ทะเลน้อย หรือ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นทะเลสาบน้ำจืดมีเนื้อที่ผืนน้ำ ประมาณ 17,500 ไร่ มีความกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร ตั้งอยู่ตำบลนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลาโดยคลองนางเรียมที่มีความยาว 2 กิโลเมตร ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชุมชนราว 2,000 ครัวเรือน ทางฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ ฝั่งใต้ เป็นป่าพรุและพงหญ้า

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย
อุทยานนกน้ำทะเลน้อย
ทะเลน้อย
แผนที่ที่ตั้งทะเลน้อย
ที่ตั้งจังหวัดพัทลุง
เมืองใกล้สุดเทศบาลเมืองพัทลุง
พิกัด7°46′00″N 100°09′11″E / 7.76667°N 100.15306°E / 7.76667; 100.15306
พื้นที่460 ตารางกิโลเมตร (290,000 ไร่)
จัดตั้ง29 เมษายน พ.ศ. 2518 เข้าร่วมแรมซาร์ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
หน่วยราชการกรมป่าไม้
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนKuan Ki Sian of the Thale Noi Non-Hunting Area Wetlands
ขึ้นเมื่อ13 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
เลขอ้างอิง948[1]

ทะเลน้อยได้รับการประกาศเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ถือเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[2]

พื้นที่รอบทะเลน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 285,625 ไร่ เป็นบริเวณพรุควนขี้เสียน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ แรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) แห่งแรกของประเทศไทย และลำดับที่ 948 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาแรมซาร์[3] พื้นที่ชุ่มน้ำนี้ครอบคลุม 3 จังหวัดคือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช พื้นที่ริมทะเลสาบประกอบด้วย นาข้าว ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ทะเลน้อยมีพืชน้ำปกคลุมอาทิ ผักตบชวา กง กระจูดหนู บัวต่าง ๆ และพืชลอยน้ำ ความลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร

สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ เป็นนกน้ำ 287 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6 ชนิด มีนกที่ประจำถิ่นและนกอพยพมาจากที่อื่นตามฤดูกาล เช่น นกกาบบัว นกกุลา นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก นกเป็ดน้ำ นกกระทุง นกนางนวล นกกระเด็น นกกระสาแดง ฯลฯ โดยช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่นกชุกชุมมากที่สุด ราวแสนตัว ส่วนเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นหน้าบัวแดง และการล่องเรือชมควายน้ำ มักทำกันในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์[4]

อนึ่ง ประเทศไทยได้เสนอ "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย (พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย)" ต่อองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อขอรับรองให้เป็นระบบมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS) ภายใต้ชื่อ "Thale Noi Wetland Pastoral Buffalo Agro-ecosystem" (แปล: ระบบนิเวศ-เกษตรการเลี้ยงควายในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย)[5][6] ต่อมาในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองเป็นมรดกทางการเกษตรโลกแห่งแรกของประเทศ[7]

อ้างอิง

แก้
  1. "Kuan Ki Sian of the Thale Noi Non-Hunting Area Wetlands". Ramsar Sites Information Service. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
  2. ล่องเรือแลนก ทะเลน้อย พัทลุง
  3. ใจเซไป ‘ทะเลน้อย’
  4. "ทะเลน้อย … ลุ่มน้ำจืดไซส์มหึมา แห่งเมืองพัทลุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-04. สืบค้นเมื่อ 2018-12-07.
  5. กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าเตรียมความพร้อมรับคณะกรรมการ GIAHS เพื่อขอรับรองพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก
  6. ดัน “อุทยานนกน้ำทะเลน้อย’”ขึ้นมรดกทางการเกษตรโลก
  7. FAO ประกาศให้”ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย”เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย!!!