สาธารณรัฐประชาชนยูเครน
สาธารณรัฐประชาชนยูเครน หรือ สาธารณรัฐแห่งชาติยูเครน[c] เป็นอดีตประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1917 จนถึง ค.ศ. 1920 สาธารณรัฐประกาศจัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในรัสเซีย ตามประกาศสากลที่หนึ่ง มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากลางโดยสภาคองเกรสแห่งชาติในเคียฟในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประกอบด้วยบรรดาพรรคสังคมนิยม โดยเป็นหลักการเดียวกันกับที่ใช้ทั่วทั้งอาณาเขตของสาธารณรัฐรัสเซีย การปกครองตนเองของสาธารณรัฐได้รับการยอมรับจากรัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย ภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม สาธารณรัฐได้ประกาศตนเป็นเอกราชจากสาธารณรัฐรัสเซียเมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1918 ตามประกาศสากลที่สี่
สาธารณรัฐประชาชนยูเครน Украї́нська Наро́дня Респу́бліка (ยูเครน) | |||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1917–1918 1918–1921[a] | |||||||||||||||||||
สาธารณรัฐประชาชนยูเครนใน ค.ศ. 1918 | |||||||||||||||||||
สถานะ | เขตปกครองตนเองภายใต้สาธารณรัฐรัสเซีย (1917–1918) รัฐที่ได้รับการยอมรับบางส่วน (1918–1921) รัฐบาลพลัดถิ่น (1921–1992) | ||||||||||||||||||
เมืองหลวง | เคียฟ | ||||||||||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษาทางการ: ยูเครน ภาษาที่ใช้อย่างแพร่หลาย: รัสเซีย ภาษาประจำถิ่น: ยิดดิช โปแลนด์ เยอรมัน เบลารุส โรมาเนีย บัลแกเรีย กรีก ยูรัม และอื่น ๆ | ||||||||||||||||||
ศาสนา |
| ||||||||||||||||||
เดมะนิม | ชาวยูเครน | ||||||||||||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐประชาชน | ||||||||||||||||||
ประธานาธิบดี (สภากลาง) | |||||||||||||||||||
• 1917–1918 | มือคัยลอ ฮรูแชวสกึย | ||||||||||||||||||
ประธานาธิบดี (คณะกรรมาธิการ) | |||||||||||||||||||
• 1918–1919 | วอลอดือมือร์ วึนนือแชนกอ | ||||||||||||||||||
• 1919–1920[b] | ซือมอน แปตลูรา | ||||||||||||||||||
นายกรัฐมนตรี | |||||||||||||||||||
• 1917–1918 | วอลอดือมือร์ วึนนือแชนกอ | ||||||||||||||||||
• 1918–1919 | วอลอดือมือร์ แชคิวสกึย | ||||||||||||||||||
• 1919 | บอรึส มาร์ตอส | ||||||||||||||||||
• 1919–1920 | อีซาอัก มาแซปา | ||||||||||||||||||
• 1920–1921 | วิยาแชสเลา ปรอกอปอวึช | ||||||||||||||||||
สภานิติบัญญัติ | สภากลาง | ||||||||||||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง | ||||||||||||||||||
• ประกาศปกครองตนเอง | 23 มิถุนายน 1917 | ||||||||||||||||||
• ประกาศสาธารณรัฐ | 20 พฤศจิกายน 1917 | ||||||||||||||||||
• ประกาศเอกราช | 22 มกราคม 1918 | ||||||||||||||||||
• ก่อตั้งคณะกรรมาธิการ | 13 พฤศจิกายน 1918 | ||||||||||||||||||
• ล้มเลิกรัฐยูเครน | 14 ธันวาคม 1918 | ||||||||||||||||||
• ลงนามในรัฐบัญญัติเอกภาพ | 22 มกราคม 1919 | ||||||||||||||||||
18 มีนาคม 1921 | |||||||||||||||||||
• ได้รับอำนาจหลังยูเครนโซเวียต | 15 มีนาคม 1992 | ||||||||||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||||||||||
• รวม | 860,000 ตารางกิโลเมตร (330,000 ตารางไมล์) | ||||||||||||||||||
สกุลเงิน | การ์บอวาแนตส์ ฮรึวญา | ||||||||||||||||||
|
ในระยะเวลาสั้น ๆ ของการดำรงอยู่ สาธารณรัฐได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง ตั้งแต่การเอนเอียงไปทางฝ่ายสังคมนิยมของสาธารณรัฐที่นำโดยฝ่ายเลขาธิการทั่วไปของสภากลางยูเครน ไปจนถึงการปกครองแบบสาธารณรัฐสังคมนิยมที่นำโดยซือมอน แปตลูรา และคณะกรรมาธิการ ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 อำนาจฝ่ายสังคมนิยมของสาธารณรัฐประชาชนยูเครนถูกระงับลง และถูกโค่นล้มโดยเปาลอ สกอรอปัดสกึย พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งรัฐยูเครนขึ้น ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบริวารของเยอรมนี สกอรอปัดสกึยได้รับเลือกให้เป็นผู้บัญชาการแห่งรัฐ (hetman) โดยสภาชาวนา[1][2][ต้องการคำอ้างอิงเพื่อยืนยัน] เมื่อปลาย ค.ศ. 1919 สาธารณรัฐได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับสาธารณรัฐโปแลนด์ที่ 2 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 สาธารณรัฐได้สูญเสียดินแดนส่วนที่เหลืออยู่ให้แก่บอลเชวิค สนธิสัญญาสันติภาพรีกาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1921 อันเป็นการลงนามระหว่างสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง รัสเซียโซเวียต (ดำเนินการในนามของเบลารุสโซเวียต) และยูเครนโซเวียต ถือเป็นการกำหนดชะตากรรมอันแน่นอนของสาธารณรัฐประชาชนยูเครน
หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม รัฐบาลท้องถิ่นมากมายถูกจัดตั้งขึ้นในยูเครน โดยที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดคือ สาธารณรัฐประชาชนยูเครนแห่งโซเวียต (ค.ศ. 1917–1918) ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่คาร์กิว และเหล่าคณะผู้สืบทอดอำนาจจากโซเวียต ทั้งกองกำลังโซเวียต สาธารณรัฐยูเครน (ซึ่งมีรากฐานอยู่ที่เคียฟ) ขบวนการขาว โปแลนด์ กองทัพเขียว และกลุ่มอนาธิปไตยได้ต่อสู้กันเองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ชาวยูเครนเป็นจำนวนมากต้องสูญเสียเลือดเนื้อในสงครามกลางเมืองยูเครน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองรัสเซีย ใน ค.ศ. 1917–1923 ต่อมาสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (หลังสนธิสัญญาสันติภาพรีกา) ได้ขยายอำนาจการควบคุมให้ยูเครนกลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน และใน ค.ศ. 1922 ยูเครนก็กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของการจัดตั้งสหภาพโซเวียต[1]
ประวัติ
แก้คลื่นแห่งการปฏิวัติ
แก้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1917 สภากลางยูเครนได้ประกาศปกครองตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐรัสเซียตามประกาศสากลที่หนึ่ง ณ การประชุมสภาทหารแห่งยูเครนทั้งปวง อำนาจการปกครองสูงสุดในสาธารณรัฐประชาชนยูเครนตกเป็นของคณะเลขาธิการยูเครน (General Secretariat of Ukraine) ซึ่งนำโดยวอลอดือมือร์ วึนนือแชนกอ (Volodymyr Vynnychenko) ทางอะเลคซันดร์ เคเรนสกี นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ได้ยอมรับคณะเลขาธิการ โดยแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนหน่วยงานปกครองของรัฐบาลชั่วคราวรัสเซียและจำกัดอำนาจการปกครองไว้ในพื้นที่ห้าเขตผู้ว่าการ ได้แก่ วอลึญ, เคียฟ, โปโดเลีย, เชียร์นีกอฟ, และปอลตาวา ในช่วงแรกวึนนือแชนกอไม่พึงพอใจและได้ลาออกจากการเป็นผู้นำคณะเลขาธิการ แต่สุดท้ายเขาก็กลับมารับตำแหน่งในคณะเลขาธิการอีกครั้งหลังจากที่สภากลางยูเครน (Tsentralna Rada) ยอมรับคำชี้แนะของเคเรนสกี (Kerensky Instruktsiya) และออกประกาศสากลที่สอง
หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม พรรคบอลเชวิคฝ่ายเคียฟได้ก่อการกำเริบในเคียฟเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 โดยมีจุดประสงค์เพื่อก่อสร้างอำนาจของโซเวียตในเมืองแห่งนี้ กองกำลังของมณฑลทหารเคียฟมีความพยายามปราบปรามความไม่สงบ แต่หลังจากที่สภากลางให้การสนับสนุนแก่บอลเชวิคอยู่เบื้องหลัง ทำให้กองทัพรัสเซียถอนกำลังออกจากเคียฟ ภายหลังการขับไล่รัสเซียออกจากยูเครน สภากลางได้ประกาศการปกครองตนเองของสาธารณรัฐยูเครนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับรัสเซีย เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 อาณาเขตของสาธารณรัฐถูกกำหนดขึ้นตามประกาศสากลที่สาม[3] โดยครอบคลุมพื้นที่เขตผู้ว่าการวอลึญ, เคียฟ, โปโดเลีย, เชียร์นีกอฟ, ปอลตาวา, ฮาร์คอฟ, เยคาเตรีโนสลัฟ, เฮียร์ซอน, เทาริดา (ไม่รวมไครเมีย) นอกจากนี้ในประกาศยังระบุอีกว่าผู้คนในเขตผู้ว่าการโวโรเนจ, ฮอล์ม, และคูสค์ ยินดีที่จะเข้าร่วมกับสาธารณรัฐผ่านการออกเสียงประชามติ อีกทั้งระบุให้สภากลางเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุดในดินแดนยูเครนจนกว่าจะมีการฟื้นฟูสาธารณรัฐรัสเซียอีกครั้ง เนื่องจากเหตุการณ์ปฏิวัติบอลเชวิค สภากลางยูเครนเรียกกิจกรรมการปฏิวัติทั้งหมดในดินแดนต่าง ๆ เช่น การปฏิวัติเดือนตุลาคม ว่าเป็นสงครามกลางเมือง และแสดงเจตนาที่จะเข้ามาแก้ไขความวุ่นวายนี้
หลังการสงบศึกในช่วงเวลาอันสั้น บอลเชวิคตระหนักว่าสภากลางไม่ได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนการปฏิวัติของบอลเชวิค พวกเขาจึงหันไปจัดตั้งสภาโซเวียตแห่งยูเครนทั้งปวง (All-Ukrainian Council of Soviets) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1917 เพื่อพยายามยึดอำนาจ แต่ก็ล้มเหลวเนื่องจากความนิยมบอลเชวิคอันน้อยนิดของผู้คนในเคียฟ พวกเขาจึงย้ายไปตั้งหลักที่คาร์กิวแทน พรรคบอลเชวิคยูเครนประกาศว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนละเมิดกฎหมายและประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนยูเครนแห่งโซเวียต โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่เคียฟ พร้อมทั้งอ้างว่าคณะเลขาธิการประชาชนยูเครน (People's Secretaries of Ukraine) เป็นรัฐบาลเดียวของประเทศเท่านั้น กองทัพแดงของบอลเชวิคได้เข้ารุกรานยูเครนเพื่อสนับสนุนรัฐบาลโซเวียตท้องถิ่น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกภายในสภากลางเริ่มแย่ลง บรรดาสาธารณรัฐโซเวียตประจำภูมิภาคจึงประกาศตนเป็นเอกราชและประกาศจงรักภักดีต่อซอฟนาร์คอมในเปโตรกราด (sovnarkom) (สาธารณรัฐโซเวียตออแดซาในยูเครนใต้, สาธารณรัฐโซเวียตโดเนตสค์–ครีวอยรอกในยูเครนตะวันออก) สาธารณรัฐโซเวียตดอแนตสก์–ครีวอยรอกถูกก่อตั้งขึ้นโดยคำสั่งจากเลนินโดยตรง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียโซเวียต โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่คาร์กิว คำสั่งนั้นได้รับการตอบสนองอย่างประสบผลสำเร็จโดยฟิโอดอร์ เซียร์เกเยฟ (Fyodor Sergeyev) ผู้ซึ่งเป็นประธานของรัฐบาลยูเครนโซเวียต ในทางกลับกันสาธารณรัฐโซเวียตออแดซาไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลบอลเชวิคอื่นใด และด้วยแนวคิดริเริ่มของตนเอง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารกับโรมาเนียเพื่อแย่งชิงการควบคุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยมอลเดเวีย ซึ่งมีดินแดนที่พิพาทอยู่
ประกาศเอกราช
แก้ในช่วงการรุกรานจากรัสเซียโซเวียต เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1918 สภากลางได้ออกประกาศสากลที่สี่ ซึ่งถือเป็นการทำลายความสัมพันธ์กับรัสเซียโซเวียตและประกาศสถานะเป็นรัฐอธิปไตยยูเครน[4] แต่ต่อมาไม่นาน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 กองทัพแดงเข้ายึดเคียฟ
การที่ประเทศถูกล้อมรอบด้วยกองกำลังบอลเชวิคและสูญเสียดินแดนเป็นจำนวนมาก สภากลางจึงขอความช่วยเหลือจากต่างชาติและลงนามในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 เพื่อขอความข่วยเหลือทางทหารจากจักรวรรดิเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี ด้วยความช่วยเหลือจากเยอรมนีทำให้กองทัพยูเครนสามารถขับไล่บอลเชวิคออกจากประเทศได้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 สภาแห่งสาธารณรัฐประชาชนคูบันยอมรับการลงมติสำหรับการรวมสหพันธ์ระหว่างคูบันและยูเครน หลังกองกำลังบอลเชวิคออกจากเยกาเตรีโนดาร์ และทางสภาแห่งคูบันจึงให้สัตยาบันต่อรัฐบาลยูเครน
หลังสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ ยูเครนเริ่มกลายเป็นรัฐในอารักขาของจักรวรรดิเยอรมันมากขึ้นเรื่อย ๆ และทางเยอรมนีกังวลว่าจะพ่ายแพ้ในสงคราม จึงเร่งดำเนินการเคลื่อนย้ายทรัพยากรและเสบียงจำนวนมากจากยูเครน โดยตัดสินใจจัดตั้งหน่วยบริหารภายใต้การดูแลของจอมพลแฮร์มัน ฟ็อน ไอช์ฮอร์น และต่อมาเป็นพลเอกอาวุโสอเล็คซันเดอร์ ฟ็อน ลินซินเงิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน ผู้บัญชาการกองทัพแห่งเคียฟออกคำสั่งที่จะดำเนินการตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาตามความตั้งใจของเขา แต่คำสั่งของเขาเกิดขัดแย้งกันกับกฎหมายของรัฐบาล ดังนั้นคำสั่งนี้จึงเป็นโมฆะ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1918 ปฏิบัติการเฟาสท์ชลักของเยอรมนี-ออสเตรียทำให้อิทธิพลของบอลเชวิคถูกลบล้างออกจากยูเครนอย่างสมบูรณ์[5][6][7][8][9] ชัยชนะของเยอรมนี/ออสเตรีย-ฮังการีนั้นเกิดจากความเมินเฉยของชาวบ้านท้องถิ่นและการมีประสบการณ์ด้อยกว่าของกองกำลังบอลเชวิค เมื่อเทียบกับกองทัพเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี[9]
กองทัพเยอรมันทำการยึดอำนาจและยกเลิกสภากลางยูเครนเมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1918 เพื่อหยุดยั้งการปฏิรูปสังคมที่เกิดขึ้นและเริ่มดำเนินการเคลื่อนย้ายทรัพยากรไปยังเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เจ้าหน้าที่เยอรมันเข้าจับกุมนายกรัฐมนตรียูเครนวแซวอลอด ฮอลูบอวึช ในข้อหาก่อการร้ายและทำให้เกิดการยกเลิกสภารัฐมนตรีประชาชน (Council of People's Ministers) เนื่องจากก่อนหน้านี้สภากลางได้อนุมัติใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนยูเครน
รัฐผู้บัญชาการ
แก้ภายหลังการยึดอำนาจ สภากลางยูเครนถูกแทนที่โดยรัฐบาลอนุรักษนิยมของผู้บัญชาการแห่งรัฐ เปาลอ สกอรอปัดสกึย และเปลี่ยนจากสาธารณรัฐประชาชนเป็น "รัฐยูเครน" (Ukrayinska derzhava) สกอรอปัดสกึยผู้ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการของจักรวรรดิรัสเซียได้ก่อตั้งระบอบการปกครองที่เป็นที่ชื่นชอบต่อเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ แต่ทว่ารัฐบาลได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยจากนักเคลื่อนไหวชาวยูเครน ซึ่งแตกต่างจากสภากลางที่สามารถจัดตั้งหน่วยบริหารที่มีประสิทธิภาพได้ อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับหลายประเทศ และเจรจาสันติภาพกับรัสเซียโซเวียตสำเร็จอีกด้วย ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน รัฐผู้บัญชาการได้จัดพิมพ์หนังสือเรียนในภาษายูเครนเป็นจำนวนหลายล้านเล่ม ก่อตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก และจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์ยูเครน
รัฐบาลผู้บัญชาการยังสนับสนุนการยึดครองที่ดินของชาวนาโดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเยอรมัน ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่ความไม่สงบที่เพิ่มขึ้นจากขบวนการพลพรรคชาวนาและการจราจลด้วยอาวุธขนานใหญ่ การเจรจาถูกจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนสมาชิกสภากลางอย่างแปตลูราและวึนนือแชนกอ แต่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ต้องการโค่นล้มรัฐบาลสกอรอปัดสกึย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม สมาชิกพรรคปฏิวัติสังคมนิยมฝ่ายซ้ายของรัสเซียบอริส มีไฮโลวิช ดอนสกอย ซี่งได้รับการช่วยเหลือจากพรรคปฏิวัติสังคมนิยมยูเครน ประสบความสำเร็จในการลอบสังหารจอมพลแฮร์มัน ฟ็อน ไอช์ฮอร์น
เนื่องจากการเสื่อมลงของกองกำลังเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สกอรอปัดสกึยจึงจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแห่งราชาธิปไตยรัสเซียใหม่ และพยายามจะเข้าร่วมกับรัฐบาลรัสเซียที่ไม่ใช่บอลเชวิค ในขณะที่นักสังคมนิยมยูเครนตอบโต้ด้วยการประกาศจัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติใหม่ในชื่อ "คณะกรรมาธิการยูเครน" เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
คณะกรรมาธิการยูเครน
แก้คณะกรรมาธิการได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากจากประชาชนและหน่วยทหารบางส่วนของสกอรอปัดสกึย ซึ่งได้ก่อจราจลในเคียฟเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ภายหลังสามสัปดาห์ที่อับจนอย่างยาวนานของสกอรอปัดสกึย ในที่สุดเขาจึงลาออกเพื่อให้การสนับสนุนคณะรัฐมนตรีของเขาที่ต่อมาได้ยอมจำนนต่อกองกำลังปฏิวัติ และในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1918 คณะกรรมาธิการเข้าควบคุมเคียฟได้สมบูรณ์
กองกำลังบอลเชวิคเข้ารุกรานยูเครนจากคูสค์ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1918 ที่ซึ่งรัฐบาลยูเครนโซเวียตใหม่ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1919 ยูเครนประกาศสงครามกับรัสเซียอย่างเป็นทางการ ขณะที่รัฐบาลรัสเซียโซเวียตยังคงปฏิเสธการกล่าวอ้างการรุกรานทั้งหมด ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1919 คณะกรรมาธิการได้รวมสาธารณรัฐประชาชนยูเครนตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งอย่างเป็นทางการ แม้ว่าในทางพฤตินัยแล้วจะยังมีกองทัพและรัฐบาลเป็นของตนเองก็ตาม และในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ กองกำลังบอลเชวิคเข้ายึดเคียฟอีกครั้ง[10]
ตลอดช่วง ค.ศ. 1919 ยูเครนประสบกับความโกลาหลจากการต่อสู้กันของกองทัพสาธารณรัฐยูเครน บอลเชวิค กองทัพขาว มหาอำนาจไตรภาคี และโปแลนด์ รวมถึงกลุ่มอนาธิปไตยที่นำโดยแนสตอร์ มัคนอ ซึ่งต้องการมีอำนาจในยูเครน แม้ว่าการรุกเคียฟโดยกองทัพพันธมิตรโปแลนด์-ยูเครนจะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่นี้ได้ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 คณะกรรมาธิการสูญเสียดินแดนที่เหลืออยู่แก่บอลเชวิคในวอลึญ และพลัดถิ่นไปที่โปแลนด์[11] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 สนธิสัญญาสันติภาพรีกาได้กำหนดพรมแดนระหว่างโปแลนด์ รัสเซียโซเวียต และยูเครนโซเวียต
หลังการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพรีกา ดินแดนกาลิเชียและพื้นที่ส่วนใหญ่ของวอลึญถูกผนวกรวมกับโปแลนด์ ขณะที่ดินแดนทางตะวันออกและใต้กลายเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน
หลังความพ่ายแพ้ทางทหารและการเมือง คณะกรรมาธิการยังคงควบคุมกองกำลังทหารบางส่วนต่อไป เนื่องจากกังวลถึงแผนการที่อาจจะเกิดขึ้นของอาร์ชดยุกวิลเฮ็ล์มแห่งออสเตรีย ซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองกับคณะ[12] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1921 รัฐบาลพลัดถิ่นสาธารณรัฐประชาชนยูเครนเปิดฉากการโจมตีแบบกองโจรในภาคกลางของยูเครน ตั้งแต่ทางตะวันออกไกลจนถึงแคว้นเคียฟ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน กองโจรของคณะกรรมาธิการเข้ายึดกอรอสแตญ พร้อมทั้งกองทหารและทรัพยากรจำนวนมาก แต่ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1921 กองกำลังนี้ถูกปราบโดยทหารม้าบอลเชวิคและสลายตัวลง
รัฐบาลพลัดถิ่น
แก้คณะกรรมาธิการได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นสาธารณรัฐประชาชนยูเครนและกระทำการเคลื่อนไหวอยู่ในวอร์ซอ ปารีส ไวมาร์ คิสซิงเงิน มิวนิก และฟิลาเดลเฟีย
ระหว่างการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง ตารัส บุลบา-บอรอแวตส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีพลัดถิ่นอันดรีย์ ลีวึตสกึย ได้ข้ามพรมแดนเยอรมัน-โซเวียตและจัดตั้งหน่วยทหารอูแปอาภายใต้สังกัดรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนยูเครน[13]
ในการประชุมฉุกเฉินครั้งที่ 10 ของสภาแห่งชาติยูเครน มีการรับรองรัฐยูเครนในฐานะผู้สืบทอดของรัฐบาลพลัดถิ่นสาธารณรัฐประชาชนยูเครน และ ตกลงที่จะโอนอำนาจรัฐไปยังประธานาธิบดียูเครนที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ใน ค.ศ. 1991[14]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แก้สาธารณรัฐประชาชนยูเครนได้รับการรับรองทางนิตินัยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 โดยประเทศมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี จักรวรรดิออตโตมัน และบัลแกเรีย)[15] และโดยรัสเซียบอลเชวิค กลุ่มประเทศบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย) จอร์เจีย อาเซอร์ไบจาน โรมาเนีย เชโกสโลวาเกีย และสันตะสำนัก และประเทศที่รับรองทางพฤตินัย ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และเปอร์เซีย[16] อีกทั้งยังได้รับการรับรองบางส่วนจากสาธารณรัฐประชาชนเบลารุสด้วย
ต่อมาใน ค.ศ. 1918 รัสเซียได้ถอนการรับรองเอกราชของยูเครน โดยอ้างถึงพิธีสารในสนธิสัญญาแวร์ซายเป็นเหตุผลในการดำเนินการ ใน ค.ศ. 1920 ซือมอน แปตลูรา และยูแซฟ ปิวซุดสกี ร่วมลงนามในสนธิสัญญาวอร์ซอ ซึ่งทั้งสองประเทศถือเอาแม่น้ำซบรุชเป็นเส้นแบ่งพรมแดน[17][18][19] อย่างไรก็ตาม รัฐต่าง ๆ ที่เคยรับรองสาธารณรัฐประชาชนยูเครนได้ยุติความสัมพันธ์ทั้งหมดกับรัฐบาลพลัดถิ่น และหันให้การรับรองรัฐบาลโซเวียตในเคียฟแทน[16]
ภารกิจทางการทูตที่สำคัญ
แก้- สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์; 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1918 (ได้รับการรับรองจากเยอรมนีและตุรกี)
- สนธิสัญญาสันติภาพเบื้องต้นกับรัสเซียโซเวียต; 12 มิถุนายน ค.ศ. 1918 (ยกเลิกสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918)
- สนธิสัญญาสันติภาพกับสาธารณรัฐดอน; 8 สิงหาคม ค.ศ. 1918
- รัฐบัญญัติรวมชาติ; 20 มกราคม ค.ศ. 1919 (รวมสองสาธารณรัฐที่มีได้รับการรับรองบางส่วน) สาธารณรัฐฮุตซุล (ซาการ์ปัจจาตะวันออก) ประกาศเข้าร่วมเช่นกัน
- การสูญเสียเคียฟแก่โซเวียต; 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 และวิกฤตทางการเมืองภายในรัฐบาลแห่งชาติยูเครน
- การลาออกของแซร์ฮีย์ ออสตาแปนกอ และรัฐบาลของเขา เนื่องจากความล้มเหลวในการเจรจากับมหาอำนาจไตรภาคี
- การมีส่วนร่วมในการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919
- ดินแดนในอาณัติกาลิเชียตะวันออกได้รับการอนุมัติโดยมหาอำนาจไตรภาคีเพื่อส่งมอบแก่โปแลนด์; 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1919
- สนธิสัญญาวอร์ซอใน ค.ศ. 1920 กับโปแลนด์
ประชากรศาสตร์
แก้ตามการสำรวจสำมะโนประชากรใน ค.ศ. 1897 สาธารณรัฐมีประชากรมากกว่า 20 ล้านคนในพื้นที่อดีตเจ็ดเขตผู้ว่าการ และอีกสามเทศมณฑลของเขตผู้ว่าการเทาริดาที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่
- กลุ่มชาติพันธุ์ในสาธารณรัฐประชาชนยูเครน (พันคน)
- ชาวยูเครน – 14,931.5 (73%)
- ชาวรัสเซีย – 2,146.1 (11%)
- ชาวยิว – 1,871.8 (9%)
- ชาวเยอรมัน – 451.3 (2%)
- ชาวโปแลนด์ – 375.9 (2%)
- ชาวเบลารุส – 208.5 (1%)
- ชาวโรมาเนีย – 185.7 (1%)
- อื่น ๆ – 1%
การแบ่งเขตการปกครอง
แก้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1918 รัฐบาลยูเครนได้ออกกฎหมายการแบ่งเขตการปกครองของประเทศ โดยในกฎหมายระบุว่ายูเครนจะแบ่งการปกครองออกเป็น 32 แซมเลีย (ดินแดน) โดยมีแซมสตวอ (земство) บริหารในเขตการปกครองนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากในวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 1918 เกิดการยึดอำนาจจากฝ่ายต่อต้านสังคมนิยมในเคียฟ ซึ่งหลังจากนั้นผู้บัญชาการแห่งรัฐเปาลอ สกอรอปัดสกึย ได้เปลี่ยนการบริหารกลับไปเป็นรูปแบบเขตผู้ว่าการตามสมัยจักรวรรดิรัสเซีย
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ ถูกล้มเลิกอย่างเป็นทางการหลังจากสนธิสัญญาสันติภาพรีกาใน ค.ศ. 1921 และกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นจนถึง ค.ศ. 1992
- ↑ พลัดถิ่นตั้งแต่ ค.ศ. 1920–1926
- ↑ ยูเครน: Украї́нська Наро́дня Респу́бліка, อักษรโรมัน: Ukrayinska Narodnya Respublika; สะกดตามอักขรวิธีสมัยใหม่ได้ว่า Украї́нська Наро́дна Респу́бліка, อักษรโรมัน: Ukrayinska Narodna Respublika; อักษรย่อ: УНР, อักษรโรมัน: UNR
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Yekelchyk 2007.
- ↑ Europa Publications (1999). Eastern Europe and the Commonwealth of Independent States, 1999. Taylor & Francis. p. 849. ISBN 978-1-85743-058-5.
- ↑ The Third Universal in the archives of the Verkhovna Rada (ในภาษายูเครน)
- ↑ Serhy Yekelchyk, Ukraine: Birth of a Modern Nation, Oxford University Press (2007), ISBN 978-0-19-530546-3, p. 72
- ↑ "Ukraine - World War I and the struggle for independence". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2008-01-30.
- ↑ (ในภาษายูเครน) 100 years ago Bakhmut and the rest of Donbas liberated, Ukrayinska Pravda (18 April 2018)
- ↑ Tynchenko, Yaros (23 March 2018), "The Ukrainian Navy and the Crimean Issue in 1917–18", The Ukrainian Week, สืบค้นเมื่อ 14 October 2018
- ↑ Germany Takes Control of Crimea, New York Herald (18 May 1918)
- ↑ 9.0 9.1 War Without Fronts: Atamans and Commissars in Ukraine, 1917–1919 by Mikhail Akulov, Harvard University, August 2013 (pp. 102 and 103)
- ↑ Subtelny 2000, p. 365.
- ↑ Subtelny 2000, p. 375.
- ↑ Timothy Snyder (2008). Red Prince: the Secret Lives of a Habsburg Archduke. New York: Basic Books, pp. 138–148
- ↑ Бульба-Боровець Т. Армія без держави: слава і трагедія українського повстанського руху. Спогади.— Вінніпег: Накладом Товариства «Волинь», (tr, "glory and tragedy of the Ukrainian insurgent movement. Memories.— Winnipeg: Courtesy of the "Volyn" Society") 1981.— С. 113—115.
- ↑ Плав'юк М. Державний центр УНР на еміграції (ДЦ УНР) (tr. "UKR State Center for Emigration (UKR State Center)") เก็บถาวร 2016-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ TERMS OF PEACE MADE BY UKRAINE; New Republic Gets Increased Territory at Expense of Rest of Russia, The New York Times, 12 February 1918 (PDF)
- ↑ 16.0 16.1 (Talmon 1998, p. 289)
- ↑ Alison Fleig Frank (1 July 2009). Oil Empire: Visions of Prosperity in Austrian Galicia. Harvard University Press. p. 228. ISBN 978-0-674-03718-2.
- ↑ Richard K. Debo (1992). Survival and Consolidation: The Foreign Policy of Soviet Russia, 1918-1921. McGill-Queen's Press - MQUP. pp. 210–211. ISBN 978-0-7735-6285-1.
- ↑ Ivan Katchanovski; Zenon E. Kohut; Bohdan Y. Nebesio; Myroslav Yurkevich (11 July 2013). Historical Dictionary of Ukraine. Scarecrow Press. pp. 747–. ISBN 978-0-8108-7847-1.
บรรณานุกรม
แก้- Kubijovyč, Volodymyr (1963). Ukraine: A Concise Encyclopædia Vol. 1. Toronto: University of Toronto Press. ISBN 0-8020-3105-6.
- Magosci, Paul Robert (1996). A History of Ukraine. Toronto: University of Toronto Press. ISBN 0-8020-7820-6.
- Subtelny, Orest (2000). Ukraine: A History (3rd ed.). Toronto: University of Toronto Press. ISBN 0802083900. สืบค้นเมื่อ 2021-05-22.
- Talmon, Stefan (1998). Recognition of Governments in International Law. Oxford University Press. ISBN 0-19-826573-5.
- Velychenko, Stephen (2010). State building in revolutionary Ukraine: a comparative study of governments and bureaucrats, 1917-1922. Toronto: University of Toronto Press. ISBN 9781442641327.
- Yekelchyk, Serhy (2007). Ukraine: Birth of a Modern Nation (PDF). Oxford: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-530545-6.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Ukrainian People's Republic
- People's war 1917–1932 by Kyiv city organization "Memorial"
- UNIVERSAL of the Ukrainian Central Rada addressed to the Ukrainian people living in and outside of Ukraine.. Translationreport.