เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (เกมชุด)
เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (ญี่ปุ่น: ゼルダの伝説; โรมาจิ: Zeruda no Densetsu; ทับศัพท์: เซะรุดะ โนะ เด็นเซ็ตสึ; The Legend of Zelda ตำนานแห่งเซลดา) เป็นเกมชุดประเภทแอ็กชันผจญภัยที่กล่าวถึงวีรบุรุษในตำนาน ริเริ่มโดยนักออกแบบเกมชาวญี่ปุ่น ชิเงะรุ มิยะโมะโตะ (宮本 茂) พัฒนาและวางจำหน่ายโดยนินเท็นโด (Nintendo) เกมชุดนี้เป็นการผสมผสานระหว่างเกมแอ็กชัน เกมผจญภัย เกมปริศนา เกมเล่นตามบทบาท (RPG) ในบางโอกาสก็มีการใช้เกมมุมมองด้านข้าง (platform) เกมสายลับ (stealth) หรือเกมแข่งขัน (racing) ประกอบอยู่ด้วย
เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา | |
---|---|
ประเภท | แอ็คชันผจญภัย |
ผู้พัฒนา | |
ผู้จัดจำหน่าย | นินเท็นโด |
ผู้จัดสร้าง |
|
แต่งเพลง | โคจิ คนโด |
ระบบปฏิบัติการ | |
ลงครั้งแรกบน | แฟมิคอมดิสก์ซิสเต็ม |
วางจำหน่ายครั้งแรก | เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 |
จำหน่ายครั้งล่าสุด | เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา: ลิงส์อะเวกเคนนิง 20 กันยายน ค.ศ. 2019 |
ตัวเอกที่สามารถเล่นได้เพียงคนเดียวคือเด็กหนุ่มชื่อ ลิงก์ (Link) เขามักได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือ เจ้าหญิงเซลดา (Zelda) แห่ง อาณาจักรไฮรัล (Hyrule) รวมทั้งตัวประกอบอื่นๆ ซึ่งถูกจับตัวไปโดย กาน่อน (Ganon) ศัตรูตัวหลักของเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามตัวละครบางตัวอาจปรากฏหรือไม่ปรากฏในภาคอื่นๆ ก็ได้ หรืออาจมีตัวละครตัวอื่นที่จะต้องช่วยเหลือหรือต้องต่อสู้ด้วยแทน เนื้อเรื่องโดยปกติมักจะเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ที่เรียกว่า ไทรฟอร์ซ (Triforce) มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสีทองสามอัน ซึ่งเป็นตัวแทนของพลังอันไม่สิ้นสุดของพระเจ้า 3 องค์
เกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดาได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าเป็นหนึ่งในวิดีโอเกมที่มีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับ มาริโอ โปเกมอน และเมทรอยด์ เกมชุดนี้ประกอบไปด้วยเกมอย่างเป็นทางการ 14 ภาค เกมย่อยอีกหลายภาค บนเครื่องเล่นวิดีโอเกมชนิดต่างๆ เกมหลายภาคได้รับความชื่นชมจากผู้เล่นเป็นอย่างมากและประสบความสำเร็จเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2007 เกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดาทั้งหมดมียอดขายไปแล้วกว่า 47 ล้านสำเนา (รวมตลับเกมและแผ่นซีดี) [1] เกมชุดนี้ยังได้ขยายการส่งเสริมการขายด้วยตุ๊กตาและของเล่น นอกจากนี้ยังมีการนำไปดัดแปลงเป็นมังงะ หนังสือการ์ตูน และภาพยนตร์การ์ตูน
ข้อมูลพอสังเขป
แก้การเล่น
แก้เกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดาเป็นเกมที่รวมปริศนาหลายชนิด การต่อสู้อย่างมีกลยุทธ์ และการสำรวจ ซึ่งทั้งหมดเป็นสาระหลักของเกมทั้งชุด แต่มีการปรับแต่งและเพิ่มคุณลักษณะใหม่ในแต่ละภาค ผู้เล่นจะได้รับรางวัลเมื่อได้สำรวจพื้นที่หรือแก้ปัญหาได้สำเร็จ เกมชุดนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการค้นหาตำแหน่งและการสำรวจไปตามด่านต่างๆ ที่เรียกว่า ดันเจี้ยน (dungeon) ผู้เล่นต้องแก้ปริศนาในดันเจี้ยน กำจัดศัตรูระหว่างทาง แล้วไปต่อสู้กับหัวหน้าดันเจี้ยน ดันเจี้ยนแต่ละแห่งจะมีไอเท็มสำคัญหนึ่งอย่างที่จำเป็นสำหรับการเข้าถึงหรือใช้ประมือกับหัวหน้า ไอเท็มบางชนิดปรากฏซ้ำในภาคอื่นๆ เป็นส่วนมาก (เช่นบูมเมอแรง) ในขณะที่ไอเท็มบางอย่างก็มีใช้เฉพาะภาคเดียว
ลำดับเวลา
แก้ลำดับเวลาที่แน่นอนของเนื้อเรื่องเดอะเลเจนด์ออฟเซลดา ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบ เพราะบางคนรู้สึกว่าเกมในแต่ละภาคมีเนื้อเรื่องที่ไม่ค่อยต่อเนื่องกัน ซึ่งเมื่อเกมภาคใหม่ออกสู่สาธารณชน จะทำให้ลำดับเหตุการณ์บนเส้นเวลาทั้งหมดเกิดความซับซ้อนและเป็นที่โต้เถียงอย่างหนัก
คู่มือประกอบในภาค อะลิงก์ทูเดอะแพสต์ (A Link to the Past) บนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมได้เปิดเผยว่า ลิงก์ (ตัวเอก) ในภาคนี้เป็นบรรพบุรุษของลิงก์จากเครื่องแฟมิคอม เช่นเดียวกับภาค ออคารินาออฟไทม์ (Ocarina of Time) ในเครื่องนินเท็นโด 64 ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์แบบเดียวกันกับลิงก์ในเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม ส่วนภาค เดอะวินด์เวกเกอร์ (The Wind Waker) กล่าวไว้ว่า อาณาจักรไฮรัลที่น้ำท่วมเป็นผลมาจาก "วีรบุรุษ" ที่ผจญภัยต่อไปในอาณาจักรอื่น ซึ่งข้อความนี้อาจพูดเป็นนัยว่า หมายถึงลิงก์จากออคารินาออฟไทม์ที่ผจญภัยต่อใน อาณาจักรเทอร์มินา (Termina) ของภาค เมเยอราส์มาสก์ (Majora's Mask) ซึ่งทั้งหมดไม่มีข้อมูลระบุว่าช่วงเวลาของอาณาจักรไฮรัลของแต่ละภาคอยู่ห่างกันเท่าไร
ในการสัมภาษณ์ เอจิ อะโอะนุมะ (青沼 英二) นักออกแบบและผู้กำกับการสร้างเกมของนินเท็นโด ซึ่งจัดโดยนิตยสาร นินเท็นโดดรีม (Nintendo Dream) เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 เขากล่าวว่าเส้นเวลาของเกมชุดเดอะเลเจนด์ออฟเซลดามีสองทาง โดยจุดแบ่งแยกเกิดขึ้นในภาค ออคารินาออฟไทม์ ซึ่งเมื่อตอนจบเกม ลิงก์ถูกส่งจากอนาคตกลับมายังปัจจุบันโดยเจ้าหญิงเซลดา ครั้นเมื่อเขากลับมาแล้วจึงไปพบเจ้าหญิงอีก ส่งผลให้อนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลง กานอนดอร์ฟ (Ganondorf; ร่างมนุษย์ของกาน่อน) ถูกจับกุมและสอบสวนโดยเหล่านักปราชญ์ กระทั่งถูกเนรเทศไปยัง ดินแดนทไวไลต์ (Twilight Realm) แทนที่จะได้ครอบครองอาณาจักรไฮรัล เกมในภาค ทไวไลต์พรินเซสส์ (Twilight Princess) จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากยุคของลิงก์ปัจจุบันในออคารินาออฟไทม์ไปร้อยปี ในขณะเดียวกัน เดอะวินด์เวกเกอร์ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเส้นเวลาของลิงก์ในอนาคต แต่หลังจากร้อยปีข้างหน้าเหมือนกัน เป็นโลกคู่ขนาน[2]
แรงบันดาลใจ
แก้ผู้ริเริ่มสร้างเกมเดอะเลเจนด์ออฟเซลดา ชิเงะรุ มิยะโมะโตะ (宮本 茂) ได้รับแรงบันดาลใจจากช่วงชีวิตในวัยเด็กของเขา เขาเคยอาศัยอยู่บริเวณเชิงเขาในเกียวโต[3] ซึ่งเขาสามารถเดินสำรวจป่าไม้ ทะเลสาบ ถ้ำ และหมู่บ้านในชนบทด้วยตัวเองอยู่บ่อยๆ ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่เขาระลึกได้คือการค้นพบปากถ้ำในใจกลางของป่า หลังจากที่ลังเลอยู่นานเขาก็ได้เข้าไปในถ้ำและสำรวจถ้ำด้วยแสงสว่างจากตะเกียง ความทรงจำนี้เป็นสิ่งจูงใจให้กับผลงานของมิยะโมะโตะ ซึ่งการสำรวจถ้ำเป็นสาระหลักที่มักปรากฏในเกมชุดเป็นส่วนมาก (โดยแสงสว่างจากตะเกียงหรือคบเพลิง) นอกเหนือจากประสบการณ์ในวัยเด็กแล้ว ตำนานเทพเจ้าสแกนดิเนเวียและปุราณวิทยาของญี่ปุ่นก็ยังเป็นสิ่งจูงใจที่สำคัญในการสร้างโครงเรื่องหรือการออกแบบสัตว์ประหลาด มิยะโมะโตะอ้างถึงการสร้างสรรค์ของเกมชุดนี้ว่าเป็นความเพียรพยายามที่จะทำ "สวนขนาดย่อม" ของเขาให้มีชีวิตชีวาเพื่อให้ผู้เล่นเกมได้เล่นในแต่ละภาค[4]
มิยะโมะโตะยังกล่าวอีกว่า เมื่อเขาได้ยินชื่อภรรยาของสกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) ที่ชื่อว่าเซลดา (Zelda) เขาคิดว่าชื่อดังกล่าวฟังแล้ว "เป็นมิตรและสื่อความหมาย"[5] เขาจึงเลือกชื่อนั้นมาเป็นชื่อเจ้าหญิง และในที่สุดก็ตั้งชื่อเกมชุดว่า เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (The Legend of Zelda)
ประวัติการสร้าง
แก้1986 | เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา |
---|---|
1987 | ดิแอดเวนเจอร์ออฟลิงก์ |
1988 | |
1989 | |
1990 | |
1991 | อะลิงก์ทูเดอะแพสต์ |
1992 | |
1993 | ลิงส์อะเวกเคนนิง |
1994 | |
1995 | |
1996 | |
1997 | |
1998 | ออคารินาออฟไทม์ |
ลิงกส์อะเวกเคนนิงดีเอ็กซ์ | |
1999 | |
2000 | เมเยอราส์แมสก์ |
2001 | ออราเคิลออฟซีซันส์ และ ออราเคิลออฟเอจเจส |
2002 | โฟร์ซอดส์ |
เดอะวินด์เวกเกอร์ | |
2003 | เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา: คอลเลคเตอร์ อิดิชัน |
2004 | โฟร์ซอดส์แอดเวนเจอส์ |
เดอะมินิชแคป | |
2005 | |
2006 | ทไวไลต์พรินเซสส์ |
2007 | แฟนทัมเอาเออร์แกลสส์ |
2008 | |
2009 | สปิริตแทร็กส์ |
2010 | |
2011 | ออคารินาออฟไทม์ 3D |
สกายวอร์ดซอร์ด | |
2012 | |
2013 | เดอะวินด์เวกเกอร์เอชดี |
อะลิงก์บีทวีนเวิร์ลส์ | |
2014 | |
2015 | เมเยอราส์แมสก์ 3D |
ไทรฟอร์ซฮีโรส์ | |
2016 | ทไวไลต์พรินเซสส์เอชดี |
2017 | บรีทออฟเดอะไวลด์ |
2018 | |
2019 | ลิงส์อะเวกเคนนิงรีเมค |
2020 | |
2021 | |
2022 | |
2023 | เทียร์ออฟเดอะคิงดอม |
เดอะเลเจนด์ออฟเซลดา (The Legend of Zelda) ซึ่งเป็นภาคแรกของเกมชุดนี้ วางจำหน่ายในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) ในเครื่องแฟมิคอม ส่วนสหรัฐอเมริกาและยุโรปวางจำหน่ายในปีถัดไป ตลับเกมภาคนี้มีความสามารถในการบันทึกการดำเนินของเกมโดยใช้หน่วยความจำที่มีแบตเตอรี เกมนี้สามารถเล่นรอบสองได้โดยการเล่นให้จบผ่านรอบแรก แล้วดันเจี้ยนและไอเท็มต่างๆ ในรอบสองจะเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม รวมทั้งศัตรูก็เก่งขึ้นด้วย[6] ในช่วง พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) ระหว่างที่เครื่องแฟมิคอมลดความนิยมลง เกมภาคนี้ได้ถูกจัดทำใหม่อีกครั้ง[7] เกมที่จัดทำใหม่เวอร์ชันหนึ่งรู้จักกันในชื่อ บีเอส เซลดา โนะ เด็นเซ็ตสึ (BS Zelda no Densetsu) โดยใช้ส่วนขยายของแซเทลลาวิว (Satellaview) ที่สามารถเล่นหรือชมภาพจากเกมผ่านดาวเทียม ในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 โดยประเทศญี่ปุ่น และหนึ่งปีให้หลัง บีเอส เซลดา (BS Zelda) ก็ออกมาอีกเกมหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแผนที่และดันเจี้ยนทั้งหมดในเกม
ภาคที่สอง เซลดา II ดิแอดเวนเจอร์ออฟลิงก์ (Zelda II: The Adventure of Link) ได้วางจำหน่ายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) สำหรับเครื่องแฟมิคอมดิสก์ซิสเต็ม (FDS) ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นระยะเวลาหกเดือนเต็มก่อนเกมภาคแรกจะได้เผยแพร่ในอเมริกา นินเท็นโดจึงต้องรอเวลาเกือบสองปีจนกว่าจะได้จำหน่ายเกมภาคสองในอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) เกมภาคนี้ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบมากนักเนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้มุมมองด้านข้างเป็นหลัก (ถึงแม้ว่ามุมมองด้านบนยังคงมีอยู่เมื่อลิงก์เดินในแผนที่ก็ตาม) และได้นำเสนอคุณลักษณะอย่างเกมเล่นตามบทบาท (RPG) อาทิค่าประสบการณ์เป็นต้น ซึ่งไม่ปรากฏในเกมภาคอื่นๆ และมีเพียงเกมภาคนี้กับ โฟร์ซอดส์แอดเวนเจอร์ส (Four Swords Adventures) เท่านั้นที่ไม่มีการเก็บสะสมเงิน รูปี (Rupee) ในเกมเลย ทั้งภาคนี้และภาคก่อนหน้าเคยมีการจำหน่ายตลับเกมและแผ่นดิสก์สีทองเป็นคอลเล็กชันพิเศษ นอกเหนือจากตลับเกมและแผ่นดิสก์สีเทาทั่วไป
สี่ปีต่อมา นินเท็นโดได้ออกเกมภาคใหม่ อะลิงก์ทูเดอะแพสต์ (A Link to the Past) โดยกลับมาใช้ระบบมุมมองด้านบน (ในตำแหน่งกึ่งด้านหน้าและด้านบน) ในภาคนี้ได้เพิ่มแนวคิดของโลกคู่ขนานลงไปในเกม ซึ่งเป็นดินแดนที่เรียกว่า โลกแห่งความมืด (Dark World) เกมภาคนี้วางจำหน่ายในญี่ปุ่นบนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอมในปี พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) และจัดทำใหม่อีกครั้งบนเกมบอยแอ็ดวานซ์เมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ซึ่งบรรจุไปพร้อมกับตลับเกมของภาค โฟร์ซอดส์ (Four Swords) หลังจากนั้นก็ยังมีการจัดทำใหม่อีกบนเครื่องวี เมื่อ 22 มกราคม พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) ซึ่งทั้งหมดไม่มีรายละเอียดอื่นใดเปลี่ยนแปลงมากนักนอกจากจะทำให้สามารถเล่นบนเครื่องเล่นดังกล่าวได้ นอกจากนี้ก็ยังมีภาคพิเศษบนแซเทลลาวิวเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ชื่อว่า บีเอส เซลดา โนะ เด็นเซ็ตสึ โคะได โนะ เซะกิบัง (BS Zelda no Densetsu Kodai no Sekiban) ซึ่งมีเนื้อเรื่องที่แตกต่างออกไป แต่ยังใช้กราฟิกและแผนที่ของเดิม
ภาคถัดไปคือ ลิงกส์อะเวกเคนนิง (Link's Awakening) ซึ่งเป็นภาคแรกบนเครื่องเกมบอย วางจำหน่ายเมื่อ พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) เป็นครั้งแรกที่เกมชุดนี้ดำเนินเรื่องนอกอาณาจักรไฮรัล และไม่ปรากฏเจ้าหญิงเซลดาในเกม เกมภาคนี้ได้จัดทำใหม่อีกครั้งบนเกมบอยคัลเลอร์เมื่อ พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ในชื่อ ลิงกส์อะเวกเคนนิง ดีเอกซ์ (Link's Awakening DX) โดยเพิ่มคุณลักษณะใหม่ลงไปด้วย เช่น ดันเจี้ยนที่ใช้สีสันเป็นกุญแจสำคัญในการผ่านด่าน และการเชื่อมต่อกับเครื่องพิมพ์เกมบอยเพื่อพิมพ์รูปภาพจากร้านถ่ายภาพในเกม เป็นต้น
หลังจากเว้นระยะไปนานหลายปี ออคารินาออฟไทม์ (Ocarina of Time) จึงได้เผยแพร่สู่สาธารณชนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ซึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบไปใช้การแสดงผลสามมิติบนเครื่องนินเท็นโด 64 ทำให้ภาคนี้มักเรียกโดยย่อว่า เซลดา 64 (Zelda 64) แต่ยังคงลักษณะการเล่นแบบดั้งเดิมเอาไว้เหมือนภาคก่อนๆ เกมภาคนี้เป็นเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของนินเท็นโด ทั้งในด้านเชิงพาณิชย์และกระแสตอบรับจากผู้เล่น โดยได้รับคะแนนเต็มจากการวิจารณ์ของสิ่งตีพิมพ์และเว็บไซต์เกี่ยวกับวิดีโอเกมจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนิตยสารเกม Famitsu ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นรายแรกที่ให้คะแนนเต็ม 40/40 สำหรับเกมนี้[8] และในปี พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 2006) ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร Nintendo Power ของอเมริกาว่าเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยสร้างบนเครื่องเล่นเกมของนินเท็นโด[9]
คุณลักษณะใหม่ที่ใช้ใน ออคารินาออฟไทม์ คือการล็อกเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกของการเปลี่ยนมุมกล้องให้โฟกัสไปยังเป้าหมายที่อยู่ใกล้ และเปลี่ยนการกระทำของผู้เล่นให้สัมพันธ์กับเป้าหมายนั้น กลไกดังกล่าวสามารถทำให้การต่อสู้ด้วยดาบเกิดความแม่นยำในโลกสามมิติ และเป็นการปฏิวัติแนวทางการพัฒนาเกมในช่วงเวลานั้น ตลับเกมของภาคนี้มีการผลิตเป็นสีทองสำหรับเก็บเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษเหมือนเช่นเครื่องเกมรุ่นก่อนๆ เกมภาคนี้ได้รับการจัดทำใหม่อีกครั้งบนเกมคิวบ์ใน พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ซึ่งบรรจุควบคู่ไปกับการสั่งจองล่วงหน้าของเกมภาค เดอะวินด์เวกเกอร์ (The Wind Waker) ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น[10] ส่วนในยุโรปได้ภาคนี้แถมได้เปล่าไปกับเดอะวินด์เวกเกอร์เมื่อซื้อ ยกเว้นเวอร์ชันลดราคาของ Player's Choice เกมที่จัดทำใหม่นี้มีการเพิ่มเกมส่วนขยายพิเศษบนเครื่องนินเท็นโด 64ดีดี ที่วางจำหน่าย ในชื่อ อุระ เซลดา (Ura Zelda) ในญี่ปุ่นหรือ ออคารินาออฟไทม์ มาสเตอร์เควสต์ (Ocarina of Time Master Quest) ในอเมริกาเหนือ[10] นอกจากนั้นก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของ คอลเล็กเตอร์ส อีดิชัน (Collector's Edition) บนเครื่องเดียวกันซึ่งวางจำหน่ายในปีถัดไป[11] และสามารถเล่นได้บน Virtual Console ของเครื่องวีอีกด้วย[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Analysts: "Zelda" Demand Driving Nintendo Wii Sales". Fox News. สืบค้นเมื่อ 2007-02-07.
- ↑ Nintendo Dream (2007). "Interview with Eiji Aonuma (English translation)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-23. สืบค้นเมื่อ 2007-03-12.
- ↑ Johnson, Carl. "Biography". Miyamoto Shrine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-07-03. สืบค้นเมื่อ February 12, 2006.
- ↑ Andrew Vestal (2000-09-14). "The History of Zelda". GameSpot.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-31. สืบค้นเมื่อ 2006-09-25.
- ↑ Todd Mowatt. "In the Game: Nintendo's Shigeru Miyamoto". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 2006-09-25.
- ↑ ZELDA: The Second Quest Begins (1988) , p. 27-28
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-05. สืบค้นเมื่อ 2007-12-24.
- ↑ Famitsu Magazine (2006). "The Best Video Games in the History of Humanity". filibustercartoons.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-21. สืบค้นเมื่อ 2007-12-28.
- ↑ "NP Top 200", Nintendo Power 200: 66, February 2006.
- ↑ 10.0 10.1 "Zelda Bonus Disc Coming to US". IGN. 2002-12-04. สืบค้นเมื่อ 2006-01-22.
- ↑ "The Legend of Zelda Collector's Edition". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-16. สืบค้นเมื่อ 2007-03-19.
- ↑ Hatfield, Daemon (2007-02-23). "VC Getting (Arguably) Greatest Game Ever". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-06. สืบค้นเมื่อ 2007-09-24.