พระยาวิชิตภักดี (ตนกูปะสา)

พระยาวิชิตภักดีศรีสุรวังษารัตนาณาเขตรประเทศราช (ตนกูปะสา หรือ เต็งกูมูฮัมหมัด) (มลายู: Tengku Besar or Tengku Muhammad) เป็นพระยาเมืองปัตตานีในช่วงปี พ.ศ. 2381-2399 ซึ่งถือเป็นเจ้าเมืองปัตตานีแห่งราชวงศ์กลันตันองค์แรกที่ปกครองปัตตานี โดยเป็นรายาปัตตานีองค์ที่ 7

พระยาวิชิตภักดี (ตนกูปะสา)
เสียชีวิตพ.ศ.2399
สุสานตันหยงดาโต๊ะ อำเถอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
สัญชาติมลายู
ตำแหน่งเจ้าเมืองปัตตานี
บุตร6 องค์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เกิดความขัดแย้งภายในเมืองกลันตันระหว่างพระยากลันตัน (ตวนสนิปากแดง) กับตนกูปะสาในปี พ.ศ.2382 ด้วยเรื่องที่ตนกูปะสาน้อยใจพระยากลันตัน (ตวนสนิปากแดง) ไม่กราบทูลขอเมืองอื่นๆให้ตนได้ครอบครอง ตลอดจนเรื่องทรัพย์สมบัติบ่าวไพร่ของตนกูปะสา เหตุการณ์นี้ได้ลุกลามมากขึ้นเมื่อตนกูปะสาได้ชักชวนพระยาบาโงย เพื่อช่วยกันรวบรวมผู้คนตั้งค่ายสู้รบกับพระยากลันตัน (ตวนสนิปากแดง) ด้วยเหตุนี้กองทัพกรุงเทพซึ่งมีพระยาศรีพิพัฒน์ยกลงไปตั้งมั่น ณ เมืองสงขลา จึงมอบหมายให้พระยาไชยายกกองทัพเรือไปเมืองกลันตัน บังคับให้พระยากลันตัน (ตวนสนิปากแดง) กับตนกูปะสา รื้อค่ายเลิกรบกัน พร้อมทั้งได้ไกล่เกลี่ยจนสามารถประนีประนอมกันได้

ในปีต่อมาได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันอีกครั้งด้วยเรื่องพระยาจางวาง กับตนกูศรีอินทิรา (รายามุดา) ขัดคำสั่งพระยากลันตัน (ตวนสนิปากแดง )ถึงขั้นจะรบกันอีก เมื่อความทราบถึงกรุงเทพ จึงโปรดให้พระยานคร(น้อย) แต่งหนังสือลงไปว่ากล่าวขุ่มขู่จึงสงบลงได้อีกครั้ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2384 ตนกูปะสาเดินทางมายังกรุงเทพเพื่อร้องเรียนเรื่องพระยาจางวางและตนกูศรีอินทิรา (รายามุดา) นำทรัพย์สมบัติของตนไปทำประโยชน์ ในขณะเดียวกันพระยากลันตัน(ตวนสนิปากแดง)ได้มีใบบอกมายังกรุงเทพ กล่าวโทษตนกูปะสาว่าใช้คนไปชักชวนพระยาบาโงย และพรรคพวกที่เมืองตรังกานู เมืองลิงา ให้มาทำร้ายพระยากลันตัน(ตวนสนิปากแดง)[1]

การทะเลาะระหว่างพระยากลันตันกับพระราชวงศ์หลายครั้งทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ความวุ่นวายต้องเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด ต่อมาจึงโปรดเกล้าให้ตนกูปะสาเป็นเจ้าเมืองหนองจิก เมื่อถึงปี พ.ศ.2388 จึงโปรดเกล้าแต่งตั้งตนกูปะสาเป็นเจ้าเมืองปัตตานีองค์แรกแห่งราชวงศ์กลันตันที่ปกครองปัตตานี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความบาดหมางระหว่างพระยากลันตัน(ตวนสนิปากแดง) กับตนกูปะสาจึงยุติลง

ตนกูปะสาเมื่อเดินทางมาถึงเมืองปัตตานีได้สร้างวังขึ้นเป็นครั้งแรกบริเวณชายทะเล ปัจจุบันคือหมู่บ้านตันหยง ต่อมาห็นว่าภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสมจึงย้ายไปสร้างวังหลังใหม่เรียกว่า "วังจังบังตีกอ" ปัจจุบันคือ ตำบลจะบังตีกอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ได้ปกครองเมืองปัตตานีจนถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2399

โอรส-ธิดา แก้

พระยาวิชิตภักดี (ตนกูปะสา หรือ เต็งกูมูฮัมหมัด) มีโอรส-ธิดา 6 องค์[1][2] ได้แก่

  1. เต็งกูปูเตะ เจ้าเมืองปัตตานีองค์ที่ 8
  2. เต็งกูบูลัค (ตนกูฮาญีตูวอร์)
  3. เต็งกูฮุเซ็น (ตนกูนิมันดาร์ฮัน)
  4. ต่วนบอซู (เต็งกูสุไลมานชารีฟุดดีน) เจ้าเมืองปัตตานีองค์ที่ 10
  5. เต็งกูตัมบัล ชายาพระยาเมืองรามัน
  6. เต็งกูลาโบะฮ์ ชายาตนกูจิ โอรสในตนกูบังโงย

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 ภููมิหลังวังจะบังตีกอ[ลิงก์เสีย] (PDF).P33-35
  2. พระยาตานี