สัตว์เลื้อยคลาน

สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
(เปลี่ยนทางจาก Reptile)
สัตว์เลื้อยคลาน
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 320–0Ma ยุคคาร์บอนิเฟอรัส - ปัจจุบัน
ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย: เต่าตนุ, ทัวทารา, จระเข้แม่น้ำไนล์, และ Sinai agama.
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Sauropsida
ชั้น: Reptilia
Laurenti, 1768
อันดับ
แผนที่การกระจายพันธุ์ของสัตว์เลื้อยคลานทั่วโลก

สัตว์เลื้อยคลาน (อังกฤษ: reptile) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง โดยคำว่า Reptilia มาจากคำว่า Repera ที่มีความหมายว่า "คลาน" เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่จัดเป็นสัตว์ในกลุ่มแรก ๆ ของโลกที่มีการดำรงชีวิตบนบกอย่างแท้จริง สัตว์เลื้อยคลานในยุคดึกดำบรรพ์ที่รอดชีวิตจากการสูญพันธุ์และยังดำรงชีวิตในปัจจุบัน มีจำนวนมากถึง 7,000 ชนิด[1] กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งชนิดอาศัยในแหล่งน้ำและบนบก จัดเป็นกลุ่มของสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์หินอุกกาบาตพุ่งชนโลกมามากกว่า 100 ล้านปีมาแล้ว

ในยุคจูแรสซิกที่อยู่ในมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งมีอายุของยุคที่ยาวนานถึง 100 ล้านปี จัดเป็นยุคที่สัตว์เลื้อยคลานมีวิวัฒนาการจนถึงขีดสุด[2] มีสัตว์เลื้อยคลานมากมายหลากหลายขนาด ตั้งแต่กิ้งก่าตัวเล็ก ๆ จนถึงไทรันโนซอรัส เร็กซ์ซึ่งเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนมากมายครอบครองพื้นที่ทั่วทุกแห่งในโลก ยุคจูแรสซิกจึงถือเป็นยุคของสัตว์เลื้อยคลานอย่างแท้จริง ต่อมาภายหลังเกิดเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลก ทำให้กลุ่มสัตว์บกที่อาศัยในยุคจูแรสซิก เกิดล้มตายและสูญพันธุ์อย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุของการสูญพันธุ์ที่ชัดเจนและแน่นอน

การสูญพันธุ์และการปรับตัว แก้

จากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลกเมื่อ 100 ล้านปีมาแล้ว ทำให้สัตว์เลื้อยคลานในยุคจูแรสซิกเกิดการสูญพันธุ์อย่างกะทันหัน จำนวนที่เคยมีมากถึง 12 กลุ่ม ได้ลดจำนวนลงเหลืออยู่เพียง 4 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ดีที่สุดคืองู และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดได้แก่ จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน และรองลงมาเป็นจระเข้และแอลลิเกเตอร์ สำหรับสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มที่ยังคงลักษณะทางกายภาพแบบโบราณ ที่ไม่มีการปรับตัวให้แตกต่างไปจากบรรพบุรุษคือเต่า และสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มสุดท้ายคือทัวทารา ซึ่งมีเพียงชนิดเดียวและสามารถพบเห็นได้ที่นิวซีแลนด์เพียงประเทศเดียวเท่านั้น[3]

สัตว์เลื้อยคลาน มีการปรับสภาพร่างกายที่แตกต่างไปจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายอย่าง ซึ่งทำให้สัตว์เลื้อยคลานนั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในทะเลทรายได้ แต่สำหรับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่สามารถดำรงชีวิตในทะเลทรายได้ เนื่องจากเวลาผสมพันธุ์ จะต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นตัวกลางในการผสมพันธุ์ ผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานมีความแห้ง หยาบกระด้างกว่าผิวหนังที่ลื่น และเป็นเมือกของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งจะช่วยป้องกันการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย และช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผิวหนังรวมทั้งไม่มีต่อมเหงื่อและต่อมน้ำมันอยู่ใต้ชั้นของผิวหนัง ซึ่งช่วยทำให้ป้องกันการสูญเสียน้ำและการระเหยของน้ำได้เป็นอย่างดี

สิ่งสำคัญที่สุดคือ สัตว์เลื้อยคลานนั้นจะวางไข่บนพื้นดิน และมีการวิวัฒนาการให้มีการปฏิสนธิของตัวอ่อนภายในเปลือกไข่ ซึ่งเป็นการปรับตัวตามสภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีการดำรงชีวิตให้รอดพ้นจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการวิวัฒนาการของเปลือกไข่ เพื่อช่วยให้ตัวอ่อนภายในไข่มีชีวิตรอดออกมาเป็นตัว เปลือกไข่ของสัตว์เลื้อยคลานทำให้สามารถวางไข่บนพื้นดินแห้งได้ เอมบริโอจะเจริญเติบโตและลอยตัวอยู่ในของเหลวภายใน ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มเยื่อหุ้มไข่ (Amnion) เอมบริโอจึงมีของเหลวล้อมรอบเช่นเดียวกับการวางไข่ในแหล่งน้ำ นอกจากนี้เอมบริโอยังมีถุงอาหารที่มีเยื่ออัลแลนทอยส์ (Allantois) ซึ่งเป็นเยื่อสำหรับการแลกเปลี่ยนแก๊สผ่านเปลือกไข่ ที่เยื่ออัลแลนทอยส์ จะมีถุงสำหรับสะสมของเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจริญเติบโต จนเป็นตัวเต็มวัยก่อนออกจากเปลือกไข่ ซึ่งการที่สัตว์เลื้อยคลานสามารถวางไข่บนบกได้นั้น จึงเป็นผลของการวิวัฒนาการร่างกายที่ดีกว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก

วิวัฒนาการ แก้

 
สัตว์ต้นตระกูลขนาดเล็ก ต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลาน

สัตว์เลื้อยคลาน มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในกลุ่ม Labyrinthodont ที่นักชีววิทยาต่างยอมรับในด้านของการวิวัฒนาการ เป็นสัตว์ที่มีเกล็ดปกคลุมผิวหนังทั่วทั้งลำตัวเช่นเดียวกับปลาที่มีชีวิตอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous period) ในมหายุคพาลีโอโซอิก (Palaeozoic era) หรือเมื่อประมาณ 280 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานที่เป็นต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดคือ Captorhinomorphs ซึ่งมีรูปร่างและลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์จำพวกกิ้งก่า สัตว์ต้นตระกูลของสัตว์เลื้อยคลาน จัดเป็นสัตว์ขนาดที่มีขนาดลำตัวเล็ก อาหารส่วนใหญ่จึงเป็นแมลง

จากสัตว์ต้นตระกูลขนาดเล็ก ได้มีการวิวัฒนาการทางด้านกายภาพอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสัตว์เลื้อยคลานในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในการวิวัฒนาการ มีด้วยกันทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ไดโนเสาร์ (Dinosaurs) สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในทะเล (Marinereptiles - euryapsida) สัตว์เลื้อยคลานที่สามารถบินได้ (Flying reptiles - pterisaurs) และสัตว์เลื้อยคลานที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammal reptiles - therapsida)

สัตว์เลื้อยคลานมีการปรับสภาพร่างกายตั้งแต่ในยุคไทรแอสซิก และมีวิวัฒนาการในการด้านปรับสภาพร่างกายจนถึงขีดสุดในยุคต่อมาคือยุคจูแรสซิก ซึ่งเป็นยุคที่มีสัตว์เลื้อยคลานมากที่สุดในขณะนั้นคือไดโนเสาร์และเทอโรซอส์ จนได้รับการขนานนามสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ว่า "สัตว์เลื้อยคลานเจ้าโลก" (Ruling eptile) เนื่องจากในยุคนั้น เป็นยุคที่มีสัตว์เลื้อยคลานครอบครองโลก แต่เมื่อถึงปลายยุคครีเทเซียส หรือเมื่อประมาณ 65 - 80 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลื้อยคลานทั้ง 2 กลุ่มได้เกิดการสูญพันธุ์ ล้มตายลงเป็นจำนวนมากอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุของการสูญพันธุ์ และในตอนปลายของยุคครีเทเซียส ได้เกิดการเปลี่ยนปลงต่าง ๆ จำนวนมากเช่น เกิดพืชและไม้ดอกในยุคปัจจุบัน

ภายหลังจากสัตว์เลื้อยคลานเริ่มสูญพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเริ่มมีการแพร่กระจายเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนครอบครองโลกแทนสัตว์เลื้อยคลาน สภาพภูมิอากาศจากที่ร้อนจัดจนสิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เริ่มเย็นลงตามลำดับและมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ที่ปรากฏในยุคปัจจุบันเริ่มถือกำเนิดขึ้น แต่ไดโนเสาร์และเทอโรซอส์ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน หรืออาจสูญพันธุ์จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปร่วมกับปัจจัยในด้านนิเวศวิทยา

แต่ยังมีสัตว์เลื้อยคลาน 4 กลุ่มและบางชนิด ที่สามารถเอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์ได้ จนมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันเช่นเต่าที่จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคโบราณ ที่ยังมีชีวิตรอดมาได้เนื่องจากมีกระดองสำหรับป้องกันตัวเอง งูและสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณที่เป็นป่าโปร่ง และตามซอกหิน ช่วยทำให้รอดพ้นจากศัตรู จระเข้และแอลลิเกเตอร์มีขนาดร่างกายที่ใหญ่และดูน่ากลัว รวมทั้งพละกำลังมหาศาลทำให้มีศัตรูน้อย เป็นต้น

ลักษณะทั่วไป แก้

 
รยางค์และนิ้วเท้าของแอลลิเกเตอร์ มักแผ่ออกเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว
 
ลักษณะกระดองของเต่า ที่เป็นผิวหนังชั้นเยื่อบุผิว

สัตว์เลื้อยคลานโดยทั่วไป จะมีรยางค์เป็นคู่และมักจะมีนิ้วเท้าทั้งหมด 5 นิ้วเสมอ[4] เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างรวดเร็ว โครงร่างโดยทั่วไปประกอบด้วยกระดูกที่มีการเจริญเติบโตเป็นอย่างดี ในการจำแนกสัตว์เลื้อยคลาน จะใช้วิธีการอาศัยลักษณะของกะโหลก ซึ่งมีความแตกต่างกันในสัตว์เลื้อยคลานแต่ละกลุ่มเป็นตัวจำแนกเช่น งูมีข้อกระดูกสันหลังจำนวนมาก ไม่มีกระดูกอกและไม่มีกระดูกรองรับแขนขา

มีการปรับโครงสร้างและสภาพร่างกายเพื่อรองรับการปีนป่าย การวิ่ง รวมทั้งการว่ายน้ำ ซึ่งการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายของสัตว์เลื้อยคลาน จะไม่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่จะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเช่น งู และสัตว์จำพวกกิ้งก่าบางชนิดที่ไม่มีรยางค์ มีผิวหนังหรือระบบเครื่องห่อหุ้ม (Integumentary system) ซึ่งจะแตกต่างกันตามรูปร่างและลักษณะของสัตว์เลื้อยคลาน ที่มีความแตกต่างกันไปในกลุ่มต่าง ๆ ผิวหนังและตลอดทั่วทั้งลำตัวมีเกล็ดแข็งขึ้นปกคลุม ซึ่งเป็นเกล็ดที่เกิดจากอิพิเดอร์มิส (Horny epidermal scale) และอาจจะมีแผ่นกระดูกจากชั้นของผิวหนังเดอร์มิส (Dermal plate) ร่วมอยู่ด้วย

มีต่อมที่บริเวณผิวหนังน้อยมากหรือไม่มีเลยในบางกลุ่มและบางชนิด สัตว์เลื้อยคลานมีผิวหนังที่ประกอบด้วยอิพิเดอร์มิสที่บางและหนา มีเดอร์มิสที่มีเซลล์เม็ดสี (Chromatophore) ช่วยทำให้ผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานมีสีสันต่าง ๆ เช่น สีเกล็ดของงูชนิดต่าง ๆ สีเกล็ดของจระเข้ หรือสีเกล็ดของกิ้งก่า จิ้งเหลน เป็นต้น เกล็ดของสัตว์เลื้อยคลานส่วนใหญ่เกิดจากอิพิเดอร์มิส ซึ่งในบางชนิดจะมีเกล็ดถาวรตลอดชีวิต ตั้งแต่ออกจากไข่จนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยเช่น จระเข้ เหี้ย มังกรโคโมโด แอลลิเกเตอร์ ฯลฯ

แต่สำหรับสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดเช่นจิ้งจก งู หรือกิ้งก่า จะทำการสร้างเกล็ดขึ้นมาใหม่ภายใต้ชั้นผิวหนังที่มีเกล็ดเดิมปกคลุมอยู่ การสร้างเกล็ดใหม่จะช่วยทำให้เกล็ดเดิมที่บริเวณชั้นผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลาน เกิดการลอกหลุดออกทั้งชั้นเช่นการลอกคราบของงู โดยงูจะทิ้งเกล็ดเดิมเอาไว้ทั้งหมดด้วยวิธีการปลิ้นออกจากร่างกายตั้งแต่หัวจรดหาง โดยที่คราบจะยังคงรูปเดิมเอาไว้และไม่ฉีกขาด แต่สำหรับลิซาร์ดหรือสัตว์จำพวกกิ้งก่า จะใช้วิธีการทำให้เกล็ดที่ปกคลุมผิวหนังอยู่เดิมนั้นเกิดการแตกแยกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วเกล็ดใหม่จะขึ้นมาแทนที่เกล็ดเดิมที่หลุดออกไป

เต่าจะมีกระดองที่เป็นผิวหนังชั้นเยื่อบุผิว ซึ่งกระดองเต่านั้นจะเป็นแผ่นเกล็ดปกคลุมร่างกาย (Epidermal horny shield scutes) และผิวหนังชั้นในที่มีแผ่นกระดูก (Dermal hony plate) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูก มีลักษณะติดอยู่กับด้านในของแผ่นเกล็ด ซ้อนกันเป็นชั้นจนกลายเป็นกระดองของเต่าที่มีความแข็งแรงคงทน สำหรับช่วยป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่เต่า กระดองเต่าบริเวณด้านหลังเรียกว่าคาราเพส (Carapace) มีลักษณะเหมือนกับรูปโดม ขนาดเล็กหรือใหญ่ของกระดองเต่าจะขึ้นอยู่กับลักษณะภายนอกและขนาดของเต่าเป็นสำคัญ

กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงของเต่า จะขยายตัวออกและเชื่อมติดกันเป็นเนื้อเดียว ติดกับบริเวณผิวด้านในของเกล็ด สำหรับกระดองเต่าบริเวณด้านท้องเรียกว่าพลาสทรอน (Plastron) จะมีกระดูกรองรับบริเวณแขน ขา และส่วนกระดูกบริเวณอกที่แบนลงไปจะเกาะติดกับบริเวณด้านในของเกล็ดบริเวณด้านท้องของกระดองเต่า แผ่นเกล็ดและแผ่นกระดูกจะมีการเรียงตัวอย่างสวยงามและเหลื่อมซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งระหว่างกระดองเต่าบริเวณด้านหลังและกระดองเต่าบริเวณด้านท้อง จะมีเยื่อหรือกระดูกที่เชื่อมต่อทางด้านข้าง แต่สำหรับเต่าบางชนิดนั้นจะไม่มีแผ่นเกล็ด ผิวหนังบริเวณลำตัวจะมีความอ่อนนุ่มและเหนียวคล้ายคลึงกับผิวหนังแทน

การจำแนกหมวดหมู่สัตว์เลื้อยคลาน แก้

การจำแนกหมวดหมู่ของสัตว์เลื้อยคลานในปัจจุบัน จากเดิมที่เคยมีมากถึง 12 กลุ่ม แต่ภายหลังจากการสูญพันธุ์อย่างกะทันหันของไดโนเสาร์ จึงเหลือกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานเพียงแค่ 4 กลุ่มเท่านั้น และเป็นการจัดอันดับของสัตว์เลื้อยคลานตามแบบของ Hickman et al., 198 ดังนี้[5]

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีผิวหนังเป็นเกล็ดปกคลุมร่างกายสำหรับป้องกันตัว มีฟันเกาะอยู่กับขากรรไกร มีกระดูกสันหลังที่เว้าบริเวณด้านหน้า ทวารหนักเป็นช่องตามแนวขวาง ได้แก่งูซึ่งมีจำนวนประมาณ 3,000 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดหรือกิ้งก่าและงู ซึ่งมีจำนวนประมาณ 3,800 ชนิด

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีร่างกายที่มีสิ่งห่อหุ้ม มีลักษณะเป็นแผ่นกระดูกที่เกิดจากชั้นผิวหนังเดอร์มิส ขากรรไกรไม่มีฟัน กระดูกสันหลังและกระดูกซี่โครงเชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นโครงร่างหรือกระดองภายใน ทารหนักเป็นช่องตามแนวยาว ได้แก่เต่าซึ่งมีจำนวนประมาณ 250 ชนิด

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีกระดูกสันหลังที่มีลักษณะเว้าบริเวณด้านหน้า ขาคู่หน้ามักจะมีนิ้วเท้า 5 นิ้ว และขาคู่หลังมี 4 นิ้วเสมอ ทวารหนักเป็นช่องตามแนวยาว ได้แก่จระเข้และแอลลิเกเตอร์ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 25 ชนิด

สัตว์เลื้อยคลานในอันดับนี้ มีกระดูกสันหลังที่เว้าทั้ง 2 ด้าน มีนัยน์ตาอยู่บริเวณกลางศีรษะ (Parietal eye) ทวารหนักเป็นช่องตามแนวขวาง ได้แก่ทัวทาราซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานเพียงชนิดเดียวในอันดับนี้

Amniota

Synapsida (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และญาติที่สูญพันธุ์ไปแล้ว)  


Reptilia
Parareptilia

Millerettidae  


unnamed

Eunotosaurus


Ankyramorpha

Lanthanosuchidae  


Procolophonia

Procolophonoidea  



Pareiasauromorpha  






Eureptilia

Captorhinidae  


Romeriida

Paleothyris


Diapsida

Araeoscelidia  


Neodiapsida

Claudiosaurus 




Younginiformes  


Reptilia
Lepidosauromorpha

Kuehneosauridae  


Lepidosauria

Rhynchocephalia (ทัวทารา และญาติที่สูญพันธุ์ไปแล้ว)  



Squamata (กิ้งก่า และงู)    




Archosauromorpha


Choristodera  




Prolacertiformes  





Trilophosaurus 



Rhynchosauria  




Archosauriformes (จระเข้, นก, ไดโนเสาร์และญาติที่สูญพันธุ์)    





 Pantestudines 

Eosauropterygia  




Placodontia  




Sinosaurosphargis




Odontochelys


Testudinata

Proganochelys



Testudines (turtles)  

















สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดและงู แก้

 
กิ้งก่า สัตว์ในอันดับ อันดับ Squamata
 
ตุ๊กแก สัตว์ในอันดับ อันดับ Squamata
 
งู สัตว์ในอันดับ อันดับr Squamata

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดได้แก่กิ้งก่าชนิดต่าง ๆ และงู ถือเป็นผลจากการวิวัฒนาการร่างกายในระดับสูงสุด มีจำนวนประมาณร้อยละ 95 ของสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถรอดชีวิตจากการสูญพันธุ์ในยุคครีเทเซียส ในขณะที่ไดโนเสาร์มีวิวัฒนาการที่เจริญอย่างถึงขีดสุด ความสำเร็จในการเอาตัวรอดของสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด เกิดจากการวิวัฒนาการขากรรไกร ทำให้เกิดความคล่องตัวและการเคลื่อนไหวไปมา งูมีการวิวัฒนาการจนถึงขีดสุดในยุคครีเทเซียสตอนปลาย ซึ่งอาจจะเป็นการวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ด ทำให้มีขากรรไกรที่คล่องตัวเช่นเดียวกัน แต่สำหรับงูที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ฝังตัวเองภายในดิน ได้มีการพัฒนาการตัวเองให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ทำให้สามารถกินเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองได้หลายเท่า

สัตว์เลื้อยคลานมีถิ่นที่อยู่อาศัยและแพร่กระจายในวงกว้าง สามารถดำรงชีวิตบนบกหรือฝังตัวเองอยู่ใต้ดิน อาศัยในแหล่งน้ำ พุ่มไม้ และมีบางกลุ่มที่สามารถร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ได้ ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดที่หลงเหลือในปัจจุบันได้แก่จิ้งจก ตุ๊กแก ที่จัดเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ปราดเปรียวว่องไว ออกหากินในเวลากลางคืน นิ้วเท้ามี 5 นิ้วและแผ่ออก สามารถไต่และยึดเกาะกับผนังและเพดานได้ดี อิกัวนาในนิวซีแลนด์จะมีเกล็ดที่ปกคลุมผิวหนังที่มีสีสันสดใส มีแผงหลังเป็นสันตามยาว บริเวณแผงคอแผ่ออกคล้ายกับพัด จิ้งเหลนจะมีลำตัวยาว ขามีขนาดเล็ก

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดเช่น กิ้งก่า ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ตามพุ่มไม้ในทวีปแอฟริกาและเกาะมาดากัสการ์ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากกิ้งก่าที่อาศัยในแถบทวีปอื่นเล็กน้อย ปลายลิ้นจะมีสารเหนียวสำหรับจับแมลง ซึ่งลักษณะตามถิ่นที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม จะเป็นตัวกำหนดให้ต้องมีการปรับตัวเฉพาะอย่างเช่น ในประเทศอินเดียมีกิ้งก่าบินสีฟ้า ที่มีผนังข้างลำตัวแผ่ออกเป็นปีกบาง ๆ ทำให้สามารถร่อนไปมาระหว่างต้นไม้ได้ หรือมังกรโคโมโดที่ปัจจุบันมีอยู่เฉพาะที่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดที่มีขนาดรูปร่างใหญ่โตที่สุด โดยทั่วไปขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 เมตร กินกวางขนาดเล็ก หมูป่าและแกะเป็นอาหาร หรือตุ๊ดตู่ที่พบได้ตามหมู่เกาะมาลายู สุมาตรา บอร์เนียว พม่าและไทย

สัตว์เลื้อยคลานชนิดที่มีพิษได้แก่ Beaded lizard จะมีเกล็ดปกคลุมผิวหน้าที่มีลักษณะคล้ายลูกปัด มีอยู่ 2 ชนิดคือ Gila monsters ชนิด Heloderma suspectum อาศัยอยู่ในแถบทะเลทรายทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ เป็นชนิดที่สามารถสะสมไขมันไว้ที่บริเวณปลายหาง และ Heloderma horridum ในเม็กซิโกและอเมริกากลาง สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดทั้ง 2 ชนิด จะเปลี่ยนแปลงต่อมบริเวณผนังขากรรไกรด้านล่าง ให้สามารถสร้างพิษแล้วส่งมาตามร่องฟันในเวลากัดเหยื่อ ซึ่งลักษณะของวิธีการส่งพิษแบบนี้จะไม่มีประสิทธิภาพมากนักและไม่เป็นอันตรายร้ายแรงเหมือนถูกงูกัด บาดแผลจะหายเป็นปกติในระยะเวลาอันสั้น

สัตว์เลื้อยคลานชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลทราย จะมีวิธีการรักษาอุณหภูมิของสภาพร่างกายให้ทนต่อสภาพอากาศร้อนจัดตามธรรมชาติ โดยสร้างพฤติกรรมในการรักษาอุณหภูมิของร่างกายด้วยการออกจากที่ฝังตัวเพื่อมานอนอาบแดดในตอนเช้าในขณะที่อากาศเริ่มอุ่น ลักษณะลำตัวเฉพาะที่แผ่แบนจะช่วยดูดซึมเอาความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี เมื่ออากาศเริ่มร้อนขึ้นตามลำดับ จะหันหัวเข้าหาดวงอาทิตย์เพื่อให้บริเวณลำตัวถูกแสงแดดให้น้อยที่สุด เมื่ออากาศเปลี่ยนเป็นร้อนจัดในตอนเที่ยงก็จะกลับเข้าไปอยู่ในรู และเมื่อดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า อากาศเริ่มเย็นลงก็จะออกมานอนอาบแดดใหม่อีกครั้งจนกว่าแสงแดดจะหมด จึงจะกลับเข้าไปฝังตัวในรูอีกครั้ง

พฤติกรรมดังกล่าว จะช่วยให้สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่อยู่ในระหว่าง 36 - 39 องศาเซลเซียส ในขณะที่สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตลอดเวลา คืออยู่ในระหว่าง 29 - 44 องศาเซลเซียส แต่มีบางชนิดที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมและอุณหภูมิที่ร้อนจัดได้เช่น เหี้ยที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ ต้องการรักษาอุณหภูมิร่างกายอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส แต่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนจัดได้ถึง 47 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไม่สามารถทนได้

สัตว์เลื้อยคลานจำพวกลิซาร์ดเช่น กิ้งก่าจำนวนมากที่มีความสามารถในการเอาตัวรอดด้วยการสลัดหางทิ้งในเวลาถูกจับตัว เป็นลักษณะหนึ่งของการเอาตัวรอดด้วยการดัดแปลงส่วนบริเวณโคนหาง ให้สามารถหลุดขาดออกจากลำตัวได้อย่างง่ายดาย โดยที่กระดูกปลายหางตอนกลางจะมีร่องตามขวาง เมื่อถูกศัตรูจับหรือตะปบได้ รอยต่อตรงร่องกระดูกจะขาดออกแล้วสลัดหางทิ้งเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจก่อนจะหลบหนีไป หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างกระดูกบริเวณส่วนหางและกล้ามเนื้อขึ้นมาแทนใหม่อีกครั้ง

สำหรับงูซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีขา เป็นเพียงชนิดเดียวที่ไม่มีกระดูกรองรับแขน (Pectoral girdle) และไม่มีกระดูกเชิงกราน (Pelvic girdle) แต่สำหรับงูที่มีขนาดลำตัวใหญ่โตเช่น งูเหลือม งูหลามหรืออนาคอนดา ยังคงหลงเหลือร่องรอยของกระดูกเชิงกรานอยู่ มีข้อของกระดูกสันหลังที่สั้นและมีความกว้างมากกว่าสัตว์สี่เท้าชนิดอื่น ๆ ทำให้สามารถเคลื่อนไหวลำตัวแบบลูกคลื่นได้ งูเป็นสัตว์ที่มีกระดูกซี่โครงแข็งแรงกว่าแท่งกระดูกสันหลัง ทำให้สามารถทนแรงกดดันทางด้านข้างได้มากกว่า

การเคลื่อนที่ขึ้นลงของกระดูกสันหลังของงู จะทำให้กล้ามเนื้อถูกยกขึ้นลงไปด้วย กะโหลกศีรษะมีลักษณะเฉพาะตัว หนังตาไม่เคลื่อนไหว นัยน์ตาไม่กะพริบ งูมีหนังตาบนและล่างที่ยาวเชื่อมติดกันไว้อย่างถาวร ไม่มีหูตอนนอกและแก้วหู (Tympanum) จึงไม่ได้ยินเสียงรอบข้าง แต่มีความไวต่อการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นเช่น เสียงเดินบนพื้น นอกจากนี้งูยังมีประสิทธิภาพในด้านการมองเห็นที่ต่ำ ยกเว้นงูที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อน ตามต้นไม้จะมีงูที่มีนัยน์ตาดีเยี่ยมอาศัยอยู่ ทำให้สามารถติดตามเหยื่อที่แฝงตัวและหลบซ่อนตามกิ่งก้านของต้นไม้ได้เป็นอย่างดี งูส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ใช้การรับรู้ทางด้านความรู้สึกทางเคมีเช่น ความร้อนของร่างกายช่วยในการล่าเหยื่อ

งูในตระกูล Viperidae คือกลุ่มงู Vipers ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ มีลักษณะเฉพาะคือบริเวณส่วนของตาและจมูกจะมีแอ่งบุ๋มลึกลงไป สำหรับทำหน้าที่รับความรู้สึกและความร้อนจากร่างกายของเหยื่อ มีฟันที่ขากรรไกรด้านบน 1 คู่ ที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นเขี้ยวงู เมื่อเวลาหุบปากและขดตัวอยู่นิ่ง ๆ เขี้ยวที่อยู่ด้านบนจะวางนอนอยู่บนเยื่อหุ้ม (Membrana sheath) เมื่อโจมตีเหยื่อ ระบบกล้ามเนื้อในร่างกายจะทำงานร่วมกับกระดูกในการง้างเขี้ยวให้ตั้งฉากกับเพดานปากเมื่องูฉกกัด เมื่อเขี้ยวเจาะผ่านเข้าไปในร่างกายของเหยื่อ พิษงูจะไหลมาตามท่อในเขี้ยวตรงไปยังบาดแผล หลังจากนั้นงูจะปล่อยเหยื่อทันทีและจะเฝ้าติดตามจนกว่าเหยื่อจะสลบหรือขาดใจตาย จึงจะกลืนกินเหยื่อเข้าไปทั้งตัว

ส่วนใหญ่งูชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ จะอาศัยอยู่ในเขตร้อนหรือใกล้กับเขตร้อนของโลก งูไม่มีพิษจะใช้วิธีฆ่าเหยื่อด้วยการรัดหรือกัดให้ตายแล้วกลืนกิน ซึ่งอาหารส่วนใหญ่คือหนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก รวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น ปลา กบและแมลง บางชนิดกินไข่ของสัตว์อื่นเป็นอาหาร งูพิษมีประมาณไม่ถึง 1 ใน 3 ของงูทั้งหมด แบ่งตามลักษณะของเขี้ยวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. เขี้ยวแบบพับเก็บได้ ลักษณะเขี้ยวแบบพับเก็บได้ จะพบได้ในสกุลงูแมวเซา สกุลงูกะปะและสกุลงูเขียวหางไหม้ ลักษณะของเขี้ยวจะอยู่ที่ด้านหน้าของปาก สามารถพับเก็บเขี้ยวเข้าไปในปากได้
  2. เขี้ยวแบบพับเก็บไม่ได้ ลักษณะเขี้ยวแบบพับเก็บไม่ได้ จะพบได้ในสกุลงูเห่า สกุลงูปล้องหวาย สกุลงูสามเหลี่ยมและสกุลงูทับสมิงคลา ลักษณะของเขี้ยวจะสั้นไม่เคลื่อนไหว ยื่นตั้งฉากกับขากรรไกรอย่างถาวร เมื่อฉกกัดเหยื่อจะปล่อยพิษออกมาทางเขี้ยว
  3. เขี้ยวที่อยู่ทางตอนท้ายของขากรรไกร ลักษณะเขี้ยวที่อยู่ทางตอนท้ายของขากรรไกร จะพบได้ในสกุลงูเขียวกาบหมาก สกุลงูทางมะพร้าว สกุลงูสิง สกุลงูปล้องฉนวน สกุลงูปี่แก้ว สกุลงูสายทอง สกุลงูหัวศร สกุลงูพงอ้อและสกุลงูสายม่าน

ลักษณะของพิษงูแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ มีพิษต่อระบบประสาทและมีพิษต่อเลือด พิษต่อระบบประสาทจะมีผลต่อเส้นประสาทตา เมื่อได้รับพิษจะทำให้ตาบอดหรือมีผลต่อเส้นประสาทของกะบังลม ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว พิษต่อเลือดจะทำให้เม็ดเลือดแดงและเส้นเลือดแดงแตก ส่งผลให้เลือดกระจายตัวเข้าสู่เนื้อเยื่อ งูพิษขนาดใหญ่ที่มีผลต่อร่างกายทั้ง 2 ประเภทคือ งูจงอางและงูทะเลที่จัดว่าเป็นงูพิษที่มีพิษร้ายแรงที่สุด

ตามธรรมชาติในระบบสืบพันธุ์ของงู เมื่อมีการผสมพันธุ์และวางไข่ก่อนฟักเป็นตัวอ่อนและเจริญเติบโตเป็นตัวโตเต็มวัย เปลือกไข่สีขาว ยาวรี มักวางไข่ตามท่อนไม้หรือตามรูบนพื้นดิน บางชนิดมักวางไข่ในพงหญ้าและเศษใบไม้แห้ง แต่มีบางชนิดที่ออกลูกเป็นตัว มีรกแบบโบราณสำหรับแลกเปลี่ยนสารระหว่างเอมบริโอกับกระแสเลือดของแม่ งูตัวเมียบางชนิดจะสามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อของงูตัวผู้ไว้ในร่างกายและสามารถวางไข่ได้หลายครั้งหลังจากจับคู่ผสมพันธุ์

เต่า แก้

 
การวิวัฒนาการเท้าให้กลายเป็นพายสำหรับว่ายน้ำ
 
เกล็ดบนผิวตัว แสดงแผ่นกระดูกของกระดองเต่า

เต่าจัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานเพียงกลุ่มเดียว ที่ยังคงลักษณะเฉพาะของสัตว์เลื้อยคลานในยุคโบราณอยู่หลายอย่าง เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีชีวิตตั้งแต่ในยุคไทรแอสซิกจนถึงยุคปัจจุบัน โดยมีการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายที่น้อยมาก มีกระดองซึ่งแปรเปลี่ยนสภาพจากกระดูกเกล็ดที่ห่อหุ้มร่างกาย เป็นแผ่นเกล็ดที่สำหรับปกป้องตัวเองจากศัตรู สามารถหดหัวและขาเข้าไปหลบซ่อนภายในกระดองได้ ซึ่งลักษณะของการหดหัวของเต่า ส่วนใหญ่เต่าจะหดหัวเข้าไปภายในกระดองในลักษณะรูปตัว S คือการหดหัวในแนวตั้ง แต่มีเต่าที่อาศัยในแถบอเมริกาใต้และออสเตรเลียกลุ่มหนึ่ง จะหดหัวเข้ากระดองในลักษณะของการหดหัวแบบขวาง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าเต่าหัวข้างเช่น เต่าคอยาวที่อาศัยในออสเตรเลีย

แต่สำหรับเต่าที่อาศัยในยุคไทรแอสซิก จะมีส่วนคอที่มีความแข็งทำให้ไม่สามารถหดหัวเข้าไปภายในกระดองได้ นัยน์ตามองเห็นได้ดี มีหนังตาและผนังเยื่อใส ๆ ห่อหุ้มดวงตา ไม่สามารถกะพริบตาและกลอกตาไปมาได้อย่างมนุษย์ มีหูสำหรับรับฟังเสียงสั่นสะเทือนบนพื้น หูของเต่าไม่มีช่องทะลุเป็นรู ทำให้มองดูคล้ายกับไม่มีหู ขากรรไกรไม่มีฟัน แต่จะมี Horny cutting surface ที่มีความคมอยู่แทน มีลิ้นสั้น ๆ ติดอยู่กับพื้นปาก มีนิ้วเท้าที่มีเล็บไว้สำหรับขุดและคุ้ยทรายในฤดูวางไข่ แต่บางชนิดมีการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายจากเท้าทั้ง 4 ให้กลายสภาพเป็นพายสำหรับว่ายน้ำเช่น เต่าทะเล เป็นต้น

มีฟีนิสหรืออวัยวะเพศที่โคลเอดา (Cloacal penis) ในการปฏิสนธิภายใน เต่าทุกชนิดจะวางไข่เพื่อฟักออกมาเป็นตัวก่อนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ไข่เต่ามีลักษณะกลม ยาวและรี เปลือกนอกนิ่ม และมีสารหินปูนเป็นเยื่อคล้ายกับแผ่นหนังห่อหุ้มอยู่ เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบก ในแหล่งน้ำจืดและทะเล ซึ่งมีคำที่ใช้เรียกเต่าโดยเฉพาะด้วยกัน 4 คำ ซึ่งจะใช้ในคามหมายที่มีความแตกต่างกันคือ Turtles, Terrapins, Tortoise และ Soft-shelled turtles โดยมีรายละเอียดเฉพาะ ดังนี้

  1. เทอร์เทิล (Turtles) เป็นคำที่ใช้เรียกเต่าที่จัดอยู่ในประเภทสะเทินน้ำสะเทินบกด้วย เรียกว่า Amphibous turtles ซึ่งอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ตามบึง บ่อคลองและในทะเล
  2. เทอร์ราพิน (Terrapins) เป็นคำที่ใช้เรียกเต่าที่มีกระดองแข็ง และใช้เรียกเต่าน้ำจืด
  3. เทอร์ทอยส์ (Tortoise) เป็นคำที่ใช้เรียกเต่าที่อาศัยบนบก
  4. เทอร์เทิลเปลือกอ่อนนุ่ม (Soft-shelled turtles เป็นคำที่ใช้เรียกตะพาบน้ำ ลักษณะลำตัวไม่มีเกล็ด จึงมีผิวหนังที่ปกคลุมกระดอง ที่มีความเหนียวคล้ายกับหนัง

เต่าน้ำจืด เป็นเต่าสะเทินน้ำสะเทินบก อาศัยตามห้วยหนองคลองบึงหรือตามแม่น้ำ ชอบขึ้นมานอนผึ่งแสงแดดตามบริเวณชายฝั่งเช่น Snapping แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ Chelydra serpentina และ Macroclemys temminckii จัดเป็นเต่าขนาดใหญ่ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร มีนิสัยดุร้ายและแข็งแรง ขากรรไกรมีความคมแข็งแรง ใช้สำหรับงับเหยื่อ Sternotherus เป็นเต่าที่อาศัยอยู่ตามหนองและบึง ลักณะเฉพาะคือเมื่อถูกจับได้จะปล่อยกลิ่นเหม็นออกมาตามร่างกาย เพื่อป้องกันอันตรายและเอาตัวรอด ฝังตัวอยู่ตามโคลนตมตามพื้นท้องน้ำตามธรรมชาติ

ลักษณะเฉพาะของเต่าน้ำจืดคือ มีกระดองเป็นแผ่นเกล็ดปกคลุมร่างกาย มีความหนา แข็งแรง ส่วนใหญ่อาศัยตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป มีหลายชนิดที่อาศัยบนบกมากกว่าในน้ำ ในประเทศไทยพบเต่ากระอานที่เป็นเต่าบกเพียงแห่งเดียวที่ทะเลสาบสงขลา กินหอยทากและปูเป็นอาหาร แต่ถ้าขาดแคลนก็จะกินพืชน้ำแทน เต่าบกเช่นเต่าหับเมื่อออกจากไข่และเป็นตัวอ่อนจะอาศัยใกล้กับแหล่งน้ำจืด เมื่อเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจะออกห่างจากแหล่งน้ำ มีลักษณะเด่นคือบริเวณตอนกลางของกระดองด้านท้อง จะมีบานพับตามขวาง แบ่งกระดองด้านท้องออกเป็น 2 ส่วน เวลาถูกรบกวนหรือพบเห็นศัตรู จะพับกระดองด้านท้องเข้าหากัน อาศัยตามชายฝั่งทะเล ลักษณะกระดองมีความแข็งแรง มีลวดลายของกระดองสวยงามเป็นวงแหวนบนแผ่นเกล็ด

เต่าทะเล เป็นสัตว์เลื้อยคลานในยุคไทรแอสซิกอีกชนิดหนึ่ง ดำรงชีวิตอยู่ในทะเลเขตร้อนและในบริเวณใกล้เคียงกับเขตร้อน เต่าทะเลจะอาศัยในทะเลเกือบตลอดชีวิต ยกเว้นฤดูวางไข่ที่จะขึ้นบกเพื่อวางไข่ตามชายหาดเท่านั้น ขาและรยางค์มีการเปลี่ยนแปลงจากสัตว์ที่อาศัยบนบก เปลี่ยนเป็นขาที่มีลักษณะเหมือนใบพายของเรือเพื่อใช้ชีวิตในท้องทะเล เต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเต่ามะเฟือง ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร น้ำหนักตัวประมาณ 725 กิโลกรัม อิพิเดอร์มิสที่คลุมบริเวณกระดองมีลักษณะเหนียวนุ่ม ไม่มีเกล็ด มีสันตามยาวทางด้านหลัง เต่าตนุเป็นเต่าทะเลที่ถูกไล่ล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์ในปัจจุบัน ลำตัวมีสีเขียวจากไขมันบนลำตัว ขาคู่หน้าทำหน้าที่เป็นพายสำหรับว่ายน้ำ ขาคู่หลังทำหน้าที่เป็นหางเสือในการเลี้ยวซ้ายขวา รวมทั้งใช้ในการถีบน้ำ น้ำหนักตัวประมาณ 180 กิโลกรัม จัดเป็น 1 ใน 5 ของเต่าทะเลของไทยเช่นเดียวกับเต่ามะเฟือง

เต่าบก เป็นเต่าขนาดกลางและใหญ่ตามลำดับ เต่าบกที่อาศัยในหมู่เกาะกาลาปากอส จัดเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด น้ำหนักตัวประมาณ 230 กิโลกรัม อายุมากกว่า 200 ปี เคลื่อนที่ช้ามากด้วยอัตราความเร็ว 300 เมตร/ชั่วโมง ในประเทศไทยพบเต่าบกได้ทุกแห่งของภูมิภาค เช่นเต่าหกที่อาศัยตามเขาสูงในป่าดงดิบ พบได้ในแถบไทรโยค เขาวังหิน นครศรีธรรมราช เต่าเขาสูบที่อาศัยอยู่ตามภูเขาสูงในประเทศไทย เต่าเหลืองที่มีกระดองสีเหลือง ชอบอาศัยตามภูเขาสูงหรือเนินเขาที่แห้งแล้งในป่าผลัดใบ

ตะพาบน้ำ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีกระดองห่อหุ้มร่างกายเช่นเดียวกับเต่า ลำตัวประกอบด้วยกระดองบนและกระดองล่าง ลักษณะกระดองอ่อนนุ่มกว่า ผิวหนังที่ปกคลุมกระดองเหนียวคล้ายหนัง ทำให้มองดูเหมือนกับไม่มีเกล็ดแผ่ปกคลุม ขาคู่หน้ามีแผ่นพังผืดกว้าง มีเล็บเพียง 2-3 นิ้ว คอและขาหดได้มิดในกระดอง อาศัยอยู่ได้เกือบทุกสภาพแวดล้อม พบได้ในทางภาคใต้ของประเทศไทย บางชนิดมีนิสัยดุร้ายและมีกำลังมาก ต่อสู้แย่งชิงเพศเมียด้วยการกัดอย่างรุนแรง ปัจจุบันตะพาบเป็นที่นิยมนำมาประกอบเป็นอาหารของมนุษย์

จระเข้และแอลลิเกเตอร์ แก้

 
จระเข้ สัตว์ในอันดับ Crocodilia
 
แอลลิเกเตอร์ สัตว์ในอันดับ Crocodilia

จระเข้และแอลลิเกเตอร์ จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด 4 กลุ่ม[6] สืบสายพันธุ์ยาวนานมาตั้งแต่ยุคจูแรสซิกและครีเทเซียสจนถึงยุคปัจจุบัน[7] มีความสามารถในการปรับสภาพร่างกายในการอยู่รอดจากภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากว่า 160 ล้านปี คงลักษณะโบราณทางด้านกายวิภาคเกือบทั้งหมดของร่างกาย ตั้งแต่ปลายจมูกจรดปลายหาง ไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้แตกต่างไปจากบรรพบุรุษในยุคโบราณ ปัจจุบันเหลือเพียง 21 ชนิดในโลก

จระเข้ส่วนใหญ่จะมีจมูกที่ยาวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แตกต่างจากแอลลิเกเตอร์ที่มีจมูกที่สั้นและป้านกว่ามาก มีขากรรไกรที่แข็งแรงรวมทั้งฟันที่แหลมคม ขนาดความยาวประมาณ 3 - 4 เมตร ลักษณะลำตัวใหญ่โตและดุร้าย ทำให้แลดูน่ากลัวและน่าเกรงขามต่อผู้พบเห็น ผิวหนังแข็งเป็นเกล็ดปกคลุมตลอดลำตัว ปากยาวและปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูก ออกลูกเป็นไข่ครั้งละประมาณ 20 - 28 ฟอง[8] จัดอยู่ในประเภทสัตว์กินเนื้อทุกชนิดซึ่งรวมทั้งมนุษย์ด้วย มีแหล่งอาศัยในแถบทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิดได้แก่จระเข้น้ำจืด ( Crocodylus siamensis), จระเข้น้ำเค็ม (C. porosus) และตะโขงหรือจระเข้ปากกระทุงเหว (Tomistoma schlegeli) ที่มีปากแหลมยาวแตกต่างจากจระเข้ทั่วไป[9]

สำหรับจระเข้น้ำกร่อย (Estuarine crocodila Crocodylus porosus) สามารถพบเห็นได้ในทางเอเชียใต้ จัดเป็นจระเข้ขนาดใหญ่มาก มักขึ้นฝั่งเพื่อล่าเหยื่อในกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเช่น แพะ แกะ กวาง และนกเป็นอาหาร เมื่อล่าเหยื่อได้จะงับและลากลงไปใต้น้ำ จนกระทั่งเหยื่อขาดอากาศหายใจและตายจึงฉีกกินเป็นอาหาร ในขณะที่แอลลิเกเตอร์ ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดคล้ายจระเข้ แต่มีความดุร้ายน้อยกว่า มักพยายามขึ้นฝั่งเพื่อที่จะส่งเสียงร้องซึ่งเป็นลักษณะที่มีความแตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานประเภทอื่น เช่น มาเลเซีย

แอลลิเกเตอร์ตัวผู้จะสามารถส่งเสียงร้องที่ดังมากในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เพื่อเป็นการสื่อสารสัญญาณระหว่างแอลลิเกเตอร์ตัวเมีย และจะพบ Vocal sac ที่บริเวณสองข้างของลำคอซึ่งจะโป่งพองออกในขณะที่ส่งเสียงร้อง วางไข่ครั้งละประมาณ 20 - 50 ฟอง ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าจำนวนไข่ของจระเข้ เมื่อแอลลิเกเตอร์ตัวเมียพร้อมที่จะวางไข่ จะเลือกวางไข่ตามซากพืช

ทัวทารา แก้

 
ทัวทารา สัตว์ในอันดับ อันดับ Rhynchocephalia

ทัวทารา เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่มหายุคมีโซโซอิก ซึ่งเป็นยุคเดียวกับไดโนเสาร์ ทัวทารามีแผงหนามที่ต้นคอไปจนถึงถึงแนวกระดูกสันหลัง มีตา 3 ดวง ซึ่งดวงที่ 3 อยู่กลางหัวเหนือดวงตาทั้ง 2 ข้าง ในอดีตเคยเป็นสัตว์ที่หาดูได้ง่ายในประเทศนิวซีแลนด์ แต่ปัจจุบันถือเป็นสัตว์หายาก พบได้แค่ในบางเกาะของนิวซีแลนด์เท่านั้น เป็นกลายเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมายไปแล้ว

อาหารและการล่าเหยื่อ แก้

  • คามีเลียน ล่าเหยื่อโดยพรางตัวให้เข้ากับธรรมชาติเพื่อป้องกันศัตรู และล่าเหยื่อได้ง่าย
  • กิ้งก่าบาซิลิสก์ ล่าเหยื่อบนน้ำ
  • งูกินไข่ จะขโมยกินไข่ของนกตัวอื่นเป็นอาหาร
  • งูแซลโมซา จะจับเหยื่อในที่มืด อย่างถ้ำ ได้
  • งูกินหนู เป็นงูเพื่อนของมนุษย์ จับหนูกินเป็นอาหาร
  • งูทะเล จะจับเหยื่อใต้ทะเล
  • ตะโขง ล่าเหยื่อโดยใช้ปากฟาดเหยื่อ
  • เต่าจระเข้ยักษ์ ล่าเหยื่อโดยใช้ลิ้นออกมาให้เหยื่อหลงกลว่าเป็นไส้เดือน

การสืบสายพันธุ์ แก้

 
การสืบสายพันธุ์ของเต่า

งู แก้

  • ขั้นที่ 1 การผสมพันธุ์ ใน 1 ปี งูจะหาคู่และผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว
  • ขั้นที่ 2 ไข่ แม่งูจะวางไข่ครั้งละประมาณ 10 ฟอง
  • ขั้นที่ 3 การฟักไข่ ไข่สามารถฟักตัวเร็วที่สุดภายใน 1 วัน และช้าที่สุดภายใน 80 วัน
  • ขั้นที่ 4 ตัวเต็มวัย

กิ้งก่า แก้

  • ขั้นที่ 1 การผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยเพศผู้จะต่อสู่กัน เพื่อแย่งชิงเพศเมีย
  • ขั้นที่ 2 ไข่ ทั้งวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง และวางไข่ครั้งละเป็นกอง
  • ขั้นที่ 3 การฟักไข่ เพศเมียจะกกไข่หรือคอยดูแลไข่จนกว่าจะฟักตัว
  • ขั้นที่ 4 ตัวเต็มวัย

อ้างอิง แก้

  1. ชนิดของสัตว์เลื้อยคลาน, สัตววิทยา, บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 364
  2. มีโซโซอิก: มหายุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์[ลิงก์เสีย]
  3. ประเภทของสัตว์เลื้อยคลาน, สัตววิทยา, บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 365-366
  4. "ลักษณะทั่วไปของสัตว์เลื้อยคลาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-01. สืบค้นเมื่อ 2010-06-23.
  5. การจำแนกหมวดหมู่สัตว์เลื้อยคลาน, สัตววิทยา, บพิธ-นันทพร จารุพันธุ์, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2547, หน้า 365
  6. จระเข้ สัตว์เลื้อยคลานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  7. จระเข้ สัตว์เลื้อยคลานจากยุคไดโนเสาร์
  8. "ลักษณะเฉพาะของจระเข้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-30. สืบค้นเมื่อ 2010-07-27.
  9. สายพันธุ์ในประเทศไทย