มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี (อาหรับ: الْمَسْجِدُ الْجَامِعَةُ الْفَطَانِي, อัลมัสญิดุลญามิอะตุลฟะฏอนี) เป็นมัสยิดที่ตั้งอยู่ใน ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงามมีความโดดเด่น และยังเป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง.

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
الْمَسْجِدُ الْجَامِعَةُ الْفَطَانِي
ศาสนา
ศาสนาศาสนาอิสลาม
ที่ตั้ง
ประเทศไทย ประเทศไทย
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
ที่ตั้งในจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ในประเทศไทย
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี
มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี (ประเทศไทย)
พิกัดภูมิศาสตร์6°51′43.7″N 101°15′18.27″E / 6.862139°N 101.2550750°E / 6.862139; 101.2550750
สถาปัตยกรรม
เริ่มก่อตั้งพ.ศ. 2497

ประวัติ แก้

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 โดยใช้พื้นที่บริเวณริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ย่านตำบลอาเนาะรู กว้าง 3 ไร่ 55 ตารางวา ตามแนวคิดของรัฐบาลในสมัยนั้นที่ต้องการให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ห่างไกลที่มักมีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่พัฒนาและความแตกต่างทางศาสนา โดยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางมาวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่6 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 และใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปี เมื่อแล้วเสร็จจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2506 ให้ชื่อว่า “มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี”[1] และมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่

หลังจากนั้นมีการบูรณะซ่อมแซมและต่อเติมเมื่อคราวใช้ต้อนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับนายสัมพันธ์ ทองสมัคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้บูรณะปรับปรุงอาคารของมัสยิด กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองศิริราชสมบัติเป็นปีที่ 50 ใน พ.ศ. 2539[2] ส่งผลให้ตัวอาคารขยายและต่อเติมออกทั้ง 2 ข้าง และยังสร้างหออะซานเพิ่มอีก 2 หอ ในเวลาต่อมา

มัสยิดกลาง แก้

คติความเชื่อในการสร้างมัสยิดกลาง หรือ ญะมีอะห์(อาหรับ: الجميعة) แพร่มาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีขึ้นเพื่อให้ผู้นับถือศาสนาจากมัสยิดและชุมชนต่างๆ หลายแห่งมารวมตัวกัน เพื่อทำละหมาดร่วมกัน หรือฟังคำอบรมสั่งสอนก่อนละหมาด (คุฏบะฮ์) [3] นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ชาวมุสลิมจะได้ร่วมพบปะกันนอกเหนือไปจากชาวมุสลิมในชุมชนของตัวเอง

สถาปัตยกรรม แก้

มัสยิดแห่งนี้ออกแบบโดย นายประสิทธิผล ม่วงเขียว สถาปนิกกรมศาสนา รูปทรงภายนอกของมัสยิดมีต้นแบบมาจากทัชมาฮาล มียอดโดมสีเขียวขนาดใหญ่กลางอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น และโดมขนาดเล็กลงไปล้อมรอบ 4 ด้าน ด้านข้างมีหออะซาน 2 หอ และมีสระน้ำเบื้องหน้าส่องสะท้อนแสงเงาของมัสยิดอย่างงดงาม ส่วนภายในสร้างเป็นห้องโถง มีระเบียงอยู่สองข้าง มีมิมบัรทรงสูงและแคบตั้งอยู่[4] มีหินอ่อนประดับประดาอย่างงดงาม ภายหลังการบูรณะ ปัจจุบันตัวอาคารของมัสยิดขยายออกไปทั้ง 2 ข้าง มีหออะซานเพิ่มเป็น 4 หอ และขยายสระน้ำให้กว้างขึ้น

อ้างอิง แก้

  1. "มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี" เก็บถาวร 2016-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนสำนักข่าวไทยมุสลิม วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
  2. " มัสยิดกลางปัตตานี" เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนหน้าหลักจังหวัดปัตตานี สถานที่สำคัญในจังหวัดปัตตานี
  3. [https://web.archive.org/web/20160305185358/http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=1&page=t36-1-infodetail02.html เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ประเภทของมัสยิดมัสยิดกลาง (ญะมีอะฮ์) สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ ๓๖
  4. "มหัศจรรย์แห่งมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี" โดย ซิกกรี บิน มามะ เว็บไซต์ข่าวโอเคเนชั่น วันศุกร์ ที่ 5 ตุลาคม 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้