รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519

รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 อันเนื่องจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง โดยคณะทหารชื่อ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519

พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
วันที่6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
(47 ปี 348 วัน), 18.00 น.
สถานที่
ไทย ราชอาณาจักรไทย
ผล
คู่สงคราม
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 38
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
สงัด ชลออยู่ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

เหตุการณ์

แก้

คณะทหารอ้างว่าไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

คณะนายทหารได้เชิญตัวนายกรัฐมนตรีไปปรึกษาหารือที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่สนามเสือป่า รวมทั้งได้ร่วมรับประทานโต๊ะจีนและพักค้างคืนด้วยกัน จนกระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงลากลับไป อนึ่ง ในวันรัฐประหารเมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้บันทึกไว้ในหนังสือชีวลิขิต ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน ได้บอกว่า คณะปฏิรูป ฯ จะให้ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ท่านตอบปฏิเสธ จึงได้ขอให้ท่านรับเป็นหัวหน้าในการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งท่านก็ตอบปฏิเสธอีก พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้บอกกับท่านว่า มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจ ไม่เช่นนั้นทหารอีกกลุ่มจะทำการในเวลา 04.00 น. ของวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคณะของ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ อีกทั้งก่อนหน้านั้น พล.ร.อ.สงัดได้เคยเตือนท่านมาครั้งหนึ่งว่า ทหารจะรัฐประหารและมีผู้ชักชวนท่านให้ทำการด้วย อีกทั้งท่านยังสงสัยในพฤติกรรมของบุคคลร่วมรัฐบาลบางคน ในการประชุมสถานการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเข้า ๆ ออก ๆ ที่ประชุมตลอด ว่าอาจรู้เห็นเป็นใจกับกลุ่มบุคคลที่เข้าทำร้ายกลุ่มนักศึกษาผู้ชุมนุมหรือรู้เห็นเป็นใจกับคณะนายทหารอีกคณะหนึ่งที่ พล.ร.อ.สงัดอ้างว่าจะรัฐประหาร (ในหนังสือ ม.ร.ว.เสนีย์ ระบุว่าเป็นสมาชิกพรรคชาติไทย อันได้แก่ พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร และ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ)[1]

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกประกาศคณะปฏิรูปออกมาหลายฉบับ โดยมากมีเนื้อหาควบคุมเพื่อสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยอาทิแต่งตั้ง พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ เป็นผู้บัญชาการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ[2]

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า มี 2 ฝ่ายต้องการรัฐประหารในสมัยนั้น โดยฝ่ายหนึ่งชิงรัฐประหารในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตัดหน้าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งชัยอนันต์ สมุทวณิชกับเดวิด มอร์เรล อธิบายว่า พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา และนายทหารที่ใกล้ชิดกับจอมพลประภาส-ถนอมวางแผนก่อเรื่องเพื่อเป็นข้ออ้างรัฐประหาร โดยการนำสองจอมพลดังกล่าวกลับประเทศเป็นส่วนหนึ่งของแผนด้วย แต่ "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มแรก ซึ่งฤดี เริงชัยเสนอว่า เหตุการณ์นี้อาจน่าสยดสยองขึ้นหากไม่มีรัฐประหารดังกล่าว[3]: 4  สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนว่า ตัวการปราบปรามนักศึกษาน่าจะเป็นกลุ่มซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นกลุ่มพลเอกฉลาดและพลโทวิทูรย์ และเตรียมก่อการรัฐประหารในเวลาดึก[3]: 75 

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามคำสั่งที่ ๔๓/๒๕๑๙ [4] โดยแต่งตั้งนาย ประกอบ หุตะสิงห์ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยและนาย ปรีดี เกษมทรัพย์ เป็นอธิการบดีและปลดนาย โกศล สินธวานนท์ พ้นจากอธิบดีกรมการเมืองปลดนาย ชวาล ชวณิชย์ จากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทยตามคำสั่งที่ ๕๐/๒๕๑๙ [5]

โดยประกาศฉบับหนึ่งที่ความสำคัญคือ ประกาศฉบับที่ 5 ที่ว่าด้วยการควบคุมสื่อมิให้เผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม - 9 ตุลาคม ซึ่งในช่วงเวลา 3 วันนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวจนบัดนี้ที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกห้ามตีพิมพ์และจัดจำหน่าย และประกาศคณะปฏิรูปฉบับนี้ได้ครอบคลุมรวมถึงสื่อทุกสื่อรวมถึงโทรทัศน์ด้วย[6]

ผู้นำคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

แก้

การตั้งรัฐบาลใหม่

แก้
 
ธานินทร์ กรัยวิเชียร

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งให้ธานินทร์ กรัยวิเชียรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ร่วมร่างแถลงการณ์ต่างๆ ก่อนรัฐประหาร[7] โดยนายทหารในคณะปฏิรูปการปกครองได้เปลี่ยนสถานะของตัวเองเป็น สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีสมาชิก 340 คน ทำหน้าที่เหมือนรัฐสภาและฝ่ายนิติบัญญัติ ให้การสนับสนุนรัฐบาลธานินทร์ โดยที่คณะรัฐมนตรีธานินทร์มีรัฐมนตรี 17 คนเท่านั้น และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้แก่ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นั่นเอง ซึ่งนายธานินทร์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่อมาว่า รัฐบาลเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก โดยมีนัยถึงเป็นรัฐบาลที่มีคณะนายทหารคอยให้ความคุ้มกัน จึงได้รับฉายาว่า รัฐบาลหอย

รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำเนินนโยบายทางการเมืองอย่างขวาตกขอบ มีการจับกุมและทำร้ายผู้ที่สงสัยว่าอาจกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงโดยอาศัยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 มาตรา ๒๑ จึงทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด

แต่ทว่า การดำเนินงานของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ประสบกับปัญหาตลอด ทั้งเหตุการณ์การก่อการร้ายโดยคอมมิวนิสต์ และปัญหาภายในรัฐบาลเอง เช่น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นไปด้วยความล่าช้าอีกทั้งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ออกมามีแผนพัฒนาประชาธิปไตยนานถึง 3 ขั้น กินเวลา 12 ปี ไม่ทันการกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือ การเกิดเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 โดย พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ การปราบปรามผู้ที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น จนหลายครั้งปราศจากการตรวจสอบ ส่งผลให้มีนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลต้องหลบหนีเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สถานการณ์ของประเทศเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง ในที่สุดคณะนายทหารในสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดเดิมที่นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ จึงได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 และแต่งตั้ง พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน สถานการณ์ต่าง ๆ จึงเริ่มคลี่คลาย เมื่อรัฐบาลพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนที่หลบหนีเข้าป่า จึงเริ่มทยอยกลับคืนสู่เมืองอีกครั้ง

อ้างอิง

แก้
  1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. กรุงเทพฯ : มูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, 2548. 90 หน้า. ISBN 974-9353-50-1
  2. คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๒
  3. 3.0 3.1 อึ๊งภากรณ์, ใจ; ยิ้มประเสริฐ, สุธาชัย; และคณะ (2544). อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง (PDF). คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519. ISBN 9748858626. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-19. สืบค้นเมื่อ 2020-07-19.
  4. คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๔๓/๒๕๑๙ เรื่อง แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๓ ตอน ๑๓๔ ง หน้า ๑๕ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
  5. คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ ๕๐/๒๕๑๙ เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอน ๑๓๔ ง หน้า ๒๒ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
  6. คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ คำสั่งให้สื่อมวลชนอยู่ในความควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน)
  7. คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้