คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยถือกำเนิดจาก "แผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนราชแพทยาลัย" หรือ "โรงเรียนปรุงยา"[1] ตามดำริของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย[2]
Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University | |
งูพันถ้วยยาไฮเกีย | |
ชื่อเดิม | แผนกเภสัชกรรมศาสตร์ |
---|---|
สถาปนา | 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 |
สังกัดการศึกษา | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
คณบดี | ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ |
ที่อยู่ | |
สี | สีเขียวมะกอก |
เว็บไซต์ | www |
เมื่อประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนปรุงยามีฐานะเป็นแผนกแพทย์ผสมยา ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล) และได้รับการพัฒนาหลักสูตรขึ้น จัดตั้งเป็นแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 มีการโอนย้ายสังกัดไปยังมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นใหม่ จึงได้โอนย้ายคณะเภสัชศาสตร์แห่งนี้กลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อาคารเภสัชศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะศิลปกรรมศาสตร์) เป็นที่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้ย้ายอาคารมาทำการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์[2]
ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในระดับปริญญาตรีได้เปิดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ทั้ง 2 หลักสูตรใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 7 ภาควิชา และยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ–ชิบะ, โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตคณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น[3]
ประวัติ
แก้พ.ศ. 2456 – 2485 แผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนราชแพทยาลัย และแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
แก้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก มีพระดำริประทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัย ว่าตามกรมกองทหารบกมีแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ใดได้เล่าเรียนและได้รับการอบรมไปประจำตามที่จ่ายยา ควรตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรซึ่งมีพระดำริเห็นพ้องจึงมีพระบันทึกเรื่อง "ความคิดเห็นเรื่อง การฝึกหัดแพทย์ผสมยา" เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เนื้อหาของบันทึกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับระบบการจัดการเรียนการสอน สถานที่การปฏิบัติการ และครูผู้สอนในการเรียนแพทย์ผสมยา จากแนวพระดำริดังกล่าวจึงได้มีการสถาปนาแผนกแพทย์ผสมยาขึ้นตามประกาศเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรื่อง "ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นในประเทศไทย และถือเป็นวันกำเนิดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย"[2]
การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์เริ่มต้นการสอนแผนกแพทย์ผสมยาหรือในอีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนปรุงยา" ในสังกัดโรงเรียนราชแพทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา โดยมีนักเรียนจบการศึกษาในรุ่นแรก 4 คน ต่อมาได้มีการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น กระทรวงธรรมการจึงได้ประกาศให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้ามาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์จึงได้ยกระดับขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษา[2] โดยใช้สถานที่ทำการสอนบริเวณวังวินด์เซอร์ เรือนนอนหอวังและโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ปทานุกรมของไทยได้กำหนดให้บัญญัติใช้คำว่า "เภสัชกรรม" แทนคำว่า "ปรุงยา" หรือ "ผสมยา"[4] จึงได้มีประกาศกระทรวงธรรมการให้มีการเปลี่ยนชื่อแผนกเป็น "แผนกเภสัชกรรม" ในสังกัดของคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5] ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 บังคับใช้ขึ้น โดยกำหนดจัดตั้งแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ มีฐานะเป็นแผนกอิสระในบังคับบัญชาโดยตรงของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้ยกระดับวุฒิการศึกษาเป็น "ประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.)" เทียบเท่าอนุปริญญา โดยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง
การปรับปรุงการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2479 ได้ยกระดับหลักสูตรเป็น "อนุปริญญาเภสัชศาสตร์" ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางเภสัชศาสตร์อย่างกว้างขวาง และนำเอาวิชาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาบรรจุในหลักสูตรดังกล่าวโดยเริ่มใช้ในปีการศึกษาต่อมา และมีการแบ่งแผนกวิชาต่างๆ ขึ้นตามกฎหมาย แม้กระนั้นการศึกษาเภสัชศาสตร์ก็ไม่ได้รับความสนใจต่อผู้เข้าศึกษามากนัก จนกระทั่งเภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482[2] และได้จัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นอย่างเต็มรูปแบบโดยยกระดับหลักสูตรเภสัชกรรมศาสตร์จนถึงระดับปริญญา (หลักสูตร 4 ปี) และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรของแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)[6]
พ.ศ. 2486 – 2515 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
แก้ในปี พ.ศ. 2486 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันขึ้นเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข และได้โอนย้ายแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมกับแผนกทันตแพทยศาสตร์และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ อย่างไรก็ดี อัตรากำลังและสถานที่ที่ใช้ทำการสอนยังคงอยู่ภายในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิม พร้อมกันนั้นได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 โดยต้องศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี มีการกำหนดจำนวนเวลาฝึกงานทั้งในโรงงานเภสัชกรรม ร้านยา และสถานพยาบาล และในช่วง พ.ศ. 2509 มีความต้องการให้เภสัชกรเข้ามาดูแลระบบสาธารณสุขและการใช้ยาของประชาชนมากขึ้น จึงได้มีการเพิ่มเติมวิชาทางเภสัชกรรมคลินิกและโรงพยาบาลในหลักสูตรการศึกษา[7][8]
ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ได้มีหนังสือจากกระทรวงมาถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอให้มีการเปิดรับนักศึกษาสาขาเภสัชศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นเปิดรับนักศึกษาปีละประมาณ 100 คน แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของคณะเภสัชศาสตร์ไม่สามารถขยายรับนักศึกษาเพิ่มได้อีก จึงได้บรรจุโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่ขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 2 และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่คือ คณะเภสัชศาสตร์พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ บริเวณถนนพญาไท แล้วให้ใช้หลักสูตรเดียวกับคณะเภสัชศาสตร์เดิม และมีการสับกำลังอัตราคณาจารย์กัน[9]
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม "มหิดล" แทนชื่อ "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" ต่อมาคณะปฏิวัติได้มีคำสั่ง ให้โอนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลยมหิดล แห่งนี้ (ณ ตำบลวังใหม่) กลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515[10] จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จวบจนปัจจุบัน และได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 (ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 ว่าด้วยการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกใช้บังคับในระหว่างที่มีการปกครองโดยคณะปฏิวัติและใช้ชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติ สมควรปรับปรุงรูปแบบและบทบัญญัติของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้เป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้)[11]
พ.ศ. 2515 – ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แก้เมื่อย้ายสังกัดเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารและระบบติดตามการเรียนการสอน และการนับหน่วยกิตตามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนปัญหาด้านสถานที่ของคณะที่ไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนและการขยายจำนวนนิสิต ทำให้คณะมีโครงการจัดสร้างอาคารใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงอาคารหลังเดิม แต่อย่างไรก็ดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยมีแนวคิดการสร้าง "Medical Square" ในพื้นที่การศึกษาที่ติดต่อกับสยามสแควร์ซึ่งมีคณะทันตแพทยศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์อยู่แล้ว จึงมีโครงการสร้างอาคารคณะเภสัชศาสตร์หลังใหม่ในบริเวณดังกล่าว[12] การก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2525 และได้ย้ายสถานที่ทำการเรียนการสอนคณะเภสัชศาสตร์ไปยังอาคารแห่งใหม่บริเวณสยามสแควร์
คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดโครงการเภสัชกรคู่สัญญาโดยใช้ทุนเป็นเวลา 2 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2527[13] โดยคณะเภสัชศาสตร์ยังคงปรับปรุงการศึกษาอย่างสืบเนื่อง ในปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต 3 สาขา และในปีถัดมาได้ปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตเป็นลักษณะกึ่งเฉพาะทาง 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาลและเภสัชกรรมคลินิก, สาขาเทคโนโลยีการผลิตยา, สาขาวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์, สาขาเภสัชกรรมชุมชนและบริหารเภสัชกิจ และสาขาเภสัชสาธารณสุข และมีการจัดสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการแห่งใหม่เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาเภสัชศาสตร์ในสยามประเทศครบ 80 ปีโดยใช้ชื่อ "อาคาร 80 ปีเภสัชศาสตร์" ในปี พ.ศ. 2536
นอกจากการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและอาคารสถานที่นั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้รวบรวมเภสัชภัณฑ์, เครื่องยา และเภสัชวัตถุโบราณซึ่งสั่งสมมาแต่ครั้งก่อตั้งคณะจัดสร้างเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" ขึ้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมกับเปิดอาคารโอสถศาลาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2544[14] และได้มีการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ให้มีความแน่นแฟ้น รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมคณะฯ พร้อมทั้งกิจกรรมวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย[15]
ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชอุตสาหการ และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 ปี[16][17] มีการพัฒนาผลงานวิจัยทางเภสัชกรรมโดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร ณ อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี[18] และยังมีโครงการต่างๆ อาทิ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "โอสถศาลา" ศูนย์คอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ ศูนย์เภสัชสารสนเทศ ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางเภสัชอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยและพัฒนาสมุนไพรและเครื่องเทศ รายการคลินิก FM 101.5 วิทยุจุฬาฯ ศูนย์ผลิตสื่อประสมคอมพิวเตอร์ ศูนย์สื่อสารการเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ตาม "ปรัชญาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม"[19]
สถานที่และการเดินทาง
แก้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Medical Square) จรดสยามสแควร์ตรงข้ามศูนย์การค้ามาบุญครอง มีพื้นที่ติดต่อกับคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย[20] แต่เดิมคณะเภสัชศาสตร์ใช้สถานที่ทำการเรียนการสอน ณ อาคารของคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 และได้ย้ายมายังสถานที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2525
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง เป็นอาคารเรียนและวิจัย 4 หลัง คือ อาคารคณะเภสัชศาสตร์ (เปิดใช้ พ.ศ. 2525) อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ (เปิดใช้ พ.ศ. 2536) อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ (เปิดใช้ พ.ศ. 2552) และอาคารเลี้ยงสัตว์ทดลอง ในสถานที่ตั้งปัจจุบันแต่เดิมมีอาคารคณะเภสัชศาสตร์เพียงหลังเดียว แต่เนื่องจากมีการขยายตัวทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยจึงจำเป็นต้องมีการขยายพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม นำไปสู่การสร้างอาคาร "80 ปี เภสัชศาสตร์" ขึ้น[21] ซึ่งมีความทันสมัย และได้นำครุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน[21] อย่างไรก็ดี พื้นที่งานวิจัยยังต้องการการขยายตัวอีกมาก จึงมีการสร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นอาคารวิจัยและหอประชุม เริ่มต้นการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 และในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้[22]
นอกจากนี้ยังมีอาคารที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพคือ อาคารโอสถศาลา (เปิดใช้ พ.ศ. 2526, เปิดใช้ครั้งใหม่ พ.ศ. 2544) เป็นที่ตั้งของสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนหรือร้านยาของคณะสำหรับให้นิสิตและนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ได้ฝึกปฏิบัติวิชาชีพในร้านยา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารหลังเดิมที่เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2529[23]
ภายในคณะยังมีพื้นที่เพื่อการนันทนาการสำหรับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากร ได้แก่ สนามบาสเกตบอล และลานอาร์เอ็กซ์ (Rx) รวมถึงยังมีการรวบรวมพรรณพืช สมุนไพรท้องถิ่น สมุนไพรหายาก จัดตั้งขึ้นเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" เปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จเข้าเยี่ยมชมเป็นพระองค์แรก พร้อมทั้งคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย[24]
คณะเภสัชศาสตร์มีประตู 2 ประตู ได้แก่ ประตูซอยจุฬาฯ 64 ซึ่งจรดพื้นที่ของศูนย์การค้าสยามสแควร์ และประตูซอยจุฬาฯ 62 ติดต่อกับถนนพญาไท ภายในมหาวิทยาลัยมีการจัดระบบการเดินรถภายใน สายเดินรถที่ผ่านคณะเภสัชศาสตร์ ได้แก่สายที่ 1 และ 4[25] นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสยาม ได้อีกด้วย[26]
การบริหารและการจัดการ
แก้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการบริหารงานเช่นเดียวกับคณะวิชาทั่วไป คือ มีคณะกรรมการบริหารคณะ มีคณบดีเป็นหัวหน้า และรองคณบดีกำกับดูแลฝ่ายงาน 6 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนิสิต ฝ่ายวางแผนและพัฒนา ฝ่ายประกันคุณภาพ และฝ่ายวิจัย[27] มีการแบ่งโครงสร้างในการจัดการเรียนการสอนออกเป็น 7 ภาควิชา ได้แก่วิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม เภสัชกรรมปฏิบัติ อาหารและเภสัชเคมี ชีวเคมีและจุลชีววิทยา เภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชวิทยาและสรีรวิทยา และเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ส่วนสำนักเลขานุการคณะฯ เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาแต่มิได้รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนโดยตรง[28] นอกจากนี้ยังมีหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยอีก 12 หน่วยงานร่วมกับสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา (ร้านยา) อีกหนึ่งหน่วยงาน[29]
การเรียนการสอน
แก้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนใน 3 ระดับการศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) ของคณะใช้ระบบทวิภาคคือ แบ่งปีการศึกษาหนึ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ได้แก่ ภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย (หรืออาจมีภาคฤดูร้อนก็ได้) ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาการการบริบาลทางเภสัชกรรมและสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ ทั้งสองสาขาใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี แบ่งเป็นการศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานวิชาชีพเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และการศึกษาวิชาเฉพาะวิชาชีพเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และฝึกปฏิบัติวิชาชีพ 1 ปี ในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมจะเน้นด้านการดูแลผู้ป่วยในกระบวนการใช้ยา และในสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ จะสามารถเลือกวิชาเฉพาะของสาขาใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเภสัชกรรมและเทคโนโลยี สาขาค้นพบและพัฒนายา และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ซึ่งทั้งสองหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและสภามหาวิทยาลัย[30][31][32] หลังสำเร็จการศึกษาต้องชดใช้ทุนโดยเป็นเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะเวลา 2 ปี[33] หรือหน่วยงานราชการอื่นที่ระบุตำแหน่งในแต่ละปีการศึกษา[34]
นอกจากการจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตนั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้จัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา โดยแบ่งเป็นหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตและหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิต ดังนี้
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 ปี) 1. สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม 2. สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ |
หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี) 1. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม 2. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา 3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์และเทคโนโลยี 4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (หลักสูตรนานาชาติ) 5. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ
1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง |
หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี) 1. หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม 2. หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา 3. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์และเทคโนโลยี 4. หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร (หลักสูตรนานาชาติ) 5. หลักสูตรเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ |
การวิจัยและการประชุมวิชาการ
แก้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยวิจัยและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางกว่า 18 หน่วย/ศูนย์[33] เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยทางเภสัชกรรมและการพัฒนาการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ มีผลงานการตีพิมพ์ทางวิชาการด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยาในอันดับที่ 2 ของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย[35] นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งทำพิธีเปิดในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการวิจัยทางยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงงานเภสัชกรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมยาและภาครัฐในการทางพัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร เพื่อลดอัตราการนำเข้ายาจากต่างประเทศ[36] ประกอบด้วยหน่วยวิจัย 5 หน่วย[37] ได้แก่ หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (HERB) หน่วยวิจัยจุลชีววิทยา ชีววิทยาโมเลกุลและเทคโนโลยีชีวภาพ (MMBB) หน่วยประเมินประสิทธิศักย์และความปลอดภัยพรีคลินิก (PESA) หน่วยพัฒนาเภสัชภัณฑ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (PDTT) และหน่วยวิจัยเครื่องสำอาง (COSM)
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์แก่เภสัชกร บุคลากรทางสาธารณสุข และบุคคลทั่วไป โดยมีหน่วยการศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการประชุม[38] และยังมีการจัดการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์เป็นประจำทุกปี[39] นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โครงการประชุมวิชาการนานาชาติ (NRCT-JSPS Joint Seminar) ซึ่งร่วมจัดกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ความร่วมมือข้อตกลงของสภาวิจัยแห่งชาติ (NRCT) สถาบันสมุนไพร มหาวิทยาลัยโทโยม่า และสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JSPS) [40] โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิบะ โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี เป็นต้น โครงการเชิญคณาจารย์และวิทยากรจากต่างประเทศ ร่วมบรรยายและสัมมนา[41]
การรับบุคคลเข้าศึกษาและอันดับของคณะ
แก้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรับผ่านระบบแอดมิสชันของคณะกรรมการการอุดมศึกษา โครงการรับตรงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[42] โครงการพัฒนากีฬาชาติ[43] และโครงการจุฬาฯ ชนบท[44]
จากผลการรายงาน 50 อันดับของคณะทางสาขาชีวการแพทย์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยประเมินคุณภาพของการเรียนการสอนและงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 23 และเป็นอันดับที่ 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมด[45][46][47] ในส่วนผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยสภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีร้อยละของนิสิตผู้สอบผ่านมากเป็นอันดับต้นๆ ของคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ อาทิ ในปี พ.ศ. 2552 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 88.9[48] ปี พ.ศ. 2553 มีนิสิตผ่านร้อยละ 81.7[49] ในปี พ.ศ. 2554 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 96.93 และในปี พ.ศ. 2555 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 85.9[50] นอกจากนี้เว็บไซต์เด็กดียังจัดอันดับคณะที่มีนักเรียนเลือกมากที่สุด โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 5 ในการสอบแอดมิชชันประจำปี พ.ศ. 2555[51]
บุคคล
แก้รายพระนามและรายนามผู้บัญชาการโรงเรียน หัวหน้าแผนกและคณบดี
แก้ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้บัญชาการโรงเรียน หัวหน้าแผนกปรุงยา หัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ และคณบดีตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้
ผู้บัญชาการโรงเรียนปรุงยา | |
รายพระนามและรายนามผู้บัญชาการ | วาระการดำรงตำแหน่ง |
---|---|
1. อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) | พ.ศ. 2456 – 2458 |
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร | พ.ศ. 2458 – 2459 |
หัวหน้าแผนกแพทย์ผสมยา คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
รายพระนามและรายนามหัวหน้า | วาระการดำรงตำแหน่ง |
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร | พ.ศ. 2459 – 2460 |
1. อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) | พ.ศ. 2460 – 2465 |
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส | พ.ศ. 2465 – 2475 |
4. ศาสตราจารย์ หลวงพรตพิทยพยัต | พ.ศ. 2475 – 2476 |
หัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
รายนามหัวหน้า | วาระการดำรงตำแหน่ง |
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส | พ.ศ. 2476 – 2481 (วาระที่ 2) (รักษาการ) |
5. ศาสตราจารย์ พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) | พ.ศ. 2481 – 2482 (รักษาการ) |
6. ฯพณฯ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม | พ.ศ. 2482 – 2484 |
คณบดีคณะเภสัชกัมสาตร มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
7. ศาสตราจารย์ หลวงลิปิธรรมศรีพยัต (ลิ ศรีพยัตต์) | พ.ศ. 2485 – 2487 (รักษาการ) |
8. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เรือโทอวย เกตุสิงห์ | พ.ศ. 2487 – 2489 |
9. ศาสตราจารย์ เภสัชกร จำลอง สุวคนธ์ | พ.ศ. 2489 – 2500 |
10. ศาสตราจารย์ เภสัชกร ชลอ โสฬสจินดา | พ.ศ. 2500 – 2509 |
11. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ | พ.ศ. 2509 – 2512 (รักษาการ) |
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
11. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ | พ.ศ. 2512 – 2513 (รักษาการ) |
12. ศาสตราจารย์ เภสัชกร ไฉน สัมพันธารักษ์ | พ.ศ. 2513 – 2515 |
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
13. ศาสตราจารย์(พิเศษ) เภสัชกร ดร.วิเชียร จีรวงส์ ราชบัณฑิต | พ.ศ. 2515 – 2517 |
14. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมัคร พุกกะณะเสน | พ.ศ. 2517 (รักษาการ) |
15. ศาสตราจารย์ เภสัชกรนาวาเอกพิสิทธิ์ สุทธิอารมณ์ | พ.ศ. 2517 – 2521 |
16. รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.บุญอรรถ สายศร | พ.ศ. 2521 – 2532 |
17. ศาสตราภิชาน เภสัชกร ดร.ภาวิช ทองโรจน์ | พ.ศ. 2532 – 2536 |
18. รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร | พ.ศ. 2536 – 2544 |
19. เภสัชกร รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยงค์ ตันติสิระ | พ.ศ. 2544 – 2548 |
20. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรเพ็ญ เปรมโยธิน | พ.ศ. 2548 – 2552 |
21. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร | พ.ศ. 2552 – 2556 |
22. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ | พ.ศ. 2556 – 2564 |
23. ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ | พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน |
นิสิตเก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง
แก้คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมทางเภสัชกรรม และได้ผลิตเภสัชกรและบุคลากรที่ประสบความสำเร็จในหลากสาขาทางเภสัชกรรม และสาขาอื่นๆ ทั้งด้านการศึกษาและวงการบันเทิง ตลอดจนมีบทบาทยังด้านการเมืองการปกครองของชาติ สามารถดูรายนามนิสิตเก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงได้ที่ รายนามบุคคลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กิจกรรมและประเพณีของคณะ
แก้กิจกรรมนิสิตของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการบริหารจัดการโดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยงานของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมภายในคณะสามารถแบ่งกิจกรรมออกได้หลายลักษณะ ได้แก่ กิจกรรมเชิงสันทนาการ เป็นกิจกรรมมุ่งเพื่อสร้างความบันเทิงและความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดแก่นิสิตเป็นหลัก อาทิ กิจกรรมสู่รั้วกระถินณรงค์และกิจกรรมรับน้องเพื่อต้อนรับน้องใหม่ชั้นปีที่ 1 สู่คณะเภสัชศาสตร์ งานคืนถิ่นกระถินณรงค์เป็นงานคืนสู่เหย้าของนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์และร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ รวมไปถึงกิจกรรมบายบายเฟรชชีและส่งพี่ข้ามฟาก ซึ่งถือเป็นประเพณีของคณะที่จะต้อนรับนิสิตชั้นปีที่ 2 ซึ่งเดิมเรียนในพื้นที่การศึกษาฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทหรือจุฬาฯใหญ่ มาเรียนในคณะอย่างเต็มตัว[52] กิจกรรมกีฬาประกอบไปด้วยการแข่งขันกีฬาสีภายใน การแข่งขันฟุตบอลกระถินณรงค์คัพซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนิสิต นิสิตเก่า คณาจารย์ และบุคลากรภายในคณะ ในด้านวิชาการและวิชาชีพ มีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางเภสัชกรรมได้แก่การจัดงานสัปดาห์เภสัชกรรมในสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลาขึ้นทุกปี ร่วมกับสภาเภสัชกรรม การจัดค่ายอยากเป็นเภสัชกรสำหรับนิสิตช่วงชั้นที่ 4 ในแผนการเรียนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ที่มีความสนใจศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา[53] การจัดบรรยายสายงานในวิชาชีพแก่นิสิต นอกจากนี้ยังมีการจัดทำวารสาร ฟามาซีแอนด์ดิอาเทอร์ (Pharmacy and the others) เพื่อเผยแพร่ความรู้ข่าวสารวงการเภสัชกรรมแจกแก่ประชาชนทั่วไปเป็นรายปี[54] นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม ได้แก่ การรดน้ำดำหัวคณาจารย์และเภสัชกรอาวุโสในวันสงกรานต์ การตักบาตรในวันสำคัญ และการจัดพิธีไหว้ครูช่วงต้นปีการศึกษา ตลอดจนวันสำคัญของคณะ คือวันคล้ายวันครบรอบสถาปนาคณะ[52]
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดร่วมกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้แก่ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.จ.ม.) ได้แก่ กิจกรรมวันแรกพบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[55] การจัดการแข่งขันกีฬาน้องใหม่[56][57] การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ จุฬาฯวิชาการ[58] ความร่วมมือของส่วนงานระหว่างคณะ ได้แก่ การจัดการแข่งขันกีฬาห้าหมอของนิสิตกับคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการออกค่ายอนามัยชุมชน การแข่งขันกีฬาบุคลากร ส่วนหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยได้แก่ ความร่วมมือกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) ได้แก่ แรกพบ สนภท.[59] ค่ายหมอยาสร้างเสริมสุขภาพและเรียนรู้ชุมชน และกีฬาเภสัชสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์จุฬาฯ–มหิดลในการแข่งขันกีฬาสองเม็ด[60]
บทบาทในสังคม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ประวัติคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2011-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 หนังสือ "กระถินณรงค์'44"
- ↑ แนะนำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2009-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ ภญ.รศ.ภรทิพย์ นิมมานนิตย์, "ประวัติการศึกษาเภสัชศาสตร์" การประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น, สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2553.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง แก้ไขความคลาดเคลื่อนประกาศขนานนามแผนกเภสัชกรรม เรียกข้อมูลวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
- ↑ รายงานวิจัยบุคคลสำคัญทางเภสัชศาสตร์ เก็บถาวร 2009-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 95 ปี เภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
- ↑ ภก.รศ.ประโชติ เปล่งวิทยา. 87 ปี การศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
- ↑ 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/legis/compe/th/decree/2538/a820-2A-2538-001.htm[ลิงก์เสีย]
- ↑ 80 ปี เภสัชศาสตร์, 2537
- ↑ ทางเลือกโครงการเภสัชกรคู่สัญญา : ผลกระทบด้านกำลังคนเภสัชกร เก็บถาวร 2021-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (หน้า 80 - 92) เมษายน - มิถุนายน 2543
- ↑ พิพิธภัณฑ์สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2008-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ ประกาศนายทะเบียนสมาคม กรุงเทพมหานคร เรื่องจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2548 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ↑ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชอุตสาหการ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558
- ↑ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยสนับสนุนการศึกษาและวิจัย เก็บถาวร 2010-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
- ↑ หนังสือ 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ 21.0 21.1 21.2 หนังสือ 80 ปี การศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
- ↑ งานพิธีการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีเปิดอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ หน่วยงานสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนโอสถศาลา เก็บถาวร 2009-02-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ ประวัติพิพิธภัณฑ์สมุนไพร เก็บถาวร 2008-12-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2012-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยของจุฬาฯ (ไม่ใช่เด็กจุฬาฯก็อ่านได้) เก็บถาวร 2012-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน blog.eduzone.com เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
- ↑ หนังสือกระถินณรงค์ 2553
- ↑ ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานในคณะเภสัชศาสตร์ พ.ศ. 2551[ลิงก์เสีย]
- ↑ หน่วยงาน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
- ↑ ประกาศสภาเภสัชกรรม เรื่อง สถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ที่สภาเภสัชกรรมรับรอง[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553
- ↑ หลักสูตรปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ เก็บถาวร 2009-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
- ↑ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
- ↑ 33.0 33.1 หน่วยทะเบียนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เอกสารแนะนำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดการจัดสรรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ผู้ทำสัญญาฯ ปี 2555 เก็บถาวร 2020-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555
- ↑ ผลงานวิจัยมากที่สุดประจำปี พ.ศ. 2551[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มุ่งสร้างมาตรฐานนวัตกรรมยาเชิงพาณิชย์ เก็บถาวร 2009-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุลสารข่าว อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ฉบับที่ 5 มีนาคม 2553.
- ↑ เกี่ยวกับหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง เก็บถาวร 2012-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ "กำหนดการนำเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ครั้งที่ 29" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-12-19.
- ↑ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th NRCT-JSPS Joint Seminar[ลิงก์เสีย]
- ↑ แนะนำคณะฯ เก็บถาวร 2009-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552
- ↑ ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ด้วยวิธีการรับตรง (แบบปกติ) พ.ศ. ๒๕๕๓ เรียกข้อมูลวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการพัฒนากีฬาชาติ เก็บถาวร 2009-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการจุฬาชนบท เก็บถาวร 2009-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ จัดอันดับคุณภาพคณะชีวการแพทย์ 50 อันดับแรก เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 50 อันดับคณะชีวการแพทย์ เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
- ↑ เปิด 50 อันดับสาขาด้าย "วิจัย-สอน" เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
- ↑ Unigang เก็บถาวร 2011-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สภาเภสัชฯห่วงคุณภาพ 'หมอยา'ไทยชี้บัณฑิตเภสัชฯม.เอกชนห่วย-ส่อเค้าสั่งห้ามผลิต เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ Unigang เก็บถาวร 2011-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เภสัชฯ ทับแก้ว ผงาด! สอบใบประกอบวิชาชีพผ่านมากสุดนำอันดับ 1 ของประเทศ เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ Unigang เก็บถาวร 2012-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสอบใบประกอบวิชาชีพ เภสัช 2555 !! ! เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ Dek-D's Admission Top 200 (ตอนที่ 2) 200 คณะที่ (แนวโน้ม) จะถูกเลือกเยอะสุดในแอดมิชชั่นปี 55 เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ 52.0 52.1 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สรุปกิจกรรมตลอดปีการศึกษา; 189-205. ISBN 978-616-551-471-2
- ↑ โครงการค่ายอยากเป็นเภสัชกร (Pharma Camp) สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 7 เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ หัทยา บัลภาพินันท์, 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Pharmacy and the others; 154-157. ISBN 978-616-551-471-2
- ↑ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ[ลิงก์เสีย] ซุปเปอร์ฮีโร่น้องใหม่จุฬาฯ บุก “CU First Date’55" เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ Unigang เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ชีวิตน้องใหม่ กีฬาเฟรชชี่ เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เก็บถาวร 2011-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนุ่มสาวหน้าใสเฟรชชี่ลูกพระเกี้ยว ร่วมงาน “กีฬาน้องใหม่ ‘54”เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ จุฬาฯ วิชาการ เดอะ เธอร์ทีนส์ เรื่องน่ารู้เกี่ยกับจุฬาฯ วิชาการ หน้า 35
- ↑ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ[ลิงก์เสีย] ซุปเปอร์ฮีโร่น้องใหม่จุฬาฯ บุก “CU First Date’55" เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
- ↑ นสภ.ฐิติรัตน์ ลิ่มดุลย์ ใน 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กีฬาสองม็ด ; 146-149. ISBN 978-616-551-471-2
- ↑ ทำเนียบนิสิตเก่า คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
- ↑ คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพภายใน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, รายงานผลการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน กรกฎาคม 2553
- ↑ รายงานการประเมินตนเอง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2552
- ↑ หนังสือกระถินณรงค์ 2555
- ↑ Prince of Songkhla University. Thai Journal of Pharmacy Practice. 2011;3 (Jan-June):1-2.
- ↑ ประวัติเภสัชกรรมสมาคมฯ เก็บถาวร 2016-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
- ↑ ประนอม โพธิยานนท์,รศ.ภญ., วิวัฒนาการวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2530
- ↑ ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) กพย. เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
- ↑ ความเป็นมาของแผนงาน : “ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ” เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของ ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรียกข้อมูล 12 มกราคม พ.ศ. 2555
- ↑ มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม:แนวคิด ความเป็นมา และเป้าหมาย
- ↑ ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์ ,[http://www.pharm.chula.ac.th/psucu/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=3 กิจกรรมนิสิตเภสัชศาสตร์ในอดีต และ
ประวัติสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย] เก็บถาวร 2021-10-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558 - ↑ เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ, โอสถศาลา ร้านยาสร้างเสริมสุขภาพ. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ [https://web.archive.org/web/20130617000904/http://pharm-ce-chula.com/ เก็บถาวร 2013-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน่วยงานศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ "เอกสารแนะนำ ศูนย์บริการเทคโลโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 2013-01-12.
- ↑ หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: หลักเฉลิมพระนครแห่งกรุงสยาม, โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551:21
- ↑ ประวัติสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ สารสภาเภสัชกรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2554
- ↑ [http://www.pharm.chula.ac.th/upload/booklet/1336031466.pdf[ลิงก์เสีย] จุลสารกระถินณรงค์ประจำปี 2554
- ↑ สองโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากจุฬาฯ ได้รับรางวัลดีเด่นโครงการแนวปฏิบัติที่ดีจาก สกอ.[ลิงก์เสีย]
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
13°44′37″N 100°31′53″E / 13.743588°N 100.531455°E
| |||||||||||||||||||||||||||
| |||||||||||||||||||||||||||
ตัวเอียง คือรักษาการ |