ครุยและเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ครุยวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเสื้อครุยที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติยศสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อมา คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เมื่อสามารถจัดการเรียนการสอนถึงขั้นปริญญาได้ แต่ในขณะนั้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนีบัตรเท่านั้นจึงไม่มีการจัดสร้างครุยขึ้น แต่ในเบื้องต้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มที่ทำด้วยเงินล้วนเป็นรูปพระเกี้ยว เรียกว่า เข็มบัณฑิต (เข็มวิทยฐานะ ในปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ปัจจุบัน ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นยังคงได้รับเข็มวิทยฐานะเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายของบัณฑิตสืบมา
เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนได้รับการประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนถึงขั้นปริญญาแล้ว จึงมีการจัดสร้างครุยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2473 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลักษณะเป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบโดยรอบ รวมทั้งบริเวณแขนและปลายแขน พื้นสำรดนั้นมีสีแตกต่างกันตามชนิดของครุย กล่าวคือ ครุยพระบรมราชูปถัมภก พื้นสำรดสีเหลือง, ครุยประจำตำแหน่งคณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย พื้นสำรดสีชมพู, ครุยดุษฎีบัณฑิต พื้นสำรดสีแดง ส่วนครุยมหาบัณฑิตและครุยบัณฑิต พื้นสำรดสีดำ มีพระเกี้ยวติดตามแนวดิ่งกลางสำรดบริเวณหน้าอก สำหรับครุยวิทยฐานะนั้นจะใช้แถบสีตามสีประจำคณะบริเวณตอนกลางสำรดเพื่อระบุคณะที่บัณฑิตสังกัด
ผู้มีสิทธิใช้ครุยสามารถสวมครุยทับเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี หรืองานพิธีที่กำหนดให้สวมครุยวิทยฐานะและให้ประดับเข็มวิทยฐานะบนอกเสื้อข้างซ้ายของเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในโอกาสอันสมควร โดยผู้ใดที่ใช้ครุยหรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประวัติ
แก้ในปี พ.ศ. 2457 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ยังไม่มีเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มที่ทำด้วยเงินล้วนเป็นรูปพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน เรียกว่า "เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน" หรือ "เข็มบัณฑิต" สำหรับประดับที่อกเสื้อ[1] นอกจากนี้ เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ สามารถจัดการเรียนการสอนจนถึงชั้นปริญญาได้แล้ว พระองค์ก็มีพระบรมราชานุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาใช้เสื้อครุยเพื่อเป็นเกียรติยศได้[2] อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ จัดการเรียนการสอนได้เพียงระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น จึงไม่มีการจัดสร้างเสื้อครุยและใช้เพียงเข็มบัณฑิตเพื่อแสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้เท่านั้น
ในเบื้องต้นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้กำหนดเข็มบัณฑิตไว้ 3 อย่าง ได้แก่ เข็มรัฏฐประศาสตรบัณฑิต เข็มเนติบัณฑิต (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธรรมศาสตรบัณฑิต เนื่องจากคำว่า "เนติบัณฑิต" ไปพ้องกับ "เนติบัณฑิต" ของเนติบัณฑิตยสภา[3]) และเข็มคุรุบัณฑิต โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 กรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตทั้ง 3 แด่พระองค์ด้วย[4]
เมื่อ พ.ศ. 2460 โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับการประดิษฐานขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่การจัดการเรียนการสอนยังคงอยู่ในระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการติดต่อขอความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถจัดการศึกษาจนถึงระดับปริญญาได้[5]
จนกระทั่ง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาถึงระดับปริญญาได้เป็นผลสำเร็จ โดยนิสิตที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญารุ่นแรก ได้แก่ บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์ (เวชชบัณฑิต) เมื่อปี พ.ศ. 2471[5] ด้วยเหตุนี้ จึงมีความคิดที่จะสร้างเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตจุฬาฯ ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เนื่องจากเสื้อครุยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบเต็มยศซึ่งใช้เฉพาะในพระราชพิธีและมีพระราชกำหนดเสื้อครุย ร.ศ. 130 กำหนดไว้ ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตใช้ครุย พร้อมทั้งได้หารือกับกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงธรรมการเพื่อร่างพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น [7] ในครั้งนั้นได้มีการพิจารณาถึงรูปแบบของครุยวิทยฐานะโดยมีการเลือกแบบไว้ 5 แบบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรใช้ครุยวิทยฐานะแบบใด โดยพระองค์ทรงสั่งการให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเสนาบดีสภาและได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้ครุยวิทยฐานะในรูปแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน[8]
ถึงแม้จะมีผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2471 แล้วก็ตาม แต่การพิจารณาเรื่องเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตนั้นได้ดำเนินการพิจารณาเรื่องรูปแบบเสื้อครุย จนกระทั่ง ออกเป็นพระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปี พ.ศ. 2473[9] ดังนั้น บัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งแรกนี้จึงเป็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2471 และ 2472[8]
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น มหาอำมาตย์เอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยบัณฑิตพิเศษแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานครุยกิตติมศักดิ์บัณฑิตชั้นโท (มหาบัณฑิต) ทางวิทยาศาสตร์แก่ พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) อธิการบดี และครุยกิตติมศักดิ์บัณฑิตชั้นเอก (ดุษฎีบัณฑิต) แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ แอลเลอร์ เอลลิส คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล (ขณะนั้นยังคงสังกัดอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และพระราชทานปริญญาแก่เวชชบัณฑิตเป็นลำดับต่อมา[8]
ครุย
แก้ครุยพระบรมราชูปถัมภก
แก้ครุยพระบรมราชูปถัมภก หรือ ครุยบัณฑิตพิเศษ เป็นฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระบรมราชูปถัมภกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ที่ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งโรงเรียนนี้ นอกจากนี้ การทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกนั้น จะถวายเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลังพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น
ครุยพระบรมราชูปถัมภกมีลักษณะเป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดใช้สักหลาด "สีเหลือง" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์[10] มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง ตอนกลางติดแถบทองกว้าง 5 เซนติเมตร และมีตราพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตรงหน้าอกทั้ง 2 ข้าง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ต่อมาได้ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 และถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2567[11]
สำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์การจัดการเรียนการสอนยังไม่ถึงขั้นปริญญา จึงมีการทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตพิเศษของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในฐานะพระบรมราชูปถัมภกแทนการถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น เนื่องจากพระองค์ยังไม่ได้ทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก[4]
ครุยวิทยฐานะ
แก้ครุยดุษฎีบัณฑิต
แก้ครุยดุษฎีบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นเอก เป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีแดง" ตามสีพื้นของครุยดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[12] และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร[10] มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง เว้นระยะไว้ 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 5 มิลลิเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีแถบสักหลาดขนาด 1 เซนติเมตร สีตามสีประจำคณะ และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 3.5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรด บนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง[13]
สำหรับการแต่งกายของบัณฑิตชายนั้น ให้ใส่ชุดสากลสีกรมท่า สวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาวแล้วผูกเนคไทสีกรมท่าที่มีรูปพระเกี้ยวน้อยหลายองค์ สวมถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ สวมครุยวิทยฐานะ ส่วนบัณฑิตหญิงนั้น สวมกระโปรงสีกรมท่าไม่มีลวดลาย ความยาวคลุมเข่า ไม่ผ่าด้านข้างหรือผ่าด้านหน้า สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวมีปกไม่มีลวดลาย สวมถุงน่องใยบัวสีเนื้อและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ สวมครุยวิทยฐานะ ถ้าบัณฑิตเป็นข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ให้แต่งแบบปกติขาวสวมครุยวิทยฐานะ ไม่สวมหมวก
ครุยมหาบัณฑิต
แก้ครุยมหาบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นโท มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีดำ"[13] ตามสีของครุยมหาบัณฑิตและบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[12] และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์[10] ส่วนการแต่งกายของบัณฑิตชายและหญิงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับดุษฎีบัณฑิต
ครุยบัณฑิต
แก้ครุยบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นตรี มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่ตอนกลางสำรดมีเส้นไหมกลม ขนาด 2 มิลลิเมตร สีตามสีประจำคณะ แทนแถบสักหลาด[13]
สำหรับการแต่งกายของบัณฑิตชาย สวมเครื่องแบบงานพระราชพิธีและรัฐพิธีสำหรับนิสิตชาย กล่าวคือ เสื้อคอปิดสีขาวแบบราชการ แนวอกเสื้อกลัดด้วยดุมโลหะสีเงินรูปพระเกี้ยว 5 ดุม แผงคอทำด้วยผ้าสักหลาดหรือกำมะหยี่ สีตามสีประจำคณะ กางเกงขายาวสีขาว ถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ ส่วนบัณฑิตหญิง สวมเครื่องแบบงานพระราชพิธีและรัฐพิธีสำหรับนิสิตหญิง
ครุยประจำตำแหน่ง
แก้คณาจารย์ประจำ
แก้ครุยคณาจารย์ประจำ เป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบ รอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีชมพู" มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง เว้นระยะไว้ 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีเส้นไหมกลมสีทองขนาด 2 มิลลิเมตร และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 3.5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรด บนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง[13]
คณาจารย์พิเศษ มีสิทธิใช้ครุยแบบเดียวกับคณาจารย์ประจำเฉพาะปีการศึกษาที่ตนได้รับแต่งตั้ง ทั้งนี้คณาจารย์ทั้งประจำและพิเศษหากพ้นตำแหน่งไปแล้วยังคงสามารถใช้ครุยเช่นเดิมในพิธีการซึ่งกำหนดให้สวมครุย[14]
อุปนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และผู้บริหาร
แก้ครุยประจำตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยคณาจารย์ประจำ แต่ตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีทอง[13]
ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหารอื่น ๆ เช่น รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าส่วนงานของมหาวิทยาลัย (เช่น คณบดี ผู้อำนวยการ) มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่ตราพระเกี้ยวมีขนาดย่อมกว่า คือสูง 2.2 เซนติเมตร[14]
นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี
แก้ครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวทยาลัยและอธิการบดี มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยประจำตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่มีสายสร้อยทำด้วยโลหะสีทอง พร้อมด้วยเครื่องหมายประจำคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยตามแบบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด ประดับระหว่างตราพระเกี้ยวทั้ง 2 ข้าง[13]
ตัวอย่างแถบสำรด
แก้-
แถบสำรด
ครุยพระบรมราชูปถัมภก -
แถบสำรด
ครุยกรรมการสภามหาวิทยาลัย -
แถบสำรด
ครุยคณาจารย์ประจำ -
แถบสำรดครุยดุษฎีบัณฑิต
(คณะพาณิชยศาสตร์ฯ) -
แถบสำรดครุยมหาบัณฑิต
(คณะพาณิชยศาสตร์ฯ) -
แถบสำรดครุยบัณฑิต
(คณะพาณิชยศาสตร์ฯ)
เข็มวิทยฐานะ
แก้เดิมนักเรียนจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นยังไม่มีเครื่องหมายใดที่แสดงว่าเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเข็มรูปพระเกี้ยวทำด้วยโลหะเงินสำหรับประดับเสื้อขึ้น เรียกว่า "เข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน" หรือ "เข็มบัณฑิต" (เข็มวิทยฐานะ ในปัจจุบัน) โดยผู้มีสิทธิที่จะประดับเข็มนี้ได้ ได้แก่[1]
- ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นบัณฑิต ประดับเข็มไว้บนอกเสื้อข้างซ้าย
- ผู้ที่ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นบัณฑิตพิเศษ ประดับเข็มไว้บนอกเสื้อข้างซ้าย
- เจ้าพนักงานประจำโรงเรียนให้ประดับเข็มไว้บนอกเสื้อข้างซ้าย โดยสามารถประดับเข็มได้เฉพาะเมื่ออยู่ในตำแหน่งเจ้าพนักงานเท่านั้น เมื่ออกจากตำแหน่งแล้วไม่สามารถประดับเข็มได้
- ผู้ที่สอบไล่ได้ประกาศนียบัตรและรับราชการไม่น้อยกว่า 3 ปี ให้ประดับเข็มบนอกข้างขวา[15]
ปัจจุบัน เข็มวิทยฐานะยังคงเป็นตราพระเกี้ยวที่ทำด้วยโลหะสีเงิน มีขนาดสูง 5 เซนติเมตร โดยมีอักษรย่อประจำคณะหรือแผนกวิชาจารึกอยู่ที่ใต้พระเกี้ยว สีอักษรย่อตามสีประจำคณะ[13] ด้านหลังเข็มวิทยฐานะจารึกชื่อ-สกุล ระดับชั้นปริญญาและปีที่สำเร็จการศึกษา (บางปีไม่มีการจารึกด้านหลังเข็ม)
สำหรับการประดับเข็มวิทยฐานะนั้น ผู้ที่ได้รับปริญญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ที่ได้รับเข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือนมีสิทธิใช้เข็มวิทยฐานะได้ โดยให้ประดับเข็มวิทยฐานะไว้บนอกเสื้อข้างซ้ายของเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพ[16]
คณะ | แถบสีประจำคณะ | อักษรย่อ (เข็มวิทยฐานะ) |
---|---|---|
หลักสูตรกลาง[หมายเหตุ 1] | สีชมพู | จฬ. |
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี | สีฟ้า | พศ. |
คณะรัฐศาสตร์ | สีดำ | ร. |
คณะครุศาสตร์ | สีแสด | ค. |
คณะจิตวิทยา | สีน้ำเงินแก่อมม่วง | จ. |
คณะทันตแพทยศาสตร์ | สีม่วง | ท. |
คณะนิติศาสตร์ | สีขาว | น. |
คณะนิเทศศาสตร์ | สีน้ำเงิน | นศ. |
คณะพยาบาลศาสตร์ | สีแดงชาด | พย. |
คณะแพทยศาสตร์ | สีเขียวแก่ | พ. |
คณะเภสัชศาสตร์ | สีเขียวมะกอก | ภ. |
คณะวิทยาศาสตร์ | สีเหลือง | วท. |
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา | สีส้ม | วก. |
คณะวิศวกรรมศาสตร์ | สีเลือดหมู | วศ. |
คณะศิลปกรรมศาสตร์ | สีแดงเลือดนก | ศป. |
คณะเศรษฐศาสตร์ | สีทอง | ศ. |
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ | สีน้ำตาล | สถ. |
คณะสหเวชศาสตร์ | สีม่วงคราม | สว. |
คณะสัตวแพทยศาสตร์ | สีฟ้าหม่น | สพ. |
คณะอักษรศาสตร์ | สีเทา | อ. |
สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร | สีแดงอิฐ | ทก. |
วิทยาลัยประชากรศาสตร์ | สีม่วงสดใส | ปก. |
วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี | สีทองมุก | ปป. |
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข | สีฟ้าน้ำทะเล | วส. |
บัณฑิตวิทยาลัย | สีบานเย็น | บ. |
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | สีฟ้า | ศศ. |
วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย[หมายเหตุ 2] | สีแดงชาด | - |
วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ[หมายเหตุ 3] | สีแดงชาด | - |
- ↑ หลักสูตรซึ่งไม่สังกัดคณะ หรือยังไม่มีประกาศของมหาวิทยาลัยกำหนดสีประจำคณะ ใช้สีเดียวกับสีประจำมหาวิทยาลัย
- ↑ เคยเป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันคือสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย มีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาอิสระในกำกับของรัฐ ใช้ครุยวิทยฐานะทำด้วยผ้าพื้นสีแดงชาด
- ↑ เป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การนำมาใช้และบทกำหนดโทษ
แก้ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยโอกาสและเงื่อนไขในการใช้ ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2553 ระบุให้ผู้มีสิทธิใช้ครุยวิทยฐานะสวมครุยวิทยฐานะทับเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี หรืองานพิธีที่กำหนดให้สวมครุยวิทยฐานะ และให้สวมครุยประจำตำแหน่งทับเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในงานพิธีที่มหาวิทยาลัยกำหนด ส่วนเข็มวิทยฐานะนั้น ให้ผู้มีสิทธิใช้เข็มวิทยฐานะประดับเข็มวิทยฐานะบนอกเสื้อข้างซ้ายของเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่สุภาพได้ในโอกาสอันสมควร[16]
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ขอให้บัณฑิตงดเว้นการประดับดอกไม้บนเสื้อครุย รวมทั้ง งดเว้นการประดับดอกไม้บนศีรษะ คาดสายสะพายข้างหรือสะพายเอวโดยเด็ดขาด เพราะเสื้อครุยจุฬาฯ เป็นเสื้อครุยพระราชทานและมีพระเกี้ยวประดับอยู่ การแต่งกายชุดครุยไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใดจึงควรกระทำด้วยความสุภาพ[18]
สำหรับบทลงโทษแก่ผู้ใดที่ใช้ครุยพระบรมราชูปถัมภก ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ ครุยประจำตำแหน่ง หรือสิ่งใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิที่จะใช้ หรือแสดงด้วยประการใด ๆ ว่าตนมีปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ประกาศนียบัตรบัณฑิต อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือมีตำแหน่งใดในมหาวิทยาลัยโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะ หรือมีตำแหน่งเช่นนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 15,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[19]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดเข็มโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เก็บถาวร 2009-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๑, ตอน ๐ ก, ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๑๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบการทั่วไปแห่งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว, เล่ม ๓๑, ตอน ๐ ง, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๗, หน้า ๒๐๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ แก้ระเบียบการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม ๓๒, ตอน ๐ ก, ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๓๒๑
- ↑ 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, คำกราบบังคมทูล ของสภากรรมการทูลเกล้าฯถวายเข็มบัณฑิตโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๘, เล่ม ๓๒, ตอน ง, ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘, หน้า ๒๕๗๕
- ↑ 5.0 5.1 วิวัฒนาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ Royal Society of Thailand. '"Khrui"' in Thai Encyclopedia Vol 5. 1962 (in Thai)
- ↑ คู่มือนิสิตใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2555, หน้า 29-31
- ↑ 8.0 8.1 8.2 พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกแห่งกรุงสยาม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดเสื้อครุยบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๗๓ เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๗, ตอน ๐ ก, ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓, หน้า ๙๒
- ↑ 10.0 10.1 10.2 เสื้อครุยพระราชทาน เก็บถาวร 2011-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงวันที่ 5 มกราคม 2556
- ↑ "พิธีทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ↑ 12.0 12.1 "Regulations relating to Academic Dress made by the Vice-Chancellor, as Authorised by Council". University of Oxford. 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2017-12-16.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 13.5 13.6 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การกำหนดปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2015-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๗, ตอนพิเศษ ๕๒ ง, ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓, หน้า ๒๐
- ↑ 14.0 14.1 14.2 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ลักษณะครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ.๒๕๖๔ เก็บถาวร 2022-01-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เลม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๕ ง, ๘ มกราคม ๒๕๖๕
- ↑ "ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยโอกาสและเงื่อนไขการใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๓" (PDF). 5 February 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-02-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-06. (University Regulation on usage conditions for academic dress and badge, 2010)
- ↑ 16.0 16.1 ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยโอกาสและเงื่อนไขการใช้ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่ง พ.ศ. ๒๕๕๓, เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ https://www.chula.ac.th/wp-content/uploads/2017/12/CU_CI_Guidelines_20180621.pdf
- ↑ ข้อห้ามการประดับตกแต่งชุดครุย, คณะกรรมการบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๒๙ ก, ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๕๖