คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะจิตวิทยาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 นับเป็นคณะที่ 18 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณะจิตวิทยาแห่งแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะจิตวิทยา อันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับของ QS World University Rankings by Subject 2016[2]

คณะจิตวิทยา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Psychology,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมภาควิชาจิตวิทยา คณะครุศาสตร์
สถาปนา11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539; 28 ปีก่อน (2539-07-11)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์
ที่อยู่
อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ ชั้น 7
ถนนพระรามที่ 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
สี  สีน้ำเงินแก่อมม่วง[1]
เว็บไซต์www.psy.chula.ac.th

คณะจิตวิทยามุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ อันนำไปสู่แนวทางในการอธิบาย ทำนาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ในกลุ่มรายวิชาต่าง ๆ อาทิ จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาการทำงานและทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (Joint International Psychology Program) ในระดับปริญญาตรีด้วย[2]

ประวัติ

แก้

การศึกษาด้านจิตวิทยาในประเทศไทย เริ่มต้นจากการเรียนการสอนในโรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อมีการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2459 การศึกษาด้านจิตวิทยาจึงมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของแผนกฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ ตามลำดับ ในช่วงแรกนั้นมีการเรียนการสอนวิชาจิตวิทยาอยู่ 2 รายวิชา ได้แก่ วิชาสุขวิทยาทางจิต และวิชาการแนะแนว โดยมีอาจารย์พูนทรัพย์ ไกรยง หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์เป็นผู้สอน[3]

ต่อมาเมื่อแผนกวิชาครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ในปี พ.ศ. 2500 ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา คณบดีคนแรกของคณะครุศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของศาสตร์จิตวิทยา จึงได้สนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนจิตวิทยามาตั้งแต่เริ่ม การเรียนการสอนวิชาจิตวิทยาจึงอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกวิชาวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ เป็นต้นมา[4] และในปี พ.ศ. 2505 ได้เริ่มมีการเปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและแนะแนวขึ้น ซึ่งนับเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย การเรียนการสอนและการวิจัยทางจิตวิทยาจึงได้พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยมีขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2506 ได้มีการจัดตั้ง แผนกวิชาจิตวิทยา ขึ้นในสังกัดคณะครุศาสตร์ เพื่อรับผิดชอบการสอนในสาขาวิชาจิตวิทยาแขนงต่าง ๆ สำหรับนิสิตปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของคณะครุศาสตร์ ตลอดจนรับผิดชอบงานวิชาการด้านจิตวิทยาในหมวดการศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาเลือกเสรีสำหรับนิสิตคณะต่าง ๆ ต่อมาแผนกวิชาจิตวิทยาจึงได้ยกฐานะเป็น ภาควิชาจิตวิทยา สังกัดคณะครุศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2522 มีหน้าที่รับผิดชอบการวิจัยทางด้านจิตวิทยาควบคู่ไปกับการเรียนการสอน รวมถึงการให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาสำหรับนิสิตและการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

ความสนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยาสอดคล้องกับความต้องการบุคลากรด้านจิตวิทยาที่เพิ่มมากขึ้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา อธิการบดีในขณะนั้น ได้สนับสนุนการยกฐานะภาควิชาจิตวิทยา โดยบรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) อนุมัติให้จัดตั้งคณะจิตวิทยาขึ้น โดยมีศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา และศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ โค้วตระกูล เป็นที่ปรึกษา ต่อจากนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อธิการบดีลำดับต่อมา ได้มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันการก่อตั้งคณะใหม่ด้วยการจัดสรรงบประมาณเป็นทุนตั้งต้น ให้กับคณะที่กำลังดำเนินการจัดตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งต่อมาคือ คณะจิตวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา[5]

ภาควิชาจิตวิทยาจึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น คณะจิตวิทยา ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะจิตวิทยาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งนับเป็นคณะที่ 18 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[6] มีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการในขณะนั้น เป็นผู้รักษาราชการแทนคณบดีคณะจิตวิทยา จนกระทั่งรองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะจิตวิทยา โดยการจัดตั้งคณะจิตวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ทางจิตวิทยาในลักษณะศาสตร์บริสุทธิ์และศาสตร์ประยุกต์ โดยเน้นการวิจัยวิทยาศาสตร์จิตวิทยาทางตะวันออก จิตวิทยาทางตะวันตก และการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม

เมื่อแรกเริ่มก่อตั้ง คณะจิตวิทยาเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท 3 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม และสาขาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ ต่อเนื่องจากการดำเนินงานสมัยเป็นภาควิชาจิตวิทยา ในสังกัดคณะครุศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทเพิ่มอีก 1 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ และหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาจิตวิทยา ประกอบด้วย 3 แขนงวิชา ได้แก่ แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา แขนงวิชาจิตวิทยาสังคม และแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 จึงได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาจิตวิทยา

ปัจจุบัน คณะจิตวิทยาจัดอยู่ในคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา โดยได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นอกจากนี้คณะจิตวิทยายังได้เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (Joint International Psychology Program: JIPP) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย[7]

หน่วยงาน

แก้
  • ศูนย์สุขภาวะทางจิต

ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) เป็นศูนย์ให้บริการทางจิตวิทยา ที่มีจุดมุ่งหมายในการบูรณาการองค์ความรู้ทางจิตวิทยากับการให้บริการเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตให้กับสังคมไทย รวมถึงการเป็นศูนย์ด้านจิตวิทยาแห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการอย่างครบวงจร มีการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ รวมถึงให้ความสำคัญในการบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาอย่างเป็นมาตรฐานและตามจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยให้บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบรายบุคคล คู่รัก กลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา การจัดอบรมให้ความรู้ และการร่วมพัฒนาโครงการการดูแลสุขภาวะทางจิตให้กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบพบหน้าและออนไลน์[8]

  • ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา

ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา (Center for Psychological Assessment) เป็นศูนย์วิจัยและบริการวิชาการแบบครบวงจร จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ที่สามารถบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการตามแนวทางองค์การแห่งการเรียนรู้ มีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ การบริการ ทั้งในศาสตร์จิตวิทยาและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ศาสตร์ด้านการศึกษา การบริหารธุรกิจ การบริหารกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้คณะจิตวิทยาเป็นแหล่งอ้างอิงของศาสตร์การวัดและการประเมินทางจิตวิทยาในประเทศไทยและนำศาสตร์จิตวิทยาไปให้บริการแก่สังคม ส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการที่ทัดเทียมนานาชาติ โดยบริการของศูนย์ประเมินทางจิตวิทยาในปัจจุบัน ได้แก่ การพัฒนาเครื่องมือวัดและประเมินทางจิตวิทยา การวัดและการประเมินทางจิตวิทยา การให้บริการปรึกษาเกี่ยวกับการวัดและการประเมินทางจิตวิทยา การอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวัดและการประเมินทางจิตวิทยา และการตรวจและวิเคราะห์ข้อคำถามด้วยเครื่องตรวจข้อสอบ[9]

  • ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย

ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Psychology Center for Life–Span Development and Intergeneration: Life Di) ได้รับทุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 มีวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือ เพื่อสร้างความเป็นเลิศด้านวิชาการให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากความแข็งแกร่งของศาสตร์ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ โดยการผลิตงานวิจัยด้านจิตวิทยาพัฒนาการจากความร่วมมือกับนานาชาติ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาที่มีคุณภาพสูงแก่สาธารณะในระดับชาติและนานาชาติ และเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านจิตวิทยาพัฒนาการแก่สังคมในระดับประเทศและระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการผลิตและเผยแพร่นวัตกรรมการให้บริการทางจิตวิทยาที่มีคุณภาพ มีหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุน สร้างพันธมิตรเครือข่ายด้านงานจิตวิทยาพัฒนาการเพื่อสร้างประโยชน์และสอดรับกับความต้องการของสังคมได้อย่างยั่งยืน[10]

หลักสูตร

แก้
ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)[11]

  • สาขาวิชาจิตวิทยา

หลักสูตรปริญญาตรีร่วมนานาชาติ 2 ปริญญา

  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์จิตวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยา
    • แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
    • แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์
    • แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
    • แขนงวิชาจิตวิทยาทรัพยากรมนุษย์และการทำงาน
    • แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

หลักสูตรศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ศศ.ด.)

  • สาขาวิชาจิตวิทยา
    • แขนงวิชาจิตวิทยาการปรึกษา
    • แขนงวิชาจิตวิทยาสังคมพื้นฐานและประยุกต์
    • แขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ
    • แขนงวิชาการวิจัยจิตวิทยาประยุกต์

ทำเนียบคณบดี

แก้
  • นับแต่คณะจิตวิทยาก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ดังนี้
ทำเนียบคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2547
2. รองศาสตราจารย์ ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2552
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คัคณางค์ มณีศรี พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2560
4. รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2564
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

บุคลากรที่มีชื่อเสียงของคณะ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยประจำตำแหน่ง ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541, เล่ม 115, ตอน 21 ก, 22 เมษายน พ.ศ. 2541, หน้า 1.
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะจิตวิทยา เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  3. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานประจำปี 2559 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2021-07-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2021-07-12
  4. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานประจำปี 2562 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2021-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  5. 7 กรกฎาคม 2563: 24 ปี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2021-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2021-07-11
  6. คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประวัติความเป็นมาของคณะจิตวิทยา เก็บถาวร 2021-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  7. Joint International Psychology Program About JIPP เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  8. Facebook ศูนย์สุขภาวะทางจิต (Center for Psychological Wellness) เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  9. ศูนย์ประเมินทางจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับศูนย์ เก็บถาวร 2021-06-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  10. ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับ Life Di เรียกดูวันที่ 2021-06-26
  11. หลักสูตรที่เปิดสอน คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้