มณฑลปัตตานี เป็นมณฑลที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 มีเมืองใหญ่น้อยรวมกัน 7 เมือง คือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ ราห์มัน สายบุรี และหนองจิก ปัจจุบันคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา

มณฑลปัตตานี
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2449 – 2475
Flag of มณฑลปัตตานี
ธง

เมืองหลวงปัตตานี
การปกครอง
 • ประเภทสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
สมุหเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2449–2466
พระยาศักดิ์เสนี (หนา บุนนาค) (คนแรก)
• พ.ศ. 2466–2468
หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร
• พ.ศ. 2469–2475
พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ (หม่อมราชวงศ์ประยูร อิศรศักดิ์) (คนสุดท้าย)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้ง
พ.ศ. 2449
• เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภาคปักษ์ใต้
29 มีนาคม พ.ศ. 2459 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2469
1 เมษายน พ.ศ. 2475
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองปัตตานี
เมืองยะลา
เมืองสายบุรี
เมืองยะหริ่ง
เมืองหนองจิก
เมืองรามัน
เมืองระแงะ
มณฑลนครศรีธรรมราช
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย

ภูมิหลัง

แก้

ในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างปัตตานีกับสยามเป็นแบบประเทศราชกับราชธานี อยู่ในความสัมพันธ์แบบหละหลวมตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งการมีอำนาจ หากสยามมีอำนาจที่จะปราบปรามและปกป้องได้ ปัตตานีก็พร้อมจะเป็นประเทศราชของสยาม แต่หากสยามมีภัยคุกคาม ปัตตานีก็ถือโอกาสแยกตัวเป็นอิสระทันที[1] ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการแบ่งปัตตานีเป็น 7 หัวเมือง เพื่อต้องการตัดกำลังปัตตานีให้อ่อนลง[2] โดยสยามใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาว ปล่อยให้เจ้าเมืองมีความอิสระในการปกครองภายใน แต่ถึงกระนั้นแล้วก็พบว่าเจ้าเมืองใช้อำนาจกันอย่างไม่เป็นธรรม เก็บผลประโยชน์จากภาษีอากรเอง โดยไม่ได้ส่งส่วย ส่งแต่เพียงต้นไม้เงินต้นไม้ทองเท่านั้น[3] อีกทั้งมีภัยจากมหาอำนาจตะวันตกที่เริ่มประชิดชายแดนตั้งแต่ พ.ศ. 2329

จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2445 พระยาแขกเจ้าเมือง ตานี ยะหริ่ง สายบุรี ระแงะ รามันห์ ยะลา และหนองจิก คบคิดขบถรัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามจนระงับเหตุได้[4] ต่อมาจึงได้มีการยกเลิกระบบกินเมืองและตั้งมณฑลเทศาภิบาลซึ่งเป็นการดึงอำนาจของหัวเมืองต่าง ๆ เข้าสู่ศูนย์กลาง[5] จัดตั้งมณฑลปัตตานีเมื่อ พ.ศ. 2449 มีเมืองใหญ่น้อยรวมกัน 7 เมือง คือ ปัตตานี ยะลา ยะหริ่ง ระแงะ ราห์มัน สายบุรี และหนองจิก ให้พระยาศักดิ์เสนี (หนา) ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี[6]

พ.ศ. 2474 มณฑลปัตตานีได้รวมเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช[7]

การปฏิรูป

แก้

หลังจากจัดตั้งเป็นมณฑลปัตตานีโดยสมบูรณ์ ได้ยุบหัวเมืองทั้ง 7 เหลือเพียง 4 เมือง คือยุบเมืองหนองจิกและยะหริ่ง เข้ากับเมืองปัตตานี ยุบรวมเมืองราห์มันเข้ากับยะละรวมเรียกยะลา ส่วนระแงะกับสายบุรี คงไว้เช่นเดิม กระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับนโยบายยกเลิกระบบเจ้าเมือง โดยอาศัยช่วงที่เจ้าเมืองคนใดคนหนึ่งถึงแก่อสัญกรรมแล้วไม่แต่งตั้งคนใหม่ทดแทน แต่มีการโยกย้ายยุบรวมตามความเหมาะสม ต่อมายุบเมืองระแงะเข้ากับบางนรา แล้วเปลี่ยนชื่อบางนราเป็นเมืองนราธิวาส เมื่อ พ.ศ 2458 ปีต่อมา พ.ศ. 2459 โปรดให้เรียกทุกเมืองที่เหลืออยู่เป็นจังหวัด มณฑลปัตตานีตอนนั้นจึงประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา และจังหวัดสายบุรี จนกระทั่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2474 เมื่อมีการประกาศยุบเลิกมณฑลปัตตานี ได้ลดฐานะจังหวัดสายบุรีเป็นอำเภอตะลุบัน[8]

มณฑลปัตตานีแตกต่างจากมณฑลทั่วไป คือ ประกอบด้วยราษฎรหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา ขนบธรรมเนียมและศาสนา จึงมีการผ่อนผันเป็นพิเศษให้สอดคล้องกับสภาพท้องถิ่น เช่น ผ่อนผันให้เกณฑ์ชายฉกรรจ์เป็นตำรวจภูธรแทนการเกณฑ์เป็นทหาร เนื่องจากชาวมุสลิมไม่พอใจในการเกณฑ์เป็นทหาร ได้มีการจัดตั้งศาลเป็น 2 ศาล คือ ศาลทั่วไปและศาลสำหรับการพิจารณาคดีศาสนาอิสลาม รัฐบาลยังประกาศยกเว้นการเก็บภาษีบางอย่าง เช่น ภาษีค่านา ค่าราชการ และสรรพภาษีภายใน[9]

อ้างอิง

แก้
  1. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 350.
  2. สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. "คำนำพงศาวดารเมืองปัตตานี". 4.
  3. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 356.
  4. "กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง". ศิลปวัฒนธรรม.
  5. ปิยดา ชลวร. "ส่วย ภาษีและผลประโยชน์ของเจ้าเมืองปัตตานี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-08-28. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
  6. "ภูมิศาสตร์มณฑลปัตตานี" (PDF).
  7. "ยุบรวมพื้นที่บางมณฑลและบางจังหวัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-08-28.
  8. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 377.
  9. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 379.

บรรณานุกรม

แก้