กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

(เปลี่ยนทางจาก กบฏ 26 มีนาคม 2520)

กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เป็นความพยายามก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดย พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520
วันที่26 มีนาคม พ.ศ. 2520 (47 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล

ชัยชนะของรัฐบาล

  • พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ ถูกตัดสินประหารชีวิต
คู่สงคราม
รัฐบาลธานินทร์ ฝ่ายกบฎ
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
ธานินทร์ กรัยวิเชียร
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
พลเอก เสริม ณ นคร
พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ
พันโท สนั่น ขจรประศาสน์
พันตรี บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์
พันตรี วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์
พันตรี อัศวิน หิรัญศิริ
พลตรี อรุณ ทวาทศิน ถูกพลเอก ฉลาด ยิงเสียชีวิต

เหตุการณ์

แก้

โดยเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์หลังการจลาจลและรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผ่านมาได้ 3 เดือน มีความวิตกกังวลและตรึงเครียดอยู่เสมอ ๆ ว่า อาจจะมีการรัฐประหารซ้อนขึ้นมาจากทหารกลุ่มที่ไม่ใช่ทหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น (สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) จนกระทั่งเกิดขึ้นจริงในเวลาเช้ามืดของวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เมื่อทหารกลุ่มหนึ่ง ที่นำโดย พล.อ. ฉลาด ซึ่งเป็นอดีตรองผู้บัญชาการทหารบกที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในกองทัพ จำนวน 300 นาย จาก กองพันทหารราบที่ 19 พัน 1, 2 และ 3 แต่งเครื่องแบบสนามติดธงไตรรงค์เล็ก ๆ ที่ต้นแขนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ พร้อมอาวุธปืน เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ดังที่ปรากฏข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนบัญชาการในกรุงเทพมหานคร

ต่อมาในเวลาสาย คณะผู้ก่อการที่นำโดย พล.อ. ฉลาด ได้ออกประกาศทางวิทยุกระจายเสียงเป็นแถลงการณ์ อ้างถึงความเสื่อมโทรมด้านต่าง ๆ และอ้างเหตุของการยึดอำนาจ โดยมีใจความว่า

ทั้งนี้เพื่อเป็นแกนกลางของบรรดาผู้รักชาติที่จะร่วมมือกันที่จะแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองให้ดีขึ้น และเพื่อสถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด

โดยอ้างว่า แถลงการณ์ฉบับนี้ลงนามโดย พล.อ. ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งเป็นนายทหารที่บรรดากำลังพลในกองทัพให้ความเคารพนับถืออยู่ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ได้มีนักการเมืองที่มีชื่อเสียง 2 คน เข้าร่วมด้วย คือ นายวีระ มุสิกพงศ์ และ พ.ท. สนั่น ขจรประศาสน์

จากแถลงการณ์นี้ทำให้ รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลท่านหนึ่งที่อยู่ที่ต่างจังหวัด ถึงกับคิดว่ารัฐบาลถูกยึดอำนาจไปแล้วเรียบร้อย รีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ และคืนรถประจำตำแหน่งและกลับบ้านพักของตัวเอง

ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปราว 1 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นนำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ. กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ. เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้รวมตัวกันและออกแถลงการณ์ตอบโต้ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ยืนยันว่า กองกำลังทหารและตำรวจยังยืนอยู่ข้างรัฐบาล และอ้างว่า พล.อ. ประเสริฐ ถูกบังคับให้ลงนามโดยที่ไม่เต็มใจ และได้ร่วมกันปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ โดยเข้าปิดล้อม จนนำไปสู่การเจรจาและฝ่ายผู้ก่อการยอมมอบตัวและขอให้ผู้นำการปฏิบัติการครั้งนี้ลี้ภัยไปยังต่างประเทศ แต่เอาเข้าจริงแล้ว พล.อ. ฉลาด หิรัญศิริ ผู้นำการก่อการถูกจับและถูกดำเนินคดี ด้วยการถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 ความว่า "มาตรา ๒๗ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใด ๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยกฎหมาย"[1] ในวันที่ 21 เมษายน ปีเดียวกันนั้น นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้[2][3]

หลังจากสิ้นสุด

แก้

โดยในเหตุการณ์ครั้งนี้ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ถูกยิงเสียชีวิตด้วยจาก พล.อ.ฉลาด เมื่อเป็นผู้พยายามเข้าไปแย่งปืนจาก พล.อ.ฉลาด ระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความพยายามในการรัฐประหารครั้งนี้ล้มเหลว เนื่องจากขาดกำลังสนับสนุนจากทหารในกองพลที่ 1 ซึ่งเป็นทหารที่คุมกำลังในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวง[4]

อย่างไรก็ตาม ในที่สุด พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จในวันที่ 20 ตุลาคม ปีเดียวกับกบฏครั้งนี้ หรืออีก 7 เดือนต่อมานั่นเอง

อ้างอิง

แก้
  1. คณะปฏิวัติ. "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 - วิกิซอร์ซ". th.wikisource.org.
  2. กองบรรณาธิการมติชน. รัฐประหาร 19 กันยา '49 เรียบแต่ลึก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549. ISBN 947-323-851-4
  3. กบฏอดข้าว โดย ไทยรัฐ
  4. นรนิติ เศรษฐบุตร ศ., 26 มีนาคม คอลัมน์ส่วนร่วมสังคมไทย: หน้า 8 เดลินิวส์ฉบับที่ 22,807 ประจำวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555