คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดิมชื่อว่า สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนามาจากภาควิชาพลศึกษา คณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศที่ให้ความสำคัญด้านการพลศึกษาและสุขศึกษา มีการผลิตบุคลากรสาขาวิชาพลศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตเมื่อปี พ.ศ. 2502 และผลิตบุคลากรสาขาพลศึกษาและสุขศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตมาอย่างต่อเนื่อง

คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Sport Science,
Chulalongkorn University
ชื่อเดิมสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
สถาปนา30 ตุลาคม พ.ศ. 2541; 25 ปีก่อน (2541-10-30)
สังกัดการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณบดีรศ.ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์
ที่อยู่
สี  สีส้ม
เว็บไซต์www.spsc.chula.ac.th

ประวัติ

แก้

การฝึกหัดร่างกาย และการกีฬาในสยามแต่เดิมนั้น ผูกพันอยู่กับการฝึกหัดนักรบ ศิลปป้องกันตัว หรือนาฎศิลป์ ซึ่งต้องใช้ร่างกายทั้งความอ่อนตัว และความแข็งแกร่งในการปฏิบัติ เวลาต่อมา ความสนใจในเรื่องการฝึกหัดร่างกาย ซึ่งส่งเสริมทั้งสุขภาพอนามัย และฝึกฝนจิตใจให้รู้จักน้ำใจนักกีฬานั้น เริ่มต้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาฉบับแรก ในพุทธศักราช ๒๔๔๑ ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนจะต้องเรียน "วิชากายกรรม" "วิชาดัดตน" ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอน "พลศึกษา" จึงเริ่มต้นไปพร้อมกันด้วยความอุทิศตนของ "เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ขณะเป็น หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ นักเรียนทุนหลวงของกระทรวงธรรมการที่ไปศึกษาวิชาครู ณวิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road Collage) ประเทศอังกฤษ ทั้งการสอน การแต่งตำรา จนถึงส่งเสริมด้วยสื่อต่างๆ รวมถึงเพลง "กราวกีฬา" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี

โดยตำแหน่งในราชการของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกี่ยวข้องกับการฝึกหัดครู การพลศึกษาจึงอยู่ในโรงเรียนฝึกหัดครูมานับแต่แรกตั้ง จนถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนการกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส และการฝึกหัดร่างกายเพื่อสุขภาพอนามัย ซึ่งได้ทอดพระเนตรและทรงปฏิบัติมาตั้งแต่ยังประทับศึกษาในอังกฤษ พระราชนิยมดังกล่าวส่งผลให้การพลศึกษาเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น จนกระทั่งตั้ง "โรงเรียนพลศึกษากลาง" ในพุทธศักราช ๒๔๖๒

เมื่อคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ ในห้วงเวลาใก้ลเคียงกันนั้น กรมการฝึกหัดครูได้ส่งเสริมให้มีการผลิตบุคลากรพลศึกษาให้มากยิ่งขึ้น เพื่อทำการสอนในโรงเรียน คณะครุศาสตร์จึงได้จัดตั้ง "แผนกพลศึกษา" ในระดับปริญญาบัณฑิตขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒ การเรียนการสอนเกี่ยวกับการกีฬา นันทนาการ และสุขศึกษาพลศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้น

การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอนามัยของร่างกายเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น "วิทยาศาสตร์สุขภาพ" เริ่มมีบทบาทสำคัญในด้านการกีฬา นันทนาการ และการเรียนการสอนสุขศึกษาพลศึกษา ในพุทธศักราช ๒๕๓๕ ภาควิชาพลศึกษา มีแนวคิดที่จะพัฒนาไปสู่ระดับคณะ ในชื่อ "คณะสุขศึกษาพลศึกษาและนันทนาการ" แต่เนื่องจากสภาวะทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น คณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้มีมติชะลอการจัดตั้งขึ้นเป็นคณะไว้ก่อน ถึงพุทธศักราช ๒๕๔๑ ทบวงมหาวิทยาลัยตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนในการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงมีมติให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการ "โครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา" รวมทั้งมีมติให้บรรจุหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา ในระดับปริญญาบัณฑิต สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา นำไปสู่การจัดตั้ง "สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา" อนุมัติจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ มีพันธกิจเช่นเดียวกับคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย

สำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้พัฒนาหลักสูตรถึงระดับดุษฎีบัณฑิตในพุทธศักราช ๒๕๕๐ โดยแบ่งเป็น ๓ แขนงวิชา คือ แขนงวิชาวิทยาการส่งเสริมสุขภาพ แขนงวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา และแขนงวิชาการบริหารจัดการกีฬาและนันทนาการ จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ จึงได้เปลื่ยนชื่อเป็น "คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา" และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดป้ายนามคณะ เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๓

ปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านการกีฬา และสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรมการออกกำลังกายชั้นนำแห่งเอเชีย ด้วยหลักสูตรระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ อาทิ วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย การส่งเสริมสุขภาพ และการจัดการกีฬา

หลักสูตรการศึกษา

แก้


ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การออกกำลังกายและสุขภาพ)

  • แขนงวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science)
  • แขนงวิชาการจัดการกีฬา (Sports Management)
  • แขนงวิชาวิทยาการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Science)
  • แขนงวิชาการจัดการนันทนาการและการท่องเที่ยว (Management of Recreation and Tourism)

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การกีฬา)

  • แขนงวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science)
  • แขนงวิชาการจัดการกีฬา (Sports Management)
  • แขนงวิชาวิทยาการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Science)
  • แขนงวิชาการจัดการนันทนาการและการท่องเที่ยว (Management of Recreation and Tourism)

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การกีฬา)

  • แขนงวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sports Science)
  • แขนงวิชาการจัดการกีฬา (Sports Management)
  • แขนงวิชาวิทยาการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Science)
  • แขนงวิชาการจัดการนันทนาการและการท่องเที่ยว (Management of Recreation and Tourism)

ศิษย์เก่​า

แก้

รายชื่อบุคคลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำเนียบคณบดี

แก้

รายนามคณบดีคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีดังนี้

รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิลปชัย สุวรรณธาดา พ.ศ. 2541พ.ศ. 2544
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิม ชัยวัชราภรณ์ พ.ศ. 2544พ.ศ. 2552
3. รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม พ.ศ. 2552พ.ศ. 2555
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนินทร์ชัย อินทิราภรณ์ พ.ศ. 2555พ.ศ. 2559
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย บุญรอด พ.ศ. 2559 – พ.ศ. 2561
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธา พงษ์พิบูลย์ พ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2565
7. รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยพัฒน์ หล่อศิริรัตน์ พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้