อาณาจักรปตานี
อาณาจักรปตานี หรือเอกสารไทยเรียก ราชอาณาจักรปัตตานี (มลายู: كسلطانن ڤطاني; Kerajaan Patani) หรือ รัฐสุลต่านปตานีดารุสซาลาม (كسلطانن ڤطاني دارالسلام; Kesultanan Patani Darussalam) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาบางส่วนในปัจจุบัน อาณาจักรปัตตานีถือกำเนิดขึ้นจากการเป็นเผ่าเล็ก ๆ รวมตัวกัน มีประชากรอาศัย 200-250 คน มีชื่อว่า ปีสัง โดยแต่ละปีจะมีตูวอลา (หัวหน้าเผ่าในสมัยนั้น) มาปกครอง และจะสลับทุก ๆ 1 ปี ต่อมามีชนกลุ่มใหญ่เข้ามามีบทบาทในแถบนี้มากขึ้น จนในที่สุด ก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลังกาสุกะ และเปลี่ยนจากชื่อ ปีสัง มาเป็น บาลูกา ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 9 หลังจากนั้นราว 100 ปี ลูกชายกษัตริย์ลังกาสุกะได้เดินทางมาถึงที่นี้และรู้สึกประทับใจ เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ปตาอีนิง แล้วก่อตั้งเป็นรัฐใหม่ ชื่อ รัฐปตาอีนิง จนมีพ่อค้ามากมายเข้ามาติดต่อค้าขายทั้งจีน อาหรับ แต่ชาวอาหรับเรียกที่นี้ว่า ฟาตอนี เลยมีคนเรียกดินแดนแห่งนี้แตกต่างกันออกไป เดิมอาณาจักรปัตตานีนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ได้เริ่มเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยบางช่วงอาณาจักรแผ่ขยายครอบคลุมถึงรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู ตอนกลางของประเทศมาเลเซีย แต่หลังการสิ้นสุดราชวงศ์ศรีวังสา อาณาจักรปัตตานีก็เริ่มเสื่อมลง จนตกอยู่ในอำนาจของสยามในปี พ.ศ. 2329 และกลายเป็นเมืองขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2445 ก็ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม
ราชอาณาจักรปัตตานี ปตานีดารุสซาลาม | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2000–พ.ศ. 2445 | |||||||||||
ธงชาติ | |||||||||||
แผนที่ของอาณาจักรปตานี | |||||||||||
แบบจำลองแผนผังเมืองหลวงปตานี | |||||||||||
สถานะ | รัฐสุลต่าน | ||||||||||
เมืองหลวง | ปัตตานี | ||||||||||
ภาษาทั่วไป | ภาษามลายูปัตตานี | ||||||||||
การปกครอง | สมบูรณาญาสิทธิราชย์ | ||||||||||
สุลต่าน/รายา | |||||||||||
• พ.ศ. ??-2073 | รายาศรีวังสา (สุลต่านอิสมาอิล ชาห์) | ||||||||||
• พ.ศ. 2073-2106 | สุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ | ||||||||||
• พ.ศ. 2127-2159 | รายาฮีเยา | ||||||||||
• พ.ศ. 2159-2167 | รายาบีรู | ||||||||||
• พ.ศ. 2167-2178 | รายาอูงู | ||||||||||
• พ.ศ. 2178-2231 | รายากูนิง | ||||||||||
ประวัติศาสตร์ | |||||||||||
• สถาปนาอาณาจักร | พ.ศ. 2000 | ||||||||||
• เริ่มราชวงศ์กลันตัน | พ.ศ. 2231 | ||||||||||
• ภายใต้ปกครองของสยาม | พ.ศ. 2329 | ||||||||||
• รวมเข้ากับสยาม/ยกเลิกเจ้าเมืองปัตตานี | พ.ศ. 2445 | ||||||||||
| |||||||||||
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และบางส่วนของประเทศมาเลเซีย |
ประวัติศาสตร์
ราชวงศ์ศรีวังสา
เมืองปัตตานีพัฒนาขึ้นมาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมฝั่งทะเล เมื่อมีเรือสินค้ามาจอดแวะอยู่บ่อย ๆ เมืองก็ขยายตัวออกไป มีผู้คนมาอาศัยหนาแน่น รายาศรีวังสาจึงย้ายเมืองหลวงจาก "โกตามะห์ลิฆัย" เมืองหลวงเก่า[2]มายังปัตตานี สมัยนั้นการติดต่อกับต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียและคาบสมุทรอาหรับได้ส่งผลสำคัญคือการยอมรับนับถือศาสนาอิสลามโดยตามตำนานกล่าวว่าชาวปาไซทำการรักษาอาการป่วยของรายาอินทิราที่ไม่มีใครสามารถรักษาให้หายได้ พระองค์จึงยินยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม[3] และการดัดแปลงอักษรอาหรับเป็นอักษรยาวี นอกจากนี้ยังติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาอย่างใกล้ชิด ดังที่ปรากฏในปี พ.ศ. 2106 ว่ากองทัพปัตตานีได้เดินทางมาถึงอยุธยา และได้ก่อความวุ่นวายขึ้น[4] จากเหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์กับอยุธยาตกต่ำลง ขณะที่เหตุการณ์ภายในก็เต็มไปด้วยการแย่งชิงอำนาจในหมู่เครือญาติเรื่อยมา จนกระทั่งไม่มีผู้สืบทอดอำนาจหลงเหลือ บัลลังก์รายาจึงตกเป็นของสตรีในที่สุด
อาณาจักรปัตตานีในช่วงสมัยรายาฮีเยา (พ.ศ. 2127-2159) ถึงรายากูนิง (พ.ศ. 2178-2231) ซึ่งล้วนเป็นกษัตรีย์ ถือเป็นอาณาจักรของชาวมลายูที่มีความรุ่งเรืองมากที่สุด หลังจากมะละกาตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ทำให้ปัตตานีกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายและมีความรุ่งเรืองมาก ดังบันทึกของชาวต่างชาติว่า
“พลเมืองปัตตานีมีชายอายุ 16-60 ปี อยู่ถึง 150,000 คน เมืองปัตตานีมีผู้คนหนาแน่น เต็มไปด้วยบ้านเรือน บ้านเรือนราษฎรนับตั้งแต่ประตูราชวังถึงตัวเมืองปลูกสร้างเรียงรายไม่ขาดระยะ หากว่ามีแมวเดินบนหลังคาบ้านหลังแรกไปยังหลังสุดท้าย ก็เดินได้โดยไม่ต้องกระโดดลงบนพื้นดินเลย”
และ “ปัตตานีมีแคว้นต่างๆ อยู่ภายใต้การปกครองถึง 43 แคว้น รวมทั้งตรังกานู และกลันตันด้วย”[5]
ในสมัยรายาฮีเยา การติดต่อค้าขายกับต่างชาติเจริญรุ่งเรืองมาก มีเรือสินค้าเข้ามาเทียบท่าอย่างไม่ขาดสาย และเริ่มการค้ากับฮอลันดา สเปน และอังกฤษเป็นครั้งแรก[6] พระองค์ยังพระราชทานพระขนิษฐาอูงูแก่สุลต่านแคว้นปะหัง เพื่อคานอำนาจกับแคว้นยะโฮร์[7] ต่อมาในสมัยรายาบีรู ปัตตานีและกลันตันรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐปัตตานี และทรงพระราชทานพระธิดากูนิง ธิดาของพระขนิษฐาอูงูกับสุลต่านแคว้นปะหัง แก่ออกญาเดชา หรือออกญาศรีราชเดชไชยท้ายน้ำอะไภยพิรียปรากรมภาหุท้ายน้ำ เป็นเจ้ากรมอาสาหกฝ่ายซ้ายและเป็นบุตรเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
แต่หลังจากรายาบีรูสวรรคตในปี 2167 รายาอูงูซึ่งเสด็จกลับมาจากปะหังก็ตัดสัมพันธ์กับอยุธยา ทรงยุติการส่งบรรณาการแด่อยุธยา จึงเกิดข้อพิพาทครั้งใหญ่ในภูมิภาคคาบสมุทรมลายู ด้วยการที่พระองค์ทรงนำกำลังภายใต้บังคับบัญชาของพระองค์เองยกทัพตีเมืองพัทลุงและนครศรีธรรมราช พระนางยังให้พระธิดากูนิง ที่ครั้งหนึ่งในรัชสมัยรายาบีรูเคยหมั้นหมายกับออกญาเดชาไว้ถูกถอดถอน โดยการให้รายากูนิงอภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์แทน[8] และการปฏิบัติการทางทหารในครั้งนี้ของรายาอูงู ราชินีแห่งอาณาจักรปัตตานี สตรีผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในคาบสมุทรมลายู ได้แสดงแสนยานุภาพทางทหารของพระองค์ รวมกับกองกำลังผสมจากต่างชาติภายใต้บังคับบัญชาของ Christoph Carl Fernberger จึงทำให้การสงครามจบลงโดยการลงนามสนธิสัญญาสงบศึกเพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างปัตตานีกับอยุธยา พิธีการให้คำสัตยาบันในการลงนามข้อตกลงครั้งนี้ได้จัดขึ้นที่หมู่บ้านเปียนในเขตหัวเมืองจะนะ หรือ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลาในปัจจุบัน. ซึ่งรายละเอียดข้อตกลงในการลงนามสนธิสัญญาครั้งนี้มีด้วยกันห้าประการ ตัวอย่างบางข้อเช่น "ข้อที่สอง - กษัตริย์แห่งสยามจะทรงไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ ต่อราชอาณาจักรปัตตานีอีกต่อไป" โดยในข้อนี้จะเป็นการบ่งบอกถึงความเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจปกครองตนเองเป็นเอกเทศอย่างเป็นรูปธรรม และมีอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรปัตตานีที่ถูกต้องชัดเจน[9] ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองพยายามทรงส่งกองทัพเข้าโจมตีเมืองปัตตานีในปี พ.ศ. 2177 แต่ไม่อาจเอาชนะได้[10] เมื่อถึงปี พ.ศ. 2178 รายาอูงูเสด็จสวรรคต.
รัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. 2329 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยกทัพตีเมืองปัตตานีไว้ได้ ปัตตานีจึงเป็นประเทศราชของสยามตั้งแต่นั้นมา กองทัพสยามยึดเอาทรัพย์สมบัติและปืนใหญ่ที่หล่อในสมัยรายาบีรูไป 3 กระบอก แต่เหลือมาถึงกรุงเทพเพียง 1 กระบอก คือปืนใหญ่พญาตานี ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม[11] ความไม่พอใจต่อการปกครองของชาวสยาม ก่อให้เกิดกบฏครั้งใหญ่ 4 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2334 และ พ.ศ. 2351 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงแยกอาณาจักรปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง[12] และในปี พ.ศ. 2374 และ พ.ศ. 2381 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยให้ราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีต่อมา[4] กระทั่งปีพ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล การปกครองโดยราชวงศ์กลันตันจึงยุติลง และถือเป็นปีสิ้นสุดของอาณาจักรปัตตานี ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยสมบูรณ์ มณฑลปัตตานีก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2449 แต่ถึงปีพ.ศ. 2466 ชาวบ้านจำนวนมากก็ออกมาชุมนุมประท้วงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงออกพระบรมราโชบายสำหรับมณฑลปัตตานี เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 ไว้ 6 ข้อเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่และข้าราชการ[13] และนำไปสู่การยุบมณฑลปัตตานีเป็น 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จนถึงทุกวันนี้
แต่ถึงกระนั้นยังคงมีการชุมนุมประท้วงการปกครองจากรัฐบาลอยู่เสมอ เช่น พ.ศ. 2482 จอมพลแปลก พิบูลสงครามได้จัดตั้งสภาวัฒนธรรม บังคับให้ประชาชนสวมหมวก แต่งกายแบบไทย ทำตามวัฒนธรรมไทย ห้ามพูดภาษามลายู ฯลฯ รวมกับการกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐจนลุกลามไปเป็นกบฏดุซงญอในพ.ศ. 2491 มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน ตามมาด้วยการชุมนุมยืดเยื้อกว่า 45 วันของชาวจังหวัดปัตตานีนับแสนคนที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ในปีพ.ศ. 2518 หลังจากการวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน 5 ศพ นำไปสู่เหตุวุ่นวายที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 12 ราย[14] และการประท้วงของชาวบ้านกว่า 3 หมื่นคน ใน พ.ศ. 2528 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่งให้ประดิษฐานพระพุทธรูปในโรงเรียน และอีก 3 ปีต่อมาก็ออกคำสั่งห้ามคลุมศีรษะ (ฮิญาบ) เข้าสถานศึกษา หรือกรณีมัสยิดกรือเซะ ที่มีผู้เสียชีวิต 107 คน และเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอีกกว่า 84 คน ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีการยักยอกปืนของหลวงเพื่อใช้ก่อความไม่สงบ
ศาสนาอิสลามในปัตตานี
"ปตานีดารุสซาลาม" (فطانى د ارالسلام) มีความหมายว่า "ปตานี นครรัฐแห่งสันติภาพ" ได้เป็นนามเรียกขานภายหลังการเข้ารับอิสลามของสุลต่าน อิสมาอีล ชาห์ ซิลลุลลอฮฺ ฟิลอาลัม (ชื่อเดิมคือ พญาตูนักปาอินทิรามหาวังสา) ในราวปี ค.ศ.1457 [15]
ลำดับกษัตริย์และผู้ปกครองอาณาจักรปัตตานี
ลำดับ | รายพระนามผู้ปกครองปัตตานีแห่งราชวงศ์ศรีวังสา [19] | ครองราชย์ | ระยะเวลา |
---|---|---|---|
รัชกาลที่ 1 | สุลต่านอิสมาอิล ชาห์ | พ.ศ. 2043 - พ.ศ. 2073 | 30 ปี |
รัชกาลที่ 2 | สุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์ | พ.ศ. 2073 - พ.ศ. 2106 | 33 ปี |
รัชกาลที่ 3 | สุลต่านมันซูร์ ชาห์ | พ.ศ. 2106 - พ.ศ. 2115 | 9 ปี |
รัชกาลที่ 4 | สุลต่านปาเตะสยาม | พ.ศ. 2115 - พ.ศ. 2116 | 1 ปี |
รัชกาลที่ 5 | สุลต่านบะห์ดูร์ ชาห์ | พ.ศ. 2116 - พ.ศ. 2127 | 11 ปี |
รัชกาลที่ 6 | รายาฮีเยา | พ.ศ. 2127 - พ.ศ. 2159 | 32 ปี |
รัชกาลที่ 7 | รายาบีรู | พ.ศ. 2159 - พ.ศ. 2167 | 8 ปี |
รัชกาลที่ 8 | รายาอูงู | พ.ศ. 2167 - พ.ศ. 2178 | 11 ปี |
รัชกาลที่ 9 | รายากูนิง | พ.ศ. 2178 - พ.ศ. 2231 | 53 ปี |
- การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2184 ดินแดนมลายูขณะนั้นได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก ที่เป็นรูปแบบการต่อสู้แย่งชิงความเป็นใหญ่หรือเป็นผู้นำสมาพันธรัฐในคาบสมุทรมลายู โดยเหตุการณ์นี้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความวุ่นวายต่างๆและสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในบรรดารัฐการค้าแถบคาบสมุทรมลายูอย่างมหาศาล เนื่องจากความพยายามเข้าไปมีบทบาททางการเมืองของกลุ่มขั้วอำนาจเกิดใหม่ในการแข่งขันทางการค้าและด้านแสนยานุภาพทางการทหารครั้งนี้ อย่างเช่น. รัฐซิงโฆรา รัฐเคดาห์ เมืองพัทลุง เป็นต้น[20][21]
- เมื่อปี พ.ศ.2187 เกิดความโกลาหลภายในราชสำนักปัตตานี -เนื่องจากการแทรกแซงของรัฐอาเจะห์ โดยอาศัยช่องทางผ่านการอภิเษกสมรสครั้งใหม่ระหว่าง รายากูนิง กับ" ยังดีเปอร์ตวนมูดา รายาบาเจา(Yang Dipertuan Muda Raja Bajau) "มกุฏราชกุมารแห่งรัฐยะโฮร์ ซึ่งในเวลาต่อมากลับไปตกหลุมรักนางบำเรอที่ชื่อ" ดังซีรัต(Dang Sirat)"[22] จนหัวปักหัวปำถึงขั้นกล้าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย้ำจิตใจของชาวปัตตานีทั้งแผ่นดิน[23]
- เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2188 ขุนนางปัตตานีที่จงรักภักดีต่อพระราชินี หมดความอดทนกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมกุฎราชกุมารแห่งยะโฮร์และผู้ติดตามชาวอาเจะห์ จึงได้ลุกขึ้นต่อต้านพวกเขาจนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ชาวยะโฮร์และชาวอาเจะห์ ที่หมู่บ้านปาซีร์(Pasir)[24]
- เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2188 รายากูนิง ราชินีแห่งปัตตานีได้ส่งพระราชสาส์นถึงกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสิ่งที่บงชี้ว่า พระองค์ประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยแบบเดิม โดยสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง[25]
- ในปี พ.ศ.2203 เกิดข้อพิพาทระหว่าง อาณาจักรปัตตานี กับ รัฐซิงโฆรา สงครามนี้เกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในน่านน้ำคาบสมุทรมลายู จนเกิดสงครามยุทธนาวีย่อยๆอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นสงครามที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี และการสู้รบครั้งใหญ่เกิดขึ้นสามครั้ง ได้แก่ ในปี พ.ศ.2212 , พ.ศ.2214 และ พ.ศ.2217[26]
- ในส่วนความขัดแย้งทางการเมืองภายในปัตตานีขณะนั้น เกิดการก่อกบฏขึ้นภายในราชสำนักโดยกลุ่มคณะรัฐประหารภายใต้การนำของรายากาลี ที่ใช้กำลังทางทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของรายากูนิง แต่ความพยายามในการรัฐประหารครั้งนี้ประสบความล้มเหลว[27] นอกจากนี้ยังมีข้อมูลตามตำนานมุขปาฐะได้กล่าวกันว่า ในปี พ.ศ. 2192-พ.ศ. 2196 ความขัดแย้งในอาณาจักรปัตตานีเกิดจากการเข้ามามีอิทธิพลของรายาศักตีจากกลันตัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักอยุธยาในการโค่นล้มรายากูนิง โดยฉวยโอกาสก่อการกบฏในช่วงที่การเมืองภายในปัตตานีกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตจากการแทรกแซงของชาวอาเจะห์และอยุธยา[28]
- สิ้นสุดเชื้อสายราชวงศ์ศรีวังสา. ในช่วงบั้นปลายชีวิตของรายากูนิง ขณะที่พระองค์ทรงครองราชย์หลังจากผ่านพ้นวิกฤติเหล่านั้นได้ไม่นาน รายากูนิงเริ่มมีพระอาการประชวรสาหัสจนเสด็จสวรรคต โดยไม่มีโอรสหรือธิดาที่จะสืบราชสันตติวงศ์ และมิได้มีการสถาปนาตำแหน่งมกุฏราชกุมารเพื่อขึ้นครองราชย์เป็นประมุขแห่งรัฐสืบต่อจากพระองค์. รายากูนิงจึงเป็นประมุของค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรปัตตานีที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ศรีวังสา และมีการเฉลิมพระนามถวายแด่พระองค์ภายหลังเสด็จสวรรคตว่า" มัรฮูมเบอซาร์ " เนื่องจากพระองค์เคยอภิเษกสมรสกับ ยังดีเปอร์ตวนเบอซาร์ รายาบูจัง(Yang Dipertuan Besar Raja Bujang) ประมุขแห่งรัฐยะโฮร์. หลังจากนั้นเหล่าบรรดาเสนาบดีทั้งปวงมารวมตัวกันประชุมเพื่อหารือเรื่องในการแต่งตั้งประมุของค์ใหม่ จึงได้มีการอันเชิญผู้ที่มีเชื้อสายเจ้าเมืองจากกลันตัน ให้ขึ้นมาเป็นประมุขแห่งอาณาจักรปัตตานีสืบไป[29]
- ราชวงศ์กลันตันที่หนึ่ง.[30](ประมุขหุ่นเชิด)[31] ประมุขทุกพระองค์ในราชวงศ์กลันตันจะต้องผ่านการรับรองหรือได้รับการแต่งตั้งโดยเหล่าบรรดาเสนาบดีผู้ทรงอิทธิพลในปัตตานี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์.
ลำดับ | รายพระนามผู้ปกครองปัตตานีแห่งราชวงศ์กลันตัน [32] | ครองราชย์ | ระยะเวลา |
---|---|---|---|
รัชกาลที่ 1 | รายาบากาล | พ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2233 | 2 ปี |
รัชกาลที่ 2 | รายามัสกลันตัน | พ.ศ. 2233 - พ.ศ. 2247 | 14 ปี |
รัชกาลที่ 3 | รายามัสจายัม | พ.ศ. 2247 - พ.ศ. 2250 | 3 ปี
(ครั้งแรก) |
รัชกาลที่ 4 | รายาเดวี | พ.ศ. 2250 - พ.ศ. 2259 | 9 ปี |
รัชกาลที่ 5 | รายาบึนดังบาดัน | พ.ศ. 2259 - พ.ศ. 2263 | 4 ปี |
รัชกาลที่ 6 | รายาลักษมณาดาจัง | พ.ศ. 2263 - พ.ศ. 2264 | 1 ปี |
รัชกาลที่ 7 | รายามัสจายัม | พ.ศ. 2264 - พ.ศ. 2271 | 7 ปี
(ครั้งที่สอง) |
รัชกาลที่ 8 | รายาอาหลงยูนุส[33] | พ.ศ. 2271 - พ.ศ. 2272 | 1 ปี |
รัชกาลที่ 9 | สุลต่านมูฮัมหมัด ดูวา | พ.ศ. 2319 - พ.ศ. 2329 | 10 ปี |
ภายใต้การปกครองของสยาม
ลำดับ | นาม | ปีที่ปกครอง | |
---|---|---|---|
1 | พระยาตานี (รายาบังดังบันดัน หรือเติงกูลามีเด็น) | พ.ศ. 2328-2334 | ภายใต้การปกครองของสยาม |
2 | พระยาตานี (ดาโต๊ะปังกาลัน) | พ.ศ. 2334-2352 | |
3 | พระยาตานี (ขวัญซ้าย) | พ.ศ. 2352-2358 | |
4 | พระยาตานี (พ่าย) | พ.ศ. 2358-2359 | |
5 | พระยาตานี (ตวนสุหลง) | พ.ศ. 2359-2375 | |
6 | พระยาตานี (นิยูโซฟ) | พ.ศ. 2375-2381 | |
7 | พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (ตนกูปะสา) | พ.ศ. 2381-2399 | |
8 | พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (เต็งกูปูเตะ) | พ.ศ. 2399-2425 | |
9 | พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (เต็งกูตีมุง) | พ.ศ. 2425-2433 | |
10 | พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (เต็งกูสุไลมานซารีฟุดดีน) | พ.ศ. 2433-2442 | |
11 | พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาเขตประเทศราช (เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน) | พ.ศ. 2442-2445 |
อ้างอิง
- ↑ อารีฟีน บินจิและคณะ. ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู, 2550, หน้า 63
- ↑ "จากลังกาสุกะ มาเป็นเมืองปัตตานี (2)"[ลิงก์เสีย] อ้างอิงจาก หนังสือประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี โดย อนันต์ วัฒนานิกร
- ↑ "ราชาอินทิรา" เก็บถาวร 2013-03-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนหนังสือเรื่อง บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)
- ↑ 4.0 4.1 อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. เชียงใหม่:ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2549
- ↑ "การต่อสู้ของรัฐปัตตานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน " บันทึกของAlexander Hamilton เก็บถาวร 2009-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บทความประวัติเมืองปัตตานี-ปัตตานีนครแห่งสันติ
- ↑ "รายาฮิเยา" เก็บถาวร 2012-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ปัตตานี
- ↑ "ปัตตานีดารุสซาลาม | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "ปตานีดารุสซาลาม | OK NATION". www.oknation.net (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ เปิดบันทึก “แฟร์นแบร์เกอร์” ชาวออสเตรียผู้นำทัพปตานี รบชนะอยุธยา silpa-mag.com [1]
- ↑ "ความสัมพันธ์ ระหว่างสยามกับปัตตานี (แบบย่อ)"[ลิงก์เสีย]จากโอเคเนชั่น โดย จอมมาร 26[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ปัตตานีที่ถูกลืม"Sejarah Kerjaan Patani
- ↑ "ศึกษาขบวนการแบ่งแยกดินแดนและการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย”[ลิงก์เสีย] โดยอาจารย์ชิดชนก ราฮมมลา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- ↑ "พระบรมราโชบายเกี่ยวกับมณฑลปัตตานี 2466"[ลิงก์เสีย]พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ กับหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยดร.ชัชพล ไชยพร
- ↑ "บันทึกความทรงจำของการต่อสู้ที่ถูกลืม : การประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีปี 2518" บทความ ฟาตอนีออนไลน์
- ↑ "Muslim Separatism: The Moros of Southern Philippines and the Malays of Southern Thailand" Kadir Che Man (W.), Oxford University Press, 1990
- ↑ อิบรอฮิม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปะตานี. เชียงใหม่:ซิลค์เวอร์มบุ๊คส์, 2549
- ↑ "มลายู ดินแดนแห่งอารยธรรม"รายพระนามกษัตริย์,ราชินีและเจ้าเมืองที่ปกครองปาตานี
- ↑ "ประวัติการสร้างเมืองปัตตานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-22. สืบค้นเมื่อ 2010-02-01.
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.11 Internet Archive.
- ↑ Vol. 10, No. 3, International Trade and Politics in Southeast Asia 1500-1800 (Dec., 1969), pp. 429-452 JSTOR
- ↑ The Muslim Sultans of Singora in the 17th Century ,p.52
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.116 Internet Archive.
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.117 Internet Archive.
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.120 Internet Archive
- ↑ Vol. 10, No. 3, International Trade and Politics in Southeast Asia 1500-1800 (Dec., 1969), pp. 444 JSTOR
- ↑ Journal of the Siam Society, Vol. 109, Pt. 1, 2021 ,p.54
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.125 Internet Archive.
- ↑ The Hikayat Patani: The Kingdom of Patani i n the Malay and Thai Political World vol. 84, no. 2 (301), 2011, p.52 JSTOR
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.127 Internet Archive
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.128 Internet Archive.
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.21 Internet Archive.
- ↑ Hikayat Patani the Story of Patani By A. Teeuw, D. K. Wyatt ,p.22 Internet Archive
- ↑ Teeuw, Andries; Wyatt, David K. (1970). "Hikayat Patani the Story of Patani". SpringerLink (ภาษาอังกฤษ). doi:10.1007/978-94-015-2598-5.
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น