โจรกรรม

การเอาไปซึ่งทรัพย์มีค่าของผู้อื่น หรือพยายามกระทำการดังกล่าวโดยใช้กำลัง หรือขู่เข็ญให้
(เปลี่ยนทางจาก โจร)

โจรกรรม(อ่านว่า โจ-ระ-กำ) หมายถึง การกระทำที่นำเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเจตนา เพื่อยึดทรัพย์สินนั้นมาเป็นของตน ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินไม่ได้อนุญาตหรือยินยอม [1][2] โดยคำนี้สามารถใช้เรียกแทนอาชญากรรมบางประเภทที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินได้ อาทิเช่น การลักทรัพย์ (ขโมย) การลักทรัพย์ในเคหสถาน (ย่องเบา/ยกเค้า) การลักทรัพย์ในร้านค้า การยักยอก การชิงทรัพย์ (ปล้น) การฉกชิงทรัพย์ (ปล้นสะดม) และการฉ้อโกง [1][2] ในบางเขตอำนาจศาล "โจรกรรม" (theft) มีความหมายเหมือนกับ "การลักทรัพย์" (larceny) [2]

โจร หมายถึงผู้ที่กระทำโจรกรรมดังกล่าว ภาษาพูดอาจเรียกว่า ผู้ร้าย โบราณเรียก ฎางการ ก็มี [3][4]

ประเภทของโจร แก้

สมัยโบราณ แก้

กฎหมายเดิมมีพระอัยการลักษณะโจรอันเป็นกฎหมายหมวดหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงเป็นต้นซึ่งได้ยกเลิกไปแล้วนั้น จัดโจรออกเป็นสิบหกจำพวก ดังต่อไปนี้[4]

  1. โจรปล้น คือ บรรดาโจรที่สมรู้ร่วมคิดกันออกปล้นผู้อื่นไม่เว้นกลางวันกลางคืน วิธีการปล้นเป็นต้นว่าด้วยการยิงปืนโห่ร้องอื้ออึงไปให้เจ้าทรัพย์สะดุ้งกลัว แล้วค่อยเก็บกวาดเอาทรัพย์ทั้งปวง
  2. โจรย่องสะดม คือ โจรที่มีความรู้ทางวิชาอาคมสามารถใช้สะกดให้เจ้าทรัพย์หลับ แล้วค่อยเก็บกวาดเอาทรัพย์ทั้งปวง
  3. โจรภัย คือ โจรที่ทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวก่อนแล้วค่อยเก็บกวาดเอาทรัพย์ทั้งปวง
  4. โจรตีชิง คือ โจรที่คบค้าสมาคมกันไปตีชิงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไม่เว้นทั้งทางบกทางน้ำ
  5. โจรฉกฉวย คือ โจรที่มิได้ติดอาวุธไปคอยอยู่ตามถนนหนทางเปลี่ยนแล้วช่วงชิงเอาทรัพย์สินของผู้อื่น
  6. โจรซุ่มซ่อน คือ โจรที่คบค้าสมาคมกันไปคอยด้อม ๆ มอง ๆ ในสถานที่ใด ๆ มิให้เจ้าทรัพย์รู้เห็นแล้วจึงลักเอาทรัพย์ไป
  7. โจรล้วงลัก คือ โจรที่ลักล้วงเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไป
  8. โจรลักเลียม คือ โจรที่ไปลักทรัพย์สินของผู้อื่น พอดีเจ้าทรัพย์มาพบเข้าจึงแสร้งบอกไปว่ามายืมทรัพย์สินนั้น
  9. สาธารณโจร คือ โจรไปปล้นกับพวกโจรด้วยกัน แต่แค่ร่วมขบวนไปด้วยเท่านั้น มิได้ลงมือประการใด
  10. นิลัมภรโจร คือ โจรที่กระทำการไม่แนบเนียน กฎหมายพรรณนาว่า "มีพิรุธติดพันดุจมลทินนิลเมฆพันคล้ำดำติดอยู่"
  11. วิสาสคาหโจร คือ โจรลักทรัพย์สิ่งของของญาติพี่น้อง บิดา มารดา สามี ภริยา เขย สะใภ้ ฯลฯ ด้วยกันเอง
  12. สรรพโจร คือ โจรที่ลักมิได้เลือก
  13. ปัณฐทูสกโจร คือ โจรตีชิงเอาทรัพย์สิ่งของไม่ว่าทางน้ำทางบก
  14. ทามริกโจร คือ โจรที่เป็นเพื่อนกันพากันกระทำโจรกรรมเป็นอาชีพเลี้ยงตัว
  15. สารโจร คือ โจรที่ลักทรัพย์อันเป็นแก่นสาร เช่น ลักพระพุทธรูปแล้วลอกเอาทองพระนั้นไปขาย
  16. ดัสกรโจร คือ โจรที่คบค้าสมาคมกันไปปล้นราษฎรแล้วทำลายครัวเรือนตลอดจนทรัพย์สินบริเวณใกล้เคียงด้วยเป็นต้น

สมัยปัจจุบัน แก้

ประมวลกฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบันจัดโจรออกเป็นห้าจำพวก ดังต่อไปนี้[5]

  1. โจรลักทรัพย์ คือ ผู้บังอาจเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยการทุจริตและโดยเจ้าทรัพย์มิได้อนุญาตให้ การลักทรัพย์นั้นมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้[6]
    1. เป็นการบังอาจเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป
    2. ทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์อันเคลื่อนที่ได้
    3. การนั้นกระทำไปโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าทรัพย์
    4. การนั้นกระทำไปโดยเจตนาทุจริต
  2. โจรวิ่งราวทรัพย์ คือ ผู้ลักทรัพย์โดยใช้กิริยาฉกฉวยทรัพย์พาหนีไปซึ่งหน้า[7]
  3. โจรชิงทรัพย์ คือ ผู้ลักทรัพย์โดยใช้กิริยาทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำร้ายเพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้[8]
    1. เพื่อประโยชน์ที่จะตระเตรียมการหรือให้เป็นความสะดวกในการที่จะลักทรัพย์
    2. เพื่อที่จะเอาทรัพย์หรือให้ผู้ใดส่งทรัพย์ให้
    3. เพื่อที่จะเอาผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ลักทรัพย์
    4. เพื่อจะปกปิดการกระทำผิด
    5. เพื่อจะหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาสำหรับความผิดนั้น
    • การชิงทรัพย์มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    1. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว
    2. โดยใช้กำลังกระทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะกระทำร้าย
    3. เพื่อเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังข้างต้นนั้น
  4. โจรปล้นทรัพย์คือ โจรตั้งแต่สามคนขึ้นไปมีศาสตราวุธจะกี่คนก็ตามในจำนวนนั้น ได้ไปลงมือกระทำการชืงทรัพย์[9]
  5. โจรสลัด คือ โจรที่ประพฤติปล้นสะดมข่มเหงคนเดินทางนอกเขตความปกครองของประเทศใด ๆ โดยมากเป็นกลางทะเลหลวง ปัจจุบันมีกลางอากาศด้วย และโจรประเภทนี้มักมิได้อยู่ในอำนาจหรือรับคำสั่งของรัฐบาลอันมั่นคงแห่งเมืองใดเมืองหนึ่ง[10]

โจรในประวัติศาสตร์ แก้

โจรที่มีชื่อเสียงสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยได้แก่

  • โจรอีสาน - กบฏผีบุญ ตัวอย่างเช่น กบฏข่า เมืองเชียงขวาง พ.ศ. 2417 ซึ่งข่าแจะเจืองอ้างตัวเป็นท้าวธรรมิกราชและกองทัพสยามปราบได้ ต่อมาใน พ.ศ. 2442 สยามประกาศให้คนไทยและคนลาวในมณฑลอีสานถือสัญชาติไทย ทำให้คนลาวจำนวนหนึ่งต่อต้านโดยอ้างตัวว่าเป็นท้าวธรรมิกราชผู้มีบุญมาปราบสยาม ซ่องสุมผู้คนต่อต้านกรุงเทพฯ ผีบุญที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มีองค์ผ้าขาว องค์มั่น นายเข็มองค์เหล็ก องค์ลิ้นก่า องค์พรหมา องค์เขียว และกำนันสุ้ยบ้านสร้างมั่ง พระครูอินทร์วัดบ้านหนองอีตุ้ม และหลวงประชุมเมืองอำนาจเจริญ สุดท้ายผีบุญเหล่านี้ถูกร้อยเอกหลวงชิดสรการปราบปรามสำเร็จ[11]
  • โจรใต้ ในท้องถิ่นภาคใต้ถือว่าการปล้นสะดมเป็นอาชีพหนึ่ง ทำให้ทางปักษ์ใต้มีปัญหาโจรปล้นสะดมทั้งโจรทางบกและโจรสลัด เช่น ตนกูหมัดสะอาดและตนกูอับดุลลาห์ หัวหน้าโจรสลัดของแหลมมลายูเข้าปล้นสะดมเมืองตรังในช่วง พ.ศ. 2354 - 2381 [11]
  • โจรเมืองสุพรรณ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สุพรรณบุรีมีโจรผู้ร้ายชุกชุมมากเพราะเมืองสุพรรณยังมีลักษณะเป็นหัวเมืองป่าดงที่รกร้างไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา การคมนาคมลำบาก เมื่อราว พ.ศ. 2460 มีการเปิดบริษัทเดินเรือไปสุพรรณบุรี บ้านเมืองเจริญขึ้น โจรผู้ร้ายลดน้อยลงบ้าง จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดชุมโจรขึ้นในสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก เช่น ชุมเสือฝ้าย เสือดำ เสือใบ เสือมเหศวร เสือแบน เสือหนาม เสือแฉ่ง หลังจากสงครามโลกสงบลงไม่กี่ปี ทางกองปราบฯได้ส่งตำรวจเข้าปราบปรามอย่างจริงจัง ชุมโจรในสุพรรณบุรีจึงหมดไปในที่สุด[12]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Theft". Merriam-Webster. สืบค้นเมื่อ October 12, 2011.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 9 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-search-all-x.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 20 กันยายน 2551).
  3. 4.0 4.1 ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 122.
  4. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 95.
  5. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 301.
  6. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 309.
  7. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 105-107.
  8. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 206.
  9. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549). พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 117.
  10. 11.0 11.1 กองบรรณาธิการ. บุกถ้ำเสือเปิดตำนานโจรไทย. ศิลปวัฒนธรรม. พฤษภาคม 2540. ปีที่ 18 (7) หน้า 83-89
  11. มนัส โอภากุล. สุพรรณเป็นเมืองโจร เมืองคนดุจริงหรือ. ศิลปวัฒนธรรม.พฤษภาคม 2540. ปีที่ 18 (7) หน้า 90-99