หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ)
พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ, ชื่อเดิม กิมเหลียง วัฒนปฤดา (จีน: 金良)[1]) เป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์[2] นักปราชญ์ นักประวัติศาสตร์ นักการเมือง นักปาถกฐา นักประพันธ์ คนสำคัญของประเทศไทย
หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) | |
---|---|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ | |
ดำรงตำแหน่ง 19 มิถุนายน พ.ศ. 2485 – 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486 | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | แปลก พิบูลสงคราม |
ถัดไป | ดิเรก ชัยนาม |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง | |
ดำรงตำแหน่ง 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 – 8 ธันวาคม พ.ศ. 2494 | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | พระมนูภาณวิมลศาสตร์ (ชม จามรมาน) |
ถัดไป | เภา เพียรเลิศ บริภัณฑ์ยุทธกิจ |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ | |
ดำรงตำแหน่ง 6 ธันวาคม พ.ศ. 2494 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2495 | |
นายกรัฐมนตรี | แปลก พิบูลสงคราม |
ก่อนหน้า | มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ |
ถัดไป | นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) |
ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี | |
ดำรงตำแหน่ง 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 | |
นายกรัฐมนตรี | สฤษดิ์ ธนะรัชต์ |
รักษาการแทนผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
ดำรงตำแหน่ง กันยายน พ.ศ. 2493 – 5 เมษายน พ.ศ. 2494 | |
ก่อนหน้า | ศ.ดร.เดือน บุนนาค |
ถัดไป | พล.ท.สวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 11 สิงหาคม พ.ศ. 2441 จังหวัดอุทัยธานี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 (63 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | คุณหญิง ประภาพรรณ วิจิตรวาทการ |
บุตร | 7 คน |
ยศเดิม | อำมาตย์โท |
ลายมือชื่อ | |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
สังกัด | กองทัพบกไทย |
ยศ | พลตรี |
ประวัติ
แก้หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้ต้นคิดและริเริ่มในการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย เป็นบุตรคนหนึ่งใน 8 คน[3] ของนายอินและนางคล้าย บุตรีของหลวงสกลรักษา นายอำเภอ[3] เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2441 เวลา 4.00 น. ย่ามรุ่ง[3] ที่อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี บิดามารดามีอาชีพค้าขาย แต่มารดาเสียก่อนเมื่อยังเล็ก[3] เมื่ออายุ 8 ขวบเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดขวิด ตำบลสะแกกรัง เมื่อจบประถมศึกษา บิดาได้นำไปฝากให้บวชสามเณรอยู่กับพระมหาชุ้ย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร
เมื่ออายุ 13 ปี ในปี พ.ศ. 2453 ได้ศึกษานักธรรมและบาลีจนจบนักธรรมเอกและเปรียญ 5 ประโยค โดยสอบได้เปรียญ 5 ประโยคใน พ.ศ. 2459 เมื่ออายุ 19 ปี สอบได้เป็นที่ 1 ในประเทศ[3] ได้รับประกาศนียบัตรหมายเลข 1 จากพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 และได้รับความไว้วางใจจากพระศรีวิสุทธิวงศ์ (เฮง เขมจารี) ให้เป็นครูสอนภาษาบาลีอีกด้วย
หลวงวิจิตรวาทการเป็นคนใฝ่รู้อย่างยิ่ง นอกจากเรียนนักธรรมและบาลีแล้วยังแอบเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะเขาไม่ให้เรียนวิชาอื่นจนมีความรู้ในภาษาทั้งสองดี ได้แปลพงศาวดารเยอรมันเป็นไทยโดยใช้นามปากกาว่า "แสงธรรม"
หลวงวิจิตรวาทการถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2505 เวลา 6.40 น. ที่บ้านพักซอยเกษม ถนนสุขุมวิท 24 กรุงเทพมหานคร ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว สิริอายุ 63 ปี พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2505 โดยบรรจุศพหลวงวิจิตรวาทการด้วยพระโกศไม้สิบสอง และประดับเฟื้องเป็นเกียรติยศ[3]
ครอบครัว
แก้หลวงวิจิตรวาทการ สมรสกับคุณหญิง ประภาพรรณ วิจิตรวาทการ มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน ได้แก่[4]: 9–10
- ดร.วิญญู วิจิตรวาทการ
- วิวิทย์ วิจิตรวาทการ
- วิจิตรา รังสิยานนท์
- นพ. วิบูล วิจิตรวาทการ
- วิภาจ วิจิตรวาทการ
- วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ
- วิวัฒนวงศ์ วิจิตรวาทการ
การทำงาน
แก้เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ อยู่ในภิกขุภาวะได้เพียงเดือนเดียวก็ลาสิกขาออกมารับราชการที่กองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ทำงานอยู่เป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน ก็ได้มีโอกาสไปรับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ ประจำสถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รับราชการได้ 6 ปีเต็ม แล้วได้ย้ายไปประจำการในสถานอัครราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ที่กรุงปารีส หลวงวิจิตรวาทการ ร่วมประชุมกับผู้ก่อตั้งคณะราษฎร แต่มิได้เข้าร่วมคณะราษฎร เพราะไม่เห็นด้วยกับปรัชญาและแนวโน้มด้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของปรีดี พนมยงค์ และต้องการปกป้องยึดมั่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลวงวิจิตรวาทการจึงก่อตั้ง "คณะชาติ" ขึ้นมาเพื่อหมายจะเปรียบเทียบกับคณะราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าเทียมคณะราษฎร หลังจากรับราชการต่อที่กรุงลอนดอน หลวงวิจิตรวาทการ จึงกลับมาร่วมงานวางแผนปฏิวัติกับคณะราษฎรที่ประเทศสยาม ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมิได้เอาชื่อเข้าคณะผู้ก่อการอย่างเป็นทางการ
ตำแหน่งราชการ
แก้หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร) มีตำแหน่งราชการ ดังนี้[3]
- พ.ศ. 2461 เสมียนกองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2463 ผู้ช่วยเลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- พ.ศ. 2467 เลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
- พ.ศ. 2469 เลขานุการ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
- พ.ศ. 2472 หัวหน้ากองการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2473 หัวหน้ากองการทูต กระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2474 หัวหน้ากองการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และเลขานุการ คณะข้าหลวงใหญ่ปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง
- พ.ศ. 2475 ผู้ช่วยอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และอาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์สากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พ.ศ. 2476 อธิบดีกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2477 อธิบดีกรมศิลปากร เลขาธิการราชบัณฑิตสถานและอาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์การปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2480 อธิบดีกรมศิลปากร และรัฐมนตรี
- พ.ศ. 2484 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีสั่งราชการแทน กระทรวงศึกษาธิการ
- พ.ศ. 2485 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
- พ.ศ. 2486 เอกอัครราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่น
- พ.ศ. 2493 ผู้ประศาสน์การ (รักษาการตำแหน่งอธิบดี) และอาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2494 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
- พ.ศ. 2495 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเอกอัครราชทูตประจำประเทศอินเดีย
- พ.ศ. 2496 เอกอัครราชทูตประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และยูโกสลาเวีย
- พ.ศ. 2501 รองผู้อำนวยการฝ่ายผลเรือน กองบัญชาการปฏิวัติ
- พ.ศ. 2502 ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ กรรมการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลใหม่ (ราชมิตราภรณ์)[4]: 20 และประธานคณะที่ปรึกษาองค์การของรัฐ
- พ.ศ. 2503 กรรมการบริหารสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เลขาธิการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้สั่งและปฎิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี
บทบาททางการเมือง
แก้ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งขณะนั้นมียศเป็น อำมาตย์โท และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ได้ถูกปลดออกจากราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2475[5] แต่ในภายหลังได้กลับเข้ารับราชการโดยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น เจ้ากรมกองประกาศิต เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ปี พ.ศ. 2476[6] ต่อมาได้โอนมารับราชการที่ กระทรวงธรรมการ[7] ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2477[8] ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแทนจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2485[9]เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นได้ทำลายประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชียและเข้าประชิดเตรียมรุกรานประเทศไทย หลวงวิจิตรวาทการปรึกษากับนายกรัฐมนตรี จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ทั้งสองตัดสินว่า เพื่อป้องกันประเทศไทย มิให้ถูกทำลายโดยกองทัพญี่ปุ่น ประเทศไทยควรยินยอมให้ประเทศญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปสู่แหลมมลายู และให้ดำรงอิสรภาพของประเทศไทยเป็นการตอบแทน หลวงวิจิตรวาทการ สละตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงโตเกียวที่ประเทศญี่ปุ่นแทนนาย ดิเรก ชัยนาม เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2486[10]ในระยะสงครามโลกครั้งที่สองนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ตอบแทนมิตรภาพของประเทศไทย โดยช่วยเหลือให้ประเทศไทยรบยึดคืนแผ่นดินที่ได้สูญเสียแก่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสในประวัติศาสตร์
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ด้วยความพ่ายแพ้ของประเทศญี่ปุ่น หลวงวิจิตรวาทการ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งเอกอัครราชทูตเยอรมันและเอกอัครราชทูตอิตาลี จึงถูกแม่ทัพสหรัฐนายพล ดักลาส แมคอาเธอร์ สั่งจับเข้าที่คุมขัง คุณหญิงวิจิตรวาทการได้เข้าอธิบายต่อนายพลแมคอาเธอร์ว่าประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อดำรงอิสรภาพ และปกป้องคุ้มกันประเทศมิให้ญี่ปุ่นทำลาย นายพลแมคอาเธอร์เข้าใจและรับคำอธิบายของคุณหญิงวิจิตรวาทการ สั่งปลดปล่อยหลวงวิจิตรวาทการออกจากที่คุมขัง รวมทั้งจัดการมอบเครื่องบินอเมริกัน นำหลวงวิจิตรวาทการและข้าราชการประจำสถานทูตกลับเมืองไทย แต่เมื่อกลับมาถึงประเทศ รัฐบาลไทยภายใต้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ และความควบคุมของพันธมิตรอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา จึงจับกุมหลวงวิจิตรวาทการเข้าที่คุมขังในฐานอาชญากรสงคราม
หลวงวิจิตรวาทการและจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงคราม ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสต้องการให้ประหารชีวิตทั้งสองท่าน แต่สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าต้องดำเนินการขึ้นศาลตัดสินความก่อน ศาลไทยตัดสินความโดยยกเลิกข้อฟ้องทั้งหมดในพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม และปลดปล่อยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม หลวงวิจิตรวาทการ และนักโทษการเมืองอื่น ๆ ออกจากที่คุมขัง กลับสู่อิสรภาพ
หลวงวิจิตรวาทการกลับมาใช้ชีวิตเป็นนักประพันธ์ แต่งสารคดีและนวนิยาย ประสบความสำเร็จเจริญรุ่งเรืองในชีวิตนอกการเมือง จนสามปีต่อมา จอมพล แปลก พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ ร่วมปรึกษาวางแผนรัฐประหารยึดอำนาจกลับคืนสำเร็จ
หลวงวิจิตรวาทการจึงกลับสู่สภาวะนักการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ภายหลังเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศอินเดีย ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยูโกสลาเวีย (เซอร์เบีย) และต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี[11] (เทียบเท่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ในรัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
แนวคิดเปลี่ยนแปลงชาตินิยม
แก้บทบาทสำคัญที่สุดของหลวงวิจิตรวาทการ ในฐานะนักการเมืองและนักชาตินิยม คือเป็นต้นความคิด ในการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย หลวงวิจิตรวาทการเป็นนักประวัติศาสตร์ ที่ศึกษาค้นคว้าประวัติของชนชาติไทย โดยอ้างว่าแรกตั้งรากฐานอยู่ที่ทะเลแคสเปียนใกล้ประเทศรัสเซีย และอพยพเข้าสู่เขตยูนนานก่อนชนชาติจีน ถูกชนชาติจีนบุกรุกผลักดันลงสู่ทิศใต้ จนถึงแดนสุวรรณภูมิ มีจำนวนชนชาวไทยทั้งหมดในขณะนั้น ประมาณ 30 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศสยาม จึงนำเรื่องขึ้นเสนอต่อจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ว่าสมควรเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย จอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงแต่งตั้งหลวงวิจิตรวาทการให้เป็นประธานคณะกรรมการ นำเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศขึ้นสู่สภาผู้แทน และสภาผู้แทนแห่งประเทศสยาม จึงลงมติเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย
ผลงาน
แก้หลวงวิจิตรวาทการ เป็นผู้แต่งหนังสือ[4][12]
ประเภทวิชาการและศาสนา
- ดวงประทีป หนังสือประเภทวิชาการแบบรายทศ ใช้นามปากกาว่า "เวทิก"[13][14]
- หนังสือแผ่นปลิว วัดมหาธาตุ ใช้นามปากกว่า "องคต"[15]
- ประวัติศาสตร์สากล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 เล่ม โดยใช้นามปากกาว่า "วิเทศกรณีย์"
- ประชุมพงศาวดารฉบับความสำคัญ จำนวน 8 เล่ม
- จารึกพ่อขุนรามคำแหงกับคำอธิบาย[16]
- ศาสนาสากล จำนวน 5 เล่ม
- วิชชาแปดประการ
- มหาบุรุษ
- มันสมอง
- ความฝัน
- พุทธานุภาพ
- กุศโลบาย[17]
- กำลังใจ
- กำลังความคิด
- ดวงหน้าในอดีต[18]
- ของดีในอินเดีย
- ลัทธิโยคี
- การเมืองการปกครองของกรุงสยาม
- คณะการเมือง
- ชีวิตแห่งละคร
- ไปพม่า
- จิตวิทยา
- จิตตานุภาพ
- การเมือง
- วิธีทำงานและสร้างอนาคต
- ทางสู้ในชีวิต
- วิชาการครองเรือนครองรัก
- กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่
- มหัศจรรย์ทางจิต
- งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย
ประเภทบทความและสารคดี
- ความขบขัน
- ความหมายการศึกษา
- วิถีนักเขียน
- กำเนิดธนบัตร
- มุสโสลินี[19]
- แม่ศรี-คู่สร้าง
ประเภทบทละครประวัติศาสตร์
- นเรศวรประกาศอิสรภาพ (พ.ศ. 2477)
- พ่อขุนผาเมือง
- ดาบแสนเมือง
- เจ้าหญิงกรรณิการ์
- ลานเลือด-ลานรัก
- เลือดสุพรรณ (พ.ศ. 2479)
- ราชมนู
- ศึกถลาง (พ.ศ. 2480)[20]
- พระเจ้ากรุงธนบุรี (พ.ศ. 2480)
- มหาเทวี
- น่านเจ้า
- เจ้าหญิงแสนหวี
- เบญจเพศ
- ชนะมาร
- สีหราชเดโช
- ตายดาบหน้า
- เพ็ชรัตน์-พัชรา
- ลูกพระคเณศวร์
- ครุฑดำ
- โชคชีวิต
- อนุภาพพ่อรามคำแหง
- อนุภาพแห่งความเสียสละ
- อนุภาพแห่งความรัก
- อนุภาพแห่งศีลสัตย์
- ราชธิดาพระร่วง
- บทละครหลังฉาก
- สองคนพ่อลูก
- ในน้ำมีปลา-ในนามีข้าว
- หลานเขยของคุณป้า
- ความรักของแม่
- สละชีพเพื่องาน
- น้ำใจแม่
- ฝั่งโขง
- ภริยาสมาชิกสภา
- สายเสียแล้ว
- ผีการพนัน
- เหลือกลั้น
- แม่สายบัว
- ขายม้า-หาคู่
- เทพธิดากาชาด
- เสียท่า
ประเภทนวนิยายและนวนิยายอิงประวัติศาสตร์
- ห้วงรักเหวลึก
- พานทองรองเลือด
- ดอกฟ้าจำปาศักดิ์
- ฟากฟ้าสาละวิน
- สวรรค์ยังไม่ทอดทิ้งข้าพเจ้า
- ยอดเศวตฉัตร
- ผจญชีวิต
- ครุฑดำ
- เสน่ห์นาง
- กรุงแตก[21]
- ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน
- เจ้าแม่จามรี (ใช้นามปากกาว่า "แสงธรรม")
- เจ้าแม่สาริกา
- บ่มรัก
- บุรุษอาธรรม์
- สมร
- ลูกเมียเก่า
- อนาคตของชาติ (ใช้นามปากกาว่า "ดาวพฤหัส")[22]
- เพ็ชรพระนารายณ์[23]
- บัลลังก์เชียงรุ้ง
- สละชีพเพื่อชู้
- กุหลาบเมาะลำเลิง
- ทุ่งร้างทางรัก
- อาทิตย์อัสดง
- คืนสวรรค์-วันสวาท
- กรรณิการ์เทวี
- มรสุมแห่งชีวิต
- มนต์เรียกผัว
- เหล็กล้างแค้น
- เมื่อข้าพเจ้าหนีเมีย
- ของรักตกตม
- เลือดล้างเคราะห์
- คลุมถุงชน
- หลุมฝังรัก
- รักสวยรักศิลป์
- เสน่ห์นาง
- ผัวหาย
- กุญแจทอง
- สมร
- ความรักครั้งหลัง
- เจ้าแม่จามรี
- บุรุษอาธรรม์
- บ่มรำ
- เจ้าแม่สาลิกา
- บทเรียนสร้างชีวิต
- แปดปีภายหลัง
- เมื่อไทยเป็นทาส
- ความรักในกรงขัง
- เพลงเก่า-เพลงกรรม
- เลือดก้อนหนึ่ง
- ชั่วดีพี่สะไภ้
- หวานใจเจ้าอนุ
- กลัวจนหายกลัว
- ผู้ชนะเลิศ
- สองชีวิต
- น้ำตาของแม่
- ขวัญตา-ขวัญใจ
- นางเอกของข้าพเจ้า
- เนื้อคู่สู่สม
- ยอดมิ่ง-ยอดมิตร
- ผัวแท้-ผัวเทียม
- กลับบ้านดีกว่า
- นักเขียนราคาแพง
- ชีวิตคือการต่อสู้
- เพื่อมาตุภูมิ
- ตายสองครั้ง
- ลูกชายของแม่
- ศิลปะสมัยใหม่
- หนามบ่งหนาม
- โชคหลายชั้น
- บูชารัก
- รู้ตัวเมื่อจะตาย
- เพลินพิศ
- ลูกทาสในเรือนเบี้ย
- เล่ห์ทำลายรัก
- กองร้อยมรณะ
- คืนร้างคืนรัก
- แฟนหัวใจ
- เพื่อนเก่าเมียรัก
- ง่ายนิดเดียว
- หลังฉากมรณะ
- ประทุมมาลย์
- ไม่กลัวตาย
- เข็มเล่มเดียว
- ผิดสัญญา
- อย่าเล่นกับคำสาบาน
- ปีศาจการพนัน
- เมื่อข้าพเจ้าฆ่าตัวตาย
- สมรสที่เดีเลิศ
- ชื่นเพราะชู้ - สู้เพราะรัก
- กรีเซลดา
- ราตรีโชค
ปาฐกถา สุนทรพจน์ และการบรรยาย
- ความฝัน
- กำเนิดของหนังสือพิมพ์
- การแต่งงาน
- การศิลปากร
- ความยุ่งยากในปลายบูรพทิศ
- วัฒนธรรมสุโขทัย
- สุนทรพจน์วันสถาปนา สมเด็จพระวันรัต เขมจารี วัดมหาธาตุ
- การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส
- ความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติระหว่างไทยกับเขมร
- ชาติไทยจะชนะ
- ข้อเท็จจริงบางประการ
- อารยะธรรม
- ของดีในภาคอีสาน
- ความรัก
- ชีวิตของนักประพันธ์
- ความเจริญ
- ความเชื่อในศาสนา
- ธรรมวิภาค
- ลักษณะของคน
- ปัญหาการเงินของเยอรมันนีในสงครามโลกครั้งที่ 2
- มนุสสปฏิวัติ
- ตะวันออกกลาง
- การประหยัด
- ผลของลัทธินิยมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- กัลยาณการี
- เงินได้ของสรรพากร
- นโยบายชาตินิยม
- การทูตของประเทศไทย
- งานของสำนักนายกรัฐมนตรี
- ชาติกับศาสนา
- โลกปัจจุบันในแง่ประวัติศาสตร์
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ
- การคลังยามสงคราม
- ความปลอดภัยของประเทศไทย
หลวงวิจิตรวาทการยังเป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงปลุกใจให้รักชาติประกอบเรื่องในละครประวัติศาสตร์ เช่น เพลงตื่นเถิดชาวไทย เพลงต้นตระกูลไทย เพลงรักเมืองไทย เพลงเลือดสุพรรณ เพลงแหลมทอง และเพลงกราวถลางเป็นต้น[20] นอกจากนั้นท่านยังแต่งบทละครอิงประวัติศาสตร์ และเพลงประกอบละครเหล่านั้น ไว้หลายเรื่องและหลายเพลง ท่านเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี[24][25]
เกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมยศของ หลวงวิจิตรวาทการ | |
---|---|
ตราประจำตัว | |
การเรียน | ใต้เท้า |
การแทนตน | กระผม/ดิฉัน |
การขานรับ | ครับ/ค่ะ |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
แก้- พ.ศ. 2502 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[26]
- พ.ศ. 2499 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[27]
- พ.ศ. 2503 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)[28]
- พ.ศ. 2479 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[29]
- พ.ศ. 2480 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[30]
- พ.ศ. 2484 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[31]
- พ.ศ. 2487 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[32]
- พ.ศ. 2485 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 (ว.ป.ร.2)[33]
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 2 (อ.ป.ร.2)[3]
- พ.ศ. 2468 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 7 (ร.ร.ศ.7)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. 2472 – เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นที่ 5 เชอวาลีเย (ถูกเรียกคืนเนื่องจากกรณีพิพาทอินโดจีน)[34]
- ญี่ปุ่น :
- พ.ศ. 2486 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 1[35]
- ไรช์เยอรมัน :
- พ.ศ. 2486 – เครื่องอิสริยาภรณ์อินทรีเยอรมัน ชั้นที่ 1[35]
- อิตาลี :
- พ.ศ. 2486 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อินทรีโรมัน ชั้นที่ 1[35]
- อาร์เจนตินา :
- พ.ศ. 2504 – เครื่องอิสริยาภรณ์ดวงอาทิตย์แห่งพฤษภาคม ชั้นที่ 1[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ "หลวงวิจิตรวาทการ". หอสมุดดนตรีพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กรกฎาคม 2013.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๐ ง หน้า ๓๐๓๒–๓๐๓๓, ๒๑ กันยายน ๒๔๘๖
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 พระเทพวิสุทธิโมลี, เสฐียร พันธรังษี, และทินกร ทองเสวต. (2532). "ชีวิตพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (ตอนปฐมวัย)", ใน ดวงหน้าในอดีต. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ: คลังสมอง. 239 หน้า. ไม่ปรากฏเลขหน้า.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะ. (2505). "ประวัติ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี", ใน วิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม 1. คณะรัฐมนตรี พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕. พระนคร: รัชดารมภ์การพิมพ์. 65 หน้า.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ปลดตำแหน่งหน้าที่ราชการ, เล่ม ๔๙ ง หน้า ๒๒๘๔, ๒ ตุลาคม ๒๔๗๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ ตั้งและย้ายข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ, เล่ม ๕๐ ง หน้า ๑๑๗๘, ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๗๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ ย้ายและตั้งหัวหน้ากองพิธี, เล่ม ๕๐ ง หน้า ๓๔๖๓, ๑๑ มีนาคม ๒๔๗๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ ตั้งผู้รั้งตำแหน่งปลัดกระทรวงและอธิบดีในกระทรวงธรรมการ, เล่ม ๕๑ ง หน้า ๓๒๔–๓๒๕, ๒๙ เมษายน ๒๔๗๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๔๑ ก หน้า ๑๒๙๔–๑๒๙๕, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศญี่ปุ่น, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๕๗ ง หน้า ๓๓๙๙, ๒๖ ตุลาคม ๒๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี, เล่ม ๗๖ ง หน้า ๑, ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒
- ↑ กรมศิลปากร. (2553). เทคนิคการบรรเลงดนตรีสากลประกอบการแสดงละครปลุกใจเรื่อง อนุภาพแห่งพ่อขุนรามคำแหง. โครงการจัดการความรู้ด้านการบรรเลงดนตรีสากลประกอบการแสดง (ครั้งที่ ๑).
- ↑ ประอรรัตน์ บูรณมาตร์ (2528). หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 334 หน้า. หน้า 53. ISBN 978-974-5711-71-6.
- ↑ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์. 52 (45–52): 53. กรกฎาคม–กันยายน 2548. ISSN 0125-0787.
- ↑ เฉลียว พันธุ์สีดา. (2520). หลวงวิจิตรวาทการและงานด้านประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ. 307 หน้า. หน้า 143.
- ↑ วิจิตรวาทการ, หลวง. (2477). จารึกพ่อขุนรามคำแหงกับคำอธิบาย. คณะรัฐมนตรีพิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดปทุมคงคาราม วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๗. พระนคร: พระจันทร์. 60 หน้า.
- ↑ วิจิตรวาทการ, หลวง. (2531). กุศโลบาย: ผลงานอมตะชิ้นเอกในการผูกมิตรและชนะใจคนที่บุคคลสำคัญทั่วโลกได้ใช้และประสบผลสำเร็จมาแล้ว. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: มีเดียโฟกัส. 103 หน้า.
- ↑ วิจิตรวาทการ, หลวง. (2544). ดวงหน้าในอดีต. กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์. 220 หน้า. ISBN 978-974-7377-57-6
- ↑ วิจิตรวาทการ, หลวง. (2475). มุสโสลินี. พระนคร: ไทยใหม่. 136 หน้า.
- ↑ 20.0 20.1 สุเนตร ชุตินธรานนท์, ศ. (2018). พม่ารบไทย ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า (15 ed.). สำนักพิมพ์มติชน. p. 56. ISBN 978-974-02-1617-9.
- ↑ วิจิตรวาทการ, พลตรี หลวง. กรุงแตก. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร. 2514. 240 หน้า.
- ↑ พิมาน แจ่มจรัส (1999). ชีวิต มันสมอง และการต่อสู้ของ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ (5 ed.). กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์บุ๊คส์. 280 หน้า. หน้า 114. ISBN 978-974-7379-96-9.
- ↑ วิจิตรวาทการ (กิมเหลียง), พลตรี หลวง. (2513). เพ็ชรพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร. 536 หน้า.
- ↑ คีตา พญาไท (11 มกราคม 2005). "ประวัติหลวงวิจิตรวาทการ (1)". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2007.
- ↑ "พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ". Thaiwriter.org. สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-26. สืบค้นเมื่อ 2007-06-25.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๗, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๐๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๖, ๑๒ มกราคม ๒๕๐๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๑๔๔๖, ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๒๑, ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๗๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๙๙, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๔๘, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๖๐ ง หน้า ๑๘๗๙, ๒๖ กันยายน ๒๔๘๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๒๙ ง หน้า ๑๑๒๙, ๒๘ เมษายน ๒๔๘๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๘๑๓, ๑๖ มิถุนายน ๒๔๗๒
- ↑ 35.0 35.1 35.2 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๒ ง หน้า ๒๕๐๓, ๑๐ สิงหาคม ๒๔๘๖
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ละครหลวงวิจิตรวาทการ. บ้านรำไทย.
- สายชล สัตยานุรักษ์. (2545). ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” โดยหลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 974-322-714-8.
- Barmé, Scot. (1993). Luang Wichit Wathakan and the Creation of Thai Identity. Singapore: Institute of Southeast Asia Studies. ISBN 981-3016-58-2.
ก่อนหน้า | หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (6 ธันวาคม 2494 – 23 มีนาคม 2495) |
นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ) |