อการล่มสลายของกองทัพอย่างรวดเร็ว[242] ภายหลังการยึดเมือง โซเวียตจับนักโทษหลายพันคนและยึดทรัพยากรมากมาย[242] หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ กองกำลังกบฏในตอมสค์และไตกาสังหารเจ้าหน้าที่ขาวจำนวนหนึ่ง และเรียกร้องให้ลงนามในสันติภาพกับโซเวียตซึ่งกําลังรุกหน้าเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ[242]
นายพลคัปเปลได้รับการสืบต่อตำแหน่งจากนายพลซาฮารอฟ[241] เขาพยายามที่จะหยุดการรุกของโซเวียตในครัสโนยาสค์ แต่เนื่องจากการจราจลที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติและการกบฏของกองทหาร ทําให้ความพยายามของพวกเขาเป็นที่น่าผิดหวัง[243] จากสถานการณ์ที่มีผู้ลี้ภัยเป็นจํานวนมาก ความโกลาหลของกองทหาร และการควบคุมทางรถไฟโดยเชโกสโลวาเกีย ซึ่งให้ความสําคัญอย่างเต็มที่สำหรับการอพยพหน่วยของพวกเขาเอง ทำให้ความพยายามในการต่อต้านใด ๆ เป็นไปอย่างไร้ผล[243] การถอนทัพพร้อมกับการอพยพผู้ลี้ภัยจำนวนมากเป็นไปอย่างยากลำบากในช่วงกลางฤดูหนาวของไซบีเรียบนเส้นทาง 1,500 กิโลเมตร ตั้งแต่ออมสค์ถึงครัสโนยาสค์[243] จากความหนาวเย็นของฤดูหนาว การปราศจากการตั้งหลักเพื่อลี้ภัย การขนส่งเพื่อหนีกองทัพโซเวียต การแพร่ระบาดของไข้รากสาดใหญ่ และธรรมชาติอันโหดร้ายของภูมิภาคที่เต็มไปด้วยหมาป่า ทําให้การอพยพเป็นไปอย่างน่าสะพรึงกลัว[243]
หลังจากการเจรจาที่ยาวนานอีกครั้งหนึ่ง คอลชัคจึงประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยหน่วยทหารเชโกสโลวักได้จัดหารถไฟให้เขาเพื่อเดินทางต่อไปและป้องกันไม่ให้เขาตกอยู่ในเงื้อมมือของกลุ่มกบฏที่ควบคุมนิจเนอูดินสค์ แต่อยู่ภายใต้การคุ้มกันของทหารเชโกสโลวักและปลดอาวุธ[244] อย่างไรก็ดี เมื่อบรรดาคนสนิทของคอลชัคที่ไว้วางใจได้เดินทางมาถึงอีร์คุตสค์ พวกเขาขับไล่กองทหารเชโกสโลวัก ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นศัตรูกับคอลชัค และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในเมือง[244] ในวันที่ 5 มกราคม ด้วยท่าทีที่ไร้จุดหมาย คอลชัคได้โอนตําแหน่งผู้ปกครองสูงสุดให้แก่นายพลเดนีกิน[245] ซึ่งในขณะนี้ก็กำลังล่าถอยเช่นเดียวกัน[231]
การจับกุม ปฏิบัติการทางทหารครั้งสุดท้าย และอสัญกรรม
แก้เนื่องด้วยการทรุดตัวลงของฝ่ายบริหารขาว รวมถึงขบวนการพลพรรคและกลุ่มคนงานที่อยู่บนเส้นทาง ทำให้การเดินทางตึงเครียดมากขึ้น[244] เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1920 ขบวนการพลพรรคขู่ว่าจะระเบิดทางรถไฟและตัดการจัดหาถ่านหินให้กับเชโกสโลวาเกีย พวกเขาจึงตกลงที่จะให้ตัวแทนของพลพรรคขึ้นรถไฟของพลเรือเอก[244] ในวันรุ่งขึ้น เชโกสโลวาเกียอนุญาตให้กลุ่มกบฏหลายสิบคนขึ้นขบวนรถไฟ[246] และมาถึงอีร์คุตสค์ในเวลา 15 นาฬิกาของวันที่ 15 มกราคม[245] และได้รับการต้อนรับจากกองกำลังกบฏของศูนย์การเมือง ซึ่งควบคุมเมืองอย่างไม่มั่นคง[246][231] ผู้บัญชาการกองทหารญี่ปุ่นที่ประจำอยู่ในเมืองร้องขอการคุ้มกันคอลชัค ซึ่งซีโรวีปฏิเสธ เนื่องจากกลัวการตอบโต้จากคนงานเหมืองและกลุ่มกบฏ ซึ่งอาจต่อต้านการอพยพของกองทหารเชโกสโลวักได้ คอลชัคถูกควบคุมตัวในรถม้าของกลุ่มกบฏ[247] ฌาแน็งอนุมัติการส่งมอบตัวคอลชัคแก่กลุ่มกบฏ[245] โดยได้ส่งตัวแทนเชโกสโลวักไปแจ้งให้เขาทราบในเย็นวันเดียวกัน[247] ก่อนหน้านี้ฝ่ายสัมพันธมิตรให้สัญญาว่าจะปกป้องคอลชัคและพาเขาไปทุกที่ที่เขาต้องการ[245]
การตัดสินใจของซีโรวีและฌาแน็งเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก[245] และมักถูกตราหน้าว่าเป็นการทรยศ แต่ในมุมมองของหน่วยทหารเชโกสโลวัก ซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏ หากเลือกหนทางอื่นใดแล้ว อาจต้องเผชิญหน้ากับกำลังกบฏเหล่านั้น และทำให้เกิดการขัดขวางการล่าถอยของเชโกสโลวาเกียตลอดระยะทางหลายพันกิโลเมตรในระหว่างฤดูหนาวที่ไซบีเรีย[248] จากผลลัพธ์ของความทารุณที่กระทำโดยคอลชัค แนวโน้มของการสูญเสียครั้งใหญ่และการอพยพที่ยากลำบาก รวมถึงการรุกหน้าอย่างรวดเร็วของกองทัพโซเวียต คอลชัคจึงตัดสินใจยอมจำนนต่อกลุ่มกบฏ[249]
เขาถูกจับกุมพร้อมกับคนสนิทและรัฐมนตรีบางคน[250] ในระหว่างการจับกุม คอลชัคถูกสอบสวนจากคณะกรรมการสังคมนิยม 5 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของพลพรรคที่เข้าควบคุมเมืองตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์[250]
แท้จริงแล้ว ศูนย์การเมืองที่ควบคุมตัวคอลชัคได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเพียงเล็กน้อย และดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนจากเชโกสโลวาเกีย การที่ศูนย์การเมืองไม่สามารถหยุดยั้งการรุดหน้าของโซเวียตหรือป้องกันการยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิคท้องถิ่นในเมืองต่าง ๆ เริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้น[251] คณะผู้แทนจากพรรคสังคมนิยมปฏิวัติพยายามขัดขวางการรุกคืบของโซเวียตผ่านการเจรจาที่ตอมสค์ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากเลนิน[252] อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงกับผู้บัญชาการทหารโซเวียตในการสร้างรัฐกันชนระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่นกลับเป็นโมฆะ เนื่องจากการสูญเสียอำนาจของฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติในอีร์คุตสค์เมื่อวันที่ 21 มกราคม[231] โดยพวกเขาสมัครใจที่จะมอบอำนาจให้กับคณะกรรมการปฏิวัติบอลเชวิค[252]
หนึ่งวันก่อนการยุบลงของศูนย์การเมือง กองทัพขาวที่ล่าถอยเริ่มรวมกำลังพลอีกครั้งที่นิจเนอูดินสค์ และขู่ว่าจะยึดอีร์คุตสค์คืน[252] ซึ่งกองกำลังเหล่านี้อยู่ภายใต้บัญชาของนายพลคัปเปล[253] กองทัพขาวมุ่งหน้าไปทางเหนือ ถอยห่างจากแนวรุกหลักของโซเวียตที่เคลื่อนกำลังไปตามทางรถไฟทรานส์-ไซบีเรีย โดยเริ่มแรกได้เคลื่อนกำลังไปยังแม่น้ำเยนีเซย์ จากนั้นจึงมุ่งลงใต้เลียบไปกับแม่น้ำคัน (Кан) เพื่อไปสู่คันสค์[254] ส่วนกองกำลังอื่น ๆ ได้ติดตามนายพลเซียร์เกย์ วอยเซฮอฟสกี ไปตามเส้นทางรุกของโซเวียต กองทัพแดงบังคับให้หน่วยทหารโปแลนด์ห้าพันนายยอมจำนนเมื่อวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1920 ดังนั้นเชโกสโลวาเกียจึงปฏิเสธที่จะอพยพผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยชาวโปแลนด์[255] ไม่นานหลังจากนั้น หน่วยทหารโรมาเนียประมาณสองถึงสามกองกำลังก็มาถึงเช่นกัน และหลังจากความพยายามที่จะอาศัยขบวนรถไฟกับเชโกสโลวาเกียไม่สำเร็จ พวกเขาจึงยอมจํานนต่อโซเวียต[255] ในขณะนี้ จึงเหลือเพียงการต่อสู้ระหว่างแนวรบหน้าของโซเวียตกับกองหลังของเชโกสโลวาเกียเท่านั้น[255] กองกำลังคัปเปลไปถึงคันสค์เมื่อวันที่ 15 มกราคม ภายหลังทหารเชโกสโลวักหน่วยสุดท้ายออกจากเมืองไปได้สองวัน แม้ว่าคัปเปลจะล้มเหลวในความพยายามยึดคืนเมืองนี้จากเงื้อมมือของกองทัพโซเวียต แต่ก็สามารถเติมเสบียงและเคลื่อนกำลังต่อไปทางตะวันออก[255] เมื่อวันที่ 20 มกราคม คัปเปลเอาชนะกองกําลังของศูนย์การเมืองและขบวนการพลพรรคในอุค (Ук) และในวันถัดมาจึงสามารถยึดนิจเนอูดินสค์ได้อีกครั้ง และรวมทัพกับกองกำลังของวอยเซฮอฟสกี[255] หลังจากนั้นกองทัพขาวจึงเริ่มปฏิบัติการพิชิตอีร์คุตสค์ เพื่อปลดปล่อยคอลชัคและคนสนิท กู้คืนทองคําสํารอง และสร้างแนวรบใหม่ทางตะวันตกของเมือง[255]
ความพยายามในการเจรจากับฝ่ายบริหารบอลเชวิคชุดใหม่ในอีร์คุตสค์กับวอยเซฮอฟสกี (ซึ่งได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร เนื่องจากการเสียชีวิตของคัปเปล) เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันทั้งสองฝ่ายล้มเหลว[256] เมื่อเผชิญกับความเป็นไปไม่ได้ในการปกป้องอีร์คุตสค์จากวอยเซฮอฟสกี และเพื่อลบล้างจุดประสงค์ในการช่วยเหลือคอลชัค คณะกรรมการเมืองจึงพิจารณาประหารชีวิตเขา[256][235][253] เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 กองกำลังขาวหน่วยแรกเคลื่อนทัพมาถึงบริเวณชานเมือง แม้ว่าจะมีความพยายามในการยับยั้งจากฝ่ายอีร์คุตสค์แล้วก็ตาม[256] ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการเมืองได้ฟื้นฟูโทษประหารชีวิตกลับมาอีกครั้ง และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีการส่งคำร้องสำหรับการประหารชีวิตคอลชัคและนายกรัฐมนตรีวิคตอร์ เปเปลยาเยฟ ไปยังองค์กรโซเวียตที่ใกล้ที่สุด ซึ่งทางประธานคณะกรรมาธิการทหารปฏิวัติของกองทัพโซเวียตที่ 5 อีวาน สมีร์นอฟ ได้ตอบรับอนุญาตต่อคำร้องนั้น ถึงแม้จะมีคำแนะนำจากเลนินที่ต้องการให้จับกุมคอลชัคไปพิจารณาคดีที่มอสโก[231][253] สมีร์นอฟตระหนักว่าภัยคุกคามจากวอยเซฮอฟสกีมีความเสี่ยงที่จะทำให้คอลชัคถูกปล่อยตัว[257]
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1920 หัวหน้าเชการ์ท้องถิ่นทราบถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นของคอลชัค ผู้สงบเสงี่ยมอยู่ตลอดเวลาซึ่งแตกต่างจากเปเปลยาเยฟ[258][253] องค์กรลับพยายามปลดปล่อคอลชัค แต่เขาปฏิเสธที่จะละทิ้งเพื่อนร่วมคุกของเขา[259] สองชั่วโมงต่อมา ในเวลา 4 นาฬิกา คอลชัคและเปเปลยาเยฟถูกนำตัวออกจากคุกและถูกยิงเป้า[231] จากนั้นร่างของพวกเขาจึงถูกโยนลงแม่น้ำอูชาคอฟกา (แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอันการา) ผ่านรูน้ำแข็ง[259][235][253][7]
ในวันเดียวกันนั้นเอง มีการประกาศข้อตกลงระหว่างโซเวียตและเชโกสโลวาเกีย ซึ่งทำให้การต่อสู้ระหว่างทั้งสองฝ่ายยุติลง และอำนวยความสะดวกในการอพยพของฝ่ายหลังเพื่อแลกกับความเป็นกลางของทั้งสองฝ่าย[260] ผลที่ตามมาคือ เชโกสโลวาเกียสั่งให้วอยเซฮอฟสกีละทิ้งการโจมตีอีร์คุตสค์เพื่อประกันความเป็นกลางบนทางรถไฟ และเขาถูกบังคับให้ถอนกำลังไปทางตะวันออก[261] ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้รอดชีวิตจากกองทัพคอลชัคประมาณหนึ่งหมื่นสองพันคนได้ไปถึงชีตา ซึ่งเป็นกองทัพเพียงกลุ่มเดียวที่เหลืออยู่[261]
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1920 กองทหารเชโกสโลวักหน่วยสุดท้ายได้อพยพชาวเมืองอีร์คุตสค์ และหนึ่งสัปดาห์ต่อมากองทัพโซเวียตที่ 5 หน่วยแรกจึงเข้ามาในเมือง[261] ในเดือนเดียวกันนั้น ทองคำสำรองของรัสเซียได้เดินทางกลับคาซันด้วยรถไฟพร้อมป้ายข้อความ "ถึงวลาดีมีร์ อิลลิช อันเป็นที่รัก, เมืองอีร์คุตสค์"[261]
การประเมินค่า
แก้หลังจากเดินทางกลับมาที่สหราชอาณาจักร นายพลน็อกซ์ได้ส่งรายงานไปยังกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับข้อสรุปที่ลงตัวสำหรับคอลชัคและระบอบเผด็จการ ดังนี้:[262]
ความรับผิดชอบทั้งหมดสำหรับความล้มเหลวในไซบีเรียไม่ควรตกอยู่ที่พลเรือเอกคอลชัค เป็นความจริงที่บุคลิกของเขาเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าการสูงสุดได้ไม่ดีนัก แม้ว่าเขาจะถือทิฐิ แต่อุปนิสัยของเขาขาดความแข็งแกร่งที่แท้จริงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลใด ๆ ที่อยู่ในกลุ่มของเขาอย่างต่อเนื่อง เขาใจดีเกินไป และยินยอมให้โครงสร้างทางทหารได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากข้อพิพาทและความหวาดระแวงของผู้ใต้บัญชา แทนที่จะใช้มาตรการที่รุนแรงซึ่งปฏิบัติได้ด้วยความเที่ยงธรรมและความรักชาติ เขาเสียเวลาไปกับการนําปฏิบัติการทางทหารซึ่งเขาไม่รู้อะไรเลย ในขณะที่การดูแลบริหารราชการพลเรือนอยู่เบื้องหลัง เขายังเป็นนักการทูตที่ขาดประสบการณ์ และด้วยความขี้กลัว เขาจึงไม่ค่อยปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน ทำให้สูญเสียความภักดีจากประชาสังคมไป
ในทางกลับกัน พลเรือเอกคอลชัคซื่อตรงและรักชาติอย่างมิต้องสงสัย เขารู้วิธีบังคับบัญชาและได้รับชื่อเสียงจากการบัญชาการทัพเรือทะเลดำ ในทางการเมืองนั้น อุดมการณ์ของเขาก้าวหน้าและมีความเป็นกังวลอย่างมากกับการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวนา ซึ่งเขาเชื่อว่าจะจบลงด้วยการเป็นชนชั้นปกครองในรัสเซีย ชาวอังกฤษทุกคนที่อยู่เคียงข้างประทับใจในความจริงใจและการตัดสินใจของเขา พวกเขา [ชาวอังกฤษ] มองว่าเขา [คอลชัค] เป็นคนที่ดีที่สุดในไซบีเรียและสมควรได้รับการสนับสนุน
หากงานได้ครอบงำเขา มันไม่ใช่ความผิดของพลเรือเอก การจะประสบความสําเร็จได้ต้องมีนโปเลียนอย่างน้อยหนึ่งคน ต้องเข้าใจว่าในขณะนั้นความโกลาหลได้เกิดขึ้นทั่วไซบีเรียและการพัฒนายังไม่เพียงพอ ไซบีเรียไม่มีโรงงานและคอลชัคก็ไม่สามารถจัดหากองทัพหรือประชาสังคมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสบียงที่ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งมาทั้งหมดซึ่งไม่เพียงพอ และความเชื่อถือจากต่างประเทศซึ่งไม่ได้รับ กองทัพจึงไม่มีความพร้อมและประชากรไม่ได้รับการคุ้มครองความต้องการ ความจริงที่การมิได้เตรียมพร้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า เพราะปราศจากเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถและซื่อสัตย์ในการบริหารกองกําลังติดอาวุธและประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ถึงแม้จะมีความพยายามของคอลชัค แต่กองทัพก็ค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการต่อสู้ ประชาสังคมเริ่มไม่พอใจและไม่ซื่อสัตย์มากขึ้น และท้ายที่สุดก็เต็มใจที่จะต้อนรับบอลเชวิค
บารอน อะเลคเซย์ ฟอน บุดเบียร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลคอลชัค กล่าวถึงผลกระทบจากการที่คอลชัคขาดความสามารถในฐานะเผด็จการไว้ดังนี้:[263]
ความเสื่อมโทรมในกองทัพ ความไม่รู้และความไร้ความสามารถในกองบัญชาการสูงสุด รัฐบาลที่ผิดศีลธรรม การทะเลาะวิวาท และการวางอุบายของคนเห็นแก่ตัวที่มีความทะเยอทะยาน ในสังคมโดยทั่วไปมีความตื่นตระหนก ความเห็นแก่ตัว สินบน และพฤติกรรมอื้อฉาวทุกประเภท
ตามคำกล่าวของนักวิจารณ์ของฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติในเวลานั้น ได้ระบุว่าคอลชัคปราศจากอำนาจที่แท้จริง:[263]
ระบอบเผด็จการคอลชัคเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ซ่อนระบอบเผด็จการของผู้เผด็จการน้อยระดับมณฑล (Уе́зд) เขตผู้ว่าการ (Губерния) และแคว้น (область) ทั้งหลาย ซึ่งเต็มไปด้วยความรักอันลึกซึ้งในอำนาจของตนเอง แม้ว่าพวกเขาจะสวมอินทรธนูบนไหล่เป็นครั้งแรก และอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้บัญชายี่สิบถึงสามสิบคน สิ่งเดียวที่เผด็จการเหล่านี้มีเหมือนกัน คือความเชื่อมั่นว่าความอยู่รอดของรัสเซียขึ้นอยู่กับชัยชนะ ทั้งชัยชนะในค่ายทหารหรือในหมู่บ้าน การต่อต้านชาวชนบท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านแรงงาน ซึ่งทั้งหมดถือว่าเป็นบอลเชวิคผู้ก่อปัญหา
คอลชัคไม่ทราบถึงวิธีชักจูงการสนับสนุนจากฝ่ายค้านสายกลาง จึงเลือกปฏิเสธกับทุก ๆ ฝ่าย ดังที่นายพลเกรฟส์บรรยายไว้ว่า:[264]
[...]คำว่า "บอลเชวิค" ถูกนำไปใช้กับใครก็ตามที่ไม่สนับสนุนคอลชัคและชนชั้นเผด็จการที่รายล้อมตัวเขา ความหมายของคำว่า "บอลเชวิค" ที่ใช้ในไซบีเรีย ได้แก่ ตัวแทนทั้งหมดของเซมสตโว (земство) ที่ต่อต้านแนวคิดของคอลชัค
จากความพ่ายแพ้ทางทหารจากฤดูร้อน เป็นเหตุให้ความมั่นคงและสุขภาพของคอลชัคย่ำแย่ลงอย่างมาก และทําให้การดำเนินงานใด ๆ ยากขึ้นเช่นกัน[264] ตามที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เกออร์กี กินส์ ได้บันทึกไว้ในการประชุมกับรัฐมนตรีเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการขนส่ง:
เขาทุบโต๊ะด้วยหมัด โยนทุกอย่างลงกับพื้น หยิบมีดแล้วเริ่มขูดแขนเก้าอี้[...] "ปล่อยฉันไว้คนเดียว!" เขาตะโกน "ฉันห้ามไม่ให้คุณเอ่ยถึงปัญหาเหล่านั้นอีก วันนี้ฉันจะไปพบคณะรัฐมนตรีและสั่งไม่ให้อนุมัติการปฏิรูปใด ๆ ทั้งสิ้น"
ด้วยบุคลิกที่แปรปรวนของคอลชัค ส่งผลกระทบต่อการไร้ความสามารถของเขาในการเลือกผู้ใต้บัญชาที่มีความสามารถหรือยอมรับคําวิจารณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะดํารงตําแหน่งนี้[264]
การที่ไม่สามารถควบคุมผู้นำคอสแซ็กบางส่วนสร้างความเสียหายอย่างมากต่อรัฐบาล เช่นเดียวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ดังที่บารอนบุดเบียร์กระบุไว้ว่า:[265]
พวกเขาต้องการสร้างพลังเพื่อทําลายล้างลัทธิบอลเชวิค แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการช่วยเหลือเสียเอง โดยให้โอกาสอันล้ำค่าแก่เขาเพื่อพิสูจน์คําเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า "ไฮดราของการต่อต้านการปฏิวัติฟื้นคืนจากศีรษะอันนองเลือดของมัน" มีพื้นฐานมาจากความเป็นจริง
สำหรับการทุจริตอย่างกว้างขวาง ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม การวางอุบาย และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน บุดเบียร์กบันทึกไว้ว่า:[264]
อิทธิพลของอะตามันช์ชีนา (atamanshchina) และความหอมหวนของการประพฤติชีวิตนอกกฎหมายได้แทรกซึมลึกไปทุกที่ เป็นไปได้มากว่าเขาจะกลืนกินพวกเราทุกคนและเราจะพินาศด้วยกลิ่นเหม็นของเขาเอง
รอลันด์ มอร์รีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่นได้บรรยายไว้ว่า:[265]
ทั่วทั้งไซบีเรีย[...] มีการจับกุมโดยไม่มีข้อกล่าวหา การประหารชีวิตที่ไม่มีแม้แต่การพิจารณาคดี และการริบทรัพย์สินทั้งที่ไม่มีอํานาจ
ความล้มเหลวของคอลชัคส่วนมากเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าการทหาร[266][104] โดยถือว่าระบอบเผด็จการของเขาไม่สำเร็จในแง่มุมทางการเมืองขั้นพื้นฐาน ทั้งอำนาจและความชอบธรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาค รูปแบบเผด็จการไม่มีความแตกต่างจากระบอบซาร์เก่าอย่างชัดเจน รัฐบาลไม่สามารถวางภาพนโยบายก้าวหน้าให้กับบอลเชวิคได้ และพึ่งพาความช่วยเหลือหรืออิทธิพลของกองกําลังชาติมากเกินไป[267] เจ้าหน้าที่จากระบอบเก่าก็กระจุกตัวอยู่รอบ ๆ คอลชัค[268] ซึ่งเริ่มปรากฏอย่างเด่นชัดว่าหากรัฐบาลของเขาได้รับชัยชนะ จะไม่มีการก่อตั้งรัฐบาลแบบใหม่ขึ้นมา แต่จะเป็นการหวนคืนสู่ระบอบเก่า[268] โดยนีโคไล อูสเตรียลอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศของคอลชัค ได้บรรยายไว้ว่า:[268]
นี่ไม่ใช่รัสเซียใหม่ ไม่ใช่อนาคต[...] และไม่มีอะไรจะเฉลิมฉลองต่อชัยชนะของเขา นี่ไม่ใช่เบื้องหน้าของระบอบการปกครองที่ปรับปรุงใหม่ แต่เป็นเบื้องหลังของอดีตที่ผ่านไปชั่วนิรันดร์
การกู้ฐานะ
แก้ในประวัติศาสตร์สมัยโซเวียต คอลชัคและขบวนการขาวถูกมองว่าเป็นศัตรูของประชาชน และความทรงจำของเขาถูกลดทอนคุณค่า[4] อย่างไรก็ดี หลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ มีการพิสูจน์ให้เห็นถึงความชอบธรรมสำหรับบทบาทของคอลชัคและการรับราชการเพื่อประโยชน์ของรัสเซีย โดยส่วนมากมีการกล่าวถึงในสื่ออนุรักษนิยมหรือชาตินิยมที่ได้รับความนิยม ซึ่งปรากฏในเป็นรูปแบบชีวประวัตินักบุญ[4] ผู้สนับสนุนคอลชัคพูดถึงตัวเขาในฐานะผู้พลีชีพ รักชาติ และเสียสละตนเองอย่างกล้าหาญเพื่อพยายามฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ[4] ถึงอย่างนั้น ความทรงจำของเขายังคงไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับจักรพรรดินีโคไลที่ 2, อันตอน เดนีกิน, วลาดีมีร์ คัปเปล และบุคคสำคัญอื่น ๆ ในสงครามกลางเมืองและผู้นำขบวนการขาว ปัจจุบันมีการสร้างรูปปั้นและอนุสาวรีย์หลายแห่งเพื่อเป็นเกียรติแก่คอลชัค ทั้งในเซนต์ปีเตอส์เบิร์กสองแห่ง และในอีร์คุตสค์หนึ่งแห่งซึ่งมีความสูงห้าเมตร และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 เกาะคอลชัคซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเกาะราสโตร์กูเยฟ (остров Расторгуева) ใน ค.ศ. 1937 ได้รับการเปลี่ยนชื่อมาเป็นเช่นเดิม[269]
ใน ค.ศ. 2008 มีการสร้างภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ของรัสเซียอย่าง แอดมิรัล ซึ่งเล่าถึงชีวประวัติของคอลชัค[270] ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในโรงภาพยนตร์ของรัสเซีย (เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับสามและเป็นภาพยนตร์รัสเซียเรื่องแรกใน ค.ศ. 2008)[271] ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากช่องหนึ่งรัสเซียที่ดำเนินการโดยรัฐ เพื่อสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการเชื่อมโยงอำนาจที่เกิดขึ้นใหม่กับจักรวรรดิรัสเซียในอดีต นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังถูกมองว่าเป็นความพยายามกู้ฐานะของคอลชัคอีกด้วย[272]
อ้างอิง
แก้- ↑ Yegorov, O. (2019-12-27). "Meet Russian Imperial officers who almost stopped the Bolsheviks". Russia Beyond the Headlines. สืบค้นเมื่อ 2020-01-29.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Lincoln 1989, p. 240.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Ullman 1968b, p. 33.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Pereira 1996, p. 179.
- ↑ A Kolchak memorial plaque installed in the house where the white admiral lived (ภาษารัสเซีย)
- ↑ 6.0 6.1 Smele 1996, p. 62.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 Barr 1981, p. 507.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 Weeks & Baylen 1976, p. 63.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 38.
- ↑ Smirnov 1933, p. 373.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 Smirnov 1933, p. 374.
- ↑ 12.00 12.01 12.02 12.03 12.04 12.05 12.06 12.07 12.08 12.09 12.10 Pereira 1996, p. 201.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 13.7 Smele 1996, p. 63.
- ↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 14.6 14.7 Barr 1981, p. 508.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 11.
- ↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 Connaughton 1990, p. 6.
- ↑ Barr 1981, p. 509.
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 Smirnov 1933, p. 375.
- ↑ Barr 1981, p. 515.
- ↑ Barr 1981, p. 516.
- ↑ Barr 1981, p. 518.
- ↑ 22.0 22.1 22.2 22.3 Smele 1996, p. 64.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 23.3 23.4 23.5 23.6 23.7 23.8 Barr 1981, p. 519.
- ↑ 24.0 24.1 Connaughton 1990, p. 7.
- ↑ 25.00 25.01 25.02 25.03 25.04 25.05 25.06 25.07 25.08 25.09 Weeks & Baylen 1976, p. 64.
- ↑ 26.0 26.1 26.2 26.3 Smirnov 1933, p. 376.
- ↑ 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 27.5 27.6 27.7 Smele 1996, p. 65.
- ↑ 28.0 28.1 28.2 28.3 Connaughton 1990, p. 11.
- ↑ 29.0 29.1 29.2 Barr 1981, p. 520.
- ↑ Колчак на необитаемом острове (Kolchak en una isla desierta). Rossíiskaya Gazeta (ภาษารัสเซีย). 20 กรกฎาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2014.
- ↑ Pipes 1993, p. 48.
- ↑ 32.00 32.01 32.02 32.03 32.04 32.05 32.06 32.07 32.08 32.09 32.10 Connaughton 1990, p. 12.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 23.
- ↑ 34.0 34.1 34.2 Barr 1981, p. 521.
- ↑ 35.0 35.1 35.2 35.3 35.4 35.5 Smirnov 1933, p. 377.
- ↑ 36.0 36.1 36.2 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 24.
- ↑ 37.0 37.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 25.
- ↑ 38.0 38.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 26.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 27.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 28.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 30.
- ↑ 42.0 42.1 42.2 42.3 42.4 42.5 Smirnov 1933, p. 379.
- ↑ 43.0 43.1 43.2 43.3 43.4 43.5 Smele 1996, p. 66.
- ↑ 44.0 44.1 44.2 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 32.
- ↑ 45.0 45.1 45.2 Connaughton 1990, p. 13.
- ↑ 46.0 46.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 33.
- ↑ 47.0 47.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 35.
- ↑ 48.0 48.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 36.
- ↑ 49.0 49.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 37.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 34.
- ↑ 51.0 51.1 Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 50.
- ↑ 52.0 52.1 52.2 Smele 1996, p. 68.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 51.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 52.
- ↑ 55.0 55.1 Smirnov 1933, p. 381.
- ↑ Pereira 1987, p. 52.
- ↑ 57.0 57.1 57.2 57.3 Pereira 1996, p. 109.
- ↑ 58.0 58.1 58.2 58.3 Smele 1996, p. 67.
- ↑ Kolchak, Papov & Ovchinnikov 1980, p. 48.
- ↑ 60.0 60.1 Connaughton 1990, p. 19.
- ↑ 61.0 61.1 Connaughton 1990, p. 20.
- ↑ Smirnov 1933, p. 382.
- ↑ 63.0 63.1 63.2 Weeks & Baylen 1976, p. 65.
- ↑ 64.0 64.1 64.2 64.3 64.4 Smirnov 1933, p. 384.
- ↑ Weeks & Baylen 1976, pp. 65–66.
- ↑ Weeks & Baylen 1976, pp. 64–65.
- ↑ 67.0 67.1 67.2 Weeks & Baylen 1976, p. 66.
- ↑ 68.0 68.1 Smele 1996, p. 71.
- ↑ 69.0 69.1 69.2 Smele 1996, p. 72.
- ↑ 70.0 70.1 70.2 Smirnov 1933, p. 385.
- ↑ 71.0 71.1 71.2 71.3 Lincoln 1989, p. 241.
- ↑ 72.0 72.1 Morley 1957, p. 204.
- ↑ 73.0 73.1 73.2 73.3 Smele 1996, p. 74.
- ↑ Smele 1996, p. 73.
- ↑ Pereira 1996, p. 53.
- ↑ Morley 1957, p. 199.
- ↑ 77.0 77.1 Morley 1957, p. 206.
- ↑ 78.0 78.1 78.2 Smele 1996, p. 76.
- ↑ Smele 1996, p. 61.
- ↑ 80.0 80.1 80.2 80.3 80.4 Ullman 1968b, p. 34.
- ↑ Lincoln 1989, p. 237.
- ↑ 82.0 82.1 82.2 82.3 Lincoln 1989, p. 244.
- ↑ 83.0 83.1 83.2 Smirnov 1933, p. 386.
- ↑ 84.0 84.1 Pereira 1987, p. 51.
- ↑ 85.0 85.1 85.2 Dotsenko 1983, p. 62.
- ↑ Smele 1996, p. 97.
- ↑ 87.0 87.1 Pereira 1996, p. 104.
- ↑ Smele 1996, p. 98.
- ↑ 89.0 89.1 Dotsenko 1983, p. 63.
- ↑ 90.0 90.1 90.2 90.3 Pereira 1996, p. 106.
- ↑ Lincoln 1989, p. 245.
- ↑ Smele 1996, p. 107.
- ↑ Smele 1996, p. 113.
- ↑ Smele 1996, p. 111.
- ↑ 95.0 95.1 95.2 Pereira 1996, p. 107.
- ↑ Smirnov 1933, pp. 386–387.
- ↑ 97.0 97.1 Smele 1996, p. 116.
- ↑ 98.0 98.1 98.2 Smele 1996, p. 109.
- ↑ Pereira 1987, p. 53.
- ↑ 100.0 100.1 100.2 100.3 100.4 100.5 100.6 Lincoln 1989, p. 246.
- ↑ Smele 1996, p. 119.
- ↑ 102.0 102.1 102.2 102.3 Pereira 1996, p. 122.
- ↑ Smele 1996, p. 120.
- ↑ 104.0 104.1 Pereira 1996, p. 172.
- ↑ 105.0 105.1 105.2 Ullman 1968b, p. 35.
- ↑ 106.0 106.1 Ullman 1968b, p. 36.
- ↑ 107.0 107.1 107.2 Lincoln 1989, p. 247.
- ↑ 108.0 108.1 108.2 108.3 Figes 1998, p. 652.
- ↑ 109.00 109.01 109.02 109.03 109.04 109.05 109.06 109.07 109.08 109.09 Pereira 1996, p. 123.
- ↑ 110.0 110.1 110.2 Figes 1998, p. 655.
- ↑ Smele 1996, p. 110.
- ↑ 112.0 112.1 Smele 1996, p. 114.
- ↑ 113.0 113.1 113.2 Figes 1998, p. 654.
- ↑ Smele 1996, p. 138.
- ↑ Smele 1996, p. 186.
- ↑ Smele 1996, p. 257.
- ↑ 117.0 117.1 117.2 117.3 117.4 117.5 117.6 117.7 Pereira 1996, p. 110.
- ↑ 118.0 118.1 Pereira 1996, p. 139.
- ↑ Pereira 1996, p. 138.
- ↑ Smele 1996, p. 123.
- ↑ 121.0 121.1 121.2 Smele 1996, p. 124.
- ↑ Ullman 1968b, p. 164.
- ↑ 123.0 123.1 123.2 Smele 1996, p. 125.
- ↑ 124.0 124.1 Smele 1996, p. 126.
- ↑ 125.0 125.1 125.2 Smele 1996, p. 127.
- ↑ 126.0 126.1 Smele 1996, p. 128.
- ↑ 127.0 127.1 127.2 Smele 1996, p. 129.
- ↑ 128.0 128.1 Smele 1996, p. 130.
- ↑ 129.0 129.1 129.2 Smele 1996, p. 131.
- ↑ 130.0 130.1 130.2 Pereira 1996, p. 130.
- ↑ 131.0 131.1 Smele 1996, p. 184.
- ↑ 132.0 132.1 Pereira 1996, p. 134.
- ↑ Ullman 1968b, p. 42.
- ↑ 134.0 134.1 134.2 Smele 1996, p. 268.
- ↑ Smele 1996, p. 272.
- ↑ 136.0 136.1 Smele 1996, p. 282.
- ↑ Pereira 1987, p. 61.
- ↑ 138.0 138.1 Figes 1998, p. 656.
- ↑ Smele 1996, p. 385.
- ↑ Pereira 1987, p. 60.
- ↑ 141.0 141.1 Smele 1996, p. 295.
- ↑ Pereira 1987, p. 54.
- ↑ 143.0 143.1 Pereira 1996, p. 113.
- ↑ Smele 1996, p. 304.
- ↑ 145.0 145.1 145.2 Smele 1996, p. 330.
- ↑ Smele 1996, p. 337.
- ↑ 147.0 147.1 Smele 1996, p. 341.
- ↑ Smele 1996, p. 339.
- ↑ Smele 1996, p. 344.
- ↑ Smele 1996, p. 443.
- ↑ Smele 1996, p. 449.
- ↑ 152.0 152.1 Smele 1996, p. 442.
- ↑ Smele 1996, p. 362.
- ↑ Smele 1996, p. 366.
- ↑ 155.0 155.1 Smele 1996, p. 369.
- ↑ Smele 1996, p. 370.
- ↑ Smele 1996, p. 375.
- ↑ Smele 1996, p. 374.
- ↑ 159.0 159.1 159.2 Pereira 1996, p. 125.
- ↑ 160.0 160.1 160.2 160.3 Smele 1996, p. 181.
- ↑ 161.0 161.1 161.2 161.3 Lincoln 1989, p. 249.
- ↑ 162.0 162.1 Smele 1996, p. 187.
- ↑ Smele 1996, p. 188.
- ↑ Smele 1996, p. 212.
- ↑ 165.0 165.1 165.2 Smele 1996, p. 226.
- ↑ 166.0 166.1 166.2 166.3 166.4 Figes 1998, p. 653.
- ↑ 167.0 167.1 167.2 167.3 167.4 Pereira 1996, p. 124.
- ↑ 168.0 168.1 Lincoln 1989, p. 250.
- ↑ Smele 1996, p. 331.
- ↑ Ullman 1968b, p. 211.
- ↑ Smele 1996, p. 227.
- ↑ 172.0 172.1 172.2 Smele 1996, p. 308.
- ↑ 173.0 173.1 173.2 173.3 Smele 1996, p. 309.
- ↑ 174.0 174.1 174.2 174.3 174.4 Smele 1996, p. 310.
- ↑ Ullman 1968b, p. 161.
- ↑ Pereira 1996, p. 219.
- ↑ Smele 1996, p. 313.
- ↑ 178.0 178.1 178.2 178.3 178.4 178.5 Smele 1996, p. 316.
- ↑ Ullman 1968b, p. 170.
- ↑ 180.0 180.1 Lincoln 1989, p. 262.
- ↑ 181.0 181.1 181.2 181.3 181.4 181.5 181.6 181.7 Smele 1996, p. 317.
- ↑ Pereira 1996, p. 132.
- ↑ 183.0 183.1 183.2 183.3 183.4 183.5 183.6 Pereira 1996, p. 141.
- ↑ 184.0 184.1 184.2 Smele 1996, p. 472.
- ↑ 185.0 185.1 185.2 185.3 185.4 185.5 Smele 1996, p. 318.
- ↑ 186.0 186.1 186.2 186.3 Lincoln 1989, p. 263.
- ↑ 187.0 187.1 187.2 187.3 Ullman 1968b, p. 205.
- ↑ Smele 1996, p. 319.
- ↑ 189.0 189.1 Smele 1996, p. 320.
- ↑ 190.0 190.1 Smele 1996, p. 322.
- ↑ Smele 1996, p. 324.
- ↑ Smele 1996, p. 417.
- ↑ Smele 1996, p. 438.
- ↑ 194.0 194.1 Pereira 1996, p. 58.
- ↑ Smele 1996, p. 441.
- ↑ 196.0 196.1 Smele 1996, p. 474.
- ↑ Smele 1996, p. 480.
- ↑ 198.0 198.1 198.2 198.3 Smele 1996, p. 481.
- ↑ 199.0 199.1 199.2 199.3 199.4 Smele 1996, p. 482.
- ↑ 200.0 200.1 Smele 1996, p. 487.
- ↑ Smele 1996, p. 492.
- ↑ 202.0 202.1 202.2 202.3 Smele 1996, p. 513.
- ↑ Pereira 1996, p. 144.
- ↑ Figes 1998, p. 657.
- ↑ Lincoln 1989, p. 265.
- ↑ 206.0 206.1 206.2 206.3 206.4 206.5 Smele 1996, p. 521.
- ↑ 207.0 207.1 Smele 1996, p. 523.
- ↑ 208.0 208.1 208.2 Smele 1996, p. 524.
- ↑ 209.0 209.1 209.2 Smele 1996, p. 527.
- ↑ 210.0 210.1 210.2 210.3 Smele 1996, p. 533.
- ↑ 211.0 211.1 211.2 Smele 1996, p. 534.
- ↑ 212.0 212.1 212.2 Smele 1996, p. 535.
- ↑ Smele 1996, p. 536.
- ↑ 214.0 214.1 Smele 1996, p. 538.
- ↑ 215.0 215.1 215.2 215.3 215.4 Smele 1996, p. 542.
- ↑ Smele 1996, p. 543.
- ↑ 217.0 217.1 217.2 Smele 1996, p. 544.
- ↑ 218.0 218.1 Smele 1996, p. 545.
- ↑ 219.0 219.1 Smele 1996, p. 548.
- ↑ 220.0 220.1 220.2 220.3 Smele 1996, p. 549.
- ↑ 221.0 221.1 221.2 221.3 Lincoln 1989, p. 266.
- ↑ Figes 1998, p. 659.
- ↑ Figes 1998, p. 658.
- ↑ Pereira 1996, p. 142.
- ↑ 225.0 225.1 Pereira 1987, p. 58.
- ↑ 226.0 226.1 Smele 1996, p. 551.
- ↑ 227.0 227.1 Ullman 1968b, p. 234.
- ↑ Smele 1996, p. 552.
- ↑ Smele 1996, p. 558.
- ↑ 230.0 230.1 Smele 1996, p. 567.
- ↑ 231.0 231.1 231.2 231.3 231.4 231.5 Lincoln 1989, p. 267.
- ↑ 232.0 232.1 Ullman 1968b, p. 251.
- ↑ 233.0 233.1 233.2 Smele 1996, p. 568.
- ↑ 234.0 234.1 Smele 1996, p. 569.
- ↑ 235.0 235.1 235.2 235.3 Ullman 1968b, p. 252.
- ↑ Smele 1996, p. 579.
- ↑ Smele 1996, p. 584.
- ↑ 238.0 238.1 Smele 1996, p. 585.
- ↑ 239.0 239.1 239.2 239.3 Smele 1996, p. 600.
- ↑ 240.0 240.1 240.2 Smele 1996, p. 627.
- ↑ 241.0 241.1 Pereira 1996, p. 148.
- ↑ 242.0 242.1 242.2 Smele 1996, p. 589.
- ↑ 243.0 243.1 243.2 243.3 Smele 1996, p. 592.
- ↑ 244.0 244.1 244.2 244.3 Smele 1996, p. 635.
- ↑ 245.0 245.1 245.2 245.3 245.4 Pereira 1996, p. 149.
- ↑ 246.0 246.1 Smele 1996, p. 636.
- ↑ 247.0 247.1 Smele 1996, p. 637.
- ↑ Smele 1996, p. 646.
- ↑ Smele 1996, p. 647.
- ↑ 250.0 250.1 Smele 1996, p. 3.
- ↑ Smele 1996, p. 648.
- ↑ 252.0 252.1 252.2 Smele 1996, p. 653.
- ↑ 253.0 253.1 253.2 253.3 253.4 Pereira 1996, p. 150.
- ↑ Smele 1996, p. 654.
- ↑ 255.0 255.1 255.2 255.3 255.4 255.5 Smele 1996, p. 655.
- ↑ 256.0 256.1 256.2 Smele 1996, p. 661.
- ↑ Smele 1996, p. 662.
- ↑ Smele 1996, p. 664.
- ↑ 259.0 259.1 Smele 1996, p. 665.
- ↑ Smele 1996, p. 666.
- ↑ 261.0 261.1 261.2 261.3 Smele 1996, p. 667.
- ↑ Smele 1996, p. 669.
- ↑ 263.0 263.1 Smele 1996, p. 671.
- ↑ 264.0 264.1 264.2 264.3 Lincoln 1989, p. 259.
- ↑ 265.0 265.1 Lincoln 1989, p. 258.
- ↑ Pereira 1987, p. 45.
- ↑ Pereira 1987, p. 62.
- ↑ 268.0 268.1 268.2 Lincoln 1989, p. 260.
- ↑ "Постановление Правительства Российской Федерации от 15 июля 2005 г. N 433 (Decreto del Gobierno n.º 433 15 กรกฎาคม 2005)" (ภาษารัสเซีย). Rossíiskaya Gazeta. 15 กรกฎาคม 2005.
- ↑ Almirante en IMDb.
- ↑ Russian box office rises 47%, Variety, 2 มกราคม 2009 (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Latest Russian blockbuster fits Kremlin script เก็บถาวร 2015-09-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Reuters, 6 ตุลาคม 2008 (ภาษาอังกฤษ).
หมายเหตุ
แก้- ↑ ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย
- ↑ Smele ชี้แจงว่า ระหว่าง ค.ศ. 1873–1874 เป็นปีเกิดของคอลชัค แต่ลูกชายของเขาได้ยืนยันว่า ค.ศ. 1874 เป็นปีที่ถูกต้อง[6] ส่วน Barr ระบุวันและเดือนเกิดของคอลชัคถูกต้อง แต่ให้ปีผิด[7]
- ↑ Weeks และ Baylen ระบุว่าได้เลื่อนยศในเดือนตุลาคม[8] แต่คอลชัคยืนยันว่าเป็นเดือนมิถุนายน[44]
- ↑ คอลชัคถูกปลดจากการเป็นผู้บัญชาการกองเรือเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 6 มิถุนายน] และเดินทางออกจากเปโตรกราดโดยที่ยังไม่ได้ต้อนรับคณะผู้แทนจากทหารสหรัฐ ซึ่งเดินทางมายังฐานทัพเรือเพื่อร่วมมือในการปรับปรุงกองเรือรัสเซีย[25]
บรรณานุกรม
แก้- Barr, William (1981). "Aleksandr Vasil'yevich Kolchak: Arctic Scientist and Explorer". Polar Record. 20 (129): 507-524. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-22. สืบค้นเมื่อ 2022-11-20.
- Connaughton, Richard Michael (1990). The republic of the Ushakovka: Admiral Kolchak and the allied intervention in Siberia, 1918-20 (ภาษาอังกฤษ). Routledge. p. 193. ISBN 9780415051989.
- Dotsenko, Paul (1983). The struggle for a democracy in Siberia, 1917-1920: eyewitness account of a contemporary (ภาษาอังกฤษ). Hoover Institution Press. p. 178. ISBN 9780817977719.
- Figes, Orlando (1998). A people's tragedy: the Russian Revolution, 1891-1924 (ภาษาอังกฤษ). Penguin Books. p. 923. ISBN 9780140243642.
- Kolchak, Aleksandr Vasiliyevich; Papov, Konstantin Andreevich; Ovchinnikov, Anton Zakharovich (1980). The testimony of Kolchak and other Siberian materials (ภาษาอังกฤษ). Stanford University Press. p. 466. OCLC 502387257.
- Lincoln, W. Bruce (1989). Red Victory: A History of the Russian Civil War (ภาษาอังกฤษ). Simon & Schuster. p. 637. ISBN 0671631667.
- Morley, James William (1957). The Japanese Thrust Into Siberia, 1918 (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. p. 395.
- Pereira, Norman G. O. (1996). White Siberia: the politics of civil war (ภาษาอังกฤษ). McGill-Queen's University Press. p. 261. ISBN 9780773513495.
- Pereira, Norman G. O. (1987). "White Power during the Civil War in Siberia (1918-1920): Dilemmas of Kolchak's "War Anti-Communism"". Canadian Slavonic Papers. 29 (1): 45-62.
- Pipes, Richard (1993). Russia under the Bolshevik regime (ภาษาอังกฤษ). A.A. Knopf. ISBN 9780394502427.
- Smele, Jonathan D. (1996). Civil war in Siberia: the anti-Bolshevik government of Admiral Kolchak, 1918-1920 (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. p. 759. ISBN 9780521573351. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2014.
- Smirnov, M. I. (1933). "Admiral Kolchak". Slavonic and East European Review. 11 (32): 373-387.
- Ullman, Richard H. (1968). Intervention and the War. Anglo-Soviet relations, 1917-1921 (ภาษาอังกฤษ). Vol. I. Princeton University Press. p. 395. OCLC OL20921546M.
- Ullman, Richard H. (1968b). Britain and the Russian Civil War. Anglo-Soviet relations, 1917-1921 (ภาษาอังกฤษ). Vol. II. Princeton University Press. p. 395. OCLC 250516786.
- Weeks, Charles J.; Baylen, Joseph O. (1976). "Admiral Kolchak's Mission to the United States, 10 September-9 November 1917". Military Affairs. 40 (2): 63-67.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- งานโดยหรือเกี่ยวกับ อะเลคซันดร์ คอลชัค ในห้องสมุดต่าง ๆ ในแคตาลอกของเวิลด์แคต