พีรพันธุ์ พาลุสุข

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข (10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 - 30 เมษายน พ.ศ. 2557) นักกฎหมาย นักวิชาการ และ นักการเมืองชาวไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร เขต 3 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แล้วได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย เมื่อตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554

พีรพันธุ์ พาลุสุข
พีรพันธุ์ ใน พ.ศ. 2555
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดำรงตำแหน่ง
30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 – 30 เมษายน พ.ศ. 2557
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รักษาการแทนนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ก่อนหน้าวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
ถัดไปพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยโสธร เขต 3
ดำรงตำแหน่ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 – 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556[1]
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 มิถุนายน พ.ศ. 2489
จังหวัดยโสธร ประเทศไทย
เสียชีวิต30 เมษายน พ.ศ. 2557 (67 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
ศาสนาโรมันคาทอลิก
พรรคการเมืองชาติไทย (2522—2528,2538—2539)
ประชาชน (2531—2532)
ประชาธิปัตย์ (2528— 2531,2532—2534)
ความหวังใหม่ (2534—2538,2539—2545)
ไทยรักไทย (2545—2549)
ประชาราช (2549—2550)
พลังประชาชน (2550—2551)
เพื่อไทย (2551—2557)
คู่สมรสรองศาสตราจารย์ ดารนี พาลุสุข[2]

ประวัติ แก้

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ในครอบครัวคริสตัง เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมดแปดคนของนายบิน และนางห่ม พาลุสุข เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ที่โรงเรียนบ้านซ่งแย้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 โรงเรียนซ่งแย้พิทยา ด้วยมีผลการเรียนที่น่าพึงใจจึงรับทุนของโบสถ์ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนธรรมพิทยาคาร จังหวัดสกลนคร[3] สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Diploma International Institute of Public Administraiton Paris ด้านการทูต (ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส) และปริญญาเอกสาขากฎหมาย มหาวิทยาลัยปารีส พีรพันธุ์สมรสกับรองศาสตราจารย์ดารนี พาลุสุข มีบุตรหนึ่งคน[4]

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลาประมาณ 06.00 น. ที่โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ กรุงเทพมหานคร หลังเข้ารับการผ่าตัดด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557 ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[5] โดยมีการสวดพระอภิธรรม ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 2-15 พฤษภาคม 2557 และอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน[4]

งานการเมือง แก้

หลังสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522-2525 ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2526 สังกัดพรรคชาติไทย แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับที่ 4 ของเขต (มี ส.ส.ได้ 3 คน) ต่อมาปี พ.ศ. 2528 อดีต ส.ส. ถึงแก่กรรม นายพีรพันธุ์จึงลงเลือกตั้งซ่อมในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และได้รับการเลือกตั้งติดต่อกันมาอีก 2 สมัย คือ พ.ศ. 2529 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และปี พ.ศ. 2531 สังกัดพรรคประชาชน ซึ่งเขาเป็นรองเลขาธิการพรรค[6] แต่สอบตกในการเลือกตั้งสองครั้งถัดมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 และ เดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งเขาสังกัดพรรคความหวังใหม่ จนปี พ.ศ. 2538 จึงได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคชาติไทย[7]

ช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย พ.ศ. 2544 - 2548 นายพีรพันธุ์ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ได้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยและที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง อาทิ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งปี พ.ศ. 2550 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในสังกัดพรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2554 ในสังกัดพรรคเพื่อไทย

นายพีรพันธุ์มีบทบาทเป็นทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย และดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม[8] และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[9]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก้

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 6 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2528 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคประชาชน
  4. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคชาติไทย
  5. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคพลังประชาชน
  6. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดยโสธร สังกัดพรรคเพื่อไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556
  2. เปิดแฟ้มชีวิต "พีรพันธุ์ พาลุสุข" ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่า องครักษ์พิทักษ์บรรหาร
  3. "บ้านซ่งแย้โบสถ์ไม้และดอกเตอร์ลูกชาวนา". คมชัดลึก. 8 พฤษภาคม 2557. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 นีรนุช ตามศักดิ์ (1 พฤษภาคม 2557). "ขอเชิญร่วมไว้อาลัยแด่การจากไปของ ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี". กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-06-01. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "พีรพันธุ์ พาลุสุข" รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ถึงแก่อสัญกรรม
  6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคประชาชนเปลี่ยนแปลงชื่อพรรค ภาพเครื่องหมายพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค
  7. นักการเมืองถิ่นจังหวัดยโสธร[ลิงก์เสีย]
  8. โผไม่พลิก “สามารถ แก้วมีชัย " นั่งประธานคุมแก้รธน.291
  9. พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ๕)
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2009-01-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๒, ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑๐, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า พีรพันธุ์ พาลุสุข ถัดไป
วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ครม.60)
(30 มิถุนายน พ.ศ. 2556 - 30 เมษายน พ.ศ. 2557)
  นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ (รักษาราชการแทน)