แร็กคูน

(เปลี่ยนทางจาก แรคคูน)

แร็กคูน (อังกฤษ: raccoon, common raccoon) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง ในอันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Procyon lotor อยู่ในวงศ์แร็กคูน (Procyonidae)

แร็กคูน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Blancan–present[1]
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: สัตว์กินเนื้อ
Carnivora
วงศ์: วงศ์แร็กคูน
Procyonidae
สกุล: Procyon
Procyon
(Linnaeus, 1758)
สปีชีส์: Procyon lotor
ชื่อทวินาม
Procyon lotor
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีแดง-ถิ่นกำเนิดดั้งเดิม, สีน้ำเงิน-สถานที่ ๆ ถูกนำเข้าไป)
ชื่อพ้อง
  • Ursus lotor Linnaeus, 1758

มีความยาวลำตัวราว 2 ฟุต มีหางเป็นพวงมีแถบสีดำคาดเป็นปล้อง ๆ ยาวราว 10 นิ้ว ขนตามลำตัวสีน้ำตาลปนเทา ใบหน้าสีขาวมีแถบสีดำคาดจากตาไปเป็นแถบตลอดแก้ม แลดูคล้ายเหมือนโจรสวมหน้ากาก

เป็นสัตว์ที่กระจายพันธุ์ไปทั่วในทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลางในหลายพื้นที่ ทั้งในป่า หรือแม้แต่ชุมชนของมนุษย์ เป็นสัตว์ที่สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี กินอาหารได้หลากหลายประเภททั้งเนื้อสัตว์และพืช อีกทั้งยังชอบที่จะอยู่ใกล้พื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการจับสัตว์น้ำกินเป็นอาหาร เช่น กบ, ปลา, กุ้ง และปู หรือเต่าขนาดเล็กเป็นอาหาร รวมทั้งนกหรือแมลงปีกแข็งขนาดเล็กกินเป็นอาหารได้ด้วย แต่ไม่สามารถที่จะว่ายน้ำได้ จะใช้วิธีการจับในน้ำตื้น ๆ ที่ขาหยั่งถึงแทน ในช่วงฤดูแล้งที่อาหารขนาดแคลนก็จะกินลูกไม้, ผลไม้ และดอกข้าวโพด เป็นอาหาร หรืออาจจะบุกเข้าไปในบ้านเรือนของมนุษย์ ขุดคุ้ยหาขยะหรือเศษอาหาร หรือแม้กระทั่งเปิดตู้เย็นหากิน

แร็กคูน เป็นสัตว์ที่ใช้เท้าหน้าได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนมือสำหรับหยิบจับอาหาร ซึ่งสามารถกระทำได้ถึงขนาดคลายปมเชือก และยังเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมพิเศษ คือ ก่อนจะกินอาหาร มักจะนำไปล้างน้ำเสียก่อน จนมีความเชื่อว่าเป็นสัตว์รักสะอาด แต่ความจริงแล้ว เป็นพฤติกรรมที่จะนวดอาหารให้นิ่มซะก่อน ก่อนที่จะกิน

แร็กคูน เป็นสัตว์ที่ปีนต้นไม้เก่ง ทำรังอยู่บนยอดไม้และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนต้นไม้ ในเวลากลางวันจะนอนขดอยู่ตามพงไม้ หรือซอกหิน หรือนอนผึ่งแดดอยู่ในรัง ในตอนกลางคืนจะออกหากิน โดยใช้เส้นทางเดิม และมักจะใช้เส้นทางที่เป็นพื้นแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดรอยเท้า

ตัวเมียออกลูกครั้งละ 4-6 ตัว ในโพรงไม้ ในช่วงฤดูหนาวที่หิมะตกและอาหารขาดแคลน แร็กคูนจะใช้เวลาช่วงนี้ในการจำศีลตลอดฤดูกาล

แร็กคูน เป็นสัตว์ที่มีความน่ารัก จึงมีผู้นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง อีกทั้งขนและหนังมีความหนานุ่มและสีสวย จึงมีการล่าเพื่อทำเป็นเสื้อขนสัตว์ด้วย[3]

ปัจจุบันกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทวีปยุโรป โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปกลาง โดยแร็กคูนถูกนำเข้าไปในเยอรมนีครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1930 ปัจจุบันมีปริมาณแร็กคูนในยุโรปมากกว่า 10,000 ตัว และหลายตัวก็อยู่ใกล้กับชุมชนเมือง[4]

ชื่อในภาษาอื่น

แก้

คำว่า "แร็กคูน" ในภาษาไทยนั้น เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษอเมริกัน ซึ่งเดิมทีมาจากภาษาพาวแฮแทนของชาวพื้นเมืองอเมริกัน อันมีความหมายว่า "ผู้ที่ถูไถด้วยมือ" อย่างไรก็ตาม ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของแร็กคูน (จากภาษาละตินและภาษากรีก) คือ Procyon lotor แปลว่า "ตัวก่อนหมาล้างน้ำ" แต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์เก่านั้นคือ Ursus lotor อันมีความหมายว่า "หมีล้างน้ำ" โดย Ursus แปลว่า "หมี" และ lotor "ล้างน้ำ" ดั่งนั้น ภาษาอื่น ๆ มักใช้คำที่เกี่ยวกับสัตว์ที่ล้างน้ำ เช่นหลายภาษาใช้คำที่คล้าย "หมีล้างน้ำ" ได้แก่ ภาษาเยอรมัน Waschbär, ภาษาดัตช์ wasbeer, ภาษาอิตาลี orsetto lavatore, ภาษากาตาลา ós rentador, ภาษาฮังการี mosómedve, ภาษาจีนกลาง ฮวั่น-ฉง(浣熊) และภาษาญี่ปุ่น อะระอิกุมะ (アライグマ) เป็นต้น แต่ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาโปรตุเกส (ในประเทศโปรตุเกส)ใช้คำว่า "หนู" แทน "หมี" ได้แก่ raton laveur และ ratão-lavadeiro "หนูล้างน้ำ"

นอกจากนี้ ยังมีภาษาอื่นใช้คำที่ไม่มีคำว่า "ล้างน้ำ" แต่มีคำว่า "หมี" เช่น ในภาษาเวียดนาม คือ เคิ้ว-แหม่ว-หมี (gấu mèo Mỹ) อันแปลว่า "หมีแมวอเมริกัน" หรือ "หมีแพนด้าอเมริกัน" ("หมีแมว" หมายถึง "หมีแพนด้า")

อ้างอิง

แก้
  1. "Fossilworks: Procyon lotor". fossilworks.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-09-22. สืบค้นเมื่อ 2022-08-15.
  2. Timm, R.; Cuarón, A.D.; Reid, F.; Helgen, K. & González-Maya, J.F. (2016). "Procyon lotor". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T41686A45216638. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-1.RLTS.T41686A45216638.en. สืบค้นเมื่อ 19 February 2022.
  3. หน้า 131-132, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)
  4. นักรบในเมืองใหญ่, ส่องไพร: สารคดีทางช่องนาว. July 19, 2016

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Procyon lotor ที่วิกิสปีชีส์