คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะวิชาภายใต้สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(เปลี่ยนทางจาก โรงเรียนเภสัชกรรม)

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะเภสัชศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยถือกำเนิดจาก "แผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนราชแพทยาลัย" หรือ "โรงเรียนปรุงยา"[1] ตามดำริของสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย[2]

คณะเภสัชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Faculty of Pharmaceutical Sciences,
Chulalongkorn university
ชื่อเดิมแผนกเภสัชกรรมศาสตร์
ชื่อย่อภ.
สถาปนา8 ธันวาคม พ.ศ. 2456; 110 ปีก่อน (2456-12-08)
คณบดีศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์
ที่อยู่
วารสารวารสารไทยเภสัชสาร
เพลงมาร์ชเภสัช
สี███ สีเขียวมะกอก
มาสคอต
งูพันถ้วยยาไฮเกีย
สถานปฏิบัติโอสถศาลา
เว็บไซต์www.pharm.chula.ac.th

เมื่อประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว โรงเรียนปรุงยามีฐานะเป็นแผนกแพทย์ผสมยา ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล) และได้รับการพัฒนาหลักสูตรขึ้น จัดตั้งเป็นแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 มีการโอนย้ายสังกัดไปยังมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยมหิดล) เมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ขึ้นใหม่ จึงได้โอนย้ายคณะเภสัชศาสตร์แห่งนี้กลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้อาคารเภสัชศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะศิลปกรรมศาสตร์) เป็นที่ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2525 ได้ย้ายอาคารมาทำการเรียนการสอน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน บริเวณสยามสแควร์ ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์[2]

ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยในระดับปริญญาตรีได้เปิดการเรียนการสอนใน 2 หลักสูตรคือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ทั้ง 2 หลักสูตรใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 7 ภาควิชา และยังมีโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ-ชิบะ, โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตคณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น[3]

ประวัติ แก้

2456 - 2485 แผนกแพทย์ผสมยา โรงเรียนราชแพทยาลัย และแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาฯ แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบก มีพระดำริประทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ตรวจการโรงเรียนราชแพทยาลัย ว่าตามกรมกองทหารบกมีแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีผู้ใดได้เล่าเรียนและได้รับการอบรมไปประจำตามที่จ่ายยา ควรตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรซึ่งมีพระดำริเห็นพ้องจึงมีพระบันทึกเรื่อง "ความคิดเห็นเรื่อง การฝึกหัดแพทย์ผสมยา" เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2456 เนื้อหาของบันทึกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับระบบการจัดการเรียนการสอน สถานที่การปฏิบัติการ และครูผู้สอนในการเรียนแพทย์ผสมยา จากแนวพระดำริดังกล่าวจึงได้มีการสถาปนาแผนกแพทย์ผสมยาขึ้นตามประกาศเสนาบดีกระทรวงธรรมการ เรื่อง "ระเบียบการจัดนักเรียนแพทย์ผสมยา พ.ศ. 2457" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2456 จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมขึ้นในประเทศไทย และถือเป็นวันกำเนิดคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรจึงได้รับการยกย่องเป็น "บิดาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย"[2]

การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์เริ่มต้นการสอนแผนกแพทย์ผสมยาหรือในอีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนปรุงยา" ในสังกัดโรงเรียนราชแพทยาลัย เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2457 เมื่อจบการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ปรุงยา โดยมีนักเรียนจบการศึกษาในรุ่นแรก 4 คน ต่อมาได้มีการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น กระทรวงธรรมการจึงได้ประกาศให้รวมโรงเรียนราชแพทยาลัยเข้ามาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) การศึกษาด้านเภสัชศาสตร์จึงได้ยกระดับขึ้นสู่ระดับอุดมศึกษา[2] โดยใช้สถานที่ทำการสอนบริเวณวังวินด์เซอร์ เรือนนอนหอวังและโรงพยาบาลศิริราช ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ปทานุกรมของไทยได้กำหนดให้บัญญัติใช้คำว่า "เภสัชกรรม" แทนคำว่า "ปรุงยา" หรือ "ผสมยา"[4] จึงได้มีประกาศกระทรวงธรรมการให้มีการเปลี่ยนชื่อแผนกเป็น "แผนกเภสัชกรรม" ในสังกัดของคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[5] ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477 บังคับใช้ขึ้น โดยกำหนดจัดตั้งแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ มีฐานะเป็นแผนกอิสระในบังคับบัญชาโดยตรงของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับแผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้ยกระดับวุฒิการศึกษาเป็น "ประกาศนียบัตรเภสัชกรรม (ป.ภ.)" เทียบเท่าอนุปริญญา โดยให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รักษาการตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง

การปรับปรุงการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2479 ได้ยกระดับหลักสูตรเป็น "อนุปริญญาเภสัชศาสตร์" ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี เป็นหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางเภสัชศาสตร์อย่างกว้างขวาง และนำเอาวิชาทางการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาบรรจุในหลักสูตรดังกล่าวโดยเริ่มใช้ในปีการศึกษาต่อมา และมีการแบ่งแผนกวิชาต่างๆ ขึ้นตามกฎหมาย แม้กระนั้นการศึกษาเภสัชศาสตร์ก็ไม่ได้รับความสนใจต่อผู้เข้าศึกษามากนัก จนกระทั่งเภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการในขณะนั้น ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2482[2] และได้จัดการศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้นอย่างเต็มรูปแบบโดยยกระดับหลักสูตรเภสัชกรรมศาสตร์จนถึงระดับปริญญา (หลักสูตร 4 ปี) และจัดสร้างอาคารเรียนถาวรของแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 (อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)[6]

2486 - 2515 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แก้

ในปี พ.ศ. 2486 มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบันขึ้นเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข และได้โอนย้ายแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พร้อมกับแผนกทันตแพทยศาสตร์และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ อย่างไรก็ดี อัตรากำลังและสถานที่ที่ใช้ทำการสอนยังคงอยู่ภายในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่นเดิม พร้อมกันนั้นได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและพัฒนาหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 โดยต้องศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 ปี และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี มีการกำหนดจำนวนเวลาฝึกงานทั้งในโรงงานเภสัชกรรม ร้านยา และสถานพยาบาล และในช่วง พ.ศ. 2509 มีความต้องการให้เภสัชกรเข้ามาดูแลระบบสาธารณสุขและการใช้ยาของประชาชนมากขึ้น จึงได้มีการเพิ่มเติมวิชาทางเภสัชกรรมคลินิกและโรงพยาบาลในหลักสูตรการศึกษา[7][8]

ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2505 ได้มีหนังสือจากกระทรวงมาถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอให้มีการเปิดรับนักศึกษาสาขาเภสัชศาสตร์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนั้นเปิดรับนักศึกษาปีละประมาณ 100 คน แต่ด้วยสภาพพื้นที่ของคณะเภสัชศาสตร์ไม่สามารถขยายรับนักศึกษาเพิ่มได้อีก จึงได้บรรจุโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่ขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 2 และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งใหม่คือ คณะเภสัชศาสตร์พญาไท มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ บริเวณถนนพญาไท แล้วให้ใช้หลักสูตรเดียวกับคณะเภสัชศาสตร์เดิม และมีการสับกำลังอัตราคณาจารย์กัน[9]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม "มหิดล" แทนชื่อ "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" ต่อมาคณะปฏิวัติได้มีคำสั่ง ให้โอนคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลยมหิดล แห่งนี้ (ณ ตำบลวังใหม่) กลับเข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515[10] จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" จวบจนปัจจุบัน และได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2538 (ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 ว่าด้วยการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์และคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกใช้บังคับในระหว่างที่มีการปกครองโดยคณะปฏิวัติและใช้ชื่อว่าประกาศของคณะปฏิวัติ สมควรปรับปรุงรูปแบบและบทบัญญัติของกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวให้เป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้เป็นไปตามวิธีการตรากฎหมายในระบบปกติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้)[11]

2515 - ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แก้

 
อาคารคณะเภสัชศาสตร์

เมื่อย้ายสังกัดเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารและระบบติดตามการเรียนการสอน และการนับหน่วยกิตตามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนปัญหาด้านสถานที่ของคณะที่ไม่เอื้อต่อการเรียนการสอนและการขยายจำนวนนิสิต ทำให้คณะมีโครงการจัดสร้างอาคารใหม่ขึ้นในบริเวณใกล้เคียงอาคารหลังเดิม แต่อย่างไรก็ดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยมีแนวคิดการสร้าง "Medical Square" ในพื้นที่การศึกษาที่ติดต่อกับสยามสแควร์ซึ่งมีคณะทันตแพทยศาสตร์และคณะสัตวแพทยศาสตร์อยู่แล้ว จึงมีโครงการสร้างอาคารคณะเภสัชศาสตร์หลังใหม่ในบริเวณดังกล่าว[12] การก่อสร้างเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2525 และได้ย้ายสถานที่ทำการเรียนการสอนคณะเภสัชศาสตร์ไปยังอาคารแห่งใหม่บริเวณสยามสแควร์

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดโครงการเภสัชกรคู่สัญญาโดยใช้ทุนเป็นเวลา 2 ปี ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2527[13] โดยคณะเภสัชศาสตร์ยังคงปรับปรุงการศึกษาอย่างสืบเนื่อง ในปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต 3 สาขา และในปีถัดมาได้ปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตเป็นลักษณะกึ่งเฉพาะทาง 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาเภสัชกรรมโรงพยาบาลและเภสัชกรรมคลินิก, สาขาเทคโนโลยีการผลิตยา, สาขาวิจัยและพัฒนาเภสัชภัณฑ์, สาขาเภสัชกรรมชุมชนและบริหารเภสัชกิจ และสาขาเภสัชสาธารณสุข และมีการจัดสร้างอาคารเรียนและปฏิบัติการแห่งใหม่เพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาเภสัชศาสตร์ในสยามประเทศครบ 80 ปีโดยใช้ชื่อ "อาคาร 80 ปีเภสัชศาสตร์" ในปี พ.ศ. 2536

นอกจากการพัฒนาด้านการเรียนการสอนและอาคารสถานที่นั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้รวบรวมเภสัชภัณฑ์, เครื่องยา และเภสัชวัตถุโบราณซึ่งสั่งสมมาแต่ครั้งก่อตั้งคณะจัดสร้างเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" ขึ้น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในการเปิดพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวพร้อมกับเปิดอาคารโอสถศาลาในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2544[14] และได้มีการจัดตั้งสมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน ให้มีความแน่นแฟ้น รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมคณะฯ พร้อมทั้งกิจกรรมวิชาชีพเภสัชกรรมอีกด้วย[15]

ปัจจุบันคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2557 โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชอุตสาหการ และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 6 ปี[16][17] มีการพัฒนาผลงานวิจัยทางเภสัชกรรมโดยจัดตั้งศูนย์พัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร ณ อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งได้ทำพิธีเปิดเมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธี[18] และยังมีโครงการต่างๆ อาทิ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "โอสถศาลา" ศูนย์คอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ ศูนย์เภสัชสารสนเทศ ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางเภสัชอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยและพัฒนาสมุนไพรและเครื่องเทศ รายการคลินิก FM 101.5 วิทยุจุฬาฯ ศูนย์ผลิตสื่อประสมคอมพิวเตอร์ ศูนย์สื่อสารการเรียนรู้ด้วยตนเอง ห้องสมุดและระบบคอมพิวเตอร์ทางเภสัชศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมให้ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ตาม "ปรัชญาแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม"[19]

สถานที่และการเดินทาง แก้

 
อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Medical Square) จรดสยามสแควร์ตรงข้ามศูนย์การค้ามาบุญครอง มีพื้นที่ติดต่อกับคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และสถาบันวิจัยของมหาวิทยาลัย[20] แต่เดิมคณะเภสัชศาสตร์ใช้สถานที่ทำการเรียนการสอน ณ อาคารของคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484 และได้ย้ายมายังสถานที่ตั้งปัจจุบันในปี พ.ศ. 2525

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง เป็นอาคารเรียนและวิจัย 4 หลัง คือ อาคารคณะเภสัชศาสตร์ (เปิดใช้ พ.ศ. 2525) อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ (เปิดใช้ พ.ศ. 2536) อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ (เปิดใช้ พ.ศ. 2552) และอาคารเลี้ยงสัตว์ทดลอง ในสถานที่ตั้งปัจจุบันแต่เดิมมีอาคารคณะเภสัชศาสตร์เพียงหลังเดียว แต่เนื่องจากมีการขยายตัวทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยจึงจำเป็นต้องมีการขยายพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม นำไปสู่การสร้างอาคาร "80 ปี เภสัชศาสตร์" ขึ้น[21] ซึ่งมีความทันสมัย และได้นำครุภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน[21] อย่างไรก็ดี พื้นที่งานวิจัยยังต้องการการขยายตัวอีกมาก จึงมีการสร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นอาคารวิจัยและหอประชุม เริ่มต้นการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2549 และในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้[22]

นอกจากนี้ยังมีอาคารที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติวิชาชีพคือ อาคารโอสถศาลา (เปิดใช้ พ.ศ. 2526, เปิดใช้ครั้งใหม่ พ.ศ. 2544) เป็นที่ตั้งของสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนหรือร้านยาของคณะสำหรับให้นิสิตและนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ได้ฝึกปฏิบัติวิชาชีพในร้านยา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารหลังนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารหลังเดิมที่เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2529[23]

ภายในคณะยังมีพื้นที่เพื่อการนันทนาการสำหรับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากร ได้แก่ สนามบาสเกตบอล และลานอาร์เอ็กซ์ (Rx) รวมถึงยังมีการรวบรวมพรรณพืช สมุนไพรท้องถิ่น สมุนไพรหายาก จัดตั้งขึ้นเป็น "พิพิธภัณฑ์สมุนไพร" เปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2544 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาเสด็จเข้าเยี่ยมชมเป็นพระองค์แรก พร้อมทั้งคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย[24]

คณะเภสัชศาสตร์มีประตู 2 ประตู ได้แก่ ประตูซอยจุฬาฯ 64 ซึ่งจรดพื้นที่ของศูนย์การค้าสยามสแควร์ และประตูซอยจุฬาฯ 62 ติดต่อกับถนนพญาไท ภายในมหาวิทยาลัยมีการจัดระบบการเดินรถภายใน สายเดินรถที่ผ่านคณะเภสัชศาสตร์ ได้แก่สายที่ 1 และ 4[25] นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีสยาม ได้อีกด้วย[26]

การบริหารและการจัดการ แก้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการบริหารงานเช่นเดียวกับคณะวิชาทั่วไป คือ มีคณะกรรมการบริหารคณะ มีคณบดีเป็นหัวหน้า และรองคณบดีกำกับดูแลฝ่ายงาน 6 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนิสิต ฝ่ายวางแผนและพัฒนา ฝ่ายประกันคุณภาพ และฝ่ายวิจัย[27] มีการแบ่งโครงสร้างในการจัดการเรียนการสอนออกเป็น 7 ภาควิชา ได้แก่วิทยาการเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม เภสัชกรรมปฏิบัติ อาหารและเภสัชเคมี ชีวเคมีและจุลชีววิทยา เภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชวิทยาและสรีรวิทยา และเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ส่วนสำนักเลขานุการคณะฯ เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาแต่มิได้รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนโดยตรง[28] นอกจากนี้ยังมีหน่วยสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยอีก 12 หน่วยงานร่วมกับสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลา (ร้านยา) อีกหนึ่งหน่วยงาน[29]

การเรียนการสอน แก้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนใน 3 ระดับการศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยการเรียนการสอนในระดับปริญญาบัณฑิต (ปริญญาตรี) ของคณะใช้ระบบทวิภาคคือ แบ่งปีการศึกษาหนึ่งออกเป็น 2 ภาคการศึกษา ได้แก่ ภาคการศึกษาต้นและภาคการศึกษาปลาย (หรืออาจมีภาคฤดูร้อนก็ได้) ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาการการบริบาลทางเภสัชกรรมและสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ ทั้งสองสาขาใช้ระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 6 ปี แบ่งเป็นการศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไปและวิชาพื้นฐานวิชาชีพเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง และการศึกษาวิชาเฉพาะวิชาชีพเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และฝึกปฏิบัติวิชาชีพ 1 ปี ในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมจะเน้นด้านการดูแลผู้ป่วยในกระบวนการใช้ยา และในสาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ จะสามารถเลือกวิชาเฉพาะของสาขาใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาเภสัชกรรมและเทคโนโลยี สาขาค้นพบและพัฒนายา และสาขาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร ซึ่งทั้งสองหลักสูตรได้รับการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและสภามหาวิทยาลัย[30][31][32] หลังสำเร็จการศึกษาต้องชดใช้ทุนโดยเป็นเภสัชกรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะเวลา 2 ปี[33] หรือหน่วยงานราชการอื่นที่ระบุตำแหน่งในแต่ละปีการศึกษา[34]

นอกจากการจัดการศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิตนั้น คณะเภสัชศาสตร์ยังได้จัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา โดยแบ่งเป็นหลักสูตรระดับมหาบัณฑิตและหลักสูตรระดับดุษฎีบัณฑิต ดังนี้

ปริญญาตรี
ปริญญาโท
ปริญญาเอก

หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 6 ปี

1. สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม

2. สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ

หลักสูตรมหาบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 2 ปี

1. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม

2. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา

3. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์และเทคโนโลยี

4. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร

(หลักสูตรนานาชาติ)

5. หลักสูตรเภสัชศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ


หลักสูตรนอกเวลาราชการ

1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตรเครื่องสำอาง

หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต ใช้ระยะเวลาศึกษา 3 ปี

1. หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม

2. หลักสูตรเภสัชศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยา

3. วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์และเทคโนโลยี

4. หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์สังคมและบริหาร

(หลักสูตรนานาชาติ)

5. หลักสูตรเภสัชศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ

การวิจัยและการประชุมวิชาการ แก้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน่วยวิจัยและศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางกว่า 18 หน่วย/ศูนย์[33] เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยทางเภสัชกรรมและการพัฒนาการศึกษาทางเภสัชศาสตร์ มีผลงานการตีพิมพ์ทางวิชาการด้านเภสัชกรรมและเภสัชวิทยาในอันดับที่ 2 ของคณะเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย[35] นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งทำพิธีเปิดในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการวิจัยทางยาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงงานเภสัชกรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมยาและภาครัฐในการทางพัฒนาเภสัชภัณฑ์และสมุนไพร เพื่อลดอัตราการนำเข้ายาจากต่างประเทศ[36] ประกอบด้วยหน่วยวิจัย 5 หน่วย[37] ได้แก่ หน่วยวิจัยสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (HERB) หน่วยวิจัยจุลชีววิทยา ชีววิทยาโมเลกุลและเทคโนโลยีชีวภาพ (MMBB) หน่วยประเมินประสิทธิศักย์และความปลอดภัยพรีคลินิก (PESA) หน่วยพัฒนาเภสัชภัณฑ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (PDTT) และหน่วยวิจัยเครื่องสำอาง (COSM)

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางเภสัชศาสตร์แก่เภสัชกร บุคลากรทางสาธารณสุข และบุคคลทั่วไป โดยมีหน่วยการศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการประชุม[38] และยังมีการจัดการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์เป็นประจำทุกปี[39] นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โครงการประชุมวิชาการนานาชาติ (NRCT-JSPS Joint Seminar) ซึ่งร่วมจัดกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้ความร่วมมือข้อตกลงของสภาวิจัยแห่งชาติ (NRCT) สถาบันสมุนไพร มหาวิทยาลัยโทโยม่า และสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JSPS) [40] โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิบะ โครงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต คณะเภสัชศาสตร์กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลี เป็นต้น โครงการเชิญคณาจารย์และวิทยากรจากต่างประเทศ ร่วมบรรยายและสัมมนา[41]

การรับบุคคลเข้าศึกษาและอันดับของคณะ แก้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีเกณฑ์การรับบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (ปริญญาตรี) ทั้งสิ้น 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรับผ่านระบบแอดมิสชันของคณะกรรมการการอุดมศึกษา โครงการรับตรงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[42] โครงการพัฒนากีฬาชาติ[43] และโครงการจุฬาฯ ชนบท[44]

จากผลการรายงาน 50 อันดับของคณะทางสาขาชีวการแพทย์ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2552 โดยประเมินคุณภาพของการเรียนการสอนและงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อันดับที่ 23 และเป็นอันดับที่ 1 ในคณะเภสัชศาสตร์ทั้งหมด[45][46][47] ในส่วนผลการสอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยสภาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีร้อยละของนิสิตผู้สอบผ่านมากเป็นอันดับต้นๆ ของคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศ อาทิ ในปี พ.ศ. 2552 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 88.9[48] ปี พ.ศ. 2553 มีนิสิตผ่านร้อยละ 81.7[49] ในปี พ.ศ. 2554 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 96.93 และในปี พ.ศ. 2555 มีนิสิตสอบผ่านร้อยละ 85.9[50] นอกจากนี้เว็บไซต์เด็กดียังจัดอันดับคณะที่มีนักเรียนเลือกมากที่สุด โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 5 ในการสอบแอดมิชชันประจำปี พ.ศ. 2555[51]

บุคคล แก้

รายพระนามและรายนามผู้บัญชาการโรงเรียน หัวหน้าแผนกและคณบดี แก้

ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้บัญชาการโรงเรียน หัวหน้าแผนกปรุงยา หัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ และคณบดีตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

ผู้บัญชาการโรงเรียนปรุงยา
รายพระนามและรายนามผู้บัญชาการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1. อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) พ.ศ. 2456 - 2458
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พ.ศ. 2458 - 2459
หัวหน้าแผนกแพทย์ผสมยา คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายพระนามและรายนามหัวหน้า วาระการดำรงตำแหน่ง
2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พ.ศ. 2459 - 2460
1. อำมาตย์เอก พระยาเวชสิทธิ์พิลาศ (จรัส วิภาตะแพทย์) พ.ศ. 2460 - 2465
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส พ.ศ. 2465 - 2475
4. ศาสตราจารย์ หลวงพรตพิทยพยัต พ.ศ. 2475 - 2476
หัวหน้าแผนกเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามหัวหน้า วาระการดำรงตำแหน่ง
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส พ.ศ. 2476 - 2481 (วาระที่ 2) (รักษาการ)
5. ศาสตราจารย์ พระอัพภันตราพาธพิศาล (กำจร พลางกูร) พ.ศ. 2481 - 2482 (รักษาการ)
6. ฯพณฯ เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม พ.ศ. 2482 - 2484
คณบดีคณะเภสัชกัมสาตร มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
7. ศาสตราจารย์ หลวงลิปิธรรมศรีพยัต (ลิ ศรีพยัตต์) พ.ศ. 2485 - 2487 (รักษาการ)
8. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เรือโทอวย เกตุสิงห์ พ.ศ. 2487 - 2489
9. ศาสตราจารย์ เภสัชกร จำลอง สุวคนธ์ พ.ศ. 2489 - 2500
10. ศาสตราจารย์ เภสัชกร ชลอ โสฬสจินดา พ.ศ. 2500- 2509
11. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ พ.ศ. 2509 - 2512 (รักษาการ)
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
11. ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ โอสถานนท์ พ.ศ. 2512 - 2513 (รักษาการ)
12. ศาสตราจารย์ เภสัชกร ไฉน สัมพันธารักษ์ พ.ศ. 2513 - 2515
คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
13. ศาสตราจารย์(พิเศษ) เภสัชกร ดร.วิเชียร จีรวงส์ ราชบัณฑิต พ.ศ. 2515 - 2517
14. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมัคร พุกกะณะเสน พ.ศ. 2517 (รักษาการ)
15. ศาสตราจารย์ เภสัชกรนาวาเอกพิสิทธิ์ สุทธิอารมณ์ พ.ศ. 2517 - 2521
16. รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.บุญอรรถ สายศร พ.ศ. 2521 - 2532
17. ศาสตราภิชาน เภสัชกร ดร.ภาวิช ทองโรจน์ พ.ศ. 2532 - 2536
18. รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.สุนิพนธ์ ภุมมางกูร พ.ศ. 2536 - 2544
19. เภสัชกร รองศาสตราจารย์ ดร.บุญยงค์ ตันติสิระ พ.ศ. 2544 - 2548
20. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรเพ็ญ เปรมโยธิน พ.ศ. 2548 - 2552
21. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พิณทิพย์ พงษ์เพ็ชร พ.ศ. 2552 - 2556
22. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ พ.ศ. 2556 - 2564
23. ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

นิสิตเก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง แก้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ที่สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมทางเภสัชกรรม และได้ผลิตเภสัชกรและบุคลากรที่ประสบความสำเร็จในหลากสาขาทางเภสัชกรรม และสาขาอื่นๆ ทั้งด้านการศึกษาและวงการบันเทิง ตลอดจนมีบทบาทยังด้านการเมืองการปกครองของชาติ สามารถดูรายนามนิสิตเก่าและคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงได้ที่ รายนามบุคคลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

กิจกรรมและประเพณีของคณะ แก้

กิจกรรมนิสิตของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการบริหารจัดการโดยสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยงานของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กิจกรรมภายในคณะสามารถแบ่งกิจกรรมออกได้หลายลักษณะ ได้แก่ กิจกรรมเชิงสันทนาการ เป็นกิจกรรมมุ่งเพื่อสร้างความบันเทิงและความสามัคคีกลมเกลียวให้เกิดแก่นิสิตเป็นหลัก อาทิ กิจกรรมสู่รั้วกระถินณรงค์และกิจกรรมรับน้องเพื่อต้อนรับน้องใหม่ชั้นปีที่ 1 สู่คณะเภสัชศาสตร์ งานคืนถิ่นกระถินณรงค์เป็นงานคืนสู่เหย้าของนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์และร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิตใหม่ รวมไปถึงกิจกรรมบายบายเฟรชชีและส่งพี่ข้ามฟาก ซึ่งถือเป็นประเพณีของคณะที่จะต้อนรับนิสิตชั้นปีที่ 2 ซึ่งเดิมเรียนในพื้นที่การศึกษาฝั่งตะวันออกของถนนพญาไทหรือจุฬาฯใหญ่ มาเรียนในคณะอย่างเต็มตัว[52] กิจกรรมกีฬาประกอบไปด้วยการแข่งขันกีฬาสีภายใน การแข่งขันฟุตบอลกระถินณรงค์คัพซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนิสิต นิสิตเก่า คณาจารย์ และบุคลากรภายในคณะ ในด้านวิชาการและวิชาชีพ มีกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางเภสัชกรรมได้แก่การจัดงานสัปดาห์เภสัชกรรมในสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน โอสถศาลาขึ้นทุกปี ร่วมกับสภาเภสัชกรรม การจัดค่ายอยากเป็นเภสัชกรสำหรับนิสิตช่วงชั้นที่ 4 ในแผนการเรียนคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ที่มีความสนใจศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา[53] การจัดบรรยายสายงานในวิชาชีพแก่นิสิต นอกจากนี้ยังมีการจัดทำวารสาร ฟามาซีแอนด์ดิอาเทอร์ (Pharmacy and the others) เพื่อเผยแพร่ความรู้ข่าวสารวงการเภสัชกรรมแจกแก่ประชาชนทั่วไปเป็นรายปี[54] นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมด้านการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรม ได้แก่ การรดน้ำดำหัวคณาจารย์และเภสัชกรอาวุโสในวันสงกรานต์ การตักบาตรในวันสำคัญ และการจัดพิธีไหว้ครูช่วงต้นปีการศึกษา ตลอดจนวันสำคัญของคณะ คือวันคล้ายวันครบรอบสถาปนาคณะ[52]

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่จัดร่วมกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้แก่ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ส.จ.ม.) ได้แก่ กิจกรรมวันแรกพบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[55] การจัดการแข่งขันกีฬาน้องใหม่[56][57] การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ จุฬาฯวิชาการ[58] ความร่วมมือของส่วนงานระหว่างคณะ ได้แก่ การจัดการแข่งขันกีฬาห้าหมอของนิสิตกับคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และการออกค่ายอนามัยชุมชน การแข่งขันกีฬาบุคลากร ส่วนหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัยได้แก่ ความร่วมมือกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) ได้แก่ แรกพบ สนภท.[59] ค่ายหมอยาสร้างเสริมสุขภาพและเรียนรู้ชุมชน และกีฬาเภสัชสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์จุฬาฯ-มหิดลในการแข่งขันกีฬาสองเม็ด[60]

บทบาทในสังคม แก้

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วทั้งสิ้น 7,760 คน (ข้อมูลเดือนมกราคม พ.ศ. 2555)[61][62][63][64] นิสิต นิสิตเก่า และคณาจารย์ของคณะมีส่วนสำคัญในการผลักดันวิชาชีพเภสัชกรรมให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ตั้งแต่การผลักดันพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พ.ศ. 2479 โดยเภสัชกร ร้อยเอกหวาน หล่อพินิจ ซึ่งกำหนดให้ควบคุมการปรุงยา การจ่ายยา และการผลิตยาโดยเภสัชกร[65] การจัดตั้งเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยพระมนตรีพจนกิจ (หม่อมราชวงศ์ชาย ชุมแสง) อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ร่วมกับเภสัชกรท่านอื่นๆ อีก 64 คน[66] ซึ่งมีส่วนในการผลักดันพระราชบัญญัติยาให้เกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อปี พ.ศ. 2510 ตลอดจนการผลักดันพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม ในปี พ.ศ. 2537[67] นอกจากนี้คณาจารย์ของคณะเภสัชศาสตร์ได้สร้างแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เพื่อเป็นหน่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบยาในประเทศไทยและมีผลงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติยาฉบับประชาชน[68] แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนในด้านยาและวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชน รวมถึงมีส่วนร่วมในการผลักดันธรรมนูญสุขภาพขึ้นในสังคมไทย[69] และยังมีส่วนร่วมในการจัดตั้งมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส) เพื่อพัฒนาวิชาชีพและการศึกษาเภสัชศาสตร์ในสังคมไทย รวมถึงการมอบรางวัลให้กับเภสัชกรที่ทำประโยชน์แก่สังคม[70] นอกจากนี้สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเข้าร่วมกับนิสิต-นักศึกษาในคณะเภสัชศาสตร์และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดย ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์เพื่อทำกิจกรรมวิชาชีพในสามมหาวิทยาลัยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มุ่งเน้นการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ภาคประชาชน ต่อมา ในปี พ.ศ. 2529 สโมสรฯเป็นภาคีสมาชิกในการก่อตั้ง “สโมสรนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย” โดยมี เภสัชกร รองศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย สุขเศวต นิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น เป็นนายกสโมสรคนแรก ต่อมาได้มีสโมสรนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติม และเปลี่ยนชื่อเป็น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) ปัจจุบันมีสมาชิกครอบคลุมคณะเภสัชศาสตร์และสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ทั้งหมดที่จัดการเรียนการสอนในประเทศไทย[71] คณะเภสัชศาสตร์ให้บริการความรู้ทางเภสัชกรรมเบื้องต้นแก่ประชาชน ผ่านเครือข่ายเภสัชสนเทศ สถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนของคณะ หรือโอสถศาลา[72] และวารสาร ไทยเภสัชสาร นอกจากนี้ยังร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมความรู้ของเภสัชกรและบุคลากรสาธารณสุขโดยการจัดตั้งหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง[73] อาทิ ความร่วมมือกับสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) สมาคมเภสัชกรรมชุมชน เป็นต้น คณะเภสัชศาสตร์จัดตั้งศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรมซึ่งได้รับทุนร่วมสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมขององค์การสหประชาชาติ (UNIDO) จัดปฏิบัติการทดสอบชีวสมมูลของยา การทดสอบทางพิษวิทยาคลินิก การวิเคราะห์ยาโดยได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025[74] และยังมีแผนจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบด้านสมุนไพรในอนาคต[21] นอกจากนี้คณะเภสัชศาสตร์ยังได้รับรางวัล นวัตกรรมแห่งประเทศไทย ในผลงานการจัดทำผลิตภัณฑ์กำไลกันยุงจากน้ำมันตะไคร้หอมด้วยระบบโพลิเบอร์เมทริกซ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547[75] นิสิตและนิสิตเก่าของคณะมีส่วนร่วมทางด้านการเมืองของประเทศ ในปี พ.ศ. 2505 นักศึกษาของคณะ (สังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์) ก็มีส่วนร่วมในการเดินขบวนในกรณีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร[76] รวมถึงในเหตุการณ์ 14 ตุลาซึ่งมีนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม อาทิ เภสัชกรหญิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐและจิระนันท์ พิตรปรีชา ด้านวิชาชีพคณะเภสัชศาสตร์ยังร่วมมือกับสภาเภสัชกรรมในการดำเนินการหลายอย่าง อาทิ การผลักดันให้เกิดการประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองเภสัชกรรมในประเทศไทยครบรอบ 100 ปี ครบถ้วนทุกสาขาของวิชาชีพ ได้แก่ เภสัชอุตสาหกรรม เภสัชกรรมการตลาด เภสัชกรรมโรงพยาบาล เภสัชกรรมชุมชน และเภสัชกรรมคุ้มครองผู้บริโภค การจัดงาน "สัปดาห์เภสัชจุฬาฯ ไม่แขวนป้าย" เพื่อร่วมรณรงค์จรรยาบรรณเภสัชกรและกระตุ้นเตือนนิสิต[77] การจัดงานสัปดาห์เภสัชกรรม เป็นต้น และจากอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 นิสิตของคณะเภสัชศาสตร์ได้ผลิตยารักษาน้ำกัดเท้าและตะไคร้หอมไล่ยุงโดยมีคณาจารย์เภสัชกรเป็นที่ปรึกษาและผู้ควบคุมการผลิต ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2554 เพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัยทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 180,000 ชุด ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากการบริจาคของภาคประชาชนและคณะ[78] และได้รับคัดเลือกให้เป็น "โครงการดีเด่น" ประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการระดับ "ดีเด่น" ในการนำระบบประกันคุณภาพไปใช้ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาประจำปี พ.ศ. 2555 อีกด้วย[79]

อ้างอิง แก้

  1. ประวัติคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 หนังสือ "กระถินณรงค์'44"
  3. แนะนำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  4. ภญ.รศ.ภรทิพย์ นิมมานนิตย์, "ประวัติการศึกษาเภสัชศาสตร์" การประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น, สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2553.
  5. ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง แก้ไขความคลาดเคลื่อนประกาศขนานนามแผนกเภสัชกรรม เรียกข้อมูลวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
  6. รายงานวิจัยบุคคลสำคัญทางเภสัชศาสตร์ เก็บถาวร 2009-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  7. 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 95 ปี เภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
  8. ภก.รศ.ประโชติ เปล่งวิทยา. 87 ปี การศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
  9. 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  10. ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 118 ลงวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2515 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  11. http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/legis/compe/th/decree/2538/a820-2A-2538-001.htm[ลิงก์เสีย]
  12. 80 ปี เภสัชศาสตร์, 2537
  13. ทางเลือกโครงการเภสัชกรคู่สัญญา : ผลกระทบด้านกำลังคนเภสัชกร เก็บถาวร 2021-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (หน้า 80 - 92) เมษายน - มิถุนายน 2543
  14. พิพิธภัณฑ์สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  15. ประกาศนายทะเบียนสมาคม กรุงเทพมหานคร เรื่องจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2548 เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  16. หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558
  17. หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชอุตสาหการ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558
  18. สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  19. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยสนับสนุนการศึกษาและวิจัย เรียกข้อมูลเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  20. หนังสือ 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  21. 21.0 21.1 21.2 หนังสือ 80 ปี การศึกษาเภสัชศาสตร์ในประเทศไทย
  22. งานพิธีการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิธีเปิดอาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
  23. หน่วยงานสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนโอสถศาลา เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  24. ประวัติพิพิธภัณฑ์สมุนไพร เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  25. รถโดยสารภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บถาวร 2012-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
  26. เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยของจุฬาฯ (ไม่ใช่เด็กจุฬาฯก็อ่านได้) เก็บถาวร 2012-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน blog.eduzone.com เรียกข้อมูลวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556
  27. หนังสือกระถินณรงค์ 2553
  28. ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการแบ่งหน่วยงานในคณะเภสัชศาสตร์ พ.ศ. 2551[ลิงก์เสีย]
  29. หน่วยงาน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
  30. ประกาศสภาเภสัชกรรม เรื่อง สถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์ที่สภาเภสัชกรรมรับรอง[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2553
  31. หลักสูตรปริญญาตรีของคณะเภสัชศาสตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
  32. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
  33. 33.0 33.1 หน่วยทะเบียนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เอกสารแนะนำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  34. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดการจัดสรรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ผู้ทำสัญญาฯ ปี 2555 สืบค้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555
  35. ผลงานวิจัยมากที่สุดประจำปี พ.ศ. 2551[ลิงก์เสีย] เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  36. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เตรียมจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ มุ่งสร้างมาตรฐานนวัตกรรมยาเชิงพาณิชย์ เก็บถาวร 2009-07-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  37. สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุลสารข่าว อาคารนวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์ ฉบับที่ 5 มีนาคม 2553.
  38. เกี่ยวกับหน่วยการศึกษาต่อเนื่อง เก็บถาวร 2012-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  39. "กำหนดการนำเสนอผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ครั้งที่ 29" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-12-19.
  40. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ The 8th NRCT-JSPS Joint Seminar[ลิงก์เสีย]
  41. แนะนำคณะฯ เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  42. ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรี ด้วยวิธีการรับตรง (แบบปกติ) พ.ศ. ๒๕๕๓ เรียกข้อมูลวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2553
  43. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการพัฒนากีฬาชาติ เก็บถาวร 2009-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  44. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการจุฬาชนบท เก็บถาวร 2009-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  45. จัดอันดับคุณภาพคณะชีวการแพทย์ 50 อันดับแรก เรียกข้อมูลวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2552
  46. คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 50 อันดับคณะชีวการแพทย์ เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  47. เปิด 50 อันดับสาขาด้าย "วิจัย-สอน" เรียกข้อมูลวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552
  48. Unigang เก็บถาวร 2011-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สภาเภสัชฯห่วงคุณภาพ 'หมอยา'ไทยชี้บัณฑิตเภสัชฯม.เอกชนห่วย-ส่อเค้าสั่งห้ามผลิต เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  49. Unigang เก็บถาวร 2011-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เภสัชฯ ทับแก้ว ผงาด! สอบใบประกอบวิชาชีพผ่านมากสุดนำอันดับ 1 ของประเทศ เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  50. Unigang เก็บถาวร 2012-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ผลสอบใบประกอบวิชาชีพ เภสัช 2555 !! ! เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  51. Dek-D's Admission Top 200 (ตอนที่ 2) 200 คณะที่ (แนวโน้ม) จะถูกเลือกเยอะสุดในแอดมิชชั่นปี 55 เรียกข้อมูลวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  52. 52.0 52.1 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สรุปกิจกรรมตลอดปีการศึกษา; 189-205. ISBN 978-616-551-471-2
  53. โครงการค่ายอยากเป็นเภสัชกร (Pharma Camp) สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 7 เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  54. หัทยา บัลภาพินันท์, 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Pharmacy and the others; 154-157. ISBN 978-616-551-471-2
  55. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ[ลิงก์เสีย] ซุปเปอร์ฮีโร่น้องใหม่จุฬาฯ บุก “CU First Date’55" เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  56. Unigang เก็บถาวร 2016-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ชีวิตน้องใหม่ กีฬาเฟรชชี่ เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  57. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เก็บถาวร 2011-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนุ่มสาวหน้าใสเฟรชชี่ลูกพระเกี้ยว ร่วมงาน “กีฬาน้องใหม่ ‘54”เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  58. จุฬาฯ วิชาการ เดอะ เธอร์ทีนส์ เรื่องน่ารู้เกี่ยกับจุฬาฯ วิชาการ หน้า 35
  59. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ[ลิงก์เสีย] ซุปเปอร์ฮีโร่น้องใหม่จุฬาฯ บุก “CU First Date’55" เรียกข้อมูลวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555
  60. นสภ.ฐิติรัตน์ ลิ่มดุลย์ ใน 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กีฬาสองม็ด ; 146-149. ISBN 978-616-551-471-2
  61. ทำเนียบนิสิตเก่า คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน 95 ปี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
  62. คณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพภายใน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, รายงานผลการตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน กรกฎาคม 2553
  63. รายงานการประเมินตนเอง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2552
  64. หนังสือกระถินณรงค์ 2555
  65. Prince of Songkhla University. Thai Journal of Pharmacy Practice. 2011;3 (Jan-June):1-2.
  66. ประวัติเภสัชกรรมสมาคมฯ เก็บถาวร 2016-04-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
  67. ประนอม โพธิยานนท์,รศ.ภญ., วิวัฒนาการวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2530
  68. ร่าง พระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) กพย. เรียกข้อมูลวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555
  69. ความเป็นมาของแผนงาน : “ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ” เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของ ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรียกข้อมูล 12 มกราคม พ.ศ. 2555
  70. มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม:แนวคิด ความเป็นมา และเป้าหมาย
  71. ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์ ,[http://www.pharm.chula.ac.th/psucu/index.php?option=com_content&view=article&id=2&Itemid=3 กิจกรรมนิสิตเภสัชศาสตร์ในอดีต และ
    ประวัติสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย] เรียกข้อมูลวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558
  72. เภสัชกรกิติยศ ยศสมบัติ, โอสถศาลา ร้านยาสร้างเสริมสุขภาพ. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  73. [https://web.archive.org/web/20130617000904/http://pharm-ce-chula.com/ เก็บถาวร 2013-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หน่วยงานศึกษาต่อเนื่อง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  74. "เอกสารแนะนำ ศูนย์บริการเทคโลโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-08. สืบค้นเมื่อ 2013-01-12.
  75. หอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: หลักเฉลิมพระนครแห่งกรุงสยาม, โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2551:21
  76. ประวัติสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน 60 ปี สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  77. สารสภาเภสัชกรรม ปีที่ 15 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2554
  78. [http://www.pharm.chula.ac.th/upload/booklet/1336031466.pdf จุลสารกระถินณรงค์ประจำปี 2554
  79. สองโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากจุฬาฯ ได้รับรางวัลดีเด่นโครงการแนวปฏิบัติที่ดีจาก สกอ.[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′37″N 100°31′53″E / 13.743588°N 100.531455°E / 13.743588; 100.531455