พื้นที่ชุ่มน้ำ
พื้นที่ชุ่มน้ำ (อังกฤษ: wetland) หมายถึงลักษณะทางภูมิประเทศที่มีรูปแบบเป็น พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ลุ่มชื้นแฉะ พื้นที่ฉ่ำน้ำ มีน้ำท่วม มีน้ำขัง พื้นที่พรุ พื้นที่แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่ของทะเล ในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร[1]
คุณประโยชน์
แก้คุณประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ การเป็นแหล่งน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำฝนและน้ำท่า เป็นแหล่งทรัพยากรและผลผลิตธรรมชาติ ที่มนุษย์สามารถเข้าไปเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ได้ และมีความสำคัญต่อการคมนาคมในท้องถิ่น รวมถึงการเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์พืชและสัตว์ อันมีความสำคัญทางนิเวศวิทยา และการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งของผู้ผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้บางแห่งยังมีความสำคัญด้านนันทนาการและการท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และเป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางธรรมชาติวิทยา อีกด้วย
หน้าที่
แก้โดยการอุ้มซับพลังอันรุนแรงของลมและคลื่น พื้นที่ชุ่มน้ำคือตัวปกป้องแผ่นดินที่เชื่อมต่อจากพายุ น้ำท่วมและความเสียหายจากการกระแทกของคลื่น ต้นไม้ในพื้นที่ชุ่มน้ำช่วยกรองมลพิษและสิ่งสกปรกที่มากับน้ำ ที่ลุ่มชื้นแฉะน้ำจืดส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ราบน้ำท่วมของแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ระหว่างบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นการแพร่กระจาย (invasion) การปรับตัว (modification) และการทดแทน (succession) ของพืชพรรณในพื้นที่ กระบวนการแพร่กระจายและการทดแทนได้แก่การเจริญงอกงามของหญ้าทะเล พืชเหล่านี้ช่วยดักตะกอนและเพิ่มอัตราการตกตะกอน ตะกอนที่ถูกจับไว้จะเพิ่มกลายเป็นที่เลนราบ สิ่งมีชีวิตในเลนเริ่มตั้งตัวและกระตุ้นให้เกิดสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นมากขึ้นทำให้องค์ประกอบอินทรย์ของดิน
ป่าแสม โกงกางขึ้นงอกงามบนพื้นที่น้ำตื้นที่มีความลาดเลยไปจากที่เลนราบ เป็นผลให้ความรุนแรงของกระแสน้ำขึ้นลงลดลง พวกต้นไม้เหล่านี้ทำให้การตะกอนตกมากขึ้นทำให้การเกิดที่ลุ่มชื้นแฉะน้ำเค็มขึ้น ความเค็มตามธรรมชาติของดินจำกัดให้มีเฉพาะพืชพรรณทนเค็มเท่านั้นที่ขึ้นทดแทนได้ เช่น หญ้าชายเลน หญ้าทรงกระเทียม ฯลฯ ในระหว่างการทดแทนกันแต่ละครั้งก็ยังมีการเปลี่ยนความหลากหลายในชนิดพืชและสัตว์ของการเกิดทดแทนแต่ละครั้งด้วย
ในที่ลุ่มชื้นแฉะที่เป็นน้ำเค็มมีความหลากหลายในชนิดพืชพรรณค่อนข้างมาก วัฏจักรทางอาหารและที่อยู่สำหรับสิ่งมีชีวิตที่ต้องการวิถีชีวิตเฉพาะ (niche specialisation) มาก ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำประเภทนี้กลายเป็นระบบนิเวศที่ให้ผลิตผลสูงที่สุดในพื้นที่ประเภทอื่นใดบนโลก
ประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำ
แก้พื้นที่ชุ่มน้ำ มีความหมายครอบคลุมถึงแหล่งน้ำเกือบทุกประเภท ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ กระพัง (ตระพัง) บาราย แม่น้ำ ลำธาร แคว ละหาน ชายคลอง ฝั่งน้ำ สบน้ำ สระ ทะเลสาบ แอ่ง ลุ่ม กุด ทุ่ง กว๊าน มาบ บุ่ง ทาม พรุ สนุ่น แก่ง น้ำตก หาดหิน หาดกรวด หาดทราย หาดโคลน หาดเลน ชายทะเล ชายฝั่งทะเล พืดหินปะการัง แหล่งหญ้าทะเล แหล่งสาหร่ายทะเล คุ้ง อ่าว ดินดอนสามเหลี่ยม ช่องแคบ ชะวากทะเล ตะกาด หนองน้ำ กร่อย ป่าพรุ ป่าเลน ป่าชายเลน ป่าโกงกาง ป่าจาก ป่าแสม รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ บ่อปลา อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น โดยมีประเภทหลักที่สำคัญ คือ
- พรุ (bog) หรือ มัสเคก (พรุเขตหนาว) คือดินพิตที่เป็นกรด (พรุพิต – peat bog)
- ทุ่งมัวร์ (moor) ในขั้นแรกมีลักษณะเหมือนพรุแต่ต่อมาได้รวมตัวกับดินบนยอดเนิน
- มอสส์ (แหล่งที่อยู่) ได้แก่พรุที่ยกตัวสูงขึ้นในสก็อตแลนด์
- พรุดินด่าง (fen) คือดินพรุน้ำจืดที่มีคุณสมบัติทางเคมีของน้ำใต้ดินเป็นด่าง ซึ่งหมายความว่ามีสัดส่วนของประจุไฮดร็อกซีล ปานกลางถึงสูง (มีค่า pH มากกว่า 7)
- ที่ลุ่มชื้นแฉะ (marsh) อาจเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำจืดหรือน้ำเค็มก็ได้ ลักษณะสำคัญของมันก็คือความเปิดโล่งที่มีพืชพรรณประเภทเตี้ยขึ้นอยู่
- ที่ลุ่มชื้นแฉะชายฝั่ง (น้ำเค็ม) อาจอยู่คู่กับชะวากทะเลและอยู่ยาวตามทางน้ำระหว่างเกาะขวางชายฝั่งและชายฝั่งด้านใน พืชพรรณอาจเริ่มจากต้นกกที่ขึ้นในน้ำกร่อยไปจนถึงต้นซาลิโคเนีย ที่ขึ้นบนดินเลนเค็ม พื้นที่ประเภทนี้ยังอาจปรับใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือนาเกลือ
- ที่ลุ่มชื้นแฉะน้ำจืดอาจประกอบด้วย หญ้า กก หญ้าทรงกระเทียมและไม้ล้มลุกอื่น ๆ (อาจมีไม้พุ่มเตี้ย) ที่อยู่ได้กับน้ำตื้น ถือเป็นพรุที่มีรูปแบบเปิดโล่ง
- คารร์ (carr) คือพรุดินด่างอีกชนิดหนึ่งที่ได้พัฒนามาถึงจุดที่สามารถรองรับต้นไม้ได้ คารร์เป็นชื่อเรียกกันยุโรปตอนเหนือ
- ที่ลุ่มน้ำขัง หรือ มาบ (swamp) คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีต้นไม้ขึ้นมากกว่าหญ้าและวัชพืชเตี้ย เป็นชื่อที่เรียกในเขตร้อนและอเมริกาเหนือ ดินและน้ำอาจมีความเป็นกรด โดยมาบที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยคือ มาบตาพุด มาบพระจันทร์ มาบอำมฤต และมาบกะเบา
- ป่าชายเลน (mangrove forest) คือพื้นที่ที่สภาพที่ลุ่มน้ำเค็มหรือน้ำกร่อยที่มีต้นไม้ชายเลนขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ เช่น ต้นโกงกาง แสม ลำพู ชะคราม เช่น ป่าชายเลนอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ป่าชายเลนศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
- บึงบายู (bayou) หรือ (slough) เป็นชื่อที่เรียกร่องหรือทางน้ำที่ไหลผ่านมาบ หรือบึง บางครั้งก็เรียก”ร่องน้ำขึ้น-ลง” (creek)
- พื้นที่ชุ่มน้ำมนุษย์สร้าง สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่ทำขึ้นเพื่อจงใจให้เป็นที่สำหรับรองรับน้ำท่วมฉับพลัน เพื่อทำให้น้ำโสโครกสะอาดขึ้น ส่งเสริมให้เกิดที่พักพิงและที่อยู่อาศัยของสัตว์ และอาจเพื่อประโยชน์ด้านการหย่อนใจ อาจเรียกว่าแก้มลิงก็ได้
- หนองน้ำในที่ดอน (pocosin) คือพื้นที่ชุ่มน้ำที่คล้ายพรุการมีไม้พุ่มและต้นไม้ทนไฟขึ้นเป็นส่วนใหญ่ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง (intertidal) ที่พบตามชายฝั่งทะเลจะต้องมีอุณหภูมิไม่สุดโต่ง คลื่นไม่รุนแรงจัดมาก มีความเค็มไม่สูงและการนำพาของตะกอนเบาบาง รวมทั้งอยู่ในตำแหน่งที่เข้าลักษณะระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของชะวากทะเล (estuarine environment)
พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย
แก้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจและพบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำประกอบด้วยป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทะเลสาบและแม่น้ำกระจายอยู่ทั่ประเทศรวมเนื้อที่ได้ 21.36 ล้านไร่ เท่ากับร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศโดยแบ่งกลุ่มตามลำดับความสำคัญตามอนุสัญญาแรมซาร์ได้ดังนี้
- พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับระหว่างประเทศที่ขึ้นทะเบียนแรมซาร์ 10 แห่ง
- พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ 61 แห่ง
- พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ 48 แห่ง
- พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น 19,295 แห่ง
- พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีสมควรได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟู 28 แห่ง
การปรับตัวให้เข้ากับความเครียดทางธรรมชาติ
แก้พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงถือเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่รับความเครียดทางธรรมชาติ (natural stress) นี้เกิดจากความเค็มและการขึ้นลงของน้ำทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงนี้จึงต้องทนและสามารถอยู่รอดจากสภาพที่รุนแรงมากสุดจากคลื่นน้ำเค็มที่ขึ้นสูงสุดและความจืดของน้ำจืดเมื่อเวลาน้ำลง และในช่วงน้ำเอ่อที่เป็นน้ำกร่อยซึ่งขึ้นลงเป็นประจำในเวลาต่าง ๆ ต้นโกงกางสีเทาจัดการกับปัญหาน้โดยไล่เกลือออกทางตุ่มตามระบบรากที่ลอย มีกักตุ่มเกลือในใบและมีใบเคลือบมันที่ลดการสูญเสียน้ำ แต่ถึงกระนั้นต้นโกงกางเหล่านี้ก็ยังอ่อนแอต่อการเปลี่ยนระดับความจืดหรือเค็มที่ผิดปกติ
การเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงของน้ำทะเลจากการไหลตามผิวบนที่เพิ่มขึ้น หรือระบบการระบายน้ำที่เปลี่ยนไปทำให้น้ำท่วมรากไม้แสมโกงกางมากขึ้นนานกว่าปกติ ย่อมมีผลต่อรากหายใจที่โผล่จากผิวดินพ้นน้ำที่ระดับปกติ นอกจากนี้คุณภาพน้ำที่เปลี่ยนไปยังอาจทำให้เกินขีดความสามารถที่จะรอดชีวิตของต้นไม้เหล่านี้ได้
สิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่นหอย และหอยกาบ เป็นตัวช่วยบ่งชี้ความสมบูรณ์หรือการเสื่อมถอยของระบบนิเวศที่กำลังอยู่ในสภาวะเครียดได้ การลดปริมาณธาตุอาหารในระบบนิเวศมีผลให้การผลิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ลดลง การเปลี่ยนแปลงย่อมเกดขึ้น พื้นที่ชุ่มน้ำส่วนใหญ่จะถูกเติมน้ำหรือระบายให้แห้ง เพื่อการใช้ประโยชน์หลาย ๆ อย่างของมนุษย์ ตั้งแต่เกษตรกรรมไปถึงที่จอดรถ สาเหตุคือความไม่รู้ กล่าวคือยังไม่รู้คุณค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่ชุ่มน้ำ ตัวอย่างเช่น กุ้งและปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่จับขายได้ในน้ำลึกเกิดจากการขยายพันธุ์และอนุบาลเติบโตในช่วงแรกในพื้นที่ชุ่มน้ำ
มนุษย์สามารถเพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงให้สมบูรณ์และได้ประโยชน์สูงสุดด้วยการลดสาเหตุที่ทำให้เกิดกระทบให้เหลือน้อยที่สุด คิดค้นยุทธวิธีการจัดการที่จะช่วยปกป้อง และหากเป็นไปได้ควรทำการฟื้นฟูระบบนิเวศส่วนที่เสียหายหรือที่เสี่ยงต่อการเสียหาย
การปกป้องหรือฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณน้ำขึ้นน้ำลง
แก้ในช่วงที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ มนุษย์ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างมากเพื่อระบายน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อพัฒนาเพื่อการต่าง ๆ หรือ เติมหรือกั้นฝายยกระดับน้ำให้สูงเพื่อกิจกรรมทางนันาการ นับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ได้เกิดความพยายามในรูปใหม่เพื่อการสงวนรักษาหน้าที่ใช้สอยที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ ซึ่งบางครั้งต้องใช้งบประมาณสูงมาก ตัวอย่างได้แก่ความพยายามของหน่วยงานทหารช่างสหรัฐฯ ในการเอาชนะธรรมชาติด้วยการควบคุมการท่วมของน้ำแล้วใช้พื้นที่เพื่อการพัฒนา ซึ่งโครงการนี้ก็ยังคงอยู่แต่ปัจจุบันกลับเป็นการฟื้นฟูและปกป้องในพื้นที่ชุ่มน้ำกลับเข้าสู่สภาพปกติที่เป็นแหล่งพักพิง ขยายพันธุ์และอนุบาลสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการควบคุมน้ำท่วมซึ่งได้แก่:
- การแยกออกหรือกันออก หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมักจัดให้มีทางเข้าและทางสัญจรให้ไปถึงเฉพาะบริเวณที่กำหนดไว้ ในขณะเดียวกันก็ออกข้อจำกัดไม่ให้คนเข้าถึงพื้นที่อื่นที่เปราะบาง การออกแบบจัดวางทางเดินไม้สะพานไม้ (boardwalks) หรือทางเดินเฉพาะบนดิน ซึ่งนับเป็นยุทธวิธีการจัดการสงวนรักษาพื้นที่เปราะบางทางนิเวศเอาไว้ รวมทั้งการออกใบอนุญาตที่มีการจำกัดจำนวน
- การศึกษา ในอดีต พื้นที่ชุ่มน้ำถูกมองว่าเป็นที่ดินที่เปล่าไร้ประโยชน์ การรณรงค์ด้านการศึกษาได้ช่วยให้ความเข้าใจและปรับเปลี่ยนแนวความคิดของสาธารณชนไปในทางดีและถูกต้องขึ้น ทำให้สาธารณชนหันมาสนับสนุนพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่กระจายในพื้นที่รับน้ำ จึงต้องจัดให้มีไกด์คอยให้คำอธิบายสำหรับประชาชนทั่วไป มีการไปบรรยายให้ความรู้ตามโรงเรียน ทำการติดต่อประสานงานกับสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ
อนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำของโลก
แก้สืบเนื่องจากความห่วงใยจากการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นในอัตราสูงที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบอุทกวิทยาโดยรวมของโลก รวมทั้งการเริ่มเข้าใจในคุณค่าเชิงนิเวศวิทยาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในอนาคต ประเทศต่าง ๆ จึงร่วมกันจัดประชุมหาหนทางร่วมกันเพื่อปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำในระดับนานาชาติขึ้น
การชุมนุมทางวิชาการว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอิหร่านเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ที่เมืองแรมซาร์ (Ramsar) โดยมีผู้แทนเป็นทางการของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ มาชุมนุมหารือหาแนวปฏิบัติให้แต่ละชาตินำไปปฏิบัติและหาทางร่วมมือกันช่วยอนุรักษ์ ยับยั้บการสูญเสียและเพื่อใช้ทรัพยากรพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาดมากขึ้น เรียกว่าอนุสัญญาแรมซาร์ จะมีผลใช้บังต่เมื่อมีประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามตั้ง 7 ประเทศขึ้นไป ซึ่งครบ 7 ประเทศและมีผลใช้บังคับเมื่อ พ.ศ. 2518
ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมชุมนุม 153 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย มีการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ (Ramsar sites) ที่มีความสำคัญต่อโลกครั้งนั้น 1634 แห่ง รวมเป็นเนื้อที่ได้ 145.6 แฮกตาร์ หรือ 910 ล้านไร่
ได้มีการประกาศภารกิจของการชุมนุมครั้งนั้นไว้ว่า: "ภารกิจของการชุมนุมวิชาการนี้ได้แก่การอนุรักษ์และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมดอย่างชาญฉลาดผ่านหน่วยงานระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับระดับชาติ และที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ โดยให้มีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแบบอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นทั่วโลก"
ประเทศไทยและการเข้าร่วมในอนุสัญญาแรมซาร์
แก้ประเทศไทยได้ตกลงเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์และปฏิบัติตามพันธกรณีเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2541 เป็นลำดับที่ 110 โดยเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งจะได้ใช้ชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Ramsar Site" ได้ และถือได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่จัดไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (List of Wetland of International Impotance)
ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) 15 แห่งได้แก่[2]
- พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสี้ยนเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดสงขลา-พัทลุง ลำดับที่ 948 ประกาศเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เนื้อที่ 281,625 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 07º50’N 100º08’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย ลำดับที่ 1098 ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เนื้อที่ 8,062 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 17°59’N 103°59’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม ลำดับที่ 1099 ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 เนื้อที่ 15,056.25 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 13°21’N 099°59’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ลำดับที่ 1100 ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เนื้อที่ 133,118 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 07°58’N 098°55’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย ลำดับที่ 1101 ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เนื้อที่ 39,000 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 20°14’N 100°02’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส ลำดับที่ 1102 ประกาศเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 เนื้อที่ 15,056.25 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 06°12’N 101°57’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำหาดเจ้าไหม (144,330 ไร่)-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (279,687 ไร่)-ปากแม่น้ำตรัง (100,000 ไร่) จังหวัดตรัง ลำดับที่ 1182 ประกาศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545 เนื้อที่รวมทั้งสิ้น 524,017 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 07°22’N 099°24’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ ลำดับที่ 1183 จังหวัดระนอง ประกาศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เนื้อที่ 120,675ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 09°36’N 098°39’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลำดับที่ 1184 ประกาศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545 เนื้อที่ 15,056.25 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 09°37’N 099°41’E
- พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา ลำดับที่ 1185 ประกาศเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2545 เนื้อที่ 40,250 ไร่ ตำแหน่งที่ตั้ง 08°17’N 098°36’E
- อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ลำดับที่ 2238 (14 มกราคม 2551) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่เชิงเขาของเทือกเขาสามร้อยยอด
- กุดทิง ลำดับที่ 1926 (19 มิถุนายน 2552) จังหวัดบึงกาฬ
- เกาะกระ ลำดับที่ 2152 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัดนครศรีธรรมราช
- หมู่เกาะระ - เกาะพระทอง ลำดับที่ 2153 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัดพังงา
- แม่น้ำสงครามตอนล่าง ลำดับที่ 2420 (15 พฤษภาคม 1562) จังหวัดนครพนม
อ้างอิง
แก้- ↑ พื้นที่ชุ่มน้ำตามนิยามของอนุสัญญาแรมซาร์[ลิงก์เสีย] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ↑ "ชวนไปรู้จัก 15 พื้นที่ชุ่มน้ำไทยขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์". mgronline.com. 2022-02-02.
- มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2543 เรื่องทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทยและมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เอกสารเผยแพร่ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2546
- The Ramsar Convention on Wetlands,list of Wetlands of International Importance, 21 December 2006
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย[ลิงก์เสีย] สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม